คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
พระธาตุขามแก่น เสียงแคนดอกคูน ศูนย์รวมผ้าไหม ร่วมใจผูกเสี่ยว
เที่ยวขอนแก่น นครใหญ่ ไดโนเสาร์สิรินธรเน่ สุดเท่เหรียญทองแรกมวยโอลิมปิก "
จังหวัดขอนแก่น นามเดิม "บ้านโนนทัน" เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นอีกจังหวัดหนึ่งของภูมิภาค นอกจากจะมีทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในบริเวณศูนย์กลางของภาคอีสานแล้ว ยังเป็นจังหวัดศูนย์กลางทางการศึกษา และเทคโนโลยีของภูมิภาค เนื่องจากเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในอำเภอเมืองครบครัน ทั้งที่พักหลายระดับและบริการต่างๆ จำนวนมาก มีทรัพยากรทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และด้านอื่นๆ หลากหลายรูปแบบ และที่สำคัญคือเป็นที่ตั้งของสนามบิน
ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมศักยภาพทางการท่องเที่ยวของจังหวัดได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ขอนแก่นในปัจจุบัน เป็นเมืองที่มีความสำคัญในฐานะเมืองท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย
จังหวัดขอนแก่น มีเนื้อที่ประมาณ 10,885 ตารางกิโลเมตร หรือ 6,803,125 ไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 15 ของประเทศ มีพื้นที่อยู่ในเขตของลุ่มน้ำหลัก 2 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ภูเขาสูงทางทิศตะวันตก ในเขตของเขาภูกระดึงและเทือกเขาเพชรบูรณ์ ส่วนทางทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะสูงต่ำสลับกันเป็นลูกคลื่นลาดเทไปทางทิศตะวันออก และทิศใต้ของจังหวัด พื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 100 - 200 เมตร มีแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำชีและแม่น้ำพอง
จังหวัดขอนแก่นนั้น แม้เพิ่งเริ่มก่อตั้งเป็นเมือง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เพียง 200 กว่าปีที่ผ่านมา แต่แท้จริงแล้วดินแดนบริเวณนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมาก จากหลักฐานการสำรวจ พบเครื่องมือเครื่องใช้อายุเก่าแก่และชุมชนเมืองโบราณ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัด ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าอาณาเขตบริเวณจังหวัดขอนแก่นในปัจจุบันนี้ เป็นแหล่งอารยธรรมและดินแดนแห่งวัฒนธรรม ที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนสมัยพุทธกาลหลายพันปี
สันนิษฐานว่า บริเวณยอดเขาภูเวียงเป็นเมืองที่มีชุมชนอาศัยอยู่มาหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เนื่องจากพบเมืองโบราณหลายแห่ง โดยเฉพาะในเขตอำเภอน้ำพอง พบซากเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย (มีขนาดใหญ่เป็นรองเพียงเมืองนครชัยศรีเท่านั้น)
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี เมืองภูเวียงมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านของนครเวียงจันทน์ ตั้งอยู่บนเส้นทางการคมนาคมระหว่างนครเวียงจันทน์กับกรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรี ในขณะนั้นอิทธิพลของอาณาจักรขอมได้เสื่อมลง ประกอบกับชุมชนเมืองต่างๆ ทางภาคอีสานได้รับผลกระทบจากภัยสงครามและภัยอื่นๆ จนผู้คนส่วนมากต้องอพยพหนีภัยและละทิ้งบ้านเมืองไป เมืองในแถบนี้หลายเมืองจึงกลายสภาพเป็นเมืองร้าง
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็น "เมืองขอนแก่น" ในปี พ.ศ. 2340 หลังจากนั้นเมืองขอนแก่นได้โยกย้ายที่ตั้งไปมาอยู่หลายครั้งภายในบริเวณ พื้นที่ใกล้เคียง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2451 มีการย้ายศาลากลางเมืองขอนแก่นมาตั้งที่บ้านพระลับ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น (ซึ่งก็คือศาลากลางหลังเก่าในปัจจุบัน) และเปลี่ยนตำแหน่งข้าหลวงประจำบริเวณเป็นผู้ว่าราชการเมือง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 มีการเปลี่ยนคำเรียก "เมือง" เป็น "จังหวัด" และในปี พ.