คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ช่วงเดือนธันวาคม หลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ หนุ่มนาบ้านทุ่งก็จะเตรียมทำ "ว่าวสะนู" เพื่อปล่อยขึ้นให้ล่องลอยบนท้องฟ้า "สะนูว่าว" หรือในท้องถิ่นบ้านทุ่งบางแห่งเรียกว่า "ธนูว่าว, ทะนูว่าว, อูด" หรือ "หมากตื้อ" ทางใต้เรียกว่า "แอก" มีลักษณะคล้ายคันธนู ที่ติดอยู่บนหัวว่าว เมื่อว่าวล่องลอยอยู่บนท้องฟ้ามีลมพัดผ่านใบสะนู เมื่อว่าวติดลมบนลมจะสะบัดสะนูทำให้เกิดเสียง ตื๊อตึ่ง ตื๊อตือ ตื๊อตึ่ง คล้ายเสียงดนตรี จึงเรียกว่าวที่ติดสะนูนี้ว่า “ว่าวสะนู” จะเกิดเสียงฟังดูแล้วให้ความรู้สึกวังเวง ท่ามกลางความเงียบสงบแห่งราตรีกาล เป็นเหมือนดนตรีที่ขับกล่อมบ้านทุ่ง ฝากความฮัก ความคึดฮอด คึดถึง ไปยังสาวนาที่หมายปองในอีกหมู่บ้านหนึ่งให้ได้ยินในยามค่ำคืน
สะนู น. เครื่องทำเสียงชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายหน้าจ้าง ใบสะนูทำด้วยใบตาล ใบลาน ติวไม้ไผ่ หรือทำด้วยแผ่นเงินแผ่นทอง ถ้าได้แผ่นเงินแผ่นทองเสียงจะไพเราะนัก สะนูนี้ใช้ติดที่หัวว่าว ปล่อยว่าวขึ้นไปในอากาศ ลมพัดสะนูเสียงจะดัง ฟังแล้วเกิดความเพลิดเพลินเจริญใจ ชาวนาที่ต้องใช้หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินหากินมาแต่ดึกดำบรรพ์ ได้รับความทุกข์ทรมาน เมื่อได้ยินเสียงสะนูดังก็จะลืมทุกสิ่งทุกอย่าง ลืมกระทั่งความทุกข์ยากปากหมอง... "
จากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง
ช่วงปลายปีในภาคอีสานจะอยู่ในช่วงฤดูหนาว จะมีลมหนาวพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้อากาศเย็นลง หรือบางครั้งชาวบ้านจะบอกว่า "ลมว่าว" มาแล้ว ซึ่งจะอยู่ในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าวของชาวนา ชาวอีสานจึงนิยมเล่นว่าวกันในช่วงนี้ คือ ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี
ว่าว ที่คนอีสานนิยมเล่นกันนั้น คือ ว่าวสองห้อง หรือ ว่าวดุ๊ยดุ่ย ถือเป็นว่าวพื้นเมืองอีสาน รองมาคือ ว่าวอีลุ้ม ว่าวจุฬา ว่าวประทุน และเมื่อถึงเทศกาลงานบุญ เช่น งานบุญกุ้มข้าวใหญ่ ประชาชนมักจะจัดให้มีการแข่งขันว่าว โดยมีการกำหนดการตัดสินที่หลากหลายกันไป เช่น ความสวยงาม หรือว่าวที่ขึ้นลมได้สูงที่สุด ว่าวที่มีเสียงดังและไพเราะที่สุด เป็นต้น
สำหรับ สะนูว่าว หรือ ทะนูว่าว (ตามการออกเสียงแบบชาวอีสาน) หรือ ธนูว่าว คือ เครื่องไม้หรือของเล่น ที่ทำไว้ใช้ในช่วงเวลาว่างจากการทำงานของคนไทยในสมัยโบราณ โดยจะใช้ติดอยู่บนหัวของว่าวที่ทำให้ว่าวมีความสมดุล และติดลมได้อย่างสวยงาม นอกจากนี้ ยังเป็นสิ่งอัศจรรย์อย่างยิ่งที่สามารถทำให้เกิดเสียงดนตรีบรรเลงได้อย่างไพเราะจับใจ ทางภาคกลางเรียก "ว่าวหง่าว" หรือ "ดุ๊ยดุ่ย"
คนไทยโดยเฉพาะทางภาคอีสานมีความเชื่อว่า ว่าวที่มีแอกหรือสะนูประกอบว่าว ถือเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการเสี่ยงทายเรื่องต่างๆ เช่น การเสี่ยงทำนายฟ้าฝนในแต่ละฤดูกาล ถ้าว่าวติดลมลอยอยู่บนท้องฟ้าตลอดทั้งคืน มีความเชื่อว่าปีนั้นฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล ไร่นาและการทำมาหากินจะอุดมสมบูรณ์
แต่ถ้าว่าวขาดหรือเชือกขาด เสียงแอกไม่ดัง ก็มีความเชื่อว่า ในปีนั้นน้ำจะแล้ง ส่วนการเสี่ยงเพื่อเลือกคู่ครอง ถ้าใครเก็บว่าวได้จะถือว่าเป็นคู่ครองอยู่กินกันอย่างมีความสุข (ตำนานในนิทานเรื่อง แก้วหน้าม้า ที่คุ้นเคยกันดีนั่นเอง) นอกจากจะเป็นการละเล่นแล้ว ยังใช้ประกอบพิธีกรรมตามขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อและวัฒนธรรม เช่น การเสี่ยงทาย สะเดาะเคราะห์ เป็นต้น
