คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
จะให้ความพอดีของกิเลสตัณหานั้นไม่มีหรอก ผมว่าตัดสินใจลงไปตรงนี้แหละ อายุคงไม่ถึงร้อยปีหรอกนะ ถ้าพวกเราทำให้ถูกต้อง ก็จะมีความสงบระงับเท่านั้นเอง
ที่เราทำไปทุกวันนี้ผมคิดว่าไม่สมควร เพราะมันจะต้องเสียหลักในการปฏิบัติ เดินออกจากหนทาง ถ้าได้มามากก็ทุกข์มาก ไม่เห็นใครเหลือสักคนเลย เช่นอาจารย์ทองดีเป็นเพื่อนกับผม บวชได้แปดพรรษา เรียนนักธรรมเอกยังไม่ได้ กลับมาสอบอีกเรียนอยู่สี่ปีจึงสอบนักธรรมเอกได้ ติดอยู่นั่นแหละ เหมือนเขาทอดแหใส่กิ่งไม้ ลูกโซ่แหไม่ถึงดิน ก็ติดค้างอยู่บนอากาศ อยู่ไม่ได้สึกออกไปมีครอบครัวแล้ว ไปมีภรรยาได้ไม่นานภรรยาก็ตายก็หาภรรยาใหม่อีก แล้วก็ตายอีก สุดท้ายก็หมดหนทาง เหมือนตากกบแห้งมันจะเกิดประโยชน์อะไรล่ะ
ทำอย่างนั้นถ้าออกไปพบกับความทุกข์ก็ไม่ต้องบ่น เพราะความทุกข์มันอยู่ที่นั่น ถ้าความอยากเกิดขึ้นมันก็ทุกข์ ถ้ามีความทุกข์ก็ทนเอา ไม่ต้องบ่นว่ามันเป็นเพราะอะไรมันจึงทุกข์อย่าพูดเลย มันต้องรู้จักวาง อย่างนั้นมันจะเปลี่ยนสภาพไปอีก
พระพุทธองค์ท่านสอนว่า อัตตาหรืออนัตตา ถ้าเป็นอัตตาก็เป็นตัวตน ถ้าเป็นอนัตตาไม่ได้อาศัยตัวตน อันนี้เป็นคนละเรื่องกัน ให้แก้ไขสิ่งที่พอจะแก้ไขได้ ถ้าสิ่งที่แก้ไม่ได้ก็ปล่อยไปไม่เคยสอนให้อยู่นอกข้อประพฤติปฏิบัติ ถึงจะมีปัญญามากก็ตาม ถ้าเอาตัวเองพ้นทุกข์ไม่ได้ก็ไม่เรียกว่าคนมีปัญญา
ถ้าคนมีปัญญา พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า คนอันธพาลถึงจะมีปัญญามากก็ตาม แต่ก็เป็นปัญญาทราม ปัญญาดีไม่มีเลยพวกโจรมันมีปัญญาในการปล้น พวกนักรบมีปัญญามาก มีไหวพริบดีในการสร้างศาตราอาวุธ สร้างระเบิดสารพัดอย่าง มีความเก่งกล้าสามารถ มีปัญญามากก็จริง แต่เป็นปัญญาทรามปัญญาดีไม่มีเหมือนมะม่วงเน่าให้ประโยชน์ไม่ได้
มีปัญญามากอยู่ แต่ตัวเองได้รับความทุกข์ ถึงมีมากก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย มีปัญญาทางสร้างอาวุธมารบยิงฆ่าฟันกันอย่างนี้มันไม่เกิดประโยชน์ เหมือนคนผู้มีปัญญาปรุงยาพิษมากิน คนกินก็ตาย ไก่หรือสุนัขกินก็ตาย มันดีหรือปัญญาอย่างนั้นปัญญาปรุงยาพิษให้คนกินแล้วตาย ในใบสลากยาก็ว่ายาดี ดีอย่างนั้น ดีที่เป็นโทษเป็นภัยต่อชีวิตของคนและสัตว์ในโลก ท่านเรียกปัญญาทราม
พวกเราก็เหมือนกัน จะไปอยู่ที่ไหนก็ตามถ้าไม่มีปัญญาเอาตัวไม่รอด อยู่ที่นี้ก็เหมือนกัน ถ้าสิ่งใดที่เรามองไม่เห็นโทษของมันอย่างชัดเจน ก็จะเลิกได้ยาก อยากจะเลิกก็เลิกไม่ได้ ถ้าเรามองเห็นโทษก็จะมองเห็นประโยชน์ขึ้นมาพร้อมกัน มันก็เลิกได้ถึงจะจมอยู่ในน้ำหรืออยู่บนพื้นดิน มันก็จะผุดขึ้นมาจนได้ จิตใจของผู้ปฏิบัติอย่างนั้นหาได้ยาก จะมีแต่คำพูดออกมาหลายๆ อย่างแต่ความคิดเห็นจริงๆ นั้นจะไม่มี สิ่งใดที่มาผ่านจะเอาให้หมด ตั้งไว้ไม่อยู่ ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน ไปที่ไหนท่านก็ไปให้ความรู้ความเห็นสารพัดอย่าง จะรวมลงคือ "ทุกข์"
ทุกข์เหมือนกับเราแบกของหนักอันหนึ่ง ทุกข์อีกอันหนึ่งคือเป็นหนี้สิน ของคนอื่นก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะแบกก้อนหินใหญ่ก็เป็นทุกข์ เรื่องทุกข์ เอาใจไปแบกก็เป็นทุกข์ เอากายไปแบกก็เป็นทุกข์ มันมีแต่เรื่องทั้งนั้น ท่านจึงสอนให้เรารู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ท่านสอนอย่างนี้ จะเป็นทุกข์มาจากอะไรๆ ก็ตามก็ทุกข์อันเดียวกัน ความทุกข์เกิดขึ้นมา ก็คือทุกข์เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย
เช่นพ่อค้าที่เคยค้าขาย เป็นคนร่ำรวย มาบวชเป็นพระแทนที่จะมาประพฤติปฏิบัติ ให้เห็นธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า "ก็ไม่เห็น" ก็เลยตายจากสมบัติเงินล้านเงินโกฏิเฉยๆ ถ้าบวชอย่างนี้จะก้าวมาเดินไปให้มันเสียเวลาทำไม อยู่กับเรือนจะไม่ดีกว่าหรือ
นักบวชพวกเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติปล่อยให้ตัวเองได้รับความทุกข์แล้ว ผมคิดว่ามันไม่เกิดประโยชน์ผมจะเดาเอาไว้เลยก็ได้ ถ้าลงไปเรียนเอาปริญญาแล้วมันก็แค่นั้นแหละเช่นคนหนึ่งชื่อทองดี มาบวชเป็นเณร อยู่ที่นี่มีสารพัดอย่างต่อมาก็อยากสึก ผมก็บอกให้มารวมหมู่คณะแล้วพูดว่า เออ...ให้มันปรุงดีๆ เณรนี้แหละจะตกนรก ถ้าไม่เชื่อลองดูก็ได้ ตกนรกแน่นอนเลย อยากจะไปเรียนหนังสือ เรียนก็เรียนไปตกนรกนั่นแหละ ขนาดพูดให้ฟังอยู่อย่างนี้มันยังไม่รู้จักทุกข์ จะเรียนเอาหนังสือมาอ่านให้มันรู้จักทุกข์ เป็นไปไม่ได้หรอก รู้แล้วว่าไฟมันเป็นของร้อน แต่ก็ยังกระโดดเข้าไปหากองไฟ จะเอาหนังสือมาอ่านให้ไฟมันหยุดร้อนไม่ได้เลย บอกให้รู้อยู่อย่างนี้ก็ยังไม่รู้จัก "ก้อนทุกข์" จะไปเรียนสอบเอาอะไรล่ะ สอบก็จะได้แต่คำพูดนั่นแหละ พอเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็มีอันเปลี่ยนแปลงไปมาก
บางครั้งมาที่เมืองอุบลฯ บาตรก็ไม่เอามา ครองผ้าจีวรสีเหลืองสดใส หิ้วประเป๋าเดินทางอย่างสวยเป็นมันวับๆ เลย ใส่รองเท้าขัดมันได้อย่างสวยเลย เราผู้เป็นอาจารย์ไม่มีรองเท้าใส่เดินด้วยเท้าเปล่าๆ หนังเท้าหนามากจนขนาดเดินไปเหยียบหญ้าคาถูกเท้าไม่เข้าเลย เพราะหนังมันหนา แต่เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมาเยี่ยมเลย คงจะตกไปที่ทุกข์มาก เงียบไป ค่อยๆ ห่างออกไปเรื่อยๆ "มันจะต้องดับลงเหมือนพระจันทร์ข้างแรม" น้อยไปๆ เล็กลงๆ แสงก็นับวันแต่จะเล็กลงๆ วงพระจันทร์จะแคบลงไปทุกทีๆ อีกหน่อยก็ตกปั๊บเท่านั้นเอง หมดแสงเลย มันชอบเป็นอย่างนั้น เพราะมันไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นโทษ
คนไม่ได้ภาวนา คือคนที่เขาชอบมีความเพลิดเพลินร่าเริงเป็นกลุ่มหลายๆคน เขาพูดคุยกันด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส ผมก็มีความอัศจรรย์เขาอยู่เหมือนกันว่า เอ...ดูเหมือนเขามีความร่าเริงสนุกสนานอยู่ เหมือนเขาทำงานเสร็จหมดทุกอย่าง ความจริงแล้วทำงานยังไม่เสร็จ
ผมเองถ้าพูดคุยกับเพื่อนหลายคำ ก็คิดว่าตัวเองยังทำงานไม่เสร็จ งานยังค้างอยู่มาก เหมือนกับไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนยังไม่ได้ปล่อยควายออกจากคอก ก็มีความเป็นห่วงควายอยู่อย่างนั้นเพราะงานยังไม่เสร็จ จะไปไหนก็มีความเป็นห่วงอยู่นั่นแหละ ดูคนอื่นเขาปล่อยไปตามอารมณ์อย่างสบาย มีความสนุกสนานพูดล้อกันเล่นสนุกเฮฮา ผมก็คิดทุกระบบว่าตัวเองยังไม่พ้นทุกข์ จะนั่งอยู่ที่ไหนก็เหมือนกับว่าเราทำงานยังไม่เสร็จ จะมีความปรารถนาความเพียรอยู่เสมอไม่หยุดสักที เพราะยังมีกิเลสอยู่มาก มันจะมีความทุกข์อยู่อย่างนี้เรื่อยไป จึงเอามาพิจารณาถ้ามีเรื่องที่คุยกับเพื่อน ก็คุยไม่มาก ทั้งคุยทั้งอยากกลับ
การภาวนาของผมตั้งแต่สมัยก่อนเป็นอย่างนี้ พระเณรบางองค์ชอบคุยด้วย บางครั้งเราจะนั่งภาวนาอยู่กุฏิ ก็เดินไปนั่งคุยอยู่นั่นแหละจนผมรำคาญ ผมเลยบอกว่าท่านเฝ้ากุฏิให้ผมด้วยนะ ผมกลัวสุนัขจะมาขี้ใส่กุฏิผม ผมจะไปเดินจงกรมก่อนนะผมเอาอย่างนั้น "เพราะทำงานยังไม่เสร็จ" จะไปนั่งคุยให้มันเสียเวลาทำไม
มันจะมีจิตใจฝักใฝ่ต่อความเพียรอยู่อย่างนั้น แต่ "พวกเราไม่ชอบดูงานของตัวเองสักที" กลับมาถึงเรือน ขี้แมวเต็มกระด้งเหมือนคนธรรมดาๆ ทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่ได้ "ปฏิวัติ" มันสักที ไม่ได้ "ปฏิรูป" มันสักที อยู่เฉยๆ ไม่มีการ "ละ" ไม่มีการ"บำเพ็ญ" ไม่รู้จะทำอะไรเพราะสถานที่นี้ทำกันอย่างนี้ มันจึงไปขัดที่จิตใจของพระเณร"ผมไม่อยากจะพูดมากหรอก เพราะไม่ได้ดีอยู่ที่คำพูด แต่ได้ดีอยู่ที่การปฏิบัติไปเรื่อยๆอยู่กับครูบาอาจารย์ให้ดูท่าน เพราะหูเราก็มี ตาเราก็มี ก็ดูได้ฟังได้เหมือนคนหิวข้าวมากๆก็ไม่อยากหรอก เห็นเพื่อนนั่งกินข้าว คนที่หิวข้าวก็จะเข้ามากินกับเพื่อนเลยไม่ได้ไปจับไปคุมเขาเข้ามาหรอกนะ เหมือนไก่มันหิวข้าว เอาข้าวเปลือกมาโปรยให้มันกิน ไก่มันจะวิ่งออกมากินเอง เช่นวัวที่มันเคยกินหญ้า เอาไปปล่อยที่สนามหญ้ามันก็คงต้องกินหญ้า ถ้ามันไม่กินหญ้าก็เป็นหมูเท่านั้นเอง
