คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
มีชาวต่างประเทศจำนวนมากที่มีความเลื่อมใสในพระธรรมคำสอน แล้วมาบวชอยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมเป็นศิษยานุศิษย์ ของ หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี บ้างก็ปวารณาตัวบวชตลอดชีวิต จึงมีคำถามว่า "ศาสนาพุทธ มีดีอะไรจึงทำให้ฝรั่งต่างชาติละทิ้งอาชีพและอนาคตอันศิวิไลซ์มาบวชมากมายเช่นนี้"
หลวงพ่อชา สุภัทโท เคยกล่าวไว้ว่า “ดอกบัวกำลังบานทางทิศตะวันตก” หลังจากที่ท่านได้เดินทางไปเผยแพร่ธรรมะที่ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520)
“พระพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้น เปรียบไปก็เป็นดั่งไม้ใหญ่ที่ไปเกิดอยู่ริมตลิ่ง เป็นไม้ใหญ่ที่ผ่านคืนผ่านวันมานานเหลือแสน เฒ่าชะแรแก่ชรา ถูกแมลงชอนไช วันหนึ่งถ้าเจอน้ำป่าไหลหลั่งถั่งท้นมา แล้วตลิ่งพัง ไม้ใหญ่นั้นก็สามารถทรุด แล้วหล่นโครมไปตามกระแสน้ำ
ส่วนในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ นั้น พระพุทธศาสนา เป็นดั่งหน่ออ่อนของต้นไม้ที่กำลังแรกผลิ ดังนั้น ชาวตะวันตกจึงสนใจพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก พระพุทธศาสนากำลังจะมีอนาคตในโลกตะวันตก”
ปัจจุบัน ความรู้และเรื่องราวในพุทธศาสนาได้คืบคลานเข้าสู่สังคมตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลักคำสอนและความรู้สำคัญต่างๆ ที่ทางตะวันตกเองได้มีการริเริ่มการปฏิบัติตามในหมู่ผู้ที่สนใจ และกำลังสะท้อนออกมาผ่านสื่อต่างๆ ให้แก่คนทั่วไปที่ยังไม่ได้สนใจ เช่น เพลง โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ตามสไตล์ของสังคมตะวันตก
หลวงปู่ชา ท่านมีความสามารถมากในการถ่ายทอดธรรม แม้แต่ต่างชาติ ต่างภาษา คุยกันไม่รู้เรื่อง ท่านก็ยังทำให้เมล็ดบัวในตัวท่านเหล่านั้น แตกกอ ผลิดอกและเบ่งบานขึ้นมาได้ (ชาวต่างชาติเหล่านี้ มีนิสัยวาสนากับพุทธศาสนามาแล้ว ถึงได้มีศรัทธาในเบื้องต้น มีวาสนาได้พบครูบาอาจารย์ และมีวิริยะในการปฏิบัติ นั่นคือท่านมีเมล็ดบัวฝังอยู่แล้วในตัว)
ดอกบัวบานแล้วทางทิศตะวันตก และนับวันก็จะแตกกอเป็นป่าบัวต่อไป แต่ป่าบัวดั้งเดิมทางทิศตะวันออกกำลังเสื่อมลงตามกาลเวลา ตามหลักอนิจจัง
ขออวยพรให้ทุกท่านที่กำลังเป็นเมล็ดบัวอยู่ ขอให้แตกรากฝังศรัทธาให้มั่นคง งอกแล้วบำรุงด้วยรสแห่งธรรมให้เจริญยิ่งขึ้นไป ดอกตูมก็ให้บาน บานแล้วก็ให้ส่งกลิ่นหอมให้กว้างขวาง เพื่อเร่งเร้า ปลุกผู้หลับอยู่ให้ตื่นขึ้น....เทอญ
--- พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ)
หรือ หลวงพ่อโรเบิร์ต สุเมโธ เดิมชื่อ โรเบิร์ต แจ็คแมน เป็นชาวอเมริกัน เกิดที่เมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ใน ปี ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) อดีตทหารหน่วยเสนารักษ์แห่งกองทัพเรืออเมริกันในสงครามเกาหลี จบปริญญาโทจาก มหาวิทยาลัยเบิร์คเลย์ แคลิฟอร์เนีย ท่านออกจากประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1964 (พ.ศ. 2507) เคยทำงานเป็นอาสาสมัครสันติภาพ เคยสอนภาษาอังกฤษที่ เกาะบอร์เนียว และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจในพระพุทธศาสนา จึงมาบวชเป็นพระภิกษุที่จังหวัดหนองคาย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย
หลังจากนั้นไม่นานท่านก็มีโอกาสไปเป็น พระลูกศิษย์ชาวตะวันตกรูปแรก ของ พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) แห่งวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อพรรษาที่ 8 หลวงพ่อชาได้ส่งท่านให้ไปก่อตั้งวัดป่านานาชาติ ที่บ้านบุ่งหวาย จังหวัดอุบลราชธานี ได้ฝึกปฏิบัติตามแนวของหลวงพ่อชาเป็นเวลาถึง 10 ปี หลังจากนั้นจึงได้รับเชิญจาก มูลนิธิสงฆ์แห่งประเทศอังกฤษ (The English Sangha Trust) ให้เดินทางไปอยู่ที่ลอนดอน ร่วมกับคณะศิษย์ของหลวงพ่อชา อีก 3 รูป มูลนิธิสงฆ์แห่งประเทศอังกฤษ มีจุดมุ่งหมายจะเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แก่การฝึกพระภิกษุในประเทศตะวันตก
