foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
อากาศร้อนชนิดทะลุ 40 องศามาตลอดเดือนเมษายน และน่าจะลากยาวไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม โปรดระวังพายุฤดูร้อนหรือลมหัวกุดบ้านเฮาที่จะมาพร้อมฝนและลูกเห็บ ฟ้าผ่า พัดเอาหลังคาบ้านเรือนกระจายไปไกลได้ ฟ้าดินลงโทษวิปริตผิดคาดก็เพราะพวกเรานี่แหละที่ตัดไม้ทำลายป่า เผาไร่เผานา จนโลกร้อนขึ้นทุกวัน รวมทั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้หมดไป ไม่ปลูกสร้างป่าทดแทน ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องมาช่วยกันรักษ์โลกนี้ไว้ให้ลูกหลาน...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

philosopher header

kamduang 01นายคำเดื่อง ภาษี

ฉายา "คนบ้าปลูกต้นไม้" อีกคน

นายคำเดื่อง ภาษี เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2495 เป็นลูกคนที่ 6 ในบรรดาลูกๆ 7 คน ของพ่อไพร และแม่สี ภาษี ที่บ้านโนนขวา ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ เกิดในครอบครัวชาวนาที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับชีวิตมาตั้งแต่เล็ก หลังเรียนจบชั้นประถมศึกษาแล้วก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทํานา ซึ่งตลอดเวลาต้องเผชิญกับปัญหา การลงทุนที่สูงทั้งค่าไถหว่าน ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ซึ่งผลสุดท้ายผลผลิตที่ได้ก็ไม่คุ้มกับการลงทุน ทําให้ต้องเป็นหนี้สินเพิ่มพูนขึ้นทุกปี

คําเดื่อง ภาษี เรียนรู้วิธีการทํานาแบบดั้งเดิมจากพ่อแม่ และจากพี่น้องชาวนาในละแวกใกล้เคียง มาตั้งแต่เล็กจนโต ได้รับรู้ความจริงมาโดยตลอดว่า ชาวนาขายข้าวไม่พอใช้หนี้แต่อย่างใด เมื่อโตเป็นหนุ่ม เป็นช่วงที่บ้านเมืองอยู่ในยุคปฏิวัติเขียวทางด้านเกษตรกรรม เป็นยุคทองของการปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อการค้าขายเป็นหลัก แต่ในชั่วระยะเวลาไม่นานนัก ปัญหาต่างๆ ก็เริ่มเกิดขึ้น ทั้งปัญหาราคาพืชตกต่ํา ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ปัญหาความเสื่อมโทรมของหน้าดิน ซึ่งกลายเป็นปัญหาสําคัญที่ไม่มีผู้ใดแก้ไขได้สําเร็จ

จากชีวิตชาวนาสู่ชาวไร่

เมื่อการทํานาไม่ได้ผล คําเดื่อง ภาษี เห็นว่า น่าจะทดลองทําไร่ดูบ้าง จึงเปลี่ยนอาชีพจากการทํานาไปทําไร่อ้อย โดยกู้เงินจากธนาคาร มาลงทุนทั้งสิ้น 33,000 บาท แต่โชคของคําเดื่องมิได้ดีอย่างที่คิดและหวังไว้ ทั้งนี้เพราะพอลงทุนทําไร่ก็ปรากฏว่า ในปีนั้นต้องเผชิญกับปัญหาฝนทิ้งช่วง และกลายเป็นฝนแล้งไปในที่สุด ทําให้การลงทุนทั้งหมดสูญเปล่าไปในทันที

kamduang 02

พ.ศ. 2528 การลงทุนที่ล้มเหลวซ้ําแล้วซ้ําเล่า ถึง 4 ครั้งติดต่อกัน ประกอบกับยังหาทางออกที่ดีให้แก่ชีวิตยังไม่ได้ ทําให้เขาหันไปหาทางออกด้วยการดื่มเหล้า สูบบุหรี่อย่างหนัก จนเกือบจะเสียคน แต่โชคยังดีที่น้องสาวซึ่งบวชชีอยู่ที่ สํานักปฏิบัติธรรมไทรงาม จังหวัดลพบุรี ได้พยายามโน้มน้าวให้ คําเดื่อง คิดตั้งต้นอนาคตใหม่ ด้วยการใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มาเป็นเครื่องกล่อมเกลาชีวิต จนผลสุดท้าย คําเดื่องก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ทําให้ลด ละ เลิก อบายมุขได้ในที่สุด

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชีวิตของ คําเดื่อง ภาษี ก็เริ่มต้นใหม่โดยยึดธรรมะเป็นธงชัย ของชีวิตเคร่งครัดในแนวทางปฏิบัติ กินอาหารมังสวิรัติ ประหยัด และอดออม สวมใส่ เสื้อผ้าตามสภาพที่เป็นจริงของชีวิต

การเรียนรู้และศึกษาธรรมชาติ

หลังลด ละ เลิก จากอบายมุขต่างๆ แล้ว คําเดื่อง ภาษี หันกลับมาทํานาอีกครั้ง ในระหว่างการทํานาได้สังเกตเห็นเพื่อนชาวนา นําฟางข้าวไปคลุมแปลงปลูกกระเทียม เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดิน จะได้ไม่ต้องรดน้ําบ่อยๆ เขาจึงนําวิธีการนั้นมาใช้บ้าง โดยปลูกพริกไว้ใกล้ๆ แปลงนาแล้วใช้ฟางคลุมไว้

ฟางข้าวที่นําไปคลุมแปลงพริก มักจะมีเมล็ดข้าวติดไปด้วยเสมอ เมื่อเมล็ดข้าวร่วงลงก็จะงอกขึ้นมา เขาก็จะคอยถอนต้นข้าวทิ้ง เพราะเกรงว่าต้นข้าวจะไปแย่งอาหารจากต้นพริกที่ปลูกไว้ เป็นด้วยเหตุบังเอิญ มีพริกต้นหนึ่งตาย เมล็ดข้าวที่หล่นก็งอกขึ้นมา คําเดื่องเห็นว่า พริกต้นนั้นตายแล้ว จึงมิได้ถอนต้นข้าวที่งอกทิ้งแต่อย่างใด พอสิ้นปีเมื่อไปเกี่ยวข้าวก็นึกแปลกใจว่า ข้าวเพียงเมล็ดเดียวที่งอกขึ้นมานั้น ทําไมลําต้นจึงแข็งแรง และออกรวงมากถึง 20 รวงได้ เขาคิดหาคําตอบอยู่นาน ผลสุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า