ศ. 2507 มีการสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ขึ้นที่ สนามบินเก่า อยู่ห่างจากที่เดิมประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า "ศูนย์ราชการ" และใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ดอกไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น คือ ดอกราชพฤกษ์, ดอกคูน, ดอกลมแล้ง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cassia fistula) เป็นไม้ดอกในตระกูล Fabaceae เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียใต้ ตั้งแต่ทางตอนใต้ของปากีสถาน ไปจนถึงอินเดีย ศรีลังกา พม่า และไทย ชื่อของ 'ราชพฤกษ์' นั้นมีการเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะเรียกราชพฤกษ์ว่า 'คูน' เนื่องจากจำง่ายกว่า (แต่มักจะเขียนผิดเป็น คูณ) ทางภาคเหนือเรียกว่า ดอกลมแล้ง (น่าจะมาจากการที่บานสะพรั่งในช่วงหน้าร้อนเมษายน) ทางภาคใต้เรียกว่า ราชพฤกษ์ ลักเกลือ หรือลักเคย ชาวกะเหรี่ยงและในกาญจนบุรีเรียกว่า กุเพยะ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูง 10–20 เมตร ดอกขึ้นเป็นช่อยาว 20–40 เซนติเมตร แต่ละดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4–7 เซนติเมตร มีกลีบดอกสีเหลืองขนาดเท่ากัน 5 กลีบ ผลยาว 30–62 เซนติเมตร และกว้าง 1.5–2.5 เซนติเมตร มีกลิ่นฉุน และมีเมล็ดที่มีพิษเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ดอกราชพฤกษ์ ยังเป็นดอกไม้และต้นไม้ประจำชาติของประเทศไทย และเป็นดอกไม้ประจำรัฐเกรละ ของประเทศอินเดียอีกด้วย
จังหวัดขอนแก่นแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 26 อำเภอ (2564) ได้แก่
|
|
ขอนแก่นอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 449 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดขอนแก่นได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง รถไฟ และทางเครื่องบิน
การเดินทางภายในขอนแก่น
ในตัวจังหวัดขอนแก่นมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม
ขอนแก่น : ศูนย์กลางการพัฒนาในภาคอีสาน
จังหวัดขอนแก่น มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีชื่อเสียงมากมายและหลากหลายรูป แบบ โดยมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าสนใจ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติน้ำพอง อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน อุทยานแห่งชาติภูเวียง เขื่อนอุบลรัตน์ บึงแก่นนคร บึงทุ่งสร้าง พัทยา 2 บางแสน 2 หาดจอมทอง หมู่บ้านเต่า อุทยานกล้วยไม้ป่าช้างกระ วัดป่ามัญจาคีรี ผานกเค้า และสวนสาธารณะประตูเมือง
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้ที่โดดเด่น ได้แก่ พระธาตุขามแก่น พระมหาธาตุแก่นนคร วัดพระบาทภูพานคำ วัดอุดมคงคาคีรีเขต วัดป่าภูเม็งทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น หอศิลปวัฒนธรรมและอาคารศูนย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น โฮงมูนมังเมืองขอนแก่น ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ประจำท้องถิ่น จังหวัดขอนแก่น พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง พิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์ขอนแก่น กู่ประภาชัย หรือกู่บ้านนาคำน้อย ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์ น้ำส่างสนามบิน ศาลหลักเมืองเก่า เมืองโบราณโนนเมือง ปราสาทเปือยน้อย ศาลาไหมไทย หรืออาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 หอเกียรติยศรัฐบุรุษพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และหมู่บ้านผ้าไหมชนบท
ขอนแก่นเป็นจังหวัดหนึ่งที่เต็มไปด้วยสีสันหลากหลาย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และแหล่งธรรมชาติ อีกทั้งผู้คนในท้องถิ่นก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีดั้งเดิมอันงดงาม ไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดทั้งปีจึงมีการจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลอง และงานประเพณีที่สำคัญ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศหลายงาน โดยมีงานเด่นดังประจำปีที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ
1. เทศกาลดอกคูณเสียงแคน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 -15 เมษายน ของทุกปี บริเวณบึง แก่นนคร ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และชุมนุมสังสรรค์ของชาวขอนแก่น ช่วงเวลาจะจัด ในช่วงระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายนของทุกปี ความสำคัญเป็นงานที่จัดขึ้น เพื่อชุมนุมสังสรรค์ของ ชาวขอนแก่น ในงานนี้จะตกแต่งด้วยดอกไม้หลากสี เพื่อความสวยงามและแนวคิดสร้างสรรค์ จุดเด่นของงานจะเป็นความงามของขบวนรถบุปผาชาติเสียงเพลงและสาวงาม
