คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ภูทอกแหล่งพระธรรม ค่าล้ำยางพารา งามตาแก่งอาฮง บึงโขงหลงเพลินใจ
น้ำตกใสเจ็ดสี ประเพณีแข่งเรือ เหนือสุดแดนอีสาน
นมัสการหลวงพ่อใหญ่ ศูนย์รวมใจศาลสองนาง "
จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดใหม่ล่าสุดในประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554 อันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2554 เป็นต้นมา โดยแยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโซ่พิสัย อำเภอบุ่งคล้า อำเภอบึงโขงหลง อำเภอปากคาด อำเภอพรเจริญ และอำเภอศรีวิไล ออกจากการปกครองของจังหวัดหนองคาย ด้วยเหตุผลที่ระบุใน พรบ. จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ ว่า
"... เนื่องจาก จังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดที่มีท้องที่ติดชายแดน และมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแนวยาว ทำให้การติดต่อระหว่างอำเภอที่ห่างไกล และจังหวัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากเกินควร ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบการปกครอง การรักษาความมั่นคง และการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในท้องที่ สมควรแยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโซ่พิสัย อำเภอบุ่งคล้า อำเภอบึงโขงหลง อำเภอปากคาด อำเภอพรเจริญ และอำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย ออกจากการปกครองของจังหวัดหนองคาย รวมตั้งขึ้นเป็นจังหวัดบึงกาฬ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้"
จังหวัดบึงกาฬ เดิมเป็น อำเภอบึงกาญจน์ และเป็นตำบลหนึ่งในเขตการปกครองของ อำเภอชัยบุรี จังหวัดนครพนม ซึ่งมีที่ว่าการอำเภอ ตั้งอยู่ที่บริเวณปากน้ำสงคราม ต่อมาไม่ทราบชัดว่าปีใด ทางราชการได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ บึงกาญจน์ ริมฝั่งตรงข้ามเมืองปากซัน แขวงบลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปี พ.ศ. 2459 ทางราชการ ก่อสร้าง ที่ว่าการอำเภอขึ้นใหม ่และโอนการปกครองอำเภอชัยบุรี มาขึ้นกับจังหวัดหนองคาย ส่วนบริเวณที่ตั้งที่ว่าการอำเภอชัยบุรีเดิมนั้น ทางราชการยุบมาเป็นตำบล อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
ปี พ.ศ.2475 ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยท่านหนึ่งเ ดินทางมาตรวจราชการที่อำเภอชัยบุรี พบว่า หมู่บ้านบึงกาญจน์ มีหนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง กว้างประมาณ 160 เมตร ยาวประมาณ 3,000 เมตร ชาวบ้าน เรียก "บึงกาญจน์" หรือ "กาฬวาปี" เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ทางการจึงเปลี่ยนชื่อ อำเภอชัยบุรี เป็น "อำเภอบึงกาญจน์" ตั้งแต่นั้นมา
ต่อมาปี พ.ศ.2477 ทางการได้เปลี่ยนชื่อ อำเภอบึงกาญจน์ เป็น "อำเภอบึงกาฬ" เพื่อความสะดวกและเข้าใจง่าย ต่อมาได้แยกอำเภอเซกา อำเภอพรเจริญ อำเภอศรีวิไล และ อำเภอบุ่งคล้า ออกจากอำเภอบึงกาฬ ตามลำดับ
แบ่งการปกครองเป็น 8 อำเภอ (2564) ได้แก่
อำเภอเมืองบึงกาฬ | อำเภอพรเจริญ | อำเภอโซ่พิสัย | อำเภอเซกา |
อำเภอปากคาด | อำเภอบึงโขงหลง | อำเภอศรีวิไล | อำเภอบุ่งคล้า |
บึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีเขตพื้นที่ติดต่อกับประเทศลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นแนวพรมแดน
