foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

nok hasadee link

นกหัสดีลิงค์ การจัดการปลงศพของเจ้านายชั้นสูงในอีสาน

nok hasadee link 05

ประเพณีและความเชื่อเกี่ยวกับนกหัสดีลิงค์

นกหัสดีลิงค์ เป็นความเชื่อที่ปรากฏตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10-13 ในแผ่นดินสุวรรณภูมิ โดยสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นจินตนาการของชุมชน โดยอาศัยคัมภีร์จักภวาฤทีปน์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ทางพุทธศานาที่พยายามอธิบายเรื่องราวของโลกและจักรวาล โดยเฉพาะเรื่องป่าหิมพานต์ โดยในป่าดังกล่าวยังได้มีการแบ่งสัตว์ไว้อย่างหลากหลาย เช่น ราชสีห์ เหมราอัศดร มังกรวิหก คชสีห์ สนนร สนรี และนักหัสดีลิงค์ จากบทบาทที่โดดเด่นของวรรณกรรมทางพุทธศาสนา ที่สามารถหล่อหลอมจินตนาการของช่าง ถูกการปรุงแต่งให้เหนือธรรมชาติทั้งรูปลักษณ์และปาฏิหาริย์ เพื่อจะรับความชอบธรรมในบทบาทที่ถูกกําหนดขึ้น เพื่อรับใช้สังคมสืบต่อไป

คําว่า “หัสดีลิงค์” มีความหมายในสารานุกรมอีสาน ไว้ว่า

  • หัสดิน หัสดี น. ช้าง
  • หัสดีลิงค์ ๑ น. นกที่มีรูปร่างเหมือนช้าง เป็นนกขนาดใหญ่มีกล่าวไว้ในธรรมบทภาค ๒ ว่า พระเจ้าปรันรัตนะ เจ้าเมืองนครโกสัมพี ในประเทศอินเดียพระองค์อยู่บนปราสาทชั้นสูงสุดกับพระมเหสี พระมเหสีมีครรภ์จวนประสูติ ขณะบรรทมห่มผ้าสีแดง นกหัสดีลิงค์บินมาพบเข้าสําคัญว่าเป็นก้อนเนื้อ จึงบินมาโอบเอาพระมเหสีไปวางไว้บนคาคบต้นไม้ใหญ่ในป่าหิมพานต์ ตกเวลาจวนจะรุ่งเกิดลมพายุพัดผ่านฝนกระหน่ําลงมา พระนางประสูติพระโอรสบนต้นไทรใหญ่นั้น จึงขนานนามพระโอรสว่า อุเทน เพราะเมื่อประสูติก็สว่างพอดี คําว่าอุเทนหรืออุทัยคือเวลาจวนสว่าง เมื่อพระอุเทนซึ่งเป็นโอรสได้เสวยราชในเมืองโกสัมพีสืบต่อจากพระบิดาแล้ว ได้นําพระมารดามาอยู่ในนครโกสัมพี ครั้นเมื่อพระมารดาสวรรคตได้จัดการพระบรมศพ โดยเอานกหัสดีลิงค์ตัวนั้นมารองพระบรมศพ เผาทั้งนกและนางพร้อมกัน การที่นํานกหัสดีลิงค์มาเผาก็เพราะเกี่ยวข้องกับพระมารดาดังกล่าว
  • หัสดีลิงค์ ๒ น. ธรรมเนียมเจ้าเมืองในภาคอีสาน เมื่อถึงแก่กรรมมักจัดงานศพเป็นการใหญ่โตมโหฬาร ทําเมรุเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ คล้ายกับพระอุเทนทําแก่พระมารดาในกรุงโกสัมพี การทําอย่างนั้นเพื่อให้แปลกกว่าประชาชนคนธรรมดา หรืออย่างไรไม่ทราบ พระตา พระวอ ตามประวัติก็ทําศพแบบนกหัสดีลิงค์ สําหรับจังหวัดอุบลราชธานีปรากฏว่า พระปทุมราชวงศา (คําผง) พระพรหมราชวงศา (พรหม) พระปทุมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลทั้ง ๓ นี้จัดทําาศพแบบนกหัสดีลิงค์ ส่วนทางศาสนา ญาท่านธรรมบาล วัดป่าน้อย พระครูวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง พระศรีธรรมวงศาจารย์วัดสุปัฏน์ และพระครูนวกรรมโกวิท วัดมหาวนาราม ก็จัดทําศพแบบนกหัสดีลิงค์

จากการศึกษาของสมชาติ มณีโชติ ได้ยกศัพท์คําว่า นกหัสดีลิงค์ ออกเป็น 2 คํา คือ

  1. หัสดี (หรือหัสดิน) มีความหมายว่า ผู้ใช้งวงแทนมือ หรือผู้ใช้มือ
  2. ลิงค์ (หรือลึงค์) มีความหมายถึง เครื่องหมายทางเพศชาย

เมื่อรวมความหมายแล้วหมายถึง นกที่มีหมายเป็นช้างเป็นองค์ประกอบสําคัญ ซึ่งในที่นี้คือ นกที่มีหัวเป็นช้าง หรือ นกที่มีงวงที่ปากเป็นงาช้างที่มองเห็นได้ชัดเจน หรือนกผู้มีงวงเป็นช้าง หรือครึ่งนกครึ่งช้าง

