foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

kabbua 01ผ้าลายกาบบัว

เอกลักษณ์ของผ้าลายพื้นเมือง ที่ได้รับการกล่าวขานถึง จากครั้งอดีตจนถึงปัจจุบันของชาวอุบลราชธานีคือ ผ้ากาบบัว ชื่อนี้เป็นที่ถกเถียง และสงสัยกันมากถึงที่มาที่ไป ทำไมจึงเป็น กาบบัว ไม่ใช่ กลีบบัว และลายที่แตกต่างนั้นดูตรงส่วนใด? คำถามเหล่านี้ผู้เขียนได้รับการสอบถามอยู่เสมอ จากเพื่อนพ้องต่างถิ่น ผู้มาเยือน และแม้แต่ลูกศิษย์ลูกหาที่สนใจใคร่รู้ จึงเป็นที่มาของเรื่องราวที่จะกล่าวถึง ตำนาน และความภาคภูมิใจของชาวอุบลราชธานี ในวันนี้

kabbua header

โดย : ครูมนตรี โคตรคันทา

kabbua fai 03ผ้ากาบบัว เป็นชื่อผ้าที่ถูกกล่าวถึงในวรรณกรรมโบราณอีสานหลายเรื่อง คำว่า "กาบ" ในภาษาอีสานมีความหมายถึง เปลือกหุ้มชั้นนอกของต้นไม้บางชนิด เช่น เปลือกหุ้มต้นกล้วย เรียก กาบกล้วย หุ้มไม้ไผ่ เรียก กาบลาง กลีบหุ้มดอกบัว เรียก กาบบัว (สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ : ปรีชา พิณทอง)

ผ้ากาบบัว อาจจะทอด้วยไหมหรือฝ้าย โดยมี เส้นยืน (Warh) ย้อมอย่างน้อยสองสีเป็นริ้ว ตามลักษณะ "ซิ่นทิว" ซึ่งมีความนิยมแพร่หลายแถบอุบลฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เส้นพุ่ง (Weft) จะเป็นไหมสีมับไม (ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่และขิด

pakabbua

kabbua fai 01จังหวัดอุบลราชธานี มีชื่อเสียงในด้านการทอผ้าพื้นเมืองมาช้านาน เห็นได้จากวรรรกรรมโบราณอีสาน และประวัติศาสตร์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดอุบลราชธานี ได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดถึงความประณีตสวยงาม แสดงออกถึงภูมิปัญญาของผู้ทอผ้า ที่ได้รังสรรค์บรรจงด้วยจิตวิญญาณ ออกมาเป็นลวดลายอันวิจิตร สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน ผ้ากาบบัว ได้รับการสืบสานให้เป็น "ผ้าเอกลักษณ์" ทางวัฒนธรรมของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่นิยมในวงการแฟชั่นผ้าไทย มีการสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ลายกาบบัวนี้ ตั้งแต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไปจนถึงวัยรุ่น ด้วยรูปแบบแฟชั่นที่หลากหลายจากนักออกแบบมีชื่อ

'ผ้ากาบบัว' ในหน้าประวัติศาสตร์

kabbua r5ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ได้นำผ้าทอเมืองอุบลฯ ทูลเกล้าถวาย ซึ่งปรากฏในพระราชหัตถเลขาตอบเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ร.ศ.114 ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ความว่า

"ถึง สรรพสิทธิ ด้วยได้รับหนังสือลงวันที่ 13 มกราคม ส่งผ้าเยียรบับลาวมาให้นั้นได้รับแล้ว
          ผ้านี้ทอดีมากเชียงใหม่สู้ไม่ได้เลย ถ้าจะยุให้ทำมาขายคงจะมีผู้ซื้อ ฉันจะรับเป็นนายหน้า ส่วนที่ส่งมาจะให้ตัดเสื้อ ถ้ามีเวลาจะถ่ายรูปให้ดู แต่อย่าตั้งใจคอยเพราะจะถ่ายเมื่อใดบอกไม่ได้

จุฬาลงกรณ์ ปร.

จากการค้นคว้าถึงตำนานผ้าเยียรบับนี้พบว่า เป็น ผ้าลายกาบบัวคำ ทอด้วยเทคนิคขิด หรือยกด้วยไหมคำ (ดิ้นทอง) แทรกด้วยไหมมัดหมี่ ใช้เทคนิคการจกหรือเกาะด้วยไหมสีต่างๆ ลงบนผืนผ้า

kabbua kampoon 02ในเวลาต่อมาอีก 55 ปีถัดจากนั้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 ชาวอุบลราชธานีได้ร่วมใจกันทอ ผ้าซิ่นไหมเงิน ยกดอกลายพิกุล ทูลเกล้าฯ ถวายเนื่องในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร และถัดจากนั้นอีก 5 ปีต่อมา ในวโรกาสเสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกรชาวอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2498 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าซิ่นไหมเงิน ที่ชาวอุบลราชธานีทูลเกล้าฯ ถวาย และมีพระกระแสรับสั่งกับเหล่าผู้เฝ้ารับเสด็จฯ ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ว่า "ชาวอุบลฯ เขาให้ผ้าซิ่นนี้เป็นของขวัญวันอภิเษกสมรส เมื่อมาเยี่ยมอุบลฯ จึงนำมานุ่งให้คนอุบลฯ เขาดู" ยังความปลาบปลื้มปิติเป็นล้นพ้นของชาวอุบลราชธานีทั้งมวล

pakabbua2

'ผ้ากาบบัว' ผ้าเอกลักษณ์ของเมืองอุบล

kabbua jok 01โครงการสืบสานผ้าไทยสายใยเมืองอุบลราชธานี ได้เกิดขึ้นเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองอุบลราชธานี โดย นายศิวะ แสงมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (ในสมัยนั้น) ได้มอบหมายให้คณะทำงานพิจารณาฟื้นฟูลายผ้าพื้นเมืองในอดีตที่สวยงาม จนได้ลายผ้ามีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ชื่อว่า ผ้ากาบบัว พร้อมกับมีประกาศจังหวัดให้ "ผ้ากาบบัว" เป็น "ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด" เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2543 (ดูประกาศด้านล่างบทความนี้)