ดอกไม้ประจำจังหวัดคือ ดอกสิรินธรวัลลี หรือ สามสิบสองประดง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Phanera sirindhorniae) เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็งในสกุลชงโค วงศ์ถั่ว กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง เมื่อแก่ เปลือกเถาเรียบ บิดตามยาวเล็กน้อย เนื้อไม้เมื่อตัดตามขวาง สีน้ำตาลเข้มออกแดง มีลวดลายสีน้ำตาลอ่อนเป็นกลุ่มเหมือนกลีบดอกไม้ ดอกออกเป็นช่อสีน้ำตาล ออกดอกตลอดปี แต่ดอกจะบานมากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เป็นไม้ถิ่นเดียวในประเทศไทย พบครั้งแรกโดย ดร.ชวลิต นิยมธรรม เมื่อ 20 กันยายน พ.ศ. 2538 ที่ ภูทอกน้อย จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบัน อยู่ในเขตจังหวัดบึงกาฬ) ชื่อของพืชชนิดนี้ตั้งตามพระนามาภิไธยของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และตีพิมพ์โดย ศาสตราจารย์ ไค ลาร์เซน (Kai Larsen) และอาจารย์สุพีร์ ลาร์เซน (Supee Larsen)
จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดที่มีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ แวดล้อมไปด้วยภูเขาและน้ำตกที่สวยงาม เช่น น้ำตกเจ็ดสี น้ำตกตากชะแนน ที่อยู่ภายในอุทยานแห่งชาติภูวัว พื้นที่ส่วนใหญ่ในจังหวัดเป็นที่ราบลุ่ม
ภูมิอากาศที่จังหวัดบึงกาฬค่อนข้างดี เพราะได้ผลลัพธ์ที่ดีจากอุณหภูมิและความชื้นจากแม่น้ำโขง ทำให้ไม่ร้อนมากในช่วงถดูร้อน ฤดูหนาวก็อากาศดีเหมาะแก่การท่องเที่ยว และพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง สังเกตได้จากที่พักในจังหวัดบึงกาฬจะเต็มอยู่ตลอดเวลาในช่วงเทศกาลสำคัญๆ
"แก่งอาฮง" ตำบลหอคำ อำเภอเมืองบึงกาฬ เป็นแก่งหินกลางลำน้ำโขง บริเวณหน้าวัดอาฮงศิลาวาส บ้านอาฮง ตำบลหอคำ ถือว่าเป็นจุดที่แม่น้ำโขงมีความลึกที่สุด ไม่สามารถวัดความลึกได้ กระแสน้ำบริเวณแก่งอาฮงจะไหลเชี่ยวมากในฤดูน้ำหลาก และมีกระแสน้ำไหลวนเป็นรูปกรวยขนาดใหญ่ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็น "สะดือแม่น้ำโขง" แม่น้ำโขงบริเวณแก่งอาฮงมีความกว้างประมาณ 300 เมตร ในฤดูน้ำลด และมีความกว้าง 400 เมตร ในฤดูน้ำหลากและจะสามารถมองเห็นแก่งได้ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคมของทุกปี และกลุ่มหินที่ปรากฏบริเวณแก่งอาฮง จะมีชื่อเรียกตามลักษณะของหิน เช่น หินลิ้น นาค หินปลาเข้ ถ้ำปลาสวาย
นอกจากจะเป็นแหล่งพักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอบึงกาฬ และเป็นสถานที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ คือ "บั้งไฟพญานาค" ในช่วงประเพณีออกพรรษา จะมีนักท่องเที่ยวมาพักเที่ยวชมปรากฏการณ์ธรรมชาติ ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค บริเวณบ้านอาฮงเป็นจำนวนมาก จะมีมากในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ที่ปฏิทินไทย กับปฏิทินประเทศ สปป.ลาว ตรงกัน และชาวบ้านโดยรอบยังอาศัยทำการประมงด้วย
ภูทอก ในภาษาอีสานแปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว เป็นที่ตั้งของ วัดเจติยาศรีวิหาร (วัดภูทอก) อยู่ในเขตบ้านคำแคน ตำบลนาสะแบง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ ภูทอกมี 2 ลูก คือ ภูทอกใหญ่และภูทอกน้อย แต่ก่อนบริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย พระอาจารย์จวน กุลเชษโรได้เริ่มเข้ามาจัดตั้งเป็นแหล่งบำเพ็ญเพียร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นสถานที่เงียบสงบการขึ้นภูทอกนั้นเริ่มก่อสร้างบันไดไม้สำหรับไต่ขึ้นไปในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปีเต็ม บันไดทั้ง 7 ชั้น แตกต่างกันดังนี้