จากความหมายดังกล่าว จึงพอสรุปได้ว่า คติในเรื่องนกหัสดีลิงค์นั้น กรอบความคิดเดิมได้อิงอยู่ในธรรมบทของพุทธศาสนา ที่กล่าวถึงป่าหิมพานต์และกล่าวถึงสัตว์นิทาน และเมื่อคตินิยมกล่าวถึงถอดความหมายมีนัยยะของชุมชนเคลื่อนอยู่ นกดังกล่าวจึงมีลักษณะผิดปกติอย่างสัตว์สามัญเป็นรูป เพราะตัวนั้นเป็นนกที่มีปีกมีหาง แต่ส่วนหัวเป็นช้างมีงวงมีงา

nok hasadee link 12

banner 728x90
สนับสนุนให้เว็บเราคงอยู่ให้บริการด้วยการคลิกไปชมสปอนเซอร์ของเราด้วยครับ

ตํานานนกหัสดีลิงค์ : ประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับการเผาศพ

ในเรื่องตํานานนกหัสดีลิงค์คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หากจะพูดถึงตํานานดังกล่าวอย่างเป็นเอกภาพ เพราะดูเหมือนว่าไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนไทย-ลาว สายล้านช้าง ล้านนา เป็นต้น ต่างก็พยายามผูกเรื่องดังกล่าวขึ้นไว้กับชุมชนของตนเองทั้งสิ้น ดังนั้นการสร้างตํานานนกหัสดีลิงค์ของชุมชน โดยปกติแล้วจะต้องตั้งอยู่บนความเชื่อพื้นฐานของชุมชนนั้นๆ ซึ่งบางครั้งเป็นการยากต่อการหาคําตอบของพฤติกรรมดังกล่าวว่า กระทําขึ้นเพื่ออะไร นอกจากจะหาคําตอบอธิบายกว้างๆ ในลักษณะข้อสังเกตว่า ตํานานนกหัสดีลิงค์นั้นได้ผูกพันกับบรรพบุรุษไทย-ลาว ไม่ว่าจะเป็นเชียงรุ้ง แสนหวี เป็นต้น

ปัจจุบันเป็นตํานานที่ปรากฏพอสรุปได้ 3 กระแส คือ

ตํานานนกหัสดีลิงค์กระแสที่ 1 กล่าวว่า......

นกหัสดีลิงค์ นั้นจะมีหัวเป็นช้างตัวเป็นนก จะชอบกินช้างหรือสัตว์ใหญ่เป็นอาหาร เช่น คน เสือ ควาย เป็นต้น ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง เมื่อนกหัสดีลิงค์ได้จับลูกสาวเจ้าเมืองหลายต่อหลายเมืองมากินเป็นอาหารแล้ว มาหยุดพักที่ ปางทุ่งหลวง เมืองสุวรรณภูมิ เพื่อจะรอจับลูกสาวเจ้าเมืองดังกล่าวกินเป็นอาหาร ครั้นเจ้าเมืองทราบข่าวจึงสืบเสาะหาบุคคลที่มีความสามารถ ที่จะฆ่านกหัสดีลิงค์ จนในที่สุดก็มาถึงเมืองตักศิลาและลูกสาวเจ้าเมืองนั้นชื่อ “เจ้านางสีดา” ซึ่งได้รับมอบคันศรจากพระราชบิดา เพื่อจะนําไปฆ่านกหัสดีลิงค์ และในที่สุดเจ้านางสีดาก็สามารถฆ่านกหัสดีลิงค์ได้

ตํานานนกหัสดีลิงค์กระแสที่ 2 กล่าวว่า......

ในกาลครั้งหนึ่งมีเมืองๆ หนึ่งเกิดอาเพศเพราะมีนกหัสดีลิงค์คอยเฝ้าจับคนเป็นอาหาร ทําให้ผู้คนบาดเจ็บและล้มตายเป็นอันมาก แม้แต่เจ้าเมืองยังทรงสวรรคต พระมเหสีทรงโศกเศร้าเสียใจเป็นอันมาก จึงคิดหาหนทางที่จะแก้แค้นโดยการฆ่านกหัสดีลิงค์ จึงได้ป่าวประกาศหาผู้มีความสามารถมาปราบนกหัสดีลิงค์ได้ จะมีรางวัลสมนาคุณให้อย่างงาม ในที่สุดเจ้าหญิงแห่งเมืองตักศิลาได้อาสาปราบนก และสามารถปราบนกดังกล่าวได้ โดยมีศรเป็นอาวุธ ดังนั้นประเพณีเจ้าเมือง จึงได้ทําพิธีเผานกหัสดีลิงค์พร้อมศพเจ้าเมือง โดยมีการจัดวางหีบศพบนหลังนก และสร้างหอแก้วกั้นหีบศพให้สวยงาม และสิ่งดังกล่าวได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ตํานานนกหัสดีลิงค์กระแสที่ 3 กล่าวว่า......

