คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เมืองฟ้าแดดสงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา
ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี "
กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งบอกว่า เคยเป็นที่อยู่อาศัยของเผ่าละว้า ซึ่งมีความเจริญทางด้านอารยธรรมประมาณ 1,600 ปี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งเป็นเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2336 โดยท้าวโสมพะมิตร ได้อพยพหลบภัยมาจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พร้อมไพร่พล และมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำปาว เรียกว่า "บ้านแก่งสำโรง" แล้วได้นำเครื่องบรรณาการเข้าถวายสวามิภักดิ์ต่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ยกฐานะบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง และพระราชทานนามว่า "เมืองกาฬสินธุ์" หรือ "เมืองน้ำดำ" ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล "กาฬ" แปลว่า "ดำ" "สินธุ์" แปลว่า "น้ำ" กาฬสินธุ์จึงแปลว่า "น้ำดำ" ทั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ ท้าวโสมพะมิตรเป็น "พระยาชัยสุนทร" ครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นคนแรก
กาฬสินธุ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 519 กิโลเมตร มีเนื้อที่ ประมาณ 6,946.746 ตร.กม. หรือ ประมาณ 4,341,716 ไร่ หรือ ร้อยละ 4.5 ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะภูมิประเทศตอนบนเป็นภูเขาตามแนวเทือกเขาภูพาน ตอนกลางเป็นเนินเขาสลับป่าโปร่ง แบ่งการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ (2564)
กาฬสินธุ์ : ไดโนเสาร์ห่มแพรวา
ดอกไม้ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ คือ ดอกพะยอม ซึ่งเป็นไม้ยืนต้น ประเภทพืชใบเลี้ยงคู่ชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae พบได้ในประเทศกัมพูชา อินเดีย ลาว มาเลเซีย พม่า ไทย และเวียดนาม มีลักษณะใบที่เรียงสลับกัน ดอกมีสีขาว กลิ่นหอม นิยมนำเนื้อไม้ไปใช้ในการก่อสร้าง ลักษณะคล้ายกับต้นตะเคียน พะยอมมีชื่อพื้นเมืองอื่นๆ อีก คือ กะยอม (เชียงใหม่) ชะยอม (ลาว) กะยอม (อีสาน) ขะยอมดง พะยอมดง (ภาคเหนือ) แคน (ร้อยเอ็ด) เชียง เชี่ยว (กะเหรี่ยง - เชียงใหม่) พะยอม (ภาคกลาง) พะยอมทอง (สุราษฎร์ธานี, ปราจีนบุรี) ยางหยวก (น่าน)
จัดขึ้นปลายเดือนกุมภาพันธ์ จัดขึ้นปลายเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ภายในงานจะประกอบด้วยขบวนแห่ของแต่ละอำเภอ ตกแต่งขบวนเป็นรูปเครื่องดนตรีโปงลางขนาดยักษ์ แต่งกายชุดพื้นเมือง แข่งขันสาวดีดไห และจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองต่างๆ
ก่อนที่ผ้าแพรวาสูงค่าจะมีโอกาสออกสู่สายตาชาวไทยและชาวต่างประเทศ การทอผ้าแพรวาได้เดินทางผ่านกาลเวลาอันยาวนานหลายชั่วอายุคน จนเรียกได้ว่าเกือบสูญหายไปจากท้องถิ่นไทย จวบจนเมื่อปี พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรชาวผู้ไทยบ้านโพนนับสิบที่มารอรับเสด็จล้วนแล้วแต่แต่งกายแบบผู้ไทยเต็มยศ คือ นุ่งผ้าถุงไหมมัดหมี่มีตีนซิ่น สวมเสื้อแขนกระบอกสีดำและครามคอตั้ง ผ่าหน้าตลอด ติดแถบสีแดง ห่มสไบผ้าแพรวาสีแดง ส่วนผู้ชายชาวผู้ไทยก็นำผ้าแพรวาสีแดงมาคาดเป็นผ้าขาวม้า
พระองค์ทรงสนพระทัยมาก จึงทรงไต่ถามจากชาวบ้านได้ความว่า เป็นผ้าที่สืบทอดจากทางบรรพบุรุษ และลูกหลายได้นำมาใช้สืบต่อกันมา และในช่วงนั้นก็ยังไม่มีผ้าเช่นนี้วางขาย อีกทั้งยังมีจำนวนน้อย ชาวบ้านจำนวน 4 - 5 หลังคาเรือน รวมกันทั้งหมดมีเพียงไม่กี่ผืน เมื่อยามมีงานสำคัญที่ต้องนุ่งก็จะอาศัยหยิบยืมกันใช้เรื่อยมา
