คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
จากหนังสือสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง : ๒๕๓๒
โสก หรือ โฉลก คือคำประพันธ์ที่นักปราชญ์โบราณอีสานแต่งไว้ มีโสกสองถึงโสกแปด เป็นโสกที่แต่งไว้เพื่อให้หมอดูได้ดูโชคชะตาของคน สัตว์ สถานที่ และสิ่งของ เป็นตำราหมอดูแบบสำเร็จรูป ก่อนจะดูก็ไม่ต้องมาถามวันเดือนปีเกิด เวลาตกฟาก ไม่ต้องกังวลว่าว่าจะตกราศีอะไร เพียงแต่วัดส่วนสัดของสิ่งนั้นๆ แล้วนับไปว่าตกโสกอะไร ก็ทายได้ทันที ถ้าจะเทียบหมอดูแผนโบราณกับหมอดูแผนปัจจุบัน
หมอดูแผนโบราณมีหลักเกณฑ์พิเศษให้ไว้เป็นประจำ ไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไร ส่วนการดูหมอแบบเลขหางหมา หรือแบบเลขเจ็ดตัว และโหราศาสตร์ดั้งเดิมนั้น ไม่ต้องเป็นห่วง หมอโบราณอีสานชำนาญมาก เกี่ยวกับโสกที่กำลังกล่าวถึงหมอโบราณอีสานก็ชำนาญจนได้ประพันธ์เป็นโสกไว้ดังต่อไปนี้
โสกผู้ชาย ผู้ชายที่มีอวัยวะครบทุกส่วนไม่หูหนวก ตาบอด ปากกืก เรียก ถืกโสก ถ้าพิรุธไป เช่น ตาเหลือก ตาเหลิน ตาหลิ่ว ตาโป ปากแหว่ง สบเว้อ เป็นต้น เรียก บ่ถืกโสก ถ้าไม่ถูกโสกทายตามโสกนี้ ความแม่นยำก็จะลดลงตามส่วน โสกผู้ชายมีดังนี้
ปู่ทื้นขึ้น ย่าทื้นลง สองแขนปลงไว้ที่ต่ำ ชู้พาบสิบพาบซาวแล่นมาสู่ ตุ้มหมู่ได้พอกอง ตุ้มของได้พอล้าน มีบ้านบ่มีนา กาสับหัวกินเลือด หญ้าม้าบ่เหือดคอ ปอแดงมัดกระโด้น ปากพ้นเพื่อนทังเมือง |
ให้เอาเชือกมาวัดส่วนสูงตั้งแต่เท้าถึงหัว ใช้มือของเจ้าของกำเชือก นับแต่โสกต้นไปถึงโสกปลาย สุดแล้วตั้งต้นใหม่ ตกโสกไหนทายตามโสกนั้น ถ้าตก "ชู้พาบสิบพาบซาวแล่นมาสู่" ทายว่าเป็นคนมากชู้หลายเมีย ตก "ตุ้มหมู่ได้พอกอง" ทายว่า ปกครองคนหมู่มากได้ ตก "ตุ้มของได้พอล้าน" ทายว่า จะมั่งมีข้าวของเงินทอง ตก "มีบ้านบ่มีนา" ทายว่า มีแต่ที่อยู่อาศัยที่ทำกินไม่มี
โสกผู้หญิง ผู้หญิงที่มีอวัยวะครบทุกส่วน เรียก ถืกโสก ถ้าไม่ครบเรียก บ่ถืกโสก โสกของผู้หญิงมีดังนี้
กระดิกกระดิ้น พอกินพออยู่ อั้นตู้ตัณหา กาเฝ้าเจ้าฮัก คอหักคอค่าย ก่ายขึ้นก่ายลง เงินเต็มถงแอ่วค้า ขี่ม้าลอบเมือง ทองเหลืองเต็มแท่น เงินบ่แก่นก้นถง ชาตาลงขี้คร้าน บ่ค้านก้นตุง |
ใช้เชือกวัดส่วนสูงเหมือนผู้ชาย แล้วกำเชือกนับโสกไปตามลำดับ สุดแล้วตั้งต้นนับใหม่ ตกโสกไหนทายตามโสกนั้น ถ้าตก "อั้นตู้ตัณหา" ทายว่าชอบกามารมณ์ ขาดผู้ชายไม่ได้หรือไม่ก็เป็นหญิงโสเภณี ตก "กาเฝ้าเจ้าฮัก" ทายว่า เจ้านายเมตตาปรานี ตก "ขี่ม้าลอบเมือง" ทายว่า เป็นนักเที่ยวนักบอกบุญ นักจัดรายการ นักทัศนาจร ตก "เงินบ่แก่นก้นถง" ทายว่า เป็นคนสุรุ่ยสุร่ายใช้จ่ายเกินตัว
โสกกะฎี เรือนเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ เรียก กะฎี กุฎี กุฎิ์ ก็ว่า กุฎีของพระสงฆ์มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรือนของชาวบ้าน ถ้าทำให้ถูกโสกโบราณถือว่าดี โสกกะฎีมีดังนี้
ให้เอาเชือกวัดความยาวของกลอนกะฎี พระเถระผู้เป็นเจ้าอาวาสใช้เท้าเหยียบกลอนกะฎี แล้วนับโสกไปตามลำดับ สุดแล้วตั้งต้นใหม่ ตกโสกไหนทายตามโสกนั้น ถ้าตก "แขกมาโฮม" ทายว่า กุฎีนั้นจะเป็นเหมือนโรงแรมมีแขกมาขอพักอาศัยไม่ขาด ตก "ลูกศิษย์หลายฮ่วมเฮ้า" ทายว่า กุฎีนั้นจะมีพระเณรมาอยู่อาศัยไม่ขาด ตก "ลูกเต้ามิจฉาจาร" ทายว่า ลูกศิษย์ที่อยู่อาศัยในกุฎีนั้นจะย่อหย่อนต่อศีลธรรม
โสกกะได บันไดเรียก กะได กะไดเป็นของสำคัญอย่างหนึ่ง คนโบราณก่อนจะนอนแต่ละคืน จะเอาดอกไม้มาบูชาแม่กะได เพราะถือว่าสถานที่อยู่อาศัยนั้นมีภุมเทวดารักษา การบูชาก็คือมาขอมอบกายถวายตัวต่อภุมเทวดาให้ท่านคุ้มครองลูกหลาน และสิ่งของภายในบ้านเรือน โสกกะได มีดังนี้
ให้เจ้าของเรือนใช้ตีนเหยียบแม่กะไดไปโดยลำดับ ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "ขี้ฮ้ายจนตาย" ทายว่า เจ้าของเรือนจะประสบความทุกข์ยากตลอดจนตาย ตก "ทรัพย์สินมูลมา" ทายว่า จะมั่งมีศรีสุขตลอดไป
โสกกะทอดเล้า เรือนสำหรับใส่ข้าวเปลือก เรียก เล้า การทำเล้าเข้าเปลือกถ้าทำให้ถูกโสก โบราณถือว่าดี โสกกะทอดเล้า มีดังนี้
สามสิบท่งนาแมน แสนปีบ่ได้เข้าเต็มเล้า เก้าปีบ่ได้เข้าเต็มเยีย กินเหมิดเสียบ่ฮอดเข้าใหม่ พี่น้องไฮ็แล่นมาหา ของเต็มพาบ่อยาก ทุกข์ยากย้านบ่มี เป็นเศรษฐีย้อนขายเข้า ตักใส่เล้าเต็มพูน |
ให้เจ้าของเล้าใช้ตีนเหยียบกะทอดเล้า ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "กินเหมิดเสียบ่ฮอดปีใหม่" ทายว่า จะได้ข้าวกินไม่คุ้มปี ตก "เป็นเศรษฐีย้อนขายเข้า" ทายว่า จะบริบูรณ์ด้วยเงินทองเพราะขายข้าว ตก "ตักใส่เล้าเต็มพูล" ทายว่า จะมีเข้าเต็มเล้าเต็มเยียกินบ่บกจกบ่ลง
โสกกะทอดเรือน กะทอดเรือนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญชิ้นหนึ่งของเรือน ส่วนชิ้นอื่นของเรือนถูกโสกหมด แต่กะทอดไม่ถูกโสก ก็ถือว่ายังไม่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นกะทอดเรือนก็ต้องให้ถูกโสกด้วย โสกกะทอดเฮือน มีดังนี้
สินนองมาคื่นเค้า สองเฒ่านั่งทรงทุกข์ ครองความสุขเท่าชั่ว ก้นถงฮั่วเป็นฮู สาวมาชูชมฮัก มักป่วยไข้เสียของ เงินทองกองเหลือที่ไว้ ขี้ไฮ้เกิดเป็นดี เป็นเศรษฐีย่อมพลอยไฮ้ นอนตื่นได้ถงคำ ตอเพียงดินป่งยอด |
ให้เจ้าของเรือนใช้ตีนเหยียบกะทอดเฮือนแล้วนับโสกไปตามลำดับ ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "สินนองมาคื่นเค้า" ทำนายว่า เจ้าของเรือนจะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ ทรัพย์สินไหลมาเทมาไม่ขาด ตก "ก้นถงฮั่วเป็นฮู" ทำนายว่า เจ้าของเรือนรายรับไม่ดี ดีแต่รายจ่าย ตก "ตอเพียงดินป่งยอด" ทายว่า เจ้าของเรือนแม้จะลำบากตรากตรำมาก่อน ก็จะมีความเจริญก้าวหน้ามั่งมีศรีสุขมีเงินทองข้าวของ
โสกกลอนเฮือน กลอนเฮือนเป็นส่วนประกอบชิ้นหนึ่งของเรือน อย่างอื่นถูกโสกหมด แต่กลอนเฮือนไม่ถูกโสกโบราณถือว่ายังไม่ดีพอ จึงจำเป็นต้องให้กลอนเรือนถูกโสกด้วย โสกกลอนเฮือน มีดังนี้
