คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ฮีตหนึ่งนั้น เมื่อเทิงเดือนสิบแล้วทายกทอดบวยบาน เบิกพลีทำทานต่อมาสองซ้ำ ข้าว สลากนำไปให้สังโฆทานทอด พากันหวังยอดแก้วนิพพานพุ้นพ้นที่สูง ฝูงหมู่ลุงอาว์ป้าคณาเนือง น้อมส่ง ศรัทธาลงทอดไว้ทานให้แผ่ไป อุทิศให้ฝูงเปรตเปโต พากันโมทนานำสู่คนจนเกลี้ยง "
เดือนกันยายน หรือเดือนสิบตามปฏิทินลาว ชาวบ้านจะจัดงานบุญตาม "ฮีตสิบสอง คองสิบสี่" ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประจำทุกปี ที่เรียกว่า "บุญข้าวสาก" หรือ "บุญเดือนสิบ" เนื่องจากเมื่อจัดทำข้าวปลาอาหาร และเครื่องไทยทานต่างๆ อุทิศให้ ผู้ล่วงลับไปแล้ว จะทำสากหรือสลาก มีคำอุทิศส่วนกุศลใส่กระดาษบันทึกชื่อ ผู้มีจิตศรัทธาบริจาค และความประสงค์ว่าจะบริจาคทานให้แก่ผู้ใด โดยบอกชื่อผู้ที่จะมารับส่วนกุศลด้วย
ก่อนถึงกำหนดวันทำบุญข้าวสาก คือ ราววันขึ้น 13 - 14 ค่ำ เดือนสิบ ชาวบ้านจะเตรียมอาหารชนิดต่างๆ มีทั้งข้าว เนื้อ ปลา ข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอก ขนม และอาหารคาวหวานอื่น ตลอดจนผลไม้ต่างๆ ไว้สำหรับทำบุญ สำหรับข้าวเม่า ข้าวพอง และข้าวตอกนั้น จะคลุกเข้ากันโดยใส่น้ำอ้อย น้ำตาล ถั่วงา มะพร้าว ให้เป็นข้าวสาก (ข้าวกระยาสารท) แต่บางท้องถิ่นไม่นำข้าวเม่า ข้าวพอง และข้าวตอก มาคลุกเข้าด้วยกัน คงแยกไปทำบุญเป็นอย่างๆ เมื่อเตรียมสิ่งของทำบุญเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะเอาข้าวปลาอาหารที่มีอยู่ไปส่งญาติพี่น้องและผู้รักใครีนับถือ อาจส่งก่อนวันทำบุญหรือส่งในวันทำบุญเลยก็ได้ สิ่งของเหล่านี้มักแลกเปลี่ยนกันไปมา ระหว่างญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เรือนเคียง ถือว่าเป็นการได้บุญ
ตอนสายๆ ชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหารที่เตรียมไว้ เป็นข้าวสากไปวัดอีกครั้งหนึ่ง เอาอาหารต่างๆ จัดเป็นสำรับหรือชุดสำหรับถวายทาน หรือถวายเป็นสลากภัต โดยจัดใส่ภาชนะต่างๆ แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น บางแห่งจัดใส่ถ้วยหรือบางแห่งใช้ทำเป็นห่อทำเป็นกระทงด้วยใบตองกล้วยหรือกระดาษ แต่ละบ้านจะจัดทำสักกี่ชุดก็ได้ตามศรัทธา ก่อนที่จะถวายข้าวสากแด่พระภิกษุสามเณร จะกล่าวคำถวายข้าวสาก หรือสลากภัตพร้อมกัน
เอตานิมะนังภันเต สะจากะภัตตานิ สะปะริวารานิ อะสุภัฏฐานน ฐะปิตานิ ภิกขุสังฆัสสะ
โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเตอภิกขุสังโฆ เอตานิ สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ
ปะฏิคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ "
คำแปล
"ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งตั้งไว้ ณ ที่โน้น
ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับซึ่งภัตตาหารพร้อมทั้งของที่เป็นบริวารเหล่านี้
ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ."
