foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

art local people

Chalerm nakeerak 01นายเฉลิม นาคีรักษ์

ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2531

ชาติภูมิ

นายเฉลิม นาคีรักษ์ เกิดวันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2460 ที่ บ้านขุหลุ ตำบลขุหลุ อาเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของ นายแดง นาคีรักษ์ และ นางค่า นาคีรักษ์ บิดามีอาชีพรับราชการ ส่วนมารดามีอาชีพทำนา มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา จำนวน 8 คน โดย นายเฉลิม นาคีรักษ์ เป็นคนสุดท้อง

การศึกษา

นายเฉลิม นาคีรักษ์ ได้เข้าเรียนระดับประถมศึกษา จนจบชั้นประถม 3 ตามเกณฑ์ (ขณะนั้นได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาแล้ว) ที่ โรงเรียนประชาบาลตำบลขุหลุ อาเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ.2472 จากนั้นได้เข้าเรียนระดับมัธยมที่ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี และสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภายในเวลาเพียง 5 ปี (เพราะสอบเลื่อนชั้นกลางปีได้ตอนเรียนอยู่ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 2) เมื่อ พ.ศ. 2476 และได้เข้าศึกษาต่อในระดับต่างๆ ดังนี้

  • พ.ศ. 2481 ได้รับประกาศนียบัตร ม. 8 วิสามัญการช่าง โรงเรียนเพาะช่าง
  • พ.ศ. 2482 ได้รับประกาศนียบัตร ครูประถมการช่าง โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร
  • พ.ศ. 2490 ได้รับประกาศนียบัตร ครูมัธยมการช่าง โรงเรียนเพาะช่าง
  • พ.ศ. 2501 Certificate in Crafts and Design จาก ประเทศญี่ปุ่น
  • พ.ศ. 2533 ได้รับ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาทัศนศิลป์ จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

Chalerm nakeerak 02

ชีวิตครอบครัว

นายเฉลิม นาคีรักษ์ ได้สมรสกับ นางสาวบรรจง ทวีพงษ์ เมื่อเดือน มีนาคม ปี พ.ศ. 2487 มีบุตรและบุตรีด้วยกัน 3 คน คือ นางสาวชมพูนุท นาคีรักษ์ นายธานี นาคีรักษ์ และนายนิมิต นาคีรักษ์

การรับราชการและการสร้างงานศิลปะ

นายเฉลิม นาคีรักษ์ เป็นอาจารย์สอนวิชาศิลปะ ที่ วิทยาลัยเพาะช่าง เป็นเวลา 37 ปี มีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ ได้รับราชการโดยตลอดมา จนได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง และได้เป็น คณบดีคณะศิลปกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเพาะช่าง เป็นคนแรก เมื่อเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2520 ได้รับแต่งตั้งเป็น ศาสตราจารย์พิเศษ ในสถาบันดังกล่าว

นายเฉลิม นาคีรักษ์ เป็นครูผู้สอนวิชาศิลปะ เป็นศิลปินอาวุโสคนสำคัญด้านจิตรกรรม ศิลปะสมัยใหม่ และแบบประเพณีประยุกต์ โดยยึดของเก่าเป็นหลัก จนเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เป็นต้นธารจิตรกรรมสีน้ำและสีน้ำมัน ในยุคแรกๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะจิตรกรรมสีน้ำ ภาพทิวทัศน์ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีสีม่วงอยู่ในบรรยากาศของภาพจิตรกรรมเสมอ

Chalerm nakeerak 03

ได้รับการยอมรับนับถือในวงการศิลปะ และศิลปศึกษาโดยทั่วไป มีผลงานดีเด่นทั้งในแบบศิลปะสมัยใหม่ และศิลปะแบบประเพณีประยุกต์ ผลงานส่วนใหญ่เกี่ยวกับชีวิตและประเพณีไทย มีความยึดมั่นและศรัทธาในศิลปะ ได้สร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนานเกือบ 50 ปี มีผลงานแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ เคยได้รับรางวัลในการประกวดศิลปกรรมหลายครั้งและหลายแห่ง

