foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

 attalak isan

สิมอีสาน

สิม หรือ โบสถ์ ในภาษาอีสานคำว่า "สิม" มาจากคำว่า สีมา หรือ เสมา แปลว่า เขต หลักเขตการทำสังฆกรรม โบสถ์มีใบเสมาเป็นสิ่งแสดงที่หมายนิมิตล้อมรอบตัวอาคาร 8 จุด เพื่อกำหนดเขตวิสุงคามสีมา สิมอีสานแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ สิมน้ำ กับ สิมบก สิมที่สมบูรณ์จะต้องมีพัทธสีมา หากไม่มีเขตวิสุงคามสีมาถาวรต้องไปบวชในสิมน้ำ เพราะถือว่า "น้ำ" เป็นสิ่งบริสุทธิ์ เนื่องจากความทุรกันดารของเส้นทางสู่ชนบทในภาคอีสาน

ชาวอีสานจึงสร้าง "สิมน้ำ" ขึ้นชั่วคราว เพื่อใช้อุปสมบทกรรมให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ โดยต้องสร้างให้อยู่ในน้ำที่เกิดขึ้นเอง (ชาตสระ) และอยู่ห่างจากตลิ่งกว่าชั่ววิดน้ำสาด กาลล่วงมาจึงนิยมสร้าง "สิมบก" ขึ้นเป็นการถาวรตามรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน และขอวิสุงคามสีมา พร้อมกับการฝังลูกนิมิตเป็นเขตหมายให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ สิมบกแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ สิมโปร่ง กับ สิมทึบ

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม สิมเป็นที่รวมของศิลปะและช่างฝีมือ สิมอีสานมีขนาดเล็ก แต่สัดส่วนพอดี ลงตัว สวยงาม รูปทรงเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงจั่ว มีลวดลายประดับตกแต่งบริเวณฐาน ตัวเรือน และส่วนยอด นอกจากนั้น สิมบางหลังยังมีการเขียนฮูปแต้มเป็นเรื่องราวสอนธรรมะแก่ญาติโยมไว้ที่ผนังด้านนอก เกิดเป็นอัตลักษณ์ของสิมอีสาน

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม สิมเป็นเขตสังฆกรรมภายในองค์พัทธสีมา ถือว่าศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์ เป็นสถานสมมุติแห่งความดีงาม

sim isan 17
สิมอีสาน วัดไตรภูมิคณาจารย์ อำเภอสุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด

“สิม” มีความหมายเช่นเดียวกับ “โบสถ์” หรือ “อุโบสถ” กร่อนเสียงมาจากคำว่า "เสมา" หรือ “สีมา” ซึ่งหมายถึง เขต แดน ขอบเขต หรืออาณาเขต ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการทำสังฆกรรมหรือกิจกรรมของสงฆ์ซึ่งต้องทำในสิม ทำนอกสิมไม่ได้

สิม มี 3 ประเภท สิมที่ทำในบ้านเรียก “คามสีมา” สิมที่ทำในป่าเรียก “อพัทธสีมา” ถ้าผูกแล้วเรียก “พัทธสีมา” ส่วน “วิสุงคามสีมา” นั้นคือ “คามสีมา” ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงยกที่ดินที่จะสร้างสิมให้ แต่สีมาจะเป็นชนิดใดก็ตาม หากยังไม่ได้ผูกก็ยังไม่มั่นคงถาวร เพราะผู้ให้อาจจะเพิกถอนเมื่อใดก็ได้ ท่านว่าถ้าได้ผูกแล้ว รากสิมจะหยั่งลงไปถึงน้ำหนุนแผ่นดิน ดังนั้น เมื่อมีการสร้างสิมแล้วจึงนิยมผูกสีมาทุกคราไป

การผูกสิม ต้องมีการฝังลูกนิมิต นิยมใช้เป็นศิลา มีตั้งแต่ 3-8 ลูก วางห่างจากสิมประมาณ 1 วา เรียก ”ใบเสมา” เป็นแผ่นหินที่ทำเป็นเครื่องหมายบอกเขตพระอุโบสถ ใบเสมา นี้เป็นหลักฐานทางโบราณคดีไทย ที่ใช้กำหนดยุคสมัยของการสร้างวัดสร้างอุโบสถ จึงมีรูปแบบและขนาดใหญ่เล็ก และทำด้วยหินชนิดที่แตกต่างกันออกไป ตามสภาพของภูมิประเทศในแถบนั้น แต่เดิมไม่มีข้อกำหนดจำนวนใบเสมาว่าจะมีเท่าไร เพราะเป็นเครื่องหมายบอกอาณาเขตที่ให้สงฆ์มาประชุมกัน อาจจะมีเฉพาะ 4 มุมก็ได้ โดยกำหนดให้มีอาณาเขตพอสมควรแก่การทำสังฆกรรม หรือการประชุมสงฆ์เท่านั้น

sema look nimit 01

ในปัจจุบัน นิยมทำการกำหนดเขตวัดหรือเขตอุโบสถ มักจะมีใบพัทธสีมา 8 แห่ง หรือฝังลูกนิมิตไว้ 8 จุดรอบพื้นที่ อันน่าจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญในความหมายของที่ประชุมสงฆ์ที่มีข้อวัตรในการปฏิบัติให้พ้นทุกข์ในมรรค 8 เป็นสำคัญ บางวัดที่มีใบสีมา 8 แห่ง แต่ฝังลูกนิมิตไว้กลางโบสถ์เป็นจุดที่ 9 ก็มี ลูกนิมิต จะฝังไว้ตรงกลางสิม เรียก “บือสิม” โดยการขุดหลุมสี่เหลี่ยม กว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร ลึก 1 เมตร

รูปแบบของสิมในภาคอีสานนั้น ส่วนใหญ่ปรากฏให้เห็นอยู่ 2 ชนิด คือ “คามสีมา” หรือที่ชาวอีสานมักเรียกว่า “สิมบก” และ “อุทกกะเขปะสีมา” ที่เรียกว่า “สิมน้ำ” สิมน้ำหรือ อุทกกะเขปะสีมา ในอีสานมีน้อยมาก สร้างขึ้นเพราะความจำเป็นเร่งด่วนในการประกอบสังฆกรรมซึ่งไม่มีวัด หรือมีเพียงสำนักสงฆ์ที่ยังขาด “สิม” อันได้ผูกพัทธสีมาถูกต้องตามพระวินัย

sim isan 18
สิมน้ำ วัดศิริสว่างวราราม อำเภอกมลาไสย กาฬสินธุ์

ข้อบัญญัติตามพระวินัยปิฎกกล่าวไว้ว่า น่านน้ำที่สงฆ์จะกำหนดเป็นอุทกกะเขปะได้มี 3 ประการคือ

  • นที แม่น้ำ
  • สมุทร ทะเล
  • ชาตสระ ที่ขังน้ำอันเกิดเอง

การทำสังฆกรรมในน่านน้ำ 3 ชนิด จะทำบนเรือ หรือบนแพที่ผูกกับหลักในน้ำ หรือทอดสมอก็ได้ ให้ห่างจากตลิ่งกว่าชั่ววิดน้ำสาด (ประมาณ 3 วา) ท่านห้ามไม่ให้ทำในเรือ หรือแพที่กำลังลอยลำเดินทาง จะทำบนร้านที่ปลูกขึ้นในน้ำ ท่านว่าได้ ดังนั้น “ร้านที่ปลูกขึ้นในน้ำ” จึงเป็นมูลเหตุมาเป็น สิมน้ำ ประเภทถาวรขึ้น สามารถใช้สอยได้ในระยะเวลานานพอสมควร แม้จะไม่มีความคงทนนัก ปัจจุบัน สิมน้ำ ในภาคอีสานได้สูญหายไปจนเกือบหาดูไม่ได้แล้ว

รากฐานของสิมน้ำในระยะแรก มักใช้เรือหรือแพผูกมัดเข้าหากัน แล้วปูพื้นกระดานทำเป็นโรงเรือนแบบง่ายๆ มิได้คำนึงถึงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเพื่อความสวยงามแต่ประการใด สิมน้ำนิยมทำแพร่หลายในช่วงเผยแพร่พุทธศาสนาธรรมยุตติกนิกาย ในสมัยของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม

sim isan 19

“สิมบก หรือ คามสีมา” เป็นผลงานของสถาปนิกพื้นบ้านอีสานอย่างแท้จริง บ่งบอกถึงภูมิปัญญาช่างพื้นบ้านแบบดั้งเดิม ที่สั่งสอน แก้ไข ดัดแปลง สืบต่อกันมา แม้ขนาดจะไม่ใหญ่โตอลังการเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น แต่ก็เป็นสัจธรรมที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คนบนถิ่นนั้นๆ ผลงานของช่างต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมตลอดถึงการลอกเลียนรูปแบบจากช่างเมืองหลวง จนก่อให้เกิดรูปแบบสิมบก หากจะแบ่งตามลักษณะทางสถาปัตยกรรมของสิมบกสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ 1) ชนิดโปร่งหรือสิมโถง ซึ่งแบ่งย่อยได้เป็น สิมโปร่งพื้นบ้านบริสุทธิ์ มีทั้งแบบไม่มีเสารับปีกนก และแบบมีเสารับปีกนก และ 2) ชนิดสิมทึบ ซึ่งมีลักษณะใหญ่ๆ 4 ลักษณะดังนี้

  • สิมอีสานพื้นบ้านบริสุทธิ์ สร้างด้วยไม้และอิฐถือปูน ซึ่งแบบอิฐถือปูนมีทั้งแบบมีและไม่มีเสารับปีกนก
  • สิมอีสานพื้นบ้านประยุกต์ โดยช่างพื้นบ้าน (รุ่นหลัง) มีทั้งแบบใช้ช่างพื้นบ้านไท-อีสาน และญวน หรือได้รับอิทธิพลจากช่างญวน โดยจำแนกได้เป็นแบบ ไม่มีมุขหน้า แบบมีมุขหน้า แบบมีมุขหน้าและมุขหลัง และแบบมีระเบียงรอบ
  • สิมอีสานพื้นบ้านผสมเมืองหลวง
  • สิมอีสานที่ลอกเลียนเมืองหลวง

“สิมอีสาน” นอกจากจะมีรูปแบบที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสานแล้ว ยังมีรายละเอียดของการตกแต่งอีกหลายประการ ที่ทำให้ตัวสิมมีความงามเพิ่มมากยิ่งขึ้น เราอาจแยกสิมออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  • ส่วนบน คือ ส่วนของหลังคาทั้งหมด จะมีส่วนประดับตกแต่งเช่น ช่อฟ้า โหง่ ลำยอง หางหงส์ เชิงชาย และสีหน้า เป็นต้น
  • ส่วนกลาง คือ ตัวสิม หากเป็น สิมโปร่ง จะไม่ใคร่มีการตกแต่งมากเท่าสิมทึบ ซึ่งในส่วนนี้จะก่ออิฐฉาบปูนเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนประกอบตกแต่ง เช่น ประตู หน้าต่าง คันทวย ฮังผึ้ง และบางแห่งอาจมีฮูปแต้มทั้งภายนอกและภายในตลอดถึงฐานชุกชีพระประธานก็ถือว่าเป็นงานตกแต่งที่อยู่ในส่วนนี้
  • ส่วนฐาน คือ ส่วนของแอวขัน ที่ก่ออิฐฉาบปูนทำเป็น โบกคว่ำ-โบกหงาย และมีท้องกระดานกระดูกรูปงูตามรสชาติงานของช่างอีสาน ซึ่งมีการวางจังหวะและสัดส่วนแผกไปจากช่างจากภาคอื่น นอกจากนั้นก็มีปูนปั้นเป็นรูปสัตว์เฝ้าบันได อาทิเช่น จระเข้เหรา สิงห์ และตัวมอม เป็นต้น

รายละเอียดส่วนประดับของสิมอีสาน มีดังนี้

ช่อฟ้า นับเป็นส่วนที่สูงที่สุดของสิม มักแกะสลักด้วยไม้เป็นลักษณะคล้ายปราสาท (ผาสาด) หรือฉัตรตั้งลดหลั่นซ้อนกันขึ้นไป บนสันหลังคาตรงส่วนกลางของหลังคาสิม นับเป็นส่วนสำคัญที่ชี้บอกถึงความเป็นอีสาน ปัจจุบันยังพอมีสิมที่ก่อสร้างใหม่บางหลังที่ยังคงเอกลักษณ์ของ “ช่อฟ้า” ส่วนนี้ไว้ แม้จะทำเป็นคอนกรีตไปแล้วก็ตาม

sim drawing 04

โหง่ หรือที่ภาคกลางเรียกว่า “ช่อฟ้า” ตัวนี้นั้น นับเป็นส่วนสำคัญของการตกแต่ง สิมอีสาน ที่ขาดไม่ได้ เพราะจะทำให้หลังคาขาดด้วนไปอย่างเห็นได้ชัด ช่างได้ออกแบบโหง่ ให้มีรูปแบบที่เป็นพื้นถิ่นอย่างมีคุณค่า จะไม่มีแบบสูตรสำเร็จเหมือนภาคกลาง โหง่ ของเดิมจะสร้างด้วยไม้ทั้งสิ้น

sim drawing 05

ลำยอง เป็นส่วนที่เรียกว่า “นาคสะดุ้ง” แต่สิมอีสานมักนิยมทำเรียบเป็นแบบ “แป้นลม” ของเรือนพักอาศัย หลายแห่งแกะสลักเป็นลำตัวนาคเกี่ยวหางต่อหัวกันอย่างสนุกสนาน ข้างละไม่ต่ำกว่า 3-5 ตัว ส่อให้เห็นถึงความเป็นอิสระในการออกแบบของช่างอย่างเต็มที่

sim drawing 03

หางหงส์ สลักเป็นหัวพญานาคบ้างเป็นลายก้านดก (กนกหัวม้วน) บ้าง แล้วแต่ช่างจะคิดประดิษฐ์เอา

sim drawing 06

เชิงชาย บางแห่งก็แกะสลักเป็นลายเครือเถา บางแห่งก็ฉลุไม้เป็นลวดลายคล้ายอุบะย้อยต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใคร่ตกแต่งในส่วนนี้

หน้าบัน หรือ “สีหน้า” ของสิมอีสาน นิยมทำเป็นลายตาเวน หรือเป็นดวงตะวันส่องแสงเป็นรัศมีติดกระจกประดับ ประดุจความสว่างไสวสดใสชัชวาลแห่งดวงประทีป คือปัญญาของผู้ใฝ่ใจในพระธรรมขององค์พระสัมมาพุทธเจ้า

ประตู ส่วนใหญ่จะมีประตูเดียว บางแห่งก็สลักลวดลาย มักเป็นลายเครือเถาตามแบบช่างพื้นบ้าน จะดูหยาบแต่ก็ให้ความเป็นเอกลักษณ์ของอีสานได้ดีทีเดียว

sim drawing 08

หน้าต่าง มักเจาะผนัง 4 เหลี่ยมใส่บานหน้าต่างไม้ขนาดไม่ใหญ่นักอาจมีบานพับคู่และบานพับเดี่ยวไม่ใคร่ทำซุ่มประดับหน้าต่าง จะทำบ้างก็เป็นซุ้มประตูเสียส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อนิยมก่ออิฐปั้นปูนช่างญวนจะนิยมทำซุ่มประตูแบบอาร์คโค้งใส่ลงไปในสิมอีสาน แถมให้ด้วย

sim drawing 09

แขนนาง หรือ คันทวย ส่วนนี้เป็นลักษณะพิเศษของสิมอีสานที่ไม่เหมือนใคร จะมีทั้งทวยนาคและทวยแผงคือเป็นแผงแผ่นไม้ขนาดค่อนข้างใหญ่ แกะสลักลายนูนต่ำทั้ง 2 ด้าน การประดับของคันทวยนี้ด้านล่างจะมีเต้าไม้ยื่นออกมารับจากผนังแล้วจะเอนหัวออกเล็กน้อยขึ้นไปยึดกับไม้ด้านบน ซึ่งเป็นไม้ขื่อรับปีกนกยันเชิงชาย จะเห็นได้ว่าแปลกกว่าของทางภาคอื่น

sim drawing 10

ฮังผึ้ง หรือ “รวงผึ้ง” ของทางภาคกลาง หรือ “โก่งคิ้ว” ของทางภาคเหนือ มีลักษณะเด่นมากของงานตกแต่งด้านหน้าของสิมอีสาน ซึ่งมักจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ช่วงเสา 4 ต้น ช่วงเสากลางเป็นหน้าบันของจั่วใหญ่ ตรงกับบันไดทางขึ้น ฮังผึ้งจะอยู่สูงกว่าปกติ ส่วนในช่วงเสาอีกสองข้างนั้นเป็นบันไดปีกนก จะมีฮังผึ้งต่ำลงมา มีการแกะสลักลวดลายวิจิตรประณีต ทำให้สิมอีสานดุอลังการขึ้นเป็นพิเศษ บางหลังด้านหน้ามีเพียงช่วงเสาเดียว ตัวฮังผึ้งจะยาวตลอดและยังคงทำเลียนแบบคล้ายอย่างแรกเช่นกัน

แอวขัน มีลักษณะพิเศษ สิมบางหลังมีแอวขันสูงท่วมหัว การก่ออิฐทำเป็นโบกคว่ำ-โบกหงาย มักจะสูงชันกว่าของภาคกลาง ส่วนท้องกระดานนิยมทำเป้นกระดูกงูโปนออกมาแก้ความเรียบของตัวท้องกระดาน ส่วนลวดบัวนั้นก็มีคล้ายๆ กันโดยทั่วไป ส่วนใหญ่นิยมทำเป็นลักษณะแอวขันปากพาน คือ ทำเลียนรูปพานหรือโตกใส่ข้าวของต่างๆ ในพิธีกรรมพื้นบ้านนั้นเอง

sim drawing 11

บันได มักมีบันไดทางขึ้นเพียงด้านเดียว นิยมทำปูนปั้นเป็นรูปสัตว์เฝ้าบันได เช่น เป็นตัวจระเข้นอนราบเอาหัวลงล่างเอาหางอยู่บน บางแห่งเป็นรูปจระเข้เหราอ้าปากคาบสิงห์ บางแห่งก็เป็นตัวสัตว์คล้ายมอม ที่คนสมัยก่อนใช้สักไว้ตามขา (เฉพาะผู้ชาย) และที่กำลังเป็นกระแสในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 ในโลกออนไลน์ คือ "น้อน" หรือ "เหรา" ที่เป็นศิลปะพื้นฐิ่นอีสานที่น่าสนใจ [ อ่านเพิ่มเติม : ]

ชุกชี ส่วนแท่นประดิษฐานพระประธานภายในสิม ช่างไท-อีสาน นิยมก่ออิฐถือปูนมีรูปแบบฐานแอวขันปากพาน สัดส่วนของการลดเหลี่ยม, โบกคว่ำ, โบกหงาย และท้องกระดานนั้น ทำตามรสชาติงานช่างแบบพื้นเมือง ซึ่งให้คุณค่าจนเกิดเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว

ผลงานเขียนภาพลายเส้นโดย อาจารย์กิตติสันต์ ศรีรักษา

sim isan 20

สิม หรือ อุโบสถหลังเก่า วัดขะยูงวนาราม ตำบลขะยูง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ สร้างปี 2422