โดยมีสำนักสงฆ์บ้านแฮมสเตด (The Hampstead Buddhist Vihara) ณ เมืองลอนดอน เป็นจุดเริ่มต้น สำนักสงฆ์แห่งนี้มีความเหมาะสมพอสมควร แต่คณะสงฆ์ก็เห็นข้อดีของการมีสิ่งแวดล้อมที่สงบกว่า เช่น บรรยากาศในชนบท จึงพยายามตั้งวัดป่าขึ้นในประเทศอังกฤษ และสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2522) โดยดัดแปลงบ้านที่ทรุดโทรมหลังหนึ่งในเวสต์ ซัสเซกซ์ (West Sussex) ในเวลาต่อมาสถานที่นี้จึงเป็นที่รู้จักกันในนามว่า Chithurst Buddhist Monastery หรือ วัดป่าจิตตวิเวก (Cittaviveka) นั่นเอง
เมื่อมีวัดที่เหมาะสมขึ้นแล้ว คณะสงฆ์จึงเริ่มเติบโต มีจำนวนพระภิกษุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งเริ่มมีการฝึกคณะชี (Siladhara) มีทั้งผู้ที่ต้องการจะมาฝึกมาปฏิบัติในวัด และผู้ที่ต้องการจะถวายปัจจัยสนับสนุนวัด ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้ต้องก่อตั้งวัดสาขาเพิ่มอีกหลายแห่ง ทั้งในอังกฤษ และประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้งศูนย์กลางการสอนปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ขึ้น ณ วัดอมราวดี (Amaravati Buddhist Monastery) ประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) วัดแห่งนี้ต่อมาเป็นสถานที่ที่พระอาจารย์สุเมโธพำนักอยู่เป็นส่วนใหญ่
วัดอมราวดีตั้งอยู่ติดกับหมู่บ้าน Great Gaddesden ใกล้ๆ เมือง Hemel Hempstead ใน Hertfordshire ในวัดมีศูนย์ปฏิบัติกรรมฐานสำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้มาเยี่ยมเยียนวัดสามารถขออนุญาตพักอยู่ที่ศูนย์ฯ ในฐานะแขกของวัดได้ ถ้าพร้อมที่จะใช้ชีวิตในชุมชนที่มุ่งฝึกพัฒนาคุณธรรม เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และให้บริการช่วยเหลือผู้อื่น นอกจากนี้ วัดอมราวดียังได้ผลิตหนังสืออีกหลายเล่มจากคำสอนของพระอาจารย์สุเมโธ รวมทั้งเผยแพร่หนังสือเกี่ยวกับหลวงพ่อชา และครูอาจารย์อื่นๆ ทางพุทธศาสนา
อาตมาอยู่กับหลวงพ่อชาหลายปี เมื่อพวกเราลูกศิษย์ของท่านเกิดความเห็นผิด เบื่อการปฏิบัติ บางทีก็เกิดความสนใจทางโลก ท่านจะบอกว่า "ต้องดูใจตัวเองว่า เรายึดถืออะไร ทำไมถึงคิดอย่างนี้ทำอย่างนี้" ท่านไม่ได้สอนอย่างเดียว ท่านเองก็ปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ท่านเอาสิ่งที่ประสบในการเป็นอาจารย์ เป็นเจ้าอาวาส มาเป็นธรรมะ เห็นธรรมะในชีวิตประจำวันในทุกสิ่งทุกอย่าง วัดป่าพง (เป็นคำที่หลวงปู่ชาชอบเรียกวัดหนองป่าพง) เสื่อมไปก็เป็นธรรมะ ลูกศิษย์มากก็เป็นธรรมะ ไม่มีลูกศิษย์ก็เป็นธรรมะ ลูกศิษย์ดี ลูกศิษย์ไม่ดี โลกมันเปลี่ยนแปลงอย่างไร ดินฟ้าอากาศเป็นอย่างไร ท่านก็รู้ในสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
ตอนหลวงพ่อไปอังกฤษ อาตมาได้อยู่ใกล้ชิดท่าน จึงได้มีโอกาสเห็นหลวงพ่อต่อสู้กับสิ่งแปลกๆ อย่างไร เวลาอยู่เมืองไทยท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ ใครๆ ก็นับถือเคารพอย่างสูง แต่เมื่อไปอยู่เมืองอังกฤษคนไม่รู้จักท่าน ท่านเดินไปบนถนน คนเห็นบางทีเขาก็เยาะเย้ย หัวเราะ เห็นว่าเป็นสิ่งแปลก ทำไมแต่งตัวอย่างนั้น โกนศีรษะ
วันหนึ่งหลวงพ่อและเรากำลังบิณฑบาตในลอนดอน มีนักเลงเป็นเด็กผู้ชายสามสี่คนมาแสดงอาการอยากจะต่อสู้กับพวกเรา หลวงพ่อเดินข้างหน้า อาตมาเดินตามหลังท่าน ตอนนั้นอาตมาก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี ถ้านักเลงพวกนั้นจะทำร้ายหรือทำไม่ดีแก่หลวงพ่อ แต่นักเลงทั้งสี่คนนั้น ไม่ทำร้ายแต่แสดงความรังเกียจ เยาะเย้ยแล้วก็หนีไป เมื่อกลับถึงที่พัก อาตมาก็ถามหลวงพ่อว่า "มีความรู้สึกอย่างไร?"