การเดินทางสู่ภูทอก จากตัวเมืองหนองคาย ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 212 ผ่านอำเภอโพนพิสัย อำเภอปากคาด และอำเภอเมืองบึงกาฬ แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 222 ถึงอำเภอศรีวิไล ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร ระหว่างทางจะมีป้ายบอกทางเป็นระยะๆ แยกเข้าตรงบ้านศรีวิไล สู่บ้านนาคำแคนและเข้าสู่ ภูทอก
"เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว" อำเภอบุ่งคล้า มีเนื้อที่ประมาณ 186.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 116,562 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง และอำเภอบุ่งคล้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือสุดของภาค เกือบติดพรมแดนประเทศลาวมีอาณาเขต 2 ด้าน ขนานไปกับแม่น้ำโขง อยู่ห่างจากชายแดนประมาณ 2 กิโลเมตรมีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 150 - 300 เมตร สภาพดินพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นดินทรายและดินลูกรังทางด้านน้ำตกชะแนน มีพื้นที่บางส่วนเป็นดินเหนียวปนดินร่วนพื้นหลังภูและสันเขาส่วนใหญ่เป็นพื้นทรายและดินทราย สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น บริเวณหัวภูด้านตะวันออก บนยอดภูเป็นลานหินโล่งกว้างที่ถูกน้ำกัดเซาะจนมีลวดลายสวยงาม มีระดับความสูงประมาณ 330 เมตร สามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่เป็นป่าได้โดยรอบ เห็นได้ไกลถึงป่าในฝั่งลาว เช่น ภูควาย ภูงู ภูหมาก่าวของลาวได้
การเดินทางไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จากตัวเมืองหนองคาย ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 212 ถึงอำเภอเมืองบึงกาฬ ระยะทาง 135 กิโลเมตรและจากอำเภอเมืองบึงกาฬผ่าน บ้านชัยพร – บ้านภูสวาท - อำเภอบุ่งคล้า - บ้านดอนจิก - เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ระยะทางประมาณ 55 กิโลเมตร
"น้ำตกเจ็ดสี" อำเภอเซกา น้ำตกเจ็ดสี เดิมเรียกว่า น้ำตกห้วยกะอาม ซึ่งเกิดจากธารน้ำของห้วยกะอาม เป็นน้ำตกจากหน้าผาสูงแล้วเกิดเป็นละอองไอน้ำกระทบกับแสงแดดทำให้เกิดสีต่างๆ ขึ้น จึงเรียกน้ำตกเจ็ดสี มีทั้งหมด 3 ชั้น ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านดอนเสียด หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา การเดินทางไปน้ำตกเจ็ดสี เดินทางจากบ้านชัยพร - ทุ่งทรายจก - ดอนเสียด ระยะทาง 22 กิโลเมตร และแยกซ้ายไปน้ำตกเจ็ดสีอีกประมาณ 6 กิโลเมตร
"น้ำตกถ้ำฝุ่น" น้ำตกถ้ำฝุ่นอยู่ในบริเวณท้องที่บ้านภูสวาท ตำบลหนองเดิ่น ห่างจากที่ว่าการอำเภอบุ่งคล้า 33 กิโลเมตร ลักษณะโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่งที่มีทิวทัศน์สวยงามหลายแห่งอยู่ทางตอนเหนือของภู และบริเวณใกล้เคียงมีถ้ำฝุ่นซึ่งเป็นถ้ำธรรมชาติที่ร่มเย็นอีกแห่งหนึ่ง
"น้ำตกภูถ้ำพระ" อำเภอเซกา อยู่บริเวณบ้านโนนสมบูรณ์ อยู่ห่างจากอำเภอเซกาประมาณ 34 กิโลเมตร บริเวณน้ำตกจะเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ภูถ้ำพระ ซึ่งเงียบสงบและร่มรื่น เมื่อเดินขึ้นมาบนลานหินด้านหลัง จะพบหุบเขารูปแอ่งกระทะขนาดกว้างประมาณ 200 ตารางเมตร มีสายธารน้ำตกไหลมายังก้นอ่างที่เบื้องล่าง บริเวณน้ำตกเป็นผากว้างราว 100 เมตร สามารถลงเล่นได้เฉพาะในฤดูฝน น้ำตกภูถ้ำพระเกิดจากลำธารห้วยบังบาด มีความสูงระหว่างชั้นประมาณ 50 เมตร