การที่ข้าวมีลําต้นแข็งแรงนั้น เป็นเพราะต้นข้าวดังกล่าวมิได้ถูกตัดรากเหมือนข้าวนาคํา ที่เมื่อถอนต้นกล้าขึ้นมารากก็จะขาด เมื่อนําไปไปปักดําต้นกล้าก็จะอ่อนแอ กว่าจะปรับตัวให้แข็งแรงก็ต้องใช้เวลา ส่วนเมล็ดข้าวที่แปลงพริกงอกขึ้นมาทั้งๆ ที่อยู่บนที่สูง ไม่มีน้ําขัง ก็เพราะฟางที่คลุมนั้นช่วยรักษาความชื้นในดินไว้ ทําให้เมล็ดข้าวงอกขึ้นมาตามธรรมชาติได้เช่นกัน

kamduang 04

ทำให้ คําเดื่อง ภาษี เริ่มหันมาศึกษาและสังเกตธรรมชาติอย่างจริงจัง จากการศึกษาพบว่า เมล็ดข้าวที่ติดมากับฟางนั้นสามารถงอกงามแข็งแรง และออกรวงเหมือนข้าวที่ปลูก โดยการไถหว่านได้ ทั้งๆ ที่ที่ดินดังกล่าว เป็นเนินสูงและไม่มีน้ําขัง มีเพียงแค่ฟางคลี่คลุมเอาไว้เท่านั้น การสังเกตเห็นเมล็ดข้าวงอกได้เองแม้ไม่มีน้ําขัง ทําให้เขาองเกิดความคิดว่า "ในความเป็นจริงแล้ว การปลูกข้าวตามวิธีธรรมชาติ น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าการปลูกข้าวโดยอาศัยปุ๋ย อาศัยสารเคมี ที่ต้องลงทุนสูงและไม่คุ้มทุน จึงเริ่มหันมาทํานาแบบธรรมชาติ โดยใช้ปุ๋ยคอกแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น"

ดังนั้น การปลูกข้าวของ คำเดื่อง ภาษี จึงไม่ไถ ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่กำจัดวัชพืช แต่กลับให้ผลผลิตดีกว่าเดิม ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากการใส่แกลบลงไปก่อน แล้วจึงไถหน้าดินให้ร่วนซุย เพราะเนื้อดินแข็งมาก จากนั้นหว่านถั่วลงไป เมื่อถั่วงอกสูงขึ้นราวๆ 1 ศอก จึงหว่านข้าวทับลงไปโดยไม่ต้องไถอีก  เมล็ดข้าวที่หว่านต้องเคลือบด้วยดินเหนียว โดยดินเหนียวแต่ละก้อนจะมีเมล็ดข้าวติดอยู่ 2-3 เมล็ด โดยที่ดิน 1 งาน จะใช้พันธุ์ข้าวประมาณ 6 กิโลกรัม

หลังจากฝนตกข้าวก็จะงอกขึ้นเลยต้นถั่ว ให้ปล่อยน้ำเข้านา 2 วัน จนสูงประมาณ 2 เซนติเมตร เพื่อชะลอการเจริญเติบโตของถั่ว จากนั้นไขน้ำออก ต้นข้าวได้รับแสงแดดก็จะขึ้นงาม ในขณะที่หญ้าจะถูกคลุมอยู่ใต้ฟาง ทั้งหญ้า ทั้งถั่ว จะเป็นปุ๋ย หลังจากนั้นไส้เดือนก็จะมาพรวนดิน ข้าวจะขึ้นแข็งแรงพอๆ กับการปักดำและใส่ปุ๋ย

ดังนั้น การทำนาแบบธรรมชาติของ คำเดื่อง ภาษี จึงได้ผลดีมาก จนเพิ่มพื้นที่ทำนาไปเรื่อยๆ ซึ่งผลผลิตข้าวที่ได้ไม่แตกต่างกับที่นาของเกษตรกรที่ใช้สารเคมี แต่การปลูกข้าวแบบธรรมชาติสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มาก ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายข้าวได้มากกว่า เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับครอบครัว

ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่น้องสาวได้ส่ง "วารสารแสงสูรย์ และสารอโศก" มาให้ศึกษา เขาได้อ่านหนังสือเล่มนั้น แล้วประทับใจเรื่องราวการทําการเกษตรแบบธรรมชาติของ ฟูกูโอกะ เกษตรกรชาวญี่ปุ่น ที่ทําเกษตรแบบธรรมชาติมาก่อนหน้าเขา และก็ประสบความสําเร็จเป็นอย่างดี ทําให้เขามีความมั่นใจในการตัดสินใจของตนเองมากยิ่งขึ้น

เมื่อทดลองทําเกษตรธรรมชาติได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้ว คําเดื่อง ภาษี ยิ่งมั่นใจว่า การปลูกข้าวตามวิธีธรรมชาติ น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าการปลูกข้าวโดยอาศัยปุ๋ย อาศัยสารเคมี ที่ต้องลงทุนสูง วิธีการนี้จะเป็นทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหาของชาวนาได้ จึงลงมือทําเกษตรธรรมชาติเต็มพื้นที่ทั้ง 18 ไร่

kamduang 03

องค์ความรู้จากการสังเกตและปฏิบัติ

การทํานาแบบธรรมชาติทําให้คําเดื่องได้ค้นพบ "องค์ความรู้ 4 ไม่" ในการทําเกษตรธรรมชาติให้ประสบความสําเร็จ คือ

1. ไม่ไถพรวนดิน

การที่ไม่ไถพรวนดิน เพราะเขาเห็นว่า การไถพรวนดินจะทําให้ดินโปร่งเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น นอกจากนี้การไถดินยังเป็นการทําลายสัตว์ในดิน เช่น ไส้เดือน ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยพรวนดิน และถ่ายมูลมาเป็นปุ๋ยธรรมชาติอย่างดีให้กับพืช

2. ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี

ปุ๋ยเคมีมีสภาพเป็นกรด เมื่อใส่ลงในดินแล้ว ต้นพืชจะนําไปใช้ได้บางส่วน ส่วนที่เหลือจะสั่งสมอยู่ในดิน เมื่อใส่ลงไปปีละหลายๆ ครั้ง สารเคมีที่สั่งสมจะทําให้ดินเริ่มแข็ง และขาดความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเขาแก้ไขโดยใช้ปุ๋ยธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยไนโตรเจนจากพืชตระกูลถั่ว ปุ๋ยโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสจากการเน่าของฟาง เป็นต้น

3. ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง

การใช้ยาฆ่าแมลงจะทําให้แมลงสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ทําให้เกิดการดื้อยา จึงต้องเพิ่มปริมาณยาฆ่าแมลงในการใช้แต่ละครั้ง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การงดใช้ยาฆ่าแมลงยังมีส่วนอย่างสําคัญ ที่ทําให้สภาพแวดล้อมกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นผลดีแก่สุขภาพของทุกคนในชุมชน