ต่อนคำภู ภูคำหอม หอมสินไว้ ไฮ้เท่าตาย วายพลัดพี่ ได้เอื้อยอี่มาเฮือน ขันคำเลียนเลี้ยงแขก ถ้วยปากแวกตักแกงบอน นอนหงายตีนตากแดด |
ให้เจ้าของเรือนใช้ตีนเหยียบกลอนเฮือนแล้วนับโสกไปตามลำดับ ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "หอมสินไว้" ทำนายว่า เจ้าของเรือนจะเป็นคนประหยัดอดออม รู้จักเก็บหอมรอบริบ เงินทองข้าวของที่ได้มาไว้ ตก "ขันคำเลียนเลี้ยงแขก" ทำนายว่า เจ้าของเรือนจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สินเงินทอง มีเครื่องกินของใช้และเครื่องประดับเช่น เพชรนิลจินดา
โสกกลอง กลองหมายเอากลองของพระสงฆ์ พระสงฆ์ใช้ตีกองเพล ตีกลองแลง ตีประชุมกิจวัดการบ้าน กลองเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ถ้าทำให้ถูกโสกจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่วัดและบ้าน ถ้าทำไม่ถูกโสกจะอาภัพอัปโชค ทำความหายนะมาสู่วัดและบ้าน โสกกลอง มีดังนี้
ให้เจ้าอาวาสใช้ตีนเหยียบตามยาวของกลอง ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "นันทะเภรี" ทำนายว่า ชาววัดและชาวบ้านตลอดลูกเล็กเด็กแดงจะชื่นชมยินดี ตก "ม้างสังโฆ" ทำนายว่า พระสงฆ์ในวัดจะแตกแยกกัน ไม่ยอมร่วมอุโบสถสังฆกรรม ตก "วัดพระเจ้า" ทายว่า วัดนั้นจะสงบเงียบ เหมาะแก่การที่พระสงฆ์จะนั่งเจริญธรรมกัมมฐาน
โสกของลับ ของลับหมายถึงอวัยวะเพศของผู้ชาย อวัยวะเพศของผู้ชายมีความสำคัญต่อเจ้าของเป็นอย่างมาก เหมือนอวัยวะเพศของสตรีก็มีความสำคัญต่อสตรี ผู้ชายจะเป็นคนสำมะเลเทเมา หรือเป็นคนสุภาพเรียบร้อย ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับอวัยวะเพศ อวัยวะเพศนี้ธรรมชาติสร้างมาให้ไม่ดีเราจะแก้ไขให้ดีก็ได้ ไม่เป็นสิ่งที่เกินความสามารถของบุคคล มีอยู่อย่างหนึ่งที่คนเราทำไม่ได้ สิ่งนั้นคือความไม่อยาก คนเราถ้าลงไม่อยากดสียอย่างเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ทำไม่ได้ แต่ถ้ามีความอยากแล้ว สิ่งที่หนักก็กลายเป็นเบา สิ่งที่ยากก็กลายเป็นง่าย โสกของลับ มีดังนี้
ใช้มือนิ้วโป้วัดไปตามความยาว ตกตรงไหนทายตรงนั้น ถ้าตก "บักชายนอนเดียว" ทำนายว่า มักจะเป็นชายโสดไม่ชอบแต่งงาน เพราะถือว่าเป็นความยุ่งยากลำบาก ถ้าเกิดความต้องการเมื่อไรก็ไปจัดการตามเรื่องของมัน
โสกครก ครกมี ๒ ชนิด คือครกใช้ในครัวเรือนสำหรับตำป่นตำแจ่ว อีกอย่างหนึ่งคือครกตำข้าวเปลือก ที่เราเรียกว่า ครกมอง ครกมองนี้คนโบราณใช้มาเป็นเวลานาน แต่ต้องเลิกไปเพราะโรงสีข้าวมาแทนที่ การที่โรงสีข้าวมาแทนที่ครกมองก็สะดวกไปอย่าง แต่ก็เสียไปอย่าง ครกมองได้ทั้งข้าวสาร แกลบและรำ แกลบเอาไปทำปุ๋ยหมัก รำเอาไปเลี้ยงหมู ถ้าไปจ้างโรงสีข้าวเราได้แต่ข้าวสาร แกลบแลพรำโรงสีเอาไป จะอย่างไรก็ตามครกก็ยังมีความจำเป็นอยู่บ้าง โสกครก มีดังนี้
ครกมือใช้เชือกวัดความยาว แล้วใช้มือจับนับไปตามลำดับ ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "มีสินย่อมเข้า" ทำนายว่า เจ้าของจะมีทรัพย์สินพอกินพอใช้ ตก "เป็นเจ้าเพิ่นลือซา" ทำนายว่า จะเป็นเจ้าบ้านสะพานเมืองมีคนเคารพนับถือ
โสกฆ้อง ฆ้องเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความชื่นบานของหัวใจ บอกถึงงานที่เป็นบุญกุศล ใช้ตีกับกลองเวลาตีกลองแลง ตีกลองเดิ็ก ตีกลองประชุม ถ้าตีเฉพาะฆ้องอย่างเดียว ใช้ตีในเวลาฟังเทศน์มหาชาติ ตีงันกลองบวช ตีงันกองหด ตีสมโภชพระ แต่ไม่ใช้ตีในงานศพเพราะงานศพนั้นเป็นงานที่เจ้าภาพต้องทุกข์ เพราะความพลัดพรากจากปิยชน การหล่อฆ้องหรือซื้อฆ้อง ต้องเลือกให้ถูกโสก ถ้าถูกโสกโบราณถือว่าเป็นศิริมงคล โสกฆ้อง มีดังนี้
จะซื้อฆ้องถวายวัด ผู้ซื้อฆ้องต้องใช้เชือกวัดผ่าศูนย์กลางฆ้อง แล้วใช้มือกำเชือก นับโสกไปตามลำดับ ใบไหนตกโสกดีซื้อใบนั้น ถ้าตก "สิทธิมังคละโชค" ทำนายว่า จะมีความสำเร็จมีศิริมงคลและมีโชคลาภ ตก "เสียงดังกลั้วเท่าแผ่นธรณี" ทำนายว่า เสียงฆ้องจะดังไปทั่วดินแดนที่เสียงฆ้องดังไปถึง ตก "ตีออกบ้านผาบเอาชัย" ทายว่า เมื่อใช้ตีในเวลาออกรบทัพจับศึกจะได้ชัยชนะมาสู่บ้านสู่เมือง
โสกดาบ ดาบคือมีดยาว มีด้ามสั้นฝักยาว มีคมข้างเดียว คนโบราณมักใช้ดาบในการรบทัพจับศึก คนโบราณอีสานมักไปค้าขายต่างถิ่น เช่น ไปขายงัว ขายควาย ขายน้ำย้อม เวลาไปค้าขายจะมีหัวหน้าคนหนึ่ง หัวหน้านี้เรียก นายฮ้อย นายฮ้อยจะพายดาบออกเดินไปก่อน ใครเห็นก็เกรงกลัวไม่กล้าทำอันตรายได้ การซื้อดาบต้องให้ถูกโสก ถ้าไม่ถูกโสกจะเป็นอันตรายแก่เจ้าของ โสกดาบ มีดังนี้
ฮ่มโพธิ์ ฮ่มไฮ ไกวแขนไปก่อนเท้า น้าวชู้เพิ่นมาชม ชมให้ชมทังเครื่อง เดื่องเดื่องดาบฟันผี ดาบบ่ดีฟันเจ้า ดาบบ่เข้าฟันเมีย ฟันเมียเสียพี่น้อง |
ใช้มือกำดาบตั้งแต่ด้ามดาบไปจนถึงปลายดาบ เล่มไหนตกดีเลือกเอาเล่มนั้น ถ้าตก "ดาบบ่ดีฟันเจ้า" ทำนายว่า จะแพ้เจ้าของ ถ้าตก "ดาบบ่เข้าฟันเมีย" ทำนายว่า จะแพ้ลูกแพ้เมีย ตก "ฮ่มโพธิ์ ฮ่มไทร" ทายว่า ดี เป็นศิริมงคลดี
โสกตาชั่ง ตราชั่งของคนโบราณนั้นได้แก่ ชิง ชิงสำหรับชั่งสิ่งของ มีข้าวปลา อาหาร เป็นต้น การใช้ชิงชั่งเป็นความยุติธรรมแก่ผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ก็มีคนโกงตาชั่งอยู่ คนที่โกงตาชั่งโบราณว่า ลูกโต้นชิงจะไปอัดตาทำให้มันตาบอด ถ้าตามันไม่บอดก็เป็นบาปกรรม เพราะมันโกง ถ้าจะซื้อชิงให้ซื้อชิงที่ถูกโสก โสกของชิง มีดังนี้
ให้ใช้มือกำหางชิงไปถึงหัวชิง แล้วนับโสกไปตามลำดับ ชิงอันใดตกโสกดีให้เอาอันนั้น ถ้าตก "ปองเอาหนี้ และสี้ก้นความ่" อย่าเอา เพราะเป็นชิงที่ไม่เที่ยงตรง ทำให้ขาดทุนและวิวาททุ่มเถียงกัน
โสกถง ย่าม คือ ถง ถงมีประโยชน์สำหรับใส่สิ่งของ มีเสื้อผ้า เป็นต้น และใส่หมากพลู บุหรี่ เวลาไปค้าขายหรือไปธุระต่างถิ่น คนโบราณจะต้องมีถงพายไปด้วย ถงที่ดีต้องเป็นถงที่ถูกโสก โสกถง มีดังนี้
ใช้มือกำตั้งแต่ก้นถงไปปลายถง ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "ผ้าทรงขึ้นบ่า" และ "ห้อยบ่าแล้วแซงแซะไปมา" ทายว่า ไม่ดี เมื่อพายถงแล้วจะหาทางไปให้ได้
