คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ความหมายของกฐิน | ตำนานกฐิน | กฐินหลวง | กฐินรษฎร์ | ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับกฐิน
พิธีทอดกฐิน เป็นงานบุญที่มีปีละครั้ง ท่านจึงจัดเป็นกาลทาน แปลว่า "ถวายตามกาลสมัย" คำว่า "กฐิน" มีความหมายที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายความหมายดังนี้
จากความหมายข้างต้นจะเห็นว่า มีความเกี่ยวข้องกัน 4 ประการ เมื่อสงฆ์ทำสังฆกรรมเรื่องกฐินเสร็จแล้ว และประชุมกันอนุโมทนากฐินคือแสดงความพอใจ ว่าได้ กรานกฐิน เสร็จแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี คำว่า กรานกฐิน คือการลาดผ้า หรือทาบผ้าลงไปกับกรอบไม้แม่แบบเพื่อตัดเย็บ ย้อม ทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง
ยังมีคำอีกคำหนึ่งที่เราได้ยินกันก่อนจะมีการทำบุญกฐิน คือ การจองกฐิน หมายถึงการแสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวาจาต่อทางวัดว่าจะนำกฐินมาถวาย เมื่อนั้นแล้วแต่จะตกลงกัน แต่จะต้องภายในเขตเวลา 1 เดือน ตามที่กำหนดในพระวินัย (ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12)
อีกคำหนึ่งที่จะได้ยินในขณะที่มีพิธีการทอดกฐินคือคำว่า อปโลกน์กฐิน หมายถึงการที่ภิกษุรูปใดรุปหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบว่าควรมีการกรานกฐินหรือไม่ เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้วจึงหารือกันต่อไปว่า ผ้าที่ทำสำเร็จแล้วควรถวายแก่ภิกษุรูปใด การปรึกษาหารือการเสนอความเห็นเช่นนี้เรียกว่า อปโลกน์ (อ่านว่า อะ-ปะ-โหลก) หมายถึง การช่วยกันมองดูว่าจะสมควรอย่างไร เพียงเท่านี้ก็ยังใช้ไม่ได้ เมื่ออปโลกน์เสร็จแล้วต้องสวดประกาศเป็นการสงฆ์ จึงนับว่าเป็นสังฆกรรมเรื่องกฐินดังกล่าวไว้แล้วในตอนต้น
ในปัจจุบัน มีผู้ถวายผ้ามากขึ้น มีผู้สามารถตัดเย็บย้อมผ้าที่จะทำเป็นจีวรได้แพร่หลายขึ้น การใช้ไม้แม่แบบอย่างเก่าจึงเลิกไป เพียงแต่รักษาชื่อและประเพณีไว้โดยไม่ต้องใช้กรอบไม้แม่แบบ เพียงถวายผ้าขาวให้ตัดเย็บย้อมให้เสร็จในวันนั้น หรืออีกอย่างหนึ่งนำผ้าสำเร็จรูปมาถวายก็เรียกว่าถวายผ้ากฐินเหมือนกัน
และเนื่องจากยังมีประเพณีนิยมถวายผ้ากฐินกันแพร่หลายไปทั่วประเทศไทย จึงนับว่าเป็นประเพณีนิยมในการบำเพ็ญกุศล เรื่องกฐินนี้ ยังขึ้นหน้าขึ้นตาเป็นสาธารณประโยชน์ ร่วมไปกับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามไปในขณะเดียวกัน
ในเรื่องของ ธงกฐิน หลายคนเห็นธงมานาน แต่อาจยังไม่รู้จักและไม่เข้าใจความหมายของธง 4 อันนี้ หมายถึงโลภ โกรธ หลง สติ อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์ และฟื้นฟูให้ทุกคนได้มีความเข้าใจ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะสูญหายไปได้
ธงกฐิน เป็น ครื่องหมายแสดงให้รู้ว่าวัดนี้ได้รับผ้ากฐินแล้ว มี 4 แบบแฝงด้วยความรู้เกี่ยวกับธรรมะ คติธรรม ประกอบด้วย
ครั้งพุทธกาล มีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎกกฐินขันธกะว่า ครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐา ประมาณ 30 รูป ซึ่งถือธุดงควัตรอย่างยิ่งยวด มีความประสงค์จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล จึงพากันเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองนั้นพอถึงเมืองสาเกต ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงสาวัตถีประมาณ 6 โยชน์ก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี เดินทางต่อไปมิได้ต้องจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกต ตามพระวินัยบัญญัติ ขณะที่จำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกต เกิดความร้อนรนอยากเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง ดังนั้นพออกพรรษาปวารณาแล้วก็รีบเดินทาง แต่ระยะนั้นมีฝนตกมากหนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำ เป็นโคลนเป็นตม ต้องบุกต้องลุยมาจนกระทั่งถึง กรุงสาวัตถีได้เข้าเฝ้าสมความประสงค์
พระพุทธเจ้าจึงมีปฏิสันถารกับภิกษุเหล่านั้น เรื่องการจำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกต และการเดินทาง ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลถึงความตั้งใจ ความร้อนรนกระวนกระวาย และการเดินทางที่ลำบากให้ทรงทราบทุกประการ
พระพุทธเจ้าทรงทราบ และเห็นความลำบากของภิกษ ุจึงทรงยกเป็นเหตุ และมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้ว กรานกฐินได้ และเมื่อกรานกฐินแล้ว จะได้รับอานิสงส์ตามที่กำหนดในพระวินัยถึง 5 ประการคือ
การทอดกฐินที่ปฏิบัติกันในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แยกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภทคือ กฐินหลวง และ กฐินราษฎร์
เมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามายังสุวรรณภูมิ และประดิษฐานอยู่บนผืนแผ่นดินนี้อย่างสถิตย์สถาพร ประชาชนไทยได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ การทอดกฐินก็ได้กลายเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแผ่นดินสยามได้ทรงรับเรื่องกฐินนี้ขึ้นเป็นพระราชพิธีอย่างหนึ่ง การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับกฐินเป็นพระราชพิธี ทำให้เรียกกฐินนี้ว่า กฐินหลวง วัดใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นวัดราษฎร์หรือวัดหลวง หากพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐินแล้วจะเรียกว่า กฐินหลวง ทั้งสิ้น
ในสมัยต่อๆ มา เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ประชาชนมีศรัทธาเจริญรอยตามพระราชศรัทธาของพระเจ้าแผ่นดิน ได้รับพระมหากรุณา ให้ถวายผ้าพระกฐินได้ตามสมควรแก่ฐานะ เป็นเหตุให้แบ่งแยกกฐินหลวงออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
กฐินดังกล่าวนี้ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เองเป็นประจำ ณ วัดสำคัญๆ ซึ่งทางราชการกำหนดขึ้น มีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไว้อย่างเรียบร้อย ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค จำนวน 16 วัด คือ
วัดหลวงทั้งหมดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เองเพียงปีละ 8-9 วัดเท่านั้น นอกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือองคมนตรี หรือผู้ที่ทรงเห็นสมควรเป็นผู้แทนพระองค์ไปถวาย
กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธีนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังออกหมายกำหนดการเป็นประจำทุกปี จึงไม่มีการจองล่วงหน้า
การเฝ้าฯ รับเสด็จฯ งานถวายผ้าพระกฐินหลวงประจำปีที่สำนักพระราชวังออกเป็นหมายกำหนดการและกำหนดการแต่งการเฝ้าฯ รับเสด็จฯ **
ผู้ที่เฝ้าฯ รับเสด็จฯ ตามหมายกำหนดการ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะได้รับรองเชิญให้นั่งพัก ณ ที่ซึ่งจัดไว้นอกพระอุโบสถตามลำดับชั้นยศและตำแหน่ง
งานเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินตามราชประเพณีประจำปีที่สำนักพระราชวังออกเป็นหมายกำหนดการ แต่งเครื่องแบบเต็มยศ จะมีกองเกียรติยศทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ พร้อมทั้งแตรวงประจำกองและทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ ตั้งแถวรับเสด็จฯ
เมื่อใกล้เวลาเสด็จฯ ประมาณ 5 หรือ 10 นาที เจ้าหน้าที่ผู้รับรองของสำนักพระราชวังจะได้เชิญข้าราชการผู้มีเกียรติที่มาเฝ้าไปยืนเรียงแถวรอรับเสด็จฯ ตามแนวทางลาดพระบาท (ถ้าสถานที่ไม่พอจะเข้าแถว ก็คงรอเฝ้าฯ ณ ที่ซึ่งจัดไว้นั้น)
ได้เวลาเสด็จฯ มีแตรวงกองทหารเกียรติยศบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้เฝ้าฯ ที่นั่งพักยืนถวายความเคารพ ผู้มาเฝ้าที่เข้าแถวรับเสด็จฯ ถ้าสวมหมวกทำวันทยหัตถ์ จนสุดเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีและถวายความเคารพเมื่อเสด็จฯ ผ่าน
เสด็จฯ เข้าสู่พระอุโบสถ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะได้เชิญและนำเฉพาะข้าราชการผู้ใหญ่เข้าไปเฝ้าฯ ในพระอุโบสถ เมื่อเข้าไปจะต้องถวายคำนับ แล้วยืนอยู่ ณ เก้าอี้ที่จะนั่งเฝ้าฯ ตามยศและตำแหน่ง เมื่อทรงปฏิบัติในการถวายพระกฐิน ประทับพระราชอาสน์ ผู้เฝ้าฯ ถวายคำนับแล้วนั่งได้ เมื่อเสด็จฯ กลับก็ปฏิบัติในทำนองเดียวกับเมื่อเสด็จมาถึง
ราชประเพณีเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน ถ้าพระอารามหลวงหรือวัดใดที่มีโรงเรียนตั้งอยู่ ย่อมจัดลูกเสือหรือนักเรียนตั้งแถวรับเสด็จฯ ถ้ามีแตรวงลูกเสือด้วยให้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเมื่อเสด็จฯ ถึง และเสด็จฯ กลับ
โรงเรียนที่จัดลูกเสือนักเรียนรับเสด็จฯ ตามระเบียบจะต้องจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์แทนพระพุทธรูป มีแจกัน พานดอกไม้ ธูปเทียนพร้อม แต่ไม่ต้องจุดเทียนหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ควรมีธูปเทียนแพ กระทงดอกไม้ใส่พานตั้งไว้ เป็นการถวายความเคารพสักการะในการรับเสด็จฯ
ผู้อำนวยการ/อาจารย์ใหญ่/ครูใหญ่ ยืนที่ข้างๆ โต๊ะหมู่หน้าแถวนักเรียนและลูกเสือ เมื่อเสด็จฯ ถึง ณ ที่นั้นผู้อำนวยการ/อาจารย์ใหญ่หรือครูใหญ่ก้าวออกมาถวายความเคารพ (ถ้าเป็นครูชายสวมหมวก ทำวันทยหัตถ์ ถ้าเป็นครูหญิงถวายความเคารพด้วยการถอนสายบัว) แล้วกราบบังคมทูลรายงานจำนวนอาจารย์ ครู นักเรียนจบแล้วถอยออกไปถวายคำนับก่อนที่จะกลับไปยืนเฝ้าฯ ณ ที่เดิม
กฐินดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเพราะ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดที่มิใช่วัดหลวง และมิได้เสด็จไปอย่างเป็นทางการ หรืออย่างเป็นพระราชพิธี แต่เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์อีกด้วย พลตรีหม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) ได้เล่าประวัติเรื่องการเกิดขึ้นของกฐินต้นนี้ไว้ว่า
"กฐินส่วนพระองค์นี้ ในสมัยก่อนรัชกาลที่ 5 จะเรียกว่าอย่างไรนั้นยังไม่พบหลักฐาน มาเรียกกันว่า กฐินต้น ในรัชกาลที่ 5 ภายหลังที่ได้มีการเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ เมื่อ พ.ศ. 2447 การเสด็จประพาสครั้งนั้น โปรดให้จัดให้ง่ายกว่าการเสด็จประพาส เพื่อสำราญพระราชอิริยาบถอย่างสามัญคือ โปรดไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใดๆ พอพระราชหฤทัยจะประทับที่ไหนก็ประทับที่นั่น บางคราวก็ทรงเรือเล็ก หรือเสด็จรถไฟไปโดยมิให้ใครรู้ การเสด็จประพาสครั้งนั้นเรียกว่า เสด็จประพาสต้น
เหตุที่เรียกว่าประพาสต้นก็เพราะเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2447 เสด็จทรงเรือมาด 4 แจว ประพาสในแม่น้ำอ้อม ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อเรือมาด 4 แจว เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งลำสำหรับแจวตามเรือพระที่นั่ง เวลามีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินโดยมิให้ใครรู้จักพระองค์ เมื่อซื้อเรือมาดได้ดังพระราชประสงค์แล้วพระราชทานชื่อเรือลำนั้นว่า เรือต้น ในวันนั้นกว่าจะเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงที่ประทับแรม ที่เมืองราชบุรีเกือบ 3 ทุ่ม เพราะน้ำเชี่ยว ผู้คนในขบวนเสด็จเหนื่อยหอบตามกัน
ประพาสต้น จึงเป็นมูลเหตุให้เรียกการเสด็จประพาสอย่างในวันนี้ว่า ประพาสต้น และยังเป็นมูลเหตุให้เรียกการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ว่า พระกฐินต้น เรียกแบบเรือนไทยที่ทรงสร้างสำหรับประทับอย่างชาวบ้านว่า เรือนต้น กันต่อมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงดำเนินตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้ากฐินต้นเป็นประจำทุกปี การจะเสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินต้นที่วัดใดมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
ในกรณีที่เสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์เรียกกันว่า พระกฐินต้น ส่วนมากจะเป็นวัดในต่างจังหวัด สำนักพระราชวังจะออกเป็นหมายรับสั่ง ส่วนมากจะแต่งเครื่องแบบปกติขาว เฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เฝ้าฯ เจ้าหน้าที่นอกนั้น หรือข้าราชการในท้องถิ่น แต่งกายเครื่องแบบปกติกากีคอตั้งแบบข้าราชการ หรือกากีคอพับผูกผ้าผูกคอ
การเฝ้าฯ รับเสด็จ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะรับรองข้าราชการ และผู้มีเกียรติรอเฝ้าฯ ณ ที่ซึ่งจัดไว้นอกพระอุโบสถ
การเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินในต่างจังหวัดนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องจัดข้าราชการเข้าแถวรับเสด็จฯ ณ ที่ซึ่งรถยนต์พระที่นั่งเทียบ เมื่อเสด็จฯ ลงจากรถยนต์พระที่นั่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเข้าไปเฝ้าฯ ถวายคำนับ (ถ้าสวมหมวกทำวันทยหัตถ์) แล้วกราบบังคมทูลรายงานตนเอง และเบิกข้าราชการผู้ใหญ่ที่เฝ้าฯ เช่น
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า ............... ผู้ว่าราชการจังหวัด............ ขอพระราชทาน พระบรมราชวโรกาสเบิกผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท (ในกรณีที่ภริยาเฝ้าฯ อยู่ด้วย) นาง.............. ภริยาข้าพระพุทธเจ้า (จะทูลเกล้าถวายดอกไม้ด้วยก็ได้) แล้วต่อไปควรจะกราบบังคมทูลเฉพาะ ข้าราชการผู้ใหญ่ระดับสูง เช่น รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัด นายอำเภอของท้องที่ที่เสด็จฯ เท่านั้น
เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าของหลวง แก่ผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน เพื่อไปถวายยังวัดหลวง นอกจากวัดสำคัญที่ทรงกำหนดไว้ว่า จะเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง (16 วัดดังที่กล่าวมาแล้ว) เหตุที่เกิดกฐินพระราชทานเพราะว่า ปัจจุบันวัดหลวงมีจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ตลอดจนคณะบุคคล หรือบุคลากรที่สมควรรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวายได้ และผู้ที่ได้รับพระราชทานจะเพิ่มไทยธรรมเป็นส่วนตัว โดยเสด็จพระราชกุศลด้วยตามกำลังศรัทธาก็ได้
