คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ครอบครัว ถือว่าเป็นระดับปฐมภูมิของสังคม การสร้างครอบครัวให้มีความสุข นอกจากจะยึดเอาหลักธรรมในการครองเรือนแล้ว จำต้องมีกฎระเบียบสังคมในการดูแลและควบคุม รวมถึงต้องมีผู้ดูแลการปฏิบัติตามกฎระเบียบนั้นๆ เมื่อมีการละเมิดกฎขึ้น ในสังคมอีสานมีกฎประจำครอบครัวที่เรียกว่า "คองเฮือน" เป็นสิ่งที่ต้องทำตามเพื่อให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุข เป็นปึกแผ่น ที่ทุกคนจะต้องทำตามกฎนี้อย่างเคร่งครัด ถ้าสนใจเรื่องของ "ฮีตคอง" ที่ทำให้สังคมเป็นสุขอ่านเพิ่มเติมได้จากเรื่อง : คองสิบสี่
จากคองสิบสี่นั้นจะมีเรื่องของ "ฮีตใภ้คองเขย" อยู่ด้วย และมีท่านที่ปรารถนาอยากเป็นเขยอีสานถามกันมาว่า "มีรายละเอียดเพิ่มเติมหรือไม?" ก็เลยจัดมาให้อ่านกันในวันนี้
คำว่า “ใภ้” หมายถึง ลูกสะใภ้ รวมถึงหลานสะใภ้ ส่วน “เขย” หมายถึง ลูกเขย รวมทั้งหลานเขยด้วย แต่ตามปรกติหมายเอาเพียงตัวลูกสะใภ้และลูกเขยเท่านั้น
การจะเป็น "ลูกเขย" ในสังคมของชาวอีสานนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ
อ่านเพิ่มเติม : พิธีกรรมประจำชีวิต | การแต่งงาน
การเข้าสู่ครอบครัวของชาวอีสานนั้น นิยมให้ฝ่ายชายเข้าสู่บ้านฝ่ายหญิง คือ เอาลูกเขยมาอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย เพราะค่านิยมในการถ่ายโอนมรดกในวัฒนธรรมอีสานนั้นจะโอนผ่านฝ่ายหญิง และการนำชายเข้าสู่ครอบครัวมาเป็นเขยนั้น เป็นการนำแรงงานชั้นดีเข้าสู่ครอบครัว ที่จะมีผู้ชายมาแบ่งเบาภาระงาน จึงมีภาษิตอีสานว่า "เอาลูกเขยมาเลี้ยงพ่อเถ้าแม่เถ้า ปานได้ข้าวมาใส่เล้าใส่เยีย" ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายหญิงก็สามารถที่จะไปสู่ครอบครัวของฝ่ายชายได้เช่นกัน แต่กรณีนี้จะมีภาษิตที่ย้อนแย้งว่า "เอาลูกใภ้มาเลี้ยงแม่ย่า ปานเอาห่ามาใส่เฮือน" หรือ “เอาย่าไปอยู่กับลูกสะใภ้ ปานเอาไข้ไปใส่เฮือน” การแต่งงานนำสะใภ้เข้าบ้านจึงไม่เป็นที่นิยมมากนักในสังคมอีสาน
เหมือนกันกับเรื่องเล่าในสมัยครั้งพุทธกาล ที่ลูกๆ ต้องทิ้งพ่อแม่ของตนเพราะฟังความฝ่ายภรรยาตนเองมาก พระพุทธเจ้าจึงต้องสอนวิธีการให้พราหมณ์เอาชนะลูกๆ ของตนเองมาแล้ว หรือจากประวัติของท่านโมคคัลลานะก็เช่นเดียวกัน ฟังความเมียก็เลยเสียพ่อแม่ จะด้วยอิทธิพลของวรรณกรรมเหล่านี้ก็อาจจะเป็นไปได้ที่ชาวอีสานไม่นิยมนำลูกสะใภ้ไปอยู่กับปู่ย่า แต่เมื่อยุคสมัยผ่านไปอาจจะมีน้อยหรือไม่มี ถ้าหากลูกสะใภ้ที่ดีย่อมทำตนให้เข้ากับพ่อแม่ของฝ่ายชายได้ด้วยความราบรื่น เช่นเดียวกับลูกเขยที่อยู่กับพ่อตาแม่ยาย แต่ถ้ามีลูกสะใภ้ดีๆ ก็จะเป็นดังเช่น นางวิสาขา มหาอุบาสิกาก็ได้
การเข้าสู่ครอบครัวอีสานจะมีสิ่งห้ามที่เป็นจารีตประเพณีในลักษณะมุขปาฐะ (บอกเล่าสืบต่อกันมา) ก่อน เช่น ลูกเขยห้ามนอนเปิง (ห้องพระห้องผี) แต่ก็มีกฎระเบียบที่จะต้องปฏิบัติตามเรียกว่า "คองเขย" (การครองตนเป็นเขยที่ดี) ซึ่งตลอดการเป็นเขยต้องปฏิบัติตามคองเขยนี้ไปตลอด จนกระทั่งเลื่อนขึ้นสู่ความเป็นลุง ปู่ ตา และเป็นเจ้าโคตร (ผู้อาวุโสที่สุดในตระกูล) นี่จึงเป็นการเตรียม "คน (เขย)" เข้าสู่การเป็นเสาหลักของตระกูล (โคตรวงศ์) ในอนาคต
ดังนั้น "ลูกเขย" แม้ในช่วงแรกจะมาอยู่อาศัยกับพ่อตา-แม่ยาย เพื่อช่วยด้านแรงงานสร้างครอบครัว แต่เมื่ออยู่ไปสักระยะหนึ่งจนมีเงินเก็บออมได้พอประมาณ หาไม้สำหรับการสร้างบ้านเฮือนของตนเองได้ ก็จะต้องออกเรือน คือ การไปสร้างครอบครัวใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้น้องสาวภรรยา (น้าสาว) ได้มีคู่ครอง และนำแรงงานใหม่เข้ามาสู่ครอบครัวอีกครั้ง จนกระทั่งเหลือลูกคนหนึ่งที่จะดูแลพ่อแม่ยามแก่ชรา (ส่วนใหญ่จะเป็นน้องสาวคนสุดท้าย) ได้แต่งงานและอยู่เลี้ยงดูพ่อ-แม่ ซึ่งมักจะได้รับการแบ่งปันมรดกมากกว่าพี่น้องคนอื่นๆ คนอีสานจึงมักกล่าวว่า "ลูกสาวหล่า มูนข่อน" (ลูกสาวคนสุดท้องมรดกเยอะ)
แม้ว่าเขยจะแยกไปสร้างเรือนใหม่แล้ว จนกระทั่งสิ้นพ่อตาแม่ยายแล้วก็ตาม เขยก็ยังต้องอยู่ภายใต้ "คองเขย" เพราะยังมีญาติผู้อาวุโสฝ่ายหญิง เช่น ลุง หรือเจ้าโคตรคอยเป็นเสาหลักให้ เมื่อมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นในครอบครัว ต้องมีการประชุมญาติพี่น้อง เจ้าโคตร เพื่อชำระความภายในครอบครัว [ อ่านเพิ่มเติม : การออกเรือนใหม่ ]
เจ้าเป็นเขยให้เจ้าทำใจกว้าง อย่ากล่าวอ้างสรรพสิ่งอันใด
ไล่ไก่ให้เจ้าว่า โซ ไล่หมาให้เจ้าว่า เส่
ไล่ควายให้เจ้าว่า ฮือ เจ้าอย่าดื้อเตะเตี่ยวชุยชายต่อหน้าเจ้าโคตร
