คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ถึงฤดูกาลท่องเที่ยววันหยุดยาวของเพื่อน ก็มักจะมีการจัดทริปไปพักผ่อนกัน บรรดาเพื่อนฝูงก็มักจะมาถามผมว่า "ทริปนี้ เราจะไปเที่ยวไหนดีหว่า" ผมก็มักจะบอกว่า "ไปเที่ยวบ้านฉันซิ อุบลราชธานี มีที่กินที่เที่ยวเยอแยะ ที่พวกแกชอบในสไตล์คูลๆ ชิคๆ ชิลๆ ตามสมัยนะเฮ้ย" พวกนั้นก็จะประสานเสียงสวนกลับมาว่า "มีด้วยหรือ? อีสานแล้งนะ อุบลฯ ก็มีดีแต่งานแห่เทียนแหละ เดินทางไม่สะดวกมั๊ง บลาๆๆๆ " ผมละหน่ายพวกมันจริงๆ วันนี้ก็เลยรวบรวมที่เที่ยวในอุบลราชธานีที่สุดแสนจะสวยงาม เดินทางสะดวก ที่พักมากมาย ของกินที่พลาดไม่ได้อีกเพียบ มาๆ ตามผมไปเลย (ฮั่นแน่... ไม่ต้องเตรียมเสื่อ ต้มมาม่า ครับ ไม่อดตายแน่นอน)
ไปอุบลราชธานีเดี๋ยวนี้แสนสะดวกสบายครับ ถ้าชอบเดินทางด้วยรถยนตร์ส่วนตัวก็มีเส้นทางหลักหลายสาย เป็นถนนลาดยางทั้ง 2 เลน 4 เลน เชื่อมต่อกับทุกภาค ส่วนท่านที่ไม่อยากขับรถไปเองอยากจะเดินทางแบบสบายๆ ก็ใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น
คลิกดูตารางบินของสายการบินต่างๆ ที่มีปลายทางที่อุบลราชธานี
อุบลราชธานี มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่า 200 ปี มีทั้งวัดวาอารามที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์การก่อสร้างด้วยูปแบบศิลปะช่างท้องถิ่น ช่างกลุ่มไทยญวณ-ล้านช้าง และช่างกลุ่มช่างหลวง-ล้านช้าง มีเกจิอาจารย์ ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบมากมาย การสืบทอดด้านอาชีพของฅนอีสานอันโดดเด่น เช่น การทำเครื่องทองเหลือง การทำเครื่องปั้นดินเผา การทอผ้าลายกาบบัว เป็นต้น ที่เที่ยวแนะนำมีดังนี้
วัดหนองป่าพง (อังกฤษ : Wat Nong Pah Pong) เป็นวัดป่าฝ่ายอรัญวาสี มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2497 โดยพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) ต่อมาได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2517 ตั้งอยู่บ้านพงสว่าง หมู่ที่ 10 ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันวัดหนองป่าพงมีวัดสาขาทั้งในและต่างประเทศไทยจำนวนมาก จากการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาสายวิปัสนากรรมฐาน โดยบรรดาพระลูกศิษย์ซึ่งศรัทธาในปฏิปทาของหลวงปู่ชา สุภทฺโท
วัดหนองป่าพง เป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ มุ่งหมายที่การประพฤติพรหมจรรย์ตามรอยพระยุคลบาท ของพระโคตมพุทธเจ้าที่ทรงดำรงพระชนม์ชีพในป่า เพื่อค้นคว้าแสวงหาทางพ้นทุกข์ แล้วทรงนำความรู้แจ้งเห็นจริงนั้น มาเผยแผ่เกื้อกูลความสุขแก่มหาชนทั่วไป
วัดสำคัญวัดหนึ่งของจังหวัด ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจคือ "พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์" ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษ ของพุทธศาสนาในปี พ.ศ. 2500 เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอบองค์พระธาตุเป็นกำแพงแก้ว ซึ่งทั้ง 4 มุม ของกำแพงแก้วได้ประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็กอีก 4 องค์ ภายในองค์พระธาตุมีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน พระธาตุองค์เดิมมีขนาดกว้างด้านละ 5 เมตร สูงประมาณ 17 เมตร เมื่อสร้างใหม่ครอบองค์เดิม คือพระบรมธาตุที่เห็นในปัจจุบัน มีขนาดใหญ่มาก ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 17 เมตร สูง 56 เมตร เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2512 (สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก วัดพระธาตุหนองบัว)
