คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
พระธรรมเทศนาของหลวงพ่อกัณฑ์นี้ ได้เทศน์โปรดญาติโยมที่วัดถ้ำแสงเพชร (สาขาวัดหนองป่าพง) จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2516
พวกเราเป็นผู้มีบุญวาสนามาก เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า การที่พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ในโลกนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก
เราจะได้พบท่านก็ยาก เมื่อพบท่านแล้วจะได้ฟังธรรมท่านก็ยาก ได้ฟังธรรมแล้วจะได้บวชปฏิบัติอยู่ใกล้ท่านก็ยาก หริอแม้แต่บวชแล้วจะมีศรัทธาก็ยาก ก็ลำบาก ท่านว่าอย่างนั้น
ผู้บวชแล้วเข้าไม่ถึงพระพุทธเจ้าก็มีนะ อย่านึกว่าบวชแล้วจะได้เข้าใกล้พระพุทธเจ้า ถ้าไม่ได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของท่าน ก็ไม่ได้ชื่อว่าเข้าใกล้พระพุทธเจ้า ให้พากันเข้าใจ ดังนั้น ผู้รู้จะเกิดขึ้นภายในจิตใจของมนุษย์ ให้รู้แจ้งแทงตลอดนี้จึงหาได้ยาก
บุคคลที่มีเจตนา มีศรัทธามาสอนพวกเราให้เกิดความรู้ความเห็นในความดีความชั่ว ในบุญในบาปนี้ก็ยาก และจะได้ฟังธรรมของท่านนั้นก็ยาก
อย่างว่าเราฟังธรรมกันโดยทั่วไปทุกวันนี้ ก็ฟังแต่นิทานพื้นทาน เรื่องการะเกดบ้าง สินชัยบ้าง แตงอ่อนแตงแก่บ้าง ฟังกันเล่นๆ อันนั้นไม่ใช่ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นนิยายฟังกันสนุกเฉยๆ ถ้าฟังธรรมพระพุทธเจ้ามันได้บุญนะ ได้ในปัจจุบันนี้แหละ ธรรมที่จะสอนสัตว์ทั้งหลายนั้นไม่ใช่ง่าย ถ้าคำสอนใดไม่เป็นไปเพื่อหายพยศ ลดมานะ ละความชั่วแล้ว ก็ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมของพวกเดียรถีย์ของพวกชาวนิครนถ์ มันไม่ได้เห็นความจริง ไม่ได้ระบายความทุกข์ออกจากใจ ไม่หายสงสัย ยังไม่ถูกธรรมะ
ผู้ไม่ได้ปฏิบัติธรรมะ ฟังธรรมะแล้วจะปฏิบัติธรรมนั้นยาก มันยากจะได้เห็น ยากจะได้ฟัง ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นควรรู้ได้ ไตร่ตรองและเห็นตามความเป็นจริงได้ ท่านไม่ได้สอนต่ำสอนสูงอะไร ท่านสอนพอดี สอนธรรมตามบุคคล เหมือนอย่างเด็กตัวเล็กๆ มีกำลังน้อย ท่านก็ไม่ให้แบกหนัก ให้แบกพอดีมันก็แบกไปได้ ผู้ใหญ่มีกำลังมาก ท่านก็ให้แบกสมกับกำลังของผู้ใหญ่ นี้ก็ได้ประโยชน์ เรื่องมันเป็นอย่างนี้
อันนี้ฉันใด พวกเราจะมีวัดวาอารามปฏิบัติอย่างนี้ก็หายาก ไม่มีทุกกาลนะโยม มีเป็นบางครั้งบางคราว นานๆ เราจึงจะได้พบครั้งหนึ่ง บางคนบุญไม่มีวาสนาไม่ถึง ก็ไม่เห็นอย่างนี้ก็มี
อาตมาเห็นโยมคนหนึ่งอยู่บ้านอาตมา (บ้านก่อ) บ้านอยู่ริมวัด แกไปไหนมาไหนก็เดินผ่านวัดทุกวัน แต่ไม่รู้จักอะไร แกเคยฟังเทศน์ก็ฟังแต่แหล่มัทรี แหล่ใส่หูจนหูจะหนวก ก็ไม่รู้จักธรรมะ ต่อมาย้ายบ้านไปอยู่อำเภอวานรนิวาส โชคดีที่ได้ไปฟังธรรม เห็นบุญ เห็นบาป เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กลับมาคราวนี้เลยบวชเป็นพระ แกบอกว่า "มันชั่วจริงๆ ครับท่านอาจารย์" นี่แหละอยู่ใกล้วัดน่าจะได้บุญได้กุศล แต่ไม่รู้เรื่อง สมกับที่ท่านว่า
กบเฒ่านั่งเฝ้ากอบัว อยู่บนหัวกลิ่นบัวบ่ต้อง
แมงภู่ง่องบินผ่ายแอ่วมา เอาเกษาดอกบัวไปจ๊อย
กบอยู่กอบัวแต่ไม่รู้จักบัว ดอกบัวจะบานจะตูม จะร่วงจะโรยก็ไม่รู้เรื่อง วันดีคืนดีอาจโดนด้ามเสียมเขาหรอก นี้ฉันใด ตาแก่คนนั้นก็เหมือนกัน อาตมาเคยเทศน์ให้ฟังว่า กบเฒ่านั่งเฝ้ากอบัว นี่บรรพบุรุษเราท่านว่าไว้ถูก อยู่ใกล้วัดใกล้วาน่าจะรู้จักธรรมะ แต่ไม่รู้เรื่องเลย หนีจากบ้านไปอยู่ที่อำเภอวานรฯ จึงได้ไปฟังเทศน์พระกรรมฐานที่โน่น นี้ท่านว่า ธัมโม จะทุลละโภ โลเก การที่จะได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าเป็นการยาก การทำบุญจะถูกบุญนี้ก็ยาก นี้ก็ลำบาก บุญกุศลจะเกิดขึ้นกับจิตใจก็ยากลำบาก เพราะอะไร เพราะกระจกเรามันไม่สว่าง ยังไม่มีปัญญา พวกเราจงเข้าใจ
พระพุทธเจ้าของเราทรงเคยเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่เป็นสัตว์สาวาสิ่ง ขนาดนกกระจาบ โตถึงช้างหรือในระหว่างที่เป็นมนุษย์ ท่านก็เป็นหมดทุกอย่าง เป็นคนร่ำคนรวย เป็นคนยากคนจน ท่านก็ผ่านมาได้ เราก็เหมือนกัน จะอยู่ป่าอยู่เขา ไม่รู้จักศีลรู้จักธรรม ก็ไม่ต้องน้อยอกน้อยใจ เพราะบุญของเรามีอยู่เท่านั้น แต่เราสามารถทำดีได้ถ้าจะทำ มือเราก็มี ร่างกายของเราก็มี ตาหูเราก็มี ได้เห็นได้ยินได้ฟัง มีผู้แนะนำพร่ำสอนอยู่ นี้เรียกว่าสะสมทุนของเรา คือเราจะลงมือทำมาค้าขายวันไหนก็ได้ เพราะสมบัติเรามีอยู่แล้ว มีสมบัติแล้ว มีเครื่องรับแล้ว เมื่อได้ของไม่ดี เราทำให้มันดีได้ มันผิดทำให้ถูกก็ได้ มันแก้ได้
พระพุทธเจ้าหรือสาวกทั้งหลายก็ดี ท่านไม่ได้เป็นพระอรหันต์มาก่อน ท่านเคยเป็นชาวไร่ชาวนา ขี้เหล้าเมายา เป็นคนลักเล็กขโมยน้อยมาเหมือนกัน คือยังไม่รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ คนไม่รู้จักก็ทำอะไรได้ทุกอย่าง แต่เมื่อรู้แล้วท่านก็เลิก ท่านก็ละ ถอนออกมา ได้ฟังธรรมแล้วเข้าใจ รู้นั่นรู้นี่ ตรัสรู้ธรรมะได้
เรื่องตรัสรู้ธรรมะ เราได้ยินว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมะ ก็นึกว่าเป็นเรื่องของท่านทุกอย่าง ไม่ใช่นะ เป็นเรื่องของเราทุกคนก็ได้ อันไหนรู้แล้ว ละ นั่นแหละเป็นเครื่องหมายของเรา เหมือนเราเคี้ยวกินอะไรบางอย่าง รู้สึกคัน รู้แล้วก็คายทิ้ง ความรู้ชนิดนี้แหละ ปุถุชนเราควรรู้ เหมือนหัวกลอยเมื่อรู้ว่ามันคันกินไม่ได้ เรายังจะกินอยู่หรือ ก็มีแต่จะทิ้งเท่านั้น มันรู้อย่างนี้แหละ
ทีนี้รู้ซึ้งเข้าไปกว่านั้นอีก รู้ว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี มันผิด ไม่เป็นประโยชน์ เดือดร้อนทั้งแก่ตนและผู้อื่น พิจารณาแล้วรู้ได้ นี้เรียกว่าความรู้อันหนึ่ง ถ้ามันรู้ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีอะไรสามารถคลี่คลายจิตใจของเราได้ อย่างเราจะทำดี ใครว่าไม่ดีอย่างไรเราก็ไม่ทิ้ง เราทำถูกอยู่ ใครว่าผิดเราก็ไม่ทิ้ง เราไม่บ้า เขาว่าบ้า เราก็ไม่ทิ้งไปเป็นบ้าอย่างเขาว่า แต่คนเราชอบทิ้งเจ้าของ เราไม่บ้า เขาว่าบ้าก็โกรธ เลยเป็นบ้าอย่างเขาว่า เราทำดีเขาว่าไม่ดี ไปโกรธเขา เลยไปเอาของไม่ดีกับเขา มันทิ้งเจ้าของอย่างนี้แหละ ไม่รู้ตามความเป็นจริงของเจ้าของ
ภาษาธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนั้น ก็สอนให้แก่พวกเราทั้งหลายนี้แหละ พวกเราที่เป็นปุถุชนให้เป็นอริยชน เหมือนเราจะสร้างบ้านเรือน เราก็ต้องหาสิ่งที่ยังไม่สำเร็จ จะเป็นเสา เป็นขื่อ เป็นแป ฯลฯ มันไม่ได้สำเร็จมาเลยทีเดียวหรอก เราต้องไปแปลงสภาพมันขึ้นมา เสาเรือนก็ดี เดิมเกิดจากไม้ที่มันยาว มันคดอยู่
ซึ่งรวมอยู่กับต้นไม้นั่นแหละ เราต้องไปเลื่อย ไปแปรรูปออกมา คนฉลาดก็สามารถนำเอามาสร้างบ้านเรือนได้
