คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
วิชัย สุริยุทธ เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ที่อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนทั้งหมด 6 คน บิดา-มารดามีอาชีพชาวนา ฐานะทางบ้านจึงยากจน ขณะเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มารดาก็เสียชีวิต บิดาเขาจึงต้องทำนาเพียงคนเดียวตามลำพัง ทำให้เขาจึงต้องรับจ้างทำงานสารพัด ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรก่อสร้าง, จับกัง กระทั่งจบชั้นมัธยมต้นที่ โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย
หลังจากจบชั้นมัธยมต้น จึงไปสอบเข้าเรียน โรงเรียนพลตำรวจ 3 จังหวัดนครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นการศึกษาต่อที่ไม่ต้องเดือดร้อนเงินทองจากทางบ้าน เมื่อจบก็ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ ประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษ
ต่อมาในปี พ. ศ.2513 ย้ายมาปฏิบัติงานประจำที่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอปรางค์กู่ ทำงานที่นี่จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ในปี พ.ศ. 2549 ขณะดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอปรางค์กู่
ช่วง พ.ศ. 2548 ดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธ ได้รับพระราชทานยศเป็นกรณีพิเศษ เป็น "ร้อยตำรวจตรี" จากการอุทิศตนต่อประเทศชาติ
จากข้อมูลของ กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า "อำเภอปรางค์กู่เป็นอำเภอที่ยากจนที่สุดในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย" มีการปล้นชิงลักขโมยเป็นคดีความมากมาย ดาบวิชัย ในฐานะผู้เติบโตมาในพื้นที่ และเจ้าพนักงานสอบสวนได้รับรู้ถึงปัญหานี้มาตลอด จึงเกิดความคิดที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ให้ดีขึ้น จากความคิดของเขา ทำให้เขาตัดสินใจปลูกต้นไม้ เนื่องจากเห็นว่า ผลที่จะตามมาจะเป็นผลที่ยั่งยืน เป็นประโยชน์ไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลาน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา ทุกเช้าและหลังเลิกงานของวัน ดาบวิชัยจะขับจักรยานยนต์ ตระเวนปลูกต้นไม้ไปตามพื้นที่ต่างๆ ในอำเภอปรางค์กู่ โดยในระยะแรก ในสายตาชาวบ้าน เขาถูกมองว่า "เป็นคนบ้า" แม้ว่าจะถูกสังคมมองไปในทางเช่นนั้น เขาก็ยังคงปลูกต้นไม้อยู่เรื่อยไป
พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา สังคมเริ่มเห็นผลจากการปลูกต้นไม้ของเขา เกิดโครงการปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะ เพื่อส่วนรวมเกิดขึ้น ได้แก่ รณรงค์ปลูกต้นยางนา เพื่อเอาไว้สร้างบ้านเรือน รณรงค์ปลูกต้นตาล ซึ่งเป็นพืชสารพัดประโยชน์ รณรงค์ปลูกต้นคูน ต้นไม้ประจำภาคอีสานและประจำชาติไทย และ รณรงค์ให้เปลี่ยนการทำนาปีเป็นไร่นาสวนผสม จนอำเภอปรางค์กู่กลายเป็นอำเภอที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งต้นไม้ที่เขาปลูกนั้นสามารถสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในอำเภอได้
พ.ศ. 2543 ประชาคมอำเภอปรางค์กู่ทั้ง 10 ตำบล ได้พร้อมใจกันลงมติให้ใช้ 4 โครงการรณรงค์ดังกล่าว เป็นคำขวัญของอำเภอปรางค์กู่ ที่ว่า “ปรางค์กู่อยู่ในป่ายาง กลางดงตาล บานสะพรั่งดอกคูน บริบูรณ์ไร่นาสวนผสม”
...ผมว่าโลกของวัตถุเป็นสิ่งสมมุติทั้งนั้นแหละครับ ความสุขที่แท้จริง ก็อยู่กับธรรมชาติ และรู้จักเคารพธรรมชาติ ต้นไม้นี่ผมจะต้องปลูก ปลูกไปเรื่อยๆ ปลูกจนกว่าจะตาย... "
— ร้อยตำรวจตรี วิชัย สุริยุทธ
... ท่ามกลางแสงตะวันสาดส่องลงกลางศีรษะ ชาวบ้านหญิงชายต่างพากันหลบหลีกแสงแดดอันแผดเผา แต่นายดาบตำรวจคนกล้ากลับแบกจอบหอบถุงปุ๋ย ขี่มอเตอร์ไซค์ไปทั่วทั้งตำบล จอดตรงนั้น แวะตรงนี้ ยอมอดทนหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ปลูกต้นไม้ไม่รู้จักหยุดหย่อน และเขาคนนั้นคือ ร.ต.ต.วิชัย สุริยุทธ ...
ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.) ในปี พ.ศ. 2526 จากการทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
ร.ต.ต.วิชัย ในวัย 70 ปี ย้อนเล่าไปเมื่อครั้งที่ตนยังหนุ่มยังแน่นว่า “เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมโชคดีมากๆ ที่มีโอกาสได้เข้าร่วมการอบรมใน โครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง อันเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9
โครงการนี้เขาสอนผมว่า เราต้องใช้สอยทรัพยากรของท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด, เราต้องพึ่งพาตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี และความทุกข์ของชาวบ้าน คือ ภารกิจที่เราต้องร่วมแก้ไข จนในที่สุด โครงการนี้ได้กลับกลายมาเป็น 'แรงบันดาลใจสำคัญ' ที่ทำให้ผมลุกขึ้นมาปลูกต้นไม้นับล้านต้นที่อำเภอปรางค์กู่
ตอนแรกชาวบ้านในละแวกนี้ ต่างก็ติฉินนินทา หาว่าผมเป็นผีบ้าบ้างแหละ เป็นคนบ้าบ้างแหละ เพราะคนดีๆ ที่ไหนจะไปปลูกต้นไม้ในที่ดินของคนอื่น ไปปลูกทำไมตามที่ดินสาธารณะ หรือปลูกตอนนี้จะได้กินเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ บ้างก็เอาผมไว้หลอกลูกหลอกหลานจนเป็นเรื่องตลกว่า 'นั่นแหนะ! ดาบวิชัยมาแล้ว หนีให้ไกลเลยนะ ไม่งั้นแกจะเรียกไปปลูกต้นไม้กลางแดด กลางฝนไม่รู้ด้วยนะ' ก็ว่ากันไปถึงขนาดนั้น” อดีตนายตำรวจวัย 70 ย้อนเล่าเรื่องราวในอดีตอย่างไม่คิดโกรธ
"คุณรู้ไหมครับ ตอนแรกๆ ที่ยังไม่มีใครเข้าใจในสิ่งที่ผมทำ ชาวบ้านบางคนเขาเอารถไถมาไถ บางคนถอนต้นไม้ที่ผมปลูกจนเหี้ยน บางคนจูงวัวจูงควายมาเหยียบ บางคนเผาต้นไม้จนไหม้ตาย ผมขี่รถผ่านไปเห็นภาพพวกนี้ น้ำตามันไหลไม่รู้ตัว สิ่งที่เราสร้างด้วยหัวใจ แต่ต้องตายไปเพราะคนที่ไม่เห็นค่า” คนบ้าปลูกต้นไม้ ย้อนเล่าไปถึงคืนวันอันแสนขื่นขม
เสียงวิจารณ์นินทา หรือการกระทำอันบั่นทอนจิตใจที่เกิดขึ้นในระยะเวลายาวนานถึง 18 ปีนั้น ไม่สามารถหยุดยั้งความตั้งใจของนายดาบผู้นี้ได้ เขายังมุ่งมั่น ยอมอดทน บากบั่นทำในสิ่งที่ทุกคนไม่เชื่อถือ ไม่ศรัทธา จนในที่สุด ดินแดนปรางค์กู่ที่เคยแห้งแล้ง ก็กลับกลายเป็นผืนดินที่คลาคล่ำไปด้วยต้นไม้นานาชนิด...
