คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
พ่อทัศน์ กระยอม เกิดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2471 เกิดที่บ้านโคกใหญ่ อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น เกิดมาไม่ได้ใช้นามสกุล “สุมัง” ตามพ่อแม่ เนื่องจากพ่อเป็นนักเลง ท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ กว่าจะพบกันก็ตอนแก่ ตอนเด็กๆ จึงต้องอยู่กับตาและยาย และใช้นามสกุล “กระยอม” ตามนามสกุลของตา
ตอนเด็กๆ เป็นคนมีอุปนิสัยหนีคน และไปบวชเณรตั้งแต่อายุ 7 ปี จนสอบได้นักธรรมตรี เมื่ออายุ 11 ปี ได้สึกออกมาเรียนต่อจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วสืบทอดวิชาหมอยา และหมอธรรมจากคุณตา แล้วอาศัยความรู้ทางยาและทางธรรมะ ขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากของคนจนในหมู่บ้าน เป็นที่เคารพยกย่องของคนในหมู่บ้าน ได้แต่งงานกับแม่ม่งจนมีลูกชายด้วยกันห้าคน ต่อมาภรรยาคนแรกเสียชีวิต จึงได้แต่งงานกับภรรยาคนใหม่กินอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข และมีลูกสาวด้วยกันอีก 5 คน
25 มิถุนายน 2510 พ่อทัศน์ได้พาชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ติดกับโสกน้ำขาว และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านโสกน้ำขาว ตำบลก้านเหลือง อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น ด้วยความที่เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต มีวิชาความรู้ด้านหยูกยา และธรรมะ ในการช่วยเหลือผู้คน ทำให้ชาวบ้านศรัทธา และพร้อมใจกันตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน และได้พาชาวบ้านพัฒนาบ้านเมือง เช่น ตัดถนนหนทาง โดยไม่ได้ใช้งบประมาณจนชาวบ้านรักใคร่ ยามใดที่เดินผ่านพ่อทัศน์เมื่อกำลังเกี่ยวข้าวจะมาช่วยทันที โดยไม่ต้องเอ่ยปากขอ หรือจ้างวาน
หลังจากเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ 5-6 เดือน มีเจ้านายจากอำเภอหลายคนเข้าไปตรวจเยี่ยมท้องที่ เจ้านายบอกให้หาเหล้ามาให้กิน และสั่งให้นั่งดื่มเป็นเพื่อน พ่อทัศน์ก็ปฏิเสธโดยอ้างว่า เป็นหมอธรรม ต้องรักษาศีล ดื่มเหล้าไม่ได้ เจ้านายบอกว่าไม่เป็นไร นิมนต์หมอในใจไปนั่งรอข้างวงเหล้าก่อน แล้วค่อยนิมนต์มาเข้าตัวใหม่ก็ได้
ด้วยความกลัวร่วมกับความไม่รู้ว่า เจ้านายจะว่าอย่างไร? หรือจะมีอันตราย หรือเปล่าทั้งต่อตนเอง ครอบครัวและคนในชุมชน ทำให้พ่อทัศน์ไม่กล้าขัดคำชักชวนของเจ้านาย เริ่มดื่มเหล้าจนติด เสื่อมลงเรื่อย ๆ เสียผู้เสียคนจนชาวบ้านเรียกว่า "ผู้ใหญ่ขี้เหล้า" เพราะติดเหล้า ไม่มีใครมาช่วยงานพ่อทัศน์อีกต่อไป
ความเสื่อมของสังคมเริ่มครอบงำ เมื่อพ่อทัศน์กลายเป็นผู้ใหญ่บ้านขี้เหล้า ที่กินเหล้าตามเจ้านายทุกครั้งที่เข้ามาตรวจหมู่บ้าน นอกจากเจ้านายแล้ว ลูกยุของเพื่อนๆ (ขี้เหล้า) ทำให้ตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่ จากผู้ใหญ่บ้านไปลงสมัครเป็นกำนัน 2 ครั้ง หมดนาไป 2-3 ทุ่ง ความล้มเหลวทำให้เป็นหนี้ จึงไปทำไร่ข้าวโพดที่อื่น 2 ปี
ปี 2513 ในแผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 3 และ 4 พ่อทัศน์ได้พาตนเอง ครอบครัว และชุมชน ไปสู่บ่วงกรรมของหนี้สิน ด้วยการกู้เงิน ธกส. การขาดข้อมูล ขากการคิดวิเคราะห์ และเกิดความโลภ ทำให้นำเงินกู้ ธกส. มาใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายผิดวัตถุประสงค์ ทำให้จ่ายหนี้และดอกเบี้ยคืนไม่ได้ เป็นผลให้ลำบากมาก ยากจนข้นแค้น บางปีต้องไปขอทานข้าวมากิน
ชาวบ้านพากันทำบัญชีหางว่าว เรียกร้องให้ผู้ใหญ่บ้านกลับมาอยู่ในบ้านของตนเอง เมื่อกลับมาอีกครั้ง ได้คิดทบทวนเรื่องทั้งหมดที่ผ่านมาให้เชื่อมโยงกัน จึงคิดได้ว่า ตนเองเสียคนเพราะคนอื่นไปเชื่อคนภายนอก ละเมิดศีลธรรม ตั้งแต่วันนั้นจึงหยุดดื่มเหล้า ตั้งอกตั้งใจทำงานช่วยเหลือประชาชน พาชุมชมรวมกลุ่ม และเรียนรู้ในการดำเนินกิจกรรมธนาคารข้าว ทำโอ่งน้ำ ทำส้วม ออมทรัพย์ เป็นต้น จนได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านดีเด่น ได้รับการสนับสนุนให้ไปดูงานต่างประเทศ
จากประสบการณ์เป็นบทเรียน พ่อทัศน์ กระยอม จึงเปลี่ยนความคิดตนเอง โดยยึดหลักธรรมะ หลักอิทธิบาท 4 และหลักอัตตาหิ อัตตโน นาโถ "เลิกเชื่อคนอื่น หันมาเชื่อภูมิปัญญาชาวบ้าน" ลงมือทำการเกษตรแบบผสมผสาน ขุดสระน้ำ ปลูกกล้วยเป็นหลัก ปลูกไม้ผล และเลี้ยงสัตว์ รู้จักออม "ไม่ประมาทว่าเงินน้อย ไม่คอยแต่วาสนา" ให้ถือหลัก 5 พระองค์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระมหากษัตริย์ และ พยายาม
วิ่งตามเงิน เดินเข้ากองไฟ วิ่งตามธรรมะ เย็นฉ่ำชื่นใจ "