งานศิลปะของ นายเฉลิม นาคีรักษ์ โดยหลักนั้นคือ งานจิตรกรรม ซึ่งมีทั้งแนวสากลสมัยใหม่ และแนวประเพณีประยุกต์ ส่วนเทคนิคที่ใช้มีทั้งสีน้ำมัน สีน้ำ สีฝุ่น และสีพลาสติก ส่วนเนื้อหาและเรื่องราวที่เขียนนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่ภาพหุ่นนิ่ง ภาพทิวทัศน์ ภาพบุคคล และภาพเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมไทย ซึ่งผลงานเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานที่ดีเด่นเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ผลงานสำคัญที่ได้สร้างสรรค์ไว้ได้แก่ พระบรมสาทิศลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระมหากษัตริย์ และเจ้านายในราชวงศ์จักรีอีกหลายพระองค์ ซึ่งประดิษฐานไว้ในสถานที่สำคัญต่างๆ หลายแห่ง เช่น ชุดพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ และที่กองบัญชาการทหารสูงสุด 

Chalerm nakeerak 06

ผลงานที่เป็นสีน้ำมันและสีน้ำที่ประชาชนทั่วไปได้พบเห็น (แต่อาจจะไม่รู้จักว่าใครเขียน) อีกมากมาย เช่น ภาพชุดประเพณี แรกนาขวัญ สงกรานต์ ลอยกระทง บุญบั้งไฟ แห่เทียน ฯลฯ ภาพชุดวิถีชีวิตสามัญชน เช่น การทำนา เกี่ยวข้าว ตำข้าว ทำกับข้าว กินข้าว ตักบาตร ทำบุญ ขบวนเกวียน ฯลฯ ภาพชุดการละเล่น เช่น แม่งู ตีวงล้อ ขี่ม้าก้านกล้วย รำเหย่ย รำกลองยาว ฯลฯ ภาพจินตนาการ เช่น ไทรโยค นางตานี หญิงสาว ภาพจากวรรณกรรม เช่น พระลอ ขุนแผน-นางพิม หนุมาน-สุพรรณมัจฉา ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังเป็นผู้วาดภาพประกอบ และภาพหน้าปกหนังสือแบบเรียน เช่น หนังสือชุดนิทานร้อยบรรทัด ชุดนิทานนกกางเขน วารสารทางวิชาการอีกจำนวนมาก เช่น วารสารวิทยาศาสตร์ ดรุณสาร ชัยพฤกษ์ มิตรครู สารประชาชน และวิทยาจารย์ หนังสือชุดพุทธประวัติ ชุดเวสสันดรชาดก ขวัญใจ...ฉันรักเธอ หนังสือวรรณคดี เช่น พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน รามเกียรติ์ และอิเหนา และยังเขียนตำราศิลปะคือ "แบบเรียนวิชาศิลปศึกษาระดับประถม และมัธยม"

Chalerm nakeerak 05

ภาพซ้าย "ไม่มีชื่อ" สีน้ำมันบนผ้าใบ 2499 ภาพขวา "สะพานโกลเดนเกต" สีน้ำมันจากสถานที่จริง 2523

ในฐานะศิลปินได้ร่วมในการแสดงผลงานมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น แสดงภาพศิลปินเดี่ยว ที่ ลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา (2523) แสดงภาพกลุ่ม 4 ศิลปิน ที่ ลอสแองเจลิสและเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา (2525) แสดงภาพกลุ่มศิลปินอาวุโสไทยในญี่ปุ่น (2541) และการแสดงในประเทศอีกมากมายหลายครั้ง