ว่าวที่จะติดสะนูได้ต้องมีขนาดใหญ่ ทำจากไม้ไผ่นำมาเหลาให้ได้ขนาด จากนั้นจึงมัดเป็นรูปสัตว์ตามจินตนาการของผู้เป็นเจ้าของ แต่ที่บ้านทุ่งจะนิยมทำว่าวจุฬากัน เมื่อทำโครงร่างจากไม้ไผ่เสร็จสมบูรณ์แล้วใช้เชือกมัดให้แข็งแรง ยึดด้วยกระดาษแข็งหรือวัสดุที่ทนต่อการเสียดสีของอากาศ ในขณะที่ล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า (กระดาษถุงปูนซีเมนต์ จะเหมาะสมที่สุดเพราะทนทานแม้โดนไอน้ำจากหมอกก็ไม่ขาดทะลุง่าย) ในอดีตกาวที่ใช้ติดกระดาษคือ ยางมะตูม ที่ได้มาจากลูกตูมกา สมัยปัจจุบันกาวลาเทกซ์หาได้ง่ายและสะดวกกว่า
ส่วนหูและหางของว่าวนำมาจากวัสดุที่อ่อนพริ้วเช่น กระดาษย่นสีสันต่างๆ หรือพลาสติกจากถุงก็อบแก็บก็ได้ โดยเฉพาะส่วนหาง ซึ่งเป็นส่วนที่เกิดความสมดุลย์ในขณะที่อยู่บนอากาศ เมื่อตอนเด็กๆ พวกเราจะลงทุนไปขอจีวรเก่าๆ ของพระที่วัดที่ท่านไม่ได้ใช้แล้ว มาทำเป็นหางว่าวได้ตามขนาดที่ต้องการ (ตามภาพประกอบด้านบน เพราะทนทานจริงๆ ลมแรงเพียงใดก็ไม่ขาดง่ายๆ)
เมื่อได้ว่าวตามขนาดที่ต้องการแล้ว ก็จะถึงขึ้นตอนการทำสะนู ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับธนูที่ใช้ล่าสัตว์ เพียงแต่ว่าเปลี่ยนจากสายเชือกมาเป็น ใบลาน หรือใบตาล ยึดด้วยเชือกติดกับปลายสะนูทั้งสองข้าง จากนั้นจึงใช้ขี้สูดยึดประกบรอยของเชือกเพื่อมิให้หลุดเมื่ออยู่บนท้องฟ้า
เมื่อประกอบเสร็จแล้ว จะนำมาแกว่งเพื่อทดสอบเสียง จนได้เสียงเป็นที่พอใจ แล้วจึงนำมามัดไว้บริเวณส่วนหัวของว่าว ก่อนที่ปล่อยว่าวจะต้อง "แต่งเคาว่าว" เพื่อเชื่อมโยงระหว่างตัวว่าวกับเชือกว่าว เพื่อให้เกิดความสมดุลย์กัน จากนั้นจึงโยงด้วยเชือกจากเคาว่าวเป็นระยะกว่า 100 เมตร
จากนั้นเจ้าของว่าวจะเตรียมวิ่ง โดยมีผู้ช่วยจับว่าวหนึ่งคน แต่ถ้าเป็นว่าวขนาดใหญ่ต้องใช้ผู้ช่วยไม่น้อยกว่า 2 คน เมื่อเริ่มวิ่งทำให้เชือกตึง จะฉุดให้ตัวว่าวล่องลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า แล้วคลายเชือกให้ได้ระยะตามที่ต้องการ ผูกไว้กับต้นไม้ที่แข็งแรง ส่วนพื้นที่สำหรับการปล่อยว่าวสะนู ก็จะเป็นบริเวณทุ่งนาหลังการเก็บเกี่ยวเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมนักแล ในสมัยก่อนยังไม่มีสายไฟฟ้าแรงสูง ทำให้สะดวกต่อการปล่อยว่าว แต่ในยุคนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
เมื่อว่าวล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า เจ้าของว่าวจะมองเห็นลิบๆ มองผลงานอย่างชื่นชม และกลับไปนอนฟังเสียงสะนูของตนเองในยามค่ำคืน เจ้าของว่าวแต่ละคนจะจำเสียงสะนูของตนเองได้เป็นอย่างดี หากคืนไหนเสียงสะนูหายไป นั้นหมายความว่า ว่าวได้ร่วงหรือเชือกขาดไปแล้ว เขาจะเกิดความกระวนกระวายใจเป็นอย่างมาก รุ่งเช้าจึงต้องเป็นภาระที่จะต้องตามเก็บว่าวคืนมาให้ได้ บางครั้งตามไปพบบนต้นไม้สูง หรือปลายต้นไผ่ ต้องใช้เวลานานพอสมควรจึงจะตามเก็บคืนได้ หรือบางครั้งบางคราวตกไปไกลถึงในบริเวณป่าช้า ก็ต้องทำใจกล้าชวนเพื่อนฝูงไปเป็นเพื่อนเพื่อตามเก็บคืนมาจนได้
สะนู หรือ ทะนู (เขียนอย่างภาษาอีสาน) เป็นเครื่องเล่นประกอบว่าว ในภาคอีสานมาแต่โบราณ โดยมีส่วนประกอบหลักคือ คัน เคา เปิ้น
คันสะนู ทำมาจากไม้ไผ่ซางไพ หรือไผ่บ้าน อายุตั้งแต่ 3-4 ปีขึ้นไป เพราะจะได้มีความแข็งเหนียว ยืดหยุ่นดี ไม่หักง่าย
เคา หมายถึง ส่วนที่เป็นสายระหว่างเปี้น (ปื้น) สะนู กับปลายคันทั้งสองข้าง แต่ก่อนนิยมใช้เส้นไหมมาทำ (หาง่ายในยุคสมัยนั้น) แต่ในปัจจุบันนิยมใช้ด้ายไนล่อนอ่อนแทนเพราะหาง่ายกว่าและมีราคาถูก