ปัจจุบันกระทรวง ทบวง กรม คณะบุคคล หรือบุคคลใดมีความประสงค์จะรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวาย ณ วัดหลวงใด ก็ติดต่อไปยัง กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ตามระเบียบ ซึ่งเท่ากับเป็นการจองกฐินไว้ก่อนนั่นเอง
ขั้นตอนของกฐินพระราชทาน มีดังนี้
[ กฐินหลวง | กฐินราษฎร์ ]
ออกวัสสา หรือ ออกพรรษา คือวันสุดท้ายของเทศกาลเข้าพรรษา จะตรงกับวันขึ้น 15 เดือน 11 ในวันนี้ ทางสงฆ์จะจัดพิธีเรียกว่า วันมหาปวารณา แปลว่า อนุญาต หรือยอมให้ พระแต่ละรูปสามารถว่ากล่าวถึงข้อที่ผิดพลาดล่วงเกินระหว่าง ที่จำพรรษาอยู่ด้วยกัน เทศกาลออกพรรษา มีหลายจังหวัดทางภาคอีสานที่จัดงานแห่ปราสาทผึ้งขึ้น แต่ที่นับว่าเป็นต้นตำรับและมีความยิ่งใหญ่กว่าที่ใด คือ จังหวัดสกลนคร
หลายคนรู้จักคุ้นเคยกับปราสาทผึ้งดี แต่อาจจะไม่รู้ที่มา ที่มาของปราสาทผึ้งก็คือ ระหว่างที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ ปารักขิตวัน ใกล้บ้านปาริไลยยกะ (ป่าเลไลยก์) ในพรรษาที่ 9 โดยช้างปาริไลยกะกับลิงเป็นผู้อุปัฏฐาก ไม่มีมนุษย์อยู่เลย ตลอด 3 เดือน ช้างจัดน้ำ และผลไม้ถวาย ลิงนำรวงผึ้งมาถวาย เมื่อพระองค์ทรงรับแล้วก็เสวย ลิงเห็นก็ดีใจมาก ขึ้นไปจับกิ่งไม้เขย่ากิ่งไม้หักตกลงมา ตอไม้เสียบอกลิงตายไปเกิดเป็นเทพบุตรวิมาน
ครั้นถึงวันออกพรรษา พระพุทธเจ้าเสด็จสู่เมืองโกสัมพี ช้างคิดถึงพระพุทธเจ้ามาก หัวใจแตกตาย ไปเกิดเป็นเทพบุตรในวิมาน พระพุทธเจ้าทรงนึกถึงความดีของช้าง และลิง ที่เฝ้าอุปัฏฐากตลอดพรรษา 3 เดือน จึงทรงนำเอาผึ้งรวงมาเป็นดอกไม้ประดับในโครงปราสาท เป็นปราสาทที่เกิดขึ้นในจินตนาการของผู้ที่มารับ ระหว่างเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
อาจารย์ประสิทธิ์ คะเลรัมย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เล่าว่า การทำปราสาทผึ้งในอีสาน นิยมทำกันมาแต่โบราณ ด้วยเหตุผลหรือคติที่ว่า เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อตั้งความปรารถนาไว้ หากเกิดในภพมนุษย์ขอให้มีปราสาทราชมณเฑียรอาศัยอยู่ด้วยความมั่งมีศรีสุข ถ้าเกิดในสวรรค์ขอ ให้มีปราสาทสวยงาม มีนางฟ้าแวดล้อมเป็นบริวาร เพื่อรวมพลังสามัคคีทำบุญทำกุศลร่วมกัน พบปะ สนทนากันฉันพี่น้อง เพื่อเป็นการประกาศหลักศีลธรรม ทำบุญทำกุศล
ในอดีตการทำปราสาทผึ้งโบราณ เรียกว่า 'ต้นผึ้ง' หรือ 'ต้นเผิ่ง' ทำ โดยเอากาบของต้นกล้วยมาทำเป็นโครงจากนั้นก็ทำเอาดอกผึ้ง ที่ชาวบ้านจะนำขี้ผึ้งใส่ถ้วยหรือขัน ลงลอยในน้ำร้อนที่ตั้งไฟอ่อนๆ ให้ขี้ผึ้งละลาย แล้วใช้ผลมะละกอดิบ มาปอกเปลือกตรงส่วนก้น ให้มีความเว้าคล้ายกลีบดอกไม้ จุ่มลงในขี้ผึ้งที่ละลายแล้ว ก่อนยกลงจุ่มในน้ำเย็น ดอกผึ้งก็จะหลุดล่อนออกมา ซึ่งทำได้หลายสีสัน โดยใช้ขี้ผึ้งสีต่างๆ กัน เช่น ขาว เหลืองอ่อน เหลืองเข้ม เหลืองแสด ฯลฯ เอาดอกผึ้งไปตกแต่งปราสาท ก็จะใช้ไม้กลัดเสียบดอกบานไม่รู้โรย วางลงตรงกลางดอกผึ้งเป็นเหมือนเกสรดอกไม้
รูปทรงของปราสาทผึ้งโบราณจะสร้าง ขึ้นจากโครงไม้ไผ่ ตกแต่งด้วยหยวกกล้วยที่แทงเป็นลวดลายหรือ รูปทรงต่าง ๆ เช่น ทรงตะลุ่ม ทรงหอมียอดประดับหลังคา ทรงสิมหรืออุโบสถแบบอีสาน เป็นต้น
ต่อมามีการคิดริเริ่มทำปราสาทผึ้งประยุกต์เริ่มขึ้นครั้งแรกที่ “วัดแจ้งแสงอรุณ” โดยมีพระมหาปราสาท หรือพระที่นั่งบางปะอิน เป็นต้นแบบ โครงสร้างของปราสาทผึ้งประยุกต์ ทำขึ้นด้วยไม้ แล้วหล่อขี้ผึ้งเป็นลวดลายต่างๆ ที่สวยงาม นำไปปะติดลงใน โครงปราสาท ทำให้เกิดความสวยงามในด้านศิลปะต่างจากเดิม สร้างความตื่นตาตื่นใจแกผู้ร่วมงาน นับแต่นั้นเป็นต้นมา จึงเป็นมีการริเริ่มที่จะมีการทำและประกวดแข่งขันปราสาทผึ้งประยุกต์ขึ้นมา โดยให้แต่ละคุ้มวัดทำส่งเข้าประกวด มีทุนสนับสนุน จากทางผู้จัดงานส่วนหนึ่ง และได้รับจากส่วนราชการหรือประชาชนอีกส่วนหนึ่ง
การทำปราสาทผึ้ง ชาวคุ้มวัดต่างๆ ร่วมกับข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน บริจาคเงินตามศรัทธาทำปราสาท ในตอนกลางคืนของวันขึ้น 13 ค่ำ ก่อนวันทำการ ขบวนปราสาทผึ้งชาวคุ้มต่างๆ จะนำปราสาทผึ้งของตนที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ประดับโคมไฟหลากสี มาตั้งประกวดแข่งขันกัน ณ สนามมิ่งเมืองเพื่อให้ประชาชนได้ชมความสวยงามอย่างใกล้ชิด
ส่วนเทศกาลปราสาทผึ้ง กำหนดเอาวันเทศกาลออกพรรษาเป็นวันจัดงาน วันแรกแข่งเรือ วันที่สองแห่ปราสาทผึ้ง วันที่สามทำบุญออกพรรษา กลางคืนมีการสมโภชตามสมควร ในวันออกพรรษา หลังจากที่ได้มีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าเรียบร้อยแล้ว ก็จะเริ่มจัดขบวนแห่ปราสาทผึ้ง มีปราสาทผึ้งและเทพีนั่งอยู่บนรถขบวน มีการฟ้อนรำของชาวบ้านและเหล่าสาวงาม เหล่าผู้เฒ่าผู้แก่และคนหนุ่มสาวชาวคุ้มต่างๆ จะร่วมเดินในขบวน ถือธูปเทียนแห่รอบพระธาตุเชิงชุม ทำใจให้เป็นสมาธิถวายเป็นพุทธบูชา
นอกจากจะเห็นความยิ่งใหญ่ของขบวนแห่ประสาทผึ้งที่สวยงานตระการตาแล้ว ยังจะได้ชมการแสดงรำหางนกยูง การแสดงมวยไทยโบราณ การแสดงชนเผ่าย้อ ชนเผ่าลาว ชนเผ่าภูไท ชนเผ่าโย้ย กระเลิง เผ่าโล้ ซึ่งแต่ละเผ่าจะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง และจะหาดูไม่ได้ง่ายๆ แล้วในปัจจุบัน
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง ฮีตบุญเดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา ]
"ฝน" เป็นชีวาของทุกชีวิตในโลก ทุกชีวิตในโลกถ้าปราศจากความชุ่มฉ่ำของสายฝนย่อมเหี่ยวเฉา ถ้าขาดฝนตกมีแต่ความแห้งแล้งพืชพันธุ์ธัญญาหารก็เหี่ยวแห้ง เมื่อแห้งแล้วก็ตาย เหล่าสรรพสัตว์ก็ขาดแคลนอาหาร ล้มตาย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเรียกได้ว่า "น้ำฝนเป็นชีวาของทุกชีวิตในโลก"
สาเหตุที่ฝนไม่ตก ท่านผู้รู้กล่าวไว้ว่า "น้ำฝนนั้นเป็นน้ำของเทวดา" ดังมีศัพท์บาลีว่า เทโว ซึ่งแปลว่า น้ำฝน เป็นเอกลักษณ์ของความดี ความบริสุทธิ์ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษมากๆ ควันและละอองเขม่าน้ำมัน ห่อหุ้มโลกทำให้เป็นภัยแก่มนุษย์ ผู้ที่จะล้างอากาศได้ทำให้ละอองพิษพวกนั้นตกลงดิน ทำให้อากาศสะอาดคือ "เทโว" หรือ "ฝน" นั่นเอง ดังจะเห็นได้จากเมื่อฝนหยุดตกใหม่ๆ อากาศจะสดชื่น ระงมไปด้วยเสียงของกบ เขียด สาเหตุที่ฝนไม่ตกด้วยเหตุ
ดังนั้น ถ้ามนุษย์อยากให้เทวะคือน้ำฝนที่ดีไม่ใช่ดีเปรสชั่น มาเยี่ยมตามกาลเวลา มนุษย์ก็ควรตั้งอยู่ในศีลในธรรม เพราะคนที่มีศีลมีธรรมท่านจึงเรียกว่า "เทวะ" ทั้งๆ ที่เป็นคน เพราะเหตุดังกล่าวมานี้ เทวะคือฝน กับเทวะคือคนผู้มีคุณธรรม ย่อมจะมาหากันเพราะเป็นเล่ากอแห่งเทวะด้วยกัน เหมือนพระย่อมไปพักกับพระ เป็นต้น
แต่ถ้าเกิดอาเภทผิดแผกจากฤดูกาล ฝนไม่ตกตรงตามเวลา ท่านก็ให้ทำพิธีขอฝน ซึ่งจะได้หรือไม่ได้ก็ต้องลองเสี่ยงดู การขอฝนตามประเพณีท่านให้ทำดังนี้
ให้คัดเลือกแมวลักษณะดี สายพันธุ์สีสวาด เพศเมีย 1-3 ตัว ใส่กระทอ กระบุง หรือตะกร้า ออกแห่ไปรอบๆ หมู่บ้าน ฝนก็จะตกลงมาภายใน 3 วัน 7 วัน สาเหตุที่ต้องเลือกแมวสีสวาดก็เพราะคนโบราณมองว่า ขนสีเทา คล้ายกับสีเมฆฝน บางแห่งอาจจะใช้แมวดำแทน มีคนหาม ตั้งคายขัน 5 หาม ประกอบพิธีป่าวสัคเค เทวา เชิญเทวดาลงมาบอกกล่าวขอน้ำฝนกับเทวดาว่า จะขอฝนด้วยการใช้พิธีแห่นางแมว แล้วสั่งให้พวกหามแมวแห่เซิ้งไปตามถนนในหมู่บ้าน มีคนทั้งชาย หญิง และเด็กเดินถือดอกไม้ตามไปถึงเรือนหลังไหน คนในเรือนหลังนั้นก็เอาน้ำสาดมาใส่ทั้งแมวและคน เล่นเอาทั้งแมวทั้งคนหนาวไปตามๆ กัน ในบางแห่งจะมีการผูกเอวคนหัวล้าน 2 คน ทำฮึดฮัดจะชนกันตามกระบวนไปด้วย บางจุดก็หยุดให้หัวล้านชนกัน สลับคำเซิ้งชาวก็บ้านจะเอาน้ำรดแสดงไปเรื่อยๆ ดังนี้