นายเฉลิม นาคีรักษ์ ได้ให้หลักในการดำเนินชีวิต เพื่อบรรลุความสำเร็จของผู้หวังความก้าวหน้าไว้ 8 ประการ ซึ่งมีตัวย่อ 8 ตัวด้วยกัน คือ K A P I D E N G (กาปีเดง) จำยากเลยเรียกกันเพี้ยนๆ ไปว่า กาปิแดง เป็น กะปิแดง ของ อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ จำได้ว่า ท่านนำมาสอนในตอนเรียนวิชาครู ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษา ส่วนการพัฒนาการชีวิตและการอาชีพ เมื่อปีการศึกษา 2506 ท่านได้บอกให้ทราบว่า กะปิแดง คืออะไร ดังนี้

  • K คือ Knowledge (ความรู้)
  • A คือ Appreciation (ความเข้าใจ พึงพอใจ ซาบซึ้ง)
  • P คือ Practice (การปฏิบัติ)
  • I คือ Intelligence (การมีเชาวน์ไหวพริบ ฉลาด)
  • D คือ Declare (การเปิดเผย การประกาศ)
  • E คือ Expert (ความชำนาญ เชี่ยวชาญ)
  • N คือ New (การแปลกใหม่)
  • G คือ Goal (การบรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้)

นอกจากท่านมีหลักในการดำเนินชีวิตแล้ว นายเฉลิม นาคีรักษ์ ยังมีอุดมการณ์ในการทางาน คือ “ชีวิตมุ่งมั่น สร้างสรรค์ งานศิลป์”

Chalerm nakeerak 04

เกียรติประวัติ

  • พ.ศ. 2520 ได้รับแต่งตั้งเป็น ศาสตราจารย์พิเศษ คณะศิลปกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา (ราชมงคล)
  • พ.ศ. 2531 ได้รับการคัดเลือกเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปีพุทธศักราช 2531
  • พ.ศ. 2533 ได้รับพระราชทานปริญญา ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาทัศนศิลป์ จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

redline

backled1

ศิลปินลูกทุ่ง หมอลำอีสาน

thongpan 01หมอลำทองแปน พันบุปผา

เจ้าแม่ลำกลอนประยุกต์

นางทองแปน พันบุปผา หรือชื่อในการแสดงว่า “หมอลำทองแปน พันบุปผา” เกิดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พุทธศักราช 2495 ที่บ้านโพธิ์สง่า ตำบลเมืองเดช (ในสมัยนั้น) อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของ นายสังข์ พันบุปผา ซึ่งเป็นหมอลำกลอน สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านท่าโพธิ์ศรี ตำบลเมืองเดช (ในสมัยนั้น) อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

นางทองแปน พันบุปผา เริ่มต้นชีวิตการเป็นหมอลำ หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่ได้ศึกษาต่อ เนื่องจากฐานะทางบ้านยากจน พ่อแม่จึงสนับสนุนให้เรียนหมอลํากลอน (หมอลําคู่) ซึ่งพ่อมีอาชีพเป็นหมอลํากลอนอยู่แล้ว จึงสอนลํากลอนให้แก่ลูกสาวของตน ประกอบกับช่วงเวลานั้นถือว่า หมอลํากลอน เป็นที่นิยมมากในจังหวัดอุบลราชธานี พ่อและแม่เห็นว่า ลูกสาวคนนี้เป็นคนที่มีความจําดีกว่าลูกทุกคน มีความกล้าแสดงออกและมีปฏิภาณไหวพริบดีมาก จึงตั้งใจสอนหมอลํากลอนให้ลูกสาว เพื่อสืบทอดมรดกทางปัญญาให้กับลูกสาวคนนี้ อาชีพหมอลํากลอนสามารถสร้างรายได้ และยึดถือเป็นอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ พ่อซึ่งมองเห็นความสามารถของลูกสาว จึงตั้งใจสอนหมอลํากลอนให้