“สิมอีสาน” ในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ผู้เขียน : ติ๊ก แสนบุญ
ที่มา :
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2559

sim isan 01

วัฒนธรรมงานช่างประเภทศาสนาคาร สิม หรือที่เรียกกันตามสมัยนิยมยุคปัจจุบันว่า โบสถ์ หรือ พระอุโบสถ ตามคำเรียกในวัฒนธรรมงานช่างภาคกลาง หากในรากศัพท์สำเนียงไท-อีสานโบราณ นิยมเรียกกันอย่างสามัญว่า "สิม" ซึ่งสันนิษฐานกันว่ากร่อนมาจากคำว่า "สีมา" โดยสิมหรือโบสถ์ ถือเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของวัดในอีสาน แม้จะไม่มีระเบียบแบบแผนการวางผังที่ชัดเจนมากนัก

sim isan 02

วิหารยุคอีสานเก่าในวัฒนธรรมลาว ณ วัดหลวง วัดแรกสร้างของเมืองอุบล (สร้างราว พ.ศ. 2337) เมื่อชำรุดได้รื้อไปราว พ.ศ. 2492 (ภาพโดย คุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล ปราชญ์เมืองอุบลผู้ล่วงลับ) ศิลปะสถาปัตยกรรมที่สืบต่อสายสกุลช่างหลวงล้านช้าง ในบริบทพื้นที่การเมืองอีสานของกลุ่มเจ้านายพื้นเมืองที่สืบทอดรูปแบบในเชิงช่างมาจากวัฒนธรรมหลวงล้านช้าง

sim isan 03

"สิม" ยุคอีสานเก่าวัฒนธรรมลาว วัดกลางมิ่งเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด (ภาพจากหอจดหมายเหตุ) สิมสกุลช่างหลวงหลังนี้มีประวัติว่า เจ้าอนุวงศ์ มาสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ โดยมีช่างจากราชสำนักเวียงจันทน์ และสยามมาร่วมสร้าง และมีการบูรณะซ่อมสร้างครั้งสำคัญ ในยุคอุดมการณ์สร้างความเป็นไทย พ.ศ. 2483-84 โดย นายช่างคำหมา แสงงาม

สิมอีสานในยุคก่อน พ.ศ. 2475 นโยบายของรัฐช่วงนี้จนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภาพรวมมีลักษณะมุ่งเน้นการควบคุมส่วนภูมิภาคมากกว่าการให้บริการ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่รัฐใช้เพื่อผนึกภูมิภาคนี้ ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกรอบของพื้นที่การเมืองรัฐไทย โดยภาพรวมพื้นที่การเมืองในภาคอีสานมีอิทธิพลศิลปะสถาปัตยกรรมแบบอย่างวัฒนธรรมลาวล้านช้าง เป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก โดยสิมอีสานล้วนมีรูปแบบลักษณะแบบอย่างศิลปะลาวล้านช้าง ในรูปแบบสายสกุลช่างพื้นบ้าน ซึ่งมีเหตุปัจจัยมาจากความมีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองร่วมกัน โดยเฉพาะมิติทางด้านเชื้อชาติ ดั่งตัวอย่างร่องรอยศิลปะสถาปัตยกรรมสกุลช่างหลวงล้านช้าง

sim isan 04

สิมในยุคอีสานเก่า ณ วัดไตรภูมิ บ้านผือฮี จังหวัดร้อยเอ็ด
โดดเด่นด้วยเอวขันเอกลักษณ์สกุลช่างเมืองร้อยเอ็ด ที่ได้รับการบูรณะคืนชีวิตรูปแบบเดิมอีกครั้ง

ดั่งที่ปรากฏหลักฐานอยู่ตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ เช่น กลุ่มการเมืองสายพระวอพระตาแห่งเมืองเวียงจันทน์ ที่แยกตัวและสถาปนาเป็นกลุ่มอำนาจทางการเมืองใหม่ในพื้นที่อีสาน ดั่งที่ปรากฏหลักฐานการสร้างวิหารวัดหลวง ซึ่งเป็นวัดแรกในการตั้งเมืองอุบลราชธานี (สร้างราว พ.ศ. 2337 และเมื่อชำรุดทรุดโทรมจึงได้รื้อทิ้งใน พ.ศ. 2492) หรือจะเป็นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ดั่งปรากฏหลักฐานที่รูปแบบสิมของวัดกลางมิ่งเมือง แห่งเมืองร้อยเอ็ด และในแหล่งพื้นที่การเมืองสำคัญอื่นๆ เช่น สิมวัดพระเหลาเทพนิมิต อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ สิมวัดมหาธาตุ วัดศรีคุณเมือง เมืองเลย วิหารวัดมโนภิรมย์ เมืองมุกดาหาร ทั้งหมดล้วนมีอิทธิพลศิลปะแบบอย่างสายสกุลช่างหลวงล้านช้างทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยในยุคสมัยนี้หากมองด้วยกรอบแนวคิดล้านช้างนิยม จะถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองในงานช่างแขนงนี้ ที่ผู้เขียนเรียกว่าศิลปะสถาปัตยกรรมยุคอีสานเก่า

ในบทความนี้ผู้เขียนยังนำเสนอ "สิม" หรือ "วิหาร" ในอีสาน ในมิติแห่งห้วงกรอบของเวลาแต่ละยุคสมัย โดยได้แบ่งพัฒนาการตามปัจจัยเงื่อนไขทางสังคมออกเป็น 3 ช่วงสำคัญ คือ

  • ช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2500 (ยุคประชาธิปไตยและความเป็นไทย)
  • ช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2500–2534 (ยุคสงครามเย็น)
  • ช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2534-ปัจจุบัน (ยุคอีสานพัฒนาและความเสมอภาค)

“สิมอีสาน” ในยุคประชาธิปไตยและความเป็นไทย ช่วงพ.ศ. 2475-2500

sim isan 05

สิมสกุลช่างญวน ลักษณะเดิมก่อนดัดแปลงเทิบด้านหน้าของวัดบ้านค้อแขม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
เป็นสิมที่สร้างราว พ.ศ. 2476-79 สันนิษฐานว่าเป็นอีกผลงานหนึ่งของช่างนา เวียงสมศรี
โดยเริ่มมีการผสมผสานความเป็นไทยผ่านลักษณะซุ้มหน้าต่างแบบอย่างซุ้มบันแถลงไทย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นครั้งแรกที่รัฐมีนโยบายให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยผ่านผู้แทนราษฎร หากพิเคราะห์ในมิติด้านสภาพเศรษฐกิจ สังคมอีสานในช่วงนี้ รัฐบาลให้ความสนใจต่อภาคอีสานด้วย เพราะกลัวจะกลายเป็นของฝรั่งเศส โดยสรุปได้ว่า การขยายตัวของรัฐในช่วงนี้ เป็นไปเพื่อเสริมกระบวนการสร้างชาติของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยเฉพาะนโยบายที่เน้นการผลิตเพื่อขายนั้น มีผลกระทบต่อภาคอีสานอย่างมาก และในมิติทางสังคมการเมืองในช่วง ๒๕ ปีดังกล่าวนี้ ศาสนาคาร โดยเฉพาะ "สิม" และ "อาฮาม" (วิหาร) ในยุคนี้ถือได้ว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญจากวัฒนธรรมลาวล้านช้างมาสู่วัฒนธรรมราชสำนักกรุงเทพฯ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงไปกับปัจจัยสังคมการเมืองในขณะนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะตั้งแต่สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครองอำนาจทางการเมืองตลอดระยะเวลาในช่วง 15 ปี ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงที่ 1  พ.ศ. 2481 - 87 และช่วงที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2491 - 2500 ห้วงเวลาดังกล่าวสภาพสังคมวัฒนธรรมอีสานในขณะนั้น ได้มีการปรับตัวมาแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจัยทางการพัฒนาการคมนาคมและการสื่อสาร เช่น มีการขยายเส้นทางการรถไฟ ผลที่ตามมาประการหนึ่งของการขยายการคมนาคมจากส่วนกลางเข้าไปในภาคอีสานนี้ ทำให้คนในภาคอีสานได้รับการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับคนในภาคกลางมากขึ้น ก่อให้เกิดความรู้สึกว่ากรุงเทพฯ คือศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างแท้จริง (สุเทพ สุนทรเภสัช. หมู่บ้านอีสานยุคสงครามเย็น. 2521, น. 13.) ปัจจัยแวดล้อมด้านการคมนาคมเหล่านี้มีส่วนอย่างมากต่อการปรับเปลี่ยนรสนิยม ความชอบต่อรูปแบบศิลปะศาสนาคารอย่างสิม โดยเฉพาะประเด็นสำคัญอย่างการเข้าถึงวัสดุ และเทคโนโลยีการก่อสร้าง ผ่านวิถีวัฒนธรรมการค้าแบบใหม่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลให้วัฒนธรรมงานช่างแบบเครื่องไม้ ปรับเปลี่ยนมาสู่วัฒนธรรมงานก่ออิฐถือปูน

ค่อนข้างเข้มข้นชัดเจนมากขึ้นควบคู่ไปกับสกุลช่างอื่นๆ ในลักษณะผสมผสานทั้งวัฒนธรรมภายนอกและของท้องถิ่น เช่น สิมแม้จะมีกลุ่มช่างญวนเป็นนายช่างใหญ่ในการก่อรูปศิลปะศาสนาคาร แต่ช่างท้องถิ่นในชุมชนก็ยังมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นงานไม้แกะสลักบานประตู หน้าต่าง คันทวย เครื่องลำยอง อย่างช่อฟ้าปราสาทหางหงส์ หรืออย่างงานตกแต่งอย่างฮูปแต้ม หรืองานจิตรกรรม อย่างกรณีของ วัดสนวนวารีพัฒนาราม เมืองขอนแก่น วัดโพธิ์ชัยโคกใหญ่ เมืองกาฬสินธุ์ วัดโพธิ์คำ เมืองนครพนม เป็นต้น

sim isan 06

สิมวัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ศิลปะเชิงช่างหลวงล้านช้างผสานกับสกุลช่างหลวงกรุงเทพฯ ยุคต้น
ซึ่งมีการบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นสิมต้นแบบของสกุลช่างเมืองอุบลที่มีลักษณะไทย ก่อนการเข้ามาของโบสถ์มาตรฐาน ก ข ค
ในยุควัฒนธรรมการเมืองเรื่องความเป็นไทยแห่งชาติ

โดยระยะแรกกลุ่มช่างญวนมักเน้นรูปทรงและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอย่างง่ายๆ (ซึ่งเป็นหลักพัฒนาการพื้นฐานทางศิลปะ) นอกเหนือจากในบางพื้นที่ที่เปิดโอกาสการให้กลุ่มช่างญวนเหล่านั้น แสดงออกในเชิงศิลปะญวนได้อย่างเต็มที่ ดังกรณี สิมวัดบ้านเซเป็ด วัดบ้านกระเดียน อำเภอตระการพืชผล (มีหอแจก และสิม และธาตุ) วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก (มีหอธรรมาสน์และหอแจกที่มีการตกแต่งรูปทรงและลวดลายด้วยศิลปะอย่างญวน) จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งทั้งหมดมีลักษณะการแสดงออกแบบอย่างศิลปะญวนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการใช้รูปลวดลายประดับ เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งข้อมูลอื่น แม้แต่ในเขตพื้นที่ที่มีกลุ่มคนญวนอยู่หนาแน่นอย่าง นครพนม สกลนคร มุกดาหาร

แม้ในช่วงต้น 15 ปีแรก รูปแบบอาจจะยังไม่ชัดเจนนัก ด้วยเพราะลักษณะเฉพาะของสังคมวัฒนธรรมอีสาน ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เข้าถึงลำบาก และรวมถึงมีจำนวนประชากรมาก ทำให้เป็นปัจจัยสำคัญก่อให้เกิดความหลากหลาย และมีอิสระในการสร้างสรรค์ ทั้งกลุ่มที่ต้องการสืบสานรูปแบบวัฒนธรรมล้านช้างแบบอนุรักษนิยม และกลุ่มสกุลช่างญวน หรือกลุ่มที่ผสมผสานวัฒนธรรมพื้นเมืองกับรูปแบบภายนอก ดั่งกรณี สิมวัดบ้านเอียด เมืองมหาสารคาม ที่มีการบูรณาการเชิงช่างหรือบางส่วนก็สอดแทรกกรอบแนวคิดเรื่อง อุดมการณ์ร่วมของผู้คนในสังคมให้มีความหวังในโลกหน้าอย่างแน่นแฟ้น คือ การอดออม อดทน สร้างบุญบารมีชาตินี้เพื่อเสวยสุขในโลกหน้า (โลกพระศรีอาริย์)

แต่ท้ายที่สุด ทุกสายสกุลช่างต่างๆ ก็ปรับตัวยอมรับ เข้าหารูปแบบสายสกุลช่างราชสำนักกรุงเทพฯ ที่ทรงพลัง อย่างต่อเนื่อง โดยมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก จากนโยบายรัฐนิยมแห่งความเป็นไทย ที่เริ่มเข้มข้นตั้งแต่ พ.ศ. 2483 เป็นต้นมา ดั่งที่มีการผลิตสร้างแบบโบสถ์ สำเร็จรูป ก ข ค ของกรมศิลปากรซึ่งออกแบบโดย พระพรหมพิจิตร

แต่ในพื้นที่อีสานช่วงแรกๆ อิทธิพลดังกล่าวก็ยังถือว่าเข้ามามีบทบาทไม่มากนักสำหรับวัดชนบทรอบนอก โดยความเข้มข้นจะเกิดกับวัดในเขตเมืองเป็นส่วนใหญ่ ตามสายการปกครองคณะสงฆ์ไทยที่เป็นส่วนหนึ่งแห่งกลไกการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมประดิษฐที่ว่า ลักษณะไทย และทั้งหมด ได้กลืนกลายรสนิยมจากวัฒนธรรมงานช่างล้านช้าง มาสู่สกุลช่างญวน มาสู่สายสกุลช่างแบบอย่างศิลปะไทยราชสำนักกรุงเทพฯ

แม้การสร้างในความเป็นจริงจะไม่ได้ลอกเลียนลักษณะโบสถ์แบบ ก ข ค ทั้งหมดแต่อย่างใด หากแต่เป็นการผสานผสมในรสนิยมเชิงช่างร่วมกัน ที่อาจอธิบายได้ว่าที่เป็นเช่นนั้น เพราะด้วยข้อจำกัดด้านเทคนิควัสดุการก่อสร้าง หรือแม้แต่ฝีมือช่างที่มีข้อจำกัดของความถนัด ความชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน และสำคัญจะเป็นความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ช่างพื้นถิ่นอีสานก็เรียนรู้พัฒนาฝีมือกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสายสกุลช่างของตนเอง แม้แต่กลุ่มช่างญวนส่วนใหญ่ก็สามารถเรียนรู้ความเป็นไทยในเชิงศิลปะมากขึ้น จนสามารถจัดอยู่ในกลุ่มช่างราชสำนัก เช่น สายสกุลช่างญวนที่มีฝีมือที่โดดเด่นมากในแถบอีสานเหนืออย่าง องแมด จันดี หรือที่เรียกกันว่า องแมด ก็สร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเช่น วัดกลาง และอีกหลายแห่งในจังหวัดนครพนม หรือในแถบอุดรธานีก็มี องกู่วันฝ่อ ซึ่งมีผลงานสำคัญในการสร้างศาลากลางหลังเก่า ของจังหวัดอุดรธานี เป็นต้น

sim isan 07

ลวดลายรูปทรงลักษณะไทยที่ด้านหลังสิมสกุลช่างญวน ณ วัดแก้วรังสี อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี
สร้างเมื่อ พ.ศ. 2485 ฝีมือ องนา เวียงสมศรี

โดยศิลปะไทยมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วง พ.ศ. 2487 เป็นต้นมา และแพร่หลายมากในช่วง พ.ศ. 2491 - 2500 ซึ่งถือเป็นช่วงสุดท้ายของการครองอำนาจทางการเมืองสูงสุดของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับบทบาททางการเมือง

กลุ่มสกุลช่างญวน ถือเป็นสกุลช่างสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนในการสร้างนวัตกรรมด้านศาสนาคารอีสาน ผ่านปัจจัยตัวแปรจากการกดขี่ด้านการนับถือศาสนาหรือการเคลื่อนย้ายหนีภัยการเมืองภายใน และปัจจัยการเมืองภายนอกจากภาวะสงคราม ในยุคสมัยการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส การเข้ามาของกลุ่มชาวญวนในหลายช่วงเวลา ซึ่งในแถบอีสานใต้มีนายช่างญวนที่มีชื่อเสียง และผลงานที่โดดเด่นมากท่านหนึ่งที่ชื่อ องนา เวียงสมศรี ดั่งปรากฏหลักฐานผลงานออกแบบก่อสร้างชิ้นสำคัญอย่างน้อยตั้งแต่ในพ.ศ. ๒๔๗๓ ดังผลงานที่ปรากฏอยู่ที่ สิมและธาตุวัดโพนเมือง (มีลักษณะศิลปะไทย) และวัดบ้านกระเดียน เมืองอุบลราชธานี สร้างแล้วเสร็จ พ.ศ. 2477 (มีลักษณะศิลปะแบบญวนผสมตะวันตก) และในแถบอีสานเหนือจะมี องแมด จันดี ที่มีผลงานอยู่มากมายในแถบนครพนม

ในส่วนช่างท้องถิ่น จะมี นายช่างคำหมา แสงงาม และ นายช่างหล้า จันทรวิจิตร ซึ่งเป็นศิษย์เอกแห่งสำนักพระครูวิโรจน์ รัตโนบล ช่างพระที่มีชื่อเสียงในงานช่างซึ่งได้ไปบูรณะองค์พระธาตุพนม จุดเด่นของสายสกุลช่างสำนักนี้คือ มีรูปแบบที่รับอิทธิพลจากราชสำนักกรุงเทพฯ ค่อนข้างมาก จากข้อมูลทำให้เห็นว่ากลุ่มช่างท้องถิ่นเหล่านี้ส่วนใหญ่ ได้เคยร่วมงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงช่างซึ่งกันและกัน เช่น สายสกุลช่างหล้า จันทรวิจิตร ได้เคยร่วมงานกับ องนา เวียงสมศรี เป็นต้น และในด้านเทคนิคการก่อสร้างที่โดดเด่นในยุคนี้คือ การประดับรูปลวดลายปูนปั้นสด แบบนูนต่ำ ซึ่งเป็นลักษณะร่วมกันที่สำคัญ ส่วนเทคนิคงานไม้แกะสลักและงานโครงสร้างไม้ เป็นบทบาทของช่างพื้นถิ่น

Dragon by Ong na

มังกรในลักษณะไทย สร้าง พ.ศ. 2477 ฝีมือของ องนา เวียงสมศรี นายช่างใหญ่ชาวญวนแห่งอีสานใต้ เครดิตภาพ : ติ๊ก แสนบุญ

“สิมอีสาน” ในยุคสงครามเย็น พ.ศ. 2500 - 2534

sim isan 08

สิมไม้เก่า วัดโพธิ์บัลลังก์ อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ถือเป็นสิมไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในอีสาน
โดยทำหน้าที่เป็นหอแจกด้วย สร้างราว พ.ศ. 2500