คำเซิ้งนางแมว เซิ้งอันนี้เผิ่นว่า เซิ้งนางแมว ย่างเป็นแถวกะนางแมวออกก่อน ไปตามบ่อนกะตามซอกตามซอย ไปบ่ถอยกะขอฝนขอฟ้า เฮาคอยถ้าให้ฝนเทลงมา ตามประสาแมวโพงแมวเป้า แมวดำกินปลาย่าง แมวด่างกินปลาแห้ง ฝนฟ้าแล้ง กะขอฟ้าขอฝน ขอน้ำมนต์กะรดหัวแมวบ้าง (ชาวบ้านก็สาดน้ำลงใส่)
เทลงมากะฝนเทลงมา ท่วมไฮ่ท่วมนา ท่วมฮูปลาไหล
ท่วมไม้โสงเสง หัวล้านชนกันฝนเทลงมา (ซ้ำ) "
จะเซิ้งอย่างนี้เริ่มจาก 3 โมงเย็นจนถึง 2 ทุ่ม หรือรอบหมู่บ้านแล้วหยุด พอหยุดไม่นานฝนก็จะตก มีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่าตามมา (ความเชื่อโบราณนะครับ)
ฟ้อนแห่นางแมว โดย นาฏยศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
สมัยก่อนใช้แมวจริง สมัยนี้กลัว พรบ.ทารุณกรรมสัตว์ ใช้โดราเอมอนแทน ฝนเลยบ่ค่อยตก
ปรัชญากับความเชื่อจากแมว : รายการ Spirit of Asia ทางช่อง ThaiPBS
สารคดีเกี่ยวกับแมว การแห่นางแมว กับเซิ้งแม่นางด้ง
ในบางหมู่บ้าน จะมีการเซิ้งขอฝนแตกต่างออกไป เต้าแม่นางด้ง เป็นประเพณีที่นำเอาอุปกรณ์บางอย่างจากบ้านแม่หม้าย (ผัวตาย) หรือแม่ฮ้าง (ผัวหย่า) มาดังนี้
สถานที่ดำเนินการมักจะทำภายในวัด หรือบริเวณศาลากลางบ้าน เวลาประมาณ 2 ทุ่ม พิธีกรก็จะมาประกอบพิธี โดยให้ผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ 2 คน จับที่หัวไม้คาน ที่ปากกระด้งคนละด้าน แล้วนำว่า เซิ้งแม่นางด้ง ทุกคนในที่นั้นก็จะว่าตาม
พอจบแล้ว ถ้ากระด้งไม่กระดุกกระดิกเลย ถือว่าแม่นางด้งไม่ชอบคนจับ ต้องเปลี่ยนคู่ใหม่ แล้วว่าคำเซิ้งจนกว่ากระด้งจะกระดุกกระดิก แล้วนำคนจับลอยไปตีหลักไหน ถ้าตีหลักแล้งฝนก็แล้ง ถ้าตีหลักฝนฝนก็จะไม่แล้ง พิธีนางด้งนี้เป็นการขอฝนในอีกรูปแบบหนึ่ง หรือจะใช้เสี่ยงทายหาคนหาย ของหายก็แม่นมาก เหมือนกันกับนางข้องนั่นเอง
คำเซิ้งแม่นางด้ง
เต้าแม่นางด้ง เฮ็ดโล้งโค้งเสมอดังกงเกวียน มาเวียนนี้ได้สองสามฮอบ มาคอบนี้ได้สองสามที ตักตุลีแมงหวี่ตุลา พาสาวหลงเข้าดงกำแมด มาสู่แดดหรือมาสู่ฝน มากำฮนนำแม่เขียดใต้ เฮ็ดซักไซ้นั่นแม่นเขียดเหลือง มีแต่เสียงนั่นแม่นเขียดจ่อง ลอยอ่องล่องนั่นแม่นเขียดจานา หลังซาๆ นั่นแม่นเขียดคันคาก ขอเชิญคกไม้บากมาสูนด้งเยอ สากไม้แดงมาสูนด้งเยอ เชิญทั้งแองข้าวหม่าให้มาสูนด้งเยอ
ด้งน้อยๆ ฮ่อนข้าวกินขาว อีสาวๆ กะให้มานั่งอ้อม เขาควายพร้อมเอามาเฮ็ดเป็นหวี เหล้าไหดีเอามาต้อนฮับไถ่ เหล่าไหใหญ่เอามาต้อนฮับแถน แขนลงมาแต่เทิงวีด้ง เต้นเยอด้งเปอเคอด้ง มาปิ่นวัดเดียวนี้ ปิ่นเวียนเดียวนี้ ฝนบ่ตกข้าวไฮ่ตายคา ฝนบ่มาข้าวนาตายแล้ง ฝูงหมู่แฮ้งลงซากลงโคลง ดินเป็นผงของตายเหมิดแล้ว น้ำเต้าแก้วไหลหลั่งลงมา มานำกูให้เหมิดให้เสี้ยง สาวไทเวียงเต้าแม่นางด้ง เต้นเยอด้งเปอเคอเยอด้ง เต้นเยอด้งเปอเคอเยอด้ง มาสูมาให้สูมาเฮวเฮ่ง มาเป่งน้ำเดือนเก้าเข้านา เทลงมากะฝนเทลงมา
การเข้าทรงนางด้ง เผยแพร่โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
มีตำนานกล่าวไว้ว่า ในอดีตกาลพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นปลาค่อ (ปลาช่อน) แต่พระองค์ไม่เคยกินปลาเล็ก สัตว์เล็ก เคย กินตะไคร้น้ำและสาหร่ายอย่างอื่นแทน ครั้นฝนแล้ง น้ำแห้งปลาอื่นกำลังจะตาย พระโพธิสัตว์จึงโผล่ขึ้นมาจากเปลือกตม แหงนมองดูฟ้า แล้วตั้งสัจจะวาจาว่า "ดูกร เมฆฝน แม้ข้าพเจ้าเป็นปลา ข้าพเจ้าก็ไม่ได้กินปลาและบังเบียดปลา บัดนี้เพื่อนร่วมชาติและตัวข้าพเจ้ากำลังทุกข์หนัก และกำลังจะตายเพราะขาดน้ำ ด้วยอานุภาพแห่งศีลบารมี และสัจจบารมีขอฝนจงตกลงมาให้ชีวิตชีวาแก่เราด้วยเถิด" ครั้นจบสัจจะวาจาของโพธิสัตว์ ฝนก็ตกลงมาอย่างงดงาม ไม่มีฟ้าร้อง ฟ้าแลบ และฟ้าผ่าเลย
การสวดคาถาปลาค่อขอฝน ของ ชาวบ้านที่จังหวัดบุรีรัมย์
วิธีทำ ให้แต่งการมงคลเหมือนการสวดมงคลทั่วไป นิมนต์ภิกษุจำนวนคี่ คือ 5 รูป 7 รูปหรือ 9 รูป มาสวดคาถาขอฝน ให้สวด 7 วัน เป็นคาถาขอฝน วันละ 3 รอบก็พอ เพื่อให้ได้ผผลให้ญาติโยมที่มาร่วมพิธีรับศีลทุกครั้ง เฉพาะคนแก่ให้จำศีลเข้าพิธีทั้ง 7 วันจนจบพิธี สำหรับพระสวดวันแรกให้ตั้งมงคลก่อน แล้วสวดคาถาขอฝนสุดท้าย อีก 6 วันหลังให้สวด นะโม ฯลฯ และพุทธัง สรณัง คัชฉามิ ฯลฯ ทุติยัมปิ ตะติยัมปิ ฯลฯ แล้วสวดคาถาขอฝนเลยวันละ 3จบ แล้วฝนจะตกดี ตกงามไม่มีฟ้าผ่าน่าสพรึงกลัวแล
(มัจฉชาดก ที่มาของคาถาปลาช่อนขอฝน)
ปุนะ ปะรัง ยะทา โหมิ มัจฉะราชา มะหาสะเร
อุณเห สุริยะสันตา เปสะเร อุทะกัง ขียะถะ
ตะโต กากา จะ คิชฌา จะ กังกากุลาละเสนะกัง
ภักขายันติ ทิวารัตติง มัชเฌ อุปะนิสีทิยะ
เอวัง จินเตสะหัง ตัตถะ สะหะ ญาติภิ ปิฏฐิโต
เกนะ นุ โข อุปาเยนะ ญาติ ทุกขา ปะโมจะยัง
วิจินตะยิตะวา ธัมมัฏฐัง สัจจัง อัททะสะ วัสสะยัง
สะเจ ฐัตะวา ปะโมเจสิง ญาตีนัง ตัง อะติกขะยะ
อะนุสสะริตะวา สะตัง ธัมมัง ปะระมัตถัง วิจินตะยัง
อะกาสิง สัจจะกิริยัง ยัง โลเก ธุวะสัสสะตัง
ยะโต สะรามิ อัตตานัง ยะโต ปัตโตสะมิ วิญญุตัง
นาภิชานามิ สัญจิจจะ เอกะปาณิมหิ หิงสิตา
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ ปะชุนโน อะภิวัสสะตุ
อะภิตถะนายัง ปะชุนนะ นิธิง กากัสสะ นาสะยะ
กากัง โสกายะ รันเชหิ มัจเฉ โสกา ปะโมจะยะ
สะหะ กะเต สัจจะวะเร ปะชุนโน อะภิวัสสิยะ
ถลัง นินนัญจะ ปูเรนโต ขะเณนะ อะภิวัสสิยะ
เอวะรูปัง สัจจะกิริยัง กัตะวา วิริยะมุตตะมัง
วัสสาเปสิง มะหาเมฆัง สัจจะเตชะพะลัสสิโต
สัจเจนะ เม สะโม นัตถิ เอสา เม สัจจะปาระมีติ ฯ
มัจฉะราชา จะริยา นิฏฐิตาฯ
คำแปล
ในกาลเมื่อเราเป็นพระยาปลาอยู่ในสระใหญ่ น้ำในสระแห้งขอดเพราะแสงพระอาทิตย์ในฤดูร้อน ที่นั้นกาแร้งนกกระสา นกตะกรุมและเหยี่ยว มาคอยจับปลากินทั้งกลางวันกลางคืน ในกาลนั้น เราคิดอย่างนี้ว่า เรากับหมู่ญาติถูกบีบคั้น จะพึงเปลื้องหมู่ญาติให้พ้นจากทุกข์ได้ด้วยอุบายอะไรหนอ เราคิดแล้วได้เห็นความสัตย์อันเป็นอรรถเป็นธรรมว่า เป็นที่พึ่งของหมู่ญาติได้ เราตั้งอยู่ในความสัตย์แล้ว จะเปลื้องความพินาศใหญ่ของหมู่ญาตินั้นได้ เรานึกถึงธรรมของสัตบุรุษ คิดถึงการไม่เบียดเบียนสัตว์ อันตั้งอยู่ในเที่ยงแท้ในโลก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งได้ แล้วได้กระทำสัจกิริยาว่า ตั้งแต่เราระลึกตนได้ ตั้งแต่เรารู้ความมาจนถึงบัดนี้ เราไม่รู้สึกว่าแกล้งเบียดเบียนสัตว์แม้ตัวหนึ่งให้ได้รับความลำบากเลย ด้วยสัจวาจานี้ ขอเมฆจงยังฝนให้ตกห่าใหญ่แน่ะเมฆ ท่านจงเปล่งสายฟ้าคำรามให้ฝนตกจงทำขุมทรัพย์ของกาให้พินาศไป ท่านจงยังกาให้เดือดร้อนด้วยความโศก จงปลดเปลื้องฝูงปลาจากความโศก พร้อมกับเมื่อเราทำสัจกิริยา เมฆส่งเสียงสนั่นครั่นครื้น ยังฝนให้ตกครู่เดียว ก็เต็มเปี่ยมทั้งที่ดอนและที่ลุ่มครั้นเราทำความเพียรอย่างสูงสุด อันเป็นความสัตย์อย่างประเสริฐเห็นปานนี้แล้วอาศัยกำลังอานุภาพความสัตย์ จึงยังฝนให้ตกห่าใหญ่ผู้เสมอด้วยความสัตย์ของเราไม่มีนี้เป็นสัจบารมีของเราฉะนี้แล.
ตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาคันคาก เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองชมภู พระบิดามีพระนามว่า พระเจ้าเอกราช พระมารดาคือ สีดา เมื่อทรงเจริญวัยพระราชบิดาทรงมอบสมบัติให้ ต่อมาได้เกิดฝนแล้งผู้คนสัตว์ได้อดอยากล้มตายกันมาก พญาคันคากจึงสั่งให้พญานาคเอาหินก่อขึ้นไปเมืองแถน สั่งให้ปลวกเอาดินฉาบทาไม่ให้หินพัง ทำเป็นทางไปรบแถน ทำอยู่ 3 เดือนจึงเสร็จ จึงได้เกณฑ์พลอากาศ มี หงส์ แตน ต่อ ผึ้ง ทางน้ำคือ ปลา ทางบก คือ ช้าง ม้า รบอยู่ 2 ปี พญาคันคากจึงชนะ แล้วมีบัญชาให้แถนส่งฝนให้ตามฤดูกาล
วิธีทำ ใหขุดสระมีขนาดพอสมควร เอาน้ำมาใส่ เอาจอก แหน มาใส่ เอาปลาและเต่มาปล่อย เอาบัวมาปลูก ตามขอบสระให้ทำรูปช้าง ม้า วัว ควาย ผึ้ง ต่อ แตน กบ เขียด อึ่งอ่าง แล้วจัดเครื่องฮ้อย หมากฮ้อยจอกหนึ่ง เมี่ยงฮ้อยจอกหนึ่ง ข้าวตอกฮ้อยจอกหนึ่ง (หมายถึงอย่างละ 100 อันรวมเข้าใส่ในจอก ขนาดใหญ่พอบรรจุได้ เช่น ข้าวตอกฮ้อยหนึ่งจอก หมายความว่า ข้าวตอกแตกบ้านเราร้อยดอก (เม็ด) ใส่ไว้ 1 จอก เป็นต้น)
น้ำส้มป่อยหนึ่งขัน ขัน 5 ขัน 8 พระสงฆ์ 5-7-9 รูป ตามแต่จะนิมนต์ แต่อยู่ในจำนวนนี้ ห้ามคู่ ชาวบ้านโดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่นุ่งขาวห่มขาว บวชชีพราหมณ์ฟังพระสวดและเทศน์ พญาคันคากอยู่ 3 วัน 3 คืน ทุกคนตั้งจิตอธิษฐานขอให้ฝนตก ฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล และตกอย่างงาม คือเป็นสัมมาธรัง ปะเวสสันโต ซึ่งแปลว่า หลั่งธารน้ำ ฝนลงมางามๆ ไม่มีฟ้าผ่าน่าสพรึงกลัวแล
พระยาหลวงเอกราชและนางสีดา ปกครองเมืองอินทปัตถ์มานาน ประชาชนมีความสุขสมบูรณ์กันถ้วนหน้า พระโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดในครรภ์นางสีดาในร่างของ คันคาก (คางคก)
ในคืนหนึ่งนางสีดาฝันว่า ดวงอาทิตย์ได้ตกลงมาจากฟากฟ้า แล้วลอยเข้ามาในปากของนาง เมื่อนางกลืนลงท้อง เนื้อตัวของนางได้กลายเป็นสีเหลืองสดใสประดุจดังทองคำ ในความฝันยังแสดงให้เห็นว่า "นางมีอิทธิฤทธิ์สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้" นางได้เหาะไปยังเขาพระสุเมรุแล้ว จึงเดินทางกลับมายังปราสาทราชวังในเมืองอินทปัตถ์ดังเดิม ครั้นสะดุ้งตื่นนางได้เล่าความฝันถวายแก่ พระยาหลวงเอกราช พระสวามี พระยาหลวงล่วงรู้ในนิมิตความฝันว่าพระองค์จะมีโอรสที่จะสืบราชสมบัติต่อไป
เมื่อครบสิบสองเดือนนางสีดาได้ให้กำเนิดกุมารเป็น ตัวคันคาก (คางคก) มีรูปร่างเหลืองอร่ามดั่งทองคำ พระยาหลวงเอกราชดีใจมาก ได้สั่งให้จัดหาอู่ทองคำมาให้นอน และจัดหาแม่นมมาดูแลอย่างใกล้ชิด ต่อมาท้าวคันคากเจริญวัยเป็นหนุ่ม อายุได้ 20 ปี คิดอยากจะมีคู่ครอง พระบิดาได้พยายามหาผู้ที่เหมาะสมมาให้แต่ก็หาไม่ได้ ด้วยมีเหตุขัดข้องที่ท้าวคันคากมีรูปกายที่อัปลักษณ์ ผิดแผกไปจากมนุษย์คนอื่นๆ พระยาหลวงเอกราชรู้สึกสงสารโอรสเป็นอันมากจึงปลอบใจว่า "ขอให้สร้างสมบุญบารมีต่อไปอีก จนกว่าจะกลายร่างเป็นมนุษย์เมื่อใด จะยกทรัพย์สมบัติให้ปกครองบ้านเมืองสืบต่อไป" ท้าวคันคากจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า "หากตนมีบุญบารมี ขอให้ได้หญิงงามมาเป็นคู่ครอง"
ดังนั้น พระอินทร์จึงได้ลงมาเนรมิตปราสาทแก้วไว้กลางเมือง ปราสาทนี้มีขนาดใหญ่โตมาก มีเสาเป็นหมื่นๆ ต้น มีห้องใหญ่น้อยจำนวนหนึ่งพันห้อง พร้อมทั้งเครื่องประดับตกแต่ง ปราสาทหลังนี้เต็มไปด้วยอัญมณีที่มีค่ายิ่ง นอกจากนี้ พระอินทร์ได้ให้นางแก้วมาเป็นชายาท้าวคันคาก และได้เนรมิตกายท้าวคันคากให้มีรูปกายงดงามอีกด้วย เสร็จแล้วพระอินทร์จึงเสด็จกลับสู่สวรรค์อันเป็นที่ประทับของพระองค์
ท้าวคันคากและนางแก้ว อาศัยอยู่ในปราสาทที่พระอินทร์เนรมิตงามดังไพชยนต์ปราสาทแห่งนี้ ต่อมาเมื่อพระยาหลวงเอกราชและนางสีดาทราบข่าว ได้เสด็จมาเยี่ยมยังปราสาท พร้อมทั้งได้จัดทำพิธีอภิเษกให้ ท้าวคันคากเป็นเจ้าเมืองปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์สืบไป นับตั้งแต่พญาคันคากขึ้นครองเมือง บรรดาพญาทั้งหลาย ตลอดจนบรรดาสัตว์เดรัจฉานได้เข้ามาขอเป็นบริวารอีกมากมาย
พระยาแถน ทราบว่า พญาคันคากได้ขึ้นครองเมืองจึงคิดอิจฉาและไม่พอใจ จึงคิดหาทางกลั่นแกล้ง แต่ก็รู้ดีว่า พญาคันคากมีบุญญาธิการและมีอิทธิฤทธิ์มากเกรงจะเป็นภัยแก่ตน จึงได้วางแผนการโดยที่ไม่ให้ฝนตกลงมายังมนุษยโลก ทำให้สิ่งมีชีวิตเดือดร้อนกันไปทั่วพิภพ นานถึง 7 ปี พญาคันคากไม่ทราบว่าจะหาทางแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร จึงลงไปยังใต้พิภพเพื่อปรึกษากับพญานาค พญาหลวงนาโคบอกกับพญาคันคากว่า "พระยาแถนประทับอยู่ยังปราสาทเมืองยุคันธร ที่เมืองนี้มีแม่น้ำคงคาอันกว้างใหญ่ไพศาล พระยาแถนมีหน้าที่ดูแลรักษาแม่น้ำยุคันธรแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีเขาสัตบริภัณฑ์ตั้งอยู่รายล้อมเขาพระสุเมรุถึง 7 ลูก เมื่อครบกำหนดเวลา บรรดานาคจะลงมาเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน ฝนฟ้าก็จะตกต้องตามฤดูกาล แต่บัดนี้พระยาแถนไม่ยอมให้นาคลงไปเล่นน้ำดังแต่ก่อน จึงทำให้เมืองมนุษย์แห้งแล้ง ผู้คน สัตว์ และพืช ล้มตายเป็นอันมาก"
พญาคันคากได้ฟังดังนั้น จึงคิดหาทางไปเมืองแถน ได้ไปตามพวกครุฑ นาค ปลวก มาก่อภูเขา เพื่อทำทางขึ้นไปรบกับพระยาแถน เมื่อทุกอย่างเตรียมพร้อมสรรพแล้ว จึงยกพลไปรบกับพระยาแถน โดยต่างฝ่ายต่างก็มีคาถาอาคม พญาคันคากได้ร่ายเวทมนตร์ให้บังเกิดมีกบ เขียด อย่างมากมาย ทำให้ชาวเมืองแถนตกใจกลัวเป็นอย่างยิ่ง พระยาแถนเองก็ใช้คาถาอาคมเป่าให้เกิดมีงูร้ายมากมายหลายชนิด เพื่อมาจับกบและเขียดกิน พญาคันคากได้ให้ครุฑและกามาจิกกินงูที่เกิดจากอาคมพระยาแถน จนกระทั่งงูเหล่านั้นต้องล้มตาย พระยาแถนจึงให้สุนัขมาวิ่งไล่จับครุฑและกากินเป็นอาหาร พญาคันคากได้ให้เสือโคร่งออกมาจับสุนัขกิน พระยาแถนได้ยิงธนูให้กลายเป็นห่าฝนหอกดาบตกลงมาเสียบคนล้มตายเป็นจำนวนมาก พญาครุฑได้ให้เสือโคร่งออกมาจับสุนัขกิน พระยาแถนได้ยิงธนูให้กลายเป็นห่าฝนหอกดาบ ตกลงมาเสียบคนล้มตายเป็นจำนวนมาก พญาครุฑได้เนรมิตปีกให้แผ่กว้างเพื่อกำบังห่าฝนหอกดาบ และมีการร่ายเวทมนตร์คาถาอาคมให้ผู้คนที่ล้มตายกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