thongpan 04

ด้วยความเฉลียวฉลาด มีความจำเป็นเลิศ มีความขยัน อดทน พร้อมกับมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียนรู้ ภายในเวลา 3 ปี จึงทำให้ นางทองแปน แตกฉานในเรื่องกลอนลำ จึงสามารถออกรับงานแสดงได้ โดยขึ้นเวทีแสดงครั้งแรกเมื่ออายุได้เพียง 18 ปี ได้รับค่าจ้างในการแสดงครั้งแรกเป็นเงิน 150 บาท (ในสมัยนี้ก็หลักหมื่น) จนเป็นที่กล่าวขานอย่างกว้างขวางทั่วไปในวงการหมอลำกลอนทั่วภาคอีสาน และมีชื่อเสียงข้ามแม่น้ำโขงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ชื่อในการแสดงสมัยนั้นว่า “หมอลำปรานี พันบุปผา” ซึ่งมีบิดาเป็นครูสอน และคอยเป็นพี่เลี้ยงแนะนำอย่างใกล้ชิด ต่อมาในปี พุทธศักราช 2531 ได้เปลี่ยนชื่อในการแสดงมาเป็น “หมอลำทองแปน พันบุปผา” จึงทำให้เป็นที่รู้จักและยอมรับจากแฟนหมอลำตลอดมา

thongpan 02

นางทองแปน พันบุปผา เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการประพันธ์กลอนลำ และการแสดงหมอลำกลอน ถือเป็นผู้คิดค้นหมอลำกลอนประยุกต์คนแรกแห่งวงการหมอลำกลอนก็ว่าได้ เพื่อพัฒนาสร้างสรรค์การลำให้ทันสมัยในยุคปัจจุบันที่มีความเป็นพลวัต โดยได้ผลิตผลงานด้านการลำออกเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ สู่สายตาประชาชนมากมาย อาทิ ชุดหมอลำชิงชู้ ลำประยุกต์ชุดรักข้ามรุ่น ลำล่องชุดลูกทรพี ลำเพลินชุดมโนราห์เล่นน้ำ ลำพื้นตำนานรักชุดผาแดงนางไอ่ และมีผลงานการลำร่วมกับ หมอลำ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงหมอลำ ปีพุทธศักราช 2548 อาทิ ลำล่องชุด หมู่บ้านศีลห้า ลำล่องชุด พ่อกับแม่คือตู้เอทีเอ็ม

thongpan 05

นอกจากนี้ ยังได้ผสานเอาวัฒนธรรมอีสานเข้าไปในกลอนลำและการลำ ใช้การลำเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ความรู้ด้านต่างๆ อาทิ คุณธรรม จริยธรรม พระพุทธศาสนา เศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่เยาวชนคนรุ่นหลังได้ซึมซาบ เอาคติเหล่านี้ไปใช้ในวิถีชีวิต เมื่อว่างเว้นจากการรับงานแสดง หมอลำทองแปน ก็ไม่ได้นิ่งเฉย คอยอุทิศตน เพื่อสืบต่อลมหายใจแห่งศิลปะการแสดงหมอลำกลอนอันทรงคุณค่านี้ โดยได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจสั่งสอนศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า หมายมั่นปั้นใจอนุรักษ์ ส่งเสริม พัฒนา มรดกนี้ไว้ตราบนานเท่านาน

thongpan 03

หมอลําทองแปน พันบุปผา มีผลงานมากมายที่เผยแพร่ทางวิทยุ โทรทัศน์และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ รวมทั้งสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุค ยูทูป เป็นต้น และยังรับงานแสดงต่างๆ ตามที่มีผู้ว่าจ้างทั้งภาคอีสาน ภายในประเทศ และต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชาและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น และร่วมแสดงงานการกุศลต่างๆ อีกมากมาย

ด้วยความสามารถด้านการประพันธ์กลอนลำ และการแสดงหมอลำกลอนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างโดดเด่น ตลอดจนการอุทิศตนเพื่องานสังคมมาโดยตลอด หมอลําทองแปน พันบุปผา เจ้าแม่ลํากลอนประยุกต์ มีผลงานมากมายกว่า 100 บทกลอน ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียง อาทิ

