คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ในช่วงทศวรรษ 2520 ในขณะที่หลายฝ่ายต่างกำลังมองหาแนวทางเกษตร ที่น่าจะสามารถแก้ปัญหา อันสั่งสมมาจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่เน้นแค่ผลผลิต เพื่อการค้า คนทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนทางภาคอีสานก็ได้พบกับ "มหาอยู่ สุนทรธัย" ชาวนาสามัญชนผู้หนึ่ง ซึ่งมีแนวทางการทำเกษตรของตนเองที่น่าสนใจโดยขนานนามแนวทางเกษตรแบบนี้ว่า “เกษตรผสมผสาน” นั่นคือการทำหลายอย่างในพื้นที่เดียวกัน ไม่ได้ปลูกพืชเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเลี้ยงสัตว์อย่างหนึ่งอย่างใด เหมือนที่เกษตรกระแสหลักกำลังแห่ทำกันไปตามนโยบายส่งเสริมการเกษตรของภาครัฐในขณะนั้น
พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายคำชู และนางเม็ง สุนทรธัย เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2463 ที่บ้านตะแบก ตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ จบการศึกษาระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนสุรวิทยาคม หลังเรียนจบแล้ว ได้มาช่วยพ่อแม่ทำนาอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วจึงบวชเรียนที่ วัดจุมพลสุทธาวาส จังหวัดสุรินทร์ ต่อมาจึงย้ายไปอยู่ที่ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร จนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 3 ประโยคในปี พ.ศ. 2486 เมื่อกลับมาเยี่ยมโยม พ่อโยมแม่ ที่จังหวัดสุรินทร์ พบว่า ท่านชราภาพมากแล้ว ยังต้องลำบากตรากตรำทำงาน จึงเกิดความสงสารและได้ตัดสินใจสึกออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา 4 ปี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ญาติผู้ใหญ่จึงได้ไปสู่ขอคุณแม่สุมาลี บุตรสาวสมุหบัญชี อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ในขณะนั้นมาเป็นคู่ครอง และอยู่กินกันมาอย่างมีความสุข มีลูกสืบตระกูลด้วยกัน 5 คน โดยลูกๆ กลับมาอยู่ใกล้ๆ พ่อแม่หมด ปัจจุบันพ่อมหาอยู่ สุนทรธัย และครอบครัวอยู่บ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 4 บ้านตะแบก ตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
บนพื้นที่ทำกิน จำนวนประมาณ 60 ไร่ ของพ่อมหาอยู่ นอกจากที่นาสำหรับปลูกข้าวแล้ว ยังหลากหลายไปด้วยต้นไม้ต้นไร่ ตั้งแต่ระดับเรี่ยดินไล่ไปจนสูงแหงนคอตั้งบ่า มีทั้งพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน พืชผักสวนครัวอย่างพริกข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว กะเพรา โหระพา แมงลัก ไม้ผลจำพวกกล้วย มะละกอ น้อยหน่า ขนุน มะพร้าว ฯลฯ หรือไม้ยืนต้นอื่นๆ เพื่อนำเนื้อไม้มาใช้สอย เช่น สะเดา สัก ไผ่ เหล่านี้ เป็นต้น แล้วยังเลี้ยงประดาสัตว์น้อยใหญ่ วัว หมู เป็ด ไก่ ปลา เพื่อเอื้อประโยชน์กันและกัน