อย่าปากโพดพางาน ให้มีใจเลื่อมใสต่อนางนงคราญแก่นไท้ "
(สำลิด บัวสีสะหวัด, 2544 : 165)
กระบวนการเรียนรู้ในเรื่อง "คองเขย" ในอีสานนั้น มีการถ่ายทอดต่อกันผ่านทางครอบครัว เช่น ตัวอย่างจากพี่เขย ลุงเขย จากการบวชเรียนหรือคำสอนว่าด้วยหน้าที่ของสามีตามหลักพุทธศาสนา จากเอกสารเรื่องฮีตคองในใบลาน คำกล่าวสู่ขวัญของพ่อพราหมณ์ในการบายศรีแต่งงาน ทำให้ทุกคนได้รับการกระตุ้นเตือนให้สำเหนียกในหน้าที่ และการประพฤติตนเป็นเขยตามฮีตคองอยู่เสมอ ดังคำสอนข้างบนนั่นแล
การกระทำผิดต่อ "คองเขย" นั้นไม่ได้มีบทลงโทษทางกฎหมายบ้านเมืองกำหนดไว้ แต่จะมีการลงโทษตามจารีต คอง หรือครรลอง ที่เคยเป็นมา ตามระเบียบวิธีของครอบครัว หรือเจ้าโคตรกำหนด ซึ่งค้นคว้าแล้วพบว่า มี 8 ข้อ/กรณี ดังนี้
จะสังเกตว่า ประเด็นที่เป็นความผิดของเขยนั้นไม่ใช่ความผิดอาญาแผ่นดินในสมัยนั้น แต่เป็นความผิดในครอบครัวเท่านั้น ประเด็นความผิดได้แก่ การไม่ตั้งใจทำมาหากิน เล่นการพนัน ชู้สาว ไม่เคารพยำเกรงผู้อาวุโสในตระกูล ทำร้ายร่างกายบุตร ภรรยา การลงโทษเขยจึงไม่ได้ลงโทษรุนแรงถึงขั้นทุบตี แต่เป็นลงโทษด้านเศรษฐกิจ เช่น การปรับไหม เป็นเงิน เป็นสัตว์เลี้ยง วัว ควาย และให้ขอขมาต่อเจ้าโคตรด้วยเงินหรือดอกไม้ธูปเทียนเท่านั้น
การลงโทษเช่นนี้เป็นการลงโทษที่แยบคาย เพราะในขณะนั้นเขยมักจะยังไม่มีทรัพย์สินเพียงพอในการตั้งตัว เพื่อออกเรือน การปรับไหมเป็นเงินหรือสัตว์เลี้ยงจึงทำให้เขยยังต้องพึ่งพิงพ่อตาแม่ยายอีกคำรบ (ต้องหยิบยืมข้าวกล้า พันธุ์พืช หรือสัตว์เลี้ยง วัว ควาย มาใช้งาน) จนกว่าจะสามารถสะสมสร้างตัวแยกเป็นครอบครัวใหม่ได้นั่นเอง ทำให้เขยไม่อยากทำผิดอีก เพราะจะขาดอิสระจนสร้างครอบครัวที่เข้มแข็งไม่ได้
การลงโทษลูกเขยจะกระทำด้วยการพิจาณาจาก "เจ้าโคตร" ทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่พอตาแม่ยายเท่านั้น แต่รวมถึงลุงป้า ญาติผู้ใหญ่คนอื่นๆ ทำให้มีการกลั่นกรอง พิจารณา ให้โอกาสตามสมควร เจ้าโคตรจะทำ "การขอบเขิงเขย" ทุกครั้งไป
"เขิง" เป็นภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายกระด้งแต่มีตาห่างกว่า ริมเขิงจะมีไม้เนื้อแข็งเหลาขดเป็นวงทำขอบ เพื่อให้มีความคงทน ถาวร ไม่โย้เย้เวลาใช้งาน ประโยชน์ของเขิงคือ ใช้ร่อนเอาแต่สิ่งที่ต้องการ เช่น ร่อนทองคำ ร่อนรำ หรือตักเอากุ้ง ปลาในน้ำ ร่อนให้ตมหลุดออกเหลือแต่ตัวปลา
การขอบเขิงเขย จึงเป็นพิธีกรรมในการตักเตือนลูกเขย ลูกสะใภ้ หรือญาติพี่น้อง โดยเปรียบว่า "เป็นการร่อนเอาแต่สิ่งที่ดีๆ ตามต้องการไว้ ส่วนที่ไม่ดี (การกระทำผิด) ให้หลุดหายไปนั่นเอง"
บางถิ่นที่อาจจะใช้คำว่า "คอบเขิง" แทน "ขอบเขิง" ซึ่งความหมายก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก คำว่า
สารานุกรมอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง
เช่น เมื่อมีแขกของลูกมาบ้าน ลูกได้ไปบอกพ่อแม่ เรียก คอบพ่อแม่ หรือตามสำนวนอีสานที่ว่า "ไปให้ลา มาให้คอบ" เวลาเดินทางไปไหนมาไหนให้บอกลา เมื่อกลับมาแล้วให้บอกกล่าว
ส่วนคำว่า เขิง หมายถึง ขึ้งเคียด, โกรธจัด ดังนั้นคำว่า คอบเขิง หรือ ขอบเขิง หรือ เขิงขอบ จึงหมายถึง การบอกกล่าวถึงความไม่ถูกต้อง ทำให้ขุ่นข้องหมองใจกัน ให้ปรับความเข้าใจกันเสีย เป็นกระบวนการไกล่เกลี่ยภายในครอบครัวโดยเจ้าโคตร ทำการปรับไหม หรือขอขมา หรือสมมาญาติผู้ใหญ่ตามสมควร นั่นเอง
ทั้งลูกเขยและลูกสะใภ้ก็ตาม ถ้าปฏิบัติตามครรลองของตนย่อมผ่อนหนักเป็นเบาได้คือ มีความเคารพปู่ย่า เลี้ยงดูปู่ย่าด้วยดีดุจท่านเป็นพ่อแม่ของตนเอง ปัญหาต่างๆ ก็ย่อมไม่ตามมาอย่างแน่นอน แต่เมื่อใดทั้งสะใภ้และเขยต่างก็เมินเฉยต่อวัตรปฏิบัติของตนเองนั้นแหละ ปัญหาย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทำอย่างไรจึงจะทำให้ท่านทั้งสองฝ่ายมีความรักและเอ็นดูตนนั้น คำสอนโบราณอีสานสอนไว้อย่างนี้ว่า
คันว่านางมีผัวแล้ว อย่าลืมคุณพ่อแม่
คุณเพิ่นมีมากล้น เพียรเลี้ยงให้ใหญ่มา
มารดาฮ้ายให้นาง อดทนอย่าเคียดต่อ
คุณพ่อฮ้าย ให้นางน้อยอย่าติง
คันว่าผัวฮ้าย ให้เอาดีสู้ใส่
ปู่ย่าฮ้ายให้นาง ก้มหมอบฟัง
ทั้งฝ่ายพุ้นฝ่ายพี้ ใจนั้นพร่ำเสมอ
เถิงยามเดือนห้า กาลฤดูปีใหม่
จัดหาดอกไม้ เทียนพร้อมใส่ขัน
ไปวันทาไหว้ ตายายปู่ย่า
ทั้งสมมาเฒ่าแก่ใน หมู่บ้านซู่คนได้ยิ่งดีเจ้าเอย
อันหนึ่งแนวเป็นเขยนี้ แนวนามเชื้อตายายพ่อแม่
ควรซินบน้อมไหว้ ยอไว้ที่สูง
ผลบุญตามมาค้ำ แนนนำยู้ส่ง
ปรารถนาอันใด ซิลุลาภได้โดยด้ามดั่งประสงค์
เฮาเป็นเขยเขานั้น ควรมีใจฮักห่อ
ฝูงพ่อแม่ชาติเชื้อ ของเมียเจ้าทั่วกัน
มีหญิงให้ฮู้จักปันแบ่งให้ ใจเหลื่อมทางดี
