คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เราท่านทั้งหลายได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เป็นการยากแท้ที่สัตว์หลายล้านตัวไม่มีโอกาสอย่างเรา จงอย่าประมาท รีบสร้างบารมีให้แก่ตนด้วยการทำดีทั้งชั้นต้น ชั้นกลาง และชั้นสูง อย่าปล่อยให้เวลาเสียไปโดยเปล่าปราศจากประโยชน์เลย ฉะนั้นควรจะทำตนให้เข้าถึงพุทธธรรมเสียแต่วันนี้ "มรรค ผล ไม่พ้นสมัย"
มีคนถามว่า การทำภาวนานี้ ต้องอธิษฐานหรือไม่ว่าจะทำเวลานานเท่าไร 5 หรือ 10 นาที อาตมาเลยบอกว่า ไม่แน่นอน บางทีอธิษฐานว่าฉันจะนั่งสามชั่วโมง นั่งไปได้สิบนาทีก็เดือดร้อนแล้ว ไม่ถึงชั่วโมงก็หนีไปแล้ว เมื่อหนีไปแล้วก็มานั่งคิดว่า แหม เรานี้พูดโกหกตัวเราเอง เอาแต่โทษตัวเองอยู่ ไม่สบายใจ บางทีก็เอาธูปสักดอกหนึ่งมาจุด อธิษฐานจิตใจว่า ไฟจุดธูปดอกนี้ไม่หมด ฉันจะไม่ลุกหนี ฉันจะพยายามอยู่อย่างนี้ พอท่านพูดอย่างนี้ พญามารก็มาแล้ว นั่งเข้าไปสักนิด นั่นทุกข์หลายเหลือเกิน เดี๋ยวมดกัด เดี๋ยวยุงกัด มันวุ่นไปหมด จะลุกหนีไปก็อธิษฐานแล้ว นี่มันตกนรก นึกว่านานเต็มทีแล้ว ลืมตามองดูธูปยังไม่ถึงครึ่งเลย
หลับตาอธิษฐานต่อไปอีก สามทีสี่ทีธูปก็ยังไม่หมด เลยก็มาคิด เรานี่มันไม่ดีเหลือเกิน โกหกตัวของตัวอยู่ เลยวุ่นยิ่งกว่าเก่าอีก เรานี้เป็นคนไม่ดี เป็นคนอัปรีย์จัญไร เป็นคนโกหกพระพุทธเจ้า โกหกตัวเราเอง เกิดบาปขึ้นมาอีก อาตมาเห็นว่า ต้องพยายามทำไปเรื่อยๆ พอสมควรที่จะเลิกก็เลิก เหมือนกันกับเราทานข้าว เราอธิษฐานมันเมื่อไร ทานไปทานไป มันจวนจะอิ่ใจะพอ เราก็เลิกมันเมื่อนั้น กินมากไปมันก็อาเจียรออกเท่านั้นแหละ ให้มันพอดีอย่างนั้น
เราเหมือนพ่อค้าเกวียน ต้องรู้จักกำลังโคของเรา ต้องรู้จักกำลังเกวียนของเรา โคของเรามีกำลังเท่าไร เกวียนของเรารับน้ำหนักได้เท่าไร ต้องรู้จัก ต้องเอาตามกำลังโค ต้องเอากำลังเกวียนของเรา
อย่าเอาตามความอยากของเราสิ เรามีเกวียนลำเดียว อยากจะบรรทุกหนักให้ขนาดรถสิบล้อ มันก็พังเท่านั้นก็ตายนะซิ มันต้องค่อยๆ ไป ค่อยๆ ทำ อย่างนี้ให้รู้จักของเราปฏิปทาเราทำไปเรื่อยๆ ก็สบาย มันวุ่นวายก็ตั้งใหม่ มันวุ่นวายไปก็ตั้งใหม่ ถ้ามันวุ่นวายนักก็ลุกเดินจงกรมเสียซิ เดินมันจนเหนื่อย พอเหนื่อยก็มานั่ง นั่งกำหนด มันเหนื่อยมันจะสงบระงับ ถ้าเดินก็พอแรง นั่งก็พอสมควรแล้ว อยากจะพักผ่อนก็พักผ่อนเสีย แต่ว่า จิตใจอย่าลืม มีสติอยู่ทั้งเดิน ทั้งนั่ง ทั้งนอน อยู่ให้สม่ำเสมออย่างนั้น ให้เราเข้าใจอย่างนั้น
การประพฤติปฏิบัติธรรมต้องไม่ย่อหย่อน จะต้องทำความพยายามอย่างนั้น ความอยากจะเร็วของเรา อันนี้ไม่ใช่ธรรมะ มันเป็นความอยากของเรา ใจอยากจะเร็วที่สุด แต่มันทำไม่ได้ ธรรมชาติมันเป็นอยู่อย่างนั้น เราก็กำหนดจิต ปฏิบัติตามธรรมชาติของมันอย่างนั้น อยากจะให้มันเร็วที่สุดนั้นไม่ใช่ธรรม มันคือความอยากของเรา เราจะทำตามความอยากของเรานั้นไม่จบ
ให้รู้จักดูประวัติของพระอานนท์ พระอานนท์นั้นมีศรัทธามากที่สุด พรุ่งนี้เขากำหนดให้พระอรหันต์ทำปฐมสังคายนาแล้ว และคณะสงฆ์ก้กำหนดพระอานนท์องค์หนึ่งว่าจะเอาไปร่วมทำสังคายนา แต่จะเอาเฉพาะพระอรหันต์ทั้งนั้น พระอานนท์เหลือเพียงคนเดียวเท่านั้น ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ไม่รู้จะทำอย่างไร พระอานนท์ก็อาศัยความอยาก นึกว่า เราจะต้องทำอะไรหนอ จึงจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พรุ่งนี้เขาจะนับเข้าอันดับแล้ว จะประชุมสงฆ์ทำสังคายนา ตอนกลางคืนก็ตั้งใจนั่ง ไม่ได้นอนทั้งคืน นั่งทำอยู่อย่างนั้น อยากจะเป็นพระอรหันต์ กลัวจะไม่ทันเพื่อนเขา ทำไปทุกอย่าง คิดไปทางนี้ก็มีแต่ปัญญาหยาบ คิดไปทางโน้นก็มีแต่ปัญญาหยาบ คิดไปทางไหนก็มีแต่ปัญญาหยาบทั้งนั้น วุ่นวายไปหมด คิดไปก็จวนจะสว่าง เรานี่แย่ เราจะทำอย่างไรหนอ เพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายจะทำสังคายนาแล้ว เรายังเป็นปุถุชนจะทำอย่างไรหนอ
ธรรมที่พระพุทธองค์ท่านแสดงไว้ เราพิจารณาทุกอย่างไม่ขัดข้อง แต่เรายังตัดกิเลสยังไม่ได้ ยังไม่เป็นพระอริยเจ้า ทำอย่างไรหนอ เลยคิดว่าเราก็ทำความเพียรมาตั้งแต่ย่ำค่ำจนถึงบัดนี้ หรือมันจะเหนื่อยไปมากกระมัง คิดว่าควรจะพักผ่อนสักพักหนึ่ง เลยเอาหมอนมาจะทำการพักผ่อน เมื่อจะพักผ่อน ก้ปล่อยวางทอดธุระหมดเท่านั้น ศีรษะยัง ไม่ทันถึงหมอนเลย พอเท้าพ้นพื้นเท่านั้น ตอนนั้นขณะจิตเดียว พอดีจิตมันรวมได้ ที่ตั้งใจว่าจะพักผ่อน มันปล่อยวางทอดธุระ ตอนนั้นเองพระอานนท์ได้ตรัสรู้ธรรม ตอนที่ว่าอยากจะให้มันเป็นอย่างนั้น อยากจะให้มันเป็นอย่างนี้ ไม่มีเวลาที่จะพักผ่อน ไม่ปล่อยวาง ก็เลยไม่มีโอกาสที่จะตรัสรู้ธรรม
ให้เข้าใจว่าการที่จะตรัสรู้ธรรมนั้น มันพร้อมกับการปล่อยวางด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ว่าเราจะเร่งมันให้มันเป็นอย่างนั้น แต่ด้วยเห็นว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น พอพักผ่อน พอวางเข้าปุ๊บ ตรงนั้นไม่มีอะไรเข้ามายุ่ง ไม่มีความอยากเข้ามายุ่ง เลยสงบตรงนั้นเลย พอจิตตอนนั้นรวมดี ก็เป็นโอกาสพบตรงนั้น พระอานนท์เกือบจะไม่รู้ตัว รู้ตัวว่ามันเป็นอย่างนั้นเท่านั้น ที่พระอานนท์อยากจะตรัสรู้ให้มันเป็นอย่างนี้ไม่ได้ นี่คือความอยาก แต่พอรู้จักวาง ตรงนั้นแหละคือ การตรัสรู้ธรรมะ
คนไม่รู้จักมันก็ทำยาก เช่นว่า ตรงนั้นไม่ใช่ที่อยู่ของคน ความวิตกของปุถุชนจะไปวิตกตรงนั้นก็ไม่ได้ เช่นว่า นี่พื้น นั่นหลังคา ตรงนี้ (ระหว่างหลังคากับพื้น) ไม่มีอะไร เห็นไหม ตรงนี้ไม่มีภพ ภพคือหลังคากับพื้น ระยะกลางนี้เรียกว่าไม่มีภพ ถ้าคนจะอยู่ก็ต้องอยู่ข้างล่าง หรือข้างบน ตรงนี้ไม่มีคนที่จะอยู่ไม่มีใครที่จะอยู่ เพราะว่ามันไม่มีภพ ตรงนี้คนไม่สนใจ การปล่อยวางอย่างนี้คนไม่สนใจ การปล่อยวางอย่างนี้คนไม่สนใจว่า การปล่อยวางมันจะเกิดอะไรไหม เมื่อขึ้นไปถึงโน้นเป็นภพเคยอยู่ ลงมาทางนี้ก็เป็นภพเคยอยู่ ขึ้นไปข้างบนนี้หน่อยก็สุขสบาย หล่นลงมาตูมก็เจ็บ แล้วเป็นทุกข์ มีแต่ทุกขืกับสุข แต่ที่มันจะวางให้เป็นปกติไม่มี เพราะว่าที่ภพนั้นคนไม่สนใจ แต่จิตจะวิตกก็ให้วิตกไปในปกติไม่มีภพ
ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่ไม่มีภพไม่มีชาติ คือไม่มีอุปาทานนั่นเอง อุปาทานเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ถ้าอุปาทานนั้นเราปล่อยไม่ได้ เราอยากจะสงบมันก็ไม่สงบ คนเราอยู่กับภพ ถ้าไม่มีภพ คิดไม่ได้ เพราะนิสัยของคนมันเป็นอย่างนั้น กิเลสของคนเป็นอย่างนั้น พระนิพพานที่พระพุทธองค์ท่านว่า พ้นจากภพชาติ ฟังไม่ได้ ไม่เข้าใจ มันเข้าใจแต่ว่าต้องมีภพชาติ ถ้าไม่มีภพถ้าไม่มีที่อยู่ ฉันจะอยู่อย่างไร ยิ่งคนธรรมดาๆ อย่างเราแล้ว ฉันจะอยู่อย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ อยากจะเกิดอีกแต่ก็ไม่อยากตาย มันขัดกันเสียอย่างนี้ ฉันอยากเกิดแต่ฉันไม่อยากตาย มันพูดเอาคนเดียวตามภาษาคน แต่การเกิดแล้วไม่ตายนั้นมีไหมในโลกนี้ เมื่อคนอยากเกิดก็คือคนนั้นอยากตายนั่นเอง แต่เขาพูดว่าฉันอยากเกิด แต่ฉันไม่อยากตาย มันคิดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เขาก้ไปคิดให้มันทุกข์