มีนครแห่งหนึ่งชื่อ นครเชียงรุ้งตักศิลา เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต พระมเหสีจึงนําพระบรมศพแห่แหนไปถวายพระเพลิงที่นอกเมือง นกหัสดีลิงค์ หรือ นกสักกะไดลิงค์ ซึ่งบินมาจากป่าหิมพานต์มาเห็น จึงได้โฉบลงมาแย่งพระศพ พระมเหสีจึงหาคนมาปราบนกที่แย่งพระศพ ในที่สุดก็มีหญิงสาวผู้หนึ่งชื่อ “เจ้านางสีดา” มีฝีมือในการยิงธนูเป็นเยี่ยม ได้ใช้ลูกศรยิงนกตกลงมาตาย พระมเหสีจึงให้ประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพร้อมนกใหญ่ จึงกลายเป็นธรรมเนียมตั้งแต่นั้นมา

nok hasadee link 02

นกหัสดีลิงค์ ที่ว่านี้ได้สดับมาว่า สมัยโบราณหลายพันปีมาแล้ว ในนครตักกะศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ามหานคร พระมหากษัตริย์แห่งนครนั้นถึงแก่สวรรคต ตามธรรมเนียมต้องอัญเชิญพระศพออกไปฌาปนกิจที่ทุ่งหลวง ในครั้งนั้นพระมหาเทวีให้จัดการพระศพตามโบราณประเพณี ได้แห่พระศพออกจากพระราชวังไปยังทุ่งหลวงเพื่อถวายพระเพลิง

ขณะนั้นมี นกสักกะไดลิงค์ (ทางอีสานเรียกเช่นนี้) หรือ นกหัสดีลิงค์ ซึ่งกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารบินมาจากป่าหิมพานต์ นกได้เห็นพระศพคิดว่า เป็นอาหารของเขา จึงบินโฉบลงมาเอาพระศพจะไปกิน เมื่อพระมหาเทวีเห็นเช่นนั้น ก็ประกาศให้คนดีต่อสู้นกหัสดีลิงค์ เพื่อเอาพระศพคืนมา คนทั้งหลายก็อาสาต่อสู้นกหัสดีลิงค์ไม่ได้ ถูกนกหัสดีลิงค์จับกินหมด ในครั้งนี้ ธิดาแห่งพญาตักกะศิลาจึงเข้ารับอาสาสู้นกหัสดีลิงค์นั้น นางมีนามว่า สีดา นางได้ใช้ศรอาบยาพิษยิงนกหัสดีลิงค์ นกหัสดีลิงค์ถึงแก่ความตายตกลงมาพร้อมพระศพแห่งกษัตริย์องค์นั้น พระมาหาเทวีจึงโปรดสั่งให้ช่างทำเมรุคือ หอแก้วบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วถวายพระเพลิงไปพร้อมกัน ตำนานมีกล่าวไว้ดังนี้

ประเพณีและความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างนกหัสดีลิงค์

เจ้าเมืองเชื้อสายลาวจําปาสัก จนถึงเจ้าเมืองอุบลฯ นิยมสร้างเมรุรูปนกหัสดีลิงค์ประกอบหอแก้ว เชิญศพขึ้นประดิษฐาน แล้วชักลากไปเผาที่ทุ่ง จึงเป็นธรรมเนียมสําหรับเจ้านายที่สืบเชื้อสายสืบมาแต่โบราณ ที่เรียกว่า อัญญาสี่ ได้แก่ เจ้าเมือง เจ้าอุปราชย์ เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร และบุตรหลาน ที่ได้รับราชการงานเมือง เมื่อท่านผู้ใดผู้หนึ่งถึงแก่อาสัญกรรม เจ้านายและประชาชนของเมืองอุบล จึงได้สร้างเมรุรูปนกหัสดีลิงค์ประกอบหอแก้ว แล้วได้ชักเมรุออกไปเผา ณ ทุ่งศรีเมือง กลางเมืองอุบลฯ

ต่อมา เมื่อมีการส่ง ผู้สําเร็จราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณ มาปกครองเมืองอุบลฯ จึงได้ห้ามมิให้มีประเพณีเผาศพเจ้านายแบบนกหัสดีลิงค์ ที่นำไปเผาที่ทุ่งศรีเมือง ถือว่าเป็นการกระทำที่คล้ายกับการถวายพระเพลิงเจ้านายที่ทุ่งสนามหลวง (ทุ่งพระเมรุ) กรุงเทพฯ เชื้อสายเจ้าเมืองอุบลฯ หากจะทําศพแบบนกหัสดีลิงค์ จะต้องไปทําที่วัดใดวัดหนึ่งที่เห็นสมควร เนื่องด้วยความเชื่อดังกล่าว ปรากฏในตํานานเมืองเชียงรุ้งแสนหวี ในดินแดนล้านนา จึงได้รับอิทธิพลความเชื่อเกี่ยวกับนกหัสดีลิงค์เช่นเดียวกับดินแดนล้านช้างจําปาสัก และเนื่องจากเป็นสายวัฒนธรรมเดียวกันซึ่งได้แก่ เชื้อชาติ ศาสนา หรือแม้กระทั่งกษัตริย์ผู้ครองนครเคยปกครองดินแดนสองแคว้นในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (ระหว่าง พ.ศ. 2093-2115) เคยเสด็จเป็นกษัตริย์แคว้นล้านนาเมืองเชียงใหม่ หลังจากพระราชบิดาคือ พระยาโพธิสาร สวรรคต ก็เสด็จกลับมาเป็นกษัตริย์แคว้นล้านช้าง ที่เมืองหลวงพระบาง ทรงอาราธนาพระพุทธรูปสําคัญจากเมืองเชียงใหม่ คือ พระแก้วมรกต และหลังจากนั้นทรงย้ายราชธานีจาก หลวงพระบาง มาอยู่ เวียงจันทน์

จากความเชื่อดั้งเดิมที่เคยมีมา นกหัสดีลิงค์ ถูกสร้างขึ้นก็ต่อเมื่อบุคคล 2 กลุ่มได้เสียชีวิตไปคือ