ทั้งนี้ เนื่องด้วยองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเล็งเห็นว่า ผ้าแพรวานั้นเป็นเสมือนเพชรในตม เป็นภูมิปัญญาไทยที่มีคุณค่า จึงทรงมีพระเมตตาธิคุณให้นำมาสืบทอดแก่ลูกหลาน และพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชน จึงมีพระราชเสาวนีย์ฯ ให้ราชเลขาฯ นำเส้นไหมมามอบให้แก่ชาวบ้านเพื่อทอถวาย
ต่อมา ในเดือนพฤษภาคม 2521 เมื่อชาวบ้านโพนทอผ้าไหมแพรวาเสร็จสิ้น จึงได้นำไปทูลเกล้าถวาย ณ พระราชวังไกลกังวล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรด และทรงนำไปตัดฉลองพระองค์ที่มีความงดงามมาก อีกทั้งยังทรงรับสั่งให้ทางราชการจัดตั้งกลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพนขึ้น ซึ่งถือเป็นการชุบชีวิตใหม่ให้แก่ชาวบ้านโพน เพราะในสมัยก่อน ชาวบ้านโพนยังคงทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยรายได้จากการทำนา ปลูกข้าว ทำไร่และสวน จึงมีรายได้ที่ไม่แน่นอน หากปีไหนสภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง ก็จะได้ผลผลิตน้อยตามไปด้วย สภาพความเป็นอยู่ของบ้านโพนจึงยังยากจน และแร้นแค้นเป็นอันมาก อีกทั้งถนนหนทางยังทุรกันดาร ยากต่อการเข้าถึง
แต่แล้วเมื่อการทอผ้าไหมแพรวาได้รับการสนับสนุนและก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นกิจลักษณะ ในรูปแบบของกลุ่มอาชีพในโครงการศิลปาชีพฯ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และทรงให้การส่งเสริมสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ โดยโปรดเกล้าฯ ให้พัฒนารูปแบบการทอผ้า จากผ้าห่มยาว 1 วา กว้างครึ่งวา ก็ขยายออกเป็นผืนผ้ากว้าง โดยส่วนหนึ่งยังคงเป็นผ้าแพรวา ยกลายดอก ตามลวดลายต่างๆ อันเป็นเอกลักษณ์ อีกส่วนหนึ่งเป็นผ้าพื้น รวมกันเป็นผืนยาวประมาณ 5 เมตร เพื่อให้เพียงพอที่จะตัดชุดของสตรีได้ 1 ชุด และโปรดเกล้าฯ ให้พัฒนาจากเดิมซึ่งมีสีเฉพาะสีแดงเข้มให้มีสีพื้นหลากหลาย ส่วนลายดอกสลับสอดสีไหมให้กลมกลืนสวยงาม เหมาะแก่การนำไปตัดเป็นชุดสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ ซึ่งปัจจุบันผ้าไหมแพรวาเป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทำให้ชาวบ้านโพนมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าแพรวา ซึ่งนอกจากจะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังเอื้อให้ท้องถิ่นสืบทอดการทอผ้าไหมแพรวาตราบชั่วลูกชั่วหลานสืบไป
จัดขึ้นประมาณวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ณ โรงแรมริมปาว เพื่อเป็นการเทอดพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้ทรงโปรดเกล้าฯ สนับสนุนส่งเสริม และรับงานการทอผ้าไหมแพรวาของชาวผู้ไท เข้าไว้ในโครงการศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์ จนทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับชาวผู้ไทอีกด้วย
แพรวากาฬสินธุ์ - อิ๊ด โปงลางสะออน
ผ้าแพรวา เป็นชื่อเฉพาะที่ชาวอีสานทั่วไปเรียกผ้าชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับคลุมไหล่ หรือ ห่ม สไบเฉียงของชาวผู้ไท ซึ่งใช้ในโอกาสที่มีงานเทศกาลบุญประเพณีหรืองานสำคัญอื่นๆ
ผ้าแพรวา มีความหมายตามรูปศัพท์ ซึ่งเป็นคำผสมระหว่างคำมูล 3 คำ คือ
ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ หมายถึง ผ้าไหมที่ทอประดิษฐ์ลวดลายด้วยการขิด และการจก ใช้เส้นไหมตีเกลียวเป็นทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง รวมทั้งมีเส้นไหมเพิ่มพิเศษในการทำให้เกิดลวดลายตาม กรรมวิธีที่ปราณีตของชาวผู้ไทย ที่เป็นมรดกทางหัตถกรรมที่ถ่ายทอดสืบกันต่อมา
เขื่อนดินซึ่งสร้างปิดกั้นลำน้ำปาว และห้วยยาง มีบริเวณเขตติดต่อระหว่างตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ตำบลหนองบัว อำเภอหนองกุงศรี และตำบลเว่อ อำเภอยางตลาด ตามเส้นทางหมายเลข 209 ทางหลวงสายกาฬสินธุ์-มหาสารคาม ตรงหลักกิโลเมตรที่ 10 แยกขวามือเข้าเขื่อนลำปาวตามถนนลาดยาง 26 กิโลเมตร