โสกปืน ปืนเป็นอาวุธที่สำคัญใช้ป้องกันตัว ป้องกันครอบครัวและใช้รบทัพจับศึก มีไว้ในบ้านก็ป้องกันโจรผู้ร้าย เวลาไปค้าขายสะพายติดตัวไปป้องกันโจรผู้ร้าย เวลาเข้าป่าใช้ยิงนกยิงเนื้อ ถ้ามีปืนถูกโสกถือไปค้าขายก็ปลอดภัย ยิงนกยิงเนื้อก็ได้นกได้เนื้อมากิน แต่ต้องเลือกซื้อปืนที่ถูกโสก โสกของปืน มีดังนี้
ใช้โป้มือวัดแต่ด้ามปืนไปถึงปลายปืน ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น โสกปืนมีหลายอย่างชอบแบบไหนก็เลือกเอาแบบนั้น ถ้าตก "งั้วเงี้ยแบกมาดาย" ทายว่า ได้สะดวกสบายไม่ลำบากกรากตรำ ตก "หน้าเขียงก้อม" ทายว่า เป็นปืนที่มีโชคลาภ วันไหนแบกไปไม่มาเปล่า ได้เนื้อได้นกมาเต็มกำลัง ตก "เหล็กยาวฮียิงสัตว์ตายพอฮ้อย" ทายว่า เป็นปืนที่มีโชคลาภมาก ได้เนื้อนกมาแต่ละวันไม่ต่ำกว่าสิบกว่าร้อย
โสกแป้น กระดานปูเฮือนเรียก แป้น แป้นปูเรือนโบราณถือเป็นสำคัญนัก การปูเรือนให้นับเอาแป้นเป็นแผ่นๆ ถ้าไปตกแผ่นไม่ดี เจ้าของเรือนก็ไม่ดีไปด้วย เจ้าของตำราเล่าให้ฟังว่า หลานสาวของเขาปลูกเรือนใหม่ หลานคนนี้เป็นคนดี ไม่เคยไปเล่นที่ไหน เมื่อปลูกเรือนแล้วอยู่กับเรือนไม่ได้ ต้องไปเล่นที่อื่นๆ ค่ำๆ จึงกลับมาเรือน เมื่อเจ้าของตำราไปตรวจดูเรือนนับแป้นปูแผ่นสุดท้าย ตกหนอนเจาะก้น จึงจัดการแก้ไขใหม่ นับแต่แก้ไขแล้วไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นแก่หลานสาวเขาอีก โสกแป้น มีดังนี้
ให้นับแผ่นแป้นเรือนพร้อมทั้งว่าโสกไปตามลำดับ ตกโสกไหนดี เอาโสกนั้น คือให้นับกระดานเป็นแผ่นๆ ไป ถ้าตก "ปู่หอม ย่าหอม" ทายว่า ปู่กับย่าจะรักจะสงสาร มีอะไรก็อยากให้อยู่ให้กิน ตก "หอมสินไว้" ทายว่า ข้าวของเงินทองที่ตกมาถึงเรือนนั้นจะไม่เสียหายเพราะโจรรัก เพราะไฟไหม้ หรือเพราะอันตรายใดๆ ถ้าตก "ปากอมบอน" ทายว่า เจ้าของเรือนชอบนินทาว่าร้ายเพื่อนบ้าน
โสกผ้านุ่ง ผ้านุ่งหมายถึงทั้งเสื้อและผ้า เสื้อผ้าเป็นของจำเป็นไม่เฉพาะพระภิกษุ แม้คฤหัสถ์ก็มีความจำเป็นเช่นกัน เพราะเครื่องนุ่งห่มนั้นมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น กันหนาว กันร้อน กันเหลือบยุง และสัตว์กัดทุกชนิด และกันความละอาย นอกจากนั้นก็เป็นเครื่องประดับตกแต่งให้สวยงามด้วยเสื้อผ้า นอกจากสวยงามแล้วโบราณยังสอนให้ทำให้ถูกโสกด้วย โสกผ้านุ่ง มีดังนี้
ผ้าห่อแฮ่ |
ให้ใช้มือกำแต่กกไปถึงปลาย ดีตรงไหนเอาตรงนั้น ถ้าตก "ผ้าไปค้าเสียห้าพันคำ" ทายว่า ไม่ดีไม่เป็นศิริมงคล ตก "ผ้าก้องแขนคำเก้ากิ่ง" ทายว่า เป็นผ้าดีมีศิริมงคล นุ่งแล้วนำลาภผลเงินทองข้าวของมาให้ ตก "ผ้าแต่มิ่งมารดา ผ้าปิตาปันให้" ทายว่า เป็นผ้าที่ดีควรจะเก็บรักษาไว้ เพื่อให้เป็นมรดกตกทอดลูกหลานต่อไป ตก "ผ้าได้แล้วห่มผีนอน" ทายว่า ไม่ดีจะเจ็บไข้ได้ป่วยหรือทุกข์ร้อนลำบากใจ
โสกไม้คาน ไม้คานมี ๒ ชนิด ชนิดที่ทำด้วยไม้ไผ่ใช้หาบน้ำและหาบสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ อีกอย่างหนึ่งไม้คานที่ทำด้วยไม้แก่น ไม้คานที่ทำด้วยไม้แก่นโบราณเรียก ไม้คานสะบู ใช้สำหรับหาบของหนักๆ เช่น หาบกระสอบข้าว หาบมะพริกเป็นกระสอบ โสกไม้คาน มีดังนี้
ใช้มือคืบไปตามลำดับ ตกดีตรงไหน เอาตรงนั้น ถ้าตก "ไม้แคลน ยากแค้น" ทำนายว่า ไม่ดี จะลำบากตรากตรำ ตก "มั่งมี" ทำนายว่า ดี จะประสบโชคลาภสวัสดีมีชัยตลอดไป หาบของไปค้าขายก็จะได้กำไรดี
โสกเฮือ เรือเป็นพาหนะที่จำเป็นชนิดหนึ่ง ทางเดินของคนเรามี ๓ ทาง ทางน้ำต้องใช้เรือ ทางบกใช้เดินหรือขี่เกวียน ขี่รถ ทางอากาศต้องใช้เครื่องบิน คนเราเกี่ยวข้องอยู่กับน้ำมาตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าจะทำเรือหรือซื้อเรือมาใช้ โบราณสอนให้เลือกเรือที่เป็นศิริมงคล เรือที่เป็นศิริมงคลคือเรือที่ถูกโสก โสกเฮือ มีดังนี้
ซื้อถืกขายแพง กินแหนงเพราะความค้า ขี้ข้าเกิดเป็นไท หีนผาไหลแล่นต้อน ก้อนคำแน่นใส่ถง ข้าวถงลงทักทั่น หมั่นค้าได้มาแถม เฮือแซมล่มเมื่อจอด ไปฮอดแล้วย่อมมาดี เป็นเศรษฐีย่อมพลอยไฮ้ นอนตื่นได้ถงความ |
ใช้เท้าของตนเหยียบจากหัวเรือไปท้ายเรือ ตกลำไหนดีเอาลำนั้น ถ้าตก "วื้อถืกขายแพง" ทำนายว่า ดี ถ้าบรรทุกของไปค้าขายจะร่ำรวย ตก "ขี้ข้าเกิดเป็นไท" ทำนายว่า ดี ถึงจะทุกข์ยากปากแห้งมาก่อนก็จะเป็นคนมั่งมีในภายหลัง ตก "ก้อนคำแน่นใส่ถง" ทายว่า ดีมาก ซื้อง่ายขายคล่องได้กำไรดี ตก "เป็นเศรษฐีย่อมพลอยไฮ้" ทายว่า ถึงจะเป็นเศรษฐีมั่งมีมาก็จะประสบความจิบหายใหญ่หลวง เช่น เรือล่มข้าวของและคนในเรือจมน้ำตาย
โสกเสาเฮือน เสาเฮือนมีความสำคัญยิ่งยวดกว่าเครื่องเรือนทุกชิ้นส่วน เพราะเสาอุ้มเครื่องเรือนทุกส่วนไว้ ถ้าไม่มีเสาอย่างเดียวก็ทำเรือนไม่ได้ เสาที่ถือว่าสำคัญที่สุด คือเสาแฮก รองลงมาก็เสาขวัญ ในการจะหาไม้มาทำเรือน โบราณให้เลือกไม้เสาเป็นพิเศษกว่าอย่างอื่น ถ้าเลือกได้ดีก็จะประสบความสุขสวัสดี คือ เลือกเอาเสาที่ถูกโสก โสกเสา มีดังนี้
ให้เจ้าของใช้ตีนเหยียบต้นเสาไปปลายเสา ตรงไหนเป็นศิริมงคลเอาตรงนั้น ถ้าตก "สุโข" และ "สิทธิลาโภ" ทำนายว่า เจ้าของเรือนและคนในเรือนจะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน จะทำมาค้าขายร่ำรวย ตก "โจโร" และ "มัจจุ" ทายว่า ไม่ดี จะถูกผู้ร้ายอ้ายขโมยมาลักเอาสิ่งของเงินทอง และวัวควาย คนในเรือนมักเจ็บไข้ได้ป่วยต้องรักษาพยาบาลกันอยู่ตลอด
โสกสร้างวัด วัดเป็นสถานที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ และเป็นสถานที่พุทธศาสนิกชนมารวมกันทำกิจพุทธศาสนา เช่น ทำบุญให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา ถ้าเลือกเอาสถานที่เป็นชัยภูมิคือ เหมาะสม ไม่แคบและไม่กว้างเกินไป มีอากาศถ่ายเทได้ดี
สำหรับสถานที่ที่จะสร้างวัดนี้ ถ้าเลือกเอาทางเหนือบ้านดี เพราะพระสงฆ์จะมีอำนาจเหนือกว่าชาวบ้าน ถ้าตั้งอยู่ทิศใต้บ้าน พระสงฆ์ในวัดจะอยู่ภายใต้อำนาจของชาวบ้าน ถูกชาวบ้านจูง ถ้าตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างบ้าน พระสงฆ์จะไม่มีอำนาจเลย แล้วแต่ชาวบ้านจะจูงไป จึงควรเอาใจใส่เป็นพิเศษ อย่าเห็นแก่ความมักง่าย ถ้าสร้างลงไปแล้วจะโยกย้ายทีหลังเป็นการลำบาก เพราะวัดเป็นของส่วนกลาง ระหว่างบ้านกับวัด โสกสร้างวัด มีดังนี้