4. ไม่กําจัดวัชพืช

สําหรับคําเดื่องแล้วเห็นว่า วัชพืชเป็นเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยชั้นดี ที่ตั้งโรงงานอยู่กลางแปลงนา ด้วยเหตุนี้เองในการทําเกษตรแบบธรรมชาติ จึงได้ปล่อยให้ วัชพืชขึ้นสูงแล้วจึงใช้ฟาง หรือพืชตระกูลถั่วควบคุม ทําให้หญ้าเหล่านั้นกลายเป็นปุ๋ยชั้นดีสําหรับพืชที่ปลูกไว้

kamduang 05

การปรับประยุกต์ใช้องค์ความรู้ : จากแปลงนาสู่สวนและแปลงผัก

การทดลองทําเกษตรกรรมธรรมชาติที่ประสบความสําเร็จ ทําให้ คําเดื่อง ภาษี ค้นพบความจริงว่า นอกจากการทํานาด้วยวิธีธรรมชาติแล้ว ยังสามารถนําความรู้ดังกล่าวไป ประยุกต์ใช้กับการปลูกผัก ปลูกไม้ผลแบบธรรมชาติได้อีกด้วย เขาใช้เวลาทดลองทํานา ปลูกผัก และปลูกไม้ผลแบบธรรมชาติอยู่ 4 ปี ทําให้ค้นพบต่อไปอีกว่า การกระทําดังกล่าวนอกจากจะมีต้นทุนที่ต่ําแล้ว เมื่อดินเริ่มฟื้นตัวด้วยระบบนิเวศน์ ทําให้ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมาอีกครั้ง และเป็นผลดีต่อการเพาะปลูกเป็นอย่างยิ่ง

คำเดื่อง ภาษี แต่งงานกับ นางอมร งามชัด ลูกสาวผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองแก ตำบลช่องสามหมอ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ มีลูกชาย 2 คน และลูกสาว 1 คน ทำเกษตรธรรมชาติในพื้นที่เริ่มต้น 50 ไร่ ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ตั้งแต่การปลูกไผ่ ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกพืชนานาชนิด ซึ่งชีวิตก็อยู่ได้อย่างมีความสุข

kamduang 06

เกียรติประวัติ

  • พ.ศ. 2535 คนดีศรีสังคม จากมูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • พ.ศ. 2544 ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

คำเดื่อง ภาษี สารภาพว่า ตัวเองคือผู้พ่ายแพ้สงครามเกษตรเชิงเดี่ยว ก่อนหน้านี้เขาเน้นการผลิตเพื่อขาย เอาเงินเป็นตัวตั้ง เน้นปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก จนในที่สุด ดินก็เสื่อมโทรม และพืชเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำรายได้มากอย่างที่คิด แต่ยังสร้างหนี้สินจำนวนมาก

คนบ้า "ปลูกต้นไม้" : สะเทือนไทย ThaiPBS

หลังเกิดความพ่ายแพ้ คำเดื่อง ภาษี ตัดสินใจสร้าง "อาณาจักรสีเขียวหมื่นปี" บนพื้นที่ของตัวเอง เน้นปลูกพืชที่หลากหลาย และด้วยความที่กลัวว่า เมื่อตัวเองสร้างเสร็จแล้ว ลูกๆ จะขายที่ดินที่เขาสร้างมากับมือให้กับคนอื่น เขาจึงสร้างหลักสูตรการศึกษาเพื่อความยั่งยืนให้ลูกได้ตัดสินใจเองว่า จะลาออกจากการศึกษาในระบบ มาใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรกับเขาหรือไม่ ในที่สุด ลูกๆ ก็ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน มาเรียนรู้หลักสูตรโรงเรียนธรรมชาติที่พ่อของเขาเป็นผู้สร้างขึ้น

คำเดื่อง ภาษี เสนอแนวคิดการทำเกษตรแบบปราณีต โดยเน้นปลูกพืชที่กินได้ เป็นยาได้ ปลูกไม้ไว้สร้างบ้านในอนาคต ขุดบ่อเลี้ยงปลา เน้นทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี เน้นการเพาะต้นกล้า และปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนพื้นที่กว่า 200 ไร่ของเขา กลายเป็นป่าขนาดใหญ่ มีต้นไผ่เป็นแนวรั้ว จนกล่าวได้ว่า "อาณาจักรสีเขียวหมื่นปี" ได้เริ่มปรากฎตัวขึ้นแล้ว

วันนี้ บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ได้กลายเป็น ศูนย์การอบรม เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวของภาคอีสาน เป็นแหล่งการเรียนรู้เกษตรแบบปราณีตใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ขณะที่ คำเดื่อง ภาษี ยังได้รับความไว้ใจให้ดำรงตำแหน่ง ประธานเครือข่ายปราชญ์ฯ ขับเคลื่อนให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก

รายการเวทีชาวบ้าน - อาณาจักรเขียวหมื่นปีของพ่อคำเดื่อง

"ไม่มีทางที่เราจะเทปุ๋ยใส่ต้นไม้ทุกต้น บนพื้นที่ 200 ไร่ แต่ถ้าเราปล่อยให้ธรรมชาติทำงานเอง ปุ๋ยที่เราเทใส่ตั้งแต่วันแรก ใบไม้ที่หล่นลงมาจากต้นในวันต่อมา น้ำฝนที่ตกลงมาคลุกเคล้าดิน นั่นแหละคือ ปุ๋ยชั้นดีที่เกิดจากการปล่อยให้ธรรมชาติทำงานเอง" นี่คือแนวคิดของ คำเดื่อง ภาษี ที่เน้นหลักเรียนรู้จากธรรมชาติ และถือหลักให้ธรรมชาติทำงานเอง เขาปิดท้ายว่า

ถึงต้องจากโลกไปวันนี้ ก็ไม่เสียใจ เพราะได้สร้างปอดอีกแห่ง ไว้ให้โลกได้หายใจแล้ว "

 

redline

backled1

 

philosopher header

chalee 01นายชาลี มาระแสง

ปราชญ์พื้นบ้านผู้พลิกแผ่นดินนาแล้งสู่ความอุดมสมบูรณ์

นายชาลี มาระแสง ปราชญ์ชาวบ้านผู้ปลูกป่า และทำการการเกษตรแบบผสมผสาน เป็นเกษตรกรผู้กว้างขวาง มีจิตสาธารณะ ชอบบำเพ็ญประโยชน์ และสร้างกิจกรรมต่างๆ มากมาย จากการที่ในวัยเด็กเคยอยู่กับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อยู่ร่วมกับสัตว์ป่าน้อยใหญ่อย่างสมดุล ธรรมชาติได้สอนให้นายชาลีมีความฉลาดในเรื่องการทำมาหากิน ทำให้เป็นคนที่มีความอดทนสู้งานหนัก จนกระทั่งบวชเรียนจบนักเรียนธรรมชั้นตรี ในปี 2491 หลังจากสึกออกมา นายชาลีมีแนวคิดที่จะทำงานหาเงิน

