คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ศาสนาคาร คือ อาคารที่ใช้ในทางศาสนาเพื่อการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งมีจุดเด่นอันเป็นอัตลักษณ์อีสานที่ชัดเจน เป็นสถาปัตยกรรมที่มีจุดเด่นเฉพาะของภาคอีสาน ซึ่งผ่านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย จนได้ข้อสรุปของอัตลักษณ์อีสานด้านศาสนาคาร 8 อย่าง ดังนี้
มุขบันได คือ ส่วนฐานของสถาปัตยกรรมทางศาสนาคารในบริบทสังคมวัฒนธรรมหนึ่งๆ จะต้องมีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สถิตแห่งพลังอำนาจเหนือธรรมชาติที่จักคุ้มครองป้องกันภัย ก่อเกิดเป็นงานช่างที่สร้างรูปอารักษ์ เป็นผู้ทำหน้าที่คุ้มครองป้องกันอันตราย หรือที่เรียกว่า "ทวารบาล" วัฒนธรรมหลวงเรียกงานช่างนี้ว่า "พลสิงห์" หรือ "บันไดพลสิงห์" อันหมายถึงพนักบันไดที่ใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูน โดยมีการตกแต่งส่วนที่เป็นพนักด้านนอกของตัวขั้นด้วยปูนปั้น หรือบ้างก็ใช้การตกแต่งเพียงเส้นขอบรอบนอกแบบเรียบๆ ธรรมดาหรือทำเป็นปูนปั้นรูปสัตว์สัญลักษณ์ต่างๆ เช่น พญานาค หัวสิงห์ เหรา หรือ ตัวมอม งูซวง หมาสรวง เป็นต้น
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เส้นส่วนใหญ่เป็นเส้นโค้งเลียนแบบธรรมชาติ พาดยาวตามราวบันได มีรูปทรงและรูปสัตว์ที่แปลกตาอันเกิดจากจิตนาการของช่าง
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม คติความเชื่อทางศาสนาเรื่องทวารบาลผู้ปกปักรักษาอาคาร และความเชื่อเรื่องนาค มกร หรือเหรา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับน้ำและความอุดมสมบูรณ์
ฐานแอวขัน คือ ส่วนฐานของตัวเรือน และใช้เรียกส่วนฐานในงานพุทธศิลป์อื่นๆ ด้วย โดยฐานแอวขันถือเป็นการสืบทอดคติและตีความจากดอกบัว อันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา แอวขัน มีองค์ประกอบสำคัญคือ 1) ส่วนที่มีลักษณะแบบบัวคว่ำและบัวหงายที่แยกส่วนด้านบนและด้านล่าง 2) ส่วนที่เรียกว่า ท้องไม้ ทำหน้าที่เป็นส่วนคั่นกลางระหว่างบัวทั้งสอง 3) ส่วนเส้นแนวตกแต่งที่เป็นลวดบัว 4) ส่วนที่เรียกว่า ดูกงู หรือ กระดูกงู โดยส่วนนี้เป็นตัวเสริมคั่นจังหวะบริเวณท้องไม้ให้มีจังหวะลูกเล่นมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่พื้นที่ว่างบริเวณท้องไม้มีที่ว่างมาก
ลักษณะร่วมของฐานแอวขันของไทยอีสานและลาว อยู่ที่มีการตวัดปลายบัวงอนเชิดขึ้น-ลง พบมากในกลุ่มช่างพื้นเมือง โดยส่วนบัวคว่ำบัวหงายจะมีลักษณะอ้วนป้อมรวมถึงการผายปากบัวและการช้อนบัว
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เส้นส่วนใหญ่เป็นเส้นโค้งและเส้นตรงแนวนอน มีรูปทรงจากกลีบบัว ปลายงอนโค้งขึ้น ใช้เป็นฐานอาคาร ฐานพระธาตุ ฐานพระพุทธรูป ฐานธรรมาสน์ ฐานเชี่ยนหมาก
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เป็นสัญลักษณ์แทนความเชื่อ ศาสนา และเป็นฐานรองสิ่งมีค่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์
ช่องเปิด เป็นส่วนที่ควบคุมทางเข้าออกระบายอากาศ และเปิดรับแสงสว่าง เพื่อสุขภาพอนามัยและสภาวะน่าสบายแห่งการอยู่อาศัย เป็นสื่อกลางในการเชื่อมพื้นที่ภายในและภายนอกอาคาร อีกทั้งเชื่อมคนกับธรรมชาติแบ่งเป็นช่องเปิดประตู และหน้าต่าง-ช่องแสงหรือช่องลม มี 2 รูปแบบคือ 1) ทรงซุ้มปราสาทย่อส่วนมีเครื่องยอด 2) ทรงกรอบซุ้มทรงเครื่องและกรอบซุ้มธรรมดา ภาคอีสานนิยมทำซุ้มป่องเยี่ยม ซุ้มโข่งหรือซุ้มโขง ทั้งนี้สิมพื้นบ้านอีสานจะไม่นิยมทำช่องเปิดมาก อีกทั้งนิยมเปิด-ปิดเข้าด้านใน มีทางเข้าออกเฉพาะที่ประตูด้านสกัดด้านหน้าทางเดียว และมีหน้าต่างขนาดเล็กๆ เพียง 1-2 ช่องเท่านั้น สำหรับศาสนาคารประเภทอื่นๆ เช่น หอไตร หอแจก ที่เป็นเครื่องไม้จะนิยมทำเป็นอาคารโถง หรือถ้าตีผนังทึบก็จะปิดกันเพียงบางส่วน
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปทรงเป็นซุ้มปราสาทจากจินตนาการ
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม คติความเชื่อจากพุทธศาสนาว่าเป็นปราสาทบนสวรรค์ของพระอินทร์ และปราสาทบนสวรรค์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปเทศนา ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความประทับใจและเกิดจินตภาพเรื่องสวรรค์