เปี้น (ปื้น) หรือใบ (พัด) เป็นตัวที่ทำให้เกิดเสียงเวลาถูกลมพัด เปี้นจะหมุนไปมาโดยมีเคาเป็นตัวยึด เกิดเป็นเสียงสูงต่ำ เปี้นสะนู อย่างพื้นฐานจะใช้ ใบลาน ใบตาล ใบเกด (การะเกดหรือต้นลำเจียก) มาทำ สำหรับว่าวที่เด็กๆ เล่นกัน ถ้าเป็นสะนูมาตรฐานของหนุ่มๆ ก็จะทำจากหวาย เครือหมากแตก หรือทองเหลืองตีเป็นแผ่นแบนหลาบยาวๆ แต่โดยทั่วไปนิยมใช้หวาย เพราะเหนียวและให้เสียงดี ส่วนเครือหมากแตกให้เสียงนุ่มนวล แต่ก็ไม่ค่อนทนทาน โดนลมไปนานๆ มักเปี้นขาดหรือหัก สมัยใหม่นี่สะดวกมากหันไปใช้แถบพลาสติกแบนๆ (ที่ใช้รัดกล่องพัสดุสิ่งของในการขนส่ง)
สอนทำสะนูว่าวจากหวาย ร่วมอนุรักษ์สืบสานประเพณีอีสานพื้นบ้าน
การปรับแต่งเสียงสนูด้วยขี้สูด หรือขี้ผึ้ง (ชันโรง)
เพลง สะนูว่าวข่าวรัก ศิลปิน : เอกพล มนต์ตระการ
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : นิทานพญาคันคาก เมื่อได้ยินเสียงสะนูว่าว
ขอบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของ ประเพณีการจัดงานปลงศพสำหรับบุคคลสำคัญที่เป็นชั้นเจ้านายปกครองบ้านเมืองในอดีต และพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่ผู้คนนับถือศรัทธาเป็นจำนวนมาก ด้วยการจัดทำเมรุเผาศพที่ยิ่งใหญ่สร้างเป็น รูปนกหัสดีลิงค์ เพื่อแสดงความเคารพและสักการะ ดังความว่า "วัฒนธรรมประเพณีพื้นเมืองจะยังอยู่สืบเชื้อสายได้ ก็จะต้องมีผู้รักษาสืบต่อ หากขาดผู้รักษาแล้ว วัฒนธรรมท้องถิ่นก็ย่อมหมดไปด้วย การสร้าง นกหัสดีลิงค์ ที่ว่านี้เป็นเรื่องประชาชนในท้องถิ่นถวายให้เกียรติแก่ผู้ตาย ส่วนไฟพระราชทานนั้นเป็นพระเมตตาของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานมาให้ผู้ตาย นกหัสดีลิงค์ ก็เท่ากับว่า "เป็นพานทองรับไฟเพลิงพระราชทานของพระมหากษัตริย์" นั่นเอง ดอกไม้มีพานใส่ฉันใด นกหัสดีลิงค์ก็ฉันนั้น"
29 มกราคม 2562 เป็นการฟื้นฟูพิธีกรรมงานศพของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่เป็นที่เคารพรักศรัทธาของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการจัดทำ เมรุเผาศพรูปนกหัสดีลิงค์ขึ้น "พิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่ พระเทพวิทยาคม" หรือ "หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ" ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันอังคารที่ 29 มกราคม 2562 ณ เมรุลอยชั่วคราว วัดหนองแวงพระอารามหลวง บริเวณพุทธมณฑลอีสาน บ้านเต่านอ ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ขณะนี้ทาง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการเตรียมงานกันล่วงหน้ามาเป็นปีแล้ว โดยเฉพาะการสร้างเมรุลอยชั่วคราวที่พุทธมณฑลอีสาน เพื่อใช้เป็นสถานที่พระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อคูณ ซึ่งเป็นรูปนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกสีขาวทั้งหลัง สูง 22.6 เมตร ฐานกว้าง 16 เมตร ที่มีขนาดใหญ่และงดงามที่สุด ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสาน ที่นิยมสร้างนกหัสดีลิงค์ประกอบเมรุลอยสำหรับงานศพพระเถระชั้นผู้ใหญ่
นกหัสดีลิงค์เทินบุษบกหอแก้ว บนหลังมีหีบเอวขัน ยอดนพศูล ก่อสร้างอยู่บนฌาปนกิจสถานชั่วคราว วัดหนองแวง พระอารามหลวง ด้านหลังพุทธมณฑลอีสาน เป็นสถานที่ที่จะใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ในวันที่ 29 มกราคม 2562 ฌาปนกิจสถานชั่วคราวแห่งนี้ ออกแบบเป็นฐาน 8 เหลี่ยมตามทิศในจักรวาล ทิศหลัก 4 ทิศ ทิศรอง 4 ทิศ แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ตามคติไตรภูมิ
ชั้นนอก แทนโลกมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับผู้มาร่วมงาน มีทางเชื่อมเป็นบันไดขึ้นทางด้านหน้า และด้านหลัง
ชั้นที่ 2 เป็นป่าหิมพานต์ มีนาคประจำ 8 ทั้ง 8 มุม ทิศรองจัดวางหอธรรมาศ ทั้ง 4 ทิศ ประดับด้วยต้นดอกไม้จันทน์ และสัตว์ป่าหิมพานต์ ทั้งจตุบาท ทวิบาท รวม 32 ตัว มีช้าง 4 งา ประจำทิศหลัก 4 ทิศ ช้าง 4 งา ออกแบบตามซากช้างดึกดำบรรพ์ที่ขุดพบในจังหวัดนครราชสีมา บ้านเกิดของหลวงพ่อคูณ