ยุคสงครามเย็น ช่วงนี้แม้การเมืองในกระแสหลักจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ในแง่การดำเนินนโยบายทางวัฒนธรรม ยังคงสืบต่ออุดมการณ์ชาตินิยม ที่รัฐบาลยุคสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำไว้ แต่ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นคือ การพัฒนาบ้านเมืองในยุคที่เรียกได้ว่า เป็นยุคน้ำไหล ไฟสว่าง ถนนหนทางดี ภายใต้แรงกดดันทางการเมืองทั้งจากภายในและภายนอก ในการช่วงชิงมวลชนของสองค่ายลัทธิการเมืองของค่ายเสรีนิยมที่มีอเมริกาเป็นผู้นำ กับค่ายสังคมนิยมที่มีรัสเซียและจีนเป็นผู้นำ ด้านสังคมมีความหลากหลายในระบบความเชื่อด้านการศาสนาต่างๆ มีการขยายวัดสาขา วัดป่าเป็นจำนวนมาก งานช่างศาสนาคารสมัยนั้นมักแสดงออกและผลิตซ้ำถึงความเป็นไทย มากกว่าการสร้างสรรค์ในลักษณะลาว

sim isan 09

สิมอีสานในวัฒนธรรมเขมรที่มีการซ่อมสร้างราว พ.ศ. 2500 โดยจะมีขนาดพื้นที่การใช้งานมากกว่าสิมในวัฒนธรรมลาว

โดยกลุ่มช่างอาชีพท้องถิ่นกลุ่มเก่าไม่ว่าจะเป็น สำนักช่างคำหมา แสงงาม สำนักช่างหล้า จันทรวิจิตร ช่างนา เวียงสมศรี หรือกลุ่มช่างอุทัยทอง จันทร์ทร ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยส่วนมากจะเป็นช่วงเริ่มต้นของกลุ่มลูกศิลป์หรือลูกๆ ของเจ้าสำนักต่างๆ โดยยังเป็นการสืบต่อรูปแบบจากยุคที่แล้ว โดยที่โดดเด่นมากในแถบอีสานใต้น่าจะเป็นกลุ่มสายช่างนา ที่ส่งต่อให้ลูกชายคือ ช่างเรียน เวียงสมศรี ที่สร้างอัตลักษณ์ให้กับตัวเองด้วยการคิดค้นปรับประยุกต์ลวดลายเขมร มาใช้ในการสร้างสรรค์ศาสนาคารต่างๆ โดยสร้างแนวคิดที่อ้างอิงวัฒนธรรมพื้นถิ่นเขมร เป็นต้น

sim isan 10

สิมร่วมสมัยที่ใช้วัสดุตกแต่งจากวัสดุเหลือใช้ อย่างขวดแก้ว ณ วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว ในอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
หรือรู้จักกันในชื่อ วัดล้านขวด สร้างใน พ.ศ. 2527

ช่วง พ.ศ. 2510 - 2525 ช่วงเวลานี้ในวัฒนธรรมกระแสหลัก ถือเป็นห้วงที่กระแสการอนุรักษ์และพัฒนาสู่รูปแบบร่วมสมัย การสร้างสรรค์ในอีสานยุคนี้ก็มีการออกแบบในลักษณะพื้นถิ่นในนิยามใหม่ โดยที่ผู้มีบทบาทสำคัญไม่ใช่กลุ่มนายช่างอาชีพอย่างแต่ก่อน หากแต่เป็นกลุ่มปัญญาชนที่เป็นผลผลิตของการศึกษาในระบบวิชาชีพที่เรียกว่า สถาปนิก ที่เป็น อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาท้องถิ่น จากเดิมที่เคยผูกขาดอยู่กับกลุ่มช่างอาชีพของท้องถิ่น โดยช่างกลุ่มใหม่นี้มีเอกลักษณ์รวมกันคือ การอ้างอิงแนวคิดที่ตีความสถาปัตยกรรมศาสนาในมิติเชิงปรัชญา ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในวิถีสังคม จารีต ในวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน

ดังตัวอย่างผลงานการออกแบบสำคัญที่เคยนำเสนอไปแล้วอย่าง โบสถ์วัดศาลาลอยที่โคราช ผลงานของ วิโรฒ ศรีสุโร ซึ่งสร้างราว พ.ศ. 2510 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2516 โดยท่านถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะอาจารย์ ผู้บุกเบิกอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมอีสานในอดีต มาตีความรับใช้สังคมใหม่ ที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ต่อการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัยต่อมาในอีสาน

ubosod 01
อุโบสถวัดหนองป่าพง อุบลราชธานี ตามแนวคิดของ หลวงพ่อชา สุภัทโท สร้างในปี พ.ศ. 2519
เขียนแบบโดย อาจารย์บำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ วิทยาลัยเทคนิคโนโลยีและอาชีวศึกษา จังหวัดนครราชสีมา

อุโบสถของวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ที่แนวคิดในการก่อสร้างมาจาก หลวงพ่อชา สุภัทโท ที่ท่านปรารภว่า "วัดป่าพงเป็นวัดใหญ่ มีพระอยู่อาศัยมาก และมีวัดสาขามากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงต้องการให้ออกแบบโบสถ์ที่มีขนาดกว้างใหญ่ สามารถให้พระสงฆ์มารวมกันทำพิธีทางศาสนาได้ถึง 200 รูป เป็นอย่างน้อย ให้พื้นโบสถ์ยกลอยสูงขึ้นจากพื้นดิน พื้นโบสถ์ส่วนที่ลอยนี้ จะใช้เป็นถังเก็บน้าฝนขนาดใหญ่ เพราะวัดมักจะกันดารน้ำในฤดูแล้ง ไม่ควรมีช่อฟ้าใบระกา ตลอดทั้งสิ่งประดับฟุ่มเฟือยต่างๆ เพียงแต่ให้หลังคาคุ้มแดดคุ้มฝนได้ ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องมีผนัง ประตู หน้าต่าง พื้นโบสถ์ที่อยู่สูงทำให้ทุกคนมองเห็น และมีความรู้สึกว่าได้ร่วมพิธีกรรม มุ่งในประโยชน์ใช้สอย ประหยัด แข็งแรงทนทาน รูปแบบอาคารให้พยายามดึงเอาส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมพื้นเมืองอีสาน เข้ามาผสมปนเปด้วย" เขียนแบบโดย อาจารย์บำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ อาจารย์แผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคโนโลยีและอาชีวศึกษา จังหวัดนครราชสีมา เป็นทั้งสถาปนิกและวิศวกรอำนวยการสร้าง ดังนั้น ศาสนาคารที่สร้างสรรค์ในยุค พ.ศ. 2516 - 2525 จัดเป็นช่วงอรุณรุ่งของศิลปะศาสนาคารอีสานร่วมสมัยยุคแรก โดยมีกลุ่มสถาปนิกในระบบเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์

ซึ่งสัมพันธ์แนบแน่นกับสภาพแวดล้อมทางสังคม การเมืองสมัยนั้นๆ ที่เป็นสังคมยุคแห่งความรุ่งเรืองของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ พร้อมๆ กับสภาพเศรษฐกิจใหม่ที่ผูกโยงสัมพันธ์กับการเมืองโลก ซึ่งยังอยู่ในช่วงสงครามเย็น ที่ใช้อุดมการณ์ทางการเมือง ที่มุ่งเน้นความก้าวหน้าทันสมัยสะท้อนให้เห็นการใช้เทคโนโลยีโครงสร้างอาคาร (จิตวิญาณความเป็นสมัยใหม่ผ่านวัสดุคอนกรีต เหล็ก กระจก และเน้นสร้างสุนทรีย ความงามตามสัจจะวัสดุ) และวัสดุผสานกับคตินิยมบางอย่างของท้องถิ่น ด้วยกระเบื้องดินเผ่าด่านเกวียน ซึ่งเป็นวัสดุตกแต่งอาคารพื้นถิ่นที่เป็นที่นิยมมากในยุคนั้น นับเป็นจุดเปลี่ยนแรกที่สำคัญในงานออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ที่รับใช้ศาสนาอย่างแท้จริง

sim isan 11

สิมร่วมสมัยที่ผสมผสานเชิงช่างแบบวัฒนธรรมจารีตในหลายรูปลักษณ์ ณ วัดเขาพระอังคาร
ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

“สิมอีสาน” ในยุคอีสานพัฒนาและความเสมอภาค พ.ศ. 2534 - ปัจจุบัน

sim isan 12

สิมอีสานกับการให้ความหมายใหม่ กับเสรีภาพการแสดงออกผ่านการตีความใหม่ ภายใต้ปรัชญาธรรมวัดป่าเนรัญชราวนาราม อำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ สร้างใน พ.ศ. 2540 - 2542 โดยการนำสร้างของหลวงพ่อหมอ (พระครูวีรญาณโสภณ เจ้าอาวาส) ตามที่ท่านได้นิมิต โดยต้องการให้เรือแห่งนี้มีการใช้งานหลายอย่างโดยเป็นทั้งโบสถ์ วิหาร เจดีย์ และศาลาการเปรียญในอาคารหลังเดียวกัน ซึ่งท่านออกแบบให้เป็นเสมือนเรือพิฆาตสังสารวัฏ

ใน พ.ศ. 2534 ถือเป็นช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเมือง การปกครอง ที่เน้นการกระจายอำนาจการบริหารจากส่วนกลาง ลงสู่ท้องถิ่นมากขึ้น นักการเมืองท้องถิ่นสร้างอิทธิพลมากขึ้นโดยเชื่อมโยงกับการเมืองในระดับชาติ มีการแสดงออกทางความคิดทางการเมืองที่เข้มข้นเสรีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ชนชั้นล่างชาวนาชาวไร่ที่เป็นชนชั้นแรงงาน มีความรู้เท่าทันทางการเมืองผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความรุ่งเรืองของสื่อวิทยุท้องถิ่น ทำให้คนอีสานก้าวข้ามความเป็นสังคมชนบทสู่สังคมเมือง โดยมีแรงขับเคลื่อนผ่านผู้แทนพรรคการเมือง สร้างสิทธิความชอบธรรมเสมอภาคจากชนชั้นกลางในเมือง แรงปรารถนาแห่งความอยากมี อยากเป็น ทำให้วิถีสังคมอีสานเปลี่ยนแปลงไปจากวิถีสังคมเกษตรแบบพอเพียงในโลกอุดมคติได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

sim isan 13

สิม วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี สร้างราว พ.ศ. 2542 โดยตกแต่งต่อเติมเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2557
โดยอิงต้นแบบจากวัดเชียงทอง แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว มาสร้างจุดขายสำคัญด้วย ฮูปแต้มนูนต่ำ เป็นต้นกัลปพฤกษ์ เรืองแสง

โลกทรรศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้งานช่างในยุคนี้ ถือเป็นห้วงเวลาที่การสร้างสรรค์ศิลปะศาสนาคารอีสาน มีความหลากหลายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยกลุ่มช่างอาชีพได้พยายามพัฒนารูปแบบงานในแบบฉบับของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยการศึกษาจากภาพถ่าย หนังสือ ตำรา หรือบ้างก็เดินทางไปศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามแหล่งศิลปะสถาปัตยกรรม วัดต่างๆ ที่มีความประทับใจ

sim isan 14

สิมอีสานร่วมสมัย ทำเป็นรูปทรงยานพาหนะสำคัญทางบก วัวเทียมเกวียน ณ วัดพระธาตุเรืองรอง อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ

ตามเงื่อนไขตัวแปรสำคัญ คือ รสนิยมของทั้งตัวนายช่าง สมภาร คณะกรรมการวัด และเจ้าศรัทธา และในกลุ่มช่างพื้นบ้านก็มี ช่างพระ โดยเฉพาะสมภารเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเป็นต้นคิดในการออกแบบ สร้างสรรค์ตามจินตนาการใหม่ ทั้งในรูปแบบที่ต้องการแสดงถึงการตีความสัจธรรม คำสอน ผ่านการสร้างสรรค์ หรือจะเป็นกลุ่มที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในแง่การใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น แนวคิดการออกแบบสร้างวัดล้านขวด เมืองศรีสะเกษ หรือคติการสร้างสิมในรูปลักษณะของเรือสำเภา หรือเรือสุพรรณหงส์ ซึ่งปรากฏอยู่ในหลายพื้นที่ หรือบ้างก็จะสร้าง สิม วิหาร หอแจก รวมอยู่ในหลังเดียวกัน เป็นที่นิยมมากในวัดที่สร้างในยุคหลังๆ โดยเฉพาะวัดป่าที่เริ่มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

sim isan 15

สิมสกุลช่างญวนเมืองนครพนม โดดเด่นด้วยการทำรูปลวดลายนูนต่ำถือเป็นเอกลักษณ์สิมของเมืองนครพนมรูปแบบหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ล้วนแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในเชิงช่าง ไปกับบริบทพื้นที่สังคมวัฒนธรรมใหม่ที่ว่า ด้วยความเสมอภาค และโดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพการแสดงออกในเชิงช่าง ที่สัมพันธ์ไปกับคุณลักษณะเฉพาะแบบ วิถีวัฒนธรรมแบบสังคมชาวบ้าน ที่เปลี่ยนผ่านความเรียบง่ายในโลกอุดมคติแห่งความพอเพียง ด้วยวิถีชาวบ้าน ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่เป็นวัฒนธรรมที่มีลักษณะเปิดกว้างและให้อิสระเสรีในการแสดงออก ไม่มีกรอบกฎเกณฑ์ผูกขาด

sim isan 16
สิมกลางน้ำ วัดสระประสานสุข หรือวัดบ้านนาเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

อันเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ช่างไม่ว่าจะเป็นสายสกุลช่างพื้นบ้าน พื้นเมือง หรือช่างต่างถิ่นอย่างสายสกุลช่างญวน และกลุ่มช่างในระบบราชการ ที่สามารถจะออกแบบสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมประเภทศาสนาคาร อย่างมีความหลากหลาย ทั้งแบบอนุรักษนิยม และแบบร่วมสมัยไร้ตัวตน ในรสนิยมใหม่แห่งวิถีสังคมชาวนา และสังคมเมืองพื้นถิ่น ซึ่งต่างก็ต้องการการยอมรับในความมีและความเป็นมาตั้งแต่อดีต มาจนถึงปัจจุบันสมัยภายใต้รูปลักษณ์แห่งสังขารใหม่ในเงื่อนไขตามบริบทใหม่ที่แตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง

รายการ "กระจกหกด้าน" ตอน "สิม"

redline

backled1

thai silk header

ความเป็นมาของ "ไหมไทย"

mon mai 01การปลูกหม่อนและการเลี้ยงไหมของไทย คาดว่า ได้รับการถ่ายทอดจากผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งมาจากตอนใต้ของประเทศจีน โดยเดินทางผ่านมาทางพม่า ลาว และเขมร จากหลักฐานสันนิษฐานว่า มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมานานกว่า 3,000 ปีมาแล้ว โดยการพบหลักฐานเศษผ้าที่ติดอยู่กับกำไลสำริดของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียง และบ้านนาดี อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน กล่าวคือ พื้นที่ภาคอีสานมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมากที่สุด ผ้าไหมเป็นศิลปกรรมสิ่งทอที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยเฉพาะในด้านความประณีตในกรรมวิธีการผลิต ที่ทำให้เนื้อผ้าไหมมีความเรียบสม่ำเสมอ สวยงาม นุ่มน่าสัมผัส เป็นเงาเมื่อสวมใส่ ปัจจัยส่วนใหญ่มาจากภูมิปัญญาในด้านกระบวนการสาวไหมน้อย ที่แยกเส้นไหมชั้นนอก (ไหมหัว) ที่มีขนาดใหญ่ เนื้อหยาบออกจากเส้นไหมชั้นใน (ไหมน้อย) ที่มีลักษณะเส้นเล็ก สม่ำเสมอ เส้นเรียบ เมื่อทอเป็นผืนผ้าแล้วเนื้อผ้านุ่ม สวมใส่เย็นสบาย การสาวไหม หัตถกรรมของชาวอีสาน เป็นภูมิปัญญาที่มีสืบทอดกันมา จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งของบรรพบุรุษแต่โบราณ และเป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่นที่มีความสำคัญยิ่งในปัจจุบัน

mon mai 02ผ้าไหมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวอีสาน มีการนุ่งผ้าไหมในชีวิตประจำวัน สาวชาวอีสานต้องเลี้ยงไหม ทอผ้าไหมและเก็บไว้จำนวนหลายร้อยผืน เพื่อใช้ในพิธีการต่างฯ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ และงานพิธีกรรมตามความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น ชาวอีสานมีหลายเผ่าพันธุ์ ทำให้ลักษณะการทอ ลวดลายผ้าไหม และการสวมใส่ผ้าไหมแตกต่างกัน มีเพียงการสาวไหมที่ทุกเผ่าพันธุ์ชาวอีสานมีลักษณะเหมือนกัน

เส้นไหมหัตถกรรมของชาวอีสาน มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ จากการสาวมือด้วยพวงสาวพื้นบ้าน ทำให้เส้นไหมที่ได้มีความนุ่มนวลและมีความยืดหยุ่น เมื่อนำมาทักทอเป็นผืนผ้าจะทิ้งตัวอย่างมีน้ำหนัก ภูมิปัญญาการสาวไหมเป็นกระบวนการผลิตเส้นไหมของผู้เลี้ยงไหม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาของสตรีภายในครอบครัว คือ แม่ถ่ายทอดวิธีการสาวไหมโดยการทำให้ดู แนะนำวิธีการสาวไหมให้บุตรรู้ แล้วบุตรสาวนำไปปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเกิดความชำนาญ เป็นการเรียนรู้ในครอบครัว แล้วขยายไปในชุมชนนั้นๆ

mon mai 03ผ้าไหมมีความสำคัญกับขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสาน ทั้งชาวเขมร ลาว ส่วย เช่น มีการสวมใส่ผ้าไหมในงานพิธีเทศกาล หรือติดต่องานสำคัญต่างๆ เป็นต้น ชาวอีสานจึงปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวไหม และทอผ้าไหมเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ ซึ่งการทอผ้าไหมของชาวอีสานแต่ละจังหวัดจะได้ผ้าไหมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะประจำจังหวัดแตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละจังหวัดก็มีประวัติความเป็นมาของผ้าไหมที่ต่างกัน

ผ้าไหมกาบบัวจังหวัดอุบลราชธานี มีการกล่าวในตำนานเมืองอุบลถึงการสืบเชื้อสายจาก เจ้านครเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า ของเจ้าปางคำ พระบิดาของเจ้าพระตา เจ้าพระวอ โดยกล่าวถึง ปีพ.ศ. ๒๒๒๘ เกิดวิกฤตทางการเมือง ในนครเชียงรุ้ง เนื่องจากจีนฮ่อหัวขาว หรือฮ่อธงขาว ยกกำลังเข้าปล้นเมืองเชียงรุ้ง เจ้านครเชียงรุ้ง ได้แก่ เจ้าอินทกุมาร เจ้านางจันทกุมารี เจ้าปางคำ อพยพไพร่พล จากเมืองเชียงรุ้ง มาขอพึ่งพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช แห่งเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นพระประยูรญาติทางฝ่ายมารดา พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โปรดให้นำไพร่พลไปตั้งที่เมืองหนองบัวลุ่มภู มีชื่อว่า “นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน” จะเห็นได้ว่า จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมถึงวิถีชีวิตมาจากเวียงจันทร์ตั้งแต่สมัยโบราณกาล จนกระทั่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ได้นำผ้าทอเมืองอุบลฯ ทูลเกล้าถวาย [ อ่านเพิ่มเติม "ผ้ากาบบัวอุบลราชธานี" ]