  • กลุ่มอาญาสี่/อัญญาสี่ ซึ่งประกอบด้วย

1. เจ้าเมือง
2. อุปฮาด/อุปราช
3. ราชวงศ์
4. ราชบุตร

  • เถระชั้นผู้ใหญ่ของชุมชน

ในการสร้าง นกหัสดีลิงค์ พิธีกรรมต่างๆ จะเริ่มเมื่ออัญญาสี่ หรือเถระชั้นผู้ใหญ่ได้เสียชีวิต หรือมรณภาพไป และดูเหมือนกฎเกณฑ์ดังกล่าวจะมีการยึดถืออย่างเคร่งครัด หลังจากนั้นญาติพี่น้องต้องตั้งศพบําเพ็ญกุศล 7 วัน และต้องเก็บศพไว้อีก 3 เดือน เพื่อรอการทํานกหัสดีลิงค์และการทําหอแก้ว ในการเตรียมการในอดีต ส่วนใหญ่จะเป็นการเกณฑ์วัสดุสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่จักตอก กระดาษสา หวาย จากญาติโยมเป็นหลัก

ในส่วนของช่างที่มีชื่อเสียงนั้น ล้วนแต่เป็นช่างที่มีพื้นเพเป็นคนเมืองอุบลราชธานีทั้งสิ้น ซึ่งได้แก่ ญาท่านดีโลด (พระครูวิโรจน์รัตโนบล) วัดทุ่งศรีเมือง ญาท่านพระมหาเสนา วัดทุ่งศรีเมือง ช่างโพธิ ส่งศรี ช่างสาย สุททราวงศ์ ช่างสีห์ ช่างครูคําหมา แสงงาม ช่างศิลป์ ฟุ้งสุข ซึ่งท่านดังกล่าวก็เสียชีวิตไปหมดแล้วปัจจุบันนี้ยังมีช่างทํานกหัสดีลิงค์อยู่คือ พระอาจารย์สมสิทธิ์ รักขิตสีโล (พระครูสีลสาราภรณ์) เจ้าอาวาสวัดป่าสักดาราม จังหวัดร้อยเอ็ด และท่านเป็นนายช่างใหญ่สร้างนกหัสดีลิงค์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระอริยานุวัตร (อารีย์ เขมจารี) อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม และอดีตเจ้าอาวาสวัดมหาชัย

ก่อนสร้างนกหัสดีลิงค์ 1 วัน จะต้องมีการบวงสรวง เพื่อเป็นศิริมงคลและการเตรียมการบวงสรวง ยังเป็นการเตรียมขั้นต้นของการเตรียมร่างทรงนางสีดา ที่จะมาฆ่านกหัสดีลิงค์อีกด้วย โดยมีเครื่องบวงสรวง ดังนี้

  1. คาย (ค่าครู) เป็นเงิน 11 ฮาง
  2. ขันหมากเบ็งซ้ายขวา 2 คู่
  3. ขัน 5 ขัน 8 อย่างละ 1 ขัน
  4. ขันผ้านุ่งซิ่นและเมรุ 1 ขัน
  5. เหล้า 1 ไห (ขวด)
  6. หัวหมู 1 ชุด
  7. ผ้าขาวยาว 5 ศอก 1 ผืน
  8. ไก่ต้ม 1 ตัว
  9. ข้าวต้ม ขนมหวาน ขันน้ํา หมาก พลู บุหรี่

ลักษณะของนกหัสดีลิงค์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าฝีมือเชิงช่างมีความพิถีพิถันสูงมาก เพราะนกหัสดีลิงค์ที่สร้างขึ้นจะไม่ใช้ตะปูเป็นส่วนประกอบ แต่จะใช้วิธีการเข้าลิ่ม และจะใช้หวายมัดแทน และลักษณะอีกประการหนึ่งคือจะต้องสร้างให้นกเหมือนมีชีวิตจริง คือสามารถลืมตา อ้าปาก ส่งเสียงร้อง และสะบัดงวงได้ด้วย

หลังจากบวงสรวงนกแล้ว ญาติพี่น้องจะต้องแต่งตัวนุ่งขาวห่มขาว เมื่อพร้อมกันแล้วญาติผู้ใหญ่จะนําขัน 5 ประกอบด้วย เทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ มาขอขมาศพ แล้วนําศพสู่เมรุนก ตั้งศพเรียบร้อยแล้วนิมนต์พระเถระทั้ง 4 นั่งบนหลังนก เพื่ออ่านคัมภีร์บนนกนั้นด้วย กระบวนแห่ศพจะต้องนําเชือกหนังอย่างดีผูกมัดกับฐานนก ซึ่งทําเป็นตะเข้ใหญ่ 3 เส้น แล้วจัดคนเข้าตามแถวตามเส้นนั้น 3 แถว กระบวนแรกสุด คือต้นแถวจะมีคนหามฆ้องใหญ่ตีให้สัญญาณนําหน้า แถวถัดมา จะเป็นขบวนพิณพาทย์ราชตะโพน เครื่องประโคมแห่ มีคนถือโคมแห่ มีคนถือธงสามหางและธงช่อ ธงชัย กระบวนหอก กระบวนดาบ กระบวนเครื่องยศของผู้ตาย แล้วจึงเป็นกระบวนชักลากด้วยเชือกสามสายดังกล่าว เมื่อได้สัญญาณแล้วก็ดึงนกให้เคลื่อนที่แห่ไปตามถนนจนถึงวัด กระบวนสุดท้าย คือผู้ที่ใช้ท่อนไม้งัดตะเข้ นกใหญ่หากติดขัด โดยรูปการจัดขบวนแห่ มีแผนผังดังนี้