ทิศรองด้านใน มีบันไดนาค 4 แห่ง เชื่อมขึ้นสู่ชั้น 3 นาคทั้ง 16 ตน ออกแบบตามแนวศิลปะประยุกต์ ผสมผสานศิลปะภาคอีสาน ลาว และเขมร พื้นที่ที่หลวงพ่อคูณมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษ
ชั้นที่ 3 แทนสวรรค์ เป็นพื้นที่ลานพิธีกรรม เมรุออกแบบเป็นนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกหอแก้ว บนหลังมีหีบเอวขันยอดนพศูล หัวนกสูง 8 เมตร 50 เซ็นติเมตร ด้านหางสูง 10 เมตร 20 เซ็นติเมตร ขณะที่ฉัตรสูง 26 เมตร ใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยก่อสร้างมา เมรุนกหัสดีลิงค์ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก และเตรียมจัดวางให้สรีระสังขารหลวงพ่อคูณหันศรีษะไปทางทิศเหนือ ตามแนวคิดทิศเหนือ คือ โลกที่เหนือขึ้นไป หรือ สรวงสวรรค์
นกหัสดีลิงค์ ออกแบบตามขนบช่างนกอีสาน มีหัวเป็นนก แต่มีงวงและงาเหมือนช้าง ต่างจากนกหัสดีลิงค์ของภาคเหนือที่มีหัวเป็นช้าง โดยออกแบบให้มี 4 งา เช่นกัน ลายขนนกที่หัวและปีก ออกแบบเป็นลายกลีบดอกคูณ หางนกเป็นลายกนก โดยใช้แบบจากไม้แกะสลักประดับสิม หรือ โบสถ์ วัดพระธาตุขามแก่น นกมีกลไกขยับ งวง ปาก ตา คอ และปีก
หอแก้ว ฐานเอวขันปากพาน บุษบกประดับโก่งคิ้ว ลายดอกกาลกัป ดอกไม้ที่ไม่ร่วงโรยแม้วันสิ้นโลก สื่อความหมายถึงพระนิพพาน ซึ่งเป็นสัจธรรมเที่ยงแท้ไม่เปลี่ยนแปลง ในหอแก้ววางด้วยหีบเอวขัน ยอดนพศูล ประดับลายกระจังปากหีบ หีบเอวขันยอดนพศูล เป็นหีบประดับเกียรติยศสูงสุด ตามความเชื่อของคนอีสาน เหนือขึ้นมาเป็นบัวหงายหน้ากระดานรองรับหลังคาเป็นชั้นเวสน์ 2 ชั้น
ส่วนยอดออกแบบเป็นหม้อกลศ หรือ ส่วนสูงสุดของปราสาทหิน ชั้นหลังคาด้านล่างประดับด้วยลายซุ้ม ตามแบบพระธาตุพนม และลายโค้งเกสรดอกคูณ ยอดเป็นเจดีย์บัวเหลี่ยม 5 ยอด โดยเจดีย์บัวเหลี่ยม เป็นเอกลักษณ์ของเจดีย์ในลุ่มน้ำโขง เช่น พระธาตุพนม พระเชิงชุม เหนือเจดีย์แต่ละยอดมีฉัตร เจดีย์กลาง 5 ชั้น เจดีย์รอง 3 ชั้น ยอดฉัตรประดับด้วยไม้คูณแกะสลัก ปิดด้วยทองคำ
และเพื่อให้พิธีกรรมดังกล่าวมีความสมบูรณ์ ครบถ้วน ถูกต้อง ตามประเพณีแต่โบราณสืบมา ทางจังหวัดขอนแก่น จึงได้จัดขบวนอัญญาสี่เดินทางมาจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเชิญเจ้านางสีดาไปฆ่านกหัสดีลิงค์ ในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่เมรุชั่วคราววัดหนองแวง พระอารามหลวง จังหวัดขอนแก่น ด้านหลัง มณฑลอีสาน ริมถนนเลี่ยงเมืองขอนแก่น-กาฬสินธุ์ ในวันที่ 29 มกราคม 2562 นี้
เมรุลอยที่ใช้ในการพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่ "หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ"
ถูกออกแบบเป็นรูป "นกหัสดีลิงค์" อย่างงดงามวิจิตร จาก ข่าวสปริงนิวส์
เมรุลอยนกหัสดีลิงค์ ส่งหลวงพ่อคูณ จาก ข่าวไทยรัฐ
การฆ่านกหัสดีลิงค์ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 2324 ถึงปัจจุบันเท่าที่มีการบันทึกไว้ นางสีดาได้ฆ่านกหัสดีลิงค์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ตัว นางสีดาตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจุบัน มี 6 รุ่น ประกอบด้วย
