คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
"รำกระทบไม้" เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวจังหวัดสุรินทร์ เดิมเรียกว่า "เต้นสาก" ประเทศไทยมีอาชีพทางกสิกรรมมาช้านาน การทำนาผลิตข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย และทำรายได้เป็นสินค้าออกให้แก่ประเทศไทยอย่างมากมาย ชีวิตประจำวันของคนไทยส่วนใหญ่จึงคลุกคลีอยู่กับการทำนา เริ่มตั้งแต่หว่าน ไถ ดำ และเก็บเกี่ยว เป็นต้น ด้วยนิสัยรักสนุก หลังจากเลิกงาน จึงนำสากตำข้าวมากระทบกันเป็นเครื่องประกอบจังหวะ พร้อมกับมีการละเล่นให้เข้ากับจังหวะ แต่เดิมคงเป็นจังหวะตำข้าวในลักษณะยืนตำ 2 คน ต่อมาจึงลากไม้สากมาวางตามยาว มีคนจับปลายสาก หัว ท้าย ข้างละคน พร้อมทั้งใช้ไม้หมอนรองเคาะเป็นจังหวะ
ภายหลังกรมศิลปากรได้ศึกษาการละเล่นชนิดนี้ และนำมาปรับปรุงจัดระเบียบแบบแผนเรียงลำดับท่ารำขึ้น โดยไม่ทิ้งเค้าแบบแผนเดิม และได้นำออกแสดงเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2500 เนื่องในงานแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมกับราชอาณาจักรลาวในการปรับปรุงครั้งนั้น เนื่องจากบทร้องของเก่าไม่เหมาะสมที่จะรำได้สวยงาม กรมศิลปากรจึงได้ขอให้อาจารย์มนตรี ตราโมท แต่งบทร้อง และท่านผู้หญิงหม่อม แผ้ว สนิทวงศ์เสนีย์ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่ เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการรำ นอกจากไม้เคาะจังหวะประกอบการร่ายรำแล้ว ปัจจุบันนี้กรมศิลปากรได้นำวงปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ บรรเลงลำนำ ทำนองเพลงให้ไพเราะด้วย
บทร้อง มีความหมายในการละเล่นในยามค่ำคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวง มีการร่ายรำของหนุ่มสาวมีการเกี้ยวพาราสีกัน ตามเนื้อร้องดังนี้
แสงรัชนี | ส่องสีนวล |
ชื่นใจชวน | ยั่วยวนใจชมอภิรมย์เริงใจ |
เคล้าคู่เคียงไป | ฟ้อนกรายร่ายรำ |
หนุ่มวอนกลอนกล่าว | เว้าสาวหวานฉ่ำ |
จันทร์งามยามค่ำ | เป็นสายนำดวงใจ |
ยามเดือนลอยเด่น | หมือนดังเป็นใจให้ |
สาวหนุ่มพลอดกัน | กรีดกรายร่ายรำ สำเริงรื่น |
แสนชื่นชอบเชิง | เริงรำ ทำทางกั้น |
สับเปลี่ยนเวียนผัน | กันสำราญ |
ร่ายรำท่ามกลาง | แสงเดือนเด่น |
เยือกเย็นน้ำค้าง | ช่างซาบซ่าน |
สาวรำนำหนุ่ม | ชุ่มชื่นบาน |
รำกระทบไม้
เครื่องแต่งกาย
การแต่งกาย แต่งได้ 2 แบบ คือ
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน
อุปกรณ์การแสดง แต่เดิมวางไม้สากตามความยาว 2 อัน ให้ไม้หมอนรองหัวและท้ายไม้ทั้ง 2 ด้าน ปลายสากจะมีคน 2 คน จับปลายเพื่อกระทบกัน ภายหลังกรมศิลปากรปรับปรุง และจัดลำดับท่ารำให้เป็นระเบียบขึ้นแต่ยังคงรักษาเค้าแบบแผนเดิม โดยปรับปรุงเป็นไม้ไผ่ 2 ลำ ขนาดเท่ากันยาวประมาณ 2 - 4 เมตร และใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นหมอนวางรองทั้งสองปลาย ผู้กระทบนั่งกับพื้นจับปลายทั้งสองคนเพื่อจะได้ตีกระทบกัน
วิธีเล่นกระทบไม้
จังหวะกระทบไม้จะเป็นจังหวะ 8 จังหวะ แล้วย้อนกลับไปใหม่เรื่อยๆ ดังนี้