จึงตัดสินใจเดินทางไปขายแรงงานในภาคกลาง โชคดีที่มีมีคนรับไปทำงานในสวนส้ม สวนละมุด ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ทำงานหนักเท่าไหร่ก็สู้ แต่ถูกดูหมิ่นถากถางอาชีพลูกจ้างจากบรรดาลูกเจ้าของนายจ้างอยู่บ่อยครั้ง ก็เลยหนีไปทำงานขุดร่องวางสายโทรศัพท์ในกรุงเทพฯ จากนั้นไปเป็นลูกจ้างขุดบ่อเลี้ยงปลาที่บางนา ต่อมาไปเป็นลูกจ้างทำนาที่นครนายก เป็นลูกจ้างในสวนมะพร้าว สวนมะม่วง และสวนกล้วยที่ชลบุรี จนกระทั่งปี 2495 จึงคิดหวนกลับคืนสู่บ้านเกิดที่ บ้านกุดซวย ตำบลคำพระ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ

ยังไม่ถึงบ้านได้แวะไปหาพี่สาวที่ตัวเมืองอำนาจเจริญ โชคพาให้ไปพบนายช่างใหญ่ หัวหน้าคนงานก่อสร้างชลประทาน จึงได้ทำงานหาประสบการณ์ด้านชลประทานอยู่ถึง 2 ปี พ่อ-แม่ตามให้กลับบ้านไปแต่งงานกับสาวที่สู่ขอไว้ให้ ขัดใจไม่ได้เลยต้องแต่งงาน แต่ก็อยู่กันได้เพียง 6 เดือนก็เลิกรา จนกลับไปหาคนรักเก่าที่เคยชอบพอกัน แต่พ่อ-แม่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ถูกใจ จึงหอบผ้าหนีไปอยู่ด้วยกัน ด้วยความสงสารเห็นใจจากแม่ฝ่ายหญิงที่สงสารลูกสาว จึงขอร้องให้กลับมาด้วยกันโดยยกที่นาโคกให้ 64 ไร่ แต่สามารถทำนาข้าวได้เพียง 4 ไร่เพราะไม่มีน้ำเพียงพอ ด้วยนิสัยรักสนุก ชอบเที่ยวเตร่ ดื่มสุราหนัก จึงทำให้หนุ่มชาลีกับเมียต้องอาศัยข้าวแม่ยายกิน

ยิ่งขุดยิ่งเจอทางสว่าง - พ่อชาลี มาระแสง

ความทุกข์ยากนี้วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งวันหนึ่ง นายช่างชลประทานใหญ่มาเยี่ยมได้เห็นที่นาแห้งแล้งเช่นนั้น จึงให้คำแนะนำว่า "ต้องขุดดินกั้นพื้นที่ให้สูงไม่ต่ำกว่า 4 เมตร ยาว 160 เมตร คันดินกว้าง 1-2 เมตร เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้" ลุงชาลีครุ่นคิดวางแผนในการทำงาน แต่ก็ยังไม่ได้ลงมือ จนอีกขวบปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ลุงชาลีได้ออกไปที่ทุ่งนากอบดินวางเทินไว้บนศีรษะ พร้อมตั้งสัตย์ปฏิญาณต่อแม่พระธรณีว่า "ข้าฯ จะขอขุดบ่อน้ำ ทำคันดิน กักน้ำทำนา เลี้ยงปลา ปลูกผักผลไม้ให้มีกินให้จงได้ และจะไม่ตัดโกนหนวดเคราจนกว่าจะกระทำได้สำเร็จ"

จากวันนั้น ตั้งแต่ตีสี่ ตีห้าของทุกวัน ลุงชาลีก็ตื่นออกมาขุดสระทำคันดินที่ทุ่งนาทุกๆ วัน จนมือทั้งสองข้างแตกเป็นร่องลึกไม่สามารถวักน้ำล้างหน้าได้ ต้องใช้หลังมือแทน ฝ่ามือแตกด้านหนาไม่เคยย่อท้อเป็นเวลานานถึง 18 ปีจึงสำเร็จผลตามที่ตั้งปณิธานไว้ สิ่งที่ลุงชาลีกล่าวถึงปณิธานนี้ว่า "หลักคิดไม่มีอะไรมาก เพียงใช้ศีล สมาธิ ปัญญา คือศีลนี้ไม่ได้มากมายก่ายกองอะไร คือไม่ต้องหลอกลวง ไม่โกหกตัวเองและโกหกผู้อื่น เวลาบอกคนอื่น บอกภรรยาว่า ไปขุดบ่อปลา ปลูกต้นไม้ ผมก็ไปทำอย่างนั้นจริงๆ ส่วนสมาธิก็ให้หยุดคิดก่อนจะทำอะไรลงไป เรามีปัญญาที่จะกระทำได้มากน้อยแค่ไหน พอหยุดคิด สงบ ระลึกได้ ปัญญาก็เกิด ทำอะไรได้ผลสำเร็จ เท่านั้นเอง"

หลักคิดและการใช้ชีวิต

จากประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมานานหลายปี นายชาลี ได้ตั้งปณิธานอันแรงกล้า ที่จะร่วมทำบุญถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เมื่อครั้งพระองค์ทรงออกผนวช ในปี 2500 จึงนำประสบการณ์ที่เคยออกไปทำงานในที่ต่างๆ หันมาทำการเกษตรที่บ้านเกิด ด้วยความมุ่งมั่นที่จะ "ออมน้ำ" นายชาลี จึงบากบั่นขุดบ่อ สร้างคันดินจนสำเร็จ ใช้เวลานานถึง 18 ปี จนได้แหล่งเก็บน้ำที่สมบูรณ์ในปี 2524 ที่มีคันดินสูง 5 เมตร ความกว้าง 14 เมตร ความยาว 280 เมตร จนทำให้ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีสวนผลไม้ มีรายได้เพิ่ม

chalee 02กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง กลายเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง "เกษตรแบบผสมผสาน" แทบจะทุกวัน อาศัยทุนทางสังคม ทุนทางสิ่งแวดล้อมหันมาออมน้ำ ออมดิน ออมต้นไม้ โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาเชื่อมต่อกับวิถีชีวิต สร้างชุมชนเข้มแข็ง เรียนรู้การเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

ได้มีการจัดตั้ง "ศูนย์เรียนรู้การเกษตรทฤษฎีใหม่ จัดตั้งมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาไทยอีสานคืนถิ่น" เป็นเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นก่อตั้ง "ภาคีพันธมิตรเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านใน 5 จังหวัดภาคอีสาน" ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา อำนาจเจริญ และขอนแก่น และมีเจตนาอย่างแรงกล้า ที่จะร่วมสร้างเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านอีสานให้ครบทุกจังหวัด เพื่อให้พี่น้องประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขและพึ่งตนเองได้

แนะนำให้รู้จักพ่อชาลี มาระแสง (ฉบับเต็ม) คลิกเลย!