อันนี้.... เป็นสถานปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ควรจะเอาไปพิจารณาให้เห็นตามความจริง มันก็จะปฏิบัติได้ ถ้าไม่ได้มันเป็นเรื่องของโลกเขา บวชเข้ามาแล้วก็อยู่กับครูบาอาจารย์ จะทำอะไรก็กลัวแต่ครูบาอาจารย์จะเห็น แต่ไม่กลัวบาป ถ้าลับตาพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ทำได้ทุกอย่าง ถ้าอยู่ใกล้ท่านก็กลัว ไม่กล้าทำผิดกลัวท่านจะดุเอา ถ้าอยู่ห่างไกลท่านยิ่งมีความสบาย อยากจะทำอะไรก็ทำได้ โดยมากชอบเป็นอย่างนั้น คนประเภทนี้แหละไม่ละชั่วไม่กลัวบาป ถ้าจะกลัวก็กลัวพระพุทธเจ้า กลัวครูบา-อาจารย์ กลัวท่านจะเห็นเราทำไม่ดี ถ้าลับตาท่านไม่กลัวเลยเหมือนเด็กนักเรียน ตั้งแต่สมัยก่อน พอมองเห็นครูใหญ่ พวกนักเรียนกลัวจนขาอ่อนลงเลย ถ้าครูบอกให้ทำการบ้าน โอ้ย...เรียบร้อยดีมาก สมัยก่อนมีความเคารพคารวะมาก "คาระโวจะนิวาโตจะ" มีความเคารพคารวะ กลัวท่าน ถ้าครูสั่งให้ทำอะไรก็ทำได้ทันที กลัวทั้งครูอาจารย์ กลัวทั้งความผิดมันจะเกิดขึ้นมาเด็กนักเรียนมันไม่ทันสมัยหรอก แม้แต่จะเดินก็ค่อยๆเดิน ไปหาเจ้านายไปหาครูอย่างนี้ นั่งเก้าอี้ก็ไม่เป็น อยากจะนั่งกับพื้นเพราะโง่มาก ต่อมาก็ฝึกให้นักเรียนมีความฉลาด ฝึกให้เข้าถึงเจ้านายหรือครูอาจารย์ ฝึกให้นักเรียนไม่ต้องถือกันกับครู อยู่ด้วยกัน เล่นด้วยกัน โอ๊ยมันก็เหมือนเอาลิงไปหัด เดี๋ยวนักเรียนก็จับศรีษะครูเท่านั้นแหละ ครูมันก็ไม่กลัว ความผิดมันก็ไม่กลัวเลยทุกวันนี้
นักเรียน ป.๔ เข้ามาบวช ให้อ่านหนังสือให้ฟัง อ่านผิดๆ ได้ยินอ่านไปว่าจะไป 'เมียง' (เมือง) ไปซื้อเสื้อ 'เหลี่ยง' (เหลือง) ไปซื้อ 'เกีย' (เกลือ) มาฝึกหัดเอาใหม่ยากเกือบตายนักเรียนทุกวันนี้ สมัยก่อนนักเรียนจบ ป.๔ สอนนักเรียนแทนครูได้ ทุกวันนี้ไม่ทราบว่าเรียนมาจากไหน โอ้ย...อ่านหนังสือไม่ค่อยรู้เรื่องเลย ไม่รู้ไปเรียนมาจากไหน เห็นเด็กอ่านหนังสือได้ยินว่า ฝนตกแล้วแดดออก เห็นแต่มันอ่านไปอย่างนั้น แต่ก่อนอ่านให้ถูกตัวอักษรก็มาก ถ้าเรียนให้รู้เรื่องของมันแล้วก็ไม่ติดขัดหรอกนะ อ่านหนังสือเฉยๆอ่านฟ้องไปถึงยอดมันก็ได้ ทุกวันนี้อ่านไปผิดๆ ให้มันติดปากแล้วแก้ยาก นี้แหละคือสอนให้เด็กไม่ให้มีความเคารพ.เพราะมันขาดความคารวะ ขาดหลักธรรมะ "คาระโวจะนิวาโตจะ สันตุฏฐี จะกะตัญญุตา" ขาดการเคารพ ขาดการคารวะ ขาดกตัญญูกตเวที ขาดไปหมดทุกวันนี้ความเดือดร้อนก็ไปถึงพ่อแม่ สอนก็ไม่ได้ บอกมันก็ไม่ได้ พ่อแม่ก็เป็นทุกข์วุ่นวาย เพราะมันขาดหลักธรรมะนี่แหละ
สมัยก่อนครูสอนนักเรียนได้หนึ่งอาทิตย์ ก็ต้องสอบอารมณ์ครั้งหนึ่ง มีพระมาสอนเรื่องศีลธรม สอนเรื่องจรรยามารยาท ก่อนจะเลิกโรงเรียนก็ต้องสวดสรรเสริญคุณพระบารมี แต่ทุกวันนี้นักเรียนเก่งไปในทางเล่นกีฬา เตะฟุตบอล มีความสนุกเพลิดเพลินไปทางเล่นมากกว่า เรื่องจรรยามารยาทที่ดีงามนั้นไม่ค่อยได้พูดถึงกัน มันจึงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะมันขาดหลักธรรมะ แสวงหาแต่สิ่งที่สนุกเฮฮา ไปดื่มของมึนเมา ทำให้ตัวเองเป็นคนเสียสติ เหมือนคนเป็นบ้า เป็นบ้าไปหมดทุกคน เป็นบ้าไปหมดทั้งพ่อแม่พี่น้องจนหมดโลก มันดื้อด้าน ว่ายากสอนยาก สอนมันไม่ได้เลย
การปฏิบัติก็เหมือนกัน สมัยก่อนไม่เป็นอย่างนี้หรอกทุกวันนี้ถ้ามีความทุกข์ก็ทุกข์มากจริงๆ เรื่องอาหารไม่ได้ตามชอบใจ อาหารไม่ถูกปากไม่อร่อย ที่อยู่อาศัยไม่ได้ตามชอบใจก็เป็นทุกข์หมด เพราะคนสมัยนี้มีผิวบางมาก ความอดทนมีน้อยทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่เสียหายมากเสียเวลาที่มาประพฤติปฏิบัติ มันต้องพูดกันได้ เป็นคนที่สอนง่าย มีความเคารพเชื่อฟังจึงจะถูกต้อง ส่วนมากจะเป็น "ปะทะปะระมะ" คือพูดกันไม่ได้สอนกัน ไม่ได้ ไม่เชื่อฟัง พูดให้ฟังก็ไม่สนใจเหมือนไม่ได้ยิน ใช้ให้ตักน้ำก็ขี้เกียจ หนีไปอยู่กรุงเทพฯ บอกว่าบ้านเราน้ำก็ไม่ค่อยมี ให้พากันไปอยู่ที่กรุงเทพฯ หมดก็ได้ ไม่ต้องอยู่ทางภาคอีสานหรอก เป็นเพราะอะไรนะมันถึงเป็นอย่างนี้ที่ไหนไม่ดีไม่งามก็ควรแก้ไขที่ตรงนั้นการปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน ถ้าที่ไหนมันสะดวกก็ไม่ต้องไปทำอะไรมัน ตรงไหนที่มันขัดข้องก็ต้องแก้ไขที่จิตใจของเรานั้น
ถ้าพูดอย่างโน้นอย่างนี้ในสิ่งที่ไม่ดี ชักชวนกันไปที่นั่นที่นี่เณรน้อยก็จะหูผึ่งไปนั่นแหละ จับกันคุยเป็นกลุ่มก้อนอยู่ในช่วงกลางพรรษา ออกพรรษาแล้วองค์นี้ก็จะไปที่โน้น องค์นั้นก็จะไปที่นี่ วุ่นวายกันอย่างนี้มันจะหมดนะ ฉะนั้นผมจึงถอนตัวออกไป
ทีนี้ให้พวกเรามาตั้งเอาใหม่ ประพฤติปฏิบัติเอาใหม่อย่าได้ประมาท การปฏิบัติของเรามีวัดอยู่ ดีแล้วที่ได้เข้ามาบวช ได้อยู่ด้วยความสะดวกสบายทุกอย่าง ไม่ใช่เป็นอย่างนั้นนะ ได้บวชมามันก็เสร็จแต่การบวชเท่านั้น แต่การปฏิบัติของเรายังอยู่อีกมากเป็นกว่าการบวช พวกท่านทั้งหลายไม่เห็นหรือ สัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก เช่น ปลวก มด อยู่บนพื้นดินก็มีมากหลาย แต่ส่วนที่อยู่ใต้ดินก็มีอีกมากมาย เช่นว่าโบสถ์หลังนี้สร้างขึ้นมาไม่ยากหรอก แต่การที่จะดูแลรักษาโบสถ์หลังนี้ไปอีกนานหลายชั่วอายุคน สักสามชั่วอายุของคนก็ได้ ตอนสร้างโบสถ์นี้ไม่ยากหรอกสร้างสองปีก็เสร็จ ยังเหลือแต่การปฏิบัติรักษา ทำความสะอาดที่นั่นที่นี่ไม่รู้วันเสร็จสักที ไม่ใช่ของง่ายๆนะ สร้างเสร็จแล้วยังเหลือการดูแลรักษา สร้างสองสามปีก็เสร็จ พวกเราจะต้องรักษาโบสถ์หลังนี้ไปอีกนานจนกำหนดไม่ได้ ให้ได้ครึ่งเท่าครึ่งก็ยังดี บวชมาแล้วจะเอาสบายเพราะคิดว่าบวชเสร็จ แต่การปฏิบัติของนักบวชนี้สิมันยาก ยังมีอีกมาก
ฉะนั้นพระพุทธองค์ท่านตรัสเป็นพระวาจาเป็นครั้งสุดท้ายว่า "อย่ามีความประมาท" ให้สิ้นลงจนลงได้ ท่านสอนภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ท่านพูดตรงจุดจบเลย แต่พวกเรายังมีชีวิตอยู่ก็ไม่ควรประมาท ผมไม่กลัวว่ามันจะเสื่อมหรอกนะ ผลที่สุดมันก็ต้องเสื่อมจนได้ เหมือนกับว่าความจริงมันก็จะตาย ถ้าเจ็บป่วยไข้มาก็จะไม่ฉันยาหรือ ไม่ฉันข้าวเลยอดให้มันตายเลย ดีไหมอย่างนี้ความเสื่อมมันมีเป็นธรรมดา เกิดขึ้นมาแล้วความเจ็บไข้ก็มีเป็นธรรมดา ของมันอยู่อย่างนั้น แต่ว่าถ้าเจ็บไข้ไม่สบายก็ต้องรักษาอันนี้เรียกว่ายาบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ถึงแม้พระพุทธเจ้าของเราท่านก็จัดไว้เป็นปัจจัยสี่ คิลานะเภสัช ท่านไม่ให้ประมาท เช่นแก้วใบนี้มันก็แตกเป็น แต่ถ้าเราใช้มีความระมัดระวังให้ดีแล้ว แก้วมันก็ไม่แตกง่ายๆ จะได้ใช้ไปอีกนาน แต่ถ้าเราไม่คำนึงถึงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มันก็จะแตกเร็วขึ้น เพราะมีความประมาทไม่มีความระวังตัวเอง