ผ้าไหมมัดหมี่อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น มีคำพูดที่ว่า “คนรู้จักเมืองขอนแก่น ก็ต้องรู้จักผ้าไหมขอนแก่น” และ “ผ้าไหมเมืองขอนแก่นก็ต้องผ้าไหมของอำเภอชนบท” คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงชื่อเสียงของผ้าไหมเมืองขอนแก่น ซึ่งมีความวิจิตรงดงาม ประณีต ความคิดสร้างสรรค์ ในการออกแบบลวดลายและสีสันของ ผ้าไหมให้มีความโดดเด่นแตกต่างจากผ้าไหมที่อื่นๆ นับเป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมเมืองขอนแก่น เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นที่ชาวขอนแก่นภูมิใจที่สุด

mon mai 07

ในอดีตที่ผ่านมา การทอผ้า ถือเป็นหน้าที่สำคัญของผู้หญิงชาวอีสาน เพราะจะต้องทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวัน ผู้หญิงอีสานต้องเรียนรู้และฝึกหัดการทอผ้ามาตั้งแต่เด็ก จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตดังคำผญาที่สอนสตรีชาวอีสานว่า

ทอหูกบ่เป็นแจ ทอแพรบ่เป็นฝาต้อน เลี้ยงม่อนบ่ฮู้โตลุกโตนอน อย่าฟ้าววอนเอาผัว ”

ผ้าไหมบ้านเขว้าจังหวัดชัยภูมิ ในอดีตการผลิตผ้าไหมของอำเภอบ้านเขว้า เป็นการผลิตโดยอาศัยภูมิปัญญาจากชาวบ้าน ผลิตขึ้นไว้ใช้ในครัวเรือน ต่อมาเริ่มมีการผลิตขึ้นมาอย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดแนวความคิดที่จะนำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมออกจำหน่ายตามท้องตลาด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการในการหาตลาด เพื่อนำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ

mon mai 08

ผ้าไหมจังหวัดบุรีรัมย์ การทอผ้าและเลี้ยงไหมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวโขง (ลาวพรวน) ที่ถูกกวาดต้อนมาอาศัยในพื้นที่นี้ ในกลุ่มวิชาอาชีพแขนงต่างๆ ได้ถูกนำเข้ามาด้วย โดยเฉพาะการทอผ้าและเลี้ยงไหมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวโขง (ลาวพรวน) ในกลุ่มชนชั้นสูง ที่มีวัตถุดิบเป็นเส้นไหมมากกว่าเส้นฝ้ายที่ใช้กันในชนชั้นล่างลงไป กาลเวลาล่วงเลยไปนับร้อยปี พระชายาเจ้าผู้ครองนครเมืองไผทสมันที่กวาดต้อนมาจากกลุ่มลาวโขง ได้ทรงฟื้นฟูการเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมมัดหมี่ที่เคยทอสวมใส่และมีจำนวนน้อยลงขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อผลิตใช้ให้เพียงพอและเหมาะสมกับกลุ่มชนสตรีชั้นสูง ภายหลังนำมาใช้กันแพร่หลายของชาวลาวโขง ที่มีเอกลักษณ์ความสวยงามแปลกตา และวิจิตรบรรจง

ผ้าไหมจังหวัดสุรินทร์ ผ้าไหมสุรินทร์เป็นศิลปกรรมสิ่งทอที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยเฉพาะในด้านความประณีตในกรรมวิธีการผลิต ที่ทำให้เนื้อผ้าไหมมีความเรียบสม่ำเสมอ สวยงาม นุ่มน่าสัมผัส เป็นเงาและสวมใส่ ปัจจัยส่วนใหญ่มาจากภูมิปัญญาของชาวสุรินทร์ ในด้านกระบวนการสาวไหมน้อยที่แยกเส้นไหมชั้นนอก (ไหมหัว) ที่มีขนาดใหญ่ เนื้อหยาบออกจากเส้นไหมชั้นใน (ไหมน้อย) ที่มีลักษณะเส้นเล็ก สม่ำเสมอ เส้นเรียบ เมื่อทอเป็นผืนผ้าแล้วเนื้อผ้านุ่ม สวมใส่เย็นสบาย การสาวไหมหัตถกรรมของชาวสุรินทร์ เป็นภูมิปัญญาที่มีสืบทอดกันมา จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งของบรรพบุรุษแต่โบราณ และเป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่นที่มีความสำคัญยิ่งในปัจจุบัน

mon mai 09

ยังมีผ้าไหมอีกหลายๆ จังหวัดในอีสานที่มีชื่อเสียง เช่น ผ้าไหมขิดของจังหวัดอุดรธานี ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ต่างก็เป็นที่รู้จักดี ซึ่งผ้าไหมในพื้นที่ภาคอีสานมีวัฒนธรรมที่ยาวนาน และเป็นที่ตั้งของชุมชนคนสมัยโบราณ มีความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์ และเป็นแหล่งต้นกำเนิดของผ้าไหมของไทย ทำให้วิถีชีวิตกับผ้าไหมผูกพันกัน จนดูเหมือนเป็นสิ่งตกทอดจากบรรพบุรุษ ลูกหลานทุกคนต้องดำรงรักษาองค์ความรู้เส้นไหมไว้

หลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบัน คือ ลายผ้าที่มีหลากหลาย การใช้ผ้าไหมในพิธีการต่างๆ การสวมใส่ผ้าไหมทุกเพศทุกวัย มีพื้นที่ปลูกหม่อนที่มากที่สุดในประเทศ พันธุ์ไหมที่มีมากมายหลายชนิด ซึ่งไหมบางสายพันธุ์มีการเลี้ยงต่อกันมาหลายร้อยปี ทำให้หญิงชาวอีสานมีการสาวไหมมาตั้งแต่เด็กสาว เรื่อยมาจนพัฒนาฝีมือจากประสบการณ์ที่ทำบ่อยๆ และสืบทอดกรรมวิธีการสาวสู่ลูกหลานมาหลายชั่วอายุคน เกิดการพัฒนาการสาวเรื่อยมา จะกล่าวได้ว่าชาวอีสานมีการสาวไหม และพัฒนาการสาวไหมมากที่สุดในประเทศ จนมีคำกล่าวว่า "ถ้าจะซื้อเส้นไหมต้องไปอีสาน" ปริมาณเส้นไหมไทยพื้นบ้านที่มีการผลิตในแต่ละปี ประมาณ 800 - 1,000 ตัน โดยร้อยละ 98 มาจากภาคอีสาน

คุณลักษณะเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน

เส้นไหมไทยเป็นวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ และถือเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการทอผ้าไหมของไทย ซึ่งสร้างความแตกต่างจากผ้าไหมทั้งโลก เส้นไหมไทย ได้จากการนำรังไหมพันธุ์ไทยมาสาวด้วยพวงสาวไหมพื้นบ้าน โดยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น การเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านได้แก่ พันธุ์นางน้อย นางลาย นางหงอก นางสิ่ว นางเขียว นางตุ่ย สำโรง นางเหลือง นางไหม แพงพวย และกากี วนาสวรรค์ ทับทิมสยาม ไข่งู คอตั้ง สองพี่น้อง ลำปอ ฯลฯ

ถือเป็นอาชีพที่เป็นประเพณีวัฒนธรรม และวิธีชีวิตของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานของไทย ซึ่งเกษตรกรโดยเฉพาะจะต้องปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหมและทอผ้าเป็น ถือเป็นค่านิยมของสังคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังเช่น สุภาษิตโบราณที่กล่าวว่า “ทอหูกบ่เป็นแจ ทอแพรบ่เป็นฝาต้อน เลี้ยงม่อนบ่ฮู้โตลุกโตนอน อย่าฟ้าววอนเอาผัว”

mon mai 10

รังไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านที่ได้จากการเลี้ยงไหม เกษตรกรจะนำมาสาวมือ เพื่อผลิตเส้นไหม โดยอุปกรณ์การสาวแบบดั้งเดิม ปกติในการสาวไหมของเกษตรกรจะได้เส้นไหม เป็น 3 ประเภท แตกต่างกันตามชั้นของรังไหมที่ใช้สาว ดังนี้

  • เส้นไหมหลืบ (ลืบ) หรือไหมเปลือก หรือ ไหม 3 (เป็นเส้นไหมที่ได้จากเปลือกรังไหมชั้นนอก รวมทั้งปุยไหม) ลักษณะทางกายภาพ เป็นเส้นไหมที่ได้จากรังไหมชั้นนอก รวมทั้งปุยไหม นิยมใช้เป็นเส้นพุ่งในการทอผ้าและใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ลักษณะเส้นไหมจะใหญ่มากและเนื้อหยาบ มีปุ่มปม ขนาดสม่ำเสมอ รวมตัวกลม สะอาดไม่มีสิ่งปลอมปน มีสีเข้มและสม่ำเสมอ ขนาดของเส้นไหมขึ้นอยกูั่บความต้องการของผู้สาวไหม ที่พบโดยทั่วไปจะมีขนาดตั้งแต่ 300 ดีเนียร์ ขึ้นไป
  • เส้นไหมสาวเลย หรือเส้นไหมรวด หรือ ไหม 2 (เป็นเส้นไหมที่ได้จากเปลือกรังไหมชั้นนอกและชั้นในรวมกัน) ลักษณะทางกายภาพ เส้นไหมที่ได้จากการสาวควบกัน ทั้งปุยและเส้นใยส่วนนอกของรังไหม ไปจนถึงเส้นใยส่วนในของรังไหมให้เสร็จคราวเดียวกัน เส้นไหมไม่เรียบ ขนาดสม่ำเสมอ รวมตัวกลม สะอาดไม่มีสิ่งปลอมปน สีสม่ำเสมอ ลักษณะเส้นไหมที่สาวได้หยาบและเส้นใหญ่กว่าไหมหนึ่ง ใช้เป็นเส้นไหมพุ่งได้เพียงอย่างเดียว มีขนาดเส้นทั่วไป 150 - 200 ดีเนียร์
  • เส้นไหมน้อย หรือไหมเครือ หรือไหมยอด หรือ ไหม 1 (เป็นเส้นไหมที่ได้จากเปลือกรังไหมชั้นใน) ลักษณะทางกายภาพ เป็นเส้นไหมที่ได้จากเปลือกรังไหมชั้นใน เส้นไหมที่ได้จะมีลักษณะเส้นเรียบ ขนาดและสีสม่ำเสมอ รวมตัวกลม สะอาดไม่มีสิ่งปลอมปน นุ่มมือเมื่อสัมผัส นิยมใช้เป็นเส้นยืนในการทอผ้า เมื่อทอเป็นผืนผ้าแล้วเนื้อผ้าจะนุ่ม เรียบ มีความเลื่อมมันของเส้นไหมในระดับดีมาก มีความนุ่มนวลดี เส้นไหมมีความเหนียว สามารถนำมาทำเป็นเส้นยืนและเส้นพุ่งได้ ระดับความสม่ำเสมอของสีเส้นไหมดี สีเส้นไหมเป็นสีเหลืองทอง โดยทั่วไปมีขนาด 100 - 120 ดีเนียร์

กระบวนการผลิต

การปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหม

mon mai 11

พื้นที่ปลูกหม่อนอยู่ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เช่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยภูมิ สกลนคร บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา มีกรรมวิธีในการดูแลรักษาแปลงหม่อนให้ปลอดภัยจากสารพิษ (สารเคมีกำจัดแมลง) มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูกหม่อน โดยมีพันธุ์หม่อนเป็นพันธุ์พื้นบ้านและพันธุ์ส่งเสริมของกรมหม่อนไหม เช่น พันธุ์นครราชสีมา 60, พันธุ์ศรีสะเกษ 33, พันธุ์สกลนคร, พันธุ์หม่อนน้อย, พันธุ์คุณไพ มีคุณภาพใบหม่อนที่ดีเหมาะสมในการเลี้ยงไหมในแต่ละวัย มีการดูแลรักษาต้นหม่อนอย่างสม่ำเสมอ เช่น

  • การใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมี หลังการตัดแต่งกิ่งต้นหม่อน เพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลง เพิ่มผลผลิตและคุณภาพใบหม่อนทุกครั้ง ในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ อย่างน้อยปีละครั้ง
  • มีการกำจัดวัชพืชและทำความสะอาดแปลงหม่อนอย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง
  • มีการหว่านยิปซั่มเพื่อปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดิน
  • เก็บเกี่ยวใบหม่อนในช่วงเวลาและตำแหน่งใบที่เหมาะสมในการเลี้ยงไหมแต่ละวัย
  • เก็บรักษาใบหม่อนในที่ที่มีการระบายอากาศดีและมีความชื้นที่เหมาะสม

การเลี้ยงไหม

กระบวนการเลี้ยงไหมจนได้รังไหมของชาวบ้าน จะต้องมีโรงเลี้ยงไหม และวัสดุอุปกรณ์ ที่สะอาดและปลอดภัย พันธุ์ไหมที่เลี้ยงในภาคอีสาน เป็นพันธุ์ไทยพื้นบ้านที่มีความแข็งแรง เลี้ยงง่าย ปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ดี ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ คือ ฟักออกตลอดปีตามธรรมชาติ (polyvoltine) ไข่ไหมเมื่อมีอายุ 20 วัน ในอุณหภูมิห้องปกติจะฟักออกเป็นตัวได้เอง จำนวนไข่ไหมต่อแม่ 250 - 360 ฟอง อายุหนอนไหม 18 - 22 วัน น้ำหนักรังสด 0.8 - 1.0 กรัมต่อรัง น้ำหนักเปลือกรัง 10 - 12 เซนติกรัมต่อรัง เปอร์เซ็นต์เปลือกรัง 11 - 13 เปอร์เซ็นต์

mon mai 12

รูปร่างรังไหมมีลักษณะหัวป้านท้ายแหลม หรือคล้ายกระสวย รังไหมสีเหลือง เส้นใยมีขนาด 12.7 - 2.1 ดีเนียร์ (denier) ความยาวเส้นใย 200 - 400 เมตรต่อรัง เส้นไหมมีความยืดหยุ่นดี มีความเงางาม รังบาง มีปุยหรือขี้ไหม (floss) ค่อนข้างมากมีอัตราการสาวออกง่าย ได้แก่ พันธุ์นางน้อย นางลาย นางหงอก นางสิ่ว นางเขียว นางตุ่ย สำโรง นางเหลือง นางไหม แพงพวย และกากี วนาสวรรค์ ทับทิมสยาม ไข่งู คอตั้ง สองพี่น้อง ลำปอ ฯลฯ

การเลี้ยงไหม

  • ไหมวัยอ่อน : ให้ใบหม่อนที่มีขนาด เหมาะสมแก่วัยไหม และมีการเลี้ยงอย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่
  • ไหมวัยแก่ : ให้ใบหม่อนที่มีขนาด เหมาะสมแก่วัยไหม และมีการเลี้ยงอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่
  • การเก็บรังไหม เมื่อไหมสุกเข้าทำรังแล้วต้องเก็บรังไหมออกจากจ่อ 3 - 5 วัน หากอากาศร้อนก็เก็บได้เร็วขึ้น อากาศหนาวเก็บรังช้าลง เพราะการพ่นเส้นใยของหนอนไหมจะช้าลงในช่วงอากาศหนาว การคัดเลือกรังไหม โดยคัดเลือกแยกรังดีออกจากรังเสีย เพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีคุณลักษณะเส้นกลมขนาดสม่ำเสมอ

ภูมิปัญญาการสาวไหม

การสาวไหม เป็นกระบวนการหัตถกรรมดึงเส้นไหมออกจากรังไหม ผ่านพวงสาวแบบพื้นบ้าน พันเกลียวเส้นไหม แล้วดึงเส้นไหมลงในภาชนะ ซึ่งมีกระบวนการปฏิบัติ คือ ทำการต้มรังไหม ดึงเส้นไหมออกจากรังไหม ผ่านพวงสาวแบบพื้นบ้าน พันเกลียวเส้นไหม 10 - 11 รอบแล้วดึงเส้นไหมลงภาชนะที่เตรียมไว้ เป็นการสาวไหมด้วยมือหลังจากสาวไหมเสร็จแล้ว นำเส้นไหมไปกรอใส่อัก และพันเกลียวประมาณ 80 รอบ ทำความสะอาดเส้นไหม ปั่นตีเกลียวเส้นไหม นำไปขึ้นเหล่งเพื่อมัดทำใจไหมเสร็จแล้ว จึงนำไปฟอกย้อมเพื่อทอผ้า การสาวไหมหัตถกรรม สามารถสาวแยกชนิดเส้นไหมได้ 3 ประเภท คือเส้นไหม 3 หรือไหมลืบ เส้นไหม 1 หรือไหมน้อย และเส้นไหม 2หรือไหมสาวเลย

อุปกรณ์ที่ใช้สาวไหม

อุปกรณ์การสาวไหม ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากภูมิปัญญา ที่ผสมผสานกับประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นในการสาวไหมไทยพื้นบ้าน เครื่องสาวไหมที่ใช้ในการสาว เพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีเอกลักษณ์คุณภาพใกล้เคียงกันมีดังนี้

mon mai 05

พวงสาวไหมแบบพื้นบ้าน เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากไม้เนื้ออ่อนที่ไม่มีเสี้ยนขุยขน เช่น ไม้ตะแบก ไม้โมก มีการแกะสลักลวดลายสวยงาม รูปทรงแล้วแต่ละท้องถิ่นและเป็นงานฝีมือ มีขา 2 ข้างสำหรับยึดกับปากหม้อสาวไหมไม่ให้ล้ม ขาพวงสาวไหมสามารถขยับให้กว้างและแคบได้ มีความสูงประมาณ 35 - 40 เซนติเมตร กว้างประมาณ 6 - 8 เซนติเมตรเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 - 6 เซนติเมตร มีซีกไม้ไผ่ล้อมรอบประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร ขนาดขึ้นอยู่กับช่างผู้ทำพวงสาวไหม ใช้สำหรับพันเกลียวเส้นไหมทำให้เส้นไหมรวมตัวกันขณะสาวไหม

พวงสาวไหมแบบปรับปรุง (เด่นชัย 1) เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากไม้เนื้ออ่อนที่ไม่มีเสี้ยนขุยขน เช่น ไม้ตะแบก ไม้โมก มีการแกะสลักลวดลายสวยงาม รูปทรงแล้วแต่ละท้องถิ่น และเป็นงานฝีมือ มีขา 2 ข้าง สำหรับยึดกับปากหม้อสาวไหมไม่ให้ล้ม ขาพวงสาวไหมสามารถขยับให้กว้างและแคบได้ มีความสูงประมาณ 35 - 40 เซนติเมตร กว้างประมาณ 25 เซนติเมตร ประกอบด้วย รอกสาวไหม 2 รอก และรอกเล็กรับเส้นไหมอีก 2 รอก มีตัวกันรังไหมไม่ให้รังขึ้นไปพันกับเส้นไหมเวลาสาวไหมและมีรูร้อยเส้นไหมจะมีส่วนบังคับให้เส้นไหมไม่มีปุ่มปมขนาดใหญ่และทำให้เส้นไหมเรียบสม่ำเสมอกันเกือบทั้งเส้น การทำเกลียวจะทำได้มาก ซึ่งทำให้ได้ 80 เกลียว (พัน 80 รอบ) มีผลทำให้เส้นรวมตัวดีเส้นกลมไม่แตก สาวลงตะกร้า (ภาชนะรองรับ) เหมือนการสาวแบบพื้นบ้านแต่ดึงเส้นไหมได้คล่องตัวกว่าเพราะมีรอกรับเส้นไหมทำให้เกิดมุมของการสาวไหมได้เหมาะสมพอดี จึงดึงเส้นไหมลงตะกร้าได้ง่าย

mon mai 04

หม้อต้มสาวไหม มี 2 ชนิด สามารถใช้ได้ทั้งหม้อที่ทำจากดินปั้น (หม้อดิน) และทำจากอลูมิเนียม มีรูปทรงสูงซึ่งชาวบ้านนิยมใช้หม้อนึ่งข้าวเหนียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากหม้อประมาณ 19 - 22 เซนติเมตร ใช้สำหรับต้มรังไหมขณะสาวไหม คณลักษณะของหม้อดินจะรักษาอุณหภูมิของน้ำให้สม่ำเสมอไม่ร้อนไม่เย็นเร็วเกินไป ส่วนหม้อที่ทำจากอลูมิเนียมจะได้ความร้อนขึ้นลงเร็ว ผู้สาวไหมต้องควบคุมอุณหภูมิตลอดเวลา