เมื่อมองดูแผนพัฒนาประเทศตั้งแต่ฉบับที่ 1 ถึง 7 ที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง และประสบความสำเร็จในการหลอกล่อให้คนอยากได้เงินเร็วๆ มากๆ และง่ายๆ พ่อแม่สมัยก่อนจะสอนให้ลูกหาอยู่หากิน เช้าขึ้นมาต้องไปไร่ไปนาหาผักหาปลา แต่ทุกวันนี้สอนให้ไปหาเงิน ตื่นเช้าขึ้นมาจึงนั่งรถซื้อของที่เอามาขายในหมู่บ้าน
อยากแต่จะไปแสวงโชคในกรุงเทพฯ ทิ้งลูกไว้ให้อยู่กับปู่ย่า-ตายาย คนที่อยู่บ้านก็ไม่ได้ตั้งใจอบรมสั่งสอนลูกหลาน ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูที่โรงเรียน พอลูกโตก็ให้ลูกไปเป็นกรรมกรในเมือง วนเวียนกันอยู่แบบนี้ วิถีชีวิตแบบนี้อทำให้ครอบครัวแตกกระจาย ชุมชนล่มสลาย ลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเอง ละเมิดศีลธรรม และทะเลาะวิวาทกันเป็นประจำ
ปี 2532 พ่อทัศน์ และครอบครัวจึงเริ่มออกมาอยู่นา เพราะอยู่บ้านถูกชวนออกไปทำเรื่องอื่นหมดเวลาไปวันๆ การไปอยู่นาทำให้มีเวลามากขึ้นในการเรียนรู้จากธรรมชาติ เริ่มขุดสระด้วยมือ เพื่อกักเก็บน้ำ ผ่านไป 2-3 เดือน เริ่มกักเก็บน้ำได้เมื่อมีน้ำจึงเริ่มปลูกกล้วย 30 กอ ค่อยเป็นค่อยไป เรียนรู้จนเข้าใจแล้วเริ่มปลูกต้นไม้ และเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่กินได้ใช้ได้ แจกญาติพี่น้องได้ เหลือกินเหลือแจกก็ขายไปผสมผสานกัน พ่อทัศน์บอกว่า ที่ต้องปลูกกล้วยก่อน เพราะกล้วยเป็นต้นไม้ยืนต้น เมื่อโตขึ้นสามารถย้ายกล้วยไปปลูกที่อื่น ซึ่งนอกจากจะป้องกันโรคแล้วยังให้ผลผลิตระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ไม่ต้องลงทุน สามารถใช้หน่อขยายพันธุ์ได้ ระหว่างต้นกล้วยเสริมด้วยขิง ข่า ตะไคร้ พืชผักผลไม้ระยะสั้นๆ นับร้อยนับพันชนิด รวมทั้งปลูกไม้ยืนต้นหลากหลายพันธุ์ เช่น ขี้เหล็ก สะเดา ผักติ้ว กะท้อน ขนุน มะขาม ประดู่ มะค่า แดง จิก เป็นต้น
ค่อยๆ ถอยห่างออกจากพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าว ปอ มัน การวิ่งตามธรรมะ หรือธรรมชาติทำให้เกิดปัญหาและความสุขอย่างมาก ทั้งหมดเป็นทั้งไม้ยืนต้น ผักผลไม้ และไม้สำหรับใช้สอย นับได้เกือบ 60 ชนิดในผืนดิน 12 ไร่ "ทำไว้กิน เหลือกินแจก เหลือแจกขาย" เป็นข้อคิดที่พ่อทัศน์ฝากไว้ ผืนดิน 1 ไร่ สำหรับพ่อทัศน์จึงไม่ได้มีความหมายเพียงพื้นดิน 1,600 ตารางเมตร
พ่อทัศน์ กระยอม ได้ทดลองปลูกกล้วยจนมั่นใจ และฟันธงวิเคราะห์ให้ฟังถึงผลดีด้านเศรษฐกิจว่า "ลองปลูกกล้วยระยะห่าง 4 เมตร 1 ไร่ จะปลูกกล้วยได้ถึง 100 กอ พอเข้าปีที่ 2 กล้วย 1 กอ จะออกเครือได้อย่างน้อย 3 เครือ ไร่หนึ่งๆ จะมีกล้วยไม่น้อยกว่า 5 หวี ก็จะได้กล้วยไร่ละไม่น้อยกว่า 1,500 หวี หากขายได้หวีละ 5 บาท ก็จะได้เนื้อกล้วยถึงไร่ละ 7,500 บาท ซึ่งยังไม่รวมใบกล้วย ปลีกล้วย และหน่อกล้วย
อย่างไรก็ตาม หากปลูกกล้วยทั่วประเทศอย่างเดียวจำนวนมากๆ ก็จะเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดอีก จึงต้องเสริม ขิง ข่า ตะไคร้ และพืชผักผลไม้ระยะสั้นๆ รอบต้นกล้วยนับร้อยนับพันชนิด รวมทั้งระหว่างกล้วยแต่ละต้นหาไม้ยืนต้นที่หลากหลายทั้งผัก เช่น ขี้เหล็ก สะเดา ผักติ้ว ไม้ยืนต้นที่เป็นผลไม้ เช่น กะท้อน ขนุน มะขาม และไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ใช้สอย เช่น ประดู่ มาคร่า แดง จิก กุง เป็นต้น สลับกันจะได้กล้วย 100 ต้น และต้นไม้ใหญ่ถึง 100 ต้นต่อไร่
เมื่อต้นไม้ยืนต้นโตขึ้นก็สามารถย้ายกล้วยไปปลูกที่อื่น การทำเช่นนี้นอกจากป้องกันโรคได้แล้ว ยังช่วยให้ได้ผลผลิตระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ไม่ต้องลงทุนเพาะพันธุ์กล้วย พันธุ์ต้นไม้ยืนต้นก็มีอยู่แล้วในพื้นที่ สามารถเอาหน่อ เอาเมล็ดพันธุ์จากไม้ยืนต้นที่แม่พันธุ์สวยและแข็งแรงมาเพาะกล้าไม้ไปปลูก ทำให้ไม่เสียเงินซื้อพันธุ์ไม้ เหลือขายก็ใช้วิธีเอาพันธุ์ดีมาต่อกิ่งหรือติดตาหรือเปลี่ยนยอดกับต้นตอ ในที่สุดก็ได้ผลผลิตพันธุ์ดีไว้รับประทาน เหลือขายรวมทั้งได้เนื้อไม้เป็นบำนาญชีวิตในระยะยาว"
ปราชญ์ชาวบ้าน - พ่อทัศน์ กระยอม 1
ปราชญ์ชาวบ้าน - พ่อทัศน์ กระยอม 2
"แผน ปราชญ์ชาวบ้านแห่งลุ่มน้ำสงคราม" ผู้นำหลักกสิกรรมธรรมชาติ และหลักเศรษฐกิจพอเพียง สู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างพื้นที่ภาคอีสานให้อุดมสมบูรณ์เป็นดินแดนสุวรรณภูมิ เขาเป็นหนึ่งใน "เจ็ดประจัญบาน" และ "หนึ่งโหลโสถิ่ม" (12 เดนตาย) ผู้นำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนด้วยศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอีสาน โดยมีความตั้งใจสูงสุดที่จะเห็นเกษตรกรนำหลัก 4 พอ คือ "พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น" ไปพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ
นายปริญญา นาเมืองรักษ์ หรือ แผน ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนร้อยเอ็ด ก่อนจะย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ลุ่มน้ำสงคราม จึงเป็นที่ที่เขาเกิดและเติบโต เมื่อจบการศึกษาระดับ ปวช. ด้านการบัญชี ได้เดินทางไปทำงานเป็น "ผู้ใช้แรงงาน" ที่ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ตามกระแสนิยม ระหว่างปี พ.ศ. 2530 - 2535 และเมื่อเดินทางกลับมาเมืองไทย แผนได้ไปทำงานประจำที่กรุงเทพฯ จนถึงปี พ.ศ. 2540
แต่เพราะทางบ้านประสบปัญหาภาระหนี้สิน ประกอบกับเพิ่งมีบุตรคนแรก เขาอยากเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง และเพราะเขาเห็นคุณค่าของผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทย ที่มีทั้งแสงแดด อากาศ ดิน น้ำ และป่า ต่างจากซาอุดีอาระเบีย ที่เคยไปแสวงโชคที่มีแต่ทะเลทรายและลมแล้ง เขาจึงมุ่งมั่นที่จะนำพาชาวอีสานให้รักษาผืนแผ่นดินไว้ให้ได้ แม้ว่าคนส่วนมากจะมองว่าอีสานแล้ง แต่ในสายตาของเขาอีสานนั้นร่ำรวยทั้งวัฒนธรรม ประเพณี น้ำใจ และทรัพย์ในดินเพียงแต่จะต้องมองและแก้ปัญหาให้ตรงจุด
หลังจากกลับไปตั้งรกรากที่บ้านเกิดที่ จังหวัดสกลนคร แผนเข้าร่วมโครงการ "ทายาทรับภาระหนี้แทน" กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการเกษตรผสมผสานไทย-เบลเยี่ยม อันเป็นโอกาสที่ทำให้แผนได้พบกับ อาจารย์ปัญญา ปุลิเวคินทร์ หัวหน้าศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งในขณะนั้นทำงานอยู่กับ ธ.ก.ส. แผนจึงได้แนวคิดในการทำการเกษตรผสมผสาน ทั้งปลูกพืช ประมง และเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อลดต้นทุน แต่ยังไม่สามารถสร้างรายได้ แม้ว่าเกษตรกรมีความสามารถในการผลิต แต่มีต้นทุนการผลิตทั้งเรื่องเมล็ดพันธุ์และอาหาร อีกทั้งการตลาดที่ไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ เกษตรกรจึงยังคงมีหนี้สินอยู่
ปี พ.ศ. 2546 โครงการเกษตรผสมผสานจบ กลุ่มคนที่เข้าร่วมโครงการใน จังหวัดสกลนครมี 18 อำเภอ จึงมารวมกลุ่มกันตั้ง "โรงเรียนชาวนา" ขึ้นมาในแต่ละอำเภอ โดยอำเภอสว่างแดนดินมีแผนเป็นคนรับผิดชอบ ได้ทำขั้นตอนกระบวนการลดต้นทุนในการทำนา ตั้งแต่การเก็บเมล็ดพันธุ์ การเตรียมแปลง การตกกล้า การปักดำ การสำรวจระบบนิเวศ ข้าวแตกกอ ข้าวตั้งท้อง การเก็บเกี่ยว ครบทุกกระบวนการในการทำนา ทำไป 2 ปี นำองค์ความรู้ทั้งหมดมาตกผลึก สรุปเป็นปฏิทินงาน เพื่อที่จะให้เกษตรกรทำตามและเกิดความผูกพันกับแปลงนาของตัวเอง
ปี พ.ศ. 2548 กลุ่มโรงเรียนชาวนาได้รับการพัฒนาขึ้นเป็น "ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ฅน ฮัก ถิ่น" ใช้แนวคิด สร้างงาน ประสานวิชา พัฒนาอาชีพ มาเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนกลุ่ม โดยใช้ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าของตัวเอง ไม่ละทิ้งถิ่นฐาน รบด้วยปัญญา ชนะด้วยความรู้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ อาจารย์ปัญญา ลาออกไปทำงานที่ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จังหวัดนครนายก "ฅน ฮัก ถิ่น" จึงไปช่วยงาน อาจารย์ปัญญา 2 ปี และได้ไปเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่นั่น
แต่ก่อนทำเรื่องเกษตรผสมผสาน ปลูกพืช ประมง เลี้ยงสัตว์ ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก็รู้แต่หลักการ แต่ไม่รู้วิธีปฏิบัติ ฉะนั้นในปี พ.ศ. 2555 อาจารย์ปัญญาจึงพาแผนและเครือข่ายไปเรียนรู้อย่างลึกซึ้งกับ อ.ยักษ์ - ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ที่ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ซึ่งนอกจากได้เรียนรู้เรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชาแล้ว ยังได้เรียนรู้การนำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน คือ เรื่องบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียงด้วย
เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐานหัวใจหลักประกอบด้วย 4 พอ คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น ก็เริ่มเอามาใช้ในพื้นที่ของตนเอง และในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ "ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ฅน ฮัก ถิ่น" พื้นที่ 50 ไร่ จากที่เคยทำเกษตรผสมผสานมาปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยปลูกตามแนวเขตสวนยางพารา และทั้งแนวเขตที่นา ปลูกแทรกในสวนยางพารา และปลูกเป็นป่าต้นน้ำ ตรงกลางทำหนองน้ำ ทำโคกกลางหนอง หัวคันนาทองคำ ธนาคารอาหาร หลุมพอเพียง สุดท้ายก็คือ แปลงนา ในเมื่อเรามีอยู่ มีกิน มีใช้ มีความร่มเย็น ก็จะเกิดความมั่งคั่งในเรื่องของอาหาร มั่งคั่งในเรื่องของญาติมิตร จากเดิมที่พื้นที่ไม่มีอะไร ก็เริ่มมีคนอยากเข้ามาศึกษามาเรียนรู้ในส่วนที่โครงการดำเนินการ เกิดความมั่งคั่งยั่งยืนในชีวิตประจำวัน
