foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

paothai kula

กุลา จากชนเผ่าพ่อค้าเร่ สู่ตำนานแห่งท้องทุ่ง

กุลา คือ ชนชาติต้องสู้และไทยใหญ่ ที่เดินทางค้าขายอยู่ในภาคอีสาน ในพงศาวดารภาคที่ 4 เรียก พวกกุลา ว่า นายกองตองสู หรือ ตองสู้ หรือ ต้องสู้

“กุลา, กุหล่า” ในภาษาลาวหมายถึง กลุ่มคนที่มาจากพม่าโดยเดินทางมาค้าขายเร่ไปตามบ้าน ซึ่งต่อมาการศึกษาของนักประวัติศาสตร์ และนักมานุษยวิทยาพบว่า กุหล่า หรือ กุลา คือ ชาวไทใหญ่ในรัฐฉานของประเทศเมียนมา (บ้างก็ว่ามาจากเมืองมะละแหม่ง มีนิสัยชอบเดินทางค้าขาย) ที่ได้เดินทางมาติดต่อค้าขายในท้องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นคำที่ชาวพม่าใช้เรียกชาวมุสลิมอินเดีย (Sulaiman, 1931:35-39) ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2390 กุลาเข้ามาตั้งรกรากในจังหวัดอุบลราชานี ในฐานะ "เขยสู่" เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจการเมือง คนท้องถิ่นนิยมเรียกพวกเขาว่า กุลา ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของจิตร ภูมิศักดิ์ “ในภาษาลาว กุหล่า เป็นคำเรียกชนพวกหนึ่งที่มาจากพะม่าเหนือ, สพายสัมภาระเร่ขายไปตามละแวกบ้าน, แต่ที่เข้าใจรวมๆ ว่าคือพะม่าก็มี” (จิตร ภูมิศักดิ์, 2557: 361) แต่ คนกุลากลับขนานนามตนเองว่า “ต่องสู่” Ronald D. Renard ได้ตั้งข้อสังเกต ว่า “ต่องสู่” จัดอยู่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงรู้จักกันดีในชื่อ กะเหรี่ยงดำ หรือ ปะโอ (Renard, 2003:8) [ เอกสารอ้างอิง "ประวัติศาสตร์กุลา" ]

paothai kula 08

ชาวกุลา คงจะเดินทางเร่ขายสินค้าในภาคอีสานนานแล้ว จนมีชื่อเรียก ทุ่งกุลาร้องไห้ (ซึ่งเป็นทุ่งที่กว้างใหญ่ มีพื้นที่ติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสุรินทร์) การเร่ขายสินค้าของชาวกุลาหรือต้องสู้นี้ จะเดินทางเป็นกองพ่อค้าวัวต่างจำนวนมาก บางคณะอาจจะมีถึง 100 คน

หลักฐานเอกสารที่บันทึกเรื่องราวของชาวกุลานี้ พบเก่าที่สุดในปี พ.ศ. 2381 (รัชกาลที่ 3) ข้อความบันทึกของราชการที่กักตัวพวกกุลา หรือต้องสู้ที่เดินทางค้าขายในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ตาก สวรรคโลก และกำแพงเพชร ส่วนภาคอีสานนั้น ปรากฏเอกสารเก่าที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่บันทึกเรื่องราวของชาวกุลาในภาคอีสาน นั่นคือบันทึกเรื่องราวขัดแย้งระหว่างต้องสู้ กับเจ้าเมืองร้อยเอ็ด สุวรรณภูมิและขอนแก่น กรณีโคประมาณ 600 ตัวที่ต้องสู้ซื้อในเมืองเหล่านี้

paothai kula 09

บันทึกมีว่า ต้องสู้ได้ซื้อโคในร้อยเอ็ด 66 ตัว ในสุวรรณภูมิ 178 ตัว และในขอนแก่น 333 ตัว แล้วเจ้าเมืองเหล่านี้ก็ยึดโคทั้งหมดไว้ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าเมืองเหล่านี้ ชดใช้ราคาโคแก่ชาวต้องสู้ ซึ่งขณะนั้นรออยู่ที่กรุงเทพฯ โดยให้ขายโคคืนแก่เจ้าของเดิม หรือขายให้ใครก็ได้เพื่อนำเงินมาชดใช้ให้ต้องสู้ แต่เจ้าเมืองเหล่านี้ก็ดำเนินการช้ามาก ทางกรุงเทพฯ จึงต้องจ่ายเงินค่าโคให้ต้องสู้ไปก่อน 2,763.5 บาท แล้วสั่งให้เจ้าเมืองใช้เงินคืนให้ทางกรุงเทพฯ โดยไม่ชักช้า

เจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ เองก็สงสัยอยู่ว่า พม่า-อังกฤษ (ขณะนั้นพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแล้ว) มีความในใจอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังการค้าของต้องสู้ และสั่งให้เจ้าเมืองในภาคอีสานมิให้ขายโคกระบือแก่ชาวต่างชาติ

paothai kula 12

ชาวกุลา ที่ตลาดเมืองโคราช ปี 2449 ภาพจาก Facebook @Wisuwat Buroot

เหตุการณ์ในภาคเหนือและภาคอีสานครั้งนั้น ก่อให้เกิดความยุ่งยากเกี่ยวกับการค้าในระยะแรกๆ มาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับสัตว์พาหนะได้ถดถอยลง จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ทางไทยห้ามค้าในที่สุด ส่วนพวกต้องสู้ที่เป็นพ่อค้าเร่ในภาคเหนือ บางทีก็ถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจับพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย เหตุการณ์ในร้อยเอ็ด สุวรรณภูมิ และขอนแก่น เกิดขึ้นก่อนที่ สนธิสัญญาบาวริง ซึ่งได้รับการให้สัตยาบันในวันที่ 5 เมษายนพ.ศ. 2399 จะมีผลบังคับใช้

ข้อแรกของสนธิสัญญานี้บังคับว่า "ต้องรับประกันว่า บุคคลในบังคับอังกฤษที่เดินทางมาประเทศสยาม จะต้องได้รับความคุ้มครอง และได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่จากรัฐบาลสยาม ในการอยู่อาศัยอย่างปลอดภัย และอำนวยความสะดวกทางการค้าอย่างดี

และผลประโยชน์ของบุคคลในบังคับอังกฤษทุกคน จะต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎระเบียบของกงสุลอังกฤษในกรุงเทพฯ ตลอดทั้งการพิพากษาคดีความ คนในบังคับอังกฤษมีสิทธิเดินทางได้ทั่วไป ภายใต้การคุ้มครองของหนังสือเดินทางของอังกฤษ และตราประทับร่วมของเจ้าหน้าที่ไทยที่กำหนดชื่อไว้โดยเฉพาะ"

ข้อตกลงในสัญญาเหล่านี้ รวมทั้งภาคผนวก ซึ่งลงลายมือในเดือนพฤษภาคม 2399 เป็นพื้นฐานในการกำหนดกฎเกณฑ์การค้าของกุลาหรือต้องสู้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากเมืองมะละแหม่ง และเป็นคนในบังคับอังกฤษ

paothai kula 01

หลังจากสนธิสัญญาฉบับนี้ กิจการค้าของกุลาหรือต้องสู้ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เนื่องจากท่าทีที่เจ้าหน้าที่สยาม อำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างด้าวจากพม่าในบังคับอังกฤษดีมาก

ในเวลาต่อมา เอกสารทางราชการไทยจำนวนมากที่ประกาศไปยังเจ้าเมือง หัวเมืองต่างๆ เกี่ยวกับแผนการเดินทางตามปรารถนาของบุคคลในบังคับอังกฤษ  ตามรายงานของกงสุลอังกฤษในสยาม

paothai kula 05

สถานที่ซึ่งกุลาหรือต้องสู้มีแผนการเดินทางเพื่อการค้าโดยทั่วไป คือ หัวเมืองในลาวฝ่ายเหนือ (มณฑลลาวพวน หรืออุดร) หรือ นครราชสีมา ตาก เชียงใหม่ แพร่ ลำปาง ลำพูน น่าน ซึ่งเดินทางไปบ่อย และบริเวณที่ไม่บ่อยนัก คือ นครสวรรค์ สวรรคโลก ลพบุรี หล่มสัก เป็นต้น กลุ่มที่เดินทางไปทางนครราชสีมา มักจะเดินทางต่อไปยังมะละแหม่งเป็นจุดหมายปลายทาง โดยเดินทางผ่านหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ

สินค้าที่ต้องสู้ต้องการซื้อโดยทั่วไปที่นครราชสีมา และลาวฝ่ายเหนือ คือ ช้าง งาช้าง เขาสัตว์ ไหม และโคกระบือ พวกเขาสนใจไม้ซุงด้วยเหมือนกัน ซึ่งเป็นผลิตผลในเชียงใหม่ แพร่ ลำปาง ลำพูน และน่าน สินค้าที่นำไปขายเป็นพิเศษก็คือ ปืนและผ้าไหม กุลาหรือต้องสู้ จะเดินทางเป็นหมู่ถึง 48 คน พ่อค้ากุลาหรือต้องสู้เหล่านี้มีปืนและดาบเป็นอาวุธ

paothai kula 13

ชาวกุลา ที่ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ปี 2448 ภาพจาก Facebook @Wisuwat Buroot

รัฐบาลไทยจะแนะนำเจ้าเมืองหัวเมืองต่างๆ ให้อำนวยความสะดวก และความปลอดภัยแก่ต้องสู้ในการค้าขาย ส่วนราคานั้นสุดแท้แต่จะตกลงกันเอง เจ้าหน้าที่เป็นเพียงผู้บันทึกรายละเอียดของโคกระบือที่ตกลงซื้อขายกันแล้วเท่านั้น แต่เมื่อการค้าขยายตัวก้าวหน้ามากขึ้น การปฏิบัติก็นับเป็นเรื่องยุ่งยาก ทำให้เกิดปัญหามากจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย

สรุปจากบทความของจุนโกะ โคอิซูมิ ทำไมกุลาร้องไห้ : รายงานขบวนการค้าของกุลาในอีสาน ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19
โดย บุญจิตต์ ชูทรงเดช เรียบเรียงคัดจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 1
มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ (จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542)

เมื่อถามผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านว่า กุลา คือ คนกลุ่มไหน?

ท่านตอบได้ทันทีว่า กุลา คือ พวกพ่อค้าเร่ที่มักจะเข้ามาค้าขายผ้าผ่อนแพรพรรณ และพักค้างคืนตามวัดในหมู่บ้านอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง (กุลาเที่ยวขายผ้านอนที่วัด)

paothai kula 10

การรับรู้ว่าคำว่า กุลา เปลี่ยนแปลงไปเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กุลา กลายเป็นชื่อที่เรียกพวกพ่อค้าชาวไทยใหญ่ที่มีสัญชาติพม่าในขณะนั้น (ในภาษาพม่า กุลา มาจากคำว่า กาลา (kala) ซึ่งแปลว่า คนต่างถิ่น) มีกลุ่มพ่อค้าเร่จำนวนมากจากประเทศพม่า เดินทางเข้ามาค้าขายตามหมู่บ้านต่างๆ ตลอดที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล สิ่งของต่างๆ ที่พวกเขานำมาขายมีทั้งเสื้อผ้า กลอง เครื่องเงิน และเครื่องประดับอื่นๆ เป็นต้น

paothai kula 14

คาราวานเกวียนขนสินค้าในอดีต บริเวณที่พักคนเดินทาง ก่อนถึงดงพญาเย็น ปากช่อง นครราชสีมา
ภาพจาก Facebook @Wisuwat Buroot

ในสายตาของคนลาวซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ คนกุลา เป็นผู้ชายตัวสูง ใส่ตุ้มหู และโพกผ้าขาวรอบศีรษะ พวกเขามิได้ใช้วัวเทียมเกวียนบรรทุกสิ่งของเข้ามาขาย แต่เดินเท้าเข้ามาพร้อมกับ หาบ (หาบ ในที่นี้คือ ตะกร้าขนาดใหญ่มากคู่หนึ่ง ใหญ่กว่าที่คนลาวใช้กันเสียอีก)

คนลาวมองว่า คนกุลา เป็นคนแปลกหน้าที่มีความเก่งกล้าสามารถ อีกทั้งยังมีความรู้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางพุทธศาสนา หรือเวทมนตร์คุณไสยต่างๆ พวกเขาเดินทางไปไหนต่อไหนได้ โดยไม่ต้องพะวงกับพรมแดนของประเทศ คนลาวเห็นว่าเพราะคนพวกนี้มีวิชาปกป้องตนเองจึงสามารถทำเช่นนั้นได้

paothai kula 02

ชาวกุลาบางคนแต่งงานกับผู้หญิงลาวในพื้นที่ เช่น ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี และที่หมู่บ้านใน อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร คนลาวเห็นว่า คนกุลา ปฏิบัติตัวดีเป็นที่ยอมรับนับถือของคนลาว จากที่ได้สัมภาษณ์ชาวบ้านในหมู่บ้าน พวกเขาเล่าว่า ชาวกุลา เป็นคนดีและร่ำรวย มีทั้งเงินมีทั้งทองทุกอย่าง (มีเงินมีทองมีหมด) อีกทั้งยังเป็นคนขยันขันแข็ง ไม่ทิ้งขว้างลูกเมียและครอบครัว