ทำไมเขาจึงคิดอย่างนั้น เพราะเขาไม่รู้จักทุกข์ เขาจึงคิดอย่างนั้น พระพุทะองค์ท่านว่า ตายนี้มาจากความเกิด ถ้าไม่อยากตายอย่าเกิดสิ แต่นี่อยากเกิดอีก แต่ว่าไม่อยากตาย พูดกับกิเลสตัณหานี้มันก็ยาก มันก็ลำบาก มันถึงมีการปล่อยวางได้ยาก มีการปล่อยวางไม่ได้อย่างนี้ กิเลสตัณหามันเป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นที่พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า ไม่มียางต้นเสาอันนี้ อะไรไปเกาะ ไม่มีที่เกาะ ก็จึงไม่มีภพไม่มีชาติ ถ้าพูดถึงว่าเราไม่มีภพมีชาติ เราฟังไม่ได้ จนกระทั่งท่านย้ำเข้าไปถึงตัวตนนี้ว่า ไม่มีตัวมีตน ตัวตนนั้นเป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้น มันจริงอยู่มันก็จริงโดยสมมุติ ถ้าพูดถึงวิมุติ ตัวตนก็ไม่มี เป็นธรรมธาตุอันหนึ่งเกิดขึ้นมาเพราะเหตุปัจจัยเกิดขึ้นมาเท่านั้น เราก้ไปสมมุติว่ามันเป็นตัวเป็นตนเกิดขึ้นมา เมื่อสมมุติเป็นตัวเป็นตน ก็ยึดตัวยึดตนนั้นอีก เลยเป็นคนมีตน ถ้ามี "ตน" ก็มี "ของตน" ถ้าไม่มี "ตน" "ของตน" ก็ไม่มี ถ้ามี "ตน" มันมีสุขมีทุกข์ ถ้ามี "ตน" มันก็มี "ของตน" พร้อมกันขึ้นมาเลย เราไม่รู้เรื่องอย่างนั้น ฉะนั้นคนเราจึงคิดไปว่า อยากเกิดแต่ไม่อยากตาย
พูดถึงเรื่องกระแสพระนิพพานแล้ว ถ้าไม่รู้ปัจจัตตังแล้ว ก็ไม่มีใครที่จะปรารถนาอะไร ถึงพระนิพพานนี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องปรารถนาอีกด้วย พระนิพพานปรารถนาไม่ได้เหมือนกัน อย่างนี้มันเป้นลักษณะที่เข้าใจยาก ถึงเราจะเข้าใจในเรื่องพระนิพพาน แต่จะพูดให้คนอื่นฟัง ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน มันไม่เข้าใจ เพราะธรรมอันนี้ ถ้าแบ่งให้กันได้มันก็สบายละซิ แต่ธรรมนี้มันเป็นปัจจัตตัง มันรู้เฉพาะตัวของเราเอง บอกคนอื่นได้ แต่มีปัญหาอยู่ว่าคนอื่นจะรู้ไหม
ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า "อักขาตาโร ตถาคตา" แปลว่า พระตถาคตเป็นแต่ผู้บอก นั่นก็เหมือนกับเราทุกวันนี้แหละ เป็นผู้บอกไม่ใช่ผู้ทำให้ บอกแล้วให้เอาไปทำ จึงจะเกิดความมหัศจรรย์ขึ้น เกิดความเป็นจริงขึ้นเฉพาะตน เป็น "ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ" วิญญูชนรู้เฉพาะตัวเอง ทั้งนั้น อย่างพูดวันนี้ จะมาเชื่ออาตมานั้นก็ยังไม่ใช่ของดี มันยังไม่ใช่ของแท้ คนที่เชื่อคนอื่นอยู่ พระพุทธองค์ท่านว่ายังโง่อยู่ พระพุทธองค์ท่านให้รับรู้ไว้ แล้วไปพิจารณาให้มันเกิดขึ้นมาโดยเฉพาะตัวเราเอง ธรรมนี้มันจึงเป็นปัจจัตตังอย่างนั้น
ทีนี้ในเรื่องการฟังธรรม ก็ให้ทำความเข้าใจว่าต้องไม่ปฏิเสธ รับฟังไม่เชื่อก้พิจารณาดู ไม่เชื่อก็ไม่ว่า เชื่อก้ไม่ว่า วางไว้ก่อน เราจะรู้โดยให้เกิดปัญญา อะไรทุกอย่างถ้าไม่มีเหตุผลเพียงพอในใจของเราเอง ก็ยังไม่ปล่อยวาง คือว่า มีสองข้าง นี่ข้างหนึ่ง นี่ก็ข้างหนึ่ง คนเรานั้นจะแอบเดินมาข้างนี้ หรือแอบเดินไปข้างนั้น ที่เดินไปกลางๆ ไม่ค่อยเดินหรอก มันเป็นทางเปลี่ยว เดี๋ยวรักก็ไปทางรัก พอชังก้ไปทางชัง จะปล่อยการรักการชังนี้ไป มันเป็นทางเปลี่ยว มันไม่ยอมไป
เมื่อพระพุทะองค์ตรัสรู้ธรรมะ ทรงเทศน์เป็นปฐมเทศนาเลยตรงนี้ ทางหนึ่งมันเป็นทางสุขของกาม ทางหนึ่งมันเป็นทางทุกข์ทรมานตน สองอย่างนี้ไม่ใช่ทางที่สงบ ท่านพูดว่าไม่ใช่ทางของสมณะ สมณะนี้คือความสงบ สงบจากสุขทุกข์ ไม่ใช่มีความสุขแล้วมันสงบ ไม่ใช่มีความทุกข์แล้วมันสงบ ต้องปราศจากสุขหรือทุกข์ มันจึงเป็นเรื่องความสงบ ถ้าเราทำอย่างนั้นแล้วมีความสุขใจเหลือเกิน อันนี้ก็ไม่ใช่ธรรมะที่ดีนะ แต่เราต้องวางสุขหรือทุกข์ไว้สองข้าง ความรู้สึกต้องไปกลางๆ เดินผ่านมันไปกลาง เราก็มองดู สุขก็เห็น ทุกขืกเห็น แต่เราไม่ปรารถนาอะไร เดินมันเรื่อยไป เราไม่ต้องการสุข เราไม่ต้องการทุกข์ เราต้องการความสงบ จิตใจของเราไม่ต้องแวะไปหาความสุข ไม่ต้องแวะไปหาความทุกข์ ก็เดินมันไปเรื่อย เป็นสัมมาปฏิปทา เป็นมรรคมีองค์แปด มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเกิดขึ้นแล้ว สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริวิตกวิจารมันก็ชอบทั้งนั้น อันนี้เป็นสัมมามรรคเป็นมรรคปฏิปทา ถ้าจะทำอย่างนี้ให้เกิดอย่างนั้น
ทีนี้เราได้ฟังเราก้ไปคิดดู ธรรมะทั้งหมดนี้ท่านต้องการให้ปล่อยวาง ปล่อยวางจะเกิดขึ้นมานั้นต้องรู้ความเป็นจริง มันถึงจะปล่อยวางได้ ถ้าความรู้ไม่เกิด ก็ต้องมีการอดทน มีการพยายาม มีการปฏิบัติธรรมอยู่ มันต้องใช้ทุนอยู่เสมอทีเดียวเรียกว่าต้องปฏิบัติธรรม
แต่ เมื่อมันรู้เห็นหมดแล้ว ธรรมะก็ไม่ได้แบกเอาไปด้วย อย่างเลื่อยคันนี้เขาจะเอาไปตัดไม้ เมื่อเขาตัดไม้หมดแล้ว อะไรก็หมดแล้ว เลื่อยก็เอาวางไว้เลย ไม่ต้องไปใช้อีก เลื่อยคือธรรมะ ธรรมะต้องเอาไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุมรรคผล ถ้าหากว่ามันเสร็จแล้ว ธรรมะที่มีอยู่ก็วางไว้ เหมือนเลื่อยที่เขาตัดไม้ ท่อนนี้ก็ตัด ท่อนนี้ก็ตัด ตัดเสร็จแล้ว ก็วางไว้ที่นี่ อย่างนั้นเลื่อยก็ต้องเป็นเลื่อย ไม้ก็ต้องเป็นไม้ นี่เรียกว่าถึงหยุด แล้วถึงจุดของมันที่สำคัญแล้ว สิ้นการตัดไม้ ไม่ต้องตัดไม้ ตัดพอแล้ว เอาเลื่อยวางไว้
การประพฤติปฏิบัติต้องอาศัยธรรมะ ถ้าหากว่าพอแล้วไม่ต้องเพิ่มมัน ไม่ต้องถอนมัน ไม่ต้องทำอะไร มันปล่อยวางอยู่อย่างนั้น เป็นไปตามธรรมชาติอันนั้น ถ้าไปยึดมั่นหมายมั่น สงสัยอันนี้เป็นอย่างนั้น มันอยู่ไกลเหลือเกิน อยู่ไกลมากทีเดียว ยังเป็นเด้กๆ อยู่ ยังเป็นเด้กอมมืออยู่นั่นแหละ ทำอะไรไม่ถูกอยู่นั่น ไม่เอาแล้วอย่างนั้น มันเป็นทุกข์ ต้องดู ต้องดูออกจากจิตใจของเรา ดูมัน ปล่อยมัน ดูว่ามันอะไรเกิดขึ้น ก็รู้ว่าอันนี้ไม่แน่ อันนี้เกิดไม่จริง อันนี้มันปลอม ความจริงมันก็อยู่อย่างนั้น ที่เราอยากให้อันนั้นเป็นอันนี้ อันนี้เป็นอันนั้น นั่นไม่ใช่ทาง มันเป็นอยู่อย่างนั้น ก็วางมันเสีย ความสงบเกิดขึ้นได้ เราข้ามไปข้ามมามันไม่รู้เรื่อง ก็เป็นทุกข์ตลอดเวลา หายสงสัยเสีย อย่าไปสงสัยมัน เลิกมันเถอะ อย่าไปเป็นทุกข์หลาย พอแล้ว ปล่อยวางมันเสีย (หัวเราะ)
การฝึกจิตมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่วิธีที่เห็นว่ามีประโยชน์และเหมาะสมที่สุด ใช้ได้กับบุคคลทั่วไป วิธีนั้นเรียกว่า "อานาปานสติภาวนา" คือ มีสติจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าและหายใจออก ให้กำหนดลมที่ปลายจมูกโดยภาวนาว่าพุทโธ ในเวลาเดินจงกรมและนั่งสมาธิก็ภาวนาบทนี้ จะใช้บทอื่นหรือจะกำหนดเพียงการเข้าออกของลมก็ได้ แล้วแต่สะดวก ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า พยายามกำหนดลมเข้าออกให้ทันเท่านั้น การเจริญภาวนาบทนี้จะต้องทำติดต่อกันไปเรื่อยๆ จึงจะได้ผล ไม่ใช่ว่าทำครั้งหนึ่งแล้วหยุดไปตั้งอาทิตย์ สองอาทิตย์ หรือตั้งเดือนจึงทำอีก อย่างนี้ไม่ได้ผล พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า ภาวิตา พหุลีกตา อบรมกระทำให้มาก คือทำบ่อยๆ ติดต่อกันไป
อาการบังคับตัวเองให้กำหนดลมหายใจข้อนี้เป็นศีล การกำหนดลมหายใจได้และติดต่อกันไปจนจิตสงบข้อนี้เรียกว่าสมาธิ การพิจารณากำหนดรู้ลมหายใจว่าไม่เที่ยง ทนได้ยาก มิใช่ตัวตน แล้วรู้การปล่อยวาง ข้อนี้เรียกว่าปัญญา การทำอานาปานสติภาวนาจึงกล่าวได้ว่าเป็นการบำเพ็ญทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ไปพร้อมกัน และเมื่อทำศีล สมาธิ ปัญญาให้ครบก็ชื่อว่าได้เดินทางตามมรรคมีองค์แปด ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นทางสายเอก ประเสริฐกว่าทางทั้งหมด เพราะจะเป็นการเดินทางเข้าถึงพระนิพพาน เมื่อเราทำตามที่กล่าวมานี้ ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงพุทธธรรมอย่างถูกต้องที่สุด