ความสามารถอันโดดเด่น

1. การทำปุ๋ยหมักชีวภาพสูตรสำหรับปรับสภาพดินในนาข้าว

วัตถุดิบส่วนผสม :

  • แกลบดำ จำนวน 10 กิโลกรัม
  • แกลบดิบ จำนวน 10 กิโลกรัม
  • มูลสัตว์ จำนวน 10 กิโลกรัม
  • รำอ่อน จำนวน 20 กิโลกรัม
  • น้ำหมักชีวภาพ (ฮอร์โมนสูตรแม่) จำนวน 10 ลิตร
  • หัวเชื้อจุลินทรีย์ EM จำนวน 1 ฝา
  • กากน้ำตาล จำนวน 5 ลิตร
  • น้ำเปล่า จำนวน 100 ลิตร

ขั้นตอน/วิธีการทำ :

  • กองวัสดุทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ยกเว้นรำอ่อน(ใส่ในขั้นตอนสุดท้าย) ผสมวัตถุดิบทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากัน
  • ผสมน้ำหมักชีวภาพ (ฮอร์โมนสูตรแม่) + หัวเชื้อจุลินทรีย์ EM + กากน้ำตาล และน้ำเปล่า คนละลายให้เข้ากัน แล้วนำไปราดบนกองปุ๋ย จนได้ความชื้นที่เหมาะสม กำดูเนื้อปุ๋ยจับกันเป็นก้อนไม่มีน้ำไหลออกจากง่ามนิ้วมือ
  • เกลี่ยกองปุ๋ยให้เสมอกัน แล้วโรยด้วยรำอ่อน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน รดน้ำไปเรื่อยๆ จนกว่ารำอ่อนจะหมดทั้ง 20 กิโลกรัม ให้เนื้อปุ๋ยคลุกเคล้าเข้ากันดี ให้ได้ความชื้นที่เหมาะสม
  • เกลี่ยกองปุ๋ยให้เสมอกันในที่ร่ม จากนั้นก็หาพลาสติกมาคลุมให้มิดชิด กลับกองทุก 2 วัน ใช้เวลาในการหมัก 15 วัน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

การนำไปใช้งาน :

  • ใส่ปุ๋ยในนาข้าวครั้งแรกในขั้นตอนการเตรียมดิน อัตรา 300 กิโลกรัม/ไร่
  • ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ก่อนย้ายต้นกล้าไปปักดำ อัตรา 100 กิโลกรัม/ไร่

ประโยชน์จากปุ๋ย :

  • ดินที่แข็งกระด้างจะเริ่มมีความร่วม ซุย ขึ้น ข้าวจะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยเคมีได้น้อยลง ต้นทุนการผลิตลดลง แต่ได้ปริมาณผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นในปีถัดๆไป

chalee 04

2. การทำสารสกัดสมุนไพรขับไล่แมลง

วัตถุดิบที่ต้องเตรียม :

  • สะเดา จำนวน 3 กิโลกรัม
  • บอระเพ็ด จำนวน 3 กิโลกรัม
  • ข่า จำนวน 1 กิโลกรัม
  • ตะไคร้หอม จำนวน 1 กิโลกรัม
  • หางไหล จำนวน 1 กิโลกรัม (หรือสาบเสือ,หนอนตายหยาก)
  • ผลไม้สุก จำนวน 6 กิโลกรัม
  • ยาฉุน จำนวน 2 กิโลกรัม
  • น้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาล จำนวน 4 กิโลกรัม
  • น้ำสะอาด จำนวน 40 ลิตร
  • หัวเชื้อจุลินทรีย์ จำนวน 10 ช้อนแกง

ขั้นตอน/วิธีการหมัก :

  • หั่นหรือสับวัตถุดิบทั้งหมดใส่ลงในถังหมัก
  • ผสมน้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาลกับน้ำใส่ลงในถังหมัก
  • ใส่หัวเชื้อจุลินทรีย์ลงในถังหมัก แล้วคนวัตถุดิบส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน
  • จัดหาวัสดุมาทับไม่ให้วัตถุดิบลอยตัว ปิดฝาถังหมักให้สนิท ตั้งเก็บไว้ในที่ร่มใช้ระยะเวลาในการหมัก 1 เดือน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

การนำไปใช้งาน :

  • ใช้น้ำหมักสมุนไพร 3 ช้อนแกง ผสมน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่นเพื่อป้องกันและขับไล่แมลงศัตรูพืชตอนเช้ามืด หรือตอนค่ำ

chalee 03

3. การทำน้ำหวานหมักจากพืชและผลไม้

การทำน้ำหวานหมักจากพืชสีเขียว (น้ำแม่) :

ส่วนประกอบ :

  • ผักบุ้ง 2 กิโลกรัม
  • หน่อกล้วย 2 กิโลกรัม
  • หน่อไม้ 2 กิโลกรัม
  • ผักใบเขียวตระกูลถั่วต่างๆ 2 กิโลกรัม
  • กากน้ำตาล 4 กิโลกรัม
  • หัวเชื้อจุลินทรีย์ 10 ช้อนแกง

การทำน้ำหวานหมักจากผลไม้ (น้ำพ่อ) :

ส่วนประกอบ :

  • กล้วยน้ำว้าสุก 2 กิโลกรัม
  • มะละกอสุก 2 กิโลกรัม
  • ฟักทองแก่ 2 กิโลกรัม
  • กากน้ำตาล 3 กิโลกรัม
  • หัวเชื้อจุลินทรีย์ 10 ช้อนแกง

การหมัก :

  • น้ำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากัน (แยกกันหมักแต่ละสูตรคนละถังหมัก) ระยะเวลาในการหมัก 7-15 วัน จึงนำมาใช้ประโยชน์

การผสมน้ำหวานหมักเพื่อใช้ให้ตรงกับการเจริญเติบโตของพืช :

  • สูตรที่ 1 : ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืช ใช้น้ำแม่ 10 ส่วน + น้ำพ่อ 1 ส่วน
  • สูตรที่ 2 : ช่วงเร่งการออกดอกของพืช ใช้น้ำแม่ 5 ส่วน + น้ำพ่อ 5 ส่วน
  • สูตรที่ 3 : ช่วยเร่งผล ราก และหัว ใช้น้ำแม่ 1 ส่วน + น้ำพ่อ 10 ส่วน

การนำไปใช้งาน :

  • หัวเชื้อน้ำหมักที่ผสมกันแล้ว 1 ส่วน ผสมน้ำเปล่า 500 ส่วน ฉีดพ่นตามช่วงอายุการเจริญเติบโตของพืช