"น้ำตกชะแนน" อำเภอเซกา น้ำตกชะแนนจะผ่านขัวหิน (สะพานหิน) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น้ำลอดหายไปใต้สะพานหินที่มีความยาวประมาณ 100 เมตร สะพานหินหรือที่คนอีสานเรียกกันว่า "ขัวหิน" นั้น เมื่อมองจากด้านซ้ายมือจะเห็นยาวเหยียดออกไปจนบรรจบกับแนวป่าละเมาะ ซึ่งพ้นจากนั้นไปก็มีแต่โขดหินเนินหินขนาดมหึมาซ้อนกันเป็นแนวยาว ชั้นล่างจะเป็นบึงใหญ่ ชื่อบึงชะแนนหรือห้วยชะแนน มีเงาไม้ร่มครึ้มตลอดสองฟากฝั่ง เชื่อกันว่าในห้วยชะแนนมีจระเข้อาศัยอยู่เหนือลำห้วยชะแนนขึ้นไปเป็นโตรกขนาดใหญ่ เมื่อถึงฤดูฝนจะเป็นน้ำตกไหลลงจากลาดหินที่แผ่เป็นแผงกว้าง
การเดินทางไปชั้นที่สองของน้ำตกชะแนน จะผ่านแนวลำธารที่พื้นเต็มไปด้วยโขดหินเดินตามลำธารไปทางชายฝั่งด้านซ้ายมือ ทะลุออกที่ลานกว้างริมแอ่งน้ำใหญ่ ตลอดทั้งพื้นเป็นหาดทรายละเอียดราวแป้งดูแปลกไปจากที่อื่นๆ มาก และเหนือแอ่งน้ำขึ้นไปก็เป็นน้ำตกชั้นเตี้ยๆ ตกลงมาสู่แอ่ง เรียกกันว่า น้ำตกบึงจระเข้ และ น้ำตกชะแนน ชั้นที่สองนี้เหมาะที่สุดสำหรับการตั้งแคมป์พักแรมบนหาดทรายใกล้ๆ ริมน้ำ การเดินทางไปน้ำตกชะแนน เดินทางจากบ้านบึงกาฬ - บ้านชัยพร ระยะทาง 25 กิโลเมตร จาก บ้านชัยพร - บ้านทุ่งทรายจก 15 กิโลเมตร (เส้นทางสายบ้านชัยพร - อำเภอเซกา) จากบ้านทุ่งทรายจกแยกซ้ายมือไปน้ำตกชะแนนอีก 7 กิโลเมตรและเดินทางเท้าเข้าไปน้ำตกชะแนนอีกประมาณ 1.6 กิโลเมตร
"บึงโขงหลง" อำเภอบึงโขงหลง เป็นแหล่งน้ำจืดปิดรูปเขาวัวแคบๆ เกิดขึ้นจากคลองและลำธารหลายสายไหลมารวมกัน บึงมีความยาวประมาณ 13 กิโลเมตร มีความลึกเฉลี่ย 50 - 100 เซนติเมตร โดยจุดที่ลึกที่สุดมีความลึก 6 เมตร ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบแม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำไหลออกจากบึงก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ในบึงมีเกาะแก่งอยู่มากมาย เช่น ดอนแก้ว ดอนโพธิ์ ดอนน่อง ดอนสวรรค์ บนเกาะแก่งเหล่านี้เป็นป่าดิบแล้งที่อุดมสมบูรณ์
ริมบึงมีเขื่อนเพื่อป้องกันตลิ่งพัง และมีประตูน้ำอยู่ที่ปลายสุดทางทิศใต้ของบึง พื้นที่โดยรอบส่วนใหญ่เป็นที่ราบ แต่มีเนินสลับขึ้นลงอยู่บ้าง มีชุมชนเมืองตั้งอยู่ด้านปลายสุดทางทิศใต้ของบึง และพื้นที่รอบบึงส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อทำนาข้าว พื้นที่รอบๆ บึงมีพืชขึ้นอยู่หลายชนิด เช่น ยาง ตะแบกแดง ประดู่ป่า ตะเคียนทอง ส่วนบนเกาะแก่งในบึงจะพบหว้า ไทร มะเดื่อและตะแบกนา ป่าดิบแล้งบนดอนสวรรค์ประกอบไปด้วยไม้ยืนต้นอย่าง ตะแบก กระบก แสมขาว พญาสัตบรรณ กันเกรา กระบาก กกสามเหลี่ยม บริเวณริมบึงจะปกคลุมไปด้วยดงของแห้วทรงกระเทียม กกสามเหลี่ยม และผักไผ่น้ำ กลางผิวน้ำของบึงจะพบบัวสายและบัวหลวง ส่วนใต้น้ำจะพบสาหร่ายหางกระรอก สันตะวาใบพายและผักบุ้ง และพืชน้ำที่ขึ้นรอบๆ เกาะแก่งจะเป็นแพงพวยน้ำและบอน
[ ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดบึงกาฬ | แผนที่จังหวัดบึงกาฬ | เอกสารการท่องเที่ยว ]
ไปชมภาพเก่าเล่าเรื่องอดีต "เมืองบึงกาฬ"
นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้
รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)