คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
อาตมาดีใจที่โยมได้มาเยี่ยมพระลูกชาย และพักอยู่ที่วัดหนองป่าพง อีกไม่กี่วันก็จะกลับไปแล้ว เลยถือโอกาสมาแสดงความดีใจ แต่ก็ไม่มีอะไรจะฝาก วัตถุสิ่งของอะไรที่ประเทศฝรั่งเศสนั้นก็มีมากมายอยู่แล้ว แต่ธรรมะที่จะบำรุงจิตใจของเราให้สงบระงับ ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีเท่าไร อาตมาไปสังเกตการณ์แล้ว เห็นมีแต่เรื่องที่จะทำให้เราวุ่นวายยุ่งยากลำบากตลอดกาลตลอดเวลา
เจริญไปด้วยวัตถุหลายอย่างเป็นกามารมณ์ มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เป็นที่ยั่วยวนของบุคคลที่ไม่รู้จักธรรม ให้มีความวุ่นวายมาก ฉะนั้นจึงจะขอฝากธรรมะเพื่อไปปฏิบัติที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อจากวัดหนองป่าพงและวัดป่านานาชาติไปแล้ว สภาวะที่ตัดปัญหาและความยุ่งยากของชีวิต
ธรรมะนี้เป็นสภาวะอันหนึ่ง ซึ่งจะตัดปัญหาความยุ่งยากลำบากในใจของมนุษย์ทั้งหลายให้น้อยลง จนกระทั่งหมดไป สภาวะอันนี้เรียกว่าธรรม เราควรจะศึกษา เอาไปศึกษาในชีวิตประจำวันและประจำชีวิต เมื่อมีอารมณ์อันใดมากระทบกระทั่งเกิดขึ้น จะได้แก้ปัญหามันได้ เพราะปัญหานี้มีทุกคน ไม่เฉพาะว่าเมืองไทยหรือเมืองนอก มันมีทุกแห่ง ถ้าคนไม่รู้จักแก้ปัญหาแล้ว ก็มีความทุกข์ความเดือดร้อนเป็นธรรมดา
เมื่อปัญหาเกิดขึ้นมาแล้ว หนทางที่จะแก้ไขมันก็คือปัญญา สร้างปัญญา อบรมปัญญา คือ ทำปัญญาให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา สำหรับข้อประพฤติปฏิบัตินั้นก็ไม่มีอะไรมากอื่นไกล อยู่ในตัวของเรานี่เอง มีกายกับใจ คนเมืองนอกก็เหมือนกัน คนเมืองไทยก็เหมือนกัน มีกายกับใจเท่านั้นที่วุ่นวาย เป็นผู้วุ่นวาย ฉะนั้น ผู้สงบระงับต้องมีกายกับใจสงบ
ความเป็นจริงนั้น ใจของเรามันเป็นปกติอยู่ เปรียบเหมือนน้ำฝน เป็นน้ำสะอาด มีความใสสะอาดบริสุทธิ์เป็นปกติ ถ้าหากเราเอาสีเขียวใส่เข้าไป เอาสีเหลืองใส่เข้าไป น้ำก็จะกลายเป็นสีเขียว สีเหลืองไป จิตเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อไปถูกอารมณ์ที่ชอบใจ ใจก็ดี ใจก็สบายเมื่อถูกอารมณ์ไม่ชอบใจแล้ว ใจนั้นก็ขุ่นมัว ไม่สบาย เหมือนกันกับน้ำที่ถูกสีเขียว ก็เขียวไป ถูกสีเหลือง ก็เหลืองไป เปลี่ยนสีไปเรื่อย
ความเป็นจริงนั้น น้ำที่มันเขียว มันเหลือง ปกติของมันก็เป็นน้ำใสสะอาดบริสุทธิ์ คือ น้ำฝน ปกติของจิตเรานี้ก็เหมือนกัน เป็นจิตที่ใสสะอาด เป็นจิตที่มีปกติไม่วุ่นวาย ที่จะวุ่นวายนั้นเพราะมันเป็นไปกับอารมณ์ มันหลงอารมณ์ พูดให้เห็นชัด อย่างขณะนี้เรานั่งอยู่ในป่ามีความสงบเหมือนกันกับใบไม้ ใบไม้นั้นถ้าไม่มีลมพัดมันก็นิ่ง สงบระงับอยู่ ถ้ามีลมมาพัด ใบมันก็กวัดแกว่งไปตามลม
จิตใจนี้ก็เหมือนกัน ถ้าอารมณ์มาถูกมันก็กวัดแกว่งไปตามอารมณ์ ยิ่งมันไม่รู้เรื่องธรรมะแล้ว ก็ยิ่งปล่อยไปตามอารมณ์ของเจ้าของไป อารมณ์สุขก็ปล่อยตามไป อารมณ์ทุกข์ก็ปล่อยตามไปวุ่นวายไปเรื่อยๆ จนชาวมนุษย์ทั้งหลายเกิดเป็นโรคประสาทเพราะไม่รู้เรื่อง ปล่อยไปตามอารมณ์ ไม่รู้จักตามรักษาจิตของเจ้าของ จิตของเรานี้เมื่อไม่มีใครตามรักษา มันก็เหมือนคนๆหนึ่งที่ปราศจากพ่อแม่ที่จะดูแล เป็นคนอนาถา คนอนาถานั้นเป็นคนที่ขาดที่พึ่ง คนที่ขาดที่พึ่งก็เป็นทุกข์ จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าหากขาดการอบรมบ่มนิสัย ทำความเห็นให้ถูกต้องแล้ว จิตนี้ก็ลำบากมาก
ในทางพุทธศาสนา การทำจิตให้สงบระงับนี้ ท่านเรียกว่า การทำกรรมฐาน ฐาน คือเป็นที่ตั้ง กรรม คือการงานที่เราจะต้องทำขึ้นให้มีกายเราเป็นส่วนหนึ่ง จิตเราเป็นอีกส่วนหนึ่ง มีสองอย่างเท่านั้นแหละ กายนี้เป็นสภาวธรรม เป็นรูปธรรมที่เรามองเห็นได้ด้วยตาของเรา จิตเป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง เป็นนามธรรมซึ่งไม่มีรูป มองด้วยตาไม่ได้ แต่เป็นของมีอยู่ ตามภาษาสามัญก็เรียกว่า กายกับใจ กายเรามองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ จิตมองเห็นได้ด้วยตาใน คือตาใจ มีอยู่สองอย่างเท่านั้น มันวุ่นวายกัน
ฉะนั้น การฝึกจิตที่จะฝากโยมวันนี้ ก็คือเรื่องกรรมฐาน ให้ไปฝึกจิต เอาจิตพิจารณากาย จิตนี้คืออะไร? จิตมันก็ไม่คืออะไร มันถูกสมมติว่า คือ ความรู้สึก ผู้ที่รู้สึกอารมณ์ ผู้ที่รับรู้อารมณ์ทั้งหลายในที่นี้เรียกว่าจิต ใครเป็นผู้รับรู้ ผู้รับรู้นั้นถูกเขาเรียกว่า "จิต" รับรู้อารมณ์ที่สุขบ้าง อารมณ์ที่ทุกข์บ้าง อารมณ์ดีใจบ้าง อารมณ์เสียใจบ้าง ใครมีภาวะที่จะรับรู้อารมณ์เหล่านี้ ท่านเรียกว่าจิต
อย่างเช่น อาตมาพูดให้ฟังขณะนี้ จิตเรายังมี จิตรับรู้ว่า พูดอะไรอย่างไร มันเข้าไปทางหู รู้ว่าพูดอะไร เป็นอย่างไร ก็รู้จัก ผู้รับรู้นี้เรียกว่าจิตจิตเป็นผู้รับรู้อารมณ์
จิตไม่มีตัวจิตไม่มีตน จิตไม่มีรูป จิตเป็นผู้รับรู้อารมณ์เท่านั้นไม่ใช่อื่น ถ้าหากว่าเราสั่งสอนจิตอันนี้ให้มีความเห็นที่ถูกต้องดีแล้ว จิตนี้ก็จะไม่มีปัญหา จิตก็จะสบาย จิตก็เป็นจิต อารมณ์ก็เป็นอารมณ์อารมณ์ไม่เป็นจิต จิตไม่เป็นอารมณ์ เราพิจารณาจิตกับอารมณ์นี้ให้เห็นชัด จิตเป็นผู้รับรู้อารมณ์ที่จรเข้ามา จิตกับอารมณ์สองอย่างนี้มากระทบกันเข้า ก็เกิดความรู้สึกทางจิต ดีบ้าง ชั่วบ้าง ร้อนบ้าง เย็นบ้าง สารพัดอย่าง ทีนี้เมื่อเราไม่มีปัญญาแก้ไข ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ก็ทำจิตของเราให้ยุ่ง
การทำจิตของเราให้มีรากฐาน คือ กรรมฐาน เอาลมหายใจเข้าออกเป็นรากฐาน เรียกว่า อานาปานสติ ทีนี้จะยกเอาลม เป็นกรรมฐานเป็นอารมณ์ การทำกรรมฐานมีหลายอย่างมากมาย มันก็ยากลำบากเอาลมนี้เป็นกรรมฐานดีกว่า เพราะว่าลมหายใจนี้เป็นมงกุฏกรรมฐานมาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์มาแล้ว พอเรามีโอกาสดีๆ เราเข้าไปนั่งสมาธิเอามือขวาทับมือซ้าย เอาขาขวาทับขาซ้าย ตั้งกายให้ตรง แล้วก็นึกในจิตของเราว่า บัดนี้ เราจะวางภาระทุกสิ่งทุกอย่างให้หมดไป ไม่เอาอะไรมาเป็นเครื่องกังวล ปล่อย... ปล่อยให้หมด แม้จะมีธุระอะไรอยู่มากมายก็ปล่อย ปล่อยทิ้งในเวลานั้น สอนจิตของเราว่า จะกำหนดตามลมอันนี้ ให้มีความรู้สึกอยู่แต่อารมณ์อันเดียว แล้วก็หายใจเข้าหายใจออก
การกำหนดลมหายใจนั้น อย่าให้มันยาว อย่าให้มันสั้น อย่าให้มันค่อย อย่าให้มันแรง ให้มันพอดีๆ
สติ คือความระลึกได้ สัมปชัญญะ คือความรู้ตัวอันเกิดจากจิตนั้น ให้รู้ว่าลมออก ให้รู้ว่าลมเข้า สบาย ไม่ต้องนึกอะไร ไม่ต้องคิดไปโน่น ไม่ต้องคิดไปนี่ ในเวลา
ปัจจุบันนี้ เรามีหน้าที่ที่จะกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออกอย่างเดียว ไม่มีหน้าที่ที่จะไปคิดอย่างอื่นให้มีสติความระลึกได้ตามเข้าไป และสัมปชัญญะความรู้ตัวว่า บัดนี้ เราหายใจอยู่ เมื่อลมเข้าไป ต้นลมอยู่ปลายจมูก กลางลมอยู่หทัยปลายลมอยู่สะดือ เมื่อหายใจออก ต้นลมอยู่สะดือ กลางลมอยู่หทัยปลายลมอยู่จมูก ให้รู้สึกอย่างนี้
กำหนดอยู่สามอย่างนี้ หายความกังวลหมด ไม่ต้องคิดเรื่องอื่นกำหนดเข้าไปให้รู้ต้นลม กลางลม ปลายลม สม่ำเสมอ แล้วต่อนั้นไปจิตของเราจะมีความรู้สึก ต้นลม กลางลม ปลายลม ตลอดเวลา
เมื่อทำไปเช่นนี้ จิตอันควรแก่การงานก็จะเกิดขึ้น กายก็ควรแก่การงาน การขบเมื่อยทั้งหลายจะค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ กายก็จะเบาขึ้น จิตก็จะรวมเข้า ลมหายใจก็จะละเอียดเข้า น้อยลงๆ เราทำแบบนี้เรื่อยๆ จนกว่าจิตมันจะสงบระงับลงเป็นหนึ่ง
เป็น "หนึ่ง" คือ จิตมันจะฝักใฝ่อยู่กับลม ไม่แยกไปที่อื่นไม่วุ่นวาย ต้นลมก็รู้จัก กลางลมก็รู้จัก ปลายลมก็รู้จัก เมื่อจิตสงบระงับแล้ว เราจะรู้อยู่แต่ต้นลม ปลายลมก็ได้ ไม่ต้องตามลงไป เอาแต่ปลายจมูกว่ามันออก มันเข้า จิตเป็นหนึ่งอยู่กับลมหายใจเข้าออกอันเดียวตลอดไป
การทำจิตเช่นนี้ เรียกว่าทำจิตให้สงบ ทำจิตให้เกิดปัญญา อันนี้เป็นเบื้องต้น เป็นรากฐานของกรรมฐาน ให้พยายามทำทุกวันทุกวัน จะอยู่ที่ไหนก็ได้ จะอยู่บ้านก็ได้ จะอยู่ในรถก็ได้ อยู่ในเรือก็ได้ นั่งอยู่ก็ได้ นอนอยู่ก็ได้ ให้เรามีสติสัมปชัญญะควบคุมอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา อันนี้เรียกว่าการภาวนา
