คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เวียง นฤมล หรือชื่อจริง นฤมล พลพุทธา เป็นลูกหลานคนเมืองเกินร้อย 'สาเกตนคร' เกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2534 ที่บ้านเหล่าตำแย ตำบลศรีแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เล่าเรียนในระดับประถมศึกษาที่ โรงเรียนชุมชนบ้านศรีแก้ว มาต่อระดับมัธยมต้นที่ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นบุตรีของนักดนตรี/หมอลำชื่อ คุณพ่อสุวรรณ พลพุทธา และแม่ที่เป็นแดนเซอร์ในวงเดียวกัน
ในวัยเด็กซึมซับเส้นทางการเป็น 'ศิลปิน' มาจากครอบครัว มีลุงเป็นหมอลำชื่อดังในยุคก่อนคือ ร้อยเอ็ด เพชรสยาม มีป้าชื่อ วรรณภา สารคาม เป็นหมอลำดังมีชื่อในคณะ 'นกยูงทอง' รวมทั้งพ่อกับแม่ที่มีอาชีพเป็นนักดนตรีหมอลำ จึงได้ติดสอยห้อยตามพ่อแม่ไปในการแสดงตามที่ต่างๆ โดยมีคุณพ่อสนับสนุนให้รู้จักการร้องรำกลอนต่างๆ ของศิลปินที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น
จนอายุย่างเข้า 11 ปี (ยังเรียนอยู่ชั้น ป. 5) ถูกชักชวนจากลูกวงของพ่อ ให้มาช่วยเต้นเป็นแดนเซอร์ในคณะ ซึ่งมีรายได้ด้วย ดีกว่ามานั่งดูแม่แสดงเฉยๆ เป็นแดนเซอร์จนกลายมาเป็นนักร้อง/หมอลำในวงดนตรีของพ่อ ต่อมารุ่นพี่ชักชวนไปเป็นแดนเซอร์ และตัวประกอบในหมอลำคณะ "นกเอี้ยงโหม่ง" อยู่ 3 ปี ในระหว่างที่ทำงานนี้ ก็ยังเรียนหนังสือที่โรงเรียนไม่เคยทอดทิ้งจนกระทั่งจบชั้น ป.6
จากนั้นได้ขอทางบ้านไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาที่ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด เพราะในช่วงที่เรียนอยู่ชั้นประถมทางโรงเรียนส่งเสริมให้ขับร้องเพลงและส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัลที่ 1 มาโดยตลอด เลยคิดว่าตัวเองน่าจะชอบทางด้านนี้หรือมีแววทางนี้ (ไม่แน่ใจตัวเอง แม่ก็ถามว่า ทำไมต้องเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป์ เรียนจบมาแล้วจะทำอะไร?) จึงน่าจะไปเรียนรู้ในศาสตร์และศิลป์เพื่อนำไปต่อยอดในอนาคต โดยการเรียนในวิชาเอก 'ขับร้องเพลงไทย' ได้พบครูบาอาจารย์ที่ดีคอยสนับสนุนส่งเสริม ได้ร่วมแสดงและขับร้องในวงดนตรีโปงลาง ของวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด สร้างประสบการณ์ในการเป็นศิลปินและความรับผิดชอบ
ทางด้านการลำได้รับการชี้แนะขัดเกลาจากแม่ครูหมอลำ ฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ. 2536 ที่ท่านมาทำการสอนอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด ทำให้ได้รับประสบการณ์มากมาย ทั้งสังวาสการลำแบบต่างๆ ความแตกต่างของการลำในท้องถิ่นต่างๆ ทั้งการลำทำนองขอนแก่น ลำทำนองสารคาม ลำทำนองอุบลฯ หรือแม้แต่การลำทางฝั่งเพื่อนบ้าน สปป.ลาว เช่น ลำสาลวัน ลำตังหวาย เต้ยเกี้ยว เต้ยหัวโนนตาล เป็นต้น
จนได้เรียนต่อยอดทางด้านศิลปะในระดับปริญญาตรีที่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรุงเทพฯ ด้วยที่แม่อยากให้ลูกสาวเป็นข้าราชการการ รับราชการครู จะได้ไม่ลำบากเหมือนแม่ แต่หัวใจของ เวียง นฤมล นั้นหลงใหลในการเป็นศิลปิน ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักร้อง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะใช้ช่องทางไหนจึงจะประสบผลสำเร็จ