ปราชญ์ชาวบ้าน - พ่อชาลี มาระแสง ตอนที่ 1

เกียรติประวัติและผลงาน

  • เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • วิทยากรบรรยายเรื่องการเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรแบบผสมผสาน
  • ปราชญ์ชาวบ้านผู้พลิกฟื้นผืนป่า
  • รางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2551

ปราชญ์ชาวบ้าน - พ่อชาลี มาระแสง ตอนที่ 2

redline

backled1

 

philosopher header

dab vichai 01ดาบวิชัย สุริยุทธ

ฉายา 'คนบ้าปลูกต้นไม้' ผู้ตั้งปณิธานแน่วแน่ "ผมจะปลูกต้นไม้จนวันตาย เพื่อสานต่อปณิธานของพ่อหลวง"

วิชัย สุริยุทธ เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ที่อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนทั้งหมด 6 คน บิดา-มารดามีอาชีพชาวนา ฐานะทางบ้านจึงยากจน ขณะเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มารดาก็เสียชีวิต บิดาเขาจึงต้องทำนาเพียงคนเดียวตามลำพัง ทำให้เขาจึงต้องรับจ้างทำงานสารพัด ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรก่อสร้าง, จับกัง กระทั่งจบชั้นมัธยมต้นที่ โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย

หลังจากจบชั้นมัธยมต้น จึงไปสอบเข้าเรียน โรงเรียนพลตำรวจ 3 จังหวัดนครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นการศึกษาต่อที่ไม่ต้องเดือดร้อนเงินทองจากทางบ้าน เมื่อจบก็ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ ประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษ

ต่อมาในปี พ. ศ.2513 ย้ายมาปฏิบัติงานประจำที่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอปรางค์กู่ ทำงานที่นี่จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ในปี พ.ศ. 2549 ขณะดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอปรางค์กู่

ช่วง พ.ศ. 2548 ดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธ ได้รับพระราชทานยศเป็นกรณีพิเศษ เป็น "ร้อยตำรวจตรี" จากการอุทิศตนต่อประเทศชาติ

ความเป็นมาของ "คนบ้าปลูกต้นไม้"

จากข้อมูลของ กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า "อำเภอปรางค์กู่เป็นอำเภอที่ยากจนที่สุดในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย" มีการปล้นชิงลักขโมยเป็นคดีความมากมาย ดาบวิชัย ในฐานะผู้เติบโตมาในพื้นที่ และเจ้าพนักงานสอบสวนได้รับรู้ถึงปัญหานี้มาตลอด จึงเกิดความคิดที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ให้ดีขึ้น จากความคิดของเขา ทำให้เขาตัดสินใจปลูกต้นไม้ เนื่องจากเห็นว่า ผลที่จะตามมาจะเป็นผลที่ยั่งยืน เป็นประโยชน์ไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลาน

dab vichai 02

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา ทุกเช้าและหลังเลิกงานของวัน ดาบวิชัยจะขับจักรยานยนต์ ตระเวนปลูกต้นไม้ไปตามพื้นที่ต่างๆ ในอำเภอปรางค์กู่ โดยในระยะแรก ในสายตาชาวบ้าน เขาถูกมองว่า "เป็นคนบ้า" แม้ว่าจะถูกสังคมมองไปในทางเช่นนั้น เขาก็ยังคงปลูกต้นไม้อยู่เรื่อยไป

พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา สังคมเริ่มเห็นผลจากการปลูกต้นไม้ของเขา เกิดโครงการปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะ เพื่อส่วนรวมเกิดขึ้น ได้แก่ รณรงค์ปลูกต้นยางนา เพื่อเอาไว้สร้างบ้านเรือน รณรงค์ปลูกต้นตาล ซึ่งเป็นพืชสารพัดประโยชน์ รณรงค์ปลูกต้นคูน ต้นไม้ประจำภาคอีสานและประจำชาติไทย และ รณรงค์ให้เปลี่ยนการทำนาปีเป็นไร่นาสวนผสม จนอำเภอปรางค์กู่กลายเป็นอำเภอที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งต้นไม้ที่เขาปลูกนั้นสามารถสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในอำเภอได้

dab vichai 03

พ.ศ. 2543 ประชาคมอำเภอปรางค์กู่ทั้ง 10 ตำบล ได้พร้อมใจกันลงมติให้ใช้ 4 โครงการรณรงค์ดังกล่าว เป็นคำขวัญของอำเภอปรางค์กู่ ที่ว่า “ปรางค์กู่อยู่ในป่ายาง กลางดงตาล บานสะพรั่งดอกคูน บริบูรณ์ไร่นาสวนผสม”

...ผมว่าโลกของวัตถุเป็นสิ่งสมมุติทั้งนั้นแหละครับ ความสุขที่แท้จริง ก็อยู่กับธรรมชาติ และรู้จักเคารพธรรมชาติ ต้นไม้นี่ผมจะต้องปลูก ปลูกไปเรื่อยๆ ปลูกจนกว่าจะตาย... "
                                                                                                                   — ร้อยตำรวจตรี วิชัย สุริยุทธ

... ท่ามกลางแสงตะวันสาดส่องลงกลางศีรษะ ชาวบ้านหญิงชายต่างพากันหลบหลีกแสงแดดอันแผดเผา แต่นายดาบตำรวจคนกล้ากลับแบกจอบหอบถุงปุ๋ย ขี่มอเตอร์ไซค์ไปทั่วทั้งตำบล จอดตรงนั้น แวะตรงนี้ ยอมอดทนหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ปลูกต้นไม้ไม่รู้จักหยุดหย่อน และเขาคนนั้นคือ ร.ต.ต.วิชัย สุริยุทธ ...

dab vichai 04

ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.) ในปี พ.ศ. 2526 จากการทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ

จับเข่าคุยชีวิตหลังเกษียณ

ร.ต.ต.วิชัย ในวัย 70 ปี ย้อนเล่าไปเมื่อครั้งที่ตนยังหนุ่มยังแน่นว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมโชคดีมากๆ ที่มีโอกาสได้เข้าร่วมการอบรมใน โครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง อันเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9

โครงการนี้เขาสอนผมว่า เราต้องใช้สอยทรัพยากรของท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด, เราต้องพึ่งพาตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี และความทุกข์ของชาวบ้าน คือ ภารกิจที่เราต้องร่วมแก้ไข จนในที่สุด โครงการนี้ได้กลับกลายมาเป็น 'แรงบันดาลใจสำคัญ' ที่ทำให้ผมลุกขึ้นมาปลูกต้นไม้นับล้านต้นที่อำเภอปรางค์กู่