ที่มา : ติ๊ก แสนบุญ 2545. ดุษฎีนิพนธ์เรื่องนวัตกรรมฐานข้อมูลศิลปะงานปูนปั้นและแกะสลักในส่วนตกแต่งสถาปัตยกรรมศาสนาคารไทยอีสานกับ สปป.ลาว เพื่อพัฒนาสู่การออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
คันทวย เป็นส่วนค้ำยันของสถาปัตยกรรมแถบเอเชียอาคเนย์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมและภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ทำให้คนในแถบนี้สร้างอาคารที่มีชายคา เพื่อป้องกันแดดฝนไม่ให้สาดส่องเข้ามาภายในอาคาร คันทวย จึงเป็นส่วนค้ำยัน และทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างส่วนตัวเรือนผนังอาคาร กับส่วนโครงสร้างหลังคา อีกทั้งยังทำหน้าที่แห่งนัยความหมายด้านสุนทรียภาพ ความงามทางศิลปะ ที่สัมพันธ์กับระบบความเชื่อของสังคมชุมชนท้องถิ่น "ทวย" เป็นคำนำหน้าชื่อเรียก และตามด้วยการเรียกตามลักษณะทางการยภาพ เช่น ทวยแผง ทวยนาค ทวยเทพพนม ทวยแขนนาง เป็นต้น
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เส้นส่วนใหญ่เป็นเส้นโค้งรับกับส่วนชายคา ลดความแข็งกระด้างของส่วนค้ำยัน มีลวดลายป็นสัตว์จากจินตนาการ เช่น นาค มอม หงส์ เป็นต้น และลายน้ำไหล ลายก้านขด
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เป็นสัญลักษณ์แทนการค้ำจุนศาสนา ความเป็นสิริมงคล ลวดลายการม้วนเกาะเกี่ยวกันของพญานาค ตัวมอม หงส์ และลวดลายสายน้ำวนของคันทวยในแถบริมน้ำโขง แสดงการเชื่อมโยงกับธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์
ฮังผึ้ง หรือ ฮวงผึ้ง หรือ ฮวงเผิ้ง มีหน้าที่สำคัญคือ การช่วยรับน้ำหนักในเชิงโครงสร้างอาคารบริเวณสีหน้าหรือหน้าบัน และช่วยยึดปลายหัวเสา ในส่วนโครงสร้างของหลังคาลักษณะกึ่งคาน หรือกำแพงผนังรับน้ำหนักตามหลักการถ่ายแรงที่สะท้อนผ่านรูปทรงสัณฐาน อีกทั้งช่วยป้องกันแดดฝนไม่ให้สาดส่องเข้าสู่พื้นที่ว่างภายในอาคาร โดยเฉพาะทำหน้าที่เสมือนผนังกำแพงปิดล้อม เพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่ว่างระหว่างภายนอกกับภายใน ของส่วนตัวเรือน กับส่วนหลังคา โดยมีลักษณะกึ่งเปิดกึ่งปิดของพื้นที่บริเวณโถงทางขึ้นลงด้านหน้าอาคาร วัสดุที่ทำฮังผึ้งมีทั้งไม้และปูน แบ่งเป็น 1) ฮังผึ้งเอก อยู่ใต้ส่วนหน้าจั่วใหญ่ ถ้าเป็นอาคารขนาดเล็กและเตี้ย นิยมแบ่ง 3 จังหวะตามช่วงเสา 2) ฮังผึ้งโท อยู่ใต้ส่วนหน้าอุดปีกนก
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ส่วนใหญ่เป็นเส้นโค้ง รูปทรงเป็นแผงแบน ด้านล่างเป็นซุ้มโค้ง
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ถ่ายทอดคติธรรมและปริศนาธรรมตามความเชื่อพื้นบ้านอีสาน
สีหน้า หรือ หน้าบัน คือ พื้นที่สามเหลี่ยมอุดโพรงจั่วหลังคาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หรือที่นิยมเรียกว่า ด้านหุ้มกลอง เพราะอาคารแบบไทยมีหลังคาเป็นทางแหลม เหตุนี้จึงต้องมีจั่วหรือหน้าบันปิด เพื่อป้องกันแดดฝนและความร้อนอบอ้าว อีกทั้งเพื่อคุณประโยชน์ในการระบายน้ำฝนได้อย่างรวดเร็ว โดยมีทั้งแบบเครื่องก่อและเครื่องไม้ โดยศาสนาคารที่เป็นเครื่องไม้จะมีลักษณธของเฮือนอีสานโบราณ มีลวดลายจากธรรมชาติ ลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์ ลวดลายทางความเชื่อ และลวดลายสัตว์มงคลต่างๆ
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม มีทั้งเส้นตรงและเส้นโค้ง รูปทรงเป็นแผงสามเหลี่ยม
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ลวดลายแฝงคติความเชื่อทางพุทธศาสนาและความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ ความเชื่อเรื่องเทพเจ้า เช่น พระอินทร์ พระราหู เป็นต้น ความเชื่อเรื่องจักรวาล เขาพระสุเมรุ นรก สวรรค์ ความเชื่อเกี่ยวกับนาค มกรหรือเหรา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับน้ำและความอุดมสมบูรณ์