ให้เอาเชือกวัดความยาวของสถานที่ที่จะสร้างวัดมาทั้งสี่ด้าน แล้วผู้เป็นหัวหน้าใช้วาของตนวัดกับเชือก ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "วัดวา" และ "อาราม" ทำนายว่า ดี จะเจริญรุ่งเรืองดี ตก "แก้วดวงดี" และ "สีบ่เศร้า" ทายว่า จะเป็นที่เชิดหน้าชูตาของบ้านเมือง พระสงฆ์ที่มาอยู่อาศัยจะเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต มีศีลธรรมที่ดี ตก "เหง้าเสมร" ทายว่า จะมีเจ้าอาวาสที่ครองวัดมีอายุยืน และมีศีลธรรมเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ตก "เถรบ่อยู่" ทายว่า ไม่ดี เจ้าอาวาสมักถูกชาวบ้านเบียดเบียน
โสกเสื่อสาดอาสนา ฟูกคือผ้าที่ยัดด้วยนุ่นเรียก เสื่อ เสื่อที่ทอด้วยต้นผือ ต้นกก ปอกล้วย เรียก สาด ผ้าปูนั่งที่ยัดด้วยนุ่นกว้างยาวศอกคืบ เรียก อาสนา อาสนะ ก็ว่า เสื่อสาดอาสนาทั้งสามอย่างมีความจำเป็นแก่คนเรา การทำก็ต้องทำให้ถูกโสก โสกเสื่อสาดอาสนา มีดังนี้
ศรีมูลมานั่งเฮ้า |
ถ้าเป็นเสื่อหรืออาสนะที่ลายเป็นตาๆ ให้นับตาของเสื่อหรืออาสนะนั้น ตกตรงไหนดีเอาต้นนั้น ถ้าเป็นสาดให้ใช้คืบวัด ถ้าตก "ศรีมูลมานั่งเฮ้า" ทำนายว่า ดี จะได้รับมรดกจากพ่อแม่ ตก "นอนสุขกินเทาชั่ว" ทำนายว่า ดี จะอุดมสมบูรณ์ตลอดอายุ ตก "ถงเป้งฮั่วเป็นฮู" ทายว่า ไม่ดี จะเสียมากกว่าได้ ตก "ขี้ไฮ้เกิดเป็นดี" ทายว่า ดี ถึงตกทุกข์ได้ยากมาก่อนก็จะประสบความสุขกายสบายใจตลอดอายุขัย
โสกหน้าผาก หน้าผากเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอวัยวะส่วนอื่น บางคนหน้าผากแคบ บางคนหน้าผากกว้าง บางคนสั้น บางคนยาว เพราะความไม่เท่ากันไม่เหมือนกันนี้ คนเราจึงดีไม่ดีต่างกัน หน้าผากมีโสก มีดังนี้
ให้ใช้นิ้วโป้ของตัวเองวัดจากคางไปถึงตีนผม ตกโสกไหน ทายตามโสกนั้น ถ้าตก "เงินหมื่น" และ "เงินแสน" ทำนายว่า ดี คนนั้นจะมั่งมีด้วยข้าวของเงินทอง และยศฐาน์บรรดาศักดิ์ ตก "แบนที่ลี้" และ "เป็นหนี้เท่าตาย" ทายว่า ไม่ดี หากินไม่พอปากพอท้อง ต้องกู้หนี้ยืมสินคนอื่น จะประสบแต่ความทุกข์ยากอัตคัดขาดแคลน ตั้งแต่เกิดจนตาย อวัยวะนอกจากหน้าผากนี้ก็มีความสำคัญเหมือนกัน แต่ไม่นำมาเล่าไว้ในที่นี้ เพราะในที่นี้ต้องการจะพูดถึงเฉพาะโสกเท่านั้น
โสกแห แหเป็นเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง โบราณสานด้วยป่าน ปอ เทือง การสานจะสานให้ตาห่างหรือถี่แล้วแต่ต้องการ มีข้อที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง บ้านใดที่ใช้แหถี่ บ้านนั้นไม่มีปลาตัวโต และเป็นบ้านที่อัตคัดขัดสนน้ำ ถึงจะมีบวกหนองบ้างก็มีน้ำน้อย มีน้ำห้งพอเอาะเจ๊าะแอะแจ๊ะ มีเขียดหมากแอ่งกับเขียดจ่านาเฝ้าอยู่ การสานแหต้องการให้กว้างจึงต้องสานแขด้วย แหถ้าทำให้ถูกโสกก็ดี ถ้าทำไม่ถูกโสกก็ไม่ดี โสกของแห มีดังนี้
ให้นับแขแหจากปากแหไปถึงจอมแห ถ้าตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "มาเปล่า ผักเหมือด" และ "บี่หัว" ทำนายว่า ไม่ดี ตกแหตลอดวันไม่ได้ปลา ถึงได้ก็ได้น้อยไม่พอกิน ต้องอาศัยผักเป็นที่พึ่ง ถ้าตก "เน่าชาน คานหัก" และ "แม่ครัวนั่งตากแดด" ทายว่า ดี มีโชคลาภมากเหลือเกิน เหลืออยากแจกญาติพี่น้องและขายไปเท่าไหร่ก็ไม่หมด
โสกอู่ อู่คือเปล อู่เป็นที่นอนของเด็กเล็ก การทำอู่โบราณต้องให้ถูกโสก โสกอู่ มีดังนี้
การสานอู่ของคนโบราณใช้สานด้วยไม้ไผ้ สานเป็นตาหมากกอก อากาศเข้าได้โดยรอบด้าน ถ้าสานทึบจะทำให้เด็กไม่ชอบ ให้นับตาอู่เป็นเกณฑ์ นับจากหัวลงไปตีน ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "ตาอู่ ตาแอง" และ "ตาแสนส่ำนอนสำบาย" ทำนายว่า ดี กล่อมไกวชั่วครู่เด็กก็นอนหลับ และหลับสบาย ไม่มีหลับๆ ตื่นๆ ถ้าตก "ตาแมงแคงไห้ฮ่ำ" ทายว่า ไม่ดี พอยกเด็กลงอู่เด็กจะร้องไห้เหมือนมีอะไรมากัดกิน หรือไม่ก็ไม่หลับไม่นอนเลยมีแต่ร้องไห้
เคราะห์ ความหมายคือ สิ่งที่เรายึดติดในจิตโดยการเชื่อมาตามประเพณี เคราะห์ เป็นคำกลาง ส่วนที่ดีเรียก ศุภเคราะห์ หรื สมเคราะห์ ส่วนไม่ดีเรียกว่า บาปเคราะห์
เข็ญ คือความทุกข์ยาก ความลำบาก ความไม่สบายกาย สบายใจ แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่มันเป็นความทุกข์ทรมานจากการไม่สมหวัง ปราชญ์โบราณบอกว่า "เคราะห์เมื่อเว็น เข็ญเมื่อค่ำ"
เคราะห์กับเข็ญ ความแตกต่างระหว่างเคราะห์กับเข็ญ ก็คือ เคราะห์มีทั้งหนักและเบา หนักอาจถึงตาย แต่เข็ญนั้นมัลักษณะน่ารำคาญ เหมือนเศษอาหารติดฟัน หรือก้างตำคอ เอาออกไม่ได้ก็พะวงอยู่อย่างนั้น
ลาง คือสิ่งบอกเหตุที่จะให้เจ้าตัวรู้ว่า เคราะห์หรือเข็ญจะเกิดแก่ตน ลางอาจจะบอกให้เห็นทั้งในเวลาตื่นหรือเวลาหลับ ตื่นคือการมองเห็นด้วยตา หลับคือการนอนฝัน ลางมีทั้งดีหรือไม่ดี เมื่อพบเห็นลางจะต้องมีสติไม่ประมาท ลางนี้ภาษาพระท่านเรียกว่า "นิมิตร"
ลางนี้ถ้าเห็นให้รีบแก้อย่าให้ข้ามคืน จะไม่มีอะไรแต่ถ้าปล่อยให้ข้ามคืนจะเป็นเคราะห์เป็นเข็ญ และจะต้องแก้ด้วยการเสียเคราะห์ เสียเข็ญ จึงจะพ้นเคราะห์นั้น
การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อสร้างกำลังใจ ให้พ้นเคราะห์โศก มีโชคชัย
ยาม หรือ เวลา ที่ปราชญ์โบราณท่านกล่าวไว้ ว่าจะเป็นลางร้าย หรือลางดี มีดังนี้
เห็นยามเช้าโชคเจ้าเหลือหลาย | เห็นยามงายเคราะห์หลายเหลือล้น |
เห็นยามแถตึกแหดูม่วน | โชคก็ด่วนมาฮอดมาเถิง |
เห็นยามเที่ยงใจเบี่ยงพาลา | มันจักเป็นโรคามรณาอันฮ้าย |
เห็นยามตุดซ้ายความฮ้ายบ่มี | |
เห็นยามแลงใจแข็งท่อฟ้า | ได้แก่ลุงและป้าอาวอาเฮาแน่ |
เห็นยามแถใกล้ค่ำโชคพ่ำพอใจ | |
เห็นยามค่ำกรรมใส่คนเห็น | เป็นกรรมเวรเก่าหลังมาฮอด |
คำอธิบายยาม ตามที่กล่าวถึงข้างบนนี้ หมายถึงเวลาดังต่อไปนี้
ยามตุดตั้ง หรือเวลาเช้า |
06.00 - 07.30 น.