ท่านพูดว่า "โอ้ ดีมากนะ อยู่ที่นี่ก็ได้ผลดีนะ ท่านบอกว่า ไม่เป็นอะไร คนเยาะเย้ยแสดงความรังเกียจต่อท่าน ท่านก็เห็นว่าเป็นธรรมะเท่ากับอยู่ในกรุงเทพฯ ที่มีคนมาเคารพนับถือ สรรเสริญนินทาทั้งสองนี้มีค่าเท่ากัน ทำให้เกิดปัญญามาก ถ้ามีแต่สรรเสริญคงจะไม่มีปัญญา ไม่มีความสามารถ ปัญญาจะเจริญ ต้องมีนินทาด้วย"
หลวงพ่อไม่กลัวนินทา ไม่กลัวดินฟ้าอากาศที่ต่างกันกับประเทศไทย ไม่กลัวว่าอาหารฝรั่งจะเป็นอย่างไร อยากจะชิม อยากจะทดลองดู อยากจะอดทน ท่านไม่ถือเรื่องวัฒนธรรม ท่านอยากจะรู้สิ่งที่ควรทำในประเทศนั้น อยากจะสนทนาธรรมกับชาวอังกฤษเพื่อจะช่วยสอนได้ เพื่อจะชี้ทางไปถึงทางพ้นทุกข์ได้
ท่านเป็นคนอีสาน ชีวิตของท่านส่วนมากก็อยู่ในอีสาน แต่ท่านไปกรุงเทพฯ ท่านก็กลมกลืนกับชาวกรุงเทพฯได้ ไปอังกฤษก็สอดคล้องกับชาวอังกฤษได้ ไปอเมริกาก็เหมือนกัน เพราะจิตใจท่านไม่ได้เป็นคนอีสาน ไม่ได้เป็นคนไทย จิตใจของท่านบริสุทธิ์ ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่ได้เป็นคน ไม่ได้เป็นผู้ชาย ไม่ได้เป็นชาวพุทธ ไม่ได้เป็นพระ ไม่ได้เป็นอาจารย์ ไม่ได้เป็นเจ้าคุณ มีแต่ความรู้ในปัจจุบัน ไปที่ไหนก็มีแต่เมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย
หลวงพ่อท่านมีความกรุณาอย่างสูง แต่เดี๋ยวนี้ท่านมรณภาพแล้ว เราก็เอาความดี ความบริสุทธิ์ของท่านมาเป็นอาจารย์ที่ไม่เกิดไม่ตาย ถ้าเรารักหลวงพ่อ เราก็ต้องทำตามคำสอนของท่าน คำสอนนั้นคือธรรมะ เป็นที่พึ่งของเรา จะได้ระลึกถึงอาจารย์เป็นเครื่องเตือนสติในสิ่งที่บกพร่องในชีวิตเราต้องแก้
ต้องทำให้มันดีขึ้น ตั้งใจปฏิบัติด้วยปัญญามากๆ ทิฏฐิมานะที่มีอยู่ เราต้องรู้จักมัน ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่นต่อไป ปล่อยวางความคิดความเห็นที่เรายึดถือและให้อยู่แบบเป็นผู้มีปัญญาในปัจจุบัน ให้ตั้งใจปฏิบัติอย่างนี้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นคนไทยก็ดี คนฝรั่งก็ดี ให้ตั้งใจว่าเราจะอยู่เพื่อธรรม เพื่อปฏิบัติธรรมต่อไป
จากหนังสือ : สายธรรมแห่งกัลยาณมิตร
(หนังสือที่ระลึกครบรอบ 20 ปี มรณภาพของหลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง) หน้าที่ 73-76
หลังทำภารกิจที่หลวงพ่อชามอบหมายมานานกว่า 34 ปี ที่ต่างประเทศ หลวงพ่อสุเมโธเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องปล่อยวางหน้าที่การบริหาร จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดอมราวดี กลับมาจำพรรษาอยู่ที่เมืองไทย ณ วัดป่ารัตนวัน อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2554 สำหรับท่านแล้ว เมืองไทย คือสถานที่ที่ทำให้ได้พบกับครูบาอาจารย์ที่ประเสริฐ พบกับคำตอบของชีวิตที่ช่วยให้มีสติอยู่กับตัวเสมอ
"เราอยากอยู่แบบเรียบง่าย ธรรมดา สบายๆ อย่างพระผู้เฒ่า เพราะเราได้รับภาระหน้าที่มาตลอด ขออยู่แบบหลวงปู่บ้านนอกธรรมดาๆ ตอนแรกคิดจะบวชแค่ 2 ปีเท่านั้น ไม่คิดว่าจะอยู่มานานขนาดนี้ แม้ว่าจะบวชมานาน ก็ยังไม่เบื่อหน่ายในความเป็นพระ ยังยินดีทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า"
หลวงพ่อสุเมโธ มาถวายสักการะสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ก่อนเดินทางกลับอังกฤษ
ในที่สุด เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ สนามบินสุวรรณภูมิ พระพรหมวชิรญาณ (โรเบิร์ต สุเมโธ) ท่านมีอายุ 87 ปี ก็ได้เดินทางกลับไปปฏิบัติศาสนกิจที่ วัดอมราวดี กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นการถาวรแล้วตามคำร้องขอของญาติโยมชาวอังกฤษ
ประวัติหลวงพ่อสุเมโธ : ท่านเล่าเอง
เป็นพระภิกษุชาวอังกฤษ อุปสมบทในปี พ.ศ. 2515 ก่อนวันวิสาขบูชาเพียงไม่กี่วัน โดยมีหลวงปู่ชา สุภัทโท เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2487 ท่านได้ใช้ชีวิตทางโลกอยู่หลายปี และได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตนเอง จนกระทั่งเกิดความรู้สึกศรัทธาสนใจมากยิ่งขึ้น จึงได้เดินทางเพื่อแสวงบุญไปยังดินแดนที่พุทธศาสนา เคยรุ่งเรืองหลายแห่ง ในที่สุดก็ได้เดินทางเข้าสู่เมืองไทย และบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนธันวาคม 2514