วัดสิรินธรวราราม (ภูพร้าว) เป็นวัดที่นักท่องเที่ยวกล่าวถึงกันหมากในฐานะ วัด Unseen Thailand แห่งใหม่ที่(ต้อง)ห้ามพลาด ตั้งอยู่ที่ตำบลช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี และด้วยพิกัดที่ตั้งของวัดอยู่บนเนินเขาสูง นอกจากพื้นที่นี้จะเป็นที่ประดิษฐานโบสถ์อันสวยงามแล้ว ยังมีจุดชมวิวและทัศนียภาพอยู่หลายจุด หรือจะนั่งชมความสวยงามของพระอาทิตย์ตกยามเย็นก็ยังได้ รวมไปถึงเหมาะสำหรับการดูดาว ซึ่งหากโชคดีอาจได้พบฝูงช้างเผือกเชือกใหญ่เปล่งประกายบนท้องฟ้า ท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบร่มรื่น แต่ไฮไลท์เด็ดที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดเลย ก็คือ การได้มาชมภาพเรืองแสงสีเขียวของต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งเป็นจิตรกรรมบริเวณด้านหลังของอุโบสถนั่นเอง
บ้านคำปุน อำเภอวารินชำราบ ผู้ผลิตและอนุรักษ์ผ้าพื้นเมืองอุบลราชธานีที่มีชื่อเสียง เปิดบ้านให้ผู้มาเยือนได้ชื่นชมศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองที่บ้านคำปุน ได้สืบสานอนุรักษ์มายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงาม ผ้าโบราณที่สูงค่า กรรมวิธีการผลิต ผ้าทอพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านคำปุนและงานศิลปะด้านอื่นๆ อีกมากมาย
บ้านคำปุน อยู่ภายในบริเวณอาคารแบบไทยอีสาน เป็นทั้งแหล่งผลิตและแหล่งเรียนรู้ ถึงกระบวนการถักทอผ้าไหมของไทยที่สั่งสมมานานปี เพื่อสืบสานภูมิปัญญาตั้งเดิมของท้องถิ่น โดยมีผู้ให้ความรู้แก่ช่างทอในปัจจุบัน คือ นางคำปุน ศรีใส ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์-ถักทอ พ.ศ. 2537 และบุตรชาย คือ นาย มีชัย แต้สุจริยา ศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2544 ทั้งยังเป็นผู้คิดค้นและออกแบบผ้าลายกาบบัว ผ้าเอกลักษณ์จังหวัดอุบลราชธานี ตลอดจนบ้านคำปุนยังเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว “บ้านคำปุน” อีกด้วย
บ้านคำปุน ได้เปิด Khampun Museum Cafe สุดหรู (ราคาเครื่องดื่มและขนมไม่แพงอย่างที่คิด) Cafe นี้เป็นร้านจำหน่ายกาแฟ เครื่องดื่ม เค้ก และของที่ระลึกของบ้านคำปุน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมภายในเป็นสถานที่มีความร่มรื่น เขียวขจี มีอาคารที่มีสถาปัตยกรรมไทยผสมผสานกับรูปลักษณ์ของท้องถิ่นอีสาน ทั้งนี้ยังมีการจัดแสดงผ้าไหมเก่าแก่รุ่นบุกเบิกเมืองอุบลราชธานี รวมถึงโบราณวัตถุต่างๆ อีกมากมาย รายละเอียดข่าวสารติดตามทางเพจเฟซบุ๊กบ้านคำปุน
ศิษย์มีครู - งามวิจิตรผ้ากาบบัว
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามจุดมุ่งหมายของการพัฒนากิจการ "พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่" โดยให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และเพื่อให้เป็นศูนย์อนุรักษ์ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น และให้บริการทางการศึกษา เกี่ยวกับขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ศิลปะ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