|
ยามกองงาย หรือยามงาย |
07.30 - 09.00 น.
|
ยามแถใกล้เที่ยง |
09.00 - 10.30 น.
|
ยามเที่ยง |
10.30 - 12.00 น.
|
ยามตุดซ้าย หรือเวลาบ่าย |
12.00 - 13.30 น.
|
ยามกองแลง |
13.30 - 15.00 น.
|
ยามแถใกล้ค่ำ |
15.00 - 16.30 น.
|
ยามค่ำ |
16.30 - 18.00 น.
|
ลางที่เกิด หรือ สังเกตเห็น จะได้แก่ใคร หรือเกิดขึ้นกับใคร เกิดแก่ตนเอง หรือญาติคนอื่นๆ ให้ดูตามวัน ดังนี้
ถ้าเห็นวันอาทิตย์ จะเกิดแก่เพื่อนบ้านหรือคนอื่น | ถ้าเห็นวันจันทร์ จะเกิดแก่มิตรสหาย |
ถ้าเห็นวันอังคาร จะเกิดแก่พ่อแม่และตายาย | ถ้าเห็นวันพุธ จะเกิดแก่ลูกเมียในครอบครัว |
ถ้าเห็นวันพฤหัสบดี จะเกิดแก่ญาติพี่น้อง | ถ้าเห็นวันศุกร์ จะเกิดแก่วัวควายและสัตว์เลี้ยง |
ถ้าเห็นวันเสาร์ จะเกิดแก่ตัวผู้เห็นเอง |
การเสียเคราะห์นั้น ท่านให้จัดเครื่องสักการะเพื่อบูชาพระเคราะห์ให้หายเคราะห์ ดังนี้
พิธีกรรมนี้จะทำกันที่บ้านคนป่วย (ผู้ที่มีเคราะห์) ทำให้ได้ครั้งละหลายคน แต่ต้องเอาเครื่องบูชาดังกล่าวจากทุกคน เวลาทำควรทำในเวลาเช้าอย่าให้เลยเที่ยงวัน ทำได้ทุกวัน เว้นวันจม วันเดือนดับและวันเก้ากอง แต่ที่นิยมคือ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ และวันเสาร์
ความเสียเคราะห์ จะเป็นการกล่าวบูชาเทวดา ภูติผีเจ้าชาตา ให้ลงมาเอาเครื่องบูชาที่ได้เตรียมไว้นี้ ให้เคราะห์หายไปจากผู้ป่วยไข้โดยไว มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงตลอดไป
การเสียเข็ญให้เตรียมสิ่งของ เพื่อการปัดเป่า ดังนี้
แล้วว่า คำเสียเข็ญ ดังนี้
สรรพเข็ญ สรรพเคราะห์ แล่นมาพานปู่แก้ ปู่ปัด สรรพลางแล่นมาข้อง ปู่แก้ปู่ปัด เข็ญแล่นต้องเถิงตนเข็ญคนต้องเถิงเนื้อ ปู่แก้ปู่ปัด ปัดอันฮ้ายให้หนี ปัดอันดีให้อยู่ โอมจินจักมึงมาฮ้องให้เป็นภัย หมาจังไฮมึงมาหอนให้เป็นโทษ มึงมาฮ้องประโยชน์สิ่งอันใด โอมสวหายะ ตั้งแต่นี้เมือหน้าอย่าได้มีศัตรูมาตัด เทวทัตอย่าได้มาพาน ฝูงมารอย่าได้มาใกล้ สรรพเข็ญฮ้ายขอให้พ่ายหนี สัพพะสิทธิ ภะวันตุ เต ฯ
ตัวอุบาทว์ นั้นจะหมายถึงสิ่งที่แสดงออกเป็นลาง เช่น ฮุ้งลงกินน้ำในโอ่งภายในบ้าน ไก่ป่าบินเข้าบ้าน งูเลื้อยเข้าบ้าน นกตกลงมาตายต่อหน้า งูตกลงมาห้อยบ่า หมาจิ้งจอกเห่า นึ่งข้าวขาวกลายเป็นสีแดง หม้อนึ่งร้อง ควายนอนขี้สีก (ปลัก) ใต้ถุนบ้าน หมูจะขึ้นบ้าน กาโฉบหัว ฯลฯ เหล่านี้ก็คืออุบาทว์ คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นลางไม่ดี โบราณมักจะพูดกับบุคคลที่พบกับสิ่งเหล่านี้ว่านั้นแหละอุบาทว์กินหัวมัน ดังนั้น คำว่า "อุบาทว์" ก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นลางไม่ดีนั่นเอง
การสวดอุบาทว์ นั้นนิยมกันตามพิธีพุทธ คือนิมนต์พระมาสวดปริตรมงคลธรรมดา แต่เมื่อจบแล้วให้พระท่านอ่านหนงสืออุบาทว์ ถ้าไม่มีให้สวดไชยน้อย ไชยใหญ่ หรือสวดยันทุนนิมิตัง ฯลฯ 3 รอบ หรือ 7 รอบ แล้วแต่อุบาทว์นั้นน้อยใหญ่ขนาดไหน ให้ทำน้ำมนต์ และประพรมน้ำมนต์ด้วยชยันโต ฯลฯ เพื่อเป็นสิริมงคลซ้ำอีกดีนัก เวลาทำให้แต่งคายด้วยขัน 5 ขัน 8 (ดอกไม้ขาว 5 คู่ เทียน 5 เล่ม ดอกไม้ขาว 8 คู่ เทียน 8 คู่) ใส่ภาชนะ ไม่ให้ใช้โต๊ะหมู่อย่างที่ทำกันในสมัยปัจจุบัน
การคัดเวรตัดกรรม กรรมเป็นสิ่งที่ติดตัวคนมาจากอดีตชาติ มาชาตินี้ลุ่มๆ ดอนๆ หรือเจ็บไข้ได้ป่วยเรื้อรังทั้งๆ ที่ก็รักษาสุขภาพอนามัยดีแล้ว โบราณท่านว่า ความทุกข์ประเภทนี้เกิดเพราะกรรมเวรตัดได้ยาก แม้กระนั้นโบราณท่านก็ว่าตัดได้ โดยแนะนำพิธีตัดกรรมตัดเวรให้ปฏิบัติดังนี้
จัดเครื่องขัน 5 โทงหน้างัว (สามเหลี่ยม) 4 โทง ข้าวดำ ข้าวแดง 4 ก้อน อย่างละ 2 ก้อน ใส่ในโทง (โทงเล็กๆ กะใส่ลงในหม้อได้) หม้อดินใหม่ๆ 1 ใบ มีด 4 เล่ม ด้ายสายสิญจน์ 4 เส้น นิมนต์พระมา 4 รูป ให้เขียนในกระดาษว่า
เจ้ากรรมนายเวรของนายหรือนาง ........................ (ผู้ที่จะตัดกรรมตัดเวรนั้น) ใส่ลงในหม้อแล้วเอาสายสิญจน์ผูกที่หม้อ แล้วโยงด้ายทั้ง 4 เส้นมาไว้ตรงหน้าพระทั้ง 4 รูป อาราธนาพระสงฆ์สวดมนต์ประกาศว่า ต่อไปนี้จะตัดกรรมตัดเวรให้ ......................... ขอให้เจ้ากรรมนายเวรให้อโหสิกรรมแก่ ........................... ต่อไปนี้ให้เลิกลา อย่ามีเวรมีกรรมแก่กันและกันเลย "
แล้วจึงสวดคาถาตัดกรรมว่า
กัมมัสสะโกมหิ กัมมะทายาโท กัมมะโยนิ กัมมะพันธุ กัมมะปะฏิสสะระโณ ยัง กัมมัง
กะริสสามิ กัลยาณัง วาปาปะกังวา ตัด "
ตอนนี้ให้ตัดด้ายไป 1 ครั้ง (ยาวเท่ากำมือตอนกำตัดนั้น) ส่วนที่อยู่ในมือคือ กรรม ตัดแล้วก็ใส่ลงในหม้อไป แล้วสวดตัดเวรว่า
นะ หิ เวเรนะ เวรานิ สัมมันตีธะ กุทาจะนัง อะเวเรนะ จะ สัมมันติ เอสะ ธัมโม สะนันตะโน ตัด "
แล้วเอามีดตัดด้ายอีกเป็นการตัดเวร เสร็จแล้วเอาด้ายสายสิญจน์และเอาโทงลงในหม้อแล้วเอาไปลอยน้ำ เป็นการปล่อยกรรมปล่อยเวร ท่านว่าดีนัก