นางสาวเมทินี หวานอารมย์ กล่าวว่า การที่ตนมาเป็นผู้สืบเชื้อสายนางสีดานั้น ไม่ใช่การสืบเชื้อสายที่ใครๆ ก็เลือกที่จะเป็นได้ เพราะในรุ่นของ แม่มณีจันทร์ มาถึงรุ่น แม่สมวาสนา ซึ่งมีลูกคือ แม่ประทิน แต่รุ่นลูกของแม่ประทินนั้น ไม่มีใครสืบชื้อสายนางสีดา การสืบเชื้อสายนางสีดาจึงหายไปในบางช่วง กระทั่งมาถึงคุณเมทินี ซึ่งเป็นรุ่นเหลนที่มาเป็นผู้สืบเชื้อสายนางสีดาแห่งเมืองอุบลราชธานี โดยคนในครอบครัวบอกว่า "คุณเมทินีนั้นเคยประสบอุบัติเหตุ ถึงขั้นที่แพทย์ ญาติพี่น้องบางคนเชื่อว่า "ตายไปแล้ว" แต่มีบางคนยังไม่เชื่อ จึงกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงบอกกล่าวนางสีดาตามเชื้อสายที่เรียงลำดับกันมาว่า หากนางเมทินีฟื้นคืนชีพ ยินดีที่จะเป็นร่างทรง หรือผู้สืบเชื้อสายนางสีดาต่อไป จากนั้น นางเมทินีก็ฟื้นคืนชีพ และเป็นผู้สืบเชื้อสายนางสีดาสายเมืองอุบลในปัจจุบัน"
ตำนานนกหัสดีลิงค์ จากรายการ เรื่องนี้มีตำนาน ThaiPBS
สำหรับ นางสาวเมทินี หวานอารมย์ เป็นนางเทียมนางสีดา ฆ่านกหัสดีลิงค์ งานสุดท้าย ในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระสิริพัฒนาภรณ์ (สมหมาย โชติปุญโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง และอดีตเจ้าคณะอำเภอเขื่องใน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ณ เมรุนกหัสดีลิงค์ วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับการเชิญนางสีดาไปประกอบพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ ใน งานพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ นั้น ทางเจ้าภาพ (จังหวัดขอนแก่น) จะแต่งตั้งตัวแทนอัญญาสี่ไปเชิญเจ้านางสีดาโดยผ่านนางเทียมหรือคนทรง ในที่นี้คือ นางสาวเมทินี หวานอารมย์ โดยตัวแทนอัญญาสี่ต้องนำขันธ์ห้าไปเชิญ เมื่อนางเทียมรับขันธ์เชิญและเรียกค่าบูชาครูแล้ว คณะเจ้าภาพก็ลากลับ นางเทียมก็จะได้ตระเตรียมบอกเล่าไปให้บริวารมาช่วยงานตามกำหนดต่อไป
ขอบคุณที่มาของข่าว : GuideUbon.com
19 มกราคม 2562
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา คณะอาญา 4 จากจังหวัดขอนแก่น ได้เดินทางมาเชิญนางสีดาปราบนกหัสดีลิงค์ ตามแบบประเพณีโบราณ นำขบวนอาญา 4 แห่พานเงินและทองเป็นค่ายกคาย (ยกครู) คายหน้า 15 ตำลึง คายหลัง 12 ตำลึงและทองคำแท้มีน้ำหนัก 10 บาท มาเชิญนางสีดาไปร่วมงานพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ในวันที่ 29 มกราคม เพื่อส่งวิญญาณหลวงพ่อคูณ ไปสู่สรวงสวรรค์ เมื่อเวลา 16.00 น. ที่บ้านนางสาวเมทินี หวานอารมณ์ ทายาทนางสีดา รุ่นที่ 6 อายุ 45 ปี พักอาศัยอยู่ที่บ้านด้ามพร้า ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยเครือตระกูลปราบภัย ได้ต้อนรับคณะ ครูธรรมยอดแก้ว ดร.ยุทธพงษ์ มาศวิเศษ เจ้าพิธีช่างทำนกหัสดีลิงค์ พร้อมด้วยขบวนของอาญา 4 ซึ่งเป็นชาย 4 คน หญิง 4 คน และเครื่องค่าคาย (ยกครู) ซึ่งเป็นพานคายหน้ามีเงิน 15 ตำลึง และคายหลังมีเงิน 12 ตำลึง
ส่วนพานกลางเป็นทองคำแท้ที่มีน้ำหนัก 10 บาท จำนวน 2 เส้น โดยขอเข้าไปในบริเวณบ้าน เพื่อที่จะทำพิธีอันเชิญนางสีดาให้ไปปราบนกหัสดีลิงค์ ด้านนางสาวเมทินี หวานอารมณ์ เป็นทายาทนางสีดา ได้พาคณะอาญา 4 ทำพิธีอันเชิญนางสีดา พร้อมตรวจความสมบูรณ์ของคาย ที่ทางคณะของอาญา4 นำมาเป็นเครื่องยกครู ซึ่งโดยมีร่างทรงพ่อประจักรซึ่งเป็นพี่ชายของนางสีดา เป็นผู้ตรวจเครื่องคายว่า ถูกต้องตรงตามประเพณี และทองเป็นทองแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ โดยทางร่างทรงพ่อประจักร์บอกว่า "หากเป็นของปลอมจะเป็นสิ่งไม่ดีกับคณะที่นำมา แต่ตรวจดูแล้วเป็นทองแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์" เมื่อเสร็จพิธีแล้วนางสีดาจะคืนให้
หลังจากนั้นนายสรรพสิทธิ์ รัศมี เป็นผู้กำกับพิธีกรรมในการฆ่านกหัสดีลิงค์ ได้ร่วมเจรจาในเรื่องของพิธีกรรมกับ ครูธรรมยอดแก้ว ดร.ยุทธพงษ์ มาศวิเศษ เจ้าพิธีช่างทำนกหัสดีลิงค์ โดยมีการกำหนดเวลาในการทำพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ในช่วงเวลา 18.00 น. ทางฝ่ายของนางสีดาจะมีการตั้งขบวนบริเวณด้านศรีษะของนักหัสดีลิงค์