แต่เดิมเคยเป็น "อาคารศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี" มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2461) สร้างบนที่ดินของทายาทราชบุตร (สุ่ย บุตรโลบล) คือหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา (ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์) ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว (มณฑลอีสาน) ประทับ ณ เมืองอุบลราชธานี ซึ่งทรงขอมาเพื่อใช้เป็นที่สาธารณะสำหรับทางราชการ
ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของอาคารนี้ คือ ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยแต่ละด้านสร้างเป็นอาคารโอบล้อมหันหน้าเข้าหากัน มีห้องโถงใหญ่อยู่โดยรอบ และมีระเบียงทางเดินเชื่อมถึงกัน เหนือกรอบประตูและหัวเสา รับชายคาที่ระเบียงประดับด้วยไม้ฉลุเป็นลายพันธุ์พฤกษา พื้นที่ด้านข้าง 2 ด้านเป็นลานโล่งสำหรับปลูกสวนหย่อม และให้อากาศและแสงสว่างส่องเข้าหาภายในอาคาร
อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2532 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. 2544
ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ โดยห้องจัดแสดงของที่นี่ คือ ห้องสำนักงานเดิมของศาลากลางจำนวน 10 ห้อง ซึ่งไล่เรียงลำดับไปตั้งแต่เรื่องธรณีวิทยา สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงสมัยทวารวดี ขอม ไทย ลาว และเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งงานหัตถกรรม ดนตรี และงานประเพณีศิลป์ในศาสนา โบราณวัตถุที่น่าสนใจ อาทิ พระพุทธรูปสำริดมีจารึกที่ฐาน ระบุว่า ‘สมเด็จพระราชเชฏฐา’ หรือ เจ้ามหาชีวิตอนุวงศ์แห่งราชอาณาจักรเวียงจันทร์ ให้หล่อขึ้นใน จ.ศ. 1188 (พ.ศ. 2369) ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี
ใครที่ชอบความชิกๆ คูลๆ แบบเชียงคาน ก็ต้องมาที่นี่เลย อำเภอเขมราฐ เมืองเล็กๆ สุดอบอุ่นริมฝั่งแม่น้ำโขง บ้านเรือนที่อยู่ใจกลางเมืองล้วนแต่เป็นบ้านไม้เก่า ที่ได้รับการดูแลมาอย่างดี จึงทำให้เขมราฐมีเสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย ทั้งสองฟากฝั่งถนนจะเต็มไปด้วยบ้านเรือนเก่าๆ ที่สร้างขึ้นด้วยไม้ทั้งหลัง นักท่องเที่ยวสามารถที่จะเดินถ่ายรูปได้ตลอดทั้งแนวถนน ซึ่งมีจุดห้ามพลาดอยู่หลายแห่ง คือ โรงแรมสุขสงวน บ้านขุนภูรีประศาสน์ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเมืองเขมราษฎร์ธานี
และที่เป็นไฮไลท์คือ การเดินตลาดต้องชม ถนนคนเดินเขมราฐ ซึ่งทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 4 โมงเย็น เป็นต้นไป จะมีกิจกรรมการแสดงของชาวบ้าน การจัดจำหน่ายอาหารพื้นเมืองตามฤดูกาล สินค้าโอท็อปขึ้นชื่ออย่าง ผ้าย้อมครามเขมราฐ ผลิตภัณฑ์จากกล้วย เช่น กล้วยตาก กล้วยฉาบ เป็นต้น
นอกจากนั้นอำเภอเขมราฐ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอยู่หลายที่ให้ได้ชม ซึ่งอยู่ติดกับริมฝั่งแม่น้ำโขงตลอดแนวยาวถึง 40 กิโลเมตร ก็มีหลายที่ที่ไม่ควรพลาด เช่น หาดทรายสูง แก่งช้างหมอบ ภูอ่าง แก่งพลาเหล็ก ภูรัง ภูพนมดี ภูยอ
อุบลราชธานี ก็มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยสดงดงาม เที่ยวได้ทั้งปีมีทั้งป่าไม้ พรรณไม้ ภูเขา น้ำตก หาดทรายและทะเล(น้ำจืด) มีแหล่งเดินป่าท่องเที่ยวตั้งเต้นท์พักแรม ในเขตอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง เป็นที่เลื่องลือติดระกับโลก
อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอบุณฑริก อำเภอนาจะหลวย และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาวและกัมพูชา จึงมีการขนานนามบริเวฦณนี้ว่า “สามเหลี่ยมมรกต” ได้รับประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 53 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2530
คำว่า ภูจองนายอย มีที่มาจากคำ 2 คำคือ ภูจอง หมายถึง ภูเขาที่มีต้นจองขึ้นอยู่หนาแน่น ซึ่งทางภาคอีสานเรียก หมากจอง ทางภาคกลางเรียกว่า ต้นสำรอง ส่วนคำว่า นายอย เพี้ยนมาจากคำว่า น้ำย้อย รวมความแล้วอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย หมายถึงภูเขาที่มีต้นสำรองขึ้นอยู่มากและมีน้ำไหลย้อยตามหน้าผาของลำน้ำตามอุทยาน
มีพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งอยู่ในแนวเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งมีป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังที่หนาแน่นสมบูรณ์ เป็นอุทยานฯ ที่มีสภาพธรรมชาติที่สวยงามมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย ด้วยการเดินทางที่สะดวกสบาย เพราะมีถนนลาดยางเข้าถึงอุทยานฯ มี "น้ำตกห้วยหลวง" หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "น้ำตกถ้ำบักเตว" เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่ เป็นหน้าผาหินที่มีน้ำกระโจนตกจากที่สูงลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง มีความสูงประมาณ 40 เมตร
ใต้หน้าผานั้นมีซอกหินที่คุณสามารถเดินลงไปชมน้ำตกได้อย่างใกล้ชิด โดยจะมองเห็นสายน้ำไหลผ่านด้านหน้า เหมือนน้ำฝนตกจากชายคา บริเวณแอ่งน้ำด้านล่างน้ำตกสามารถลงเล่นน้ำได้ด้วย กระแสน้ำที่ไหลตกจากที่สูงทำให้เกิดเป็นหาดทรายขนาดย่อม ซึ่งแวดล้อมด้วยป่าไม้ที่ร่มรื่น นับเป็นหาดทรายกลางป่าที่สวยงามไม่เหมือนที่ใดๆ น้ำตกห้วยหลวงจะสวยงามมากที่สุดในช่วงปลายฝนต้นหนาว
จากแอ่งน้ำด้านล่างน้ำตกห้วยหลวง คุณสามารถเดินเลาะไปตามลำธารเพื่อไปชม "น้ำตกประโอนละออ" ระยะทางเพียง 100 เมตรเท่านั้น หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "น้ำตกจุ๋มจิ๋ม" เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่สวยงาม สายน้ำไหลตกจากหน้าผาไม่สูงนัก แต่ด้านหน้ากว้าง มีแอ่งน้ำที่เหมาะสำหรับลงเล่นและนวดตัวด้วยสายน้ำ
"แก่งลำดวน" เป็นแก่งหินธรรมดาแต่มีความพิเศษที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว Unseen in Thailand เพราะเป็นจุดดู "กุ้งเดินขบวน" ที่จะมีให้เห็นในตอนกลางคืน ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายนเท่านั้น นับว่าเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่ไม่น่าพลาดชมจริงๆ
นอกจากน้ำตกแล้ว ที่นี่ยังมีอากาศที่หนาวเย็นในฤดูหนาว จึงมีนักนิยมไพรมากางเต็นท์พักแรมบนภูสูงอีกด้วย โดยเฉพาะที่ "ภูหินด่าง" ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบุณฑริก ภูหินด่างเป็นภูเขาหินทรายที่ประกอบไปด้วยลานหินที่มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่สวยงาม แปลกตา ทั้งลานหินงอก แอ่งหินเว้า และร่องหินแยก บนภูเป็นจุดชมวิวบริเวณหน้าผา และยังเป็นเส้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและลาว ซึ่งมีหลักบอกเขตตั้งอยู่ แต่การเดินทางต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อยกสูง หรือใช้บริการรถอีแต๊กของชาวบ้าน และคุณต้องเตรียมน้ำดื่ม อาหาร และอุปกรณ์ในการค้างแรมมาด้วย