เราท่านทั้งหลายได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เป็นการยากแท้ที่สัตว์หลายล้านตัวไม่มีโอกาสอย่างเรา จงอย่าประมาท รีบสร้างบารมีให้แก่ตนด้วยการทำดีทั้งชั้นต้น ชั้นกลาง และชั้นสูง อย่าปล่อยให้เวลาเสียไปโดยเปล่าปราศจากประโยชน์เลย
ฉะนั้นควรจะทำตนให้เข้าถึงพุทธธรรมเสียแต่วันนี้ "มรรค ผล ไม่พ้นสมัย"
การที่เราอยู่ร่วมกันนี้จะต้องมีระเบียบ ระเบียบเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนหมู่มาก ไม่ใช่จำเป็นเฉพาะบุคคลเท่านั้นอยู่คนเดียวก็ต้องมีระเบียบ อย่างพระวินัย พระวินัยสมัยก่อนนี้มีนิดเดียว พระสงฆ์ที่มาบวชในพระพุทธศาสนามีมากขึ้น ต่างคนต่างจะทำอะไร ก็มีหลายเรื่อง บางคนอยากจะทำอย่างนั้น บางคนอยากจะทำอย่างนี้ ก็มีกันมาเรื่อยๆ เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าของเราตั้งข้อกติกา คือพระวินัยขึ้นมา เพื่อเป็นข้อปฏิบัติ อยู่ไปนานๆ ก็มีบางคนก็ทำเรื่องมาอีกหลายอย่าง ดังนั้นพระวินัยจึงไม่มีทางจบสิ้น หลายล้านสิกขาบท แต่ก็ยังไม่จบ พระวินัยไม่มีทางจบลงได้ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องธรรม เรื่องธรรมะนี้มีทางจบ ก็คือ "การปล่อยวาง" เรื่องพระวินัยก็คือเอาเหตุผลกัน ถ้าเอาเหตุผลกันแล้วไม่จบหรอก
สมัยหนึ่งอาตมาไปบริหารพระ 3-4 องค์ ไปอยู่ในป่า ไฟไม่ค่อยจะมี เพราะอยู่บ้านป่า องค์หนึ่งก็ได้หนังสือธรรมะมาอ่าน อ่านอยู่ที่หน้าพระประธานที่ทำวัตรกัน อ่านอยู่ตรงนั้นก็ทิ้งตรงนั้นแล้วก็หนีไป ไฟไม่มี มันก็มืด พระองค์มาทีหลังก็มาเหยียบหนังสือนั้น จับหนังสือขึ้นมาก็โวยวายขึ้นว่า "พระองค์ไหนนี่ ไม่มีสติ ทำไมไม่รู้จักที่เก็บหนังสือ" สอบสวนถามก็ไปถึงพระองค์นั้น
พระองค์นั้นก็รับปากว่า "ผมเอาหนังสือเล่มนี้ไว้ที่นี่"
พระองค์ที่เหยียบหนังสือนั้นก็ว่า "ทำไมท่านไม่รู้จักที่เก็บหนังสือ ผมเดินมาผมเหยียบหนังสือนี่"
"โอ... อันนั้นเป็นเพราะท่านไม่สำรวมต่างหากเล่า
เห็นไหมมันมีเหตุผลอย่างนั้น จึงเถียงกัน องค์นั้นบอกว่า "เพราะท่านไม่เอาไปไว้ในที่เก็บ ท่านไม่รู้จักเก็บหนังสือ ท่านจึงไว้อย่างนี้" องค์นี้บอกว่า "เป็นเพราะท่านไม่สำรวม ถ้าท่านสำรวมแล้วคงไม่เดินมาเหยียบหนังสือเล่มนี้" มีเหตุผลว่าอย่างนั้น มันก็เกิดเรื่องทะเลาะกัน ทะเลาะกันไม่จบ ด้วยเรื่องเหตุผล
เรื่องธรรมะที่แท้จริงนั้น ต้องทิ้งเหตุทิ้งผล คือธรรมะมันสูงกว่านั้น ธรรมะที่พระพุทธองค์ท่านตรัสรู้ ระงับกิเลสทั้งหลายได้นั้น มันอยู่ นอกเหตุเหนือผล ไม่อยู่ในเหตุ อยู่เหนือผล ทุกข์มันจึงไม่มี สุขมันจึงไม่มี ธรรมนั้นท่านเรียกว่าระงับ ระงับเหตุระงับผล ถ้าพวกใช้เหตุผลอยู่อย่างนี้ เถียงกันตลอดจนตาย เหมือนพระสององค์นั่น
ธรรมที่พระพุทธองค์ท่านตรัสรู้ ต้องอยู่นอกเหตุเหนือผล นอกสุขเหนือทุกข์ นอกเกิดเหนือตาย ธรรมนี้มันเป็นธรรมที่ระงับ คนเราก็มาสงสัยอยู่นี่แหละ ผู้ชายยิ่งสงสัยมาก ความสงสัยนี่ตัวสำคัญ มีเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะตายอยู่แล้ว (หัวเราะ) มันไม่ใช่ธรรมของพระพุทธองค์ ธรรมนั้นเป็นข้อปฏิบัติ เป็นทางเดิน เดินไปเท่านั้น ถ้ามัวคิดว่าเมื่อไปถึงนี่ ฉันนี้สุขเหลือเกิน ไม่ได้ ฉันนี้ทุกข์เหลือเกิน ไม่ได้ แต่ถ้าฉันไม่มีสุขไม่มีทุกข์ นี่คือมันระงับแล้ว สงสัยไม่มี
ตรงโน้นมันจะมีอยู่ที่ตรงไหน มันก็อยู่ที่ตรงที่ปฏิบัติไปเรื่อยๆ สุขเกิดขึ้นมา ทุกข์เกิดขึ้นมา เรารู้มัยทั้งสองอย่างนี้ สุขนี้ก็สักว่าสุข ทุกข์นี้ก็สักว่าทุกข์เท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตนเราเขา ธรรมนี้เกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นมาดับไปเท่านั้น จะเอาอะไรกับมัน สงสัยทำไมมันเกิดอย่างนั้น เมื่อเกิดอีกทำไมมันไปอย่างนั้นละ สงสัยอย่างนี้มันเป็นทุกข์ ปฏิบัติไปจนตายก็ไม่รู้เรื่อง มันทำให้เกิดเหตุ ไม่ระงับเหตุของมัน
ความเป็นจริง ธรรมที่พวกเราปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ ธรรมนี้นำเราไปสู่ความสงบ สงบจากอะไร จากสิ่งที่ชอบใจ จากสิ่งที่ไม่ชอบใจ ถ้าเราชอบสิ่งที่เราชอบใจ ไม่ชอบในสิ่งที่เราไม่ชอบใจ มันไม่หมด ธรรมนี้ไม่ใช่ธรรมระงับ ธรรมนี้เป็นธรรมก่อทุกข์ขึ้นมาให้เข้าใจอย่างนั้น
ฉะนั้น เราจึงสงสัยตลอดเวลา แหม วันนี้ฉันได้มาแล้ว พรุ่งนี้ทำไมหายไปแล้ว มันหายไปไหน ฉันนั่งเมื่อวานนี้ มันสงบดีเหลือเกิน วันนี้ทำไมมันวุ่นวาย มันไม่สงบ เพราะอะไร อย่างนี้ก็เพราะเราไม่รู้เหตุของมัน ครั้นปล่อยวางว่า มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ เห็นไหม มันเป็นอยู่ของมันอย่างนี้ วันนี้มันสงบแล้ว เออไม่แน่นอนหนอ เราต้องเห็นโทษมันอย่างนี้ สงบแล้วมันก็ไม่แน่นอน ฉันไม่ยึดมั่นไว้ สงบก็สงบเถอะ ความไม่สงบก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน ฉันไม่ว่า ฉันเป็นผู้ดูเท่านั้น ที่สงบฉันก็รู้ว่าเรื่องมันสงบ ที่ไม่สงบฉันก็รู้ว่าไม่สงบ แต่ว่าฉันไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องที่ว่ามันสงบหรือไม่สงบ เห็นไหมเรื่องมันเป็นอยู่ของมันอย่างนั้น อย่างนี้มันก็ระงับ มันก็ไม่วุ่นวาย มันจะสงบ ฉันก็รู้ว่ามันเรื่องของมัน ฉันจะดูอยู่แค่นี้แหละ ดูเรื่องที่มันสงบ มันก็ไม่แน่นอน ดูเรื่องที่มันวุ่นวายมันก็ไม่แน่นอน มันแน่นอนอยู่แต่ว่า มันจะเป็นของมันอยู่อย่างนั้น เราอย่าไปเป็นกับมันเลย
ถ้าอย่างนี้ มันก็สบายและสงบ เพราะเรารู้เรื่องมัน ไม่ใช่ว่าเราอยากจะให้เรื่องนั้นเป็นอย่างนั้น อยากให้เรื่องนี้เป็นอย่างนี้ มันสงบเพราะเรารู้เรื่องว่าเป็นอย่างนั้น แล้วก็มีการปล่อยวาง เราคิดดูซิว่า ถ้าทุกคนต้องพูดให้ถูกใจฉัน คนทุกคนต้องทำให้ถูกใจฉัน ฉันจึงจะสงบ ฉันจึงจะสบาย คนทั้งโลกจะให้เขามาพูดถูกใจเรามีไหม จะมาทำถูกใจเราทุกคน มีไหม ไม่มี
เมื่อไม่มี เราก็เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่มีการปล่อยวาง เราเกิดมาในชีวิตหนึ่ง เราจะหาความสงบว่า คุณต้องพูดให้ถูกใจฉัน คุณต้องทำให้ถูกใจฉัน ฉันจึงจะสบาย ในชีวิตหนึ่งจะได้สบายไหมคนเรา คุณต้องพูดให้ถูกใจฉัน คุณต้องทำให้ถูกใจฉัน ฉันจึงจะสงบ ถ้าไม่อย่างนั้นฉันก็ไม่สงบ คนคนนี้เกิดมาไม่รู้กี่ชีวิตก็ไม่มีความสงบ เพราะคนหลายคน ใครจะมาพูดถูกใจเราทุกคน ใครจะมาทำให้ดีทุกหน มันไม่มีหรอกอย่างนี้ นี่มันเป็นธรรมะ เราจะต้องศึกษาอย่างนี้
ฉะนั้นเราจะต้องอดทน อดทนต่ออารมณ์ที่มันเกิดขึ้นมา อย่าไปหมายมั่น อย่าไปยึดมั่น จับมาดูแล้วรู้เรื่อง เราก็ปล่อยมันไปเสีย
อย่างนางเตยนี่ เห็นไหม มันทำอย่างนั้น มันถูกใจเราไหม บางทีก็ไปในวัดและก็เข้าห้องน้ำเสีย ฉันจะปลงสังขารเดี๋ยวนี้ ฉันไม่หนีหรอก จะต้องไปรื้อส้วม เอามันออกมา ต่อมามันก็ทำอีก เพราะคนมันเป็นบ้าเสียแล้ว จำเป็นก็ต้องปล่อยไป นางเตยน่ะมันเป็นบ้าเสียแล้ว เราต้องรู้เรื่องกันว่ามันเป็นบ้า มันสติไม่ดี มันเสียสติ อย่าไปถือมันเลย มันจะพูดอย่างไรก็รับฟังมันไปเถอะ มันจะทำอย่างไรก็ระวังไว้ มันเป็นอย่างนั้นของมัน เราต้องถอยกลับมาอยู่ตรงนี้ เราก็มีความสบาย
อารมณ์ก็เหมือนกันฉันนั้น ที่มันมากระทบเราอยู่ทุกวันนี้ บางทีก็ร้าย บางทีก้ดี บางทีก็ชอบใจ บางทีก็ไม่ชอบใจ คนทุกๆ คนนั่งอยู่ในนี้ก็เหมือนกัน จะทำให้ถูกใจเราทุกคนมีไหม มันไม่ได้ นอกจากเราปฏิบัติธรรมะให้รู้ว่า คนคนนี้มันเป็นอย่างนี้ นานาจิตตัง ไม่เหมือนกัน
เราจำเป็นต้องอบรมใจของเราทุกๆ คน เมื่อมันโกรธขึ้นก็ดูความโกรธ ความโกรธนี้มันมาจากไหน เราให้มันโกรธหรือเปล่า ดูว่ามันดีไหม ทำไมเราถึงชอบมัน ทำไมเราถึงไม่ทิ้งมัน เมื่อโกรธขึ้นมาแล้วไม่ดี ไม่ดีเราเก็บมันไว้ทำไม ก็เป็นบ้าเท่านั้น ทิ้งมันเสียถ้าเห็นว่ามันไม่ดี มันก็จะไปในทำนองนี้
