คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
มาร์ติน วีลเลอร์ หนุ่มอังกฤษปริญญาตรีเกียรตินิยม ผู้ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรไทยยึดหลักพอเพียง แม้เติบโตจากระบบทุนนิยม แต่แนวคิดกลับแปลกแยกอย่างสิ้นเชิง แม้เป็นชาวอังกฤษแต่มุมมอง “ความเป็นไทย” กลับเฉียบคมยิ่ง กว่า 30 ปีในเมืองไทย ได้หล่อหลอมฝรั่งคนนี้เป็นคนไทยเกือบสมบูรณ์กว่าคนไทยอีกหลายคน ในอดีตเขาเคยถูกยกว่าเป็น "นักปราชญ์ด้านเศรษฐกิจพอเพียง" แต่จริงๆ แล้วมิใช่หรอก "เขาเป็นเพียงฝรั่งที่คิดนอกกรอบ ชอบความเรียบง่าย" และความเรียบง่ายนี่เองที่ทำให้เขาแตกต่างกว่าคนไทยอีสานบ้านๆ โดยทั่วไป
ปัจจุบัน มาร์ติน วีลลเลอร์ ไม่ได้ปลูกผัก ไม่ได้ปลูกข้าว ไม่ได้เลี้ยงงัว ไม่ได้ปรับปรุงบำรุงดิน แต่มุ่งทำไร่อ้อยอย่างเดียวเพื่อหาเงิน คนที่ชื่นชอบมาร์ตินเพราะภาพการเป็น “มิสเตอร์ออร์แกนิกฟาร์มเมอร์” (Mister Organic Farmer) อาจรู้สึกแปลกใจเป็นล้นพ้น ภาพของบ้านเถียงนาน้อย ภาพของชีวิตแสนสุขที่ปฏิเสธอำนาจเงินตรา ภาพของพ่อ-แม่ ลูก ผู้เจริญรอยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บัดนี้หายไปไหนแล้วเล่า?
แต่สำหรับเจ้าตัวแล้ว ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ตนเลิกปลูกข้าว แล้วหันมาปลูกอ้อยเมื่อหกปีที่แล้ว ก็ในเมื่อเขาอยู่ตัวคนเดียว ปักหลักอยู่บ้านนอกเพราะอยากอยู่กับคนธรรมดา และในเมื่อใครๆ ในหมู่บ้านล้วนแต่ปลูกอ้อยกันหมด พอเขาหันมาปลูกอ้อยโดยใช้ปุ๋ยเคมีบ้าง ชาวบ้านรอบข้างย่อมเห็นเป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดา
ด้วยมุมมองและทัศนคติของเขาที่บอกกับเราว่า
ผมคล้ายๆ ถูกล่อหลอกให้มาพัวพันกับเรื่องทั้งหมด เพราะว่าผมทำการเกษตรและใช้ชีวิตเรียบง่าย เหตุผลที่ผมใช้ชีวิตเรียบง่ายก็เพราะผมชอบใช้ชีวิตเรียบง่าย ”
[ “I got sort of roped into all this because I was doing the farming and I lived a simple life. The reason I lived a simple life is because I like to live a simple life.” ]
ตลอดระยะเวลาประมาณสามปีที่เขาและครอบครัวเคยปลูก "ข้าวอินทรีย์" ส่งขายโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ก็อาศัยการจ้างเพื่อนบ้านมาทำเป็นหลัก
“ต้นทุนสูงเพราะว่าต้องจ้างคนมาช่วยเยอะนะ เพราะว่าผมกับเมียก็ไม่ค่อยถนัด ลูกก็ตัวเล็กๆ ต้นทุนก็ค่าแรงอย่างเดียว… ทำนามันหลายขั้นตอนแหลว หลกกล้าแหน่ ดำนาแหน่ เกี่ยวเข้าแหน่ มันเกี่ยวไม่ทันดอก มันเกี่ยวเล่นๆ… แต่ก่อนมีไร่หนึ่งอยู่นั่นแล้วก็สองไร่ เดี๋ยวนี้ก็บ่เฮ็ดละ”
ทุกวันนี้ มาร์ตินอยู่ที่บ้านตัวคนเดียวกับรถไถนาเดินตามหนึ่งคัน สมาชิกครอบครัวไม่มีใครทำการเกษตร และย้ายไปอยู่ที่อื่นกันหมด จะให้เขาดันทุรังปลูกข้าวต่อไป ก็ต้องหมดเงินไปกับค่าจ้างแรงงานเท่านั้น และจะให้เขาเลี้ยงวัวได้อย่างไร ถ้าต้องเดินสายไปทำอย่างอื่น จะจ้างคนเลี้ยงวัวเป็นรายวันก็ไม่คุ้ม
เขาจึงบอกว่า ปราชญ์ด้านเกษตรพอเพียงที่แท้จริงไม่ใช่เขา แต่เป็นเพื่อนบ้านของเขานู่น
แม้เขาไม่ใช่ปราชญ์การเกษตรที่แท้จริง แต่การดำรงชีวิตของเขากับชีวิตเรียบง่าย มีความสันโดษ คล้ายกับมีความพอเพียง นี่มันก็เป็นเรื่องที่ "ฅนอีสาน" ทั้งหลายควรนำมาเทียบเคียงฉุกคิดให้เข้ากับชีวิตของตนได้ เพื่อให้รอดพ้นจากกับดักทุนนิยม หนี้สินได้บ้าง นี่เป็นการสัมภาษณ์เขาเมื่อหลายปีก่อนเอามาให้รับรู้ "ชีวิตและแนวคิดของ มาร์ติน วีลเลอร์" กัน
Q: เล่าชีวิตความเป็นมาให้ฟังหน่อย
A: ผมชื่อ มาร์ติน วีลเลอร์ (Martin Wheeler) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2504 ที่เมือง Blackpool ประเทศอังกฤษ จบการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยม ภาษาละติน จาก London University เคยสมรสอยู่กินกับภรรยาคนไทยชื่อ นางรจนา วีลเลอร์ ชาวขอนแก่น มีบุตร 3 คน คือ อิริค วีลเลอร์ (Eric Wheeler), แอนนี่ วีลเลอร์ (Anne Wheeler) และ ดิเรก วีลเลอร์ (Derek Wheeler) ปัจจุบันได้แยกทางกันกับภรรยาแล้ว ยังอยู่คนเดียวที่ บ้านคำปลาหลาย ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น (ตรงรอยต่อระหว่างเขตจังหวัดขอนแก่นกับหนองบัวลำภู) อาศัยที่เคยคุ้นเคยกับหน่วยราชการ เขาให้ไปเป็นวิทยากรเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้างพอได้ค่าตอบแทนเล็กน้อย และได้สิทธิต่อวีซ่าอยู่ในประเทศไทยปีต่อปี ไม่คิดจะกลับบ้านที่อังกฤษแล้ว เพราะพ่อ-แมเสียชีวิตหมดแล้ว กระดูกของพ่อก็เอามาไว้ในธาตุที่วัดบ้านคำป่าหลายนี่เหมือนกัน
Q: อยากให้เล่าประวัติส่วนตัวอีกสักหน่อย
A: ผมเป็นชาวอังกฤษ เกิดในครอบครัวที่ฐานะดีพอสมควร พ่อจบปริญญาเอก เป็นผู้จัดการบริษัทเกี่ยวกับสารเคมียาฆ่าแมลง มีลูกน้อง 20,000 กว่าคน แม่จบปริญญาตรี เป็นครูสอนเปียโนกับไวโอลิน ผมจบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งภาษาละติน ครั้งแรกเข้าเรียนที่ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พอปีที่ 3 ผมย้ายไปเรียนที่ มหาวิทยาลัยลอนดอน และจบที่นั่น ผมไม่ชอบเคมบริดจ์ เพราะเป็นแบบโบราณ อังกฤษเป็นประเทศเก่าแก่มาก สมัยโบราณเป็นระบบศักดินา มีขุนนาง และมีชาวบ้านเป็นขี้ข้า ทุกวันนี้แม้ยกเลิกระบบนั้นแล้ว แต่ที่เคมบริดจ์ยังเจอวัฒนธรรมแบบขุนนางอยู่ เป็นสังคมเล็กๆ ผ่านมา 200-300 ปีแล้วแต่ไม่รับรู้อะไร ไม่เข้าใจชาวบ้าน เขาคิดแต่เรื่องสังคมเล็กๆ ของพวกเขาในกลุ่มคนชั้นสูง เป็นพวกหอคอยงาช้าง ที่ผมเรียนได้คะแนนดีเพราะพ่อแม่ของผมบังคับให้เรียนหนังสือ ส่งเสริมให้เรียนตั้งแต่อายุ 2 ขวบครึ่ง สอบไปเรื่อยๆ เพิ่ม ไอ.คิว. ให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมเรียนสูงจนได้เกียรตินิยมเพราะพ่อแม่มีเงินช่วยไม่เกี่ยวกับความฉลาดเฉพาะตัว
Q: มีความรู้สึกนึกคิดต่อสังคมอังกฤษอย่างไร?
