foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

isan vocation

การปลูกปอ (ปอกระเจา ปอแก้ว)

การปลูกปอ ก็เป็นผลมาจาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 - 2509 (ยุครัฐบาลของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) กล่าวคือ เมื่อมีแผนงานสร้างรายได้จากภาคเกษตร จึงมีการมองหาช่องทางว่าจะนำพืชชนิดใดมาให้เกษตรกรปลูก แล้วนำผลผลิตไปสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างไร "ปอ" จึงถือเป็นพืชเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่ง ที่ชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือในราว พ.ศ. 2512 - 2518 นิยมกันมาก

ก่อนจะอ่านบทความนี้ต่อ ต้องสร้างบรรยากาศร่วมด้วยการเปิดฟังเพลงนี้ไปด้วยครับ (เพลง ผู้ใหญ่ลี ต้นฉบับเดิม โดย ศักดิ์ศรี ศรีอักษร (ต้นฉบับเดิม พ.ศ.2504) คำร้อง/ทำนอง : พิพัฒน์ บริบูรณ์)

เพลงผู้ใหญ่ลี ต้นฉบับโดย ศักดิ์ศรี ศรีอักษร

ในสมัยโน้นเกษตรกรทั่วไปรู้จักดีกับ "การทำนา" ตามฤดูกาล พอฝนมาก็เริ่มไถนา หว่านกล้า ปักดำ ไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยวขึ้นยุ้งฉาง จบไปอีกหนึ่งฤดู ข้าวที่ได้ก็มีพอได้กินตลอดทั้งปี  บางส่วนก็ัเลือกไว้ทำเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกฤดูกาลต่อไป บางส่วนที่เหลือก็นำไปแลกเกลือไว้ทำปลาแดก แลกผ้ามาทำเครื่องนุ่งห่ม  ที่เหลือเกินจึงนำไปขายเปลี่ยนเป็นเงินไว้ซื้อสิ่งของอื่นๆ พอมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจออกมา ทางราชการก็สั่งการผ่านผู้ใหญ่บ้านไปยังประชาชน ให้เพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น โดยการเร่งบำรุงดินด้วยปุ๋ยวิทยาศาสตร์ (หนี้แรกเริ่มมา) ทำนาอย่างเดียวไม่พอต้องทำอย่างอื่นด้วย ทั้งไร่ปอ ข้าวโพด มันสำปะหลัง เลี้ยงไก่ เป็ด และสุกร ตามเพลงนั่นแหละเพื่อเงิน เงิน เงิน

ploog por 1

ปอกระเจา

ปอกระเจา (jute) ที่ปลูกกันแพร่หลายในปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิด คือ ปอกระเจาฝักยาว (tossa jute) และปอกกระเจาฝักกลม (whitejute) ปอกระเจาทั้งสองชนิดนี้เป็นพืชในวงศ์ทิเลียซีอี (Tiliaceae) สกุลคอร์โครุส (Corchorus) แหล่งกำเนิดของปอกระเจานั้น สันนิษฐานว่า ปอกระเจาฝักยาวมีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา แล้วแพร่กระจายมายังทวีปเอเชียตอนใต้ ส่วนปอกระเจาฝักกลมมีแหล่งกำเนิดอยู่ในอินโด-พม่า (แถบประเทศที่อยู่ในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

por krajao 01

ปอกระเจา พบว่ามีอยู่แพร่หลายในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานการนำเข้า พบขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณดินที่ชื้นแฉะใกล้ๆ น้ำ หรือพบเห็นเป็นวัชพืชในสวนผลไม้ ต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร นอกจากนี้ก็มีการปลูกริมฝั่งแม่น้ำในเขตภาคกลาง และภาคตะวันออก สาเหตุที่กสิกรนิยมปลูกปอกระเจาฝักกลม เพราะในช่วงสุดท้ายของการเจริญเติบโต สามารถทนน้ำท่วมได้สูงถึง 80 เซนติเมตร ส่วนปอกระเจาฝักยาวเท่าที่สำรวจเป็นพันธุ์พื้นเมือง ไม่ได้ปลูกกันอย่างแพร่หลาย การใช้ประโยชน์จากปอกกระเจาส่วนใหญ่จะนำมาลอกเป็นปอกลีบ ขูดผิวตากแห้ง ทำเป็นเชือกในลักษณะต่างๆ

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ปลูกข้าวเป็นพืชหลัก จึงต้องใช้กระสอบในการบรรจุและขนส่ง ในอดีตต้องสั่งซื้อกระสอบจากต่างประเทศเข้ามาใช้งาน ในปี พ.ศ. 2482 กรมเกษตรและการประมง จึงได้สำรวจแหล่งพื้นที่ปลูกปอกระเจาพบว่า มีการปลูกบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และตามริมแม่น้ำในท้องที่ อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้ทำการทดลองการฟอกปอให้ได้เส้นใยนำไปทอกระสอบ จึงมีการส่งเสริมให้ปลูกในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่จังหวัดชัยนาทลงมา จนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งจังหวัดสุพรรณบุรีกับสุโขทัยบางตอน

por krajao 02

หมายเหตุ : ใบปอ ที่นำมาทำเป็นอาหารอย่าง ใบปอผัด มาจาก ปอกระเจาฝักกลม

ปอแก้ว

ปอแก้ว (Kenaf) ที่ปลูกกันในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ปอแก้วไทย (Thai Kenaf or roselle) หรือที่เรียกว่า "ปอแก้ว" ในปัจจุบัน และปอคิวบา (Cuban Kenaf) ทั้งปอแก้วและปอคิวบา เป็นพืชในวงศ์มัลวาซีอี (Malvaceae) เช่นเดียวกับฝ้าย และอยู่ในสกุลเดียวกันคือ ไฮบิสคุส (Hibiscus) แต่ต่างชนิดกัน ส่วนปอคิวบามีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา ประเทศแองโกลา ซึ่งภูมิประเทศมีลักษณะร้อนชื้น

ปอแก้ว เป็นปอพื้นเมือง ซึ่งปลูกกระจัดกระจายในแอฟริกาและอินเดีย มีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันตกของประเทศซูดาน เป็นพืชให้เส้นใยที่ได้จากเปลือกของลำต้น รู้จักกันดีในอียิปต์ และอินเดีย มาหลายศตวรรษแล้ว ต่อมาปลูกกันแพร่หลายในทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ และแอฟริกา มีลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขาน้อยมาก จึงตั้งชื่อย่อยว่า แอลติสซิมา (Var. altissima) ซึ่งได้ปลูกแพร่กระจายทั่วไปในประเทศไทย เพื่อใช้ผลิตกระสอบป่านบรรจุธัญพืช และน้ำตาลทราย ปอแก้วมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่ใช้กลีบรองดอกเป็นอาหารที่เรียกว่า กระเจี๊ยบ และชนิดที่ใช้เปลือกทำเส้นใยสำหรับใช้งาน

ปอแก้ว ก็ถูกเลือกให้เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญตัวหนึ่งที่นิยมปลูกในภาคอีสาน เพราะปอเป็นพืชที่ปลูกไม่ยากเลย เพียงแต่หาพื้นที่ป่าละเมาะที่น้ำท่วมไม่ถึง (นาโคก) มาถางให้โล่ง เตียน ไถพรวนสักหน่อย พอเข้าเดือนเมษายนก็นำเมล็ดปอไปหยอดในหลุม (ที่ขุดด้วยจอบ หรือเสียม หรือไม้ปลายแหลม) หลุมละ 3 - 4 เมล็ด เกลี่ยดินมากลบ เหยียบให้แน่น พอสิ้นสงกรานต์เริ่มมีฝนโปรยลงมาบ้าง ปอก็เริ่มงอก ได้แดดดีๆ และความชื้นจากละอองฝน ปอก็จะงดงามได้โดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยใดๆ มากนัก

ploog por 3

พอช่วงพฤษภาคม - มิถุนายน ต้นปอสูงประมาณหัวเข่า เกษตรกรจะเริ่มดายหญ้า (ภาษาอีสานเรียก "เสียหญ้า" เสีย คือการทำลาย) ทางโคราชจะเรียก "ดายหุ่น" หรือ "ทำรุ่น" บางถิ่นเรียก "เอาหุ่น" ซึ่งก็คือการ "ดายหญ้า" ในภาคกลางนั่นเอง เพื่อไม่ให้หญ้าแย่งอาหารจากต้นปอนั่นเอง ศัตรูพืชพวกแมลงก็ไม่มี จะมีและต้องระวังคือ วัว ควาย นั่นเอง ที่อาจจะมากินป่าปอราบพนาสูญได้

แล้วก็ถึงฤดูลงทำนาเราก็จะทิ้งป่าปอไว้ ไปจัดการเรื่องปักดำนาให้เสร็จสิ้น พอสิ้นฝนประมาณต้นตุลาคม - พฤศจิกายน ก็ได้เวลาของการตัดปอแล้ว ต้นปอที่แก่แล้วจะมีลำต้นขนาดสูง 2.5 - 3 เมตร เปลือกหุ้มต้นจะหนา การตัดก็เพียงใช้มีดอีโต้คมๆ ฟันฉับเฉียงๆ ที่โคนต้น แล้วรวบรวมมามัดรวมกัน มัดหนึ่งๆ จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 - 12 นิ้ว นำมากองรวมกันไว้ (ปกติการตัดปอจะไม่นิยมการลงแขก แต่จะเป็นการจ้างแรงงานเพื่อกระจายรายได้ในหมู่บ้าน ครัวเรือนใดมีแรงคนมากก็ไม่ต้องจ้าง)

จากนั้นก็จะทำการขนย้ายมัดลำปอไปแช่น้ำในแหล่งน้ำหัวไร่ ปลายนา หรือที่สาธารณะ เช่น ลำคลองข้างถนนหนทาง เป็นต้น (แต่จะไม่แช่ในหนองน้ำสาธารณะที่เป็นแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค) โดยปกติลำปอจะมีเนื้อไม้ที่เบา ไม่จมน้ำ การนำมัดลำปอไปแช่จึงต้องใช้ขอนไม้ที่มีน้ำหนักมากทับลำปอให้จม หรืออาจใช้ก้อนหิน ดินโคลนถ่วงน้ำหนักเพิ่ม แช่ไว้ประมาณ 3 - 4 สัปดาห์ ตัวเยื่อเปลือกของต้นปอจะเปื่อยยุ่ย เหลือแต่เส้นใยปอที่เหนียวนุ่ม แข็งแรง การแช่ปอนี้เมื่อเกิดการเน่าเปื่อยของเปลือกลำปอ ก็จะส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว สามารถสัมผัสกลิ่นได้ไกลกว่าระยะ 50 เมตรทีเดียว

ploog por 4

ขั้นตอนต่อไปที่สุดคลาสสิกมากคือ "การลอกปอ" เพราะผู้ทำงานนี้จะได้รับทั้งวิตามินดีจากแสงแดดเต็มๆ และกลิ่นเหม็นรุนแรงจากมัดลำปอนั่นเอง ผู้เขียนเองก็เคยผ่านมาแล้ว จะไม่ทำก็ไม่ได้เพราะพ่อกับแม่จะให้รางวัลชุดนักเรียนใหม่เมื่อขายปอได้ หรือชุดเอาบุญ (ใส่เที่ยว) ใหม่ด้วย ถ้าขายได้เงินเยอะ แต่ละคนก็จะหาทำเลเหมาะๆ ริมฝั่งน้ำที่สะดวกในการดึงมัดลำปอขึ้นมาบนฝั่ง ตัดเชือกมัดหัว กลาง ท้ายมัด ให้ขาด จากนั้นหยิบลำปอขึ้นมาสัก 3 - 4 ลำต้น ใช้เล็บมือจิกดึงเอาใยปอออกมารวมกัน แล้วดึงจากโคนต้นไปยังปลาย นำเอาใยปอมาวางเรียงกันไว้ แยกเอาลำปอเปล่าๆ ทิ้งไปอีกด้าน

ploog por 2

เมื่อได้ใยปอมากพอประมาณก่อนที่เปลือกปอจะแห้ง ก็จะหอบนำไปบริเวณน้ำที่สะอาด ทำการตีกับพื้นน้ำให้เยื่อเปลือกหลุดออกมา จนได้เส้นใยที่ใสสะอาด นำไปตากแดดให้แห้งต่อไป กว่าจะได้เส้นใยปอที่ดีมีราคาจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องขยันอดทน ทำงานละเอียดทีเดียว ใจร้อนการลอกปอก็จะหลุด ขาดเป็นช่วงๆ ได้เส้นใยไม่ยาว หรือใจเย็นจนปล่อยให้เปลือกปอแห้งตอนเอาไปล้างก็จะไม่สะอาด ทำงานซ้ำซ้อนอีกหลายรอบ รวมทั้งการได้กลิ่นเหม็นติดตัว เสื้อผ้า หน้าผม สมัยนั้นยังไม่รู้จักการใช้ผ้าปิดปาก จมูก หรือถุงมือดอกครับ ที่ทนทำก็เพื่อเงินล้วนๆ

ploog por 7

สภาพถนนหนทางเมื่อ 40 ปีก่อน สองข้างทางกำลังลอกปอ ภาพจากภาพยนตร์ "ครูบ้านนอก 2521"