เราก็เหมือนกัน ยังเป็นปุถุชนอยู่ มีลูกมีเมีย มีอะไรต่างๆ เป็นธรรมดาของโลก แต่ถ้าเรารู้จักการภาวนา รู้จักธรรมะแล้ว ก็สามารถระบายสิ่งไม่ดี สิ่งที่ผิดออกได้ ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้ ไม่น้อยก็มาก เหมือนกับเราแบกของหนัก เมื่อเอาทิ้งไปทีละน้อยๆ ทิ้งบ่อยๆ มันก็เบาได้ เมื่อทิ้งไปๆ ผลที่สุดก็วางหมด เหมือนกับเราแบกไม้ฟืนนั่นแหละ เมื่อถึงกระท่อมก็ทิ้งโครมเลย มันก็เบาเห็นไหมล่ะ นี่ความเบาเป็นอย่างนี้
ความชั่วทั้งหลาย ที่เราทำมามันหนักใจของเรา เราค่อยฝึกหัดปฏิบัติไปๆ ใจมันก็ค่อยสว่างไสว ของยากก็เลยกลายเป็นของง่าย ของมืดมันก็สว่าง ของสกปรกมันก็สะอาด รู้จักหลักประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น รู้เรื่องอย่างนั้นคือธรรมะ ถ้าไม่รู้เรื่องท่านบอกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้ เราก็ไม่รู้อะไร
คนเราถ้าไม่ได้อบรมธรรมะก็เหมือนกับนักมวยที่ไม่ได้ซ้อม หรือเหมือนหมอลำที่ไม่ได้เรียน ถึงเวลาก็ขึ้นเวทีเลย จะเป็นอย่างไร จะน่าฟังไหม จะน่าฟังได้อย่างไร เพราะไม่ได้ท่องกลอนลำเลย มวยไม่ได้ซ้อมก็เช่นกัน พอขึ้นเวที คู่ชกเขาก็จะเลือกชกเอาตามใจชอบนั่นแหละ
ฉันใด เราอยู่กับหลาน กับสิ่งของ สกลร่างกาย ล้วนแต่เป็นของไม่จีรังยั่งยืน เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง วันนี้เสียไปพรุ่งนี้ได้มา วันนี้ดีใจ พรุ่งนี้เสียใจ มันเป็นอย่างนี้ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพราะอนิจจังมันไม่เที่ยงไม่แน่นอน ทั้งภายนอกภายในสกลร่างกายไม่แน่นอนทั้งนั้น วันนี้ดี พรุ่งนี้อาจเจ็บโน่นปวดนี่ก็ได้ มันเป็นอยู่อย่างนั้น ถ้าคนไม่เข้าใจก็น้อยอกน้อยใจในสิ่งเหล่านี้ ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนี้ อัชฌัตตา ธัมมา ธรรมภายใน ของภายในคือสกลร่างกายของเรานี้ บางทีเจ็บโน่น ปวดนี่ เจ็บขา ปวดท้อง มันไม่แน่นอน พะหิทธา ธัมมา ธรรมภายนอก คือของผู้อื่นหรือสิ่งของต่างๆ เช่น ต้นไม้ ภูเขา เป็นต้น
พวกเรามีทั้งโยมผู้หญิง โยมผู้ชายก็เหมือนกัน ถ้าพูดไม่ถูกใจก็โกรธ ถ้าพูดถูกใจก็หัวเราะ เอามะขามเปรี้ยวมาให้ทาน ก็หลับตาหยีไปทุกคนเหมือนกันนั่นแหละ ถ้าหวานก็หวานเหมือนกัน มันเหมือนกันโดยสัณฐาน ลักษณะจิตใจนี้ก็เหมือนกัน สิ่งทั้งหลายเหล่านี้แหละที่เราอาศัยอยู่ เคยรู้เรื่อง แต่คนเราไม่เป็นอย่างนั้น อันนี้ของเรา อันนั้นของเขา อันนี้ของฉัน อันนั้นของคุณ เกิดเรื่องเกิดราวจนยิงกันฆ่ากัน ความจริงมันไม่มีอะไรสักอย่าง เมื่อยังอยู่ก็ทำมาหากินไป ผลที่สุดแล้วก็ไม่ได้เอาอะไรไปหรอก ตอนมาก็ไม่ได้เอาอะไรมา เวลาไปก็ไม่ได้เอาอะไรไป ทำมาไว้ตรงนี้ก็ทิ้งตรงนี้ ถ้าคนรู้จักธรรมะแล้วก็ผ่อนผันได้ อภัยกันได้ บางสิ่งบางอย่างผู้ไม่รู้อะไรก็เอาแล้ว ไม่ยอมกัน
อาตมาเคยเห็นหมาตัวหนึ่ง เอาข้าวให้มันกิน มันกินแล้วกินไม่หมด มันก็นอนเฝ้าอยู่ตรงนั้น อิ่มจนกินไม่ได้แล้วก็ยังนอนเฝ้าอยู่ตรงนั้นแหละ นอนซึม ประเดี๋ยวก็ชำเลืองตาดูอาหารที่เหลือ ถ้าหมาตัวอื่นจะมากิน ไม่ว่าตัวเล็กตัวใหญ่ก็ขู่... โอ้... ไก่จะมากินก็... โฮ่งๆๆ ท้องจะแตกอยู่แล้ว จะให้เขากินก็ไม่ได้ หวงไว้
มาดูคนก็เหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักธัมมะธัมโม ก็ไม่รู้จักผู้น้อยผู้ใหญ่ ถูกกิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำจิตใจ แม้จะมีสมบัติมากมายก็หวงไว้ ไม่รู้จักเฉลี่ยเจือจาน แม้แต่จะให้ทานแก่เด็กยากจน หรือคนชราที่ไม่มีจะกินก็ยาก อาตมามาคิดดูว่า มันเหมือนสัตว์จริงหนอ คนพวกนี้ไม่มีคุณสมบัติของมนุษย์เลย พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า มนุษย์ดิรัจฉาโน มนุษย์เหมือนสัตว์ดิรัจฉาน เป็นอย่างนั้น เพราะขาดความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงว่าให้พากันมีศีล ความมีศีลดีอย่างไร บางคนว่ามีศีลแล้วจะไปสวรรค์ ไปนิพพาน เรื่องสวรรค์เรื่องนิพพาน ก็คือเรื่องความสุขหรือความดีทั้งหลาย ถ้ามีศีลธรรมแล้วอยู่กันสบายไม่ก่อกวน ไม่สร้างความเดือดร้อนใส่หมู่ใส่คณะ ใส่บ้านใส่เมือง ใส่พี่ป้าน้าอา ใส่เจ้าใส่นาย บ่าวไพร่ราษฎร ไม่มีถ้าเรามีศีลธรรมก็อยู่เย็นเป็นสุขสมกับที่พระท่านว่า
สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสธะเย
เวลาให้ศีลสุดท้ายท่านสรุปอย่างนี้ พวกเราว่าม้วนศีล (สรุปหรือบอกอานิสงส์) ทำไมจึงว่า ม้วนศีล ก็เหมือนเรา สานตระกร้านั่นแหละ สานแล้วเราก็ม้วน (ขมวด) ปากมัน แล้วทำหูใส่ ทำสายใส่
สีเลนะ สุคะติง ยันติ จะมีความสุขเพราะศีล มีความสุขเพราะทำถูก นายจ้างกับลูกจ้างมีความซื่อสัตย์ต่อกัน หรือบ่าวไพร่ราษฎร พี่น้องก็ซื่อสัตย์ต่อกัน มันก็สบายเท่านั้น สีเลนะ โภคะสัมปะทา สมบัติทั้งหลาย ก็มีขึ้นมา ถึงมีน้อยก็สบาย มีหลายก็ไม่ลำบาก ไม่แก่งแย่งกัน นี่คือความสบาย
ถ้าพูดถึงศีล เอากระเป๋าวางไว้ริมทางก็ไม่หาย ของอยู่บ้านก็ไม่หาย สบาย ถ้าคนไม่มีศีลล่ะ อยู่ในกระเป๋ากางเกงมันยังแย่งเอาเลย คนแก่ขึ้นรถไฟเอาสตางค์ใส่กระเป๋า เสร็จพวกนั้น คนแก่ตกรถเลย นี่ถ้าไม่มีศีลมันเดือดร้อนอย่างนี้ มันเป็น ทุกขะติง ยันติ ไม่ใช่ สุคะติง ยันติ ทุกข์เพราะเบียดเบียนกัน กูเอาของมึง มึงเอาของกู ท่านว่า สีเลน สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา
เพราะฉะนั้นผู้มีน้อยก็สบายตามน้อย ผู้มีมากก็สบายตามมาก เหมือนสัตว์หรือแมลงบางจำพวกมี 2 ขาเท่ามนุษย์นี้ก็สบาย มีสี่ขาก็สบาย มีหลายขาเหมือนกิ้งกือมันก็สบาย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีศีล ใครมีมากก็สบาย ใครมีน้อยก็สบาย จะไหาที่ไหนกันล่ะ ไม่ใช่ชาติหน้า ไม่ใช่ชาติไหน ชาติปัจจุบันนี้แหละ ถ้าพากันสร้างบุญสร้างกุศลคือสร้างจิตใจของตน คนทุกวันนี้สร้างบุญไม่รู้จักว่าบุญอยู่ตรงไหน ไม่รู้เรื่อง พากันไปทำบุญก็ไปรื่นเริงสนุกสนาน กินเหล้าเมายา ก็เสร็จกันแค่นั้น สนุกเท่านั้น
อ่านต่อ : กบเฒ่านั่งเฝ้ากอบัว ตอนที่ 2
...ถ้าอยู่บ้านแล้วก็ว่ามันยุ่ง แต่เรื่องแปลกนะ มนุษย์เราเป็นเรื่องแปลกเหมือนกัน ออกจากบ้านมาแล้วมันไม่ยุ่ง สบาย แต่ว่าคิดอยากกลับ คือไม่ใช่อะไรหรอก มันยังไปไม่ถึงที่มัน ความรู้สึกนึกคิดของเรายังไปไม่ถึงที่อยู่อย่างดี ท่านเรียกว่าวัฏฏะ ไปแล้วก็ดึงกลับมาไม่ถึงที่สุดมัน อย่างง่ายๆ อย่างย่อๆ ก็เรียกว่า เรามาอบรมในที่นี้ มีธุระอย่างนี้ แต่มาอยู่ที่นี่ก็ไม่ใช่บ้านของเราก็ทำความไม่ให้สบายอยู่ในนี้แหละ บ้านอื่นมันจะสนุกสุขตระการเท่าไรก็ช่างเถอะ ก็ยังคงคิดไปถึงบ้านเราอยู่นั่นแหละ...เป็นอย่างนี้ คือเรื่องมันยังไม่จบ