การภาวนานี้ ทำได้ในอิริยาบถ ทั้งนี่ไม่ใช่ว่าจะนั่งอย่างเดียว จะยืนก็ได้ จะนอนก็ได้ จะเดินก็ได้ ขอแต่ให้เรามีสติ กำหนดอยู่เสมอว่า บัดนี้จิตใจของเราอยู่ในลักษณะอย่างไร มีอารมณ์อันใดอยู่จิตเป็นสุขไหม จิตเป็นทุกข์ไหม จิตวุ่นวายไหม จิตสงบไหม ให้เรารู้เห็นอย่างนี้ หมายความว่า ให้รู้จักความรับผิดชอบของจิตอยู่ตลอดเวลา นี้เรียกว่าการทำจิตของเราให้สงบ
เมื่อจิตสงบแล้ว ปัญญามันจะเกิด ปัญญามันจะรู้ ปัญญามันจะเห็น เอาจิตที่สงบพิจารณาร่างกายของเรา ตั้งแต่ศีรษะลงไปหาปลายเท้า ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาหาศีรษะ พิจารณากลับไปกลับมาอยู่เรื่อย ให้เห็นเกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ เป็นกรรมฐาน ให้เห็นว่ารูปร่างกายทั้งหลายนี้ มีดิน มีน้ำ มีลม มีไฟ กลุ่มทั้งสี่กลุ่มนี้ ท่านเรียกว่ากรรมฐาน เรียกว่าธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มาประชุมกันเข้า เรียกว่ามนุษย์ เรียกว่าสัตว์
พระบรมศาสดาของเราท่านทรงสอนว่า อันนี้สักแต่ว่าธาตุเท่านั้น อวัยวะร่างกายของเรา สิ่งที่ข้นแข็ง เป็นธาตุดิน สิ่งที่มันเหลวไหลเวียนไปในร่างกาย ท่านเรียกว่า ธาตุน้ำ ลมพัดขึ้นเบื้องบนลงเบื้องต่ำ ท่านเรียกว่าธาตุลม ความร้อนอบอุ่นในร่างกาย ท่านเรียกว่าธาตุไฟ คนคนหนึ่ง เมื่อแยกออกแล้ว มีสี่อย่าง นี้เท่านั้น คือ มีดิน น้ำ ลม ไฟ สัตว์ไม่มี มนุษย์ไม่มี ไทยไม่มีฝรั่งไม่มี เขมรไม่มีญวนไม่มี ลาวไม่มี ไม่มีใคร มีดิน มีน้ำ มีไฟ มีลม เท่านั้นที่เป็นอยู่แล้วสมมติว่าเป็นบุคคลเป็นสัตว์ขึ้นมา
ความเป็นจริงไม่มีอะไร ดินก็ดี น้ำก็ดี ลมก็ดี ไฟก็ดี ที่ประกอบกันเรียกว่ามนุษย์นี้ เป็นไปด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือเป็นของไม่แน่นอน เป็นของไม่ยั่งยืน เป็นของหมุนเวียนเปลี่ยนไปแปรไป อยู่อย่างนี้ ไม่ยั่งยืนอยู่กับที่ แม้แต่ว่าร่างกายของเราก็ไม่แน่ไม่นอน เคลื่อนไหวไปมาอยู่เสมอ เปลี่ยนไป ผมก็เปลี่ยนไป ขนก็เปลี่ยนไป หนังก็เปลี่ยนไป สารพัดอย่างมันเปลี่ยนไป เปลี่ยนไป เปลี่ยนไปหมด
จิตใจของเรานี้ก็เหมือนกัน มันก็ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา ที่คิดไปสารพัดอย่าง มันไม่แน่นอน บาทีคิดฆ่าตัวตายเลยก็ได้ บางทีคิดสุขก็ได้ บางทีคิดทุกข์ก็ได้ ถ้าเราไม่มีปัญญา เราก็ไปเชื่อจิตอันนี้ มันก็โกหกเราเรื่อยไป เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง สลับซับซ้ อนกันไป
จิตนี้มันก็เป็นของไม่แน่นอน กายนี้ก็เป็นของไม่แน่นอน รวมแล้วเป็นอนิจจัง รวมแล้วเป็นทุกขัง รวมแล้วเป็นอนัตตา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ พระบรมครูของเราท่านว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เรียกว่า ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้นเอง
เอาจิตของเราพิจารณาลงไปให้มันเห็นชัด เมื่อมันเห็นชัดแล้วอุปาทานที่ถือว่า เราสวยบ้าง เรางามบ้าง เราดีบ้าง เราชั่วบ้าง เรามีบ้าง เราอะไรๆหลายอย่าง มันก็ถอนไป ถอนไปเห็นสภาวะอันเดียวกัน เห็นมนุษย์สัตว์ทั้งหลายเป็นอันเดียวกัน เห็นไทยเป็นอันเดียวกันกับฝรั่ง เห็นฝรั่งเป็นอันเดียวกันกับไทย เมื่อจิตเราเห็นเช่นนี้ มันก็ถอนอุปาทานความยึดมั่นออกจากจิตใจของเรา
เมื่อพิจารณาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว มันก็น่าสังเวชถอนอุปาทานออกแล้ว ไม่ได้ไปยึดว่าเป็นตัว ว่าเป็นตน ว่าเป็นเรา ว่าเป็นเขา จิตใจเห็นเช่นนี้ มันก็เกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่าย คลายความกำหนัด คือเห็นว่ามันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วจิตใจของเราก็หยุด จิตใจเราก็เป็นธรรมะ ราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี มันก็ลดน้อยถอยลงไปทุกทีๆ ผลที่สุดเหลือแต่ธรรม คือจิตนี้เป็นอยู่เท่านั้น นี้เรียกว่าการทำกรรมฐาน
ฉะนั้น จึงขอฝากโยมเอาไปพิจารณา เอาไปศึกษาประจำวันประจำชีวิต เอาไว้เป็นมรดกติดตัวสืบไป โยมเอาไปพิจารณาแล้ว ใจก็จะสบาย ใจก็จะไม่วุ่นวาย ใจก็จะสงบระงับ กายวุ่นวายก็ช่างมัน ใจไม่วุ่นวาย เขาวุ่นวายในโลก เราไม่วุ่นวาย ถึงความวุ่นวายในเมืองนอกมากมาย เราก็ไม่วุ่นวาย เพราะจิตเราเห็นแล้ว เป็นธรรมะแล้วอันนี้เป็นหนทางที่ดี ที่ถูกต้อง ฉะนั้น จงจำคำสอนนี้ไว้ต่อๆไป
บางครั้ง ต้นผลไม้ อย่างต้นมะม่วงเป็นดอกออกมาแล้ว บางทีถูกลมพัด มันก็หล่นลง แต่ยังเป็นดอกอย่างนั้นก็มี บางช่อเป็นลูกเล็กๆ ลมก็มาพัดไป หล่นทิ้งไปก็มี บางช่อยังไม่ได้เป็นลูก เป็นดอกเท่านั้น ก็หักไปก็มี
คนเราก็เหมือนกัน บางคนตายตั้งแต่อยู่ในท้องบางคนคลอดจากท้องอยู่ได้สองวัน ตายไปก็มี หรืออายุเพียงเดือนสองเดือน สามเดือน ยังไม่ทันโต ตายไปก็มีบางคนพอเป็นหนุ่มเป็นสาวตายไปก็มี บางคนก็แก่เฒ่าแล้ว จึงตายก็มี
มื่อนึกถึงคนแล้ว ก็นึกถึงผลไม้ ก็เห็นความไม่แน่นอน แม้นักบวชเราก็เหมือนกัน บางทียังไม่ทันได้บวชเลย ยังเป็นเพียงผ้าขาวอยู่ก็พาผ้าขาววิ่งหนีไปก็มี บางคนโกนผมเท่านั้นยังไม่ได้บวชขาวด้วยซ้ำ ก็หนีไปก่อนแล้วก็มี บางคนก็อยู่ได้สามสี่เดือนก็หนีไป บางคนอยู่ถึงบวชเป็นเณรเป็นพระ ได้พรรษาสองพรรษาก็สึกไปก็มี หรือสี่ห้าพรรษาแล้วก็สึกไปก็มี เหมือนกับผลไม้เอาแน่นอนไม่ได้ ดอกไม้ผลไม้ถูกลมพัดตกลงไปเลยไม่ได้สุก จิตใจคนเราก็เหมือนกัน พอถูกอารมณ์มาพัดไป ดึงไป ก็ตกไปเหมือนกับผลไม้
พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงเห็นเหมือนกัน เห็นสภาพธรรมชาติของผลไม้ ใบไม้ แล้วก็นึกถึงสภาวะของพระเณรซึ่งเป็นบริษัท บริวารของท่านก็เหมือนกัน มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ย่อมจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติถ้ามีปัญญา พิจารณาดูอยู่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีครูอาจารย์แนะนำพร่ำสอนมากมาย
พระพุทธเจ้าของเรา ที่จะทรงผนวชในพระชาติที่เป็นพระชนกกุมารนั้น ท่านก็ไม่ได้ศึกษาอะไรมากมาย ท่านไปทรงเห็นต้นมะม่วงในสวนอุทยานเท่านั้น คือวันหนึ่ง พระชนกกุมารได้เสด็จไปชมสวนอุทยานกับพวกอำมาตย์ทั้งหลาย ได้ทรงเห็นต้นมะม่วงต้นหนึ่ง กำลังออกผลงามๆ มากมาย ก็ตั้งพระทัยไว้ว่า ตอนกลับจะแวะเสวยมะม่วงนั้น
แต่เมื่อพระชนกกุมารเสด็จผ่านไปแล้ว พวกอำมาตย์ก็พากันเก็บผลมะม่วงตามใจชอบ ฟาดด้วยกระบองบ้าง แส้บ้าง เพื่อให้กิ่งหัก ใบขาด จะได้เก็บผลมะม่วงมากิน
พอตอนเย็น พระชนกกุมารเสด็จกลับ ก็จะทรงเก็บมะม่วง เพื่อจะลองเสวยว่าจะมีรสอร่อยเพียงใด แต่ก็ไม่มีมะม่วงเหลือเลยสักผล มีแต่ต้นมะม่วงที่กิ่งก้านหักห้อยเกะกะ ใบก็ขาดวิ่น เมื่อไต่ถาม ก็ทรงทราบว่าพวกอำมาตย์เหล่านั้นได้ใช้กระบอง ใช้แส้ฟาดต้นมะม่วงนั้นอย่างไม่ปรานี เพื่อที่จะเอาผลของมันมาบริโภคฉะนั้นใบของมันจึงขาดกระจัดกระจาย กิ่งของมันก็หัก ห้อยระเกะระกะ
เมื่อพระองค์ทรงมองมะม่วงสักต้นหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กัน ก็ทรงเห็นมะม่วงต้นนั้นยังมีกิ่งก้านแข็งแรง ใบดกสมบูรณ์ มองดูน่าร่มเย็น จึงทรงดำริว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ก็ทรงได้คำตอบว่า เพราะมะม่วงต้นนั้นมันไม่มีผล คนก็ไม่ต้องการมัน ไม่ขว้างปามัน ใบของมันก็ ไม่หล่นร่วง กิ่งของมันก็ไม่หัก
พอพระองค์ทรงเข้าพระทัยในเหตุเท่านั้น ก็พิจารณามาตลอดทางที่เสด็จกลับ ทรงรำพึงว่า ที่ทรงมีความทุกข์ยากลำบาก ก็เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ ต้องทรงห่วงใยราษฎร ต้องคอยป้องกันแผ่นดินจากข้าศึกศัตรู ที่คอยจะมาโจมตีตรงนั้นตรงนี้อยู่วุ่นวาย แม้จะนอนก็ไม่เป็นสุข บรรทมแล้วก็ยังทรงฝันถึงอีก แล้วก็ทรงนึกถึงต้นมะม่วงที่ไม่มีผลต้นนั้น ที่มีใบสดดูร่มเย็น แล้วทรงดำริว่า จะทำอย่างมะม่วงต้นนั้นจะไม่ดีกว่าหรือ?