มีงานการซ่อยกัน ฮีบไวบ่มีช้า
ซิไปมาก้ำทางใด ให้เจ้าคอบ
เวนมอบให้ เมียไว้แก่พ่อตา
ทั้งแม่ยายพร้อม เจรจาเว้าม่วน
ควรบ่ควรให้เจ้า คะนิงฮู้ซู่แนว เจ้าเอย
เรียบเรียงจาก : คองเขย : วิถีปฏิบัติของเขยภาคอีสาน โดย บุญชู ภูศรี
ฮีตใภ้ คองเขย : ข้อพึงปฏิบัติของใภ้และเขยอีสาน
ถึงเดือนเมษายนทีไร พวกเราคนไทยก็จะมีความรื่นรมย์ นึกถึงแต่ความสนุกสนานใน "วันสงกรานต์" ซึ่งถือว่าเป็น วันปีใหม่ไทย คำว่า “สงกรานต์” ภาษาอังกฤษ : Songkran ซึ่งคำนี้มาจากภาษาสันสกฤต “सङ्क्रान्ति | saṃkrānti” (สงฺกฺรานฺติ) มีความหมายว่า ผ่านไป, ข้ามไป, ไปด้วยกัน, เชื่อมหรือร่วมกัน, เปลี่ยนไป, ส่งต่อไป, อพยพไป, เคลื่อนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ไทยเราเอามาเขียนเป็น “สงกรานต์” (ต การันต์ ไม่ใช่ ติ) ความหมายทางวิชาการคือ เวลาที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ความหมายที่เข้าใจกันคือ “เทศกาลปีใหม่ไทย”
จริงๆ แล้ว "ประเพณีสงกรานต์" ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย ในประเทศแถบเอเซียนี้ล้วนมีประเพณีสงกรานต์กันทั้งนั้น เช่น ในกัมพูชาหรือเขมรเรียก : សង្រ្កាន្ត (สัง-คะ-แรน) หรือ ចូលឆ្នាំថ្ “โจล ชนัม ทะเมย” (Chaul Chnam Thmey) แปลว่า บุญขึ้นปีใหม่ ชาวกัมพูชาไม่ได้เล่นสาดน้ำกันเอิกเกริกอย่างในประเทศไทยหรือลาว ส่วน “เทศกาลน้ำ” ที่ชาวกัมพูชาฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศนั้น จะมีในช่วงปลายปี นั่นก็คือ เทศกาล "บุญอมตูก" เป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปีในเดือนพฤศจิกายน เพื่อระลึกถึงการสิ้นสุดของฤดูฝน (ในปี พ.ศ. 2566 เขมรพยายามเคลมว่า ประเพณีสงกรานต์ต้นกำเนิดมาจากเขมร มีสลักในกำแพงนครวัด พากันลืมชื่อ “โจล ชนัม ทะเมย” ไปแล้ว ว่าซั่น)
ในพม่าเรียก : သင်္ကြန် (ตะจาน หรือ ทิง-ยาน) หรือ Thingyan มาจากภาษาบาลีคำว่า “สงกรานต์” ใน สปป.ลาว เรียกว่า : ສົງການ, ປີໃໝ່ລາວ, ບຸນຫົດນໍ້າ (สงกาน, ปีใหม่ลาว, บุญหดน้ำ) ในประเทศจีนเรียกว่า : 泼水节 (โพ-ชุ่ย-เจี่ย) ชาวไทลื้อ ชาวสิบสองปันนา นั้นอาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน ที่นี่จัดงานสงกรานต์ประมาณวันที่ 13-15 เมษายน จุดเด่นของสงกรานต์ที่นี่คือ การแข่งขันเรือมังกร และขบวนเต้นรำนกยูง ทุกๆ ปีจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลเข้าร่วมงาน เพราะยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งแวดล้อมไว้ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญบางบ้านแถบนี้ยังพูดภาษาไทยได้อีกด้วย และยังมีประเพณีสงกรานต์อีก ทางตะวันออกของประเทศอินเดีย ซึ่งสันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลมาจาก เทศกาลโฮลี (होली) ในอินเดีย แต่เทศกาลโฮลีจะใช้การสาดผงสีที่ได้จากพืชพรรณในธรรมชาติ แทนการสาดน้ำ ซึ่งเริ่มในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 4 คือ ในเดือนมีนาคม
"สงกรานต์" เป็นคำสันสกฤต หมายถึง "การเคลื่อนย้าย" ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี คือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทย และในบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดิมวันที่จัดเทศกาลสงกรานต์จะกำหนดโดยการคำนวณทางดาราศาสตร์จากพราหมณ์หรือโหรในราชสำนัก แต่ปัจจุบันนี้เพื่อความสะดวกได้ระบุแน่นอนว่า เป็นวันที่ 13 ถึง 15 เมษายน ของทุกปี
สงกรานต์เฉพาะในภาคอีสาน นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "บุญเดือนห้า" หรือ "ตรุษสงกรานต์" บางพื้นที่จะเรียกว่า “บุญเนา” และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงาน โดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบ น้ำหอม หาบไปรวมกันที่ศาลาวัด เพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษ จากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน
ในแต่ละปีทาง กระทรวงวัฒนธรรม จะได้เผยแพร่ "ประกาศสงกรานต์" ของ ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ให้ประชาชนได้ทราบและจะปรากฏชื่อ "นางสงกรานต์" แต่ละปีไม่ซ้ำกัน ทำให้หลายคนอยากทราบถึงที่มาของ "นางสงกรานต์" หรือทาง สปป.ลาว เรียกว่า "นางสังขานต์" หรือ "นางสังขาร" หรือ "นางสังขาน" หรือเขียนแบบอักษรลาวว่า "ນາງສັງຂານ" ว่าเป็นมาอย่างไร มีใครกันบ้าง?