nok hasadee link 11

เมื่อมีการเคลื่อนนกหัสดีลิงค์เรียบร้อยแล้ว พิธีกรรมอีกส่วนหนึ่งที่จะดูมีความสําคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพิธีกรรมอื่นๆ คือ พิธีการฆ่านกหัสดีลิงค์ และเชื้อสายของเมืองตักสิลาจึงรับสืบทอดมรดกพิธีนี้มาเป็นประจําเอง ผู้ที่ฆ่านกหัสดีลิงค์ประจําเมืองอุบลราชธานีของเราผู้สืบทอดกันมา ดังนี้

  • ยุคแรกคือ ญาแม่นางสุกัณ ปราบภัย ผู้สืบเชื้อสายมาจากเมืองตักกะสิลา เมื่อญาแม่สุกัณถึงแก่กรรมไปแล้วบุตรสาวของท่านคือ
  • คุณยายมณีจันทร์ ผ่องศรี เป็นผู้รับช่วงในการทรงเจ้านางสีดาลงมาฆ่านกหัสดีลิงค์ เมื่อคุณยายมณีจันทร์ ผ่องศรี ถึงแก่กรรมแล้ว บุตรสาวของท่านคือ
  • คุณสมวาสนา รัศมี (ฆ่าในพิธีพระราชทานเพลิงศพพระอริยานุวัตร 2536) รับช่วงเป็นคนทรงเจ้านางสีดาลงมาฆ่านกหัสดีลิงค์ต่อมา ต่อมาเมื่อคุณสมวาสนา รัศมีถึงแก่กรรมไปแล้ว
  • คุณยุพิน ผ่องศรี เป็นผู้รับช่วงในการเข้าทรง เจ้านางสีดา ลงมาฆ่านกหัสดีลิงค์ต่อไป (พระราชทานเพลิงศพพระราชรัตโนบล 17-19 มิถุนายน 2538 ณ วัดทุ่งศรีเมือง)
  • คุณยายประทิน วันทาพงษ์ (บุตรีญาแม่มณีจันทร์, พี่สาวคุณยายสมวาสนา) และคนปัจจุบันผู้สืบเชื้อสายนางสีดาคือ
  • คุณเมทินี หวานอารมย์ (หลานคุณยายประทิน) ผู้ทำพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์มาแล้ว 2 งาน คือ ในงานพระราชทานเพลิงศพพระสิริพัฒนาภรณ์ (สมหมาย โชติปุญโญ บุญเอื้อ) อดีตเจ้าอาวาสวัคทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 26 พ.ค. 2557 และงานพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 ที่พุทธมณฑลอีสาน จังหวัดขอนแก่น

nok hasadee link 06
ขอบคุณภาพประกอบจาก GuideUbon.com

ในการที่จะเชิญเจ้านางสีดามาฆ่านกหัสดีลิงค์นั้นโบราณมีว่า ตัวแทนของอัญญาสี่ จํานวนผู้ชาย 4 คน ผู้หญิง 4 คน ที่เป็นบุตรหลานของอัญญาสี่ (แต่เดิมตัวแทนอาญาสี่ต้องเป็นคนมาจากตระกูลผู้สืบเชื้อสาย อาญาสี่เมืองอุบล คือ สกุล ณ อุบล, สิงหัษฐิต, บุตโรบล, พรหมวงศานนท์ เป็นต้น ในภายหลังได้ปรับเปลี่ยนโดยคัดเลือก ข้าราชการบำนาญ, ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นที่นับหน้าถือตาของบ้านเมือง ทำหน้าที่แทน) จะต้องนําขันห้า คือ ดอกไม้ขาว 5 คู่ เทียนแท้ 5 คู่ ยาวคืบหนึ่ง ใส่พานไปที่ตําหนักทรงของเจ้าแม่สีดา เพื่อบอกกล่าวเชิญเจ้าแม่ไปฆ่านกหัสดีลิงค์

อาญาสี่จะกล่าวคำเชิญเจ้านางสีดาว่า "นกโตนี้กาลีบ้านกาลีเมือง กินคนมาร้อยเอ็ดเจ็ดหัวเมืองแล้ว อาญาสี่เพิ่นกะมาขอเชิญญาแม่สีดาไปปราบนก" ฝั่งเจ้านางสีดาจะถามกลับว่"นกโตนี้อยู่ไส" อาญาสี่ตอบว่า "อยู่ท่งหลวงท่งปาง ขอเชิญญาแม่สีดาไปปราบนกเทอญ"

เมื่อผู้ทรงได้รับขันเชิญ ก็จะเข้าทรงเชิญเจ้าแม่สีดาลงมาพบตัวแทนอัญญาสี่ แล้วว่าจะรับหรือไม่ เมื่อท่านเจ้าแม่ในร่างทรงรับจะไปฆ่านกหัสดีลิงค์แล้ว ก็จะถวายเครื่องบูชา เรียกว่า คายหน้า คือ เครื่องบูชาบวงสรวงก่อนที่จะไปฆ่านกหัสดีลิงค์ จะต้องมีการบวงสรวงเข้าทรงเสียก่อนตามประเพณีโบราณ เครื่องบูชาครูหรือเครื่องบวงสรวงมีทั้งหมด 20 รายการ (บางตําราบอกว่า 17 รายการ) ได้แก่