ราหู เป็นเทพฝ่ายมารหรือที่เรียกว่า "เทวบุตรมาร" มีผิวดำ มีฤทธิ์มาก สามารถบดบังพระจันทร์และพระอาทิตย์ได้ ตามตำนานเล่าว่า เมื่อคนอายุครบรอบ 12 ปี จะมีราหูมาเสวยอายุหรือแทรกครั้งหนึ่ง คนที่ราหูเสวยอายุนั้นจะมีความทุกข์ร้อนกลุ้มอกกลุ้มใจ ไข้ ป่วย เกิดอุบัติเหตุเจ็บหรือตายก็มี ดังนั้น โบราณท่านจึงมีธรรมเนียมส่งราหู เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข นิยมทำกันในวันเสาร์
พิธีกรรมในการส่งราหู ให้จัดหาเครื่องเหล่านี้ คือ ขัน 5 (ดอกไม้ขาว 5 คู่ เทียน 5 เล่ม) เทียนฮอบหัว 1 เล่ม ค่าคีง 1 เล่ม ค่าศอก 1 เล่ม ค่าคืบ 1 เล่ม ค่าใจมือ 1 เล่ม เอาฝ้ายสีดำเป็นไส้เทียน โทงหน้างัว (สามเหลี่ยม) ยาวข้างละ 1 ศอก (ของคนป่วย) 1 อัน ทำแกงส้ม 12 ห่อ แกงหวาน 12 ห่อ ใส่ลงในโทง ข้าวสำหรับใส่บาตร 1 อัน ขนมส่งราหู (ข้าวปาดสีดำ) 12 ห่อ ใส่รวมไว้ในชั้นข้าวตักบาตร
จากนั้นให้ไปนิมนต์พระมา 1 รูป และบอกรายละเอียดแก่ท่านไว้ล่วงหน้า เมื่อเช้าวันเสาร์ให้พระมาตามนิมนต์ ครั้นมาถึงพระจะถามผู้ที่ราหูแทรก ซึ่งกำลังรอใส่บาตรอยู่นั้น ก่อนใส่บาตรว่า "โยม เห็นราหูไหม?" โยมก็จะต้องตอบว่า "ถามทำไมขอรับ?" พระจะตอบว่า "อาตมามารับราหู" โยมจะตอบว่า "ราหูอยู่ที่นี่" พระกล่าวว่า "ส่งตัวมาให้อาตมาจะนำกลับวัด" โยมตอบรับว่า "ครับ" แล้วจึงใส่บาตร ให้วางโทงนั้นเอาไว้ข้างๆ
พอใส่บาตรเสร็จก็ให้คนถือโทงหรือถือเองก็ได้ตามพระไป เอาไปทิ้งในที่อันควร แต่เวลากลับให้กลับทางอื่น ก่อนหันกลับให้ว่าคาถา
สะกะฆะรัง คะมิสสามิ อุมมังคัง คัจฉะตุ ราหู "
แล้วหันหลังเดินกลับบ้าน
คนเราเกิดมาย่อมมีการตั้งชื่อเรียกเพื่อให้รู้ว่าเป็นใคร เป็นลูกเต้าเหล่าใด ผู้เป็นพ่อ-แม่คนย่อมแสวงหาชื่ออันเป็นมงคลให้กับบุตรของตน โดยการขอให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ มีความรู้เรื่องโหราศาสตร์ ฤกษ์ผานาที หรือพระสงฆ์ผู้คงแก่เรียน ในการตั้งชื่อให้เหมาะสมกับดวงชะตา พาให้ชีวิตรุ่งเรืองไปในภายภาคหน้า ซึ่งในอดีตนั้นมีตำราของโบราณอีสานกำหนดเป็นแนวทางไว้
นาม หรือ ชื่อ ในปฐมสมันตปาสาทิกาอรรถกถาของพระวินัยปิฎก กล่าวถึงชื่อว่าไว้จำนวน 4 ชื่อ คือ
นามที่ 3 คือ อธิจจสมุปปันนนาม นี้ เป็นนามที่หาตั้งกันขึ้นตามโลกนิยมว่า เป็นมงคล ซึ่งเรียกว่า มงคลนาม ก็ได้ เพราะผู้ตั้งอยากให้เป็นเช่นนั้น ส่วนนามที่ 4 นั้น สำหรับชาวบ้านที่ประสบผลสำเร็จทางการเงินหรือฐานะ ก็มักจะเป็นชื่อ "เศรษฐี" แต่ก็คงไม่มีโอกาสเป็นไปได้สำหรับคนจน ดังนั้น การตั้งชื่อทั้งหลายทั้งปวงจึงเป็นไปเฉพาะตามข้อ 3 เป็นหลัก
การตั้งชื่อที่อยากจะให้เป็นไปเช่นนั้น จะต้องให้เว้นตัวอักษรที่เป็นกาลกิณี อย่าให้มีในชื่อจึงจะเป็นมงคลนาม เป็นสิริมงคลแก่เจ้าของ วิธีหาชื่อให้เป็นมงคล ให้ดูความหมายของทักษาในวันดังนี้ (ดูตาราง)
1 วันอาทิตย์ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ (กาลกิณี) |
2 วันจันทร์ ก ข ค ฆ ง (บริวาร) |
3 วันอังคาร จ ฉ ช ฌ ญ (อายุ) |
8 วันศุกร์ ศ ษ ส ห ฬ ฮ (มนตรี) |
4 วันพุธ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ (เดช) |
|
7 วันราหู (พุธกลางคืน) ย ร ล ว (อุตสาหะ) |
6 วันพฤหัสบดี บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม (มูละ) |
5 วันเสาร์ ด ต ถ ท ธ น (ศรี) |
ใครเกิดวันอะไรให้เริ่มนับบริวารจากช่องนั้น เวียนขวาไป ไม่ว่าหญิงหรือชาย เรียงลำดับเป็น บริวาร, อายุ, เดช, ศรี, มูละ, อุตสาหะ, มนตรี และกาลกิณี จากตัวอย่างในตาราง คนเกิดวันจันทร์ เริ่มนับที่ช่องที่ 2 เวียนขวาไปตามลำดับ ตัวอักษรที่เป็นกาลกิณีจะตกในวันอาทิตย์ ชื่อของบุคคลที่เกิดในวันจันทร์จึงไม่มีสระอยู่ในชื่อจึงจะเป็นมงคล เช่น ชยกร หมายถึงชื่อของผู้มีอายุยืนนาน (อักษร ช) บริวารมากมาย (อักษร ก) และมีความอุตสาหะเป็นเลิศ (อักษร ย, ร)
บริวาร | หมายถึง เพื่อนฝูง พวกพ้อง มีบริวารมาก บริวารช่วยงานดี บริวารให้คุณ |
---|---|
อายุ | หมายถึง อายุ การมีอายุยืน สุขภาพดี |
เดช | หมายถึง อำนาจวาสนา หน้าที่การงาน จะเป็นหัวหน้างาน คนเกรงขาม |
ศรี | หมายถึง ทรัพย์สินเงินทอง โชคลาภ ความมั่งคั่ง |
มูละ | หมายถึง หลักฐานบ้านช่อง มรดก |
อุตสาหะ | หมายถึง ความขยันหมั่นเพียร ผลสำเร็จ ความคิดริเริ่ม |
มนตรี | หมายถึง ผู้อุปถัมภ์ค้ำชู ทำอะไรมัคนคอยช่วยเหลือ |
กาลกิณี | หมายถึง ความชั่วร้าย ศัตรูคู่อาฆาต ความไม่ดี การถูกตำหนิ |
ดังนั้น การตั้งชื่อหากต้องการให้เป็นไปเช่นไร ก็ให้นำทักษานั้นมาตั้งเป็นชื่อตัวแรก และเลือกสิ่งที่ต้องการให้เป็นไปลำดับถัดจากนั้นมาผสม โดยเว้นอักษรที่เป็นกาลิกิณีในชื่อ การนำอักษรมาผสมต้องคำนึงถึงการอ่านได้เป็นคำที่มีความหมาย เป็นที่รู้จักกัน เข้าใจกันโดยทั่วไปได้ มิใช่นำมาผสมกันสะเปะสะปะเพียงต้องการให้ได้ทักษาที่ดี แต่ไม่มีความหมายใดๆ ได้
นะ ชัจจา วะสะโล โหติ นะ ชัจจา โหติ พราหมโณ กัมมุนา วะสะโล โหติ กัมมุนา โหติ พราหมโณ "
แปลว่า