อันนี้ก็เหมือนกัน สาขาของวัดเราก็มีมากขึ้นเกือบจะถึงสี่สิบกว่าสาขาแล้วนะ ผมก็ทำงานมาหลายปีแล้ว ไม่ได้ทำอย่างนี้ พวกเราจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ พระกรรมฐานส่วนมากมีแต่เขาไล่หนีทั้งนั้นแหละ เป็นมาตั้งแต่ครูบาจารย์มั่น ครูบาจารย์เสาร์ เป็นแต่สมัยโน้นจนถึงปัจจุบัน เป็นอย่างนี้ ผมเป็นผู้เดินก่อนกับท่านจันทร์ กับคุณเที่ยง มันหนักมาก ผ่านมาหลายอย่างเป็นพยานของตัวเองในข้อประพฤติปฏิบัติ อยู่ในป่าดงอย่างนี้ เอาชีวิตเข้าแลกเอานะ จึงมีความเจริญขึ้น จะไปที่ไหนก็ว่าไปจากสำนักวัดหนองป่าพง สำนักอาจารย์เที่ยง สำนักอาจารย์จันทร์ สำนักต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้ ออกไปจากวัดหนองป่าพงทั้งนั้น จะไปที่ไหนก็ไม่มีใครดูถูกดูหมิ่นเท่าไรนัก ถ้าเขารู้ว่ามาจากวัดหนองป่าพงหรือสาขา จะไปที่ไหนก็มีความสะดวกสบายพอสมควรโยมเขายกเว้นหรือให้อภัยหลายๆ อย่าง จะเดินทางไปไหนโยมก็ไม่ให้เสียค่ารถหรอก จะเป็นสาขาของวัดหนองป่าพงก็เหมือนกันก็มีความเจริญขึ้นมา พวกเราได้ไปมาอย่างสะดวกสบาย การเผยแพร่ธรรมะหรือการออกธุดงค์ จะไปไหนก็ค่อยจะเดินไปด้วยความระมัดระวัง ผู้เฒ่าจะเดินไปก็ค่อยๆ เดินเพราะกลัวจะหกล้ม จะเคี้ยวอาหารก็เคี้ยวเบาๆ เพราะปวดฟัน จะพูดมากก็ไม่ได้ไม่มีเรี่ยวแรง ค่อยอยู่ค่อยกิน ค่อยไปค่อยมา พ่อแม่พวกเราเคยถามกันว่า ค่อยอยู่สบายดีไหม? เออค่อยอยู่สบายดีอยู่หรอก
สังขารนี้มันค่อยมันเสื่อมไปทุกวันๆ พระท่านสอนว่า"สังขารร่างกายก็ไม่ใช่ของเราหรอก" เราก็โกรธไม่พอใจ ถ้าว่าไม่ใช่ของเราก็เอาไฟมาเผาดูซิ เอามีดมาลองแทงดู พูดไปสารพัดอย่าง ฟังท่านพูดไม่เข้าใจ คิดว่าตัวเองพูดถูก ไปเถียงแต่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่หยุดสักที ไม่ยอมรับธรรมะของท่าน ไม่ใช่ว่าจะเป็นแต่เดี๋ยวนี้หรอกนะ เรื่องอย่างนี้เป็นมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโน้นแล้ว มีนางหนึ่งสวยงามกว่าเพื่อนในครั้งพุทธกาล ไปฟังเทศน์ พระพุทธเจ้าท่านเทศน์ให้ฟัง เรื่องเกศา โลมา นะขาทันตา ตะโจ "ร่างกายนี้มันเต็มไปด้วยของไม่สะอาด เป็นของบูดของเน่า ของไม่เห็นสาระแก่นสาร เป็นของน่าเกลียดโสโครก" ก็ไม่พอใจ โกรธพระพุทธเจ้า ว่าดูถูกเหยียดหยาม มีความสำคัญว่าตัวเองสวยงามมาก แต่พระพุทธเจ้าเทศน์ว่าไม่ใช่ของสวยงามผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ไม่มีอะไรที่สวยงามเลย จึงโกรธพระพุทธเจ้า เพราะความไม่รู้ตามความเป็นจริงนั่นแหละ
ต่อไปนานไปก็ไปเห็นซากศพคนตาย ก็จึงคิดได้ เอามาเทียบกับตัวเองจึงเห็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าเราเป็นผู้หลงผิดจริงๆ จึงได้ไปกราบขอขมาโทษพระพุทธเจ้า เพราะความสำคัญลุ่มหลงของที่มีอยู่กับตัวเองก็จึงไม่รู้จัก ถ้ามันหนาวก็เอาผ้าห่มคลุมไว้ทั้งเนื้อหนังนั่นแหละ แต่ไม่เห็นตัวเองสักที กระดูกผม ก็ไม่เห็น ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ว่า เกศา โลขา นะขาทันตา ตะโจ ก็คิดว่าพูดอะไรนะ ใครจะไม่เห็นผม หนัง เพราะมันไม่เห็นตามความเป็นจริง ถ้าเห็นสกลร่างกายตามความเป็นจริงแล้ว มันก็จะถอยหรอก โยมจับดูแล้วมันก็วาง ไม่ได้ยึดหมายมันหรอก มันก็วางได้ ถ้าวางก้อนนี้ได้ ก็คือวางกองทุกข์นั่นแหละ ไม่ยึดหมาย
มีมือก็ใช้มันไป มือก็ใช้ให้มันจับมา มีหูมันมีหน้าที่ฟัง เสียง ก็ใช้ให้มันฟัง มีปากที่มันเคี้ยวอาหารเป็นก็ใช้ให้มันเคี้ยวจมูกก็ใช้ให้มันสูดลมหายใจเข้าลมหายใจออก ใช้มันไปคนละอย่าง เท้ามีไว้สำหรับเดิน มันปั้นข้าวไม่เป็นก็ต้องให้มันเดิน หูก็ใช้ฟังเสียง จมูกก็ใช้ดมกลิ่น ใช้ไปตามหน้าที่ของมัน จะใช้ให้มันขัดกันก็ไม่ได้อีก เพราะมันไม่ใช่ของเรา ให้เอาหูไปดูหนังดูซิถ้าไม่เชื่อลองดูก็ได้ ใช้ของไม่ถูกที่ของมัน ถ้าเป็นของเราจริงๆจะต้องบังคับมันได้ เอาหูไปดูได้ถ้าเป็นของเราจริงๆ ใช้ให้มันไปทำนาก็ได้ ใช้ตาไปฟังเทศน์ลองดู ถ้าเป็นตาเราจริงๆ ก็ต้องใช้มันไปฟังเทศน์ได้ แต่อันนี้ไปใช้ของคนอื่น ไม่ใช้ของเราเลย มันจึงขัดขวางเราอยู่เรื่อยไป เพราะยึดว่าเป็นของเรา ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ก็ไม่รับ ฟังก็ไม่รับทราบ ไม่เข้าใจ เป็นตัวอัตตาขวางอยู่นั่นแหละ ถ้ารับทราบธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้วมันก็ง่าย ยอมรับฟังไม่ฝ่าฝืน ก็เข้าใจธรรมะได้
ถ้าไม่รับทราบ ไม่รับฟัง ไม่รับรู้เอาแต่ใจตัวเอง สิ่งใดที่ชอบใจจึงเอา สิ่งใดไม่ชอบก็จะไม่เอาเลือกเอาแต่สิ่งที่ชอบ ถ้าเป็นเสียงก็เสียงที่ถูกหู เสียงไพเราะจึงจะเอา ให้คนอื่นทำให้ถูกใจเราจึงจะชอบจึงจะสบายใจ ส่วนมากชอบเป็นอย่างนั้น จะให้ทุกคนทำให้ถูกใจเราคนเดียวจึงจะตรัสรู้ธรรมะได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอกคิดดูให้มันดีๆ ธรรมเป็นส่วนหนึ่ง จิตเป็นส่วนหนึ่ง บางคนคิดว่าชอบใจอะไรนั่นแหละเป็นธรรม ถ้าเราชอบก็คิดว่าเป็นของดี บางทีเราไม่ชอบ แต่มันเป็นธรรมจะทำอย่างไรล่ะ
มีแต่สิ่งที่ทำให้ทุกข์ทั้งนั้น ถ้าเราขาดปัญญา ถ้าเรารู้จักใช้ให้มันถูกเรื่องมันก็ง่ายขึ้น ตาก็ใช้ดู หูก็ใช้ฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นสัมผัส มือจับสิ่งของได้ เท้ามีหน้าที่เดิน ใช้ไปคนละอย่าง ถ้าใช้ถูกเรื่องก็สะดวกขึ้น ถ้าใช้ไม่ถูกเรื่องมันก็ขัดอยู่อย่างนั้นเพราะว่าไม่ใช่ของเราก็ว่าของเราอยู่อย่างนั้น ไม่ยอมรับ ไม่หยุดสักทีต้องมาภาวนาหาเหตุผลของมัน ความคิดเห็นของเรากับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสไว้นั้นต่างกันเสมอ เช่นสภาวะร่างกายของเรานี้มันไม่เที่ยงแท้ ไม่คงทนถาวร แต่เราก็ยังคิดว่าเป็นเราอยู่ ผลสุดท้ายก็เป็นความจริงของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมหมดทุกอย่าง เรื่องความยึดถือ ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรานั้นไม่จริงสักอย่างเลย ถ้าถึงคราวมีอะไรเสียไปก็ร้องไห้ว่าเสียดาย โง่มากจนร้องไห้ เพราะคนไม่เห็นธรรมะไปยึดแต่ของเรา ถ้าไม่ใช่แล้วก็ร้องไห้เท่านั้นเอง ถึงกระนั้นก็ยังไม่รู้จักว่าตัวเองทุกข์ ยังไม่ยอมรับเพราะคนมีความมืดหนาด้วยกิเลสตัณหา จึงชอบเป็นอย่างนั้น
ธรรมะไม่อยู่ไกลหรอก อยู่กับเรานี้แหละ จะไปค้นหาที่ไหนก็ไม่เห็น เพราะมันเป็นของที่พอดี สูงไปกว่านี้ก็ไม่เห็น ต่ำไปกว่านี้ก็ไม่เห็น คิดให้พอเหมาะพอดีมันจึงจะได้ ผมว่าพระเณรเราเข้ามาปฏิบัติแล้วอยากจะกลับไปเรียนไปศึกษา เพื่อต้องการอยากจะเป็นอันนั้นเป็นอันนี้ ผมว่ามันใกล้จะหมดแล้ว มันถอนออกมา คงจะเข้าใจว่าทุกวันนี้ไม่ได้ศึกษา ต้องไปเรียนไปสอบได้จึงเป็นเรื่องศึกษา ผมคิดว่าเป็นเรื่องเด็กเล็ก ไม่ใช่เรื่องที่จะหาความพ้นทุกข์หรอก ผมฟังดูแล้วก็พอจะรู้ได้เลยว่า มันถอนออกจากหลักเดิมของการปฏิบัติไปแล้ว ถอนออกไปร้อยคน มันก็ตายร้อยคนนั่นแหละ ไปไม่รอดหรอก
ลูกศิษย์ลูกหาเคยมีหลายคนที่ไปศึกษาเล่าเรียน ถอยออกไป สุดท้ายก็ไม่มีการปฏิบัติเลย ผู้อยู่ที่นี้ดูหนังสือไปปฏิบัติศึกษาตัวเองไปด้วยเพราะยังต้องการความพ้นทุกข์ ยังดีกว่า มีความอดทนพิจารณาไปให้มันเกิดความฉลาด มีความตั้งมั่นไว้ในหลักธรรมะ อย่าให้มันขาด ใครจะไปเหนือไปใต้ก็ตาม ให้เรามีหลักเอาไว้ ผู้ที่ชอบไปเที่ยวหรือไม่ชอบไปเที่ยว ดีได้ทั้งนั้นถ้ามีความคิดดีคิดถูก
ไม่ละกิเลสตัณหาแล้ว ไม่มีทางจะพ้นทุกข์ได้ จะเรียนได้มหาเก้าประโยคก็ตาม ก็ยิ่งจะถอยลงมาข้างล่าง ไปเรียนเพื่อเพิ่มกิเลสตัณหา ไม่ใช่เพื่อแสวงหาความพ้นทุกข์ เพราะคนไม่รู้จักทุกข์ ถ้าคนจะปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์จริงๆ ชีวิตของเราคล้ายๆกับว่าจะอยู่ได้สักวันหนึ่งคืนหนึ่งเท่านั้น มาปฏิบัติเพื่อพ้นไปจากทุกข์ เกิดมาชาตินี้จะตายก็ให้มันตายเพราะการปฏิบัติดีกว่า ให้มันมีความมั่นใจลงตรงนี้ มันก็เห็นหนทางเท่านั้น