โดยจะมีอาญา 4 ของฝ่ายเจ้าเมืองขอนแก่น จะมาเชิญนางสีดาเข้าไปในบริเวณพิธี ขณะที่นางสีดาจะมีการจัดขบวนทัพฆ่านกหัสดีสิงค์ ขบวนแรกเป็นขบวนของอาญา 4 ขบวนที่ 2 ขบวนอาวุธและเพชรฆาต มีหอก ดาบ ธนู ขบวนที่ 3 เป็นขบวนของนางสีดา ดนตรี ฉิ่ง ฉาบและแคน ขบวนที่ 4 เป็นขบวนเครื่องเซ่นไหว้ ส่วนขบวนที่ 5 เป็นขบวนของผู้ติดตาม
ส่วนการจะขึ้นไปฆ่านกจะมีนางสีดาและเพชรฆาตเท่านั้น โดยนางสีดาจะไปรำหลอกล่อนก และเป็นผู้ใช้ลูกศรยิงนก หลังจากนั้นทางฝ่ายเพชรฆาตจะเป็นผู้ใช้หอกแทงนกจนมีเลือดไหลออกมา นกจะร้องเสียงดังแล้วจะค่อยๆ เสียชีวิต ตาจะหลับงวงจะไม่แกว่งไปมา
ส่วนด้านก้นของนกจะมีขี้นกไหลออกมา ซึ่งจะเป็นผลไม้ต่างๆ เช่น ส้ม ประชาชนที่ไปร่วมงานสามารถที่จะเก็บไปรับประทาน เพื่อเป็นมงคลให้กับตัวเอง เมื่อฆ่านกแน่นิ่งแล้ว ขบวนของนางสีดาจะเดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว หลังจากนั้น 3 วันจะมีพิธีกินขี้นก โดยจะมีการจัดเลี้ยงฉลองชัยชนะในการฆ่านกให้กับทีมงาน
เสร็จแล้วทุกคนจะแยกย้ายกันไปปฏิบัติหน้าที่ของตนเองตามปกติ นางสาวเมทินี หวานอารมณ์ เป็นทายาทนางสีดารุ่นที่ 6 บอกว่าตอนนี้ได้เตรียมงานทุกอย่างพร้อมทั้งกำลังพลและเครื่องแต่งกาย มีการวางแผนการเดินทางโดยจะมีการทำพิธีบวงสรวงที่บ้าน ในช่วงเช้าของวันที่ 29 มกราคม 2562 และหลังจากนั้นทางคณะก็จะออกจากบ้านในทันที่โดยใช้รถบัส 2 ชั้น มีห้องสุขาอยู่บนรถ จะไม่มีการแวะระหว่างทาง และจะไปพักทัพบริเวณที่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดเตรียมไว้ให้ หลังพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์เสร็จจะเดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานีในทันที โดยจะรักษาพิธีตามขนบธรรมเนียมอย่างเคร่งครัด
ที่มาของข่าว : 77 ข่าวเด็ด
19 มกราคม 2562
ดาวน์โหลด : หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ (40 หน้า)
หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ฉบับเต็ม (100 หน้า)
แบบอนุสรณ์สถานพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ สร้างครอบจุดฌาปนสถาน หลังองค์พุทธมณฑลอีสาน
มีความสูงเทียบเท่าตึก 10 ชั้น ประยุกต์แบบของพระธาตุในกลุ่มวัฒนธรรมไทย – ลาว ทรงบัวเหลี่ยม
รวมภาพพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ ปุริสุทฺโธ
> >
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : ตำนานนกหัสดีลิงค์ การจัดการปลงศพเจ้านายและพระเถระผู้ใหญ่ในภาคอีสาน
ตำนานนกหัสดีลิงค์ (1) | ตำนานนกหัสดีลิงค์ (2) | ตำนานนกหัสดีลิงค์ (3)
เมรุุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบก ใน งานพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่พระเทพวิทยาคม "หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ"
สุขเพราะมีข้าวกิน สุขเพราะมีดินอยู่
สุขเพราะมีคู่นอนนำ สุขเพราะมีคำเต็มไถ่
สุขเพราะมี 'เฮือน' ใหญ่มุงแป้นกระดาน สุขเพราะหลานหลายนั่งเฝ้า "
“เฮือน” ตามพจนานุกรมภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นคำนาม มีความหมายเช่นเดียวกับเรือน และพจนานุกรม ภาคอีสาน – ภาคกลาง ฉบับปณิธาน ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ “เฮือน” เป็นคำนาม หมายความว่า สิ่งปลูกสร้าง สำหรับเป็นที่อยู่ = เรือน
เฮือนโข่ง, เฮือนโล่ง น. เรือนเปิด มีแต่โครงไม่กั้นฝาห้อง ระบายอากาศได้ดี
เฮือนไฟ น. เรือนครัว เรือนสำหรับปรุงอาหาร และเก็บถนอมอาหารบางอย่างที่อาศัยการรมควันไฟ เช่น หัวหอมแดง กระเทียม ปลาแห้ง ที่นำมาผูกแขวนเหนือเตาไฟ
เฮือนย้าว น. เรือนชั่วคราว, เรือนเล็กๆ ส่วนมากมีสองห้อง เสาไม้ไม่ทุบเปลือก เฮือนเหย้า ก็ว่า