ตามจารึกที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพนักไม่มีบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีว่ารวยนักแต่ไร้ทายาทสืบสกุล น่าเสียดายนัก จนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้ไปบวงสรวงต่อพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่นานกว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตรสักที
จนกระทั่งวันหนึ่ง พอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมแม่น้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาพร้อมกับได้กล่าวอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาที่สถิตในต้นไทรนั้น รุกขเทวดามีความเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเข้าเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนามว่า "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารเจริญวัยเติบโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่ง "ภาษานก" และเรียนคัมภีร์ "ไตรเภท" จบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ จนเขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้รู้ข่าวจึงลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรตนเองบูชาแก่ธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหม ได้ถาม ธรรมบาลกุมาร ว่า
ตอนเช้า 'ศรี' อยู่ที่ไหน ตอนเที่ยง 'ศรี' อยู่ที่ไหน และตอนค่ำ 'ศรี' อยู่ที่ไหน "
เมื่อได้ฟังคำถามดังนั้น ธรรมบาลกุมาร ก็ไม่สามารถตอบได้ในทันที จึงขอผัดผ่อนกับ ท้าวกบิลพรหม เป็นเวลา 7 วัน ระหว่างนั้น ธรรมบาลกุมาร ก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ จนล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล โดยคิดว่า หากไม่สามารถตอบปัญหานี้ได้ ก็ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม
นับเป็นโชคดีที่ธรรมบาลกุมารสามารถฟังภาษานกได้ และบังเอิญบนต้นไม้นั้นมีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า "พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด" สามีตอบนางนกว่า "เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้" นางนกจึงถามว่า "คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร" สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้เช่นกัน สามีจึงเฉลยว่า
ตอนเช้า 'ศรี' จะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า ตอนเที่ยง 'ศรี' จะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น 'ศรี' จะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน "
ธรรมบาลกุมาร ก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้ ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหม ก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมาร จึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม
ท้าวกบิลพรหม ได้คำตอบเช่นนั้น จึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ด อันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า "เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำทะเลก็จะเหือดแห้ง"
ด้วยเหตุนี้ ท้าวกบิลพรหม จึงมอบหมายให้ธิดาทั้ง 7 ผลัดเวรกันนำพานมารองรับเศียร โดยให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต เป็นผู้เริ่มต้นก่อน จากนั้น นางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ และเมื่อครบกำหนด 365 วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่ง เวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้ง 7 ก็จะทรงพาหนะของตน ผลัดเวรกันมาเชิญ พระเศียรของบิดา ออกแห่ ทำเช่นนี้ทุกๆ ปี และเนื่องจากเทพธิดาทั้ง 7 ปรากฏตัวใน วันมหาสงกรานต์ เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า "นางสงกรานต์" ส่วนท้าวกบิลพรหมนั้น โดยนัยก็หมายถึง พระอาทิตย์ เพราะคำว่า กบิล หมายถึง สีแดง
ทั้งนี้ ในแต่ละปี นางสงกรานต์ แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ และจะมีนาม อาหาร อาวุธ สัตว์ที่เป็นพาหนะต่างๆ กัน ดังนี้
อนึ่ง ท่าทางของนางสงกรานต์ จะกำหนดตามเวลาที่ 'พระอาทิตย์' ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ หรือ 'เวลามหาสงกรานต์' ตามที่คำนวณได้ ซึ่งเกณฑ์ในการกำหนดท่าทางของนางสงกรานต์เป็นดังนี้
ข้อมูลทั้งหมดดังกล่าวนี้ จะมีระบุในประกาศสงกรานต์ทุกปีเสมอ อย่างไรก็ตาม ยังมีคำทำนายนางสงกรานต์ ที่ทำนายตามความเชื่อเกี่ยวกับอิริยาบถของนางสงกรานต์ไว้อีก ดังนี้
ขอขอบคุณ : ภาพประกอบนางสงกรานต์จาก กระทรวงวัฒนธรรม