หลังจากนั้นได้เดินทางมาศึกษาธรรมะกับพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และได้อุปสมบทเมื่อปี 2515 ศึกษาอยู่กับหลวงพ่อชา อีก 5 ปี ก็ได้เดินทางกลับไปประเทศอังกฤษ ในปี 2520 พร้อมกับได้ก่อตั้งวัดป่าเล็กๆ ขึ้นแห่งหนึ่งที่เกาะไวท์ ชื่อว่า วัดป่าสันติธรรม ซึ่งเป็นสาขาที่ 158 ของวัดหนองป่าพง ได้ดำเนินการเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเรื่อยมา จนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวไทยที่อังกฤษ รวมทั้งชาวอังกฤษ
ผลงานโดดเด่นที่สร้างชื่อเสียงให้กับหลวงพ่อก็คือ การจัดตั้งองค์กรที่ชื่อว่า องคุลิมาล ขึ้น เพื่อเข้าไปให้ความรู้ทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งการฝึกหัดปฏิบัติธรรมแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ ประเทศอังกฤษ ช่วงแรกท่านประสบปัญหามาก เนื่องจากทุกเรือนจำต่างปฏิเสธที่จะให้เข้าไปสอน เพราะเห็นว่าไม่น่าจะมีประโยชน์ และคงไม่สามารถจะช่วยเหลืออะไรผู้ต้องขังได้ อีกอย่างคือ ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีพระสงฆ์ทางศาสนาพุทธรูปใดได้เข้าไปสอนในเรือนจำเลย
ท่านได้เพียรพยายามขอร้องชี้แจงถึงเหตุผลว่า การปฏิบัติธรรมนั้นจะช่วยลดปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ต้องขังได้มาก อันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ต้องขังเอง รวมทั้งเรือนจำที่จะไม่ต้องมาคอย ตามแก้ปัญหาที่เกิดจากสภาพความกดดันทางจิตใจของผู้ต้องหา ในที่สุดท่านก็ได้รับอนุญาต ปรากฏว่าได้ผลเกินคาด จนปัจจุบันมีเรือนจำถึง 2 ใน 3 ของเรือนจำทั้งหมด ในประเทศอังกฤษ ได้นิมนต์ท่านได้เข้าไปสอน โดยมีทีมงานอาสาสมัคร ทั้งพระและฆราวาสอีกประมาณ 40 คน ช่วยกันทำงานอย่างจริงจัง จนเป็นที่ชื่นชมของทางราชการอังกฤษมาก
ผลงานนี้ทำให้ หลวงพ่อเขมธมฺโม ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติแห่งจักรวรรดิอังกฤษ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบ็ธที่ 2 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2546 นับเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนารูปแรก ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดแห่งสหราชอาณาจักร
พระอาจารย์ปสันโน เป็นพระภิกษุชาวแคนาดา อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเพลงวิปัสสนา แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2517 ในพรรษาแรกนั่นเอง ท่านได้มีโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงปู่ชา สุภัทโท โดยการแนะนำของพระอุปัชฌาย์ของท่าน ได้พำนักที่ วัดหนองป่าพง และวัดสาขาอื่นๆ ตามโอกาสอันสมควร ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ และได้ปฏิบัติหน้าที่นี้เป็นเวลา 15 ปี
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2539 ในปี พ.ศ. 2540 พระอาจารย์ปสันโน ได้สละตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดป่านานาชาติ เพื่อมาก่อตั้ง วัดป่าอภัยคีรี และเป็นเจ้าอาวาส ร่วมกับ พระอาจารย์อมโรภิกขุ พระอาจารย์ปสันโน ได้รับแต่งตั้งเป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ "พระโพธิญาณวิเทศ" เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558
ท่านเล่าว่า "ไม่ได้ตั้งใจบวช เราเพียงแต่ตั้งใจจะศึกษาพระพุทธศาสนา ตั้งใจหาวิธีทำจิตให้สงบ เรามาเมืองไทยในฐานะนักท่องเที่ยว คือเราไม่รู้เลยว่า เมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา เราเป็นคนแคนาดาและเพิ่งจบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ และยังหนุ่มก็อยากหาประสบการณ์ เราก็ไปเที่ยวทางยุโรปไปหลายประเทศ กรีซ ตุรกี อิหร่าน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย เนปาล ก็ไปกันเพื่อหาประสบการณ์ แต่ว่าเมื่อยิ่งมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งมีความรู้สึกอยากแสวงหาสิ่งที่เป็นแก่นในชีวิตบ้าง มันมีส่วนหนึ่งทีทำให้เราอยากแสวงหาอะไรที่เป็นสาระ