paothai kula 07คนกุลาบางคนได้ทำการเพาะปลูกในที่ดินของพ่อแม่ของฝ่ายภรรยา แต่บางคนก็มิได้ทำ เพียงแต่บ่นว่าดินที่นี่แข็งเกินไปไม่เหมาะจะปลูกอะไร ช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว คนกุลาเริ่มออกเดินทาง โดยจะนำข้าวส่วนที่เหลือจากที่แบ่งไว้กินแล้ว น้ำตาลอ้อย และสิ่งละอันพันละน้อยอื่นๆ ใส่หาบออกไปตระเวนขายยังท้องถิ่นอื่น

เนื่องด้วย ชาวกุลามีศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นอันมาก พวกเขาได้บริจาคเงินและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เพื่อบูรณะซ่อมแซมวัดภายในหมู่บ้าน อีกทั้งยังมอบคัมภีร์ที่มีอักษรจารึกทั้งภาษาไทยใหญ่ และภาษาพม่าให้แก่วัดอีกด้วย

นอกจากนี้ ชาวกุลายังมีสุขนิสัยการกินที่ผิดแผกไปจากคนลาว คือ กินผักที่ต้มแล้ว กินเนื้อหมูที่ปรุงสุกแล้วใส่น้ำมันงา สูบบุหรี่มวนใบตอง เป็นต้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวขาวกุลา คือ ข้าวอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ไม่ใช่ข้าวเหนียว (U 007) ข้าวชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในหมู่คนลาว และตามหมู่บ้านลาวที่รู้จักกับคนกุลา

จากคำสัมภาษณ์คนลาวที่เป็นชาวบ้านจากหมู่บ้าน ในอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี บุคคลที่ให้สัมภาษณ์นี้ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2456 จากความทรงจำของเด็กชายวัย 12 ปี เขาเล่าว่า "มีชาวกุลา 12 คนได้เดินทางเข้ามายังหมู่บ้าน และอาศัยอยู่ที่นี่ ในจำนวนนั้นเป็นพระ 4 รูป และที่เหลือเป็นชาวบ้านธรรมดา ภายหลังพระรูป หนึ่งได้ลาสึก และแต่งงานกับผู้หญิงลาว ส่วนพระอีก 3 รูปนั้นก็ยังคงอยู่ที่วัดในหมู่บ้านจนมรณภาพไปหมด สำหรับชาวกุลาที่เข้ามาขายของนั้น พวกเขาจะขายพวกผ้าฝ้าย ผ้าไหม ที่นำมาจากหมู่บ้านทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

เมื่อคนกุลาเข้ามาที่หมู่บ้านนี้เป็นครั้งแรกนั้น พวกเขามาพร้อมกับชาวบ้านอื่นๆ จากเมืองเชียงใหม่และลำปาง ที่ช่วยหาบของเข้ามาขาย คนเหล่านี้เรียกตัวเองว่าเป็น ลูกน้อง พวกเขาจะได้รับค่าจ้าง 12 บาทต่อปี หลังจากนั้นมาอีกหลายปี เมื่อคนกุลาสร้างวัด (วัดทุ่งกุลา) ขึ้นในหมู่บ้าน พ่อแม่ของเขาก็เริ่มปลูกข้าวขาวกุลา (ประมาณปี พ.ศ. 2471) ปรากฏว่าครอบครัวเขาและหมู่บ้านลาวอื่นๆ ก็นิยมกินข้าวขาวกุลาเป็นมื้อเย็น ขณะที่ยังคงกินข้าวเหนียวเป็นอาหารมื้อเช้าและกลางวัน

ผลผลิตที่ได้จากการปลูกข้าวของครอบครัวเขานั้นมีสัดส่วนดังนี้ คือ 20% เป็นข้าวขาวกุลา 60% เป็นข้าวอีตม 10% เป็นข้าวโด (2 ชนิดหลังนี้เป็นสายพันธุ์ข้าวเหนียว) และ 10% สุดท้ายเป็นข้าวพูนทอง"

paothai kula 04

เขายังเล่าต่อไปอีกว่า "สมัยก่อนโน้น ชาวลาวจะประกอบอาชีพ 2 อย่าง คือ ปลูกข้าว กับ ค้าขาย ดูเหมือนว่าอันหลังนี้เป็นงานที่ยากสำหรับคนลาวทีเดียว? เราขายทั้งปลา, หมู, เนื้อ, ไก่, เป็ด ไปทั่วหมู่บ้าน วันนึงได้เงินมาแค่ 4-5 สตางค์เท่านั้น สมัยโน้นถ้าจะซื้อวัวตัวหนึ่งต้องใช้เงินมากถึง 1 บาท 50 สตางค์ คนลาวบางคนพยายามเป็นช่างทำเงิน ช่างทำทอง นอกเหนือไปจากการปลูกข้าว แต่ก็ได้เงินจากการนี้น้อยเต็มที