ตามประเพณีไทยดั้งเดิมนั้น เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์เวียนมาถึง ชาวไทยจะมีกิจกรรมสำคัญที่กระทำกันดังนี้
สงกรานต์ เป็นประเพณีที่งดงามมากมายมาเนิ่นนาน แต่พอมายุคเศรษฐกิจหาเงินจากการท่องเที่ยว "ประเพณีอันดีงามของไทย" ทั้งหลายก็ถูกกระทำให้บิดเบี้ยวเพื่อรับใช้เงินตรา อ้างส่งเสริมการท่องเที่ยวบังหน้า ทำลายประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามไปเสียสิ้น จาก ความรัก ความห่วงหาอาทร กลายเป็น มหาสงครามสาดน้ำ ดังที่เห็น ต้องขอบคุณ "ไวรัสโควิด-19" ที่ทำให้ประเพณีอันดีงามกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง
การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ในแถบอุษาคเนย์นั้น มักจะมีการประดับ "ธงชัย" ร่วมด้วย เพราะความเชื่อเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานั้น ล้วนได้รับอิทธิพลจากทั้งจีนและอินเดีย พุทธศาสนาจึงได้รับการผนวกเข้ากับ ศาสนาพรามหณ์ และศาสนาผี อันเป็นความเชื่อของท้องถิ่น สังเกตได้จากประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันต่อๆ มา แม้จะใช้ภาษาเรียกด้วยชื่อที่แตกต่างกัน แต่ประเพณีก็มีความคล้ายคลึงกัน เกี่ยวโยงกับช่วงเวลาสำคัญในห้วงเดียวกันอยู่มาก เช่น ประเพณีการเทศน์มหาชาติ มีทั้งในไทย กัมพูชา ลาวและพม่า นอกจากประเพณีดังกล่าวแล้ว เครื่องประกอบพิธีกรรมก็มีความคล้ายคลึงกัน เช่น ธรรมมาส ใบลาน และธงชัย ซึ่งใช้ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและพิธีการสำคัญของผู้คนเสมอมา
คำว่า ธง-ธุง-ทุง-ตุง มาจากรากศัพท์เดียวกัน ในภาษาบาลีใช้คำว่า "ธช" ภาษาสันสกฤตใช้คำว่า "ธฺวชฺ" แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่สะบัดไป” หมายถึง ธงทั่วไปซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์, เครื่องหมาย, เครื่องแสดง, เครื่องสังเกต ธง จึงเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งสะบัดไหวในอากาศ เพื่อใช้เป็นเครื่องหมาย เครื่องแสดง เครื่องสังเกตให้กับมนุษย์ในเผ่าชนของโลก ทั้งในอดีตกาลมาจนถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่องมาช้านาน หน้าที่ของธงในปัจจุบันแม้จะไม่ผิดแผกแตกต่างจากเดิม แต่ก็มีพัฒนาการทั้งทางด้านรูปแบบสีสันเป็นจำนวนมากหลากหลาย ตามพื้นที่ตามแต่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์หากแต่ผืนธง และ เสาธง ยังคงเป็นองค์ประกอบหลักอย่างที่เคยเป็นมาแต่ในอดีต
เมื่ออาณาจักรต่างๆ ในอุษาคเนย์รับมาใช้ จึงปรับเปลี่ยนไปตามความถนัดของการออกเสียงในท้องถิ่นของตนเอง ทางภาคกลางเรียก "ธง" ภาคอีสานจะเรียกว่า "ธุง" ภาคเหนือเรียกว่า "ตุง" ชาวไทยใหญ่เรียกว่า "ตำข่อน" ในพม่าเรียกว่า "ตะขุ่น" ส่วนทาง สปป.ลาว จะเรียกว่า "ทง" หรือ "ทุง" ซึ่งในภาษาอีสานและภาษาลาวมีความคล้ายคลึงกัน ใช้คำว่า ธุง / ทุง ออกเสียงเหมือนกัน แต่ด้วยภาษาลาวไม่มี “ธ” ทำให้ใช้ “ท” เป็นตัวอักษรแทน “ธ” ซึ่งภาษาอีสานใช้พยัญชนะแบบไทย จึงใช้ “ธ” เป็นพยัญชนะเท่านั้น ในด้านความหมายและการออกเสียงถือได้ว่า ทั้งสองคำนี้ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด
ภาคอีสานในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ธง หรือ ธุง มีบทบาทในวิถีวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก นอกจากพบในประเพณีพิธีกรรมแล้ว ยังพบธงอยู่ในวรรณกรรมต่างๆ ทั้งประเภทนิทาน วรรณกรรมตำนาน วรรณกรรมคำสอน ที่จารในเอกสารใบลานเป็นจำนวนมาก เช่น ท้าวฮุ่งขุนเจือง คัชชนาม อุรังคธาตุ ปู่สอนหลาน ธรรมดาสอนโลก เป็นต้น มักปรากฏในฉากขบวนแห่ ฉากการสู้รบ และมีบางคำศัพท์เกี่ยวกับธงได้สูญหายไป เช่น "ประคือ" อันหมายถึงธงประเภทหนึ่ง ยังมีวรรณกรรมอีกประเภทหนึ่งคือ "สลองอานิสงส์" ได้กล่าวถึงที่มาของธงในพุทธศาสนา ประเภทของธง การใช้ในลักษณะต่างๆ และอานิสงส์ของการถวายธง โดยเขียนตามขนบภาษาถิ่นคือ ใช้อักษร "ท" แทน "ธ" เช่น ทุงกระดาษ, ทุงซาย, ทุงไซ, ทุงทอง, ทุงเผิ่ง, ทุงฝ้าย, ทุงเหล็ก เป็นต้น โดยคนอีสานมักจะจารทั้งตัวอักษรธรรม และไทยน้อย ด้วย ท ผสมสระ อุ และมี ง เป็นตัวสะกด ดังตัวอย่าง
ทุง น. ธง ธงเรียก ทุง ทุงทำด้วยกระดาษเรียก ทุงกระดาษ ที่ทำด้วยผ้าเรียก ทุงผ้า ที่ทอด้วยผ้าใช้ไม้ไผ่สาน เรียก ทุงช่อ ที่ทำเพื่อใช้ในเวลารบ เรียก ทุงชัย อย่างว่า มีทังทุงทองพร้อมทุงชัยทุงกระดาษ(เวส) ทุงสะอาดเหลื้อมทุงเบิกไกวลม (กา) ทุงหยาดเหลื้อมเหลือท่งเงินยาง แมนก็ยอสมคามเคียดชูชิงม้าง ลุงบ่วางโสมแก้วสองศรีเสียง่าย ฮุ่งค่ำอ้างเถิงท้าวที่เซ็ง(ฮุ่ง). Flag.