“ผมปลูกต้นไม้เพื่อคนทุกคนในอำเภอปรางค์กู่ ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวผมเอง ผมกล้าพูดอย่างนั้นครับ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมปลูกต้นไม้โดยไม่หวังผลตอบแทนจากใคร แต่สักวันหนึ่ง ต้นไม้ที่ผมปลูกมันจะกลายไปเป็นผลตอบแทนให้กับทุกคน” อดีตนายตำรวจฉายา คนบ้าปลูกต้นไม้ กล่าวอย่างภาคภูมิ
ณ เวลานี้ ถ้อยคำที่ ร.ต.ต.วิชัย ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า คนบ้าปลูกต้นไม้ผู้นี้ ได้แจกจ่าย ’ผลตอบแทน’ ให้แก่ผู้คนชาวปรางค์กู่ และละแวกใกล้เคียงได้อย่างที่เขาตั้งใจ เพราะปัจจุบันต้นตาลที่ ร.ต.ต.วิชัย ปลูกเอาไว้ ชาวบ้านได้เก็บเกี่ยวส่วนต่างๆ ของต้นไปใช้ประโยชน์มากมาย ยกตัวอย่างเช่น ช่อตาล ชาวบ้านนำไปทำน้ำตาลเข้มข้นชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลปึก ส่วนลูกตาล หรือตาลสด ก็ช่วยแก้ไข้ตัวร้อน ละลายเสมหะ บรรเทาอาการไอเรื้อรัง ส่วนขาตาล ชาวบ้านหรือพ่อค้าในละแวกนั้น ก็ตัดไปทำคราด ทำไม้กวาดได้
“ต้นตาล เป็นต้นไม้ที่ปลูกง่าย โตเร็ว ทนทาน โดนไฟเผาก็ยังไม่ตาย ส่วนต่างๆ ของต้นตาลก็ยังไปทำประโยชน์ได้อีกเยอะแยะ นอกจากต้นตาล ผมก็ยังปลูกต้นคูน เอาลำต้นไว้ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์, ยางนา เอาไว้สร้างบ้านได้, แค ใช้ทำกับข้าวได้, สะเดา ชาวบ้านเขาขายได้ราคามาก, ขี้เหล็ก ใช้ทำยาได้ สารพัดประโยชน์จากสิ่งที่ผมปลูก ชาวบ้านสามารถเอาไปใช้ได้เลย ผมไม่หวง ผมปลูกเอาไว้ให้แล้ว”
“จะปลูกไปอีกนานแค่ไหน?” เราเอ่ยถามชายวัย 70 ที่อยู่ตรงหน้า เขากล่าวอย่างแช่มช้าว่า “ผมจะปลูกไปจนตายนั่นแหละครับ ผมจะปลูกต้นไม้ไปทุกวันแบบนี้ จนสังขารมันจะสั่งการว่าไม่ไหว"
ช่วงชีวิตหลังเกษียณอายุราชการของ ร.ต.ต.วิชัย นั้น ไม่ใช่การพักผ่อนนอนสบายอยู่กับบ้าน ไม่ใช่การออกไปท่องเที่ยวหาความสุข แต่ชายชราวัย 70 ปีผู้นี้ กลับออกตระเวนปลูกต้นไม้ (เพื่อคนอื่น) อยู่เช่นเดิม วันแล้ว วันเล่า เขายังแบกจอบหอบเมล็ด ขุดตรงนั้น ฝังตรงนี้ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
"ถ้าเราลองนึกๆ ย้อนดูนะครับ สิ่งที่ผมทำมาตลอด 30 ปี ปลูกต้นไม้ไป 3 ล้านต้น สิ่งที่ผมทำยังไม่ได้เพียงเศษเสี้ยวของสิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงทำเพื่อพวกเราคนไทยเลยนะครับ ถ้าคุณนึกภาพออกว่าผมเหนื่อยขนาดไหน แล้วพระองค์ท่านล่ะครับ พระองค์ท่านจะเหน็ดเหนื่อยกว่าพวกเรามากมายหลายร้อยเท่าเพียงใด
ผมยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นต้นแบบในการดำรงชีวิตเสมอมา ผมเชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจว่า การปลูกต้นไม้เป็นการทำบุญที่ง่ายที่สุด เป็นการทำบุญที่สามารถเห็นผลได้ในชาตินี้ และนับเป็นคุณูปการอย่างสูงต่อผืนแผ่นดินเกิด” ร.ต.ต.วิชัย คนบ้าปลูกต้นไม้ 3 ล้านต้น น้ำตาคลอ พร้อมยกมือขึ้นพนมท่วมหัว...
คนของแผ่นดิน "คนบ้าปลูกต้นไม้" - ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร ThaiPBS
ทุกวันนี้ เราสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของดาบวิชัย คนบ้าปลูกป่า เพื่อร่วมชื่นชม หรือไปร่วมกิจกรรมการปลูกป่าของเขากับชุมชน กับเยาวชนหนุ่มสาว รวมทั้งเด็กๆ ได้ที่ Facebook : ดาบวิชัย คนบ้าปลูก
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)