ความบันเทิงที่มีในการลอกปอก็จะได้จากการฟังวิทยุทรานซิสเตอร์ เพลงลูกทุ่ง หมอลำ หรือละครวิทยุ หมู่บ้านไหนมีคนเชี่ยวชาญทางร้อง ทางลำก็จะขับร้องกลอนลำ กลอนสอย กลอนเพอะ (เรื่องทางเพศ) สนุกสนานกันไปทั้งวัน ค่าจ้างลอกปอในสมัยนั้นผู้เขียนเคยได้มัดละ 6 สลึง ถึง 2 บาท คนที่เก่งๆ ก็จะได้รับค่าจ้างวันละ 20 - 30 บาททีเดียว

ploog por 5

เมื่อตากปอจนแห้งแล้วก็จะนำมามัดเป็นโค่น (ม้วนใหญ่) น้ำหนักประมาณโค่นละ 100 - 150 กิโลกรรม นำส่งขายให้พ่อค้าที่มารับซื้อถึงบ้าน ใยปอจะถูกส่งไปเข้าโรงงานทอกระสอบ สมัยนั้นจะอยู่ที่แถวอำเภอสีคิ้ว สูงเนิน เมืองโคราชโน่น กลายมาเป็นกระสอบป่านใส่ข้าวเปลือก ข้าวสารดังที่เห็นนั่นแล

ความเหม็นของการแช่ปอ ลอกปอ เสื้อผ้า เส้นผม ไปจนถึงโรงเรียน บรรดาเพื่อนๆ ก็จะทำหน้าเหยเก แหย่เพื่อนๆ ว่า ตัวเหม็น แต่ก็ไม่โกรธกัน คุณครูก็ไม่ดุว่าอะไร กลับยกย่องเสียอีกว่า "มีความขยันช่วยงานทางบ้าน รู้จักหาเงินมาใช้จ่ายช่วยครอบรัว เป็นตัวอย่างที่ดี" แต่ควรอาบน้ำ สระผมให้สะอาด ซักเสื้อผ้าให้สะอาดตากแดดจัดๆ ให้แห้งจะได้ไม่มีกลิ่นเหม็นติดตัว

ploog por 6

นอกจากนั้น น้ำแช่ปอที่มีกลิ่นเหม็นนั้นยังส่งผ่านไปยังสัตว์น้ำที่อาศัยในแหล่งน้ำนั้นด้วย พอน้ำแห้งขอดพวกเราชาวบ้านก็จะไปหา "ปลาข้อน" คือ ปลาที่รวมกันอยู่บริเวณน้ำลดใกล้จะแห้ง (ภาษากลาง ปลาตกคลัก) ปลาที่อึด ทน อย่างพวก ปลาดุก ปลาเข็ง (หมอ) ปลาค่อ (ช่อน) ปลาหลด ก็จะรวมกันอยู่เราก็เอาสวิงไปช้อนเอามาล้างน้ำ ทำอาหารกินกัน (แม้กลิ่นของน้ำแช่ปอในตัวปลาจะยังมีอยู่) การจะให้กลิ่นเน่าของลำปอหายไป คงต้องเอาปลาไปแช่น้ำเลี้ยงในกระชังน้ำไหลผ่านเยอะๆ สักเดือน สองเดือนโน่นแหละกลิ่นถึงจะลดลงได้

วันนี้ การปลูกปอ เป็นอดีตไปแล้ว คือมีการปลูกน้อยลงในบางพื้นที่ เดินทางผ่านไปหลายๆ ที่ตามถนนหนทางก็ไม่ค่อยจะเห็นการแช่ปอ ลอกปออีกแล้วครับ ความรู้เรื่องการปลูกปอสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนไทย โดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

pla kon
หาปลาข้อนกันยามแล้ง

redline

backled1

isan vocation

ภาคอีสาน หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย เป็นดินแดนที่ราบสูงที่กว้างใหญ่ มีเทือกเขาสูงแบ่งเขตออกเป็น 2 ส่วนคือ แอ่งโคราช ที่ประกอบไปด้วยพื้นที่ลุมน้ำมูล ชี กินบริเวณมากถึง 3 ใน 4 ของภาคอีสาน และแอ่งสกลนคร ได้แก่บริเวณตอนเหนือของเทือกเขาภูพาน และบริเวณที่ราบลุ่มน้ำโขง การสร้างบ้านเรือนของชุมชนตั้งแต่สมัยโบราณ มักเลือกทำเลที่ตั้งอยู่ตามที่ราบลุ่ม ที่มีแม่น้ำสำคัญๆ ไหลผ่าน เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำสงคราม ฯลฯ รวมทั้งอาศัยอยู่ตามริมหนองบึง ถ้าตอนใดน้ำท่วมถึงก็จะขยับไปตั้งอยู่ บนโคกหรือเนินสูง ดังนั้นชื่อหมู่บ้านในภาคอีสานจึงมักขึ้นต้นด้วยคำว่า "โคก โนน โพน หนอง นา ป่า" เป็นส่วนใหญ

isan kandan nai pi

บทกวีสะท้อนภาพ "ความทุกข์ยากของชาวอีสาน" จากธรรมชาติมาแต่ไกล ดินแดนที่มีสภาพดินปนทราย หากตามปกติก็เหมาะแก่การเพาะปลูกทำเกษตรกรรมเป็นอย่างดี แต่ฝนกลับไม่อำนวยปล่อยน้ำลงมาจากท้องฟ้า เพื่อให้ชาวนาได้ทำการเพาะปลูก จนแผ่นดินแห้งแล้งส่งผลให้น้ำตาของชาวอีสานตกรายลงมาแทนน้ำฝน แถมแดดยังร้อนเปรี้ยงปานหัวจะแตก แผ่นดินก็แตกระแหงอยู่ทุกหนแห่ง จนในใจหดหู่ห่อเหี่ยวดังคำว่า แผ่นอกที่ครางครึม ขยับแยกอยู่ตาปี” หมายถึง แผ่นอกหรือนัยหนึ่งคือ จิตใจแทบแยกแตกสลายอยู่ชั่วนาตาปี คำสั้นๆ แต่มีความหมายสะท้อนอารมณ์ออกมาได้อย่างถึงส่วนลึกของจิตใจเป็นที่สุด

ระบบชลประทานเปลี่ยนชีวิต

ชุมชนหมู่บ้านในภาคอีสาน สามารถรักษาการผลิตแบบพอยังชีพไว้ได้ยาวนานที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ ของประเทศ อย่างน้อยก็จนถึงกลางทศวรรษ 2520 อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสังคมอีสานมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก พื้นที่ซึ่งเคยเป็นดินแดนแห่งความแห้งแล้งกันดาร กลับกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรที่ในอดีตเคยปลูกได้เฉพาะในภาคอื่นๆ เช่น ยางพารา สะตอ ทุเรียน และผลไม้นานาชนิด ด้วยการมีระบบชลประทานมากขึ้นจากโครงการในพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และแรงงานภาคอีสานที่มีอยู่อย่างล้นเหลือ และเป็นแรงงานอพยพที่ไปทำงานขายแรงงาน หรือประกอบการค้าอยู่ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดในภาคอื่นๆ จำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ซึ่งส่งผลให้ฐานะทางเศรษฐกิจของคนอีสานที่อาศัยอยู่ในดินแดนยากจนที่สุดของประเทศเปลี่ยนแปลงไป

thai farmer 1

การทำมาหากิน หรือการประกอบอาชีพนั้น คนอีสานมีความรู้ความสามารถในด้านการเกษตรกรรม ทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก ทำไร่เป็นรอง ไร่สวนที่ทำก็เช่น การปลูกปอ ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู ไก่ เป็ด ส่วนใหญ่ทำเพื่อพออยู่พอกินตลอดปี เหลือก็นำไปขายหรือแลกเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เช่น ข้าวไปแลกเป็นเกลือ แลกเป็นปลาร้า หรือเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม มีบ้างบางหมู่บ้านที่ปลูกฝ้าย เลี้ยงไหม เพื่อทอเป็นผ้าผืนทำเครื่องนุ่งห่ม กระจายไปทั่วภูมิภาค ด้านการค้าขายนั้นดูจะไม่เชี่ยวชาญเอาเสียเลย

ยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง

ฟังเพลงนี้ที่ร่วมสมัยพัฒาชาติ เพื่อประกอบความเข้าใจในเหตุการณ์ ณ พ.ศ. 2504

ต่อมา ในช่วงปี พ.ศ. 2504 - 2506 ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศใช้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 มีช่วงเวลาของแผน 6 ปี โดยแยกออกเป็นช่วง 3 ปีแรก (2504-2506) และช่วง 3 ปีหลัง (2507-2509) รัฐบาลจะถือเอาการเจริญเติบโต และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมาย ในการพัฒนาประเทศ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้สามารถรองรับกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจการค้า เรียกว่า ทำมาค้าขายเป็นหลัก ปลูกพืชเพื่อขาย เลี้ยงสัตว์เพื่อขาย และขาย ประชาชนทุกคนจะต้องได้รับประโยชน์จากพัฒนาการเศรษฐกิจตามสมรรถภาพของตน ตลอดจนมุ่งส่งเสริมการค้าเสรี ขยายการผลิต ส่งเสริมกิจกรรมและการลงทุนของภาคเอกชน โดยรัฐบาลจะดำเนินงานเฉพาะงานพื้นฐานที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม  ส่งเสริมการผลิตด้านการเกษตรทั้งปริมาณและคุณภาพโดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ

และแผนนี้เองที่เริ่มทำให้เกษตรกรอีสาน (หรือทั่วประเทศ) เริ่มเป็นหนี้ เพราะลืมวัฒนธรรม ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ทำอาชีพให้พออยู่พอกิน แล้วหันมาเมามัวแต่การท่องคำว่า "รวย รวย รวย" จนลืมคำพอเพียงของพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙ เสียสิ้น เมื่ออยากรวยก็ต้องทำให้มาก ทำให้มากต้องลงทุน ไม่มีทุนก็ไปกู้หนี้จากนายทุน ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ย หัวอาหาร ยาปราบศัตรูพืช ทำได้ผลิตผลก็ถูกยึดไปใช้หนี้วนเวียนไป จนลืมตาอ้าปากไม่ได้ คนที่รวยไม่ใช่เกษตรกรแต่เป็นนายทุน พ่อค้าคนกลาง (ภาพชัดเจนไหมครับ)

thai kasetakon 1

มีหลายอาชีพที่เคยทำกันมากมายในอดีต ผู้เขียนเองก็เคยทำช่วยพ่อ-แม่สมัยเมื่อยังเล็กเป็นเด็กน้อย เช่น การปลูกปอ (เพื่อนำมาฟอกขายให้พ่อค้า นำไปทอเป็นกระสอบป่าน) ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกมันสำปะหลัง แต่ในปัจจุบันนี้มีคนทำน้อยลงแล้ว หันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เลียนแบบตามๆ กัน (ข่าวว่าเขารวยเลยเอามั่ง สุดท้ายก็จนเพราะปลูกไม่คิดถึงการตลาด) เช่น การปลูกยางพารา ปลูกกล้วยหอมทอง พูดแบบตรงไปตรงมาก็คือ ข้าราชการไทยที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ก็ไม่มีความชำนาญในด้านการตลาด บอกให้ปลูกได้งามแต่ไม่รู้จะไปขายที่ไหน ข้าราชการที่ทำหน้าที่ด้านเศรษฐกิจก็รู้จักการขายแต่ไม่รู้การวางแผนการผลิต และไม่เคยคุยกับข้าราชการด้านการเกษตรว่าจะร่วมมือกันอย่างไร? เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยยุค 4.0 จะต้องกลับไปคิดและปรับปรุงระบบราชการเสียใหม่ ให้มีการสื่อสารทำความเข้าใจในเรื่องเดียวกัน มิใช่ประสานงากันทุกเรื่อง

เรื่อง อาชีพ และเครื่องมือทำมาหากินของฅนอีสาน นี้จะนำเสนอ อาชีพของฅนอีสานที่เคยทำในอดีต เป็นการเล่าเรื่องที่ผู้เขียนเคยพบเห็น เคยลงมือทำมาเล่าสู่กันฟังให้เห็นภาพชีวิต (อดีตของฅนอีสาน) รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตรต่างๆ ที่บางสิ่งยังพอมีและใช้กันอยู่ บางอย่างเริ่มสูญหายไป เพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนที่เคยมีในอดีตที่เริ่มสูญหายไป จนบางคนไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อ เอามาเล่าสู่กันฟังครับ

อาชีพฅนอีสานในอดีต

แหล่งทำมาหากินอีสานบ้านเฮา

  • ป่าบุ่งป่าทาม ทางภาคใต้เรียก "ป่าพรุ" ทางภาคกลางเรียก "พื้นที่ชุ่มน้ำ" สากลหรือต่างประเทศเรียก "แรมซาร์ไซต์" ที่เป็นแหล่งอาหาร สมุนไพรยารักษาโรค ของฅนอีสาน ในประเทศไทยขึ้นทะเบียนแล้ว 15 แห่ง อยู่ในภาคอีสานบ้านเฮา 3 แห่ง
  • ดอนปู่ตา นอกจากเป็นที่เคารพสักการะแล้ว ยังเป็นตลาดสด หรือตู้เย็นเก็บอาหารสดๆ ให้ฅนอีสานในอดีต

รายการที่นี่บ้านเรา ตอน มูนแห่งแม่มูล

เครื่องมือ-เครื่องใช้ในการทำมาหากิน

catch fish 01

ส่อนสวิง แก่มอง หากุ้ง หอย ปลา ปู ไปกินแลง

[ อ่านเพิ่มเติมเรื่อง : อาหารการกินอีสานบ้านเฮา ]

redline

homeuse header

นอีสานในอดีตนั้น มีเครื่องใช้ไม้สอยมากมาย เนื่องจากธรรมชาติในพื้นถิ่นเต็มไปด้วยอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ป่าไม้หลากหลาย น้ำท่าบริบูรณ์ จึงมีการคิดค้นสร้างเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ มาใช้งานซึ่งมีทั้งคุณค่าความสวยงาม อรรถประโยชน์ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความทันสมัยยุคพลาสติกเข้ามา เครื่องใช้ในอดีตก็เริ่มจางหายไปตามกาลเวลา เรามาย้อนอดีตกันว่ามีอะไรบ้าง

ครกมอง

เมื่อครั้งอดีตยังเป็นเด็กน้อย ทิดหมู กะคือกันกับเด็กน้อยตามภาคอีสานทั่วๆ ไป ที่มักจะเล่นซนเล่นม่วนนำหมู่เด็กน้อยนำกันในหมู่บ้าน ก่อนจะถึงวันพระใหญ่ตื่นเช้ามาได้ยินเสียง "สักกะลัน" ก้องดังจากครกมองบ้านผู้ใหญ่บ้าน พร้อมเสียงเซ็งแซ่ของหนุ่มสาวและเด็กน้อย ทำให้ทิดหมูต้องฟ้าวฟั่งไปร่วมสนุกทันที ไปดูว่าเขามีอะไรกันแต่เช้า

krog mong 01

ไปถึงสถานที่ชุมนุมก็พบว่า มีหนุ่มสาว ผู้เฒ่า ผู้แก่และเด็กน้อย สาละวนอยู่กับการตำข้าว ทำแป้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว เอาไปทำเป็นแป้งขนมชนิดต่างๆ ทำแผ่นข้าวโป่ง หรือบ้างก็เอาแป้งเข้าปุ้นที่หมักแล้วมาตำ เพื่อนำไปคั้นบีบเป็นเส้นเข้าปุ้น (ขนมจีน) สำหรับงานบุญในวันพรุ่งนี้ เป็นที่สนุกสนาน การตำข้าวด้วยครกมองจะต้องมีคนที่มีน้ำหนักเพียงพอ (อาจต้องช่วยกันขึ้นเหยียบหลายคน) ขึ้นไปช่วยกันเหยียบที่หางมอง ให้ปลายขอนไม้ที่มีสากติดอยู่กระดกขึ้น แล้วปล่อยลงมาตำเป็นจังหวะๆ ดังแบบว่า "สักกะลัน" ลั่นทุ่งนั่นเอง

ครกมอง น. เครื่องมือสำหรับตำเรียก ครก ครกตำป่นตำแจ่ว เรียก ครกครัว ครกที่ใช้มือจับสากตำข้าวเปลือก เรียก ครกมือ ครกกระเดื่องใช้เท้าเหยียบตำข้าวเปลือก เรียก ครกมอง อย่างว่า ครกบ่มีสากซ้อมตำได้เข้าบ่ขาว (กา). mortar.

สักกะลัน ว. ตำข้าวเปลือกด้วยครกกระเดื่อง ใช้เท้าถีบถี่ เรียก ตำสักกะลัน อย่างว่า เสียงครกมองตำเข้าเดิ็กมามันม่วน ตำช้าช้าเสียงบอกยามซุก เดิ็กจั่งซุกเดิ็กเดิ็กจั่งซุก ตำเสียงสั้นสักกะลันน่ำน่ำ หกตำลึงแตะแต่งแหล้งหงายลงแป่งแง่ง (หนังสือเจือง).ta-ta-tum, describes pounding rice using foot-powered see-saw-type rice mortar and pestle with quick, frequent strokes. "

 

ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ  โดย ดร.ปรีชา พิณทอง

สักกะลัน หมายถึง การย่ำเท้าอย่างเร็วในการตำข้าวด้วยครกมอง จนมีเสียงดังคล้าย คลั๊ก ตึ่ง ตึ้ง อยู่เป็นระยะ

ครกมอง เป็นภูมิปัญญาไทยในอดีต ครั้งยังไม่มีโรงสีข้าวในปัจจุบัน การตำข้าวเพื่อมาใช้ในการประกอบอาหาร ชาวบ้านจะตำครั้งละไม่มากเอาแค่พอนึ่ง หรือหุงได้สัก 2-3 วัน แล้วค่อยตำใหม่ เพื่อจะได้ข้าวที่นุ่มหอมกรุ่น อร่อยๆ นั่นเอง ผลที่ได้จากการตำข้าวคือ แกลบและรำ ไว้เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ เป็ด ในครัวเรือน ครกมองสร้างครอบครัว (อันนี้ไม่ผิดแน่) เพราะมีหนุ่มสาวหลายคู่ตกลงครองรักครองเรือน เอาชนะใจญาติผู้ใหญ่ด้วยความขยันขันแข็ง มาช่วยสาวตำข้าวบ่อยๆ (จนลิ้นห้อยก็ยอม) ได้รับอนุญาตให้ร่วมเรียงเคียงหมอนมาก็มาก นอกจากนั้น ยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาในการทำอาหารจากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย

สาวบ้านใดตื่นมาตำข้าวแต่ไก่ขันกก จนไก่ขันฮวย โบราณเพิ่นกล่าวว่า เป็นแม่ศรีบ้าน แม่ศรีเรือน ที่ดี มักจะได้คู่ครองที่ดี ญาติผู้ใหญ่ได้ปลื้ม (เวลาของไก่ขันตามโบราณคือ ไก่ขันกก (24.00-01.30 น.) ไก่ขันชั้น (03.00-04.30 น.) ไก่ขันฮวย (04.30-06.00 น.)

ครกตำข้าว แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ครกมือ กับ ครกมอง หรือ ครกกระเดื่อง

ครกมือ

ครกมือ มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ตัวครก และตัวสาก

ตัวครก ทำจากท่อนไม้เนื้อแข็งมีความยาว 80-90 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 50-60 เซนติเมตร ใช้ขวานเจาะเป็นร่องลึกตรงกลาง แล้วนำแกลบใส่เป็นเชื้อจุดไฟเผาส่วนกลางให้เป็นโพรงลึกตามต้องการ แล้วจึงขัดภายในให้เกลี้ยงเกลาเป็นหลุม

ตัวสาก ทำจากไม้เนื้อแข็งยาว 2 เมตร ปลายทั้งสองข้างโค้งมน หัวสากจะทุ่มใหญ่ ส่วนปลายสากจะมนเรียวเล็ก บริเวณกลางคอดกลมพอดีกับมือที่ใช้กำอย่างหลวมๆ

krog mong 02

ในการตำข้าวด้วยครกมือจะตำเป็นกลุ่ม 2-3 คน โดยนำข้าวไปผึ่งแดดหนึ่งวัน แล้วนำมาเทลงในครกตามต้องการ จากนั้นจึงเริ่มต้นใช้สากตำข้าวกะเทาะเม็ดข้าวเปลือกออก แล้วนำไป “ฝัด” ให้เปลือกข้าว (แกลบ) ปลิวออกไป และเก็บกากที่ไม่ต้องการออก การตำข้าวด้วยครกมือสามารถเคลื่อนย้ายครกไปในที่ต่างๆ ตามต้องการได ใช้แรงงานน้อย ต้องใช้เวลาตำนาน แต่ได้ปริมาณข้าวน้อย