ลําเพลิน

  • ลําเพลินองคุลีมาล
  • ลําเพลินขุนช้างขุนแผน
  • ลําเพลินขุนช้างขุนแผน ชุดที่ ๑ -๔
  • ฯลฯ

ลำกลอนประยุกต์ ชุด ศึกดวลคำหมาก ยกที่1
ลำโดย ทองแปน พันบุปผา ทองพูล หนวดเหล็ก

ลํากลอน

  • ลํากลอนเจ้าแม่กลอนมันส์
  • ลํากลอนตายายเลี้ยงหลาน
  • ลํากลอนแจกข้าวหาผี
  • ลํากลอนเขยขี้เหล้าแม่เฒ่าขี้จม
  • ฯลฯ

ลําล่องลํายาว

  • ลําล่องพ่อแม่คือธนาคารของ
  • ลูกลําล่องข้าวเม็ดใหญ่
  • ลําล่องพระพุทธประวัติ
  • ลําล่องย่ากินปลิง
  • ฯลฯ

ลําประยุกต์

  • ลําประยุกต์คู่ฮิตคู่ฮอต จี๊ดจิ๊จ๊ะ
  • ลําประยุกต์บ่าวเกี้ยวสาว
  • ลําประยุกต์พระสุธน-มโนราห์ ภาคที่ ๑-๒
  • ลําประยุกต์รักข้ามรุ่น ลุ้นเมียแก่
  • ฯลฯ

ลำเต้ยคู่มันส์ หมากกระจาย

ลําเต้ย

  • ลําเต้ยชีวิตของแม่ทองแปน
  • ลําเต้ยซุปเปอร์ทองแปน
  • ลําเต้ยหมากกระจาย

ลําเรื่องต่อกลอน

  • ชุดกําพร้าผีน้อย

ลําพื้นโบราณ

  • ลําพื้นตํานานรักผาแดง–นางไอ่

ศิลปินมรดกอีสาน - หมอลำทองแปน พันบุปผา

รางวัลและเกียรติคุณ

  • ปี พ.ศ. 2549 ได้รับรางวัล ชนะเลิศในการเข้าประกวดหมอลํากลอน ที่ ถานีวิทยุเมืองเดช คลื่น 197 MHz อําเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี จัดโดย ส.ส.ตุ่น จินตเวช
  • ปี พ.ศ. 2549 ได้รับรางวัล ขวัญใจประชาชน ในงานประกวดหมอลํากลอน ที่ทุ่งศรีเมืองอุบล อําเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
  • ปี พ.ศ. 2550 เป็นผู้คิดค้น หมอลํากลอนประยุกต์ เป็นคนแรกแห่งวงการหมอลํากลอนเพื่อพัฒนาลํากลอนให้ทันสมัยในยุคปัจจุบัน จึงนับได้ว่าเป็นเจ้าแม่หมอลําประยุกต์คนแรกของไทย
  • ปี พ.ศ. 2561 ได้รับรางวัล นาคราช สาขาศิลปินพื้นบ้านอีสาน (หมอลํากลอน) จาก สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
  • ปี พ.ศ. 2561 ได้รับรางวัล ศิลปินมรดกอีสาน (สาขาหมอลํากลอน) จาก ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

หมอลำทองแปน พันบุปผา - รายการไมค์ทองคำ หมอลำฝังเพชร2

หมอลำทองแปน พันบุปผา ที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 131 หมู่ 3 บ้านโพธิ์สง่า ตำบลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี หมายเลขโทรศัพท์ 081-0717073

ติดต่อ-ติดตามผลงานทาง Facebook : หมอลำทองแปน พันบุปผา

redline

backled1

art local people

Mek srikampol 01นายเมฆ ศรีกำพล

นายเมฆ ศรีกำพล เกิดวันที่ 7 มิถุนายน พุทธศักราช 2485 ที่บ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ สำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษา เมื่อปีพุทธศักราช 2516 จากโรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ และได้ร่ำเรียนศาสตร์ดนตรีพื้นบ้าน (ปี่ผู้ไทและแคน) กับครูพิมพ์ (ครูภูมิปัญญาในท้องถิ่น) จนชำนาญ จากนั้นได้ประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีพื้นบ้านร่วมกับคณะหมอลำในชุมชน