เริ่มต้นแต่ปฏิบัติมาไม่เคยมีความเกียจคร้าน ไม่เคยคิดถอย ถึงจะมีความทุกข์มากอยู่ แต่มันก็ไม่ถอนไม่เลิกการทำความเพียร ใครจะไปที่ไหน จะสิกขาลาเพศไปก็ตาม ผมไม่เคยถอน ไม่เคยเลิกความตั้งใจเลย จะต้องมีจิตใจเด็ดเดี่ยวลงอย่างนั้น ค้นคว้าจากคนอื่น แล้วก็มาค้นคว้าในตัวเอง ทำไปเรื่อยๆ มีการละบาปบำเพ็ญบุญ ปฏิบัติธรรมะ ถ้าใจมันเหมือนกับเขา หาเงินหาทองเอาสิ่งของมาเพื่อความร่ำรวย หาเงินมาได้มากๆ ก็ต้องเอาฝากธนาคารไว้ ตอนอายุเฒ่าแก่มาจะได้อาศัย ปัจจัยเหล่านี้ พอได้ใช้สอย ไม่ต้องวิ่งเต้นขวนขวายอีก ถ้าต้องการเขาก็ไปเบิกเอาจากธนาคารมาใช้สอยให้สบาย ทางโลกเขามีความหมายอย่างนั้น เขาพยายามทำหน้าที่การงานเพื่อเงิน ก็มีความขวนขวายแต่อายุยังหนุ่มยังสาว
พวกเรามาปฏิบัติก็เหมือนกัน ปฏิบัติให้รู้จักทุกแง่ทุกมุมให้มีความเฉลียวฉลาดเก็บไว้ใส่ธนาคารไว้เหมือนกัน การปฏิบัติของเราเมื่อมีอายุเฒ่าแก่มาก็จะไม่มีกำลัง จะเดินก็ไม่เหมือนยังหนุ่ม จะอดกลั้นเพื่อทรมานร่างกายก็ไม่ได้ เพราะสภาพสังขารร่างกายก็ทรุดโทรมเป็นไปตามเรื่องของมัน ไม่ได้เดินจงกรมไม่ได้นั่งสมาธิก็ไม่เป็นไร เปรียบเหมือนเรามีเงินฝากไว้ที่ธนาคารแล้ว ไม่ต้องหาเงินอีกก็ได้ เพราะมีทุนสำรองในการใช้จ่ายอยู่แล้วนั่งอยู่เฉยก็ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะอด อันนี้ก็เหมือนกัน ได้ทำไว้ดีแล้ว มีความตั้งมั่นแล้ว เห็นธรรมอย่างแจ่มชัด
การตรัสรู้ธรรมไม่ใช่ว่าจะอยู่ในอริยาบถนอน เดิน นั่ง ยืน ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้ามีความเห็นชอบลงเมื่อใด มรรค สามัคคีรวมลงปุ๊บ นั่นแหละในเวลาเดิน เวลานั่ง เวลานอน ไม่ต้องกระเสือกกระสน เพราะมันรู้อยู่ อันนี้ปฏิบัติแบบผู้เฒ่า ไม่ต้องขวนขวายทุกแง่ทุกมุม ไม่ต้องกระเสือกกระสนเกินไป ไม่ต้องไปเดินธุดงค์ขึ้นภูเขาลูกนั้นลูกนี้ ไม่ต้องเดินจงกรมอยู่ตลอดวันตลอดคืนหรอก สะพายบาตรวิ่งไปที่โน้นที่นี้ เหมือนคนไม่มีที่พึ่งอันนี้เราได้ทำมาแล้วแต่ยังน้อยยังหนุ่ม จึงพอรู้เรื่องมันหมดแล้วนั่งอยู่นอนอยู่ก็คิดถูกได้ ใครอยากจะไปก็ไป ใครอยากจะมาก็มา ไม่เป็นไรเรื่องมันเป็นอย่างนั้น เพราะเรามีกำลังภายใน
อันนี้พูดถึงที่เราเคยศึกษา โดยมากไม่ได้ศึกษาแต่ไปเที่ยวเฉยๆ ไปเที่ยวที่นั้นที่นี้ ไปเที่ยวที่อำเภอนั้นมันสนุกดี ไปเที่ยวทางโน้นอากาศทะเลมันเย็นดี อาหารทะเลมันอร่อยดีก็เที่ยวไปเรื่อยๆ เที่ยวไปจนตาย วิ่งไปทางทิศเหนือทิศใต้ไม่รู้จะเอาอะไร
สมณะเรานี้ไม่มีอะไรมากมายหรอกนะ มีบาตรใบหนึ่งก็พอมีผ้าไตรจีวรชุดหนึ่งก็พอ จะสะพายสิ่งของไปมากมายให้มันหนักทำไม อยู่ที่ไหนก็สบายถ้าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างเดียวก็พอ ที่เอาจริงๆ ก็เอาแต่ความสบายใจ ไม่ต้องไปแยกอะไรให้มันมาก บิณฑบาตได้มาก็เอาแต่พอฉันเท่านั้น เหลือนั้นก็ให้เพื่อนๆ หรือ ให้เป็ดให้ไก่กิน ไม่ต้องไปกระเสือกกระสนให้มันมากหรอก ขอให้เราปฏิบัติดีเท่านั้นก็พอ ให้เป็นสุปะฏิปันโน ไม่ต้องไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ทุกวันนี้เป็นนักท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ เลยไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก จะไปหาเอาอะไร ให้ศึกษาหาความรู้ข้อเท็จจริงมันก็วางได้ มันก็อยู่หลักเดิมนี้แหละ ไม่ได้ติดลาภติดยศ ติดสรรเสริญ ติดนินทา ถ้ามันพอดีแล้วนั่งอยู่ก็สบาย
อย่างเช่นท่านเจ้าคุณวัดเทพศิรินทร์ ประวัติของท่าน ท่านเห็นเพื่อนไปธุดงค์หลายองค์ ไปธุดงค์อย่างนี้จะไปเอาอะไรหนอธุดงค์ก็คือข้อปฏิบัติ จะปฏิบัติมันอยู่กุฏิใหญ่ๆ นี้แหละไม่ต้องไปไหน อยู่ในวัดนี้ ยกข้อวัตรขึ้นมาปฏิบัติได้หลายอย่าง ไม่ต้องเดินไปให้ลำบากตรากตรำ จะปฏิบัติธุดงค์อยู่ที่นี่แหละ ถ้ามีความเห็นอย่างนั้นมันก็สงบลงได้ อยู่ที่ไหนก็เหมือนไปธุดงค์ ธุดงค์คือที่เที่ยวสัญจรไปมาเป็น "ธุตังคะ" เป็นข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้าที่ทำปุถุชนให้เป็นอริยชนเรียกว่า "ธุดงค์" ที่ทำได้โดยมากเป็นข้อวัตรเพื่อฝึกหัดเกลากิเลส ไม่ใช่เรื่องอื่นไกลอะไร ถ้าจะเทียบทางธรรมะแล้ว ความดีอยู่กับตัวเราเอง ถ้าเราดีอยู่ที่ไหนก็ดี ถ้าเราไม่ดีอยู่ที่ไหนก็ไม่ดี ต้องถามตัวเราว่าดีพร้อมแล้วหรือยัง? ถ้าตัวเองไม่ดี จะหาคนอื่นดีคงไม่เจอ ให้กำหนดพิจารณาจิตก็จะมีความสงบขึ้นมา ถ้าตัวเราดีจะไปที่ไหนก็พบแต่คนดี ก็จะพบธรรมะของพระพุทธเจ้าของเราเท่านั้น ถ้าคนไม่รู้จักตัวเองอยู่ที่ไหนก็ว่าโอ้ยเพื่อนกวน พระองค์นั้นไม่ดี โยมผู้ชาย โยมผู้หญิงไม่ดี ส่วนตัวเองนั้นดีขนาดไหน ไปเที่ยวว่าแต่คนอื่น ถ้าเราดีแล้วคนอื่นไม่ดีก็ตาม มันก็เป็นคนละเรื่องกัน ถ้าเราคิดได้อย่างนี้มันก็สบาย และมีความสงบเท่านั้น
เรื่องอย่างนี้เราพยายามทำให้ดูเป็นตัวอย่างอยู่ แต่ก็ยัง ไม่รู้จัก คนอื่นทำให้ดูอยู่อย่างนั้นมันยังไปตำหนิเขาอยู่นะ เขาแสดงความจริงก็ยังไม่รู้จัก มีความขัดข้องเพราะมีความหลงอยู่มาก ก็น่าจะคิดว่าเอออันนั้นดีแล้ว สิ่งที่ไม่ดีเราก็รู้แล้วจะได้ไม่ทำอีก ยังไปตำหนิเขาว่าคนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี ไปตำหนิเขาทำไม มันเป็นเรื่องของเขาอันนี้มันเป็นเรื่องของเราไม่ดีเอง มันเป็นทุปะฏิปันโน สุปะฏิปันโนคือผู้ปฏิบัติดี อุชุปะฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง บางทีดีอยู่แต่ไม่ตรง ตรงอยู่แต่ไม่ดี จะหาทั้งดีด้วยทั้งตรงด้วย เป็นสุปะฏิปันโนก็หายาก หลงความคิดของตัวเอง
ผมจึงว่ามันถอนออกจากสมาธิ ผมไม่เคยถอนสักที ถึงจะมีความทุกข์ขนาดไหน ทุกข์จนน้ำตาไหลออกมาก็ตาม ผมไม่เคยถอนออกจากสมาธิ ยังมีความเข้มแข็ง กัดฟันต่อสู้อยู่ตลอดเวลาอดทนสู้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดท้อถอย เลิกความตั้งใจ คิดระลึกออกไป อย่างนี้ไม่เคยคิดเลิกเลย เหมือนบุรุษต้องการไฟ เอาไม้สีกันเพราะต้องการไฟ เมื่อความร้อนมันยังไม่สมดุลกัน มันก็ไม่เกิดไฟขึ้นมา ปฏิบัติไปนิดหน่อยรู้ไม่ชัด เห็นไม่ชัด มันจึงละทุกข์ไม่ได้ เพราะอะไรนะ ทำไมมันจึงละทุกข์ไม่ได้ เพราะมรรคยังไม่สามัคคีกัน เหมือนบุรุษต้องการไฟ สีอยู่อย่างนั้นก็ไม่เกิดไฟเพราะความร้อนมันยังไม่พอ ไม่สมดุลกัน ไฟจึงเกิดขึ้นไม่ได้เพราะความร้อนมันไม่พอ
อันนี้ก็เหมือนกันฉันใด ใจของเราให้มันมีหลักปักลงอย่างนี้ อันนี้เราไปหาความรู้ ดีกว่าไปศึกษาในตำรา จิตของเรามันไม่ถอนออกไปเป็นทาสของกิเลสตัณหา มันถูกต้องแล้วล่ะ จะมีความรู้เรียนจบปริญญาอะไรมาก็ตาม ก็ยังเป็นทาสของตัณหาอยู่เพราะมีแต่ไปแสวงหาเอาทุกข์มาใส่ตัวทั้งนั้นแหละ ส่วนมากชอบเป็นอย่างนี้ แต่จิตใจของผมก็ยังมีความตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อย่างผมกับมหาสา สมัยก่อนไปปฏิบัติด้วยกัน แต่มหาสาอยากจะไปเรียนนักธรรม ผมก็ไม่ได้ขัดข้อง ผมก็ส่งให้ไปเรียนที่กรุงเทพฯ ส่งเพื่อนไปเรียนแล้ว ผมก็ไม่มีความน้อยใจเลย จนกระทั้งเรียนจบมหาเปรียญเก้าประโยคเท่าทุกวันนี้ จึงได้มาพบกัน
ส่วนผมก็อยู่ในป่าอย่างนี้มาตลอดไม่ขาดเลย ท่านสอบมหาได้ก็ส่งข่าวว่าสอบได้ ประโยคเจ็ด ประโยคแปด ประโยคเก้ารายงานมาบอกให้ผมทราบ ผมก็มีความสบายใจอยู่เหมือนเดิมเพราะผมไม่มีความทะเยอทะยาน ไม่มีความกระตือรือร้นอยากจะไปกับใคร ไม่ได้คิดอิจฉาใคร ไม่ได้คิดเป็นทุกข์อาภัพอับจนด้วย อยู่ป่าก็สบายมีบาตรกับผ้าไตรจีวร ฉันข้าววันละครั้งเท่านั้นก็พอ จะไปคิดมากให้เราเป็นทุกข์ทำไม ที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ "ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้เราได้รับความทุกข์ได้หรอก ถ้าเรามีความเห็นชอบ" "บางวันได้ฉันข้าวกับมะกอกที่มันหล่นลงมาจากภูเขา ผมก็ยังมีความพอใจ ไม่ได้เก็บสะสมสิ่งของอะไรไว้เลย" พระพุทธองค์ท่านไม่สอนพวกเราทั้งหลายอย่างนี้หรอก ท่านไม่ได้ถามว่าวันนี้ฉันเสร็จแล้วเหลือไหม? วันพรุ่งนี้จะฉันกับอะไร? ท่านไม่ได้มาถามอีก มันก็มีของมันมาเอง จะได้มากหรือได้น้อยก็พอ ทุกวันนี้ถ้าได้ข้าว ฉันข้าวสักจานหนึ่ง หิวมากนอนก็ไม่หลับ เป็นทุกข์เป็นร้อน นอนก็เป็นทุกข์ นั่งก็เป็นทุกข์ ไม่รู้เรื่องอะไรวุ่นวายคนโง่ชอบเป็นอย่างนั้นแหละ ไม่น่าจะไปสุขไปทุกข์กับมัน เพราะเรื่องของโลกเป็นอยู่อย่างนั้น