ครกมอง

ครกมอง หรือ ครกกระเดื่อง เป็นครกตำข้าวที่มีพัฒนาจากครกมือ ซึ่งสามารถตำข้าวได้ปริมาณมาก โดยมีส่วนประกอบ คือ ตัวครก แม่มองหรือตัวมอง หัวแม่มอง เสามอง คานมอง และสากมอง

krog mong 04

ตัวครก ทำจากไม้เนื้อแข็งเช่นเดียวกันกับการทำครกมือ แต่จะทำจากท่อนไม้กลมยาวพอประมาณ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เมตร เจาะเป็นร่องลึกตรงกลางเหมือนครกทั่วๆ ไป ใช้ขวานฟันตรงกลาง นำแกลบใส่เป็นเชื้อและจุดไฟเผา จนได้หลุมครกลึกตามต้องการ ขัดภายในให้เรียบ จากนั้นจึงนำไปฝังลงในดินให้แน่น ให้มีระยะจากก้นครกถึงด้านส่วนล่างสุดของไม้ประมาณหนึ่งศอก

แม่มองหรือตัวมอง นิยมทำจากไม้สมอไทยเพราะมีเนื้อแข็ง เหนียว และทนทานไม่ให้หักง่ายและแตกง่าย เวลาตอกลิ่มที่หัวแม่มอง หรือแรงกระแทกเวลาตำข้าว แบ่งเป็นสองส่วน คือ หัวแม่มอง และหางแม่มอง

  • หัวแม่มอง คือ ส่วนโคนของต้นไม้เพื่อเพิ่มน้ำหนักในการตำข้าว การเจาะรูสำหรับใส่สากมอง ควรกะระยะห่างจากหัวแม่มองไม่สั้นหรือยาวจนเกินไป
  • หางแม่มอง คือ ส่วนที่อยู่ปลายของลำต้น และเป็นส่วนที่ใช้เท้าเหยียบเพื่อจะให้แม่มองกระดกขึ้นเวลาตำข้าว หางแม่มองจะบากหรือถากออกเล็กน้อยกันไม่ให้ลื่น ดินบริเวณใต้หางแม่มองจะขุดเป็นหลุมเรียกว่า "หลุมแม่มอง" ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยให้การตำข้าวได้ผลดี ถ้าไม่มีหลุมแม่มองหางแม่มองจะกดลงได้น้อย เกินกว่าที่หัวหัวแม่มองจะตกลงมากระแทกลงในครกทำให้ข้าวแหลกได้  เวลาตำข้าวจะต้องออกแรงมากนั่นเอง

krog mong 03

เสาแม่มอง จะอยู่ค่อนไปทางหางแม่มอง ประกอบด้วยเสาสองต้นปักดินให้แน่น เสาแม่มองเป็นไม้เนื้อแข็งเหนียวและทนทาน เพราะต้องรับแรงเสียดสีจากคานแม่มอง ทั้งรับน้ำหนักแม่มองและสากมอง ถ้าเสาทำจากไม้ไม่ดีจะสึกและพังเร็ว

คานมอง เป็นส่วนของไม้ที่สอดเพื่อยึดตัวมองกับเสาแม่มอง อยู่ค่อนไปทางหางแม่มอง ซึ่งบางแห่งนิยมทำสลัก เพื่อไม่ไห้ตัวมองเลื่อนไปทางใดทางหนึ่ง

การตำข้าวด้วยครกมอง หรือ ครกกระเดื่อง

สากมอง ทำจากไม้ค้อและไม้หนามแท่ง เพราะมีน้ำหนัก เหนียวแข็ง และมัน มีความยาว 60 เซนติเมตร แบ่งเป็น 3 ชนิด ตามความต้องการใช้งาน คือ

  • สากตำ มีขนาดเล็กเพื่อให้กระแทกถึงก้นครกในขณะที่ตำข้าว ทำให้ข้าวเกิดการกระเทาะเปลือกเร็วขึ้น
  • สากต่าว มีขนาดใหญ่กว่าสากตำ ใช้ตำข้าวให้เป็นข้าวกล้อง (แค่กระเทาะเปลือกไม่ต้องขัดสีเม็ดข้าวมาก)
  • สากซ้อม มีขนาดใหญ่ ใช้ตำเพื่อขัดข้าวในชั้นสุดท้าย (ให้ข้าวขาว และได้รำข้าวมาก)

ลิ่มแม่มอง ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เหนียวและทนทาน เพราะได้รับแรงกระแทกอยู่ตลอดเวลา ใช้สำหรับตอกเสริมสาก เพื่อยึดสากมองกับแม่มองให้แน่น หากลิ่มไม่แน่นจะทำให้สากหลุดจากหัวแม่มองที่เจาะเป็นรูทะลุ อาจกระเด็นออกไปถูกผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรืออันตรายได้

หลักจับ เป็นหลักไม้สำหรับผู้ตำข้าวใช้จับพยุงตัวเวลาตำข้าว

ในการการตำข้าวเพื่อให้ได้เมล็ดข้าวสวย ขึ้นอยู่กับจังหวะการตำข้าว ถ้าตำช้าเนิบๆ ทิ้งช่วงช้าๆ จะทำให้ข้าวหักเมล็ด ข้าวไม่สวย เพราะการกระแทกสากลงที่ครกมีน้ำหนักมากทิ้งช่วงนาน แต่ถ้าจังหวะตำข้าวเร็วเป็นจังหวะถี่ๆ เร็วสม่ำเสมอจะทำให้ได้ข้าวเมล็ดไม่แตก ได้ข้าวเมล็ดสวย

krog mong 06

ขั้นตอนการตำข้าว

ขั้นตอนการตำข้าว มีดังนี้

  • ตักขาวจากยุ้งใส่กระบุงหรือตะกร้าเทลงในครกมอง หรือครกกระเดื่อง ปริมาณที่ตำแล้วแต่ความต้องการ ส่วนใหญ่ตำสำหรับบริโภควันเดียว หรือสองวัน
  • สวมสากตำ ตอกลิ้นเสริมสากให้แน่น ใช้เวลาตำประมาณ 15 - 20 นาที การตำตอนนี้เรียกว่า ตำแหลมเปลือก หรือตำบุบ ข้าวที่ตำเสร็จแล้วเรียกว่า ข้าวตำ ตักข้าวตำออกจากครกใส่เขิงร่อน แล้วเทออกจากเขิงใส่กระดังฝัดเรียกว่า ฝัดตำ ส่วนที่ได้จากการฝัดเป็น แกลบ หรือ เปลือกข้าว
  • เปลี่ยนสากตำออก สวมสากต่าว แทน ตอกลิ้นให้แน่น เทข้าวตำที่ฝัดแล้วลงในครก การตำตอนนี้เรียกว่า ตำต่าว ใช้เวลาในการตำมากกว่าครั้งแรกเล็กน้อย ข้าวที่ตำเสร็จแล้วเรียกว่า ข้าวต่าว หรือข้าวกล้อง ตักข้าวออกใส่เขิงร่อน ส่วนที่ได้จากการร่อนจะเป็น แกลบละเอียด หรือ รำ เทข้าวที่ร่อนแล้วใส่กระด้งฝัดเรียกว่า ฝัดต่าว
  • เปลี่ยนสากต่าวออก สวมสากซ้อมเข้าแทน ตอกลิ้นให้แน่น เทข้าวต่าวหรือข้าวกล่องลงในครก ใช้เวลาตำประมาณ 20 นาที จะได้ข้าวซ้อมมือ ซึ่งมีข้าวสารปนกับข้าวปลายหักและข้าวเปลือกเล็กน้อย ใส่เขิงร่อนจะได้ ปลายข้าว และรำอ่อน นำข้าวที่ร่อนแล้วไปทิกด้วยกระด้งเรียกว่า ทิกข้าว และฝัด เช่น ข้าวเปลือกหรือปลายข้าวจะรวมอยู่ที่ส่วนปลายของกระด้ง เพื่อสะดวกในการเก็บข้าวเปลือกออกจากข้าวสาร เมื่อฝัดข้าวเสร็จแล้วจะได้ข้าวสารที่มีข้าวเปลื่อกปนอยู่เล็กน้อยเรียกว่า กาก ผู้ตำข้าวต้องเก็บกากออก ถึงจะได้ข้าวสารที่ต้องการ

ขั้นตอนแรกของการตำข้าวเริ่มจาก ตำแหลมเปลือก หรือ ตำบุบ ใช้เวลา 15-20 นาที จะได้ ข้าวตำตัก  จากนั้นจะตักใส่ กระด้งเขิง ร่อน แล้วใส่กระด้งฝัด เพื่อคัดเลือกแกลบหรือเปลือกข้าวออก

ขั้นตอนที่สองเรียกว่า การตำต่าว ข้าวที่ได้จากการตำเรียกว่า ข้าวต่าว หรือ “ข้าวกล้อง แล้วจึงตักข้าวออกมาใส่ เขิง ร่อนอีกครั้ง จะได้แกลบละเอียดหรือรำ แล้วจึงเทข้าวที่ร่อนแล้วใส่กระด้งฝัด

krog mong 05

ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการตำด้วยสากซ้อม ประมาณ 20 นาที จะได้ ข้าวซ้อมมือ  มีข้าวสารปนกับข้าวปลายหักและข้าวเปลือกเล็กน้อย เมื่อใช้ “เขิง ร่อนจะได้ปลายข้าวและรำอ่อน แล้วจึงนำข้าวที่ร่อนแล้วไป ทิกด้วยกระด้งเรียกว่า ทิกข้าว” และนำไป ฝัด” เพื่อแยกข้าวสารออกจากข้าวเปลือก

กว่าที่จะได้ข้าวแต่ละเม็ดจึงต้องใช้ความเพียรพยายาม และเทคนิคการตำข้าวที่ละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกผู้หญิงในอดีตนั้นต้องเรียนรู้ เพื่อเป็นแม่ศรีเรือนของบ้านในอนาคต

ออนซอน พี่น้องอ้ายซายผู้เพิ่นเมือฮอดบ้าน ฮอดซ่องเด้เนาะ คือสิได้เอาบุญ กินข้าวปุ้น ฟังลำเป็นตาม่วนแท้...แม่นไผบ่ได้เมือบ้านกะบ่ต้องเสียใจเด้อ ทีมงานรายการน้องใหม่ ข้าวโฮยเกลือสตูดิโอ เพิ่นสิพาไปยามพี่น้องทาง อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี พาไปรู้จักข้าวปุ้นซาว และพาไปย่าวแห่กัณฑ์หลอน ข้าวปุ้นหรือขนมจีน กระบวนการทำต้องผ่านการตำจากครกมองนี่เอง แต่ยุคใหม่นี่แป้งมีที่มาจากโรงงานมากกว่าการตำเอง เพราะประหยัดเวลาและแรงงานมากกว่า

รายการอยู่ดีมีแฮง : ข้าวปุ้นบุณฑริก

โม่หิน (โม่แป้ง)

โม่หิน หรือ โม่แป้ง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับโม่ข้าวให้เป็นน้ำแป้ง เป็นเครื่องบดชนิดหนึ่ง ที่ทำด้วยหินรูปร่างคล้ายที่สีข้าว จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของฐานครกประมาณ 1.5 ฟุต ขนาดใหญ่จะมีประมาณ 4.5 ฟุต ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