เมื่อเสร็จพิธีถวายข้าวสากแล้ว ช้าวบ้านที่ไปร่วมพิธียังนิยมเอาชะลอม หรือห่อข้าวสากไปวางไว้ตามที่ต่างๆ ในบริเวณวัด พร้อมจุดเทียนและบอกกล่าวให้ญาติ หรือเปรตผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารต่างๆ ที่วางไว้ และขอให้มารับส่วนกุศลที่ทำบุญอุทิศไปให้ด้วย (ผู้จัดทำ ก็เคยทำสมัยเป็นเด็กกับมารดา)
ภายหลังจากการถวายข้าวสากแด่พระภิกษุสามเณร และนำอาหารไปวางไว้ตามบริเวณวัดเสร็จแล้ว ก็มีการฟังเทศน์ฉลองข้าวสาก และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ไปให้เปรต สัมภเวสี และญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่มีที่นาจะนำข้าวสากไปเลี้ยง "ตาแฮก" ที่นาของตน เพื่อให้ตาแฮกรักษานาและให้ข้าวกล้าอุดมสมบูรณ์ เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก [ อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ตาแฮก หรือการแฮกนา ]
โดยทั่วไปจะมีเพียงการนำอาหารคาวหวานไปถวายทานที่วัดเท่านั้น แต่ที่บ้านเหล่าเลิง ตำบลไร่ขี อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ มีอาหารที่พิเศษกว่าบ้านอื่น นั้นคือการทำข้าวตอกแตก เรื่องราวความพิเศษที่มาพร้อมกับงานบุญนี้จะเป็นอย่างไร ชมได้จากสารคดีนี้เลย
รายการทีวีชุมชน ทางช่อง ThaiPBS ตอน "บุญข้าวสาก"
มูลเหตุที่ทำให้เกิด บุญข้าวสาก มีอยู่ว่า บุตรกุฏมณีผู้หนึ่งเมื่อพ่อสิ้นชีวิตแล้ว แม่ก็หาภรรยาให้ แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน แม่จึงหาหญิงอื่นให้เป็นภรรยาอีก ต่อมาเมียน้อยมีลูก เมียหลวงอิจฉาจึงคิดฆ่าเมียน้อยและลูก ก่อนตายเมียน้อยคิดอาฆาตเมียหลวง ชาติต่อมาทั้งสองเกิดเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ และอาฆาตเข่นฆ่ากันเรื่อยมา จนชาติสุดท้าย ฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นคน อีกฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นยักษิณี ยักษิณีจองเวรได้มากินลูกของผู้เป็นคนถึงสองครั้ง พอเกิดลูกคนที่สามยักษิณีจะตามมากินอีก หญิงคนนั้นพร้อมลูกและสามี จึงหนีไปพึ่งพระพุทธเจ้า ณ เชตวันมหาวิหาร
พระพุทธเจ้าได้เทศนาให้ทั้งสองเลิกจองเวรกัน และโปรดให้ทางยักษิณีไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนา นางยักษิณีมีความรู้เกณฑ์เกี่ยวกับฝนและน้ำดี ชาวเมืองนับถือมาก จึงได้นำอาหารไปส่งอย่างบริบูรณ์ นางยักษิณีจึงนำอาหารเหล่านั้นไปถวายเป็นสลากภัตแด่พระสงฆ์วันละแปดที่เป็นประจำ ชาวอีสานจึงถือเป็นประเพณีถวายสลากภัต หรือบุญข้าวสากสืบต่อมา และมีการเปลี่ยนเรียกนางยักษิณีว่า "ตาแฮก" [ อ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้ ]
ความเป็นมาของสลากภัตทาน อีกด้านหนึ่งกล่าวว่า