ในอดีตชาวบ้านท้องถิ่นที่ทำกินในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ป่าภูผา น้อยคนนักที่จะเดินทางเข้าไปในป่าแห่งนี้ เนื่องจากมีความเชื่อว่า “ผาแต้มเป็นเขตต้องห้าม ภูผาเหล่านั้นมีความศักดิ์สิทธิ์นักเป็นภูผาแห่งความตาย ใครล่วงล้ำเข้าไปมักมีอันเป็นไปอาจเจ็บไข้ หรือเป็นอันตรายถึงชีวิต” ปัจจุบัน พื้นที่ป่าภูผาแต้ม ได้ถูกเปิดเผยจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เมื่อคณะอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มาทำการสำรวจค้นพบภาพเขียนสีโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม ท้องที่บ้านกุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบกับสภาพป่าในบริเวณใกล้เคียงยังอุดมสมบูรณ์อยู่ อุทยานแห่งชาติผาแต้มเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 74 ของประเทศไทย
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีเนื้อที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี และมีพื้นที่ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดน มีพื้นที่ประมาณ 140 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ราบสูงและเนินเขา มีหน้าผาสูงชันซึ่งเกิดจากการแยกตัวของผิวโลก สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง มีหินทรายลักษณะแปลกตากระจายอยู่ทั่วบริเวณ มีพันธุ์ไม้ดอกที่สวยงามขึ้นอยู่ตามลานหิน ซึ่งที่อุทยานฯ แห่งนี้มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่านานาชนิด มีจุดเด่นที่สวยงามตามธรรมชาติมากมาย
ทางด้านลักษณะภูมิประเทศ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีสภาพพื้นที่เป็นเทือกเขาติดต่อกันลักษณะสูงๆ ต่ำๆ สลับกันไปทั่วพื้นที่ ระดับความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 100-600 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีภูผาที่สำคัญ ได้แก่
ภูผาขาม : ผาขามเป็นผาหินทรายรูปหินตัดที่มีความสูง 260 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวมาชมพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครที่ผาแต้ม
ผาชะนะได : จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในสยาม และเป็นจุดที่ทางกรมอุตุนิยมวิทยาใช้เป็นจุดคำนวณเวลาพระอาทิตย์ขึ้น
เสาเฉลียง : เป็นเสาหินธรรมชาติที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำและลมนับล้านปี มีลักษณะคล้ายดอกเห็ดเรียงรายกันอยู่มากมาย ซึ่งหินดังกล่าวจะปรากฏเห็นซากเปลือกหอย กรวด ทราย อยู่ในเนื้อหิน ซึ่งนักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่าเมื่อประมาณล้านกว่าปีมาแล้ว บริเวณนี้คงจะเป็นทะเลมาก่อน
น้ำตกสร้อยสวรรค์ : เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เกิดจากลำธาร 2 สาย คือห้วยสร้อยและห้วยไผ่ ที่ไหลจากมาบรรจบกัน สูงประมาณ 20 เมตร มองดูคล้ายสร้อยคอ
น้ำตกแสงจันทร์ หรือ น้ำตกลงรู : เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงามและมีลักษณะพิเศษ เกิดจากลำห้วยเล็ก ๆ บนลานหินไหลลอดผ่านหน้าผา หินที่มีลักษณะเป็นรูลงสู่เพิงผาด้านล่างหากเดินทางมาชมตอนช่วงเที่ยงวัน ซึ่งแสงอาทิตย์ลอดผ่านรูพอดีจะมอง เห็นสายน้ำตกเหมือนแสงจันทร์