เมื่ออยู่ด้วยกันกับคนมากๆ มันก็ยิ่งให้การศึกษาเรามากที่สุด ให้มันวุ่นวายเสียก่อน ให้รู้เรื่องของความวุ่นวายเสียก่อน มันจึงจะถึงความสงบ อย่าหนีไปที่ไหน พระอานนท์กับพระพุทธเจ้าของเราในสมัยก่อน ไปบิณฑบาตบ้านมิจฉาทิฏฐิ พอไปถึงหน้าบ้าน พระพุทธองค์ก็สะพายบาตรยืนเฉย ท่านก็สบายเพราะท่านเข้าใจว่าเรายืนอยู่เฉยๆ มันไม่บาปหรอก เขาจะให้ก็ไม่เป็นไร เขาจะไม่ให้ก็ไม่เป็นไร ท่านยืนอยู่เฉยๆ พระอานนท์เดินย่ำเท้าไปมา อายเขา คิดว่าพระพุทธองค์นี้อยู่ทำไม ถ้าเขาไล่ก็น่าจะหนีไป เขาไม่ให้ก็ยังทนอยู่ ไม่ก่อประโยชน์อะไรเลย พระพุทธองค์ก็เฉย จนกว่าสุดวิสัยแล้วก็ไป บางทีเขาก็ให้ ให้ในฐานที่ไม่เคารพ พระพุทธเจ้าก็เอา เขาให้พระพุทธเจ้าก็เอาท่านไม่หนีไปไหน ไม่เหมือนพระอานนท์
พอกลับมาถึงอาราม พระอานนท์ก็กราบพระพุทธองค์ถามว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรงไหนที่เขาไม่ใส่บาตรให้เรา เราจะไปยืนอยู่ทำไม มันเป็นทุกข์ อายเขา เขาไม่ให้ก็รีบไปที่อื่นเสียดีกว่า" พระพุทธองค์ตรัสว่า "อานนท์ ตรงนี้ถ้าเรายังไม่ชนะมัน ไปที่อื่นก็ไม่ชนะ ถ้าเราชนะอยู่ที่นี่ ไปที่อื่นเราก็ชนะ" พระอานนท์ว่า "ชนะไม่ชนะไม่รู้เรื่องแหละ อายเขา"
"อายทำไมอานนท์ อย่างนี้มันผิดหรือเปล่า เป็นบาปไหม เรายืนอยู่เขาไม่ให้ก็ไม่เป็นไร" พระอานนท์บอกว่า "อาย" "อายทำไมเรายืนอยู่เฉยๆ มันเป็นบาปที่ไหน อานนท์เราจะต้องทำอยู่อย่างนี้ ถ้าเราชนะมันตรงนี้ ไปที่ไหนมันก็ชนะ แต่ถ้าเขาไม่ให้เราก็ไปที่โน้น ถ้าไปที่โน้นแล้ว เขาไม่ให้ เราจะไปไหนอานนท์"
"ไปอีก ไปบ้านโน้นอีก" "ถ้าหากบ้านโน้นเขาก็ไม่ให้ เราจะไปตรงไหน" "ไปตรงโน้นอีก" พระพุทธองค์ตรัสว่า "เลยไปไม่มีหยุดเลย อานนท์ ถ้าเราไม่ชนะตรงนี้ ไปข้างหน้ามันก็ไม่ชนะ ถ้าเราชนะอยู่ที่นี่แห่งเดียว ไปที่อื่นมันก็ชนะทั้งนั้น อานนท์เข้าใจผิดแล้ว ไม่ต้องอายซิ"
พระองค์ตรัสว่าอะไรเป็นบาป อันนั้นท่านให้อาย อะไรที่ไม่เป็นบาปจะอายทำไม ใครอายก็โง่เท่านั้น ภาวนายังไม่เป็นเลย ถ้าอายอย่างนั้น เราจะไปอยู่ตรงไหนจึงจะมีปัญญา ถ้าไปอยู่คนเดียว ไม่มีใครพูดดีพูดชั่วให้ มันก็สบาย แต่เราจะไม่รู้เรื่อง สบายอย่างนี้ มันไม่มีปัญญา ถ้าถูกอารมณ์แล้วปัญญามันไม่มี ก็เป็นทุกข์อย่างนั้น
ฉะนั้นเราอยู่ในโลก ก็ต้องมีความสัมพันธ์กับมนุษย์เรื่อยไปเป็นธรรมดา ไม่อยากเป็นมันก็เป็น ไม่อยากจะอยู่มันก็อยู่ เป็นไปอยู่อย่างนั้น ให้เรามาพิจารณาอย่างนั้น เราต้องกลับมาย้อนพิจารณาอารมณ์ที่ท่านตรัสว่า นินทาสรรเสริญมันเป็นคู่กันมา เรื่องนินทาเรื่องสรรเสริญเป็นธรรมดาของโลก ถ้าไม่ดีเขาก็นินทา ถ้าดีเขาก็สรรเสริญ พระพุทธองค์ท่านไม่เห็นแก่นินทา ไม่เห็นแก่สรรเสริญ จงเรียนสรรเสริญให้มันรู้จัก จงมาเรียนนินทาให้มันรู้จัก ให้รู้จักสรรเสริญกับนินทา สรรเสริญนินทามันก็มีผลมีเหตุเท่ากัน นินทาเราไม่ชอบ นี่เป็นเรื่องธรรมดาของโลก ถ้าสรรเสริญเราชอบ
สิ่งที่เราชอบมันพาให้เราทุกข์มีไหม เช่นว่า เรามีเพชรสักก้อนหนึ่ง เราชอบมาก ชอบกว่าก้อนหินธรรมดา เอาวางไว้ ถ้ามีขโมยมาหยิบเอาก้อนเพชรไป เราจะเป็นอย่างไร นั่นของดีมันหาย ทำให้เราเป็นทุกข์ได้เหมือนกัน
ดังน้น เราต้องอดทนต่อสู้ ให้เรามีสติคุ้มครองจิตของเรา สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัว อันนี้ช่วยประคับประคองดวงใจของเราให้อยู่กับธรรมะ สติระลึกได้ว่า บัดนี้เราจะจับไม้เท้า เมื่อเราจับไม้เท้าอยู่เราก็รู้ว่าเราจับไม้เท้า นี่เป็นสัมปชัญญะ ถ้าเรารู้อยู่ในขณะนี้ ขณะเมื่อเราจะทำหรือเมื่อเราทำอยู่ก็รู้ตามความจริงของมันอยู่อย่างนั้น อันนี้แหละที่จะช่วยประคับประคองใจของเราให้รู้ธรรมะที่แท้จริง
ทีนี้ถ้าหากว่า เราเผลอไปนาทีหนึ่ง ก็เป็นบ้านาทีหนึ่ง เราไม่มีสติสองนาที เราก็เป็นบ้าสองนาที ถ้าไม่มีสติครึ่งวันเราก็เป็นบ้าอยู่ครึ่งวัน เป็นอย่างนี้
สตินี้คือความระลึกได้ เมื่อเราจะพูดอะไรทำอะไร ต้องรู้ตัว เราทำอยู่ เราก็รู้ตัวอยู่ ระลึกได้อยู่อย่างนี้ คล้ายๆ กับเราขายของอยู่ในบ้านเรา เราก็ดูของของเราอยู่ คนจะเข้ามาซื้อของหรือจะมาขโมยของของเรา ถ้าเราสะกดรอยมันอยู่เสมอ เราก็รู้เรื่องว่า คนคนนี้มันมาทำไม เราจับอาวุธของเราไว้อยู่อย่างนี้ คือเรามองเห็น พอขโมยมันเห็นเรา มันก็ไม่กล้าจะทำเรา
อารมณ์ก็เหมือนกัน ถ้ามีสติรู้อยู่ มันจะทำอะไรเราไม่ได้ อารมณ์มันจะทำให้เราดีใจอยู่อย่างนี้ตลอดไปไม่ได้ มันไม่แน่นอนหรอก เดี๋ยวมันก็หายไป จะไปยึดมั่นถือมั่นทำไม อันนี้ฉันไม่ชอบ อันนี้ก็ไม่แน่นอนหรอก ถ้าอย่างนี้ อารมณ์นั้นมันก็เป็นโมฆะเท่านั้น เราสอนตัวของเราอยู่ เรามีสติอย่างนี้ เราก็รักษาอย่างนี้เรื่อยๆ ไป ทำเรื่อยๆ ไป ตอนกลางวัน ตอนกลางคืน ตอนไหนๆ ก็ตาม
เมื่อเรายังมีสติอยู่ เมื่อนั้นแหละเราได้ภาวนาอยู่ การภาวนาไม่ใช่ว่า เราจะนั่งสมาธิอย่างเดียว ยืนเดินนั่งอยู่เราก็รู้จัก นอนอยู่เราก็รู้จัก เรารู้จักตัวของเราอยู่เสมอ จิตเรามีความประมาทเราก็รู้จัก ไม่มีความประมาทเรารู้จักของเราอยู่ ความรู้อันนี้แหละที่เรียกว่า "พุทโธ" เรารู้เห็นนานๆ พิจารณาดีๆ มันก็รู้จักเหตุผลของมัน มันรู้เรื่อง
ยกตัวอย่างเช่น ชาวตะวันตกมาอยู่ในประเทศไทย อยู่ไปเฉยๆ อย่างนั้น ความที่อยู่ติดต่อใกล้ชิดกันไป ถึงแม้พูดภาษาไม่รู้เรื่องก็ตาม แต่มันรู้เรื่องเข้าใจได้ เห็นไหม มองดูหน้ากันรู้เรื่องกัน ถึงพูดภาษาไม่รู้เรื่อง แต่ก็อยู่กันไปได้ มันรู้กันด้วยวิธีนี้ไม่ต้องพูดกัน ทำงานก็ต่างคนต่างทำ ทำอยู่ใกล้ๆ กันนั่นแหละไม่รู้จักพูดกัน มันก็ยังรู้เรื่องกัน อยู่ด้วยกันได้ รู้ได้โดยอากัปกิริยาที่ว่ารักกันหรือชอบกัน อะไรมันก็รู้ของมันอยู่อย่างนี้ เป็นอย่างนั้น เหมือนกันกับแมวกับสุนัข มันไม่รู้ภาษา แต่ว่ามันก็รู้จักรักเจ้าของเหมือนกัน แมวหรือสุนัขมันอยู่บ้านเรา ถ้าเรามาถึงบ้านสุนัขมันก็วิ่งไปทำความขอบคุณด้วย เห็นไหม ถ้าเรามาจากตลาดหรือมาจากที่อื่นมาถึงบ้าน แมวอยู่ที่บ้านเรา มันก็มาทำความขอบคุณ มันจะร้องว่า เหมียวๆ มันมาเสียดมาสีเรา แต่ภาษามันไม่รู้ แต่จิตมันรู้อย่างนั้น
อันนี้เราก็อยู่ไปได้อย่างนั้น เราต้องให้เข้าใจกันอย่างนั้น เราปฏิบัติธรรมะบ่อยๆ จิตมันก็คุ้นเคยกับธรรมะ เช่นว่า ความโกรธเกิดขึ้นมา มันเป็นทุกข์ พระท่านว่ามันเป็นทุกข์มาแล้ว ชอบทุกข์ไหม ไม่ชอบ แล้วเอาไว้ทำไมถ้าไม่ชอบ จะยึดเอาไว้ทำไม ทิ้งมันไปซิ ถ้าทุกข์มันเกิดล่ะ คุณชอบทุกข์หรือเปล่า ไม่ชอบ เมื่อไม่ชอบทุกข์แล้วยึดไว้ทำไม ก็ทิ้งมันเสียซิ ท่านก็สอนทุกวันๆ ก็รู้เข้าไปๆ ทุกข์มันเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่ง เราก็รู้จักคำสอนครั้งหนึ่ง ทุกข์มันเกิดมาครั้งหนึ่ง เราก็รู้จักคำสอนครั้งหนึ่ง ทุกข์เราก็ไม่ชอบ ไม่ชอบทุกข์แต่เราไปยึดไว้ทำไม สอนอยู่เรื่อยๆ บางทีก็เห็นชัด เห็นชัดก็ค่อยๆ วาง วางไปเป็นเรื่องธรรมดาอย่างเก่า ทีหนึ่งก็ดี สองทีก็ดี สามทีก็ดี มันก็เกิดประโยชน์แล้ว เกิดรู้เรื่องขึ้นแล้ว
เมื่อมันเกิดความรู้เฉพาะตัวของเรา เราจะนั่งอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี พูดภาษาไม่เป็น แต่จิตเรารู้ภาษาธรรมะ เราปิดปากตรงนี้ไว้ ปิดปากกายแต่เปิดปากใจนี้ไว้ ใจมันพูด นั่งอยู่เงียบๆ ยิ่งพูดดี พูดกับอารมณ์ รู้อารมณ์เสมอ นี่เรียกว่า "ปากใน" นั่งอยู่เฉยๆ เราก็รู้จัก พูดอยู่ข้างใน รู้อยู่ข้างใน ไม่ใช่คนโง่ คนรู้อยู่ข้างในรู้จักอารมณ์ สั่งสอนตัวเองก็เพราะอันนี้...