จะไปทำอะไรให้โลกนี้มันเต็มได้
ทำตามความอยากไม่พอสักทีหรอกคนเรานี้
การทำจิตให้สงบ คือการวางให้พอดี ตั้งใจเกินไปมากมันก็เลยไป ปล่อยเกินไปมันก็ไม่ถึง เพราะขาดความพอดี ธรรมดาจิตเป็นของไม่อยู่นิ่ง เป็นของมีกิริยาไหวตัวอยู่เรื่อย ฉะนั้นจิตใจของเราจึงไม่มีกำลัง
การทำจิตใจของเราให้มีกำลัง กับการทำกายของเราให้มีกำลังมันต่างกัน การทำกายให้มีกำลังก็คือ การออกกำลัง ทำกายบริหาร มีการกระโดด การวิ่ง นี่คือการทำกายให้มีกำลัง การทำจิตใจให้มีกำลังก็คือทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่นคิดนี่ไปต่างๆ ให้อยู่ในขอบเขตของมัน เพราะว่าจิตของเรานั้นไม่เคยได้สงบ ไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลังทางด้านสมาธิภายใน
บัดนี้เราจะทำสมาธิ ก็ตั้งใจ ให้เอาความรู้สึกกำหนดอยู่กับลมหายใจ ถ้าหากว่าเราหายใจสั้นเกินไปหรือยาวเกินไป ก็ไม่พอดี ไม่ได้สัดได้ส่วนกัน ไม่เกิดความสงบเหมือนกันกับเราเย็บจักร ผู้เย็บจักรมีมือมีเท้าเราต้องถีบจักรเปล่าดูก่อน ให้รู้จักให้คล่องกับเท้าของเราเสียก่อนจึงเอาผ้ามาเย็บ
การกำหนดลมหายใจก็เหมือนกัน หายใจเฉยๆ กำหนดรู้ไว้ จะพอดีขนาดไหน ยาวขนาดไหน สั้นขนาดไหน จะให้ค่อยขนาดไหน แรงขนาดไหน จะยาวก็ไม่เอากับมัน จะสั้นก็ไม่เอากับมัน จะค่อยก็ไม่เอากับมัน เอาตามความพอดี เอายาวพอดี เอาสั้นพอดี เอาค่อยพอดีเอาแรงพอดี นั่นชื่อว่าความพอดี เราไม่ได้ขัดไม่ได้ข้องแล้วก็ปล่อย หายใจดูก่อนไม่ต้องทำอะไร
ถ้าหากว่าจิตสบายแล้ว จิตพอดีแล้ว ก็ยกลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ หายใจเข้าต้นลมอยู่ปลายจมูกกลางลมอยู่หทัยคือหัวใจ ปลายลมอยู่สะดือ อันนี้เป็นแหล่งการเดินลม เมื่อหายใจออกต้นลมจะอยู่สะดือกลางลมจะอยู่หทัย ปลายลมจะอยู่จมูก นี่มันสลับกันอย่างนี้ กำหนดรู้เมื่อลมผ่านจมูก ผ่านหทัย ผ่านสะดือ พอสุดแล้วก็จะเวียนกลับมาอีกเป็นสามจุดนี้ ให้ความรู้ของเราอยู่ในความเวียนเข้าออกทั้งสามจุดนี้ พยายามติดตามลมหายใจเช่นนี้เรื่อยไป เพื่อรักษาความรู้นั้นและทำสติสัมปชัญญะของเราให้กล้าขึ้น
เมื่อหากว่าเรากำหนดจิตของเรา ให้รู้จักต้นลมกลางลม ปลายลมดีแล้วพอสมควร เราก็วาง เราจะหายใจเข้าออกเฉยๆ เอาความรู้สึกของเราไว้ปลายจมูก หรือริมฝีปากบนที่ลมผ่านออกผ่านเข้า เอาแต่ความรู้สึกเท่านั้นไว้ที่นั่น ไม่ต้องตามลมออกไป ไม่ต้องตามลมเข้ามา เอาความรู้สึกหรือผู้รู้นั่นแหละไว้เฉพาะหน้าเราที่ปลายจมูก ให้รู้จักลมผ่านออก ผ่านเข้า ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย เพียงแต่ให้มีความรู้สึกเท่านั้นแหละ ให้มีความรู้สึกติดต่อกัน ลมออกก็ให้รู้ลมเข้าก็ให้รู้ ให้รู้อยู่แต่ที่นั่นแหละ
รู้แล้วมันจะเป็นอะไรก็ไม่ต้องคิด เอาเพียงเท่านั้นเสียก่อนในเวลานี้ หน้าที่การงานของเรามีแค่นั้น ไม่ได้มีมาก กำหนดลมเข้าออกอยู่อย่างนั้นแหละ ต่อไปจิตก็สงบลมก็จะละเอียดเข้าไป น้อยเข้าไปกายก็จะเบาเข้าไป จิตก็จะสงบไป ความเบากายเบาใจนั้น ก็จะเกิดขึ้นมา จะเป็นกายควรแก่การงาน และจะเป็นจิตควรแก่การงานต่อไป นี่คือการทำสมาธิ ไม่ต้องทำอะไรมาก ให้กำหนดเท่านั้น ต่อไปนี้ให้ตั้งใจทำกำหนดไป.....
จิตเราละเอียดเข้าไป การทำสมาธินั้นจะไปไหนก็ช่างมัน ให้เรารู้ทันเอาไว้ ให้เรารู้จักมัน มันก็มีทั้งอารมณ์ มีทั้งความสงบคลุกคลีกันไป มันมีวิตก วิตกคือการจะยกจิตของตนนึกถึงอันใดอันหนึ่งขึ้นมา ถ้าสติของเราน้อยก็จะวิตกน้อย แล้วก็มีวิจารณ์คือ การตรวจดูตามเรื่องที่เราวิตกนั้น แต่ข้อสำคัญนั้นต้องพยายามรู้ให้ทันอยู่เสมอ แล้วก็พิจารณาให้ลึกลงไปอีก ให้เห็นว่า มีทั้งสมาธิและมีทั้งความรู้รวมอยู่ในนั้น
คำว่า "จิตสงบ" นั้นไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรมันต้องมี มีความสงบครอบอยู่ ท่านกล่าวถึงองค์ของความสงบขั้นแรกว่า หนึ่งมีวิตก ยกเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา แล้วก็มีวิจารณ์ คือพิจารณาตามอารมณที่เกิดขึ้นมา ต่อไปก็จะมีปีติคือ ความยินดีในสิ่งที่เราวิตกไปนั้น ในสิ่งที่เราวิจารณ์ไปนั้น จะเกิดปีติ คือความยินดีซาบซึ้งอยู่โดยเฉพาะของมันแล้วกมีสุข สุขอยู่ไหน สุขอยู่ในการวิตก สุขอยู่ในการวิจารณ์ สุขอยู่กับความอิ่มใจ สุขอยู่กับอารมณ์เหล่านั้นแหละ แต่ว่ามันสุขอยู่ในความสงบ วิตกก็วิตกอยู่ในความสงบ วิจารณ์ก็วิจารณ์อยู่ในความสงบ ความอิ่มใจก็อยู่ในความสงบ สุขก็อยู่ในความสงบ ทั้งสี่อย่างนี้เป็นอารมณ์อันเดียว อย่างที่ห้า คือ เอกัคคตา ห้าอย่างแต่เป็นอันเดียวกัน คือทั้งห้าอย่างนี้เป็นอารมณ์ แตมีลักษณะอยู่ในขอบเขตอันเดียวกัน คือเมื่อจิตสงบ วิตกก็มี วิจารณ์ก็มี ปิติก็มี สุขก็มี เอกัคคตาก็มี ทั้งหมดนี้เป็นอารมณ์เดียวกัน
คำที่ว่าอารมณ์เดียวกันนั้น ทำไมจึงมีหลายอย่างหมายความว่า มันจะมีหลายอาการก็ช่างมัน เพราะอาการทั้งหลายเหล่านั้น จะมารวมอยู่ในความสงบอันเดียวกันไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ เหมือนกับว่ามีคน ๕ คน แต่ลักษณะของคนทั้ง ๕ คนนั้นมีอาการเดียวกัน คือจะมีอารมณ์ทั้ง ๕ อารมณ์ เมื่ออารมณ์อันนั้นอยู่ในลักษณะ นี้ ท่านเรียกว่า "องค์" องค์ของความสงบ ท่านไม่ได้เรียกว่าอารมณ์ ท่านเรียกว่า วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เป็นอารมณ์ตามธรรมดาท่านจึงจัดว่าเป็นองค์ของความสงบมีอาการอยู่ ๕ อย่าง คือวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา ไม่มีความรำคาญ วิตกอยู่ก็ไม่รำคาญ วิจารณ์อยู่ก็ไม่รำคาญมีปีติก็ไม่รำคาญ มีความสุขก็ไม่รำคาญ จิตจึงเป็นอารมณ์เดียวอยู่ในสิ่งทั้ง ๕ นี้จับรวมกันอยู่ เรื่องจิตสงบขั้นแรกจึงเป็นอย่างนั้น
ทีนี้บางอย่างอาจถอยออกมา ถ้ากำลังใจไม่กล้าสติหย่อนไปแล้ว มันจะมีอารมณ์มาแทรกเข้าไปเป็นบางครั้ง คล้ายๆ กับว่าเคลิ้มไป แล้วมีอาการอะไรบางอย่างเข้ามาแทรกตอนที่มันเคลิ้มไป แต่ไม่ใช่ความง่วงตามธรรมดา ท่านว่ามีความเคลิ้มในความสงบ บางทีก็มีอะไรบางอย่างแทรกเข้ามา เช่นว่า บางทีมีเสียงปรากฏบ้าง บางทีเหมือนเห็นสุนัขวิ่งผ่านไปข้างหน้าบ้าง แต่ว่าไม่ชัดเจนและก็ไม่ใช่ฝัน อันนี้จัดเป็นฝันไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะกำลังทั้ง ๕ ดังกล่าวแล้วไม่สม่ำเสมอกัน มันอ่อนลง อ่อนเคลิ้มลง จึงเกิดอารมณ์เข้าแทรก อันนี้เป็นอาการของจิต
ถ้าหากว่าเรามีความสงบมันก็มีสิ่ง ๕ สิ่งนี้เป็นบริวารอยู่ แต่เป็นบริวารในความสงบ อันนี้เป็นเบื้องแรกของมัน ขณะที่จิตเราสงบอยู่ในขั้นนี้ ชอบมโนนิมิตทางตาทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางจิต มันชอบเป็นแต่ผู้ทำสมาธิจับไม่ค่อยถูกว่า "มันหลับไหม? ก็ไม่ใช่""มันฝันไปหรือ? ก็ไม่ใช่" ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น มันเป็นอาการเกิดมาจากความสงบครึ่งๆ กลางก็ได้ บางทีก็แจ่มใสเป็นธรรมดา บางทีก็คลุกคลีไปกับความสงบบ้าง กับอารมณ์ทั้งหลายบ้าง แต่อยู่ในขอบเขตของมัน