ก่อนที่พ่อมหาอยู่จะพบทางสายเกษตรของตนเอง ได้ผ่านการทำเกษตรตามแนวทางของพ่อแม่ดั้งเดิมมาก่อน คือ การทำเกษตรแบบชาวบ้านอีสานทั่วไป ทำแค่พออยู่พอกินในแต่ละปี และไม่มีการจัดการอะไรมากนัก บางฤดูที่ฝนขาดช่วง พื้นดินภาคอีสานที่ไม่ใคร่อุ้มน้ำอยู่แล้วจึงยิ่งแห้งแล้ง ผลผลิตที่ได้ไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วย พ่อมหาอยู่ เล็งเห็นความยากลำบากของการทำเกษตรโดยไม่มีแหล่งน้ำของตนเอง จึงคิดหาวิธีให้มีน้ำอยู่ในพื้นที่ทำกินของตัวเอง เริ่มด้วยการใช้แรงกายและสองมือขุดสระทำฝายกั้นน้ำ ทำไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยตามกำลังที่มี กระทั่งขยายใหญ่ออกไปอีกหลายสระจนสามารถเก็บน้ำใช้สอยได้ตลอดปี
เมื่อในดินมีน้ำอุดมสมบูรณ์ จะปลูกต้นไม้อะไรก็งอกงาม สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติอย่างพวกนก หนู กบ เขียด รวมทั้งหมู่แมลงต่างๆ ก็ได้มาอาศัย เกิดเป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถพึ่งพิงกันเองได้ ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้คงหาได้ยากในการทำเกษตรเชิงเดี่ยว พ่อมหาอยู่มักจะพูดเสมอว่าแนวทางปฏิบัติต่างๆ ล้วนมีที่มาจากคำสอนของพ่อแม่ ที่สอนให้ลูกหลานเคารพแม่คงคา แม่ธรณี และรุกขเทวดา คือ น้ำ ดิน และต้นไม้ใหญ่น้อยนั่นเอง แล้วนำแนวคิดเดิมมาปรับใช้กับความรู้ใหม่ที่ได้มา โดยช่วงที่ได้มาอยู่บวชเรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้มีโอกาสพบเห็นสวนผลไม้แถบฝั่งธนบุรี ปลูกพืชผลแบบยกร่อง ในท้องร่องเต็มไปด้วยน้ำและดินโคลน ใบไม้ร่วงโรยเน่าเปื่อยทับถมกันอยู่ในท้องร่อง ก็ลอกขึ้นมาเป็นปุ๋ยธรรมชาติได้อย่างดี
พ่อมหาอยู่วางแผนการทำเกษตรไปพร้อมกับมองถึง "ระบบการขายผลผลิต" ด้วย เพราะยังอยู่ในยุคที่เกษตรกรมิอาจหลีกเลี่ยงการขายผลผลิต เพื่อนำเงินมาใช้สอยสิ่งของจำเป็น โดยเฉพาะชาวบ้านเกษตรกรที่มีลูก ต้องเลี้ยงดู ส่งเสียให้ได้ร่ำเรียนหนังสือ ครั้นคิดถึงการตลาด บทเรียนของเกษตรกรที่ไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตเองได้ ทำให้พ่อมหาอยู่คำนึงว่า ทางออกคือเกษตรกร "ต้องเป็นผู้ขายเอง" โดยไม่ผ่านผู้ค้าคนกลาง และการปลูกพืชหลายอย่างก็เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยพยุงวิถีชีวิต ให้มีทางเลือก
ยกตัวอย่าง เช่น หากปีนั้นข้าวราคาไม่ดี ก็ยังมีเป็ดไก่ได้ขายไข่ และยังได้ปุ๋ยใส่ต้นไม้ หรือเลี้ยงหมูเอาไว้ก็ได้ขายหากจำเป็น ทั้งยังได้ขี้หมูให้ปลากิน เรียกว่ามีแต่ได้ไม่มีเสีย เพราะข้าวที่เหลือก็เผื่อถึงหมู เป็ด ไก่ มูลสัตว์เหล่านี้ให้ปลา ปลาก็เอื้อกลับคืนเป็นอาหารและเป็นรายได้อีกที ปลาเป็นผู้ให้สุดท้ายโดยมีมูลเป็นตัวเชื่อมหมุนเวียนกันไปอย่างนี้ไม่สิ้นสุด หลักคิดนี้เกษตรกรอื่นๆ สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อม และวิถีวัฒนธรรมของตนเองได้ต่อไป
ลักษณะการทำเกษตรและแนวคิดของพ่อมหาอยู่ ในช่วงเวลานั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับ "เกษตรกร" ทางภาคอีสานเลยทีเดียว ซึ่งหลังจากมีการเผยแพร่แนวทางเกษตรผสมผสานของพ่อมหาอยู่ออกสู่วงกว้าง ก็ปรากฏว่า มีชาวบ้านให้ความสนใจ และกลับไปปรับเปลี่ยนการทำเกษตรของตัวเองกันไม่น้อย จึงพอจะกล่าวได้ว่า พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย เป็นผู้บุกเบิกเกษตรผสมผสานแห่งภาคอีสาน