ผ้ากาบบัว อาจทอด้วยฝ้ายหรือไหม ประกอบด้วยเส้นยืนย้อมอย่างน้อยสองสี เป็นริ้วตามลักษณะ "ซิ่นทิว" ซึ่งมีความนิยมแพร่หลายแถบอุบลราชธานี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังทอพุ่งด้วยไหมสีมับไม (ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่ และขิด

ผ้ากาบบัว (จก) คือ ผ้าพื้นทิว หรือ ผ้ากาบบัวเพิ่มการจกลาย เป็นลวดลายกระจุกดาว (บางครั้งเรียก เกาะลายดาว) อาจจกเป็นบางส่วน หรือกระจายทั่วทั้งผืนผ้า เพื่อสืบทอด "ซิ่นหัวจกดาว" อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของผ้าซิ่นเมืองอุบล ผ้ากาบบัว (จก) นี้เหมาะที่จะใช้งานในพิธีหรือโอกาสสำคัญ

kabbua kam 01kabbua kam 02

ผ้ากาบบัว (คำ) คือ ผ้าทอยก (บางครั้งเรียก ขิด) ด้วยไหมคำ (ดิ้นทอง) อาจสอดแทรกด้วยไหมเงิน หรือไหมสีต่างๆ อันเป็นผ้าที่ต้องใช้ความประณีตในการทออย่างสูง

ผ้ากาบบัว คือ ผ้าที่ใช้เทคนิค 4 เทคนิคผสมกันในการทอ เริ่มจากเส้นยืนที่ต้องใช้ 2 สีขึ้นไป เพื่อให้เกิดลายทิวหรือลายแนวนอนขวางลำตัวเวลานุ่งซิ่น ส่วนเส้นพุ่งประกอบด้วย 3 เทคนิค นั่นคือ ยก (หรือ ‘ขิด’ ภาษาอีสาน แปลว่า การสะกิดเส้นยืนเพื่อให้เกิดลวดลายแค่บางจุด) หางกระรอก (หรือ ‘มับไม’ ภาษาอุบลคือการนำเส้นไหม 2 เส้นมาพันเกลียวกันก่อนใส่กระสวยทอ) และมัดหมี่ (คือการใช้เชือกมัดบางจุดก่อนย้อม ทำให้สีติดบางส่วนจนเกิดลวดลาย)

ในอดีต ผ้ากาบบัว ต้องมีลายทิวหรือลายแนวนอน ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มไทและไทยวน รวมถึงชาวอุบลสมัยก่อน เป็นคุณสมบัติที่ผ้ากาบบัวทุกผืนต้องมี ผ้ากาบบัวรุ่นต่อมายังมีการเพิ่มลวดลายจกดาวที่ตีนซิ่น การจกดาว คือ การเอานิ้วจกลงไประหว่างเส้นด้ายที่ขึงทออยู่ แล้วปักลวดลายเฉพาะจุดออกมาเป็นรูปดาวระยิบระยับ นี่คือลักษณะเด่นที่ไม่มีในผ้าเก่าของจังหวัดอีสานอื่นใดเลยนอกจากอุบลราชธานี

kabbua kam 03

ผ้ากาบบัวคำ ผ้ากาบบัวรุ่นที่เพิ่มเทคนิคยกทองเข้าไป การยกทอง คือ การตีโลหะให้เป็นเส้นบางมากๆ แล้วทอแทรกเข้าไประหว่างไหม ทำให้ได้ผ้าออกมาแวววาวแต่ก็หนักสุดๆ ด้วย นี่เป็นเทคนิคที่เคยเกือบสูญหายไปจากอุบลราชธานี เพราะคนธรรมดาสามัญในสมัยก่อนนั้นห้ามใส่ผ้ายกทอง สงวนไว้สำหรับเจ้านายและผู้สืบสกุลจากเจ้าเมือง ทำให้มีทอผ้ากาบบัวคำนี้เฉพาะในวังเจ้าวังนายเท่านั้น โชคดีที่บ้านคำปุ่นสืบทอดเชื้อสายมา ทำให้ยังคงมีภูมิปัญญานี้อยู่จนปัจจุบัน

kabbua 02

'ผ้ากาบบัว' กับการนำมาใช้ประโยชน์ 

ผ้ากาบบัว ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในการตัดเย็บเครื่องแต่งกาย ทั้งชายและหญิง ในสมัยโบราณนั้น ฝ่ายชายจะใช้ ผ้าปูม (ทอแบบมัดหมี่สำหรับนุ่งโจม) ผ้าวาหรือผ้าหางกระรอก (ทอด้วยเส้นมับไม) ผ้าโสร่ง (ทอคั่นเส้นมับไม) ผ้าสร้อยปลาไหล (ทอด้วยเส้นมับไม) ผ้าแพรอีโป้ (ผ้าขะม้า) ผ้าปกหัว (นาค) และผ้าแพรมน (ผ้าเช็ดหน้า เช็ดปาก) เป็นต้น

