foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

santar kmer wedding

การแต่งงาน เป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของชีวิตคนทุกคนในโลกใบนี้ ทั้งในประเทศไทยภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันตก-ตะวันออก และภาคอีสาน เพราะเป็นวันแห่งการสร้างสถาบันครอบครัว สร้างอาชีพ สร้างทายาทของวงศ์ตระกูลให้ดำรงอยู่ สืบสายสกุลรุ่นสู่รุ่น ซึ่งการจัดการตามประเพณีแต่ละถิ่นที่ก็จะมีพิธีกรรม ขั้นตอน แตกต่างกันออกไป ในบทความนี้จะกล่าวถึง การจัดงานแต่งงานตามแบบพี่น้องอีสานใต้ (ที่มีเชื้อสายเขมรในประเทศไทย) เรียกว่า พิธีแซนการ์

พิธีแซนการ์

การจัดงานแต่งงานตามแบบประเพณีเขมร จะนิยมจัดขึ้นในช่วงตั้งแต่ เดือนแคปะกุล - เดือนแคเจต (เดือนกุมภาพันธ์ - เดือนเมษายน) การเตรียมงานในสมัยเมื่อ 20 - 30 กว่าปีก่อน ถือเป็นงานพิธีที่ยุ่งยากและพิถีพิถันเป็นอย่างมาก ต้องเตรียมงานกันข้ามปีเลยทีเดียว ในสมัยปัจจุบันช่วงเวลาในการจัดงานแต่งงานอาจทำได้ตลอดทั้งปี ยกเว้นเฉพาะช่วงเข้าพรรษา และเดือนห้าเท่านั้น

santar kmer 06

ในธรรมเนียมโบราณนั้น "ช่วงเข้าพรรษาคือช่วงห้ามจัดงานแต่งงาน" เพราะแต่เดิมช่วงเข้าพรรษา พระสงฆ์ท่านจะไม่รับกิจนิมนต์ จะจำพรรษาแต่ในวัด เนื่องด้วยการเดินทางไม่สะดวกสบายอย่างในปัจจุบัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงบัญญัติไว้ว่า ห้ามภิกษุจาริกไปยังที่ต่างๆ ในระหว่างพรรษาเพราะการเดินทางจะเหยียบย่ำพืชพันธ์ในไร่นาชาวบ้านให้เกิดความเสียหาย ตามธรรมเนียมโบราณเพื่อความเป็นสิริมงคลในงานแต่งงาน ผู้รดน้ำสังข์คือพระสงฆ์ และต้องมีจำนวนเลขคู่จึงจะเป็นมงคล ทำให้พระสงฆ์ท่านเดือดร้อนในการเดินทาง ซึ่งอาจกินเวลาหลายวันหรือข้ามวันนั่นเอง จึงไม่มีการจัดงานแต่งงานในช่วงนี้ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไปก็อาจจะเห็นการจัดงานกันอยู่ ด้วยเหตุผลว่า "ถ้ายืดออกไปเด็กที่เกิดมาจะมีอายุครรภ์ไม่ครบ 9 เดือนกระมัง" (ความเห็นนี้เป็นของอาวทิดหมูเด้อครับ 🙂) ส่วนการห้ามทำพิธีแต่งงานในเดือนห้าหรือเดือนเมษายน ข้อห้ามนี้น่าจะเกี่ยวกับความร้อนแห่งฤดูกาล และแห้งแล้งไม่เหมาะสมนัก การแต่งงานทำให้ร้อนรนไม่เป็นมงคล ครอบครัวอาจแตกแยกได้ (แต่สมัยนี้แต่งงานในห้องแอร์โรงแรมใหญ่อาจจะไม่ร้อนเหมือนในอดีต)

แต่ละคู่รัก บ่าว-สาว ที่จะจัดพิธีแซนการ์ (หรือแต่งงาน) จะกำหนดงานให้มีจำนวน 2 - 3 วัน โดยแบ่งเป็น "วันรวมญาติพี่น้อง" หรือ "วันสุขดิบ", "วันแต่ง" และ "วันส่งตัว" (ตามความเหมาะสม ช่วงหลังๆ รวบรัดเหลือแค่ 2 วัน โดยรวมวันแต่งกับวันส่งตัวเข้าด้วยกัน)

ในสมัยโบราณ การเลือกคู่ครองมักจะเกิดจากการหมั้นหมาย การเลือกให้โดยญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย เห็นพ้องต้องกันมาก่อน ที่เรียกกันว่า "การคลุมถุงชน" อาจจะเป็นเพราะการต้องดำรงเผ่าพันธุ์ในกลุ่มที่เหมาะสมทางด้านชนชั้น หรือฐานะที่เสมอกันก็เป็นได้ แต่หนุ่ม-สาวไทยในปัจจุบัน (ทุกภาค รวมทั้งในกลุ่มเขมรอีสานใต้ด้วย) มีอิสระในการเลือกคู่ครองด้วยตนเอง เมื่อรักใคร่ชอบพอกันแน่นอนแล้ว ก็จะบอกให้ญาติผู้ใหญ่รับรู้ โดยพ่อ-แม่ฝ่ายชายก็จะไปเยี่ยมเยียน เพื่อทำความคุ้นเคยกับทางฝ่ายหญิง จากนั้นก็จะส่งเฒ่าแก่ไปทำการ "ซูร์" (หมั้น) เริ่มต้นด้วยการทาบทามด้วย เหล้า 1 ขวด หมากพลู 1 พาน เทียน 1 คู่ ทางฝ่ายหญิงเมื่อพอใจยินดีก็จะเรียกค่าสินสอด (ตามความพอใจ) เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้แล้ว ก็จะนัดวันดีเพื่อทำพิธีแต่งงานต่อไป

 

กันตรึมร่มเย็น ประยูรญาติน้อย มงคลจองได

การเตรียมตัวเจ้าสาว

ฝ่ายเจ้าสาว จะเตรียมทำฟูก (ที่นอน) หมอน ผ้าสมมา (ผ้าไหว้ขอขมา) ญาติผู้ใหญ่ให้ครบ (สมัยโบราณนั้น ต้องมีการทอผ้า ต่ำหูก ตัดเย็บ ใช้เวลาหลายเดือน กว่าจะแล้วเสร็จ แต่ปัจจุบันสามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ทันใจกว่า) เตรียมเจียนหมาก ตากแห้งไว้เป็นของชำร่วย เพื่อแจกญาติพี่น้อง ตัวเจ้าสาวเองต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน (ทอผ้า เย็บผ้า ในสมัยก่อน) ก่อนถึง "ไงแซนการ์" หรือ "วันแต่ง"

การเตรียมตัวเจ้าบ่าว

ทางฝ่ายเจ้าบ่าว ก็ต้องเตรียมหมากแห้งไว้แจกแขกเช่นกัน ทำบายศรีสู่ขวัญเจ้าสาว เตรียม "จำแน็ย" คือ อาหารสด (ประกอบด้วยเนื้อ หมู ไก่ ปลา) ผักต่างๆ ฯลฯ ตามแต่ฝ่ายเจ้าสาวจะเรียกร้อง เพื่อนำไปใช้ในวันงานสำหรับการจัดเลี้ยงแขก รวมทั้งเงินทองค่าสินสอดด้วยให้พร้อม