ไม่มีชั่วโดยกำเนิด ไม่มีดีโดยกำเนิด ชั่วอยู่ที่ทำเอา และดีก็อยู่ที่ทำเอา เท่านั้น
ดังนั้น เมื่อท่านเลือกเกิดในดวงดีไม่ได้ ท่านก็จงมุ่งทำดีเอาเถิด แล้วท่านจะได้รับสิ่งดีๆ ตอบแทน อย่าให้หมอดูมาทำนายทายทักกุมชะตาชีวิตของคุณ จงกำหนดวิถีชีวิตของท่านเองเถิด
คนที่เกิดวันอาทิตย์ ถ้าอยากมีบริวารมากให้เอาสระมาขึ้นต้นชื่อ เช่น อุดร ซึ่งแปลว่า ยอด หรือเหนือคน โดย "อุ" เป็นบริวาร "ด" เป็นมูละ "ร" เป็นมนตรี ได้บริวาร มูละและมนตรีรวมกัน ชื่อ อุดร จึงเป็นชื่อที่ดี ถ้าเป็นหญิงให้ใช้ อาภรณ์ แปลว่า ผ้า หรือ คนงาม โดย "อา" เป็นบริวาร "ภ" เป็นอุตสาหะ "ร" เป็นมนตรี "ณ" เป็นศรี คือได้ทั้งบริวาร อุตสาหะ มนตรี และศรี พรั่งพร้อม
เพื่อนบางคนอยากไปเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล แก้ดวง แก้ปีชงห่าเหวอะไรของมันก็ไม่รู้ แถมเสือกอยากได้ตัวอักษรอะไรแปลกๆ ตามสมัยนิยมกับเค้าบ้าง แบบพวกดาราอย่าง ณ ฎ ฐ ฤ ภ ก็เลยพาเพื่อนไปที่วัดหาพระอาจารย์ ท่านก็ใจดีตั้งชื่อมาให้ว่า "คฤจภัค คิศถฤงคิธแคท" ดังภาพ
คนได้ชื่อใหม่ถึงกับเหวอถามพระอาจารย์ว่า "ท่านอาจารย์ครับ ผมอ่านไม่ออกขอรับ" ท่านเลยเมตตาอ่านให้ฟังว่า "คิด-จะ-พัก คิด-ถึง-คิทแคท"
แต่ได้โปรดอย่าตั้งชื่อตามคำทำนายทายทักของหมอดู จนได้ชื่อประหลาดๆ ทั้งเขียนก็ยาก ให้อ่านก็ยาก เอาไปปักชื่อบนอกเสื้อก็ยาว จะกรอกลงในแบบฟอร์มก็อาจผิดพลาดไม่ครบถ้วน ยิ่งถามชื่อทางโทรศัพท์แล้วกรอกลงแบบฟอร์มมีเหวอ จนคนไทยหรือฝรั่งก็งงงวยไม่แพ้กัน ชื่ออะไรฟร่ะ! เขียนและอ่านไม่ถูกกันเลย ดูคลิปนี้ประกอบเลยครับ
ชื่อไทยเริ่มยาก คนพากย์เริ่มฉิบหาย
แต่ก็พบเห็นได้ในสมัยปัจจุบันที่มักจะไม่เชื่อว่า พ่อ-แม่ ตั้งชื่อให้มาดี ไปเชื่อหมอดูคู่กับหมอเดา ที่ไม่ใช่ญาติเพียงต้องการเงินค่าคาย (ค่าครู) เลี้ยงชีพ จึงได้ชื่อที่พิกลพิสดารจนไม่มีความหมายใดๆ อ่านออกเสียงก็ยาก คนอื่นฟังก็เขียนตามไม่ถูก บางชื่อยาวมากกว่า 6 พยางค์ก็มี ยาวเสียจนป้ายชื่อติดหน้าอกไม่สามารถจะเขียนได้พอ เช่นนี้ก็ไม่น่าจะเป็นมงคล มีเรื่องราวของการไปเปลี่ยนชื่อจากที่พ่อแม่ตั้งให้ แล้วไม่สำเร็จเป็นตัวอย่างดังนี้
"นายฮวด เป็นลูกคนจีน เรียนหนังสือเก่งที่สุดในรุ่นเดียวกัน จนจบคณะรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมีชื่อ จึงได้ไปสอบบรรจุเป็นปลัดอำเภอ ก่อนสมัครสอบได้ข่าวว่า ปีก่อนนั้นเวลาเรียกบรรจุปลัดอำเภอได้เรียกตามลำดับจากชื่อ ก. ไก่ ขึ้นต้น จึงได้ไปเปลี่ยนชื่อใหม่จาก "ฮวด" เป็น "เกรียงไกร" ด้วยหวังจะได้บรรจุอย่างรวดเร็วก่อนเพื่อน ปรากฏว่าสอบได้ดังใจหมาย แต่ปีนี้เรียกบรรจุจากชื่อ ฮ. นกฮูก ขึ้นมาก่อน ไม่มีใครชื่อขึ้นต้นด้วย ฮ. เลย จึงเริ่มที่ นายอำนวย เป็นคนแรก อนิจจาเพราะไม่เชื่อชื่อที่พ่อ-แม่ตั้งให้แท้ๆ เชียว"
คนต่างชาติสงสัย คนไทยตั้งชื่อเล่นแปลกๆ?
ความรักและความผูกพันที่มีต่อสายใยรัก สายโลหิตของชาวอีสานนั้น ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงกล่อมลูกที่น่าประทับใจ เมื่อยามที่แม่ต้องอุ้มกระเตงลูกออกไปทำไร่ไถนา ผูกอู่นอนของลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือเถียงนา หรือเมื่อยามที่อยู่ในหมู่บ้าน ใต้ถุนบ้านของชาวอีสานจะเป็นที่รวมของการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งการงานทอผ้า จักสาน และเลี้ยงลูกหลาน เสียงเพลงกล่อมลูกที่ดังแว่วออกมาจากแต่ละถิ่นที่ ย่อมแสดงถึงความรักความผูกพันของแม่ที่มีต่อลูก
เพื่อสืบสานตำนานรักของบรรพบุรุษให้ยังคงอยู่สืบไป จึงขอนำเสนอเนื้อหาบทเพลงกล่อมลูก จากศิลปินพื้นบ้าน 3 ท่าน คือ จากจังหวัดอุบลราชธานี 2 สำนวนได้แก่ เพลงแม่หม้ายกล่อมลูก ของ หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน และเพลงแม่หม้ายกล่อมลูก ของ นางบุปผา สีตะวัน และจากจังหวัดนครราชสีมา เพลงกล่อมลูกโคราช ของนางรำไพ เสริมรำ ถ้าท่านใดมีสำนวนจากจังหวัดอื่นๆ ในอีสานโปรดแนะนำด้วยครับ
โดย นางฉวีวรรณ ดำเนิน (พันธุ)
นอนสาหล่าหลับตาแม่สิกล่อม นอนอู่แก้วนอนแล้วแม่สิกวย นอนสาหล่ากัลยาน้อยอ่อน แม่สิสอนลูกแก้วจอมสร้อยให้ค่อยฟัง เป็นคนนี่ยำเกรงผู้ใหญ่ คารวะละผู้เฒ่าผ่านใกล้หมอบคลาน หย่างใกล้เผิ่นให้เจ้าเอิ้นขอทาง เผิ่นเอิ้นขายเจ้าอย่าได้เว้าหยาบ เป็นคำบาปบ่จบบ่งาม กริยาเลวทรามขายหน้าพ่อแม่ ลูกขี้แพ้พ่อแม่อยากอาย เกิดเป็นชายวิชาเป็นทรัพย์ เผิ่นจั่งนับถือหน้าถือตา บรรพชาสมบทคือบวช ให้หมั่นกวดศึกษาเล่าเรียน การทำเพียรกำจัดกิเลศ บ่เป็นเหตุเสียชาติตระกูล ลูกหล่าแม้ให้มีใจกรุณา ใจเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนดีแม่ให้มีใจก้วงขวง คนทั้งปวงละสิยอยกเจ้า ยามกินเข้าให้คิดถึงคุณควาย พระอิศวรเผิ่นจึงมาผายโผด บ่เป็นโทษกายวาจาใจ เว้านำไผเผิ่นก้อชมชื่น ไปบ้านอื่นสิมีผู้บูชา เทวดารักษาปกป้อง ฝูงพี่น้องยอย่องสรรเสริญ อื้อ ฮือ อือ อื้อฮือ อือ ฮือ อื้อ อือ ...