สำหรับฝ่ายหญิง มีซิ่นชนิดต่างๆ คือ ซิ่นยกไหมคำ (ดิ้นเงิน - ดิ้นทอง) ซิ่นขิดไหม (ยกดอกด้วยไหม) ซิ่นหมี่ ซิ่นทิว ซิ่นไหมควบ ซิ่นลายล่อง นอกจากนี้ยังมีผ้าห่ม (ถือ) หรือผ้าเบี่ยง (สไบ) และผ้าตุ้มอีกหลายแบบ

kabbua shirtkabbua handback

ผ้ากาบบัว ในปัจจุบันนี้ ได้รับการส่งเสริมให้เป็นสินค้าชั้นนำ OTOP โดยมีพรีเซนเตอร์ระดับประเทศสนใจเป็นแบบโดยไม่ตั้งใจ เพราะหลงไหลในลวดลายและสีสันของผ้ากาบบัว ตั้งแต่ดารา นางแบบ นางสาวไทยหลาย พ.ศ. ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายๆ กระทรวง รวมทั้งรัฐมนตรีทุกท่านในคณะรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร บางท่านถึงกับสั่งตัดพิเศษเพื่อใช้ประจำทุกสัปดาห์ โดยไม่ให้ซ้ำสี ซ้ำลายเลยทีเดียว

'ผ้ากาบบัว' ทำไมไม่เรียก 'ผ้ากลีบบัว'

คำตอบของชื่อนี้มีที่มาที่ไปครับ อย่าสับสนกับคำในภาษาไทยกลาง เพราะตามความหมายในพจนานุกรมนั้น (ภาษากลาง) กาบ จะหมายถึง "น. เปลือกหุ้มชั้นนอกของผลหรือดอก และของต้นไม้บางชนิด ลอกออกได้เป็นชั้นๆ เช่น กาบมะพร้าว กาบหมาก กาบกล้วย โดยปริยายหมายถึง สิ่งที่มีลักษณะเช่นนั้น" แต่ถ้าไปดูคำในภาษาอีสาน คำว่า "กาบ" ในภาษาอีสานมีความหมายถึง เปลือกหุ้มชั้นนอกของต้นไม้บางชนิด เช่น เปลือกหุ้มต้นกล้วย เรียก กาบกล้วย หุ้มไม้ไผ่ เรียก กาบลาง กลีบหุ้มดอกบัว เรียก กาบบัว (สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ : ปรีชา พิณทอง) และจากเอกสารข้อยุติของคณะทำงานพิจารณาผ้าพื้นเมืองได้ให้เหตุผลไว้ดังนี้

ผ้ากาบบัว ในการประชุมคณะทำงานพิจารณาลายผ้าพื้นเมือง คุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล ได้เสนอชื่อ ผ้ากาบบัว อันเป็นชื่อผ้าในวรรณกรรมโบราณอีสาน ซึ่งไม่อาจทราบหรือพบในยุคปัจจุบันแล้ว ให้เป็นชื่อเรียกผ้าเอกลักษณ์เมืองอุบลฯ

ชื่อ ผ้ากาบบัว ออกเสียงง่าย ไพเราะ และง่ายต่อการจดจำ

ชื่อ ผ้ากาบบัว สอดคล้องกับความนิยมในเรื่องสีของยุคปัจจุบัน โดยจะเห็นได้ว่า ในการเสนอข่าวแฟชั่นของทุกปี จะต้องมีการนำเสนอสีแนวธรรมชาติ (Earth Tone) อยู่เสมอ สีของกาบบัว (ภาษาท้องถิ่น) หรือกลีบบัว ซึ่งไล่อ่อนแก่จาก ขาว ชมพู เทา เขียว น้ำตาล อยู่ในความนิยมเสมอ และยังสอดคล้องกับการย้อมจากพืชพรรณธรรมชาติอีกด้วย

ชื่อ ผ้ากาบบัว มีความหมายเหมาะสมกับชื่อ จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อดูความหมายของ "กาบ" ตามพจนานุกรมฯ อธิบายไว้ว่า "น. เปลือกหุ้มชั้นนอกของผลหรือดอก และของต้นไม้บางชนิด ลอกออกได้เป็นชั้นๆ เช่น กาบมะพร้าว กาบหมาก กาบกล้วย โดยปริยายหมายถึง สิ่งที่มีลักษณะเช่นนั้น"

โดยนัยแห่งคำอธิบายตามพจนานุกรมนี้ "กาบบัว" จึงหมายถึง เปลือกหุ้มชั้นนอกของดอกบัว มิใช่กลีบบัวที่หุ้มรอบเกสรบัวที่อยู่ชั้นใน (หรือจะพูดแบบภาษาชาวบ้านง่ายๆ ว่า กาบบัวคือกลีบบัวชั้นนอกสุดที่แก่จัดเกือบร่วงโรย นั่นเอง) ดังนั้น จึงมีข้อคิดเห็นที่สนับสนุนในการเรียกผ้าเอกลักษณ์เมืองอุบลว่า ผ้ากาบบัว ดังนี้

กาบบัว มีพื้นผิวเป็นเส้นทางตั้ง ขึ้นเด่นชัด สามารถนำมาเป็นตัวอย่างในการทอลายผ้าได้อย่างงดงาม ตรงข้ามกับกลีบบัวที่ยังไม่ปรากฏลายเส้นนูน

กาบบัว มีสีตามธรรมชาติชัดเจน สอดคล้องกับการย้อมสีจากพืชพรรณธรรมชาติ ให้ได้สีตามต้องการ แต่กลีบบัวยังไม่ปรากฏสีเด่นชัด

ผ้ากาบบัว เป็นผ้าที่มีมาแต่โบราณในอุบลฯ จึงใช้ชื่อเดิม เพื่ออนุรักษ์ประวัติผ้าชนิดนี้ไว้มิให้เสื่อมสูญ