  1. เทียนขี้ผึ้งอย่างดียาว 1 คืบ จํานวน 1 กิโลกรัม
  2. มะพร้าวอ่อน 4 ทะลายกับอีก 4 ลูก
  3. กล้วย 4 เครือกับอีก 4 ชุด
  4. หัวหมู 2 ชุด
  5. ไก่ต้ม 4 ตัว
  6. อ้อยลํางาม 4 ต้น
  7. หน่อกล้วยกําลังงาม 4 หน่อ
  8. พานบายศรีเจ็ดชั้น 1 สํารับ
  9. ขันหมากเบ็งซ้ายขวา 1 คู่
  10. ขัน 5 เทียนเงิน 1 ขัน
  11. ขัน 8 เทียนทอง 1 ขัน
  12. คายหลัง 15 ตําาลึง
  13. คายหน้า 12 ตําาลึง
  14. สัปทน สําหรับกางให้ร่างนางสีดา
  15. วอเงิน สําหรับใส่เครื่องบวงสรวง
  16. วอทอง สําหรับเชิญร่างทรงนางสีดา
  17. ข้าทาสบริวาร ชาย-หญิง ช้าง ม้า วัว ควาย
  18. เหล้า 1 ไห กับ 2 ขวด
  19. อาหารคาวหวาน อย่างละ 2 สําารับ
  20. เงินคําพันฮ้อย (เงินหนึ่งพันบาท และเครื่องประดับเป็นทองแท้หนัก 10 บาท สําหรับให้ร่างทรงนางสีดา)

ครั้นบวงสรวงและประทับร่างทรงเสร็จ ค่อยแต่งตัวนางสีดาด้วยเครื่องทรงเฉพาะ ได้แก่ ผ้าซิ่นยกดิ้นทองแบบลาว หมวกทรงแหลมคล้ายหมวกเจ้านายยามออกศึก และอาวุธประจํากาย คือ ศร ตลอดระยะเวลาการประทับทรงจะดื่มหรือล้างอาบน้ํามะพร้าว เพราะถือว่าเป็นน้ําบริสุทธิ์เท่านั้น เมื่อขบวนแห่ไปถึงบริเวณที่ตั้งเมรุนกสักกะไดลิงค์หรือนกหัสดีลิงค์แล้ว ขบวนก็จะเดินไปรอบๆ พอนกหัสดีลิงค์เห็นเช่นนั้น ก็จะหันซ้าย หันขวา งวงก็จะไขว่คว้า ตาก็จะเหลือกขึ้นลง หูก็กระพือ ปากก็จะอ้าร้องเสียงดัง พร้อมที่จะต่อสู้ เจ้าแม่สีดาก็ไม่รั้งรอ โดยร่างทรงจะแทงหอกสามครั้งที่ตัวนก แล้วเอาผ้าคลุมศีรษะนก ไปอีกก็จะกลับมายิงนกหัสดีลิงค์อีก จนนกหัสดีลิงค์หมดแรงไม่เคลื่อนไหว ซึ่งแสดงว่านกหัสดีลิงค์ตายแล้ว แผลที่ถูกยิงก็จะมีเลือดไหลออกมา

เมื่อเห็นว่า นกหัสดีลิงค์หมดกําลังแล้ว บริวาร (ขุนตูม ขุนตาม ขุนซ้ํา ขุนพลอย) ของเจ้าแม่สีดาก็จะช่วยเอาหอก หลาว แหลน เอาดาบฟันนกหัสดีลิงค์ เมื่อเสร็จจากการฆ่านกหัสดีลิงค์แล้ว แล้วจึงเผานกและฌาปนกิจไปทั้งหมด ร่างทรงและคณะต้องรีบกลับบ้านโดยทันที เพื่อทําพิธีบวงสรวงให้กับวิญญาณของนกและผู้ตาย

เมื่อพิธีฆ่านกเสร็จสิ้นก็จะเป็นพิธีทางพุทธศาสนา และเมื่อได้ประชุมเพลิงตามปกติจะทําเวลากลางคืนระหว่าง 4-5 ทุ่ม พร้อมกัน จากนั้นผ่านไปสามวัน จึงทําพิธีเก็บอัฐิและเลี้ยงลูกน้องเจ้าแม่สีดา ที่เรียกว่า งาน “กินลาบนก” โดยการบวงสรวงจะประกอบไปด้วย

  1. หัวหมู 1 ชุด
  2. ไก่ต้ม 2 ตัว
  3. มะพร้าวอ่อน 4 ลูก
  4. กล้วย 4 หวี
  5. บายศรีเจ็ดชั้น 1 สํารับ

nok hasadee link 01

แต่เดิมในเมืองอุบลราชธานีนี้ มีตำนานการสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์อยู่เป็นของประจำเมือง พร้อมทั้งพงศาวดารเมือง ต่อมาทางราชการมาขอยืมไปเพื่อตรวจสอบ ทั้งตำนานเมือง ตำนานนกหัสดีลิงค์ โดยอ้างว่าจะไปเรียบเรียงใหม่ ภายหลังผู้มาขอยืมที่เป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองชั้นสูงได้เดินทางไปปักปันดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ในคราวไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายให้แก่ฝรั่งเศส แล้วป่วยไข้มาลาเรียเสียชีวิต ตำนานนี้กล่าวมาก็หายสาบสูญไป ต่อมาจึงมีแต่เพียงคำบอกเล่าของผู้ได้ปฏิบัติมา และผู้สืบทอดเชื้อสายเล่าให้ลูกหลานฟังเท่านั้น ราชประเพณีของเมืองจึงเลือนรางไปดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