อย่างไรก็ตามบางคนทำสมาธิยาก เพราะอะไรเพราะจริตแปลกเขา แต่ก็เป็นสมาธิ แต่ก็ไม่หนักแน่น ไม่ได้รับความสบายเพราะสมาธิ แต่จะได้รับความสบายเพราะปัญญา เพราะปัญญาความคิด เห็นความจริงของมันแล้วก็แก้ปัญหาถูกต้อง เป็นประเภทปัญญาวิมุต ไม่ใช่เจโตวิมุต* มันจะมีความสบายทุกอย่างที่จะได้เกิดขึ้นเป็นหนทางของเรา เพราะปัญญาสมาธิมันน้อย คล้ายๆ กับว่าไม่ต้องนั่งสมาธิ พิจารณา "อันนั้นเป็นอะไรหนอ" แล้วแก้ปัญหาอันนั้นได้ทันที เลยสบายไป เลยสงบลักษณะผู้มีปัญญาต้องเป็นอย่างนั้น
ทำสมาธินี้ไม่ค่อยได้ง่ายและไม่ค่อยดีด้วย มีสมาธิแต่เพียงเฉพาะเลี้ยงปัญญาให้เกิดขึ้นมาได้ โดยมากอาศัยปัญญา เช่นสมมติว่า ทำนากับทำสวน เราอาศัยนามากกว่าสวน หรือทำนากับทำไร่ เราจะได้อาศัยนามากกว่าไร่ ในเรื่องของเรา อาชีพของเรา และการภาวนาของเราก็เหมือนกัน มันจะได้อาศัยปัญญาแก้ปัญหา แล้วจะเห็นความจริง ความสงบจึงเกิดขึ้นมา มันเป็นไปอย่างนั้น ธรรมดาก็เป็นไปอย่างนั้น มันต่างกัน
บางคน แรงในทางปัญญา สมาธิพอเป็นฐานไม่มาก คล้ายๆ กับว่านั่งสมาธิ ไม่ค่อยสงบ ชอบมีความปรุงแต่ง มีความคิดและมีปัญญาชักเรื่องนั้นมาพิจารณาชักเรื่องนี้มาพิจารณา แล้วพิจารณาลงสู่ความสงบก็เห็นความถูกต้อง อันนั้นจะได้มีกำลังกว่าสมาธิ อันนี้จริงของบางคนเป็นอย่างนั้น แม้จะ ยืน เดิน นั่ง นอนก็ตามความตรัสรู้ธรรมะนั้นไม่แน่นอน จะเป็นอิริยาบถใดก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ นั่งก็ได้ นอนก็ได้ อันนี้แหละผู้แรงด้วยปัญญา เป็นผู้มีปัญญา สามารถที่จะไม่เกี่ยวข้องกับสมาธิมากก็ได้
ถ้าพูดกันง่ายๆ ปัญญาเห็นเลย เห็นไปเลยก็ละไปเลย สงบไปเลย ได้ความสบายเพราะอันนั้นมันเห็นชัดมันเห็นจริง เชื่อมั่นยืนยันเป็นพยานตนเองได้ นี่จริตของบางคนเป็นไปอย่างนี้ แต่จะอย่างไรก็ช่างมันก็ต้องทำลายความเห็นผิดออก เหลือแต่ความเห็นถูก ทำลายความฟุ้งซ่านออก เหลือแต่ความสงบ มันก็จะลงไปสู่จุดอันเดียวกัน
บางคนปัญญาน้อย นั่งสมาธิได้ง่าย สงบ สงบเร็วที่สุด ไวแต่ไม่ค่อยมีปัญญา ไม่ทันกิเลสทั้งหลาย ไม่รู้เรื่องกิเลสทั้งหลาย แก้ปัญหาไม่ค่อยได้ พระโยคาวจรเจ้าผู้ปฏิบัติมีสองหน้าอย่างนี้ ก็คู่กันเรื่อยไป แต่ปัญญาหรือวิปัสสนากับสมถะมันก็ทิ้งกันไม่ได้ คาบเกี่ยวกันไปเรื่อยๆ อย่างนี้
ทีนี้ถ้ามันชัดแจ้งในความสงบ เมื่อมีอารมณ์มาผ่าน มีนิมิตขึ้นมาผ่าน ก็ไม่ได้สงสัยว่า "เคลิ้มไปหรือเปล่าหนอเมื่อกี้นี้?" "หลงไปหรือเปล่าหนอเมื่อกี้นี้?" "ลืมไปหรือเปล่าหนอเมื่อกี้นี้?" "หลับไปหรือเปล่าเมื่อกี้นี้?"จิตขณะนี้สงสัย "หลับก็ไม่ใช่ ตื่นก็ไม่ใช่" นี่มันคลุมเครือเรียกว่า มันมั่วสุมอยู่กับอารมณ์ ไม่แจ่มใสเหมือนกันกับพระจันทร์เข้าก้อนเมฆ มองเห็นอยู่แล้ว แต่ไม่แจ่มแจ้งมัวๆ ไม่เหมือนกับพระจันทร์ออกจากก้อนเมฆนั้นแจ่มใสสะอาด จิตเราสงบมีสติสัมปชัญญะรอบคอบสมบูรณ์แล้วจึงไม่สงสัยในอาการทั้งหลายที่เกิดขึ้นจะหมดจากนิวรณ์จริงๆ รู้ว่าอันใดเกิดขึ้นมาเป็นอันใดหมดทุกอย่าง รู้แจ้งรู้เรื่องตามเป็นจริงไม่ได้สงสัย อันนั้นเป็นดวงจิตที่ใสสะอาด สมาธิถึงขีดแล้วเป็นเช่นนั้น
ระยะหลังๆ มาก็เป็นไปในรูปอย่างนี้ทำนองนี้ ป็นเรื่องธรรมดาของมัน ถ้าจิตแจ่มแจ้งผ่องใสแล้ว ไม่ต้องไปถามว่าง่วงหรือไม่ง่วง ใช่หรือไม่ใช่ ทั้งหลายเหล่านี้มันก็ไมมีอะไรถ้ามันชัดเจน ก็เหมือนเรานั่งธรรมดาอย่างนี้เอง นั่งเห็นธรรมดา หลับตาก็เหมือนลืมตา เห็นในขณะหลับตาก็เหมือนลืมตามาเห็นทุกอย่างสารพัด ไม่มีความสงสัย เพียงแต่เกิดอัศจรรย์ขึ้นในดวงจิตของเราว่า"เอ๊ะ! สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นของมันไปได้ มันไม่น่าจะเป็นไปได้ มันก็เป็นของมันได้" อันนี้จะวิพากษ์วิจารณ์มันเองไปเรื่อยๆ ทั้งมีปีติ ทั้งมีความสุขใจ มีความอิ่มใจ มีความสงบเป็นเช่นนั้น ต่อนั้นไปจิตมันจะละเอียดไปยิ่งกว่านั้นมันก็จะทิ้งอารมณ์ของมันไปด้วย วิตกยกเรื่องขึ้นมาก็จะไม่มี และเรื่องวิจารณ์มันก็จะหมด จะเหลือแต่ความอิ่มใจ อิ่มไม่รู้ว่าอิ่มอะไร แต่มันอิ่ม เกิดความสุขกับอารมณ์เดียว นี่มันทิ้งไป วิตกวิจารณ์มันทิ้งไป ทิ้งไปไหน? ไม่ใช่เรื่องทิ้ง จิตเราหดตัวเข้ามาคือมันสงบ เรื่องวิตกวิจารณ์มันเป็นของหยาบไปแล้ว มันเข้ามาอยู่ในที่นี้ไม่ได้ก็เรียกว่า ทิ้งวิตก ทิ้งวิจารณ์ ทีนี้จะไม่มีความวิตก ความยกขึ้นวิจารณ์ ความพิจารณาไมมี มีแต่ความอิ่ม มีความสุขและมีอารมณ์เดียวเสวยอยู่อย่างนั้น
ที่เขาเรียกว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เราไม่ได้ว่าอย่างนั้น เราพูดถึงแต่ความสงบวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา ต่อไปนี้ก็ทิ้งวิตกวิจารณ์ เกิดขึ้นมาแล้วก็ทิ้งไป เหลือแต่ปีติกับสุข เอกัคคตา ต่อไปก็ทิ้งปีติเหลือแต่สุขกับเอกัคคตา ต่อไปก็มีเอกัคคตากับอุเบกขา มันไม่มีอะไรแล้วมันทิ้งไป เรียกว่า จิตมันสงบๆ ๆ ๆ จนไปถึงอารมณ์มันน้อยที่สุดยังเหลืออยู่แต่โน้น...ถึงปลายมัน เหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขา เฉยอย่างนี้ อันนี้มันสงบแล้วมันจึงเป็น นี่ เรียกว่ากำลังของจิต อาการของจิตที่ได้รับความสงบแล้วถ้าเป็นอย่างนี้มันไม่ง่วง ความง่วงเหงาหาวนอนมันเข้าไม่ได้นิวรณ์ทั้งห้า มันหนีหมด วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลอิจฉาพยาบาท ฟุ้งซ่าน รำคาญหนี เหล่านี้ไม่มีแล้ว นี่มันค่อยเลื่อนไปเป็นระยะอย่างนั้น นี่อาศัยการกระทำให้มากเจริญให้มาก
สิ่งที่รักษาสมาธินี้ไว้ได้ คือสติ สตินี้เป็นธรรมเป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ซึ่งให้ธรรมอันอื่นๆ ทั้งหลายเกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียง สตินี้ก็คือชีวิต ถ้าขาดสติเมื่อใดก็เหมือนตาย ถ้าขาดสติเมื่อใดก็เป็นคนประมาท ในระหว่างขาดสตินั้น พูดไม่มีความหมาย การกระทำไม่มีความหมาย ธรรมคือสตินี้คือความระลึกได้ในลักษณะใดก็ตาม สติเป็นเหตุให้สัมปชัญญะเกิดขึ้นมาได้ เป็นเหตุให้ปัญญาเกิดขึ้นมาได้ ทุกสิ่งสารพัด
ธรรมทั้งหลายถ้าหากว่าขาดสติ ธรรมทั้งหลายนั้นไม่สมบูรณ์ อันนี้คือการควบคุม การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ไมใช่แต่เพียงขณะนั่งสมาธิเท่านั้น แม้เมื่อเราออกจากสมาธิไปแล้ว สติก็ยังเป็นสิ่งประจำใจอยู่เสมอมีความรู้อยู่เสมอ เป็นของที่มีอยู่เสมอ ทำอะไรก็ต้องระมัดระวัง เมื่อระมัดระวังทางจิตใจ ความอายมันก็เกิดขึ้นมา การพูด การกระทำอันใดที่ไม่ถูกต้อง เราก็อายขึ้น อายขึ้น เมื่อความอายกำลังกล้าขึ้นมา ความสังวรก็มากขึ้นด้วย เมื่อความสังวรมากขึ้น ความประมาทก็ไม่มี นี่ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้นั่งสมาธิอยู่ตรงนี้ เราจะไปไหนก็ตาม อันนี้มันอยู่ในจิตของตัวเอง มันไม่ได้หนีไปไหน นี่ท่านว่าเจริญสติ ทำให้มาก เจริญให้มาก อันนี้เป็นธรรมะคุ้มครองรักษากิจการที่เราทำอยู่ หรือทำมาแล้ว หรือกำลังจะกระทำอยู่ ในปัจจุบันนี้เป็นธรรมะที่มีคุณประโยชน์มาก ให้เรารู้ตัวอยู่ทุกเมื่อ ความเห็นผิดชอบมันก็มีทุกเมื่อ เมื่อความเห็นผิดชอบมีอยู่ เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อ ความละอายก็เกิดขึ้น จะไม่ทำสิ่งที่ผิดหรือสิ่งที่ไม่ดี เรียกว่าปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
เมื่อรวบยอดเข้ามา มันจะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา คือ การสังวรสำรวมที่มีอยู่ในกิจการของตนนั้น ก็เรียกว่าศีล ศีลสสังวร ความตั้งใจมั่น อยู่ในความสังวรสำรวมในข้อวัตรของเรานั้น ก็เรียกว่ามันเป็นสมาธิ ความรอบรู้ทั้งหลายในกิจการที่เรามีอยู่นั้น ก็เรียกว่าปัญญา พูดง่ายๆก็คือ จะมีศีล จะมีสมาธิ จะมีปัญญา ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี เมื่อมันกล้าขึ้นมามันก็คือมรรค นี่แหละหนทาง ทางอื่นไม่มี