เรื่องความดีความชั่วมันไม่จบ มันยังเป็นโลกมันก็ไม่จบถ้ายังไม่จบมันก็ไม่ว่าง ถ้าไม่ว่างเราก็ได้แบกมันไว้ ถ้าเราแบกมันไว้นะ เราหนักเราก็มองเห็นโทษมันได้ง่ายๆ เพราะเราแบกมันอยู่นะ บางคนเห็นว่าคนอื่นแบก...เราหนัก เคยมีไหม คนอื่นเขาแบก...เราหนัก ตรงนี้แหละมันน่าคิด เราแบกเองเราหนักเองมันก็คิดได้นะ พอคิดได้ อันนั้นคนอื่นเขาแบก...เราหนัก คนนั้นทำผิดแล้วมัง...ไม่สบายแล้ว คนอื่นแบก...เราหนัก เคยมีไหม...ดูดีๆนะ เราแบกเองเราหนักเอง ค่อยยังชั่วมันเห็นง่าย คนอื่นแบก...เราหนัก นี่น่ะมันไม่ค่อยจะเห็นตัวเรานะน่าจะให้คนแบกนั่นแหละหนัก หรือว่าอย่างไร ถ้าพูดตามความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น โดยมากมันเท่ากันเสียแล้วหรือจะมากกว่าก็ได้
เราแบก...เราหนัก คนอื่นเบา...เราก็หนัก มันหนักสองต่อ เขาแบกเราก็หนัก เราแบกเราก็หนัก จะทำอย่างไรดีมันเป็นเสียอย่างนี้ เราควรย้อนคิดดูว่าชีวิตมนุษย์มันเป็นอะไรยังไง มันผสมผเสกันอยู่ เราไม่รู้จักเลือกจักถอนออก มันก็เป็นอย่างนี้แหละ ถ้าตรงไปแล้วก็เราแบก...เราหนักก็ดีกว่านะ มันสำคัญที่คนอื่นแบกเราไม่ควรจะหนักนี่ อย่างนั้นจะต้องอดทน
เรื่องที่มันอดทนทั้งนั้นไม่มีเรื่องอะไร ทางธรรมะท่านเรียกว่า ขันติ...ความอดทน มันเป็นแม่บทของธรรมทั้งหลายทั้งปวง ทุกคนจะต้องอยู่ในความอดทนทั้งนั้นแหละ อดทนได้ความดี แต่เมื่อได้ความดีแล้วก็หลงดีอีก มันก็แปลก มันน่าจะจบเรื่องของมัน ได้ดีมาแล้วก็หลงดีอีก ดีก็พาเราทุกข์อีก ดีกับชั่ว รักกับเกลียดนี้มันไม่พ้น...มันน่าคิด ธรรมะนี่คิดๆในใจเจ้าของแล้วก็แก้ตัวเรานะ
ทีนี้ถ้ามันทุกข์ก็ไปให้คนอื่นแก้ คนอื่นแก้ทุกข์ให้เราไม่ได้อธิบายทางให้เราแก้ทุกข์เท่านั้น เรื่องจะแก้จริงๆ เรื่องพ้นทุกข์จริงๆ เป็นเรื่องของตนเอง พระบรมครูของเราเรียกว่า อักขาตาโร ตถาคตา...ตถาคตเป็นแต่ผู้บอก บอกให้ยกอันนั้นอันนี้ ยกอันนี้ไปโน้น...บอกเท่านี้ ว่ายน้ำจะต้องทำอย่างนั้นไมใช่ตถาคตไปว่ายให้ ถ้าตถาคตไปว่ายให้เราก็จมน้ำตายเท่านั้นแหละ มันเป็นอย่างนี้
ความทุกข์ทั้งหลายนั้นก็เรานั่นแหละสร้างขึ้นมา...แต่ให้อดทน เห็นอยู่ว่าตรงนี้มันหนัก แต่เราอยากได้มัน ไปยกมันก็หนักจริงๆ เมื่อหนักก็ต้องอดทน มันก็เป็นอยู่อย่างนี้ อย่างเราเมื่อศึกษามา เมื่อเราเป็นนักเรียน เห็นผู้ใหญ่ดูเหมือนจะสบายเห็นคนนี้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ เห็นจ้าวนายครูบาอาจารย์ ก็นึกในใจว่าจะสบาย เราก็อยากเป็นอย่างนั้นบ้าง...เลยพยายามจนเป็นขนาดนี้แล้วยังมีทุกข์อยู่ ยังมีความลำบากอยู่ คือมันยังไม่พ้น อยู่ข้างนี้ก็ยังไม่พ้นอีก ก้าวไปข้างหน้าอีกก็ดูมันจะพ้นแต่ไปอีกยิ่งหนักเข้าไปเรื่อยๆ เหมือนกับคนแก่เราน่ะมันคิดไม่มากหรอก โตขึ้นมามันคิดกว้างคิดมาก มีความฉลาดมาก ไป ช่วยเขาหมด ทั้งนั้นแหละ คนทั้งบ้านน่ะเราฉลาดคนเดียว ก็เลยทุกข์คนเดียว ความคิดของคนก็ต้องเป็นอย่างนั้นคือหมายความว่ามีมากก็ต้องแบกมากยึดมาก
ความเป็นจริงนั้นการกระทำอะไรทุกอย่าง ถ้าให้รู้จักหน้าที่กันทุกคน แล้วมันก็ไม่มีเรื่องอะไรนะ สบาย ความสบายมันมีอยู่ แต่อยู่ในคนส่วนมากมันก็ต้องเป็นอย่างนี้ สถานที่นี้ท่านเรียกว่าโลก โลกท่านแปลว่า ความมืด โลกเจริญก็คือมืดเจริญนั่นเอง แหม...โลกมันเจริญ เจริญมันก็มืดเจริญขึ้น
อย่างวัดอาตมาแต่ก่อนไฟฟ้าไม่มี ก็ไม่เห็นว่ามันสว่างหรือมันมืดนะ ถ้ามีไฟฟ้ามาแล้วเห็นจะสบาย มีน้ำก็สบาย โอ้...ไฟฟ้ามันก็ไม่เกิดมาเองหรอกนะ ก่อนจะมีไฟฟ้ามันต้องเสียอะไรมากๆ ก่อนจะมีน้ำมันก็ต้องเสียอะไรไปมากๆ จะต้องลงทุนทั้งหมด มันก็เกิดจากความลำบาก ที่มันสว่างแล้วน่ะมันก็ยังไปปิดใจของเราให้มืดอีก ที่มันสะดวกแล้วมันก็ไปปิดใจให้เรามันมืดอีก คนเราถ้ามันสะดวกสบายแล้วยิ่งมักง่าย
สมัยก่อนบ้านเมืองเราก็ยังไม่เจริญ ทำส้วมอยู่โน้นในป่า...อุตส่าห์ไป เดี๋ยวนี้ไม่ได้ ที่นอนอยู่นั่น ต้องทำส้วมอยู่ที่นั้น ขนาดนั้นก็ยังไม่สบายอยู่อีก จะให้มันสบาย สะดวก มันก็ไม่สะดวกนะ มันสบายมากเกินไป ก็เลยประมาทกันเสีย อยากจะให้มันยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก มันก็ไม่พอสักที แล้วก็บ่นว่ามันทุกข์ทุกข์ใครสร้างขึ้นมามองไม่เห็นว่า มันเป็นเพราะอันนั้นๆ มันเป็นเพราะอันนี้ (หลวงพ่อท่านเอามือชี้ที่ตัวของท่านประกอบ) ไม่เคยชี้เข้ามาเลย ต้นตออยู่ตรงนี้ไม่เคยชี้เข้ามา มันก็ไม่กระจ่างเท่านั้นแหละ ว่าแต่คนโน้นๆ ชี้ออกไปทางโน้น ก็ไปเห็นของข้างนอกโน้น ไปแต่งของข้างนอกเรื่อยๆไป อันนี้ไม่ค่อยแต่งจิตใจไม่ค่อยแต่งกัน
บ้านสกปรกเราก็เห็นได้ ทำสะอาดบ้านเราก็ทำได้ ถ้วยจานมันเลอะเทอะไม่สวยงามเราก็เห็นได้ เราล้าง...มันก็สะอาดได้ แต่ว่ามันสะอาดแต่บ้านแต่ถ้วยจาน ใจไม่สะอาดหน้าบูด หน้าเบี้ยวบ่นอยู่อย่างนั้น ไม่เห็นตัวเราทุกข์ อันนี้ก็น่าสงสารตัวเองเหมือนกันนะ ถ้าคิดแล้วมันเป็นเสียอย่างนี้
ถ้าเราพยายามกวาดพยายามเช็ดทำสะอาดเหมือนถ้วยจานบ้านเรา เราก็คงอยู่กันสบาย อันนี้เราไปเช็ดของที่ไม่รู้เรื่องถ้วยมันสกปรกก็เฉย ถ้วยมันสะอาดก็เฉย มันเฉยทั้งนั้น ของที่ไม่รู้เรื่องเราไปทำสะอาด ทำไม่ถูกจุดมันๆ จะใสขนาดไหนใจเราก็ไม่รู้ไม่เห็น มันก็สกปรกอยู่ตรงนั้นแหละ
เราไม่พยายามดูจิต ชอบแต่จะตามใจมัน ถ้าพูดภาษาโลกแล้วก็เรียกว่า ตามอารมณ์ อารมณ์ของคนนี่จิปาถะที่มันจะเป็นไป ในครอบครัวของเราวันนี้รักกัน แต่พรุ่งนี้เกลียดเหลือเกิน ลูกเราวันนี้เรารัก พรุ่งนี้มันเกลียด ทำไมมันเป็นอย่างนั้นทำไมไม่คงที่อย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนี้ นี่เรียกว่าใจเราไม่ฝึกหัดจึงหาความสงบไม่ได้
ความรักทำให้เกิดทุกข์ ความเกลียดทำให้เกิดทุกข์ ได้น้อยเกินไปก็เกิดทุกข์ ได้มากเกินไปก็ทุกข์ เราจะอยู่ที่ไหนกันโยม หาที่อยู่แล้วหรือยัง ทำไมไม่มองหาที่อยู่ของเขาล่ะ เราพยายามสร้างอะไรต่ออะไรมานี่หลายปีหลายเดือนมาแล้ว เพื่อหาความสงบเพื่อหาความสบาย ทำไมถึงขนาดนี้เราก็ยังไม่สบายกัน ไม่ใช่ว่าเราทำไม่ถูกกันหรือ
พ่อบ้านแม่บ้านอยู่ร่วมกันมันไม่น่าจะทะเลาะกันนะ ทำไมทะเลาะกัน บางวันอยากจะลุกหนีไปตอนกลางคืนเลย แต่ว่าพรุ่งนี้กลับมาอีกแล้ว มันลำบากโยม อาตมาเห็นว่าที่อยู่ของเราจริงๆน่ะ เราไม่ค่อยจะหากัน ไปเช็ดที่อื่นไปถูที่อื่น ไปทำความสะอาดที่อื่น ไม่ทำใจเราให้มันสะอาด มันก็ยุ่งอยู่เรื่อยไปอย่างนี้แหละมันชี้ไปแต่ข้างนอก พระพุทธองค์ท่านสอนว่า โอปนยิโก...น้อมเข้ามาให้มันเห็นกับจิตของเรา น้อมเข้ามาให้เห็นใจของเรา
แต่ทุกวันนี้มีแต่บังคับ...เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีมะม่วงหวานหรอก มะม่วงอกร่องนี่พื้นเดิมมันหวานนะ เดี๋ยวนี้เขาบังคับมันไม่แก่เฒ่า เขาเอามาบ่มเสียแล้ว...เขาต้องการเร็ว เอามาทานมันก็เปรี้ยว มะม่วงเมืองอุบลฯ นี่ไม่ค่อยหวาน...เขาบังคับมัน คือไม่ทันกับความอยากของคนเรา...ไปบีบมันเข้า ไอ้ของดีๆหวานๆก็ให้มันเปรี้ยวไป ของอะไรก็ให้มันเปรี้ยวไป ให้มันผิดปรกติของมันไป แล้วบ่นว่ามันเปรี้ยว ทำไมมันจึงเปรี้ยว มะม่วงไม่แก่เอามาบ่ม...มันก็เปรี้ยว ทำไมไม่ทำใหม่ล่ะ...มันก็เป็นอย่างนี้แหละ