หลังจากแผนและเครือข่ายได้ทุ่มเทและบากบั่น นำเอาศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ลงสู่การปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง จนเกิดผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ เขาก็รับเป็นวิทยากร ทั้งสอนและฝึกอบอบรมชาวบ้านให้พัฒนาอาชีพ สร้างงานและรายได้จากทรัพยากรของตัวเอง การรณรงค์อีสานเขียว เพื่อให้อีสานอุดมสมบูรณ์เป็นดินแดนสุวรรณภูมิ
“เมื่อก่อนเกษตรกรบอกมันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำปุ๋ยชีวภาพใช้เอง เพราะเชื่อว่าถ้าไม่ใส่ปุ๋ยเคมีจะไม่ได้ผลผลิต แต่ กลุ่ม ฅน ฮัก ถิ่น ของเราพยายามโน้มน้าวให้ชาวบ้านเห็นว่า สมัยปู่ย่าตายายปุ๋ยหรือสารเคมียังไม่มี เกษตรกรแค่เอามูลสัตว์ที่เลี้ยงไปใส่ในแปลงเกษตร ก็ยังได้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ เราจึงรณรงค์แนวทางอีสานเขียว คือ การทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางอาจารย์ยักษ์สอน คือ ต้องทำให้เห็นตำตาว่าทำได้และสำเร็จ ซึ่งเครือข่ายเราก็ทำจนมีต้นแบบความสำเร็จเยอะมาก นอกจากนี้ ยังนำภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมของคนอีสานมาเผยแพร่ ให้กับเกษตรกรได้ใช้แปรรูปและถนอมอาหาร เพื่อสะสมไว้กินใช้ได้ข้ามปี เช่น ทำน้ำปลา ทำปลาร้า แจ่วบอง ฯลฯ” แผนกล่าวอย่างภูมิใจ
“แผน” เข้าร่วมกิจกรรมกับโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ตั้งแต่ปี 1 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมี บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (สจล.) เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนโครงการ นอกจากนั้นเมื่อกลางปีที่ผ่านมา แผนในฐานะประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติภาคอีสาน ก็เป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนอีกหนึ่งโครงการ คือ “ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ” ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง เชฟรอนประเทศไทย และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ที่เน้นการอบรมและสร้างครูพาทำ ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัดในลุ่มน้ำป่าสัก แผนและพี่น้องเครือข่ายภาคอีสาน จึงเป็นเหมือนเจ้าบ้านในการจัดงานกิจกรรม “แตกตัวทั่วไทย สานพลังสามัคคี” ที่ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย
“เครือข่ายกสิกรรมฯ ที่ผมดูแลอยู่คือทั้ง 20 จังหวัดของภาคอีสาน ที่ใกล้ชิดมากหน่อยจะเป็น ลุ่มน้ำสงคราม และลุ่มน้ำก่ำ ที่ครอบคลุม บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม ซึ่งลุ่มน้ำนี้มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี จนกลายเป็นความเคยชินของชาวบ้าน เมื่อปี 2556 น้ำท่วมใหญ่ทางลุ่มน้ำแถบนี้ ชาวบ้านก็อยากได้ทางออกที่ยั่งยืน ผมชวนให้ไปทำกิจกรรมกับโครงการรวมพลังตามรอยพ่อฯ ให้พี่น้องได้เห็นตัวอย่างจากแปลงอื่นในลุ่มน้ำป่าสัก ได้เรียนรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมของเราเอง ก็กลับมาอบรมจัด ‘ปราชญ์ชาวบ้าน’ ของกระทรวงเกษตรฯ โดยผมใช้หลักสูตรกสิกรรมธรรมชาติของอาจารย์ยักษ์
มีบางคนที่ลงมือทำจริงก็ได้กลับมาช่วยเป็นครู และเวลามีกิจกรรมของโครงการรวมพลังตามรอยพ่อฯ ก็จะไปเข้าร่วมด้วยเสมอตลอด 7 ปี โดยเฉพาะปีนี้ที่เราเป็นเจ้าบ้าน ก็ช่วยกันเตรียมงานล่วงหน้าจนถึงเก็บงานตามหลัง วันนี้ผมได้คนมีใจที่มีความพร้อมใหม่เพิ่มขึ้นอีก 55 คน และอีกใน 12 กลุ่มอำเภอ เข้าร่วมเป็นเครือข่ายฟื้นฟูลุ่มน้ำสงคราม-ลุ่มน้ำก่ำ ทั้งหมดผ่านการอบรมหลักสูตรกสิกรรม 3 วัน 2 คืนแล้ว แต่ยังไม่ได้ขุดปรับพื้นที่ ตอนนี้เราเริ่มหมุนเวียนเอามื้อเดือนละครั้ง ทำงานเตรียมความพร้อม และทุกวันอาทิตย์ คนที่อยากให้ครอบครัวเข้าใจหรืออยากได้ความรู้เพิ่มก็จะพา ลูก-เมีย มาเรียนเพิ่ม คาดว่าหลังฤดูเก็บเกี่ยวต้นปีหน้านี้ เราจะสามารถเริ่มปรับพื้นที่บางแปลงได้อย่างน้อย 10 แปลง เพื่อสร้างต้นแบบตัวอย่างความสำเร็จของลุ่มน้ำนี้ให้ได้เร็วที่สุด”
ปริญญา นาเมืองรักษ์ - Inspired by the King