จนกระทั่งวันหนึ่ง มีรุ่นพี่มาชักชวนให้ไปเป็นเพื่อนเดินทางไปพบกับ อาจารย์อำไพ มณีวงษ์ นักแต่งเพลงและกลอนลำดังๆ ให้กับนักร้อง-หมอลำดังหลายคนอย่าง มนต์แคน แก่นคูณ ในระหว่างการหาเพลงที่เหมาะสมให้พี่ๆ อาจารย์อำไพ เกิดสะดุดตาในตัว เวียง นฤมล ว่า มีมาด มีทรง มีท่าทางที่แสดงออกว่าเป็นหมอลำ เวียงเลยตอบอาจารย์ไปว่า เคยลำ และเคยเป็นศิษย์ของแม่หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติ จึงได้ลองร้องหมอลำทำนองขอนแก่นให้อาจารย์ฟัง อาจารย์อำไพจึงขอบันทึกเสียงการลำไว้ บอกว่าจะนำไปให้ ครูสลา คุณวุฒิ ฟัง และให้เบอร์โทรครูสลา มาบอกว่า ให้ส่งข้อความไปบอกครู แนะนำตัวว่า เป็นใคร อยู่ที่ไหน ถ้าใจอยากเป็นศิลปินนักร้องจริงๆ
จนเวลาล่วงเลยผ่านไปเกือบปี จึงได้รับการติดต่อจาก ครูสลา คุณวุฒิ ในการเข้าไปทดสอบเสียงเพื่อเข้าร่วมในโครงการ "น้องใหม่ไต่ดาว โครงการ 2" ผ่านการทดสอบและฝึกการเป็นศิลปิน-นักร้อง ด้วยการไปร่วมแจมเป็นตัวเสริมให้กับนักร้องรุ่นพี่อย่าง มนต์แคน แก่นคูณ ต่าย อรทัย ไผ่ พงศธร เอิ้นขวัญ วรัญญา จนผ่านเลยมา 3 ปี ก็ได้ถึงวันที่ได้เข้าไปห้องบันทึกเสียงเพลง ฮักบ่ได้แต่ลืมอ้ายบ่ลง และ น้องตั้งใจฮักอ้ายตั้งใจทิ้ง ซึ่งเจ้าตัวก็ถ่ายทอดเพลงแต่ละเพลงออกมาได้เป็นอย่างดี รวมทั้งบทบาทในการแสดงที่เธอก็ทำออกมาได้ดีไม่แพ้กัน จนได้รับคำชื่นชมจาก ครูสลา คุณวุฒิ ว่า "ใช่ทุกสำเนียง เวียง นฤมล"
แม้กระแสตอบรับไม่หวือหวาเท่ากับศิลปินแก๊งเดียวกันอย่าง “ตรี ชัยณรงค์, เน๊ค นฤพล” ที่ต้นสังกัดแกรมมี่โกลด์กำลังซุ่มทำอัลบั้มเดี่ยวให้ แต่การได้เปิดตัวในฐานะศิลปินค่ายลูกทุ่งยักษ์ใหญ่ ที่ใครๆ ก็อยากเข้ามาอยู่ใต้ชายคา นับว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นของดาวจากดินแดนที่ราบสูงคนนี้ โดยเวียงได้เล่าความหลังครั้งนั้นว่า
“อาจารย์อำไพท่านอัดเสียงหนูให้ครูสลาฟัง ครูสลาท่านบอกว่าชอบเสียงน้อง ที่ร้องหมอลำแท้ๆ ตอนนี้หายาก ครูสลาเรียกมาเทสต์เสียงที่ ห้องอัดซำบายใจ ตอนแรกๆ อยู่ค่าย "ลมพัดไผ่" ฝึกฝนตัวเองอยู่ประมาณ 3-4 ปี กับการไปขึ้นเวทีร้องคั่นเวลา พี่ต่าย อรทัย พี่ไผ่ พงศธร ช่วงนี้ยังเรียนอยู่กรุงเทพฯ ที่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ระหว่างไปเป็น 'อาจารย์ฝึกสอน' ที่ โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ ประชานิเวศ 3 ก็ได้เข้ามาเป็นนักร้องแกรมมี่ฯ ดีใจมาก ความฝันกลายเป็นความจริง แกรมมี่ฯ เป็นค่ายเพลงที่คนมีใจรักในเสียงเพลง อยากเป็นนักร้องเข้ามาร่วมงานด้วย ภูมิใจที่ได้เป็นนักร้องอาชีพ ช่องทางหารายได้เลี้ยงครอบครัวเปิดกว้างมากขึ้น”
เวียง นฤมล นักร้องสาว ชาวจังหวัดร้อยเอ็ดโดยกำเนิด กล่าวด้วยว่า สองเพลงที่ปล่อยออกมาตนตั้งใจถ่ายทอดสุดความสามารถ โดยเพลง ฮักบ่ได้แต่ลืมอ้ายบ่ลง มีเนื้อหาใกล้เคียงจนแทบจะถอดแบบออกมาจากประสบการณ์ “รัก ลวง พราง” ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงมาแล้ว