การสู้รบกันระหว่างพญาคันคากกับพระยาแถนเป็นไปอย่างดุเดือด ต่างคนต่างก็มีคาถาอาคม เพื่อต่อสู้กับศัตรูอย่างฉกาจฉกรรจ์ ปรากฏว่าไม่มีใครแพ้ใครชนะ จึงได้มาชนช้างกัน ในที่สุดพระยาแถนแพ้พญาคันคาก พญาคันคากจึงมีบัญชาให้พระยาแถนยอมให้นาคมาเล่นน้ำ ฝนจะได้ตกบนพื้นพิภพดังเดิม ครั้งนี้นับเป็นการสู้รบที่เรียกว่า มหายุทธ เลยทีเดียว ต่อมาสัตว์ต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นศัตรูกันนับตั้งแต่นั้นมา
ที่มา : นายผ่าน วงศ์อ้วน ได้ปริวรรตจากตัวอักษรไทยน้อย จำนวน 5 ผูก มาเป็นอักษรไทยปัจจุบัน
พิมพ์เผยแพร่โดย : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม วิทยาลัยครูมหาสารคาม จำนวน 89 หน้า
(เอกสารอัดสำเนา) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2525
นอกจากวิธีการขอฝนดังกล่าวมาแล้วนั้น ยังมีประเพณีการดึงครก ดึงสาก การแห่ข้าวพันก้อน ประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นความเชื่อและศรัทธาของแต่ละพื้นถิ่นแตกต่างกันไป ล้วนแต่มีความเชื่อว่า ฝนจะตกลงมาถูกต้องตามกาลเวลาอันสมควร
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง ฮีตเดือนหก บุญบั้งไฟ | นิทานพื้นบ้าน พญาคันคาก ]
สารท มาจากคำบาลี หมายถึง ฤดูใบไม้ร่วง ภาษาสันสกฤตเป็น ศารท คำว่า สารท และ ศารท หมายถึง การทำบุญเดือนสิบ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เนื่องจากมีความเชื่อว่า ระยะนี้เป็นระยะที่ยมบาลปล่อยเปรตให้มาเยี่ยมบ้านเดิมของตน เพื่อรับส่วนบุญที่ญาติจะอุทิศให้ ลูกหลานญาติพี่น้องมีความเชื่อว่า "ญาติของตนที่ตายแล้วอาจจะไปเกิดในอบายภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่อดอยาก" จึงทำบุญอุทิศให้ โดยหวังว่าเมื่อวิญญาณได้รับอนุโมทนาส่วนบุญแล้ว จะได้พ้นจากภูมิอันทุกข์ทรมานนั้นไปเกิดในภูมิใหม่ที่ดีกว่านั้น
สารท คำนี้อ่านออกเสียงพ้องกับคำว่า ศราทธ์ ซึ่งเป็นพิธีส่งดวงวิญญาณขึ้นสวรรค์ของชาวฮินดู กระทำโดยลูกชายของผู้ตายซึ่งมีภรรยาร่วมพิธีด้วย พิธีศราทธ์ แปลว่า พิธีที่ทำด้วยศรัทธา ถือความเชื่อความมุ่งมั่นวิริยอุตสาหะจริงๆ ของญาติผู้ตาย เพราะทำกันตลอดเวลา คือ อาจจะทำทุกวันในปีแรกแห่งการตาย พิธีนี้ชื่อเรียกอกอย่างหนึ่งว่า สบิณฑนะ คือ พิธีถวายข้าวบิณฑ์ หรือก้อนข้าวสังเวยวิญญาณผู้ตาย เมื่อวิญญาณมีกำลังพอที่จะเดินทางไปสู่ปรโลกได้
ชาวฮินดูเชื่อว่า ร่างกายของคนตายนั้นสูญสลายไปเสียแล้ว เพราะถูกเผาหรือฝัง วิญญาณจึงอยู่ในสภาพเปรต วนเวียนอยู่ตามสถานที่ที่เคยอาศัย ไม่สามารถเดินทางไปสู่ปรโลกได้ เพราะไม่มีประสาทสัมผัส ไม่มีกำลัง ดังนั้นญาติจึงทำพิธีถวายข้าวบิณฑ์ แด่วิญญาณในพิธีศพ 4 ครั้ง และหลังจากวันตายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 10 ทุกวัน ในวันที่ 11 เป็นพิธีศราทธ์ครั้งใหญ่ มีการกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญให้ผู้ตาย ญาติพากันสวดวิงวอนให้พระเจ้าช่วยเปรตให้พ้นจากทุกข์
ญาติปล่อยวัวหนุ่มสาวคู่หนึ่ง โดยประทับตราตรีศูล และจัดพิธีแต่งงานให้วัวทั้งคู่ ขอพรจากวัว ซึ่งเป็นตัวแทนของพระเจ้า แล้วปล่อยไป มีการเลี้ยงอาหารแก่พราหมณ์ 11 คนหลังจากนั้น ญาติก็จะทำพิธีศราทธ์ทุกวันหรือเดือนละ 4 ครั้ง 2 ครั้ง หรือ 1 ครั้ง แล้วแต่ศรัทธา ข้าวบิณฑ์ ที่ใช้ในพิธีคือ ก้อนข้าวกลมๆ ขนาดเท่าผลมะตูม 6 ก้อน ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมน้ำนมโคใส่ในใบตองหรือภาชนะ มีจอกน้ำตั้งไว้ด้วย
ที่ยกเอาพิธีศราทธ์มาให้รับทราบนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า พิธีศราทธ์ของฮินดูไม่ใช่พิธีเดียวกันกับพิธีสารทของไทย ซึ่งหมายถึงฤดูกาลทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย แต่พิธีสารทไม่ใช่เทศกาล ส่วนพิธีทำบุญให้วิญญาณผู้ตายของฮินดูที่เป็นเทศกาลในช่วงเวลาเดียวกับ เทศกาลสารทนี้ก็มี คือ พิธีทำบุญเปตมาส มีขึ้นในวันข้างแรมของเดือนภัทรบท ประมาณเดือนสิงหาคม กันยายน เป็นพิธีทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษและสมาชิกครอบครัวที่ตายไปแล้ว มีการสังเวยน้ำแก่วิญญาณผู้ตายในวันดิถี คือ วันทางจันทรคติที่ตรงกับวันตายของผู้ล่วงลับในช่วงเวลาแห่งเทศกาลนี้
บางบ้านก็เชิญพราหมณ์มาทำพิธีด้วย จตุปัจจัยที่ใช้เป็นวัตถุสังเวย ได้แก่ เงิน ข้าวสุก นมเปรี้ยว พืชผล ผัก และอาหารคาวหวานอื่นๆ ให้พราหมณ์ และมีการเชื้อเชิญวิญญาณของผู้ตายในรอบปีนี้มาสิงสถิตร่วมกับวิญญาณของ บรรพบุรุษอื่นๆ ณ มุมหนึ่งของบ้านด้วย
สำหรับเทศกาลสารทของไทยเอง ปรากฏมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงพิธีสารทว่า ในวันเพ็ญเดือน 10 เป็นวันเริ่ม พระราชพิธีภัทรบท พระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จออกวัดหน้าพระธาตุทรงอังภาสพระภิกษุสงฆ์ด้วยข้าวมธุปายาสยาคุ ทรงบูชาพระรัตนตรัยด้วยพวงมาลาและธงหลากสี ทรงถวายอัฐบริขาร และกิลานเภสัช แด่พระภิกษุสงฆ์ แล้วทรงอุทิศพระราชกุศลแด่พระญาติที่ล่วงลับ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเช่นนี้เป็นเวลา 3 วัน ในวันที่ 3 เสด็จเทวาลัยของพราหมณ์ ทรงเสี่ยงพราหมณ์มากกว่าร้อยคน ด้วยข้าวมธุปายาสและยาคู เป็นเวลา 2 วัน ทรงถวายผ้าสาฎกแด่พราหมณ์ทุกคน
ส่วนสาธุชนชาวพระนครก็ปฏิบัติพิธีสารท ทำนองเดียวกับพระราชพิธีภัทรบท ทั้งพิธีพุทธและพิธีพราหมณ์ เป็นที่น่าสังเกตว่า พิธีภัทรบทของชาวสุโขทัยโบราณมีลักษณะคล้ายกันกับ พิธีเปตมาส ของชาวฮินดูในอินเดียในปัจจุบันนี้มาก จึงพอสรุปได้ว่า พิธีภัทรบทได้เค้ามาจากพิธีเปตมาส เช่นเดียวกับพิธีจองเปรียงของชาวสุโขทัย โบราณ ได้เค้ามาจากพิธีปวาลีของชาวฮินดูนั่นเอง
