คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
หลวงพ่อโตคู่บ้าน ถิ่นฐานปราสาทขอม ข้าว หอม กระเทียมดี
มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี"
ศรีสะเกษ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานตอนล่าง ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เคยเป็นชุมชนที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองมานับพันปี นับตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ และมีชนเผ่าต่างๆ อพยพมาตั้งรกรากในบริเวณนี้ ได้แก่ พวกส่วย ลาว เขมร และเยอ
ศรีสะเกษ เดิมเรียกกันว่า เมืองขุขันธ์ เมืองเก่าตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านปราสาทสี่เหลี่ยม ดงลำดวน ตำบลดวนใหญ่ อำเภอวังหินในปัจจุบัน จึงมีอีกชื่อหนึ่งคือ "ศรีนครลำดวน" ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมือง เมื่อ พ.ศ. 2302 สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมี หลวงแก้วสุวรรณ ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยาไกรภักดี เป็นเจ้าเมืองคนแรก ล่วงถึงรัชสมัยรัชการที่ 5 ได้ย้ายเมืองขุขันธ์มาอยู่ที่ บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน แต่ยังคงใช้ชื่อว่า เมืองขุขันธ์ ตราบจนถึง พ.ศ. 2481 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่นั้นมา
จังหวัดศรีสะเกษ แบ่งการปกครองออกเป็น 22 อำเภอ (2564) คือ
อำเภอเมืองศรีสะเกษ | อำเภอยางชุมน้อย | อำเภอกันทรารมย์ | อำเภอกันทรลักษ์ |
อำเภอขุขันธ์ | อำเภอไพรบึง | อำเภอปรางค์กู่ | อำเภอขุนหาญ |
อำเภอราศีไศล | อำเภออุทุมพรพิสัย | อำเภอบึงบูรพ์ | อำเภอห้วยทับทัน |
อำเภอโนนคูณ | อำเภอศรีรัตนะ | อำเภอน้ำเกลี้ยง | อำเภอวังหิน |
อำเภอภูสิงห์ | อำเภอเมืองจันทร์ | อำเภอเบญจลักษณ์ | อำเภอพยุห์ |
อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ | อำเภอศิลาลาด |
ดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ คือ ดอกลำดวน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Melodorum fruticosum Lour.) มีชื่อตามภาษาท้องถิ่นว่า หอมนวล (ภาคเหนือ) ลำดวน (ภาคอีสาน) เป็นไม้ดอกชนิดหนึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดศรีสะเกษ นอกจากนี้ ดอกหอมนวลยังเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษด้วย
ลำดวนเป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง 5 - 20 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปกรวย หนาทึบ ลำต้นเปลาตรง มีเปลือกสีน้ำตาล แตกขรุขระเป็นสะเก็ด ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง 2.5-4 เซนติเมตร ยาว 5-11.5 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโคนใบสอบหรือมน ดอกมีสีนวลกลิ่นหอม ออกเดี่ยวตามซอกใบที่ปลายกิ่ง กลีบดอกหนาและแข็ง กลีบดอก ชั้นนอก 3 กลีบแผ่ออก ชั้นใน 3 กลีบ หุบเข้าหากัน เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ลักษณะผลเป็นผลกลุ่ม ทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.6 เซนติเมตร สีเขียว เมื่อสุกสีดำ รสหวานอมเปรี้ยว
จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ เป็นช่วงที่ดอกลำดวนในสวนกำลังบานส่งกลิ่นหอม ภายในงานประกอบด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านสี่เผ่า คือ เขมร ส่วย ลาว เยอ การออกร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม สินค้าพื้นเมือง การแสดงละครประกอบแสงเสียงตำนานการสร้างเมือง
จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ หรืออำเภอขุนหาญ โดยจะจัดสลับกันแห่งละปี ภายในจะมีกิจกรรมมากมาย เช่น การออกร้านจำหน่ายพืชผักผลไม้ศรีสะเกษนานาชนิด เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด สะตอ ยางพารา เป็นต้น การจัดขบวนแห่รถประดับด้วยผลไม้ การจัดนิทรรศการทางวิชาการ และการจัดกิจกรรมคาราวานชมสวนชิมผลไม้ศรีสะเกษ (ปัจจุบัน มีการนำมาจัดเป็นงานใหญ่ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด หรือที่สนามในวิทยาลัยเกษตรกรรมศรีสะเกษ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์จังหวัดศรีสะเกษ)