ตอนแรกชาวบ้านในละแวกนี้ ต่างก็ติฉินนินทา หาว่าผมเป็นผีบ้าบ้างแหละ เป็นคนบ้าบ้างแหละ เพราะคนดีๆ ที่ไหนจะไปปลูกต้นไม้ในที่ดินของคนอื่น ไปปลูกทำไมตามที่ดินสาธารณะ หรือปลูกตอนนี้จะได้กินเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ บ้างก็เอาผมไว้หลอกลูกหลอกหลานจนเป็นเรื่องตลกว่า 'นั่นแหนะ! ดาบวิชัยมาแล้ว หนีให้ไกลเลยนะ ไม่งั้นแกจะเรียกไปปลูกต้นไม้กลางแดด กลางฝนไม่รู้ด้วยนะ' ก็ว่ากันไปถึงขนาดนั้น” อดีตนายตำรวจวัย 70 ย้อนเล่าเรื่องราวในอดีตอย่างไม่คิดโกรธ

dab vichai 06

"คุณรู้ไหมครับ ตอนแรกๆ ที่ยังไม่มีใครเข้าใจในสิ่งที่ผมทำ ชาวบ้านบางคนเขาเอารถไถมาไถ บางคนถอนต้นไม้ที่ผมปลูกจนเหี้ยน บางคนจูงวัวจูงควายมาเหยียบ บางคนเผาต้นไม้จนไหม้ตาย ผมขี่รถผ่านไปเห็นภาพพวกนี้ น้ำตามันไหลไม่รู้ตัว สิ่งที่เราสร้างด้วยหัวใจ แต่ต้องตายไปเพราะคนที่ไม่เห็นค่า” คนบ้าปลูกต้นไม้ ย้อนเล่าไปถึงคืนวันอันแสนขื่นขม

เสียงวิจารณ์นินทา หรือการกระทำอันบั่นทอนจิตใจที่เกิดขึ้นในระยะเวลายาวนานถึง 18 ปีนั้น ไม่สามารถหยุดยั้งความตั้งใจของนายดาบผู้นี้ได้ เขายังมุ่งมั่น ยอมอดทน บากบั่นทำในสิ่งที่ทุกคนไม่เชื่อถือ ไม่ศรัทธา จนในที่สุด ดินแดนปรางค์กู่ที่เคยแห้งแล้ง ก็กลับกลายเป็นผืนดินที่คลาคล่ำไปด้วยต้นไม้นานาชนิด...

“ผมปลูกต้นไม้เพื่อคนทุกคนในอำเภอปรางค์กู่ ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวผมเอง ผมกล้าพูดอย่างนั้นครับ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมปลูกต้นไม้โดยไม่หวังผลตอบแทนจากใคร แต่สักวันหนึ่ง ต้นไม้ที่ผมปลูกมันจะกลายไปเป็นผลตอบแทนให้กับทุกคน” อดีตนายตำรวจฉายา คนบ้าปลูกต้นไม้ กล่าวอย่างภาคภูมิ

dab vichai 07

ณ เวลานี้ ถ้อยคำที่ ร.ต.ต.วิชัย ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า คนบ้าปลูกต้นไม้ผู้นี้ ได้แจกจ่าย ’ผลตอบแทน’ ให้แก่ผู้คนชาวปรางค์กู่ และละแวกใกล้เคียงได้อย่างที่เขาตั้งใจ เพราะปัจจุบันต้นตาลที่ ร.ต.ต.วิชัย ปลูกเอาไว้ ชาวบ้านได้เก็บเกี่ยวส่วนต่างๆ ของต้นไปใช้ประโยชน์มากมาย ยกตัวอย่างเช่น ช่อตาล ชาวบ้านนำไปทำน้ำตาลเข้มข้นชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลปึก ส่วนลูกตาล หรือตาลสด ก็ช่วยแก้ไข้ตัวร้อน ละลายเสมหะ บรรเทาอาการไอเรื้อรัง ส่วนขาตาล ชาวบ้านหรือพ่อค้าในละแวกนั้น ก็ตัดไปทำคราด ทำไม้กวาดได้

dab vichai 08

“ต้นตาล เป็นต้นไม้ที่ปลูกง่าย โตเร็ว ทนทาน โดนไฟเผาก็ยังไม่ตาย ส่วนต่างๆ ของต้นตาลก็ยังไปทำประโยชน์ได้อีกเยอะแยะ นอกจากต้นตาล ผมก็ยังปลูกต้นคูน เอาลำต้นไว้ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์, ยางนา เอาไว้สร้างบ้านได้, แค ใช้ทำกับข้าวได้, สะเดา ชาวบ้านเขาขายได้ราคามาก, ขี้เหล็ก ใช้ทำยาได้ สารพัดประโยชน์จากสิ่งที่ผมปลูก ชาวบ้านสามารถเอาไปใช้ได้เลย ผมไม่หวง ผมปลูกเอาไว้ให้แล้ว”

“จะปลูกไปอีกนานแค่ไหน?” เราเอ่ยถามชายวัย 70 ที่อยู่ตรงหน้า เขากล่าวอย่างแช่มช้าว่า “ผมจะปลูกไปจนตายนั่นแหละครับ ผมจะปลูกต้นไม้ไปทุกวันแบบนี้ จนสังขารมันจะสั่งการว่าไม่ไหว"

dab vichai 05

ช่วงชีวิตหลังเกษียณอายุราชการของ ร.ต.ต.วิชัย นั้น ไม่ใช่การพักผ่อนนอนสบายอยู่กับบ้าน ไม่ใช่การออกไปท่องเที่ยวหาความสุข แต่ชายชราวัย 70 ปีผู้นี้ กลับออกตระเวนปลูกต้นไม้ (เพื่อคนอื่น) อยู่เช่นเดิม วันแล้ว วันเล่า เขายังแบกจอบหอบเมล็ด ขุดตรงนั้น ฝังตรงนี้ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

"ถ้าเราลองนึกๆ ย้อนดูนะครับ สิ่งที่ผมทำมาตลอด 30 ปี ปลูกต้นไม้ไป 3 ล้านต้น สิ่งที่ผมทำยังไม่ได้เพียงเศษเสี้ยวของสิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงทำเพื่อพวกเราคนไทยเลยนะครับ ถ้าคุณนึกภาพออกว่าผมเหนื่อยขนาดไหน แล้วพระองค์ท่านล่ะครับ พระองค์ท่านจะเหน็ดเหนื่อยกว่าพวกเรามากมายหลายร้อยเท่าเพียงใด

ผมยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นต้นแบบในการดำรงชีวิตเสมอมา ผมเชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจว่า การปลูกต้นไม้เป็นการทำบุญที่ง่ายที่สุด เป็นการทำบุญที่สามารถเห็นผลได้ในชาตินี้ และนับเป็นคุณูปการอย่างสูงต่อผืนแผ่นดินเกิด” ร.ต.ต.วิชัย คนบ้าปลูกต้นไม้ 3 ล้านต้น น้ำตาคลอ พร้อมยกมือขึ้นพนมท่วมหัว...