เฮือน น. สิ่งปลุกสร้างสำหรับเป็นที่อยู่อาศัย เรียก เฮือน เฮือนนั้นเฉพาะที่จำเป็นแก่ชีวิตประจำวัน มี 3 คือ เรือนนอน เรือนครัว เรือนผม อย่างว่า ญิงใดสมบูรณ์ด้วยเฮือนสามน้ำสี่ เป็นญิงดีเลิศล้ำสมควรแท้แม่เฮือน (บ.). house, home, any of three buildings which form traditional Isan house. (สารานุกรม อีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง)
คำว่า "บ้าน" กับ "เฮือน" สำหรับความเข้าใจของชาวอีสานแล้วจะมีความแตกต่างกัน คำว่า "บ้าน" มักจะหมายถึง "หมู่บ้าน" มิใช่เป็นหลังๆ แต่เป็นชุมชนมีอยู่หลายหลังคาเรือน ส่วนคำว่า "เฮือน" นั้น ชาวอีสานหมายถึง เรือนที่เป็นหลังๆ
นอกจากคำว่า "เฮือน" แล้ว อีสานยังมีสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะการใช้สอยใกล้เคียงกัน แต่รูปแบบแตกต่างกันไป เช่น คำว่า "โฮง" หมายถึงที่พักอาศัยที่ใหญ่กว่า "เฮือน" มักมีหลายห้อง เป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองในสมัยโบราณ เช่น โฮงเจ้าเมือง
คำว่า "คุ้ม" หมายถึง บริเวณที่มี "เฮือน" รวมกันอยู่หลายๆ หลัง เป็นหมู่อยู่ในละแวกเดียวกัน เช่น คุ้มบ้านเหนือ คุ้มบ้านใต้
คำว่า "ตูบ" หมายถึง กระท่อมที่ปลูกไว้เป็นที่พักชั่วคราว มุงด้วยหญ้าหรือใบไม้ สร้างไว้ใช้ชั่วคราว หรือเป็นที่พักของครอบครัวใหม่ อาศัยอยู่กับพ่อตา-แม่ยาย สร้างแบบชั่วคราวต่อกับเล้าเข้า (ยุ้งข้าว) เรียก ตูบต่อเล้า เมื่อทำมาหากิน (ทำนา) ได้ข้าวขายมีรายได้ก็จะออกไปสร้างเฮือนใหม่ในที่ดินที่พ่อ-แม่แบ่งให้ หรือไปสร้างที่หัวไร่ปลายนา หรืออพยพไปสร้างหมู่บ้านใหม่ใกล้ที่ทำกินของตัวเอง
เรือนพื้นถิ่นอีสาน หมายถึง ที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-ลาว ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของภาคอีสาน สร้างด้วยไม้จริง มีขนาดความยาว 3 ห้องเสา หลังคาทรงจั่ว ใต้ถุนสูง ที่เรียกว่า “เรือนใหญ่” อันเป็นเป้าหมายในการสร้างชีวิตครอบครัวในอดีต เพราะเป็นเรือนที่มีความพร้อมจะใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ อย่างสมบรูณ์พร้อมใน ระบบครอบครัวรวม (Stem Family) หรือ ครอบครัวขยายชั่วคราว ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความเชื่อ การขัดเกลาทางสังคมและการควบคุมพฤติกรรม ที่สัมพันธ์สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตในครอบครัว เครือญาติทั้งภายใน-ภายนอกชุมชนและธรรมชาติแวดล้อมในท้องถิ่น
เฮือน ขนาด 3 ห้องเสานี้จะประกอบด้วยส่วนใช้สอยที่แบ่งไว้ชัดเจนโดยนับจากด้านสกัดจะได้ดังนี้
เฮือนอีสาน มีวิวัฒนาการมาจาก "ถ้ำ" หรือ "เพิงผา" ที่เป็นที่อยู่อาศัยของบรรพชนในอดีต ที่ยังคงหาอาหารด้วยการล่าสัตว์ คลี่คลายมาเป็น "เถียงนา" ซึ่งเป็นบ้านแบบชั่วคราว สร้างไว้คุ้มแดด คุ้มฝนไว้หัวไร่ปลายนา เมื่อมีการทำการเกษตร ปลูกพืชผักต่างๆ รวมทั้งการปลูกข้าวในนา ใช้วัสดุง่ายๆ เช่น ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างหลักและพื้นเป็นไม้ฟาก มุงด้วยใบตอง หรือหญ้าคา ต่อมาเมื่อรวมกันเป็นชุมชนหรือหมู่บ้าน จึงมีการใช้วัสดุที่มั่นคงแข็งแรงขึ้น เช้น ใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นเสา ตง คาน โครงสร้างหลังคา ผนังกั้นห้อง ส่วนการมุงหลังคาได้หันมาใช้กระเบื้องดินเผา หรือแผ่นไม้เนื้อแข็งมามุงแทนหญ้าคา หรือใบตอง เรียก "ไม้แป้นเกล็ด" จะเห็นว่า หลังคาเฮือนอีสานจะเป็นจั่วสูง มีความชันมาก เพื่อให้การไหลของน้ำฝนผ่านหลังคาได้รวดเร็ว ไม่รั่วซึมง่ายนั่นเอง
"เฮือนเกย" บ้านตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
(ภาพจากหนังสือ "เรือนไทย" โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