“ความคาดหวังของผม คือ อยากให้คนอีสานและทายาทเกษตรมองเห็นสิ่งดีๆ ที่บรรพบุรุษให้มา ทั้งวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติที่มี เอาสิ่งเหล่านี้มาถอดบทเรียน แล้วจะเห็นว่าคนอีสานไม่จนแล้ว จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งอีสานด้วย หากนำความรู้ที่ได้มาจากที่อื่นกลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ทุกคนต้องกลับมาที่บ้านของตัวเอง มาเป็น ฅน ฮัก ถิ่น มารักษามรดกทรัพยากรที่ปู่ย่าตายายรักษาไว้ให้ ผมเชื่อว่าองค์ความรู้เหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องของศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น จะสามารถแก้ปัญหาและพัฒนาถิ่นฐานอีสานให้มีความอุดมสมบูรณ์สมกับคำว่า ดินแดนสุวรรณภูมิ”
นายเลี่ยม บุตรจันทา หรือพ่อเลี่ยม ถือเป็นผู้รู้ด้านเกษตรที่คนทั่วไปรู้จักกันดีมากที่สุดคนหนึ่ง เกิดเมื่อวันจันทร์ ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 ที่อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ จบการศึกษาผู้ใหญ่ระดับ 4 จากโรงเรียนวัดใหญ่ชัยมงคล อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ และนักธรรมเอก เป็นชาวอีสาน มีอาชีพปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง ทำมานานตั้งแต่เด็ก จนหนี้สินพอกพูน
เนื่องจาก เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียงปีละ 1 ครั้ง แต่ค่าใช้จ่ายมีอยู่ทุกวัน จนทะเลาะกับสมาชิกในครอบครัว เนื่องจากปัญหาหนี้สิน สุดท้ายก็หาทางออกด้วยการกินเหล้า เผาความกลัดกลุ้ม ประกอบอาชีพแล้วมีรายได้ไม่พอกับหนี้สิน ธรรมดามีหนี้เพราะการประกอบอาชีพอย่างเดียวก็พอทน แต่หนี้ที่เกิดขึ้นเพราะอบายมุข ทั้งสิ้น ทั้งกินเหล้า เล่นหวย เล่นโป สารพัด โดนยายตุ๋ย (ภรรยา) ด่าทุกวัน เมียด่าก็กินเหล้า สุขภาพแย่ เมียด่ามากๆ เข้าก็ขายที่ใช้หนี้
เมื่อปี 2529 ได้ตัดสินใจขายที่ดิน เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ทั้งหมด เหลือเงินจากการใช้หนี้จำนวน 1 แสนบาท จึงอพยพมาอยู่บ้านนาอีสาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมนางสมบูรณ์ บุตรจันทา ภรรยา และลูกอีก 1 คน และซื้อที่ดิน 1 แปลง จำนวน 50 ไร่ พร้อมแผ้วถางป่าจนเป็นพื้นที่โล่ง โดยประกาศจะไม่ปลูกมันและอ้อยอีกต่อไป
ทีแรกก็ไปถางป่า ปลูกข้าว ปลูกผัก ทำอยู่ 1 – 2 ปี ติดเขตเขาฉกรรจ์ ต่อมาได้รับคัดเลือกเข้ามาทำกินในที่ ส.ป.ก. เมื่อปี 2534 แต่สุดท้ายคู่ชีวิต ก็ชักชวนปลูกข้าวโพด เพราะเห็นพี่น้องปลูกข้าวโพด ก็เลยทดลองปลูกบ้าง ปลูกไปไม่นานก็ขาดทุนเหมือนเดิม ปัญหาหนี้สินก็ตามมา
จึงนำเงินที่เหลือมาลงทุน แต่ก็ขายได้ปีละ 1 ครั้งเหมือนเดิม จากนั้นก็นำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายเพื่อให้ครบปี สุดท้ายก็กลายเป็นหนี้สินอีกเช่นเดิม และปี 2536 ยอดหนี้ก็เพิ่มจำนวนมหาศาล สุดท้ายก็กินเหล้า และเมาเหมือนเดิม
ชีวิตมีแต่เรื่องเมา ทะเลาะกับครอบครัวทุกวัน สุดท้ายได้ไปเรียนรู้ข้างนอก มีคนไปชวนให้เข้าอบรมกับ ตชด. อยากไปอบรมมาก เพราะคิดว่า "ถ้าได้ไปอบรมจะห่างเมียและมีเหล้ากินนอกบ้าน" วันที่ไปอบรมได้แนวคิดจากผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ซึ่งเป็นวิทยากร ผู้ใหญ่ได้เล่าประสบการณ์ พร้อมแนวคิดเชิงดูถูกว่า "เกษตรกรไม่รู้จักตนเอง" พ่อเลี่ยมเถียงในใจว่า "ทำไมจะไม่รู้จักตัวเอง อาทิตย์ละ 3 – 4 วันเมียก็ด่าให้รู้ตลอด"
แต่ผู้ใหญ่วิบูลย์บอกว่า "การที่จะรู้จักตัวเองต้องมีเครื่องมือ คือต้องทำบัญชี" ตอนไปอบรม ไม่ได้กินเหล้าอย่างที่คิด ต้องงดเหล้า 2 – 3 วัน เมื่อเลิกสัมมนากลับมาบ้านเริ่มมีไฟในตัวเอง ก็เริ่มทำบัญชี ขอสมุดจากลูกชายมาตีเส้นทำแบบบัญชีเอง เกือบจะไม่ได้ทำต่ออยู่แล้ว เพราะถามลูกชายว่า "แม่ให้เงินไปโรงเรียนใช้จ่ายอะไรบ้าง และถามยายตุ๋ยเมียรักว่าใช้จ่ายอะไร" แต่ก็โดนยายตุ๋ยด่าหาว่าไม่ไว้ใจ ก็ถามค่าใช้จ่ายยายตุ๋ยอยู่ประมาณ 1 อาทิตย์ ยายตุ๋ยก็ด่าทุกวันเหมือนกัน
BCC CHANNEL ฅน พอ ดี ตอน สวนออนซอนพ่อเลี่ยม
พอหลังจากนั้น เมียด่าอยู่สักอาทิตย์ ในที่สุดก็เลิกด่า เพราะถามทุกวัน และลงบัญชีทุกวัน พอต้นปี 2539 ได้สรุปบัญชีรับจ่ายในครัวเรือน และก็เรียกยายตุ๋ย พร้อมลูกชายทั้ง 2 มานั่งคุยกัน พอยายตุ๋ยเห็นบัญชีหันมาบอกเลยว่า "ถ้าแกเลิกเหล้าได้ก็จะมีเงินถึง 40,000 กว่าบาทใช้หนี้ ธกส." พอหันมาอ่านบัญชีของแม่บ้าน แม่บ้านก็ด่าอีก บอกว่า "สิ่งที่เขาซื้อไป 20,000 บาทนั้นใช้ในครอบครัวซึ่งดีกว่าที่พ่อเลี่ยมหมดไปกับการกินเหล้า เล่นโป" สุดท้ายยายตุ๋ยก็ถามว่า "จะอยู่กับเมียก็ให้เลิกอบายมุข หรือถ้าจะเลือกอบายมุขต้องก็เลิกกับเมีย"