เป็นเขื่อนดินสูงจากท้องน้ำ 33 เมตร สันเขื่อนยาว 7.8 เมตร กว้าง 8 เมตร ปิดกั้นลำน้ำปาว และห้วยยางที่บ้านหนองสองห้อง ตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำแฝดทางด้านเหนือเขื่อน จึงได้ขุดร่องเชื่อมระหว่างอ่างทั้งสอง เก็บน้ำได้ 1,430 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างขึ้นเพื่อบรรเทาอุทกภัย และเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้แก่ หาดดอกเกด ซึ่งเปรียบเสมือนสวรรค์ชายหาดของคนอีสาน
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2539 เด็กหญิงสองคนพร้อมด้วย ผู้ปกครองไปทานข้าวในวันหยุด ได้พบรอยเท้าประหลาด กลางลานหินลำห้วยเหง้าดู่ เชิงเขาภูแฝก บริเวณเทือกเขาภูพาน บ้านน้ำคำ ตำบลภูแล่นช้าง กิ่งอำเภอนาคู หลังจากนั้นได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่นักธรณีวิทยา พร้อมด้วยส่วนราชการ และเอกชน จ.กาฬสินธุ์ ได้เดินทางไปสำรวจจึงพบว่า เป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ ประเภทเทอร์โรพอด 7 รอย จัดอยู่ในกลุ่มคาร์โนซอร์ชนิดกินเนื้อ อายุประมาณ 140 ล้านปี
ตั้งอยู่ที่เชิงภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ สามารถเดินทางโดยใช้เส้นทางกาฬสินธุ์-สหัสขันธ์ (ทางหลวง 227) ประมาณ 28 กิโลเมตร (ก่อนถึงสหัสขันธ์ 2 กิโลเมตร) มีทางแยกขวาไปวัดสักวันอีก 1 กิโลเมตร วัดนี้เป็นสถานที่ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์จำนวนมาก โดยซากกระดูกบางส่วน ได้นำมาจัดแสดงที่ศาลาวัด มีการจัดนิทรรศการแสดงความเป็นมา ของการเกิดไดโนเสาร์ยุคต่างๆ รวมทั้งรูปภาพการขุดค้นพบซากกระดูกเหล่านี้ นอกจากนั้น ห่างจากศาลาวัดไปประมาณ 100 เมตร มีโครงกระดูกไดโนเสาร์ฝังอยู่ในพื้นดินบริเวณเชิงเขา ได้รับการขุดแต่ง โดยเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณี เป็นซากกระดูกไดโนเสาร์ชนิดซอโรพอต ประมาณ 7 ตัว ซึ่งอยู่ในยุคครีเทเชียส อายุประมาณ 130 ล้านปี
และในพิพิธภัณฑ์ฯ ยังมีซากปลาโบราณพันธุ์ใหม่ของโลก ซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดมีชื่อว่า "เลปิโดเทส" มีความยาวประมาณ 30 - 60 เซนติเมตรอยู่ในยุคมีโซโซอิก หรือ 65 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับไดโนเสาร์ คาดว่า บริเวณที่พบคงเป็นบึงขนาดใหญ่ และเกิดภัยแล้งทำให้ปลาตาย และซากถูกโคลนทับไว้กลายเป็นฟอสซิลจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ภายในบริเวณเดียวกัน ยังมีวัดสักกะวัน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อบันดาลฤทธิผล (หลวงพ่อบ้านด่าน) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยทวารวดี ซึ่งชาวบ้านในท้องถิ่นถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง [ อ่านเพิ่มเติม : ไดโนเสาร์ ]
อยู่ในเขตอำเภอเขาวง บนเส้นทาง เขาวงดงหลวง-มุกดาหาร เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามด้วยโขดหินสลับซับซ้อน ในฤดูฝนจะเป็นช่วงที่สวยงามที่สุด น้ำตกตาดทองจะจัดให้มีงานขึ้นทุกๆ ปี ในช่วงเดือนตุลาคม รถยนต์สามารถเดินทางเข้าถึงน้ำตกได้โดยสะดวก
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาภูพาน แบ่งเป็นชั้นๆ มีความสวยงามมาก สภาพป่าโดยรอบเขียวขจีอุดมสมบูรณ์ และลักษณะเด่นคือ มีน้ำไหลตลอดปีแม้ในฤดูแล้ง
แนะนำจังหวัดกาฬสินธุ์
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดกาฬสินธุ์ | แผนที่จังหวัดกาฬสินธุ์ | เอกสารการท่องเที่ยว ]
ภาพเก่าเล่าเรื่องในอดีต "เมืองน้ำดำ กาฬสินธุ์"
นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้
รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)