พอถึงพระราชวัง ก็ทรงพิจารณาอยู่แต่ในเรื่องนี้ในที่สุดก็ตัดสินพระทัยออกทรงผนวช โดยอาศัยต้นมะม่วงนั้นแหละ เป็นบทเรียนสอนพระทัย ทรงเปรียบเทียบพระองค์เองกับมะม่วงต้นนั้น แล้วเห็นว่าถ้าไม่พัวพันอยู่ในเพศฆราวาส ก็จะได้เป็นผู้ไปคนเดียว ไม่ต้องกังวลทุกข์ร้อน เป็นผู้มีอิสระ จึงออกผนวช
หลังจากทรงผนวชแล้ว ถ้ามีผู้ใดทูลถามว่า ใครเป็นอาจารย์ของท่าน? พระองค์ก็จะทรงตอบว่า "ต้นมะม่วง" ใครเป็นอุปัชฌาย์ของท่าน? พระองค์ก็ทรงตอบว่า "ต้นมะม่วง" พระองค์ไม่ต้องการคำพร่ำสอนอะไรมากมาย เพียงแต่ทรงเห็นต้นมะม่วงนั้นเท่านั้น ก็ทรงน้อมเข้าไปในพระทัย เป็นโอปนยิกธรรม สละราชสมบัติทรงเป็นผู้ที่มักน้อย สันโดษ อยู่ในความสงบผ่องใส
นี้คือในสมัยที่พระองค์ (พระพุทธเจ้า) ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ได้ทรงบำเพ็ญธรรมเช่นนี้มาโดยตลอดอันที่จริง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันเตรียมพร้อมที่จะสอนเราอยู่เสมอ ถ้าเราทำปัญญาให้เกิดนิดเดียวเท่านั้น ก็จะรู้แจ้งแทงตลอดในโลก
ต้นไม้เครือเขาเถาวัลย์เหล่านั้น มันแสดงลักษณะอาการตามความจริงตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ถ้ามีปัญญาเท่านั้นก็ไม่ต้องไปถามใคร ไม่ต้องไปศึกษาที่ไหน ดูเอาที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติเท่านั้น ก็ตรัสรู้ธรรมได้แล้ว เหมือนอย่างพระชนกกุมาร
ถ้าเรามีปัญญา ถ้าเราสังวร สำรวม ดูอยู่ รู้อยู่เห็นอยู่ตามธรรมชาติอันนั้น มันก็ปลงอนิจจัง ทุกขังอนัตตาได้เท่านั้น เช่นว่า ต้นไม้ทุกต้นที่เราเห็นอยู่บนพื้นปฐพีนี้ มันก็เป็นไปในแนวเดียวกัน เป็นไปในแนวอนิจจังทุกขัง อนัตตา ไม่เป็นของแน่นอนถาวรสักอย่าง มันเหมือนกันหมด มีเกิดขึ้นแล้วในเบื้องต้น แปรไปในท่ามกลาง ผลที่สุดก็ดับไปอย่างนี้
เมื่อเราเห็นต้นไม้เป็นอย่างนั้นแล้ว ก็น้อมเข้ามาถึงตัวสัตว์ ตัวบุคคล ตัวเราหรือบุคคลอื่นก็เหมือนกันมีความเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้นในท่ามกลางก็แปรไป เปลี่ยนไป ผลที่สุดก็สลายไป นี่คือธรรมะ
ต้นไม้ทุกต้นก็เป็นต้นไม้ต้นเดียวกัน เพราะว่ามันเหมือนกันโดยอาการที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ตั้งอยู่ ตั้งอยู่แล้วก็แปรไป แล้วมันก็เปลี่ยนไป หายไป เสื่อมไปดับสิ้นไปเป็นธรรมดา
มนุษย์เราทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้าเป็นผู้มีสติอยู่รู้อยู่ ศึกษาด้วยปัญญา ด้วยสติสัมปชัญญะ ก็จะเห็นธรรมอันแท้จริง คือเห็นมนุษย์เรานี้ เกิดขึ้นมาเป็นเบื้องต้น เกิดขึ้นมาแล้วก็ตั้งอยู่ เมื่อตั้งอยู่แล้วก็แปรไปแล้วก็เปลี่ยนไป สลายไป ถึงที่สุดแล้วก็จบ ทุกคนเป็นอยู่อย่างนี้ ฉะนั้น คนทุกคนในสากลโลกนี้ ก็เป็นอันเดียวกัน ถ้าเราเห็นคนคนเดียวชัดเจนแล้ว ก็เหมือนกับเห็นคนทั้งโลก มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น
ทุกสิ่งสารพัดนี้เป็นธรรมะ สิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตา คือใจของเรานี้ เมื่อความคิดเกิดขึ้นมา ความคิดนั้นก็ตั้งอยู่ เมื่อตั้งอยู่แล้วก็แปรไป เมื่อแปรไปแล้ว ก็ดับสูญไปเท่านั้น นี้เรียกว่า "นามธรรม" สักแต่ว่าความรู้สึกเกิดขึ้นมา แล้วมันก็ดับไป นี่คือความจริงที่มันเป็นอยู่อย่างนั้น ล้วนเป็นอริยสัจจธรรมทั้งนั้น ถ้าเราไม่มองดูตรงนี้ เราก็ไม่เห็นฉะนั้น ถ้าเรามีปัญญา เราก็จะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าอยู่ที่ตรงไหน?
พระพุทธเจ้าอยู่ที่พระธรรม
พระธรรมอยู่ที่ตรงไหน?
พระธรรมอยู่ที่พระพุทธเจ้า อยู่ตรงนี้แหละ
พระสงฆ์อยู่ที่ตรงไหน?
พระสงฆ์อยู่ที่พระธรรม
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็อยู่ในใจของเราแต่เราต้องมองให้ชัดเจน บางคนเก็บเอาความไปโดยผิวเผิน แล้วอุทานว่า "โอ! พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในใจของฉัน" แต่ปฏิปทานั้นไม่เหมาะไม่สมควร มันก็ไม่เข้ากันกับการที่จะอุทานเช่นนั้น เพราะใจของผู้ที่อุทานเช่นนั้น จะต้องเป็นใจที่รู้ธรรมะ
ถ้าเราตรงไปที่จุดเดียวกันอย่างนี้ ก็จะเห็นว่าความจริงในโลกนี้มีอยู่ นามธรรม คือ ความรู้สึกนึกคิดเป็นของไม่แน่นอน มีความโกรธเกิดขึ้นมาแล้ว ความโกรธตั้งอยู่แล้ว ความโกรธก็แปรไป เมื่อความโกรธแปรไปแล้ว ความโกรธก็สลายไป
เมื่อความสุขเกิดขึ้นมาแล้ว ความสุขนั้นก็ตั้งอยู่เมื่อความสุขตั้งอยู่แล้ว ความสุขก็แปรไป เมื่อความสุขแปรไปแล้ว ความสุขมันก็สลายไปหมด ก็ไม่มีอะไร มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ทุกกาลเวลา ทั้งของภายในคือ นามรูปนี้ก็เป็นอยู่อย่างนี้ ทั้งของภายนอก คือต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์เหล่านี้มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ นี่เรียกว่าสัจจธรรม
ถ้าใครเห็นธรรมชาติก็เห็นธรรมะ ถ้าใครเห็นธรรมะก็เห็นธรรมชาติ ถ้าผู้ใดเห็นธรรมชาติ เห็นธรรมะผู้นั้นก็เป็นผู้รู้จักธรรมะนั่นเอง ไม่ใช่อยู่ไกล
ฉะนั้น ถ้าเรามีสติ ความระลึกได้ มีสัมปชัญญะความรู้ตัวอยู่ทุกอิริยาบถ การยืน เดิน นั่ง นอน ผู้รู้ทั้งหลายก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นมา ให้รู้ ให้เห็นธรรมะตามเป็นจริงทุกกาลเวลา
พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านยังไม่ตาย แต่คนมักเข้าใจว่าท่านตายไปแล้ว นิพพานไปแล้ว ความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นท่านไม่นิพพาน ท่านไม่ตายท่านยังอยู่ ท่านยังช่วยมนุษย์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอยู่ทุกเวลา พระพุทธเจ้านั้นก็คือธรรมะนั่นเอง ใครทำดีต้องได้ดีอยู่วันหนึ่ง ใครทำชั่วมันก็ได้ชั่ว นี่เรียกว่าพระธรรมพระธรรมนั้นแหละเรียกว่า พระพุทธเจ้า และก็ธรรมะนี่แหละที่ทำให้พระพุทธเจ้าของเรา เป็นพระพุทธเจ้า
ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา" แสดงว่าพระพุทธเจ้าก็คือพระธรรม และพระธรรมก็คือพระพุทธเจ้า ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นเป็นธรรมะที่มีอยู่ประจำโลก ไม่สูญหาย เหมือนกับน้ำที่มีอยู่ในพื้นแผ่นดิน ผู้ขุดบ่อลงไปให้ถึงน้ำก็จะเห็นน้ำไม่ใช่ว่าผู้นั้นไปแต่งไปทำให้น้ำมีขึ้น บุรุษนั้นลงกำลังขุดบ่อเท่านั้น ให้ลึกลงไปให้ถึงน้ำ น้ำก็มีอยู่แล้ว
อันนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น พระพุทธเจ้าของเราก็เหมือนกัน ท่านไม่ได้ไปแต่งธรรมะ ท่านไม่ได้บัญญัติธรรมะ บัญญัติก็บัญญัติสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว ธรรมะคือความจริงที่มีอยู่แล้ว ท่านพิจารณาเห็นธรรมะ ท่านเข้าไปรู้ธรรม คือรู้ความจริงอันนั้น ฉะนั้นจึงเรียกว่าพระพุทธเจ้าของเราท่านตรัสรู้ธรรม และการตรัสรู้ธรรมนี่เองจึงทำให้ท่านได้รับพระนามว่า พระพุทธเจ้า
เมื่อพระองค์ทรงอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ก็ทรงเป็นเพียง "เจ้าชายสิทธัตถะ" ต่อเมื่อตรัสรู้ธรรมแล้ว จึงได้ทรงเป็น "พระพุทธเจ้า" บุคคลทั้งหลายก็เหมือนกันผู้ใดสามารถตรัสรู้ธรรมได้ ผู้นั้นก็เป็นพุทธะ
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงยังมีอยู่ ยังเมตตากรุณาสัตว์ทั้งหลาย ยังช่วยมนุษย์สัตว์ทั้งหลายอยู่ ถ้ามนุษย์ผู้ใดมีความประพฤติปฏิบัติดี จงรักภักดี พระพุทธเจ้า ต่อพระธรรม ผู้นั้นก็จะมีคุณงามความดีอยู่ตลอดทุกวันฉะนั้น ถ้าเรามีปัญญา ก็จะเห็นได้ว่า เราไม่ได้อยู่ห่างพระพุทธเจ้าเลย เดี๋ยวนี้เราก็ยังนั่งอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้าเราเข้าใจธรรมะเมื่อใด เราก็เห็นพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น ผู้ใดที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว ไม่ว่าจะนั่ง ยืน เดิน อยู่ ณ ที่ใด ผู้นั้นย่อมได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา
ในการปฏิบัติธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้อยู่ในที่สงบ สำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต นี้เป็นหลักไว้ เพราะสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นที่ตรงนี้ ไม่เกิดที่อื่นความดีทั้งหลายเกิดขึ้นที่นี่ ความชั่วทั้งหลายเกิดขึ้นที่นี่ พระพุทธเจ้าจึงให้สังวรสำรวมให้รู้จักเหตุที่มันเกิดขึ้น
ความจริง พระพุทธเจ้าท่านทรงบอกทรงสอนไว้หมดทุกอย่างแล้ว เรื่องศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดีตลอดจนข้อประพฤติปฏิบัติทุกประการก็ทรงพร่ำสอนไว้หมดทุกอย่าง เราไม่ต้องไปคิด ไปบัญญัติอะไรอีกแล้วเพียงให้ทำตามในสิ่งที่ท่านทรงสอนไว้เท่านั้น นับว่าพวกเราเป็นผู้มีบุญ มีโชคอย่างยิ่ง ที่ได้มาพบหนทางที่ท่านทรงแนะทรงบอกไว้แล้ว คล้ายกับว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงสร้างสวนผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์พร้อมไว้ให้เรา แล้วก็เชิญให้พวกเราทั้งหลายไปกินผลไม้ในสวนนั้น โดยที่เราไม่ต้องออกแรงทำอะไรในสวนนั้นเลย เช่นเดียวกับคำสอนในทางธรรม ที่พระองค์ทรงสอนหมดแล้ว ยังขาดแต่บุคคลที่จะมีศรัทธาเข้าไปประพฤติปฏิบัติเท่านั้น
ฉะนั้น พวกเราทั้งหลายจึงเป็นผู้ที่มีโชคมีบุญมากเพราะเมื่อมองไปที่สัตว์ทั้งหลายแล้ว จะเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เช่น วัว ควาย หมู หมา เป็นต้น เป็นสัตว์ที่อาภัพมาก เพราะไม่มีโอกาสที่จะเรียนธรรม ไม่มีโอกาสที่จะปฏิบัติธรรม ไม่มีโอกาสที่จะรู้ธรรม ฉะนั้นก็หมดโอกาสที่จะพ้นทุกข์ จึงเรียกว่าเป็นสัตว์ที่อาภัพ เป็นสัตว์ที่ต้องเสวยกรรมอยู่
ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ทั้งหลายจึงไม่ควรทำตัวให้เป็นมนุษย์ที่อาภัพ คือไม่มีข้อประพฤติ ไม่มีข้อปฏิบัติ อย่าให้เป็นคนอาภัพ คือ คนหมดหวังจากมรรค ผลนิพพาน หมดหวังจากคุณงามความดี อย่าไปคิดว่าเราหมดหวังเสียแล้ว ถ้าคิดอย่างนั้น จะเป็นคนอาภัพเหมือนสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย คือไม่อยู่ในข่ายของพระพุทธเจ้า
ฉะนั้น เมื่อมนุษย์เป็นผู้มีบุญวาสนาบารมีเช่นนี้แล้ว จึงควรที่จะปรับปรุงความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นของตนให้อยู่ในธรรม จะได้รู้ธรรม เห็นธรรม ในชาติกำเนิดที่เป็นมนุษย์นี้ ให้สมกับที่เกิดมาเป็นสัตว์ที่ควรตรัสรู้ธรรมได้
ถ้าหากเราคิดไม่ถูก ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ มันก็จะกลับไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นยักษ์ เป็นผี เป็นสารพัดอย่าง มันจะเป็นไปได้อย่างไร? ก็ขอให้มองดูในจิตของเราเอง เมื่อความโกรธเกิดขึ้น มันเป็นอย่างไร? นั่นแหละ!