A: ผมปฏิวัติค่านิยมเก่า ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องเงิน ไม่อยากมีรถยนต์ ไม่อยากมีบ้านใหญ่ อยากมีบ้านเล็กๆ อยากมีครอบครัวเล็กๆ ที่มีความสุข ไม่สนใจเรื่องวัตถุ ผมอยากอยู่แบบง่ายๆ เมื่อก่อนไม่รู้เขาเรียกว่าอะไร แต่ตอนนี้รู้ว่าเขาเรียก "มักน้อย สันโดษ" ที่อังกฤษเขาว่า ผมบ้า เป็นเด็กนิสัยเสีย เพราะพ่อแม่ส่งให้เรียนหนังสือแต่ไม่เอาความรู้ไปหาเงิน เขาหาว่าเด็กที่ไม่คิดทำงานนั้นนิสัยเสีย
หลังจากเรียนจบแล้ว ผมก็เอาปริญญาให้พ่อแม่ตามที่ท่านอยากได้ แล้วผมก็ไปทำงานก่อสร้าง แบกอิฐ แบกปูนอยู่ 10 ปี ช่วงนั้นชาวบ้านบอกว่า "ผมบ้า" แน่ครับ
แต่เป็นเรื่องที่ผมอยากเรียนรู้ชีวิต อยากรู้จักตัวเองว่า มีความสามารถมากน้อยเพียงใด มีความอดทนมั้ย ทำในสิ่งที่เราไม่น่าจะทำได้มั้ย ท้าทายตัวเองบ้าง อยากผ่านชีวิตที่ลำบากบ้าง
ผมอยู่ในสังคมของคนมีเงิน เขาจะพูดถึงแต่เรื่องเงิน คุณมีรถยี่ห้ออะไรบ้าง มี่กี่คัน คุณมีบ้านใหญ่ขนาดไหน ลูกของคุณเรียนที่ไหน เอาลูกมาแข่งขันกันจบจากที่ไหนบ้าง จบจากเคมบริดจ์ดีกว่าจบจากมหาวิทยาลัยลอนดอน แต่ผมกลับคิดว่า ชีวิตน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น ช่วงนั้นผมไม่รู้ว่าชีวิตคืออะไร แต่ที่รู้แน่ๆ คือไม่ใช่เงิน ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่ปริญญา ต้องมีสิ่งอื่น ซึ่งผมไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน ผมก็เลยมาลองแบกอิฐ แบกของหนักไว้ก่อน เดินแบกอิฐไปมาวันละสาม-สี่พันเที่ยว มันอิสระ เรามีเวลาคิด ได้รู้จักคนอื่น และได้สร้างความเข้มแข็งให้ร่างกาย แล้วจิตใจเราก็เข้มแข็งขึ้นด้วย
ชาวบ้านธรรมดาที่อังกฤษนั้น จริงๆ เขาลำบากกว่าคนไทยมาก เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ผมได้เห็น ชีวิตของชาวบ้านที่อังกฤษแย่มาก คนที่นั่น 60% ไม่มีบ้าน ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาจะไม่ได้เป็นเจ้าของบ้าน ต้องไปเช่าบ้านจากเจ้านาย ตลอดชีวิต 98% ไม่มีใครมีที่ทำกิน แล้วก็อยู่ในเมือง เป็นขี้ข้าเขาหมด แม้แต่เป็นผู้จัดการก็เป็นขี้ข้าด้วย เพราะไม่มีใครพึ่งตนเอง ไม่มีใครมีที่ทำกิน จะไปทำอะไรช่วยตัวเองก็ไม่ได้ จะไปสุขอะไรก็ไม่ได้ ต้องไปหาเงิน ชีวิตอยู่กับเงินอย่างเดียว เงินเยอะ ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้เงินน้อยคุณภาพชีวิตก็ไม่ค่อยสูงเท่าไหร่
Q: แล้วทางครอบครัวไม่สนใจเลยหรือที่ออกไปเป็นกรรมกร
A: ในครอบครัวผม ถามว่าชีวิตของพ่อมีความสุขมั้ย ผมคิดว่าไม่ ผมคิดว่าพ่ออยากได้บางสิ่งบางอย่าง เขาได้เงินเดือนเยอะมาก ได้รับบำเหน็จบำนาญ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านในชุมชน มีตำแหน่งมีเกียรติยศอะไรอีกเยอะแยะ แต่ผมคิดว่าพ่อไม่มีความสุข เพราะว่าวันจันทร์ถึงวันศุกร์ไปทำงานที่โรงงาน ตกเย็นไปประชุมอีกกลับบ้านสามทุ่มสี่ทุ่มไม่ได้เจอเมียเจอลูก วันเสาร์อาทิตย์พ่อก็ปวดหัว อยากพักผ่อน พ่ออยากอยู่คนเดียวไม่ให้ใครรบกวน พ่อมีเมียและลูกสามคน แต่พ่อไม่ค่อยได้เห็นลูกเห็นเมีย สมัยที่ผมอายุสิบสามขวบผมไม่ได้คุยกับพ่อแม้แต่คำเดียวเกือบปีครึ่ง เห็นเมื่อไหร่ก็เจอพ่อปวดหัวตลอด คิดหนัก อาชีพของพ่อ ต้องใช้สมองมาก ผมว่ามันเป็นกรรมพันธุ์ด้วย ผมก็ปวดหัวบ่อยเหมือนกัน (หัวเราะ) ชอบคิดมากตอนนี้หายแล้ว แม่เข้าใจผมแต่ไม่เห็นด้วยที่ผมมาเมืองไทย
แม่เสียชีวิต ผมได้มรดกนิดๆ หน่อยๆ มีเวลาที่จะไปเที่ยว ผมเคยวางแผนไว้ในใจว่าจะเที่ยวสัก 1 ปี จะเดินทางไปในประเทศที่ผมไม่เคยไปมาก่อน เช่น ไทย ลาว เขมร พม่า มาเลย์ เวียดนาม อินโด ออสเตรเลีย คิดว่าจะไปออสเตรเลียก่อนเพราะเป็นประเทศเปิด ไม่ค่อยมีกฎระเบียบเหมือนกับอังกฤษ แต่ก็ยังไม่ได้ไปตามแผนที่วางไว้ ประเทศแรกที่ผมมาคือ ประเทศไทย
Q: มาไทยได้เที่ยวทั่วประเทศไหม?
A: ไม่เลย สมัยก่อนผมนิสัยเสียชอบกินเหล้า ชอบเที่ยว ชอบสนุก เงินที่ผมเก็บไว้ 1 ปี ภายใน 2 เดือนใช้หมดเลยไม่มีเงินกลับบ้าน ผมอยู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2535 ผมอยู่กรุงเทพฯ ไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียว ไปหางานทำ อาชีพอย่างเดียวที่เราทำได้ คือ เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ จริงๆ แล้วผมไม่ได้เป็นครูหรอก ผมสอนไม่เป็น แต่คนไทยเห็นฝรั่งจะบอกว่า ฝรั่งทุกคนเป็นครูสอนภาษา ซึ่งมันไม่จริงฝรั่งส่วนมากไม่ได้เป็นครู ที่กรุงเทพฯ เขาจ้างผมให้เป็นครู เอาเสื้อผ้าดีๆ เนคไทดีๆ ให้ใส่ เขาบอกว่า คุณเป็นครูนะ แล้วเขาก็ส่งผมเข้าห้องเรียนเลย
ความจริงฝรั่งที่เขาเรียก "ครู" นั้น ไม่มีใครเคยสอนหนังสือแม้แต่คนเดียว และบางครั้งก็ไม่ใช่คนอังกฤษด้วย มีคนหนึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสพูดภาษาอังกฤษที่ผมฟังไม่รู้เรื่องแม้แต่คำเดียว คนไทยก็แปลกดีเหมือนกัน เขาให้เงินเดือนผมเดือนละ 3 หมื่นบาท ไปนั่งเฉยๆ ผมก็ละอายใจ ไม่อยากรับ ผมคิดมากปวดหัวทั้งวันทั้งคืน เพราะถ้าเราทำงานอะไรในชีวิตเราต้องได้ผล สมมุติมีคนมาจ้างเรา 100 บาทแบกอิฐ ผมจะรับแน่เพราะว่าผมแบกอิฐแผ่นนั้นจากโน่นไปที่นู่น ผมทำได้แน่ครับ แล้วผมก็จะเอาเงินของคุณไป แต่เวลาผมเป็นครูสอนภาษามันไม่ได้ผลหรอก ผมสอนไม่เป็น เอาเงินให้ผมเฉยๆ ผมก็รู้สึกว่าไม่น่าจะเอา ผมไม่ได้ทำประโยชน์อะไรคุ้มค่าเงินนะ
Q: มีเงินมาใช้จ่ายไม่มีความสุขหรือ?
A: เงินไม่ทำให้ผมมีความสุข ผมมีอุดมการณ์เล็กๆ ตั้งแต่อายุยังน้อยๆ
เขาจะทำงานแบบนั้นทุกคน มีเสื้อนอก มีรถยนต์ มีเอกสาร แต่เขาไม่ค่อยมีความสุขหรอก ผมเอาสิ่งนี้มาเป็นสัญลักษณ์แห่งการทำงานที่ไม่มีความสุข มีช่วงเดียวเท่านั้นที่ผมทรยศต่อชีวิตตัวเองคือ ช่วงที่ผมเป็นครูอยู่ที่กรุงเทพฯ ผมต้องผูกเนคไท ผมทำในสิ่งที่ผมเกลียดที่สุดเลยเพื่อเงินอย่างเดียว ทำอยู่ประมาณ 11 เดือน ชีวิตไม่มีความสุขเหมือนอยู่ที่อังกฤษ คือทำงานอะไรก็ได้ขอให้มีเงินแต่ไม่มีความสุข แล้วก็เอาเงินไปใช้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไปเที่ยว ไปกินเหล้า ไปสูบบุหรี่ ยาเสพติดทุกชนิดผมเอาหมดตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม แม้แต่อยู่กรุงเทพฯ ก็ยังทำอยู่ ถึงได้เงินเยอะแต่ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรเพราะเงินไม่ช่วยให้เรามีความสุข
Q: แล้วชีวิตเปลี่ยนหันเหชีวิตสู่แนวทางที่วาดหวังได้อย่างไร?