ไม้คืบเกลี่ยรังไหม เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่ ไม่มีขุยขน หรือเสี้ยน และมีน้ำหนักเบา เช่น ไม้ประดู่ ไม้พยุง ไม้ไผ่รวกเนื้อแก่ หัวไม้มีลักษณะคล้ายไม้พาย มีด้ามกลม ขนาดพอเหมาะกับการจับขณะสาวไหมยาวประมาณ 35 - 40 เซนติเมตร ด้านหัวจะแบน มีร่องตรงกลาง ยาวประมาณ 13 เซนติเมตร ใช้สำหรับเกลี่ยรังไหมในหม้อต้ม และควบคุมเส้นไหมที่ออกจากรังไหมให้รวมตัวกัน ตลอดจนใช้เกลี่ยหรือตักรังไหมเสียและดักแด้ออกจากหม้อต้มรังไหม

mon mai 06

น้ำต้มรังไหม ต้องเป็นน้ำสะอาด ไม่ขุ่น มีความเป็นกรด-ด่าง ปานกลาง (ประมาณ 6.5 - 7.5) ไม่ควรใช้น้ำจากบ่อน้ำบาดาล น้ำประปา หรือน้ำฝนใหม่ๆ จะทำให้สาวไหมออกยาก

การเตรียมรังไหม

ก่อนจะทำการสาวไหม ให้คัดเลือกรังไหมที่จะสาวก่อน โดยแยกรังดีออกจากรังเสีย เพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีคุณลักษณะเส้นกลมและขนาดสม่ำเสมอ ในการคัดแยกคุณภาพรังไหมควรมีการคัดแยกรังเสียออกก่อนการนำไปสาว ซึ่งประเภทรังเสีย มีดังนี้

  • รังแฝด คือ รังไหมที่เกิดจากหนอนไหมตั้งแต่ 2 ตัว ขึ้นไป ทำรังร่วมกัน รังไหมประเภทนี้ เมื่อนำมาสาวจะทำให้เส้นไหมขาดบ่อย เพราะเส้นไหมพันกัน
  • รังเจาะ คือ รังไหมที่เกิดจากหนอนแมลงวันลาย ในระยะหนอนไหมและเจริญเติบโตอยู่ภายในแล้วเจาะรังไหมออกมา ทำให้รังไหมที่ถูกเจาะเป็นรังเสียเพราะรังไหมที่เกิดเป็นรู เท่ากับไปตัดเส้นไหมให้ขาดทั้งเส้น

mon mai 20

  • รังเปื้อนภายใน คือ รังไหมที่เกิดจากดักแด้ตายภายในรัง หรือบางครั้งหนอนไหมที่เป็นโรค แต่สามารถทำรังได้ เมื่อทำรังเสร็จก็ตายอยู่ภายในรัง ทำให้รังไหมสกปรก เมื่อนำมาสาวจะได้เส้นไหมมีสีดำ ไม่มีคุณภาพ
  • รังเปื้อนภายนอก คือ หนอนไหมปล่อยปัสสาวะครั้งสุดท้ายก่อนทำรัง หรือเกิดจากการแตกของหนอนไหมที่เป็นโรคเข้าจ่อ ทำให้เปื้อนรังดีที่อยู่ในจ่อเดียวกัน เมื่อนำไปสาวจะสาวยาก
  • รังบาง คือ รังไหมที่เกิดจากขณะที่ไหมเป็นโรคแล้วเจริญเติบโตจนไหมสุกเข้าทำรัง และเมื่อพ่นเส้นใยเพื่อทำรังได้เล็กน้อยหนอนไหมก็จะตาย ทำให้รังไหมบางผิดปกติ หรือบางครั้งอาจเกิดจากเก็บไหมเข้าจ่อช้าเกินไป ทำให้หนอนไหมพ่นเส้นใยทิ้งก่อนบ้างแล้ว ทำให้เส้นใยเหลือทำรังน้อย
  • รังหลวม คือ รังไหมที่เกิดขณะไหมสุกทำรัง สภาพอากาศขณะหนอนไหมทำรังไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิขึ้นๆ ลงๆ ส่งผลให้การพ่นใยไม่สม่ำเสมอ
  • รังหัวท้ายบาง คือ รังไหมที่เกิดจากลักษณะสายพันธุ์ไหม หรือเกิดจากอุณหภูมิในการกกไข่ไหมสูง หรือบางครั้งเกิดจากอุณหภูมิต่ำเกินไประหว่างไหมทำรัง
  • รังผิดรูปร่าง คือ รังไหมที่เกิดจากลักษณะจ่อไม่ถูกสุขลักษณะ หรือเกิดจากหนอนไหมอ่อนแอทำรังได้ไม่สมบูรณ์ ลักษณะรังบิดเบี้ยว และไม่สม่ำเสมอ
  • รังด้าน คือ รังไหมเกิดจากหนอนไหมทำรังติดข้างๆ จ่อ หรือติดกับกระดาษรองจ่อ ลักษณะรังจะแบนผิดปกติ และหนา
  • รังบุบ คือ รังไหมที่เกิดจากการขนส่งโดยไม่ระมัดระวังเกิดจากการกระทบกระแทกกัน
  • รังเป็นเชื้อรา คือ รังไหมที่เกิดจากการอบแห้งไม่สมบูรณ์ หรือบางครั้งไม่มีการควบคุมความชื้นในห้องเก็บรังไหม ทำให้เกิดเชื้อราเกิดขึ้นได้

การสาวไหม

ในการสาวไหม เกษตรกรจะทำการสาวไหมโดยการสาวแยกเปลือกรังชั้นนอกและชั้นใน ทำให้ได้เส้นไหมประเภทต่างๆ ดังนี้

การสาวไหมหลืบ (ลืบ) หรือไหมเปลือก หรือไหม 3

พวงสาวไหมแบบพื้นบ้าน

  • การต้มรังไหม น้ำที่ใช้ต้มรังไหมควรเป็นน้ำสะอาด ไม่ขุ่น มีความเป็นกรด-ด่างปานกลาง เช่นน้ำฝน น้ำประปา ที่ใส่โอ่งเก็บไว้นาน (ไม่ใช้น้ำบ่อ น้ำบาดาล น้ำประปา และน้ำฝนใหม่) ต้มให้ร้อน แต่ไม่เดือดโดยสังเกตเห็นไอน้ำที่ปากหม้อ และฟองอากาศเล็กๆ ลอยขึ้นมาทั่วปากหม้อ หรือใช้นิ้วมือจุ่มดูรู้สึกว่าร้อน มีอุณหภูมิประมาณ 82 - 89 องศาเซลเซียส นำรังไหมที่เตรียมไว้ลงต้มในหม้อ 2 กำมือใหญ่ (ประมาณ 120 - 150 รัง) ใช้ไม้คืบกดรังไหมให้จมน้ำไปมา 4 - 5 ครั้ง นาน 1 - 2 นาที (เรียกว่า การต้มรังไหม) ยกไม้คืบเกลี่ยรังไหมขึ้นปมเส้นไหมจะหลุดจากรังไหมติดไม้คืบขึ้นมา
  • การพันเกลียวเส้นไหม เมื่อเส้นไหมติดไม้คืบเกลี่ยรังไหมขึ้นมา ใช้มือซ้ายรวบเส้นไหมที่ติดกับไม้คืบดึงขึ้นมา แล้วสอดเส้นไหมใส่รูที่อยู่ตรงกลางพวงสาว ดึงขึ้นไปพันกับลูกรอกของพวงสาว 1 รอบ แล้วพันเกลียวเส้นไหม 7 - 9 รอบ แล้วดึงเส้นไหมผ่านพวงสาวไหม ลงภาชนะที่วางอยู่ทางด้านซ้ายมือค่อนไปทางด้านหลังและทำการสาวไหม (ดึงเส้นไหม) จนเส้นไหมเปลือกนอกหมด
  • เมื่อสาวไหม 3 หรือไหมหลืบ (ลืบ) ซึ่งเป็นไหมเปลือกนอกออกหมดแล้ว โดยจะสังเกตเห็นเส้นไหมที่ออกจากรังไหมในหม้อต้มสาว มีลักษณะเล็กละเอียด สม่ำเสมอและนุ่มมือ ผิวรังไหมเรียบและรังไหมมีสีจางลง ให้หยุดสาวแล้วใช้กระชอน ช้อน หรือทัพพี ตักรังไหมออกจากหม้อต้มครั้งละประมาณ 15 - 20 รัง และเพิ่มรังไหมครั้งละ 15 - 20 รัง ผึ่งไว้บนกระด้งอีกด้านหนึ่งที่ว่าง

mon mai 13

พวงสาวไหมแบบปรับปรุง (เด่นชัย 1)

  • การต้มรังไหม น้ำที่ใช้ต้มรังไหมควรเป็นน้ำสะอาด ไม่ขุ่น มีความเป็นกรด-ด่างปานกลาง เช่น น้ำฝน น้ำประปา ที่ใส่โอ่งเก็บไว้นาน (ไม่ใช่น้ำบ่อ น้ำบาดาล น้ำประปา และน้ำฝนใหม่) ต้มให้ร้อนแต่ไม่เดือด โดยสังเกตเห็นไอน้ำที่ปากหม้อ และฟองอากาศเล็กๆ ลอยขึ้นมาทั่วปากหม้อ หรือใช้นิ้วมือจุ่มดูรู้สึกว่าร้อน มีอุณหภูมิประมาณ 82 - 89 องศาเซลเซียส นำรังไหมที่เตรียมไว้ลงต้มในหม้อ 2 กำมือใหญ่ (ประมาณ 120 - 150 รัง) ใช้ไม้คืบกดรังไหมให้จมน้ำไปมา 4 - 5 ครั้ง นาน 1 - 2 นาที (เรียกว่า การต้มรังไหม) ยกไม้คืบเกลี่ยรังไหมขึ้นปมเส้นไหมจะหลุดจากรังไหมติดไม้คืบขึ้นมา
  • การพันเกลียวเส้นไหม เมื่อเส้นไหมติดไม้คืบเกลี่ยรังไหมขึ้นมา ใช้มือซ้ายรวบเส้นไหมที่ติดกับไม้คืบดึงขึ้นมา แล้วสอดเส้นไหมใส่รูที่อยู่ตรงกลางพวงสาว ดึงขึ้นไปพันกับลูกรอกของพวงสาวตัวล่างสุด 2 รอบแล้วพันเกลียวเส้นไหม 7 - 9 รอบ
  • แล้วดึงเส้นไหมผ่านพวงสาวไหมลงภาชนะที่วางอยู่ทางด้านซ้ายมือ ค่อนไปทางด้านหลัง และทำการสาวไหม (ดึงเส้นไหม) จนเส้นไหมเปลือกนอกหมด
  • เมื่อสาวไหม 3 หรือไหมหลืบ (ลืบ) ซึ่งเป็นไหมเปลือกนอกออกหมดแล้ว โดยจะสังเกตเห็นเส้นไหมที่ออกจากรังไหมในหม้อต้มสาวมีลักษณะเล็กละเอียด สม่ำเสมอและนุ่มมือ ผิวรังไหมเรียบ และรังไหมมีสีจางลง ให้หยุดสาวแล้วใช้กระชอน ช้อน หรือทัพพี ตักรังไหมออกจากหม้อต้มครั้งละประมาณ 15 - 20 รัง ผึ่งไว้บนกระด้งอีกด้านหนึ่งที่ว่าง และเพิ่มรังไหมครั้งละ 15 - 20 รัง

การสาวไหมน้อย หรือไหมเครือ หรือไหม 1

เป็นการสาวเส้นไหมที่อยู่ชั้นในของรังไหม รังไหมที่จะนำมาสาวไหมน้อยต้องผ่านการสาวไหม หัวไหมลืบออกแล้ว โดยมีขั้นตอนการสาวไหมน้อยดังนี้

mon mai 14

พวงสาวไหมแบบพื้นบ้าน

  • การต้มรังไหม น้ำที่ใช้ต้มรังไหมสำหรับสาวไหมน้อย ต้องสะอาดและมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับน้ำที่ใช้ต้มรังไหม สาวไหมหัวและทุกครั้งที่จะสาวไหมน้อยต้องเปลี่ยนน้ำต้มใหม่ ไม่ควรใช้น้ำที่ต้มสาวไหมหัวมาสาวไหมน้อยต่อ เพราะจะทำให้เส้นไหมไม่สวยมีสีคล้ำ แข็งกระด้าง ต้มน้ำให้ร้อนอุณหภูมิประมาณ 85 - 90 องศาเซลเซียส หรือสังเกตมีไอน้ำและฟองอากาศขึ้นทั่วปากหม้อต้ม หรือใช้นิ้วมือจุ่มดูรู้สึกร้อน ยกเว้นช่วงฤดูฝน
  • นำรังไหมที่ผ่านการสาวไหมหัวออกแล้ว กำรังไหมบีบให้น้ำออกพอหมาดๆ ใส่ลงไปในหม้อต้มประมาณ 70 - 100 รัง ใช้ไม้คืบกดรังไหมให้จมน้ำ พลิกไปมา 3 - 4 ครั้ง นาน 1 - 2 นาที แล้วยกไม้คืบเกลี่ยรังไหมขึ้น ปมเส้นไหมจะหลุดออกจากรังไหม และติดปลายไม้คืบมาด้วย
  • ยกไม้คืบขึ้นสูง ใช้มือซ้ายรวบเส้นไหมดึงขึ้นมา สอดเส้นไหมใส่เข้าไปในรูของพวง สาวดึงขึ้นไปพันลูกรอก 1 รอบ แล้วพันเกลียว 10 - 11 รอบ
  • ใช้มือซ้ายดึงปลายเส้นไหมผ่านหน้าขาซ้าย แล้วปล่อยให้เส้นไหมลงภาชนะที่วางรองรับอยู่ด้านหลังทางด้านซ้ายมือ
  • ดึงเส้นไหมลงภาชนะให้สม่ำเสมอ ความเร็วประมาณ 60 - 65 ครั้ง/นาที และช่วงของการดึงเส้นไหมมีระยะจากการจับเส้นไหมถึงช่วงการปล่อยเส้นไหมลงภาชนะประมาณ 40 - 45 เซนติเมตร จะทำให้เส้นไหมวางเรียงกันในภาชนะสวยงามเมื่อนำมาเหล่งมัดไจไหมแล้วเส้นไหมจะตรง
  • ขณะสาวไหมให้ใช้ไม้คืบเกลี่ยรังไหมเข้ารวมกัน และบังคับรังไหมไม่ให้ลอยขึ้นตามเส้นไหม เพราะจะทำให้เส้นไหมติด สาวไม่ได้ พยายามอย่าเกลี่ยรังไหมบ่อยเกินไปจะทำให้เส้นไหมมีปุ่มปมติดออกมามาก และทำให้เส้นไหมขาด
  • ขณะเดียวกันก็ใช้สายตาสังเกตดูลักษณะรังไหมที่อยู่ในหม้อต้ม ถ้ามีรังเสีย รังเน่าก็ตักออกถ้าสังเกตรังไหมบางมองเห็นดักแด้ชัดเจนก็หยุด ตักรังไหมหรือดักแด้ออกครั้งละประมาณ 5 - 10 รัง แล้วเติมรังไหมใหม่เข้าไป 5 - 10 รัง/ครั้ง แล้วใช้ไม้คืบกดรังไหมที่เติมเข้าไปใหม่ให้จมน้ำแล้วทำการสาวต่อ
  • นอกจากใช้สายตาสังเกตรังไหมในหม้อต้มแล้ว ต้องสังเกตเส้นไหมที่สาวผ่านพวงสาวด้วยว่ามีปุ่มปมหรือขี้ไหมติดมา ถ้ามีปุ่มปมหรือขี้ไหมให้หยุดและแกะออก
  • เมื่อเส้นไหมมีขนาดเล็กลงให้หยุด เติมรังไหมลงต้มเพิ่มครั้งละไม่เกิน 10 รังและรู้สึกว่าเส้นไหมมีขนาดใหญ่ขึ้น ให้ใช้ไม้คืบเกลี่ยรังไหมในหม้อต้มออกด้านข้าง หรือตักรังไหมในหม้อออก
  • การควบคุมอุณหภูมิน้ำต้มรังไหม ถ้าน้ำร้อนรังไหมจะเปื่อยเส้นไหมออกมาก บางทีหลุดออกมาทั้งรัง ให้เติมน้ำเย็นลงไป ถ้าน้ำเย็นเกินไปจะสาวไม่ค่อยออก ให้เพิ่มฟืนเชื้อเพลิงเข้าไปอีก และคอยควบคุมความร้อนของน้ำในหม้อต้มให้สม่ำเสมอตลอดเวลาการสาวไหม
  • เมื่อสาวเสร็จแล้ว ให้นำเส้นไหมออกจากภาชนะที่ใส่ออกมาตากให้แห้ง โดยมีวัสดุที่มีน้ำหนักพอประมาณทับไว้ ทิ้งไว้ให้แห้งโดยมีวัสดุที่มีน้ำหนักพอประมาณทับไว้ เช่น เมล็ดนุ่น ข้าวสาร ก้อนกรวดเม็ดเล็กที่ล้างสะอาด แล้วจึงนำไปกรอใส่อัก เพื่อทำความสะอาด ตีเกลียว และเหล่งมัดทำไพและไจไหมต่อไป

mon mai 15

พวงสาวไหมแบบปรับปรุง (เด่นชัย 1)