จัดขึ้นในวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคมของทุกปี บนเส้นทางขึ้นสู่เขาพระวิหาร ระหว่างหมู่บ้านภูมิซรอล-ผามออีแดง อำเภอกันทรลักษ์ เนื่องจากเป็นเส้นทางขึ้นเขาสู่ชายแดนที่ต้องวิ่งฝ่าสายหมอกในช่วงปลายฤดูฝน จึงนับเป็นเส้นทางที่ท้าทายและเป็นสนามประลองกำลังที่นักกีฬาวิ่งมาราธอนให้ความสนใจมากอีกแห่งหนึ่ง
ตั้งอยู่ที่บ้านสร้างเรือง ตำบลหญ้าปล้อง ห่างจากเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2373 สายศรีสะเกษ-ยางชุมน้อย ประมาณ 7.5 กิโลเมตร เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นโดยผสมศิลปอีสานใต้สี่เผ่าไทย ได้แก่ ลาว ส่วย เขมร เยอ มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์อย่างลงตัว พระธาตุมีความสูง 49 เมตร แบ่งออกเป็น 6 ชั้น ชั้นที่ 1 ใช้สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา ชั้นที่ 2-3 เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสี่เผ่าไทย ชั้นที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ชั้นที่ 5 ใช้สำหรับการทำสมาธิ และชั้นที่ 6 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่ชมทัศนียภาพของพื้นที่โดยรอบ
ตั้งอยู่ในวิทยาลัยเกษตรกรรม จังหวัดศรีสะเกษ ถนนกสิกรรม ตำบลหนองครก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 237 ไร่ ลักษณะเป็นสวนป่าในเขตเมือง มีต้นลำดวนขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นดงใหญ่จำนวนกว่าสี่หมื่นต้น เหมาะแก่การทัศนศึกษาในเชิงพฤกษศาสตร์ ต้นลำดวนซึ่งเป็นพันธุ์ไม้หอมนี้จะผลิดอกหอมอบอวลไปทั่วในราวเดือนมีนาคมของทุกปี และเนื่องจากต้นไม้ชนิดนี้มีความเกี่ยวพันกับชื่อ ศรีนครลำดวน ในอดีด จึงได้นำเอาต้นลำดวนมาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีสวนสัตว์ และสวนสาธารณะตกแต่งสวยงามร่มรื่นเป็นแหล่งพักผ่อนของประชาชนทั่วไป มีบึงน้ำสำหรับพายเรือเล่นและพักผ่อนหย่อนใจ
ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักในเขตประเทศกัมพูชาบริเวณที่ติดกับผามออีแดงของประเทศไทย โดยตัวปราสาทหันหน้ามายังด้านที่ติดกับประเทศไทย ดังนั้นการเข้าชมปราสาทในทางบกจึงต้องใช้เส้นทางที่ผ่านผามออีแดงของประเทศไทยเท่านั้น
ปราสาทเขาพระวิหาร เป็นเทวสถานขนาดใหญ่มีความยาวประมาณ 900 เมตร ประกอบด้วยปราสาท 4 ชั้น แต่ละชั้นตั้งอยู่บนแนวเขาที่เป็นเนินสูงลดหลั่นกันขึ้นไปตามลำดับทั้ง 4 ชั้น ทางเดินระหว่างชั้นของปราสาทได้อาศัยแผ่นศิลาบนผิวพื้นภูเขานั้นเป็นแนวถนน และขั้นบันได โดยตกแต่งให้มีระดับต่อเนื่องกันจนถึงยอดสูงสุดอันเป็นที่ตั้งของปราสาทชั้นที่ 4 ซึ่งเป็นปราสาทองค์ประธานอยู่ชิดกับหน้าผา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 657 เมตร
จากหลักฐานที่ปรากฏในจารึกแสดงว่าเขาพระวิหารแห่งนี้เป็นศิวะสถานสร้างขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 และต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 16–17 ก็ได้มีการสร้างเสริมเพิ่มเติม โดยลำดับจนสำเร็จในรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ให้บันทึกคำประกาศของทางราชการไว้บนแผ่นศิลาจารึกด้วย
ปราสาทเขาพระวิหารแห่งนี้เดิมเคยอยู่ในความปกครองดูแลของไทย และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2483 ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 เป็นต้นมาได้เปลี่ยนไปอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของประเทศกัมพูชาสืบมาจนถึงปัจจุบัน
การเข้าชมปราสาทเขาพระวิหาร นักท่องเที่ยวสามารถสามารถเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารที่อยู่ในเขตแดนไทย โดยคนไทยเสียค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานคนละ 20 บาท ชาวต่างประเทศ 200 บาท และค่าผ่านแดนออกนอกประเทศคนละ 5 บาท เมื่อจะเข้าชมปราสาทเขาพระวิหาร กัมพูชาเก็บค่าธรรมเนียมชาวไทยคนละ 50 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 200 บาท
ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาพระวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ 130 ตารางกิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และกิ่งอำเภอน้ำขุ่น กับอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานีได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 83 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2541 สภาพภูมิประเทศทั่วไปส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาตามแนวทิวเขาพนมดงรักกั้นชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมากที่อาศัยหากินข้ามไปมาในผืนป่าระหว่างสองประเทศได้แก่ หมูป่า กวาง เก้ง กระต่าย กระรอก ชะนี ชะมด เป็นต้น ในอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารยังมีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้
ภาพสลักนูนต่ำ รูปแกะสลักโบราณ ซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้หน้าผามานับพันปี อยู่ทางทิศใต้ของผามออีแดง มีบันไดให้ลงไปชมได้สะดวก เป็นภาพเทพสามองค์ เชื่อว่าเป็นที่ซ้อมมือของช่างในการแกะสลักก่อนเริ่มการแกะสลักจริงที่ปราสาทเขาพระวิหาร
ผามออีแดง ตั้งอยู่ที่ชายแดนไทย กัมพูชา เป็นหน้าผาหินสีแดงที่มีทัศนียภาพกว้างไกลสุดตา และจากจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นปราสาทเขาพระวิหารได้ นับเป็นจุดชมวิวในมุมสูงที่สวยงามแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ผามออีแดงมีลักษณะเป็นลานหินธรรมชาติ ริมหน้าผาสูงติดกับพื้นที่ประเทศกัมพูชาซึ่งอยู่เบื้องล่าง เป็นจุดชมทัศนียภาพเขาพระวิหาร ในระยะใกล้เพียง 1,000 เมตร บริเวณผามออีแดงมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก และทางด้านทิศใต้ซึ่งเป็นหน้าผาที่อยู่ต่ำลงไป มีภาพสลักหินนูนต่ำศิลปะเขมร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 สันนิษฐานว่า เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
ขอบคุณภาพสวยๆ จาก Choochat Banlue
อยู่ห่างจากอำเภอขุนหาญ 24 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัด 85 กิโลเมตร ริมทางหลวงหมายเลข 2236 เส้นทางกันทรอม-บ้านสำโรงเกียรติ เป็นน้ำตกที่สวยงามไหลลดหลั่นมาตามชั้นหิน มีน้ำมากในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ บริเวณร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ป่านานาชนิด เหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ
อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ มีแม่น้ำมูลไหลผ่าน ริมแม่น้ำมูลมีผู้คนอาศัยอยู่มากมาย และในกลุ่มคนที่อยู่ริมมูลนั้นมีชาติพันธุ์ "เยอ" อยู่ตรงนั้น คนเยอขึ้นชื่อเรื่องความสามารถในการหาปลา ทำมาหากินกับป่าบุ่งป่าทาม เมื่อมีน้ำ มีป่า ก็รับประกันได้ว่าคนเยออยู่ได้สบายดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำมูล อำเภอราษีไศล ณ ขณะนี้ ทำให้ต้องกลับมาทบทวนว่า.. แน่หรือว่าแม่น้ำมูลจะมั่นคงต่อไป [ อ่านเพิ่มเติม : ป่าบุ่ง ป่าทาม หรือ แรมซาร์ไซต์ ]
รายการ "อยู่ดีมีแฮง" ตอน คนเยอราษีฯ กินทามน้ำมูล ทางช่อง ThaiPBS
ทำความรู้จักชาว "เซราะสะเบีย" หรือชาวบ้านชบา ในภาษากูย บ้านชบา อำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่อาศัยห้วยทับทันในการหาอยู่หากิน และมีอาชีพปลูกพริก ปลูกผักสวนครัวส่งขายสร้างรายได้ แต่ลำพังจะรอน้ำฝนตามฤดูกาลก็ลำบาก และถ้าจะเอาน้ำขึ้นจากห้วยมาใช้ก็ยังเป็นเรื่องยาก พวกเขาจึงต้องเจาะบ่อบาดาล หรือที่ภาษาถิ่นอีสานเรียกว่า "น้ำส่าง" ไว้ใช้ เพื่อให้มีน้ำใช้ในการเกษตรตลอดทั้งปี ส่วนวิธีการเจาะก็เป็นแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมโดยไม่ใช้เครื่องจักร เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง มีเพียงแท่งเหล็กยาวๆ ปลายด้านหนึ่งติดเสียมที่ทำจากเหล็กชั้นดี ส่วนแรงงานก็อาศัยคนในชุมชนมา "โฮม" หรือ "ลงแขก" กัน
รายการ "อยู่ดีมีแฮง" ตอน เซราะสะเบีย : คนฮิมห้วย ทางช่อง ThaiPBS
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดศรีสะเกษ | แผนที่จังหวัดศรีสะเกษ | เอกสารการท่องเที่ยว ]
แนะนำให้ทุกท่านได้ชม : ภาพเก่าเล่าเรื่อง เมืองศรีสะเกษในอดีต ชุดที่ 1 | ชุดที่ 2 | ชุดที่ 3
นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้
รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)