A: ผมเจอภรรยา เธอมาจากจังหวัดขอนแก่นมาทำงานอยู่กรุงเทพฯ ไม่นานก็มีลูกด้วยกัน ผมเริ่มคิดหนัก แต่ก่อนอยู่คนเดียวไม่มีปัญหา มีความสุขหรือไม่มีก็คนเดียว ไม่ยากหรอก เมื่อมีเมียมีลูกมันต้องรับผิดชอบผู้อื่นด้วย จะไปนั่งกินเหล้าเฉยๆ ไม่ได้หรอก คิดว่าทำอย่างไร ให้เมียกับลูกอยู่ได้ ผมรู้แน่ๆ ถ้าผมอยู่ในสังคมเมืองและทำงานแบบนี้ ผมจะเป็นคนแย่มาก จะกินเหล้า สูบบุหรี่ ติดยา เที่ยวอย่างเดียว จึงตัดสินใจตัดตัวเองออกจากสังคมเมืองไปอยู่บ้านนอก แฟนผมมาจากหมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดขอนแก่น ช่วงปีใหม่ผมไปเที่ยวบ้านของแม่ยายเห็นว่าเป็นธรรมชาติดี
ต้องเข้าใจว่าคนอังกฤษอยู่บ้านนอกไม่ได้ เพราะชนบทมีพื้นที่นิดเดียว พวกขุนนางยึดหมด คนยากจนจึงอยู่ชนบทไม่ได้ ต้องไปอยู่ในเมืองที่สกปรก แออัด คนอังกฤษที่ยังรวยไม่ถึงขั้นเช่นพ่อของผม มีเงินเยอะแต่ก็ยังรวยไม่ถึงขั้นเพราะยังอยู่ในเมือง วัดจากคนที่อยู่กลางเมืองใหญ่ๆ จะเป็นคนจนที่สุด ที่อยู่ชานเมืองจะเป็นพวกครู ข้าราชการอะไรแบบนั้น เป็นผู้จัดการก็ยังอยู่ในเมือง ส่วนคนที่จะได้อยู่บ้านนอกจะต้องเป็นคนรวยถึงขั้นจริงๆ เป็นพวกขุนนางใหญ่โต มันเป็นเรื่องแปลก ผมมาอยู่ที่ขอนแก่นเห็นแต่ละคนมีที่ดินเยอะมาก ชาวบ้านธรรมดาคนเดียวมีถึง 50 ไร่ 200 กว่าไร่ก็มี พ่อแม่ผมมีแค่ครึ่งไร่เท่านั้นเอง แต่อยู่บ้านนอกที่นี่ โอ้โฮ.. มีเยอะมาก สะอาดด้วย อากาศก็ดี ตอนแรกได้กลิ่น ผมก็ว่ากลิ่นอะไร อ๋อ มันกลิ่นธรรมชาติ ผมไม่เคยดมมาก่อน โอ้สุดยอดเลยบ้านนอก คนอื่นว่าฝรั่งมันบ้า
เพราะเขาไม่คิดว่า ทำไมฝรั่งอยากไปอยู่บ้านนอก เขาคิดว่าฝรั่งมีแต่คนรวย ฝรั่งไม่มีคนยากจน เขาไม่รู้จริงๆ ว่าฝรั่งส่วนมากลำบาก บ้านก็ไม่มี ที่ดินก็ไม่มี เป็นขี้ข้าเขาหมด ลูกก็ไม่มีอนาคต "
ปัญหาของระบบทุนนิยมคือเรื่อง เงิน เงินถูกจำกัดเป็นก้อนเล็กๆ คนรวยกวาดเงินไปเยอะจนเหลือนิดเดียว มันแบ่งกันไม่ลงตัวทำให้มีคนจนเยอะ ถ้ามีคนรวย 1 คนจะมีคนจนเป็นร้อยเลย ระบบทุนนิยมจึงอยู่ได้ ปัญหาของคนยากจนคือทำยังไงจะมีชีวิตที่ดี เราจะหลุดพ้นจากความยากจนได้ ต้องหาสิ่งที่ไม่ใช่เงิน อันนี้เป็นจุดเด่นของประเทศไทย ชาวบ้านธรรมดาอาจจะไม่มีเงินเยอะ แต่เขาสามารถจะหาหลายสิ่งหลายอย่างที่มีคุณค่ามากกว่าเงินตั้งเยอะ
Q: แล้วจะเอาอย่างไรต่อกับชีวิตครอบครัว
A: แค่อยากหาคำตอบให้ชีวิต ผมตกลงกับแฟนว่าเราจะไปอยู่บ้านนอก ผมจะไม่รับจ้างสอนภาษาอังกฤษ เขาก็ตกลง แต่ปัญหาคือ ผมทำเกษตรไม่เป็น ช่วงแรกก็ลำบากต้องกลับมาแบกอิฐเหมือนเดิม วันละร้อยยี่สิบบาท โอ้โฮ…เหนื่อย เพราะที่อังกฤษถึงจะแดดร้อนแต่อากาศเย็น เดินไม่ได้ต้องวิ่งก็อุ่นได้ แต่ขอนแก่นช่วงนั้นเป็นเดือน 4 (เมษายน) อากาศร้อนมาก 40 กว่าองศา บางครั้งผมเป็นลมเขาเอาน้ำมาสาด โอ๊ย.! ฝรั่งมันบ้า ทำไมไม่กลับบ้าน คิดผิดหรือเปล่าทำไมต้องมาลำบากขนาดนี้ เขาคิดว่า ผมเป็นฆาตกรไปฆ่าคนที่อังกฤษแล้วกลับบ้านไม่ได้ หนีคดีมา ความจริงไม่ใช่ ผมก็แค่อยากหาคำตอบในชีวิตบางเรื่องเท่านั้น อยากหาความสุขที่เป็นแบบยั่งยืนสักหน่อย
บางครั้งก็คิดหนีไปที่อื่นเหมือนกัน แต่ผมไม่รู้ว่าถ้าอยู่ที่นี่ไม่ได้จะไปอยู่ที่ไหน คิดว่าเราต้องหาคำตอบให้ได้ ปัญหาอาจจะอยู่ที่ตัวของผมเอง แต่ในภาพรวมที่นี่ดี สิ่งแวดล้อมดี สะอาด ถ้าเรามีลูกเราอยากให้ลูกของเราอยู่ในที่สะอาด อาหารธรรมชาติฟรีๆ ก็มีเยอะมาก ในภาคอีสาน เห็ดแดง หน่อไม้ ไข่มดแดง ดอกกระเจียว ผักอีหรอก แมงคับ แมงคาม ขี้กะปอมเยอะ แต่บางคนก็ไม่กินนะ บางคนก็กิน ซึ่งมันดีมากเพราะว่า 1) สะอาด อาหารธรรมชาติ ไม่มีใครไปใส่ปุ๋ยเคมี 2)ไม่ได้ซื้อ ไม่ได้ใช้เงิน ขอให้ขยันเดินไปเก็บ สมัยก่อน ที่อังกฤษผมจะเดินแบกอิฐทั้งวัน เมื่อได้เงินแล้วก็เอาเงินเกือบทั้งหมดไปซื้ออาหารในร้าน ฝรั่งส่วนมากทำงานหนักทุกวัน แต่เงินที่เขาได้มันเพียงพอที่จะซื้ออาหารกินเท่านั้น ไม่มีเงินเหลือฝากธนาคาร
Q: ความรวยกับความจนของที่ไทยกับอังกฤษต่างกันอย่างไร?
A: นิยามความรวยกับความจน มันเป็นเรื่องแปลกนะที่ประเทศไทยคนยากจนมีหนี้สินเยอะ ที่อังกฤษมีแต่คนรวยที่มีหนี้สิน คนจนไม่มีหนี้เพราะเขาไม่ให้คนจนยืมเงิน เนื่องจากกลัวจะไม่มีปัญญาใช้คืนจึงไม่มีสิทธิ์มีหนี้สิน แต่คนรวยยืมเงินได้ คำว่ารวยกับคำว่าจนมันคืออะไรกันแน่?
ที่ขอนแก่นเขาว่า ผมบ้าบ้าง ฝรั่งยากจนบ้าง ฝรั่งตกอับบ้าง ฝรั่งขี้นก ฝรั่งไม่มีเงิน แต่ผมบอกว่า "ไม่ใช่ ผมรวยนะ" เขาถามว่า "รวยได้ยังไง" ผมบอกว่า
Q: คิดอย่างไรกับการเริ่มต้นใหม่ในเมืองไทย
A: วิธีคิดไม่ธรรมดาของผม เพราะผมมีลูก 3 คน ชาย 2 หญิง 1 สิ่งสำคัญที่สุด 2 เรื่องในชีวิตของเรา คือ 1) ต้องมีบ้านเป็นของตัวเองให้ได้ จึงจะถือว่าชีวิตประสบความสำเร็จ 2) ต้องมีงานทำทุกวัน ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นงานอะไร แต่ขอให้มีงานทำทุกวัน ชีวิตจึงจะไม่สูญเปล่า วิธีเดียวที่รับประกันได้ว่า "ลูกมีงานทำ" คือ การมีที่ทำกินให้เขาและเราต้องช่วยให้เขาทำเป็น
ผมคิดว่าคนชนบทจริงๆ ใครมีที่ดินทำกินแล้วจะไม่ตกงานเว้นแต่คนขี้เกียจ ซึ่งบางคนมีที่ดินเยอะแต่ไม่ยอมทำ ถ้าเราสั่งสอนให้ลูกรู้จักทำมาหากินเขาก็ไม่ตกงาน ผมถือว่างานที่อิสระและมีประโยชน์มากที่สุดคือ 'งานเกษตร' ซึ่งช่วยให้เรากินอิ่มทุกวัน คนอังกฤษกินไม่อิ่มเยอะมากนะ ผมไม่อยากให้ลูกของผมอดอาหาร อยากให้ลูกกินอิ่มในลักษณะที่ส่งเสริมสุขภาพด้วย กินอาหารที่ไม่มีสารพิษ กินอาหารแบบเรียบง่ายก็ได้แต่อิ่มทุกวัน เมื่อมีบ้าน มีงาน มีอาหาร ลูกของผมก็จะรวยที่สุด ผมอยากให้ลูกอยู่บ้านนอกเพราะว่าสะอาด จ้างเท่าไหร่ก็ไม่อยากให้ไปอยู่ในเมืองหรอกเพราะสกปรก แออัด สำคัญที่สุดคือเรื่องของสังคม ผมไม่อยากให้ลูกไปอยู่ในเมือง เพราะว่าคนเมืองเห็นแก่ตัววิ่งไปหาเงินอย่างเดียว แข่งขันกันเยอะ เดี๋ยวก็ฆ่ากันด่ากันทุกวันไม่สงบ อยากให้ลูกอยู่บ้านนอก เขาจะได้สิ่งที่หายากที่สุดในโลก
คนอีสานบ้านนอกเป็นคนดีมากนะ มีน้ำใจ รู้จักช่วยเหลือคนอื่น เอื้ออาทรกัน เกื้อกูลกัน แบ่งปันกัน ไม่แข่งขันกัน ความเป็นชุมชนเป็นสิ่งที่หายากนะ ถ้าเราไปอยู่ในเมือง จะอยู่แบบของใครของมัน บ้านคนละหลัง ครอบครัวคนละหลัง ไม่รู้จักกัน ถ้าเราอยู่ในชุมชนเล็กๆ เราก็ช่วยเหลือกันได้ คุยกันได้ แบ่งปันกันได้ ในที่สุดเราก็จะเป็นคนมีน้ำใจได้
ลูกของผมเขาเป็นคนมีน้ำใจ เขาอาจจะไม่มีเงินไม่ได้เรียนหนังสือสูงๆ แต่เขาจะมีสิ่งที่ดีกว่านั้นเยอะคือเขาจะมีที่อยู่อาศัย มีชุมชนที่ดี ไม่มียาเสพติด ไม่มีการพนัน ไม่มีอาชญากรรม มันน่าอยู่ ขอให้เราอยู่ในชุมชนที่เป็นแบบนั้นมันก็ดีนะ ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องเป็นห่วง ลูกก็จะเป็นคนดีไม่ติดยาไม่ขี้ขโมย ไม่เล่นไพ่ มีน้ำใจและรู้จักช่วยเหลือคนอื่น ลูกผมเรียน หนังสือไม่เก่ง ปีนั้นคนโตเขาได้คะแนนเป็นอันดับที่ 19 ในห้องของเขามีนักเรียน 39 คน มันเดินสายกลางพอดีเลย (หัวเราะ)
แต่ผมไม่ได้สนใจเรื่องอันดับคะแนนหรอก ครูเขาเขียนถึงอุปนิสัยของลูกว่า เป็นคนที่มีน้ำใจชอบช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งผมไม่ได้สอนแบบนั้น ฝรั่งส่วนมากจะเห็นแก่ตัว ผมเคยอยู่ในสังคมอย่างนั้นมาก่อนมันเปลี่ยนยากครับ ผมจึงไม่ได้สอนให้ลูกเป็นคนมีน้ำใจ แต่มันเป็นที่ชุมชน เป็นวิถีชีวิตของคนอีสานที่เริ่มซึมเข้าไปในกระดูกของเขา ทำให้ลูกที่ตอนมีอายุแค่ 8 ขวบเป็นคนมีน้ำใจ ผมถือว่าสุดยอดแล้ว ผมภูมิใจในตัวของลูกมากๆ เรื่องเรียนไม่สำคัญหรอก สำคัญที่สุดนั้นเป็นความมีน้ำใจ ถ้าเขาสามารถรักษาสิ่งนี้ไว้ตลอดชีวิต ผมคิดว่าเขาคงมีความสุขแน่
Q: มาอยู่อีสานรู้สึกอย่างไร?