โหง่ว เป็นส่วนที่ประดับตกแต่งอยู่ยอดปลายสุดของส่วนไม้แป้นลม ทั้งส่วนสกัดด้านหน้าและด้านหลัง ทำหน้าที่ประสานส่วนยอดปลายสุด ส่วนที่เป็นรวบจอมไม้แป้นลม (หลายท่านเข้าใจว่าเป็น "ช่อฟ้า" และพบเห็นการทำพิธียกช่อฟ้า ซึ่งจริงๆ แล้วคือ การยกโหง่ว) วัสดุที่ใช้ทำโหง่วมีทั้งที่เป็นไม้และเป็นปูนปั้น โหง่วยังตอบสนองสุนทรียภาพ ความงาม ที่มีนัยยะแห่งลัทธิความเชื่อ ผ่านรูปสัญญะต่างๆ โดยกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาวนิยมทำอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1) แบบหัวนาค 2) แบบเฮือนเสาเหลี่ยมยกหลังคาสับลาย (ลูกกรงไม้กลึง) 3) แบบช่อฟ้าแป้นลม (ราชสำนักกรุงเทพฯ เรียก ช่อฟ้ามอญ) ในอีสานและลาวนิยมใช้รูปแบบหัวนาคเป็นส่วนใหญ่ ในอีสานโหง่วที่ดูโดดเด่นคือ กลุ่มช่างพื้นเมืองจังหวัดอุบลราชธานี คือ หัวนาคจะสะบัดปลายหงอน ปากนาคมีลักษณะแบบปากคีมกว้างแหลม และที่สำคัญคือการนิยมทำปีก
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม อยู่ในตำแหน่งที่โดดเด่น รูปทรงสวยงามและมีความหมายจากคติความเชื่อ
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม คติความเชื่อทางพุทธศาสนาเรื่องนาค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ และปกปักรักษาพุทธศาสนา
ช่อฟ้า เป็นชื่อเรียกส่วนตกแต่งบริเวณกลางสันหลังคาสิม หรือโบสถ์ ในอีสานนิยมเรียก "ช่อฟ้า" หรือภาษาเก่าเรียกว่า ผาสาดหรือปราสาท โดยมีหนึ่งช่อฟ้าต่อหนึ่งสิม วัสดุที่ใช้ทำช่อฟ้า ฝั่งลาวจะใช้ปูนปั้น ในขณะที่อีสานช่างพื้นถิ่นจะใช้ไม้ ช่อฟ้าอีสานมีรูปแบบแท่งๆ โดดๆ อันเดียวหรือแผงไม้แกะสลักเล็กๆ ไม่นิยมทำส่วนบริวาร โดยมีลักษณะคล้ายธาตุไม้ และมีตัวกาบกนกเป็นส่วนตกแต่งส่วนยอดเหล่านั้น รูปแบบของช่อฟ้าจะสะท้อนคติความเชื่อเรื่อง ศูนย์กลางจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง มีปราสาทไพชยนต์ตั้งอยู่บนยอด ด้วยรูปลักษณะเป็นแท่งๆ แบบธาตุบัวเหลี่ยมจึงมีซุ้มคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็ก ขนาบด้านข้างลดหลั่นเป็นรูปปราสาทบนยอดเขาบริวารที่เรียกว่า "สัตบริภัณฑ์" นอกจากนั้นในนิมิตความหมายที่เชื่อมโยงกับลัทธิถือผีของกลุ่มชนพื้นเมืองยังพบว่า ช่อฟ้าในแถบพื้นที่ภาคอีสานมีพัฒนาการที่สืบทอดคติเรื่องการเคารพบูชาไม้หลักบ้านหรือไม้หลัก
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม อยู่จุดที่เด่นที่สุดของอาคาร รูปทรงงดงามและมีความหมาย เป็นทรงปราสาทบนเขาพระสุเมรุหรือภูมิจักรวาล
ช่อฟ้า ของ สิม วัดจักรวาลภูมิพินิจ (วัดหนองหมื่นถ่าน) อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม สัญญลักษณ์แทนความเชื่อ ความศรัทธา ความอุดมสมบูรณ์ ธรรมชาติ และความเป็นสิริมงคล
ช่อฟ้า ของ สิมวัดเชียงทอง หลวงพระบาง สปป.ลาว
ผลงานเขียนภาพลายเส้นโดย อาจารย์กิตติสันต์ ศรีรักษา
ขันกระหย่อง กะย่อง หรือ ขันกะย่อง เป็นภาชนะจักสานด้วยไม้ไผ่ ลักษณะคล้ายพานแต่มีเชิงสูง เป็นงานช่างฝีมือพื้นบ้าน มีหลายขนาดตามลักษณะการใช้งาน ใช้ประโยชน์ในการวางดอกไม้ธูปเทียน เครื่องบูชา หรือขันธ์ 5 บูชาพระพุทธรูป เป็นหนึ่งในเครื่องสักการบูชาอีสานโบราณ โดยสามารถพบเห็นได้ในวัดทั่วไปในภาคอีสาน เครื่องสักการบูชาอีสานโบราณประกอบด้วยขันกระหย่อง ต้นข้าวตอก ต้นดอกไม้ ขันหมากเบ็ง ต้นดอกผึ้ง ต้นเทียน เป็นการบูชาในวันพระ และจะมีขบวนแห่ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาหบูชา วันอาสาฬหบูชา
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ขันกระหย่องมีทั้งเส้นตรงและเส้นโค้ง มีรูปทรงสัดส่วนคล้ายพาน ลวดลายเกิดจากการจักสาน คือ ตรงกลางคอด มีความโปร่งและเบา
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม การสักการบูชาในพุทธศาสนาและความคิดในเรื่องธรรมชาตินิยม ความสมถะ ความเรียบง่าย
ขันกระหย่อง รายการ นักข่าวพลเมือง ThaiPBS
เขียนโดย : ติ๊ก แสนบุญ
จาก : วารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มกราคม 2549