จังหวะที่ |
1 |
2 |
3 |
4 |
5 |
6 |
7 |
8 |
จังหวะไม้ |
ชิด |
ห่าง |
ห่าง |
- |
ห่าง |
ห่าง |
ชิด |
- |
ท่ารำ-กระบวนท่ารำ
ชาวไทอีสาน จะยึดมั่นในพระพุทธศาสนา และปฏิบัติตามฮีต 12 คอง 14 กันสืบมา ฮีตที่ 4. บุญผะเหวด หรือ บุญเดือนสี่ เป็นบุญที่มีการเทศน์พระเวส หรือ มหาชาติ เรียกว่า บุญผะเหวด ซึ่งหนังสือมหาชาติ หรือ พระเวสสันดรชาดกแสดงถึงจริยวัตรของพระพุทธเจ้า คราวพระองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร เป็นหนังสือเรื่องยาว 13 ผูก
ในช่วงเดือนสี่ในทุกๆ ปีจะมีงานประเพณีบุญมหาชาติหรือบุญผะเหวด ซึ่งในงานจะมีการแห่ผะเหวดเข้าเมือง ซึ่งชาวภูไท ในอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ได้จัดพิธีอย่างยิ่งใหญ่ และจะมีการจัดขบวนฟ้อนรำซึ่งแสดงออกถึงความดีใจ ความรื่นเริงสนุกสนาน เป็นการฟ้อนนำหน้าขบวน เพื่อต้อนรับผะเหวดที่แห่เข้ามาสู่เมือง
ท่าฟ้อนโก๋ยมือ ประกอบไปด้วยท่าต่างๆ เช่น ท่าประแป้ง ท่าแญงแว่น (ส่องกระจก) ท่ากกกระต่าย ท่าเชิญสายท้าวพญา ท่ามาลาช่อม่วง ท่าน้าวหน่วงมาลา ท่านาคาม้วนหาง ท่านางญอขา ท่ากาเต้นก้อน ท่านอนหมอนหมิ่น ทากินรีชมหาด ท่านางนาถอ่วยคืน เป็นต้น
ฟ้อนโก๋ยมือ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด
เครื่องแต่งกาย การฟ้อนนั้นจะมีทั้งชายและหญิง สวมเสื้อแขนยาวหรือเสื้อแขนกระบอก ใช้ผ้าสไบขิดโพกศีรษะและพาดไหล่ หากฝ่ายชายจะมัดเอวด้วย นุ่งผ้าโจงกระเบนปล่อยชายด้านซ้าย สวมเล็บมีพู่ติดปลาย และสวมเครื่องประดับเงิน
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน
อุปกรณ์การแสดง ซวยมือปลายยาวพริ้วไหวด้วยขนสัตว์
คณะกลองยาว หรือวงกลองยาวก็เกิดขึ้นก่อนที่โปงลางจะดัง เช่นกัน แต่ปัจจุบัน คณะกลองยาว ก็ได้รับการปรับปรุงพัฒนา ประยุกต์รูปแบบนำเสนอใหม่ และกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในภูมิภาคอีสาน คณะกลองยาวนิยมใช้สำหรับประกอบขบวนแห่ต่างๆ เช่นเดียวกับวงมโหรีอีสาน
คณะกลองยาวตามหมู่บ้านในสมัยก่อน ใช้กลองยาวเป็นเครื่องดนตรีหลัก โดยใช้กลอง ประมาณ 3 - 5 ลูก ไม่มีพิณหรือแคนบรรเลงลายประกอบ อาศัยลวดลายของจังหวะกลอง และลีลาการตีฉาบใหญ่เป็นสิ่งดึงดูด ซึ่งคณะกลองยาวนี้ ยังไม่มีขบวนนางรำ ฟ้อนรำประกอบ (และอาจยังไม่มีชุดแต่งกายประจำคณะ)
เมื่อคณะกลองยาว พัฒนาขึ้นเป็นคณะกลองยาวจริงๆ เพื่อดึงดูดให้เจ้าภาพงานมาว่าจ้าง บางคณะจึงได้เพิ่มจำนวนกลองขึ้นมาให้ดูยิ่งใหญ่ขึ้น เช่น 10 ลูกบ้าง 14 ลูกบ้าง 20 ลูกบ้าง และนอกจากจะให้ผู้ชายตีกลอง บางคณะอาจใช้ผู้หญิงตีก็มี แต่ในยุคนั้นยังเป็นการโชว์กลองยาวอยู่ จึงยังไม่มีพิณ แคน บรรเลงประกอบ และยังไม่มีขบวนนางรำ ฟ้อนประกอบ คนตีกลอง จะฟ้อนไปด้วย ตีกลองไปด้วย
คณะกลองยาวในยุคปัจจุบัน ได้นำหลายๆ อย่างประยุกต์ เพื่อให้ดูทันสมัยขึ้น นั่นคือ นอกจากใช้การโชว์กลองเป็นจุดขายแล้ว ยังขายความบันเทิงอื่นๆ ด้วย เช่น ใช้พิณ แคน บรรเลงประกอบ ใช้อีเล็กโทนบรรเลงประกอบ ใช้เครื่องขยายเสียง เพื่อให้เสียงพิณ หรืออีเล็กโทนดังไกล มีขบวนนางรำ ฟ้อนประกอบขบวนแห่ มีเครื่องแต่งกายเป็นเอกลักษณ์ และบางคณะ อาจมีการจัดรูปแบบขบวน ตกแต่งรถสำหรับขบวนแห่แบบต่างๆ เป็นต้น ซึ่งนี่คือตัวอย่างแห่งศิลปวัฒนธรรมที่ไม่หยุดนิ่ง