A: วิเคราะห์เจาะลึกอีสานบ้านเฮา ผมเคยบังคับลูกชายคนแรกตอนอายุประมาณ 3 ขวบ จับมานั่งสอนภาษาอังกฤษ เขาก็ร้องไห้ไม่เอาๆๆ ผมก็คิดว่า เอ๊ะ..เราน่าจะเลิกทรมานเด็ก ปล่อยให้เขามีความสุข ตั้งแต่วันนั้น ผมบอกจะไม่สอนเขาอีกแต่ถ้าอยากเรียนมาบอกผมจะสอนให้ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้เขายังไม่บอกผมเลย ผมก็มาคิดว่าจะให้ลูกเรียนภาษาอังกฤษเพื่ออะไร ในหมู่บ้านของผมมี 50 ครอบครัว ทุกคนพูดอีสานอย่างเดียว แม้แต่ผมก็ยังพูดแล้วจะให้เขาเรียนภาษาอังกฤษเพื่ออะไร
สมมุติว่าลูกของผมอยากอยู่ในหมู่บ้านนี้ตลอดชีวิต ภาษาอังกฤษก็จะเป็นความรู้ที่ไม่เป็นประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ผมเคยเรียกว่า มันเป็นวิชาขี้ข้าเอาไว้รับจ้างเฉยๆ เอาไปหาเงิน คนที่มีความรู้ภาษาอังกฤษจะเอาอันนี้แลกกับเงินอย่างเดียว เขาไม่ได้เรียนเพื่อชีวิตของเขา เขาอยากเอาเงินไปทำงานสูงๆ หน่อย
ปัญหาของคนอีสานมีมากในเรื่องของการศึกษา คนอีสานส่วนมากไม่อยากให้ลูกเป็นคนอีสาน ไม่อยากให้ลูกเป็นคนบ้านนอก ไม่อยากให้ลูกพูดภาษาอีสาน อยากให้พูดไทย ชาวบ้านส่วนมากคิดอยากให้ลูกได้ดีในชีวิต คิดว่าสิ่งที่ดีในชีวิตของลูกคือ 1)ไม่ได้พูดอีสาน พูดแต่ภาษาไทย 2) พูดภาษาอังกฤษด้วย 3) เล่นคอมพิวเตอร์ได้ 4) ไปอยู่ในเมือง 5) ไปรับจ้างเขา 6) ไปสร้างหนี้สิน ไปซื้อบ้านหลังเล็กๆ ราคา 2-3 ล้านบาท เขาคิดว่า อย่างนี้ลูกของเขาได้ดี ซึ่งผมไม่เห็นด้วย
ผมก็อยากให้ลูกของผมได้ดีเหมือนกัน แต่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ปัจจัยที่จะช่วยให้เขาได้ชีวิตที่ดี อาจจะเอาไปแลกเงินในบางช่วงได้ แต่ผมหวังว่าลูกของผมจะมีความคิดสูงกว่านั้น ชีวิตน่าจะมีไว้เพื่อหาสิ่งที่ไม่ใช่เงิน ถ้าเขาเรียนรู้เพื่ออยากจะหาเงินอย่างเดียวก็น่าเสียใจนะ เพราะความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่การเรียนรู้เป็นสิ่งที่เราต้องทำทุกวันตลอดชีวิตเราหยุดเรียนรู้ไม่ได้ แต่เราไม่น่าจะเรียนเพื่อเอาความรู้ เอาปริญญาไปแลกกับเงิน ทำให้ความรู้ไม่มีคุณค่า
A: มองคนไทยมีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร?
Q: ผมคิดว่าคนไทยส่วนมากยังไม่เข้าใจระบบทุนนิยม เห็นฝรั่งที่ไหน ก็คิดว่ารวยหมด คิดว่าการพัฒนาในระบบทุนนิยมจะทำให้ทุกคนมีเงิน ไม่เข้าใจว่าประเทศที่พัฒนาระบบทุนนิยมนานแล้ว เช่น อังกฤษ สหรัฐ มีปัญหาเยอะมาก แต่คนไทยก็คิดว่าเมืองนอกดีกว่า อันนี้จุดอ่อนครับ คือคนไทยสนใจเมืองนอก ไม่ได้สนใจประเทศไทย ผมเป็นฝรั่งคุณเลยนั่งฟังผม ถ้าผมเป็นชาวบ้านคุณจะไม่สนใจผม อันนี้เป็นจุดอ่อนนะ แต่จุดแข็งคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แผ่นดินประเทศไทยอุดมสมบูรณ์มากๆ ที่ดินเยอะมาก น้ำเยอะมาก แสงแดดเยอะมาก ทำเกษตรอยู่รอดแน่เป็นพลังแผ่นดิน ใครๆ ก็อยากได้ประเทศไทย ผมก็ได้ถึง 6 ไร่ คนไทยโชคดีมากๆ ที่ได้ในหลวงเป็นผู้นำ พระองค์ท่านเป็นคนที่ทำงานหนักมาก เพื่อช่วยให้คนคิดได้ช่วยให้คนอยู่ได้ จะหากษัตริย์ในประเทศอื่นไม่ค่อยมีแบบนี้ ปัญหาคือคนไทยส่วนมากนับถือในหลวง แต่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสอนของในหลวง พระองค์ท่านบอกมา 27 ปีถึงเศรษฐกิจพอเพียง แต่คนไทยก็ไม่รู้จักพอเพียงเอาอย่างเดียว ถึงยกมือไหว้ในหลวงแต่เวลาดำรงชีวิตไม่ได้ทำตามในหลวง ก็ในหลวงบอกไว้แล้วว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเสือขอให้มีอยู่มีกินไว้ก่อน ถ้าทุกคนเริ่มคิดจริงๆ ถึงสิ่งที่ในหลวงพูดเราน่าจะช่วยให้ประเทศไทยอยู่ได้ เพราะความคิดของในหลวง เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงต้องอาศัยพลังแผ่นดิน ทำได้เฉพาะประเทศไทยนะเศรษฐกิจพอเพียง ที่อื่นทำไม่ได้หรอกเพราะเขาไม่มีที่ดิน ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเยอะเหมือนประเทศไทย
พวกคุณโชคดีที่ได้แผ่นดินดีๆ ได้ผู้นำที่ดีด้วย และเรื่องที่ 3 เรื่องศาสนา ผมคิดว่า ศาสนาพุทธ มีความสำคัญมากๆ สำหรับคนไทย ไม่ใช่แค่นับถือไหว้พระ แค่นั้นไม่พอแต่อยู่ที่การปฏิบัติด้วยนะ มักน้อย สันโดษ พอเพียง ธรรมะคือธรรมชาติ เป็นเรื่องง่ายๆ พึ่งตนเองก็ได้ ปรัชญาของศาสนาพุทธทำได้นะ แต่คนไทยจำนวนน้อยที่เข้าใจ จริงๆ แล้วศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ออกแบบให้เหมาะสมสำหรับคนบ้านนอก ให้ใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติโดยไม่ทำลาย ไม่เอาเปรียบ แต่ให้เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
A: อยากบอกอะไรคนไทย
Q: คุณโชคดีมากๆ ที่เกิดในประเทศไทยที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องไปรบกับใคร ไม่ต้องไปเอาน้ำมันจากใคร ไม่ต้องไปเบียดเบียนคนอื่น ประเทศไทยอยู่ได้ กินอิ่ม มีเหลือแจกด้วย อย่าไปคิดเรื่องเงินอะไรมาก อย่าลดคุณค่าความเป็นไทยของตัวเองลง คนไทยส่วนมากนิสัยดีจริงๆ คนไทยมีน้ำใจ หายากนะ คนไทยมีพระเจ้าอยู่หัว มีแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ มีศาสนาพุทธ ที่ดีมาก ทั้ง 3 อย่างนี้พยายามรักษาเอาไว้ให้ได้ ชีวิตที่ไม่ทะเยอทะยานเกินไป คือชีวิตที่มีคุณภาพ ชาวบ้านทุกคนทำได้ ผมเองถึงยังทำไม่สำเร็จแต่มั่นใจว่าจะทำได้แน่ในอนาคต ถ้าผมทำได้คนอื่นก็คงทำได้ง่ายกว่าผมเยอะ ทุกอย่างอยู่ที่เราถ้าเราไม่อยากได้อะไรมากเกินไปในชีวิต ชีวิตมันก็ง่าย พยายามทำให้ชีวิตมันง่ายขึ้น อย่าให้มันสับสน อย่าให้มันลำบาก พยายามรักษาสิ่งแบบนี้ให้ดีและอย่าเชื่อฝรั่งมากเกินไป
พ่อใหญ่มาร์ตินแห่งบ้านคำปลาหลาย : Spirit of Asia
เมื่ออายุมากขึ้นในบั้นปลายชีวิต "พ่อใหญ่มาร์ติน แห่งบ้านคำป่าหลาย" ก็ตกผลึกในชีวิตที่เขาแสวงหา ความสุขสบายในชีวิต ซึ่งไม่ใช่ความพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียง ปราชญ์การเกษตรที่ใครๆ พยายามยัดเยียดให้เขาโดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ชีวิตที่ผ่านมาของเขา ความคิดที่เขาพูดออกมาจากใจของเขาด้วยสำเนียงภาษาอีสานนั้นก็ทำให้ทุกคนได้คิดว่า "คนอีสานนั้นร่ำรวยเพราะมีที่ทำกินจากบรรพบุรุษมอบไว้ให้ มีธรรมชาติ สายลม แสงแดด ฝน และคำสอนดีๆ จากผู้เป็นต้นแบบกษัตริย์หนึ่งเดียวที่ใส่ใจในพสกนิกร มีพุทธศาสนาที่สั่งสอนให้มีสติ ศรัทธา ความรักต่อกัน พึ่งพาตนเองโดยไม่ทำลายธรรมชาติ เราจะก้าวไปด้วยกัน"
"ไม่มีเงิน ก็มีกิน" จากที่เคยประสบภาวะวิกฤตในชีวิต มีหนี้สินจำนวนมาก ต้องขายทรัพย์สินที่มี และนำที่ดินไปจำนอง กระทั่งต้องไปทำงานรับจ้างที่ประเทศมาเลเซีย แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ทำงานหนัก และอดออม ภายในระยะเวลา 1 ปี จึงเหลือเงินกลับมาจนสามารถใช้หนี้ และไถ่ถอนที่ดินคืนมาได้ แล้วจึงเริ่มต้นวิถีเกษตรผสมผสานตั้งแต่ปี 2534 ด้วยทุนที่มีเหลืออยู่กับตัว คือ สองมือและอุปกรณ์ข้างกาย ได้แก่ จอบและบุ้งกี๋ ขุดสระน้ำด้วยแรงงานที่มีในครัวเรือน จำนวน 4 คน ใช้เวลา 3 เดือน จึงเริ่มเก็บกักน้ำได้ ดำรงตนอย่างสมถะสร้างอาหารไว้กินเองในครอบครัว และใช้แรงงานภายในครอบครัว 6 คน ไม่มีการจ้างแรงงานภายนอก มาเรียนรู้ "ทางเดินชีวิต… สู่แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ของ
นายจันทร์ที ประทุมภา เกิดในปี พ.ศ. 2481 ภูมิลําเนาเดิมอยู่ที่ บ้านเชือก อําเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ได้บวชเรียนและสอบได้นักธรรมโท ในอดีตได้พากเพียรสร้างครอบครัว ด้วยการประกอบอาชีพเป็นพ่อค้ารับซื้อเส้นไหม แล้วนำไปขายต่อและทำนาบนพื้นที่ 22 ไร่ควบคู่ไปด้วย จนมีฐานะพอประมาณในหมู่บ้าน มีร้านขายของชำ มีโรงสีรับสีข้าว และเลี้ยงหมูไปด้วย
ในปี พ.ศ. 2524 เห็นเขาจัดหาคนงานไปทำงานต่างประเทศ เกิดอยากรวย จึงรับเป็นนายหน้าหาคนไปทำงาน โดยเก็บค่าใช้จ่ายจากคนที่สนใจรายละ 25,000 - 40,000 บาท แล้วนำเงินส่งให้บริษัทรับส่งแรงงานไปต่างประเทศ เพื่อทำวีซ่าทำงาน ปรากฏว่า บริษัทนายหน้าเชิดเงินหนีหาย ทำให้นายจันทร์ทีต้องรับผิดชอบหาเงินมาใช้คืนกับคนงานทั้งหมด
การเปลี่ยนฐานะทางครอบครัวอย่างกระทันหัน จากที่เคยมีฐานะค่อนข้างดีมาเป็นหนี้กว่า 200,000 บาท ทำให้คิดสั้นจะฆ่าตัวตายแต่ภรรยาห้ามไว้ทัน จึงต้องนำที่นาไปจำนอง ขายโรงสี และทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีมาชดใช้หนี้สินทั้งหมด ทำงานรับจ้างทุกอย่าง ต่อมาจึงได้ไปเป็นคนงานต่างประเทศได้เงินมาก้อนหนึ่งกลับมาไถ่นาที่จำนองไว้คืน และกลับมายึดอาชีพทำนาอีกครั้ง