  • ตัวครก หรือหน่วยครก มีลักษณะกลมฐานเรียบ ด้านหนึ่งทำเป็นปากสำหรับให้แป้งไหลลงสู่ภาชนะ ขอบครกด้านนอกสุดหนาประมาณ 7 ซ.ม. ถัดจากขอบนอกเข้ามาราว 3 ซ.ม. ทำเป็นแอ่งหรือคลองลึกลงโดยรอบเชื่อมเป็นระดับเดียวกับปากครก แอ่งนี้กว้างประมาณ 5 - 9 ซ.ม. ช่วงกลางของตัวครกยกระดับสูงขึ้นกว่าขอบครกอีกเท่าตัว ตรงหน้าตัดทำเป็นฟัน คือ เซาะร่องกว้างและลึกประมาณ 4 มิลลิเมตร ฟันนี้จะทอดตามแนวรัศมีและมีฟันตามแนวขวางบ้าง ตรงกึ่งกลางของหน้าตัดทำเป็นรูกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 2 ซ.ม. สำหรับใส่เดือยหรือโดไม้รับและยึดฝาครกเอาไว้
  • ฝาครก ทำให้ได้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับหน้าตัดช่วงกลางครก สูงประมาณ 8 - 12 ซ.ม. ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดของครก ตรงกลางด้านล่างของฝาครกทำรูให้ได้ขนาดสวมรับกับเดือย และตรงหน้าตัดด้านล่างเซาะฟันเช่นเดียวกับตัวครก ด้านบนของฝาทำเป็นช่องสำหรับรับข้าวที่จะบด ตรงแอ่งนี้เจาะรูทะลุฝาด้านล่าง เพื่อให้ข้าวสารตกลงด้านล่างเพื่อบดเป็นแป้งต่อไป ด้านข้างของฝาครกขนาดเล็กจะเจาะรูสี่เหลี่ยม 1 รูสำหรับใส่ไม้ทำเป็น “มือครก” ครกชนิดนี้เรียก “ครกมือเดียว” แต่ถ้าครกมีขนาดใหญ่จะเจาะ 2 รู สำหรับใส่มือครก เรียกว่า “ครก 2 มือ” ครกชนิดหลังนี้เวลาบดจะใช้คันโยกแบบเดียวกับครกสี

mo bod pang 1

การโม่แป้งโดยใช้โม่หิน หรือ ครกบด จะต้องวางครกบดบนพื้นสูงกว่าพื้นปรกติอย่างน้อย 1 ศอก ทั้งนี้เพื่อให้สามารถวางภาชนะรับแป้งจากปากครกบดได้ ข้าวสารที่จะโม่ต้องแช่น้ำให้นานพอ การโม่ถ้าเป็นครกมือเดียว อาจใช้ผู้โม่คนเดียวหรือ 2 คนก็ได้ ถ้าโม่คนเดียวผู้โม่ต้องทำหน้าที่ทั้งหมุนครก (โม่) และหยอดข้าวสาร ถ้าโม่ 2 คน คนหนึ่งหมุนครกอีกคนหนึ่งหยอดข้าวสารมีเทคนิคที่ต้องระวังคือ ถ้าหยอดข้าวสารมากเกินไปและมีน้ำผสมอยู่น้อย แป้งที่โม่จะข้นหนืด บางครั้งโม่ข้าวสารหลุดออกเป็นเมล็ดๆ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า "ครกบดมันแค้น" ต้องหยอดน้ำช่วย ถ้าหยอดข้าวสารน้อย และใส่น้ำมากแป้งจะเหลว ฟันครกบดจะเสียดสีกันมากอาจทำให้ซีเมนต์ หรือทายที่ฟันครกหลุดผสมลงในแป้งได้

mo bod pang 2

เมื่อโม่แป้งเสร็จจะต้องล้างครกบดให้สะอาด เพื่อมิให้แป้งที่ติดอยู่ตามส่วนต่างๆ ของครกโดยเฉพาะที่ฟันครกและในเดือยครกเกิดการบูดเน่า ปรกตินอกจากจะล้างทำความสะอาดแล้ว ยังถอดเดือยครกออกอีกด้วย ครกบด นอกจากใช้โม่แป้งแล้ว ยังใช้ทับแป้งได้ดีอีกด้วย และเนื่องจากการทำขนมต่างๆ มักทำจากแป้งที่โม่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นแป้งเหลว หรือแป้งที่ทับแป้งเป็นก้อน ซึ่งต้องใช้ครกบดทั้งสิ้น ครกบดจึงเป็นเครื่องใช้ที่รู้จักกันแพร่หลาย แต่ในปัจจุบันหาดูได้ยาก จะเห็นเฉพาะในบ้านเรือนตามชนบท หรือในบ้านเรือนที่ยังคงทำขนมไทยบางชนิดเท่านั้น เพราะเดี๋ยวนี้มีแป้งสำเร็จรูปจำหน่ายมากมาย ไม่ต้องมานั่งหลังขดหลังแข็งกันอีกต่อไป

 

ตะเกียง และตะเกียงเจ้าพายุ

ต่อจากยุคของกะบองและขี้ไต้ ฅนอีสานโบราณก็ได้สัมผัสกับนวัตกรรมพลังงานแสงสว่างของ "ตะเกียง" ที่ใช้น้ำมันก๊าด มีโป๊ะแก้วบังลมไม่ให้ลมพัดดับ แต่ก็ยังคงได้สัมผัสกับ "ฮูดังดำ" (จมูกดำจากควันไฟ) เช่นเดิมเพราะมีควันเหมือนกัน จนต่อมาก็มีตะเกียงแสงสว่างพลังสูงจ้า ไร้ควันในชื่อ "ตะเกียงเจ้าพายุ" ซึ่งมีการนำมาใช้ในครัวเรือนมีฐานะ บ้านผู้ใหญ่บ้าน หรือวัดวาอาราม  สำหรับทิดหมูเป็นคนร่วมสมัยครับ พ้อมาเบิดแล้วตั้งแต่ กะบองขี้ไต้ (ใช้จนฮูดังดำย้อนควันกะบอง) ตะเกียง (กระป๋องนม) ตะเกียงแก๊ส ตะเกียงเจ้าพายุ หลอดไฟฟ้ากลม (บักตูมกา) หลอดฟลูออเรสเซนต์ จนมาถึงยุคหลอด LED นี่แหละ (ทั้งๆ ที่อายุเพิ่งจะครบเบญจเพสมา 2 รอบเอง 555)

ตะเกียงน้ำมัน

takiang 01

 ตะเกียง น. เครื่องใช้สำหรับตามไฟมีรูปต่างๆ มีหลอดบังลม. lamp.

ตะเกียงเจ้าพายุ น. ตะเกียงชนิดหนึ่ง เมื่อเผาไส้แล้วสูบลมให้ดันน้ำมันเป็นไอขึ้นไปเลี้ยงไส้ทำให้เกิดแสงสว่างนวลจ้า. storm lantern. "

ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ  โดย ดร.ปรีชา พิณทอง

ส่วนประกอบสำคัญของตะเกียงคือ ตัวกระป๋องตะเกียงสำหรับบรรจุน้ำมัน ฝาปิดเจาะรู (อาจมีท่อเล็กๆ) สำหรับสอดไส้ตะเกียงที่เป็นฝ้ายจุ่มลงในน้ำมัน น้ำมันที่ใช้ก็อาจเป็นน้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว นำมันรำ หรือสมัยต่อมาใช้น้ำมันก๊าด (แต่ก็มีควันเยอะ) เพื่อป้องกันตะเกียงดับเมื่อต้องลมในสมัยต่อมาจึงมีการนำโป๊ะแก้วมาครอบ ตะเกียงมีรูปร่างต่างๆ มากมาย ตามแต่ผู้คิดออกแบบจะจินตนาการสร้างสรรค์จากวัสดุที่มีอยู่

takiang 02

ตะเกียงแก๊ส (ก้อน)

ในยุคก่อนจะมีไฟฉายส่องกบแบบคาดหัวมาขาย คนไทบ้านเฮากะมีตะเกียงแก๊ส (ก้อน) ซึ่งเชื้อเพลิงคือก้อนแก๊สแข็ง (แคลเซียมคาร์ไบด์) ไทบ้านผมเอิ้นว่า ถ่านแก๊ส เมื่อโดนน้ำหรือความชื้นมีกลิ่นฉุนของแก๊สหรือไอระเหย โดยมีส่วนประกอบและรูปร่างดังภาพข่างล่างนี้ครับ

takiang gas

ตัวตะเกียงจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

  1. กระป๋องโลหะบรรจุก้อนแก๊ส ทรงกลมด้านล่างสุด สำหรับบรรจุก้อนแก๊ส (ถ่านแคลเซียมคาร์ไบด์) คือ สารประกอบ มีสูตรเคมี CaC2 ลักษณะเป็นของแข็งสีเทา ได้ประมาณ 2-3 ก้อน ทำด้วยทองเหลืองหรือสังกะสี
  2. กระป๋องบรรจุน้ำ เป็นฝาส่วนบนที่สามารถบรรจุน้ำได้จำนวนหนึ่ง พร้อมก๊อกลูกบิดควมคุมการเปิดปิดน้ำให้หยดลงไปในกระป๋องส่วนล่าง เพื่อให้ไปทำปฏิกริยากับก้อนแก๊ส แคลเซียมคาร์ไบด์นี้เมื่อทำปฏิกิริยาเคมีกับน้ำจะให้ก๊าซอะเซทิลีน (C2H2) ตัวก๊าซอะเซทิลีนสามารถติดไฟได้ ให้พลังงานความร้อนสูง เมื่อเกิดความร้อนและปล่อยไอแก๊สผ่านท่อออกไปที่ส่วนหัวตะกียง สำหรับจุดไฟให้แสงสว่างต่อไป
  3. ส่วนหัวตะเกียง ประกอบด้วยท่อโลหะงอโค้งทำเป็นหัวตะเกียง หรือจะใช้ท่อยางท่อยางสวมเพื่อเพิ่มความยาวให้โคมสามารถเอาไปติดที่หมวก หรือสายรัดคาดหัวได้ ปลายท่อจะเป็นหัวตะเกียงทองเหลืองมีรูเล็ก 1 รู ให้ไอแก๊สออกมาเพื่อจุดไฟ ปริมาณแก๊สที่ออกมาจะมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่หยดลงไปในก้นกระป๋องส่วนล่าง มีโคมทองเหลืองหรือสแตนเลสขนาดใหญ่ครอบส่วนหัวตะเกียง เพื่อให้รวมแสงสว่างพุ่งไปข้างหน้า

takiang gas2

สมัยก่อนนี้ ชาวบ้านยังใช้ประโยชน์จากถ่านแก๊สก้อนนี้ โดยเอามาห่อกระดาษใส่ไว้ก้นกระบุงแล้วนำเอากล้วย มะม่วง มาบรรจุลงไป คลุมทับด้วยผ้าหนาๆ เป็นการบ่มผลไม้ให้สุกไวนั่นเอง ในปัจจุบัน จะเห็นยังใช้ในการทำตู้แก๊สเชื่อมโลหะ เรียกว่า ตู้เชื่อมอะเซทีลีน ดังภาพด้านล่างนี้

takiang gas3

ตะเกียงเจ้าพายุ

ตะเกียงเจ้าพายุ น. ตะเกียงหิ้วชนิดหนึ่งเมื่อจุดไส้แล้วต้องสูบลมเพื่อให้ลมดันน้ำมันขึ้นไปหล่อเลี้ยงไส้ให้ไฟติดสว่างตลอด. "

ตะเกียงเจ้าพายุทำงานอย่างไร ?