ต่อมาได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งวงดนตรีชื่อ "หนุ่มมะพร้าวห้าว สาวดอกคูณ" ซึ่งเป็นวงดนตรีพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดยได้ใช้ศิลปะการเป่าปี่ภูไทและเป่าแคน ประกอบการร้องลำผู้ไทในงานแสดงต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ วงดนตรีวงนี้ถือเป็นวงโปงลางในยุคแรกๆ ของภาคอีสาน มีความสามารถจนได้รับการยอมรับ และเชิดชูเกียรติจากหลายหน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชน อีกทั้งได้มีโอกาสเป่าเพลง "ปี่ผู้ไท" เพื่อใช้ประกอบละครเรื่อง "ปอบผีฟ้า" จึงทำให้มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในวงวิชาชีพเพิ่มขึ้น

เดี่ยว ปี่ภูไท - คุณตาเมฆ ศรีกำพล

นายเมฆ ศรีกำพล เป็นนักดนตรีพื้นบ้านที่มีความสามารถสูง โดยเฉพาะ การเป่าปี่ผู้ไท เสียงปี่จะดังกังวาน มีความไพเราะ และสะกดผู้ฟังให้เกิดความประทับใจและจำไม่ลืม นอกจากนั้น นายเมฆ ศรีกำพล ยังได้เป่าปี่ผู้ไทประกอบการแสดงในวงดนตรีพื้นบ้านในโอกาสต่างๆ รวมทั้งได้รับเชิญให้เป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อถ่ายทอดศิลปะการเป่าปี่ผู้ไท และสอนการทำปี่ผู้ไทให้แก่นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ด้วยความสามารถในการแสดงและถ่ายทอดการเป่าปี่ผู้ไท จึงทำให้ได้รับรางวัลที่แสดงถึงศักยภาพและความสามารถในอาชีพหลายรางวัล จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

เมฆ ศรีกำพล - ศิลปินมรดกอีสาน 2559

ด้วยความเป็นผู้ที่มีความทุ่มเท มุ่งมั่น เสียสละ มีความสามารถในการแสดงและถ่ายทอดศิลปะการเป่าปี่ผู้ไทให้แก่ชุมชน และสังคมจนเป็นที่รู้จัก อีกทั้งยังได้สร้างคุณประโยชน์แก่ชุมชนในวาระต่างๆ อีกมาก นายเมฆ ศรีกำพล จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน - ปี่ผู้ไท) ประจำปีพุทธศักราช 2559 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Mek srikampol 02

กาฬสินธุ์นี้ ดินดำน้ำซุ่ม ปลากุ้มบ่อน คือแข่แก่งหาง

ปลานางบ่อนคือขางฟ้าลั่น จั้กจั่นฮ้องปานฟ้าฟ้าลวงบน

แตกจ้นๆ คนเป่าปี่โฮแซว มีซู่แนวซู่อัน แอ่นระบำรำฟ้อน ”

ผญาอีสานบทนี้ ได้เล่าถึงจุดเด่นของจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมอันดีงาม รวมถึงศิลปินดนตรีพื้นบ้านเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป อย่าง พ่อเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2529 ผู้ประดิษฐ์ คิดค้น พัฒนาการทำโปงลาง และวิธีการเล่นจนเป็นเอกลักษณ์ เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดกาฬสินธุ์แล้วผู้คนก็ต้องพูดถึงและจดจำถึง เครื่องดนตรีโปงลาง ผ้าไหมแพรวา และไดโนเสาร์ และอีกคนหนึ่งที่จะลืมเสียมิได้คือ พ่อเมฆ ศรีกำพล บรมครูแห่งปี่ภูไท บ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