โดยมากมีแต่ของปลอม ไปยึดมั่นถือมั่นของที่มันปลอมแปลงไม่แน่นอนไปยึดว่ามันเป็นของจริง พระพุทธเจ้าให้เห็นสัจธรรมคือความจริง ของที่มันไม่ปลอมก็คือของแท้อย่างนี้ เดี๋ยวนี้แทบจะหลงกันหมดแล้ว ของจริง ของไม่จริงไม่รู้เรื่องก็เลยเป็นกันไปอย่างนั้น มันก็เกิดความรู้สึกนึกคิดหลายๆ อย่างสิ่งที่มาดัดแปลงมาปลอมแปลงให้มันเหมือนของจริงอย่างนี้มันก็เป็นไป อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า เป็นโอปนยิโก น้อมเข้ามาให้จิตของเรามันเห็น ถ้าจิตเราไม่เห็น ถ้าจิตเราไม่เป็นมันก็เป็นไปอย่างนี้แหละ ไม่มีทางที่จะสว่าง
เรามีลูกมีหลานก็รักลูกรักหลาน รักลูกรักหลานก็ให้วิชาความรู้มันให้คำแนะนำมัน ตอนเช้าเราก็สอนมันตอนเย็นเราก็สอนมัน สอนไปเรื่อยสอนไม่หยุด เพราะรักลูกกลัวมันจะไม่ดีสอนทุกวันสอนทุกเช้าทุกเย็น สอนนานๆ ลูกก็เข้าใจว่าพ่อแม่จู้จี้จุกจิก แต่พ่อแม่เข้าใจว่าสอนลูกให้มันดี เอาละไปคนละแง่แล้วทีนี้ ยิ่งสอนเข้าไปเถอะ ยิ่งไม่ฟังก็ยิ่งสอนมัน อยากจะให้มันดี ลูกก็ยิ่งวุ่นวายยิ่งขัดใจ บางทีหนีจากบ้านไปเลย ไม่ต้องเรียนหนังสือก็ได้ มันบอกผม...พ่อแม่จู้จี้จุกจิกเหลือเกินอยู่ไม่ได้ แต่มาถามพ่อแม่...ฉันอยากจะให้มันดี อยากจะให้มันเป็นบุตรที่ดี ได้การงานที่ดี ได้วิชาที่ดี พ่อแม่คิดไปอย่างหนึ่งไปถามลูกว่ายังไง พ่อแม่จู้จี้จุกจิกมาก มันเห็นไปคนละทางอย่างนี้
อย่างนั้นเราจึงหนักใจกับลูกกับหลาน กับพ่อกับแม่ก็เป็นกลุ่มเดียวกันทั้งนั้นแหละ มันเกิดรบกันทางใจ บางคนมีพ่อมีแม่ลูกคนเดียวก็รักคนละอย่าง พ่อรักเพื่อจะให้มันประหยัดให้มันอดทน แม่นั่นรักเพื่อจะป้อนอาหารให้มันสมบูรณ์อย่างนี้มันขอแล้วก็ให้มันไปเถอะ พ่อบอกหยุดๆ จะทำให้เด็กเสีย...อย่า ทำไมเป็นอย่างนั้น นานๆไปลูกไม่เป็นอะไรก็พ่อแม่ทะเลาะกันอีกเสียแล้ว มันชอบจะเป็นอย่างนี้ อันนี้ก็เหมือนกัน เราทำการงานก็ให้รู้จักหน้าที่การงานของเราทุกๆ คน
แต่ว่าคนส่วนมากให้เหมือนกันทุกคน ก็ไม่เหมือนหรอก พระท่านบอกว่า เป็นครูเป็นอาจารย์คน... อย่างอาตมานี่ อย่างโยมนี่ ชอบอยากจะเป็นเปรต... เปรตอะไร... เปรตอย่างละเอียด... เปรตยังไง
อาตมาจะเล่านิทานให้ฟัง ก็น่าฟังเหมือนกันนะ ไม่อยากจะเล่าหรอกมันยาว แต่ว่าควรจะเล่าก็เล่าให้ฟัง จะพูดสั้นๆ ให้มันคุ้มแต่มันทำไม่ได้นะ ท่านบอกว่า...มีคนๆ หนึ่ง เป็นคนที่ใจบุญสุนทร์ทาน ตั้งแต่เป็นฆราวาสอยู่ อะไรจะเป็นบุญ อะไรจะเป็นกุศล แกพยายามไปทำ แกก็ทำให้มันดีทำให้มันละเอียดทุกอย่างแหละ วางของที่นี่วางไว้ตรงนี้ ตรงนั้น วางไว้ตรงนั้น ถ้าลูกหลานจับมาเคลื่อนก็บ่นเสียแล้ว...ไม่สบายใจนะ ไม้กวาดต้องวางตรงนี้ กาน้ำวางตรงนั้น เมื่อใคร มาทำให้ผิดหวัง...ทุกข์เสียแล้ว
แต่แกเป็นคนละเอียดดี ใจบุญ เป็นระเบียบ วันหนึ่งก็คิดได้ เห็นศาลาในป่าที่คนไปพักอยู่ใต้ร่มไม้ก็คิดว่าเราจะมาสร้างศาลานี่ก็ดีเหมือนกัน เราจะได้บุญ พ่อค้าพ่อขายไปมาจะได้พักผ่อนหย่อนใจ จะได้มีความสุขสบาย คิดแล้วก็ไปทำๆอย่างดีอยู่ในป่าเพื่อให้คนพัก เมื่อทำเสร็จแล้วต่อไปแกก็ตายวิญญาณไปเกาะอยู่ที่ตรงนั้น คือมันเกาะแต่เมื่อมีชีวิตอยู่น่ะเมื่อสร้างศาลาแล้วแกก็พยายามไปดู มันสกปรกที่ไหนคนมาพักนี่มันเป็นอะไรยังไง ถ้าคนทำไม่ดีแล้วแกก็ใจไม่ค่อยดี ถ้าคนทำดีแกก็ใจสบาย เพราะแกเป็นคนใจบุญสุนทร์ทาน ละเอียดเจ้าระเบียบ
อีกวันหนึ่งพ่อค้าเกวียนมาหลายร้อยเลยมาพัก เมื่อกินข้าวแล้วก็นอนกันเป็นแถว เจ้าของศาลาเป็นเปรตก็มามองดูมันเป็นระเบียบหรือเปล่า...ย่องมาดู มาดูทางศีรษะมันก็ไม่เสมอกันเสียแล้ว บางคนสูงๆ บางคนต่ำๆ มันยุ่งหัวใจเหลือเกิน จะทำอย่างไรดี ก็มาดึงทางเท้าให้มันลงไปให้ศีรษะมันเสมอกัน ดึงไปสุดแถวพอใจแล้วเรียบร้อย ต่อมาๆดูทางเท้าอีก อ้าวไม่เสมอกันอีกแล้ว ก็ไปดึงศีรษะขึ้นไปอีกให้มันเสมอกัน เมื่อเสมอกันดีแล้ววนไปรอบๆ ไปดูทางศีรษะ อ้าวไม่เสมอกันอีก...เปลี่ยนอีก ยุ่งจนกระทั่งดึก จนทอดอาลัย มันเป็นเพราะอะไรหนอคน เท่านี้แหละ คนเรามันหลง...ไม่หลงมากหรอกหลงเท่านี้เปรตมันหลงแล้ว
ก็เลยมานั่งคิดดูว่า อ้อ...คนมันสั้นยาวไม่เสมอกัน ความสั้นความยาวของคนไม่เสมอกัน ก็มารู้สึก เอ้อ...วางเสียมันอย่างนี้แหละคนเราเพราะมันสูงมันต่ำไม่เสมอกันอย่างนั้น แกก็เลยวาง...เพราะเห็นอะไร เพราะเห็นว่าคนมันไม่เสมอกัน แต่ก่อนเห็นคนให้มันเสมอกัน คนไม่เสมอกันทำให้เสมอกัน มันเสมอไม่ได้ แกก็เป็นทุกข์มานั่งคิด เออ..ความจริงคนมันเป็นอย่างนั้น คนมันสั้นมันยาวไม่เสมอกัน มันจึงเป็นอย่างนี้ พอเห็นได้เช่นนี้ก็สบายเลยนะ สบายใจ
พวกเราก็เหมือนกันไปเห็นเหตุมันแล้วก็ไม่เห็นเหตุมันเป็นอย่างนั้น การจะทำให้มันเสมอกันอย่างนั้นหมดปัญญาที่จะต้องคิดแล้วเพราะมันแก้ไขไม่ได้ มันจะไปตัดแข้งตัดขาเขามันก็ไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่าความยึดมั่นอุปาทานจะให้มันเหมือนๆกัน พวกเรานี้ก็เช่นกัน ต่างคนต่างมีธุระหน้าที่ก็คงจะไม่เสมอกันหรอกนะ บางคนก็ช้าไปบ้าง บางคนก็เร็วไปบ้างสารพัดอย่าง มันเลยเกิดยุ่งยากเหมือนเปรตนี่ เราก็ชอบอยากจะไปเป็นเปรตอย่างนั้น
บางทีอาตมาก็เป็นเปรตเหมือนกัน แต่มันรู้สึกง่ายหรอกอ้าว...มันเป็นเปรตแล้วนี่เรา...เลิก...อย่างนี้....ทำไม...เพราะอาศัยลูกศิษย์ลูกหาน่ะ อยากจะให้เขาดีทำเป็นระเบียบเรียบร้อย บางทีก็เป็นทุกข์ ทุกข์แล้วก็รู้ว่าเออ...เราเป็นเปรตแล้วสอนเจ้าของไปเรื่อยๆ อย่างนั้นมันก็ยังเกิดเป็นเปรตอยู่บ่อยๆเหมือนกัน ไม่ค่อยยอมง่ายๆ จะต้องทำจนชำนาญๆไป ให้มันรู้เหตุรู้ผลมันจริงๆ
ดังนั้นเราจึงปล่อย คนนี้ทำอย่างนั้นคนนั้นทำอย่างนี้ก็ปล่อยก็วางไปเรื่อยๆ ทำไม...มันไม่เป็นเพราะเขามันเป็นเพราะเราเข้าใจไหม ใจเรามันไม่สะอาด นึกว่ามันเป็นเพราะคนนั้นคนนี้....ไม่ใช่ มันเป็นเพราะเรา คนไม่เสมอกัน เราอยากให้เสมอกัน เราคิดผิดอย่างนี้จะไปแก้ตรงไหน...ก็แก้เราสิ เห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นแล้วก็สบาย พวกเราในกลุ่มเดียวกันนี้ก็เหมือนกันอย่างนั้น
บางทีโดยมากก็พวกนักเรียนในโรงเรียนใหญ่ๆ เอานักเรียนมาให้หลวงพ่อสอน แหม...นักเรียน มันสอนยากเหลือเกินเจ้าค่ะ จะทำยังไง...มันดื้อ มันก็จริงอย่างนั้น อาตมาก็มาสอนนักเรียนสอนไปด่ามันไปเลยรับ...มันรับ สอนเด็กนักเรียนจบแล้วก็วกหันมาหาครูเรา ครูเราเป็นอย่างไรกันเล่ามีกี่คน...มี๕๐ คน ๓๐ คนเป็นอย่างไรสามัคคีกันดีไหม หรือเป็นอย่างไรสบายไหม ไม่ค่อยจะพูดนะ...มันเป็นอย่างนี้ ก็ไปโทษแต่เด็กนักเรียนน่ะ ก็เหมือนกับนั่งรถมอเตอร์ไซด์ล้มลง ก็นึกว่ามอเตอร์ไซด์พาเราล้ม ความเป็นจริงเรานั่นแหละพามาเตอร์ไซด์ลงถนน แต่มันพูดไม่ได้