เรื่องราวของศิลปะและวัฒนธรรมแขนงงานช่างพื้นเมืองบริสุทธิ์นั้น กล่าวได้ว่า มีอยู่มากมายหลายชนิด สำหรับแดนดินถิ่นอีสานนี้ เมื่อเราได้เข้าไปกราบนมัสการองค์พระประธานภายในหอแจก หรือแม้แต่ในสิม (โบสถ์) อาณาบริเวณส่วนด้านหน้าองค์พระประธาน ในอดีตจะประกอบไปด้วย ฮาวไต้เทียน (ราวเทียน) พระไม้ พระซุ้มโขง หรือแผงพระ นอกเหนือจากนี้ไม่พบว่ามีงานหัตถกรรมอื่นใด นอกจากงานเครื่องจักสานชนิดหนึ่งที่เรียกเป็นภาษาถิ่นอีสานว่า “กะย่อง” หรือ “ขันกะย่อง” ก็เรียก ซึ่งมีความหมายถึงภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง สำหรับใส่เครื่องสักการบูชา มีพระพุทธรูปและค้ำคุณ มีคุด เขา นอ งา เป็นต้น เรียก “ขันกะย่อง” โดยมีลักษณะทางศิลปกรรมและประโยชน์ใช้สอยคล้ายกับ “ขันแก้วทั้งสาม” ซึ่งเป็นเครื่องประดับในศาสนสถาน (ใช้สำหรับวางเครื่องสักการะดอกไม้ธูปเทียน) ของทางภาคเหนือ นิยมทำด้วยวัสดุหลักจากไม้จริง โดยมีส่วนใบขัน ส่วนเอวและส่วนขาเป็นแปลนรูปทรงสามเหลี่ยมหรือวงกลม จำหลักลวดลายไม้เป็นรูปพญานาคขดในส่วนเอว ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มหัตถกรรมเครื่องเขิน (เป็นอิทธิพลศิลปะจากพม่าในยุคที่เข้ามาปกครองล้านนา)
“ขันกะย่องของอีสาน” ยังมีเอกลักษณ์และความหมายแตกต่างในมิติอื่นๆ เช่น ขนาดที่เล็กกว่า โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 - 45 เซนติเมตร และสูงตั้งแต่ 35 - 65 เซนติเมตร รูปทรงเส้นรอบนอกมีลักษณะแบบโบกคว่ำโบกหงายแบบบัวปากพาน (ดูภาพประกอบ) วัสดุเป็นไม้ไผ่จักสานหลากหลายรูปแบบ (แตกต่างกับทางเหนือที่เป็นไม้จริง) มีลักษณะลายสานซึ่งเป็นแม่ลายสำคัญ เช่น ลายขัด ลายเฉลว ลายหัวสุ่ม ลายก้นหอย คุณค่าทางศิลปะของ “ขันกะย่อง” ยังบ่งบอกถึงตัวตนคนอีสาน ที่สื่อสารผ่านงานช่างในแขนงต่างๆ ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของสังคมเกษตรที่เน้นถึงความเรียบง่าย อีกทั้งสัจจะทางวัสดุ หรือเรียกอย่างภาษาชาวบ้านว่า “สวยแบบซื่อๆ”
จังหวัดบึงกาฬ ส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ "ทำขันกระหย่อง"
ท่านที่สนใจต้องการชมกรรมวิธีการจักสานโดยผู้สูงอายุได้ร่วมทำกิจกรรมในยามว่าง "การจักสานขันกระหย่อง" เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเอง อีกทั้งเป็นการรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ที่ วัดสุดเขตแดนสยาม บ้านหนองแวง ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ เนื่องจากการ “ขันกระย่อง” เป็นเครื่องใช้งานในทางพระพุทธศาสนา และยังสามารถนำไปดัดแปลงเพื่อประดับตกแต่งตามสถานที่ต่างๆ ได้หากมีการออกแบบให้สวยงาม
“ขันกระหย่อง” เป็นภาชนะคล้ายกระจาด แต่มีเชิงสูง สานจากตอกไม้ไผ่ ก้นของขันกระหย่องสานเป็นรูปวงกลมหรือรูปสี่เหลี่ยม เอวของขันกระหย่องเป็นเอวรัด ปากของขันกระหย่องจะบานออก ลักษณะการจักสานเป็นลายขัดธรรมดา สานเป็นช่องห่างๆ
"ขันกระหย่อง" มีไว้สำหรับใส่ดอกไม้ ธูปเทียน บูชาพระพุทธ เป็นหนึ่งในเครื่องสักการบูชา และเป็นงานช่างฝีมือของผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยโบราณ ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีใช้อยู่ เป็นงานช่างฝีมือพื้นบ้านที่ทำไว้ใช้ในท้องถิ่น มีหลายขนาดตามลักษณะการใช้งาน จะพบเห็นได้ทั่วไปในวัดทางภาคอีสาน เวลาเราไปทำบุญที่วัดในจะเห็นมีขันกระหย่องตั้งไว้ด้านข้างพระประธาน โดยจะนำดอกไม้ ธูป เทียน และก้อนข้าวเหนียว วางบนขันกระหย่องเพื่อเป็นเครื่องบูชา
แจ้งให้ทราบ : เว็บไซต์ประตูสู่อีสาน ไม่ได้เป็นผู้ผลิต หรือตัวแทนผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านอีสานแต่อย่างใด โปรดค้นหาด้วย Google ติดต่อกับผู้ผลิตในชุมชนอีสานต่างๆ โดยตรงนะครับ หรือจะติดต่อผ่านทาง กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย หรือพัฒนาชุมชนในจังหวัดต่างๆ เช่น ขอนแก่น บึงกาฬ มุกดาหาร อำนาจเจริญ ได้ครับ
หอแจก หมายถึง ศาลาโรงธรรมประจำวัด เป็นสถานที่แจกธรรมะ กลางหอแจกจึงมี 'ธรรมาสน์' ให้พระสงฆ์สวดพระธรรมเทศนาให้ประชาชนฟัง นอกจากนั้น หอแจกยังเป็นอาคารเอนกประสงค์สาธารณะของผู้คนในชุมชน เพราะวัดเป็นศูนย์กลางกิจกรรมสาธารณะในสังคมไทย จึงทำหน้าที่รองรับกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ของผู้คนในชุมชนด้วย เช่น การชุมนุมในงานประเพณีต่างๆ ได้แก่ บุญฮีตสิบสอง (ประเพณีสิบสองเดือนของชาวอีสาน) การประชุมชาวบ้าน การรjวมกันผลิตสิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน เป็นต้น ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของหอแจกจำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ หอแจกไม้ หอแจกปูน และหอแจกคอนกรีตเสริมเหล็ก