วัฒนธรรมประเพณีพื้นเมืองจะยังอยู่สืบเชื้อสายได้ ก็จะต้องมีผู้รักษา หากขาดผู้รักษาแล้ว วัฒนธรรมท้องถิ่นก็หมดไปด้วย นกหัสดีลิงค์ ที่ว่านี้เป็นเรื่องประชาชนในท้องถิ่นถวายให้เกียรติแก่ผู้ตาย ไฟพระราชทานนั้นเป็นพระเมตตาของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานมาให้ผู้ตาย นกหัสดีลิงค์ ก็เท่ากับว่าเป็นพานทองรับไฟเพลิงพระราชทานของพระมหากษัตริย์ นั่นเอง ดอกไม้มีพานใส่ฉันใด นกหัสดีลิงค์ก็ฉันนั้น

ที่กล่าวมานี้ ก็ได้จากการที่ได้เคยพบเห็นมาแต่สมัยยังเป็นเด็ก และจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเล่าให้ฟังสืบทอดกันมาขอเอ่ยนามคือ อัญญาใหญ่นางแพง อัญญาใหญ่นาง อบ อัญญาใหญ่ท้าวจอม อัญญาเจ้าเรือนสมบูรณ์ ในฐานะที่ข้าพเจ้าผู้เล่าต่อเป็นลูก-หลานเหลน จึงขอเล่าสู่ท่านผู้อ่านได้รู้เพื่อประดับสติปัญญาสืบไป หากผิดพลาดประการใดขออภัยท่านผู้รู้ทั้งหลายด้วย

nok hasadee link 03

หมายเหตุผู้เขียน (นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา)

เมื่อพิจารณาจากบทความของพี่ บำเพ็ญ ณ อุบล อดีตอัยการชั้นฎีกา เขต 4 และจากการที่ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้โดยถ่องแท้จะเห็นได้ว่า "การสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์นั้น สมัยโบราณนิยมสร้างให้ท้องนกติดพื้นดิน เพื่อให้เป็นไปตามธรรมชาติของนกที่อาศัยอยู่ในป่า ไม่มีการยกร้าน หรือยกพื้นสูงขึ้นเหมือนปัจจุบัน" เพื่อสะดวกในการเผาศพ เพื่อให้ตัวนกโดดเด่น และเพื่อความสะดวกในการทำงานต่างๆ แต่การยกร้านหรือยกพื้นให้ท้องนกสูงขึ้นจากพื้นดินประมาณ 1.00 - 1.20 เมตร ทำให้มองคล้ายกับว่า “นกหมอบอยู่บนพื้นไม้ หรือนกอยู่ในกรง” ซึ่งไม่เป็นไปตามธรรมชาติ อีกประการหนึ่ง “เมรุหอแก้วบนหลังนก” สมัยโบราณสร้างบนตัวนก แต่ปัจจุบันสร้างคร่อมตัวนกโดยเสาเมรุ 4 เสาตั้งอยู่นอกตัวนก เช่นเดียวกับเมรุทั่วไป ทำให้ไม่ตรงกับความหมายที่ว่า “ศพตั้ง ณ หอแก้วบนหลังนก”

ในฐานะที่พี่ บำเพ็ญ ณ อุบล และนายสุวิชช คูณผล ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานกรรมการจัดสถานที่ สร้างเมรุนกหัสดีลิงค์ ประดับตกแต่งใน งานพระราชทานเพลิงศพ พระราชรัตโนบล เมื่อวันที่ 17 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ณ วัดทุ่งศรีเมือง จึงได้หารือคณะกรรมการให้มีการสร้างเมรุตามแบบโบราณ เพื่อคงความหมายดั้งเดิมไว้ โดยไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือ “นกหัสดีลิงค์ ท้องนกติดกับพื้นดินตามธรรมชาตินกในป่า และเมรุหอแก้ว สร้างบนตัวนก”

คุณบำเพ็ญ ณ อุบล ได้เสริมความรู้เรื่องนี้ว่า "... แล้วอีกอันหนึ่ง ผมไปค้นตําราและได้เห็นภาพถ่ายตอนจะไปบรรยายประวัติเมืองต่างๆ ในภาคอิสานร่วมกับอาจารย์คนหนึ่ง (จะเป็นคนไหนผมจําไม่ได้แล้ว) เขาพูดถึงขี่นกหัสดีลิงค์ เขาว่าเมืองที่ขี่นกหัสดีลิงค์ได้มีอยู่ 3 เมือง คือ เมืองแสนหวีหรือเมืองเชียงรุ้ง เมืองหลวงพระบาง และเมืองอุบลฯ โดยเขาถ่ายภาพขี่นกหัสดีลิงค์มาจากเมืองหลวงพระบาง ตอนงานศพเจ้าเมืองหลวงพระบาง แล้วเมืองอุบลฯ ก็มาขี่นก ตายแล้วจั่งขี่นก... ขี่นกหัสดีลิงค์