อาตมาเลยสรุปว่า ท่านทั้งหลายน่ะคิดๆ ให้มันดีเสียนะ อันนั้นมันเป็นเด็ก แต่เราเป็นผู้ใหญ่ โดยฐานะแล้ว เด็กมันผิดก็ควรให้อภัย...มันไม่รู้เรื่องครูใหญ่ๆ ที่ไปทำผิดไม่ควรให้อภัยเสียแล้ว รู้อยู่ว่าผิดก็ยังไปทำให้มันผิดอยู่นี่น่ะ
เรื่องควรรู้เรื่องเราไม่เข้าไม่รู้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า สอนไม่รู้ท่านสอนให้รู้ได้ คนรู้แล้วไม่ทำตามที่ท่านสอนไม่ได้หลักมันเป็นอย่างนี้ ในกลุ่มเราคงจะมีมากเหมือนกันใช่ไหม คนไม่รู้พระพุทธเจ้าสอนให้รู้ได้ คนรู้แล้วไม่ทำตามท่านสอนไม่ได้ นี่ท่านจัดเป็นคนประมาท
ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมพวกเราจึงเดือดร้อน มันเดือดร้อนเพราะอันนี้เองเพราะไม่ทันดูตัวเรา ไปดูแต่อย่างอื่นโน้น ไปทำที่อื่นให้มันสะมันสวยให้มันเบิกมันบาน ตัวเราไม่ขูดไม่เกลาไม่สว่างสักทีนะ มันก็ยุ่งเรื่อยไปแหละโยม
มองไปทางไหนมันก็มืด เพราะอะไร เพราะตามันเสียมันมืดเหลือเกิน อะไรมันก็มืดไม่รับรู้สักอย่าง สีแดง สีเขียวไม่รับรู้ เลยไม่เห็น ตัด ปฏิเสธเลยว่าแสงไม่มี อย่างนี้มันก็ใช่ของคนตาบอดนะ ความเป็นจริงมันเป็นเพราะตาเราไม่สว่าง สีมันก็ไม่มี ถ้าตาเราสว่างสีมันก็เกิดขึ้นมา ถ้าเรารู้เรื่องอย่างนี้อันนี้เรามองไม่เห็นอย่างนั้น ดังนั้นเราจะไปทำอย่างอื่นเสียโดยมาก มันเป็นทุกข์
ที่มาประชุมกันวันนี้ไม่เอามากหรอก เอามากมันก็เอาไปอย่างนั้นแหละ อาตมาก็เทศน์ความจริงให้ฟังอย่างนี้ แต่บางทีก็เหนื่อยนะ บางทีข้าราชการบางกลุ่มมาฟังกันอย่างนี้เหมือนเราฟังอยู่นี้ ฟังเสร็จแล้วก็กราบลากลับบ้านก็เดินกันคุยไป แหม...ท่านเทศน์ให้ฟังถูกทุกอย่างนะแต่เราทำไม่ได้ อันนี้อาตมาก็เกือบจะหมดกำลังใจไปเหมือนกัน คล้ายๆเราทำอะไรมามากแล้วโยนลงน้ำเสียหมด
แต่ว่าอาศัยความอดทน อาศัยว่าคนมันไม่เสมอกัน ถ้าอาตมาจะทำความทุกข์ไว้ในใจก็กลัวมันจะเป็นเปรตก็เลยไม่ให้มันเป็น อดทนไว้ พิจารณาไว้อย่างนี้ อันนี้ก็เหมือนกัน ชีวิตของพวกเราทั้งหลายนี้ควรทำให้มันราบรื่น สิ่งที่มันราบรื่นมีอยู่ถ้าพูดถึงการใช้สอยทุกประการแล้วน่ะ โดยมากคนเราบ่นว่าเงินไม่พอใช้ จะได้เท่าไหร่มันจะพอใช้จะทำอย่างไร จะพูดแก้ปัญหาให้ฟังเสียหน่อยหนึ่ง
การหาเงินไม่ลำบากเท่าไหร่ แต่การใช้จ่ายนี่สำคัญมากที่สุด นี่หลักของมัน ท่านสอนนะพระพุทธเจ้าท่านสอนหาเงินโดยวิธีนั้นมันเป็นสัมมาอาชีวะ มีความพากเพียรพยายาม หามาแล้วจงเก็บงำให้เป็นประโยชน์ อะไรควรใช้ไม่ควรใช้อย่าให้ฟุ่มเฟือยไปเสีย อย่างนี้ท่านสอนเหลือเกิน แต่เราไม่ค่อยฟัง ถ้าเข้ากลุ่มแล้วหมดเท่าไหร่ก็เท่ากันไปกันอย่างนั้น
อาหารการอยู่กินน่ะสิ่งที่พอดีๆ... อาตมาไปเห็น "เซ็น" เขาที่เมืองนอก อาตมายังจับใจเลยโยมเขาทำดีกว่าอาตมาอีก เขากินข้าวนะ เขามีถ้วยหนึ่ง ภาชนะหนึ่ง ภาชนะที่สองใส่อาหาร ภาชนะที่สามใส่หวานนะ อาหารเขาก็จับมานี้คลุกเข้ากันแล้วก็ฉัน ฉันหมดแล้ว พอดีแล้ว ก็เอาน้ำเทใส่นั้นมาเทรวมนี่อีก เอาใส่ถ้วยหวาน แล้วมาเทใส่ล้างให้ดีๆ ยกใส่ลงไปหมดเลย แหม...อาตมายินดีเหลือเกิน...ไม่จน เรียบร้อยไม่มีอะไร กระโถนเขาก็ไม่ต้องใช้ ไม่มีบ้วนน้ำลาย ไม่มีอะไรเข้าไปในปากแล้วกินให้หมด แล้วก็นำกระดาษมาเช็ดเรียบร้อยมามองดูอาตมาแล้ว อาตมามันโง่มากเหลือเกินนะ บางทีใส่ครึ่งบาตรเหลือให้สุนัขกินตะพึดตะพือไปเลย มาเห็นความบกพร่องของเรา พระพุทธเจ้าให้เพียรอย่างนั้น ให้พยายาม
ถ้าเราจะทานจริงๆ มันไม่มากหรอกโยม จานหนึ่งสองจานอย่างนี้ กาแฟสักถ้วยหนึ่งก็พอเท่านั้นแหละ เดี๋ยวนี้เราแก้วหนึ่งยังไม่พอเลย หรือมันพอแต่กินเสียครึ่งหนี่งอีกครึ่งหนึ่งเอาตั้งไว้บนโต๊ะนั้น จานข้าวก็กินเสียครึ่งเดียวแล้วเอาตั้งไว้นั่นแหละ พอเดินออกไป จะให้เขามอง...นี่คือใคร...ดีใจเสียหน่อยหนึ่งนะ จะไปกินหมดก็กลัวมันจะโกโรโกโสเกินไป อย่างนั้นเลยฟุ่มเฟือย ญาติโยมเราทำบุญก็เหมือนกัน อาตมาไปดูแล้ว ฉันบิณฑบาต...อาหารเต็ม ทำให้ไม่เกิดประโยชน์ โยมทำได้...แต่มันไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร...เอาล่ะวันนี้สมควรแก่เวลาแล้ว
วันนี้เป็นวันธรรมสวนะ ซึ่งประกอบด้วยเดือน ๑๐ เพ็ญภาษาประเพณีบ้านเราเรียกว่า "บุญข้าวสาก" (สลาก) ศัพท์เดิมมาจากคำว่า ข้าวสลากภัต ตามภาษาบ้านเราเรียกว่า "ข้าวสาก" (ภาษาท้องถิ่นอิสาน) ความเป็นจริง คำว่า "สาก" มันออกมาจาก "สลาก" สลากภัต... ประเพณีบรรพบุรุษของเราทั้งหลายนับถือกันว่าเป็นบุญในกลางพรรษา จะมีการทำบุญกันในช่วงเดือน ๙ ดับเดือนเพ็ญ ๑๐
ในสมัยก่อนนั้น วันนี้จะมีเทศน์ตลอดวัน แจกหนังสือเป็นกัณฑ์ให้พระภิกษุสามเณรกันทุกปี ข้าวสลากภัต... เนื่องมาจากญาติโยมทั้งหลายถวายทาน จับสลากกัน คือญาติโยมเขียนชื่อพระภิกษุสามเณรลงในบาตร แล้วให้ญาติโยมจับสลาก ใครจับถูกพระองค์ไหนก็เอาไทยทานไปถวายพระภิกษุองค์นั้น เรียกว่า "ข้าวสลาก" เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลหาเปรตญาติทั้งหลาย ซึ่งเป็นบุพการี ระลึกถึงคุณบิดามารดา ซึ่งเป็นที่นับถือของกุลบุตรลูกกหลาน ตามประเพณีของเราเรียกว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายที่ล่วงลับไปนมนาน และสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่ดับขันธ์ไปสู่ปรโลกหน้า และที่ยังมีจิตวิญญาณเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร
ในกลางพรรษาแต่ละคราวทำบุญครั้งหนึ่ง เรียกว่า บุญข้าวสลาก บ้านเราแต่ก่อนห่อข้าวสาก (ประเพณีชาวอิสาน) ห่อข้าวไปวางไว้ตามรอบๆ วัด หรือรอบๆ บ้านเรา เป็นประเพณีของพวกเราทั้งหลายเคยทำกันมาทุกๆ ปีมิได้ขาด แล้วก็เอาเรื่องชาดกต่างๆ มาเทศน์ เกี่ยวกับนิยายของบรรพบุรุษทั้งหลาย เอามาเทศน์สู่กันฟัง ปีหนึ่งๆ จะต้องทำกัน และมีกฎเกณฑ์ว่าวันนี้พวกเราที่เป็นชาวพุทธ เป็นลูกเป็นหลานของบิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้วได้พากันมาให้ทานพ่อแม่ โบราณเขาถือว่าวันนี้ยมบาลปล่อยเปรตปล่อยสัตว์นรกมารับของแจกทาน ในศาลาโรงธรรม
สมัยก่อนไม่เรียกว่า "ศาลาโรงธรรม" แต่เรียกว่า "หอแจก" คือหมายความว่าเป็นสถานที่เราชาวพุทธบริษัทได้มาทำบุญให้ทาน ถวายทาน ในสถานที่นั้นเรียกว่า "หอแจก" เพราะเป็นโรงทานสำหรับแจกอาหารบริโภคขบฉัน เป็นสถานที่แจกทาน ทุกวันนี้เรียกว่า "ศาลาโรงธรรม" เป็นสถานที่ฟังธรรม อธิบายธรรมะ เกี่ยวกับการแนะนำพร่ำสอนกุลบุตรลูกหลาน พวกเราทั้งหลาย เราที่ทำกันมาอย่างนี้เรื่อยๆ ตลอดมา เรียกว่าการทำบุญ รวมเป็นบุญอันเดียวกัน ชื่อของบุญต่างกัน แต่ว่ามารวมเป็นบุญอันเดียวกัน เหมือนกับคนเราถึงว่าชื่อจะแตกต่างกัน ก็ชื่อว่าเป็นคนธรรมดาอันเดียวกัน แต่ชื่ออาจจะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นคนเหมือนกัน