ต่อมานายจันทร์ทีได้ไปศึกษาดูงานแปลงเกษตรผสมผสานของ พ่อผาย สร้อยสระกลาง ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ จึงได้แนวความคิดการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ และพบทางออกจากทุกข์ด้วยการเรียนรู้วิถีเกษตรผสมผสาน พึ่งตนเอง และพึ่งพากันเองของเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน แล้วจึงเริ่มต้นวิถีเกษตรผสมผสานตั้งแต่ปี 2534 ด้วยทุนที่มีเหลืออยู่กับตัว คือ สองมือและอุปกรณ์ข้างกาย ได้แก่ จอบและบุ้งกี๋ ขุดสระน้ำด้วยแรงงานที่มีในครัวเรือน จำนวน 4 คน ใช้เวลา 3 เดือน จึงเริ่มเก็บกักน้ำได้ ดำรงตนอย่างสมถะ สร้างอาหารไว้กินเองในครอบครัว และใช้แรงงานภายในครอบครัว ไม่มีการจ้างแรงงานภายนอก
ในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่นั้น นายจันทร์ที มีการแบ่งพื้นที่การใช้สอยให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ จำนวน 22 ไร่ มีการบริหารจัดการ โดยแบ่งเป็นพื้นที่นาข้าว 10 ไร่ พื้นที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ 10 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย 2 ไร่ และมีสระน้ำรวมกว่า 10 สระ พร้อมกับการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย พืชผัก พืชสมุนไพร เพื่อให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกันเหมือนต้นไม้ในป่าธรรมชาติเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน อันเป็นระบบนิเวศน์ที่สมดุล มีการเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ปลา และปลูกผักทุกชนิดที่ตนเองเคยซื้อกิน เพื่อลดรายจ่าย ขณะเดียวกันสามารถนำผักที่ปลูกไปจำหน่ายในตลาดได้ ทำให้มีรายได้ทุกวันจากการขายผัก ส่วนรายได้หลักต่อเดือนได้จากการขายปลาและสัตว์ที่เลี้ยง สำหรับรายปีก็มีรายได้อีกจากการขายผลผลิตของไม้ยืนต้นประเภทให้ผล ขณะเดียวกันก็จะแปรรูปผลผลิตในครัวเรือน อาทิ จากกล้วย น้ำเสาวรส น้ำมะพร้าว พันธุ์พืชทุกชนิดที่ปลูกจะขยายพันธุ์ด้วยตนเองโดยไม่ซื้อมาจากแหล่งอื่น
นายจันทร์ที ได้เริ่มดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาตั้งแต่ปี 2540 – 2541 โดยทราบจากสำนักงาน กปร. และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด จึงได้ศึกษาว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างไร ก็ได้รับทราบว่า ต้องพยายามลดรายจ่ายในครอบครัวให้มากที่สุด เมื่อศึกษาแล้วจึงทราบว่าจริงๆ แล้วค่าใช้จ่ายประจำวัน คือ อาหารที่ต้องกินต้องใช้ แล้วมาคิดต่ออีกว่า อาหารที่ต้องซื้อเขากินมีอะไรบ้าง จึงมาเริ่มคุยกันในครอบครัวว่า เราต้องปลูกทุกสิ่งทุกอย่างที่เราซื้อกินทุกวัน ดังนั้นทุกอย่างที่เคยซื้อจะต้องปลูกเองทั้งหมด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากที่วันหนึ่งเคยซื้อ 20 – 30 บาท ก็ไม่ต้องซื้อ และยังมีเงินไว้เก็บออมอีกด้วย
พื้นที่ทั้งหมดของนายจันทร์ที จะปลูกตั้งแต่พืชผักสวนครัว ทุกสิ่งทุกอย่างที่กินและขายได้ นอกจากพืชผักสวนครัวแล้ว ยังมีไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจ ซึ่งที่ปลูกแล้วได้ผลดี และมีพืชที่เป็นที่สนใจของคนทั่วไป คือ ผักหวานป่า เพราะราคาดี และมีคนสนใจมาก ราคากิโลกรัมละ 200 บาท รวมไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจทั้งหมดก็ทำให้มีรายได้ประมาณหมื่นกว่าบาทต่อเดือน หลายๆ คนบอกว่าปลูกป่าไม่ได้ เพราะไม่มีหัวไร่ปลายนา แต่ท่านก็ทำเป็นตัวอย่างโดยใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างที่สุด คือ ปรับคันคูให้ใหญ่แล้วปลูกพืชสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจ หลากหลาย ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมขึ้นมา สร้างป่าขึ้นมา เพื่อเป็นบำนาญชีวิตให้กับลูกกับหลาน เป็นการฝากเงินไว้กับต้นไม้ ฝากเงินไว้กับดิน ลองคิดดูว่าต้นไม้ต้นหนึ่งปีแรกลงทุนไม่ถึง 10 บาท เมื่อผ่านไป 30 ปี แปรรูปต้นเพิ่มมูลค่าเป็นเงินได้หมื่นกว่าบาท คุ้มค่ามาก
นายจันทร์ที ได้ดำเนินกิจกรรมการเกษตรผสมผสาน โดยมีความโดดเด่นในเรื่อง เพาะต้นกล้าผักหวานป่า ที่ไม่ต้องบุกป่าฝ่าดงไปค้นหา เก็บมาขาย แต่ทำการเพาะต้นกล้าผักหวานป่าแล้วปลูกในที่ของตนเอง สามารถจำหน่ายเพิ่มรายได้อีกทาง
มีสิ่งจำเป็นที่ต้องเตรียม ได้แก่ เมล็ดผักหวานป่าที่สุกแล้ว (การเก็บเมล็ดผักหวานป่า สามารถเก็บได้ในช่วงเดือนเมษายน - เดือนพฤษภาคมของทุกปี) ปุ๋ยคอก แกลบดิบ แกลบดำ ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ดินร่วน ถุงเพาะ ขนาด 3×7 นิ้ว และแผ่นผ้ายาง โดยจะต้องเตรียมดินในการเพาะปลูกผักหวานป่า ดังนี้
วิธีการเพาะเมล็ดผักหวานป่า นำเมล็ดผักหวานป่าที่ได้นำมาบีบให้เปลือกแตกออกเหลือแต่แกน นำมาคลุกปูนขาวเพื่อป้องกันเชื้อราและแมลง แล้วจึงนำไปปลูกในถุงเพาะที่เตรียมไว้ โดยวางเมล็ดเพียงครึ่งแกนเมล็ดไม่ต้องกลบให้มิดและรดน้ำ ผักหวานป่าไม่ชอบน้ำขัง และห้ามรดน้ำบริเวณใบ ให้รดน้ำบริเวณราก และไม่ควรใช้สารเคมีใดๆ ทิ้งไว้ 3-7 วัน เมล็ดจะแตกคล้ายถั่วงอก หลังจากนั้นทิ้งไว้ 30-40 วัน เมล็ดถึงจะแทงยอดขึ้นบนดิน ผักหวานป่าเมื่อแตกใบ 4-5 ใบ ก็สามารถขายต้นกล้าได้ โดยจะขายส่งราคา ต้นละ 15 บาท ขายปลีก ต้นละ 20 บาท ผักหวานป่าเมื่อมีอายุ 2-3 ปี ก็สามารถเก็บผลผลิตเพื่อนำมารับประทานหรือจำหน่ายได้แล้ว
หลังจากได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ แล้วประสบผลสำเร็จ ทำให้ที่บ้านจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ และถ่ายทอดความรู้เรื่องทฤษฎีใหม่ของพระองค์ ซึ่งขณะนี้เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ ที่ใช้อบรมให้กับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้หนึ่งในจำนวน 151 ศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศ ผู้ที่เข้าอบรมคือ เกษตรกรที่สนใจในเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ มาอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนแนวความคิด เปลี่ยนจิตสำนึก ให้รู้จักพึ่งตนเอง และพึ่งพากันเองในชุมชนได้
ถ้าเกษตรกรอยากจะลดรายจ่ายในการทำเกษตร ก็ต้องให้ความรู้ในด้านต่างๆ เช่น การขยายพันธุ์พืช เพาะเมล็ด ติดตา ทาบกิ่ง เสียบยอด การขยายเพาะพันธุ์ปลาเลี้ยงเอง และสอนวิธีทำหัวอาหารเลี้ยงปลา ซึ่งจะเป็นการประหยัดและลดรายจ่ายได้เป็นอย่างมาก วัตถุดิบที่ทำหัวอาหารปลาก็มาจากการเกษตรทั้งนั้น เช่น ถั่ว มัน ข้าวโพด ทุกอย่างที่เกษตรกรทำ และอีกส่วนหนึ่งคือสอนการทำปุ๋ยชีวภาพ และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเกษตร หรือเกี่ยวกับการลดรายจ่าย และจากการทำงานเพื่อสังคมที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์จริงที่ได้สั่งสมมานั้น ทำให้นายจันทร์ทีได้รับการยอมรับให้เป็นปราชญ์อีสาน ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้สนใจทั่วไปและในปีหนึ่ง มีผู้เข้ามาเรียนรู้และชื่นชมผลงานของนายจันทร์ที ไม่ต่ำกว่า 2-3 พันคน จากความมุ่งมั่นและจริงใจในการให้ความรู้ เนื่องจากนายจันทร์ทีคิดว่า การที่รู้แล้วไม่ควรเก็บไว้เพียงผู้เดียว ควรถ่ายทอดสิ่งดีๆ ให้กับชุมชน เพราะคิดว่าตนเองเคยตกทุกข์ได้ยากมา จึงรู้ว่า ถ้าเราทำอย่างถูกต้องจะทำให้สำเร็จ ดังนั้นจึงต้องขยายความรู้ให้กับคนอื่นและชุมชนต่อไป
นายจันทร์ที ประทุมภา ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดนครราชสีมา
ท่านที่สนใจอยากจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สามารถติดต่อได้ที่
138 หมู่ที่ 6 บ้านโนนรัง ตำบลตลาดไทร อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา 30270
โทรศัพท์ (089) 948-4737, (081) 074-2843
แม้จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาพืชไร่ จากมหาวิทยาลัยด้านการเกษตรที่ดีแห่งหนึ่งของประเทศ ก็ใช่ว่าจะมาทำการเกษตรแล้วประสบผลสำเร็จกันทุกคน จำต้องมีองค์ความรู้ด้านอื่นๆ มาประกอบด้วย จึงจะสามารถพ้นออกจากวังวนการทำการเกษตรเชิงเดียว เกษตรที่ทำให้มากๆ เพื่อขายให้ได้เงินมากมายตามความคาดหวังในวงการธุรกิจการเกษตร เมื่อใคร่ครวญและถามตัวเองเสมอว่า "อะไรคือความหมายของชีวิต" จึงได้พบทางออก ใช่แล้วเรากำลังกล่าวถึง "ลุงโชค" หรือ โชคดี ปรโลกานนท์ : วิถีวนเกษตรเพื่อชีวิตพอเพียงที่เปี่ยมสุข