จูนจำแน็ย (วันสุกดิบ)

ก่อนวันแต่ง 1 วัน เจ้าบ่าวต้องส่งขบวนสัมภาระ "จำแน็ย" (อาหารสด เนื้อ หมู เป็ด ไก่ ผักต่างๆ สำหรับการประกอบอาหารเลี้ยงแขก ตามคำขอฝ่ายเจ้าสาว) เหล่านี้ไปยังบ้านเจ้าสาว ถ้าเกิดมีลางร้าย (เตรียมไม่พร้อม ไม่พอ หรือเกิดอุบัติเหตุ) ก็อาจจะเลิก หรือเลื่อนวันแต่งงานออกไปก่อนก็ได้

ไงแซน (วันพิธีแต่งงาน)

ที่บ้านเจ้าสาว ต้องมี "พราหมณ์" หรือ "อาจารย์" เจ้าพิธีผู้ดำเนินการด้านพิธีกรรม มาเตรียมการดังนี้

  • บายศรี หรือ บายแสร็ย พร้อมเครื่องบริวาร มีดอกไม้ เทียน ข้าวต้มมัด กล้วย ขนมตามความพอใจ มีด้ายผูกข้อมือ (เมาะจองได)

bai sri

  • ปะรำพิธี มีเสากลางตกแต่งด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อยและดอกไม้ สำหรับเซ่นสรวงเทพ มี "ปะต็วล" แขวนหัวเสา (ปะต็วล เป็นภาชนะที่ทำจากหวายหรือไม้ไผ่ จักสานให้เป็นรูปทรงกรวย ขอบบนเป็นหยักโค้ง 6 หยัก มีด้ามยาวประมาณ 1 ศอก เป็นอุปกรณ์สำหรับการเซ่นสรวงเทพยดา) ปัจจุบัน เพื่อความสะดวกอาจใช้ตัวบ้านแทนปะรำพิธี แต่ต้องมีเสากลางบ้าน (ถ้าไม่มีจะแก้ไขด้วยการนำไม้ไผ่มาตั้งตรงกลางบ้านแทน เพื่อแขวนปะต็วล)

santar kmer 07

  • บอนเจาะกราบ (ฟูกนั่งสำหรับบ่าว-สาว) บนฟูกจะวางหมอนหันไปทาง "ปะต็วล" วางเครื่องบริวารที่เตรียมไว้โดยรอบ เช่น พาน ผ้าไหม เงิน หมากพลู กรวย ดอกไม้ ขันข้าวขวัญ (ข้าวสุกปั้น ไข่ต้ม มีกรวยใบตองคว่ำไว้) ขันน้ำมนต์ เป็นต้น
  • การแห่ขันหมาก ขบวนขันหมากฝ่ายเจ้าบ่าว นำหน้าด้วยพราหมณ์ มีมโหรีนำหน้าขบวน แห่พานบายศรี เครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษ พร้อมบริวาร ถาดขนม สินสอด ขันหมาก และเต่า เข้ามายังปะรำพิธีที่บ้านเจ้าสาว ซึ่งได้จัดเตรียมไว้แล้ว โดยต้องเดินรอบปะรำ 3 รอบ พราหมณ์ฝ่ายเจ้าบ่าวจะตกลงต่อรองกันกับพราหมณ์ฝ่ายเจ้าสาว เพื่อขอเข้าไปนั่งในปะรำพิธี

santar kmer 01

เพลงกันตรึมแห่ขันหมากจะดังขึ้น พร้อมกับขบวนฟ้อนรำของฝ่ายเจ้าสาวอย่างสนุกสนาน พอได้เวลาพราหมณ์ฝ่ายเจ้าสาว จะขอนับค่าสินสอดที่เรียกว่า ขันสลา (ขันหมาก) และข้าวของเครื่องใช้ ขนม นม เนย ว่าครบตามที่กำหนดหรือไม่ (ของเหล่านี้พ่อแม่จะต้องแบกรับขึ้นไปบนบ้าน) และขณะทำพิธีห้ามพ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้ามายุ่งเกี่ยว หรือเข้าใกล้ภายในปะรำพิธีโดยเด็ดขาด ในเวลาขณะนี้จะเป็นพิธีสำคัญของพราหมณ์ โดยเริ่มให้เจ้าบ่าว-เจ้าสาวไหว้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายตรงกันข้าม เพื่อให้รับทราบเครือญาติสายตระกูล

santar kmer 02

  • การเข้าสู่ปะรำพิธี ทางญาติฝ่ายหญิงจะมารับ และนำเข้าสู่ปะรำพิธี เบิกตัวเจ้าสาว เมื่อเข้านั่งเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะเป็นการมอบของกำนัน ที่เจ้าบ่าว-เจ้าสาวจะมอบให้แก่ญาติฝ่ายตรงกันข้ามคือ หมากพลูบุหรี่ เหล้ารินให้จิบ แล้วญาติจะตอบแทนด้วยเงินเล็กๆ น้อยๆ แก่เจ้าบ่าว-เจ้าสาวในพิธี ไหว้เรียกว่า "พิธีสัมเปี๊ยะ" คือ พิธีไหว้นั่นเอง จากนั้นเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะมอบ "เฮ็บ" และ "ท็อง" คือ พานหมากพลู พ่อแม่เจ้าสาวก็จะรับและแก้ห่อผ้าออกหยิบกิน เพื่อเป็นการยอมรับ
  • เจาะกราบ บ่าวสาวลงนั่งบนฟูก กราบอาจารย์ (หรือพ่อพราหมณ์) แล้ววางมือคว่ำลงบนเต้าปูนเหนือหมอน เจ้าบ่าววางมือทับบนหลังมือเจ้าสาว
  • การเซ่นผี อาจารย์หรือพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีจุดเทียน เชิญผีบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่น ผู้เฒ่าจะมารินน้ำรินเหล้าใส่เครื่องเซ่น แล้วยกออกไป
  • การสู่ขวัญเจ้าบ่าวเจ้าสาว ที่เรียกว่า "เฮาปลึงมงกวลจองได" หมายถึง การสู่ขวัญผูกข้อมือ โดยพราหมณ์สู่ขวัญเป็นภาษาเขมร และมีการโปรยข้าวสารเรียกขวัญ ตามด้วย "พิธีประจีร์" และ ผูกข้อมือจากญาติๆ การเรียกขวัญ อาจารย์จะสวดให้พร แล้วหยิบด้ายมงคลมาปั่นบนหลังมือแล้วปัดรังควานออกจากตัว โยนด้ายทิ้ง
    หลังจากนั้น อาจารย์จะบอกให้บ่าวสาวหงายมือขึ้น ครั้งนี้มือเจ้าบ่าวจะอยู่ล่าง ญาติพี่น้องจะเข้ามาใช้มือรองรับศอกเจ้าบ่าวไว้ อาจารย์จะใช้ด้ายมงคลปั่นข้อมือบ่าวสาว โดยหันเข้าหาตัว 19 ครั้ง ผู้ร่วมงานจะร้องแซ่ซ้องพร้อมกันว่า "โม…เยอ…" พอเสร็จอาจารย์จะยืนขึ้นเซ่นสรวงเทวดาบนปะต็วล ทุกคนจะร้องรับ "เจ…ยอง…เจ เป็ง…ยอง…เป็ง" อาจารย์จะหยิบอาหาร เครื่องเซ่นมาป้อนบ่าวสาวคนละคำ จากนั้นแขกเหรื่อก็เข้ามาผูกข้อมือ อวยชัยให้พร ให้เงินของขวัญ แล้วจึงกินเลี้ยงกัน