Mek srikampol 03

นอกจากการเป็นนักดนตรีแล้ว พ่อเมฆ ศรีกำพล ยังเป็นผู้ผลิตปี่ผู้ไทคุณภาพอีกด้วย โดยเขาเรียนรู้มาจากครูช่างทำปี่ผู้ไทฝีมือแห่งหมู่บ้านบุ่งคล้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ด้วยมองเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ดนตรีของชนเผ่าผู้ไท โดยเฉพาะ การลำผู้ไท ที่นับวันจะมีผู้ชื่นชอบและอนุรักษ์สืบสานน้อยลงทุกที เขาจึงทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ในฐานะครูภูมิปัญญาให้แก่โรงเรียนต่างๆ ตลอดจนผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้การเป่าปี่ผู้ไทและดนตรีอีสานให้เป็นที่รู้จักในสังคม โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ มีผู้ติดตามทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ปี่ภูไท - ตาเมฆ ศรีกำพล

ด้วยเหตุนี้ พ่อเมฆ ศรีกำพล จึงได้รับรางวัลและการเชิดชูเกียรติจากสถาบันต่างๆ มากมาย ดังนี้

  • ปี 2537 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ใน การประกวดดนตรีพื้นบ้าน จากสถานีวิทยุ 909 กรป.กลาง จังหวัดสกลนคร
  • ปี 2538 ได้รับรางวัลเป็น ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จังหวัดกาฬสินธุ์ (ระดับจังหวัด) จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์
  • ปี 2539 ได้รับรางวัลชนะเลิศ ดนตรีพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานกาชาดประจำปี จังหวัดกาฬสินธุ์
  • ปี 2545 ได้รับรางวัลชนะเลิศ เดี่ยวปี่ผู้ไทจังหวัดมุกดาหาร (ระดับจังหวัด) อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
  • ปี 2550 ได้รับรางวัล ศิลปินพื้นบ้านอีสาน จากสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • ปี 2559 ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน – ปี่ผู้ไท) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

Mek srikampol 04

ขอแสดงความอาลัย

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ได้ข่าวว่า พ่อเมฆ ศรีกำพล เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 79 ปี ด้วยโรคประจำตัว ประกอบกับมีอายุมากแล้ว นับเป็นความโศกเศร้าของวงการดนตรีพื้นบ้านอีสานอย่างยิ่ง ที่ต้องสูญเสียเสาหลักปรมาจารย์ด้านการเป่าปี่ภูไทในครั้งนี้ ทางญาติได้กำหนดการฌาปนกิจศพ พ่อเมฆ ศรีกำพล วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.  2563 ณ บ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

บรมครูดนตรีพื้นบ้านอีสาน งานสตมวาร คนอีสานร่วใจสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพ่อของแผ่นดิน

redline

backled1

art local people

songsak 01ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์

นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2498 ที่บ้านเลขที่ 1 หมู่ 2 ตำบลหนองพอก อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นบุตรของ นายใส ประทุมสินธุ์ และ นางกองสี ประทุมสินธุ์ เป็นบุตรคนที่ 2 จากบุตร - ธิดา 8 คน ในครอบครัวของนักดนตรีพื้นบ้าน จึงได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่ในวงดนตรีมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

ส่งผลทำให้เกิดความสนใจในเครื่องดนตรีทุกประเภท ทั้ง พิณ แคน โปงลาง รวมถึง โหวด จึงได้เรียนรู้จากคนใกล้ชิดในครอบครัวบ้าง จากนักดนตรีอาชีพบ้าง จนสามารถพัฒนาทักษะ เชิงชั้นการดนตรีอีสานขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในเครื่องดนตรีแทบทุกชนิด ซึ่งสามารถนำมาเล่นร่วมกันกับ พิณ แคน และโปงลาง