การเดินทาง จากอำเภอโขงเจียมใช้ทางหลวงหมายเลข 2134 ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 2112 ถึง กิโลเมตรที่ 8 แล้วเลี้ยวขวาไปผาแต้มอีกราว 5 กิโลเมตร รวมระยะทางจากโขงเจียมประมาณ 18 กิโลเมตร
สำหรับท่านที่สนใจอย่างเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ก็สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ตู้ ปณ.5 ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี 34220 โทรศัพท์ 045-318026, 045-246332 และ เฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุบลราชธานี
ท่องเที่ยว สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี
สามพันโบก เป็นแก่งหินหรือกุมภลักษณ์ที่อยู่ใต้ลำน้ำโขง ในอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เกิดจากแรงน้ำวนกัดเซาะ กลายเป็นแอ่งมากกว่า 3,000 แอ่ง และคำว่า "แอ่ง" ในภาษาท้องถิ่นจะเรียกว่า "โบก" จึงเป็นที่มาของคำว่า สามพันโบก และจะปรากฏให้เห็นในช่วงฤดูแล้งที่น้ำแห้งขอด แก่งหินดังกล่าวก็จะโผล่พ้นน้ำคล้ายภูเขากลางลำน้ำโขง จนชาวบ้านเรียกว่า แกรนแคนยอนน้ำโขง ซึ่งจะปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณ เดือนตุลาคม - พฤษภาคม ซึ่งหลังจากนั้นจะมีน้ำหลากมาท่วมโบกเหล่านั้นจมหายไปอยู่ใต้แม่น้ำ
หากอยากเที่ยวสามพันโบกให้ครบรส แนะนำให้ไปล่องเรือแม่น้ำโขงที่หาดสลึง ซึ่งเป็นท่าเรือสำหรับพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวยังจุดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้กับสามพันโบก ราคาเรือเช่าเหมาลำอยู่ที่ 1,000 บาท สามารถนั่งได้ 12-15 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560) จุดท่องเที่ยวที่มักจะอยู่ในโปรแกรมล่องเรือสามพันโบก อาทิ "หาดหงส์" หาดทรายสุดกว้างใหญ่ริมแม่น้ำโขง ที่เกิดจากการพัดพาของลม นักท่องเที่ยวสามารถที่จะเดินขึ้นไปเที่ยวชม รวมทั้งเล่นสไลเดอร์ได้อีกด้วย
"หาดชมดาว" และ "แก่งหินงาม" ซึ่งเป็นหาดทรายกว้างและแก่งหินกลางแม่น้ำโขง มีพื้นที่ราว ๆ 200 ไร่ และยังมีความสวยงามสดใหม่อยู่มาก จะเห็นลวดลายของหินที่ยังคงเด่นชัด บรรยากาศเงียบสงบ ความอลังการของแก่งหินที่นี่จะทำให้คุณประทับใจไม่มีวันลืมเลยทีเดียว
อุบลราชธานี ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวคลายร้อนหลายแห่งครับ ถ้าใกล้ตัวเมืองก็มี หาดคูเดื่อ หาดศรีภิรมย์ และกำลังพัฒนาใหม่หลังจากร้างลาไปนานคือ เกาะหาดวัดใต้ (กลางลำน้ำมูล) สถานที่เหล่านี้จะมีบริการแพอาหารพื้นบ้านมากมายให้เลือกชิมกัน ทั้งข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่าง ลาบปลา ต้มปลา กุ้งเต้น ฯลฯ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภททะเลน้ำจืด ที่ พัทยาน้อย (อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร) มีแพบริการอาหาร เครื่องเล่นสวนน้ำ ให้บริการ
ล่าสุดมีบริการล่องแพในลำน้ำโดมน้อย ที่ ท่าล่องแพคำเขื่อนแก้ว บริการล่องแพเชิงอนุรักษ์ รักษาสิ่งแวดล้อม ตามลำน้ำโดมน้อยหรือลำน้ำใต้เขื่อนสิรินธร เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดอุบลฯ ล่องแพลำโดมน้อย เหมาะที่จะร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์ในครอบครัว องค์กร บริษัท หน่วยงาน ฯลฯ มีสายน้ำใสเล่นน้ำได้ ผู้ให้บริการมีเสื้อชูชีพให้บริการทุกท่านเพื่อความปลอดภัย นอกจากนั้นยังมีบริการ "เรือคายัก" ใว้คอยบริการทุกท่านสำหรับท่านที่ชอบกิจกรรมทางน้ำ