santar kmer 03

  • ส่งตัวเจ้าสาว เจ้าสาวหาบน้ำ เจ้าบ่าวแบกฟืน หางขบวนช่วยกันแบกฟูก หมอนและผ้าไหว้ พาแห่ไปบ้านเจ้าบ่าว มอบหมากพลูขอทางผ่าน ฝ่ายเจ้าบ่าวจะรับน้ำและฟืนไป เจ้าบ่าวเกี่ยวก้อยเจ้าสาวขึ้นเรือน
  • การขึ้นเรือน ญาติฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้นมาล้างเท้าให้คู่บ่าวสาวก่อน แล้วให้เหยียบบนกระเชอใส่ข้าวเปลือก เหล้า ผ้าขาว และขวาน เป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองเป็นสุข พอขึ้นเรือนแล้ว ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้นและหม้อข้าวเก่ามาให้เจ้าสาวล้างก้นหม้อ แสดงความยินยอมพร้อมใจจะเป็นแม่ศรีเรือน แล้วมอบฟูกหมอนให้พ่อแม่เจ้าบ่าว

santar kmer 04

จากนั้นจะเป็นพิธีกรรมของพราหมณ์ท่ามกลางเพื่อนเจ้าบ่าว-เจ้าสาว และญาติพี่น้องที่อยู่ในเรือนหอ ส่วนกิจกรรมที่ปะรำพิธีจะปัดกวาดจัดเตรียมที่จะยกสำรับ เครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษมาเซ่นให้ทราบว่า ลูกหลานแต่งงาน ของสิ่งนี้เรี่ยกว่า "สแนแซน" (เครื่องเซ่น) โดยมีญาติฝ่ายชายและหญิงมาร่วมพิธี

  • หลังจากนั้น เจ้าบ่าวจะต้องกลับไปบ้านของตนเพื่อเตรียมการในช่วงบ่าย ที่เจ้าสาวจะแห่ไปทำพิธีไหว้ของสมมามอบแก่ญาติฝ่ายชาย โดยขบวนของเจ้าสาวจะพร้อมด้วยเครื่องไหว้ เป็นฟูกหมอนผ้าไหมจัดเป็นชุดตามจำนวนของญาติฝ่ายชายที่จะมอบ เรียกว่า "สำรับสมา" หมายถึงของไว้หรือของสมมา และเจ้าสาวต้องหาบน้ำขมิ้นน้ำหอมไปอาบให้พ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าวใน "พิธีงูดตึก" (อาบน้ำ) เมื่อมาถึงบ้านเจ้าบ่าวเพลงกันตรึมดังขึ้น และขบวนฟ้อนรำของฝ่ายหญิงฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนานบริเวณลานบ้าน การอาบน้ำให้พ่อแม่ฝ่ายชาย ต้องจุดเทียนกราบพ่อแม่ก่อน แล้วนำน้ำที่เจ้าสาวหาบมาจากบ้านมาอาบให้พ่อแม่ แล้วมอบผ้าสมมาให้ผลัดเปลี่ยนนุ่งห่มใหม่
  • ไหว้และมอบผ้าสมมาให้ญาติเจ้าบ่าว ซึ่งจะได้รับเงินของขวัญตอบแทนจนคุ้มราคา
  • ไหว้เจ้าบ่าว (พละกันเลาะ) เจ้าสาวไหว้ด้วยโสร่ง เสื้อขาวคอกลม พร้อมสไบสองผืน เจ้าบ่าวจะมอบของขวัญให้ เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ เจ้าสาวจัดขนม ผลไม้ น้ำ เหล้าให้กิน
  • การเสี่ยงทาย จะมีสำรับอาหารตั้งไว้ให้บ่าวสาวตักป้อนกันและกัน ใครตักข้าวก่อนตักกับข้าว แสดงว่ารู้จักอดออม ประหยัด ใครตักกับก่อนแสดงว่าฟุ่มเฟือย ทางญาติจะเตือนฝ่ายหญิงให้รู้จักอดออมให้มาก

santar kmer 05

  • จากนั้นพรามหมณ์ก็จัดทำพิธีให้เจ้าสาวจุ่มคว้านมือลงในหม้อดิน ปิดปากหม้อด้วยใบตอง โดยภายในมีแหวนทองเป็นของกำนัลแก่ฝ่ายเจ้าสาว และตามด้วยพิธีโยนไม้คานข้ามศรีษะของเจ้าบ่าวเจ้าสาวไปด้านหลัง ซึ่งข้างหลังจะมีคนคอยรับ เชื่อว่าใครรับได้จะเป็นคนต่อไปที่จะได้แต่งงาน คล้ายกับการรับช่อดอกไม้ในพิธีของคริสต์

จะเห็นว่าการแต่งงานของชาวอีสานใต้นั้น เน้นการขอบคุณและระลึกถึงเทพ ผีบรรพบุรุษ และยังไม่ละทิ้งตำนานและความเชื่อเรื่องความรักของเจและยอง จะพบว่า "ปะต็วล" เป็นสัญลักษณ์เด่นที่สุดในปะรำพิธี (โรงเรือน) และในขบวนแห่นั้น "เต่า" เป็นสัญลักษณ์แทนความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว จึงจัดเข้าเป็นส่วนประกอบของการแห่ และที่สำคัญคือ "ตัญญูปะกำ" เป็นเครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษที่จะลืมไม่ได้ในพิธีแซนการ์ เพราะพิธีการจะเน้นการระลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : การเลือกคู่ครอง | การแต่งงานแบบอีสาน | แซนการ์ แต่งงานอีสานใต้ | ซัตเต แต่งงานชาวกุย

redline

backled1

isan son name

อาวทิดหมู มักหม่วน เคยเขียนเรื่อง "การตั้งชื่อให้ดีเหมาะสมกับดวงชะตา" ซึ่งอิงตามตำราการตั้งชื่อมงคลนามหลายๆ ตำรามาไว้ แต่ก็ยังมีผู้ถามมาว่า "คนอีสานบ้านเฮาในอดีตนั้นเพิ่นตั้งชื่อให้ลูกหลานแปลกๆ พยางค์เดียวบ้าง สองพยางค์บ้าง และบางชื่อก็อาจเป็นชื่อสิงสาราสัตว์ หรือชื่อที่ไม่ตรงกับความจริง หรือไม่ตรงปก เป็นตรงกันข้ามเสมอ คนโบราณมีหลักการตั้งชื่ออย่างไร?" ซึ่งอาวทิดหมูก็ได้โยนคำถามนั้นมาทางผมพร้อมกับสำทับว่า "ครู เฉลยให้แฟนนานุแฟนฮู้แหน่ ผมเกิดบ่ทันได้ถามอีพ่อว่าเป็นหยังจั่งตั้งชื่อผมว่า 'หมู' เลาตายไปสาก่อนแล้ว" ผมเลยต้องมาค้นหาตำรามาเรียบเรียงบอกกันในวันนี้