คนของแผ่นดิน "คนบ้าปลูกต้นไม้" - ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร ThaiPBS

ทุกวันนี้ เราสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของดาบวิชัย คนบ้าปลูกป่า เพื่อร่วมชื่นชม หรือไปร่วมกิจกรรมการปลูกป่าของเขากับชุมชน กับเยาวชนหนุ่มสาว รวมทั้งเด็กๆ ได้ที่ Facebook : ดาบวิชัย คนบ้าปลูก

 

redline

backled1

 

philosopher header

ปราชญ์ผู้รอบรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน คือ ผู้ค้นพบวิถีแห่งภูมิปัญญาในด้านการทำมาหากิน ประกอบอาชีพในแขนงต่างๆ เป็นมรดกตกทอดมาสู่ลูกหลานชาวอีสาน จึงขอประกาศเชิดชูคุณูปการของท่านเหล่านั้นให้ลูกหลานได้รู้จัก เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ผู้จัดทำเว็บไซต์ไม่อาจทำความรู้จักกับปราชญ์ ผู้รู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านทุกท่านได้ ก็ได้แต่หวังว่าจะได้รับคำแนะนำจากท่านผู้รู้ในท้องถิ่นต่างๆ ได้ช่วยชี้แนะกันมา ยินดีรับข้อมูลและภาพประกอบของศิลปินชาวอีสานทุกท่านนำมาเสนอ ณ ที่นี้ ติดต่อได้ที่ webmaster (@t) isangate.com ขอบพระคุณทุกๆ ท่านครับ

รงบันดาลใจจากอัตประวัติของปราชญ์พื้นบ้านเหล่านี้ คือ ผู้สร้างคุณประโยชน์แนวทางในการดำรงชีวิต ต้นแบบแห่งเกษตรกรผู้หลุดพ้นจากวังวนหนี้สิน การทำมาหากินด้วยวิถีเดิมๆ ค้นคิด วางแนวทาง สาระอันเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน เพื่อสร้างอีสานให้อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร สร้างดิน สร้างป่า แหล่งน้ำให้ฟื้นคืนมาอีกครั้ง ขอกราบคารวะทุกๆ ท่านจากใจจริงของทีมงาน เว็บไซต์ประตูสู่อีสาน ขอรับกระผม

ฝากไว้ให้ได้คิด

อ่านใน Facebook ของเพื่อนบางท่านบอกว่า "เดี๋ยวเกษียณแล้วไปทำไร่นา พร้อมโชว์รูปไร่นาสวนผสม ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง" ซึ่งบางเพจก็ตอบสนองทันทีโดยการลงรูปกระท่อมปลายนา มีแปลงผักและต้นไม้เขียวขจี เพื่อขายให้คนมีกะตังค์ผู้สนใจหลังเกษียณ พ่อผมเป็นครู และ ทำสวนมาตลอดชีวิต สอนผมไว้ว่า

อย่าคิดทำอะไรหลังเกษียณ เพราะเมื่อถึงเวลานั้น จะไปโรงพยาบาล ก็ต้องให้ลูกพาไป ไปเองยังไม่ได้เลย ดังนั้น ถ้าอยากทำ ให้ทำตอนมีเรี่ยวแรง  "

small house

เพราะ ชีวิตหลังเกษียณต้องดูแลสุขภาพตัวเอง หรือบางทีต้องหาคนมาดูแลด้วยซ้ำ และที่เน้นมาตลอดก็คือ "ที่อยู่ตอนแก่ไม่ใช่กระท่อมปลายนา แต่ต้องเป็นบ้านที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ตั้งอยู่ในที่ที่รถกู้ภัยเข้าถึงได้ และมีสัญญานโทรศัพท์ กรณีฉุกเฉินโทร 1669 ได้ อย่าฝันหวาน ตามโลกโซเชียลกันเลย นะครับ"

Cr. Namom Thoongpoh

เกษตรกรรมอาชีพแห่งอนาคต

จากสถานการณ์ของการระบาดไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลกในครั้งนี้ ทำให้มองเห็นได้ว่า "อาชีพที่มั่นคงที่สุด คือ ผู้ผลิตอาหาร" นั่นคือ อาชีพเกษตรกรรม เพราะสามารถพึ่งพาตนเองได้ดีที่สุด เพราะการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นที่เป็นปัจจัยสำคัญคือ อาหารและน้ำ ซึ่งเกษตรกรสามารถผลิตสิ่งเหล่านี้ได้เองและเพียงพอ โดยเฉพาะการทำการเกษตรผสมผสาน พอเพียง ตามหลักทฤษฎีการเกษตรสมัยใหม่ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่ได้พิสูจน์มาแล้วเป็นเวลาหลายสิบปี

depression june 2021 12

สิ่งที่ต้องการให้เกษ๋ตรกรบ้านเราร่วมกันสร้าง ร่วมกันทำมากที่สุดในเวลานี้คือ "การสร้างแหล่งเก็บกักน้ำและปลูกป่า" ในพื้นที่ทำกินของตนเอง เพื่อให้มีระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมต่อการทำการเกษตรมากที่สุด ในช่วง 30 ปีให้หลังมานี้ เราได้พบกับภาวะฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนมาแทบทุกปีแน่นอน เกิดจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก การตัดไม้ทำลายป่าให้หมดไปจนดินขาดความชุ่มชื้น เมื่อขาดป่าการเกิดฝนก็ยิ่งมีน้อยลงทุกวัน เกษตรกรต้องสร้างแหล่งเก็บกักน้ำไว้ให้มาก เพื่อบรรเทาการขาดน้ำของพืชผล

ต้นไม้และป่าไม้ เป็นองค์ประกอบหนึ่งในกระบวนการเกิดฝน การเกิดฝนเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน จนถึงจุดที่ไอน้ำกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ และตกลงมาเป็นฝน ทำไมพื้นที่หนึ่งฝนไม่ตกแต่อีกพื้นที่หนึ่งฝนตกทั้งๆ ที่เมฆที่ปกคลุมบนท้องฟ้าเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน นั่นแสดงว่า พื้นที่ที่ฝนไม่ตกยังมีองค์ประกอบไม่เพียงพอที่จะทำให้ไอน้ำกลั่นตัวเป็นฝนได้ แต่พอเมฆลอยไปอีกพื้นที่หนึ่งก็ตกลงมาเป็นฝน แสดงว่าอีกพื้นที่นึงมีองค์ประกอบเพียงพอที่จะทำให้ไอน้ำกลั่นตัวลงมาเป็นฝนได้ ฉะนั้นลองสำรวจสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราในบริเวณที่เราอาศัยอยู่ว่า มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตบ้าง ก่อนที่จะตีโพยตีพายว่า ทำไมฝนไม่ตก?

“ของขวัญจากดิน” ศาสตร์พระราชา “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “เกษตรทฤษฎีใหม่”
โดยศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)