แต่เดิม จังหวัดขอนแก่น ไม่ค่อยมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และแหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ก็อยู่ห่างจากตัวเมือง ทำให้เมื่อมีการจัดงานประเพณีต่างๆ จึงไม่มีผู้มาเยือนมากมายนัก เทศบาลนครขอนแก่นมีความคิดที่จะผลักดันให้ จังหวัดขอนแก่นให้เป็นสุดยอดงานสงกรานต์อีสาน จึงได้เสนอถนนสายหลักที่เล่นน้ำสงกรานต์ได้สนุกสนาน เช่นเดียวกับถนนข้าวสารที่กรุงเทพฯ จึงใช้ชื่อสถานที่เล่นสงกรานต์ที่ขอนแก่นว่า "ถนนข้าวเหนียว" เพื่อรองรับการเล่นสงกรานต์ของคนขอนแก่น คนภาคอีสาน และคนจากที่อื่นๆ ในปี 2545 โดยกำหนดสถานที่ที่จัดเป็น ถนนข้าวเหนียว ขึ้นที่ บริเวณถนนหลังสำนักงานเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็น อย่างดีจากประชาชนชาวขอนแก่นและใกล้เคียง แต่เนื่องจากถนนดังกล่าวมีความคับแคบ
การจัดงานในปี 2546 จึงย้ายมาอยู่ที่ถนนศรีจันทร์ ซึ่งมีกิจกรรมจัดขึ้นให้สนุกสนานกัน เต็มที่ตั้งแต่วันที่ 13 - 15 เมษายน โดยมีเวทีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ทำให้ถนนศรีจันทร์แห่งนี้ มีสีสันแห่งความสนุกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงได้ปรับรูปแบบการจัดงานเป็น "สุดยอดสงกรานต์ อีสานเทศกาลดอกคูนเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว" โดยแบ่งการจัดกิจกรรมเป็น 2 โซนคือ บริเวณบึงแก่นนคร เป็นโซนของวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ส่วนที่ถนนข้าวเหนียว (ถนน ศรีจันทร์) เป็นโซนกิจกรรมตามสมัยนิยม ทำให้งานสงกรานต์ที่จังหวัดขอนแก่น ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ หลั่งไหลมาเที่ยวสงกรานต์เพิ่มขึ้นทุกปี จนได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมสุดยอดประเพณีสงกรานต์ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ประชาชนให้ความสนใจมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก
2. งานเทศกาลไหมและประเพณีผูกเสี่ยว จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงปลายเดือน พฤศจิกายน ถึงต้นเดือนธันวาคม เป็นเวลา 10 วัน 10 คืน บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัด (ช่วงเวลา จะจัดเป็นประจำทุกๆ ปีในระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคม บริเวณสนามกีฬา กลางจังหวัด) งานเทศกาลไหมและประเพณีผูกเสี่ยวนี้ สืบเนื่องมาจากประชาชนในภาคตะวันออก เฉียงเหนือ มีอาชีพรองที่นอกเหนือจากการทำนา คือการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าต่างๆ ซึ่งทาง ราชการได้ให้การสนับสนุน จนจังหวัดขอนแก่นเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่มีชื่อเสียง ประกอบกับมี ประเพณีการผูกเสี่ยว ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของภาคอีสาน ที่มุ่งให้คนรุ่นเดียวกันรักใคร่ เป็นพี่เป็นน้องช่วยเหลือกันเรียกว่า "คู่เสี่ยว" เพื่อมุ่งส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหม และรักษาขนบ ธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้ในงาน จะมีขบวนแห่คู่เสี่ยวและพานบายศรีของอำเภอต่างๆ มีพิธีผูกเสี่ยวการประกวดผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน งานพาข้าวแลง (การรับประทานอาหารค่ำแบบพื้นเมืองอีสาน) การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการออกร้าน
ความสำคัญประเพณีผูกเสี่ยว เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสาน ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ บรรพบุรุษคำว่า "เสี่ยว" หมายถึงเพื่อนรัก เพื่อนสนิท ที่เกื้อกูลและเอื้ออาทรต่อกันร่วมสุขร่วมทุกข์ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันเหมือนญาติสนิท บางทีเรียกว่า "เพื่อนตาย" ก็มี จังหวัดขอนแก่น จึงขอเชิญชวนชาวอีสานทุกคนได้ร่วมใจผูกเสี่ยว เพื่อสร้างสัมพันธภาพแห่งความรักความผูกพันสืบทอด มรดกวัฒนธรรมอันดีงามของชาวอีสาน ในงานเทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาด ขอนแก่น
3. เทศกาลไหว้พระธาตุขามแก่น จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันเพ็ญเดือนหก (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6) ณ วัดเจติยภูมิ เป็นงานเฉลิมฉลองพระธาตุ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะพระธาตุ คู่บ้านคู่เมือง ในงานมีการแสดงศิลปะพื้นบ้าน และการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดขอนแก่น | แผนที่จังหวัดขอนแก่น | เอกสารการท่องเที่ยว ]
ชมภาพเก่าเล่าอดีต "เมืองขอนแก่น"
นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้
รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)