“ใกล้เคียงกับประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นนานมาแล้ว เคยมีผู้ชายคนหนึ่งแต่งงานแล้ว มาจีบ หลอกว่ายังโสด ก็เปิดใจคบกันอยู่ประมาณปี ก่อนที่ภรรยาฝ่ายชายโทรมาแฉว่า ผู้ชายคนนี้มีเขาเป็นภรรยา รักกันไม่ได้ โชคดีที่ไหวตัวทัน นับว่าเรายังมีบุญคุ้มครองรักษา แต่ก็รู้สึกเสียใจที่โดนหลอกจนเราเริ่มรู้สึกดี คิดว่าทำไมความรักต้องเป็นแบบนี้หรอ ผู้ชายต้องหลอกตลอดหรอ”
ประสบการณ์ “รัก ลวง พราง” กลายเป็นแผลใจทำให้ในทุกวันนี้ นักร้องสาวไม่กล้ารักใครจริงจัง แม้มีคนเข้ามาทำให้รู้สึกดี แต่ก็ยังไม่กล้าให้หัวใจใครอีกเลย “ไม่กล้าให้หัวใจใครแล้ว กลัวซ้ำรอย อยากบอกผู้ชายที่มีคนรักอยู่แล้ว มีคู่ครองอยู่แล้ว อย่าทำเจ้าชู้หลอกผู้หญิงเลย การกระทำแบบนี้ ทำให้มีคนต้องเจ็บพร้อมกันทีเดียวถึง 2 คน คนที่โดนหลอกก็เจ็บ คนที่เป็นภรรยาอยู่แล้วก็เจ็บ อยากให้มีความรู้สึกสงสารผู้หญิงบ้าง อย่ามองผู้หญิงเป็นแค่เครื่องมืออะไรบางอย่าง ที่ปล่อยผ่านไปโดยไม่แคร์”
ทุกลมหายใจของ “เวียง นฤมล” วันนี้จึงขอทุ่มเทให้กับการเดินตามความฝันก้าวต่อไป ประสบความสำเร็จเป็นนักร้องขวัญใจมหาชนให้ได้เหมือนกับ “ต่าย อรทัย, มนต์แคน แก่นคูน” และ “ฝน ธนสุนธร” นักร้องในดวงใจ จากวันเริ่มต้นแห่งความสำเร็จในปี พ.ศ. 2560 ได้เป็นศิลปินสังกัดแกรมมี่โกลด์ และได้ปริญญาบัตรไปฝากพ่อกับแม่ ซึ่งพ่อก็อยู่ดูความสำเร็จของลูกได้ไม่นานก็จากไปด้วยมะเร็งร้ายในกระเพาะอาหาร เมื่อ 6 พฤษภาคม 2563 ในวัย 53 ปี
จนถึงปลายปี พ.ศ. 2563 เวียง นฤมล ก็ได้จับคู่กับ เบียร์ พร้อมพงษ์ กับงานเพลง “เรวัตตะฮักนะลีลาวดี” ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในชาร์ตเพลงสถานีวิทยุแทบทุกคลื่น และติดอันดับ 1 สถานีวิทยุชื่อดังใน กทม. อีกด้วย ถือว่าเป็นเพลงที่แฟนๆ ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โดยยอดวิวใน Youtube ตอนนี้ก็แรงทะลุ 100 ล้านวิวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่ายอดวิวคงพุ่งทะยานไปอีกอย่างต่อเนื่อง ทำเอาศิลปินทั้ง 2 คน เบียร์ และ เวียง ถึงกับยิ้มไม่หุบ เพราะนี่คือผลงานชิ้นแรกที่ทั้งสองคนโคจรมาพบกัน และเรายังเห็นหลากหลายศิลปินนำมา Cover เพลงนี้โดยจับคู่ร้องกันอย่างน่ารัก อีกทั้งจัดเต็มเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เป็นสีสันของวงการลูกทุ่งในช่วงต้นปี 2564 นี้
เรวัตตะฮักนะลีลาวดี ศิลปิน : เวียง นฤมล x เบียร์ พร้อมพงษ์
และตามมาด้วยเพลง "งิ้วต่องต้อนฮ่ำฮอนผู้บ่าวเก่า" ที่จะเป็นการพิสูจน์ความสามารถในการลำทำนองโบราณ ทำนองงิ้วต่องต้อน ซึ่งในอดีตเพลง "งิ้วต่องต้อนอ้อนผู้บ่าว" นั้นเคยโด่งดังจากสุดยอดราชินีหมอลำ บานเย็น รากแก่น เคยขับร้อง และฟ้อนรำในท่วงท่าลีลาที่สวยงามไว้เมื่อปี พ.ศ. 2542 ผ่านมา 22 ปีก็ไม่เคยมีใครนำมาร้อง Cover อีกเลย จนในปีนี้ อาจารย์ดอย อินทนนท์ ผู้ประพันธ์เพลงงิ้วต่องต้อนฯ ได้ประพันธ์เพลงภาคต่อออกมาอีกครั้ง เพื่อให้ เวียง นฤมล ได้ทดสอบความสามารถในครั้งนี้ ว่าความรู้ที่ได้มาจากครูศิลปินแห่งชาติ สาขาหมอลำทั้ง 2 ท่าน คือ แม่ฉวีวรรณ ดำเนิน และแม่บานเย็น รากแก่น จะสามารถสอบผ่านไปได้หรือไม่?