ชีวิตของเรานี้ มันแก่ทุกวัน เกิดมามีการยกเว้นไม่แก่บ้างไหม วันคืนของเรานี้ ตอนเช้า ตอนเที่ยง ตอนเย็น ตอนค่ำ มันยกเว้นอายุเราไหม วันนี้มันก็ให้แก่ พรุ่งนี้มันก็ให้แก่ นอนหลับอยู่มันก็ให้แก่ ตื่นอยู่ก็ให้โตขึ้นตามเรื่องของมัน เรียกว่า ปฏิปทาของมันสม่ำเสมอเหลือเกิน เราจะนอนอยู่ มันก็ทำงานของมันอยู่ เราจะเดิน มันก็ทำงาน คือความโตของเรานี่แหละกลางวันมันก็โต กลางคืนมันก็โต จะนั่งจะนอนมันมีความโตของมันอยู่ เพราะชีวิตประจำวันมันเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ร่างกายของเรามันได้อาหาร มันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ นี่เรียกว่า ปฏิปทาของมัน มันจึงทำให้เราโต จนไม่รู้สึก ดูเหมือนกับไม่ได้ทำอะไรเลย มันก็โตของมันเอง แต่สิ่งที่เราทำคือ เรากินอาหาร กินข้าว ดื่มน้ำ นั่นเป็นเรื่องของเรา เรื่องร่างกายมันจะโตจะอ้วน มันก็เป็นของมัน เราก็ทำงานของเรา สังขารมันก็ทำงานของสังขาร มันไม่พลิกแพลงอะไร นี่ปฏิปทามันติดต่อกันอยู่เสมอ
การทำความเพียรของเราก็เหมือนกัน ต้องพยายามอยู่อย่างนั้น เราจะต้องมีสติติดต่อกันอยู่อย่างนั้นเสมอ มีความรู้ติดต่อกันอยู่เสมอ เป็นวงกลม
จะไปถอนหญ้าก็ได้ จะนั่งอยู่ก็ได้ จะทานอาหารก็ได้ จะกวาดบ้านอยู่ก็ได้ ต้องไม่ลืม มีความรู้ติดต่ออยู่เสมอ ตัวนี้มันรู้ธรรมะ มันจะพูดอยู่เรื่อยๆ ใจข้างในมันจะพูดอยู่เรื่อยๆ เป็นอยู่อย่างนั้น มีความรู้อยู่ มีความตื่นอยู่ มีความเบิกบานอยู่สม่ำเสมออย่างนั้น นั้นเรียกว่าเป็นประโยชน์มาก ไม่ต้องสงสัยอะไรเลย อะไรมันเกิดขึ้นมา เราก็เห็นว่าอันนี้มันไม่แน่นอน มันไม่เที่ยง เท่านี้ละ เราก็รู้ของเราไปเรื่อยๆ เท่านั้นแหละการปฏิบัติของเรา
อ่านต่อ : การปล่อยวาง ตอนที่ 2
พระธรรมเทศนาของหลวงพ่อกัณฑ์นี้ ได้เทศน์โปรดญาติโยมที่วัดถ้ำแสงเพชร (สาขาวัดหนองป่าพง) จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2516
...เวลาทำบุญก็เหมือนกัน นิมนต์พระไปสวดมนต์ สวดมงคล
สวดยังกะอึ่งร้อง ผู้ฟังไม่รู้เรื่อง เพราะไม่อธิบายให้คนฟังเข้าใจ เลยเร่งให้พระสวดจบเร็วๆ
จะได้กลับวัด จะได้ฟังหมอลำกันสนุกสนาน เฮฮาทั้งคืน มันจะเหลืออะไร... "
อย่างถึงเดือนห้าเดือนหกก็เหมือนกัน ก็ทำพิธีสะเดาะเคราะห์โดยทำกระทงหน้าวัว ขูดเล็บมือเล็บเท้าใส่ไป ส่วนมากจะทำกันตามความเชื่อที่ว่า จะมีผีหรือวิญญาณสิงสถิตอยู่ เช่น ตามทางแยกหรือต้นไม้ใหญ่ (ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ตรงที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยๆ) วิธีทำ คือ นำเอาต้นกล้วยมาทำเป็นกระทงสามเหลี่ยมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง ตามความนิยม แล้วปักธงเล็กๆ ไว้โดยรอบ ภายในมีเครื่องสังเวย เช่น ข้าวดำข้าวแดง ต่อจากนั้นก็เชิญหมอผีหรือคนทรงมาทำพิธีสวด เซ่นผีหรือวิญญาณ มันไม่ถูกหรอก เหล่านี้มีแต่เรื่องนอกรีดนอกรอย คนอื่นทำก็ทำกันเลยไม่รู้เรื่อง
นี่แหละเพราะไม่ได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า ไปฟังแต่อย่างอื่น ล้วนแต่ทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ไม่มีความหมายอะไร สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเนื่องจากการฟัง ท่านจึงให้ฟัง เหตุปัจจะโย อารัมมะณะปัจจะโย พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า สิ่งต่างๆ มีเหตุมีปัจจัย ถ้าเหตุดี ผลก็ดี ถ้าเหตุไม่ดี ผลก็ไม่ดี เหตุถูก ผลก็ถูก เหตุไม่ถูก ผลก็ไม่ถูก ให้ดูเหตุของมัน ผู้มีปัญญาก็ตรัสรู้ธรรมะ เราต้องพิจารณาว่าสมเหตุสมผลหรือไม่
เหมือนที่กล่าวมานั้นแหละ การทำต้นดอกผึ้งนั้นจะกันนรกอเวจีได้ไหม อาตมาว่า ถ้าไม่หยุดทำความชั่วแล้ว มันหยุดความผิดไม่ได้ ให้เราพิจารณาอย่างนี้ ถ้าเรามีหลักพิจารณาอย่างนี้จะสบาย บุญก็จะค่อยเกิดขึ้น จะค่อยรู้ค่อยเห็นเรื่อยๆ ไป
ทุกวันนี้ บริษัทบริวารของพวกเราทั้งหลาย คือ ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา พระ เณร อุบาสก อุบาสิกา บริษัท 4 ยังมีอยู่ แต่ก็น้อยไป หมดไป เราสังเกตได้ง่ายๆ ว่าทุกวันนี้ นักบวช นักพรต ที่เป็นเนื้อนาบุญของพวกเรา ที่เป็น สุปฏิปันโน ปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรง ญายปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ หาดูซิ มีไหม?
ทุกวันนี้ เราอ่านธรรมะกันทั้งนั้นแหละ แต่เป็นธรรมะที่แต่งขึ้นภายหลัง เราฟังไม่เข้าใจหรือเข้าใจไปอย่างอื่น อย่างบางตำรากล่าวว่า พระยาธรรมจะมาตรัสและจะนำตะแกรงทองคำมาร่อน เราก็เข้าใจว่าเป็นตะแกรงทองคำจริงๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง แม้แต่เรื่องพระยาธรรมก็เช่นกัน พากันเข้าใจว่าจะต้องคอยจนกว่า พระศรีอารยเมตไตรยมาตรัส อันนี้มันไกลไป ไม่ใช่พระยาธรรมองค์นั้น ในที่นี้ท่านหมายถึง จะมีครูบาอาจารย์ที่ประพฤติดีประพฤติชอบมาประกาศธรรมะ มาช่วยบอกว่า อันนั้นผิดอันนั้นถูก เรียกว่า ร่อน คนไหนปัญญาน้อยนึกไม่ถึง ไม่เชื่อก็หลุดไปๆ พระยาธรรมก็คือเรื่องธรรมะนั่นเอง คือธรรมะอันแท้จริงจะค่อยพ้นขึ้นมา
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเมื่อเจริญขึ้นมันก็เสื่อมเหมือนมะม่วง ขนุน เมื่อสุกเต็มที่มันก็หล่น พอเมล็ดถูกดินก็เป็นต้นงอกขึ้นมาใหม่ได้อีก ฉันใด ธรรมะถ้าเสื่อมเต็มที่แล้ว ก็จะเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา สาวกของพระพุทธเจ้ายังมีอยู่ พระศาสนาของพระองค์ยังไม่จบสิ้น เป็นเหตุให้ก่อธรรมที่แท้จริงขึ้นมาประกาศได้ เรียกว่า นำตะแกรงทองคำมาร่อน คือนำธรรมะมาอธิบาย แนะนำพร่ำสอนประชาชน พุทธบริษัทให้เกิดความเข้าใจ ผู้ที่มืดหนา ปัญญาหยาบก็ไม่ค้าง เพราะไม่เชื่อ ไม่มีศรัทธา ไม่ได้พิจารณา ถ้าผู้มีบุญวาสนาพิจารณาดู มันจริง นี่คือผู้ที่ค้างตะแกรงทองคำ ไม่ใช่ตะแกรงที่ทำจากไม้ไผ่ตามธรรมชาติบ้านเรา ไม่ใช่อย่างนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้า จะมาชักจูงพวกเราทั้งหลาย หมายความว่า ธรรมะจะเจริญขึ้นๆ ที่จมก็จมไป ที่ฟูก็ฟูขึ้น
เดี๋ยวนี้เราจะหาที่พึ่งไม่ได้แล้ว อย่างนักบวช นักพรต ลูกหลานของเรามาบวชกันทุกวันนี้ ส่วนมากก็บวชเจ็ดวัน สิบห้าวันเท่านั้นแหละ แล้วก็สึกไปๆ เลยไม่มีใครอยู่วัด วัดเลยไม่เป็นวัด เพราะไม่มีใครอบรมสั่งสอนกัน ไม่มีที่เกาะ ที่ยึด ที่มั่น ที่หมาย เพราะขาดกรรมฐาน ขาดการภาวนา ขาดการอบรมบ่มนิสัย มันขาดอย่างนี้ เลยมีแต่เรื่องเดือดร้อนกระวนกระวาย การบวชส่วนมากก็บวชกันตามประเพณีชั่วคราว ทุกวันนี้ วัดก็เลยเป็นเหมือนคุกเหมือนตะราง เข้าไปก็ร้อนทันที อยู่ไม่ได้ ที่ที่มันเย็นก็เลยกลับเป็นที่ร้อน ทุกวันนี้ ที่ถูกก็เลยกลายเป็นผิด เพราะคนไม่ได้อบรมธรรมะ ดังนั้นพวกเราทั้งหลายจึงขอให้เอาไปพินิจพิจารณาให้มันดีๆ
ความจริงเรื่อง ปัญญาบารมี ก็รวมอยู่ในบารมี 10 มี ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา บารมีเหล่านี้ท่านแจกออกเป็น 3 หมวด คือ บารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี รวมเป็น บารมี 30 ทัศ ที่พระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้ต้องบำเพ็ญให้ได้ครบบริบูรณ์ ทุกๆ พระองค์ ปัญญาบารมีก็แยกเป็น 3 ระดับ เหมือนกับทานบารมี คือ ปัญญาระดับปกติธรรมดา ระดับกลาง และระดับสูงสุด ตัวอย่างเช่น ปัญญาระดับศีลขจัดกิเลสส่วนหยาบ ปัญญาระดับสมาธิขจัดกิเลสส่วนกลาง ปัญญาระดับสูงขจัดกิเลสส่วนละเอียด แต่โดยมากฟังกันไม่รู้เรื่อง จึงมักจะมีปัญหา
เวลาทำบุญก็เหมือนกัน นิมนต์พระไปสวดมนต์ สวดมงคล สวดยังกะอึ่งร้อง ผู้ฟังไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ได้อธิบายให้คนฟังเข้าใจ เลยเร่งให้พระสวดจะได้จบเร็วๆ แล้วรีบกลับวัด เขาก็จะได้ฟังหมอลำกันสนุกสนาน เฮฮากันทั้งคืน มันจะเหลืออะไรพวกเรา เพราะโลกมันทับถมหมดแล้ว ลูกหลานของเราทุกวันนี้ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง สอนกันไม่ฟัง เพราะขาดธรรมะ ฉะนั้นผู้ที่จะได้มาอบรมบ่มนิสัยทุกวันนี้จึงหายาก