  • การต้มรังไหม น้ำที่ใช้ต้มรังไหมสำหรับสาวไหมน้อย ต้องสะอาดและมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับน้ำที่ใช้ต้มรังไหมสาวไหมหัว และทุกครั้งที่จะสาวไหมน้อยต้องเปลี่ยนน้ำต้มใหม่ไม่ควรใช้น้ำที่ต้มสาวไหมหัวมาสาวไหมน้อยต่อ เพราะจะทำให้เส้นไหมไม่สวย มีสีคล้ำ แข็งกระด้าง ต้มน้ำให้ร้อนอุณหภูมิประมาณ 85 - 90 องศาเซลเซียส หรือสังเกตมีไอน้ำและฟองอากาศขึ้นทั่วปากหม้อต้ม หรือใช้นิ้วมือจุ่มดูรู้สึกร้อน
  • นำรังไหมที่ผ่านการสาวไหมหัวออกแล้ว กำรังไหมบีบให้น้ำออกพอหมาดๆ ใส่ลงไปในหม้อต้มประมาณ 80 - 90 รัง ใช้ไม้คืบกดรังไหมให้จมน้ำ พลิกไปมา 3 - 4 ครั้ง นาน 1 - 2 นาที แล้วยกไม้คืบเกลี่ยรังไหมขึ้น ปมเส้นไหมจะหลุดออกจากรังไหม และติดปลายไม้คืบมาด้วย
  • ยกไม้คืบขึ้นสูงใช้มือซ้ายรวบเส้นไหมดึงขึ้นมา สอดเส้นไหมใส่เข้าไปในรูของพวงสาวดึงขึ้นไปพันลูกรอก 1 รอก 2 รอบ แล้วพันเกลียวไม่น้อยกว่า 80 เกลียว แล้วผ่านเส้นไหมไปยังรอกที่ 3
  • ใช้มือซ้ายดึงปลายเส้นไหมผ่านหน้าขาซ้าย แล้วปล่อยให้เส้นไหมลงภาชนะที่วางรองรับอยู่ด้านหลังทางด้านซ้ายมือ
  • ดึงเส้นไหมลงภาชนะให้สม่ำเสมอ ความเร็วประมาณ 60 - 65 ครั้ง/นาที และช่วงของการดึงเส้นไหมมีระยะจากการจับเส้นไหมถึงช่วงการปล่อยเส้นไหมลงภาชนะประมาณ 40 - 45 เซนติเมตร จะทำให้เส้นไหมวางเรียงกันในภาชนะสวยงาม เมื่อนำมาเหล่งมัดใจไหมแล้วเส้นไหมจะตรง
  • ขณะสาวไหมให้ใช้ไม้คืบเกลี่ยรังไหมเข้ารวมกัน และบังคับรังไหมไม่ให้ลอยขึ้นตามเส้นไหม เพราะจะทำให้เส้นไหมติด สาวไม่ได้ พยายามอย่าเกลี่ยรังไหมบ่อยเกินไปจะทำให้เส้นไหมมีปุ่มปม ติดออกมามาก และทำให้เส้นไหมขาด
  • ขณะเดียวกันก็ใช้สายตาสังเกตดูลักษณะรังไหมที่อยู่ในหม้อต้ม ถ้ามีรังเสีย รังเน่าก็ตักออก ถ้าสังเกตรังไหมบางมองเห็นดักแด้ชัดเจนก็หยุด ตักรังไหม ดักแด้ออกครั้งละประมาณ 5 - 10 รัง แล้วเติมรังไหมใหม่เข้าไป 5 - 10 รัง/ครั้ง แล้วใช้ไม้คืบกดรังไหมที่เติมเข้าไปใหม่ให้จมน้ำแล้วทำการสาวต่อ
  • นอกจากใช้สายตาสังเกตรังไหมในหม้อต้มแล้ว ต้องสังเกตเส้นไหมที่สาวผ่านพวงสาวด้วยว่ามีปุ่มปมหรือขี้ไหมติดมา ถ้ามีปุ่มปมหรือขี้ไหมให้หยุดและแกะออก
  • เมื่อเส้นไหมมีขนาดเล็กลงให้หยุด เติมรังไหมลงต้มเพิ่มครั้งละไม่เกิน 10 รัง และรู้สึกว่าเส้นไหมมีขนาดใหญ่ขึ้น ให้ใช้ไม้คืบเกลี่ยรังไหมในหม้อต้มออกด้านข้าง หรือตักรังไหมในหม้อออก
  • การควบคุมอุณหภูมิน้ำต้มรังไหม ถ้าน้ำร้อนรังไหมจะเปื่อยเส้นไหมออกมาก บางทีหลุดออกมาทั้งรัง ให้เติมน้ำเย็นลงไป ถ้าน้ำเย็นเกินไปจะสาวไม่ค่อยออก ให้เพิ่มฟืนเชื้อเพลิงเข้าไปอีก และคอยควบคุมความร้อนของน้ำในหม้อต้มให้สม่ำเสมอตลอดเวลาการสาวไหม
  • เมื่อสาวเสร็จแล้ว ให้นำเส้นไหมทิ้งไว้ให้แห้งโดยมีวัสดุที่มีน้ำหนักพอประมาณทับไว้ เช่น เมล็ดนุ่น ข้าวสาร ก้อนกรวดเม็ดเล็กที่ล้างสะอาด แล้วจึงนำไปเหล่งมัดทำไพและไจไหมต่อไป

เส้นไหมสาวเลย หรือเส้นไหมรวด หรือไหม 2

เป็นการสาวเส้นไหมจากการสาวควบกันทั้งปุยและเส้นใยทั้งหมดให้เสร็จในคราวเดียวกันโดยไม่ได้แบ่งเป็นไหม 3 (ไหมหลืบ) และไหม 1 (ไหมน้อย) มีขั้นตอนการสาวไหมดังนี้

mon mai 17

พวงสาวไหมแบบพื้นบ้าน

  • การต้มรังไหม น้ำที่ใช้ต้มรังไหมสำหรับสาวไหมสอง ต้องสะอาดและมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับน้ำที่ใช้ต้มรังไหมสาวไหม 1 และไหม 3 ควรใช้น้ำที่ต้มสาวไหมใหม่ เพราะจะทำให้เส้นไหมสวย มีสีไม่คล้ำ ต้มน้ำให้ร้อนอุณหภูมิประมาณ 85 - 90องศาเซลเซียส หรือสังเกตมีไอน้ำและฟองอากาศขึ้นทั่วปากหม้อต้ม หรือใช้นิ้วมือจุ่มดูรู้สึกร้อน
  • นำรังไหม ใส่ลงไปในหม้อต้มประมาณ 60 - 70 รัง ใช้ไม้คืบกดรังไหมให้จมน้ำ พลิกไปมา 3 - 4 ครั้ง นาน 1 - 2 นาที แล้วยกไม้คืบเกลี่ยรังไหมขึ้น ปมเส้นไหมจะหลุดออกจากรังไหม และติดปลายไม้คืบมาด้วย
  • ยกไม้คืบขึ้นสูง ใช้มือซ้ายรวบเส้นไหมดึงขึ้นมา สอดเส้นไหมใส่เข้าไปในรูของพวงสาว ดึงขึ้นไปพันลูกรอก 1 รอบ แล้วพันเกลียว 7 - 8 รอบ
  • ใช้มือซ้ายดึงปลายเส้นไหมผ่านหน้าขาซ้าย แล้วปล่อยให้เส้นไหมลงภาชนะที่วางรองรับอยู่ด้านหลังทางด้านซ้ายมือ
  • ดึงเส้นไหมลงภาชนะให้สม่ำเสมอ ความเร็วประมาณ 40 - 50 ครั้ง/นาที และช่วงของการดึงเส้นไหมมีระยะจากการจับเส้นไหมถึงช่วงการปล่อยเส้นไหมลงภาชนะประมาณ 40 - 45 เซนติเมตร จะทำให้เส้นไหมวางเรียงกันในภาชนะสวยงาม เมื่อนำมาเหล่งมัดใจไหมแล้วเส้นไหมจะตรง
  • ขณะสาวไหมให้ใช้ไม้คืบเกลี่ยรังไหมเข้ารวมกัน และบังคับรังไหมไม่ให้ลอยขึ้นตามเส้นไหมเพราะจะทำให้เส้นไหมติด สาวไม่ได้ พยายามอย่าเกลี่ยรังไหมบ่อยเกินไปจะทำให้เส้นไหมมีปุ่มปม ติดออกมามาก และทำให้เส้นไหมขาด
  • ขณะเดียวกันก็ใช้สายตาสังเกตดูลักษณะรังไหมที่อยู่ในหม้อต้มถ้ามีรังเสีย รังเน่าก็ตักออก ถ้าสังเกตรังไหมบางมองเห็นดักแด้ชัดเจนก็หยุด ตักรังไหม ดักแด้ออกครั้งละประมาณ 5 - 10 รัง แล้วเติมรังไหมใหม่เข้าไป 5 - 10 รัง/ครั้ง แล้วใช้ไม้คืบกดรังไหมที่เติมเข้าไปใหม่ให้จมน้ำแล้วทำการสาวต่อ
  • นอกจากใช้สายตาสังเกตรังไหมในหม้อต้มแล้ว ต้องสังเกตเส้นไหมที่สาวผ่านพวงสาวด้วยว่า มีปุ่มปมหรือขี้ไหมติดมา ถ้ามีขี้ไหม และมีสิ่งปลอมปนให้หยุดและแกะออก
  • เมื่อเส้นไหมมีขนาดเล็กลงให้หยุด เติมรังไหมลงต้มเพิ่มครั้งละไม่เกิน 5 - 10 รัง และรู้สึกว่าเส้นไหมมีขนาดใหญ่ขึ้น ให้ใช้ไม้คืบเกลี่ยรังไหมในหม้อต้มออกด้านข้าง หรือตักรังไหมในหม้อออก
  • การควบคุมอุณหภูมิน้ำต้มรังไหม ถ้าน้ำร้อนรังไหมจะเปื่อยเส้นไหมออกมาก บางทีหลุดออกมาทั้งรัง ให้เติมน้ำเย็นลงไป ถ้าน้ำเย็นเกินไปจะสาวไม่ค่อยออก ให้เพิ่มฟืนเชื้อเพลิงเข้าไปอีก และคอยควบคุมความร้อนของน้ำในหม้อต้มให้สม่ำเสมอตลอดเวลาการสาวไหม
  • เมื่อสาวเสร็จแล้ว ให้นำเส้นไหมทิ้งไว้ให้แห้งโดยมีวัสดุที่มีน้ำหนักพอประมาณทับไว้ เช่น เมล็ดนุ่น ข้าวสาร ก้อนกรวดเม็ดเล็กที่ล้างสะอาด แล้วจึงนำไปเหล่งมัดทำไพและไจไหมต่อไป

พวงสาวไหมแบบปรับปรุง (เด่นชัย 1)

  • การต้มรังไหม น้ำที่ใช้ต้มรังไหมสำหรับสาวไหมสอง ต้องสะอาด ต้มน้ำให้ร้อนอุณหภูมิประมาณ 85 - 90 องศาเซลเซียส หรือสังเกตมีไอน้ำและฟองอากาศขึ้นทั่วปากหม้อต้ม หรือใช้นิ้วมือจุ่มดูรู้สึกร้อน
  • นำรังไหม ใส่ลงไปในหม้อต้มประมาณ 60 - 70 รัง ใช้ไม้คืบกดรังไหมให้จมน้ำ พลิกไปมา 3 - 4 ครั้ง นาน 11 - 12 นาที แล้วยกไม้คืบเกลี่ยรังไหมขึ้น ปมเส้นไหมจะหลุดออกจากรังไหม และติดปลายไม้คืบมาด้วย
  • ยกไม้คืบขึ้นสูง ใช้มือซ้ายรวบเส้นไหมดึงขึ้นมา สอดเส้นไหมใส่เข้าไปในรูของพวงสาวดึงขึ้นไปพันลูกรอก 2 รอก 1 รอบ แล้วพันเกลียวไม่น้อยกว่า 50 - 60 เกลียว แล้วผ่านเส้นไหมไปยังรอกตัวที่ 3
  • ใช้มือซ้ายดึงปลายเส้นไหมผ่านหน้าขาซ้าย แล้วปล่อยให้เส้นไหมลงภาชนะที่วางรองรับอยู่ด้านหลังทางด้านซ้ายมือ
  • ดึงเส้นไหมลงภาชนะให้สม่ำเสมอความเร็วประมาณ 55 - 60 ครั้ง/นาที และช่วงของการดึงเส้นไหม ระยะจากการจับเส้นไหมถึงช่วงการปล่อยเส้นไหมลงภาชนะประมาณ 40 - 45 เซนติเมตร จะทำให้เส้นไหมวางเรียงกันในภาชนะสวยงามเมื่อนำมาเหล่งมัดไจไหมแล้วเส้นไหมจะตรง
  • ขณะสาวไหมให้ใช้ไม้คืบเกลี่ยรังไหมเข้ารวมกัน และบังคับรังไหมไม่ให้ลอยขึ้นตามเส้นไหมเพราะจะทำให้เส้นไหมติดสาวไม่ได้ พยายามอย่าเกลี่ยรังไหมบ่อยเกินไปจะทำให้เส้นไหมมีปุ่มปมติดออกมามากและทำให้เส้นไหมขาด
  • ขณะเดียวกันก็ใช้สายตาสังเกตดูลักษณะรังไหมที่อยู่ในหม้อต้ม ถ้ามีรังเสีย รังเน่าก็ตักออก ถ้าสังเกตรังไหมบางมองเห็นดักแด้ชัดเจนก็หยุด ตักรังไหม ดักแด้ออกครั้งละประมาณ 5 - 10 รัง แล้วเติมรังไหมใหม่เข้าไป 5 - 10 รัง/ครั้ง แล้วใช้ไม้คืบกดรังไหมที่เติมเข้าไปใหม่ให้จมน้ำแล้วทำการสาวต่อ
  • นอกจากใช้สายตาสังเกตรังไหมในหม้อต้มแล้ว ต้องสังเกตเส้นไหมที่สาวผ่านพวงสาวด้วยว่ามีปุ่มปมหรือขี้ไหมติดมา ถ้ามีสิ่งปลอมปน หรือขี้ไหมให้หยุดและแกะออก
  • เมื่อเส้นไหมมีขนาดเล็กลงให้หยุด เติมรังไหมลงต้มเพิ่มครั้งละไม่เกิน 5 - 10 รัง และรู้สึกว่าเส้นไหมมีขนาดใหญ่ขึ้น ให้ใช้ไม้คืบเกลี่ยรังไหมในหม้อต้มออกด้านข้าง หรือตักรังไหมในหม้อออก
  • การควบคุมอุณหภูมิน้ำต้มรังไหม ถ้าน้ำร้อนรังไหมจะเปื่อยเส้นไหมออกมาก บางทีหลุดออกมาทั้งรัง ให้เติมน้ำเย็นลงไป ถ้าน้ำเย็นเกินไปจะสาวไม่ค่อยออก ให้เพิ่มฟืนเชื้อเพลิงเข้าไปอีก และคอยควบคุมความร้อนของน้ำในหม้อต้มให้สม่ำเสมอตลอดเวลาการสาวไหม
  • เมื่อเห็นว่าน้ำในหม้อต้มมีสีคล้ำให้เปลี่ยนน้ำสำหรับต้ม และสาวไหม
  • เมื่อสาวเสร็จแล้ว ให้นำเส้นไหมทิ้งไว้ให้แห้งโดยมีวัสดุที่มีน้ำหนักพอประมาณทับไว้ เช่น เมล็ดนุ่น ข้าวสาร ก้อนกรวดเม็ดเล็กที่ล้างสะอาด แล้วจึงนำไปเหล่งมัดทำไพและไจไหมต่อไป

mon mai 16การทำมาตรฐานเส้นไหม

เส้นไหมที่ได้จากการสาวไหมหัตถกรรมจะกองรวมกันในภาชนะที่รองรับ ซึ่งไม่สามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ ผู้สาวไหมจะต้องทำกระบวนการต่อไปอีก คือ การกรอเส้นไหมเข้าอัก การแกะทำความสะอาดเส้นไหม การตีเกลียวเส้นไหม การเหล่งไหม และการทำไพ จึงจะสามารถนำเส้นไหมไปฟอกกาวไหมออก เพื่อย้อมสีสำหรับทอผ้า

หลักการสำคัญของการสาวไหม คือ การพันเกลียวระหว่างรอบสาวไหมเพื่อให้เส้นใยหลายๆ เส้นที่สาวมาจากหลายๆ รัง ดึงมารวมกันเป็นเส้นเดียวนั้นให้เกิดการรัดตัวแน่น เส้นไม่แตก และเส้นกลม การสาวไหมทุกครั้งต้องพันเกลียวซึ่งเป็นหัวใจหลักของการสาวไหมที่จำเป็นต้องปฏิบัติทุกครั้ง

การกรอไหม หรือการเหล่ง (re-reeling) คือการนำเส้นไหมที่สาวได้มากรอทำเข็ดไหม (ไจไหม) โดยให้มีเส้นรอบวง 135 - 155 เซนติเมตร ตามมาตรฐาน ทำการมัดเงื่อนเส้นไหมให้เรียบร้อย โดยใน 1 เข็ดจะมีเงื่อนปลาย 2 อัน นำเงื่อนในซึ่งเป็นเงื่อนที่เริ่มการกรอกับเงื่อนนอกซึ่งเป็นเงื่อนที่กรอเส้นไหมเสร็จนำมาผูกเข้ากับเชือกด้วยด้ายสีแดง สีน้ำเงินและสีเหลือง มัดเงื่อนให้เรียบร้อย แล้วทำการมัดเป็นเข็ด โดยแบ่งเป็น 3 - 4 ช่วง (พื้นบ้านเรียกว่าทำพลอง) ตลอดตามความยาวของเส้นรอบวงเข็ดโดย 1 ช่วง (พลอง) จะแบ่งแยกออก เป็น 3 - 4 เปลาะ (หรือไน) (พื้นบ้านเรียกทำไพ) แล้วทำการร้อยด้ายขึ้นลง เพื่อโอบเส้นไหมไว้ไม่ให้กระจาย (จะง่ายต่อการฟอกย้อมถ้าผู้ทอจะนำไปใช้เลยหรือง่ายต่อการไปควบและทำเกลียวในขั้นตอนต่อๆ ไป) ทำเช่นนี้จนครบทั้ง 4 - 6 ช่วง ส่วนไหมหัตถกรรมมักนิยมน้ำหนักขนาดไม่เกิน ๑๐๐ กรัม เส้นไหมที่ได้จากการกรอยังไม่ผ่านการตีเกลียวนี้ เรียกกันว่า เส้นไหมดิบ (Raw silk) ตามมาตรฐานการกรอไหมต้องกรอแบบสาน (Diamond cross) คือการจัดเรียงเส้นไหมในเข็ดให้เป็นแบบไขว้ไป-มา ซึ่งจะสานกันเป็นเหมือนร่างแหทำให้ง่ายต่อการนำไปสู่กระบวนการผลิตผ้า

mon mai 18

การเก็บรักษาเส้นไหม เส้นไหมที่มัดไพทำเข็ดเสร็จแล้ว หากจะเตรียมไว้สำหรับทอผ้า จะนำไปฟอกกาวออกก่อน แล้วนำไปเก็บรักษา แต่ถ้าหากจะจำหน่ายก็เก็บรักษาไว้ไม่ให้โดนแสงแดด และเก็บในที่สามารถป้องกันแมลงได้ เช่น เส้นไหมห่อด้วยผ้าเก็บใส่ไว้ในตู้หรือกล่องพลาสติก และควรตรวจดูเส้นไหมทุกเดือน เพื่อให้อากาศถ่ายเทเป็นประจำ ในกรณีขนส่งจำหน่ายจึงบรรจุด้วยถุงพลาสติก

mon mai 19

ข้อมูลจากหนังสือ : ภูมิปัญญาการผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน (Wisdom of Isan Indigenous Thai Silk Yarn)
โดย กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

redline

backled1

isan vocation

การทำนาเกลือสินเธาว์

เกลือ ที่เรารู้จักและนำมาบริภคนั้นมี 2 ชนิด คือ

เกลือสมุทร (Sea salt) คือ เกลือที่ได้จากสูบน้ำทะเลเข้ามาขังไว้ในที่นา ผึ่งแดดและลมจนน้ำระเหยเหลือแต่ผลึกเกลือสีขาว

