คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ศิลปินพื้นบ้าน "กันตรึม" ที่มีชื่อเสียงมากโดยเฉพาะในแถบอีสานใต้ จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ผู้มีผลงานด้านการประพันธ์ การแสดงศิลปะดนตรีพื้นบ้าน เป็นครูผู้สอนวิชานาฏศิลป์พื้นบ้าน วิทยากรบรรยายและสาธิตเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมอยู่เนืองๆ ให้กับโรงเรียน และสถาบันการศึกษาต่างๆ
มีชื่อจริง นางสำรวม ดีสม เกิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2513 ณ บ้านเลขที่ 186 หมู่ 6 บ้าปราสาทเบง ตำบลกาบเชิง อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เป็นบุตรีของนายรี ซ่อนกลิ่น และนางเรียม ซ่อนกลิ่น ด้วยความชอบการแสดงตั้งแต่ในวัยเด็ก เนื่องจากในเขตหมู่บ้านนั้น นิยมการละเล่นกันตรึม จึงทำให้น้ำผึ้งมีความสนใจและมีใจรักในด้านกันตรึม และได้ฝึกร้องกันตรึมตั้งแต่เป็นเด็ก โดยอาศัยการถามและจำจากผู้ใหญ่ แล้วนำมาฝึกหัดขับร้องเองโดยมีพ่อเป็นครูผู้ฝึกสอนให้อย่างใกล้ชิด เมื่ออายุ 9 ขวบได้เริ่มฝึกร้องกันตรึมพอคล่องและเก่งแล้ว พ่อจึงเริ่มพาไปเล่นด้วยตามสถานที่ต่างๆ เช่น ร้องเพลงเชียร์ในงานกีฬาในระดับอำเภอ และจังหวัด และเริ่มได้รับเชิญให้ไปช่วยงานต่างๆ
น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ นามอันเป็นที่รู้จักกันดีในแถบอีสานใต้ ด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะ หวานเสนาะหู ลีลาการวาดฟ้อนร่ายรำที่เป็นเอกลักษณ์ และปฏิภาณในการด้นเพลงร้องสดในงานต่างๆ เป็นเอกลักษณ์ของกันตรึมแห่งอีสานใต้ เรียนรู้ ฝึกฝนจนมีผลงานอัลบั้มเป็นของตนเอง เข้าประกวดในเวทีต่างๆ ได้รับชนะเลิศมาโดยตลอด ด้วยน้ำเสียงที่หวานจับจิตดั่งน้ำผึ้งเดือนห้า จึงเป็นที่มาของนาม "น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์"
หลังจากที่สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนบ้านปราสาทเบงแล้ว น้ำผึ้งได้หยุดพักการเรียน และเริ่มฝึกร้องกันตรึมอย่างจริงจังจากผู้รู้ท่านอื่นๆ อาทิ พ่อ ปู่ ย่า ตา ยาย และบุคคลอื่นที่มีความรู้ในด้านนี้ โดยน้ำผึ้งได้รู้อีกว่า "กันตรึมไม่ใช่การถ่ายทอดกันเฉพาะแบบปากต่อปาก หรือการท่องจำ แต่เราสามารถแต่งเองได้ จากการมองเห็นสิ่งต่างๆ เช่น ธรรมชาติ ต้นไม้" ซึ่งน้ำผึ้งได้อาศัยหลักการนี้ในการเริ่มหัดแต่งเพลงกันตรึม นำสิ่งที่เห็นมาเรียบเรียงเป็นบทกลอนให้สัมผัสกัน ในช่วงนี้น้ำผึ้งได้มีโอกาสได้แสดงกันตรึมทั้งร้องและรำเองกับ "วงสมรชัย" ซึ่งเป็นวงที่หมู่บ้านเดิมของตัวเอง โดยเป็นตัวเอกของวงร้องกันตรึมคนเดียว ไม่มีใครช่วย
น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ ได้กลับเข้าศึกษาเล่าเรียนอีกครั้งในปี 2531 และได้สำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุด ระดับปริญญาตรี วิชาเอกเอกนาฏศิลป์ เมื่อปี พ.ศ. 2538 จากสถาบันราชภัฏสุรินทร์ (มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ในปัจจุบัน)
ปัจจุบันสมรสกับ นายโฆษิต ดีสม ซึ่งเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนบ้านดงมัน ตำบลคอโค อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กหญิงพิมพ์วลี ดีสม และเด็กชายมฆวี ดีสม