ตอนนั้นชีวิตไม่รู้ว่าจะเลือกอะไร "จะเลิกอบายมุขก็เสียดาย จะเลิกกับเมียก็ไม่ได้" ก็ลองหันไปเห็นลูกชาย 2 คน ถามลูกว่า "เลือกใครระหว่างพ่อกับแม่" ลูกชายทั้ง 2 ตอบเหมือนกันว่า "เลือกแม่" เมื่อได้ยินคำตอบของลูกชายทั้ง 2 ก็เริ่มทบทวนตัวเองว่า "ทำไมลูกถึงเลือกอยู่กับแม่ และชีวิตทำไมมันเศร้าอย่างนี้" สุดท้ายก็เลยตัดสินใจที่จะเลิกอบายมุข เสร็จแล้วก็กลับมาดูรายจ่ายของเมีย เห็นว่ารายจ่ายของเมียหมดไปกับค่าพืชผักสวนครัว จึงตัดสินใจปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก
จากนั้น พ่อเลี่ยม ได้ออกเรียนรู้ และศึกษาจากวิทยากรหลายท่าน มีการพูดถึง "ชาวนา ชาวไร่ว่าโง่ และได้อธิบายว่าโง่อย่างไร จึงได้เข้าใจ เพราะสิ่งที่เขาว่าโง่นั้น คือตัวเรา" นอกจากนี้ยังได้พูดถึงศาสตร์พระราชา และปรัชญาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยวิทยากรเหล่านั้น ได้แนะนำให้เริ่มจากทำบัญชีครัวเรือน และเมื่อสิ้นปี มาดูจึงรู้ว่า รายจ่ายที่จ่ายไป เราสามารถทำเองได้ สำคัญกว่านั้น เสียเงินไปกับการซื้อเหล้า และเล่นการพนันจำนวนมาก
ดังนั้นในปี 2540 จึงประกาศเป็นวาระครอบครัวว่า "จะไม่ปลูกอะไร เพื่อนำไปขายอีกแล้ว แต่จะปลูกสิ่งที่เรากิน ทั้งข้าว พืชผัก และผลไม้ต่างๆ" มีโอกาสได้ไปฟัง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และพ่อใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดฉะเชิงเทรา พูดถึงเรื่อง "ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง" ที่สร้างประโยชน์และคุณค่ามหาศาล แล้วนำความรู้ประสบการณ์มาปรับใช้ที่ไร่ของตนเอง โดยตั้งชื่อสวนว่า "สวนออนซอน"
ได้เริ่มปลูกป่าตั้งแต่ปี 2542 ทั้งไม้กินผล ไม้ยืนต้น และไม้ใช้สอยต่างๆ ผสมกับพืชผักหลากหลายชนิด ปัจจุบันมีเนื้อที่ป่าประมาณ 13 ไร่ มีทุกอย่างที่เราอยากกิน ทำให้ไม่ต้องซื้ออะไร เพราะของกินมีทุกชนิด ส่วนของใช้ เช่นสบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน หรือน้ำยาซักผ้า ก็ทำใช้เอง
จากนั้นก็ทำเกษตรผสมผสาน ตามศาสตร์พระราชา ที่เน้นเรื่องการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก เมื่อเหลือกินก็แบ่งปัน เหลือจากแบ่งปันก็ขาย จนมีชาวบ้านมาขอซื้อผลผลิตและพืชผักต่างๆ จากนั้นอีก 6 ปี ก็สามารถใช้หนี้ก้อนสุดท้ายได้หมด สำคัญกว่านั้น เมื่อเป็นป่า ทำให้ไม่ต้องซื้อปุ๋ย เพราะเศษวัชพืชหรือใบไม้ต่างๆ เป็นปุ๋ยได้ทั้งหมด นี่คือศาสตร์พระราชา และไม่ได้นำองค์ความรู้มาใช้อย่างเดียว แต่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ อยู่บนหัวนอน และห้อยคอไว้ตลอดเวลา เพื่อระลึกถึงพระองค์ และเป็นคติเตือนใจ ที่พระองค์ทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ และความยากจน
ส่วนการถ่ายทอดองค์ความรู้ ได้ชักชวนญาติพี่น้องมาทำแบบเรา และนำพาปฏิบัติจริง จากนั้นก็มีคนที่สนใจมาศึกษาเรื่อยๆ ประมาณ 5-6 พันคนต่อปี โดยมาไกลสุดจากประเทศแคนาดา
“แรกๆ คนไม่ค่อยเชื่อว่า การไม่มีเงินใช้ แล้วจะมีอาหารกินครบ 3 มื้อ ได้อย่างไร ก็พามาปฏิบัติจริง เช่น เรามีข้าว อยากกินปลา เราก็มีปลาในบ่อ อยากกินต้มยำ หรือแกงใส่อะไร ก็ไปหาในสวน แล้วสุดท้ายก็ไม่มีใครได้ไปจ่ายตลาด แต่มีกินครบทุกมื้อ”
ปัจจุบัน จากสวนกลายเป็นป่า ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายกับครอบครัว โดยมีประชาชนและผู้สนใจด้านเกษตรทั่วประเทศ มาศึกษาเรียนรู้ และพร้อมถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้กับคนทั่วไป เพื่อสานต่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชา เพื่อให้อยู่กับลูกหลานไปนานเท่านาน
ดังนั้นวันนี้ เลี่ยม บุตรจันทา จึงถือเป็น "ปราชญาเดินดิน" ที่คนทั่วประเทศรู้จัก และบ้านนาอีสาน แหล่งพักพิงของครอบครัวได้กลายเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานของหลายหน่วยงาน รวมถึงโครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง ที่มีพี่น้องหลายตำบลได้ไปแวะเยี่ยมเยือนพ่อเลี่ยม และยายตุ๋ย (ภรรยา) เพื่อนำประสบการณ์ที่ล้มเหลวจากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว มาเป็นแรงบันดาลใจ
ปัจจุบัน นายเลี่ยม บุตรจันทา เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นเกษตรกรนักคิด นักปฏิบัติ และเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้กับประชาชน ผู้ที่สนใจใฝ่รู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย มีผู้คนหลั่งไหลมาศึกษาดูงานที่บ้านนายเลี่ยม บุตรจันทา เป็นประจำไม่เคยขาดเพราะมีกิจกรรมหลากหลายที่น่าสนใจ
รายการ Perspective : พ่อเลี่ยม บุตรจันทา - ปราชญ์ชาวบ้าน แห่งบ้านสวนออนซอน