Incandescence คือ การเปล่งแสงสว่างออกมาเนื่องจากอุณหภูมิสูง หรือให้ความร้อนสูง จนวัตถุนั้นเปล่งแสงสว่างจ้า คุณคงเคยเห็นเหล็กที่มันร้อนแดง เมื่อมันอยู่ในเตาเผา และถ้าเหล็กร้อนจนถึงอุณหภูมิ 1,000 องศาฟาเรนไฮต์ ผิวเหล็กจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม ให้ลองสังเกตเตาไฟฟ้าที่ทำจากขดลวด หรือเครื่องปิ้งขนมปังก็ได้ ในอุปกรณ์ไฟฟ้าพวกนี้ กระแสไฟฟ้าจะให้ความร้อนกับขดลวด หรือเส้นลวดจนร้อนและเปล่งแสงออกมา และถ้าคุณเพิ่มอุณหภูมิจนถึง 4,500 องศาฟาเรนไฮต์  จะได้แสงสีเหลืองเกือบขาว ซึ่งก็คือแสงเดียวกันกับที่เปล่งออกจากหลอดไฟมีไส้นั่นเอง

สารทุกๆ อย่างถ้าคุณให้ความร้อนมันจะเปล่งแสงออกมา แต่ว่า... การเปล่งแสงของสารแต่ละชนิดจะมีมากน้อยต่างกัน แม้ว่าจะอยู่ที่อุณหภูมิเดียวกัน เหล็กกล้าให้แสงได้ดีเมื่อได้รับความร้อน ส่วนแก้วเป็นตัวให้แสงที่เลว ในปี ค.ศ. 1800 การฉายภาพยนตร์ในประเทศอังกฤษได้ใช้ สารแคลเซียมออกไซด์ ที่เรารู้จักกันดีว่า ปูน หรือ ไลม์ (Lime) เป็นตัวที่ให้แสงสว่าง จึงเป็นที่มาของคำว่า ไลม์ไลท์ (Limelight) เหตุผลก็เพราะว่า ปูนให้แสงสว่างได้ดีมาก เมื่อมันมีอุณหภมิสูง และปูนมีอุณหภูมิหลอมเหลวที่สูงประมาณ 4,600 องศาฟาเรนไฮต์ ดังนั้นคุณสามารถให้ความร้อนกับมันจนเปล่งแสงเป็นสีขาว อุณหภูมิประมาณ 2800 องศาฟาเรนไฮต์

ตะเกียงเจ้าพายุ มีหลักการเหมือนกับหลอดไฟมีไส้ทุกประการ โดยหลอดไฟมีไส้ใช้กระแสไฟฟ้าเป็นตัวให้พลังงานความร้อน ส่วนตะเกียงเจ้าพายุใช้น้ำมันก๊าด ด้วยการเป่าน้ำมันก๊าดผ่านเข้าไปในไส้ เพื่อให้ความร้อนและเปล่งแสงออกมา เมื่อเราหยิบไส้ขี้นมาดูจะเห็นว่าเหมือนตาข่ายผ้า แต่จริงๆ แล้ว เส้นใยผ้าจะคลุมด้วยสารออกไซด์ หรือ เซรามิกอยู่ภายใน หลังจากมีการวิจัยเพื่อหาไส้ที่ดีที่สุด พบว่า สารเซรามิก พวก ทอเรียมออกไซด์ ซีเรียมออกไซด์ และแมกนีเซียมออกไซด์ พวกนี้จะเปล่งแสงได้ดีที่สุดเมื่อได้รับความร้อน เมื่อจุดไส้หลอด เส้นใยผ้าจะถูกเผา เหลือแต่เส้นใยเซรามิกซึ่งมีความเปราะมาก แสดงดังรูป

takiang 03

ไส้หลอดทำเป็นรูปตาข่าย เพื่อจะเพิ่มพื้นที่ผิวให้มากที่สุด ตอนนี้คุณก็ทราบแล้วว่า ตะเกียงเจ้าพายุตัวโปรดของคุณมีหลักการง่ายๆ และเพราะความรู้ง่ายๆ นี้นี่แหละ ที่ทำให้นักประดิษฐ์เอกของโลก นายโทมัส อัลวา เอดิสัน สร้างหลอดไฟมีไส้ได้สำเร็จเป็นคนแรกของโลก

ข้อมูลจาก : ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

หลักการทำงานของตะเกียงเจ้าพายุนั้น ไม่ได้อาศัยการเปล่งแสงจากเปลวการเผาไหม้น้ำมันโดยตรง แต่เกิดจากหลักการเปล่งแสงของวัสดุ อันเนื่องมาจากพลังงานความร้อน (Incandescent) ก็เหมือนหลอดไฟไส้ร้อน และสว่างจ้าจากกระแสไฟฟ้า แต่เจ้าพายุให้ความร้อนกับไส้ไหม (Rayon) ที่ทำจากสาร เซรามิกพวก  Thorium Oxide , Cerium Oxide และ Magnesium Oxide สารทั้ง 3 ตัวนี้เปล่งแสงได้สว่างที่สุดเมื่อได้รับความร้อน โดยแสงนั้นจะสว่างจ้ากว่าเปลวไฟจากน้ำมันมากถึง 6 เท่า

takiang 04

การให้ความร้อนกับไส้ไหมนี้ ทำโดยการนำน้ำมันก๊าดที่มีความดันผ่านหัวฉีดและผสมกับอากาศ แล้วจุดให้ลุกไหม้ ผ่านไปยังไส้ไหมเคลือบ Oxide โลหะ เมื่อไส้ไหมได้รับความร้อน ก็จะสว่างจ้ากว่าเปลวปกติของตะเกียงทั่วไปถึง 6 เท่านั่นเอง

  • ทำไมไส้ตะเกียงที่เป็นผ้าถึงไม่ไหม้
    สาร Ceramic ที่เป็นไส้เจ้าพายุนี้มีจุดหลอมเหลวสูงถึง 2,550 องศาเซลเซียส แต่การทำงานปกติของเจ้าพายุ ไส้นี้จะถูกไอน้ำมันก๊าดเผาที่ 1,400 องศา เท่านั้น  มันจึงไม่ไหม้ หรือ เสียหาย
  • การปั๊มลมที่ฐานของตะเกียง ทำเพื่ออะไรหรือ
    มีใว้เพื่อปั้มแรงดันขับน้ำมันก๊าดให้ผ่านไปยังชุด Sprey ด้านบน เพื่อจะได้มีแรงดันผ่าน Sprey พ่นออกไปเป็นฝอยได้

takiang 05

ในปัจจุบัน ตะเกียงเจ้าพายุ มีให้เห็นไม่มากนัก  โดยประวัติของตะเกียงชนิดนี้ เกิดขึ้นราวปลายปี พ.ศ. 2438 และกลายมาเป็นอุปกรณ์ประจำทุกบ้านในช่วง พ.ศ. 2473 - 2493 และแสงตะเกียงเจ้าพายุทั้งหลายก็ค่อยๆ ดับลงทีละดวง  เมื่อมนุษย์หันไปพึ่งพาแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าแทน ทำให้ตะเกียงเจ้าพายุที่ครั้งหนึ่งเป็นของสำคัญประจำบ้าน ถูกโยนเข้ากรุกลายเป็นของไร้ค่าและถูกลืมเลือนอย่างรวดเร็ว

ในอดีตตะเกียงประเภทนี้ นอกจากใช้ในบ้านเรือนแล้ว ยังใช้เป็นโคมไฟแสงสว่างตามถนน โรงมหรสพ โรงงิ้ว ในงานบุญประเพณีของหมู่บ้าน ในวัดวาอาราม ในค่ายทหารต่างๆ หรือใช้เพื่อการขุดทำเหมือง รวมถึงใช้กับประภาคารเพื่อแจ้งเตือนเรือถึงภัยจากหินโสโครก ก็จะมีให้เลือกใช้ตามลักษณะความต้องการ หลายคนอาจไม่เคยเห็นวิธีการจุดตะเกียงเจ้าพายุว่า ทำได้อย่างไร บอกเลยไม่ยาก อันดับแรกต้อง เติมน้ำมันก๊าดประมาณครึ่งหนึ่งของถัง ปิดวาล์วลม และเติมแอลกอฮอล์ให้เต็มถ้วย จุดไฟเผาแอลกอฮอล์ ระหว่างที่รอความร้อนเผาไส้ตะเกียง ก็สูบลม 20 - 30 ครั้ง เพื่อให้ข้างในถังมีแรงดันลม

จากนั้นหมุนเข็มส่งน้ำมันให้ลงมา แรงดันลมจะดันน้ำมันก๊าดขึ้นไปข้างบน  เท่านี้ตะเกียงเจ้าพายุ 350 แรงเทียน หรือกำลังเทียน 350 เล่ม ที่เห็นอยู่นี้ก็จะสว่างทันที และสามารถปรับความสว่างได้ตามที่ต้องการ ส่วนวิธีการดับให้หมุนปุ่มคายแรงดันอากาศออกเล็กน้อย เท่านั้นตะเกียงเจ้าพายุก็ดับสนิท

takiang 07

ส่วนวิธีการเก็บรักษาตะเกียงเจ้าพายุให้มีอายุยืนนาน ก็ไม่ยุ่งยาก มีทั้งเก็บแบบเปียก ก็คือ ทำความสะอาดและใส่น้ำมันก๊าดลงไปในตะเกียง เพื่อป้องกันให้เนื้อโลหะไม่แตก และกันการรั่วของตะเกียงในระยะยาว แต่ต้องเปลี่ยนน้ำมันทุกปี และแบบที่สอง การเก็บแบบแห้ง คือการถอดหม้อน้ำมันไปตากแดด 2-3 ชั่วโมง เพื่อไล่ความชื้นออกจากหม้อ แล้วหาถุงพลาสติกใสใบใหญ่มัดปิดปากถุง ไม่ต้องโดนอากาศ 5 ปี ก็อยู่ได้

 takiang 06

ปัจจุบันนี้ นอกจากตัวตะกียงที่หายากและมีราคาแพงแล้ว ส่วนประกอบที่ต้องใช้ก็หายากไม่แพ้กัน เช่น ไส้ตะเกียง น้ำมันก๊าด (เดี๋ยวนี้ราคาแพงขวดละประมาณ 40 - 50 บาท ในร้านขายวัสดุก่อสร้าง ใช้สำหรับล้างรถ หรือเรือ ที่ติดคราบยางมะตอยได้ดี) เราจะเห็นแต่ตะเกียงเลียนแบบที่ข้างในใช้หลอดไฟแบบ LED ที่ผลิตมาขายราคาถูกๆ มีทั้งแบบเสียบไฟฟ้า และใช้แบตเตอรี่ชาร์ทไฟได้ เหมาะสำหรับการออกค่าย ตั้งแคมป์ หรือติดบ้านไว้ใช้ตอนไฟดับก็ดีเหมือนกัน (แต่มันก็คนละอารมณ์อยู่นะ)

takiang 08

 

 โฮงกะบอง/ขี้ไต้ | โบม | กระต่ายขูดมะพร้าว | ครุไม้ไผ่ | ครกมอง | โม่หิน | ตะเกียงเจ้าพายุ | กระบวย จอง ไหปลาแดก

redline

backled1

ya hag mai

ที่มา : หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระครูอุบลเดชคณาจารย์ (ต่วน นิทฺเทสโก)

 

 

ว่าด้วยยาหมาว้อและพิธีรักษาหมาว้อกัด

พิธีรักษาหมาว้อกัดคน ให้แต่งเครื่องดังนี้

  1. ขันธ์ 5 2. ดอกไม้ขาว
  3. เทียนค่าหัวค่าคิงของผู้ป่วย 4. ธูป 5 อัน
  5. หญ้าคากำมือ 1 6. ฝ้ายมุงคุล
  7. เงิน 6 บาท  

คันแต่งเครื่องครบแล้ว ให้ได้ธูปใต้เทียนไหว้พระ ป่าวเทวดา แล้วทำน้ำมนต์ให้ว่า

  1. นโม 3 จบ
  2. พุทธํ ธมฺมํ สงฺฆํ เถิงทุติยมฺปิ ตติยมฺปิ
  3. พุทธคุณ ธัมมคุณ สังฆคุณ
  4. สกฺกตฺวา พุทฺธรัตนํ ไปจนสุด
  5. สูตรธาตุทั้ง 4 ว่า
            นะ มะ พะ ธะ   นะ พะ ธะ นะ   พะ ธะ นะ มะ   มะ พะ ทะ นะ
  6. โอมยกพุทธํ โอมยกธมฺมํ โอมยกสงฺฆํ เอหิ สิริสาวํ ตุเม พุทธํ ตุเม ธมฺมํ ตุเม สงฺฆํ ตุเม นสวาหย