* ปัญญาวิมุต คือ บุคคลผู้หลุดพันเพราะปัญญา คือ ปัญญาเป็นกำลังสำคัญ หรือปัญญานำหน้า เจโตวิมุต คือ บุคคลผู้หลุดพ้นเพราะสมาธิ คือ สมาธิเป็นกำลังสำคัญ หรือสมาธินำหน้า วิมุต หมายถึง บุคคลผู้หลุดพ้น วิมุติ หมายถึง ความหลุดพ้น |
ผลที่สุดแล้วพระศาสนาของพระศาสดานั้นเจริญไปด้วยอนิจจัง ที่เป็นมาทุกวันนี้ ทันสมัยทุกเวลา ครั้งพุทธกาลก็ดี อดีตที่ผ่านมาก็ดี อนาคตที่ยังไม่มาถึงก็ดี ปัจจุบันนี้ก็ดี มันจะต้องเป็นตัวอนิจจังเป็นผู้ควบคุมอยู่ อันนี้ต้องไปภาวนาสามารถที่จะเห็นในคัมภีร์อะไรก็ไม่รู้สมัยนั้น
คำพูดของนักปราชญ์ที่ถูกต้องไม่ขาดจากอนิจจังอันนี้ก็จริง ถ้าไม่มีอนิจจังไม่ใช่คำพูดของนักปราชญ์ หรือไม่ใช่คำพูดของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่คำพูดของพระอริยเจ้านั่นเอง คือเป็นคำพูดที่เรียกว่ายังไม่เป็นความจริงที่ยอมรับ สิ่งทั้งปวงก็ต้องมีทางระบาย คิดพิจารณาไปหลายๆ อย่าง มีเรื่องไม่ใช่เรื่องจิต มีเรื่องระบาย จิตใจของเรานี้เหมือนกัน อารมณ์ที่ไม่ระบายอารมณ์ จิตที่ไม่ได้ระบายอารมณ์นี้เรียกว่า เมา จิตมึนเมา ปฏิบัติอะไรทุกอย่าง หมายความว่า อย่าเมา ถ้าเมาเป็นผิดเป็นไม่ถูกละ
เราจะทำอะไรอันหนึ่งเกิดขึ้นมา ให้เป็นไปตามอำนาจที่ความรู้สึกของเรา เมื่อเข้าใจแล้วแต่อย่าเมา ถ้าเมาแล้วไม่ถูกต้องตามสัจธรรม ฉะนั้น ถ้าเราซึ่งปฏิบัติธรรมะ พระพุทธองค์สอนว่าอย่าให้เมา ถ้าเมาแล้วผิด ถึงเป็นเรื่องดีก็อย่าเมาดี ถ้าเมาดีมันก็จะเกิดไม่ดี อย่าให้มันเมา ให้รู้มันก็เหมือนการสร้างเขื่อนที่มีทางระบายน้ำ ไม่ปิดตายตัวมันซะ อันนั้นเป็นเขื่อนที่ดีมาก เป็นเขื่อนที่ไม่ทรมาน
เราผู้ประพฤติปฏิบัตินี้ก็เหมือนกัน ฉันนั้น เรื่องบังคับจิตนี้ก็เรียกบังคับจิตเป็นขณะ อย่าเมา ไม่ใช่บังคับจิต สอนจิตให้จิตค่อยๆ รู้สึกขึ้นมา บังคับจิตมันจะเป็นบ้าเอา ให้ค่อยๆ จิตมันก็รู้สึกขึ้นมา นี่ว่าถึงปฏิปทาของเรา ก็ต้องเป็นอย่างนั้น
มีส่วนเทียบหลายๆ อย่างซึ่งมารวมกัน การก่อสร้างข้างนอกนี่ก็เหมือนกัน อะไรหลายๆ อย่างก็เหมือนกัน มันมารวมจุดอันเดียวกันทั้งนั้น ดังนั้นได้ประโยชน์หลายในการที่เราภาวนา ในการที่เราตามรักษาจิตของเรานี้ มันเป็นเบื้องต้น ถึงแม้ว่าเราจะศึกษาเล่าเรียนมามันก็ดีอยู่แล้ว แต่ว่ามันเป็นขั้นที่ 2 เช่น พระอภิธรรม พระไครปิฎกต่างๆ ก็ดี แต่ว่ามันเป็นขั้น 2 ที่คนไปบรรยายจากความจริง ไอ้เรื่องจริงยิ่งกว่านี้มันยังมีอยู่ อันนี้คือถอดจากเรื่องจริง อาจารย์ที่ท่านถอดมานั้น บางทีลุ่มๆ ดอนๆ ก็มี นานๆ ไปมันลุ่มๆ ดอนๆ
แต่เรื่องจริงๆ ของมันนั้น ไม่มีใครควบคุมมัน มันก็เป็นเรื่องของเก่าคือธรรมชาติ ไม่มีเสื่อม ไอ้เรื่องคนที่ถอดมาเป็นขั้นที่ 2 ที่ 3 ถึงว่ามันดี มันเจริญมันก็มีการเสื่อม
ก็เหมือนกันที่คนเรามีมากเข้ามากเข้า มันก็ทำความยุ่งยากขึ้นมา ตามเรื่องของมัน เพราะว่ามันมาก เคยมีคนสอนให้ดี ดีเท่าไหร่เป็นต้น มันก็สอนได้ แต่ว่ามันก็ไม่เหมือนความจริงของมัน
สัจธรรมนี่มันเป็นจริงของมัน ไม่มีอะไรที่จะเสื่อมทราม เพราะอันนั้นมันคงที่มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น อันนั้นมันเป็นต้นตอ เป็นสัจธรรมที่ว่ามันเกิดขึ้นมาอยู่ มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น
สาวกองค์ใด ผู้ประพฤติปฏิบัติองค์ไหนก็ตามจะต้องพยายามไปรู้ตรงนั้น เห็นตรงนั้น ปฏิบัติตรงนั้นเทียบเคียงกันออกมา นานๆ ไปมันก็ช่วยระบายออกไป เสื่อมไป ต้นตอมันก็ยังอยู่อย่างเก่า อันนั้นมันก็อยู่อย่างเก่า เช่นเดิมของมัน
ฉะนั้น พระพุทธองค์ของเราจึงสอนว่า ให้กำหนดและให้พิจารณา ผู้ปฏิบัติหาความจริงนั้นอย่าติดในความเห็นของเรา อย่าติดในความรู้ของเรา อย่าติดในความรู้ของคนอื่น อย่าติดในความรู้ของใคร ให้รู้เป็นพิเศษอันนี้ไว้ คือปล่อยให้สัจธรรมความเป็นจริง ระเบิดขึ้นเต็มที่มันอยู่เสมอ ไม่ได้ไปยัดเยียดตรงไหน อันนี้ก็เหมือนกัน เราอบรมจิตของเรานี้ ตัวเราพิจารณาตัวเห็นสัจธรรมจริงๆ คือเรื่องของจิตใจของเรานี้ เราจะเห็นชัด
ถ้าหากว่าใครสงสัยอะไรตรงไหนก็ดี ก็คือให้กำหนดรู้จิตของเรา ความรู้สึกของเรา นี่ให้เป็นที่พึ่งรู้จัก อันอื่นก็เป็นเรื่องผิวเผิน เช่นว่า พูดง่ายในวาระหนึ่ง เราเป็นผู้ปฏิบัติให้มันถูกอะไรขึ้นมาหลายอย่าง มีทั้งกลัว มีทั้งอะไรหลายๆ อย่างอันนี้เราจะอาศัยอะไรไหม ไม่มีเรื่องจะอาศัย อันนี้เรื่องเคยเป็นมาแล้ว เรื่องตัวก็เคยผ่าน ไอ้เรื่องจิตที่มันหลงมันกลัว กลัวจนหาที่พึ่งไม่ได้ จะพึ่งอะไรตรงไหน ไม่มีที่พึ่งแล้วมันจะมาจบอยู่ตรงไหน มาจบอยู่ที่มันเกิดขึ้นมานั่นเอง มันเกิดตรงไหน มันก็ดับตรงนั้น มันกลัวตรงไหน มันก็หายกลัวอยู่ตรงนั้น
พูดง่ายๆ ว่ามันกลัวที่สุดแล้ว มันจะไปหยุดอยู่ตรงไหน มันก็กลับมาหยุดที่มันกลัว ไอ้ที่มันไม่กลัวมันก็อยู่ตรงนั้น ตรงที่มันกลัว จิตใจของเรานี้มันจะเป็นอะไรก็ช่างมันเถอะ เรื่องที่เราภาวนามันจะเกิดนิมิต เกิดความรู้ ความเห็นสารพัดอย่าง แต่อย่างไรก็ตาม จิตใจในเวลานี้ท่านให้เพ่งรู้จิตที่อยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นเครื่องหมายอย่าวิ่งออกไปตามอารมณ์ข้างนอกอย่างอื่น เรื่องราวที่เราพิจารณาอันใด สารพัดอย่างที่มันเป็นมานั้นมันก็จบอยู่ที่มันเกิด เพราะเหตุมันอยู่ตรงนี้
อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ หากว่าเรามีความกลัว พูดง่ายเห็นง่ายตรงกลัวของเรา กลัวกระทั่งมันหมดกลัวก็เลยไม่กลัว เพราะว่ามันหมดฤทธิ์ของมัน มันก็ไม่กลัว ไอ้ที่ไม่กลัวของมันคือว่ามันวาง มันจะเป็นอะไรๆ มันยอมรับทั้งนั้น มันก็เลยหายกลัว คือเรื่องมันยอมรับ
ทุกอย่างก็เหมือนกันฉันนั้น ที่เรื่องเราปฏิบัตินี้ ความเป็นจริงนั้น พระพุทธองค์ท่านให้เชื่ออย่างนี้ ไม่ให้เชื่ออย่างนั้น เชื่อว่าอย่าไปติดความเห็นของเราเอง อย่าไปติดความเห็นของคนอื่น ให้วางโดยเฉพาะ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราจะพยายามเอาความรู้ ซึ่งมันเกิดจากความจริง จริงๆ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของเรา แต่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของคนอื่น แต่ว่าเอาเรื่องของเราเรื่องของคนอื่น กระทบกันเข้ามา มันจะเกิดเป็นแสงสว่างขึ้นมาตรงนั้น ให้ดูตรงนั้นที่มันกระทบขึ้นมาตรงนั้น ก็ดูเอาตรงนั้น ไอ้เรื่องที่มันมีอยู่
ฉะนั้น การกำหนดจิตนี้ บางทีมันก็เข้าใจผิดหลายอย่าง เช่น การภาวนา เราบางคนก็ไปกำหนดตรงที่ว่า อาการของจิตนั้นเป็นอย่างไร ก็เลยไปกำหนดทุกอย่าง ทุกประการเลยวุ่นไป เช่นว่า
เราได้พิจารณาขันธ์ ๕ ขยายขันธ์ ๕ เป็นอาการ ๓๒ หลายอย่าง สารพัดอย่าง ครูบาอาจารย์ว่าให้พิจารณาทั้งหมด อาตมาค้นคิดทั่วไปนะ ๕ แล้วก็ยังไม่จบ อาการ ๓๒ ๓๓ สารพัดอย่าง ค้นไปแล้วก็อย่างนั้น
อาตมาจึงเห็นว่า ถ้าว่าก้อนๆ นี้ ขันธ์ ๕ ที่เรานั่งอยู่นี้ มันจะ ๕ จะ ๖ จะ ๗ จะ ๘ ก็ช่างมันเถอะ ก้อนที่เราเห็นอยู่นี้ เราเบื่อมันแล้ว เพราะว่าไม่ได้ตามปรารถนาของเรา เท่านั้น ก็เห็นจะพอ ถึงแม้ว่าจะอยู่ไป ก็ไม่ค่อยดีใจจนมันหลง ถึงแม้ว่า มันจะทำลายไป ก็ไม่จำเป็นต้องเสียใจในก้อนนี้ เราเห็นขนาดนี้ก็พอละมัง ไม่ต้องไปฉีกเอาเนื้อเอาหนังอะไรออกมาหมด