เพื่อหาความสุข สงบ และสบายในชีวิตบั้นปลาย อย่างสองสามีภรรยาคู่นี้ สำหรับผู้สนใจศึกษาดูงาน หรืออยากเรียนรู้การทำเกษตรผสมผสาน และลงมือปฏิบัติจริง สามารถสอบถามพ่อเลี่ยม ได้ที่เบอร์ 084-711-6099 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือหากจะช่วยค่าน้ำ ค่าไฟ ก็จะดีไม่น้อย หรือไม่ให้เลย ก็สามารถไปเรียนรู้ได้ ที่บ้านเลขที่ 411 บ้านนาอีสาน หมู่ที่ 16 ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา 24160
นายผาย สร้อยสระกลาง เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2473 ที่บ้านสระคูณ ตำบลโคกล่าม อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เพราะครอบครัวยากจน เด็กชายผายจึงมีโอกาสได้เรียนแค่ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ต้องออกมาเป็นลูกจ้างเลี้ยงวัว ต่อมาไม่นานพ่อแม่ก็เสียชีวิตลง ด้วยอายุเพียง 15 ปี จึงมีภาระต้องดูแลน้องอีก 3 คน ด้วยผืนนามรดกเพียง 10 ไร่ เมื่ออายุ 17 มีได้โอกาสบวชเรียน และสอบได้นักธรรมโท บวชอยู่นานถึง 10 พรรษาจึงได้สึกออกมา แล้วแต่งงานกับแม่ลา สร้อยสระกลาง
ปี พ.ศ. 2508 ได้รับเลือกเป็น "ผู้ใหญ่บ้าน" บ้านสระคูณ ด้วยคะแนนศรัทธาท่วมท้นจากชาวบ้าน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักพัฒนา เนื่องจากได้ผ่านการบวชเรียนมาหลายพรรษา ทำให้พ่อผายสามารถประยุกต์ใช้หลักธรรมพูดคุยกับชาวบ้าน เพื่อหาแนวร่วมทางความคิดในการพัฒนาหมู่บ้าน
แม่ไปไฮ่หมกไข่มาหา แม่ไปนาหมกไข่ปลามาป้อน แม่เลี้ยงม้อนอยู่ป่าสวนมอน ”
เป็นเพลงกล่อมลูกๆ ของแม่ ที่พ่อผายยังจำได้ขึ้นใจ และมีผลต่อการใช้ชีวิตกระทั่งปัจจุบัน พ่อผายนำเพลงกล่อมเด็กที่จำขึ้นใจของแม่ เป็นแนวคิดแนวทางแก้ปัญหาปากท้องคนชนบท เพราะเกือบทุกครัวเรือนล้วนทอผ้า พ่อผายจึงใช้ที่ดินสาธารณะของชุมชน จำนวน 400 ไร่ พาชาวบ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และยังตั้งกองทุนสวัสดิการบ้านสระคูณ ปลุกจิตสำนึกให้คนหวงแหนบ้านเกิด
ผาย สร้อยสระกลาง - ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ตอนที่ 1
จุดเปลี่ยนทางความคิดเกิดอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2525 เกิดภัยแล้งจัดทำให้เกิดปัญหาปากท้องในพื้นที่ ผลจากการพัฒนาประเทศโดยรวมได้นำพาอีสานเข้าสู่กระแสพายุ "การปฏิวัติเขียว" พ่อผายและชาวบ้านได้ถูกกระแสนิยมดังกล่าวส่งให้เกิดแนวคิดใหม่ จากการทำเกษตรเพื่ออยู่เพื่อกินมีใช้ตามอัตภาพ เปลี่ยนมาเป็นการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อสนองความต้องการของตลาด โดยมีความหวังว่าจะได้เงินทองจำนวนมาก
พ่อผายเกิดความคิดว่า ต้องช่วยตัวเองก่อน แล้วจึงกลับมาช่วยชาวบ้าน จึงได้กู้เงินจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จำนวน 60,000 บาท ไปซื้อที่ดินที่อำเภอละหานทราย แล้วถางป่าปลูกข้าวโพด ปีแรกได้ราคาดีแต่ผลผลิตไม่ดี ปีที่สองผลผลิตมากแต่ราคาต่ำ เพราะไม่มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ทำให้ไม่มีเงินใช้หนี้ และเงินลงทุนในปีต่อไป
ประสบการณ์ครั้งนั้นสอนบทเรียนว่า ความโลภอยากรวยจึงทำให้สร้างหนี้ แล้วยังทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะปลูกพืชชนิดเดียว ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ และยังทำลายครอบครัว สังคม เพราะการละถิ่นฐานเดิมไปทำกินในที่อื่น พ่อผายนั่งสมาธิ คิดเพื่อหาทางออก จนคิดได้ว่า ต้องกลับมาตั้งหลักที่บ้านเกิด โดยการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เร่งสร้างกองทุนโดยการพึ่งพาตนเองจากทุนเดิมที่พ่อแม่มอบให้ คือ มือซ้ายห้าแสน มือขวาห้าแสน โดยการขุดสระเพื่อการออมน้ำ การสร้างปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ และการฝากเงินออมโดยการออมสัตว์เลี้ยง การรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยการออมต้นไม้แทน
พ่อผายตั้งมั่นว่า “จะไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่จะเอางานและความสุขเป็นตัวตั้ง” จึงขายที่ดินบางส่วนใช้หนี้ ธกส. จนหมด และเริ่มต้นทำเกษตรผสมผสาน “เราเป็นชาวนา จะไปเป็นนายอำเภอ ไปเป็นหมอย่อมฝืนธรรมชาติ น่าจะเป็นชาวนาที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี และที่สำคัญมีความสุข” ความสุขที่ว่าของพ่อผายคือ มีหลักประกันชีวิตครบถ้วน มีสุขภาพกายและใจแข็งแรง มีครอบครัวอบอุ่น มีชุมชนเข้มแข็ง มีสิ่งแวดล้อมดี มีอิสรภาพ มีความภาคภูมิใจและเข้าถึงธรรมะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง
ผาย สร้อยสระกลาง - ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ตอนที่ 2