เฉพาะข้อ 5 กับข้อ 6 ให้ว่าข้อละ 7 เทื่อ แล้วเอาน้ำมนต์ให้คนป่วยกินและสาดน้ำมนต์ แล้วเอาฝ้ายมุงคุลมัดแขนมัดขาและคอเทอญ แล้วจึงแต่งยาต่อไปนี้

ยาแก้พิษ

ให้เอาผากไม้กระโดน 1 ผากม่วง 1 ขี้หมาก้ายแข้ 1 แข่วแข้ 1 ฝนกิน ฝนทาบาดแผลแล

อีกขนานหนึ่ง เอาฮากต้นหมาว้อ 1 ฮากนมสาว 1 แข้วแข้ 1 แข้วเสือ 1 ฝนกินดีแล

ยาปิดบาดแผล

ให้เอาปูนขาว 1 สารหนูแดง 1 ตำผสมกันปิดบาดแผล

อีกขนานหนึ่ง เอาแข้วแข้ 1 แข้วคน 1 ฝนทาดีแล

ยากินทางใน

ให้เอาเครือตาปลาทุบให้แหลกแล้วหุงใส่ข้าวจ้าวกินดีแล

ผิว่า ยังบ่เซา หรือบาดบ่ดี แต่กินข้าวได้อยู่ ให้เอาเครือตาปลาทุบแล้วหุงใส่ข้าวจ้าวกินเรื่อยไปจนเซาแล

อีกขนานหนึ่ง เอาฮากหมากผู้ 1 ฮากหมากแหน่ง 1 ฮากหมากเขือบ้า 1 ฮากหมากก่ำลำเครือ 1 หว้านน้ำ ฝนทาดีแล

ผิว่า ป่วงเป็นบ้า จึงฝนทาแล

ผิว่า บ่เป็นให้เอายาภาคนี้แช่น้ำให้กิน

ผิว่า วิ่งเวียนหรือมึนหัว ให้ฝนใส่น้ำเผิ้งให้กิน ยาพวกนี้ใช้ได้ทั้งกินทั้งทาแล

ยาไล่พิษหมาว้อกัด

ให้เอา ฮากหวดข้า 1 ฮากเยาบ้าน 1 ฮากเครือพายสง 1 ฮากหมากเขือขื่น 1 ฮากต้นหมาว้อ 1 ยาพวกนี้ให้ฝนกินก่อน

ยาถอนพิษ

ให้เอา หมากส้มป่อย 3 หน่วย มาเผาไฟแช่น้ำให้กินดีแล

อีกขนานหนึ่ง ให้เอาฮากยอบ้าน 1 ฮากหมากตอด 1 ฮากง้วนหมู 1 ฝนกินดีแล

ยาต้ม

ให้เอาฮากสโนน้ำ 1 ฮากต้นอีทก 1 ฮากต้นหมาว้อ 1 น้ำอ้อยดำใส่จอกหน่อยหนึ่งต้มกินดีแล

ยากัดหัวมันออก

ให้เอาสารหนูแดง 1 ใบหมากตอด 1 มาตำผสมกันเข้าแล้วเอาไปปิดบาดแผลดีแล

หมายเหตุ คันฮักษาโดยกินยานี้แล้ว ห้ามบ่ให้ผู้ที่ถืกหมาว้อกัดนั้นกิน และลอดต้นหมากเฟื่อง 3 ปีแล

 

ว่าด้วยสรรพยา

ยาริดสีดวงดัง (จมูก)

ให้เอาฮากเดื่อทั้งสอง 1 ฮากหญ้าขัด 1 ฮากหญ้าลับลืน 1 ฮากเครือตดหมา 1 ฮากไค้หางนาก 1 ฮากหญ้าห่อมแก้ว 1 ฮากหนาด 1 ฮากซมซื่น 1 หัวหญ้าแห้วหมู 1 ฮากยานาง 1 เปลือกเกลี้ยง 1 เอาพอสมควรมาต้ม 3 บวยเอาบวย 1 เมื่อเวลาจะต้มนั้นให้แปลงตาแหลว 3 อันใส่ก้อนเส้าแล้ว เอาใบตองกล้วยตีบหุ้มปากหม้อต้มกินดีแล

ยานิ่ว

ให้เอาฮากเดือยหิน 1 ฮากหญ้าคา 1 ฮากสะลิปี 1 พริกไทย 1 ยาหัว 1 อ้อยดำ 1 เข้าสารจ้าว 7 เมล็ด ฮากพลู 1 ต้มกินดีแล

อีกขนานหนึ่ง เอาฮากเล็บแมว 1 ฮากหญ้าขัดหลวง 1 ฮากหญ้าแห้วหมู 1 เอาอย่างละท่อกันต้มกินดีแล

ยาเจ็บหัวใจ

ให้เอาเขาเยือง 1 หมากกอกด่อน 1 แก่นเกล็ดกลิ่น 1 ฝนกินดีแล

ยาเจ็บหัว

ให้เอาช้าผักเสี้ยน 1 มือหมากน้ำ 1 ข้าวจ้าว 1 อ้อยดำ 1 ตำแซ่น้ำทาหรือโพ๊ะหัวดีแล

ยาปวดหัวดิบ

ให้เอา ผักเสี้ยน 1 กระเทียม 1 ฮากผักบุ้ง 1 หัวกล้วยตีบ 1 เอาพอสมควรมาตำแล้วเอาเสื้อสีดำมาห่อ นึ่งตั้งหัว ดีแล

อีกขนานหนึ่ง ให้เอาขมิ้นเครือ ต้มกินดีแล

ยาเยี่ยวเหลือง

ให้เอา ใบติดต่อ (หมากป้งกิ้ง) 1 อ้อยดำ 1 ต้มกินดีแล

ยาฮาน

ให้เอาฮากอ้อยช้าง 1 ฮากกลางของ 1 ฮากตาเสือ 1 เครือเขาฮอ 1 ฮากตีนจำ 1 ต้มกินดีแล

อีกขนานหนึ่ง เอาแก่นบุก 1 แก่นแดง 1 แก่นลุมพุก 1 แก่นหนามแท่ง 1 แก่นแคน 1 แก่นบง 1 แก่นขาม 1 แก่นบกคาย 1 แช่น้ำกินแด่ อาบแด่ ดีแล

ยาเจ็บกกแข้ว

ให้เอาฮากปีปปีขาว 1 ฮากหมากผักใส่ 1 ฮากช้างโม่ง 1 ฮากอีเลิด 1 เปลือกท่อน 1 ฮากค้างฮูง 1 ต้มเคี่ยว อมไว้ดีแล

ยาแก้เบื่อหอย

ให้เอาฮากเม็ก 1 ฮากกลางของ 1 ฮากกำแมด 1 ฮากหมอน้อย 1 ฮากยานาง 1 ฮากบก 1 ต้มกินดีแล

ยากินข้าวบ่แซบ

ให้เอาฮากค้อส้ม ฝนใส่น้ำเหล้ากินดีแล

ยานอนบ่หลับ

ให้เอาตาไม้ไผ่ช้างคำ 7 ตา 1 ตาอ้อยคำ 7 ตา 1 แก่นหมากซัก 1 ตาไม้ไผ่บ้าน 7 ตา 1 ตาไม้ไผ่ช้างไพ 7 ตา 1 มาฝนกินก็ได้ ต้มกินก็ได้ดีแล

ยาผ้ำ

ให้เอา เปลือกสะแบง 1 ขมิ้นขึ้น 1 มาตำใส่น้ำมวกเป็นน้ำต้มฮมหรือโพ๊ะดีแล

ยาบ้าหมู

ให้เอากระดูกควาย 1 หัวงัว 1 หัวหมู 1 เผาไฟให้ไหม้ แล้วจึงตำให้แหลกดองใส่น้ำเหล้ากินดีแล

ยางูตอด

ให้เอาฮากเป้าน้อย ฝนทาดีแล อีกขนานหนึ่ง ให้เอาต้นติ้วแดง มาตำตองเอาแต่น้ำ กินแด่ ทาแด่ ดีแล

ยาไอคอแห้ง คอไค่

ให้เอาใบป่านป่า ตำปั้นเอาน้ำแล้วจึงเอาข้าวสาร 3 หยิบมาแช่น้ำตำผสมเป็นแป้งนึ่งกินดีแล

ยาเหยี่ยวเป็นเลือดเป็นหนอง

ให้เอาแก่นหูกวาง 1 ฮากเป้าหลวง 1 ต้มกินดีแล

ยาดากออก

ให้เอาฮากเฮือนกวาง 1 ฮากก้านเหลือง 1 ยาหัว 1 อ้อยดำ 1 เอาพอสมควร ต้มกินดีแล

ยาขี้เฮื้อน

ให้เอาใบตับเต่า 1 ใบขี้เหล็ก 1 ใบยานาง 1 เอาอย่างละถ่อกัน ตำเป็นฝุ่นใส่น้ำมันหมูเป็นน้ำทาดีแล

ยาเจ็บคัดหน้าคัดหลัง

ให้เอาฮากนมราชสีห์ 1 ฮากหิ่งหาย 1 ฮากจวงหอม 1 ขิงแคงปลากั้ง 1 บาชาดเครือ 1 เครือสะค้าน 1 ฮากนางแซง 1 ฮากยานาง 1 ฮากหมอน้อย 1 ฮากยานางแดง 1 ฝนกินดีแล

ยาแก้โรคอหิวาต์

ให้เอาใบหมากแห้ง มาเผาไฟให้สุกเหลืองพอดี 1 สีเสียด 1 ฝนใส่น้ำปูนใสหน่อยหนึ่ง กินดีแล ผิว่า น้ำปูนใสมันกัดท้องหลาย ให้เอาก่างพลู 7 ก่าง ถิ่มลงใส่ยานั้น กินดีแล

อีกขนานหนึ่ง ให้เอาหมากหนามคอมเผาไฟพอดี 1 ใบขาม 1 ใบหมากแห้ง 1 ฝนกินดีแล

ยาซางเด็กน้อยตาเหลือง

ให้เอาฮากแขม 1 ฮากเลา 1 ฮากเพ้ก 1 ฮากเม็ก 1 ฝนกินดีแล

อีกขนานหนึ่ง ให้เอาแก่นนางหว้านทั้ง 5 แช่น้ำกินทั้งอาบ ผิว่าบ่เซา ให้เอาเครือขี้กาขาว 1 เครือขี้กาแดง 1 ต้มเคี่ยวกินดีแล

ยาแก้ธรรมลาได้ทุกชนิด

ให้เอาฮากผักอี่ตู่บ้านเกิดได้ 7 ปี ฝนให้กินดีแล

ยาทา

ให้เอา ฮากดอกซ้อนน้อย ฝนทาดีแล หรืออีกขนานหนึ่ง เอาก่อมก้อยลอดขอน 1 เดือยไก่ป่า 1 หัวต้างไก่เตี้ย 1 ฝนให้กินดีแล

