คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
นักเรียบเรียงเสียงประสาน ผู้สร้างสรรค์แนวทางดนตรีพื้นบ้านอีสานให้ปรากฏต่อสาธารณชน ด้วยการประยุกต์เอาเครื่องดนตรีอีสานที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างเช่น พิณ ซอ ให้มีกลิ่นไอของเพลงลูกทุ่งอีสานปรากฎในดนตรียุคปัจจุบันจนเป็นที่ยอมรับในฝีมือ
ถ้าเอ่ยถึง นายเรวัฒน์ สายันเกณะ อาจจะมีคนรู้จักน้อยไปนิด แต่ถ้าเอ่ยถึงชื่อ “หนุ่ม ภูไท” แล้ว ในวงการเพลงลูกทุ่งต้องรู้จักกันดีว่า เป็นหนึ่งใน "ตำนานมือพิณ" และนักเรียบเรียงเสียงประสานดนตรีลูกทุ่ง ที่มีเอกลักษณ์และกลิ่นไอของลูกทุ่งอีสานชนิดไม่ต้องบอกกล่าวว่า "นี่คือดนตรีอีสาน" อย่างแน่นอน
หนุ่ม ภูไท เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2491 ที่บ้านหนองห้าง ตำบลหนองห้าง อำเภอบัวขาว คือ อำเภอกุฉินารายน์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปัจจุบัน เป็นลูกชาวนา คนที่ 4 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 5 คน เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไปบวชเป็นสามเณรอยู่ 2 ปี ครั้งเป็นเด็กมีความหลงใหลในดนตรีพื้นบ้านอีสานทุกประเภท รวมถึงพิณที่เป็นเครื่องดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวในเวลาต่อมา
โดยมีแรงบัลดาลใจจากพี่ชายที่เป็นนักดนตรีมือพิณ ทั้งจากการเรียนโดยตรงจากพี่ชาย และจากปู่ที่เป็นหมอแคน ศึกษาแบบครูพักลักจำในการดีดพิณจากคนเล่นพิณในพิธีการ "รำเลี้ยงผีฟ้า" ของชาวผู้ไท ทำให้เกิดความเชี่ยวชาญมาเป็นลำดับ ได้รับเล่นตามงานต่างๆ ทั้งได้เงินและไม่ได้เงิน เพื่อเป็นการหาประสบการณ์ สนใจดนตรีพื้นเมืองจากการชมแสดงหมอลำเพลิน ได้พบการเล่นกีตาร์ที่มีสายมากกว่าพิณ (พิณยุคนั้นมีแค่ 2 สาย กีตาร์มี 6 สาย) มีความอยากได้มาก จึงเอ่ยขอเงินจากพี่เขยเพื่อจะไปซื้อกีตาร์ พี่เขยบอกไม่มีเงินเพียงพอต้องมาช่วยกันทำไร่ปอ เพื่อนำปอไปขาย ได้เงินไปซื้อกีตาร์ตัวแรกด้วยการเดินทางไปซื้อที่กรุงเทพฯ กับคณะรำวงในหมู่บ้าน ที่เขาไปหาซื้อเครื่องดนตรีที่เวิ้งนครเขษม ในราคา 1,540 บาท (แพงมากในสมัยนั้น)
ต่อมาได้เข้าเป็นสมาชิกคณะรำวง “คณะดอกฟ้าเพชรภูไท” (ที่ติดตามไปซื้อเครื่องดนตรี) ได้ค่าตัวในการดีดพิณคืนละ 15 บาท เมื่อเล่นกีตาร์เป็นทางวงเลยเพิ่มค่าตัวให้เป็นคืนละ 25 บาท (เล่นจาก 2 ทุ่มถึงตี 2) ด้วยความรักในเสียงดนตรี จึงออกเดินทางแสวงหาความรู้เพิ่มเติม โดยในช่วงแรกได้ไปใช่ชีวิตเล่นดนตรีอยู่ที่เวียงจันทน์ ประเทศลาวเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นได้เดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร ในระหว่างที่หาประสบการณ์เล่นดนตรีที่ต่างๆ ก็ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในด้านดนตรีไปด้วย ได้มีโอกาสเล่นดนตรีในห้องอาหาร (แทนนักดนตรีที่ลาออกไป) ได้เงินเดือนครั้งแรกเดือนละ 1,500 บาท
จนได้มีโอกาสพบและทำเพลงร่วมกับ สรเพชร ภิญโญ ในชุดแรกๆ เป็นหมอลำ ที่ ห้องบันทึกเสียงคิงส์ซาวด์ และต่อมาได้ทำดนตรีชุด "ศัณสนีย์หนีช้ำ" ขับร้องโดย น้องนุช ดวงชีวัน-สรเพชร ภิญโญ และถึงชุดที่ 3 กับบทเพลงที่เป็นรู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมืองคือชุด “หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ” ซึ่งในสมัยนั้นได้รับการตอบรับจากแฟนเพลงอย่างท่วมท้น ดังระเบิดระเบ้อทั่วบ้านทั่วเมือง และได้ชื่อ "หนุ่ม ภูไท" จากคุณครูอำนวย ปากเป็ด หลังจากดังในการเรียบเรียงดนตรีชุดนี้