ค่าบริการ 2,000 บาท/แพ (ไม่รวมค่าน้ำแข็ง เครื่องดื่ม สามารถสั่งได้ตอนโทรไปจองแพ) แพหนึ่งจะรับได้ประมาณ 20 - 30 คน (20 คน/แพ กำลังพอดีครับ) ตอนนี้มีแพให้บริการทั้งหมดอยู่ 4 แพ (อาจจะมีเพิ่มในอนาคต) ล่องแพไปตามลำน้ำเป็นระยะเวลาทั้งหมด ไม่เกิน 7 ชม. มีจุดลงให้เล่นน้ำ หรือใครชอบมันๆ ใส่เสื้อชูชีพแล้วปล่อยให้ลอยตามน้ำเลย น้ำเย็นและใสมาก
ลำโดมน้อย เป็นลำน้ำที่ไหลมาจากท้ายเขื่อนสิรินธร ซึ่งสุดท้ายน้ำจะไหลไปบรรจบกับน้ำที่เขื่อนปากมูล ช่วงเช้าเขื่อนสิรินธรจะปิดเขื่อน ทำให้สายน้ำลำโดมน้อยแทบจะนิ่งมากๆ เล่นน้ำได้สบายครับ ไม่ต้องกลัวว่าเราจะลอยไปไกล เขื่อนสิรินธรเปิดเขื่อนอีกทีช่วง 5 โมงเย็น ช่วงนั้นน้ำก็จะไหลแรงขึ้นล่ะ
บนแพให้บริการ เสื่อ เตาถ่าน และอุปกรณ์ปิ้งย่าง เสื้อชูชีพ และจาน ชาม ช้อนส้อม นักท่องเที่ยวต้องเตรียมนำอาหาร (ที่ชอบ) และเครื่องดื่มไปเอง หรือจะแวะซื้อข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่าง หลามปลา จากร้านริมทางก่อนถึงพัทยาน้อยก็ได้ สะดวก อร่อยใช้ได้ (อย่าลืมเอามีดไปด้วย ไว้หั่นอาหาร)
สิ่งสำคัญที่สุดในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ คือ การรักษาความสะอาด ควรเตรีมถุงดำขนาดใหญ่ไปด้วย ช่วยกันเก็บขยะในแพ (กินแล้วต้องเก็บ) ห้ามทิ้งขยะทุกชนิดลงในน้ำ หรือริมฝั่ง พยายามทำลายธรรมชาติให้น้อยที่สุด แล้วสิ่งสวยงามเหล่านี้จะอยู่กับเราอีกนาน (นำถุงขยะไปทิ้งในถังรับขยะในเขตเทศบาล หรือจะนำกลับไปทิ้งที่บ้านตัวเองก็ยิ่งดีครับ)
คนทั่วๆ ไปเมื่อถามว่า "รู้จักอุบลราชธานี จากอะไร?" ร้อยละร้อยมักจะตอบว่า "งานประเพณีแห่เทียนพรรษา" แต่จริงๆ แล้ว อุบลราชธานี ยังมีที่ท่องเที่ยวอีกมากมายครับ ที่สามารถไปท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาลทีเดียว นอกจากที่ท่องเที่ยวแล้ว อุบลราชธานี ยังมีของฝาก ของต้อน ให้ท่านนำกลับไปฝากญาติมิตรเพื่อนฝูงได้อีกมากมาย เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้ากาบบัวอุบลราชธานี หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอก แหนมหมู ส้มวัว เส้นก๋วยจั๊บพร้อมเครื่องปรุง ผงน้ำซุบ
และที่อยากแนะนำเป็นพิเศษ คือ เค็มบักนัด หรือ เค็มหมากนัด (เค็มสับปะรดใส่ปลาเทโพ) เป็นอาหารพื้นบ้านโบราณของชาวอุบลราชธานี มาช้านาน เป็นภูมิปัญญาในการถนอมอาหารของชาวบ้าน โดยการดองเค็มเพื่อให้สามารถเก็บไว้กินได้นานเป็นปี ซึ่งการทำเค็มบักนัดส่วนใหญ่จะเลือกใช้เนื้อปลาเทโพหรือปลาสวายติดหนัง นำมาหั่นเป็นชิ้นบางๆ แล้วนำมาคลุกเคล้ากับเกลือสินเธาว์ และเนื้อสับประรดสุกที่สับละเอียดไว้ คลุกเคล้าส่วนผสมทุกอย่างให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วบรรจุใส่ขวด ปิดฝาให้แน่น หมักดองเก็บไว้จนได้ระยะเวลาที่เหมาะสมก็นำมากินได้
รสชาติของเค็มบักนัดจะออกเปรี้ยวๆ เค็มๆ หวานๆ อร่อยลิ้น และยังสามารถนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารอื่นๆ ที่แซบหลายชวนกินได้อีก อาทิ หลนเค็มบักนัด ยำเค็มบักนัด ตุ๋นเค็มบักนัด เป็นต้น เรียกว่าถ้าใครไปเที่ยวอุบลราชธานี ก็อย่าลืมหาซื้อ “เค็มบักนัด” กลับมาอร่อยแซบกันที่บ้านให้ได้
Foodwork : เค็มบักนัด ข่าอ่อน ของดีอุบลราชธานี
ถ้ายังไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวไหนดีในอุบลราชธานี ผมมีสารคดีสั้นๆ มาให้ชมประกอบการตัดสินใจ สำหรับนักช็อปนักชิมครับ
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)