ชื่อ ผ้ากาบบัว นอกจากมีความเหมาะสมกับชื่อจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ยังมีความหมายถึงเชื้อสายบรรพบุรุษ ที่สืบเนื่องมาจาก "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" อีกด้วย

เรื่องเล่า "ผ้ากาบบัวอุบลราชธานี"

'ผ้ากาบบัว' กับความงดงามแห่งปัจจุบัน

ผ้ากาบบัว ไม่ได้เป็นที่นิยมเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็ยังมีการสั่งนำไปตัดเย็บ เป็นผ้าประดับในการตกแต่งอาคาร เช่น เป็นผ้าม่าน มูลี่กั้นแสง ผ้าปูโต๊ะ หมอนอิง และโซฟา รวมทั้งเป็นเครื่องใช้เช่น กระเป๋าถือสุภาพสตรี และที่น่าภาคภูมิใจคือ เจ้าชายอากิชิโน พระราชโอรสสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ที่เสด็จฯ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อทรงงานด้านการประมงน้ำจืด ก็ทรงโปรดฉลองพระองค์ด้วย "ผ้ากาบบัว"

และในปี พ.ศ. 2547 นี้เอง ชาวอุบลราชธานีก็ได้ปลาบปลื้มอีกวาระหนึ่ง จากการได้เฝ้ารับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดฉลองพระองค์ผ้ากาบบัว ที่ช่างชาวอุบลราชธานีได้ทำการทอผ้าลายกาบบัวพิเศษเฉพาะพระองค์ และคาดเดาออกแบบฉลองพระองค์ตัดถวาย โดยมิได้เข้าเฝ้าวัดพระวรกาย ทรงโปรดและชื่นชม ทั้งลายผ้าและการออกแบบฉลองพระองค์ทั้ง 3 ชุด (สีฟ้า สีกาบบัว และสีม่วง) ได้ทรงฉลองพระองค์ทั้ง 3 ชุดระหว่างการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในท้องที่จังหวัดอุบลราชธานี และใกล้เคียง เมื่อวันที่ 21-23 ธันวาคม 2547

ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล :

  • สำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี
  • ศูนย์ดีไซน์คริสตัล
  • บ้านคำปุ่น
  • ศูนย์แสดงสินค้าหัตถกรรมจังหวัดอุบลราชธานี (OTOP)

pakabbua ubon

 

งามวิจิตรผ้ากาบบัว : รายการศิษย์มีครู ThaiPBS

redline

backled1

kratib kao

ภูมิปัญญา หมายถึง แบบแผนการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า แสดงถึงความเฉลียวฉลาดของบุคคล และสังคม ซึ่งได้สั่งสมและปฏิบัติสืบต่อกันมา ภูมิปัญญาจะเป็นทรัพยากรบุคคล หรือทรัพยากรความรู้ก็ได้

วันนี้จะเสนอภูมิปัญญาของฅนอีสานที่ล้ำยุคไปไกลทีเดียว เป็นเรื่องของ "กระติบข้าวและก่องข้าว"

ก่องข้าว และ กระติบข้าว เป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียวดั้งเดิมของชาวอีสาน ความแตกต่างของภาชนะทั้งสองอยู่ที่รูปทรง โดยจะแตกต่างกันดังนี้

kong kao5

  • ก่องข้าว จะมีลักษณะคล้ายกระบุง มีฝาปิด และมีขาทำด้วยไม้เนื้อแข็งเป็นฐานแยก 4 แฉก ดังภาพบน มีความแข็งแรงทนทานมากกว่า การสานด้วยไม้ไผ่ส่วนผิวนอกที่มีความแข็งกว่า สานให้ชิดกันจนมีความแน่นหนา เก็บขอบด้วยหวายโดยรอบ การสานทำได้ยาก และต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ จึงมีราคาแพงกว่ากระติบข้าว
  • กระติบข้าว นั้นพบเห็นได้ทั่วไป เป็นภาชนะสานทรงกระบอกกลม มีสองส่วนสวมเข้ากันได้ ส่วนนอกใหญ่กว่าใช้เป็นฝาปิด ส่วนฐานของกระติบจะทำจากก้านตาล นำมาขดเป็นวงกลมยึดเข้ากับตัวกระติบส่วนล่างด้วยหวายหรือเชือก มีมากมายหลายขนาด การสานทำได้ง่ายกว่าก่องข้าว เพราะใช้ตอกไม่ไผ่ที่มีความบางอ่อนตัวกว่า (ก่องข้าวใช้ตอกที่ทำจากติวไม้ไผ่ (ส่วนผิว) ซึ่งมีความแข็งจึงสานยากกว่า) ทำให้กระติบข้าวมีความแข็งแรงน้อยกว่าก่องข้าวมาก ใช้ไปนานๆ ส่วนขอบบนของปากกระติบมักจะพังเสียหาย ราคาถูกกว่าก่องข้าว