อาตมาเคยเปรียบเรื่อยๆ อยู่เสมอว่า บางคนไม่ต้องการให้มันรู้อย่างนั้น ให้มันเห็นอย่างนั้นแต่ว่ายกต้นไม้ขึ้นมาให้ดู โดยมากนักศึกษาอยากจะรู้บุญก็อยากจะรู้ตัวว่ามันเป็นยังไง บาปอย่างนั้นก็รู้ตัวว่ามันเป็นยังไง อันนี้ตัวมันไม่มีหรอก ตัวมันคือความพอใจของเราที่ถูกต้อง เท่านั้นแหละ เขาอยากจะรู้แจ้งขนาดนั้น
เช่นว่า ต้นไม้ต้นหนึ่ง อาตมาเคยเทียบให้ฟังว่า มันมีราก มันมีใบ มันอยู่ด้วยรากของมัน นักศึกษาจะต้องรู้ว่ารากมันมีกี่ราก รากน้อยๆ รากฝอยมีกี่ราก ใบมันมีกี่ใบ เขาจึงจะรู้ว่า เขารู้ชัดรู้แจ้งว่าในต้นไม้นั้นมีกี่ราก พระพุทธองค์ท่านเห็นว่า อยากจะรู้อย่างนั้น ท่านว่าเป็นคนโง่ ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นที่จะรู้อย่างนั้น รู้ว่ารากไม้ก็พอแล้ว ใบมันก็พอแล้ว ว่ารากอันเดียวกัน ใบมันเต็มต้นจะไปนับมันได้ไหม ดูใบๆ หนึ่งก็แล้วกัน ก็เป็นใบก็พอแล้ว รู้แล้วว่าใบประดู่ต้นนี้มันมีใบเดียวเช่นนี้ รากประดู่ก็มีรากเดียวเท่านี้เป็นรากของมัน รากอื่นๆ นอกไปก็เหมือนรากนี้ ใบอื่นๆ นอกไปก็เหมือนใบนี้
คนเรานี้ก็เหมือนกัน ฉันนั้น รู้เราคนเดียวเท่านั้น ก็รู้คนหมดทั้งโลกทั้งจักรวาลนี้ ไม่ต้องไปดูใคร พระพุทธองค์ให้ดูตนเท่านี้แหละ มันก็เห็นตนอันเดียวเท่านี้แหละ ใครๆ ก็เป้นอย่างนี้ ก้อนนี้ก็เป็นอย่างนี้ สามัญลักษณะ ธรรมะท่านก็กล่าวว่า มันมีลักษณะเสมอกันอย่างนี้ สังขารทั้งปวงมันเป็นอย่างนี้
อันนี้วกมาพูดว่าเราทำสมาธิกัน เพื่อจะละกิเลส เพื่อจะเกิดความรู้ให้เกิดความเห็นเพื่อจะละขันธ์ ๕ มี ๒ อย่าง บางทีก็เรียกสมถะ นี่แบ่งกันเสีย ๒ ก็วิปัสสนา ก้เลยมาทำให้มันยุ่งมากที่สุดตามความรู้สึกอย่างนี้
อย่างผู้ที่นั่งสมาธิ ก็สรรเสริญในสมาธิ นั่งสมาธิ เพื่อให้จิตสงบ ก็เพื่อให้มันรู้อันนั้น บางคนก็เห็นว่าฉันไม่ต้องนั่งสมาธิหรอก ฉันว่าภาชนะใบนั้นมันต้องแตกตรงเบื้องหน้าเท่านี้ไม่ได้หรือ ไม่ต้องนั่งหลับตาหรอก ภาชนะมันต้องแตกข้างหน้ามันก็ต้องแตกข้างหน้า ฉันไม่ต้องนั่งขนาดนั้น ฉันรู้แล้วว่าภาชนะอันนี้ข้างหน้ามันต้องแตก ความแตกของภาชนะอันนี้เป็นเบื้องหน้า จะต้องเป็นอย่างนี้อันนี้ฉันจะไปไม่ได้เหรอ สมาธิฉันไม่เป็นละ แต่ฉันรู้ว่าภาชนะใบนี้มันเป็นอย่างนั้น เมื่อรู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นแล้ว ฉันก็รักษามันไว้ กลัวมันจะแตกเหมือนกัน รักษาไว้ กลัวมันจะไม่ได้ใช้ ถ้าถึงคราวมันแตกจริงๆ มันก็ไม่มีอะไร เพราะฉันเห็นว่า ภาชนะใบนี้มันแตกอยู่แล้ว เดี๋ยวมันมีความแตกเป็นเบื้องหน้าอยู่แล้ว มันก็ไม่มีอะไรขึ้นมา ทุกข์ฉันก้ไม่มีแล้ว เพราะฉันเห็นอย่างนี้
อันนั้นฉันปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือ ไม่ต้องนั่งสมาธิให้มันมากจนเกินไป ท่านนั่งสมาธิเพื่อเห็นอันนั้นเท่านั้นแหละ อันนี้ฉันก็ไปเห็นอันนั้นแล้วว่า อันนั้นมันเป็นอย่างนั้น ทุกข์ฉันก็ไม่เกิดขึ้นมา เพราะว่ามันเป็นอย่างนั้น คนที่นั่งสมาธิเห็นภาชนะเช่นนี้ว่า มันจะเป็นไปอย่างนั้นในเบื้องหน้า ภาชนะอันนนี้ก็เป็นอย่างนั้นก็ไม่เห็นทุกข์ คนก็ไม่มีทุกข์ เพราะคนนั่งสมาธิอบรมจิตใจ ให้เห็นแล้วอย่างนั้น ฉันไม่นั่งสมาธิ แต่ฉันมีความมั่นใจว่ามันเป็นอย่างนั้น ไอ้สิ่งทั้งหลายมันเป็นไปตามสภาวะของมัน ฉันว่าไม่มีอะไร เพราะเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นแล้ว
อันนี้มันเป็นปัญหาของนักปฏิบัติของเรา บางทีก็ทำสมาธิสารพัดอย่าง อย่างที่อาจารย์เขาทำกัน อย่างเราได้ยินมา วุ่นไปหมด ไอ้ความเป็นจริงเรื่องที่เห็นอันนั้นตามความเป็นจริงเท่านั้นแหละ เกิดไม่สงสัยอะไรทั้งนั้น
ฉะนั้น อาตมาจึงเห็นว่า เมื่อเรารู้จักอยู่อย่างนี้ ทำจิตของเราอยู่ใต้บังคับบัญชาของเราอย่างนี้ บังคับบัญชาอะไร บังคับบัญชาเรื่องที่ว่าอนิจจังมันไม่เที่ยง มันจะไปแง่ไหน มันก็รวมกันอยู่ตรงนี้ มันไม่ไปไหนมันอยู่ตรงนี้ ถ้าเห็นมันชัด เป็นเหตุให้เราปล่อยวาง
ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติแล้วหากว่ามันถึงที่ๆ มันสมควรให้ปล่อยมันไว้ตามธรรมชาติของมัน จะมีอะไรหรือไม่มีอะไร ไม่มีอะไรก็เฉยๆ อยู่ ถ้ามีอะไรก็พิจารณามัน ถ้าไม่มีก็วางไว้ตามธรรมดาธรรมชาติ มันอยู่ไปตามธรรมดาเรานี้แหละจะให้มันเกิดขึ้นมามันทุกข์มั๊ย อย่างนั้น มันยึดมั่นถือมั่นมั๊ย ไอ้เครื่องประคับประคองมันมีอยู่แล้ว ถ้าหากว่าไปถึงจุดอันเดียวกัน เห็นว่ามีความสงบเรียบร้อยทุกคน
เมื่อหากว่า เรามาทำภาวนา วิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนาธุระ สมถะธุระ มันก็มีเรื่องเท่านี้เอง ๒ อย่างก็เพื่อให้เห็นว่า อันนั้นมันเป็นอย่างนั้น เท่านั้น
แต่เรื่องภาวนาของพวกเราทั้งหลาย ซึ่งเป็นเรื่องพุทธบริษัททุกวันนี้ ถ้าหากพูดตามลักษณะมันฟั่นเฝือกันจนเกินไป อาตมาจึงเห็นว่า มาค้นคว้าเบื้องต้นดีกว่า ออกจากกำเนิดจิตของเรานี้ ดี ไม่มาก เกิด แก่ เจ็บ ตาย ย่อๆ ซึ่งเป็นของจริงอยู่แล้ว จะพูดไปที่ไหนมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ให้มันเห็นชัดเข้าไป ให้มันยอมรับ
ถ้ามันยอมรับแล้ว มันก็จะวางของมัน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นินทา สารพัดอย่างมันก็วางเพราะว่ามันยอมรับอยู่แล้ว ถ้าหากว่า เรามาถึงสัจธรรมที่มันเป็นความจริงอยู่อย่างนี้ เราจะเป็นคนที่อยู่ง่าย กินง่าย นอนง่าย พูดง่าย ทำง่าย อะไรง่ายๆ ไม่ได้เป็นของยากลำบาก ประพฤติเบาดีสบาย นี่คือที่คนภาวนา ที่มีความสงบแล้ว มันก็ต้องไปในทำนองอันนี้
ฉะนั้น การที่เราทำจิตทุกวันนี้ ที่พระพุทธองค์ของเราท่านทำอยู่ สาวกท่านทำอยู่ ที่ท่านสำเร็จไปแล้วก็ดี อย่างพระพุทธเจ้าของเรา หรือสาวกของท่านก็ดี แม้ท่านดำรงพระชนม์อยู่นั้น แต่ท่านก็ต้องทำของท่าน ประโยชน์เราก็หมดแล้ว ประโยชน์คนอื่นก็หมดแล้ว แต่ท่านก็ต้องทำประโยชน์ตนโดยปริยาย แล้วก็สร้างประโยชน์คนอื่นโดยปริยายไม่ได้ขาดเลย ถึงท่านทำเสร็จแล้ว ท่านก็ยังทำอยู่ ยังเป็นอยู่
อาตมาว่าคงให้ถือเอาอย่างนั้น ที่เราทำปฏิบัติกันอย่างนี้ เรียกว่ามันไม่พอ มันเป็นสันดานอย่างนั้นเสีย ท่านไม่เคยทอดทิ้งความเพียรของท่าน จะเพียรก็เพราะเพียรนั้นเอง ก็มันเป็นอย่างนั้น เป็นลักษณะอย่างนั้น คือนิสัยของปราชญ์ นิสัยของผู้ประพฤติ นิสัยของผู้ปฏิบัติ จะเปรียบประหนึ่งว่า คนเศรษฐีกับคนจน เศรษฐีก็ยิ่งขยัน ยิ่งขยันกว่าคนจน ไอ้คนจนยิ่งไม่ขยัน ไม่เป็นเศรษฐี เศรษฐีเคยรู้จักมาหลายๆ อย่าง ก็ยิ่งขยัน ก็ยิ่งรอบคอบกว่าคนจน มันเป็นซะอย่างนั้น
ฉะนั้น การที่พักผ่อนเรื่องปฏิบัติของเรานี้ มันก้พักผ่อนอยู่ในการปฏิบัติ ถ้าหากว่าเราถึงจุดแล้วก็รู้จุด แล้วก็เป็นจุดอันนั้น ตามความเป็นจริงแล้ว เราจะเดินไป ก็ไม่มีทางที่จะเสียหาย เราจะนั่งอยู่ ก็ไม่มีทางอะไรจะเสียหาย จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ไม่มีอะไรจะเสียหาย
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันก็เกิดขึ้น เต็มอยู่มันถึงจุดมันแล้ว ที่ว่าวันนี้ไม่ได้นั่งสมาธิ ใจเขาก็สบายอยู่ สมาธิไม่ใช่ว่ามันนั่งสมาธิอย่างเดียว ยืนเดิน ก็เป็นสมาธิของมันอยู่ได้ ถ้าผู้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในอิริยาบถทั้ง ๔ การยืน เดิน นั่ง นอนแล้ว มันเสมออยู่อย่างนั้น มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมา ในระยะนี้ฉันขาดสติไปแล้ว ฉันไม่ได้ทำความเพียร ไม่มีอย่างนั้น ความรู้สึกอย่างนั้นไม่มี ความคิดอย่างนั้น มันไม่มีในที่นั้น เรียกว่า มันสมบูรณ์ บริบูรณ์อยู่ มันเป็น อยู่อย่างนั้น ความที่เป็นอย่างนั้นไม่ได้สงสัยอะไร ควรจะหยุดอยู่ตรงนั้น พิจารณาอยู่ตรงนั้น
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)