อาตมาถึงว่าญาติโยมเป็นผู้มีบุญมาก ที่มีวัดปฏิบัติอยู่ใกล้เหมือนกับเรามีทนายความไว้ประจำบ้าน หรือมีแพทย์มีหมอประจำเรือน เมื่อตัวเราก็ดี ลูกเมียพี่น้อง เราไม่สบายก็จะได้ไปหาแพทย์หาหมออุ่นใจ อันนี้ฉันใด ความทุกข์ความไม่สบาย ความเดือดร้อนต่างๆ เราจะได้หาโอกาสไปฟังเทศน์ฟังธรรมตามกาลเวลา อย่างน้อย 7 วันครั้งหนึ่งก็ยังดี ได้มาอบรมบ่มนิสัย มาได้ยินได้ฟัง จะได้ทำลายความคิดผิด ความเห็นผิดของเรา ตลอดลูกหลานของเรา ก็จะได้สร้างนิสัยปัจจัยไปในทางคุณงามความดี แม้ความผิดจะมีอยู่ ก็จะมีปัญญาพิจารณาเลิกละไปในวันข้างหน้าได้
อย่างบ้านหาดเรานี้ อาตมาเคยมาสัมยก่อน ได้ฝึกหัดเอาไว้ ปัจจุบันนี้เด็กๆ ดีขึ้นเยอะ พอเห็นพระประณมมือกันเป็นแถว แม้แต่เด็กยังไม่นุ่งผ้าก็ยังรู้จักประณมมือ นี่ต้องหัดเอา ฝึกเอา มันจึงเป็นขึ้น ค่อยฝึกค่อยหัด จากคนหนึ่งเป็นสองคน นานเข้าเลยเรียบร้อยสวยงามขึ้นมา ทั้งนี้เพราะอาศัยการฝึกหัด อย่างนี้ท่านเรียกว่า อานิสงส์ของการอยู่ใกล้วัด
ใจเราก็เหมือนกัน เราฟังเทศน์ฟังธรรมจึงเกิดความรู้ความเห็นขึ้นมา เวลากระทบสิ่งโน้นสิ่งนี้ก็มีความรู้ มีปัญญาพิจารณา การประพฤติปฏิบัติก็คือสิ่งเหล่านี้ สิ่งไม่ดีที่เราทำมานาน ก็ค่อยละค่อยถอนมันไป เรียกว่าการประพฤติปฏิบัติ การปฏิบัติไม่ใช่ปฏิบัติเฉพาะนักบวชเท่านั้น ในครั้งพุทธกาลอยู่บ้านอยู่เรือน ก็เป็นผู้ถึงพระรัตนตรัย ถึงไตรสรณคมน์ เป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มีเยอะแยะ
บางคนคิดว่าจะไปทำบุญให้ทานก็ไม่มีเวลา มันยุ่งยาก คนไม่รู้จักบุญ บุญเป็นเรื่องสร้างคุณงามความดีให้เจ้าของ การสร้างความดีไม่เห็นยากอะไร อย่างเดินไปเห็นของเขา นึกอยากจะได้แต่ไม่เอาเพราะกลัวความผิด กลัวบาป กลัวคุก กลัวตะราง นี้เป็นการสร้างความดีแล้ว เป็นการสร้างความดีให้แก่ตนเอง ถ้าไม่ได้ยินไม่ได้ฟัง ก็ไปลักไปฉ้อโกงเขา ก็เท่ากับสร้างความชั่วให้แก่ตัวเอง มันบาปอยู่ตรงนั้น บุญอยู่ตรงนั้น และการปฏิบัติก็อยู่ตรงนั้น เห็นความผิดก็ไม่ทำ ไปที่ไหนใจก็เป็นบุญที่นั่น มีความฉลาดอยู่ในจิตใจของตนเอง อันนี้แหละท่านเรียกว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว
ไม่ใช่ธรรมที่เราไปเรียนเอาวิชาอาคม ได้มาแล้วก็บ่น ก็เสกใส่ก้อนหินก้อนกรวด แล้วก็หว่านไปให้มารักษาเรา ไม่ใช่อย่างนั้น ที่ว่าพระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว พระธรรมคือใจที่รู้ว่าอันนี้ผิดอันนี้ถูก อย่างนี้เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เบียดเบียนคนอื่น รู้อย่างนี้ความผิดความชั่วก็ไม่กล้าทำ ทำไม เพราะใจมันรู้ รู้จักผิด รู้จักถูก นั่นคือธรรมะ ถ้าเราไม่ทำผิดทำชั่ว ธรรมะก็คุ้มครองเรา ใจเรานั่นแหละเป็นผู้รู้จักธรรมะ นี้เรียกว่า พระธรรมย่อมตามรักษา เราปฏิบัติธรรม พระธรรมก็ตามรักษาเรา ใครไม่รู้จักธรรมะ ธรรมะก็ไม่รักษา นี้เรียกว่าของรักษา ของรักษาอยู่ที่ไหน อยู่ในธรรมนั้นแหละ
แต่คนเรามักเชื่อของรักษาในทำนองไสยศาสตร์ โดยเฉพาะเมื่อเจอพระธุดงค์มักจะมีโยมไปขอของรักษา คือคาถาอาคมกันภูตผีปีศาจ เพื่อให้ตนแคล้วคลาดจากภยันตราย ในทำนองเดียวกันก็มีการเอาอกเอาใจผีบ้านผีเรือนโดยการทำหิ้งบูชา ซึ่งแฝงด้วยปริศนาว่า ขันห้า ขันแปด (น่าจะมีความหมายว่า ศีลห้า ศีลแปด) เพราะคนรักษาศีล ศีลก็จะรักษาเขาเอง แต่ก็เพี้ยนไปเป็นเรื่องผีสางเทวดา จึงต้องบูชาด้วยวัตถุ โดยการเอาดอกไม้สีดำสีแดงไปกอง เอาข้าวแห้งไปบูชาอยู่ทุกวัน มีแต่หนูเท่านั้นแหละจะไปยันลงมาใส่หัวเวลากลางคืนนะ อันนั้นมันจะรู้อย่างไรว่า เราดีเราชั่ว ของอย่างนั้นมันจะรักษาคนได้อย่างไร รีบรื้อทิ้งทำให้มันสะอาด แล้วเอาพระพุทธรูปสวยๆ ไปใส่ไว้แทนจะดีกว่า
ของรักษาเราก็คือใจของเรา รู้จักว่าอันนี้มันผิดตามที่ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำ ถึงท่านไม่บอก มันก็ผิดอยู่ พยายามละ อย่าทำอย่าพูด นี้เรียกว่าพระธรรม ใจเราที่รู้จักผิดรู้จักถูกนี่แหละธรรมะ ความดีของเรานี้แหละตามรักษา คือใจเรามันสูงเอง มันละเอง ประพฤติปฏิบัติเอง อันไหนชั่ว อันไหนผิดก็ไม่ทำ นี่แหละเรียกว่าพระธรรมตามรักษา ไม่ใช่พระธรรมอยู่บนขันกระหย่องนะ อันนี้มันขันข้าวแห้ง จะตามรักษาใครได้ มีแต่หนูเท่านั้นแหละจะไปกิน เรื่องมันเป็นอย่างนี้
อามิสบูชากับปฏิบัติบูชา อามิสบูชาคือบูชาด้วยสิ่งของ จะบูชาอะไรก็ได้ที่เห็นว่าเป็นคุณ อย่างถ้าเราเป็นไข้ไม่สบาย มีคนเอาหยูกยามาให้ ก็สบาย เราจนมีคนเอาเสื้อผ้าอาภรณ์มาให้ก็สบาย หรือเวลาหิว มีคนเอาข้าวมาให้กิน ก็เป็นบุญ นี่คืออามิสบูชา ให้คนไม่มี ให้คนยากจน ถวายของแก่สมณะชีพราหมณ์ ตลอดถึงสามเณรตามมีตามได้ เป็นอามิสบูชา
การปฏิบัติบูชา คือการละความชั่วออกจากจิตใจ อาการประพฤติปฏิบัติเรียกว่า ปฏิบัติบูชา ให้พากันเข้าใจอย่างนั้น ที่นี้ของรักษาก็คือใจของเรา ไม่มีใครมารักษาเราได้ นอกจากเรารักษาเราเอง พระอินทร์ พระพรหม พญายม พญานาคทั้งหลายไม่มี ถ้าเราไม่ดีแล้ว ไม่มีใครมารักษาเราหรอก พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้นจริงๆ นะ ไม่ใช่ว่าเราทำผิดขนาดไหนก็ยังเรียกหาคุณครูบาอาจารย์ คุณมารดาบิดาให้มาช่วย ไปขโมยควายเขาก็ยังประณมมือให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มาช่วย "สาธุ ขอให้เอาไปได้ตลอดรอดฝั่งเถอะ" ผีบ้า ใครจะตามรักษาคนชั่วขนาดนั้น ท่านบอกว่าอย่าทำก็ไม่พัง นี่คือความเข้าใจผิดผิดของคน มันเป็นอย่างนี้ มันหลงถึงขนาดนี้ จะว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าสอนว่าให้ดูเจ้าของ เรานี่แหละเป็นผู้รักษาเจ้าของ
อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ โก หิ นาโถ ปะโร สิยา เราเป็นที่พึ่งของเราเอง คนอื่นเป็นที่พึ่งของเราไม่ได้ เราต้องทำเอง สร้างเอง กินเอง ทำผิดแล้วทำถูกเอง ทำชั่วแล้วละเอาเอง เป็นเรื่องของเจ้าของ ท่านจึงบอกว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันถูกที่สุดแล้ว เรามัวแต่ไปหาของดีกับคนอื่น พระพุทธเจ้าสอนแล้วสอนอีก สอนให้ทำเอง ปฏิบัติเอง พระพุทธเจ้าท่านแนะนำชักจูงอย่างนี้
อย่างทุกวันนี้ พอญาติพี่น้องตาย ท่านว่าให้ชักจูง เราก็เอาพระไปจูง เอาฝ้ายต่อไหม เอาไหมต่อฝ้าย ดึงกันมะนุงมะนัง เข้าป้าช้าโน้น ไม่ใช่จูงอย่างนั้น อาตมาว่ารีบหามไปเร็วๆ นั่นแหละดี มันจะได้ไม่หนัก บางทีก็ยุ่งอยู่กับจัวน้อย (เณรน้อย) พะรุงพะรังอยู่กับจีวร เด็กตัวเล็กๆ กำลังเลี้ยงควายอยู่ก็เรียกมาบวช บวชจูงพ่อจูงแม่ จูงก็จะไม่ไหวแล้ว เดี๋ยวหิวข้าว หิวน้ำ ร้องไห้ นั่นไปจูงกันอย่างนั้น นี่แหละคือความเห็นผิด
เรื่องการชักจูงก็เหมือนกับอาตมากำลังจูงอยู่เดี๋ยวนี้แหละ คือการแนะนำพร่ำสอน บอกทางไปสวรรค์ บอกทางไปนรกให้ แนะนำให้เลิกสิ่งนั้น ให้ประพฤติสิ่งนี้ อย่างนี้เรียกว่าชักจูงแนะนำพร่ำสอน จูงต้องจูงในขณะยังมีชีวิตอยู่นี่แหละ ให้ไปคิดพิจารณาเอาไป ภาวนาดูว่ามันถูกไหม ถ้าสงสัยก็มาฟังอีก จะบอกให้ชี้ให้ แนะนำพร่ำสอนให้ นี้เรียกว่าชักจูงคน ไม่ใช่เอาไหมต่อฝ้าย เอาฝ้ายต่อไหม จูงกันวุ่นวาย ไม่ได้ความอะไร มันน่าหัวเราะ จูงอย่างนั้นมันจูงไม่ได้
บางทีก็เอาข้าวตอกมาหว่าน ในขณะจูงศพไปป่าช้า โดยมีความเชื่อว่า พวกผีหรือเปรตที่คอยรับส่วนบุญมีอยู่ เพื่อจะไม่ให้พวกนั้นรบกวนผู้ตาย จึงมีการหว่านข้าวตอกไปด้วย
ความจริงบรรพบุรุษท่านสอนว่า คนเราเหมือนข้าวตอก เวลาหว่านไปมันก็กระจัดกระจายไปเหมือนสังขารร่างกายนี้ มีลูกมีเมีย มีลูกเต้าเหล่าหลาน มีเนื้อ มีหนัง มีแขน ขา หู ตา เป็นต้น ผลสุดท้ายก็กระจัดกระจายกันไปอย่างนี้ แตกกระสานซ่านเซ็นไปตามสภาวะ เกิดในโลกนี้ มันก็มีแค่นี้ เหมือนข้าวตอกดอกไม้นี่แหละ ที่เรี่ยราดไปตามดินตามหญ้า สังขารร่างกายนี้มันก็แค่นี้ ท่านให้พิจารณาอย่างนี้ แต่เราก็มาหว่านให้ผีกิน ไปคนละเรื่องอีกแล้ว เรื่องเหล่านี้พิจารณาให้มากๆ หน่อย พิจารณาให้ดี ถ้าเราเข้าใจตัวเราแล้วสบาย นี่ละการประพฤติปฏิบัติมันถึงต่างกัน ถ้าเรานำไปพิจารณาแล้วจะเห็น เห็นได้จริงๆ เห็นในใจของเรานี้แหละ แล้วมันจะค่อยสว่างขึ้น ค่อยขาวขึ้น ค่อยรู้ขึ้นมา