การตั้งชื่อลูกหลานของคนอีสานโบราณ

"ชื่อ" เป็นคำเรียกแทนตัวของบุคคล ซึ่งมีทั้งชื่อเล่น และชื่อจริง ที่อาจจะไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเลยระหว่างทั้งสองชื่อก็มี (ที่คนต่างชาติไม่เข้าใจและสับสนมาก) การตั้งชื่อลูกหลานของชาวอีสานนั้นมีลักษณะที่ปรากฏชัดเจน อยู่ 2 แบบ คือ การตั้งชื่อเป็นมงคล และการตั้งชื่อแก้เคล็ด ดังนี้

  • การตั้งชื่อเป็นมงคล เมื่อเด็กเกิดมา ปู่ย่า-ตายาย หรือ พ่อแม่ มักจะเป็นคนตั้ง ชื่อเล่น ให้ก่อน และไปให้ พระสงฆ์ที่เคารพนับถือ ดูฤกษ์ผานาทีวันเวลาเกิด (คกฟาก) เพื่อตั้ง ชื่อจริง ให้ เพราะเชื่อว่าจะเกิดสิริมงคลแก่ชีวิตของเด็กตลอดไป ชื่อที่เป็นมงคลมีที่มาจากสิ่งต่างๆ ดังนี้
    • ตั้งชื่อตามธรรมชาติที่เห็นทั่วไป เช่น ภู ผา เมฆ ฟ้า ฝน จันทร์ เดือน เกิ้ง (พระจันทร์)
    • ตั้งชื่อตามชื่อพันธุ์ต้นไม้ เช่น ดู่ (ประดู่) ขาม (มะขาม) ไผ่ หวาย
    • ตั้งชื่อตามสิ่งของมีค่า เช่น แก้ว แหวน เงิน ทอง คำ นาก
    • ตั้งชื่อเป็นสีต่างๆ เช่น เขียว แดง ขาว ดำ
    • ตั้งชื่อตามชื่อสัตว์ เช่น ไก่ อึ่ง หมู หมี เสือ ช้าง

สำหรับผู้เขียนเองนั้นตั้งชื่อลูกสาว-ลูกชายเอง ตามตำรานามมงคล พรหมชาติ โหราศาสตร์ไทย ในตอนแรกคลอดต้องไปแจ้งเกิดที่ สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี ที่นั่นมีหนังสือ "ตำราการตั้งชื่ออันเป็นมงคลตามวัน/เดือน/ปีเกิด" ให้บริการอยู่ ก็เปิดเลือกหานามที่เป็นมงคลได้ก่อนการแจ้งเกิดครับ เอาที่มีความหมาย ไพเราะ เขียนและจดจำง่ายกันนะครับ

  • การตั้งชื่อแก้เคล็ด เมื่อเด็กเกิดมาแล้วมีลักษณะไม่สมบูรณ์ หรือพ่อแม่เกรงว่าจะเจ็บป่วยบ่อย ผู้ใหญ่มักจะตั้งชื่อที่ไม่ไพเราะ เพราะเชื่อว่าถ้าชื่อไม่ดีผีจะไม่พาตัวไป ชื่อที่ตั้งหลอกผีจะแสดงลักษณะที่ไม่สวยงาม ดังนี้
    • ตั้งชื่อเป็นของเสีย เช่น บูด เน่า
    • ตั้งชื่อไม่สมประกอบ เช่น แหมบ (จมูกบี้) หล่อย (เป๋) ส่อย (แหว่ง) เหงี่ยง (เอียง)
    • ตั้งชื่อเป็นรูปร่างที่ไม่ดี เช่น จ่อย (ผอม) แห้ง (ผอมแห้ง) เหี้ยน (สั้น,เตี้ย)
    • ตั้งชื่อตามสีที่ไม่สวย เช่น แหล่ (คล้ำ)

ชาวอีสานเชื่อว่า "ชื่อดีมีชัยไปตลอดชีวิต" หากมีเหตุต้องเปลี่ยนชื่ออาจเนื่องมาจากการถือโชคลาภ เชื่อว่าเมื่อเปลี่ยนชื่อแล้วจะโชคดี อีกกรณีคือเปลี่ยนชื่อเพื่อแก้เคล็ดเรื่องความเจ็บป่วย ดังนั้นการตั้งชื่อจึงมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตบนพื้นฐานความคิด ความเชื่อเรื่องสิริมงคลสืบเนื่องกันไป

[ การตั้งชื่อให้เหมาะสมกับดวงชะตาราศี ]

khon isan

การนับลำดับเครือญาติของชาวอีสาน

นอกจากการตั้งชื่อแล้ว ก็ยังมีเรื่อง การนับเครือญาติ ด้วย ที่มีความสำคัญ บ่งบอกความเกี่ยวดองกันในครอบครัว เพราะสภาพครอบครัวของชาวอีสานมีลักษณะเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ครอบครัวขยาย ซึ่งมีทั้งปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ-แม่ ลูก หลาน อยู่ในครอบครัวเดียวกัน หรือมีการสร้างบ้านอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ความสัมพันธ์จึงแน่นแฟ้น โดยผู้ใหญ่จะให้ความรู้แก่เด็กๆ หรือลูกหลาน ตั้งแต่เล็กจนเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว ขัดเกลาให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม สอนให้พึ่งพาตนเองได้ ยึดมั่นในจารีตประเพณี ถ่ายทอดประสบการณ์และฝึกฝนอาชีพจากรุ่นสู่รุ่นเป็นลำดับ คำเรียกเครือญาติของชาวอีสานจึงมีความละเอียด ดังนี้

ทวด (ผู้ชาย) พ่อซ่น ทวด (ผู้หญิง) แม่ซ่น
ปู่ ปู่, ตู้ปู่ ย่า ย่า, ตู้ย่า
ตา พ่อตู้, พ่อใหญ่ ยาย แม่ตู้, แม่ใหญ่
พ่อ พ่อ, อีพ่อ แม่ แม่, อีแม่
ลุง ลุง, พ่อลุง ป้า ป้า, แม่ป้า
น้า (ผู้ชาย) น้าบ่าว น้า (ผู้หญิง) น้าสาว
น้าเขย น้าเขย น้าสะใภ้ น้านาง
อา (ผู้ชาย) อาว อา (ผู้หญิง) อา
อาเขย อา อาสะใภ้ อา
พี่ชาย อ้าย พี่สาว เอื้อย
ลูกคนโต ลูกกก ลูกคนสุดท้อง ลูกหล้า
ลูกเขย ลูกเขย ลูกสะใภ้ ลูกใภ้
พี่เขย พี่อ้าย พี่สะใภ้ พี่เอือย, พี่นาง
น้องชาย น้อง น้องสาว น้อง
น้องเขย น้องเขย น้องสะใภ้ น้องใภ้
พ่อเลี้ยง พ่อน้า แม่เลี้ยง แม่น้า