kratip kao 02

ก่องข้าวและกระติบข้าว เป็นภาชนะในการเก็บอาหารที่ทรงคุณค่า มากด้วยภูมิปัญญา เก็บความร้อนได้ดี ในขณะที่ยอมให้ไอน้ำระเหยออกไปได้บางส่วน ผ่านทางช่องว่างระหว่างการสานของไม้ไผ่ ทำให้ "ข้าวเหนียว" ที่บรรจุอยู่ภายในกระติบ หรือก่องข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ ต่างจากการใช้ กระติกน้ำแข็ง (ที่ดูเหมือนจะถูกนำมาใช้งานแทน ก่องข้าว หรือ กระติบข้าว ของพ่อค้าแม่ค้าขายข้าวเหนียวส้มตำ ไก่ย่างในเมืองใหญ่) ที่จำเป็นต้องใช้ผ้าขาวบางมารองในกระติกอีกที (ควรเป็นผ้าฝ้ายที่ไม่มีส่วนผสมของไนล่อนหรือพลาสติก ซึ่งอาจมีสารเคมีละลายมาปนเปื้อนกับข้าวเหนียวได้) ก่อนบรรจุข้าวเหนียวลงไป ถึงกระนั้น เม็ดข้าวที่อยู่ชิดโดยรอบขอบกระติกก็ยังคงแฉะอยู่ดี

kong kao3

หลายๆ คนคงเคยมีประสบการณ์ในการไปรับประทานอาหารอีสาน (Isan Food Style) กับข้าวเหนียวนอกบ้าน ตามร้านอาหารหรือร้านขายริมทาง แล้วจะเห็นพ่อค้ายุคใหม่สมัยนี้ใช้ภาชนะบรรจุข้าวเหนียวไว้ขาย ด้วยกระติกพลาสติกขนาดใหญ่รองด้วยผ้าขาว บรรจุข้าวเหนียวร้อนๆ ไว้ค่อยแยกมาบรรจุเป็นขนาดเล็กๆ ในภาชนะกระติบข้าวไม้ไผ่เล็กๆ หรือภาชนะอื่นๆ ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า ข้าวเหนียวที่ได้มาจะมีอาการแฉะเปียกด้วยไอน้ำอยู่บ้าง ไม่น่ารับประทาน ผิดจากที่แม่ค้ารายใดใช้กระติบข้าวหรือก่องข้าวขนาดใหญ่บรรจุข้าวเหนียว เมื่อแบ่งข้าวมาเสิร์ฟนั้นข้าวจะร้อน เหนียวนุ่ม ไม่แฉะแต่อย่างใด

kong kao4

ภูมิปัญญานี้มีเคล็ดลับอยู่ที่ กระติบข้าว หรือ ก่องข้าว จะมีการสานภาชนะเป็นสองชั้น ชั้นในสุดจะสานด้วยตอกไม้ไผ่ให้มีความห่าง (ช่องว่างระหว่างตอกสาน) เล็กน้อย เพื่อให้ไอน้ำระเหยออกจากข้าวไปสู่ช่องว่างภายในก่อง หรือกระติบข้าวได้ ในขณะที่ชั้นนอกสุดจะสานด้วยตอกที่มีความชิดแน่นหนากว่า เพื่อเก็บกักความร้อนไว้ ไอน้ำที่มีความร้อนอยู่ภายในช่องว่างนี้ จะช่วยทำให้ข้าวเหนียวที่อยู่ภายในกระติบ หรือ ก่องข้าว ยังคงความร้อนอยู่ได้อีกนาน โดยเมล็ดข้าวจะไม่มีไอน้ำเกาะ ข้าวเหนียวจึงไม่แฉะเหมือนกับการบรรจุในภาชนะพลาสติกยุคใหม่

kong kao

อันตรายที่ได้จากความสะดวก (ภาชนะพลาสติก) นั้นมีแน่นอน จริงอยู่ที่ภาชนะพลาสติกเกรดดี (Food Grade) ที่ทนความร้อนได้สูงเหมาะกับการบรรจุอาหารก็มี แต่เชื่อได้ว่า ร้อยละ 99 ของผู้ค้าขายอาหารส่วนใหญ่ใช้ภาชนะพลาสติกราคาถูก ที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิลมาด้วยราคาถูก ลดต้นทุนและไม่ทราบถึงอันตรายของมัน ยิ่งนำมาบรรจุข้าวเหนียวร้อนๆ รองด้วยผ้าขาวบาง ซึ่งผ้าขาวบางนี้ก็ไม่ได้ทำจากใยฝ้ายแต่ทำมาจากใยไนลอน ความเสี่ยงก็ยิ่งทวีเป็นสองเท่า ภูมิปัญญาอีสานดีกว่าแน่นอนดังที่กล่าวมา แต่ก็ควรรักษาความสะอาดไม่ให้เกิดเชื้อราสะสมอยู่ภายในด้วย

kratip kao 01 

ในกรณีของกระติบข้าว จะเห็นว่า ฝาปิดและตัวกระติบ จะมีลักษณะที่เหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดที่ต่างกันเล็กน้อย ให้สามารถสวมใส่กันได้พอดี ในส่วนตัวกระติบจะมีฐานรองทำจากก้านตาล ขดเป็นวงกลม มีขนาดเล็กกว่าตัวกระติบเล็กน้อย ยึดด้วยหวายให้ติดกับตัวกระติบ (ปัจจุบันนี้ นิยมใช้เชือกไนล่อน เพราะหาง่ายราคาถูกกว่า)

kratip kao

ด้วยเทคนิคการสานจากภูมิปัญญาไทยนี้ ทำให้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นที่ยอมรับ และยังคงอยู่ตลอดมา สร้างรายได้ให้กับชุมชนในการสร้างงาน และยังสืบสานความรู้ของการจักสานไว้ เช่น ที่หมู่บ้านทุ่งนางโอก อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร (ผู้เขียนเคยไปถ่ายทำสารคดีเรื่องเครื่องจักสานที่นี่ เมื่อตอนประชาสัมพันธ์ Amazing Thailand 30 ปีมาแล้ว ตอนนี้หาภาพที่ถ่ายไว้ไม่พบ เห็นทีจะต้องย้อนไปอีกครั้งแล้วครับ)