เหมือนกับเราเรียนหนังสือ แต่ก่อนกว่าจะรู้อะไรครูจับไปเขียน ก ข ไม่รู้เขียนอะไร ไม่รู้เรื่อง แต่ก็เขียนไปตามครู พอเขียนพยัญชนะได้ก็เขียนสระอะ สระอา สระอิ สระอี แต่ก็ยังไม่รู้เรื่องหรอก ขี้เกียจก็ขี้เกียจ พอเขียนเป็นแล้ว ก็เอาพยัญชนะกับสระมาผสมกัน เอาสระอา ใส่ตัว ก อ่านว่า กา ใส่ตัว ข อ่านว่า ขา ว่าไปตามครู เรียนไปศึกษาไป ต่อมาก็เลยรู้เรื่อง เลยกลายเป็นคนอ่านออกเขียนได้
อันนี้เราลองพิจารณาดู การที่จะรู้จักบุญรู้จักบาป ตอนแรกก็อาศัยคนอื่นนี้แหละ ต่อไปมันจะรู้เอง ท่านจึงว่า ความดีความชั่วอยู่ที่ตัวเจ้าของ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็เอาให้ใครไม่ได้ ให้ได้ก็คือบอกให้ทำอย่างนั้นๆ แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติไปตามศรัทธา จะเป็นประโยชน์แก่เรามาก อย่าพากันหลงงมงาย ให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้ถึงพระรัตนตรัย ไม่ต้องถือภูตผีปีศาจ
อย่างอาตมาไปภาวนาอยู่ที่ไหนก็สบายด้วยความซื่อสัตย์ ด้วยความเชื่อพระพุทธเจ้าของเรานั่นเอง เชื่ออย่างไร เชื่อว่าไม่มี ตรงไหนที่พระองค์สอนให้คนชั่ว สอนให้คนทำผิด ไม่มี ในสูตรในตำราไหนก็ไม่มี อาตมาอ่านแล้ว ถึงว่าพระพุทธเจ้านี้เป็นผู้เลิศประเสริฐจริงๆ อาตมาเชื่อท่าน ท่านว่าให้สอนตนเอง ให้พึ่งตนเอง ก็พึ่งตนเองจริงๆ ทำตามท่าน ไปทำอยู่ที่ไหนก็สบาย อยู่ในถ้ำในป่าในเขา จะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีอะไร สบาย เพราะความซื่อสัตย์สุจริตนี่แหละ เลยเชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าสอนให้พึ่งตนเองนี้ถูกแล้ว เราก็เหมือนกัน แม้จะเป็นฆราวาสอยู่บ้านครองเรือน ก็อย่าพากันสงสัยอะไร เพราะความดีความชั่วอยู่ที่ตัวเรา
อัตตะนา โจทะยัตตานัง จงเตือนตน ด้วยตนเอง ค่อยทำไป ดูแต่หินก้อนใหญ่ๆ ทุบไปเรื่อยๆ มันก็แตก พวกเรายังไม่รู้ ค่อยสอนค่อยปฏิบัติก็จะรู้ขึ้นมาได้
ชีวิตของคนเรามันไม่นานนะ กาลเวลาไม่อยู่ที่เดิม วันนี้มันก็กินไปแล้ว หมดไปแล้ว กินไปตลอดวัน ตลอดคืน กินไปเรื่อยๆ มันไม่หมดไปเฉพาะเดือน เฉพาะปีเท่านั้น สังขารเราก็ร่วงโรยไปด้วย เช่น ผมเดี๋ยวนี้ผมยังไม่หงอก ต่อไปมันจะหงอก มันจะแก่ หูแก่ ตาแก่ เนื้อหนังมังสาไปด้วย แก่ไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง นี่แหละท่านถึงว่าความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันแก่ไป ตายไป ฉะนั้น ขอให้พากันเชื่อมั่นในตนเอง ยึดเอาคุณพระศรีรัตนตรัย ผู้เข้าถึงพระรัตนตรัย ไม่มีอะไรจะมาทำร้ายได้
นี่ละ การให้ทำความเพียรวันนี้ ไปถึงบ้านก็ให้ทำ บางทียุ่งกับลูกหลานมากๆ นอนตื่นแล้วก็มานั่งภาวนา พุทโธๆ ๆ อันนี้ถ้าจิตสงบแล้ว ก็เรียกว่าใกล้พระนิพพาน นี่แหละเรื่องภาวนา ไม่ใช่ภาวนาอยู่แต่ในวัด อยู่บ้านเราก็ทำได้ ว่างๆ เราก็ทำ แม้จะทำมาค้าขาย ทำนาทำไร่ก็ทำได้ หรือแม้แต่ขุดดินถอนหญ้าเวลาเมื่อยเข้าไปพักใต้ร่มไม้ก็ทำได้ นั่งภาวนาพุทโธๆ ๆ เดี๋ยวก็จะได้ดีจนได้ หมั่นระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์ แล้วตั้งจิตพิจารณา พุทโธๆ ๆ สบาย นี้เรื่องที่พระพุทธเจ้าสอน ให้พากันจดจำเอาไว้ สอนไปมากก็มาก เดี๋ยวบุญจะหมด ให้ดูที่เรานะ อย่าไปดูที่อื่ร มันจะดีจะชั่วให้ดูที่ตัวเรา นี่ละคำแนะนำพร่ำสอน วันนี้ให้เอาไปคิดพิจารณาดู ค่อยทำไป ดูวันละนิด เดี๋ยวมันก็สะอาดหรอก
วันนี้เชื่อว่าพวกเราทั้งหลายได้บำเพ็ญทาน รักษาศีล ได้เจริญภาวนา ได้ฟังธรรมเทศนาหลายอย่าง เท่านี้ก็เป็นบุญแล้วล่ะ ได้สร้างบุญแล้ว ได้ความเข้าอกเข้าใจแล้ว ต่อไปเราจะไปทำภารกิจการงานที่บ้านไหนเมืองไหน ภาวะที่อาตมาได้พูดได้กล่าวไปนี้ มันจะถูกอยู่หรอก มันจะค่อยๆ รู้จักไป
เอ้า วันนี้สมควรแก่เวลา...
พระธรรมเทศนาของหลวงพ่อกัณฑ์นี้ ได้เทศน์โปรดญาติโยมที่วัดถ้ำแสงเพชร (สาขาวัดหนองป่าพง) จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2516
" ...เราลองมาพิจารณาดูซิว่า มันมีเหตุมีผลแค่ไหน นี่แหละคือการทำตามประเพณี
ใครๆ ก็ทำกันอย่างนั้นมาแล้ว แล้วก็มักอ้างว่าทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย
อาตมาว่าจะทำมาตั้งแต่สมัยไหนก็ตามทีเถอะ ถ้ามันไม่ถูกก็ต้องทิ้งมันทั้งหมดนั้นแหละ... "
บุญกุศลคือความดี ไม่ก่อกวน ไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวาย ดังนั้นจึงว่าเราไม่เคยได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าเลย เวลาของหาย ลูกตาย เมียตาย จึงพากันร้องไห้ตาเปียกตาแฉะ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะไม่ได้ฝึกไว้ ไม่ได้ซ้อมไว้ ไม่รู้ว่าของมันเกิดได้ ตายได้ มันหายเป็น มันเป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ นะ ดูซิ บ้านไหนเมืองไหนมันก็เป็นอย่างนี้
พระพุทธเจ้าท่านให้มาภาวนา ภาวนาคืออะไร? คือมาทำจิตใจให้สงบเสียก่อน ปกติใจมันมีอะไรหุ้มห่ออยู่ เป็นใจที่ยังเชื่อไม่ได้ ถ้ามาทำให้สงบแล้ว มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมา ใจมันสบาย สงบ มันจะแสดงอะไรออกมา เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสัญญา เห็นสังขาร เห็นวิญญาณ
มันจะค่อยพิจารณาไป เกิดความรู้ว่า อันนี้มันพาดี พาไม่ดี พาผิดพาถูก ท่านให้พิจารณาอันนี้ก่อน เรียกว่า สมถภาวนา เมื่อใจเราสบาย มันสว่าง มันขาว มันสงบ ความนึกคิดที่จิตใจสบายขึ้น มันต่างจากความนึกคิดของคนที่ไม่สบายใจ มีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ในใจ คือคนนึกคิดไม่ดี ใจไม่สบาย คิดไปทั่ว
อย่างพวกเราทั้งหลายที่พากันทำวันนี้ บางคนอาจไม่เคยทำเลย เคยแต่ไปเรียนเอาคาถากับคนนั้นคนนี้ ได้คาถาแล้วก็ไปภาวนาให้พ่อให้แม่ ให้คนโน้นคนนี้ สัตว์โน่นสัตว์นี่ ให้ตนเองไม่มี ตนไม่มีความดี แต่จะให้ความดีแก่คนอื่น จะเอาความดีที่ไหนไปให้เขา อย่างเราจะภาวนาให้พ่อแม่หรือใครก็ตาม ทั้งที่มีชีวิตอยู่หรือล่วงลับไปแล้ว เบื้องแรกเราต้องภาวนาให้ตัวเองก่อน เพื่อชำระความชั่วออกจากจิตใจ ให้ความดีปรากฏขึ้นในตัวเรา ต่อจากนั้นจึงแผ่ความดีที่ตนมีตนได้ให้แก่คนอื่น อย่างนี้จึงจะสำเร็จประโยชน์ได้ ไม่ใช่ว่าให้ทั้งๆ ที่ตนเองไม่มี นี่คือความเข้าใจผิด ภาวนาแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
การภาวนาคือทำให้เกิดขึ้นมีขึ้น ที่ไม่รู้ทำให้มันรู้ ที่ไม่ดีทำให้มันดี ใจเป็นบาปเป็นกรรมทำให้เป็นบุญเป็นกุศล การสร้างบุญไม่ใช่ทำโดยการให้ทานอย่างเดียว การรักษาศีล การเจริญเมตตาภาวนา การฟังธรรมเหล่านี้เป็นบุญทั้งหมด เป็นเหตุที่จะให้บุญเกิด บางคนจะทำบุญแต่ละที ก็คอยแต่จะให้มีเงินมากๆ เสียก่อน เลยไม่ได้ทำสักที เห็นคนอื่นทำก็ออนซอนกับท่าน คิดว่าเพิ่นบุญหลายนอ คนไม่รู้จักบุญ บุญไม่ใช่อย่างนั้น การละความชั่ว ละความผิดมันก็เป็นบุญแล้ว การรักษาศีล การเจริญภาวนา การฟังพระธรรมเทศนา ทำให้เกิดความเฉลียวฉลาดขึ้นมา เหล่านี้ก็ทำให้เกิดบุญขึ้นได้ แล้วคนเราสมัยนี้เข้าใจว่า การทำบุญก็คือการให้ทานเท่านั้น เพราะส่วนมากได้ยินพระท่านเทศน์เรื่อง ทานบารมี ทานอุปบารมี ทานปรมัตถบารมี แต่ไม่ได้อธิบายให้เกิดความเข้าใจ (ออนซอน : พลอยยินดีกับคนอื่นในสิ่งที่เขาทำได้ แต่ตนเองไม่มีวาสยา แต่แฝงด้วยความอยากมีอยากเป็นเช่นนั้น)
คนส่วนมากจึงมักเข้าใจกันว่า การทำบุญคือการนำเอาสิ่งของไปถวายพระมากๆ คนยากคนจนก็เลยทำไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจภาษาบาลีดังที่กล่าว ความจริงเรื่องการให้ทานท่านแบ่งไว้ 3 ระดับ คือการเสียสละสิ่งของภายนอกจัดเป็นทานบารมี การสละอวัยวะจัดเป็นทานอุปบารมี การสละชีวิตจัดเป็นทานปรมัตถบารมี หรือ ยอมเสียทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ยอมเสียชีวิตเพื่อรักษาธรรม