นายโชคดี ปรโลกานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2500 จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาพืชไร่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (แม่โจ้รุ่น 45) ทำงานในบทบาทของนักพัฒนาภาคเอกชน (NGO) ร่วมกับ นายนิคม พุทธา เจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่เข้ามาดำเนินงานโครงการพัฒนาชนบท เพื่อการอนุรักษ์ชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยนายโชคดี ปรโลกานนท์ ริเริ่มงานพัฒนาในภาคเอกชน ในบทบาทของนักส่งเสริมการเกษตรของโครงการ และขณะเดียวกันก็ได้ฟื้นฟูที่ดินของตนเอง เพื่อสร้างสวนเกษตรกรรมยั่งยืน ในรูปแบบวนเกษตร โดยได้เรียนรู้มาจาก ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม และปราชญ์ชาวบ้านอีกหลายคน จากโอกาสที่ได้นำพาชาวบ้าน ในโครงการพัฒนาชนบทเพื่อการอนุรักษ์ชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไปเรียนรู้ศึกษาดูงานมานั่นเอง
“ผมชอบการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อแม่เป็นชาวนาชาวไร่ เลยคิดว่าตัวตนของเราน่าจะเป็นเกษตรกร” ‘โชคดี ปรโลกานนท์’ หรือ ‘ลุงโชค’ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2556 และนักอนุรักษ์ผู้มีส่วนพลิกฟื้นพื้นที่สีเขียวบนเขาแผงม้า อำเภอวังน้ำเขียว กว่า 2 หมื่นไร่ เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้หนุ่มชาวพัทลุงคนหนึ่ง เลือกเรียนสาขาพืชไร่ ที่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และจบออกมาโดยไม่คิดทำอาชีพอื่นใด นอกจากมุ่งหน้าเป็นเกษตรกร
31 ปีก่อน ‘โชคดี’ บัณฑิตใหม่ พกความรู้ด้านเกษตรที่ร่ำเรียนมาเต็มอ้อมแขน ลงแรงทำไร่ข้าวโพด ที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา แต่ความรู้ในชั้นเรียนที่สอนให้รู้จักความสำเร็จในอาชีพเกษตรกร โดยวัดเพียงปริมาณผลผลิตและรายได้ที่ได้รับ ทำให้ 5 ปีแรก ในการปลูกข้าวโพดก็ต้องล้มเหลวไม่เป็นท่า ‘ลุงโชค’ เล่าว่า ผลของการเร่งปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้ดินเสื่อมโทรม ยิ่งต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา เงินที่ได้มาก็ยังหมดไปกับการซื้ออาหารและดื่มเหล้าคลายเครียด ทำให้สุขภาพย่ำแย่ ไม่มีความสุขและไม่ร่ำรวยอย่างที่คิดฝัน
“ตอนนั้นเลยหันมาทบทวนตัวเองและปรับวิถีคิดใหม่ โดยพยายามหารูปแบบทางเกษตรที่มีเป้าหมายของชีวิต คือ ความสุข แทนตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ ปรากฏว่าไปตรงกับแนวคิดวนเกษตรของพ่อผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม และตรงกับหลักการทรงงานของในหลวง ที่ต้องพึ่งตนเอง ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผมชอบมากๆ เราต้องพึ่งตนเองโดยเริ่มจากปัจจัยสี่ในการดำรงชีพให้ได้ก่อน ต้องมีอาหารกิน มียา มีที่อยู่อาศัย พอพิจารณาดูแล้วปัจจัยสี่ทั้งหลายก็มาจาก ‘ต้นไม้’ นั่นเอง”
และนั่นเป็นที่มาของ ‘สวนลุงโชค’ สวนวนเกษตร จากน้ำพักน้ำแรงกว่า 24 ปี บนพื้นที่ 100 ไร่ ที่เต็มไปด้วยความเขียวชะอุ่มของพันธุ์ไม้หลากชนิด ทั้งข้าว พืชผักพื้นบ้าน พืชสมุนไพร ไม้ใช้สอย ไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งแม้ไม่ได้ปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อขายโดยเฉพาะ แต่ ‘ลุงโชค’ บอกว่า วนเกษตร ก็สามารถสร้างรายได้อย่างที่ใครคิดไม่ถึง
“การปลูกต้นไม้หลากหลายแบบวนเกษตรไม่ใช่ว่าจะไม่มีรายได้ ปีที่ 2 ของการทำวนเกษตรผมก็เริ่มมีรายได้จากการขายพันธุ์ต้นไม้ ขายผลิตภัณฑ์จากต้นไม้ เช่น ต้นไม้บางชนิดที่มีกลิ่นหอม อย่าง ใบเสน่ห์จันทร์หอม ตะไคร้ ใบมะกรูด ก็เอามากลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหย หรือทำเป็น สเปรย์ไล่ยุง ขาย รายได้อีกส่วนที่หลายคนคิดไม่ถึงคือ การขายใบไม้ ใบไม้หลายชนิดมีรูปทรงแปลกๆ ก็ขายไปทำพวงหรีดงานศพได้ เพราะฉะนั้นใบไม้จึงเป็นที่ต้องการมาก รายได้จากวนเกษตรจึงเป็นการเปลี่ยนคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ให้กลายเป็นมูลค่าขึ้นมา”
เมื่อถามถึงปัญหาความยากจนของอาชีพเกษตรกรไทย ปราชญ์เกษตรของแผ่นดินสาขาเศรษฐกิจพอเพียงแสดงทัศนะว่า เพราะเกษตรกรยุคนี้ไม่ได้ใช้วิถีเกษตรในการดำรงชีวิต เกษตรกรเป็นคนสร้างอาหารแต่กลับไม่มีอาหารไว้กินเอง และต้องพึ่งพาทุกอย่างตามที่ระบบทุน ผ่านกลไกของรัฐจัดหาไว้ให้ ทั้งปัจจัยการผลิต ของกินของใช้
“เกษตรมันไม่ใช่แค่อาชีพ แต่มันใหญ่กว่านั้น มันเป็นวัฒนธรรมและเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ แต่พอเรามองเกษตรเป็นแค่อาชีพ ไปเน้นแต่ตรงรายได้ แต่ไม่เคยคิดเรื่องรายจ่าย จึงสู้เขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องกลับไปใช้วิถีอย่างเดิม คือต้องพอเพียง และพึ่งตนเองให้ได้
ที่ผ่านมาประเทศไทยดีใจว่า เราขายข้าวได้เยอะที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่คนปลูกข้าวกลับจนที่สุดในประเทศ คนที่รวยคือ พ่อค้าส่งออก กับ รัฐมนตรีที่ขายข้าว แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ทำเท่าไหร่ภาคเกษตรก็กลายเป็นเพียงคนงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ในระบบเกษตรพันธะสัญญา ที่ไม่ได้เงินเดือนและสวัสดิการ”
แม้จะเข้าสู่วัยชราอายุเกิน 60 ปี อันเป็นวัยที่สุกงอมทางความคิด และเป็นต้นแบบวิถีเกษตรพอเพียงให้ลูกหลานจำนวนไม่น้อย จนกระทั่งได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดินในปีนี้ แต่ ‘ลุงโชค’ กล่าวว่า แม้แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่า ‘ปราชญ์’ ก็ยังมีเรื่องอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้
“ผมคิดว่าเราต้องรู้ทันทุกมิติ คงไม่ใช่แค่ก้มหน้าก้มตาปลูกต้นไม้ต่อไป คงต้องเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลก และสิ่งที่เราทำมันจะไปตอบโจทย์ได้อย่างไร คงต้องเรียนรู้ตลอดเวลา” ปราชญ์เกษตรผู้ไม่หยุดเรียนรู้กล่าวทิ้งท้าย
...การหมั่นเรียนรู้และทบทวนสิ่งที่ได้กระทำคงเป็นเคล็ดลับความสุขตามวิถีเกษตรในแบบฉบับของเขา ‘โชคดี ปรโลกานนท์’
นายโชคดี ปรโลกานนท์ ในบทบาทของหัวหน้าโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัวฯ ปี พ.ศ. 2537-2539 พื้นที่เขาแผงม้า อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ในจำนวนพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนบริจาคงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันป่ากำลังฟื้นตัว และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของพื้นที่ลุ่มน้ำลำพระเพลิง เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งที่อยู่อาศัยของกระทิง โดยได้ส่งมอบพื้นที่ให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ดูแลพื้นที่เมื่อปี 2540
ช่วงปี พ.ศ. 2540-2543 ได้ทำพื้นที่โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ มูนหลง-มูนสามง่าม ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวนพื้นที่ 10,000 ไร่ ปัจจุบันป่ากำลังฟื้นตัว และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของพื้นที่ลุ่มน้ำมูนตอนบน โดยได้ส่งมอบพื้นที่ให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ดูแลพื้นที่เมื่อปี 2543 หลักคิดในการทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติคือ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ นำหลักการของระบบป่าธรรมชาติ มาใช้สร้างให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ปลูกป่า มีความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และดำรงไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ เป็นแหล่งเก็บรักษาพันธุกรรมท้องถิ่นและ สร้างการเรียนรู้ เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการฟื้นฟูป่า
งานขยายผลเกษตรกรรมยั่งยืน รูปแบบวนเกษตร พ.ศ. 2543-2545 นายโชคดี ปรโลกานนท์ เป็นหัวหน้า โครงการหมู่บ้าน ปตท.พัฒนา โดยนำแนวคิดวนเกษตร ที่ขยายผลมาจาก โครงการพัฒนาชนบทเพื่อการอนุรักษ์ มาขยายผล ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายโครงการหมู่บ้าน ปตท.พัฒนา ใน 3 พื้นที่ คือ พื้นที่ทับลาน จังหวัดนครราชสีมา, พื้นที่แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี, พื้นที่กุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลรักษาป่า และส่งเสริมอาชีพเกษตรพึ่งพาตนเอง ลดการใช้ปัจจัยภายนอก หลีกเลี่ยง และปฏิเสธปุ๋ยเคมี สารเคมีในการเกษตร สร้างการเรียนรู้ สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายชุมชน เกิดกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำมูน
นอกจากนั้น ยังได้เข้าร่วม โครงการอนุรักษ์และวิจัยกระทิงเขาแผงม้า เก็บรวบรวมผลข้อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศโดยรวมของเขาแผงม้า ทั้งสังคมพืชและสังคมสัตว์ โครงการห้องเรียนธรรมชาติ ค่ายเยาวชนกระทิงน้อย นำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากการฟื้นฟูป่าเขาแผงม้า เก็บรวบรวมผลข้อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศโดยรวมของเขาแผงม้า ทั้งสังคมพืชและสังคมสัตว์ จัดกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ในรูปแบบกิจกรรม "ค่ายเยาวชน" ได้มาศึกษาเรียนรู้ เสริมสร้างจิตสำนึกให้สังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
โครงการส่งเสริมเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่ต้นน้ำมูนตอนบน ลำพระเพลิง และโครงการเครือข่ายการเรียนรู้ทางเลือกวิถีชีวิตท้องถิ่นยั่งยืน แนวคิดสร้างหลักสูตรเรียนรู้ท้องถิ่น นำเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นมาเรียนรู้เรื่องเขาแผงม้า เรียนรู้เรื่องวิถีชีวิตในท้องถิ่นทางออกของวิถีชีวิตท้องถิ่นยั่งยืน พ.ศ. 2550 - ปัจจุบัน ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อการอนุรักษ์กระทิง ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในพื้นที่เขาแผงม้า และส่งเสริมการเรียนรู้ท้องถิ่น ในพื้นที่ต้นน้ำมูนตอนบน และส่งเสริมการเรียนรู้โครงการ โรงเรียน บ้านป่า และเครือข่าย โรงเรียนเรารักษ์น้ำแม่มูน
เยี่ยมชม "โรงเรียน ป่า ไผ่" ลุงโชค-โชคดี ปรโลกานนท์
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ซึ่งได้มีการขยายผลองค์ความรู้ไปสู่สมาชิกชุมชนปราชญ์ เกิดเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดทักษะชีวิต และนำวิถีแห่งความพอเพียง มาเป็นเป้าหมาย เป็นหลักคิดแห่งการดำเนินชีวิต เกิดแหล่งเรียนรู้เกษตรกรเพื่อการพึ่งตนเองและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น (สวนลุงโชค) ได้รับการส่งเสริมให้เป็นเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมองค์ความรู้เกษตรกรรม เป็นแหล่งศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงาน แสดงนิทรรศการงานด้านแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป
ท่านที่สนใจอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ ลุงโชค เชิญได้ที่ :
บ้านเลขที่ 14 บ้านคลองทุรียน หมู่ที่ 6 ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา 30370
โทรศัพท์: 084-3554720, 081-7251179, 081-9553018, 091-876-8199
วันนี้มีตัวอย่างดีๆ จากเกษตรกรตัวจริง เสียงจริง มาเล่าสู่กันฟังว่า ถ้าเอาเข้าจริงทำด้วยความรู้ มีสติ คิดพิจารณาก่อนจะลงมือ การเป็นเกษตรกรนั้นแสนจะมั่งมีขนาดไหน รวยทั้งอาหาร รวยเงิน และรวยความสุข นี่คือหนึ่งตัวอย่างดีๆ ที่ทุกคนสามารถเลียนแบบเอาเยี่ยงอย่างได้
คำพันธ์ เหล่าวงษี เป็นชาวอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ชีวิตเคยทำมาหลายอาชีพ ตั้งแต่รับจ้างตามโรงงาน เพราะร่ำเรียนสายอาชีพในแผนกช่างกลโลหะ และเข้ามาทำงานในโรงงานที่กรุงเทพฯ จนได้พบว่า รายได้ในแต่ละเดือนไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่มี จึงหันกลับมาเปิดโรงกลึงที่บ้านเกิด โดยนำที่นาไปจำนองมาเป็นทุน แต่สุดท้ายก็เป็นหนี้สินจนต้องตัดสินใจขายที่นาทั้งหมดเพื่อชำระหนี้
และได้ทบทวนบทเรียนจากประสบการณ์ที่ผ่านมา พร้อมศึกษาแนวพระราชดำริ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้คำพันธ์ หันกลับมาทำการเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ในปี พ.ศ. 2541 โดยดำเนินชีวิตตามหลักความพอประมาณ คือ ทำตามสภาพของตนเอง ทำจากน้อยไปมาก จากง่ายไปยาก พึ่งพาตนเอง เน้นความพอเพียง ใช้เหตุผลในการวางแผนการดำเนินชีวิต โดยพิจารณาตามหลักการว่าจะทำอะไร ช่วงไหน อย่างไร เท่าไหร่ และแบ่งหน้าที่ให้กับสมาชิกในครอบครัว พร้อมทั้งมีการวางแผนรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ทั้งด้านการใช้จ่ายโดยมีการเก็บออม วางแผนด้านการเกษตร โดยคิดหาวิธีกักเก็บน้ำในช่วงแล้ง ปลูกพืชหลายชนิดเพื่อป้องกันความเสี่ยง มีการศึกษาหาความรู้ให้กับตนเองอย่างสม่ำเสมอ
ส่งผลให้ครอบครัวมีอยู่มีกิน พึ่งพาตนเองได้ จากการต้องดิ้นรนออกไปรับจ้างหาเงิน ปรับเปลี่ยนเป็นการสร้างรายได้ให้เกิดในพื้นที่การเกษตรของตนเอง ปลูกพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิดไว้บริโภค แลกเปลี่ยนในชุมชน แจกจ่าย เมื่อเหลือจึงนำไปจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว และทุกคนในครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน ไม่ต้องออกไปดิ้นรนต่างถิ่น ทำให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัว
ผลจากความไม่ย่อท้อในการดำเนินชีวิต ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ช่วง 1-3 ปีแรก ครอบครัวมีความพออยู่พอกินมีผลผลิตเหลือขาย เริ่มมีเงินออม และในปีที่ 6 สามารถชำระหนี้สินได้หมดสิ้น สร้างบ้านอยู่อาศัยได้เพิ่ม อีก 3 ปีต่อมาก็สามารถซื้อที่ทำการเกษตรเพิ่มได้อีก 7 ไร่ และส่งลูกเรียนได้ทุกคน นอกจากนั้น นายคำพันธ์ ยังเป็นผู้มีความซื่อสัตย์ เอื้ออาทร ไม่มัวเมาอบายมุข ประกอบสัมมาอาชีพโดยไม่เบียดเบียนใคร ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คนในชุมชน อุทิศตนในการทำงานให้กับสังคมด้วยการเป็นผู้นำ และผู้ร่วมในการพัฒนาด้านต่างๆ เป็นอาสาสมัครครูบัญชี เป็นศูนย์อบรมผู้มีจิตอาสาพัฒนาสังคมที่ขาดโอกาสในการศึกษาต่อ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
จากวันนั้นถึงปัจจุบันเกือบ 20 ปี ที่ผ่านมา เขาประสบความสำเร็จในการทำการเกษตร จนสามารถปลดหนี้ และสร้างชีวิตใหม่ สร้างครอบครัว จนได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง ทั้งคนในจังหวัด และรวมถึงเป็น "ศูนย์เรียนรู้" ถ่ายทอดความรู้ให้ผู้สนใจทั่วประเทศ จนกระทั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พิจารณาและประกาศคัดเลือกให้ได้รับรางวัล สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2559 และเข้ารับโล่รางวัลพระราชทาน เมื่อวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559
นายคำพันธ์ เป็นผู้คิดค้นผลงานสร้างองค์ความรู้ที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง เช่น ศึกษาและคิดค้น โมเดล 1 งาน 1 แสน โดยผสมผสานกับองค์ความรู้ เทคนิคการทำเกษตรกรรมยั่งยืนแบบผสมผสาน ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นแบบอย่างในการเรียนรู้ ให้แก่เกษตรกรที่ต้องการทำการเกษตรตามหลักการพึ่งพาตนเอง สามารถนำไปปฏิบัติตามได้จริง ศึกษาองค์ความรู้ในการทำนาอินทรีย์ต้นทุนต่ำ ด้วยวิธีการปลูกข้าวแบบต้นเดียว ที่นอกจากจะลดต้นทุนในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตที่ได้ จัดตั้งตลาดชุมชนหรือตลาดสีเขียวแก้ไขปัญหาทางด้านการตลาดให้กับสมาชิกในชุมชน สร้างให้เกิดความร่วมมือของสมาชิกในชุมชน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาผ่านกลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืน โดยให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา เป็นต้น
นายคำพันธ์ ได้ดำเนินกิจกรรมการเกษตรโดยมีความโดดเด่นในเรื่อง การปลูกข้าวอินทรีย์ โดยการนำเอา "ข้าวพันธุ์หอมมะลิแดง พันธุ์หอมนิล พันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ พันธุ์ข้าวเหนียวดำ" ผ่านกระบวนการผลิต แล้วนำมาแปรรูปเป็น ข้าวกล้องและข้าวกล้องงอก โดยกระบวนการผลิตทั้งหมดมีต้นทุนต่ำ เนื่องจากใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปอเทือง การไถกลบตอซัง เพื่อเตรียมความพร้อมของแปลงนา หลังจากนั้นใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพตามช่วงระยะเวลาของต้นข้าว ช่วงหว่านข้าว ช่วงข้าวตั้งท้อง และก่อนการเก็บเกี่ยว สามารถเพิ่มได้ตามความเหมาะสม
