คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
การแต่งงาน เป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของชีวิตคนทุกคนในโลกใบนี้ ทั้งในประเทศไทยภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันตก-ตะวันออก และภาคอีสาน เพราะเป็นวันแห่งการสร้างสถาบันครอบครัว สร้างอาชีพ สร้างทายาทของวงศ์ตระกูลให้ดำรงอยู่ สืบสายสกุลรุ่นสู่รุ่น ซึ่งการจัดการตามประเพณีแต่ละถิ่นที่ก็จะมีพิธีกรรม ขั้นตอน แตกต่างกันออกไป ในบทความนี้จะกล่าวถึง การจัดงานแต่งงานตามแบบพี่น้องอีสานใต้ (ที่มีเชื้อสายเขมรในประเทศไทย) เรียกว่า พิธีแซนการ์
การจัดงานแต่งงานตามแบบประเพณีเขมร จะนิยมจัดขึ้นในช่วงตั้งแต่ เดือนแคปะกุล - เดือนแคเจต (เดือนกุมภาพันธ์ - เดือนเมษายน) การเตรียมงานในสมัยเมื่อ 20 - 30 กว่าปีก่อน ถือเป็นงานพิธีที่ยุ่งยากและพิถีพิถันเป็นอย่างมาก ต้องเตรียมงานกันข้ามปีเลยทีเดียว ในสมัยปัจจุบันช่วงเวลาในการจัดงานแต่งงานอาจทำได้ตลอดทั้งปี ยกเว้นเฉพาะช่วงเข้าพรรษา และเดือนห้าเท่านั้น
ในธรรมเนียมโบราณนั้น "ช่วงเข้าพรรษาคือช่วงห้ามจัดงานแต่งงาน" เพราะแต่เดิมช่วงเข้าพรรษา พระสงฆ์ท่านจะไม่รับกิจนิมนต์ จะจำพรรษาแต่ในวัด เนื่องด้วยการเดินทางไม่สะดวกสบายอย่างในปัจจุบัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงบัญญัติไว้ว่า ห้ามภิกษุจาริกไปยังที่ต่างๆ ในระหว่างพรรษาเพราะการเดินทางจะเหยียบย่ำพืชพันธ์ในไร่นาชาวบ้านให้เกิดความเสียหาย ตามธรรมเนียมโบราณเพื่อความเป็นสิริมงคลในงานแต่งงาน ผู้รดน้ำสังข์คือพระสงฆ์ และต้องมีจำนวนเลขคู่จึงจะเป็นมงคล ทำให้พระสงฆ์ท่านเดือดร้อนในการเดินทาง ซึ่งอาจกินเวลาหลายวันหรือข้ามวันนั่นเอง จึงไม่มีการจัดงานแต่งงานในช่วงนี้ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไปก็อาจจะเห็นการจัดงานกันอยู่ ด้วยเหตุผลว่า "ถ้ายืดออกไปเด็กที่เกิดมาจะมีอายุครรภ์ไม่ครบ 9 เดือนกระมัง" (ความเห็นนี้เป็นของอาวทิดหมูเด้อครับ 🙂) ส่วนการห้ามทำพิธีแต่งงานในเดือนห้าหรือเดือนเมษายน ข้อห้ามนี้น่าจะเกี่ยวกับความร้อนแห่งฤดูกาล และแห้งแล้งไม่เหมาะสมนัก การแต่งงานทำให้ร้อนรนไม่เป็นมงคล ครอบครัวอาจแตกแยกได้ (แต่สมัยนี้แต่งงานในห้องแอร์โรงแรมใหญ่อาจจะไม่ร้อนเหมือนในอดีต)
แต่ละคู่รัก บ่าว-สาว ที่จะจัดพิธีแซนการ์ (หรือแต่งงาน) จะกำหนดงานให้มีจำนวน 2 - 3 วัน โดยแบ่งเป็น "วันรวมญาติพี่น้อง" หรือ "วันสุขดิบ", "วันแต่ง" และ "วันส่งตัว" (ตามความเหมาะสม ช่วงหลังๆ รวบรัดเหลือแค่ 2 วัน โดยรวมวันแต่งกับวันส่งตัวเข้าด้วยกัน)
ในสมัยโบราณ การเลือกคู่ครองมักจะเกิดจากการหมั้นหมาย การเลือกให้โดยญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย เห็นพ้องต้องกันมาก่อน ที่เรียกกันว่า "การคลุมถุงชน" อาจจะเป็นเพราะการต้องดำรงเผ่าพันธุ์ในกลุ่มที่เหมาะสมทางด้านชนชั้น หรือฐานะที่เสมอกันก็เป็นได้ แต่หนุ่ม-สาวไทยในปัจจุบัน (ทุกภาค รวมทั้งในกลุ่มเขมรอีสานใต้ด้วย) มีอิสระในการเลือกคู่ครองด้วยตนเอง เมื่อรักใคร่ชอบพอกันแน่นอนแล้ว ก็จะบอกให้ญาติผู้ใหญ่รับรู้ โดยพ่อ-แม่ฝ่ายชายก็จะไปเยี่ยมเยียน เพื่อทำความคุ้นเคยกับทางฝ่ายหญิง จากนั้นก็จะส่งเฒ่าแก่ไปทำการ "ซูร์" (หมั้น) เริ่มต้นด้วยการทาบทามด้วย เหล้า 1 ขวด หมากพลู 1 พาน เทียน 1 คู่ ทางฝ่ายหญิงเมื่อพอใจยินดีก็จะเรียกค่าสินสอด (ตามความพอใจ) เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้แล้ว ก็จะนัดวันดีเพื่อทำพิธีแต่งงานต่อไป