หอแจกปูน วัดราษฎร์ประดิษฐ์ บ้านกระเดียน อำเภอตระการพืชผล อุบลราชธานี
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปทรงฐานเป็นเสายกสูงระบายอากาศ ตัวเรือนเป็นสี่เหลี่ยมโปร่ง หลังคาทรงจั่ว
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม แนวคิดสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงสภาพดินฟ้าอากาศ การอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างชาญฉลาด และการประหยัดพลังงาน
หอแจกไม้ วัดกลาง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
เขียนโดย : ติ๊ก แสนบุญ
จาก : วารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ เดือนเมษายน 2552
ในวิถีสังคมชายขอบของอีสาน โดยเฉพาะวัดหรืออาฮามในพื้นที่อันห่างไกล ศาสนาคารที่ถือได้ว่าเป็นส่วนประธาน หรือสิ่งก่อสร้างที่สำคัญที่สุดก็คือ "หอแจก" ซึ่งเป็นภาษาถิ่นที่คุ้นเคยของคนอีสานโบราณ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่จะนึกถึง "ศาลาการเปรียญ" ซึ่งเป็นภาษาสำเนียงหลวง (ภาคกลาง) ที่เข้ามาแทนที่ภาษาถิ่น แต่เมื่อจะกล่าวถึงชื่ออื่นๆ ที่ใช้เรียกศาสนาคารประเภทนี้ก็มีอยู่อีก เช่น ศาลาโรงธรรม ธรรมศาลา ก็เรียก
สำหรับพัฒนาการด้านรูปแบบความเป็นมาของหอแจก เราอาจเชื่อมโยงไปถึงสังคมดั้งเดิมในวิถีชนเผ่าที่เคารพบูชาผี ดังกรณีของ "หลักฆ่าควาย" โดยมีศาลากลางบ้านเป็นอาคารศูนย์กลางของชุมชน ที่เรียก "หอผี" "หอก๊วน" หรือ "หอเกริ๊ง" ของชนเผ่าลาวเทิง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัฒนธรรมมอญ แขมร์ พวกข่า หรือแม้แต่กลุ่มวัฒนธรรมไท-ลาว โดยเฉพาะกลุ่มไทดำที่นับถือผี ซึ่งมีหลักบ้านเป็นศูนย์กลางชุมชนเช่นกัน
หอแจก วัดราษฎร์ประดิษฐ์ บ้านกระเดียน อำเภอตระการพืชผล อุบลราชธานี
ดังตัวอย่างในอีสาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ไทซึ่งเป็นอีกสาแหรกหนึ่งของไทดำ ก็เรียก "หลักบ้าน" นี้ว่า "บือบ้าน" หรือ "หลักบือบ้าน" และจะมี พิธีบุญซำฮะ หรืองานบุญที่ชำระล้างสิ่งอัปมงคลในช่วงเดือน 6-7 ของทุกปี ซึ่งในห้วงการทำพิธีจะมีการสร้าง "ตูบผาม" (ปะรำชั่วคราวสร้างด้วยไม้ไผ่ มุงด้วยหญ้าคาหรือใบตอง) อยู่ใกล้ๆ หลักบ้าน เพื่อใช้ทำพิธีและเป็นที่นั่งสวดของพระ และวางเครื่องเซ่นไหว้ ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างชั่วคราวที่พัฒนามาเป็น "ศาลากลางบ้าน" ในเวลาต่อมา เพราะอยู่ในพื้นที่บ้านบริเวณใกล้ๆ กับหลักบือบ้าน และสืบคติกลายมาเป็น 'เสาหลักเมือง' ในสังคมปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งทั้งหมดนี้คือร่องรอยจากคตินิยมของ "ศาสนาผี" ผสมผสานกับฮินดู-พราหมณ์ และเมื่อเปลี่ยนมารับนับถือพระพุทธศาสนา คตินี้ก็ยังเคารพควบคู่ไปด้วย
หอแจกหลังเก่า วัดขะยูงวนาราม ตำบลขะยูง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ภาพถ่ายเมื่อปี 2485
โดยอาณาบริเวณวัดทั่วไปในภาคอีสาน และของ สปป.ลาว บางส่วน แผนผังของวัดจะให้ความสำคัญกับ "หอแจก" อยู่เป็นส่วนประธานโดยเฉพาะในเขตพุทธาวาส ส่วนสิมหรือโบสถ์จะอาศัยบริเวณห้วย หนอง คลอง บึง ในการสร้างให้มีขนาดเล็กๆ พอเพียงสำหรับประกอบศาสนากิจเฉพาะของพระสงฆ์ที่เรียกกันว่า "สิมน้ำ" หรืออาจไปใช้ร่วมกันกับวัดข้างเคียง ดังนั้นเราจึงไม่พบสิ่งก่อสร้างอื่นใดที่มีความสำคัญไปกว่าหอแจก
หอแจกวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน อุบลราชธานี