พ่อผายใช้เวลาถึง 8 เดือน ในการลงแรงใช้จอบขุดดิน ปั้นคูสระด้วยสองมือเพียงลำพัง ด้วยภาพฝันที่จะมีต้นไม้หลายชนิดอยู่รายรอบสระ โดยไม่ฟังคำทัดทานของเมียที่เห็นว่า ที่ดินมีน้อยน่าจะเอาไว้ทำนา ไม่แต่เท่านั้นแกก็ยังดั้นด้นไปเรียนวิชาเลี้ยงปลาที่จังหวัดขอนแก่น กลับมาพร้อมลูกปลาจำนวน 1,000 ตัว เพื่อมามาเลี้ยงในสระที่ลงแรงขุดไว้ เมื่อมีผลผลิตมีปลาตัวโตเต็มที่ ก็ได้ออกอุบายให้ภรรยามาช่วยจับปลา เมื่อภรรยาเห็นปลาที่อยู่ในสระก็ดีใจยอมรับในความคิดของสามี พ่อผายก็สามารถขยายแนวร่วมในครอบครัวได้แล้ว
หลังจากประสบความสำเร็จในการขุดบ่อเลี้ยงปลา พ่อผายก็ขุดสระเพิ่มอีก 2 บ่อ โดยพื้นที่บนสระก็ปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงหมู, เป็ด, ไก่, ในฤดูทำนาก็มีน้ำสำหรับทำนา ผลผลิตทีได้ก็นำไปบริโภคในครอบครัว ส่วนที่เหลือจากบริโภคก็นำไปขาย จนสามารถเก็บเงินไปใช้หนี้ที่กู้ยืมมาจนหมด เงินที่เหลือก็นำไปซื้อที่เพิ่มจากเดิมมีพื้นที่ 15 ไร่ ปัจจุบันพ่อผายมีพื้นที่ทั้งหมด 95 ไร่ จากกิจกรรมที่หลากหลายในแปลงเกษตร มีพืชพันธุ์มากมาย อาทิ ไม้ยืนต้น ผัก ผลไม้ต่างๆ ทำให้พื้นที่ของพ่อผายมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยอินทรียืวัตถุ ที่สำคัญผลผลิตที่ได้ปลอดจากสารพิษ สามารถนำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัยจากสารพิษ
เมื่อปฏิบัติจนประสบผลสำเร็จสามารถพึ่งพาตนเองได้แล้ว จากครอบครัวตนเอง ก็กลายเป็นทั้งชุมชนบ้านสระคูณที่เชื่อพ่อผาย ขุดบ่อเลี้ยงปลาทำเกษตรผสมผสาน เริ่มขยายแนวคิดและวิธีการทำนี้ให้กับญาติ พี่น้อง คนในชุมชน และผู้ที่สนใจโดยทั่วไป ซึ่งได้มีการปฏิบัติจนสามารถรวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ชื่อกลุ่ม "อีโต้น้อย” กิจกรรมที่กลุ่มทำได้ได้แก่ การทำเกษตรแบบผสมผสาน การจัดบุญประทายข้าวเปลือก การเทศน์มหาชาติ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การรักษาโรคแบบพื้นบ้าน ส่งเสริมให้เยาวชนในหมู่บ้านทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับหมู่บ้าน จัดตั้งกองทุนวัว จัดตั้งกองทุนหมุนเวียน จัดตั้งศูนย์สาธิตการตลาดและกลุ่มออมทรัพย์ และจัดตั้งกองทุนสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์ศพ
นอกจากที่พ่อผายทำกิจกรรมภายใต้กลุ่มอีโต้น้อยแล้ว ก็ยังดำเนินกิจกรรมร่วมกับปราชญ์ท่านอื่นอีก เช่น ในช่วง ปี พ.ศ. 2534 องค์กรพัฒนาเอกชนมูลนิธิหมู่บ้าน โดย ดร.เสรี พงศ์พิศ และอาจารย์ยงยุทธ์ ตรีรุชกร ได้เข้ามาผลักดันให้เกิดการรวมตัวของปราชญ์ภายใต้ชื่อ "ชมรมอุ้มชูไทยอีสาน” เป็นการนำปราชญ์ผู้ที่มีความรู้เรื่องธาตุทั้ง 4 มารวมตัวกัน ประกอบด้วย พ่อผาย สร้อยสระกลาง (ธาตุดิน) พ่อทัศ กระยอม (ธาตุน้ำ) พ่อหนูเย็น ศรีสิงห์ (ธาตุลม) และพ่อบัวศรี ศรีสูง (ธาตุไฟ) โดยมีพ่อบัวศรี เป็นประธานกลุ่ม แนวดำเนินการของชมรมนี้ จะส่งเสริมกันและกัน และเสนอทิศทางที่เหมาะสมให้กับสถาบัน และสังคมอื่นๆ ได้รับรู้บนพื้นฐานของแนวทางแก้ไขปัญหาขององค์กรชาวบ้าน เหตุเนื่องจากการพัฒนาภาคอีสานที่ผ่านมา ไม่สามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหาของอีสานได้อย่างมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม แต่จะลากไปตามกระแสสายธารใหม่ ซึ่งรังแต่จะทำให้คนอีสานจมน้ำตาย อีกสาเหตุหนึ่ง คือองค์กรชาวบ้านไม่มีการรวมตัวกัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 อาจารย์เสน่ห์ จามริก เข้ามาร่วมทำโครงการ โรงเรียนชุมชนอีสาน ภายใต้การนำกลุ่มชุมชนในจังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วย พ่อผาย สร้อยสระกลาง พ่อสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ และพ่อคำเดื่อง ภาษี วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมา ก็เพื่อแสดงบทบาท และทำหน้าที่เป็นสถาบันประสานงานเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคอีสาน เป็นการพัฒนาคนอีสานให้มีความเข้มแข็งพึ่งตนเอง พึ่งพากันเองได้ในชุมชนท้องถิ่นโดยเฉพาะภาคอีสาน เป็นการพัฒนาคนอีสานให้มีความเข้มแข็งพึ่งตนเอง พึ่งพากันเองได้ในชุมชนท้องถิ่น และพัฒนาขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองอย่างรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ตลอดจนเพื่อมีส่วนร่วมเสริมสร้างการพัฒนาประเทศชาติโดยรวมให้มั่นคง โรงเรียนชุมชนอีสาน จึงได้กลายเป็นต้นแบบของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และสมาชิกของโรงเรียนทุกคนกลายเป็นกำลังสำคัญหลักของเครือข่าย
พ่อผายสรุปความสุขตามแนวทางและรูปธรรมนี้ คือ
และนี่คือบทสรุปของคำว่า “ชาวนาที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีความสุข” คือ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2553 “พ่อผาย สร้อยสระกลาง”
พ่อผาย อารมณ์ดี๊ดี - ลุยไม่รู้โรย ThaiPBS
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)