เงินเป็นสิ่งที่เราต้องการมาก ตอนที่ผมอายุ 20 ปี (ราวปี พ.ศ. 2476) นั้น ผมก็เริ่มออกค้าขาย โดยนำต่างหูและสร้อยคอ (ชิ้นละ 10 สตางค์) ไปขายตามหมู่บ้านต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงหลังเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว (ตั้งแต่เดือนธันวาคม-เมษายน) โดยจะออกไปกับเพื่อนผู้ชาย 3-5 คนเป็นประจำอย่างนี้ทุกปี เราจะได้กลับมาในราว 12-30 บาทต่อปีต่อคน

กุลาในหมู่บ้านของเราก็ออกไปค้าขายด้วยเช่นกันในเวลาเดียวกันนี้ แต่วิธีการขายของพวกกุลาไม่เหมือนกับของคนลาว เราจะเตรียมของออกไปขาย เมื่อของหมดแล้วเราก็กลับมาที่หมู่บ้าน แต่พวกกุลาจะไม่ทำแบบนี้ พวกเขาจะซื้อของในที่ที่เขาไปถึงแล้วก็ขายต่อไป เป็นการต่อทุนเพื่อเดินทางไปเรื่อยๆ ทำให้พวกกุลาเดินทางไปได้ไกลกว่าพวกเราคนลาว แต่ดูเหมือนว่าในท้ายที่สุดแล้ว กำไรที่ได้จากการค้าขายของพวกกุลาก็ไม่ได้มากไปกว่าของพวกเราชาวลาวเลย

เป็นที่รู้กันทั่วไปในสมัยนั้นว่า อาชีพการตีเหล็ก, ช่างทำเงิน, และช่างทำทอง นั้นเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดีให้แก่ผู้ทำ พวกคนลาวมีเทคนิคการทำจากพ่อค้าชาวจีนในเมืองอุบลราชธานี หรือไม่ก็จากพวกคนลาวกันเองที่ไปทำงานนี้ในแขวงสะวัณณเขต สำหรับในหมู่บ้านของเราเองแล้วนั้น เกือบครึ่งหนึ่ง (ราว 100 ครัวเรือน) ก็ได้ไปเรียนวิชาเหล่านี้กับเขาด้วยเหมือนกัน ในช่วงราวปี พ.ศ. 2473 ประมาณนั้น

ผู้เฒ่าในหมู่บ้านบอกเราว่า เรียนกันแค่ 3 เดือนให้รู้พื้นฐานก็เพียงพอแล้ว จากนั้นก็เริ่มฝึกหัดทำกันไป ใช้เวลาอีกในราว 3-4 ปีถึงจะเรียกว่าทำเป็นอาชีพได้อย่างแน่นอน สำหรับการทำทองนั้น เนื่องจากไม่มีวัตถุดิบในจังหวัดอุบลราชธานีเลย ทำให้ต้องสั่งทองเข้ามาทำจากเมืองบางกอก *

paothai kula 11

ครอบครัวของท้าวสุวรรณ เจ้าเมืองธวัชบุรี (ซึ่งเป็นชาวกุลา) ภาพจาก Facebook @Wisuwat Buroot

(หมายเหตุ * ช่วงราวต้นปี พ.ศ. 2460 เกิดอหิวาตกโรคะบาดขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านเชื่อกันว่าโรคะบาดร้ายแรงนี้แพร่มาจากเมืองบางกอก เรามองเห็นทัศนคติที่ต่อต้านเมืองหลวงของคนในชุมชนในสมัยนั้นจากเหตุการณ์อันนี้ ขณะเดียวกัน เงิน ก็เปรียบเสมือนกับผีร้ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ คำว่า ผี นั้นชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่สามารถนำพาความอุดมสมบูรณ์หรือนำความหายนะมาสู่ชีวิตของพวกเขาได้ - Hayashi)

paothai kula 03

ในหมู่บ้านของชาวผู้ไทแห่งหนึ่งในอำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม พวกเขามีกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น นายฮ้อย อยู่ร่วมด้วย คนเหล่านี้จะเดินทางไปค้าขายทั่วสารทิศ ทิศตะวันตกสุดที่เขาเดินทางไปถึงไกลถึงเมืองมะละแหม่งในประเทศพม่า ส่วนทางทิศตะวันออกนั้นไปถึงเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว

ชาวผู้ไทในหมู่บ้านที่นี่ไม่เคยได้พบกับ นายฮ้อยลาว ที่เข้ามายังหมู่บ้านของพวกเขาเลย ตามความรับรู้ของกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนลาวและคนไท คำว่า นายฮ้อย นี้จะใช้เรียกคนลาวและชาวผู้ไท แต่ก็มี นายฮ้อย อีกพวกหนึ่งจากส่วยและเขมร เพียงแค่ไม่กี่คนที่เข้ามาค้าขายในเขตเมืองโคราช โดยความเป็นจริงแล้ว พวกเขาเหล่านี้ก็ได้เดินทางค้าขายอยู่ในภูมิภาคนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

(ขวัญฤทัย ชิ้นมาลัย, แปลและเรียบเรียง จากบทความเรื่อง How Thai-Lao Dominance Was Constructed in Northeast Thailand :
From their Neighbors Point of View ของ Hayashi Yukio (The Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University)
พิมพ์อยู่ในหนังสือ The Dry Areas in Southeast Asia : Harsh or Benign Environment?
Papers presented at Kyoto-Thammasat Core University Seminar. Kyoto,
21-23 October 1996. Edited By Fukui Hayao
(The Center for Southeast Asian Studies (CSEAS), Kyoto University. March 1999).

เส้นทาง "คนกุลา" บนท้องทุ่งแห่งอารยธรรมอีสาน I ประวัติศาสตร์นอกตำรา

"ตกกลางท่งแล้วล้าเดินฝ่าเทิงหิว
อยู่กลางทุ่งแล้วเหนื่อยล้าเดินฝ่าแดดทั้งความหิว

เห็นแต่ท่งเป็นทิวมือกุมควันกุ้ม
มองเห็นแต่ท้องทุ่งเป็นทิวกว้างใช้มือป้องหัวกันฝุ่นคละคลุ้ง

เหลียวไปไสฟ้าหุ้มงุมลงคือสักสุ่ม
เหลียวไปทางไหนก็มีฟ้าโค้งลงขังเหมือนสุ่ม(สักปลา)

มื้อกลางเวนจุ้มกุ้มดงไม้กะบ่มี
ตอนกลางวันบนเนินดินกว้างไม่มีแม้เงาต้นไม้สักต้น

คักละหนอบาดนี่หลงท่งคนเดียว
แน่แล้วทีนี่หลงอยู่กลางทุ่งเพียงลำพัง

ถิ่มฮอดถงกะเทียวย่ามของสินค้า
ทิ้งทั้งถุง(ผ้าขาวม้าห่อของ)และย่ามใส่สินค้า

เหลียวทางหลังทางหน้ากุลายั้งบ่อยู่
มองไปข้างหลังมาข้างหน้ามีแต่ทุ่งกุลาอยุดไม่ได้

ลมออกหูจ้าวจ้าวไคลค่าวหย่าวไหล
เหนื่อยจนลมออกหูอื้ออึงเหงื่อหาฬไหลหยด

จนปัญญาแล้วให้เทิงจ่มระงมหา..."
อับจนปัญญาจนร้องไห้บ่นรำพันถึงชีวิต

"ทุ่งกุลาร้องไห้" สัญลักษณ์ของความแห้งแล้งดินแดนอีสาน เรื่องเล่า ตำนาน ขี้ดินแตกเขิบ ต้นไม้บ่มี แห้งแล้งสุดลูกหูลูกตาจนคนกุลาตายกลางทุ่ง! สิ่งเหล่านี้คือภาพจำที่ติดหูติดตาไม่ใช่แค่คนอีสานด้วยกัน แต่คนทั้งประเทศก็จดจำมันแบบนี้ แต่นี่มันปี 2016 มันยังเป็นคือเก่าบ่ละ ยังแห้งยังแล้งคือเก่าบ่ละ มาสิจูงแขนพี่น้องไปเบิ่งว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

อยู่ดีมีแฮง : ทุ่งกุลาลั้ลลา จาก ThaiPBS

 

redline

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)