ทุกครั้งที่มีคนรุ่นหลังมาขอวิชาความรู้ พ่อมหาอยู่ก็ยังไม่เคยมีท่าทีเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด พร้อมที่จะพูดคุย หรือแม้แต่ต้องเดินทางไกลไปตามคำเชิญก็ตาม ความสุขสงบเช่นนี้คงจะมีที่มาจากครอบครัวอบอุ่น สภาพแวดล้อมที่ดี อาหารพอเพียงที่มีให้เลือกเก็บกิน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นบำนาญแห่งชีวิตที่ พ่อมหาอยู่ มักจะบอกเสมอว่า ล้วนได้มาจากการออมน้ำ ออมดิน ออมต้นไม้ในเส้นทางสายเกษตรผสมผสานมาแต่ต้น
1. ต้องศรัทธาในแนวคิดการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง พ่อมหาอยู่ได้กล่าวย้ำทุกครั้งว่า หากจะพัฒนาอะไร ต้องเตรียมสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น
จะปลูกพืชอะไร ต้องเตรียมดิน
จะกินอะไร ต้องเตรียมอาหาร
จะพัฒนาการ ต้องเตรียมประชาชน
จะพัฒนาคน ต้องเตรียมที่จิตใจ
จะพัฒนาใครเขา ต้องเตรียมที่ตัวเราก่อน
ดังนั้นการที่ใครจะพัฒนาตนเองและครอบครัวให้พึ่งตนเองและพึ่งพากันเองได้จะ ต้องเตรียมความคิด และความศรัทธาในการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองก่อนเสมอ โดยเรียนรู้และเชื่อมโยงให้ครบ
2. ต้องออมน้ำ ออมดิน ออมต้นไม้ใหญ่ ออมเงิน และสั่งสมภูมิปัญญาในการแก้ปัญหา พ่อมหาอยู่ ได้อาศัยหลักคิดของบรรพบุรุษ ที่สร้างแนวคิดให้ลูกหลาน รักและเคารพน้ำให้เป็นแม่ คือ แม่คงคา รักและเคารพดินให้เป็นแม่คือ แม่ธรณี ยกให้ต้นไม้ใหญ่เป็นรุกขเทวดา รวมทั้งเรียนรู้เท่าทัน มีภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาและออมเงิน มาสร้างทุนทางสิ่งแวดล้อม เหล่านี้เป็นบำนาญชีวิต ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ถ่ายภาพกับลูกสาวผู้มารับช่วงสืบสานการทำเกษตรพอเพียงต่อจากผู้เป็นพ่อ
พ่อมหาอยู่ อาศัยหลักการสร้างปัญญาไว้ 3 ทาง คือ
โดยวิธีสร้างปัญญาดังกล่าวร่วมกับการครองตนด้วยธรรมะข้ออื่นๆ อีกหลายข้อที่ยึดถือปฏิบัติอยู่เป็นนิตย์ทำให้พ่อมหาอยู่กลายเป็นผู้ทรง ภูมิปัญญา เป็นผู้เฒ่าที่มีคุณค่าและชราอย่างมีความสุข
3. ต้องผสมผสานด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพจะช่วยให้เราลดรายจ่ายด้านอาหาร การกินลงได้อย่างชัดเจน เพราะเราปลูกและเลี้ยงทุกอย่างที่ต้องกินและต้องใช้ เมื่อมีเหลือก็แจกญาติสนิทมิตรสหาย ทำให้รักใคร่และพึ่งพากันเองได้ เหลือกินเหลือใช้ เหลือแจกก็ขายช่วยให้มีรายได้เพิ่ม ปลดเปลื้องหนี้สินได้ และมีเงินออม ทั้งออมเงินในรูปของแม่ธรณี แม่คงคา แม่มัจฉา แม่โพสพ และรุกขเทวดา รวมความว่า ความหลากหลายทางชีวภาพช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น และยังช่วยให้ระบบนิเวศน์ดีขึ้น เพราะใบไม้ของต้นไม้ชนิดหนึ่งย่อยสลายแล้ว กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ของอีกชนิดหนึ่ง การมีต้นไม้หลากหลายทำให้มีแมลงที่หลากหลาย และควบคุมกันเอง มีสัตว์กินแมลง เช่น นก กบ เขียด มาอาศัยอยู่เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ตามมาด้วยงู