เมื่อความหลงเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นอย่างไร? นั่นแหละ!
เมื่อความโลภเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นอย่างไร? นั่นแหละ!
สภาวะทั้งหลายเหล่านี้แหละ มันเป็นภพ แล้วก็เป็นชาติ เป็นความเกิดที่เป็นไปตามสภาวะแห่งจิตของตน
เมื่อพระปัญจวัคคีย์หนีจากพระพุทธองค์แล้ว ท่านเห็นว่าเป็นลาภเป็นโชคของท่าน จะได้มีโอกาสทำความเพียร ครั้งเมื่อพระปัญจวัคคีย์อยู่ก็วุ่นวายก่อกวนหลายอารมณ์ บัดนี้พระปัญจวัคคีย์ออกจากท่าน พระปัญจวัคคีย์เห็นว่าพระพุทธองค์นั้นคลายออกจากความเพียรเวียนมาหาความมักมาก เพราะว่าสมัยก่อนนั้นเอาจริงเอาจังเรื่องอัตตกิลมถานุโยโค เรื่องการทรมาน เรื่องการขบ เรื่องการฉัน เรื่องการหลับการนอน เอาแท้ๆ เมื่อถึงคราวอันนี้แล้ว พอมาพิจารณาแล้วมันก็ไม่เป็นไป ประพฤติด้วยทิฏฐิ ประพฤติด้วยมานะ ด้วยความยึดมั่นถือมั่น คิดปรารภโลกว่าเป็นธรรม คิดปรารภตนว่าเป็นธรรมมันไม่ได้ปรารภธรรมะ
อย่างว่าเราจะทรมาน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก่อนจะทำอย่างนั้นก็ปรารภว่าให้โลกสรรเสริญ ให้เขาว่านี่แหละเป็นคนเอาจริงเอาจังก็เลยทำอันนั้น เป็นโลกหมด ทำเพื่อความยกย่องสรรเสริญ ให้เขาว่าดี ให้เขาว่าเลิศ ให้เขาว่าประเสริฐ ให้เขาว่าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คิดอย่างนี้แล้วจึงทำ เรียกว่ามันปรารภโลก อีกอย่างหนึ่งคือปรารภตนเอง เชื่อมั่นในความเห็นของตนเอง เชื่อมั่นในการประพฤติปฏิบัติของตน ใครจะว่าผิดก็ช่างถูกก็ตาม ไม่เอาเป็นประมาณ ชอบอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่ได้คลำหน้าคลำหลัง นี่ปรารภตนเองอีกประเภทหนึ่ง
เรื่องปรารภโลกกับปรารภตนนี้ มันมีแต่เรื่องอุปาทานแน่นหนาอยู่เท่านั้น พระพุทธองค์พิจารณาเห็นว่าเรื่องที่จะปรารภธรรมะ คือให้มันถูกธรรมะแล้วจึงทำไม่มี ฉะนั้นการปฏิบัติจึงเป็นหมัน ละกิเลสไม่ได้ ท่านก็หวนมาพิจารณาใหม่คือ ที่ทำงานตั้งแต่ต้นท่านก็มาดูผลงานมัน สิ่งที่ประพฤติปฏิบัตินั้น ผลที่เกิดจากเหตุที่ท่านกระทำนั้นเป็นอย่างไร ภาวนาแล้วคิดไปลึกซึ้งแล้วเห็นว่ามันไม่ถูก มีแต่เรื่องตนเท่านั้น เรื่องโลกเท่านั้น เรื่องธรรมะเรื่องอนัตตานี้ไม่มี เรื่องสูญ เรื่องว่าง เรื่องปล่อย เรื่องวาง ไม่มี คือเรื่องปล่อยวางมันมีอยู่ แต่ว่าปล่อยโดยความยึดมั่นถือมั่น
ท่านก็คิดไปคิดมาพิจารณาดูแล้ว ถึงจะสอนลูกศิษย์เขาก็เห็นไม่ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะบอกให้ลูกศิษย์เข้าใจกันได้ง่าย เพราะว่าลูกศิษย์นั้นเขาแน่นเหลือเกินในการกระทำอย่างนั้น ในการสอนอย่างนั้น ในความเห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าของเราท่านก็เห็นว่าทำอย่างนั้นก็ทำตายเปล่า อดตายเปล่า ทำตามโลก ทำตามตน ท่านก็พิจารณาใหม่ หาสิ่งที่มันพอดี เป็นสัมมาปฏิปทา ส่วนจิตก็เป็นจิต ส่วนกายก็เป็นกายเรื่องกายนี้มันไม่ใช่กิเลสตัณหากับใครหรอก ถ้าจะไปฆ่าอันนั้นเฉยๆมันก็ไม่หมดกิเลส มันไม่ใช่ที่ของมัน แม้จะอดขบอดฉัน อดหลับอดนอนให้มันเหี่ยวมันแห้ง ว่าจะให้มันหมดกิเลสนั้น มันก็หมดไม่ได้แต่ความเข้าใจที่ว่ามันได้สั่งสอนในการทรมานนี้ พระปัญจวัคคีย์ติดมาก
ต่อนั้นพระพุทธเจ้าก็กลับมาฉันจังหันให้มากขึ้น ให้มันธรรมดาอะไรก็ให้มันธรรมดาๆ มากขึ้น พอพระปัญจวัคคีย์เห็นการประพฤติปฏิบัติของพระพุทธองค์เคลื่อนจากของเก่า มันเปลี่ยนจากการปฏิบัตินั้นมา ก็เลยพากันเข้าใจว่า พระพุทธองค์นั้นคลายความเพียรเวียนมาหาความมักมาก ความเห็นผู้หนึ่งมันจะเลื่อนขึ้นไปข้างบน คือพ้นสมมติ อีกผู้หนึ่งเห็นว่ามันจะเลื่อนลงไปข้างล่าง คือคลายความเพียรเวียนมาหาความมักมาก การทนมานตนเองมันแน่นอยู่ในหัวใจของพระปัญจวัคคีย์ทั้งหลาย เพราะพระพุทธองค์ก็เคยสอนอย่างนั้นปฏิบัติมาอย่างนั้น สอนมาอย่างนั้น จนกว่าท่านได้เห็นโทษมัน เห็นโทษมันชัดเจน ท่านจึงละมันได้
เมื่อละมันได้แล้ว ท่านก็เห็นประโยชน์ในการละนั้น ท่านจึงกระทำอย่างนั้นโดยมิได้ลงขอผู้อื่นเลย พอพระปัญจวัคคีย์เห็นพระพุทธเจ้าทำอย่างนั้น ก็พากันหนีจากท่าน เห็นว่ามันไม่ถูก ไม่ทำตาม ก็เหมือนนกที่หนีจากต้นไม้ เห็นว่าต้นไม้ไม่มีกิ่งหรือก้านกว้างขวาง ไม่มีร่มมีเย็น หรือปลาจะหนีจากน้ำ ก็เห็นว่าน้ำมันน้อย ไม่เย็น มันเบื่อ ว่าอย่างนั้น ความเห็นเป็นอย่างนั้น ก็เลยเลิกกันจากพระพุทธเจ้า
ทีนี้พระองค์ก็ได้พิจารณาธรรม ท่านก็เลยฉันให้สบาย อยู่ให้สบาย จิตก็ให้มันเป็นจิต กายก็ให้มันเป็นกาย จิตมันก็เป็นเรื่องของจิต กายมันก็เป็นเรื่องของกาย ท่านก็ไม่ได้บีบมันเท่าไร ไม่ได้บังคับมันเท่าไร พอแต่จะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้บรรเทาลง แต่ก่อนท่านก็เดินอยู่สองทาง กามสุขัลลิกานุโยโค มีความสุขมีความรักเกิดขึ้นมาแล้วก็สนใจเกาะด้วยอุปาทาน เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา ไม่ได้ปล่อยไม่ได้วาง กระทบความสุขก็ติดในความสุข กระทบความทุกข์ก็ติดในความทุกข์ เป็นกามสุขัลลิกานุโยโค กับอัตตกิลมถานุโยโค
พระองค์ติดอยู่ในสงสาร ท่านมองพิจารณาเห็นชัดเจนเข้าไปว่า อันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของสมณะที่จะเดินไปในทางนั้น สุขแล้วก็ยึดสุข ทุกข์แล้วก็ยึดทุกข์คุณสมบัติของผู้เป็นสมณะไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องยึดเรื่องมั่นเรื่องหมายในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ครั้นติดอยู่ในนั้นมันก็เป็นตัวเป็นตน มันก็เป็นโลก ถ้าปฏิบัติบากบั่นในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ก็ยังไม่เป็นโลกวิทูไม่รู้แจ้งโลก วิ่งทางซ้ายวิ่งทางขวาอยู่ตลอดเวลา บัดนี้ท่านเพ่งถึงส่วนจิตจริงๆ ตามรักษาจิตของตนล้วนๆ สอนจิตของตนล้วนๆ
เรื่องธรรมชาติทุกอย่างมันเป็นไปตามเรื่องของมัน ไม่ได้เป็นอะไร เหมือนกันกับโรคในร่างกายเรานี้ เป็นเจ็บ เป็นไข้ เป็นหวัดเป็นไอ เป็นโรคนั้นโรคนี้ ก็เป็นในร่างกายของเรา ความเป็นจริงคนเราก็หวงแหนกายของเราจนเกินขอบเขตเหมือนกัน ก่อนที่มันจะหวงแหนก็เนื่องจากความเห็นผิด มันจึงปล่อยไม่ได้ อย่างศาลาเราอยู่เดี๋ยวนี้เราสร้างมันขึ้นเป็นศาลาของเรา จิ้งเหลนมันก็มาอยู่ จิ้กจกมันก็มาอยู่หนูมันก็มาอยู่ เราก็เบียดเบียนแต่มัน เพราะเราเห็นว่าศาลาของเราไม่ใช่ของจิ้งเหลนจิ้งจก เลยเบียดเบียนมัน เหมือนกันกับโรคในร่างกายเราที่เป็นอยู่ ร่างกายเราถือว่าเป็นบ้านเป็นของของเรา
ถ้าจะมาเจ็บหัวปวดท้องนิดหนึ่งก็ทุรนทุราย ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันเป็นทุกข์ ขาก็ขาของเราไม่อยากให้มันเจ็บ แขนก็แขนของเราไม่อยากให้มันเจ็บ หัวนี่ก็หัวของเรา ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันเป็นอะไรเลย ที่นี่ รักษามันให้ได้ หลงไป หลงจากความจริงมา เราก็จรเข้ามาอยู่กับสังขาร นี้ก็เหมือนกัน ศาลานี้ไม่ใช่ศาลาของเราตามความจริงนะ เราก็เป็นเจ้าของชั่วคราว หนูมันก็เป็นเจ้าของชั่วคราวจิ้งเหลนมันก็เป็นเจ้าของชั่วคราว จิ้งจกมันก็เป็นเจ้าของชั่วคราวเท่านั้นแต่มันไม่รู้จักกัน
ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน ความเป็นจริงพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าไม่มีตัวไม่มีตนอยู่นี้ เราก็มายึดสังขารก้อนนี้ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขาแน่นอนเข้าไป ทีนี้สังขารจะเปลี่ยนแปลงก็ไม่อยากให้เปลี่ยนบอกเท่าไรก็ไม่เข้าใจ พูดเท่าไรก็ไม่เข้าใจ บอกจริงๆก็ยิ่งหลงจริงๆอันนี้ไม่ใช่ตัว ว่าอย่างนั้น ก็ยิ่งหลงใหญ่ ยิ่งไม่รู้เรื่อง เรามาภาวนาให้มันเป็นตัวเป็นตน ฉะนั้นคนโดยมากไม่เห็นตัวตน ผู้ที่เห็นตัวตนจริงๆก็คือผู้ที่เห็นว่ามิใช่ตัวมิใช่ตน คือเห็นตนตามธรรมชาติ ผู้ที่เห็นตัวด้วยอุปาทานนี้ว่า นี่เป็นตัวเป็นตน ผู้นั้นไม่เห็น มันก้าวก่ายอยู่อย่างนี้นะ จะทำอย่างไร มันไม่เห็นง่ายๆก้อนนี้ อุปาทานมันยึดไว้