การทำบุญสุนทานเรียกว่า "บุญ" "บุญ" คือความดี สร้างความดี สร้างความดีเมื่อใดนั้นแหละท่านเรียกว่ามันเป็นบุญ เรียกว่าได้บุญ คนเราไม่เข้าใจเรื่องบุญ มาทำบุญก็นึกว่าได้บุญ กลับบ้านก็ไม่เอาบุญไปด้วย พระพุทธองค์ท่านสอนว่าให้เอาบุญกลับไปด้วย จึงได้มาฟังธรรมกัน ฟังธรรมแล้วก็รู้จักผิด รู้จักถูกแล้วก็จำคำนั้นไปปฏิบัติ รักษากาย รักษาวาจา รักษาใจเรา อยู่ที่บ้าน เรียกว่าเป็นผู้มีบุญ ถ้าใครเป็นผู้มีบุญก็จะมีความสุขความสบายในครอบครัวตลอดถึงหมู่บ้าน ถ้าบ้านไหนมีบุญ ไม่ใช่บุญแบบบุญบ้องไฟ ซึ่งมีแต่การตีรันฟันแทงกัน อันนี้ชื่อว่าบุญแต่ว่าไม่เป็นบุญ
คำที่ว่าบุญคือความดี พี่น้องทั้งหลายก็ว่ามาเอาบุญ กลับไปบ้านลูกหลานถามว่า "มาแต่ไหนแม่?" ตอบลูกว่า "มาจากการเอาบุญ" แล้วลูกถามต่อไปอีกว่า "บุญอยู่ไหนแม่" ตอบลูกไม่ได้ซะแล้ว ได้แต่ถ้วยเปล่ากลับบ้าน ได้แต่กล่องข้าวเปล่ากลับบ้าน พระฉันหมด เพราะพวกเราไม่รู้จักคำว่าบุญกัน จึงตอบลูกไม่ได้ เลยไม่เคยได้บุญกัน แล้วก็มีคนบางคนเคยบ่นว่าทำบุญไม่เคยเห็นได้บุญอะไร เอาข้าวไปก็หมดข้าว เอาแกงไปก็หมดแกง ไม่ได้บุญอะไร อย่างนี้เรียกว่า คนไม่รู้จักบุญ เลยไม่ได้บุญสักที
คำว่า "บุญ" ก็ คือความดี ความดีที่เกิดจากการปฏิบัติเอาการละบาปทางกาย ทางวาจา ทางใจของเรา เข้าใจแล้วก็นำไปปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าจะมาเอาบุญแต่ในวัด ไปบ้านเป็นพ่อบ้านแม่บ้านเป็นลูกเป็นหลานในครอบครัว ก็ทำให้ครอบครัวหมู่บ้านของเราอยู่เย็นเป็นสุข เพราะพูดกันดี ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน มีความถูกต้องสามัคคีกัน แม่บ้านก็ทำหน้าที่ของแม่บ้านให้ถูกต้องพ่อบ้านก็ทำหน้าที่ของพ่อบ้านให้ถูกต้อง ต่างคนต่างก็พยายามสร้างความดีกันทุกคน ความเลวร้ายก็ไม่เกิดขึ้นมา นี้เรียกว่าบุญบุญคือความดี ถ้าไปตั้งอยู่ที่ไหนก็สบาย
ถ้าใจเราเป็นบุญ ความจริงต้องให้ใจของเรารับเอาบุญ รับเอาความดีไปประพฤติปฏิบัติชำระบาปคือความชั่วทั้งหลายออกจากใจของเรา อย่าให้มีราคะ โทสะ โมหะ ให้อดให้กลั้น ให้หมั่นเพียร ให้ถูกต้อง สามัคคีกลมเกลียวกันทั้งพ่อแม่ลูกหลานบ้านเมือง มันก็จะเห็นบุญได้ ทำไมจะไม่เห็น คือความดีมันตั้งขึ้น มีขึ้นอยู่ที่ไหน บ้านนั้นก็อยู่เย็นเป็นสุข นี้ชื่อว่าเราได้เอาบุญไปด้วย เอาไปประพฤติปฏิบัติถ้าไม่ได้ประพ
ถ้าใจเป็นบุญ จะไปอยู่ที่ไหนก็มีความดีเกิดขึ้นมา ให้พากันเข้าใจคำว่าบุญ ถ้าคนไม่รู้จักบุญก็ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่รู้ว่าบุญอยู่ที่ไหน เพราะว่าบุญไม่เป็นวัตถุ คือจิตใจเรามันเป็นบุญ มีเมตตาความรักใคร่ หวังให้ผู้อื่นเป็นสุข มีความกรุณา ความสงสาร มนุษย์ทั้งหลายเกิดขึ้นมาร่วมโลกอันเดียวกัน เป็นญาติกัน ญาติคือความแก่ ญาติคือความเจ็บ ญาติคือความตาย
พระพุทธเจ้าของเรา พระองค์สอนให้กระทำในปัจจุบัน ให้มีบุญในปัจจุบัน อย่างเราทำบุญอุทิศไปหาพ่อแม่ของเรา ไม่รู้ว่าพ่อแม่เราอยู่ไหน ไม่มีใครพาไปดูได้ เพราะไม่รู้จัก ฉะนั้นพระพุทธองค์ของเราท่านสอนว่า อย่าไปเอาบุญเมื่อตาย... มันไม่รู้จัก ทำบุญแล้วได้รับหรือไม่ได้รับก็ไม่รู้จัก เพราะอะไร? เพราะไม่ได้ทำไว้ในปัจจุบัน ผู้ตายไปแล้วไม่รู้ว่าไปเกิดที่ไหน หรือว่าไม่เกิดก็ไม่รู้จัก ทำบุญกันไปแบบไม่รู้มันก็เกิดความสงสัย
พระพุทธองค์ของเราสอนว่าให้ทำเมื่อมีชีวิตนี้แหละ เป็นคนใจดี เป็นคนใจงาม เป็นคนใจกว้างขวาง ไม่อิจฉาพยาบาทกัน ให้ความสุขซึ่งกันและกัน ทุกคนถ้าเข้าใจธรรมะอย่างนี้ บุญมันก็เกิดขึ้นมาเป็นบุญ ความดีที่ปราศจากโทษนั้นแหละชื่อว่า "บุญ" ถ้าใครรู้จักความดีที่ปราศจากโทษ คนนั้นก็รู้จักตัวบุญ บุญนั้นมันเกิดขึ้นในจิตใจของเรา
ฉะนั้น วันนี้ท่านจึงถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ที่จะปล่อยสัตว์นรกทั้งหลายมารับไทยทานกับลูกหลาน ก็เปรียบประหนึ่งว่าตัวเรานั้นแหละปล่อยตัวเรา คือเรามาวัดวันนี้ เป็นวันบุญข้าวสลาก ก็พยายามมากัน ถึงจะยุ่งยากก็อุตส่าห์มา ปรารภตัวพ่อแม่เราขึ้นเป็นประธานว่าทำบุญอุทิศให้พ่อแม่ เราเกิดมาจากพ่อแม่ทุกคน ถ้าพูดถึงพ่อแม่แล้วก็คิดถึง ก็เลยเป็นเหตุให้มาวัด ถึงจะมีภาระยุ่งยากที่บ้านก็อุตส่าห์มา ลาการ ลางานมา ก็เพื่อทำจิตใจของเราให้สงบระงับ เพื่อให้เป็นบุญเป็นกุศล ให้ใจดี ใจงาม ใจกว้างขวางให้ทำซะในปัจจุบันนี้ดีกว่าวันหน้า ทำวันนี้ดีกว่าวันพรุ่งนี้ ความผิดทั้งหลายที่เกิดมาในเรา เราก็รู้จักในขณะที่เรามีชีวิตอยู่ ความชั่วทั้งหลายที่มันหมดไป ที่เราจะละก็รู้จักในเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ นี้เรียกว่า "ละบาป บำเพ็ญบุญ"
พระพุทธศาสนาสอนให้พวกเราทั้งหลายกระทำกันอย่างนี้อยู่กันฉันพี่น้องไม่ให้เป็นอื่น ให้ความสุขคนอื่นก็คือให้ความสุขเราผู้อื่นได้รับความสุขก็เหมือนเราได้ความสุข ในชีวิตหนึ่งเกิดมาอย่างมากก็ ๑๐๐ ปี เป็นอายุขัยของมนุษย์ แต่ไม่ค่อยถึงหรอกในเมื่อเราเกิดมาเราไม่ได้เอาอะไรมา ไม่ได้มาเอาเรือกสวนไร่นา แต่สักว่าเราเกิดมาก็ต้องทำกิน มีถิ่นฐานบ้านเรือน มีไร่นาทำไปได้อาศัยอยู่กินไปเพื่อเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยให้ชีวิตเป็นอยู่ได้ เพื่อได้ทำบุญ เพราะว่าโลกที่เราอยู่อาศัยนี้มันไม่ใช่บ้านเรา ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยที่แท้จริง ถึงจะเป็นของเราก็ไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง เป็นตัวเราก็ไม่ใช่ตัวเราอย่างแท้จริง
อันนี้จะเห็นได้ง่ายๆ ว่า เราเคยมีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย มีพี่น้องมันไม่ยั่งยืน เดี๋ยวก็จากหายไป ไม่รู้ว่าไปไหน ผลที่สุดก็เหลือแต่ผู้เกิดภายหลัง เหมือนกันกับผลไม้เป็นดอกแล้วก็เป็นผลเป็นผลเล็กๆแล้วก็ห่าม ห่ามแล้วก็เละ แล้วก็ร่วงหล่นไป มันเป็นไปในทำนองนี้ คนเราก็ไม่แตกต่างจากผลไม้ แต่ว่าเราไม่ค่อยรู้จัก เมื่อเกิดมาแล้วก็ไปยึดมั่นถือมั่นว่าอันนี้เป็นตัวเราอย่างแน่นอนถึงอย่างไรก็อยู่ไม่ได้ในโลกนี้ จำเป็นต้องลาโลกนี้ไปเบื้องหน้า คนเราเกิดมาจึงทุกข์มาก ทุกข์เพราะว่าไปหมายมั่นของที่ไม่ใช่ของตนว่าเป็นของตน เมื่อเกิดมาแล้วไม่อยากแก่สักคน ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากไปทางไหน แต่ก็ไม่ได้ตามปรารถนา เราจำเป็นก็ต้องไป จำเป็นต้องหนี ถึงแม้จะเรียกร้องให้อยู่ ไม่อยากหนีก็ต้องหนี ผู้ไม่อยากหนีร้องไห้อยากอยู่ก็ไม่ได้อยู่ เป็นเรื่องจำเป็นของมันอย่างนี้
ฉะนั้นพระบรมศาสดาของเราท่านจึงบอกว่า "อย่าประมาท" เป็นหนุ่มเป็นสาวบางคนก็หลง ไม่รู้ว่ามาจากไหน จะไปไหนไม่รู้จักผลที่สุดพออายุแก่หน่อยก็พอรู้จักหรอก แต่ช่วงที่อยู่ในวัยหนุ่มๆ นี้ก็เพลิดเพลินมาก พอแก่มาสักหน่อยฟันมันโยก ฟันมันหลุด เอ้า!...ลองดูทีนี้ เดินไปตามทางเด็กมันบอกร้องเพลงให้มันฟัง ก็ไม่อยากร้องหรอกคือมันไม่เพลิดเพลินเหมือนแต่ก่อน มันไม่อยากจะเพลิดเพลิน เพราะมันไม่ใช่ที่อยู่ของเรา มันเสื่อมไปนี้แหละมันไม่ใช่ของเราแท้ๆ ถ้าไม่ใช่ของเราจะทำอย่างไร?