ตอนนี้ก็คงจะทราบแล้วว่า ผู้เขียน กับ อาวทิดหมู มีความเกี่ยวดองกันอย่างไร? ท่านก็ลองสำรวจเครือญาติดูครับจะได้นับลำดับญาติกันถูกต้อง คนนั้นเกี่ยวข้องกับเรา กับพ่อ-แม่เราอย่างไร

มีคำถามต่อมาอีกว่า "ได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่เรียกลูกหลานที่สืบสกุลว่า 'ลูก หลาน เหลน โหลน หล่อน แหล่น' มีความหมายลำดับกันอย่างไร" ก็ขอเรียงลำดับดังนี้

  • ลูก หมายถึง ลูกของพ่อแม่ (ลำดับที่ 1)
  • หลาน หมายถึง ลูกของลูก
  • เหลน หมายถึง ลูกของหลาน
  • โหลน หมายถึง ลูกของเหลน
  • หล่อน หมายถึง ลูกของโหลน
  • แหล่น หมายถึง ลูกของ หล่อน

ส่วน คำเรียกขาน แบ่งตามสรรพนาม ดังนี้

สรรพนามที่ 1 ข้อย สัน (ฉัน) นาง (ผู้หญิง) กู แม่ซ่น พ่อซ่น ซ่น ปู่ ย่า พ่อตู้ แม่ตู้ พ่อ แม่ อ้าย เอื้อย ลุง ป้า น้า อา อาว ฯลฯ
สรรพนามที่ 2 เจ้า มึง นาง อีนาง (ลูกสาว/หลานสาว) ท้าว อีท้าว (ลูกชาย/หลานชาย)
สรรพนามที่ 3 เพิ่น เลา มัน

ส่วนสรรพนามที่ใช้เรียกบุคคลทั่วไป ในกรณี หนุ่ม-สาว ทั่วไปนั้นจะเรียกโดยมีคำนำหน้าดังนี้

  • ฝ่ายชาย จะมีการเรียกชื่อวัยรุ่นชาย เรียกขึ้นต้นด้วยคำว่า "บ่าว" และต่อด้วยชื่อของคนที่ถูกเรียกนั้น เช่น บ่าวแดง บ่าวลอย แต่ถ้าเคยบวชเรียนมาก็จะเรียกตามศักดิ์ที่เคยบวชเรียนนั้นด้วยคำว่า "เซียง" (เคยบวชเณรมาก่อน) นำหน้าชื่อ เช่น เซียงเพ้ว เซียงสา และเรียกว่า "ทิด" (หากเคยบวชพระมาก่อน) นำหน้าชื่อ เช่น ทิดสา ทิดมี ทิดมา ทิดหมู เป็นต้น [ อ่านเพิ่มเติม : กองฮด ]
  • ฝ่ายหญิง จะมีการเรียกชื่อวัยรุ่นหญิง เรียกขึ้นต้นด้วยคำว่า "สาว" และต่อด้วยชื่อของคนที่ถูกเรียก เช่น สาวพร สาวจุ้ย สาวนิด

somma wedding isan

งานกินดอง (แต่งงาน) แบบอีสานต้องมีการสมมา (กราบฝากเนื้อฝากตัว) ญาติผู้ใหญ่

ไหนๆ ก็เขียนเรื่อง ชื่อ เรื่อง การนับลำดับญาติ แล้ว ก็ขอเสนอคำและความหมายที่คนอีสานมักจะใช้สื่อสารกัน เป็นคำวิเศษณ์ขยายคำหรือความหมายให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งท่านอาจจะได้ยินได้ฟังจากญาติผู้ใหญ่ คนเฒ่า คนแก่ ในชนบท หรือจากในกลอนลำ หรือในเพลงลูกทุ่งอีสาน โดยเฉพาะสมัยนี้ ลูกทุ่งอีสานอินดี้ มาแรงก็อาจจะมีคำเหล่านี้แทรกอยู่

คำวิเศษณ์หรือคำขยาย

คำวิเศษณ์ คือ คำที่ทำหน้าที่ขยายคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์ด้วยกัน เพื่อให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น ในภาษาอีสานมีคำวิเศษณ์เป็นสร้อยคำที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจน มีลักษณะเป็นคำคล้องจองไม่มีความหมายตายตัว แต่รับรู้ความหมายได้จากการออกเสียงและตีความภาษา ดังนี้

  • คำวิเศษณ์บอกสีสัน เช่น
แหล่กวดตวด สีคล้ำมาก เช่น อีนางน้อยคนนั้นผิวแหล่กวดตวด
แดงจึ่งขึ่ง แดงจัด เช่น ไฟลุกแดงจึ่งขึ่ง (ไฟลุกโชน)
แดงจายวาย สีแดงกำลังสวย เช่น ผู้สาวคนนี้คืองามแท้ ปากแดงจายวายเลย
เหลืองเอ้อเฮ่อ สีเหลืองอ๋อย เช่น แข่ว (ฟัน) เหลืองเอ้อเฮ่อ
ขาวจุนพุน ขาวสวย เช่น ผู้สาวงามหลาย ผิวขาวจุนพุนเลย
ขาวโอกโลก มอมแมม เช่น ไปล้างเนื้อล้างตัวซะ แขนขาขาวโอกโลกยุ
ดำปิ๊ด ดำสนิท เช่น ขี้หมิ่นหม้อ (คราบเขม่า) ติดมือดำปิ๊ดเลย
ดำปี้ๆ ดำมาก เช่น เสื้อผ้าดำปี้ๆ แท้ เอาไปซักแหน่อีนาง
  • คำวิเศษณ์บอกขนาด เช่น
    • คำบอกขนาดรู หรือ ช่อง เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปหาเล็ก ได้แก่ ฮูจ่างป่าง ฮูโจ่งโป่ง ฮูจ่องป่อง ฮูแจ่งแป่ง และฮูจิ่งปิ่ง
    • คำบอกขนาดของก้อนหิน หรือสิ่งของในลักษณะคล้ายกัน เช่น โข่โหล่ (ก้อนใหญ่) ข่อหล่อ (ก้อนเล็ก) ข่อหล่อแข่แหล่ (เล็กๆ น้อยๆ)
  • คำวิเศษณ์บอกอาการ เช่น
ยิ่งแข้วกีกซีก ยิ้มแฉ่ง, ยิงฟันกว้างๆ, ยิ้มจนเห็นฟัน
ปากบานเพ่อเว่อ ทำปากบานๆ
อ้าปากซอวอ อ้าปากค้าง
ตาสวดโป้โล่ ทำตาโต ตาถลน ตาเหลือก
ส่องป้อล่อ แอบส่องดู
ย่างมาโพ่โว่ เดินโผล่มาพอดี
ย่างเที่ยงที่ลี่ เดินตัวตรง
ขดกอซอ นั่งหรือนอนขดตัว (หมดหวัง)
มิดซีลี เงียบสนิท ไม่มีสัญญาณตอบรับ
ยิ้มปุ้ยๆ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่
กรนสอดๆ กรนสนั่น นอนกรนเสียงดัง (หลับสนิท นอนมีความสุขหลาย)
กัดแข่วก้วดๆ เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน (อาจด้วยความโกรธที่รุนแรงมาก)
หมุ่นอุ้ยปุ้ย เละตุ้มเป๊ะ ไม่มีชิ้นดี
แปนเอิดเติด โล่งมาก ไม่มีอะไรขวางกั้น
เปิดอาดหลาด โกยอ้าว, เผ่นแนบ, หนีไปอย่างรวดเร็ว