ภาพถ่ายขี่นกหัสดีลิงค์ที่บ้านผมมีของญาพ่อใหญ่ พระอุบลการฯ (พระอุบลการประชากิจ) ตัวสุดท้ายกว่าหมู่ สร้างที่หน้าโฮงเพิ่น สร้างแล้วก็แก่(ลาก)ไปไว้ที่วัด ไม่ได้สร้างกับวัด เกณฑ์เอาคนเบิดบ้านเบิดเมืองมาแก่ไป(ลากไป)

เขาเรียกว่า หอแก้ว แต่อุบลฯ จะมีพิสดารอย่างหนึ่งคือ เมื่อสร้างนกหัสดีลิงค์ จะต้องมีการฆ่านก ต้องมีการประทับทรง แล้วมีการประทับทรง แล้วมีธนูประจําเมือง เดี๋ยวนี้ก็ยังมีธนูประจําเมืองอยู่ เขาก็เลี้ยงกันทุกปี บวงสรวงกันทุกปี เมืองสารคามเฮ็ดนกก็ต้องไปเอาแม่... เมืองเสลภูมิก็ไปเอาคนนั้น (แม่สีดา?) มายิง เขาบอกว่าลาวเป็นผู้สืบเชื้อสายฆ่านกมาแต่บรรพกาลต่อๆ กันมา นางต้นวงศ์นั้นเขาบอกว่าจะต้องเป็นนางที่มาจากตักสิลา เมืองลา... หรือจะเป็นเมืองราศีไศลก็บ่จัก ยังมีธรรมเนียมอยู่... เป็นตระกูลฆ่าอย่างเดียวขี่ไม่ได้...

ตระกูลขี่ก็มีแสนหวี หลวงพระบาง และอุบลฯ ตระกูลฆ่านกจะมีเมืองอุบลฯ ตระกูลเดียว พิธีฆ่านก จะมีการปรับปรุงตรงเครื่องบวงสรวง และมีทหารหอก ทหารง้าวแห่ คนฆ่าเขาก็ต้องแต่งเครื่องสีแดงใส่หมวกยอด ถือธนู ได้เวลาจะแห่รอบนกก่อน มีสัปทนสีแดงกั้นให้ เพราะเป็นเจ้าเหมือนกัน แต่เป็นเจ้าผู้หญิง ต้องเป็นผู้หญิง (ยิง, ญีง?) คนฆ่าต้องเป็นผู้หญิง ผู้หญิงทั้งนั้น

เวลาจะฆ่านั้นคนข้างใน (คนที่อยู่ในตัวนก) จะชักสายชัก นกมันก็ดิ้น หู ตา งวง คอ ทางนี้ก็ยิง ยิงฉับเข้าไปคนข้างในก็จะเทเลือดออกมา ยิงสามดอก นกก็จะอ่อนลง งวงก็จะม้วน คอก็จะหมุนไปข้างหลัง พอนกตายแล้ว ก็จะเอาผ้าขาวไปคลุมหัวมัน และก็เผามันไปนําศพนั่นแหละ

มีนกที่ฆ่าไม่ได้คือ นกพระเถระ มีขี่ได้คือเจ้าเมืองกับพระเถระ แต่พระเถระเขาไม่ได้ฆ่าเด๊ ที่เขาเอามาฆ่ายาคูเมืองเสล์ (เสลภูมิ) นั่นเพิ่นอยากให้ลาวมาฆ่าซื่อๆ เมื่อฆ่าแล้ว งานศพก็เรียบร้อยแล้ว

ไปถึงบ้านแม่คนทรงต้องมีการเลี้ยงอีก เขาเรียกว่า “กินลาบนก” จะไปฆ่าที่เมืองไหนก็ตาม หลังจากมื้อกลับมาฮอดบ้านแล้ว ๓ มื้อ ต้องทําพิธีฆ่านกเพื่อกินลาบนก เป็นการเลี้ยงบวงสรวงธรรมดา"

nok hasadee link 08

อนึ่ง ตามบทความ “เรื่องราวนกหัสดีลิงค์” ที่ คุณวรา ไวยหงษ์ เขียนไว้ว่า “ไม่มีคำนี้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2493 และ พ.ศ. 2525" (เนื่องจากเขียนบทความเรื่องนี้ประมาณ พ.ศ. 2538) เมื่อเปิดดูพจนานุกรม ฉบับบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 1,287 มีคำว่า “หัสดีลิงค์” น.นกในวรรณคดีมีจะงอยปากยาวคล้ายงวงช้าง สรุปได้มีการอธิบายความหมายไว้ชัดเจนแล้ว (เครดิต ขอบคุณ คุณ สุวิชช คูณผล)

nok hasadee link 09

อ้างอิง

สุจิตต์ วงษ์เทศ. หลวงพ่อขี้หอม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2544.
สุวิชช คูณผล. ตําานานนกหัสดีลิงค์และวิธีเผาศพ. ม.ป.ท. : ม.ป.ป.
อรรถ นันทจักร์. รวมบทความว่าด้วยนกหัสดีลิงค์. มหาสารคาม : ประสานการพิมพ์, 2536.

นางสีดาฆ่า “นกหัสดีลิงค์” เมืองเกษมสีมา
รื้อฟื้นตำนาน สืบสารมรดกทางวัฒนธรรม ต.เกษม อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี

เอกสารเกี่ยวข้องให้ดาวน์โหลด

lilred

ตำนานนกหัสดีลิงค์ (1) | ตำนานนกหัสดีลิงค์ (2) | ตำนานนกหัสดีลิงค์ (3)

เมรุุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบก ใน งานพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่พระเทพวิทยาคม "หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ"

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)