รายการทีวีชุมชน ThaiPBS ตอน กระติบข้าว มหัศจรรย์เครื่องสานหลงยุค

สิ่งที่อยู่คู่กับข้าวเหนียวไม่เคยห่างก็คือ กระติบใส่ข้าวเหนียว ปัจจุบันยังไม่มีภาชนะใดที่จะนำมาใช้ทดแทนกระติบข้าวได้ดีมากพอ จึงยังคงเห็นคนสานกระติบข้าวอยู่ อย่างเช่นที่ชุมชนหนองขอน อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

ขั้นตอนการสานกระติบข้าว

 เรื่องที่เกี่ยวข้อง : หวดนึ่งข้าวเหนียว | โบมส่ายข้าว | วิญญาณที่ ๕ ของชาวอีสาน 

redline

backled1

baisri header

มื่อพูดถึง “บายศรี” เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักและคุ้นเคย เพราะพบเห็นบ่อยในพิธีกรรมต่างๆ แทบทุกภาคของไทย เช่น การทำขวัญคน การทำขวัญข้าว การบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การไหว้ครูนาฏศิลป์ดนตรี และพิธีสมโภชพระพุทธรูป เป็นต้น ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้ล้วนต้องใช้บายศรีเป็นเครื่องประกอบทั้งสิ้น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของคำว่า “บายศรี” ว่า หมายถึง เครื่องเชิญขวัญหรือรับขวัญ ทำด้วยใบตองรูปคล้ายกระทง เป็นชั้นๆ มีขนาดใหญ่เล็กสอบขึ้นไปตามลำดับ เป็น 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกน มีเครื่องสังเวยอยู่ในบายศรี และมีไข่ขวัญเสียบอยู่บนยอดบายศรี  คำว่า “บายศรี” เกิดจากคำสองคำรวมกันคือ “บาย” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ข้าว” และคำว่า “ศรี” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า “มิ่งขวัญ สิริมงคล” รวมความแล้ว “บายศรี” ก็คือ ข้าวขวัญหรือข้าวที่มีสิริมงคล เราจึงพบว่า  ตัวบายศรีมักมีข้าวสุกเป็นส่วนประกอบและมักขาดไม่ได้ แต่โดยทั่วไปเราจะหมายถึง ภาชนะที่จัดตกแต่งให้สวยงามเป็นพิเศษ ด้วยใบตองทำเป็นกระทง หรือใช้พานเงินพานทองตกแต่งด้วยดอกไม้ เพื่อเป็นสำรับใส่อาหารคาวหวานในพิธีสังเวยบูชาและพิธีทำขวัญต่างๆ

พิธีสู่ขวัญ บางทีเรียกว่า "พิธีบายศรี" หรือ "บายศรีสู่ขวัญ" หรือ สูดขวัญ (ภาษาถิ่นอีสาน) เป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวอีสาน ประเพณีสู่ขวัญทำกันแทบทุกโอกาส ทั้งในมูลเหตุแห่งความดีและไม่ดี ชาวอีสานถือว่าเป็นประเพณีเรียกขวัญ ให้มาอยู่กับตัว พิธีสู่ขวัญนี้เป็นได้ทั้งการแสดงความชื่นชมยินดี และเป็นการปลอบใจให้เจ้าของขวัญ จากคณะญาติมิตรและบุคคลทั่วไป

ผู้ได้ดีมีโชคหรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือมาเยี่ยม เราก็ยินดีจัดพิธีสู่ขวัญให้ ประเพณีสู่ขวัญจึงเป็นประเพณีทำกันอย่างกว้างขวาง คำว่า "ขวัญ" นั้นเชื่อว่าเป็นสิ่งไม่มีตัวตนคล้ายกับจิตหรือวิญญาณแฝงอยู่ในตัวคนและสัตว์ ตั้งแต่เกิดมาทุกคนมีขวัญกันทั้งนั้น และในบางแห่งเรามักแปลว่า "กำลังใจ" ก็มีคำว่า "ขวัญ" ยังมีความหมายอีกว่าเป็นที่รักที่บูชา เช่น เรียกเมียที่รักว่า "เมียขวัญ" หรือ "จอมขวัญ" เรียกลูกรักหรือลูกแก้วว่า "ลูกขวัญ" สิ่งของที่ผู้เคารพรักใคร่นับถือกันนำมาฝาก นำมาให้เพื่อเป็นการทะนุ ถนอมน้ำใจกันเราก็เรียกว่า "ของขวัญ"

kwan head

"ขวัญ" อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ขน หรือผม ที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอย พิธีสู่ขวัญเป็นพิธีเก่า แก่ของชาวไทยเราแทบทุกภาค การทำพิธีก็ผิดเพี้ยนแตกต่างกันไปบ้าง แล้วแต่ท้องถิ่นแต่ก็ยังยึดหลักใหญ่อยู่เหมือนกัน พิธีสู่ขวัญในบทความนี้ จะกล่าวถึงพิธีของชาวอีสานเป็นส่วนใหญ่ การทำพิธีสู่ขวัญเราอาจทำได้ถึง 2 วิธีพร้อมๆ กัน คือวิธีทางพุทธศาสนาและวิธีทางพราหมณ์ (ศาสนา)

วิธีทางพุทธศาสนา โดยการนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย 5 รูป มาเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งบาตรน้ำมนต์ เสร็จแล้วประพรมน้ำมนต์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ถ้ามีศรัทธาพอจะถวายภัตตาหารเช้า หรือเพลพระสงฆ์ด้วยก็ได้ ส่วนพิธีทางพราหมณ์ ก็คือการสู่ขวัญซึ่งอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้ "การสู่ขวัญ"