ด้านการศึกษา

  • พ.ศ. 2509 จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านหนองพอก อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด
  • พ.ศ. 2535 จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
  • พ.ศ. 2548 ปริญญาบัตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

songsak 07

ด้านครอบครัว

สมรสกับ นางดุษฏี ประทุมสินธุ์ มีบุตร 2 คน คือ นายชัชวาลย์ ประทุมสินธุ์ และ นายชาญยุทธ ประทุมสินธุ์

songsak 02

การทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมดนตรี

ในช่วงปีพุทธศักราช 2519 นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ได้เริ่มจัดตั้งวงดนตรีเล็กๆ ขึ้นในหมู่บ้าน โดยการรวมญาติพี่น้องสามตระกุลมาร่วมเล่นดนตรี ในนามวง “โหวดเสียงทอง” ซึ่งเป็นวงดนตรีพื้นบ้านของจังหวัดร้อยเอ็ด ที่นำเสนอศิลปะพื้นบ้านทั้งที่เป็นแบบอนุรักษ์นิยม ผสมกับความทันสมัยตามค่านิยมในขณะนั้น ความมีชื่อเสียงโด่งดังของ คณะโหวดเสียงทอง ซึ่งมี นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ เป็นผู้บรรเลงเครื่องดนตรีโหวด ทำให้เป็นที่รู้จักไปทั่วจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งส่งให้ท่านได้รับเชิญให้ไปเป็นผู้ถ่ายทอดศิลปะดนตรีในด้านนี้ ในสถาบันการศึกษาชั้นนำของภาคอีสาน อาทิ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด และมหาวิทยาลัยสารคาม รวมทั้งได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาในส่วนกลางหลายแห่ง

songsak 03

หอโหวด @บึงพลาญชัย สัญลักษณ์ของเมืองเกินร้อย

นอกจากนั้น ความชำนาญพิเศษในการบรรเลงโหวด ของนายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ทำให้โหวดกลายเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ดในเวลาต่อมา และได้รับการเชื้อเชิญให้นำผลงานไปเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ อาทิ บันทึกเทป บรรเลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งก็ส่งผลให้ตัวท่านได้รับชื่อเสียงมาขึ้นตามลำดับ และได้เดินทางไปแสดงฝีมือในการบรรเลงดนตรีอีสานในต่างประเทศมากว่า 10 ประเทศ จนกระทั่งปัจจุบันท่านยังทำหน้าที่ ขับเคลื่อนวัฒนธรรมด้านดนตรีพื้นบ้านอีสานอันทรงคุณค่าต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง

songsak 05

การทำงานพิเศษ

  • พ.ศ. 2523 – พ.ศ. 2545 ผู้เชี่ยวชาญการสอนดนตรีพื้นบ้าน วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด
  • พ.ศ. 2546 ถึง ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญดนตรีพื้นบ้าน (โหวด) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ นับเป็นบุคคลตัวอย่างทางด้านวัฒนธรรมที่น่ายกย่องท่านหนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้มีความสามารถในการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านอีสาน ในระดับสูงหลายประเภทเช่น พิณ แคน โปงลาง และโหวด เป็นต้น นับว่าเป็นผู้ทำหน้าที่สืบสาน ถ่ายทอด เผยแพร่ และพัฒนา วัฒนธรรมทางด้านดนตรีพื้นบ้านอีสานให้คงอยู่เป็นมูนมังแห่งบรรพชน ส่งผลสู่ลูกหลานในยุคต่อไป

songsak 04

ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ - ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน

เกียรติประวัติ

  • พ.ศ. 2550 ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน โหวด) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • พ.ศ. 2554 รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ด้านนันทนาการ ปี 2554 โดย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

songsak 06

  • พ.ศ. 2555 เข็มเชิดชูเกียรติ บุคคลทำคุณประโยชน์กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. 2555 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • พ.ศ. 2562 ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติขึ้นเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน) จากกระทรวงวัฒนธรรม

ศิลปะแผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2562 : ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)