เทศกาลสารทไทย เป็นเทศกาลที่มีปฏิบัติกันในภาคกลาง ส่วนภาคที่มีพิธีคล้ายๆ กัน เช่น กิ๋นก๋วยสลาก ในภาคเหนือ บุญข้าวประดับดิน และ บุญข้าวสาก ในภาคอีสาน บูชาข้าวบิณฑ์ ในภาคใต้ สำหรับพิธีสารทของไทยภาคกลางมีขึ้นในวันสิ้นเดือนสิบ ชาวบ้านจะนำอาหารคาวไปเลี้ยงพระ ส่วนอาหารหวานมีแต่กระยาสารทกับกล้วยไข่เท่านั้น
มีการตักบาตรธารณะ คือ ชาวบ้านใส่บาตรด้วยกระยาสารทห่อด้วยใบตองกับกล้วยไข่ แต่บางแห่งก็จะไม่แยกกัน คงใส่ข้าวรวมลงในบาตรด้วย เมื่อพระฉันข้าวเช้าเสร็จก็ฉันกระยาสารทเป็นของหวาน และฉันกล้วยไข่กลั้วคอไปด้วย พระยาอนุมานราชธน เล่าไว้ว่า "เมื่อสมัยก่อนเมื่อใกล้ถึงวันสารท ชาวบ้านทุกบ้านก็กวนกระยาสารท โดยมีส่วนผสมของข้าวเม่า ข้างตอก ถั่ว งา มะพร้าว และน้ำตาล กวนให้เข้ากันบนเตาไฟจนเหนียวเป็นปึก เมื่อเย็นลงจะกรอบ แล้วห่อด้วยใบตองเป็นห่อๆ เพื่อนำไปตักบาตรและแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน ถ้าจะให้กระยาสารทเหนี่ยวดีก็ใส่แบะแซ (น้ำผึ้งขาว) เข้าไปด้วย"
เหตุการณ์ในอดีเกี่ยวกับเทศกาลสารทนี้ ถูกพรรณนาไว้อย่างเพราะพริ้งในนิราศเดือนว่า ถึงเดือนสิบเห็นกันเมื่อวันสารท ใส่อังคาสโภชนากระยาหาร กระยาสารท กล้วยไข่ใส่โตกพาน พวกชาวบ้านทั่วหน้าธารณะเจ้างามคมห่มสีชุลีนบ แล้วจับจบทัพพีน้อมศีรษะหยิบข้าวของกระยาสารทใส่บาตรพระธารณะเสร็จสรรพกลับมาเรือน
สำหรับ วันสารทของชาวสุรินทร์ จะมีความแตกต่างออกไป คือ วันสารท ชาวสุรินทร์ เรียกว่า แขเบ็ณฑ์ ถือว่าเป็นพิธีสำคัญสำหรับชีวิต สำหรับเดือนสิบชาวสุรินทร์เรียกว่า แขพ้อดระบ็อด เพี้ยนจากคำว่า ภัทรบท เช่นกัน จุดประสงค์ คือการทำบุญและรำลึกถึง และการแสดงกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ชาวสุรินทร์เชื่อว่า ปู่ ย่า ตา ทวด ที่ล่วงลับไปแล้วนั้น ถ้ายังไม่ได้เกิดที่อื่น วิญญาณจะยังคงอยู่รักษาดูแลทุกข์สุขของลูกหลาน หรือบางทีไปเกิดเป็น ปรทัตตูปชีขีเปรต คือ เปรตที่อยู่ด้วยบุญกุศลที่บรรดาญาติอุทิศไปจากโลกนี้เป็นอาหาร
พิธีสารทหรือพิธีแขเบ็ณฑ์นี้ แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ สารทเล็กและสารทใหญ่ เรียกว่า เบ็ณฑ์ตูจและเบ็ณฑ์ธม
เบ็ณฑ์ตูจ ตกในวันขึ้น 15 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันที่ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนต่างจัดแจงเตรียมงานอย่างจริงเอาจังทีเดียว แต่ละครอบครัวล้วนแต่มีตัวแทนไปวัด ทั้งนั้นตอนนี้คนแก่ก็สนทนาธรรมะ หนุ่มๆ สาวๆ ก็จะฉวยโอกาสตอนนี้พบปะสังสรรค์การไปร่วมงานที่วัดในระยะนี้ บรรดาพ่อบ้านแม่เรือนจะพากันถือศีลอย่างเคร่งครัด บางคนรับศีล 8 หรือศีล 5ก็ได้ตามศรัทธาและโอกาส ชาวสุรินทร์เรียกว่า กันซง (กัน คือ ปฏิบัติ ถือ ซง คือ พระสงฆ์) รวมแล้วหมายถึงการปฏิบัติพระภิกษุสงฆ์นั่นเอง
สำหรับประเพณีกันซงนี้ พระเณรในวัดจะลงศาลาทุกวัน แล้วจัดเวรกันตั้งแต่พระเถระจนถึงสามเณรมาให้ศีล บางครั้งก็จะจัดเวรกันเทศน์ตามลำดับ เป็นวิธีการที่ดีประการหนึ่งที่จะฝึก พระ เณร ในอันที่จะแสดงออกและทำประโยชน์ให้แก่สังคม ในการเผยแพร่ศาสนา
ในตอนค่ำนับจากวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 หากผ่านไปที่เมืองสุรินทร์จะได้ยินเสียงกลองชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกลองยาว 2 ลูก ตีประโคม ณ สถานที่ชุมนุม เสียงไพเราะ เรียกกลองนี้ว่า สะกวรเบ็ณฑ์ คือ กลองสารท นั่นเอง จะตีกลองนี้ได้ก็ในเดือนสารทเท่านั้น เมื่อสิ้นเทศกาลก็จะเลิกตี บางทีก็มีสังคีตดีดสีตีเป่าขับประโคม มีเครื่องเป่าชนิดหนึ่งเรียกว่า แป็ยฮังโกง เป็นปี่ที่ทำด้วยไม้รวก เสียงทุ้มประสานเสียงกับ แป็ยเยียล (ปี่เล็ก) และ บิณ (ตรัว) มีลักษณะเหมือนกีตาร์ เสียงไพเราะจับใจมาก
ในยามดึกสงัด เมื่อได้ยินเสียงดนตรีเหล่านี้แล้วก็จะรู้สึกซาบซึ้งวิเวก วังเวง เป็นเสียงคล้ายเชิญชวนชาวบ้านว่า มาถือถึงเดือนสารทแล้ว มาทำบุญกันเถิดครั้งถึงแรม 14 ค่ำ เมื่อได้บำเพ็ญวัตร หรือ กันซง สิ้นสุดลงแล้วก็ถึงวันสุกดิบ อันเป็นวันที่สำคัญยิ่ง ทุกบ้านจะจัดเตรียมข้าวต้มและอาหารคาวหวานอื่นๆ เพื่อสังเวยเซ่นสรวงดวงวิญญาณของบรรพชน และนำไปวัดในวันรุ่งขึ้นต่อไป
ต่างก็ตระเตรียมสิ่งของต่างๆ มีภาชนะสำหรับใส่ของ ภาชนะนั้นก็ต้องเลือกที่สวยงามมีค่า เช่น ถาดเงิน ขันเงิน พานเงิน หรือถาดทองสำริด แต่โดยทั่วไปแล้วมักใช้กระเชอซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ เรียกว่า "กันเจอโดนตา" แล้วก็ตกแต่งสำรับอันมีผลหมากรากไม้ อาทิเช่น เผือก มัน สาคู อย่างละนิดอย่างละหน่อย แต่ที่ขึ้นหน้าที่สุดก็คือ ข้าวต้มและกล้วยเกือบทุกชนิด
ข้าวต้มของชาวสุรินทร์นั้นห่อด้วยใบมะพร้าวอ่อน บางทีก็มีกล้วยน้ำว้าและถั่วเป็นไส้ มีความยาว 7-8 นิ้ว ชาวสุรินทร์ เรียกว่า อันซอม หรือ อันซอมเบ็ณฑ์ คือ ข้าวต้มในเดือนสารทนั่นเอง แต่ละครอบครัวทำเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เพื่อนำไปถวายพระแล้วเลี้ยงกันเองในครอบครัว (ในชนบทไม่นิยมทำกระยาสารทกัน)
นอกจากเครื่องเซ่นดังกล่าวแล้วก็มีอีก สิ่งหนึ่งซึ่งขาดเสียไม่ได้ คือ บายเบ็ณฑ์ หรือก้อนข้าวนั่นอง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บายบัตรโบร จากศัพท์สันสกฤตว่า บัตรบรม ซึ่งหมายถึง ก้อนข้าวที่จะเป็นเครื่องเซ่นแก่บุรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว บ้างปั้นเป็นก้อนรวมกับถั่วงา ก้อนใหญ่ประมาณเท่ากับลูกหมากแล้วฝังเหรียญ 50 สตางค์ หรือเหรียญสลึงพอให้แลเห็น เหรียญนี้จะนำไปถวายพระต่อไป ก้อนข้าวนั้นไม่แน่นอนนัก บางคนก็ใช้ 49 ก้อน โดยถือตามที่นางสุชาดา ปั้นถวายพระพุทธเจ้า แต่บางทีก็มากหรือน้อยกว่านั้นก็มี ทั้งนี้แล้วแต่ฐานะของครอบครัว และก้อนข้าวนี้จะใส่รวมกับของสังเวยอื่นๆ เพื่อเอาไปให้พระสวดรัตนสูตร ระงับโรคภัย แล้วก็เอาก้อนข้าวทั้งหมดนี้ไปทิ้งตามท้องนาของตน เพื่อให้มดและปลากิน โดยถือกันว่าเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนาให้งอกงามสมบูรณ์