เครื่องแต่งกาย แต่งด้วยชุดพื้นบ้านอีสาน ชายนุ่งขาก๊วย เสื้อม่ฮ่อม ผ้าขาวม้าพาดเอว หญิงนุ่งผ้าซิ่น เสื้อแขนกระบอก มีสะไบพาดบ่า
เครื่องดนตรี ประจำคณะกลองยาว
คณะกลองยาว วงใหญ่หรือเล็ก ในสมัยก่อน ขึ้นอยู่กับ จำนวนกลองยาวที่ใช้ โดยวงขนาดเล็ก ใช้กลองยาวประมาณ 3 - 5 ลูก หากกลองยาวไม่เกิน 20 ลูก ยังถือว่า เป็นวงขนาดกลางอยู่ หากเกิน 20 ลูกขึ้นไป จัดว่าเป็นวงขนาดใหญ่ ในปัจจุบัน นอกจากดูเรื่องจำนวนกลองยาวแล้ว ยังต้องดูขบวนนางรำประกอบด้วย
กลองยาว ที่ใช้ในคณะกลองยาว จะต้องปรับเสียงให้กลองทุกลูก ดังในคีย์เดียวกัน โดยใช้ข้าวเหนียวนึ่งสุก บดให้ละเอียด ติดหน้ากลอง และเมื่อเล่นเสร็จ ก็ต้องทำความสะอาด คราบข้าวเหนียวออกให้หมด ก่อนนำกลองไปเก็บ
ลายพิณแห่กลองยาว โดย ทองใส ทับถนน
กลองกิ่ง หรือบางแห่งเรียก กลองจิ่ง เป็นกลองขนาดใหญ่ หน้ากลองกว้าง 50 ซ.ม. ก้นกลองกว้างประมาณ 20 ซ.ม. เป็นกลองที่แปลกคือ ไม่ได้ใช้ในพิธีหรือให้จังหวะแต่ทำกลองขึ้นมาสำหรับตีแข่งขันกันให้เสียงดังที่สุด ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า เส็งกลอง คำว่า เส็ง แปลว่า การแข่งขัน การเส็งกลองก็คือการแข่งขันหรือการประกวดตีกลอง นอกจากจะใช้ตีแข่งขันที่เรียกว่า เส็งกลองแล้วยังนิยมวางนอนกับพื้นแล้วตีด้วยท่าต่างๆ เรียกว่า ลายกลอง
ชาวโส้ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่มากที่อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร มีความสนใจการเล่นลายกลองมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และเนื่องจากกลุ่มชาวโส้มีภาษาพูดซึ่งมีสำเนียงแตกต่างจากชนกลุ่มอื่นๆ จึงทำให้ชาวโส้มีทำนองเพลงหรือลายแคนแตกต่างจากกลุ่มไทยลาว การตีลายกลองนี้เวลาตีผู้ตีจะเคลื่อนไหวร่างกายไปมา ยิ่งกว่านั้นบางรายอาจจะนำเอาลีลาการเลียนแบบของสัตว์ต่างๆ มาตั้งเป็นชื่อลายต่างๆ จากการเล่นตีกลองลายต่างๆ นี้เองทางวิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูสกลนคร จึงนำแนวคิดนี้มาประยุกต์เป็นท่าฟ้อนขึ้นเรียกว่า "รำลายกลองกิ่งกุสุมาลย์" โดยมีท่าทางการรำเลียนแบบท่าตีกลองเป็นท่าต่างๆ
เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วนแต่งกายแบบพื้นเมืองของชาวโส้ คือ นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ สวมเสื้อคอกลมแข้นสั้นป้ายข้าง ติดกระดุมสีขาวตลอดแนว ผมเกล้ามวยสูงใช้ฝ้ายผูกมวย
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ประกอบด้วยกลองกิ่ง กลองตุ้ม เพลงบ้งไต่ขอน เพลงแมงตับเต่า และเพลงโปงลาง
อุปกรณ์การแสดง กลองกิ่ง และไม้ตีกลอง
ลำดับขั้นตอนการแสดง ผู้แสดงจะถือไม้ตีกลองออกมาทำท่าต่างๆ ตามบทร้อง ท่าฟ้อนที่เลียนแบบท่าตีกลอง
ฟ้อนลายกลองกิ่งกุสุมาลย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
คลิกไปอ่าน ดนตรีประกอบการฟ้อนภาคอีสาน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)