perd ard lard

  • คำวิเศษณ์บอกสัณฐาน เช่น
แหลมปี๊ด แหลมมาก สูงโจ่นโท่น (เจิ่นเทิ้น ก็ว่า) สูงมาก
กองโจ้โก้ กองใหญ่ๆ มหึมา ซือคิ่งนิ่ง (เอียดเหลียด ก็ว่า) ตรงมาก
  • คำวิเศษณ์บอกกลิ่น เช่น
หอมฮวยๆ หอมมาก หอมฮินๆ กลิ่นตุๆ
เหม็นแหญด เหม็นอับ แหญดแต่งๆ เหม็นอับมาก
  • คำวิเศษณ์บอกรสชาติ เช่น
ส้มปี๊ด เปรี้ยวมาก ขมปี๊ด ขมจัด
ขมอ่ำหล่ำ ขมแบบกลมกล่อม หวานจ้อยๆ คำพูดหวานมาก
หวานจ้วยๆ น้ำตาลหวานมากๆ จ่อยล่อย จืดจาง ไม่มีรส

ข้อมูลจาก : ภูมิปัญญาท้องถิ่นในภาษาและวัฒนธรรมอีสาน โดย อรัญญา แสนสระ

redline

backled1

erotic header

ประเพณีวัฒนธรรมพื้นเพดั้งเดิมชาวอีสาน

ก่อนจะมาเขียนบทความนี้นั้น เคยมีกรณีของคนถิ่นอื่นตีความหมายของ "คำ" ในภาษาอีสาน โดยเอาจริตแห่งตนมาตีความ หรือเอาขนบจากถิ่นหนึ่งมาครอบให้กับอีกถิ่นหนึ่ง แล้วตีความว่า "สิ่งนั้นไม่ศิวิไลซ์" หรือ "หยาบคาย" โดยไม่เข้าใจในบริบทท้องถิ่นอื่น ไม่ศึกษามาให้ดีเสียก่อนทำให้เข้าใจผิดมากมาย แล้วก็ตีความ ฟันธงว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้องควรแก้ไข กรณีเมื่อปี พ.ศ. 2559 มีปมดราม่าชื่อ "วัดเสียวสวาท" ที่บรรดาคนเมือง (ที่มักอ้างตนว่าศิวิไลซ์เสมอ) รวมทั้งนักเลงคีย์บอร์ดทั้งหลายต่างอ้างว่า "มีชื่อไม่เหมาะสม ชาวบ้านจะไม่กล้ามาทำบุญ ควรเปลี่ยนชื่อใหม่" ขุ่นพระ!!!

wat siew sawat

ชาวบ้านที่ไหนล่ะครับ ก็ชื่อนี้ "ชาวบ้าน" เขาก็ตั้งกันเองมานานนับร้อยปี เป็นคำของชาวภูไทในท้องถิ่นโดยแท้ คนกุงเตบ! ไม่รู้เรื่องแล้วมาตีความได้อย่างไรกันว่า "ไม่เหมาะสม" ชื่อของ "วัดเสียวสวาท" มาจากคำ 2 คำ คือ

  • เสียว คือ ชื่อต้นไม้ ต้นเสียว เป็นพรรณไม้ขนาดเล็กเป็นเถา เกิดตามคันนา ชาวบ้านใช้สำหรับร้อยกบ หรือเขียดเวลาไปจับกลางทุ่ง แล้วไม่ได้เอาข้องมาใส่ ลำต้นคล้ายต้นมะขามป้อม ใบคล้ายใบหางนกยูง มีมากมายในพื้นที่นี้ ขึ้นชุกชุมมานานนับร้อยปี จึงเอามาตั้งเป็นชื่อแรก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllanthus taxodifolous Beille อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae ชื่ออื่นๆ เช่น ตะไคร้หางสิงห์ (สุพรรณบุรี) เสียวน้อย (ขอนแก่น) เสียวน้ำ (อุบลราชธานี, ปราจีนบุรี) สรรพคุณทางยา รากใช้ต้มน้ำดื่มแก้มดลูกอักเสบ ขับปัสสาวะ แก้เลือดออกตามไรฟัน
  • สวาท มาจาก “สะว่ะสะเหว่ย” เป็นภาษาผู้ไทดั้งเดิม หมายถึง ความสุข ความเจริญ โล่งอก โล่งใจ ไร้กังวล

เมื่อนำชื่อต้นไม้คือต้น “เสียว” มารวมกับ “สวาท” ที่มาจาก “สะว่ะสะเหว่ย” แล้ว วัดเสียวสวาท จึงหมายถึง วัดที่สร้างขึ้นในดงต้นเสียวที่มีแต่ความสุขความเจริญ

วัดเสียวสวาท ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นผึ้ง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2463 (ตอนนี้ พ.ศ. อะไร นานไหม) แต่เพิ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ 2 มิถุนายน 2532 มีเจ้าอาวาสสืบทอดกันมาแล้ว 7-8 รุ่น ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านนี้สืบเชื้อสายผู้ไท

ton siew

แต่ก็ยังมีอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งว่า น่าจะมาจากพืช 2 ชนิด คือ ต้นเสียว กับ ต้นสวาท ก็เป็นได้ ซึ่งสืบต่อไปพบว่า ยังมีพืชที่มีชื่ออกทำนองอีโรติกให้คิดลึกอีกคือ ต้นสวาด กับ ต้นสวาท