เจ้าหากแม่นหลานปู่ละคนฮู้ผู้ดี แนวเศรษฐีลังกามาเกิด ผู้ประเสริฐโตเจ้าจงนอน ให้เจ้าฟังคำสอนละพุทโธโอวาท ฝูงนักปราชญ์เอิ้นผู้ฟังธรรม รัตนังอุควรคำมาก เหตุยุ่งยากนอนแล้วบ่หนี สวัสดีนอนหลับคนตื่น คันบวชเข้าในศาสนา เป็นบุญญาถมคุณพ่อแม่ พ่อแม่เฒ่าให้เลี้ยงรักษา ยามเพิ่นมรณาทำบุญส่งให้ ลูกจึงได้ซื่อว่าคนดี เอ่อ เอ้อ เออ เอ้อ เอ่อ เออ... อื้อ อือ อือม์
นอนสาเด้อหล่าหลับตาแม้สิกล่อม แม่สิไปเข็นฝ้ายเดือนหงายเว้าผู้บ่าว แม่สิเอาพ่อน้ามาเลี้ยงให้ใหญ่สูง แนวโตเป็นกำพร้าอนาถาบ่มีพ่อ ทุกข์แท้น้อลูกแก้วแนวเจ้าพ่อบ่มี พ่อตายแล้วซิ่นแม่ขาดคาขา พ่อตายแล้วนาก็ขาดเข้าบ่มีเสาสิค้ำขื่อแม่เด้ ความทุกข์มาสู่มื้อลุงป้าบ่ว่าดี ตั้งแต่ก่อนก่อนกี้ตั้งแต่พ่อเจ้ายังมี ไผก็ดีปานหยังหมู่ฝูงลุงป้า อาว์อาพร้อมถนอมดีเกื้อกล่อม พ่อบ่มีเพิ่นบ่เว้าลุงป้าบ่ว่าหลาน
พริกกะอยู่เฮือนเหนือ เกลือกะอยู่เฮือนใต้ หัวสิงไคอยู่บ้านเผิ่น ขึ้นเฮือนลุงเพิ่นก็เว้า ขึ้นเฮือนอาว์เพิ่นก็เว้า ขึ้นเฮือนย่ากะบ่ได้กลัวย่านแต่แก่มกิน นอนสาหล่านอนอู่สายปอ นอนกะทอ ยาฮ้างสงนางบ่มีพ่อ เชือกอู่ขาดฮ้อยต่อบ่ติดกัน แม่นไผน้อสิมาฝั้นเลนปอเป็นเชือกอู่ ลูกแม่เอย นอนสาหล่าหลับตาแม่สิกล่อม นอนอู่ฝ้ายป้ายใส่อู่ไหม นางสายใจนอนสาเจ้าอย่าตื่น ฮอดมื้ออื่นยามเซ้าแม่สิไป แม่สิไปหาไม้หลัวฟืนคั่นมาผ่า เพราะแม่เป็นแม่ฮ้างผัวสิเลี้ยง... แม่นบ่มี ผัวซิซ้อน แม่นบ่มี... เอ้ย.... นอ
โดย นางบุปผา สีตะวัน
เอ่อ... เออ... เออ... นอนสาหล่า หลับตาแม่สิกล่อม นอนตื่นแล้วสิเอาแก้วใส่มือ อือ.. อือม์.. เออ ฮือ อือ... นอนสาหล่า หลับตาแม่สิกล่อม แม่ไปไฮ่สิปิ้งไก่มาหา แม่ไปนาสิปิ้งปลามาป้อน แม่เลี้ยงม่อนให้นอนอู่สายไหม อือ.. อือม์.. เออ ฮือ อือ... นอนสาหล่าหลับตาอย่าฟ้าวตื่น แม่สิขึ้นโคกคอยเก็บผักหวานมาแลกเข้า เอาหน่อไม้แลกเข้าเผิ่น สิหาเงินมาเลี้ยงเจ้า ถนอมไว้ให้ใหญ่สูง อาว์ อา ลุง น้า ป้า เหลียวหาบ่เอิ้นใส่ ย้อนนางทุกข์ยากไฮ้ ลุงป้าเผิ่นกะซัง เสียใจเด้เฮือนกะเพพอลี้อยู่ มีบ่มีเข้าอยู่ท้องสินอนลี้อยู่จั่งใด๋ เหลือใจเด้นอหล้า คำแพงบ่มีพ่อ มีแต่แม่ค้อม่อ ทอนท่อพ่อบ่มี สี่ปีนอหล่าพ่อไปค้าบ่คืนหลัง ไปหวั่งๆ ตายยังบ่ได้ข่าว ถิ้มนางเลี้ยงลูกน้อย ถิ้มนางเลี้ยงลูกน้อย ทอนท่อพ่อบ่มี... นอ
เอ้อ เหอ เออ กะ เหอ เอ้อ เหอ เออ นอนสาหล่า หลับตาแม่สิกล่อม แม่ไปไฮ่กะเห็นไก่เขี่ยยา แม่ไปนากะเห็นกาเขี่ยม้อน ต้อนติแต้นกะนอนอู่ตั๊กแตน ตักแตนโมกะสิโตห้าล้าน ยาดตาปาดกะโตสี่ตำลึง เอ้อ เหอ เออ กะ เหอ เอ้อ เหอ เออ โอนสาลูไขปักตูกะให้อ้ายคำเปะ อ้ายคำเปะกะขี้ม้าแม่หมัน ไปบ่ทันกะมันเตะมันถีบ ขาลีบๆ กะทั้งกีบทั้งเต ขาเป๋ๆ กะเตะลงป่างหง่าง เอ้อ เหอ เออ กะ เหอ เอ้อ เหอ เออ แกนแวนเอยกะเห็นควยเฮาบ่ เห็นละแหม่กะอีตู้ไปก่อน อีด่อนนำหลังกะอีดำนำก้น แขนโค้นไม่ยาง แขนขางไม้บวก ขวกอันนี้กะลีลับลีลับ แมงคับบินกะไจับกกแต้ ตั้งขี้แท้เขาว่าดอกอีลุม จูมจีเขาว่าดอกคัดเค้า นั่งเค้าเม้ากะตาเหลียกหลากลาน เอ้อ เหอ เออ กะ เหอ เอ้อ เหอ เออ
โดย นางรำไพ เสริมรำ
เออ... เออ อือม์ แมวขาวเอย ไต่ไม้ราวหางยาวโยนเยิ่น ไต่ไม้เป็นโยนไปโยนมา เออ เอ่อ เออ แม่กาเอย อือม์ แม่กาเหว่า เอาไข่ไปฝากรังเขา แล้วเจ้าก็บินหนีมา เอย... เอย อือม์.... ว่านางแม่พระธรณีเอย... เอย อือม์.... แม่ธรณีเจ้าขา ลูกขอฝากหลานน้อยกลอยตา เอย ให้แม่ช่วยดูแล ด้วยเทอญ เอ่อ เออ...
ไม่ทราบผู้ขับร้องและที่มา อีกสำนวนอัพโหลดโดยคุณ wisanu sagolla
กล่อมลูกภาคอีสาน
โดย : หมอลำวันดี พลทองสถิตย์ (หมอลำอุดมศิลป์)
คลิปเพลงกล่อมลูกนี้ฉบับเดิมเจ้าของลบออกไป จึงนำเอาประวัติหมอลำมาแทน
หมอลำอุดมศิลป์เป็นศิลปินหมอลำ ทำนองขอนแก่น เป็นหมอลำอีกท่วงทำนองหนึ่ง ด้วยวาดลำที่เป็นเอกลักษณ์ ฟังรื่นหู ไม่เยิ่นเย้อ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลาย โดยพัฒนามาจากลำพื้น กลอนลำกล่อมลูก มีดังนี้ครับ
เอ่อ เอ้อ เออ เอ่อ เอ้อ เออ...
นอนเด้อหล่าหลับตาแม่สิกล่อม นอนอู่แก้วหลับแล้วแม่สิกวย สวยพอเพลจั่งสิมากินเข้า กินเข้าแล้วจั่งค่อยแอ่วกินนม กินนมไผกะบ่คือนมแม่ นมแปส้ม นมแม่จั่งหวาน กินนมป้า นมอา เพิ่นกะหว่า กินนมแม่จั่งได้แผ่ตู่หลู
นอนสาหล่าหลับตาซ่วยๆ เผิ่นมาขายกล้วยแม่สิซื้อให้กิน เพิ่นมาขายซิ่นแม่สิซื้อให้อยู่ เพิ่นมาขายอู่แม่สิซื้อให้นอน เพิ่นมาขายกลอนแม่สิซื้อให้เล่น
นอนสาหล่าแมวโพงมาแม่สิไล่ เป็ดไก่ฮ้องไผสิป้อนเหงี่ยเกีย แม่ไปไฮ่กะขี่ควยเขาลา แม่ไปนากะขี่ควยเขาตู้ ขาหนึ่งคู้ขาหนึ่งเหยียดซอย ลมวอยวอยกะขี่ควยคอนกล้า
นอนสาหล่าหลับตาแม่สิกล่อม แม่ไปไฮ่สิปิ้งไก่มาหา แม่ไปนาสิปิ้งปลามาต้อน แม่เลี้ยงม้อนอยู่ในป่าสวนมอน เอ่อ เอ้อ เออ เอ่อ เอ้อ เออ... เอ่อ เอ้อ เออ เอ่อ เอ้อ เออ... นอนเอย
ขอแถมบทเพลงกล่อมลูกจากทางฝั่งเพื่อนบ้าน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ดังนี้ครับ
เพลงกล่อมลูก บ้างก็เรียก เพลงอื่อ หรือ แม่ฮ้างกล่อมลูก บ้างก็เรียก อ่านหนังสือง้อม ทำนองที่ใช้เป็นทำนองอ่านหนังสือ ที่พระมเหสีของของเจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้ายแห่งพระราชอาณาจักรลาวคือ เจ้านางคำผุยสว่างวัฒนา ใช้กล่อมพระนัดดา ต่อมาได้ถ่ายทอดให้ นางบัววัน คำมาลาวง เมื่อครั้งอยู่ประจำพระราชวังเจ้ามหาชีวิต
เพลงอื่อ หรือ แม่ฮ้างกล่อมลูก (อ่านหนังสือง้อม)
สถานที่บันทึกเสียง : โรงแรมพูสี วันที่ 26 สิงหาคม 2542 ดนตรีภาคสนาม ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บันทึกเสียงภาคสนามโดย คณะนักศึกษาปริญญาโทและคณาจารย์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ขับกล่อมลูกลาว เมืองหลวงพะบาง ຂັບຫຼວງພະບາງ Khab Luang Prabang
ขอปิดท้ายด้วยเพลงกล่อมลูกรวมทั้ง 4 ภาคของไทยเรา จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครับ
เพลงกล่อมลูก 4 ภาคของไทย
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)