เราไปเช่าบ้านที่ทางเหนือของอินเดียแถบภูเขาหิมาลัย บ้านก็สวย สถานที่ก็สวย เป็นภูเขาสูงๆ อยู่ในสวนแอปเปิ้ล ใกล้ๆ ก็มีน้ำตก 2 แห่ง มีน้ำพุร้อน คือธรรมชาติก็สวยที่สุดที่เราเคยเจอมา คนที่เราอยู่ด้วยเราก็ชอบ แต่ก็ยังรู้สึกว่า เอ๊ะ อันนี้ ทำไมเรามีอะไรทุกอย่างทีเราเคยปรารถนา แต่ยังไม่มีความสุข ก็มีความรู้สึกเช่นนี้มาตลอด แต่ก็มีความรู้สึกค่อนข้างจะชัดเจนที่อินเดีย และรู้สึกมาตลอดว่า ความพร้อมทางด้านวัตถุที่รายล้อมตัวเรานั้น ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขในใจ มีความรู้สึกว่า ยังไงเราก็ต้องไปแสวงหาความสุขทางจิตใจมากกว่า ไม่รู้จะไปหาได้ที่ไหน
เคยได้อ่านหนังสือเกียวกับพระพุทธศาสนาในสมัยเราเป็นนักศึกษา ก็มีความสนใจมากพอสมควร แต่ไม่เคยพบครูบาอาจารย์ มาถึงเมืองไทยก็คงจะเบื่อในการท่องเที่ยวแล้ว แล้วก็พระพุทธศาสนาก็พร้อม คือหันไปทิศไหนก็เห็นวัด ชอบพุทธอยู่ตลอด ก็เลยทำให้เรา เอ๊อะ เราเมื่ออยู่ในทีนี้ เราควรจะถือโอกาสศึกษาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะวิธีฝึกสมาธิ ทำกัมมัฏฐาน ก็ได้เริ่มทำ เริ่มทำแล้วก็ทำในวัด อยู่ในวัด ศึกษาในวัด
พระที่อยู่ก็ชวนให้บวช คือเราปฏิบัติมาแล้ว เราฝึกมาแล้ว เราก็เห็นคุณค่าในการปฏิบัติ พระจึงได้ชวนบวช เราก็คิดว่า บวช เราก็ต้องอยู่เป็นนักบวชตลอดชีวิต พระจึงบอกว่า ในประเทศไทยนั้นเรามีประเพณี เราไม่จำเป็นที่จะต้องบวชอยู่ตลอดชีวิตหรอก จะบวชสักพรรษานึง สัก 3-4 เดือนก็ได้ เราก็คิด เอ๊อะ 3 เดือน 4 เดือน เราก็พอไหว คิดว่าจะไม่เกินกำลังของเรา เราก็น่าจะได้สิ่งที่ดีจากประสบการณ์อันนั้น ตอนที่เราบวชใหม่ๆ เราก็คิดแค่นั้น แต่พอบวชแล้ว ก็ยิ่งจะเห็นคุณค่าของการปฏิบัติ และเริ่มที่จะรับความสงบทางจิตใจ เมื่อได้เริ่มรับความสงบเราก็อยากจะปฏิบัติต่อ
ตอนนั้น ที่เราบวชก็บวชที่กรุงเทพฯ และก็ได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงพ่อชา ซึ่งท่านเป็นพระที่อยู่ป่า และก็อยู่ต่างจังหวัด และปฏิบัติเคร่งครัด ระเบียบเรียบร้อย เราก็ฟังแล้วก็น่าสนใจ ก็ขึ้นไปกราบหลวงพ่อชา ที่วัดหนองป่าพง คำพูดแรกที่ท่านพูดออกมาว่า "เอ้อ คุณจะมาปฏิบัติกับเรา อยู่กับเรา ต้องอยู่อย่างน้อย 5 ปี" ทีแรกได้ยินถึงกับถอยเลย รู้สึกไม่ไหว แต่ว่าตอนนั้นทำให้เราได้พิจารณานะ เอ๊ะ เราเห็นตัวอย่างของหลวงพ่อชา เราก็ศรัทธา เห็นปฏิปทาของพระ เณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา เราก็ประทับใจและศรัทธา ก็อยากจะศึกษาอยากจะอยู่ด้วย ท่านก็เป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และท่านก็มีเสน่ห์ในตัวท่าน คือท่านสอนก็ดึงใจของคนได้ ก็ทำให้เราก็ยิ่งศรัทธา ก็ยิ่งอยากจะอยู่ ก็เถียงในใจนานพอสมควร ก็เลยตกลง เอ้า 5 ปี ก็ 5 ปี
จากทีแรก ที่ตัดสินใจบวช ไม่คิดว่าจะนานเลย ไม่ได้คิดอะไร เพราะว่าคิดจะสึกอยู่แล้ว (หัวเราะ) คือเราไม่ได้ตั้งใจทีจะอยู่นาน เลยไม่ได้ฝืนใจ ความรู้สึกของอาตมาก็ปฏิบัติไป ยิ่งเห็นคุณค่า ก็ยิ่งพอใจที่จะอยู่ในเพศบรรพชิต เพราะเรารู้สึกว่า เอ้อ ทางนี้เป็นทางที่ถูกต้อง"
ท่านปสันโนอยู่กับหลวงพ่อชาได้ประมาณ 8 ปี หลวงพ่อก็ให้ท่านไปอยู่ที วัดป่านานาชาติ ก็อยู่นานพอสมควร ทั้งหมดท่านอยู่เมืองไทย 23 พรรษา ก่อนที่จะไปอเมริกา ได้ริเริ่มก่อตั้งวัดป่าอภัยคีรี ที่สหรัฐอเมริกา
ก่อนจะมาเป็นพระอาจารย์อมโร ภิกขุ ชื่อเดิมของท่านคือ เจเรมี ชาร์ลส์ จูเลียน ฮอร์เนอร์ ชีวิตของเจเรมี ฮอร์เนอร์ เปรียบเสมือนเม็ดบัวที่ก่อกำเนิด และบ่มเพาะตัวอยู่ที่ท่ามกลางความหนาวเหน็บของ ประเทศอังกฤษ แต่เพราะสภาพแวดล้อมไม่พร้อมให้ผลิบาน เจเรมีผู้ตั้งคำถามถึงปรัชญาศาสนาและอิสรภาพแห่งชีวิต จึงเป็นได้เพียงฮิปปี้หนุ่มผมยาว ดื่มเหล้าเคล้ากัญชาไปวันๆ ก่อนที่จะตกเป็นอาหารปลาและเต่า โชคดีที่วันหนึ่งเมล็ดบัวถูกพัดพามาตกลง ณ วัดป่านานาชาติ ที่นี่ เมล็ดบัวเริ่มแทงยอด แตกใบอ่อน ก่อนจะผลิบานเป็นดอกบัวงาม ณ แดนไกลในวันนี้