พระพุทธองค์ท่านว่าให้สร้างความดี สิ่งที่นำพาไปสู่ที่ดีนั้นแหละ ถ้าพูดถึงธรรมะอันสูงนั้น พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าให้พ้นจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่พวกเราก็ไม่อยากจะไปกัน... ไปพระนิพพาน...ว่ามันไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ก็ไม่อยากไป กลัวจะไม่เห็นหน้าเพื่อนฝูง กลัวจะไม่เห็นหน้าลูกหลาน เรามันติดอยู่อย่างนี้ เพราะไม่ได้ฟังธรรมะอันแท้จริง เห็นอะไรก็ห่วงใยอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา ใจเราเศร้าหมองไม่ได้ผ่องใส ไม่ได้สะอาด มันขุ่นมัว ใจขุ่นมัวเมื่อใดการพูดเราก็เป็นอกุศลกรรม การกระทำของเราก็เป็นบาป ไม่ผ่องใส เราไม่ต้องดูจากที่อื่น ดูที่ตัวของเรานี้แหละ เวลาเราโกรธทำไมมันถึงพูดไม่เพราะ ไม่น่าฟัง กรรมนี้แหละมันบังคับให้ทำความชั่วอยู่เรื่อยไป
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าของเราท่านจึงสอน สอนสิ่งที่เราเป็นอยู่นี้แหละให้รู้จักเพราะเราไม่ค่อยรู้จัก สมัยก่อนพอถึงบุญข้าวสลากบุญข้าวประดับดิน ก็เอาหนังสือชาดกมาอ่าน เทศน์ไปโน้น เทศน์ไปเรื่องของคนอื่น ไม่เทศน์เรื่องของพวกเราสักที มันก็เลยไม่รู้เรื่องของตัวเอง
บุญข้าวสลากนี้ตามประวัติกาลมันเกิดมาจากบุคคล มันเกิดมาจากเรื่องของเมียน้อยกับเมียหลวง มีคนๆ หนึ่ง มีสามีแล้วแต่ไม่มีลูกด้วยกัน มีแต่สองสามีภรรยาอยู่ด้วยกัน ก็กลัวว่าจะไม่มีผู้สืบวงศ์ตระกูล อยากจะได้ลูกเพื่อไว้รับมรดก เมียหลวงก็เลยไปหาเมียน้อยมาให้ผัว เพราะว่าอยากได้ลูกเพื่อจะได้สืบวงศ์ตระกูล พอได้เมียน้อยมาอยู่ด้วย เมียน้อยก็ตั้งท้อง ฝ่ายเมียหลวงกลัวว่าเมียน้อยจะได้รับมรดกคนเดียว จึงคิดจะทำลายลูกของเมียน้อย คือหายามาทำลายครรภ์ของเมียน้อยให้ตกไป (แท้งลูก) ทำอยู่หลายครั้ง
ครั้งสุดท้ายได้เอายาพิษให้เมียน้อยกินเป็นเหตุให้เมียน้อยตายทั้งลูกทั้งแม่ ก่อนที่เมียน้อยจะตายก็รู้ว่าเมียหลวงเป็นผู้ทำลายตัวและลูก จึงผูกพยาบาทอาฆาตไว้ว่า เกิดชาติไหนๆ ก็ขอให้ได้ฆ่าลูกของเมียหลวง และตัวของเมียหลวง เพื่อเป็นการแก้แค้นด้วย จึงเป็นเหตุให้เกิดการจองเวรกันขึ้น ระหว่างเมียน้อยกับเมียหลวง
พอเกิดชาติใหม่ เมียหลวงเกิดเป็นไก่ เมียน้อยเกิดเป็นแมว แมวก็ไปกินไข่ของไก่ และกินตัวไก่ด้วย ตายจากชาตินั้นคนหนึ่งเกิดเป็นเนื้อ คนหนึ่งเกิดเป็นเสือ ผูกเวรกันไปเรื่อยๆ ตามทำลายกันอยู่ทุกๆ ชาติ ทุกๆ ภพ ครั้งสุดท้ายคนหนึ่งเกิดมาเป็นคน คนหนึ่งเกิดมาเป็นยักษ์ ลูกของคนเกิดมานางยักษ์ก็จับไปกิน หลายต่อหลายครั้ง พอดีตั้งครรภ์อีกครั้งหนึ่งก็คิดว่าจะไปคลอดลูกที่บ้านแม่ของตน ฝ่ายนางยักษ์พอทราบข่าวว่านางมนุษย์จะไปคลอดลูกที่บ้านแม่ก็เลยตามไป
นางมนุษย์ยังไม่ถึงบ้านแม่ก็คลอดลูกในระหว่างทาง นางจึงอุ้มลูกไปที่สระน้ำ ขณะที่นางอุ้มลูกอยู่ ฝ่ายสามีก็ลงไปอาบน้ำในสระ นางยักษ์ ก็มาถึงพอดี ก็ตรงเข้าไปจะแย่งลูกของนางมนุษย์คนนั้น นางมนุษย์พอเห็นนางยักษ์มาแย่งลูกของตัวก็วิ่งหนี นางยักษ์ก็วิ่งตาม เป็นเหตุบังเอิญอย่างไรไม่ทราบ นางมนุษย์ก็วิ่งเข้าไปในวัดเชตวัน อันเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ขณะนั้นพระพุทธองค์กำลังแสดงพระธรรมให้พุทธบริษัทฟังอยู่ นางมนุษย์พอวิ่งเข้าไปถึงก็ เอาลูกไปวางไว้ตรงหน้าพระพุทธเจ้านางยักษ์ก็วิ่งตามไป พระองค์ก็บอกให้หยุด
พระพุทธองค์ตรัสว่า เธอทั้งสองคนในอดีตกาลเคยจองเวรกันมาหลายภพหลายชาติแล้ว เวรจะไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรจะระงับได้ด้วยการไม่จองเวรกัน นางยักษ์พอได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าก็เกิดความกลัว เกิดความละอายต่อบาป ก็รับศีลห้าจากพระพุทธองค์ว่า จะไม่เบียดเบียนกันต่อไปอีก พระพุทธองค์ก็เลยให้นางมนุษย์เอานางยักษ์ไปเลี้ยงดูด้วย
นางยักษ์มีความรู้พิเศษอย่างหนึ่ง คือสามารถรู้ว่าปีไหนน้ำมาก ปีไหนน้ำน้อย นางมนุษย์ก็ได้อาศัยนางยักษ์จึงรู้ว่าปีไหนน้ำมากก็ทำนาในที่ดอน ปีไหนน้ำน้อยก็ทำนาในที่ลุ่ม นางมนุษย์ทำนาไม่ผิดหวัง น้ำน้อยก็ได้ผล น้ำมากก็ได้ผล พวกชาวบ้านสงสัยจึงถาม ก็ทราบเรื่องราวทั้งหมด ที่ทำนาได้ผลดีก็เพราะนางยักษ์เป็นผู้บอกว่าฝนจะมากหรือจะน้อยประการใด ถ้าพวกชาวบ้านทั้งหลายอยากอยู่กินอุดมสมบูรณ์ ก็มาช่วยเลี้ยงดูนางยักษ์นี้ด้วยกัน จึงเป็นเหตุให้มีการบนบานกันมาตามบ้านเล็กเมืองน้อย เช่นมีปู่ตา ศาลตาแฮกขึ้นมา พอถึงฤดูทำนาก็มีการเลี้ยงดูปู่ตา เลี้ยงตาแฮก เป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากเรื่องเมียน้อยกับเมียหลวงนี้เอง
พอถึงกาลของงานบุญข้าวสลากภัต ก็เอามาให้นางยักษ์กินตามสบาย อุดมสมบูรณ์ ฟ้าฝนก็ตกถูกต้องตามฤดูกาล ได้ทำไร่ทำนาไม่ผิดหวัง การทำอย่างนี้จนมาถึงเราทุกวันนี้ จึงเป็นเหตุให้มีปู่ตาย่าแฮก ทุกอย่างต้องมีการบวงสรวง เป็นประเพณีเนื่องมาจากเรื่องของนางยักษ์นี้เอง
อันนี้เป็นนิทาน ท่านยกตัวอย่างให้เราได้เห็น พระพุทธองค์ท่านไม่สอนไปอย่างนั้น ท่านสอนว่า ให้พวกเรามีศีลธรรมให้มีธรรมะอยู่ ในใจของเราให้มี "ขันติ" ความอดทน ให้มี "วิริยะ" ความเพียรให้ มี "สมาธิ" ความตั้งใจมั่น ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลงให้มันหายคลายจากไป ให้อ่านเข้ามาที่ตัวเรา อย่าอ่านข้างนอก
พระพุทธองค์ท่านสอนว่าให้มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา สอนศีลสอนสมาธิให้ เป็นหลักของพุทธศาสนา ศีลคืออะไร? คือการไม่เบียดเบียนกัน ไม่ลักขโมยของกันและกัน ไม่อิจฉาพยาบาทกัน ความเดือดร้อนก็ไม่เกิดขึ้นมา ต่างคนต่างก็มีศีล มีกาย วาจา ใจ ข้อประพฤติปฏิบัติไม่ต้องไปเอามาจากที่อื่น ให้เอาจากตัวเรา "สมาธิ" คือความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหวในทางที่ถูก มีหน้าที่การงานที่ถูกต้อง พระองค์ให้เราขยันหมั่นเพียรด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา รู้จักหน้าที่การงานของเราทุกประเภท ให้หมั่นขยัน อย่าเป็นคนหละหลวม นี้ก็เป็นสมาธิอันหนึ่ง
"ปัญญา" ให้เป็นคนฉลาดเฉลียว สามารถสอนตัวเราให้พ้นจากความชั่วทั้งหลายได้ เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ให้พระท่านฝึกทุกวันนี้ ฝึกญาติโยมฝึกลูกหลานให้ทำวัตรสวดมนต์ รู้จักกราบรู้จักไหว้ รู้จักนั่งสมาธิ ฝึกหัดให้มีศีลธรรม เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย เป็นพ่อเป็นแม่เขาก็ให้รู้จักสอนลูกหลาน ลูกหลานก็ให้เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย อยู่ในครอบครัวก็อย่าไปทะเลาะเบาะแว้งเถียงกัน ให้ใจดี ใจงาม ให้อดทน แต่โดยมากไม่เป็นอย่างนี้ บางทีสามีภรรยาทะเลาะกันทุกวันก็ได้ ร้องไห้ทุกวันก็มี แต่หนีไม่ได้ มันทุกข์ยากลำบาก อยู่ด้วยกันอย่างไม่มีศีลธรรมก็เป็นอย่างนี้ มันไม่สบาย
งามเบื้องต้นคือศีล งามท่ามกลางคือสมาธิ งามเบื้องปลายคือปัญญา คนงามถ้ากายงามมันก็งาม กายงามคือการไม่กระทำบาปทางกาย วาจาพูดไม่ตลบตะแลง พูดคำซื่อสัตย์สุจริต ใจก็ให้เป็นใจดี ใจงาม กายก็งาม วาจาก็งาม ถึงจะเอาสีทาปากแดงถ้าใจไม่ดีมันก็ไม่งามหรอก ทาปากแดง ทำเล็บแดง มันงามแต่ข้างนอก ส่วนใจเป็นเปรตเป็นผี มันก็งามไม่ได้ อันนั้นมันข้างนอกพระพุทธองค์ท่านให้ "โอปนยิโก...น้อมเข้ามา" น้อมเข้ามาใส่ใจ รู้เฉพาะตัวเรา เรื่องของเราตัดสินเอาเองก็ได้ เราทำชั่วเราก็รู้จัก เราทำดีเราก็รู้จัก เราทำผิดเราก็รู้จัก เราทำถูกเราก็รู้จัก มันรู้จักที่เราให้ฝึกเราไม่ให้ฝึกอย่างอื่น สามารถเข้าสู่ศีลธรรมได้
พระพุทธองค์ท่านว่าให้นับถือคุณพระศรีรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เป็นสรณะที่พึ่งของพวกเรา อย่าไปพึ่งอย่างอื่น ถ้าไปถืออย่างอื่นไม่มีอะไร ไม่เป็นแก่นเป็นสารบางคนถ้าทุกข์มาถึงก็ไปไหว้ต้นไม้ซะ ไปไหว้ภูเขา จอมปลวก สิ่งเหล่านี้เป็นที่พึ่งไม่ได้ เป็นการพึ่งสิ่งที่ผิด ไม่ดี ไม่ต้องพูดอื่นไกล ถ้าคนถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ก็ไม่ตกนรกทุกวันนี้แล้วแต่ใครจะถือ แล้วแต่ใครจะประพฤติปฏิบัติ
ถ้าเจ็บป่วยมาก็ไปโทษแต่ข้างนอก ถ้าเจ็บป่วยมาก็ให้กินหยูกกินยา แต่ถ้าเราไปหาคนที่ถือผี... ก็มีผี ไปหาพวกไม่ถือผี... ก็ไม่มีผี อย่างพวกฝรั่งเขาไม่รู้จักผีเลย ไม่รู้ว่าผีเป็นอย่างไร นั่งอยู่กับคนตายสองต่อสองตลอดคืนเขาไม่กลัว พวกเราพ่อตายก็กลัวอันนี้ไม่ถูก เป็นพุทธบริษัทยังไม่รอบคอบอะไร