ปะคือ น. ร่ม ฉัตร อย่างว่า ถัดนั้นไทปะคือตั้งเลียนถันแสนติ่ว (กา) ม้าแอบคุ้นคอสอดสะเนียนทอง นายนักการเขาแต่งดีดาเมี้ยน ปะคือคำตั้งเหนือหัวหอนนาค นายนั่งป้องยังหุ้มเครื่องคำ (สังข์) เฟื่องเฟื่องกั้งคชฮ่มพานคำ พังเพียรทรงอินทรีย์ย่างผายผันย้อง ธรรม์ยำท้าวเนาในปะคือมาศ บ่ฮู้กี่ส่ำถ้องถนิมแกว่งจำมร (ฮุ่ง). umbrella, parasol.
ที่มา : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง
แต่พบในเชิงอรรถอธิบายคำศัพท์โบราณ ในหนังสือที่ปริวรรตวรรณกรรมหลายเล่ม ได้ให้ความหมายของ "ปะคือ" ว่า "ธง" และหากเมื่อสังเกตตามลักษณะในการแกว่งไกว เคลื่อนไหวของปะคือแล้ว น่าจะมีความหมายถึง ธง มากกว่า ร่ม หรือ ฉัตร [ อ่านเพิ่มเติมจาก : เอกสารประกอบการเสวนาเรื่อง ทุง ปะคือ ]
ธุง เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมสำคัญของชาวอีสานมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่าสามารถใช้ป้องกันสิ่งเลวร้ายหรือสิ่งไม่ดีที่มองไม่เห็น ภูตผีวิญญาณต่างๆ ที่จะมารบกวนงานบุญ หากเห็นธุงแล้วจะถอยออกไป พร้อมกันนั้น ยังเป็นการบอกกล่าวบวงสรวงเทพยดาในพื้นที่ว่ามีการทำบุญ และมีพิธีการสำคัญให้มาช่วยปกป้องคุ้มครอง
ธุงของอีสานนิยมทอเป็นผืนยาวๆ มีรูปสัตว์หรือรูปภาพต่างๆ ตามความเชื่อบนผืนธุง เช่น จระเข้ เสือ ตะขาบ นางเงือก เทวดา และอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีการดัดแปลงวัสดุธรรมชาติอื่นมาเป็นธุงด้วย เช่น ลูกปัดจากเมล็ดพืช ไม้แกะรูปทรงต่างๆ เส้นใยของพืชนำมาถักทอ เป็นต้น
ทั้งนี้ วิทยา วุฒิไธสง (2561) ได้แบ่งประเภทของธุงอีสาน 6 ประเภท ดังนี้
การถวายธุง ถือได้ว่าเป็นการสร้างบุญกุศล เมื่อถวายธุงแล้วจะได้บุญ จะได้เกาะชายผ้าธุงขึ้นสวรรค์ และอุทิศกุศลผลบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการนำข้าวต้ม เงิน มาแขวนหางธุง เพื่ออุทิศให้กับคนตาย หรือแขวนหางธุงเพื่อนำพาตนขึ้นสวรรค์ นอกจากนี้ยังเชื่อว่า การทานธุงในชาตินี้เพื่อเป็นอานิสงส์ในชาติหน้า เช่น ถ้าชาตินี้รูปร่างไม่สูง ชาติหน้าจะได้สูง และการถวายธุงทุกเดือนเมษายนในช่วงสงกรานต์ ยังเชื่อว่าจะทำให้ได้บุญ ได้ความงาม และความร่มเย็นเป็นสุข
ธุงผะเหวดอีสาน ที่เป็นงานหัตถกรรมถักทอลวดลายลงบนผืนผ้าที่ต้องอนุรักษ์และฟื้นฟูไว้ก่อนจะสูญหาย
มะยัง ภันเต อิมินา ธะชะปะฎาเกนะ
ระตะนัตตะยัง อภิปูเชมะ อะยัง
ธะชะปะฎาเกนะ ระตะนัตตะยะบูชา อัมหากัง
ทีฆะรัตตัง หิตายะ พุขายะ สังวัตตะตุฯ
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถวายบูชาซึ่งพระรัตนตรัย ด้วยแผ่นผ้านี้
การบูชาพระรัตนตรัยด้วยแผ่นผ้านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย
จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญฯ
ในปัจจุบัน แม้จะยังมีการทำทุง ปักทุง ในงานบุญกันอยู่แต่ก็เหลือไม่มากนัก ด้วยสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไม่มีเวลาในการจัดทำหรือสืบสานต่อ ขาดผู้นำและสั่งสอนสืบทอด จึงมีการริเริ่มในการจัดเป็นงานเทศกาลใหญ่ ด้วยการเอาวัฒนธรรมในอดีตนี้มาฟื้นฟูให้มีความยิ่งใหญ่ มีความสวยงาม เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เข้ากับยุคสมัยใช้สื่อโซเชียล บันทึกความสวยงามออกอวดโชว์กัน
เช่น ใน งานมาฆปูรมี ณ พระธาตุยาคู ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น เป็น “ทะเลธุงใยแมงมุม” สีสันสดใสงดงาม ผูกเป็นธงยาวกับเสาไม้ไผ่ เรียงกันเป็นทางยาวสุดสายตา มีพระธาตุยาคูตั้งเป็นฉากสง่างามอยู่เบื้องหลัง
ธุงใยแมงมุม มีทั้งประเภท 4 ด้านหรือ 6 ด้าน ทำมาจากเส้นไหมหรือเส้นด้าย ที่มีหลากหลายสีสันมัดกับไม้ไผ่ที่เหลาแล้ว แต่จะกำหนดขนาด มัดและม้วนจนเป็นวงรอบคล้ายใยแมงมุมที่โยงไปโยงมา เป็นความเชื่อถึงการเชื่อมโยงวิญญาณ บุญกุศล ไปสู่ภพหลังความตายได้