  • ต้นสวาด คือไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้นมีหนาม ฝักก็มีหนามละเอียด ในฝักมีเมล็ดกลมเปลือกแข็งสีเทาอมเขียว จากสีของเมล็ดสวาด นำไปเรียกชื่อแมวพันธุ์ "แมวสีสวาด" ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Caesalpinia bonduc (L) Roxb. อยู่ในวงศ์ Leguminosae คำไทยใต้เรียก "หวาด" สรรพคุณเป็นยาขับลม แก้จุกเสียด ผลใช้แก้กระษัย มีเคล็ดในพิธีมงคลสมรส ผู้เฒ่าผู้แก่มักใช้ "ใบรักและใบสวาด" รองพานขันหมาก
  • ต้นสวาท ถ้าคำเดียว "สวาท" มักจะถูกตีความว่า รักใคร่ พอใจ ยินดีในกามารมณ์ หรือ พิศวาส ก็ว่า แถบจังหวัดสุรินทร์เรียก "ต้นสวาท" คือต้นไม้ที่มีหนาม สวาท เป็นภาษาของชาวกวยคือ ต้นส้มป่อย ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Acacia concinna (Willd.) DC. เรียกชื่ออื่นๆ เช่น ส้มขอน หมากขอน หม่าทัน เป็นพืชผัก พืชยา และไม้มงคล สรรพคุณทางยา น้ำต้มใบส้มป่อยช่วยถ่ายระดูขาว ฟอกโลหิตรอบเดือนสตรี คนทางภาคอีสานและใน สปป.ลาว ใช้ฝักส้มป่อยในพิธีเสริมศิริมงคล พิธีไหว้ครู สะเดาะเคราะห์ แก้อาถรรพ์ไล่ภูตผี แช่น้ำล้างมือ ล้างหน้าหลังกลับจากงานศพ หรือแช่น้ำเพื่ออาบศพ

ทำไม ชาวผู้ไท จึงเอานามในภาษากูยมาตั้งชื่อได้ เมื่อสืบข้อมูลเชิงลึกไปจะเห็นว่า ดั้งเดิมในแถบถิ่นนี้มีชนชาวข่า กูย (กวย) ส่วย ไทโส้ (กะโซ้) อาศัยอยู่มาก่อน ซึ่งใช้ภาษาตระกูลมอญ-เขมร ก่อนจะโยกย้ายขยับขยายไปที่อื่น แล้วชาวผู้ไทเคลื่อนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่แทน จึงสืบทอดชื่อต่อกันมาก็เป็นได้

ความรู้เสริมจาก : ภูมิบ้าน นามเมือง คำใคร ไทย-มอญ-เขมร
โดย ประสิทธิ์ ไชยชมพู

เสียวสวาด - เฉลียวฉลาด

ก็เลยอยากเขียนเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบทกลอน (กลอนลำ) ผญา สุภาษิต คำสอนต่างๆ ของคนอีสานนั้นล้วนมีเรื่องราวต่างๆ ที่ทำให้คนภาคอื่นสามารถตีความว่า คนอีสานหยาบคาย ไม่สุภาพได้ เพียงเพราะในประเพณีวัฒนธรรมของคนอีสานนั้น มีเรื่องของ "เสียวสวาท" หรือ "เสียวสวาด" หรือจะพูดแบบฝรั่งหน่อยๆ ก็ต้องบอกว่าเรื่อง "อีโรติก" นั้นมีมานานในสังคมอีสานบ้านเฮา จนถึงขั้นมีวรรณกรรมชาวบ้านที่เรียกว่า "นิทานเสียวสวาท" และในฝั่งบ้านพี่เมืองน้องของเฮา สปป. ลาว ก็มีนิทาน "เสียวสะหวาด" เช่นเดียวกัน ถ้าจะให้ไพเราะดูเท่ห์ขึ้นมาก็ต้องบอกว่า นิทานเฉลียวฉลาด ตามความหมายของคนอีสานและคนลาวกันดีกว่าครับ

siew sawat
ปกหนังสือ นิทานเสียวสะหวาด ของ สปป.ลาว

นิทานเรื่อง "เสียวสวาท, เสียวสวาด" หรือ "เสียวสะหวาด" เป็นนิทานที่ได้รับความนิยมอย่างมากในแถบภาคอีสาน หรือในดินแดนอาณาจักรล้านช้างเดิม นิทานเสียวสวาทสำนวนต่างๆ จารด้วยตัวอักษรธรรมและอักษรไทยน้อย และมีรูปแบบการแต่งเรื่องราวต่างจากนิทานชาดกภาคอีสานเรื่องอื่นๆ ลักษณะของเนื้อเรื่องเป็นนิทานซ้อนนิทาน แสดงอุทาหรณ์แก่ผู้ฟัง ในบางตอนยังสอดแทรกภาษิต และคำสอนโดยตรงแก่ผู้ฟัง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ฟังที่เป็นชนชั้นปกครองให้นำไปปฏิบัติ เพื่อความสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ดังเช่นเรื่อง โฆษกะเศรษฐี, พระโมคคัลลาน์กับโจรห้าร้อย, ชายใจบุญสร้างศาลา, ครอบครัวของชายหูตึง, เต่ากับครุฑ, ชายเลี้ยงโคหลอกลวงเพื่อนบ้าน ฯลฯ มีงานวิจัยเรื่องนี้ไว้ให้อ่าน คลิกเลย

ในสมัยโบราณนั้น ที่เรียนรู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับบุตรหลานไม่ใช่ "โรงเรียน" เพราะยังไม่มีโรงเรียนสอนหนังสือ และวิชาความรู้ดังเช่นปัจจุบัน การถ่ายทอดจึงเกิดจากญาติผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ผู้ที่ทรงความรู้ศึกษาบวชเรียนมาก่อน หรือทำอาชีพใดๆ จนเชี่ยวชาญเป็นที่นับถือของคนในหมู่บ้าน เป็นที่นับหน้าถือตาให้เป็น "ครู" ในด้านต่างๆ เช่น เป็น หมอยา เพราะเชี่ยวชาญในการใช้พืชสมุนไพรต่างๆ รักษาโรค หมอสูตร เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญในพิธีกรรมสู่ขวัญ ทำขวัญ เป็นต้น

ใต้ถุนบ้าน หรือลานบ้านของท่านผู้รู้ จึงมักจะเป็นที่รวมของบรรดาลูกหลาน ไทบ้าน ทั้งเด็กเล็ก ชาย-หญิง หนุ่ม-สาว มาล้อมวงฟังผู้ใหญ่สนทนาถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาในช่วงเวลาต่างๆ ถ้าเป็นช่วงเวลากลางวัน ไม่มีงานในไร่นาก็จะเป็นการสอนให้ทักษะวิชาชีพ เช่น การจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือน หรือเครื่องมือดักจับสัตว์ต่างๆ การทำคราด ไถ หรือซ่อมแซมเกวียน รวมทั้งการตีเหล็ก มีด พร้า จอบ เสียม ฯลฯ ทางฝ่ายหญิงก็จะเป็นที่ชุมนุมสอนการทอผ้า ตัดเย็บเครื่องนุ่มห่ม การฟอกย้อมผ้า รวมทั้งการถ่ายทอดสูตรเด็ดการทำอาหารการกิน ให้ทุกคนได้ร่วมชิมด้วยกันทั้งหมดในลานบ้าน นับเป็นการสร้างรักและสามัคคีในชุมชนนั้น