พระพุทธองค์ท่านให้กลัวในสิ่งที่ควรกลัว ไม่ให้กลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว ให้พากันเข้าสู่ศีลธรรม ให้พากันเข้าถึงพระรัตนตรัยมันก็ดีขึ้นเท่านั้นแหละ มันก็ไม่เป็นเปรตเป็นผีเท่านั้นแหละ เลิกด่าทอกัน ให้มีศีลมีธรรม
ปีนี้อาตมาสอนคนในฤดูพรรษามาให้ปฏิบัติเอาดี ให้ว่า "ดี" ไว้ ถ้ามันโกรธมาจะด่าคนก็ว่า "ดี" ไม่ให้ว่าอย่างอื่น ให้ว่าดี มันก็ดีเท่านั้นแหละ...ลองดู ส่วนมากไม่ฝึกตัวเองสักที เวลาโกรธขึ้นมาก็พูดแต่คำเจ็บๆ แสบๆ อย่างนี้ไม่ดี เรานี้แหละเป็นพ่อเป็นแม่แทนพ่อแม่ของเราที่ล่วงลับไปแล้ว ให้พากันสร้างสมอบรมต่อๆ ไป ให้พากันมีศีลมีธรรม
ขอให้คำขวัญแก่โยมทั้งหลาย และลูกศิษย์ใหม่ที่เดินทางจากลอนดอน มาพักอยู่ที่วัดหนองป่าพง ขอให้ทำความเข้าใจในธรรมะที่ได้ศึกษาแล้ว ที่วัดหนองป่าพงนี้ โดยย่อก็คือ ให้ปฏิบัติให้พ้นทุกข์ในวัฏฏสงสาร ขอให้โยมจำไว้ในใจว่า อารมณ์ทั้งหลายนั้น จะเป็นอารมณ์ที่พอใจก็ตาม หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจก็ตามอารมณ์ทั้งสองอย่างนี้ มันเหมือนงูเห่า งูเห่ามันมีพิษมากถ้ามันฉกคนแล้ว ก็ทำให้ถึงแก่ความตายได้ อารมณ์นี้ก็เหมือนกับงูเห่าที่มีพิษร้ายนั้น อารมณ์ที่พอใจก็มีพิษมากอารมณ์ที่ไม่พอใจก็มีพิษมาก มันทำให้จิตใจของเราไม่เป็นเสรี ทำให้จิตใจไขว้เขว จากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า
วันนี้จึงขอให้โอวาทย่อๆ แก่โยม ขอให้เป็นผู้มีสติอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนก็ให้นอนด้วยสติ นั่งด้วยสติ เดินด้วยสติ ยืนด้วยสติ จะพูดก็พูดด้วยสติ จะทำอะไรๆ ก็ให้มีสติอยู่ด้วยทั้งนั้น
เมื่อมีสติแล้ว สัมปชัญญะความรู้ตัวมันก็จะเกิดขึ้นมา สติกับสัมปชัญญะเป็นของคู่กัน เมื่อทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นพร้อมกันแล้ว ก็จะนำปัญญาให้เกิดตามทีนี้เมื่อมีทั้งสติ สัมปชัญญะปัญญาแล้ว ก็จะเป็นผู้ที่ตื่นอยู่ ทั้งกลางวันและกลางคืน
ธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนนั้น ไม่ใช่ธรรมะที่เพื่อฟังเฉยๆหรือรู้เฉยๆ แต่เป็นธรรมะที่ต้องปฏิบัติ ต้องทำให้เกิดขึ้น ต้องทำให้มีขึ้นในใจของเราให้ได้ จะไปที่ไหนก็ให้มีธรรมะ จะพูดก็ให้มีธรรมะ จะเดินก็ให้มีธรรมะ จะนอนก็ให้มีธรรมะ จะทำอะไรๆ ก็ให้มีธรรมะทั้งนั้น
คำว่า "มีธรรมะ" นี้ก็คือ จะทำอะไรก็ตาม จะพูดอะไรก็ตาม ให้ทำด้วยปัญญา ให้พูดด้วยปัญญา ให้นึกคิดด้วยปัญญา ผู้ใดมีสติ สัมปชัญญะ ควบกับปัญญาอยู่ตลอดเวลาแล้ว ผู้นั้นย่อมอยู่ใกล้พระพุทธเจ้าทุกเมื่อ
ดังนั้น แม้เมื่อโยมจากวัดหนองป่าพงนี้ไปแล้ว ก็จงเป็นผู้ปฏิบัติ ให้ธรรมะทั้งหลายมารวมอยู่ที่ใจ มองลงไปที่ใจ ให้เห็นสติ ให้เห็นสัมปชัญญะ ให้มีปัญญา เมื่อมีทั้งสามอย่างนี้แล้ว มันจะมีการปล่อยวาง รู้จักเกิดแล้วมันก็ดับ ดับแล้วมันก็เกิด เกิดแล้วมันก็ดับ
ที่เรียกว่า "เกิดๆ ดับๆ" นี้คืออะไร คืออารมณ์ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป ดับแล้วมันก็เกิดขึ้นมา ในทางธรรมะเรียกว่าการเกิดดับ มันก็มีเท่านี้ ทุกข์มันเกิดขึ้นแล้ว ทุกข์มันก็ดับไป ทุกข์ดับไปแล้ว ทุกข์ก็เกิดขึ้นมา นอกเหนือจากนี้ไป ก็ไม่มีอะไรมีแต่ทุกข์เกิด แล้วทุกข์ก็ดับไป มีเท่านี้
เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว จิตของเราก็จะเห็นแต่การเกิด-ดับอยู่เสมอ เมื่อเห็นการเกิด-ดับอยู่เสมอ ทุกวันทุกเวลา ตลอดทั้งกลางวัน ตลอดทั้งกลางคืน ตลอดทั้งการยืน เดิน นั่ง นอน ก็จะเห็นได้ว่ามันไม่มีอะไรจริงๆ มีแต่เกิด-ดับอยู่เท่านี้เอง แล้วทุกอย่างมันก็จบอยู่ตรงนี้
เมื่อเห็นอารมณ์เกิด-ดับอย่างนี้อยู่เสมอไปแล้วจิตใจก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เพราะเมื่อคิดไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรมากมาย มันมีแต่การเกิดแล้วก็ดับ ดับแล้วก็เกิด เกิดแล้วก็ดับ มันมีอยู่เท่านี้ ฉะนั้นเมื่อคิดแล้วก็ไม่รู้จะไปเอาอะไรกับมัน พอคิดได้เช่นนี้ จิตก็จะปล่อยวางปล่อยวางอยู่กับธรรมชาติ มันเกิดเราก็รู้ มันดับเราก็รู้มันสุขเราก็รู้ มันทุกข์เราก็รู้ รู้แล้วไม่ใช่ว่าเราจะไปเป็นเจ้าของสุขนะ หรือเมื่อทุกข์ขึ้นมา เราก็ไม่เป็นเจ้าของทุกข์เหมือนกัน เมื่อไม่เป็นเจ้าของสุข ไม่เป็นเจ้าของทุกข์มันก็มีแต่การเกิด-ดับอยู่เท่านั้น ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติของมันอย่างนั้นแหละ เพราะมันไม่มีอะไร
อารมณ์ทั้งหลายที่ว่ามานี้ เหมือนกันกับงูเห่าที่มีพิษร้าย ถ้าไม่มีอะไรมาขวาง มันก็เลื้อยไปตามธรรมชาติของมัน แม้พิษของมันจะมีอยู่ มันก็ไม่แสดงออก ไม่ได้ทำอันตรายเรา เพราะเราไม่ได้เข้าไปใกล้มัน งูเห่าก็เป็นไปตามเรื่องของงูเห่า มันก็อยู่อย่างนั้น
ดังนี้ ถ้าหากเป็นคนที่ฉลาดแล้ว ก็จะปล่อยหมดสิ่งที่ดีก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชั่วก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชอบใจก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ไม่ชอบก็ปล่อยมันไป เหมือนอย่างเราปล่อยงูเห่าตัวที่มีพิษร้ายนั้น ปล่อยให้มันเลื้อยของมันไปมันก็เลื้อยไปทั้งพิษที่มีอยู่ในตัวมันนั่นเอง
ฉะนั้น คนที่ฉลาดแล้ว เมื่อปล่อยอารมณ์ก็ปล่อยอย่างนั้น ดีก็ปล่อยมันไป แต่ปล่อยอย่างรู้เท่าทันชั่วก็ปล่อยมันไป ปล่อยไปตามเรื่องของมันอย่างนั้นแหละอย่าไปจับ อย่าไปต้องมัน เพราะเราไม่ต้องการอะไร ชั่วก็ไม่ต้องการ ดีก็ไม่ต้องการ หนักก็ไม่ต้องการ เบาก็ไม่ต้องการ สุขก็ไม่ต้องการ ทุกข์ก็ไม่ต้องการ มันก็หมดเท่านั้นเอง ทีนี้ความสงบก็ตั้งอยู่เท่านั้นแหละ
เมื่อความสงบตั้งอยู่แล้ว เราก็ดูความสงบนั้นแหละ เพราะมันไม่มีอะไรแล้ว เมื่อความสงบเกิดขึ้นความวุ่นวายก็ดับ พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านตรัสว่านิพพานคือความดับ ดับที่ตรงไหน? ก็เหมือนไฟเรานั่นแหละ มันลุกตรงไหน มันร้อนตรงไหน? มันก็ดับที่ตรงนั้น มันร้อนที่ไหนก็ให้มันเย็นตรงนั้น ก็เหมือนกับนิพพานก็อยู่กับวัฏฏสงสาร วัฏฏสงสารก็อยู่กับนิพพาน เหมือนกันกับความร้อนกับความเย็น มันก็อยู่ที่เดียวกันนั่นเอง ความร้อนก็อยู่ที่มันเย็น ความเย็นก็อยู่ที่มันร้อน เมื่อมันร้อนขึ้น มันก็หมดเย็น เมื่อมันหมดเย็น มันก็ร้อน
วัฏฏสงสารกับนิพพานนี้ก็เหมือนกัน ท่านให้ดับวัฏฏสงสารคือความวุ่น การดับความวุ่นวายก็คือการดับความร้อน ไฟทางนอกก็คือไฟธรรมดา มันร้อน เมื่อมันดับแล้ว มันก็เย็น แต่ความร้อนภายในคือ ราคะ โทสะโมหะ ก็เป็นไฟเหมือนกัน ลองคิดดูเมื่อราคะ ความกำหนัดเกิดขึ้น มันร้อนไหม? โทสะเกิดขึ้นมันก็ร้อน โมหะเกิดขึ้นมันก็ร้อน มันร้อน ความร้อนนี่แหละที่ท่านเรียกว่าไฟ เมื่อไฟมันเกิดขึ้น มันก็ร้อน เมื่อมันดับ มันก็เย็นความดับนี่แหละคือนิพพาน
นิพพานคือสภาวะที่เข้าไปดับซึ่งความร้อน ท่านเรียกว่าสงบ คือดับซึ่งวัฏฏสงสาร วัฏฏสงสารคือความเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนั้น เมื่อถึงนิพพานแล้ว ก็คือการเข้าไปดับซึ่งความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง อันนั้น เรียกว่าการดับราคะ ดับโทสะ ดับโมหะ ก็ดับที่ใจของเรานั่นแหละ คือใจถึงความสงบ
ในความสงบนั้น สุขก็ไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี แต่มนุษย์เรานั่นแหละจะอดสุขไม่ได้ เพราะเห็นว่าความสุขเป็นยอดของชีวิตแล้ว แม้พระนิพพานก็ยังมาว่าเป็นความสุขอยู่เพราะความคุ้นเคย ตามเป็นจริงแล้ว เลิกสิ่งทั้ง ๒ อย่างนี้ก็เป็นความสงบ เมื่อโยมกลับบ้าน แล้วขอให้เปิดเทปธรรมะนี้ฟังอีก จะได้มีสติ เมื่อโยมมาอยู่วัดหนองป่าพงใหม่ๆ
โยมร้องไห้ เมื่ออาตมาเห็นน้ำตาของโยม อาตมาก็ดีใจ ทำไมจึงดีใจ? ที่ดีใจก็เพราะว่า นี่แหละ โยมจะได้ศึกษาธรรมะที่แท้จริงละ ถ้าน้ำตาไม่ออกก็ไม่ได้เห็นธรรมะ เพราะน้ำนี้เป็นน้ำไม่ดี ต้องให้มันออกให้หมด มันถึงจะสบาย ถ้าน้ำนี้ไม่หมด ก็จะไม่สบาย มันก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ อยู่เมืองไทยก็จะร้องไห้อยู่อย่างนี้ กลับไปกรุงลอนดอนก็จะร้องไห้อีก มีชีวิตอยู่ก็จะร้องไห้อยู่อย่างนี้แหละ
เพราะน้ำนี้มันเป็นน้ำกิเลส เมื่อทุกข์ก็บีบน้ำนี้ให้ไหลออกมา เมื่อสุขมากก็บีบน้ำนี้ออกมาอีกเหมือนกัน ถ้าหมดน้ำนี้เมื่อใด ก็จะสบาย ถ้าโยมทำได้ โยมก็จะมีแต่ความสงบ ความสบาย
ขอให้โยมรับธรรมะนี้ไปปฏิบัติ ไปปฏิบัติให้พ้นทุกข์ ให้มันตายก่อนตาย มันถึงสบาย มันถึงสงบ
ขอให้โยมมีความสุข ความเจริญ ให้เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมะให้พ้นจากวัฏฏสงสาร
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)