แต่เมื่อพิจารณาในมิติทางสังคม การเมือง การปกครอง จะเห็นได้ว่า วัดที่ถูกสถาปนาหรือสร้างขึ้นด้วยกษัตริย์ หรือเชื้อพระวงศ์ รวมถึงเจ้าเมืองจะนิยมสร้าง 'วิหาร' เป็นส่วนประธานในวัด แทนหอแจกหรือสิม เฉกเช่นที่ วัดหลวงของเมืองอุบลฯ และวัดมโนภิรมย์ เมืองมุกดาหาร เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า คติการสร้างวิหารในภาคอีสานเป็นอิทธิพลภายนอกที่เข้ามา โดยเฉพาะวัฒนธรรมแบบราชสำนัก ซึ่งสอดคล้องกับบริบททางสังคมอีสาน โดยเฉพาะในสมัยวัฒนธรรมไท-ลาว ดินแดนแถบนี้ไม่มีกษัตริย์ปกครอง ดังนั้นรูปแบบและคติของช่างหลวง หรือช่างราชสำนักจึงเข้ามามีอิทธิพลน้อยมาก
ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่ารูปแบบงานช่างไม่ว่าจะเป็น งานสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ในอีสาน ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนที่แตกต่างจากภาคอื่นๆ ซึ่งมีอิทธิพลราชสำนักครอบงำอยู่มาก จนเป็นที่มาของความหลากหลายทางด้านรูปแบบที่เป็นอิสระ ความงามที่เรียบง่าย
หอแจก ในมิติประโยชน์ใช้สอยเราอาจกล่าวได้ว่า หอแจกเป็นอาคารสาธารณะ (ในวัด) ที่เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงชาวบ้านและพระสงฆ์เข้าด้วยกัน ทั้งในช่วงงานบุญ วันพระ ฟังเทศน์ฟังธรรมป็นที่ประชุมกิจกรรมต่างๆ ของชาวบ้าน และกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนสี่ (มีนาคม) จะมีงานบุญผะเหวด (พระเวส) หรือการเทศน์มหาชาติ ซึ่งหอแจกจะถูกตกแต่งเครื่องบูชาคาถาพัน เป็นการจำลองเรื่องราวในชาดก มีการนำพืชพรรณที่มีลักษณะให้ผลดกครั้งละมากๆ เช่น มะพร้าว อ้อย กล้วย มาตกแต่งประกอบซุ้มคูหา อันมีนัยยะเรื่องความอุดมสมบูรณ์ในการทำมาหากินของชาวบ้านอีกด้วย
พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) จังหวัดอุบลราชธานี
โดยจะมี "หอธรรมาสน์" ตั้งเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นคติสัญลักษณ์ของปราสาทที่ประทับของพระพุทธองค์ และที่ขาดไม่ได้คือ องค์พระประธาน ที่เป็นเสมือนศูนย์กลางของหอแจก ที่ทำให้ครบไตรลักษณ์ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ โดยพื้นที่ประทับของพระพุทธรูปจะมีผนังปิดล้อมเป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนอื่นๆ จะเปิดโล่ง จนเป็นประหนึ่งวิหารตามความหมายของวัฒนธรรมหลวง และเป็นที่น่าสังเกตว่า พระประธานที่อยู่ในหอแจกจะเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่มีขนาดใหญ่ เช่น พระเจ้าใหญ่องค์หลวงที่หอแจกวัดหลวง และพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลงของวัดป่าใหญ่ เมืองอุบลฯ เป็นต้น
ด้านรูปแบบทางงานช่างของหอแจกอีสาน จำแนกตามวัสดุก่อสร้างได้ 3 ประเภท คือ 1) แบบทรงเครื่องไม้ 2) แบบทรงเครื่องก่อ (ก่ออิฐถือปูน) 3) แบบทรงเครื่องไม้ผสมเครื่องก่อ หอแจกที่พบในภาคอีสานโดยเฉพาะช่างชาวไท-ลาว นิยมทำหอแจกเป็นเครื่องไม้ และสำหรับหอแจกทรงเครื่องไม้ที่ถือได้ว่าสุดยอดของงานโครงสร้างต้องยกให้ หอแจกวัดศรีมณฑา บ้านคำฮี จังหวัดมุกดาหาร ที่มีกลิ่นอายศิลปะไทยใหญ่เข้ามาผสมผสานกับความป็นอีสาน
หอแจก (เดิม) วัดศรีมณฑา บ้านคำฮี อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร
ในส่วนของหอแจกที่งดงามในแบบฉบับพื้นบ้านอีสาน เท่าที่ปรากฏหลักฐานน่าจะยกให้ หอแจกของวัดจอมศรี บ้านเปียด อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้ว ส่วนหอแจกแบบทรงเครื่องก่อ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่างญวณเข้ามามีบทบาทค่อนข้างมาก มีตัวอย่างอันทรงคุณค่าอยู่ที่วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก และวัดบ้านกระเดียน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
แต่สภาวการณ์ในปัจจุบัน "หอแจก" อีสานก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับศาสนาคารอื่นๆ เช่น สิม ธาตุ หอไตร ที่ถูกครอบงำด้วยรูปแบบ "ศิลปะแห่งชาติ" (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ที่ครอบงำวิธีคิดผ่านระบบการเรียนในทุกมิติ ทำให้คนอีสานโดยเฉพาะสมภารวัดซึ่งเป็นทั้ง "ผู้สร้างและผู้ทำลาย" ไม่เห็นคุณค่าจึงทำได้แค่ลอกๆ เลียนๆ ได้เหมือนกรุงเทพฯ จนเกิดวิกฤตศรัทธาที่ยากจะแก้ไข
หอแจก (หลังการบูรณะ) วัดศรีมณฑา บ้านคำฮี อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร
หอไตร หมายถึง อาคารที่สร้างไว้เพื่อเก็บรวบรวมพระไตรปิฏกที่เป็นใบลาน อันมีพระอภิธรรมปิฎก พระสุตตันตะปิฎก (พระสูตร) และพระวินัยปิฎก เพื่อให้พระสงฆ์ได้เล่าเรียนศึกษา ในภาคอีสานนิยมสร้างหอไตรไว้กลางน้ำเพื่อป้องกันมดปลวกขึ้นไปทำลาย ช่างพื้นบ้านมักออกแบบหอไตรให้เป็นเรือนหลังเดียวโดดๆ มีหลังคาทรงจั่วซ้อนตับเดียวหรือมากกว่านั้น มีหลังคาปีกนกคลุมทั้ง 4 ด้าน เพื่อป้องกันแดดฝน และใช้คันทวย (ไม้ค้ำยัน) ยันเชิงชายไว้โดยรอบ ผนังทำโปร่ง หรือเป็นหน้าต่างเปิดให้ลมพัดได้สะดวก มีประตูเข้าเฉพาะด้านหน้าพียงด้านเดียว โดยอยู่ตรงกับสะพานที่จะทอดข้ามไปยังขอบริมสระน้ำ
หอไตรกลางน้ำ วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก แสดงถึงภูมิปัญญาการก่อสร้างอาคารในน้ำ และวิธีการป้องกันมดปลวกมาทำลายพระไตรปิฎก
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม การสร้างหอไตรกลางน้ำเพราะเชื่อว่า น้ำเป็นสิ่งบริสุทธิ์ แสดงถึงความเคารพบูชา ความศรัทธา และความใส่ใจในพระพุทธศาสนา
สืบเนื่องจากการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนยุคแรกๆ เป็นแบบ “มุขปาฐะ” (การบอกเล่า) ซึ่งต้องอาศัยความทรงจำเป็นสำคัญ ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว หลักธรรมคำสอนที่ถูกเผยแผ่ในสมัยต่อมา ก็ย่อมต้องมีความคลาดเคลื่อนบิดเบือน จนเป็นปฐมเหตุให้ต้องมีการสังคายนาอยู่หลายครั้ง เพื่อทบทวนตรวจทานความถูกต้อง โดยอาศัยการจดบันทึกด้วยเทคนิครูปแบบตามความก้าวหน้าทางวิทยาการในสมัยนั้น โดยการจารใบลาน หรือสมุดข่อย ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญแบ่งออกเป็น 3 หมวด ประกอบด้วย พระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ใช้ศึกษาและเผยแผ่สืบต่อมา ซึ่งจารึกอักษรเหล่านี้ได้กลายมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสมือนประหนึ่งตัวแทนของพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และแน่นอนที่จารึกศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เหล่านี้ต้องมีที่เก็บรักษา จนเป็นที่มาของการสร้างศาสนาคารที่สำคัญ โดยในบริบทของสังคมไทยมีชื่อที่เรียกกันตามสมมติว่า หอเก็บพระไตรปิฎก และต่อมาเรียกให้สั้นกระชับตามภาษาปากว่า หอไตร บ้างก็เรียก หอธรรม
หอไตรกลางน้ำ วัดหนองขุหลุ อำภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
ศิลปะงานช่างประเภทนี้ ทำให้วัดนั้นๆ มีความสมบูรณ์ครบถ้วนในมิติความหมายแห่ง ไตรลักษณ์ นั่นคือ สมบูรณ์พร้อมด้วย พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ต่อมาในสมัยหลัง หอไตรยังมีหน้าที่เก็บรักษา พระฎีกา พระอรรถกถาจารย์ ตลอดจนพระธรรมเทศนาในวัฒนธรรมอีสาน ก็พบแม้แต่คัมภีร์ที่จารเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีท้องถิ่น ความเชื่อเรื่องโชคลาง ตำรายา หรือแบ่งเป็นหนังสือผูก หนังสือก้อม (หนังสือเจียง) แผ่นลานจารึก และบั้งจุ้ม (ใบลานใส่ในกระบอกไม้ไผ่) โดยอักษรที่จารมีทั้งอักษรขอม อักษรธรรม อักษรไทยน้อย ก็ล้วนแล้วแต่ถูกนำไปถวายเก็บไว้ที่หอไตรเป็นส่วนใหญ่
เอกลักษณ์หอไตรในวัฒนธรรมไท-อีสาน สถานที่ตั้งทั้งที่อยู่ในเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส ซึ่งมีปรากฏอยู่ 2 ลักษณะตามบริบทสภาพแวดล้อม คือ หอไตรบก (ตั้งบนดิน) และหอไตรกลางน้ำ โดยทั้ง 2 ประเภทจะใช้บันไดหรือสะพานในการเข้าถึงตัวอาคาร
หอไตรในภาคอีสาน เท่าที่เจอในภาคสนามและภาคเอกสารพบว่า นิยมทำเป็นหอไตรแบบเครื่องไม้ทั้งหลัง โดยมีผังพื้นเรือนเป็นรูปสี่เหลี่ยม ปลูกสร้างอยู่กลางสระน้ำ เพื่อป้องกันปลวก มด แมลงขึ้นไปทำลาย “หนังสือผูก” อีกทั้งอาศัยความชื้นจากไอระเหยของสระน้ำรอบๆ เพื่อรักษาอุณหภูมิภายในห้องเก็บหนังสือผูก ซึ่งส่วนมากทำการจารใบลานไม่ให้เปราะแตกได้ง่าย สระน้ำที่ปรากฏมีทั้งแบบสระธรรมชาติเช่น หอไตร วัดหนองขุหลุ จังหวัดอุบลราชธานี และหอไตร วัดป่าคำบอน จังหวัดร้อยเอ็ด ส่วนที่เป็นสระขุดส่วนใหญ่จะเป็นวัดในเมืองซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ หรือเป็นวัดที่ไม่มีสระโดยธรรมชาติแต่ต้องการสร้างหอไตรภายในวัดนั้นๆ