เหล่านี้ถ้าเราเข้าใจก็ไม่มีปัญหา ไม่ว่าคนรวยคนจนก็สามารถทำบุญให้ทานได้ โดยเฉพาะทานที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพย์สินเงินทอง คือ อภัยทาน ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ และทานชนิดนี้พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญด้วย ดังนั้นการสร้างคุณงามความดีมีอยู่หลายอย่าง ให้พากันเข้าใจ บางคนคิดว่าการทำบุญให้ทานได้ผลอานิสงส์มาก ก็ทุ่มเทใส่จนหมดเนื้อหมดตัว ไม่รู้เรื่อง
ส่วนคนรู้เรื่อง มีขนาดไหนก็ใช้ไปขนาดนั้น มันอยู่ที่การกระทำ ถ้าทำถูกมันเป็นบุญเป็นกุศลทุกอย่างนั้นแหละ ตัวอย่างเช่น การช่วยเขาขุดบ่อน้ำริมถนน เราผ่านไปก็ได้เห็น เขาทำอะไรก็ช่วยทำ ถามว่าได้บุญไหม ตอบว่าได้ ได้อย่างไร การช่วยเขาขุดบ่อน้ำ ต่อไปภายหน้าเราก็ไม่ต้องซื้อน้ำ ใครผ่านมาก็ไม่ต้องซื้อกิน เพราะเป็นน้ำสาธารณะ ให้ความสุขแก่มนุษย์ทั่วๆ ไป อย่างนี้เป็นต้น
อย่างเราอยู่ศาลาก็ช่วยเขาปักกวาด เขาถอนหญ้าเราก็ช่วย เขาทำอะไรก็ช่วย ไปอาศัยบ้านเขาอยู่ก็เหมือนกัน จะเป็น 2 วัน 3 วัน ก็ต้องช่วยเขาทำในสิ่งที่เราทำได้ นี้เรียกว่า บุญ บุญมันอยู่ที่ใจของเราบ้านไหนมีบุญเรารู้ได้ คนในบ้านรู้จักเคารพพ่อแม่ เคารพผู้เฒ่าผู้แก่ ทำอะไรก็มีความสุข มีความหมาย คนไม่รู้จักบุญก็วุ่นวายอยู่นั่น จะทำบุญแต่ละครั้งต้องฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ฆ่าวัว ไม่รู้จักเสียเลยจริงๆ บุญไม่ลำบากอย่างนั้นนะ ง่ายๆ ทำไปแล้วสบาย คิดขึ้นมาตอนไหนก็สบายใจ จะอยู่บ้านไหนเมืองไหนก็สบาย ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ถ้าเข้าถึงธรรมะแล้วเป็นอย่างนั้น
โยมผู้ชายก็รู้เรื่องโยมผู้หญิง โยมผู้หญิงก็รู้เรื่องโยมผู้ชาย คนหนึ่งโมโห อีกคนหนึ่งก็เฉยเสีย ปล่อยเสีย มันก็สบาย ถ้าไม่รู้จักศีลรู้จักธรรมก็ทะเลาะกันทั้งเช้าทั้งเย็น กูหนึ่ง มึงสอง ไม่รู้จักหยุด ผลที่สุดก็พัง มันก็เดือดร้อน ถ้ารู้จักศีลรู้จักธรรมไม่ต้องเถียงกันหรอก พูดกันคำสองคำก็รู้เรื่อง หยุด มีความเคารพกันอย่างนั้น ผู้ไม่มีศีลมีธรรมก็ดันกันอยู่นั่นแหละ กูสอง มึงสาม กูสี่ มึงห้า เอาตลอดคืนเลย อย่างนี้เรียกว่า หาความไม่ดีมาใส่ตัวเอง คือยังไม่เข้าใจธรรมะ ถ้ารู้จักธรรมะแล้ว โยมผู้หญิงผู้ชายอยู่ด้วยกันสบาย ซื่อสัตย์ต่อกัน จะพูดอะไรก็พูดแต่คำจริงคำสัตย์ ไม่นอกใจกัน อันไหนผิดไปแล้วก็ให้มันแล้วกันไป อย่าเก็บเอามาพูด มันก็จบ อันนี้ไม่อย่างนั้น ของเก่าตั้งแต่สมัยไหนก็ขุดค้นมาว่ากัน จนเกิดทะเลาะกันวุ่นวาย
อยู่ในวัดวาอาราม พระเจ้าพระสงฆ์มีความสามัคคีกัน องค์หนึ่งพูดแล้วก็จบ ไม่มีปัญหา อยู่ในบ้านในเรือนก็เหมือนกัน พ่อแม่พูดแล้วก็แล้วกัน นี้เรียกว่า อำนาจของศีลของธรรม ถ้ามีศีลมีธรรมมันง่ายอย่างนี้ สีเลนะ สุคะติง ยันติ... เราจะมีปัญญาพ้นจากทุกข์ได้ก็เพราะศีลนี่แหละ ให้เราพิจารณาอย่างนี้
เมื่อก่อนมีโยมคนหนึ่งเป็นชาวส่วย มาหาอาตมา ถามว่า "ครูบาจารย์ให้ข้าน้อยรักษาศีลจะให้กินอะไร" อาตมาตอบว่า "ก็กินศีลนั่นแหละ" กินอย่างไร แกสงสัย เลยบอกว่า รักษาไปเถอะ เดี๋ยวก็ได้กินหรอก แกคิดไม่ออก แย่จริงๆ วันหนึ่งแกมารักษาอุโบสถ แกบอกว่า ไม่รู้คิดอย่างไรหนอ จึงไม่ให้กินข้าวเย็น ลองกินดูก็ไม่เห็นเป็นอะไร เห็นแต่มันอร่อยเท่านั้น แกว่า แล้วทำไมจึงไม่ให้กิน แกคิดไป เลยลองกินดูว่า มันจะผิดเหมือนผีเข้าจ้าวศูนย์หรือเปล่า กินดูแล้วก็ไม่เห็นเป็นอะไร ดีเสียอีก แกว่า ชั่วขนาดนั้นก็มีนะคนเรา แกมารักษาศีล อาตมาเลยบอกว่า เอ้า ให้รักษากันจริงๆ ลองดู ทุกวันนี้รู้จักแล้ว อาตมากลับไปเยี่ยมที่ภูดินแดง (สาขาที่ 3) แกมากราบทุกปี มาสารภาพกับอาตมาว่า "โอ๊ย ครูบาจารย์แต่ก่อนผมไม่รู้เรื่องจริงๆ ครูบาจารย์ว่าให้กินศีล ผมไม่รู้เรื่อง เดี๋ยวนี้คิดได้แล้ว ก็กินศีลอย่างครูบาจารย์ว่า ทุกวันนี้เลยสบาย"
คนเราให้รักษาศีลรักษาธรรม ก็กลัวแต่ทุกข์ยากลำบาก มันไม่ใช่อย่างนั้นนะ ศีลธรรมให้ความเบา ความสบายแก่เรา ไม่มีโทษไม่มีภัย คิดไปข้างหน้า คิดไปข้างหลังก็สบาย ถ้ามีศีลธรรม คิดไปข้างหลังความผิดเราก็รู้จัก เมื่อรู้จักเราก็ละพวกนั้น ต่อไปก็บำเพ็ญคุณงามความดี มองไปข้างหน้าก็สบาย มองไปข้างหลังก็สบาย ดังนั้น ความทุกข์ทั้งหลายมันอยู่ที่ความเห็นผิด ถ้าเห็นผิดมีทุกข์ทันที ถ้าเห็นถูกแล้วก็สบาย พระศาสดาท่านจึงให้สร้างความเห็น การฟังเทศน์ฟังธรรมก็เพื่อสร้างความเห็นของเรา คือเรายังเห็นไม่ถูกต้อง
ความจริงสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันพอดี มันสม่ำเสมออยู่ทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนต้นไม้ในป่านั่นแหละ ต้นยาวก็มี ต้นสั้นก็มี ตรงก็มี คดก็มี ต้นที่มีโพรงก็มี มีทุกอย่าง มันพอดีของมัน คนต้องการต้นคดก็ไปเอา ต้องการต้นตรงก็ไปเอา อยากได้ต้นสั้นต้นยาวก็ไปเอา มันเลยพอดีของมัน ในโลกนี้ก็เหมือนกัน มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เราไม่รู้จักเอามาใช้ ถ้าเอามีดมาใช้มันก็เอาสันมันมาใช้ มีดเล่มเดียวกันนั่นแหละ ใช้ไม่เป็นก็ไม่เกิดประโยชน์
ธรรมทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้าเราพิจารณาไม่ถูกเรื่องก็ไม่ได้บุญ ไม่ได้ประโยชน์ เหมือนคนฟังธรรมไม่เข้าใจ ไม่ได้ธรรมะ ปัญญาก็ไม่เกิด เมื่อปัญญาไม่เกิด ความเห็นถูกมันก็ไม่มี ถ้าความเห็นไม่ถูกต้อง การปฏิบัติก็ไม่เป็นผล ผลสุดท้ายฟังเทศน์ฟังธรรมก็เลยเบื่อ เพราะฟังแล้วไม่ได้อะไร อย่างนี้ก็มีอันนี้เพราะความไม่เข้าใจในธรรมะ ถ้าเขาใจในธรรมะแล้วไม่มีปัญหา สบาย
นั่นแหละท่านจึงบอกว่า ธัมโม จะ ทุลละโภ โลเก การที่จะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้านี้ก็ยาก คนพูดคนเทศน์มีเยอะ ที่ไหนๆ ก็มี ไม่รู้ว่าพูดขนาดไหน คนปฏิบัติก็เยอะ ไม่รู้ปฏิบัติขนาดไหน ไม่รู้ถูกหรือผิดมันยาก
ปัพพะชิโต จะ ทุลละโภ ฟังธรรมแล้วจะได้บวชในพระศาสนานี้ก็ยาก เหมือนกับญาติโยมจะบวชลูกบวชหลานแต่ละทีมันหาโอกาสยาก ครั้นบวชแล้วจะมีศรัทธาประพฤติปฏิบัติตามธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นก็ยาก ดังนั้นทุกวันนี้มันจึงน้อยลงไปๆ
พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้เป็นคนมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาไม่รู้เรื่องจริงๆ เหมือนกับสมัยก่อน มีประเพณีการทำต้นดอกผึ้ง การทำต้นดอกผึ้งเป็นความเชื่อว่า ถ้าบิดามารดาหรือญาติสายโลหิตสิ้นชีวิตไปแล้ว เกรงว่าจะไม่มีที่อยู่ แล้วจะได้รับความลำบาก หากลูกหลานสร้างปราสาทดอกผึ้งอุทิศไปให้แล้ว ก็จะได้มีวิมานหรือปราสาทอยู่อย่างสบาย ไม่น้อยหน้าใครในเทวโลก ก็ทำกันไปตามประเพณี บางทีทำหมดขี้ผึ้งเท่ากำปั้นนี้ แต่เอาควายมาฆ่า เหล้าหมดไม่รู้กี่ลัง ทำกันอย่างนี้จะได้บุญเมื่อไร
สมมุติว่าเราตาย ลูกหลานทำต้นดอกผึ้งไปให้ เราจะต้องการไหม นึกอย่างนี้ก็น่าจะเข้าใจนะพวกเรา ต้นดอกผึ้งมันจะพาไปสวรรค์ไปนิพพานได้เมื่อไร มันเรื่องเกจิอาจารย์เขียนกันขึ้นมา ว่าทำอย่างนี้ได้บุญหลาย ใครทำแล้วจะได้ไปเกิดเป็นนั่นเป็นนี่ เราลองมาพิจารณาดูซิว่า มันมีเหตุมีผลแค่ไหน นี่แหละคือการทำตามประเพณี ใครๆ ก็ทำกันอย่างนั้นมาแล้ว แล้วก็มักอ้างว่าทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย อาตมาว่าจะทำมาตั้งแต่สมัยไหนก็ตามทีเถอะ ถ้ามันไม่ถูกก็ต้องทิ้งมันทั้งหมดนั้นแหละ
พระพุทธเจ้าท่านให้มีปัญญา คือให้รู้ตามความเป็นจริง ความจริงไม่ใช่อยู่ที่การกระทำสืบๆ กันมา ความจริงอยู่ที่ความจริง เหมือนจิตใจมันโลภ มันโกรธ มันหลง มันไม่มีตัวรู้ มันก็ทำไปตามจิตที่มันหลงนั่นแหละ ก็เลยกลายเป็นประเพณีถือกันมาอย่างนั้น อันนั้นมันประเพณีของคน ไม่ใช่อริยประเพณี ไม่ใช่ประเพณีของพระพุทธเจ้า ทำไปก็ไม่เกิดประยชน์ นี่แหละท่านว่าฟังธรรม แต่ไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ฟังธรรมจากเกจิอาจารย์ เลยทำกันไปอย่างนั้น
อ่านต่อ : กบเฒ่านั่งเฝ้ากอบัว ตอนที่ 3
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)