ฉะนั้นท่านจึงบอกว่าให้พิจารณารู้เท่าด้วยปัญญา ให้เห็นด้วยปัญญา คือพิจารณาสังขารว่า มันจริงอย่างไรก็ให้เห็นตามเป็นจริงอย่างนั้น อาศัยปัญญารู้ตามเป็นจริงของสังขารเรียกว่าตัวปัญญา ถ้ารู้ไม่ตามเป็นจริงของสังขารนั้นก็ไปแย้งกัน ไปขัดกัน สังขารนี้มันสมควรที่จะปล่อยไปแล้ว ก็ยังจะไปกางไปกั้นมันไว้ ไปร้องขอให้เป็นอยู่อย่างนั้น หาสิ่งของสารพัดอย่างมาแก้มัน มาไถ่ถอนเอาสารพัด ถ้ามันเจ็บมันไข้แล้วไม่อยากไป จึงค้นหาสูตรอะไรต่างๆพากันมาสวด สูตร โพชฌังโค ธัมมจักร อนัตตลักขณสูตร ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้นพากันกั้นพากันห้าม ก็เลยเป็นพิธีรีตองไป ยึดมั่นถือมั่นยิ่งไปกันใหญ่โดยบทสวดต่างๆ คือสวดให้มันหายโรค เอามาสวดต่ออายุกัน เอามาสวดให้มันยืนยาว สารพัดอย่าง
ความเป็นจริงท่านให้สวดเพื่อเห็นชัด แต่เรามาสวดให้หลงรูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา สัญญา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญาณัง อนิจจัง...บทที่สวดนั้นไม่ใช่สวดให้เราหลงนะ สวดให้เรารู้เรื่องตามความเป็นจริงของมันอย่างนั้น จะได้ปล่อยจะได้วาง จะได้ไม่เสียใจ จะได้ทอดอาลัย อันนั้นมันจะสั้น แต่เรามาสวดให้มันยาวออก ถ้ามันยาวอยากจะให้มันสั้น บังคับธรรมชาติให้มันเป็นไป หลงกันหมด ที่มาทำกันในศาลานั้นก็มาหลงกันหมดทุกคน คนที่สวดก็หลง คนที่นอนฟังอยู่ก็หลง ใครที่ไหนก็หลงทั้งนั้น ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์ คิดอย่างนั้น จะปฏิบัติที่ไหนกัน จึงปฏิบัติให้มันหลงไปแก้ความจริงในเรื่องนั้น ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้ว ท่านผู้รู้ทั้งหลายเห็นว่ามันไม่มีอะไรเกิดมาแล้วต้องมีโรคอย่างนี้ แต่ว่าพระพุทธเจ้าก็ดี อริยสาวกของท่านก็ดี มีเจ็บมีไข้เป็นธรรมดา ท่านก็รักษาฉันยาเป็นธรรมดาเท่านั้นแหละ มันเป็นเรื่องแก้ธาตุ แต่ความเป็นจริงท่านไม่ได้ถือมั่นถือลางถือขลัง ยึดมั่นจนเกินไปหรอก ท่านก็รักษามันด้วยความเห็นชอบ ไม่ใช่รักษาด้วยความหลง มันหายก็หาย ไม่หายก็ไม่หาย เป็นอย่างนั้น
อันนี้แหละ เขาว่าศาสนาในประเทศไทยเรามันเจริญ แต่ผมว่ามันเสื่อมจนถึงที่สุดมันแล้ว ในศาลามีแต่หูฟังทั้งนั้น หมดศาลาเลยเอียงหูฟัง มันเอียงซ้ายเลยนะ ตลอดผู้ใหญ่ผู้โตก็ทำอย่างนั้นอยู่ ว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเลยหลงตามกันหมดทุกอย่างเลย ฉะนั้นถ้าเราไปเห็นอย่างนั้นแล้ว ก็เลยพูดอะไรไม่ออก มันคนละเรื่องกัน แล้วจะให้มันพ้นทุกข์กันที่ไหน ท่านให้สวดเพื่อให้มันแจ้ง เรามาสวดให้มันมืดมันหันหลังใส่กันเลย ผู้หนึ่งเดินไปทางตะวันตก อีกผู้หนึ่งเดินไปทางตะวันออก จะพบกันได้อย่างไร มันไม่ใกล้เลยเรื่องเหล่านี้ ถ้าหากว่าเราได้ภาวนาแล้ว ตามความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น ก็กำลังหลงกัน ไม่รู้จะว่ากันได้อย่างไร อะไรก็เป็นพิธีรีตองไปหมดทุกอย่าง สวดอยู่ แต่ว่าสวดด้วยความโง่ ไม่ใช่สวดด้วยปัญญา เรียนแต่เรียนด้วยความโง่ ไม่ได้เรียนด้วยปัญญา รู้ก็รู้ด้วยความโง่ ไม่ได้รู้ด้วยปัญญา มันเลยไปก็ไปด้วยความโง่ อยู่ก็อยู่ด้วยความโง่ มันก็เป็นอย่างนั้น ที่สอนกันทุกวันนี้ก็เรียกว่าสอนให้คนโง่ทั้งนั้นแหละ แต่เขาว่าสอนให้คนฉลาด สอนให้คนรู้ แต่หลักความเป็นจริง ฟังๆดูแล้วก็สอนให้คนหลงงมงาย
ความเป็นจริง หลักธรรมะท่านสอนให้พวกเราทั้งหลายปฏิบัติเพื่อเห็นอนัตตา คือเห็นตัวตนนี้ว่ามันเป็นของว่าง ไม่ใช่เป็นของมีตัวตน เป็นของว่างจากตัวตน แต่เราก็มาเรียนกันให้มันเป็นตัวเป็นตนก็เลยไม่อยากจะให้มันทุกข์ ไม่อยากจะให้มันลำบาก อยากจะให้มันสะดวก อยากจะให้มันพ้นทุกข์ ถ้ามีตัวมีตนมันจะพ้นทุกข์เมื่อไร ดูซิอย่างเรามีของชิ้นหนึ่งที่มีราคามาก เมื่อเราได้รับมาเป็นของเราแล้ว เปลี่ยนเสีย จิตใจเปลี่ยนแล้ว ต้องหาที่วางมัน จะเอาไว้ตรงไหนดีหนอ เอาไว้ตรงนั้นขโมยมันจะย่องเอาไปละมั้ง คิดจนเลิกคิดแล้วหาที่ซ่อนของนะ แล้วจิตมันเปลี่ยนเมื่อไร มันเปลี่ยนเมื่อเราได้วัตถุอันนี้เอง ทุกข์แล้วเอาไว้ตรงนี้ก็ไม่ค่อยสบายใจ เอาไว้ตรงนั้นก็ไม่ค่อยสบายใจ เลยวุ่นกันจนหมดแหละ นั่งก็ทุกข์ เดินก็ทุกข์ นอนก็ทุกข์ นี่ทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว มันเกิดเมื่อไร มันเกิดในเมื่อเราเข้าใจว่าของของเรามันมีมาแล้ว ได้มาแล้ว ทุกข์อยู่เดี๋ยวนี้ แต่ก่อนไม่มี มันก็ไม่เป็นทุกข์ ทุกข์ยังไม่เกิด ไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่จะจับมัน
อัตตานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจว่าตัวของเรา ตนของเรา สภาพสิ่งแวดล้อมนั้นมันก็เป็นของตนไปด้วย ของเราไปด้วย มันก็เลยวุ่นขึ้นไป เพราะอะไร ต้นเหตุคือมันมีตัวมีตน ไม่ได้เพิกสมมุติอันนี้ออกให้เห็นวิมุตติ ตัวตนนี้มันเป็นของสมมุติ ให้เพิกให้รื้อสมมุติอันนี้ออกให้เห็นแก่นของมัน คือวิมุตติ พลิกสมมุติอันนี้กลับให้เป็นวิมุตติ
อันนี้ถ้าเปรียบกับข้าวก็เรียกว่าข้าวยังไม่ได้ซ้อม ข้าวนั้นกินได้ไหม กินได้ แต่เราไปปฏิบัติมันซิ คือให้เอาไปซ้อมมัน ให้ถอดเปลือกออกไปเสีย มันก็จะเจอข้าวสารอยู่ตรงนั้นแหละ ทีนี้ถ้าเราไม่ได้สีมันออกจากเปลือกของมันก็ไม่เป็นข้าวสาร ความเห็นเช่นนี้ก็เหมือนกันกับสุนัข สุนัขมันนอนอยู่บนกองข้าวเปลือกนั่นแหละ ท้องร้องจ๊อก...จ๊อก..จ๊อก...มันก็มัวแต่นอนอยู่นั่นแหละ จิตมันหวั่นวิตก "จะไปหากินที่ไหนหนอ" แน่ะ ท้องมันหิวมันก็โจนออกจากกองข้าวเปลือก วิ่งไปหากินอาหารเศษๆทั้งหลายเหล่านั้น ทั้งๆที่มันนอนทับอยู่อาหารมันอยู่ตรงนั้น แต่มันไม่รู้จัก เพราะอะไร มันไม่เห็นข้าว สุนัขมันกินข้าวเปลือกไม่ได้ อาหารมันมีอยู่แต่มันกินไม่ได้ ความรู้เรามีอยู่ถ้าเราไม่เอาไปปฏิบัติ เราก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน โง่ขนาดสุนัขมันนอนอยู่บนกองข้าวเปลือก นอนทับอาหารอยู่ได้ แต่ว่าไม่รู้จักกินอาหารที่มันนอนทับอยู่ เมื่อหิวอาหารก็ต้องโจนจากข้าววิ่งไปหากินที่อื่น อันนี้มันก็น่าสงสารอยู่เหมือนกัน
เหมือนกันฉันนั้นข้าวสารมีอยู่ อะไรมันปิด เปลือกข้าวมันปิดสุนัขกินไม่ได้ วิมุตติก็มีอยู่ อะไรมันปิดไว้ สมมุติมันปิดไม่ให้เห็นวิมุตติ ให้พุทธบริษัททั้งหลายนั่งทับ ไม่รู้จัก..'ข้าว' ไม่รู้จักการประพฤติปฏิบัติ นั่นจึงไม่เห็นวิมุตติ มันก็จึงติดสมมุติอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา เมื่อมันติดอยู่ในสมมุติมันก็เกิดทุกข์ขึ้นมา เกิดภพขึ้นมา เกิดชาติขึ้นมา ชรา พยาธิ มรณะ ถึงวันตายตามเข้ามา ฉะนั้นมันไม่มีอะไรบังอยู่หรอก มันบังอยู่ตรงนี้ เราเรียนธรรมะ ไม่รู้จักธรรมะ ก็เหมือนกับสุนัขนอนอยู่บนข้าวเปลือก ไม่รู้จักข้าว หิวจวนจะตายมันก็ตายทิ้งเฉยๆนั่นแหละ ไม่มีอะไรกิน ข้าวเปลือกมันกินไม่ได้ มันไม่รู้จักหาอาหารของมันเลย นานๆไปไม่มีอะไรกิน มันก็ตายไปบนกองข้าวเปลือกนั่นแหละ บนอาหารนั่นแหละ
มนุษย์เรานี้ก็เหมือนกัน ธรรมที่เราเรียนมา ธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ถึงจะศึกษาธรรมะเท่าไรก็ตามทีเถิด ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติแล้วก็ไม่เห็น ไม่เห็นแล้วก็ไม่รู้ ไม่รู้ก็ไม่รู้จักข้อปฏิบัติ อย่าพึงว่าเราเรียนมาก เรารู้มากแล้วเราจะเห็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็เหมือนเรามีตา อย่างนี้ก็นึกว่าเราเห็นทุกอย่าง เพราะว่าเรามองไปแล้ว หรือจะนึกว่าเราได้ยินแล้วทุกอย่าง เพราะเรามีหูอยู่แล้ว มันเห็นไม่ถึงที่สุดของมัน มันก็เป็นตานอกไป ท่านไม่จัดว่าเป็นตาใน หูก็เรียกว่าหูนอกไม่ได้เรียกว่าหูใน มิฉะนั้นถ้าท่านพลิกสมมุติเข้าไปเห็นวิมุตติ แล้วก็เป็นของจริง เห็นชัด ถอนทันที มันจึงถอนสมมุติออก ถอนความยึดมั่นถือมั่นออก ถอนทุกสิ่งทุกอย่าง
เหมือนกับผลไม้หวานๆใบหนึ่ง ผลไม้นั้นมันหวานอยู่ก็จริงแต่ว่ามันต้องอาศัยการกระทบประสบจึงรู้ว่ามันหวานหรือมันเปรี้ยวจริงผลไม้นั้นถ้าไม่มีอะไรกระทบ มันก็หวานอยู่ตามธรรมชาติ หวานแต่ไม่มีใครรู้จัก เหมือนธรรมะของพระพุทธเจ้าของเรา เป็นสัจจธรรมจริงอยู่ก็ตาม แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จริงนั้นก็เป็นของไม่จริง ถึงมันจะดีเลิศประเสริฐสักเท่าไรก็ตามทีเถอะมันไม่มีราคาเฉพาะกับคนที่ไม่รู้เรื่อง