ชีวิตการทำงานในวงกันตรึมของน้ำผึ้ง เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ผ่านความสำเร็จและความล้มเหลวมาหลายครั้ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2530 เดือนพฤศจิกายนได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่ "ศูนย์วัฒนธรรมหมู่บ้านดงมัน" ซึ่งในจังหวะนั้นตรงกับการจัดเทศกาลงานช้างของจังหวัดสุรินทร์พอดี การย้ายเข้ามาครั้งนี้ถือเป็นการเข้าสู่วงการอย่างเต็มตัว ได้ตระเวนไปแสดงที่ต่างๆ แทบทุกจังหวัด นับตั้งแต่ปี 2530 - 2533 มีการแสดงนับพันครั้ง
วงกันตรึมบ้านดงมัน ได้พัฒนาต่อมาเรื่อยๆ ทั้งด้านการแสดงและการแต่งกาย และในปี พ.ศ. 2535 ได้ทำการบันทึกเทปชุดแรกกับ บริษัทไพโรจน์ซาวด์ ที่ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ มีชื่อชุดว่า "มรดกกันตรึม" และนำไปจำหน่ายด้วยทุกครั้งเมื่อมีการแสดง ซึ่งได้รับผลตอบรับทั้งด้านดีและไม่ดีมากมาย เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงการแสดงให้สอดรับกับความต้องการของผู้ชม และพัฒนามาจนกระทั่งประสบความสำเร็จ เป็นวงกันตรึมในระดับแนวหน้า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา และที่นี่เองได้สร้างทายาทด้านศิลปดนตรีกันตรึมขึ้นมากมาย รวมทั้งสาวกันตรึมที่ชื่อ เจน สายใจ ให้มาสืบทอดวงการนักร้องกันตรึมให้คงอยู่กับแผ่นดินอีสานต่อไป
รายการทีวีชุมชน : Queen of กันตรึม : น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์
ด้วยความสามารถที่หาตัวจับยาก จึงทำให้ได้รับรางวัลประกวดกันตรึมมากมายนับสิบรางวัลจาก จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อีกทั้งการเสียสละตน เพื่อการถ่ายทอดงานศิลปวัฒนธรรมแขนงนี้ ทำให้ น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ ได้รับเชิญให้มาสอน วิชานาฏศิลป์พื้นบ้าน สาขานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายและสาธิตเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมอยู่เนืองๆ ให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งเปิดบ้านของตนเองให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้สืบทอดศิลปวัฒนธรรมอีสานใต้ต่อไปไม่ให้สิ้นสูญ
สำหรับวงกันตรึมคณะที่น้ำผึ้งแสดงอยู่นั้น ปัจจุบันมีชื่อว่า "ดงมันรักกันตรึม" โดยเริ่มแรกเป็นดนตรีบรรเลงประกอบในพิธีกรรม การเข้าทรง รักษาไข้ และบรรเลงกล่อมหอแต่งงาน ต่อมาได้พัฒนารูปแบบอย่างหลากหลาย ทั้งแนวพื้นบ้านโบราณ แนวประยุกต์ทันสมัย ความโดดเด่น อยู่ที่ความไพเราะของปี่อ้อ ความหวานของซอกันตรึม และการขับร้องประกอบการบรรเลง นอกจากนั้นก็จะมีการฟ้อน จากการประดิษฐ์ท่าฟ้อนรำ ให้เหมาะสมกับเอกลักษณะของท้องถิ่น
น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ : ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน
กันตรึม น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ : ปกา มวน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)