การทำพานบายศรี

การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เป็นการเตรียมการที่ดี สามารถดำเนินงานได้ด้วยความเรียบร้อยรวดเร็ว ซึ่งมีอุปกรณ์ที่ควรจะต้องเตรียมไว้ดังต่อไปนี้

  1. ใบตอง (ควรใช้ใบตองกล้วยตานี)
  2. พานแว่นฟ้า ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ผูกติดกันไว้ด้วยลวด และรองพื้นพานด้วยโฟม
  3. ภาชนะปากกว้างสำหรับใส่น้ำแช่ใบตอง 2 ใบ
  4. สารส้ม
  5. น้ำมันมะกอก ชนิดสีเหลือง หรือขาว
  6. ไม้ปลายแหลม (ขนาดไม้เสียบลูกชิ้น) ประมาณ 20-30 อัน
  7. ดอกไม้ (ดอกพุด ดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย ฯลฯ)
  8. กรรไกร สำหรับตัดใบตอง
  9. ลวดเย็บกระดาษ

การเลือก และ การทำความสะอาดใบตอง

ใบตอง ที่นำมาใช้สำหรับทำบายศรี มักนิยมใช้ใบตองจากกล้วยตานี เนื่องจากเป็นใบตองที่มีลักษณะเป็นเงา มันวาว เมื่อโดนน้ำจะยิ่งเกิดประกายสีเขียวเข้ม สวยงามยิ่งขึ้น และที่สำคัญใบตองจากกล้วยตานี มีความคงทน ไม่แตกง่าย ไม่เหี่ยวง่าย สามารถนำมาพับม้วนเป็นรูปลักษณะต่างๆ ได้ง่าย และสามารถเก็บไว้ได้นานหลายวัน หรือถ้ารักษาโดยหมั่นพรมน้ำบ่อยๆ ใบตองกล้วยตานีจะสามารถคงทนอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์ทีเดียว

เมื่อได้ใบตองกล้วยตานีมาแล้ว จะต้องนำมาทำความสะอาดก่อน ด้วยการเช็ด โดยใช้ผ้านุ่มๆ เช็ดฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกต่างๆ ออกจากใบตองเสียก่อน โดยการเช็ด จะต้องใช้ผ้าเช็ดตามรอยของเส้นใบไปในทางเดียว อย่าเช็ดกลับไปกลับมา หรืออย่าเช็ดขวางเส้นใบเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ใบตองเสียหาย มีรอยแตกและช้ำ ทำให้ไม่สามารถนำใบตองมาใช้งานได้เต็มที่ เมื่อเช็ดสะอาดดีแล้ว ก็ให้พับพอหลวมๆ เรียงซ้อนกันไว้ให้เป็นระเบียบ เพื่อรอนำมาใช้งานในขั้นตอนต่อไป

การฉีกใบตองเพื่อเตรีมทำกรวยบายศรี

ใบตองที่ได้ทำความสะอาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หยิบมาทีละใบ แล้วนำมาฉีกเพื่อเตรียมไว้สำหรับม้วนหรือพับ ทำกรวยบายศรี

การพับหรือฉีกใบตอง แบ่งเป็นสามประเภทคือ

  1. ใบตองสำหรับทำกรวยแม่ ฉีกกว้างประมาณ 2 นิ้วฟุต
  2. ใบตองสำหรับทำกรวยลูก ฉีกกว้างประมาณ 2 นิ้วฟุต
  3. ใบตองสำหรับห่อ ฉีกกว้างประมาณ 1.5 นิ้วฟุต

ใบตองแต่ละประเภท ควรฉีกเตรียมไว้ให้ได้จำนวนที่ต้องการ กล่าวคือ ถ้าทำพานบายศรี 3 ชั้น ชั้นละ 4 ทิศ (4 ริ้ว) นั่นก็หมายถึงว่าจะมีริ้วทั้งหมด 12 ริ้ว ในแต่ละริ้ว จะประกอบด้วยกรวยแม่ 1 กรวย และ กรวยลูก 9 กรวย รวมทั้งสิ้น จะมีกรวยแม่ 12 กรวย และ กรวยลูก 108 กรวย นั่นเอง

แสดงว่าจะต้องมีใบตองสำหรับทำกรวยแม่ 12 ชิ้น ใบตองสำหรับทำกรวยลูก 108 ชิ้น ใบตองสำหรับห่อ 120 ชิ้น นั่นเอง แต่ใบตองสำหรับห่อ จะต้องเตรียมไว้เพื่อห่อริ้วอีก คือใน 1 ริ้วจะประกอบไปด้วย กรวยแม่ 1 กรวย กรวยลูก 9 กรวย ซึ่งจะต้องมาห่อรวมกัน ดังนั้น จึงต้องเพิ่มใบตองสำหรับห่ออีก 120 ชิ้น รวมเป็นใบตองสำหรับห่อ 240

การพับกรวย และห่อกรวย

baisri 01การพับหรือห่อกรวย หมายถึงการนำใบตองที่ฉีกเตรียมไว้แล้วสำหรับพับกรวยมาพับ โดยการพับกรวยแม่และกรวยลูกจะมีลักษณะวิธีการพับเหมือนกัน คือ การนำใบตองมาพับม้วนให้เป็นกรวยปลายแหลม เพียงแต่กรวยลูกจะมีการนำดอกพุด มาวางเสียบไว้ที่ส่วนยอดปลายแหลมของกรวยด้วย