ฉะนั้นจะไปเอาทุกข์ทำไม ใครในโลกนี้อยากเอาทุกข์ใส่ตัวมีไหม ไม่มีใครทั้งนั้นแหละ ไม่อยากได้ทุกข์ แต่ว่าสร้างเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมา มันก็เท่ากับเราไปแสวงหาความทุกข์นั่นเอง แต่ใจจริงของเราแสวงหาความสุข ไม่อยากได้ทุกข์ นี่มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ทำไมจิตใจของเรามันสร้างเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมาได้ เรารู้เท่านี้ก็พอแล้วใจเราไม่ชอบทุกข์ แต่เราสร้างความทุกข์ขึ้นมาเป็นตัวของเราทำไม มันก็เห็นง่ายๆก็คือคนที่ไม่รู้จักทุกข์นั่นเอง ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงประพฤติอย่างนั้น จึงเห็นอย่างนั้น จะไม่มีความทุกข์ได้อย่างไรก็เพราะคนไปทำอย่างนั้น
ถ้ามันเป็นเช่นนั้น มันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งดุ้นนั้นแหละ แต่ว่าเราไม่เข้าใจว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ อะไรที่เราได้พูด เราได้เห็น เราได้ทำแล้วเป็นทุกข์ อันนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้น ถ้าไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิมันไม่ทุกข์อย่างนั้นหรอก มันไม่ยึดในความทุกข์อันนั้น มันไม่ยึดในความสุขนั้นๆ ไม่ได้ยึดตามอาการทั้งหลายเหล่านั้น มันจะปล่อยวางตามเรื่องของมัน เช่น กระแสน้ำที่มันไหลมา ไม่ต้องกางกั้นมัน ให้มันไหลไปตามสะดวกของมันนั้นแหละ เพราะมันไหลอย่างนั้น กระแสธรรมก็เป็นอย่างนั้น กระแสจิตของเราที่ไม่รู้จักมันก็ไปกางกั้นธรรมะด้วยที่ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วไปตะโกน โน้น มิจฉาทิฏฐิอยู่ที่โน้น คนโน้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ตัวเราเองเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะเราเป็นมิจฉาทิฏฐิ อันนั้นเราไม่รู้เรื่อง อันนี้ก็น่าสังเกตน่าพิจารณาเหมือนกันนะ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิเมื่อไรก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ไม่ทุกข์ในเวลาปัจจุบันนั้น ต่อไปมันก็ให้ผลมาเป็นทุกข์
อันนี้พูดเฉพาะคนเรามันหลงเท่านั้น อะไรมันปิดไว้ อะไรมันบังไว้ สมมุติมันบังวิมุตติให้คนมองเห็นไม่ชัดในธรรมทั้งหลาย ต่างคนก็ต่างศึกษา ต่างคนก็ต่างเล่าเรียน ต่างคนก็ต่างทำ แต่ทำด้วยความไม่รู้จัก ก็เหมือนกันกับคนหลงตะวันนั้นแหละ เดินไปทางตะวันตกเข้าใจว่าเดินไปทางตะวันออก หรือเดินไปทิศเหนือเข้าใจว่าเดินไปทิศใต้ มันหลงขนาดนี้ เราปฏิบัตินี้มันก็เลยเป็นขี้ของการปฏิบัติโดยตรงแล้วมันก็เป็นวิบัติ วิบัตินี้คือมันพลิกไปคนละทาง หมดจากความมุ่งหมายของธรรมะที่ถูกต้อง สภาพอันนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เราก็เข้าใจว่าอันนี้ถ้าทำขึ้น ถ้าบ่นขึ้น ถ้าท่องขึ้น ถ้ารู้เรื่องอันนี้ มันจะเป็นเหตุให้ทุกข์ดับ ก็เหมือนกันกับคนที่อยากได้มากๆนั่นแหละ อะไรๆก็หามามากๆ ถ้าเราได้มากแล้วมันก็ดับทุกข์ จะไม่มีทุกข์ ความเข้าใจของคนมันเป็นอย่างนี้ แต่ว่ามันคิดไปคนละทาง เหมือนกันกับคนนี้ไปทิศเหนือ คนนั้นไปทิศใต้ นึกว่าไปทางเดียวกัน
ฉะนั้นพุทธบริษัททั้งหลาย มนุษย์เราทั้งหลายจึงจมอยู่ในกองทุกข์ อยู่ในวัฏฏสงสาร ก็เพราะคิดอย่างนี้ ถ้ามีโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาก็นึกแต่จะให้มันหายเท่านั้น อยากจะให้มันหายเดี๋ยวนี้ จะให้มันหายเท่านั้นแหละ ไม่นึกว่าอันนี้มันเป็นสังขาร อันนี้ไม่มีใครรู้จักสังขารมันเปลี่ยน ทนไม่ได้ ฟังไม่ได้ จะต้องให้หายให้หมด แต่ผลสุดท้ายมันก็สู้ไม่ได้ สู้ความจริงไม่ได้ พังหมด อันนี้คือเราไม่ได้คิด คือมันเห็นผิดหนักเข้าไปเรื่อยๆ
การประพฤติปฏิบัติทุกอย่างเพื่อเห็นธรรมะมันเลิศกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง พระพุทธองค์สร้างบารมีตั้งแต่ทานบารมีไปถึงปรมัตถบารมีเพื่ออะไร ก็เพื่อให้รู้จักอันนี้ เพื่อให้เห็นธรรมะ ให้ปฏิบัติธรรมะ แล้วให้รู้ธรรมะ ให้ใจเป็นธรรมะ ให้ปล่อยวางเพื่อจะไม่ให้หนัก อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน หรือจะพูดง่ายๆอีกอย่างหนึ่งว่า ให้ยึดแต่อย่าให้มั่น นี่ก็ถูกเหมือนกัน คือเราเห็นอะไรก็จับมันขึ้นมาดูเสีย "เออ...อันนี้ก็อันนั้น" แล้วก็วางมันไป เห็นอันนั้นอีกก็ยึดมาอีก แต่อย่ายึดให้มันมั่น เอามาพิจารณา รู้เรื่องแล้วก็ปล่อยวางเท่านั้นแหละ ถ้ายึดไม่วาง แบกไม่หยุดมันก็หนักตลอดเวลาสิ ถ้าเรายึดมาแบกรู้สึกว่ามันหนักก็ปลงมันไป ทิ้งมันเสีย อย่าให้ทุกข์เกิดขึ้นมา ถ้าเป็นเช่นนี้เราก็รู้จักว่าอันนี้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด เมื่อรู้จักเหตุให้ทุกข์เกิดแล้ว ทุกข์มันเกิดไม่ได้ ทุกข์จะเกิด สุขจะเกิด มันอาศัยอัตตาตัวตน อาศัยเรา อาศัยของของเรา อาศัยสมมติอันนี้ ถ้าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้ววิ่งไปถึงวิมุตติ มันก็เลิกถอน มันถอนสมมุติออก ถอนความสุขออกจากที่นั่น ถอนความทุกข์ออกจากที่นั่น ถอนความยึดมั่นถือมั่นออกจากที่มันยึดนั้น เท่านั้นแหละ
ก็คล้ายกับว่าของของเราชิ้นหนึ่งมันหลุดมือหายไป เราก็เป็นห่วงก็เป็นทุกข์กับมัน อีกเวลาหนึ่งเราก็พบของนั้นขึ้นมา ความทุกข์ก็หายแว้บไปทีเดียว แม้ยังไม่เห็นวัตถุอันนั้นความทุกข์มันก็หาย อย่างเราเอาของมาวางไว้ตรงนี้ แล้วหลงเสียนึกว่าของเรามันหายไปก็เป็นทุกข์ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นแล้วจิตก็พะวงถึงสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อีกวันหนึ่งอีกเวลาหนึ่ง จิตใจก็วิตกไปถึงของของเราว่า "อ้อ..เอาไว้ตรงนั้นแน่นอนเลย" พอนึกอย่างนั้น รู้ตามความจริงแล้ว ตายังไม่เห็นของเลย สบายใจเลยทีนี้ อันนี้เรียกว่าเห็นทางใน เห็นกับตาใจไม่ใช่เห็นกับตานอก เห็นด้วยตาใจ ถึงตานอกยังไม่เห็น มันก็สบายแล้ว มันก็ถอนทุกข์ออกทันที อย่างนี้ก็เหมือนกัน ผู้ที่บำเพ็ญธรรมะ บรรลุธรรมะ เห็นธรรมะ ประสบอารมณ์เมื่อไรปุ๊บ นั่นก็คือปัญญาเกิดขึ้น ก็แก้ปัญหาได้ทันท่วงทีเท่านั้นแหละ หายไปเลย วาง ปล่อย
ฉะนั้นท่านจึงให้พวกเราพบธรรมะ ทีนี้เราพบธรรมะแต่ตัวหนังสือ พบธรรมะกับตำรา อย่างนั้นมันพบแต่เรื่องของธรรมะ ไม่ได้พบธรรมะตามความจริงที่พระบรมครูของเราสอน จะเข้าใจว่าพวกเราทั้งหลายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้อย่างไร มันไกลกันมาก พระพุทธองค์เป็นโลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก เดี๋ยวนี้เรารู้ไม่แจ้ง รู้เท่าไรก็ยิ่งมืดเข้าไปเท่านั้น รู้เท่าไรก็ยิ่งมืดเข้าไป คือมันรู้มืด ไม่ใช่รู้แจ้ง รู้ไม่ถึงนั่นเองไม่แจ้ง ไม่สว่าง ไม่เบิกบาน คนก็มาคาติดแค่นี้เท่านั้นแหละ แต่ว่ามันไม่ใช่น้อย มันเป็นของมาก
ทุกคนโดยมากก็ต้องการความดี ต้องการความสุข แต่ว่าไม่รู้จักว่าอะไรมันเป็นเหตุให้สุขให้ทุกข์เกิดขึ้นมา อะไรทุกอย่างถ้าเรายังไม่เห็นโทษมัน เราก็ละมันไม่ได้ มันจะชั่วขนาดไหนก็ละมันไม่ได้ถ้าเรายังไม่ได้เห็นโทษอย่างจริงจัง แต่เมื่อเราเห็นโทษอย่างแน่นอนจริงๆนั่นแหละ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเราถึงจะปล่อยได้วางได้ พอเห็นโทษอย่างแน่นอนจริงๆ พร้อมกระทั่งเห็นประโยชน์ในการกระทำอย่างนั้น ในการประพฤติอย่างนั้น เปลี่ยนขึ้นมาทันทีเลย อันนี้คนเราประพฤติปฏิบัติอยู่ทำไมมันยังไปไม่ได้ ทำไมมันถึงวางไม่ได้ คือมันยังไม่เห็นโทษอย่างแน่ชัด คือยังไม่รู้แจ้งนี่แหละ รู้ไม่ถึงหรือรู้มืด มันจึงละไม่ได้ ถ้ารู้แจ้งอย่างอรหันตสาวกหรือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ก็เลิกกันเท่านั้นแหละ แก้ปัญหาหลุดไปทีเดียวแหละ ไม่เป็นของยาก ไม่เป็นของลำบาก
มันก็เหมือนกันกับเรานั่นแหละ หูเราได้ยินเสียงก็ให้มันทำงานตามหน้าที่ของมันสิ ตาทำงานทางรูปก็ให้มันทำสิ จมูกทำงานทางกลิ่นก็ให้มันทำสิ ร่างกายทำงานถูกต้องโผฏฐัพพะก็ให้มันทำงานตามเรื่องของมันสิ ถ้าแบ่งให้มันทำงานตามหน้าที่ของมันแล้ว มันจะมีอะไรมาแย้งกัน มันไม่ได้ขัดขวางกันเลย อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นสมมุติเราก็ให้มันสิ สิ่งเหล่านั้นก็เป็นวิมุตติ เราก็แบ่งมันสิ เราเป็นผู้รู้เฉยๆ เท่านั้นแหละ รู้ไม่ให้มันขัดข้อง รู้แล้วก็ปล่อย วางมันตามธรรมดา เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ของทั้งหลายเหล่านี้เป็นอยู่อย่างนั้น ที่เรายึดมั่นว่าอันนี้ของเรา ใครเป็นคนได้ พ่อเราได้ไหม แม่เราได้ไหมญาติของเราได้ไหม ใครได้ไหม ไม่มีใครได้ พระพุทธองค์จึงบอกให้วางมันเสีย ปล่อยมันเสีย รู้มันเสีย รู้มันโดยที่ว่ายึดแต่อย่าให้มั่น ใช้มันไปในทางที่เป็นประโยชน์ อย่าใช้มันในทางที่เป็นโทษ คือความยึดมั่นถือมั่นที่ทำให้เราเป็นทุกข์