อีกทั้งธุงใยแมงมุม ยังสะท้อนความเชื่อหลายอย่างด้วยกัน ทั้งตำนาน เรื่อง พระยาคันคาก เมื่อครั้งไปปราบพระยาแถนที่ไม่ยอมให้ฝนแก่โลกมนุษย์ ทำให้พระยาคันคากต้องไปรบ คราวนั้น ได้รับความร่วมมือจากบริวารที่เป็นสัตว์มากมาย ที่ช่วยสร้างถนนเชื่อมโยงจากโลกไปสวรรค์ ดินแดนแห่งพระยาแถน สัตว์ที่ว่ามี "แมงมุม" รวมอยู่ด้วย ที่ชักใยและเชื่อมโยงให้ถนนร่วมกับสัตว์อื่นๆ สร้างจนถึงสวรรค์แดนพระยาแถนได้ และคราวนั้น พระยาคันคากก็ต่อสู้ได้ชัยชนะ
อันเป็นกุศโลบาย หมายถึง สายใยนำสู่พระธรรม เป็นบุญเป็นกุศลให้คนที่ประดิษฐ์ธุงแมงมุมถวายเป็นพุทธบูชา ได้ยึดเกาะสายใยนี้สู่ภพแห่งพระศรีอริยเมตไตรยหรือสู่นิพพาน นันเอง
อีกที่หนึ่งที่เริ่มการอนุรักษ์ธุงอีสานคือ จังหวัดนครพนม ที่ วัดพระธาตูพนมวรมหาวิหาร โดยใช้พื้นที่บริเวณลานธรรมหน้าวัดพระธาตุพนมฯ ตั้งเป็นทะเลธุงที่ชาวบ้านใจแต่ละชุมชน นำมาประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศานา เมื่อยามถูกลมพัดก็จะสะบัดไหวในอากาศ และอีกวัดคือ วัดธาตุน้อยศรีบุญเรือง ที่อยู่ใกล้ๆ กัน ในงานบูชาพระธาตุพนม ช่วงวันมาฆะบูชาของทุกปี
คนอีสานนิยมทอธุงถวายเป็นเครื่องบูชาและอุทิศถวายมาช้านาน ด้วยความเชื่อที่ว่า การถวายธุงนั้น เป็นการสร้างกุศลให้แก่ตนเอง และยังได้อุทิศกุศลผลบุญให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า คนอีสานมีความเชื่อเกี่ยวกับธุงใน 2 ลักษณะ คือ
ความเชื่อเกี่ยวกับธุง เป็นความเชื่อส่วนบุคคล อาจไม่เหมือนกัน เช่น
[ อ่านความรู้เพิ่มเติม : ธุงอีสาน ]
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
การเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยความรักของหนุ่ม-สาว ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด ภาษาใด ก็มักจะมีการจัดพิธีกรรมขึ้น เพื่อเป็นการประกาศให้ญาติทั้งสองฝ่ายรับรู้ เป็นสักขีพยานในการครองรักครองเรือน ซึ่งพิธีการแต่งงานก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ในชาติพันธุ์ ชาวกูย หรือ กวย หรือ ส่วย หรือ เยอ ก็มีพิธีกรรมนี้เช่นกัน เรียกว่า "ซัตเต"
"พิธีซัตเต" เป็นพิธีการแต่งงานแบบพื้นบ้านของชาวกวย, กูย, ส่วย หรือ เยอ คำว่า "ซัตเต" เป็นภาษาส่วย แปลว่า "ผูกแขน" หรืออาจจะเรียกตามภาษาเขมรถิ่นไทยในแถบสุรินทร์ว่า "ฮาวปลึงจองได" ก็ได้ ซึ่งคำว่า "ฮาวปลึง" หมายถึง "การเรียกขวัญ" ส่วนคำว่า "จองได" มีความหมายว่า "ผูกข้อผูกแขน หรือ ผูกข้อมือ" ซึ่งตามประเพณีอีสานทั้งอีสานเหนือ อีสานใต้ การจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญเป็นการแสดงความชื่นชมยินดีให้กับเจ้าของขวัญ ให้มีความสุข อายุยืนยาว มีพิธีการสู่ขวัญ หรือสูตรขวัญ โดยพ่อหมอหรือพราหมณ์เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งการสวดนี้ก็จะใช้ภาษาท้องถิ่นแตกต่างไป ในจังหวัดทางอีสานใต้ก็จะใช้ภาษาเขมร เมื่อเสร็จสิ้นการสวดแล้วก็จะมีการผูกข้อมือโดยพราหมณ์ และญาติผู้ใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ของการรับขวัญและเป็นสิริมงคลสืบไป
บุญซัตเต ผูกแขนแต่งงานแบบชาวกูย วิถีชีวิตชาวกูยสุรินทร์
ชาวกูย, กวย, โกย, เยอ อพยพเข้าประเทศไทย ครั้งใหญ่ในสมัยปลายอยุธยา (พ.ศ. 2245 - 2326) ชาวกูยมีถิ่นเดิมอยู่บริเวณตอนเหนือของเมืองกำปงธม ประเทศกัมพูชา ชาวกูยที่อพยพมามีหัวหน้าของตัวเอง คนไทยเรียกชาวกูยว่า "เขมรป่าดง" แต่ "ชาวกูย" จะเรียกตัวองว่า กุย หรือ โกย ซึ่งแปลว่า "คน" ส่วนคำว่า "ส่วย" นั้น ชาวกูยเองไม่ค่อยยอมรับชื่อนี้
ชาวกวย, กูย, เยอ เป็นกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีมายาวนาน รักสงบ รักอิสระ มีความสามัคคี เป็นคนมีระเบียบวินัย มีเอกภาพในสังคม มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน อย่างเช่น พิธีแต่งงาน "ซัตเต" ของชาวกูย ในแต่ละท้องที่จะมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่ก็มีความเหมือนในด้านความเชื่อและวิธีปฏิบัติ นับเป็นวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่น่าอนุรักษ์ไว้