กันตรึมร่มเย็น ประยูรญาติน้อย มงคลจองได
ฝ่ายเจ้าสาว จะเตรียมทำฟูก (ที่นอน) หมอน ผ้าสมมา (ผ้าไหว้ขอขมา) ญาติผู้ใหญ่ให้ครบ (สมัยโบราณนั้น ต้องมีการทอผ้า ต่ำหูก ตัดเย็บ ใช้เวลาหลายเดือน กว่าจะแล้วเสร็จ แต่ปัจจุบันสามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ทันใจกว่า) เตรียมเจียนหมาก ตากแห้งไว้เป็นของชำร่วย เพื่อแจกญาติพี่น้อง ตัวเจ้าสาวเองต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน (ทอผ้า เย็บผ้า ในสมัยก่อน) ก่อนถึง "ไงแซนการ์" หรือ "วันแต่ง"
ทางฝ่ายเจ้าบ่าว ก็ต้องเตรียมหมากแห้งไว้แจกแขกเช่นกัน ทำบายศรีสู่ขวัญเจ้าสาว เตรียม "จำแน็ย" คือ อาหารสด (ประกอบด้วยเนื้อ หมู ไก่ ปลา) ผักต่างๆ ฯลฯ ตามแต่ฝ่ายเจ้าสาวจะเรียกร้อง เพื่อนำไปใช้ในวันงานสำหรับการจัดเลี้ยงแขก รวมทั้งเงินทองค่าสินสอดด้วยให้พร้อม
ก่อนวันแต่ง 1 วัน เจ้าบ่าวต้องส่งขบวนสัมภาระ "จำแน็ย" (อาหารสด เนื้อ หมู เป็ด ไก่ ผักต่างๆ สำหรับการประกอบอาหารเลี้ยงแขก ตามคำขอฝ่ายเจ้าสาว) เหล่านี้ไปยังบ้านเจ้าสาว ถ้าเกิดมีลางร้าย (เตรียมไม่พร้อม ไม่พอ หรือเกิดอุบัติเหตุ) ก็อาจจะเลิก หรือเลื่อนวันแต่งงานออกไปก่อนก็ได้
ที่บ้านเจ้าสาว ต้องมี "พราหมณ์" หรือ "อาจารย์" เจ้าพิธีผู้ดำเนินการด้านพิธีกรรม มาเตรียมการดังนี้
เพลงกันตรึมแห่ขันหมากจะดังขึ้น พร้อมกับขบวนฟ้อนรำของฝ่ายเจ้าสาวอย่างสนุกสนาน พอได้เวลาพราหมณ์ฝ่ายเจ้าสาว จะขอนับค่าสินสอดที่เรียกว่า ขันสลา (ขันหมาก) และข้าวของเครื่องใช้ ขนม นม เนย ว่าครบตามที่กำหนดหรือไม่ (ของเหล่านี้พ่อแม่จะต้องแบกรับขึ้นไปบนบ้าน) และขณะทำพิธีห้ามพ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้ามายุ่งเกี่ยว หรือเข้าใกล้ภายในปะรำพิธีโดยเด็ดขาด ในเวลาขณะนี้จะเป็นพิธีสำคัญของพราหมณ์ โดยเริ่มให้เจ้าบ่าว-เจ้าสาวไหว้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายตรงกันข้าม เพื่อให้รับทราบเครือญาติสายตระกูล
จากนั้นจะเป็นพิธีกรรมของพราหมณ์ท่ามกลางเพื่อนเจ้าบ่าว-เจ้าสาว และญาติพี่น้องที่อยู่ในเรือนหอ ส่วนกิจกรรมที่ปะรำพิธีจะปัดกวาดจัดเตรียมที่จะยกสำรับ เครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษมาเซ่นให้ทราบว่า ลูกหลานแต่งงาน ของสิ่งนี้เรี่ยกว่า "สแนแซน" (เครื่องเซ่น) โดยมีญาติฝ่ายชายและหญิงมาร่วมพิธี
จะเห็นว่าการแต่งงานของชาวอีสานใต้นั้น เน้นการขอบคุณและระลึกถึงเทพ ผีบรรพบุรุษ และยังไม่ละทิ้งตำนานและความเชื่อเรื่องความรักของเจและยอง จะพบว่า "ปะต็วล" เป็นสัญลักษณ์เด่นที่สุดในปะรำพิธี (โรงเรือน) และในขบวนแห่นั้น "เต่า" เป็นสัญลักษณ์แทนความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว จึงจัดเข้าเป็นส่วนประกอบของการแห่ และที่สำคัญคือ "ตัญญูปะกำ" เป็นเครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษที่จะลืมไม่ได้ในพิธีแซนการ์ เพราะพิธีการจะเน้นการระลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : การเลือกคู่ครอง | การแต่งงานแบบอีสาน | แซนการ์ แต่งงานอีสานใต้ | ซัตเต แต่งงานชาวกุย
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)