ด้านการดูแลรักษาจะเน้นการจัดการระบบน้ำ การควบคุมน้ำในแปลงนาให้เหมาะสมเพื่อป้องกันโรคแมลงศัตรูพืช ส่วนมากไม่ได้รับผลกระทบต่อผลผลิต และเสียหายน้อยเนื่องจากไม่ได้ใช้สารเคมี จึงทำให้ต้านทานโรคได้ ในส่วนของการตลาดจะเป็นการขายตรงสู่ผู้บริโภค ผ่านการขายในตลาดนัดของกลุ่มภายในชุมชน หน่วยงานราชการ และในจังหวัดที่จัดขึ้นเป็นประจำ โดยผลิตภัณฑ์จะเป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้บริโภค ทำให้มีตลาดรองรับที่แน่นอนและสามารถกำหนดราคาได้ เคล็ดลับและข้อแนะนำในการปลูกข้าวอินทรีย์ คือต้องหมั่นปรับปรุงบำรุงดิน ดูแลเอาใจใส่ในการเพิ่มแร่ธาตุอาหารในดินก่อนทำนา และการคัดเมล็ดพันธุ์ควรเป็นพันธุ์แท้ หรือแหล่งจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่เชื่อถือได้ ในการแปรรูปต้องตากข้าวให้แห้งก่อนการจำหน่าย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขึ้นรา
นายคำพันธ์ เล่าว่า เนื่องจากตัวเองมีที่ดินไม่มาก มีพื้นที่ทำการเกษตรเพียง 6 ไร่ เมื่อตัดสินใจทำการเกษตร เขาได้ไปศึกษาการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ก็พบว่า จะต้องเริ่มสร้างความมั่นคงให้ที่ดินที่จะทำการเกษตรเสียก่อน ซึ่งก็คือ แหล่งน้ำ จึงได้เริ่มขุดบ่อน้ำโดยใช้พื้นที่ 2 ไร่ อีก 1 ไร่ ทำที่อยู่อาศัย และอีก 1 ไร่ ปลูกข้าวเพื่อที่จะเป็นแหล่งอาหารของครอบครัวเพื่อลดรายจ่าย และพื้นที่ที่เหลือใช้สำหรับประกอบอาชีพ ที่มีทั้งการปลูกไม้ผล ปศุสัตว์ ประมง และพืชผักสวนครัว
“เหนือบ่อน้ำผมทำเป็น คอกหมู เล้าไก่ เมื่อมันขี้ก็จะลงไปเป็นอาหารปลา มีปลาหลายชนิดและกบ ซึ่งเป็นเงินที่สะสมในธนาคาร จับขายก็ได้เงิน ในพื้นที่บกหรือพื้นที่สวนจะปลูกผัก ไม้ผลหลากหลายชนิดที่เป็นที่ต้องการของตลาดในพื้นที่ เป็นรายได้รายวัน สำหรับมูลสุกรที่ได้มาก็นำไปทำปุ๋ยคอก ทั้งหมดทำให้ผมมีทั้งอาหารที่พอกิน ถ้าเหลือก็นำไปจำหน่าย และที่สำคัญผมได้วัตถุดิบการเกษตรชั้นดีคือ ปุ๋ยคอก ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายในเรื่องปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญเกือบ 20-30% ของสินค้าเกษตรแต่ละตัว”
แต่ที่น่าพิศวง คือ การสร้างรายได้ให้ 1 งาน 1 แสนบาทได้อย่างไร เพราะจากเนื้อที่ทำการเกษตร คิดอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะได้ผลผลิตจำนวนมากและก่อให้เกิดรายได้ขนาดนั้น
นายคำพันธ์ เล่าว่า เดิมนั้นปลูกผัก ปลูกมะนาว มะละกอ ขาย ก็มีรายได้เพียงเลี้ยงครอบครัว จึงมาคิดว่าทำอย่างไรจะต่อยอดสร้างรายได้เพิ่ม จึงไปอบรมการติดตา ตอนกิ่งการทาบกิ่ง ไปเรียนรู้จากศูนย์ถ่ายทอดของกระทรวงเกษตรฯ บ้าง ของปราชญ์ชาวบ้านในที่อื่นๆ บ้าง และกลับมาเริ่มต้นทำใหม่ โดยการหัดพัฒนาสายพันธุ์พืชผลที่ปลูกและมีความถนัด เหตุที่เขาต้องคิดและพัฒนาตัวเองอย่างนั้น เนื่องจากส่วนมากเกษตรกรจะมีที่ดินน้อย และขาดแหล่งน้ำ การที่เขาทำและประสบความสำเร็จ ทำให้กลายเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรด้วยกัน
“ในที่ดินแต่ละ 1 งาน หรือ 100 ตารางวา ผมจะมีการปลูกทั้งผัก ไม้ผล พืชสวนครัว และเลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งไก่ หมู ซึ่งจะคละกันไปทุกอย่างจะปลอดสารพิษ และมีการทำปุ๋ยใช้เอง เพราะฉะนั้นใน 1 งาน ผมจะมีพืชผักสวนครัว กลุ่มพืชเหล่านี้ ผมเรียกว่า เป็นพืชที่สร้างรายได้เข้าบ้านรายวัน ทั้งพริก มะเขือ ผักสวนครัว ที่รองรับตลาดความต้องการในชุมชน โดยเฉพาะมะเขือ ที่ได้มีการพัฒนาจนได้มะเขือยักษ์ เป็นที่ต้องการของตลาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่นิยมนำไปทำซุปมะเขือ เป็นต้น หรือผักทั่วไป คนมาซื้อกันเยอะ เพราะที่สวนผมไม่มีการใช้สารเคมีมาเกือบ 15 ปีแล้ว ส่วนไม้ผล ปลา กบ เป็นเงินสะสมในธนาคาร สิ้นปีหรือผลผลิตออก ผมจะมีเงินก้อนมาเก็บเข้าธนาคาร”
นายคำพันธุ์ เล่าว่า เกษตรกรไทยจำนวนมากเลือกที่จะขายผลผลิต ซึ่งหมายถึงเขาต้องมีที่ดินหลายสิบไร่ ที่จะสามารถขายสินค้า เช่น มะละกอ เป็นร้อยกิโลกรัม หรือข้าวเป็นสิบๆ เกวียน เพื่อจะได้เงินก้อน และแน่นอนว่าต้องใช้เงินมากเพื่อลงทุนใหม่ ทุกครั้งเมื่อเริ่มการผลิต เช่น เริ่มปลูกข้าว เริ่มปลูกมัน เพราะขาดการสร้างธนาคารของครัวเรือน เพราะฉะนั้นทางรอดของเกษตรกรไทย คือ ต้องหัดเรียนรู้และทำมากกว่า 1 อาชีพ
“ต้องทำแบบเกษตรผสมผสาน และยึดเอาแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ มาใช้ในการวางแผนจัดการที่ดิน เอาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในครอบครัว และต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เช่น มะละกอ ผมจะปลูกไม่มาก แต่ทั้งหมดจะเป็นต้นที่ผมคัดพันธุ์พัฒนาพันธุ์เอง แต่ละต้นจะดูแลอย่างดี ให้ออกลูกแล้วไม่เกินต้นละ 5 ลูก เมื่อได้ที่ ผมเก็บเมล็ดมาเพาะต้นขาย ซึ่งทุกคนก็ยอมรับว่ามะละกอสวนผมดี ดังนั้นมะละกอแต่ละลูกของผมจะทำรายได้ให้กับผมไม่น้อยกว่า 1,000 บาท/ลูกจากเพาะเมล็ดไม่ใช่แค่ขายลูกไปกิน”
ไม้ผลที่เลือกมาปลูกนั้น ย้ำว่า ต้องเป็นไม้ที่ตลาดต้องการในพื้นที่ จะได้ไม่เสียเงินค่าขนส่งเพื่อไปขายนอกพื้นที่ เช่น มะรุม ที่เขาขายได้ทั้งฝักสด เมล็ดแห้ง และยังสามารถขายกิ่งพันธุ์ ไม้แต่ละต้นจึงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเขาได้อย่างน่าพอใจ เช่นเดียวกับ มะนาว ที่จะเน้นขายกิ่งพันธุ์มากกว่าขายผล สิ่งเหล่านี้เขาบอกว่าได้มาจากการศึกษาเรียนรู้และเป็นการต่อยอดรายได้
“ไม้ผลผมปลูกประมาณ 30 ชนิด ทุกชนิดผมขายกิ่งพันธุ์ ไม่ได้ขายเป็นผล มะม่วง มะนาว ผมตอนกิ่งขายทั้งหมด เช่น มะนาวแต่ละฤดูสามารถทำรายได้เกือบ 5 หมื่นบาท จากการขายกิ่งพันธุ์เพียงอย่างเดียว ทำให้แต่ละปีเขามีรายได้ จากการทำการเกษตรไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนบาท/ปี”
ในขณะที่แปลงนา นายคำพันธ์ ถือเป็นต้นแบบที่ดีของการลดต้นทุนการผลิต โดยนาที่เขาทำจะเป็นการปลูกแบบข้าวต้นเดียว ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีและลดต้นทุนการผลิตชนิดที่กระทรวงเกษตรฯ ควรจะเอาไปเป็นต้นแบบ
“การทำนามีต้นทุนเพียง 800 บาท/ไร่จากค่าไถ 400 บาท/ไร่ และค่าแรงที่คิดกันเองในครัวเรือน โดยการทำนาจะเริ่มจากการปรุงดิน ที่จะปลูกปุ๋ยพืชสด ที่จะไถกลบ ก่อนที่จะปล่อยน้ำสำหรับหว่านข้าว ซึ่งจะใช้เมล็ดพันธุ์เพียงครึ่งถึง 1 กิโลกรัม/ไร่เท่านั้น จากปกติที่ชาวนาทั่วไปจะใช้ถึง 30-50 กิโลกรัม/ไร่หลังข้าวอายุกล้าได้ 10-12 วัน จะนำมาปักดำกอละ 1 ต้น ด้วยระยะห่าง 40 คูณ 50 เซนติเมตรโดยทุกต้นที่ปักจะต้องมีเมล็ดข้าวติดอยู่เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงต้นกล้า สำหรับปุ๋ยที่ใช้จะเป็นปุ๋ยเมล็ดชีวภาพที่ทำเองและเมื่ออายุข้าว 1 เดือนจะฉีดพ่นด้วยปุ๋ยฮอร์โมนที่หมักเองจากหอยเชอรี่และรกหมู ที่ได้จากคอกหมู และเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็จะใช้แรงงานในครัวเรือน ซึ่งผลผลิตที่ได้มากถึง 760 กิโลกรัม/ไร่”
ทั้งนี้ ข้าวที่ปลูก นายคำพันธ์ บอกว่า เขาเก็บพันธุ์ข้าวไว้เอง จึงเป็นพันธุ์ดี พันธุ์บริสุทธิ์ ซึ่งที่บ้านจะปลูกพันธุ์พื้นเมืองคือ ข้าวหอมนิล 1 ไร่สำหรับบริโภค ส่วนที่ดินอีก 5 ไร่ จะปลูก 3 สายพันธุ์ คือ ข้าวหอมนิล ข้าวหอมใบเตยและข้าวเหนียวสันป่าตอง เพื่อจำหน่าย ซึ่งมีผู้สนใจมารับซื้อถึงแปลง เนื่องจากเป็นข้าวปลอดสารเคมี และในฐานะเป็นอาสาสมัครครูบัญชีมาก่อน สะท้อนให้เห็นว่าเป็นคนที่มีวินัยทางการเงินระดับหนึ่งทีเดียว
วิถีไทย วิถีพอเพียง - คำพันธ์ เหล่าวงษี
นายคำพันธ์ เล่าว่า สิ่งที่ได้จากการเป็นเกษตรกร คือ 1. มีกินแน่นอน จากผลผลิตจากสวนเกษตร 2. มีรายได้ทุกวันจากการขายผลผลิต และ 3.มีความมั่นคงในอาชีพหากคนยังต้องกินต้องใช้สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพจะขายได้แน่นอน นายคำพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า
การทำเศรษฐกิจพอเพียง ไม่มีวันจน ผมพิสูจน์และทำสำเร็จมาแล้ว ”
ท่านที่สนใจอยากไปเยี่ยมชม ปรึกษาในเรื่องการทำเกษตรแบบพอเพียง ติดต่อที่
นายคำพันธ์ เหล่าวงษี
บ้านเลขที่ 43 หมู่ที่ 2 บ้านดอนแดง ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม 44150
โทรศัพท์ 089-618-4075, 061-582-2235
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)