เกลือสินเธาว์ หรือ เกลือหิน (Rock salt) หมายถึง เกลือที่่ได้จากดินเค็ม (ไม่ได้มาจากเกลือสมุทรโดยตรง) โดยนำเอาน้ำเกลือจากการละลายหินเกลือที่อยู่ใต้ดินมาต้มเคี่ยวจนได้เกลือเนื้อละเอียดสีขาว

klua sin tao 10

พื้นที่ภาคอีสานครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง โครงสร้างทางธรณีวิทยาเป็น 2 ลักษณะ คือ เป็นแอ่ง (Basin) และขอบแอ่งที่เป็นภูเขาสูง (Mountain Range) แบ่งได้ 2 แอ่ง เรียกว่า ”แอ่งโคราช และ แอ่งสกลนคร” ทั้ง 2 แอ่งมีชั้นเกลือหินที่รองรับอยู่ใต้ดินเป็นโดมเกลือ (Salt Dome) ขนาดใหญ่ ชั้นเกลือหินจะสัมผัสกับชั้นน้ำบาดาลเกิดการละลายเป็นชั้นน้ำเค็ม บางพื้นที่ชั้นน้ำเค็มพุ่งขึ้นถึงผิวดินที่มีอุณหภูมิสูง ก็เกิดการระเหยอย่างรวดเร็วทิ้งผลึกเกลือเล็กๆ อยู่บนผิวดินเป็นคราบสีขาว สภาพพื้นที่ที่เป็นดินเค็มมีคราบเกลือนี้เอง ชาวอีสานนำไปผลิตเกลือสินเธาว์ที่มีคุณประโยชน์มหาศาลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในภาคอีสานมีชุมชนที่ผลิตเกลือในระดับอุตสาหกรรมโบราณ มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในบริเวณบ่อพันขัน เขตทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด และบริเวณลุ่มน้ำสงครามแอ่งสกลนคร

หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ในหน้าแล้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ตามท้องนาจะมีดินเอียด หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า ขี้ทา (ดินเค็มที่มีละอองหรือส่าเกลือ) ขึ้นมาบนผิวดินให้เห็นเป็นสีขาวหรือสีเทา ชาวบ้านลงมือขูดดินเอียดเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการต้มเกลือ ก่อนต้มเกลือชาวบ้านจะทำพิธีบอกกล่าวเจ้าที่ เพื่อเป็นศิริมงคลขอให้การต้มเกลือไม่มีอุปสรรค และให้ได้ผลผลิตมากตามต้องการ จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการต้มเกลือ

klua sin tao 01
การต้มเกลือสินเธาว์ของชุมชนบ้านนาหลู่ ตำบลนาแก อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร
ในภาพชาวบ้านกำลังเทน้ำสะอาดใส่ดินเอียดในรางเกรอะน้ำเกลือ ด้านข้างจะมีภาชนะรองน้ำเอียดที่หยดลงจากราง
(ภาพถ่ายโดย อมฤต หมวดทอง)

โดยนำดินเอียดผสมแกลบข้าว หรือเศษฟาง ใส่ในรางเกรอะน้ำเกลือ มีลักษณะคล้ายเรือความยาวประมาณ 2 - 4 เมตร หรือบางท้องที่อาจใช้อ่างปูนซีเมนต์แทน เมื่อเทน้ำสะอาดใส่ในรางเกรอะเกลือ น้ำเอียดที่ผ่านการกรองแบบธรรมชาติจะไหลออกจากรูลงในภาชนะ ที่รองไว้ด้านล่างของรางเกรอะ เมื่อได้น้ำเอียดที่เพียงพอต่อการต้มแต่ละครั้ง ชาวบ้านจะใช้ภูมิปัญญาการวัดความเค็มจากน้ำที่รองได้ มี 2 วิธี คือ

  • นำไข่เป็ดที่ยังไม่สุกมาลอยในน้ำเอียด ถ้าไข่เป็ดไม่จมน้ำแสดงว่าความเค็มมากสามารถนำมาต้มเป็นเกลือได้ ถ้าไข่เป็ดจมน้ำแสดงว่าความเค็มยังไม่เพียงพอที่จะนำมาต้มเป็นเกลือ
  • ช้ครั่งหรือขี้ครั่งขนาดก้อนเท่าหัวแม่มือนำมาลอยในน้ำเอียด ถ้าก้อนครั่งลอยแสดงว่ามีความเค็มมาก เช่นเดียวกับการวัดด้วยไข่เป็ด

klua sin tao 02
การต้มเกลือสินเธาว์ของชุมชนบ้านหนองฮาง ตำบลหนองขาม อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด
ในภาพชาวบ้านกำลังเคี่ยวน้ำเอียด เมื่อน้ำระเหยก็กลายเป็นผลึกเกลือสีขาวขุ่น (ภาพถ่ายโดย อมฤต หมวดทอง)

เมื่อได้น้ำเอียดที่สามารถต้มเป็นเกลือได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือนำน้ำเอียดมาเคี่ยวหุง โดยใช้กะทะที่ทำจากแผ่นสังกะสี สุมไฟไปตลอด จนน้ำระเหยกลายเป็นผลึกเกลือสีขาวขุ่น จากนั้นตักเกลือใส่ตระกร้าไม้ไผ่ผึ่งเกลือไว้ให้แห้ง เสร็จแล้วก็นำเกลือมาบรรจุกะทอที่ทำด้วยไม้ไผ่สาน อย่างชะลอมเป็นรูปทรงกระบอก ขนาดของกะทอขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ส่วนใหญ่ขนาดพอบรรจุเกลือที่มีน้ำหนัก 1 หมื่น (12 กิโลกรัม) ก่อนบรรจุเกลือใช้ใบไม้รองด้านใน เกลือกะทอของชาวอีสานในอดีตเป็นทั้งสินค้าซื้อขาย และแลกเปลี่ยนของพ่อค้าทางไกล ชาวอีสานเรียกว่า “นายฮ้อยเกลือ” เกลือกะทอสามารถเก็บไว้บริโภคได้นานแรมปี เกลือกะทอหนัก 12 กิโลกรัม ราคาประมาณ 150 – 200 บาท (พ.ศ.2559) ระยะเวลาการผลิตเกลือสินเธาว์อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงปลายเดือนเมษายนของทุกปี

klua sin tao 03
การเคี่ยวน้ำเอียดให้น้ำระเหยกลายเป็นเกลือ ชาวบ้านตักออกมากผึ่งแดดให้แห้งก่อนที่จะบรรจุใส่กะทอ
การต้มเกลือสินเธาว์ของชุมชนบ้านนาหลู่ ตำบลนาแก อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร (ภาพถ่ายโดย อมฤต หมวดทอง)

ปัจจุบันในภาคอีสานมีการผลิตเกลืออยู่ 3 รูปแบบ คือ

  1. การผลิตเกลือแบบดั้งเดิม ดังที่กล่าวมาข้างต้น นิยมผลิตทั่วไปในบริเวณจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ แต่ปัจจุบันผู้ผลิตเกลือลักษณะนี้เริ่มลดจำนวนลง เนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่เปลี่ยนไป ป่าไม้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ชาวบ้านไม่มีฟืนมาใช้ในการเคี่ยวหุงเกลือ และสาเหตุจากเกษตรกรใช้สารเคมีในการทำนา ทำให้เกิดสารเคมีตกค้างในดิน ดินเอียดก็ไม่สามารถนำมาผลิตเกลือได้ รวมถึงคนรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะเรียนรู้ภูมิปัญญาการผลิตเกลือแบบดั้งเดิม หรืออาจเป็นเพราะยุคสมัยใหม่ความสะดวกสบายมีมากขึ้น และเกลือไอโอดีนที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขมีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป การผลิตและบริโภคเกลือแบบดั้งเดิมของชาวอีสาน จึงไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร
  2. การผลิตเกลือโดยวิธีสูบน้ำเกลือจากใต้ดินขึ้นมาเคี่ยวหุง ชุมชนที่ผลิตเกลือลักษณะนี้คือ บ่อเกลือหัวแฮด บ้านท่าสะอาด ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ
  3. การผลิตเกลือด้วยวิธีสูบน้ำเค็มจากใต้ดินขึ้นมาตากแดด ที่เรียกว่า นาเกลือ อยู่ที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี และอุตสาหกรรมเกลือบริสุทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

ข้อมูลจาก : เกลือสินเธาว์อีสาน : ลมหายใจของอุตสาหกรรมครัวเรือน
ผู้เขียน : จักรมนตรี ชนะพันธ์

klua sin tao 07 

วัตถุดิบและอุปกรณ์ประกอบการผลิตเกลือ

  • ไม้คาดทา หรือไม้กวาดขี้เถ้า มีลักษณะ คล้ายคราด ด้ามท้าด้วยไม้ไผ่ มีความยาวมากกว่า 2 เมตรขึ้นไป ปลายข้างหนึ่งต่อเข้ากับไม้ มีลักษณะแบน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สำหรับขูดหน้าดินที่มีคราบเกลือจับอยู่ หรือดินขี้ทามารวมกัน และใช้เป็นไม้กวนในขั้นตอนการผสมเกลือกับดินขี้ทาให้เข้ากันที่ลานเกลืออีกด้วย
  • จอบสำหรับขุดหลุมรองน้ำ จากดินขี้ทา ขนาด 1 เมตร

klua sin tao 08

วิธีการต้มเกลือ

  • กวาดดินขี้ทารวมกันเป็นกองๆ
  • ตักดินข้นใส่ในหลุมกรองที่รองพื้นไว้แล้ว ปริมาณให้เกือบเต็มหลุม เผื่อเนื้อที่ไว้สำหรับปริมาณน้ำที่จะเทลงกรองให้เต็มหลุมพอดี ดินที่ตักขึ้นไว้ในหลุมเพื่อกรองนี้ สามารถเติมน้ำได้อีก 3 รอบ จึงตักดินทิ้งได้
  • นำถัง หรือแกลลอน คอยรองน้ำที่กรองได้ รองให้ได้น้ำปริมาณ 3 ส่วน 4 ของกะละมังที่จะต้ม
  • ต้มน้ำให้เดือด คอยเติมให้ไฟลุกอย่างสม่ำเสมอ จนน้ำแห้ง ประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง จะได้เกล็ดเกลือที่ตกผลึก
  • ตักเกลือขึ้นพักให้น้ำหยดออกจนหมด และตากให้เกลือแห้งบนแคร่ที่รองด้วยตาข่ายพลาสติก
  • ตักเกลือที่แห้งสนิทแล้ว บรรจุลงในกระทอ หรือชะลอม ที่รองด้วยใบตองกุง หรือตองชาด ใช้ใบตองปิดฝาอีกครั้ง แล้วมัดปากกระทอให้แน่นหนา กันไม่ให้เกลือหกออกมาข้างนอก

klua sin tao 09

เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต

  • ภาชนะสำหรับต้มเกลือควรเป็นภาชนะเคลือบมันวาว เพราะเมื่อต้มเกลือจนแห้งแล้ว เกลือจะเป็นตะกรันก้อนแข็งจับก้นภาชนะ ท้าให้แกะหรือล้างออกยาก
  • ถ้าตากเกลือไม่แห้งสนิท เกลือที่ได้จะไม่ขาวสะอาด อาจมีสีเหลืองปนและเกลือจะมีรสขม
  • ระหว่างต้มเกลือต้องคอยเติมไฟให้ลุกสม่ำเสมอ เกลือจะตกผลึกเม็ดสวยสม่ำเสมอและใช้เวลาต้มไม่นาน อย่างไรก็ตามถึงแม้เกลือจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต การอุปโภค บริโภคของประชาชนและใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่การผลิตเกลือสินเธาว์ในพื้นที่ใดใด ย่อมเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรประเภทอื่นในหลายๆ ด้าน เช่น การแพร่กระจายของดินเค็ม ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมเสียหายเป็นจำนวนมาก และแผ่นดินทรุดจากการสูบน้ำเกลือใต้ดิน ซึ่งต้องหาวิธีการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

ทราบหรือไม่ว่า เกลือไอโอดีนที่จำหน่ายตามท้องตลาด ชาวอีสานไม่นิยมนำมาใช้หมักทำปลาร้า เพราะจะทำให้ปลาร้าเน่าเสีย ชาวบ้านจึงนิยมใช้เฉพาะเกลือสินเธาว์ที่ผลิตแบบดั้งเดิมใช้หมักทำปลาร้า จึงจะทำให้ไม่เน่าเสียและมีรสชาดอร่อย แซบถูกปาก

klua sin tao 05

ข้อดีเกลือสินเธาว์ เป็นเกลือที่เหมาะใช้ในการอุตสาหกรรม เพราะมีความชื้น และแมกนีเซียม (Mg) แคลเซียม (Ca) ค่อนข้างต่ำ

ข้อเสียเกลือสินเธาว์ ไม่มีไอโอดีน (I) เหมือนเกลือทะเลหรือ เกลือสมุทร (Sea Salt) ถ้าขาดไอโอดีนจะเป็นโรคคอพอก และถ้าขาดตั้งแต่ยังเด็ก ร่างกายจะแคระแกร็น สติปัญญาต่ำ หูหนวก เป็นใบ้ ตาเหล่และอัมพาต แต่พอเราจะบริโภค ในทางการค้าเขาจะต้องผสมไอโอดีนเข้าไปด้วย

"เกลือสินเธาว์" เป็นมรดกจากผืนดิน : ซีรีส์วิถีคน ThaiPBS

เกลือสินเธาว์ กับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

เกลือ เป็นทรัพยากรที่มีปริมาณมากมายมหาศาลในภาคอีสาน หากไม่นำมาใช้ทรัพยากรเกลือในภาคอีสานก็จะไร้ค่า แต่เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การนำเอาเกลือขึ้นมาใช้โดยการทำนาเกลือก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลกระทบของความเค็มต่อการปนเปื้อนในแหล่งน้ำจืดที่อยู่ผิวดินและใต้ดิน ทำให้เกิดสภาพดินและน้ำเสื่อมโทรม เนื่องจากความเค็มได้แพร่กระจายออกไป นอกจากนี้ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ที่มีพื้นฐานอยู่ใกล้แหล่งทำนาเกลือ เนื่องจากหวาดกลัวต่อการยุบตัวของแผ่นดินที่เกิดจากโพรงเกลือในชั้นใต้ดิน

klua sin tao 04

การทำนาเกลือในภาคอีสาน ด้วยกระบวนและกรรมวิธีที่ผลิตที่เรียกว่า “การทำนาเกลือ” เป็นทั้งการทำลายสภาพแวดล้อมให้เสื่อมโทรมไปโดยเร็ว และเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนชาวอีสาน ปัญหาเกี่ยวกับการทำนาเกลือในภาคอีสานได้มีมานาน เช่น จากบทความเรื่อง “สภาพปัญหา และมาตราการแก้ไขปัญหาการทำนาเกลือในภาคอีสาน” ของ ศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา นุตาลัย และ วันชัย โสภณสกุลรัตน์ ที่ได้เขียนขึ้นเพื่อประกอบการสัมมนาเรื่อง “ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อทำการทำนาเกลือในภาคอีสาน” ต่อคณะกรรมการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2533 ณ อาคารบี รัฐสภา แม้เวลาจะผ่านมากว่า 30 ปี สภาพปัญหาการทำนาเกลือในภาคอีสานที่ยืดเยื้อมานานก่อนหน้านั้น ก็ยังปรากฏอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

พื้นที่ภาคอีสาน มีปริมาณเกลือสำรองจากการคำนวณของกองเศษฐกิจธรณีวิทยา คาดว่ามีประมาณ 18 ล้านล้านตัน ซึ่งนับว่าเกลือของภาคอีสานเป็นแหล่งเกลือสำรองที่มีปริมาณมากมายมหาศาล ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งของภาค ก่อให้เกิดอาชีพการทำเกลือสินเธาว์ และโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตเกลือในภาคอีสาน แม้พบว่า เกลือมีปริมาณมากมาย แต่ปัจจุบันประเทศไทยผลิตเกลือขึ้นมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศเท่านั้น ยังไม่มีรายงานการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ

klua sin tao 06

ผลของธรรมชาติ ที่ชั้นเกลือหินมีการละลายอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเกิดการยุบตัวลงไปเป็นบึง หรือหนองน้ำขนาดใหญ่มาแล้วในอดีต เช่น บึงกาฬ (หนองคาย) หนองหาร (สกลนคร) และหนองหาน (อุดรธานี) แต่กรณีที่มีผู้ประกอบการเร่งอัตราการละลายของชั้นเกลือ โดยการสูบน้ำเกลือขึ้นมาผลิตเกลือสินเธาว์นั้น โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินถล่ม หรือหลุมยุบเป็นบริเวณกว้างนั้นเป็นไปได้ จากอดีต มีปรากฏการของหลุมยุบขนาดเล็กในพื้นที่ที่ทำนาเกลือ และใกล้เคียงเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น ที่บริเวณบ้านวัง อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา หรือ บ้านโนนแสบง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนที่อยู่ข้างเคียงหวาดกลัว ต่อแผ่นดินยุบในพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของตน เพราะการสูบน้ำเกลือขึ้นมาใช้มากๆ เท่ากับเป็นการเร่งการละลายของชั้นเกลือหินให้เกิดมากขึ้น โพรงเกลือมีการขยายตัวเร็วขึ้น และเกิดการยุบตัวเป็นหนองหรือบึงขนาดใหญ่ในที่สุด

รายการที่นี่บ้านเรา ตอน หนองหาน กุมภวาปี ทางช่อง ThaiPBS

การผลิตเกลือสินเธาว์ไม่ได้มีเฉพาะในภาคอีสานของไทย ในประเทศสาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ก็มีแหล่งการทำเกลือสินเธาว์เช่นกัน มาดูคลิปจากรายการ "เลาะลุยลาว" ในตอน "เกลือสวรรค์ของขวัญจากธรรมชาติ"

ເລາະລຸຍລາວ ep 61 ເກືອສະຫວັນ ຂອງຂວັນຈາກທຳມະຊາດ

redline

backled1

isan vocation

คนในยุคสมัยก่อนนั้นจะใช้เครื่องมือในการทำมาหากินจากวัสดุใกล้ตัว เช่น เรื่องจักสานจากไม้ไผ่ หวาย ที่สามารถสาน ถัก ทอ เป็นรูปร่างต่างๆ ได้ง่าย มีน้ำหนักเบา ถ้าต้องการให้กันน้ำหรืออุ้มน้ำได้ก็ทาด้วยขี้ซี (ชันโรง น้ำมันยาง) อุปกรณ์บางชิ้นที่ต้องการความคงทนถาวรก็ทำจากไม้เนื้อแข็ง ด้วยการถาก ขุดเป็นหลุม เป็นท่อน เช่น ครก สาก คราด ไถ ด้ามมีด/พร้า ขวาน เป็นต้น ต่อมาเมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น สิ่งของที่ทำจากแผ่นโลหะสังกะสี เหล็ก พลาสติก ก็เข้ามาแทนที่จนเครื่องใช้ที่ทำด้วยภูมิปัญญาจากไม้เริ่มหายไป เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เลยขอนำเรื่องราวของเครื่องใช้ในอดีตมาบันทึกไว้ให้ลูกหลานได้ย้อนระลึกถึงวันวานดังนี้