กระรอก กระแต มาอยู่ร่วมกันได้ เพิ่มปุ๋ยคอกแก่ต้นไม้ด้วย การเป็นอาหารของกันและกัน พร้อมควบคุมกันเอง ทำให้ห่วงโซ่อาหารครบวงจร เกิดความยั่งยืน รวมทั้งไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า และสารเคมีฆ่าแมลง ช่วยให้พึ่งตนเอง และพึ่งพากันเองได้ นอกจากนั้น การใช้ไม้พันธุ์พื้นเมืองยังช่วยให้ได้ต้นไม้และสัตว์ที่ทนโรคทนแล้ง และเมื่อต้องการพันธุ์ดีก็นำกิ่งดีๆ มาติดตาต่อกิ่งหรือเปลี่ยนยอดได้
ปราชญ์ - พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย ตอนที่ 1
เมื่อถามถึงความสุขพ่อมหาอยู่ตอบทันทีว่า คือ
วิธีการได้มาซึ่งความสุข ใช้หลักการมีศีล คือ
การขยายความคิดและเครือข่ายหนึ่งล้านครอบครัวในอีสาน ตลอด 40 ปีเศษ ของความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พ่อมหาอยู่ได้ขยายความคิดออกไปอย่างกว้างขวาง โดยรับดูงานทั้งชาวบ้าน ผู้นำชาวบ้าน นักพัฒนาภาครัฐ นักพัฒนาภาคเอกชน นักวิชาการ นักธุรกิจ และสื่อมวลชนรวมทั้งผู้สนใจนับได้ไม่หวาดไม่ไหว และพ่อมหาอยู่ได้ปวราณาตัวที่จะรับใช้แผ่นดินไทยจนกว่าชีวิตจะหาไม่ให้ได้ หนึ่งล้านครอบครัวในภาคอีสานที่พึ่งตนเอง และพึ่งพากันเองได้ถวายในหลวง โดยร่วมขบวนการใน 3 เครือข่ายใหญ่ๆ ดังนี้ คือ
ซึ่งทั้ง 3 เวทีเครือข่าย จะพบพ่อมหาอยู่เสมอ รวมทั้งศูนย์เรียนรู้ของท่านยินดีต้อนรับผู้ดูงานที่สนใจ
หลายคนไปเรียนถามพ่อมหาอยู่ว่า ไม่รู้สึกเหนื่อยบ้างหรือไร อายุมากถึงปานนี้ยังเดินทางไปที่ต่างๆ เพื่อขยายความคิด พ่อมหาอยู่ได้ตอบไปว่า ความแก่มีมากมายหลายประเภท เช่น
- แก่หูหวาย - แก่ได้ดอก - แก่หยอกหลาน - แก่กระดูก (ไฮโล)
- แก่กระดาษ (ไพ่) - แก่แดด (ตากแดด) - แก่แรด (ยิงสัตว์) - แก่ฟักแก่แฟง
แต่ผมแก่เกษตรผสมผสาน ยิ่งแก่ยิ่งมันส์ เพราะมีทั้งบำนาญชีวิต มีร่างกายและจิตใจที่แข็งแกร่งกว่าวัยเดียวกันหลายเท่า มีครอบครัวที่อบอุ่น มีชุมชนที่เข้มแข็ง มีสิ่งแวดล้อมดี มีอิสรภาพไร้หนี้ปลอดสิน มีความภาคภูมิใจได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ แก่ลูกหลานและผู้สนใจไม่รู้เบื่อ และที่สำคัญคือ มีปัญญาเรียนรู้ธรรมะ และธรรมชาติ เห็นสัจธรรมของความยั่งยืนจากความสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
ปราชญ์ - พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย ตอนที่ 2
พ่อมหาอยู่ได้ให้คาถาของความสำเร็จในปัจจุบันเพิ่มเติมจากอิทธิบาท 4 ว่าต้องวางแผน กล่าวคือ คนเราจะต้องเตรียมตัวดังนี้
- เตรียมตัวก่อนตาย - เตรียมกายก่อนแต่ง - เตรียมน้ำก่อนแล้ง - เตรียมแรงก่อนทำงาน
ซึ่งทั้งหมดนี้รวมเป็น “พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย” ปราชญ์ชาวบ้านอาวุโสของภาคอีสานที่มีความสุข ซึ่งพวกเรารักและเคารพ
พ่อมหาอยู่ ท่านเสียชีวิตด้วยโรคชรา เมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2550 อายุ 89 ปี ด้วยอาการสงบ หลังจากท่านตรากตรำทำงานหนัก แบบไม่เคยหยุดพัก ในเครือข่ายเกษตรผสมผสานมาตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)