รู้ธรรมะมันต้องรู้อย่างนี้ คือรู้ในแง่ที่มันพ้นทุกข์ ความรู้นี้เป็นสิ่งสำคัญ รู้เครื่องยนต์กลไก รู้อะไรสารพัดอย่างก็ดีอยู่ แต่ว่ามันไม่เลิศ ธรรมะก็ต้องรู้อย่างนี้เห็นอย่างนี้ ไม่ต้องรู้อะไรมากหรอก ให้รู้เท่านี้ก็พอ สำหรับผู้ประพฤติปฏิบัติรู้แล้วก็วาง ไม่ใช่ว่าตายแล้วจึงจะไม่มีทุกข์นะ มันไม่มีทุกข์ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ เพราะมันรู้จักแก้ปัญหามันรู้จักสมมุติวิมุตตินี้เมื่อเรามีชีวิตอยู่ เมื่อเราประพฤติปฏิบัตินี่เองไม่ใช่เอาที่อื่นหรอก ดังนั้นท่านอย่าไปยึดมั่นถือมั่นอะไรมาก ยึดอย่าให้มันมั่น บางทีจะคิดว่า "ท่านอาจารย์ทำไมจึงพูดอย่างนี้ สอนอย่างนี้" จะไม่ให้สอนอย่างไร ไม่ให้พูดอย่างไร เพราะว่ามันแน่นอนอย่างนั้น มันจริงอย่างนั้น จริงก็อย่าไปยึดมั่นมันซิ ถ้าไปยึดมั่นมันก็เป็นไม่จริงเท่านั้นแหละ เหมือนสุนัขไปจับขามันดูซิ จับมันไม่วางเดี๋ยวมันก็วุ่นมากัด ลองๆดูซิสัตว์ทั้งปวงก็เหมือนกัน เช่น งูไปยึดหางมันซิ ยึดไม่ปล่อยวาง เดี๋ยวมันก็กัดเราเท่านั้นแหละ
สมมุตินี้ก็เหมือนกัน ให้ทำตามสมมุติ สมมุตินี้เป็นของใช้เพื่อให้มันสะดวก เมื่อเรามีชีวิตอยู่นี้ไม่ใช่เรื่องจะต้องยึดมั่นถือมั่นจนมันเกิดทุกข์ทรมาน แล้วก็แล้วไปเท่านั้น อะไรที่เราเข้าใจว่าถูก แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นไม่แบ่งใคร นั่นแหละคือมันเห็นผิดแล้ว เป็นมิจฉาทิฏฐิแล้ว เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาปุ๊บ มันเกิดมาจากอะไร เหตุมันก็คือมิจฉาทิฏฐิ มันจึงให้ผลเป็นทุกข์ ถ้ามันถูก ผลที่จะเกิดขึ้นมาจะไม่เป็นทุกข์ ท่านไม่ให้แบก ไม่ให้ยึด ไม่ให้มั่น ถูกก็เป็นของสมมุติ แล้วก็แล้วไป ผิดก็เป็นของสมมุติ แล้วก็แล้วไปเท่านั้น ถ้าเราเห็นว่าถูกแล้วคนอื่นมาแย้งก็อย่าไปถือมัน ปล่อยไป ไม่ได้เสียหายอะไร มันไปตามเรื่องตามเหตุ ตามปัจจัยของมันอย่างเก่า พอรู้แล้วก็ปล่อยมันไปตรงนั้นเลย
แต่โดยมากมันไม่ใช่อย่างนั้น คนเรามันไม่ค่อยยอมกันอย่างนั้นผู้ปฏิบัติเรายังไม่รู้ตัว ยังไม่รู้จิตใจของตน พอพูดอะไรจนคนอื่นว่ามันโง่เต็มที่แล้ว ก็ยังนึกว่ามันฉลาดอยู่นั่นแหละ พูดสิ่งที่มันโง่จนคนอื่นฟังไม่ได้ แต่ก็นึกว่าเราฉลาดกว่าคนอื่น คนอื่นทนฟังไม่ได้ก็ยังว่าเราดีเราถูกอยู่นั่นแหละ มันขายความโง่ของตัวเองโดยไม่รู้เรื่อง
ปราชญ์ทั้งหลายท่านบอกว่า คำพูดอันใดวาจาอันใดที่ปราศจากอนิจจังแล้ว คำพูดนั้นไม่ใช่คำพูดของนักปราชญ์ เป็นคำพูดที่โง่ เป็นคำพูดที่หลง เป็นคำพูดที่ไม่รู้จักว่าทุกข์จะเกิดตรงนั้น พูดง่ายๆให้เห็นเช่นพรุ่งนี้เราตั้งใจว่าจะไปกรุงเทพฯ แล้วมีคนมาถามว่า
"พรุ่งนี้ท่านจะไปกรุงเทพฯ หรือเปล่า"
"คิดว่าจะไปกรุงเทพฯ ถ้าไม่มีอุปสรรคขัดข้องก็คงจะไป"
นี่เรียกว่าพูดอิงธรรมะ อิงอนิจจัง อิงความจริง อิงความไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนตามปัจจัยของมัน ไม่ใช่ว่า "พรุ่งนี้ฉันจะไปแน่"
"ถ้าไม่ไปจริงจะให้ทำอย่างไร จะยอมให้ฆ่าให้แกงไหม" อะไรอย่างนี้ พูดกันบ้าๆ บอๆ
มันยังเหลืออยู่มากเหมือนกัน การปฏิบัติธรรมะมันลึกซึ้งไปจนเรามองไม่เห็น ที่เรานึกว่าเราพูดถูก แต่มันจะผิดไปทุกคำ ผิดจากหลักความจริงทุกคำ แต่ก็นึกว่าเราพูดถูกไปทุกคำ พูดง่ายๆ เราพูดอะไรบ้าง ทำอะไรบ้าง อันที่มันเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด นั่นแหละเรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ เรียกว่าคนหลง คนโง่
โดยมากนักปฏิบัติเราไม่ค่อยจะทบทวนอย่างนี้ เห็นว่าเราดีก็ดีเรื่อยๆไป เช่นเราได้อันหนึ่งขึ้นมา จะเป็นลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี ก็นึกว่ามันดี ดีตลอดกาลตลอดเวลา แล้วก็ถือเนื้อถือตัวขึ้นมาไม่รู้จักว่าเรานี้คือใคร ที่มันดี มันเกิดจากอะไร เดินไปพบ นาย ก.นาย ข. เหมือนกันหรือไม่ อย่างนี้ พระพุทธองค์ท่านให้วางเป็นปกติอย่างนี้ ถ้าเราไม่สับ เราไม่ขบ ไม่เคี้ยว ไม่ปฏิบัติค้นคว้าอันนี้ ก็เรียกว่ายังจมอยู่ จมอยู่ในใจของเรานั่นแหละ เรียกว่าติดลาภบ้างติดยศบ้าง ติดสรรเสริญบ้าง ก็เปลี่ยนเป็นคนอื่น เพราะสำคัญว่าตัวเรานี้ดีขึ้นแล้ว สำคัญว่าเราเลิศขึ้นแล้ว สำคัญว่าเราเป็นโน่นเป็นนี่แล้วก็เกิดอะไรต่ออะไรขึ้นมาวุ่นวาย
ความเป็นจริงมันไม่เป็นอะไรหรอกคนเรา เป็นก็เป็นด้วยสมมุติถ้าถอนสมมุติไปเป็นวิมุตติ มันก็ไม่เป็นอะไร เป็นสามัญลักษณะ มีลักษณะเสมอกัน ความเกิดขึ้นเบื้องต้น มีความแปรไปเป็นท่ามกลางแล้วก็ดับไปที่สุด มันก็แค่นั้น เห็นสภาพมันเป็นอย่างนั้นแล้ว มันก็ไม่มีอะไรจะเกิดขึ้นมา ถ้าเราเข้าใจเช่นนั้นแล้ว มันก็สบาย มันก็สงบ ที่มันไม่สงบก็เหมือนกับพระปัญจวัคคีย์ประพฤติตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน เมื่อท่านพลิกไปอย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าท่านคิดอะไร ท่านทำอะไรก็เลยหาว่าท่านคลายความเพียรเวียนมาหาความมักมาก ถ้าตัวเราเป็นเช่นนั้น ก็คงจะคิดอย่างนั้น คงจะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่มีทางแก้ไข แต่ความเป็นจริงแล้วพระพุทธเจ้าท่านเดินขั้นสูงขึ้นไปอีกจากพวกเรา เรายังถือตัวอย่างเก่า คิดไปในทางต่ำ ก็นึกว่าเราคิดอยู่ในทางสูง เห็นพระพุทธเจ้าก็คิดว่า ท่านคลายความเพียรเวียนมาหาความมักมากแล้ว เหมือนกับปัญจวัคคีย์ ปฏิบัติกี่พรรษาคิดดูซิ ขนาดนั้นก็ยังหลงอยู่ ยังไม่ถนัด
ท่านจึงให้ทำงานและให้ตรวจผลงานของตน คือที่มันไม่ยอมเรื่องที่มันไม่ยอม เรื่องที่มันยอม มันก็สลายตัวไปเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไร ถ้ามันไม่ยอมมันไม่สลาย มันตั้งตัวขึ้นมาเป็นก้อน เป็นตัวอุปาทาน มันไม่มีการแบ่งเบา นักบวชนักพรตเราโดยมากก็ชอบเป็นอย่างนั้น ถ้าติดอยู่ในแง่ไหนก็ดึงอยู่แง่นั้นแหละ ไม่เปลี่ยนแปลงไม่พินิจพิจารณาเห็นว่าเราถูกแล้วก็เห็นว่าเราไม่ผิด แต่ความเป็นจริงความผิดมันฝังอยู่ในความถูก แต่เราไม่รู้จัก เป็นอย่างไรล่ะ "อันนี้แหละถูกแล้ว" แต่คนอื่นว่ามันไม่ถูก ก็ไม่ยอม เถียงกัน นี่อะไรทิฏฐิมานะ ทิฏฐิคือความเห็น มานะคือความยึดไว้ถือไว้ ถ้าเรายึดในสิ่งที่ถูกไม่ปล่อยให้ใครเลยก็เรียกว่ามันผิด ถือถูกนั่นแหละ ยึดมั่นถือมั่นในความถูก มันเป็นขึ้นเดี๋ยวนี้แหละ ไม่เป็นการปล่อยวาง
สิ่งอันนี้เป็นเหตุที่ทำให้คนเราไม่ค่อยสบาย นอกจากผู้ประพฤติปฏิบัติที่เห็นว่า แง่นี้ปุ่มนี้เป็นปุ่มที่สำคัญ ท่านจะจดไว้ พอพูดไปถึงปุ่มนั้นปั๊บมันจะวิ่งขึ้นมาทันทีเลย ความยึดมั่นถือมั่นวิ่งขึ้นมาอาจจะเป็นอยู่นาน บางทีวันหนึ่ง สองวัน สามเดือนสี่เดือน ถึงปีก็ได้ ขนาดช้านะ แต่ขนาดเร็วความปล่อยวางมันจะวิ่งเข้ามาสกัดหน้าเลย คือพอความยึดเกิดขึ้นปุ๊บก็จะมีการปล่อย บังคับให้วางในเวลานั้นเลย จะต้องเห็นสองอย่างนี้พร้อมกันประสานงานกัน ตัวยึดก็มี ผู้ที่ห้ามความยึดนั้นก็มี เราดูสองอย่างนี้เท่านั้นแหละ ไปแก้ปัญหาอันนี้ บางทีมันก็ยึดไปนานก็ปล่อย พิจารณาเรื่อยไป ทำเรื่อยไป มันก็ค่อยบรรเทาไปน้อยไป ความเห็นถูกมันก็เพิ่มเข้ามา ความเห็นผิดมันก็หายไป ความยึดมั่นถือมั่นมันน้อยลง ความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็เกิดขึ้นมา มันเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนเป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นจึงให้พิจารณา แก้ปัญหาได้ในปัจจุบัน บางทีตัวนั้นมันวิ่งขึ้นมา ตัวนี้มันก็วิ่งตะครุบเลย หายไปเลย อันนี้เราดูภายในใจของเราหรอก ดูภายในใจของเรา แก้ปัญหาเฉพาะภายในใจของเราเองถ้าเราแก้มันไม่ได้ตรงนี้ เป็นต้น ปุ่มนี้จับไว้ เมื่อมันเกิดอีกที่ไหนก็พิจารณาตรงนั้น พระพุทธองค์ก็ให้เพ่งตรงนี้ให้มากที่สุด