ตอนเด็กท่านต้องทำวัตรแบบคริสต์ และท่องคำสอนจากคัมภีร์ไบเบิ้ลที่โรงเรียนทุกวัน พอท่านอายุ 6-7ขวบก็เริ่มสงสัยว่า "จริงหรือเปล่าที่ถ้าเชื่อพระเยซู ใจจะบริสุทธิ์ แล้วทุกสิ่งจะดีเอง" บาทหลวงก็สอนให้ท่านอ้อนวอนแล้วพระเจ้าจะประทานให้ทุกสิ่ง ท่านดีใจมากในวันคริสต์มาส ท่านอยากได้รถดับเพลิงจึงสวดขอพระเจ้า แต่ไม่ได้ ท่านจึงสงสัยหรือพระเจ้าจะไม่มีจริง มีบทสวดอยู่บทหนึ่งขึ้นต้นว่า "I believe in god ฉันเชื่อในพระเจ้า" ท่านจึงถามบาทหลวงว่า ถ้าเราไม่เชื่อแต่สวดว่า "เชื่อ" ถือว่าโกหกจริงไหม นั่นเป็นคำถามของท่านที่มีความหมายต่อท่านมากในตอนนั้น แต่บาทหลวงกลับตอบว่า "Don't be cheeky อย่าลามปาม" และท่านถูกมองว่าท่านกลายเป็นเด็กมีปัญหา ทั้งที่นั้นเป็นคำถามสำคัญ แต่ถูกปัดทิ้ง ศรัทธาจึงเสียไปในครั้งนั้น
ท่านเล่าให้ฟังว่า "ตอนเด็กๆ อาตมาคิดว่าหัวใจของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อาตมาก็ไม่ทราบว่าคืออะไร หลายศาสนามักอธิบายว่าพระเจ้าเป็นคน เป็น super person แต่อาตมารู้สึกอยู่ลึกๆว่าพระเจ้าเป็น something ไม่ใช่ someone ตอนนั้นคิดว่าปรมัตถธรรมนั้นมีแน่และสำคัญมาก แต่ไม่ใช่เป็นพระเจ้าที่เป็นบุคคลแบบในคัมภีร์ พระเจ้าไม่ได้เป็นผู้ชายอายุมาก ไม่ใช่คนตั้งกฎเกณฑ์ข้อปฏิบัติต่างๆ แต่จริงๆ แล้วพระเจ้าเป็นอย่างไร อาตมาไม่รู้และเมื่อไม่รู้ อาตมาอยากรู้ อยากจะถาม อยากจะเข้าใจ อยากจะเห็นสัจธรรมของชีวิต อยากเห็นปรมัตถธรรม แต่ตอนนั้นอาตมายังเด็กและยังไม่รู้หนทางที่จะพิจารณาให้เห็นความจริง"
ยุคของท่านเป็นยุคฮิปปี้ หนุ่มสาวในยุคนั้นส่วนใหญ่มีการคิดอิสระ (free thinking) คือจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง ปลดปล่อยตัวเองออกจากกฎหมาย กฎเกณฑ์ของสังคม และกฎระเบียบของครอบครัว
ตอนนั้นท่านก็เป็นฮิปปี้คนหนึ่ง เพราะชอบแนวคิด ชอบชีวิตไม่มีกฎ ไว้ผมยาวเฟี้อย ดื่มเหล้า สูบกัญชา ท่านอาจารย์อมโรเล่าถึงพวกฮิปปี้ให้ฟังว่า "พวกนี้ข้างนอกดูว่าอิสระเต็มที่ แต่ข้างในไม่ใช่เลย ฮิปปี้ไ่ม่เคยเป็นอิสระ จากเหล้า ยาเสพติด และเซ็ก แถมยังยึดติดในความคิดของตัวเองอีกด้วย"
ต่อมาท่านสงสัยว่า จิตใจของเราทำงานอย่างไร อยากมีความสงบความสบายใจ ท่านจึงเลือกศึกษา จิตวิทยา (psychology) และสรีรวิทยา (physiology) ที่ University of London แต่พอท่านเรียนๆ ไปก็เห็นว่าต่อให้ศึกษาจนเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จิตใจก็ยังสับสนและเป็นทุกข์อยู่ดี เลยคิดว่าจิตวิทยาไม่สามารถช่วยให้ใจสงบ เรียนต่อไปก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่ท่านต้องการแสวงหาความสงบ ก็เพราะจิตท่านมันไม่สงบเอามากๆ มีห่วงมาก กลัวมาก รู้สึกไม่มั่นคง กังวลไปซะทุกอย่าง
ภายนอกไม่มีอะไร ครอบครัวท่านดีมาก บ้านท่านมีสวนดอกไม้ตรงประตูบ้านเหมือนสวรรค์ พ่อแม่มีเงินพอใช้ โรงเรียนก็ดี สังคมก็ดี ภายนอกจึงไม่มีอะไรให้ห่วงแต่ท่านกลับรู้สึกหน่วงๆ อยู่ภายใน นี่คือเหตุผลที่ท่านอยากเข้าใจจิตใจนี้ เพราะสงสัยทำไมจึงเป็นทุกข์ ทั้งที่ทุกอย่างก็มีพร้อมหมด แม้จะมีความสุข แต่มันสั้นๆ ดื่มสุราหรือสูบกัญชาก็มีความสุขแต่มันไม่นานและไม่เคยเต็ม ท่านเรียนดี เรียนจบก่อนเพื่อนท่านสองปี ได้เกียรตินิยมอันดับสอง เป็นนักกีฬาได้รางวัลมากมาย เพียบพร้อมไปหมด แต่ข้างในกลวง ..have a hole in a heart.. ไม่พอ ไม่เคยพอใจ ยากที่จะเข้าใจ
"พี่สาวอาตมาเป็นคนเรียบร้อย แต่อาตมาเป็นคนสุดโต่ง เรียกว่าคนอื่นทำ 100 อาตมาทำ 120 ถ้าลงมือทำอะไร อาตมาก็จะเป็นมากกว่าคนอื่น ตอนแรกอาตมาดื่มสุราหรือสูบกัญชาเพื่อจะมีความสุข ปาร์ตี้สนุกไปเรื่อย ต่อมาก็ดื่มและสูบเพื่อปิดประตูความรู้สึก หยุดคิด จะได้ลืมอะไรๆ ไปให้หมด"
โชคดีที่วันหนึ่งได้เห็นว่า ถ้าใช้ชีวิตอย่างนี้คงตายก่อนอายุยี่สิบห้า ถ้าไม่เปลี่ยนเส้นทางอายุคงจะสั้น "ในช่วงที่ท่านเป็นนักศึกษา ได้มีโอกาสฟังบรรยายของ เทรเวอร์ สเตนคอฟ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) อีกที เทรเวอร์อธิบายเรื่องกรรมและการอบรมจิตได้น่าสนใจมาก และเหมือนเขาจะมีฌานหยั่งรู้และเข้าใจคน วันหนึ่งเขาบอกแก่ท่านว่า ”ผมไม่รู้ว่านี่คือข่าวดีหรือข่าวร้าย แต่คุณไม่มีทางพบความสุขในชีวิตทางโลกได้หรอก และ "ชะตาชีวิตของเธออยู่ที่ตอนเหนือของอินเดีย” พูดจบเขาก็ไม่อธิบายอะไรอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญกับชีวิตของท่านมาก