เมื่อพับหรือม้วนใบตองเป็นกรวยเสร็จในแต่ละกรวยแล้ว ให้นำลวดเย็บกระดาษ มาเย็บใบตองไว้เพื่อป้องกันใบตองคลายตัวออกจากกัน แล้วเก็บกรวยแต่ละประเภทไว้จนครบจำนวนที่ต้องการ เมื่อได้กรวยแต่ละประเภทครบตามจำนวนที่ต้องการแล้ว ก็นำกรวยที่ได้มาห่อ โดยการนำใบตองที่ฉีกเตรียมไว้สำหรับห่อมาห่อกรวย หรือเรียกอีกอย่างว่า ห่มผ้า หรือ แต่งตัวให้กรวยบายศรี

 

การห่อริ้วบายศรี

การห่อริ้วบายศรี คือการนำกรวยแม่ และกรวยลูกที่ได้ห่อกรวยไว้เรียบร้อยแล้ว มาห่อมัดรวมเข้าไว้ด้วยกัน ที่นิยมทำกันใน 1 ริ้ว จะประกอบด้วย กรวยแม่ 1 กรวย กรวยลูก 9 กรวย

baisri 02วิธีการห่อริ้ว มีการห่อคล้ายกับการห่อกรวยแม่หรือกรวยลูก แต่จะแบ่งวิธีตามลักษณะงานที่ได้เป็น 2 วิธี คือ

  1. ห่อแบบตรง คือการห่อโดยเริ่มต้นจากกรวยแม่ แล้ววางกรวยลูกไว้ด้านบนกรวยแม่เป็นชั้นๆ ทับกันขึ้นมา หรือหันกรวยลูกเข้าหาตัวผู้ห่อ การห่อแบบนี้ จะได้ริ้วบายศรีค่อนข้างตรง และในช่วงตัวริ้ว จะมีรอยหยักของใบตองห่อเรียกว่า มีเกล็ด
  2. ห่อแบบหวาน คือการห่อ โดยเริ่มต้นจากกรวยแม่ แต่วางกรวยลูกไว้ด้านล่างของกรวยแม่ และวางซ้อนลงด้านล่างลงไปจนครบ หรือหันกรวยแม่เข้าหาตัวผู้ห่อ โดยวางกรวยลูกลงด้านล่างจนครบนั่นเอง การห่อแบบนี้ จะได้ริ้วบายศรีเป็นลักษณะอ่อนช้อย งอน อ่อนหวาน

เมื่อห่อริ้วจนเสร็จในแต่ละริ้วแล้ว จึงนำริ้วที่ได้ลงแช่ในน้ำผสมสารส้ม ที่เตรียมไว้ประมาณ 20 นาที เพื่อให้ใบตองเข้ารูปทรง อยู่ตัวตามที่ได้พับและห่อ จากนั้น จึงนำไปแช่ในน้ำผสมน้ำมันมะกอกต่อไป เพื่อให้ริ้วมีความเป็นมันวาว เน้นสีเขียวเข้มของใบตองมากขึ้น และมีกลิ่นหอมในตัวเอง

การประกอบพานบายศรี

การประกอบพานบายศรี ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการทำบายศรี คือการนำริ้วที่ทำเสร็จแล้ว และแช่ในน้ำผสมน้ำมันมะกอกแล้ว มาประกอบเข้ากับพานบายศรี 3 ชั้นที่ได้เตรียมไว้

การน้ำริ้ว มาประกอบกับพาน ควรเริ่มต้นจากพานใหญ่สุด หรือพานที่วางอยู่ชั้นล่างสุดก่อน โดยการวางให้ริ้วอยู่บนพานให้มีระยะห่างเท่าๆ กัน 4 ริ้ว (4 ทิศ) ซึ่งจะยึดริ้วติดกับพานโดยใช้ไม้ปลายแหลมที่เตรียมไว้แล้ว มากลัด หรือเสียบจากด้านบนของริ้วให้ทะลุไปยึดติดกับโฟมที่รองไว้บนพื้นพาน

การประกอบริ้วกับพานชั้นกลาง และชั้นบนสุด ก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่จะต้องให้ริ้วชั้นที่ 2 วางสลับกับริ้วชั้นแรก และริ้วบนพานชั้นบนสุด ก็ให้สลับกับริ้วบนพานชั้นกลาง การประกอบริ้วกับพานชั้นบนสุด ให้ห่อใบตองเป็นกรวยขนาดใหญ่พอควรวางไว้เป็นแกนกลางของพาน เมื่อวางริ้วทั้ง 4 ริ้วเสร็จแล้ว ให้รวบปลายสุดของริ้วทั้ง 4 เข้าหากัน โดยมีกรวยที่ทำเป็นแกนกลางอยู่ด้านใน แล้วนำใบตองม้วนเป็นกรวยขนาดใหญ่อีกกรวย มาครอบทับยอดทั้ง 4 ของริ้วไว้ ซึ่งจะทำให้พานบายศรีที่ได้ มียอดแหลมที่สวยงามและมั่นคง

baisri 03

จากนั้นจึงนำใบไม้ (ส่วนใหญ่จะนำใบไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล เช่น ใบเงิน ใบทอง) มาวางรองบนพาน เพื่อปกปิดไม่ให้มองเห็นโฟมที่รองพื้นพาน และนำดอกไม้สีสด เช่น ดอกบานไม่รู้โรย หรือดอกดาวเรือง มาประดับบนพานเพิ่มความสวยงามหรือทำมาลัย สวมบนยอด หรือทำเป็นอุบะร้อยรอบพานแต่ละชั้น ก็จะเพิ่มสีสัน และความสวยงามให้แก่พานบายศรีมากขึ้น

ท่านที่สนใจจะดูขั้นตอนรายละเอียดต่างๆ คลิกดูผ่าน Youtube ได้ครับ

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง การสู่ขวัญ หรือ การสูตรขวัญ ]

line

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)