เมื่อมีเรา ก็มีของเรามาหมายมั่น เหมือนกันกับฝาผนัง ถ้าไม่มีหัวตะปูแล้วห้อยเสื้อไม่ได้ ห้อยกางเกงไม่ได้ ไม่มีที่เกาะฉันใด ถ้าภาวนาถึงที่แล้วมันก็ "ไม่ใช่เรา" "ไม่ใช่ของเรา" เป็นต้น พระอรหันต์ท่านจึงหลุดพ้น หลุดพ้นจาก "เรา" หลุดพ้นจาก "เขาอาสวะทั้งหลายไม่มีที่เกาะ อาสวะทั้งหลายไม่มีที่แอบอิง ไม่มีที่พึ่ง ถ้ามันหมดตัวเรา
การกระทำทุกวัน การประพฤติทุกวัน การพิจารณาทุกเวลา จึงเป็นปัญหาที่จะแก้ปัญหาให้รู้จักตัวว่าเราหรือไม่ใช่ของเราออก ถ้ายังมีตัวเราอยู่อย่างอุปาทาน ก็มีของเราตลอดไป เมื่อมีของเรา ก็มีของหาย มีของได้ เมื่อมีได้เมื่อมีเสีย ก็มีสุขก็มีทุกข์ เมื่อมีสุขเมื่อมีทุกข์ก็มีเหตุมีปัจจัยหมุนเวียนเปลี่ยนไป ไม่มีที่สิ้นสุดที่จบลงได้
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าของเราท่านจึงเน้น เน้นข้อประพฤติ เน้นข้อปฏิบัติให้เห็นตามเป็นจริง เมื่อเห็นตามเป็นจริงแล้วก็สบาย แต่เราไม่ค่อยเห็นตามเป็นจริงได้ง่าย
สมัยก่อนศีล สมาธิ ปัญญาไม่ค่อยมี มีแต่ว่าบรรลุธรรมะไปฟังธรรมก็ภาวนาไปด้วย เมื่อรู้จักธรรมความละอายก็เกิดขึ้นมาไม่กล้าทำในสิ่งที่ผิดทางกาย วาจา ใจ เพราะได้ฟังธรรมะ รู้เรื่องตามความเป็นจริงแล้วจึงมีความละอาย ความละอายท่านเรียกว่า"ศีล" จิตที่มั่นอยู่กับความละอายว่าจะเป็นบาปอยู่นั้น ความมั่นในอารมณ์ที่ว่ามันเป็นบาปอันเดียวนั้นเรียกว่า "สมาธิ" ก็ได้ เมื่อสมาธิความมั่นอยู่ในอารมณ์ ไม่กระทำบาป ทำใจให้สุขุม "ปัญญา" ความรู้เท่าทั้งหลายก็เกิดขึ้นมา บรรลุถึง "สนติธรรม"เห็นตัวเราของเราตามความเป็นจริงว่ามิใช่เราขึ้นมา เป็นตัวปัญญาเกิดขึ้นมาพ้นจากวัฏฏะสงสารอันนี้ได้ ฉะนั้นในครั้งพุทธกาลท่านว่า เมื่อมีการฟังธรรมก็บรรลุธรรมเท่านั้นเอง เมื่อมีศีล สมาธิแล้ว ปัญญาก็เกิดขึ้นมา
เมื่อหากว่าเราพอแล้ว สิ่งอื่นก็หมดราคา พูดง่ายๆว่าเรารับประทานอาหาร แม้ว่าอาหารจะเอร็ดอร่อยอย่างไรก็ช่างมัน เมื่อมันมีเกินที่เราต้องการแล้ว ถ้าหากว่าเราอิ่มอยู่ทุกอย่างแล้ว อาหารที่เหลือนั้นมันหมดราคาน้อยลง ไม่เหมือนเรารับประทานครั้งแรก ทีแรกอันนั้นก็จะเอา อันนี้ก็จะเอามีราคาหมดทุกอย่าง พออิ่มเข้าอิ่มเข้า อาหารที่อร่อยย่อมหมดราคาน้อยลง เพราะเราอิ่ม มันเลยเป็นของหมดราคา เมื่อความหิวมีอยู่ก็เอาหมด ผักน้ำพริกก็เอา แก่เท่าไรก็ว่าอ่อน เพราะความหิวมีอยู่ ความอยากมีอยู่เป็นต้น ความต้องการมีอยู่ เมื่อความเป็นเราเป็นเขามีอยู่เป็นต้น มันก็มีปัญหาอยู่ตลอดกาลตลอดเวลาเสมอ
ดังนั้นการฟังธรรมะเพื่อจะอบรมใจเราให้เกิดปัญญา เพื่อให้ไปแก้ปัญหาของโลก ปัญหาของโลกอยู่ไหน "โลก" คือ"อารมณ์" ที่มีอยู่รอบๆตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นต้น จัดได้ว่าเป็นอารมณ์ ดีชั่วทั้งหลายทั้งปวงเป็นอารมณ์ อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง ถ้าเราหลงอารมณ์ก็คือเรา "หลงโลก" "หลงโลก" ก็คือ"หลงอารมณ์" คำว่าดูโลกไม่ใช่ว่านั่งเครื่องบินไปรอบโลก โลกนั้นคืออารมณ์ อารมณ์ที่ชอบใจไม่ชอบใจ มีสุขมีทุกข์ ทั้งหมดท่านเรียกว่า "อารมณ์" ซึ่งมันเกิดขึ้นกับใจเราก็มี นั่งอยู่เฉยๆก็เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรามีอยู่รอบสิ่งทั้งหลายเท่านี้แหละเมื่อเราได้สัมผัสกับอารมณ์ทั้งหลายแล้ว ใจเรามันจะหลงอารมณ์ถ้ามันหลงอารมณ์มันก็แก้ปัญหาของโลกไม่ได้ เมื่อแก้ปัญหาของโลกไม่ได้ใจเราก็เศร้าหมอง ก็ไม่ผ่องใสติดอยู่ในโลก เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้ามันติดปัญหาข้องปัญหาขึ้นมาจริงๆแล้ว บางทีก็ร้องไห้น้ำตาไหล เคยร้องไห้ไหม? แก้ปัญหาลูกไม่ตก แก้ปัญหาเมียไม่ตก แก้ปัญหาวัตถุข้าวของเงินทองไม่ตก แก้ปัญหาความเจ็บไข้ไม่ตก มีแต่น้ำตาไหลออกมาเท่านั้นแหละ คนโง่คนไม่มีปัญญา
คนแก้ปัญหาของโลกไม่ได้ก็ร้องไห้ ถ้าไม่ร้องไห้ก็หนี หนีไปยิงตัวตาย หนีไปกินยาตาย หนีไปโดดน้ำตาย มันก็หนีไปอย่างนั้นแหละ เพราะคนโง่คนชั่วหนีไปทั่วนั่นแหละ เหมือนกับไฟมันไหม้ป่า สัตว์ต่างๆก็หนีไปตามสัญชาติญาณของมันเพราะกลัวตายมันดับไฟไม่ได้ มนุษย์เรานี้เหมือนกันฉันนั้น มันติดในอารมณ์ แก้อารมณ์ของโลกไม่ได้ เดี๋ยวก็ทะเลาะกัน เดี๋ยวก็วุ่นวายกันเดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวก็ร้องไห้วุ่นวาย เป็นอยู่อย่างนี้เอง สภาพของโลกเป็นอยู่อย่างนี้
ฉะนั้น เราฟังธรรมก็เพื่อจะได้มีความรู้ ไปแก้ปัญหาของโลก เพราะโลกอันนี้ไม่ต้องแก้ปัญหาอะไรให้มันมากมาย มาแก้ความเห็นของเรา มาแก้ความคิดของเรา มาแก้ทิฏฐิของเราให้มีความเห็นอันถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น โลกที่มันตั้งอยู่มันก็ตั้งอยู่ตามสภาพของมัน เพราะเราไปหลงโลกมันจึงทุกข์ โลกนั้นมันไม่ทุกข์ โลกนั้นมันไม่ยาก เราเป็นคนยาก
เหมือนกับเราเดินทางหนทางไกลเท่าไร มันก็ไม่เหนื่อยกับเรา หนทางไม่เหนื่อยเราผู้เดินนี้เหนื่อย เราผู้วิ่งนี้มันหนักหนทางมันจะไปไหนก็ช่าง มันไม่เมื่อย มันก็ไม่เหนื่อย มันเหนื่อยเพราะเราเดินทาง มันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นทางมันพอดีของมันอยู่ พอดีอย่างไร ถ้าเราเดินเหนื่อยเราก็พัก ก็ไม่เป็นไรถ้าเราฉลาด ถ้าเหนื่อยแล้วยังขืนเดินไปก็ตายกับหนทางเท่านั้นแหละทางไม่เป็นอะไร ถึงแม้ว่าเราจะหยุด มันก็ไม่บังคับให้เราเดินไปอีก ถึงแม้เราจะไปอีกมันก็ไม่บังคับให้เราหยุด โลกมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเรารู้จักทางก็รู้จักกำลังของเรา พอสมควรเราก็พักได้เราจึงค่อยเดินไป เป็นเรื่องของเรา คนรู้จักทางเป็นอย่างนี้
คนรู้จักโลกก็เหมือนกัน โลกมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเองทางนั้นก็เป็นโลก โลกนั้นก็คือหนทาง ถึงแม้ว่าเราเดินต่อมันก็ไม่สิ้นสุดสักที โลกไม่ได้ทำให้เราทุกข์ เราทุกข์เอง ฉะนั้นจึงมาแก้ที่เรา ใจเรานี้มันหลงโลก ไม่ใช่โลกหลงเรา เรามันหลงโลกเข้าใจไหม? ถ้าว่าอาหารทั้งหลาย ถ้ามันอร่อย ไม่ใช่อาหารมันหลงเรา เรามันหลงอร่อยอันนั้น หลงหวาน หลงเปรี้ยว หวานก็พอดีของมัน เปรี้ยวก็พอดีของมัน มันเป็นของพอดี
โลกนี้เป็นของพอดี แต่เรามีความโลภ ทะเยอทะยาน ไปเอง ไม่รู้จักโลก ไม่รู้จักภาษาของโลก ไม่รู้จักความหมายของโลกว่ามันเปลี่ยนแปลงอยู่ตามธรรมชาติของมัน อยู่ทุก วินาที ว่าเมื่อมันเกิดแล้วมันก็แก่ แก่แล้วก็เจ็บ เมื่อเจ็บแล้วมัน ก็ตาย
คนทั้งหลายเกิดแล้วก็ไม่อยากแก่ แก่แล้วไม่อยากไปทางไหน อยากอยู่อย่างนี้ ให้มั่นคงให้ยั่งยืนอยู่นี่ อยู่กับลูกกับหลานนี่ "ลูกไปไร่ไปนา ลูกไปสวนมาบ้าน คนขี้คร้านให้นอนอยู่บ้านอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องไปที่ไหนอีก" อยากอยู่นี่ไม่อยากไปทางไหน ไม่อยากให้เฒ่า ไม่อยากให้เจ็บ ไม่อยากให้วุ่นวาย ไปกั้นแม่น้ำทะเลเอาไว้ ถ้ากั้นไม่อยู่ก็ท่วมบ้านท่วมเรือนเหมือนเก่านั้นแหละ ตายหมดเหมือนเก่านั่นแหละ
ท่านจึงให้พิจารณาโลก ปัญญารู้เท่าตามความเป็นจริงของโลก โลกเป็นอย่างใดก็ให้รู้เท่าตามเป็นจริงมันซะ ถ้าเรารู้จักปัญหาของโลกแล้ว ก็เหมือนกันกับเรารู้จักธรรมะ รู้บรรลุธรรมะเมื่อรู้จักธรรมะแล้วมันก็รู้แจ้งโลก เมื่อรู้แจ้งโลกก็ไม่ติดในโลกเป็น "โลกวิทู รู้แจ้งโลก"
ฉะนั้นธรรมะนี้จึงมีอานิสงส์มาก ท่านว่าฟังธรรมะมีอานิสงส์มาก การให้ธรรมเป็นทานได้บุญมากกว่าสิ่งทั้งหลายปวงมันก็ถูกอยู่การฟังธรรมก็ได้บุญ คนฟังธรรมเอาบุญเกิดจากการฟังไม่ค่อยมี ทุกวันนี้ฟังแล้วหมดไป หมดไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักอะไรการฟังธรรม การรักษาศีล ปีนี้ชาวพิบูลฯเขามารดน้ำ เขามาขอศีล ขอก็ให้ นั่งดีๆ อาราธนาแล้ว ข้อ ๑. อย่าฆ่าสัตว์ ๒. อย่าลักขโมยของเขา ๓. อย่าไปนอกใจลูก ใจผัว ใจเมีย ข้อ ๔. อย่าโกหกกัน ข้อ ๕. อย่ากินสุรา เอาแหละใครจะเอาก็เอา ถ้าจะเอา เอาไหมล่ะ? พูดอย่างนี้ ทำไมให้ศีลง่ายจัง นั่นแหละให้ง่ายๆอย่างนี้แหละ มันจะยากอะไรถ้าจะเอา เอาไหมล่ะเรื่องเท่านี้ เรื่องไม่มากหรอก เขาไม่ค่อยได้ยิน เขาอาราธนาขอศีลก็ว่าไป มันไม่ค่อยได้เรื่องแบบนั้น มันตรงเกินไป
กระเทาะเอาเปลือกเอารำมันออกหมด ไม่ค่อยอยากจะได้มันไม่รู้จักของกินหรือนี่ ทีเอาข้าวสารให้ไม่ค่อยอยากจะกิน แต่ถ้าเลียแกลบเลียรำนั้นเร็วมาก ชอบมาก
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)