ซึ่งคงจะจริง เพราะที่ผ่านมาท่านไม่สนใจความสำเร็จทางโลกเลย แม้ตอนเรียนจะมีโอกาสทำปริญญาโทและเอก เมื่อเรียนจบแล้วก็สามารถเข้าทำงานในธุรกิจ จิเวลลี่ของพ่อทูนหัวได้เลย นอกจากนี้ท่านยังเขียนหนังสือและแสดงละคร เรียกว่ามีช่องทางให้เลือกในชีวิตมากมาย ประตูหลายบานต่างเปิดรับ แต่สุดท้ายท่านกลับไม่ชอบไม่สนใจ ไม่เอาอะไรกับเส้นทางโลกเลย และท่านชอบอ่านวรรณคดีเกี่ยวกับจิตวิญญาณอยู่แล้ว เช่น ปรัชญาอินเดีย จีน จึงพอเข้าใจว่าปรัชญาทางตะวันออกเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และใกล้ชิดธรรมชาติ เมื่อทั้งสองเหตุมารวมกันท่านจึงตัดสินใจจะเดินทางไปตะวันออก ลองไปแบบไม่มีจุดหมาย ดูซิว่าจะค้นพบอะไรบ้าง
และในที่สุด ท่านก็ได้มาพบเจอกับวิถีชีวิต ในร่มเงาพุทธศาสนา เป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งที่ท่านได้พบว่า ธรรมะในพุทธศาสนา ได้เริ่มหยั่งรากลงไปในใจของท่าน ในช่วงเวลาที่ได้ทดลองปฏิบัติธรรมที่วัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านกล่าวถึงช่วงชีวิตในตอนนั้นว่า
“ศรัทธาที่ว่านี้ ไม่ได้เกิดจากการอ่านหนังสือ หรือศึกษาแนวคิดที่เป็นนามธรรม แต่เป็นศรัทธาที่เกิดจากการสัมผัสระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันอย่างแท้จริง อาตมาศรัทธาวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและงดงามของนักบวชเหล่านั้น และคิดทันทีว่า ไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไร เราจะขอใช้ชีวิตเช่นเดียวกับคนเหล่านี้ เพราะวิถีที่ท่านเป็นคือวิถีที่เราอยากเป็นมาโดยตลอด”
ฮิปปี้เจเรมี พักอยู่ที่ วัดป่านานาชาติ เพียง 3 สัปดาห์ ก่อนตัดสินใจบวชเป็นปะขาว มีโอกาสทำหน้าที่อุปัฏฐากหลวงพ่อชา ขณะที่ท่านจำพรรษาที่วัดป่านานาชาติ หลังบวชเป็นอนาคาริกอยู่ 6 เดือน ปะขาวเจเรมีได้รับอนุญาตให้บวชสามเณร และในอีก 9 เดือนต่อมา สามเณรเจเรมีเขียนจดหมายถึงโยมพ่อ โยมแม่เพื่อขออนุญาตบวช ก่อนเข้าอุปสมบทที่วัดหนองป่าพง มีพระโพธิญาณเถระ (หลวงพ่อชา) เป็นอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "อมโรภิกขุ" (เมื่อ พ.ศ. 2522) ปัจจุบันท่านได้รับดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดอมราวดี สาขาวัดหนองป่าพง ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
วัดอมราวดี : วิถีพระวัดป่าในโลกตะวันตก | พื้นที่ชีวิต
พระอาจารย์อมโร ได้รับแต่งตั้ง เป็น พระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ "พระวิเทศพุทธิคุณ" เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558
เป็นพระภิกษุชาวอังกฤษ ท่านอุปสมบทในปี พ.ศ. 2523 ที่ วัดหนองป่าพง โดยมีหลวงปู่ชา สุภัทโท เป็นพระอุปัชฌาย์ ปัจจุบันพำนักอยู่ที่สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี ที่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
นามเดิมของท่าน ฌอน ชิเวอร์ตัน เป็นชาวอังกฤษ เมื่อบวชพระแล้วได้รับฉายาจาก พระโพธิญาณเถระ (หลวงพ่อชา) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ว่า "ชยสาโร" ท่านอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์มากว่า 33 ปีแล้ว
ชีวิตท่านเกิดมาเพื่อสิ่งนี้โดยตรง เพราะเมื่อคราวหนึ่งบิดาของท่าน ต้องการให้สอบชิงทุนเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อของประเทศอังกฤษ แต่ท่านไม่ปรารถนาสิ่งนั้น กลับเฝ้าคิดเสมอว่าคนเราเกิดมาทำไม เกิดแล้วอะไรมันคือสิ่งที่สูงสุดของการที่ได้มาเป็นมนุษย์ ท่านก็หาหนังสือหลายเล่มมาอ่าน จนกระทั่งได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับ "พระพุทธศาสนา" จึงเริ่มเข้าใจว่า "สัจธรรมคือความจริง"
ท่านจึงได้ออกจากบ้าน ร่อนเร่ ไปหาประสบการณ์ในต่างประเทศ ทั้งในอิหร่าน ซึ่งลำบากมาก หรือแม้แต่ไปฝึกตนเป็นฤๅษีที่อินเดีย ท่านก็เคยไปมาแล้ว ท่านใช้เวลาค้นหาสิ่งที่เรียกว่า สัจธรรม ตั้งแต่อายุ 17 ปี จนกระทั่งเมื่อครบ 2 ปีผ่านไป ท่านถึงได้กลับประเทศอังกฤษ และได้มีโอกาสพบกับ พระอาจารย์สุเมโธ พระฝรั่งลูกศิษย์ของหลวงพ่อชา เมื่อปี 2521 จึงเริ่มศึกษาธรรมะ และถือศีล 10 กับพระอาจารย์สุเมโธ จากนั้นจึงเดินทางมาที่ประเทศไทยเพื่อจะศึกษาธรรมะให้ลึกซึ้งกับหลวงพ่อชา