อีกขนานหนึ่ง ให้เอาฮากก่อมก้อยลอดขอนฝนใส่น้ำเหล้าทาดีแล

ยากันเฮือน

ให้เอาฮากต้นเสือน้อย 1 ฮากต้นอ้อยเลา สิ่งละอันใส่ไว้ 4 แจเฮือน ผีมาใกล้บ่ได้แล

ยาใส่ประตูเรือน

ให้เอาใบผักบุ้งลม 3 ใบ มาใส่ประตูเข้าออกเรือน ผีมาใกล้บ่ได้แล

 

ว่าด้วยยาเบ็ดเตล็ด

ยาทลายบาดาล

ให้เอาผลยอ 33 ผล ผึ่งแดดให้แห้ง แล้วหมัก เข้าตากคั่วจนเหลือง 1 พริกไทยร่อน 1 ยาทั้งสามสิ่งนี้ ทำเป็นผงละลายน้ำร้อน หรือน้ำผึ้ง หรือสุราก็ได้ รับประทานแก้ลมขึ้นเยื้องสูง หูตึงแก้ลมกษัย แก้ปวดท้อง ท้องขึ้นเป็นกำลัง

ยาแก้ลมแน่นหน้าอก

ให้เอาว่านน้ำ ผิวมะกรูด ใบมะตูม ไพล ขมิ้นอ้อย กระทือ ขิง พริกไทย ดีปลี ยาทั้งเก้าสิ่งนี้หนักสิ่งละบาท การบูร 4 บาท รวมยาทั้งหมดตำบดเป็นผง ต้มหรือชงด้วยน้ำร้อนหรือน้ำเปลือกมะเขือ รับประทานแก้ลมแน่นหน้าอก ดีแล

ยาดองแก้เลือดแก้ลม

ให้เอาผลยอ 30 ผล พริกไทย 2 บาท ทั้งสองสิ่งนี้ตำให้ละเอียด เอาเกลือ 1 ถ้วยตะไล น้ำผึ้ง 3 ถ้วยตะไล มาขยำให้เข้ากันกับผงยา ห่อผ้าขาวฝังไว้ในยุ้งข้าวเปลือก 3 คืน แล้วจึงเอามาผสมน้ำรับประทานครั้งละ 9 ช้อนเล็ก เช้าเย็น สำหรับผู้หญิงดีแล

ยากวนแก้เลือดแก้ลม

ให้เอาขิงสด กระชายสด กะทือสด ไพลสด ขมิ้นอ้อยสด หัวแห้วหมูสด รากชะพลูสด ทั้ง 7 อย่างนี้ให้นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำอย่างละ 1 ถ้วยตะไล น้ำมะขามเปียกครึ่งปั้น น้ำผึ้ง 1 ทนาน พริกไทยผง 1 ทนาน รวมยาทั้งหมดเคล้าให้เข้ากันดี ตั้งบนไฟ กวนไปจนเหนียวปั้นก้อนได้ เก็บไว้รับประทานเช้าเย็นเม็ดเล็กๆ แก้ลมต่างๆ ซึ่งมีอาการให้กระตุก แก้เลือดตกขึ้นในเรือนไฟ

ยาพอกแผลแก้บาดพิษ

ให้เอา ชันแมลงโรม ขิง 7 แว่น กระเทียม 7 กลีบ ดีปลี 7 ดอก พริกไทย 7 เม็ด การะบูนพอสมควร ยาทั้งหกสิ่งนี้ตำพอกแผล แก้บาดเสี้ยน บาดหนาม บาดพิษ

ยาพอกแผลบาดยักษ์

ให้เอา ใบมะเค็ง ใบผักคราด ใบเบญจมาศ ยอดทับทิม ยอดขี้เหล็ก ก้างปลาร้าปลากะดี่ ยาทั้งหกนี้ตำกับสุรา คั้นเอาน้ำรับประทาน กากใช้พอกแผลแก้บาดทะยักที่กระตุก

ยาแก้บาดยักษ์

ให้เอายาเขียง 1 หยิบมือ เกลือตัวผู้ 3 เม้ด ยาสองสิ่งนี้บดให้เข้ากันกับเม็ดสะบ้าแดงปิ้งไฟให้สุก ฝนกับน้ำเป็นกระสายยา รับประทานแก้พิษบาดทะยัก

ยาต้มแก้กุมภัณฑยักษ์

ให้เอาปอแสลงพรร์ กำสี กระดูกงูเหลือม 3 ข้อ ผลมะคำดีควาย 3 ผล พริกไทย 7 เมล็ด ยาทั้งหมดนี้ต้มเป็นยาหม้อ รับประทานแก้ลมกุมภัณฑยักษ์

ยาแก้ไอ 1

พริกไทย ดีปลี กระเทียม ขมิ้นอ้อย ใบปีเท่ายาทั้งหลาย ยาทั้งห้าสิ่งนี้ตำเป็นผงปั้นแท่งไว้ละลายน้ำผึ้ง กวาดแก้ไอ

ยาแก้ไอ 2

ผลมะเกลือเท่าอายุ ตำคั้นเอาน้ำ กวนกับน้ำผึ้งให้เข้ากันดี จิบกินแก้ไอ

ยาประสระส้มป่อย

ลูกจันทร์ ดอกจันทร์ กระวาน กานพลู พริกไทย ดีปลี ขิงแห้ง น้ำประสานสองสตุ รากใครเครือ รากมะเขือขื่น เปลือกกระหล่ำต้นปิ้ง ยาทั้ง 11 สิ่งนี้หนักสิ่งละ 3 บาท ฝักส้มป่อยปิ้ง 33 บาท รวมยาทั้งหมดนี้เข้าด้วยกัน ตำเป็นผงบดด้วยน้ำส้มมะขามเปียก แทรกเกลือและน้ำตาล กวาด ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ยาประสระผลมะแว้ง

สารส้ม 1 สลึง ขมิ้นอ้อย 3 สลึง ใบตาลหม่อน 1 บาท ใบกะเพรา 1 บาท ผลมะแว้งต้น 2 บาท ผลมะแว้งเครือ 2 บาท ยาทั้งเจ็ดสิ่งนี้ทำผงบดด้วยน้ำร้อนปั้นเมล็ดไว้ ใช้แก้ไอเสมหะเหนียวและเสมหะแห้งจุกลำคอ ละลายน้ำส้มมะขามเปียก แทรกเกลือ ดีงูเหลือม พิมเสนเกล็ด จิบเป็นยาแก้ไอ และแก้หวัดลงคอ เด็กใช้กวาดก็ได้

ยาสมานคำ

ผลมะกอกเผา ผลมะขามป้อมเผา น้ำประสานทองสตุ ยาสามสิ่งนี้เสมอรากทำผงบดปั้นแท่งไว้ละลายน้ำผึ้งหรือน้ำมะนาว แทรกเกลือกวาดหรือชุบสำลีอม แก้ปากเปื่อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ยาสมานปากเปื่อย

จันทั้ง 2 กะเทระมะขาม กะเทาะโพ เปลือกไข่ฟัก น้ำประสานทองสตุ ยาหกสิ่งนี้ เสมอภาคทำผงบดด้วยน้ำลูกเบญกานีฝนเป็นกระสายปั้นแท่งไว้ใช้กวาด หรือทา อม ป้ายสมานปากเปื่อย

ยาต้มอมแก้ปากเปื่อย

รากหมาย รากมะพร้าว รากตาล รากไม้รวก ผาเข้าเย็นทั้ง 2 กำมะถัน ยาเจ็ดสิ่งนี้เสมอภาคทำเป็นยาหม้อ ต้มเอาน้ำอม เป็นยาสมานปากเปื่อย

ยาดองแก้ปากเปื่อยคอเปื่อย

ผลยอ 33 ผล สับใช้เป็นชิ้นเล็กๆ เถาวัลย์เปียงสับคะเน ให้เท่ากับผลยอ เกลือใส่แต่พอเค็ม ดองตากแดดตากน้ำค้าง รับประทานแก้ปากเปื่อย คอเปื่อยซึ่งกินเผ็ดร้อนมิได้

ยาทาแก้ปากเปื่อย

เลือดปลาไหลกับปูนปากเต้าพอควร การบูร 2 สลึง ยา 3 สิ่งนี้กวนให้เข้ากันดี เป็นยาทาแก้ม ถ้าเปื่อยข้างขวาให้ทาข้างซ้ายกลับตรงกันข้าม

ยาแก้ลักกะปิดลักกะเปิด

เอาถั่วเขียวกับน้ำตาลทรายอย่างละ 1 ถ้วย ต้มรับประทาน ถ้ามิฟังเอาผลมมะคำดีควาย 7 ผล รากฝรั่ง ตะไคร้หางนาค สิ่งละพอควร ต้มรับประทาน เอายาคำกับหญ้าโยงไฟบดให้เข้ากันเป็นผง แตะตรงไรฟันที่มีโลหิตออก เป็นยาห้ามเลือด

ยาแก้รากเลือด

เปลือกมะรุมสด รากเจตมูลเพลิง ขิงสด รากชะพลูสด ยาสี่สิ่งนี้ ตำคั้นเอาแต่น้ำ แล้วเอาเหล็กตะปูจีน 3 ดอก เผาให้แดง จุ่มลงในน้ำยาตัวละที แล้วเอายารับประทานแก้รากเลือด

ยาแก้โรคหืด

เอาเนื้อนกยูง ทำเป็นเนื้อส้ม คลุกกับหน่อไม้ แล้วหมักไว้จนเปรี้ยวดี เอามาแกงรับประทาน

ยาแก้ตาฟาง

ชาตหรคุณจีนหนัก 1 เฟื้อง ฟองน้ำยา 1 สลึง ลิ้นทพเลปิ้งสลึงสองไพ ชาตผง 2 ไพ ดินประสิว 2 ไพ ยาสี่สิ่งนี้ทำผงโรยที่ตับไก่ดิบ 3 ตับ ใส่สุราพอควรนึ่งให้สุก รับประทานมื้อเดียวหมดทั้งยาและตับไก่

น้ำมันยอนหูแก้คัน

เทียนทั้ง 5 กระเทียม 7 กลีบ ทำผงเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว พอยาออกดี ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น ช้อนเอาน้ำมันส่วนใส ยอนหูแก้คัน

ยาสูบแก้สอึก

แววนกยูง หวายตะค้าเผา พิมเสน ใบลำโพงกาสลักให้มากหั่นผสมกันมวนเป็นบุหรี่สูบแก้สอึก

ยานัดหนุมานตกแท่น

ผิวมะกรูดหนัก 1 บาท ฝักส้มป่อย 2 สลึง รังหมาร่าเผา 2 สลึง แมลงมุมตายซาก 3 ตัว ยาทั้งสี่สิ่งนี้ทำผง เป็นยานัตถ์แก้ปวดศรีษะ

 

หมายเหตุ : ตำรับยาทั้งหมดเป็นการรวบรวมไว้เพื่อเป็นหลักฐานแสดงถึงภูมิปัญญาในการรักษาโรคของคนในท้องถิ่น ยังไม่มีการตรวจสอบและรับรองคุณภาพแต่อย่างใด หากจะนำไปใช้จริงควรตรวจสอบจากผู้ที่มีความรู้เฉพาะทางก่อน

การใช้ยาสมุนไพร กำลังเป็นที่สนใจนำมาใช้ควบคู่กับยารักษาโรคของแพทย์แผนปัจจุบัน มีการค้นคว้าวิจัยมากมาย เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุด ปลอดภัยมาใช้รักษาโรค ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา อย่าง สปป.ลาว ก็มีการฟื้นฟูเอาความรู้จากโบราณมาใช้เช่นกัน

ເລາະລຸຍລາວ EP51 ພືດເປັນຢາ ພູມປັນຍາລາວ
รายการ "เลาะลุยลาว" ตอน "พิษเป็นยา ภูมิปัญญาลาว"

line

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)