ขั้นที่ 1 จีเจาะกะมอล คือ การไปทาบทาม หรือไปพูดจาบอกเล่าว่า "ลูกชายมารักชอบพอลูกสาวบ้านนี้" ทางญาติฝ่ายเจ้าสาวจะเห็นพ้องต้องกันในการที่จะให้ทั้งคู่ได้อยู่ใช้ชีวิตร่วมกันหรือไม่ ถ้าเห็นพ้อง ยินดี ก็จะไปสู่ขั้นตอนที่ 2
ขั้นที่ 2 จีเมาะกะมอล คือ การที่ฝ่ายเจ้าสาวตอบตกลงและเรียกร้องค่าสินสอด ทองหมั้นตามจำนวนที่เห็นว่าสมควร เหมาะสม ถ้าฝ่ายเจ้าบ่าวได้ตกลงยอมรับค่าสินสอดทองหมั้นตามที่ฝ่ายเจ้าสาวเรียกร้อง ก็จะผ่านไปสู่ขั้นตอนที่ 3
ขั้นที่ 3 จีโต๊ะ คือ การไปหมั้นหมาย มีอุปกรณ์ประกอบการหมั้นหมาย คือ หมาก พลู เหล้า บุหรี่ ทองหมั้น (สร้อย แหวน) หรืออาจเป็นเงินก็ได้ ถ้าตกลงค่าสินสอด ทองหมั้นจำนวนเท่าไหร่ ก็ให้นำมาวางในวันหมั้น ส่วนที่ขาดเหลือให้นำมาในวันซัตเต หรือในวันแต่งงาน
ขั้นตอนที่ 4 ซัตเต คือ พิธีแต่งงาน ซึ่งจะมีอุปกรณ์ประกอบพิธีประกอบด้วย
เครื่องเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวกูย
การแต่งกายบ่าว-สาวด้วยผ้าไหมสวยงามตามแบบชาวกูย
พานบายศรี พร้อมเครื่องเซ่นไหว้ เสี่ยงทาย และฝ้ายผูกแขน
จา พนม ยีรัมย์ ก็เข้าพิธีแต่งงานซัตเต แบบชาวกูย
การจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมายไทยหลังพิธีซัตเต
หนึ่งเดียวในโลก! เมืองช้างจัดวิวาห์หวานวันวาเลนไทน์ 60 คู่รักจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง 15/02/2020
สาวโสดท่านใด ถ้ามีหนุ่มๆ มาบอกว่า “ซมแซน” (ขอแต่งงาน) แล้วอย่ามัวแต่เขินอายนะ เจาะจงให้หนุ่มๆ บอกญาติผู้ใหญ่ไป จีเจาะกะมอล กับพ่อแม่เรา ถ้าท่านตกลง จีเมาะกะมอล ก็จะได้ จีโต๊ะ แล้วไปร่วมจัดงานแต่งงาน "สมรสหมู่บนหลังช้าง : ซัตเต" กันที่จังหวัดสุรินทร์เลยจ้า
ท่านที่สนใจใน ประเพณีแต่งงานของชาวกูยอะจีง (อะจีง=ช้าง) ที่เรียกว่า ซัตเต นี้ สามารถติดต่อที่ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท. สุรินทร์) ซึ่งจะรับสมัครในช่วงเดือนมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์ทุกปี โดยระบุว่า คู่รักที่มาร่วมในงานจะได้จดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง และเข้าพิธีแต่งงานแบบชาวกวย หรือ พิธีซัตเต ของชาวพื้นเมืองสุรินทร์ อันมีการประกอบพิธีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ตั้งแต่ การแต่งกายของเจ้าบ่าวจะต้องนุ่งโสร่งไหม เสื้อแขนยาวสีขาว ผ้าไหมพาดบ่า พร้อมด้ายมงคลสามสีสวมศีรษะ (ด้ายสีแดง ขาว น้ำเงินและทาด้วยข้าวเหนียว)
ส่วนการแต่งกายเจ้าสาว ต้องนุ่งผ้าไหมซิ่นลายกวย เสื้อแขนกระบอกสีอ่อน (ขาว ครีม หรือชมพู) พาดด้วยสไบสีแดง และศีรษะสวม “จะลอม” (มงกุฎที่ทำจากใบตาล) จนมีเรียกกันว่า "เจ้าสาว... ในมงกุฏใบตาล" ต่อมาเจ้าบ่าวจัดขบวนขันหมากช้างไปรับเจ้าสาว ก่อนจูงมือกันเข้าประกอบพิธีตามลำดับสำคัญ คือ พิธีสวมด้ายมงคลบ่าวสาว บายศรีสู่ขวัญและพิธีถอดคางไก่เสี่ยงทายชีวิตคู่บ่าวสาวโดยหมอพราหมณ์
เฉลิมพล มาลาคำ มีคู่มานานแต่ก็อยากทำพิธี "ซัตเต" ตามแบบชาวกูยบ้าง
รวมไปถึง การเลี้ยงบุฟเฟ่ต์อาหารช้าง เพื่อความเป็นสิริมงคล และการจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนเดินทางไปยังบริเวณวังทะลุ (ที่ลำน้ำชีและลำน้ำมูลไหลมาบรรจบกัน) เพื่อบอกกล่าวศาลปู่-ตา ให้รับทราบถึงการครองคู่เป็นสามีภรรยากัน คู่รักที่สนใจร่วมจดทะเบียนบนหลังช้างและพิธีซัตเต สามารถสมัครได้ที่ สำนักงาน ททท. สุรินทร์ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ โดยจะได้รับของที่ระลึกและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ (ยกเว้นค่าใช้จ่ายเฉพาะการแต่งกายของคู่บ่าวสาวเท่านั้น)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : การเลือกคู่ครอง | การแต่งงานแบบอีสาน | แซนการ์ แต่งงานอีสานใต้ | ซัตเต แต่งงานชาวกุย
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)