แม้ว่าจะผ่านการฝึกกับพระอาจารย์สุเมโธมาแล้ว แต่หลวงพ่อชาท่านก็ไม่ยอมบวชให้ ท่านให้มาเรียนรู้เพิ่มเติมอีก และเมื่อท่านถามว่า "อยากบวชไหม" ถ้าตอบว่า "อยากบวช" หลวงพ่อจะไม่บวชให้ แต่ถ้าตอบว่า "แล้วแต่หลวงพ่อจะเห็นสมควร" หลวงพ่อชาท่านก็จะบวชให้ กระทั่งในปี พ.ศ. 2523 หลวงพ่อชาท่านจึงได้เป็นพระอุปัชฌาย์ในการบวชให้เอง
แม้บวชแล้วท่านก็ยังต้องฝึกภาษาไทย ทั้งการพูด ทั้งการอ่าน และการเขียน แถมเขียนหนังสือได้สวยมาก ต้องบอกว่า เวลาฟังท่านบรรยายธรรมแล้ว ผมมักจะเกิดความรู้สึกแปลกๆ บางอย่างขึ้นมา ทั้งๆ ที่สิ่งที่ท่านบรรยายนั้นไม่ได้มีศัพท์แสง หรือคำบาลีในพระไตรปิฎกอะไรทั้งสิ้น แต่ฟังแล้วมันจับใจ มันกินลึกไปถึงจิตวิญญาณอย่างมาก อาจจะเป็นไปได้ว่า เพราะท่านใช้หัวใจพูด ไม่ได้ใช้ตำราพูด
หัวใจที่ผ่านการปฏิบัติธรรมมาอย่างเนิ่นนาน หัวใจที่ได้รับการอบรมมามาก บางครั้งคราวดูเหมือนจะอ่านใจผู้คนทั้งหลายออกด้วยซ้ำไป มีคนเคยถามท่านแบบตรงๆ ซึ่งหน้าว่า "ท่านเคยเห็นเทวดาไหม" ท่านมองแล้วเอามือชี้ไปที่ญาติโยมที่อยู่ในศาลา พร้อมกับพูดขึ้นว่า "นี่ไงๆ เทวดาทั้งนั้น... เห็นบ่อยเลยเทวดาแบบนี้" นี่คือ ปัญญาแห่งธรรม
นอกจากนี้ ท่านยังทำโครงการมากมายเพื่อสนับสนุนเยาวชนไทย และคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา ในปัจจุบัน ท่านเป็นที่ปรึกษาให้ โรงเรียนปัญญาประทีป เป็นโรงเรียนวิถีพุทธแบบโรงเรียนประจำ อยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นโรงเรียนที่ผู้ปกครองยุคใหม่ปรารถนาจะให้ลูกเข้ามาเล่าเรียนศึกษามากที่สุด แต่ทว่ารับจำนวนจำกัด เพราะที่นี่นอกจากสอนในเชิงวิชาการอย่างดีแล้ว ยังสอนในเรื่องของการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีคุณธรรมด้วย
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เลื่อนและแต่งตั้งสมณศักดิ์ พระชยสาโรภิกขุ (ฌอน ซิเวอร์ตัน) สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี ปากช่อง นครราชสีมา เป็น พระราชพัชรมานิต วิ. และเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2563 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า พระราชพัชรมานิต (พระฌอน ชิเวอร์ตัน ชยสาโร) สัญชาติอังกฤษ สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ได้เข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน เป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย แตกฉานในพระธรรมคำสอน มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่ธรรมะทั้งในประเทศไทย และนานาชาติ กับเคยดำรงตำแหน่ง "เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ" มาก่อน ถือเป็นผู้ทำคุณประโยชน์เป็นพิเศษต่อประเทศไทยและพระพุทธศาสนา
ทั้งนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ขึ้นเป็น พระราชพัชรมานิต ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2562 ประกอบกับพระราชพัชรมานิต (พระฌอน ชิเวอร์ตัน ชยสาโร) ได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาแปลงสัญชาติเป็นไทย
โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ พระราชพัชรมานิต (พระฌอน ชิเวอร์ตัน ชยสาโร) แปลงสัญชาติเป็นไทยเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2563
[ อ่านประกาศใน ราชกืจจานุเบกษา 9 มีนาคม 2563 ]
ใครที่มีโอกาสเดินทางไป อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ไปกราบท่านได้ที่ สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี แล้วจะรู้สึกปีติในหัวใจในเวลาที่ได้กราบพระสงฆ์แท้ๆ ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย
Perspective : สนทนาธรรมกับพระอาจารย์ชยสาโร
นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมพวกเราชาวต่างชาติถึงมาที่นี่ ประเทศไทย เมืองแห่งพุทธศาสนา...
ดอกบัวบานทางทิศตะวันตก : ตอนที่ 1 | ตอนที่ 2 | ตอนที่ 3 | ตอนที่ 4
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)