หลังจากนั้น ได้เข้ามาเป็นผู้ผู้อยู่เบื้องหลังการทำดนตรีในห้องบันทึกเสียง สำหรับศิลปินดังหลายท่านที่ต้องการนำเครื่องดนตรีอีสานมาใช้ประกอบ หลายบทเพลงที่โด่งดังในอดีตก็มาจากฝีมือของ หนุ่ม ภูไท นี้เอง จนมีผู้รู้จักชื่อเสียง หนุ่ม ภูไท ในฐานะผู้ทำดนตรีมือหนึ่งของภาคอีสาน ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างจากในอดีต ด้วยการสอดแทรกเสียงของเครื่องดนตรีอีสานเข้ามาในบทบาทเพลงลูกทุ่ง เช่น แคน พิณ โปงลาง โดยเฉพาะพิณ ที่ท่านถนัด ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากศิลปินอีสานมากที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะเสียงเพลงใน ชุดอมตะเงินล้าน โดย หยาด นภาลัย เช่นเพลง โนรี, กุหลาบเวียงพิงค์ จะได้ยินผลงานของ หนุ่ม ภูไท ได้ชัดเจน
เพลง "เอียงแก้มคอย" ของ น้ำอ้อย พุ่มสุข เพลง "น้ำตาหล่นบนที่นอน" ให้ ฮันนี่ ศรีอีสาน เพลง "โบว์รักสีดำ" ให้ ศิริพร อำไพพงษ์ และหลายๆ เพลงให้กับ เฉลิมพล มาลาคำ, อ้อยใจ แดนอีสาน, ไหมไทย ใจตะวัน, จินตหรา พูนลาภ, สายัณห์ สัญญา ในชุด "บัวตูบัวบาน และยอดรัก สลักใจ อีกหลายเพลง แม้ปัจจุบันก็ยังมีงานไม่ขาดมือ ที่โด่งดังเช่น เพลง "สั่งนาง" ของ มนต์สิทธื์ คำสร้อย มีผลงานเรียบเรียงเสียงประสานมากกว่า 1,000 เพลง
2 ตำนานมือพิณอีสาน หนุ่ม ภูไท กับ ทองใส ทับถนน
ปัจจุบัน “หนุ่ม ภูไท” ได้สร้างห้องบันทึกเสียง “บ้านไผ่สตูดิโอ” ที่หมู่บ้านสมหวัง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อสนับสนุนศิลปินในท้องถิ่น เช่น แสง สกุลโพน ในชุด “บ่าวผู้ไทยพ่ายรัก” สายัณห์ วันรุ่ง ในชุด “สายเดี่ยวสายสิญจญ์” เอื้อ อาทร ในชุด “ตำนานเมืองหนองสูง” รวมทั้งยังจัดทำวิซีดีนิทานพื้นบ้านอีสาน และยังมีห้องบันทึกเสียง "หนุ่ม ภูไท สตูดิโอ" ที่กรุงเทพฯ สำหรับการทำงานเพลงให้กับค่ายเพลงต่างๆ ในปัจจุบัน
เรวัฒน์ สายันเกณะ "หนุ่มภูไท" - ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน
ได้รับข่าวจากเอื้อยนาง ศิริพร อำไพพงษ์ เมื่อตอนเที่ยงวันของวันที่ 23 เมษายน 2564 ว่า อาจารย์หนุ่ม ภูไท ได้ถึงแก่กรรมแล้ว จากโรคภัยไข้เจ็บประจำตัวที่เข้ารับการรักษาพยาบาลมานานหลายเดือน
อาจารย์หนุ่ม ภูไท ได้เข้ารักษาตัวจากมะเร็ง (ผ่าตัดเอาเนื้องอกในสมอง ส่วนที่กดทับเส้นประสาท) เมื่อปลายปี พ.ศ. 2563 และกลับออกมาพักฟื้นที่บ้านในกรุงเทพฯ แม้จะยังมีอาการเจ็บป่วย อาจารย์หนุ่ม ภูไท ก็ยังบันทึกคลิปเสียงพิณลายต่างๆ เพื่อสอนให้กับผู้สนใจทาง Youtube อยู่มิได้ขาด ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาได้กลับไปพักที่บ้านเกิด บ้านหนองสะพัง จังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อมาอาการได้ทรุดลงและจากไปอย่างสงบเมื่อช่วงเช้าที่ 23 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ด้วยวัย 73 ปี
โดยทางครอบครัวมีกำหนดตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านพัก เลขที่ 52 หมู่ที่ 3 บ้านหนองสะพัง ตำบลหนองห้าง ออำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ สวดอภิธรรมศพวันที่ 23-24 เมษายน และวันที่ 25 เมษายน เวลา 13.00 น. จะมีการเคลื่อนศพสู่ฌาปนสถานเมรุวัดสายนาน้อย บ้านหนองสะพัง โดยมีพิธีการทางศาสนาต่างๆ และประชุมเพลิงในเวลา 16.00 น. วันเดียวกัน
ทางทีมงานผู้จัดทำเว็บไซต์ประตูสู่อีสาน ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ ศิลปินมรดกอีสาน ปี 2550 มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายเรวัฒน์ สายันเกณะ หรือ อาจารย์หนุ่ม ภูไท มา ณ ที่นี้
สืบสานลายดนตรีภูไทโบราณ จังหวัดกาฬสินธุ์
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)