หอไตรในวัฒนธรรมอีสานจะปรากฏอยู่ตามวัดหัวเมืองสำคัญ ที่เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เฉกเช่น จังหวัดอุบลราชธานี (สมัยยังรวมเอาจังหวัดยโสธร และจังหวัดอำนาจเจริญ) พบการสร้างอยู่ถึง 6 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นวัดซึ่งอยู่ในเขตเมืองเก่า ที่มีประวัติศาสตร์ชุมชนที่เคลื่อนย้ายมาจากฝั่งลาว เช่น วัดสระไตรนุรักษ์ หรือวัดศรีธาตุ
โดยมีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญคือ ส่วนฐานเป็นเสาสูง มีผนังตัวเรือนทั้งแบบโปร่ง และแบบทึบ ผังพื้นมีทางเดินเข้าออกทางเดียว คือ ด้านสะพานเชื่อมต่อริมเสาด้านนอกจะทำเป็นทางเดินรอบระเบียง ภายในกั้นผนังทึบเป็นห้องเก็บคัมภีร์ใบลาน ทำเป็นโครงคล้ายตู้แบ่งเป็นชั้นวางคัมภีร์ คัมภีร์จะถูกห่อด้วยผ้าซิ่น โดยจะเป็นผ้าที่ยังไม่ได้ใช้ เพราะในโลกทรรศน์ของชาวอีสานผู้หญิงมีข้อจำกัดในการบวชเรียน การใช้ซิ่นห่อคัมภีร์จะถือว่าได้บุญมาก เพราะผ้าซิ่นจะเป็นผ้าที่มีความสวยงาม และถือเป็นการไถ่บาปอย่างหนึ่งของผู้หญิง ที่ต้องฆ่าตัวไหมเป็นจำนวนมากในวิถีชีวิตของการทอผ้าซึ่งเป็นเรื่องของผู้หญิง นอกจากนี้ ลักษณะผนังด้านนอกถ้าเป็นผนังโปร่งมีโครงคร่าวไม้ทำเป็นลวดลายสวยงาม เพื่อช่วยในการถ่ายเทอากาศ ภายในส่วนยอดที่เป็นหลังคา นิยมทั้งแบบจัตุรมุขและทวิมุข แบบทรงจั่วซ้อนชั้นมีปีกนก การประดับตกแต่งไม่นิยมลงรักปิดทองเหมือนงานช่างหลวง แต่ใช้การเขียนด้วยสี
คันทวย หอไตร วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
ส่วนคันทวยเครื่องลำยอง นิยมทำในแบบฉบับสกุลช่างพื้นถิ่นไท-อีสาน ซึ่งมีอิทธิพลศิลปะลาวเข้ามาผสมผสาน แต่ขณะเดียวกันก็รับอิทธิพลศิลปะรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ) เข้ามาผสมผสานเหมือนกัน เช่น หอไตร วัดทุ่งศรีเมือง และ วัดมหาธาตุ ที่ ยโสธร องค์ประกอบตกแต่งของไม้จำหลักมีความเป็นอิสระ เช่น คันทวยจะไม่ซ้ำแบบกัน เช่น วัดทุ่งศรีเมือง ความเนี้ยบความงามของลายจะมีไม่มากในงานพื้นบ้าน ส่วนรูปทรงโดยรวมเป็นหอไตรขนาดรูปทรงบึกบึนมีพลัง เช่น หอไตร วัดหนองขุหลุ หอไตร วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี หอไตร วัดศรีชมชื่น จังหวัดขอนแก่น และหอไตร วัดมหาชัย จังหวัดหนองบัวลำภู ถือได้ว่าเป็นหอไตรอีสานแบบพื้นบ้านบริสุทธิ์ ส่วนที่มีอิทธิพลของช่างหลวงไม่ว่าจะเป็นรัตนโกสินทร์หรือของเวียงจันทน์ มีตัวอย่างอยู่ที่ วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วัดมหาธาตุ วัดสระไตรนุรักษ์ วัดศรีธาตุ จังหวัดยโสธร ที่ร้อยเอ็ดอยู่ที่วัดไตรภูมิ บ้านผือฮี วัดป่าคำขอน จังหวัดร้อยเอ็ด
หน้าบันไม้จำหลัก หอไตร วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
อนึ่งความงามของหอไตรมิได้เกิดขึ้นโดยตัวอาคารตามลำพัง หากมีแต่สภาพแวดล้อมหนองน้ำ หรือแม้แต่สระขุดที่ช่วยส่งเสริมให้อาคารเด่นเป็นสง่า ท้าแดดลมมาหลายชั่วอายุคน นอกเหนือจากคุณค่าสถาปัตยลักษณ์ โดยเฉพาะส่วนหลังของหลังคา ที่สูงเด่นเสมือนธรรมเจดีย์ ที่ถูกสร้างขึ้นถวายเป็นพุทธบูชา ปัจจุบัน เทคโนโลยีจะเข้ามามีบท่บาทโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ และการพิมพ์ ทำให้การใช้งานของหอไตรถูกลดบทบาทลงอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นเพียงศาสนาคารเชิงสัญลักษณ์ มากกว่าที่จะใช้งานจริงๆ เหมือนอดีต
หอไตรกลางน้ำ วัดสระไตรนุรักษ์ จังหวัดยโสธร
บางแห่งถูกทิ้งร้างไร้การดูแลรักษาจากเจ้าอาวาสและพระลูกวัด บริเวณหอไตรสระน้ำเต็มไปด้วยขยะและผักตบชวา น้ำก็เน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น ตัวหอไตรก็ผุพังทรุดโทรม ขณะที่พระรับแต่กิจนิมนต์หาเงิน วันดีคืนดีก็รื้อทิ้งตามใจเจ้าอาวาสดื้อๆ ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ถ้าชาวบ้านหรือผู้ปกครองในท้องที่นั้นๆ ไม่เข้าไปช่วยดูแล อนุรักษ์ไว้ก็อาจเสื่อมสูญไปในไม่ช้า...
หอพระไตรปิฎกกลางน้ำ วัดขะยูงวนาราม ตำบลขะยูง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ปี 2485
(ปัจจุบันหอไตรได้ล้มลงแล้ว)
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)