เครื่องมือในการทำนา

คนอีสานในยุคโบราณเก่าก่อนมีความรู้ความสามารถในด้านการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา ซึ่งมีการปลูกทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวดำ มีการผลิตเครื่องมือเพื่อการเพาะปลูกโดยใช้แรงงานคน และแรงงานสัตว์เพื่อทุ่นแรง และประหยัดเวลา จากวัสดุที่เป็นไม้เนื้อแข็ง ไม่ไผ่ ต่อมามีการนำเอาโลหะมาเป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มความทนทาน และแข็งแรงยิ่งขึ้น พอยุคอุตสาหกรรมรุ่งเรืองและการส่งเสริมของภาครัฐให้ทำการผลิตเพื่อขายให้มากขึ้น เครื่องมือโบราณเหล่านั้นก็ค่อยๆ เลือนหายไป จากคราด ไถ ที่เป็นไม้ใช้แรงงานสัตว์อย่างวัว ควาย ก็มาเป็นควายเหล็กตดเป็นควันแทนที่ จากเคยก้มหน้าเกี่ยวข้าวก็กลายมาเป็นรถเกี่ยวที่สีออกมาเป็นข้าวเปลือกได้ทันที นี่คือต้นทุน และหนี้สินที่คาดไม่ถึงจริงๆ

kan tai 5

ชาวบ้านในสมัยโบราณ ได้คิดทำเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพในกลุ่มของเกษตรกรรม การทำนาปลูกข้าว เป็นหนึ่งในอาชีพของชาวบ้านในชนบททั่วไป เกือบทุกครอบครัวจะมีการทำนาเพื่อให้ได้ข้าวไว้กินตลอดปี ที่เหลือจากการสำรองไว้เพื่อครอบครัวแล้วก็นำออกจำหน่าย เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างอื่นบ้าง การทำนาในสมัยก่อนเป็น การทำเกษตรแบบพอมีพอกิน ยั่งยืน (ตรงตามพระราชดำริของในหลวง ล้นเกล้า รัชกาลที่ ๙)

ดังนั้นเครื่องมือในการทำนาก็ได้ปะดิษฐ์คิดทำขึ้นใช้กันเอง ในบรรดาเครื่องมือในการประกอบอาชีพทั้งหลาย เครื่องมือที่ใช้ในการไถนา หรือคันไถ ก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่ง ใครเป็นคนคิดทำเป็นคนแรกไม่มีใครรู้ แต่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา การสร้างเครื่องมือเหล่านี้ต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะต้องหาไม้เนื้อแข็งที่เหนียว และมีลักษณะใกล้เคียงกับชิ้นส่วนที่ต้องการทำ ซึ่งแต่ละชิ้นส่วนจะมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันไป นำมาถาก ขัด ตกแต่งให้ได้รูปแบบตรงตามที่ต้องการ ทั้งความคดงอสำหรับผลในการใช้งาน การบิดตัวของดินเมื่อผ่านผานไถ หรือคราด การช่วยเพิ่มแรงฉุดลากดึงจากสัตว์ที่ใช้แรงงาน ความเหมาะมือสำหรับการจับถือของคนผู้วบคุม แต่เมื่อรวมกันเป็นชุด จะประกอบด้วย หัวหมู หางยาม คันไถ แอก คราด

kan tai 3

คันไถ

การทำนาข้าวนั้น ต้องมีการใช้แรงงานมาก จากการที่ต้องไถพลิกดินจากข้างล่างขึ้นข้างบน เพื่อให้ดินร่วน กำจัดวัชชพืช (ไถพลิกกลบให้หญ้าเน่าตายกลายเป็นปุ๋ย) การใช้จอบขุดดินเอาก็ทำได้ แต่คงไม่ไหวเพราะผืนนาค่อนข้างกว้างใหญ่ จึงจำเป็นต้องหาเครื่องทุ่นแรงมาช่วย แล้วนำแรงงานสัตว์มาเสริม ก็คงไม่พ้น วัว ควาย นั่นเอง ชาวนาอีสานนิยมใช้ควายมากกว่าวัว เพราะควายชอบน้ำและโคลนตม รวมทั้งมีความบึกบึนแข็งแรงกว่า ส่วนวัวนั้นไม่ชอบน้ำแต่กลับทนแดดได้ดีกว่า เลยนิยมนำไปใช้เทียมเกวียนเดินทาง แต่ในบางประเทศ เช่น พม่า เขมร นิยมใช้วัวเทียมไถนา บางแห่งใช้ช้างก็มี เช่น ชนเผ่าปะกากะญอ หรือกะเหรี่ยง ในจังหวัดตาก

kan tai 6

จากนั้น จึงมีการคิดประดิษฐ์เครื่องมือขึ้นมาเรียก "ไถ" ด้วยการไปเลือกหากิ่งไม้เนื้อแข็งทีมีลักษณะความโค้งงอตามที่ออกแบบไว้ เช่น พวกไม้ประดู่ ชิงชัน พยุง เป็นต้น นำมาถากเหลาเป็นคันไถตามที่ต้องการ เหมาะสมกับขนาดของสัตว์ที่ใช้เทียมลาก ลักษณะดังภาพประกอบ

kan tai 1
คันไถแบบเทียมควายตัวเดียว

ตัวไถ จะเป็นไม้สามชิ้น ได้แก่ คันไถ หางไถ และ หัวหมู ประกอบกันด้วยการเข้าลิ่ม และส่วนที่ผูกติดกับควายอีกสามชิ้นส่วนประกอบของไถมีดังนี้

  • หางไถ คือ ส่วนที่ชาวนาใช้จับเวลาไถ เป็นไม้ชิ้นเดียวทำให้เป็นลักษณะเอียงจากหัวหมูประมาณ 15 องศา มาจนถึงส่วนที่จะต่อเข้ากับคันไถจะเจารูสี่เลี่ยมผืนผ้าทะลุชิ้นไม้เพื่อใส่ลิ่มต่อกับคันไถ เหนือส่วนนี้ขึ้นไปจะทำเป็นรูปโค้งเพื่อสะดวกต่อการจับ เวลาประกอบเข้าเป็นตัวไถแล้วส่วนนี้จะตั้งขึ้นและส่วนโค้งจะยื่นไปด้านหลังระดับประมาณเอว
  • คันไถ คือส่วนที่ยื่นออกไปด้านหน้า เพื่อเชื่อมต่อกับส่วนที่ผูกควาย เป็นไม้อีกท่อนที่เป็นส่วนประกอบของตัวไถ ส่วนที่ต่อกับหางไถจะทำเป็นเดือยตัวผู้เพื่อใช้ต่อกับรูเดือยตัวเมียที่หางไถ ทำให้แน่นโดยใช้ลิ่มตีเข้าด้านบน เพื่อให้ไม้สองชิ้นประกอบกันแน่น ส่วนปลายยื่นออกไปข้างหน้า โค้งทำมุมต่ำลง มีปลายช้อนขึ้น เพื่อใส่ตะขอสำหรับต่อกับผองไถ
  • หัวหมู คือ ส่วนที่ใช้ไถดิน จะประกอบด้วยไม้หนึ่งชิ้นบากปลายให้แหลมและบาน เจาะรูเดือยตัวเมียสี่เหลี่ยมสำหรับต่อเข้ากับหางไถ ส่วนท้ายจะทำเป็นรูปท่อนกลมยาว เพื่อรักษาระดับไถเวลาไถนา ส่วนประกอบที่เป็นเหล็กตัวส่วนหัว จะเป็นรูปทรงแหลมกลวงเรียกว่า ผานไถ ใช้สวมเข้ากับตัวไม้หัวหมูแล้วยึดติดด้วยตะปู ส่วนที่เป็นเหล็กแผ่นรับขึ้นมาอีกชิ้นเรียกว่า ปะขางไถ (หรือใบไถ) ใช้บังคับดินที่ถูกไถ หรือที่เรียกว่า ขี้ไถ ให้พลิกไปตามแนวที่ต้องการ ทางบ้านผมที่อุบลราชธานีขี้ไถจะพลิกออกไปทางขวามือ
                  kan tai 4

    "ผานไถ" ที่ทำจาก "ขาง" ซึ่งเป็นโลหะเหล็กผสมพลวงที่นำไปหล่อเป็นใบขาง ผานไถ สำหรับสวมเข้ากับหัวหมูไม้ใบไถมีขนาดประมาณ 8 x 6 นิ้ว ปลายแหลม ให้สามารถจิกลงในเนื้อดินเพื่อให้วัวควายลากกดหัวไถให้จมดิน แล้วค่อยขยับให้ดินพลิกหงายขึ้น (ไทอุบลฯ บ้านผมเอิ้นว่า "บักสบไถ") ผานไถหรือสบไถที่ผมเคยเห็นมามีอยู่ 2 แบบ

    • ผานไถแบบชิ้นเดียว (ตั้งแต่ปลายแหลมยาวขึ้นไปจนสุดใบไถ คือรวมเอาปะขางไถเข้าเป็นชิ้นเดียวกัน)
    • ผานไถแบบสองชิ้น (จะแยกส่วนปลายแหลม กับส่วนใบออกจากกัน ส่วนปลายมักจะสึกเร็วกว่า ก็เปลี่ยนเฉพาะส่วนนี้ได้)

    ส่วนขนาดก็จะแปรเปลี่ยนไปตามขนาดของคันไถ ซึ่งจะมีเดือย "หัวหมู" ที่เหลาให้ปลายเรียวแหลมเพื่อสอดเข้าไปในรูของผานไถได้พอดี แล้วจะตอกยึดตัวผานไถเข้าหัวหมูด้วยตะปูเกลียวอีกทีให้แน่นหนา

  • ผองไถ ส่วนนี้จะเป็นไม้ท่อนกลมๆ มีขอเหล็กติดอยู่ตรงกลางเพื่อยึดเข้ากับขอเหล็กของคันไถ ส่วนหัวทั้งสองข้างจะทำเป็นปมหยัก เพื่อใช้ผูกเชือกติดกับปลายที่แอกคอควาย
  • แอก คือไม้ชิ้นที่ทำเพื่อวางบนคอควาย มีลักษณะเหมือนเขาควายกางออก ตรงกลางสูงขึ้นเพื่อให้รับพอดีกับคอควาย ส่วยปลายสองข้างไว้ผูกเชือกต่อกับผองไถ
  • ผองคอควาย คือส่วนที่อยู่ใต้คอควาย เป็นไม้ชิ้นแบนๆ ทำให้เป็นรูประมาณครึ่งวงกลมด้านบนเรียบเพื่อให้รับเข้าได้กับคอควาย ด้านล่างจะทำรูเพื่อร้อยเชือกเพื่อผูกให้ผองคอควายติดกับกับแอก และแนบกับคอควายได้พอดี มีไถเหล็กมาแทนที่ไถไม้บ้างเพราะน้ำหนักเบาและทนทานกว่า แต่ไถไม้ก็ยังมีใช้อยู่

kan tai 2
คันไถแบบเทียมวัวสองตัว

คราด

คราด เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำสำหรับทำให้ดินที่ไถแล้วละเดียด ประกอบด้วยตัวคราด ลูกคราด คันคราด และเสาจับคราด และมือจับ

  • ตัวคราด เป็นไม้ท่อนเจาะรูกลมสำหรับใส่ลูกคราด
  • ลูกคราด เป็นท่อนไม้กลมๆ รูปเรียวด้านปลายตีเข้าไปในรูของตัวคราด โผล่ออกมาจากตัวคราดประมาณ 10-15ซม. แต่ละซี่ห่างหันประมาณ 10-15 ซม. เช่นกัน (ขึ้นอยู่กับผู้ทำ ไม่มีสูตรตายตัว)
  • คันคราด เป็นไม้สองชิ้นยาวที่ต่อระหว่างตัวคราด ขนานกลับพื้น ยาวจนถึงแอกควาย เวลาใช้งานควายจะอยู่ระหว่างคันคราด
  • เสาจับคาด เป็นเสาสองเสาที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวยึดมือจับกับตัวคราด
  • มือจับ เป็นไม้ยาวทรงกลมสำหรับจับเวลาคราดนา

ส่วนที่ผูกกับคอควายก็ใช้แอกและผองคอควายมาจากชุดเดียวกันของไถนั่นเอง

kan tai 7

เคียวเกี่ยวข้าว

เคียวเกี่ยวข้าว คือเครื่องมือทางการเกษตรชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับเก็บเกี่ยวพืชผลประเภทข้าวและธัญพืช มีลักษณะเป็นมีดทำด้วยเหล็ก โค้งคล้ายตะขอและมีคมอยู่ด้านใน มีด้ามจับสำหรับถือ มีชื่อที่แตกต่างไปในแต่ละภาค เช่น ตรูด กรูด ผู้ใช้งานจะใช้เคียวเกี่ยวไปที่ฐานของต้นพืชและตัดออก เคียวแบบด้ามสั้นอาจทำให้เกิดอาการปวดหลัง เมื่อใช้เป็นระยะเวลานานเนื่องจากต้องยืนก้มอยู่ตลอด (ด้วยเหตุนี้จึงเรียกชาวนาว่าเป็น "กระดูกสันหลังของชาติ") จึงมีเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งคือ เคียวด้ามยาว (scythe) ซึ่งมีด้ามจับยาวกว่าและไม่ต้องก้มให้ปวดหลัง

kan tai 8

เคียวเกี่ยวข้าว ที่ใช้ในประเทศไทยมีหลายชนิด ดังนี้

  • เคียวนกกระยาง รูปร่างคล้ายคอนกกระยาง ด้ามยาว คมค่อนข้างใหญ่ นิยมใช้เกี่ยวข้าวนาดำหรือนาหว่านที่กอไม่ใหญ่นัก
  • เคียวนกกระสา โค้งมากและยื่นยาวอย่างคอนกกระสา คมเคียวเล็กกว่าเคียวนกกระยาง เหมาะกับข้าวนาดำ
  • เคียวงู รูปร่างคล้ายหัวงู วงเคียวแคบกว่าเคียวสองแบบข้างต้น เหมาะกับการเกี่ยวข้าวฟ่าง
  • เคียวขอ มีด้ามไม้โค้งกลับกันคล้ายตัว ตัวเคียวเป็นเหล็กบางๆ งอเล็กน้อย คมอยู่ด้านใน เสียบกับด้ามให้โค้งเข้าหาด้ามด้านหนึ่ง นิยมใช้ในพิจิตร พิษณุโลก และบางท้องที่ที่ติดต่อกับกัมพูชา บางครั้งจึงเรียก เคียวเขมร

ไม้คันหลาว

ไม้หาบกล้า (ทางอีสานเรียก ไม้คันหลาว) ไม้ที่ทำเป็นคานหลาวใช้ไม้ไผ่ลำตรงๆ คานหลาวแต่ละอันมีความยาวประมาณ 2 - 2.5 เมตร ชาวบ้านจะนำไม้ไผ่ไปผึ่งแดดให้แห้ง หรืออาจลนไฟก็ได้ เหลาข้อไม้ไผ่ให้เรียบไม่ให้มีเสี้ยน จากนั้นจะใช้มีดเสี้ยมปลายไม้ไผ่ทั้งสองข้าง ตรงส่วนล่างที่ตอกมัดข้าวหรือบางแห่งก็ใช้ต้นข้าว มัดขมวดไว้ไม่ให้หลุด ซึ่งเรียกกันว่า เขน็ดข้าว ปากฉลามทั้ง 2 ข้างจะมีความยาวประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร

kan tai 10

ใช้สำหรับหาบต้นกล้าเพื่อนำไปปักดำ ใช้หาบฟ่อนข้าวที่เกี่ยวมัดรวมไว้ในคันนาไปรวมที่กองข้าว ซึ่งรวมกันไว้เป็นกองใหญ่ๆ ที่ใดที่หนึ่ง เพื่อจะใช้เกวียนหรือรถบรรทุกฟ่อนข้าวไปลานนวด นอกจากใช้หาบฟ่อนข้าวแล้วชาวนายังใช้หาบแฝก หาบหญ้าคา และฟ่อนหญ้า ใช้สำหรับเสียบตรงกลางฟ่อนข้าวเพื่อใช้หาบ การที่จะใช้กระบุงแล้วใช้ไม้คานหาบฟ่อนข้าวนั้น หาบได้ครั้งละไม่กี่ฟ่อนก็เต็มกระบุงแล้ว การใช้คานหลาวจึงมีความเหมาะสมกว่า เพราะหาบได้ทีละหลายๆ ฟ่อน

 

ไม้หนีบ หรือ ไม้ค้อนตีข้าว

ไม้หนีบ หรือ เรียกแบบไทอุบลฯ ว่า ไม้ค้อนตีข้าว หรือเรียกภาษาโคราชว่า ไม่ตีหัวข้าว ทำด้วยไม้ขนาดกำถนัด (จะเป็นไม้เนื้อแข็ง ไม้ไผ่ก็ได้) ยาวประมาณศอกครึ่ง 2 อัน ข้างหนึ่งยาวกว่าอีกข้างหนึ่งประมาณหนึ่งคืบ ผูกติดกันด้วยเชือกยาวประมาณหนึ่งคืบ ใช้สำหรับรัดฟ่อนข้าวเวลาตี ดังภาพ

kan tai 9

การตีข้าวแบบโบราณอีสานบ้านเฮา

การนวดข้าว โบราณนั้นมักจะใช้วิธีการลงแขก ช่วยกันด้านแรงงานของชาวบ้าน ทำให้เกิดความรักความสามัคคีของชุมชน หนุ่ม-สาวในหมู่บ้านได้มีโอกาสพบปะกันในการมาช่วยงาน หนุ่มๆ มานวด (ตี) ข้าว สาวๆ มาช่วยกันพัดวีข้าวลีบออกจากลานนวด กวาดเศษฟาง และกวาดกองข้าวรวมกัน มีการเลี้ยงอาหารผู้มาช่วยงาน ในนาของทิดหมูเองจะใส่ เหล้าสาโท ไว้หลายไห เก็บไว้ภายในกลางกองข้าว เมื่อนวดข้าวเสร็จก็จะได้เวลาฉลองกัน ทำให้เพื่อนบ้านขยันทุ่มเทเป็นพิเศษเพื่อให้ได้พบไหเหล้าสาโทในกลางกองข้าวนั่นเอง คนที่พบก่อนจะได้ชิมน้ำหัว (น้ำเหล้าที่อยู่ด้านบนซึ่งมีรสหวานอร่อย หรืออาจจะขม หรือเปรี้ยว ขึ้นอยู่กับฝีมือผู้หมักสาโทนั่นเอง) พ่อทิดหมูเองมีฝีมือขึ้นชื่อเรื่องหมักเหล้าหวาน ได้กิน(ดื่ม)แล้วคลานกลับบ้านทุกคน เพราะเมาไม่รู้ตัวนั่นเอง

การตีข้าวสะนุออกจากฟางที่ผ่านการตีรอบแรก

kan tai 11

ในยุคปัจจุบันนี้หาดูภาพแบบนี้ยากแล้ว เพราะมีเครื่องจักรทุ่นแรงเข้ามาช่วยตั้งแต่การไถ ปักดำ เก็บเกี่ยว และสีข้าว วัว ควาย ก็เลี้ยงเพื่อขายเป็นอาหาร เอาเงินมาซื้อน้ำมันใส่ควายเหล็กที่ตดออกมาเป็นควันเต็มทุ่ง

รายการอยู่ดีมีแฮง : เฮ็ดนา เฮ็ดหยัง

kan tai 12

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)