นอกจากนี้ยังกล่าวคำอุทิศแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นส่วนแห่งเปรตพลีอีกโสดหนึ่งด้วย งานที่วัดในยามเย็นวันนี้ กลองใหญ่ที่วัดจะกระหึ่มเสียงก้องกังวานไปทั่วหมู่บ้าน ผ่านทุ่งนาฟ้ากว้างอันเต็มไปด้วยต้นข้าว ซึ่งกำลังงอกงาม หลังจากเสียงกลองที่วัดได้เงียบลงไป กลองสารทที่บ้านก็ประดังเสียงกึกก้อง ชาวบ้านทั้งผู้เฒ่าและหนุ่มสาวต่างพากันไปแห่พนมหมากที่วัด
การแห่พนมหมาก หรือเรียกว่า แห่ผกา แห่กันเป็นหมู่ แต่ละหมู่บ้านก็แห่ไปตามหมู่บ้านของตนไปทุกๆ หลังคาเรือน ไปถึงหน้าบ้านใครก็ต้อนรับ แสดงความดีอกดีใจเลี้ยงกันตามฐานะ นอกนั้นก็บริจาคจตุปัจจัยไทยธรรม ครั้นได้แห่ไปทั่วแล้วก็แห่ไปรวมกันที่วัด ณ ที่นั้นก็นิมนต์สมภารวัดขึ้นธรรมาสน์ ทำคานหาม แห่นำขบวนโดยรอบโบสถ์ การแห่นี้ก็มีการร่ายรำทำเพลงสนุกสนานรื่นเริง ดอกไม้สำคัญที่ประดับเข้าไปในขบวนแห่ คือ ดอกกัลปพฤกษ์ ซึ่งในหน้านี้จะบานสะพรั่งไปทั่วท้องทุ่งอันเวิ้งว้าง
ยามพลบค่ำในวันแรม 14 ค่ำนี้ ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ทุกคนในครอบครัวจะต้องกลับมาถึงบ้านก่อนประกอบพิธีเซ่นสรวง และต้องมาพร้อมหน้ากันในวันนี้ เมื่อทุกคนกลับจากการทำงานพร้อมกันแล้ว แต่ละครอบครัวก็ไปนั่งพร้อมเพรียงกัน ณ สถานที่จัดเซ่นวิญญาณของบุรพชน โดยถือว่าวิญญาณของปู่ ย่า ตา ทวด ท่านได้มานั่ง ณ เบื้องหน้าลูกหลานพร้อมแล้ว ทุกคนตั้งแต่พ่อบ้านต่างนั่งคุกเข่า ถ้ามีธูปเทียนก็จุดแล้วกราบลงครั้งหนึ่ง พ่อบ้านหรือผู้ปกครองในบ้านนั้นกล่าวขอขมาลาโทษต่อบรรพบุรุษทั้งหลาย มารับเซ่นสรวงสังเวย เมื่อเซ่นสรวงสิ้นสุดลงแล้ว บางทีผู้ใหญ่ในตระกูลนั้นๆ ก็อบรมสั่งสอนลูกหลาน ของตนให้ประพฤติชอบให้มีมารยาทเป็นระเบียบเรียบร้อย พูดจาไพเราะอ่อนโยน และให้ตั้งตนอยู่ตามฐานะ ในเย็นวันนี้บางที่ก็จะเลี้ยงกันสนุกสนานเฮฮา
รุ่งขึ้นทำพิธี จะโดนตา ที่วัด เสียงระฆังวัดประสานกับกลองใหญ่ก้องกังวาน ท่ามกลางความมืดในย่ำรุ่งของวันแรม 15 ค่ำ อีกวาระหนึ่ง เพื่อให้พระลงทำวัตรสวดมนต์เช้า และปลุกชาวบ้านให้ เตรียมตัวไปประกอบพิธีเซ่นวิญญาณบรรพบุรุษที่วัดอีกครั้งหนึ่ง ชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาวต่างพากันหาบหิ้วสิ่งของของตนไปวัดก่อนรุ่งอรุณ เอาของเซ่นเมื่อค่ำวานนี้ไปทั้งหมด ไปทำพิธีที่วัดอีกครั้งหนึ่ง ครั้งถึงวัด แล้วแบ่งข้าวของออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งไว้ถวายพระ และอีกส่วนหนึ่งไว้เซ่นวิญญาณบรรพบุรุษ
พิธีจะโดนตา นั้น คำว่า จะ แปลว่า เท โดนตา แปลว่า ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ บรรพบุรุษ คงหมายความว่า วันนี้เทกระจาดกระเชออุทิศให้คุณตาคุณยายทีเดียว ขณะที่พระสงฆ์กำลังทำวัตรในพระอุโบสถ ชาวบ้านก็ถือสรรพสิ่งที่แบ่งเพื่อเซ่นนั้น ประทักษิณรอบอุโบสถ ครั้นได้เวลาสางซึ่งเป็นเวลารุ่งอรุณ (ชาวบ้านเรียกว่า ประเฮียม เยียกชะโงก ถือว่าเป็นวันและเวลาที่บรรดาวิญญาณของบรรพบุรุษของตนมองดู หรือค้นหาญาติมิตรหรือลูกหลานของตนว่า ได้มาอุทิศส่วนกุศลให้แก่ตนบ้างหรือไม่)
เชื่อกันว่า วิญญาณบรรพบุรุษ หรือ โดนตา ถ้ามาในวันนั้นไม่เห็นลูกหลาน หรือพี่น้องของตนมาบำเพ็ญบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เหมือนคนอื่นแล้ว ก็จะเที่ยวร้องไห้คร่ำครวญไปเจ็ดวันเจ็ดคืน และเมื่อไม่พบญาติของตน ไม่ได้กินข้าวปลาอาหาร ก็จะซูบผอมกลับไปเสวยวิบากกรรมของตนต่อไป เมื่อประทักษิณแล้วก็เอาของเหล่านั้นไปเทรวมกัน ณ สถานที่ ที่จัดไว้ซึ่งถือเป็นการเสียสละและรำลึกถึงบุญคุณของบุพการี อันเป็นการแสดงออกซึ่งกตัญญูกตเวทิตาธรรม อีกด้วย
จะทำพิธีนี้ได้ก็ต่อเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว อันเป็นเวลาแสงเงินแสงทองต่อกัน เรียกเวลานี้ว่า เงียเลีย ประเฮียม เมื่อได้นำของไปถวายและได้รับศีลรับพรพระแล้ว กลองสารทก็เริ่มดังเป็นจังหวะอีกครั้งหนึ่ง ณ ลานวัด ทุกคนจะรู้แก่ใจว่า ดูมวยวัดกันเถิด มวยในวันนี้เรียกว่า ดัลเบ็ณฑ์ (ดัล คือ ชก, มวย) โดยเอาลานวัดเป็นเวที ได้เปรียบคู่ตั้งแต่เย็นวานนี้ หลังจากแห่พนมหมากหรือแห่ผกาแล้ว แต่บางที่ถ้าเปรียบคู่แล้วก็ขึ้นชกในทันที เรียกชกในครั้งนี้ว่า ชกถวายพระหรือจะถือว่าให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษชมก็ได้ แต่ชกไม่เกิน 3 ยก เป็นการประลองผีมือกันเพื่อความรื่นเริง
บางที่ก็เป็นมวยประเภทศึกชิงนางก็มี คือ ได้โกรธเคืองแค้นกันมานาน ตั้งแต่ตรุษสงกรานต์ในเรื่องชิงนางกัน ถ้าเรื่องนี้ล่วงรู้ถึงผู้ใหญ่เข้าก็จะจับตัวมาลองดีกันวันนี้ เพื่อให้คนรักได้ชมว่าใครดีกว่าใคร ครั้นการชกได้สิ้นสุดลงแล้ว กรรมการหรือผู้เป็นประธานในที่นั้นก็จะให้คืนดีกัน แนะนำพร่ำสอน ไม่ให้ทะเลาะวิวาทกัน เพราะเหตุแห่งสตรี
รายการทีวีชุมชน ช่อง ThaiPBS ตอน พิธีแซนโฎนตา
บางที่มีมวยคู่สูงอายุ เป็นมวยชั้นครู (หัวล้านชนกัน) ผู้เปรียบคู่ต้องมีคุณสมบัติพิเศษ คือ อายุต้อง 40 ล่วงแล้ว หน้าผากค่อนข้างกว้าง กติกาการชกต้องใช้หัวเท่านั้นความจริงไม่ใช่ชกแต่ ชน ห้ามใช้มือและเท้า เป็นที่น่าเสียดายมวยรุ่นนี้บัดนี้หายากเสียแล้ว เมื่อเสียงหัวเราะแสดงความรื่นเริงค่อยๆ สงบลง กลองสารทก็ลดเสียงลงเป็นลำดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเงียบสงบลงตามเดิม นั่นเป็นเครื่องหมายว่า สารท หรือ แขเบ็ณฑ์ ได้สิ้นสุดลงแล้ว คงเหลือแต่ข้าวต้มกองใหญ่ ซึ่งเป็นหน้าที่เด็กวัดจะช่วยกันจัดการต่อไป
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง ฮีตเดือนสิบ บุญข้าวสาก ]
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)