ในสมัยหนึ่ง พุทธองค์ได้เสด็จไปกรุงพาราณสี ในคราวนั้นบุรุษเข็ญใจพาภรรยาประกอบอาชีพตัดฟืนขายเป็นนิตย์เสมอมา เขาเป็นคนเลื่อมใสพระพุทธศาสนายิ่งนัก วันหนึ่งเขาได้ปรึกษากับภรรยาว่า "เรายากจนในปัจจุบันนี้เพราะไม่เคยทำบุญ-ให้ทาน รักษาศีลแต่ละบรรพกาลเลย ดังนั้นจึงควรที่เราจักได้ทำบุญกุศล อันจักเป็นที่พึ่งของตนในสัมปรายภพ-ชาติหน้า" ภรรยาได้ฟังดังนี้แล้ว ก็พลอยเห็นดีด้วย จึงในวันหนึ่งเขาทั้งสองได้พากันเข้าป่าเก็บผักหักฟืนมาขาย ได้ทรัพย์แล้วได้นำไปจ่ายเป็นค่าหม้อข้าว 1 ใบ หม้อแกง 1 ใบ อ้อย 4 ลำ กล้วย 4 ลูก นำมาจัดแจงลงในสำรับเรียบร้อยแล้วนำออกไปยังวัด เพื่อถวายเป็นสลากภัตตทานพร้อมอุบาสกอุบาสิกาเหล่าอื่น
สามีภรรยาจับสลากถูกพระภิกษุรูปหนึ่งแล้วมีใจยินดี จึงน้อมภัตตาหารของตนเข้าไปถวาย เสร็จแล้วได้หลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลงเหนือแผ่นปฐพี แล้วตั้งความปราถนา "ด้วยผลทานทั้งนี้ข้าพเจ้าเกิดในปรภพใดๆ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็นใจไร้ทรัพย์เหมือนดังในชาตินี้ โปรดอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าทั้งสองเลย ขอให้ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและมีฤทธิ์เดชมาก ในปรภพภายภาคหน้าโน้นเถิด" ดังนี้
ครั้นสองสามีภรรยานั้นอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้ว ก็ดับชีพวายชนม์ไปตามสภาพของสังขาร ด้วยอานิสงฆ์แห่งสลากภัตตทาน จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาในดาวดึงส์สวรรค์ เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภาตระการยิ่งนัก พร้อมพรั่งไปด้วยแสนสุรางค์นางเทพอัปสรห้อมล้อมเป็นบริวาร มีนามบรรหารว่า "สลากภัตตเทพบุตรเทพธิดา"
กาลกตวา ครั้นจุติเลื่อนจากสวรรค์แล้ว ก็ได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์ในเมืองพาราณสี มีพระนามว่าพระเจ้าสัทธาดิส เสวยราชสมบัติอยู่ 84,000 ปี ครั้นเบื่อหน่ายจึงเสด็จออกบรรพชา ครั้นสูญสิ้นชีวาลงแล้วก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก และต่อมาก็ได้มาอุบัติเป็นพระตถาคตของเรานั่นเอง นี่คืออานิสงฆ์แห่งการถวายสลากภัตต์ นับว่ายิ่งใหญ่ไพศาลยิ่งนัก สามารถอำนวยสุขสวัสดิ์แก่ผู้บำเพ็ญทั้งชาติมนุษย์และสวรรค์ ในที่สุดถึงความเป็นพระพุทธเจ้าได้
รายการกระจกหกด้าน ชุด "ร้อยเรื่องเมืองไทย" ตอน "บุญข้าวสาก"
สำหรับพี่น้องอีสานที่มีเชื้อสายเขมร ส่วย เยอ ในแถบจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมยฺ ก็จะมีการจัด งานวันสารท (ศารท) หมายถึง การทำบุญเดือนสิบ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เนื่องจากมีความเชื่อว่าระยะนี้เป็นระยะที่ยมบาลปล่อยเปรตให้มาเยี่ยมบ้านเดิมของตน เพื่อรับส่วนบุญที่ญาติจะอุทิศให้ ลูกหลานญาติพี่น้องมีความเชื่อว่า ญาติของตนที่ตายแล้ว อาจจะไปเกิดในอบายภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่อดอยาก จึงทำบุญอุทิศให้โดยหวังว่าเมื่อวิญญาณได้รับอนุโมทนาส่วนบุญแล้ว จะได้พ้นจากภูมิอันทุกข์ทรมานนั้นไปเกิดในภูมิใหม่ที่ดีกว่านั้น
[ อ่านเพิ่มเติม : วรรณกรรมอีสาน บุญข้าวสาก ]
อ่านเพิ่มเติม : ความแตกต่างระหว่างบุญข้าวสากกับบุญข้าวประดับดิน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)