เวียง นฤมล ถูกเคี่ยวเข็ญจากครูบาอาจารย์ไม่ว่าจะเป็น 'ครูสลา คุณวุฒิ' โปรดิวเซอร์, อ.ดอย อินทนนท์ และ อ.สวัสดิ์ สารคาม ทั้งสองท่านเป็นผู้เขียนและทำดนตรี ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2542 และกลับมาร่วมกันเขียนเนื้อและทำดนตรีใหม่อีกครั้งหนึ่ง เรียกได้ว่า ได้คนเขียนเนื้อร้อง และคนทำดนตรีคนเดิม เพื่อรำลึก 'ทำนองงิ้วต่องต้อน' ให้กลับมาสร้างความสุขอีกครั้ง และยังได้ไปร่ำเรียนการฟ้อนจากศิลปินแห่งชาติ 'บานเย็น รากแก่น' ราชินีหมอลำ ผู้ขับร้องตำนานงิ้วต่องต้อนที่โด่งดังเมื่อ 22 ปีที่แล้ว
งิ้วต่องต้อนฮำฮอนผู้บ่าวเก่า ศิลปิน : เวียง นฤมล
เวียง นฤมล เผยว่า "การเข้าสอบวิชาหมอลำในทำนองงิ้วต่องต้อน นับว่ายากและหินที่สุดในชีวิต ทำนองเพลง 'งิ้วต่องต้อน' เป็นทำนองที่ยากสุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ค่ะ วันนี้ได้มีโอกาสร่วมสืบสานทำนองหมอลำเพลง 'งิ้วต่องต้อนฮ่ำฮอนผู้บ่าวเก่า' เป็นเนื้อร้องใหม่ ดนตรีใหม่ เป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของเวียง ขอบคุณจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ค่ายแกรมมี่โกลด์ ผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน ครูอาจารย์ พี่ๆ ทีมงานเบื้องหลัง ทุกคนเหนื่อย ตั้งใจกับผลงานเพลงนี้อย่างที่สุด ตั้งแต่ได้รับโจทย์มาจนถึงวันถ่าย MV เสร็จ เหนื่อยมากและหินมากจริงๆ ในทุกขั้นตอนค่ะ"
ในสถานการณ์โควิดระบาด งานการแสดงก็ลดน้อยลง เวียง นฤมล ก็ได้เปิดร้าน "ร้านตำแซบ คนส่า" กับญาติๆ เพื่อหารายได้จุนเจืออีกทาง ร้านนี้ตั้งอยู่เยื้องๆ กับ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด ใครผ่านไปมาทางนั้นก็ไปอุดหนุนกันได้ ถ้ามีเวลาว่างจากงานการแสดง เวียง นฤมล ก็จะไปอยู่ที่ร้านช่วยทำอาหารและเสิร์ฟความอร่อยให้กับแฟนๆ เสมอ อย่าลืมไปอุดหนุนกัน
ร้านตำแซ่บคนส่า ตำยำรสเด็ด ของ เวียง นฤมล
และถ้าต้องการติดตามความเคลื่อนไหว อยากให้ เวียง นฤมล ได้รับใช้แฟนๆ ก็เชิญทาง Facebook : ViengNarumon ได้เลย
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)