"ตูบต่อเล้า" เป็นเฮือนเหย้าของ "เขยกก" ที่แยกเรือนออกมาให้ "เขยใหม่" หรือ "เขยรอง" เข้าไปอยู่ "ห้องส้วม" แทนตน
ตามภาษิตอีสานที่กล่าวว่า "น้ำใหม่เข้า น้ำเก่าออก" หมายถึง เมื่อมีเขยใหม่เข้ามาแล้ว เขยเก่าก็จะแยกเรือนไปสร้างครอบครัวใหม่
เรือนโข่ง : มีลักษณะเป็นเรือนทรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอนใหญ่ แต่ต่างจากเรือนแฝด
ตรงที่โครงสร้างของเรือนโข่งจะแยกออกจากเรือนนอนโดยสิ้นเชิง บันไดขึ้นชานเรือนจะมี "ฮ้านแอ่งน้ำ"
ส่วนชั้นล่างของเรือนนอนใหญ่ (ใต้ถุน) อาจใช้สอยได้อีก เช่น กั้นเป็นคอกวัวควาย ที่เก็บอุปกรณ์ในการทำนา พวกคราดไถ เกวียน หรืออุปกรณ์ทอผ้า ฯลฯ รวมทั้งเป็นที่พักผ่อนทำกิจกรรมในฤดูร้อนของครอบครัว หรือสังสรรค์กับเพื่อนบ้าน
ทุกข์บ่มีเสื้อผ้า ฝาเฮือนเพกะพออยู่ ทุกข์บ่มีข้าวอยู่ท้อง นอนลี้อยู่บ่เป็น "
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ในบริเวณบ้าน คือ บริเวณในแนวเขตที่ดินของตนที่อยู่นอกบริเวณใต้ถุนเรือน จะมีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยที่หลากหลาย คือ พื้นที่ทำครัวมักจะอยู่บริเวณใกล้ๆ บันได หรือด้านข้างชานแดด ส่วนพื้นที่ปลูกพืชสวนครัวมักจะอยู่บริเวณริมรั้วใกล้ทาง ด้านหลังบ้านมักจะปลูกพืชไม้ผล ส่วนเล้าข้าว (ยุ้งข้าว) จะสร้างไว้ห่างตัวเรือนใหญ่ไปเล็กน้อย ใกล้ๆ กันหรือริมชายคาเรือนใหญ่จะตั้งครกมองสำหรับใช้ตำข้าว
เล้าเข้า หรือ ยุังข้าว ไว้เก็บข้าวเปลือกสำหรับไว้ทำพันธุ์ และไว้ตำด้วยครกมอง หรือสีด้วยเครื่องสีข้าวเพื่อการบริโภค
รวมภาพกิจกรรมความสวยงามจาก งานประเพณีแห่เทียนพรรษา ปี ๒๕๖๑ "ฮีตศรัทธา ราชธานีแห่งเทียน" นำมาฝากไว้ให้ได้ชื่นชม ขอบคุณเจ้าของภาพถ่ายทั้งหมดมา ณ ที่นี้
รวมภาพความสวยงามของ "เทียนพรรษาอุบลราชธานี" ทั้งประเภทติดพิมพ์ (ต้นแบบมาจากเทียนโบราณ) ประยุกต์ใช้การเทเทียนลงในแบบพิมพ์ให้เป็นลวดลายต่างๆ นำมาแกะตกแต่งให้ลวดลายมีควมคมชัด ลวดลายเหล่านี้จะทำให้มีสีแตกต่างจากตัวต้นเทียนให้โดดเด่นขึ้น และประเภทแกะสลัก เป็นการหล่อต้นเทียนให้มีขนาดใหญ่แล้วทำการแกะลวดลายลงในเนื้อเทียนโดยตรง แสดงถึงฝีมือช่างได้เด่นชัด สวยงาม ส่วนประกอบอื่นๆ ก็ใช้เทคนิคการปั้นเทียนเป็นรูปร่างตามจินตนาการของผู้จัดทำในเรื่องของพระพุทธศาสนา สัตว์ป่าหิมพานต์ และเหตุการณ์ปัจจุบัน ขอขอบคุณ "นายเต้าทึง" คุณกตภัน สุขสันติ์ แก้วสง่า เจ้าของภาพทั้งหมด ไปชมภาพสวยๆ เพิ่มเติมที่ เฟซบุ๊คของนายเต้าทึง ได้เลยครับ (คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขยาย และสามารถดูแบบสไลด์โชว์ได้ครับ)
> >
การจัดงานแห่เทียนพรรษาของอุบลราชธานี ทุกปีจะมีการจัดขบวนแห่เทียนของคุ้มวัดต่างๆ มีการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรม ประกอบในขบวนแห่ เช่น การฟ้อนรำ การแสดงดนตรี การแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมือง ที่สวยสดงดงาม ซึ่งจะมีการแสดงในภาคกลางคืน 2 คืน (คืนวันอาสาฬหบูชา และคืนวันเข้าพรรษา) และมีขบวนแห่ในภาคกลางวัน (วันเข้าพรรษา) ที่มีการร่วมขบวนแห่ของทุกคุ้มวัดเป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร มีจุดชมการแสดง 5 จุด พร้อมการบรรยายเป็นภาษาไทย-อังกฤษ-จีน ในทุกจุด ขอขอบคุณ "นายเต้าทึง" คุณกตภัน สุขสันติ์ แก้วสง่า เจ้าของภาพทั้งหมด ไปชมภาพสวยๆ เพิ่มเติมที่ เฟซบุ๊คของนายเต้าทึง ได้เลยครับ (คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขยาย และสามารถดูแบบสไลด์โชว์ได้ครับ)
> >
รวมความงามแห่ง "ฮีตศรัทธา ราชธานีแห่งเทียน"หน้าที่ 1 | หน้าที่ 2
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)