ถ้าเป็นช่วงเวลาเย็นย่ำ เมื่อเสร็จจากเวียกงานกลับมาหมู่บ้าน ก็มักจะมารวมกันที่ศาลากลางบ้าน หรือบ้านของผู้ใหญ่บ้าน เพื่อร่วมฟังข่าวสารต่างๆ ที่ผู้นำชุมชนจะนำมาแจ้งข่าว ทั้งเรื่องการระวังโรคภัยไข้เจ็บที่มีการระบาดในช่วงเวลานั้นๆ ระวังโจรขโมยที่จะมาลักทรัพย์สิน วัว ควาย เป็นต้น แล้วจะมีการเล่านิทานที่มีคติสอนใจให้ลูกหลานฟัง มีการจ่ายผญา การให้ความรู้ด้านขนบธรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่สำคัญ การบอกบุญเพื่อช่วยเหลือกันในชุมชนตนเองและใกล้เคียง

tai talang
ใต้ถุนบ้าน คือแหล่งถ่ายทอดความรู้และวัฒนธรรมอีสาน

และในบางครั้งก็จะมีการเล่า "นิทานก้อม" (แปลเป็นภาษาไทยกลางก็น่าจะเป็น เรื่องสั้นขำๆ ที่ลงท้ายด้วยการฮัมเพลง ตะแล่มๆๆๆ ตะล่ะแล่มแต่มๆๆ นั่นเอง เคยฮิตติดลมนำมาเล่าผ่านวิทยุกระจายเสียง) สมัยนั้น สมัยผมยังเด็กๆ บรรดาผู้ใหญ่รวมทั้งพ่อผมเองด้วย มักจะเล่านิทานที่หมิ่นเหม่ทางศีลธรรมให้ฟังเสมอ ถ้าสมัยนี้ก็ต้องบอกว่า เรื่อง อีโรติก นั่นเอง

นิทานก้อมที่เล่ากันบ่อยๆ มักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "ลูกเขยเอาชนะพ่อตา" (ด้วยเล่ห์ต่างๆ ซึ่งในความจริงแล้วลูกเขยมักจะแพ้พ่อตาในชีวิตจริง แต่เมื่อเป็นนิทานก้อม ก็จะต้องเล่าแบบเอาคืนให้ได้ เพราะคนเล่ามักจะเป็นลูกเขยเสียส่วนใหญ่) หรือเรื่องลูกเขยหลอกกินตับแม่ยายที่กระท่อมกลางทุ่งนา พี่เขยหลอกกินตับน้องเมีย หรือพระแอบไปขึ้นสาว แต่ก็ถูกหลอกให้ไปเจอพระอีกรูปหนึ่งแทน เรื่องพวกนี้มักจบลงด้วยเสียงหัวเราะ ครื้นเครง แต่ไม่ค่อยมีใครคิดว่ามันจะเป็นเรื่องจริงดอก มันถูกเล่าเพื่อความสนุกของหนุ่มๆ หรือเขยใหม่ รวมทั้งเด็กๆ เท่านั้น และมักจะพูดถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างตรงไปตรงมาเสมอ เห็นเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน

เมื่อมีงานบุญ ช่วงออกพรรษา หรืองานบุญเดือนสี่ หมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่มีเงินพอจ้าง 'หมอลำหมู่' (คณะหมอลำใหญ่) ก็มักจะจ้าง 'หมอลำคู่' โดยมีหมอลำสองคน ชาย-หญิง กับหมอแคนประจำตัวอีก 2 คน ถูกจ้างมาลำบนเวทีเดียวกัน ในลักษณะประชันขันแข่งความสามารถทางกลอนลำ หรือด้นกลอนสด เวทีแสดงหมอลำก็มักจะตั้งอยู่ภายในวัด (เพราะเป็นงานบุญประเพณี) หมอลำคู่จะเริ่มเปิดเวทีด้วยกลอนไหว้ครู ไหว้พระรัตนตรัย ลำนิทานชาดกหรือพุทธประวัติ พรรณนาอานิสงส์ของการทำบุญ ในช่วงหัวค่ำตั้งแต่ 20.00 - 21.00 น. หรือดึกกว่านั้นนิดหน่อย ช่วงเวลาดังกล่าวจึงไม่มีอะไรให้บรรดาพวกคนหนุ่ม-สาว หรือคนแก่ได้คึกคัก มีแต่ชักชวนให้ศรัทธาในศาสนาและร่วมกันทำบุญให้วัดวาอาราม

แต่เมื่อถึงช่วงดึก คือ เลยเวลา 22.00 น. เป็นต้นไป แนวการลำก็จะเปลี่ยนเป็นเรื่องสองแง่สองง่าม (ลำเพอะ) การเกี้ยวกันระหว่างหมอลำหนุ่ม (แก่) กับสาวหมอลำ การต่อสู้กันด้วยกลอนลำ เรียกว่า แก้กลอนลำ โดยฝ่ายหนึ่งจะเป็นฝ่ายลำถาม (โจทย์) อีกฝ่ายต้องลำแก้โจทย์นั้นให้ได้ (ถ้าไม่เข้าใจให้ลองนึกถึงการแก้ทางมวยของการชกมวยไทย) จะสร้างความคึกคักในยามดึกดื่นเที่ยงคืนไปจนเกือบสว่าง (แล้วแต่ความสามารถของหมอลำว่า จะดึงผู้ชมไว้ได้นานหรือไม่ เพียงใด ถ้าเป็นหมอลำคู่ดังก็จะตอบโต้กันจนสว่างคาตาเลยทีเดียว) เรื่องส่วนใหญ่ที่ลำสลับกันไปมาระหว่างคู่ชายหญิงก็มีหลากหลาย แต่เรื่องที่เรียกความสนใจได้ดีที่สุดก็คือเรื่อง "ใต้สะดือ" นี่แหละ ระหว่างการลำโต้ตอบกันจะมีช่วง "หมอสอย" ที่คอยมาพูดสอยสอดแทรกด้วยถ้อยคำที่ทำให้เกิดความสนุกสนาน ครึกครื้นยิ่งขึ้น

morlum klon
การแสดงหมอลำคู่โดย แม่ฉวีวรรณ ดำเนิน และพ่อเคน ดาเหลา

หมอลำที่มีชื่อเสียงในเรื่องนี้คือ หมอลำคูณ ถาวรพงษ์ ในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องขยายเสียง การลำต้องลำด้วยปากเปล่า การเดินทางต้องเดินด้วยเท้าบ้าง ใช้เกวียนบ้าง (ไม่ได้มีรถประจำทางอย่างสมัยนี้) ท่านเป็นหมอลำที่มีน้ำเสียงดี ก้องกังวาน ชัดเจน และถนัดในการลำ "กลอนเพอะ" (สองแง่สองง่าม) คนทั่วไปจึงพากันตั้งฉายาให้ท่านว่า “หมอลำคูณหี” (เพราะกลอนลำของท่านเฉียดฉิวอยู่กับอวัยวะเพศชาย-หญิงนั่นเอง) แต่นิสัยของท่านนั้น เป็นคนมีศีลธรรม ซื่อสัตย์สุจริต สันโดษ ไม่ดื่มสุรา และไม่มีนิสัยทางชู้สาวเลย เป็นคนสุขุม ค่อนไปในทางเก็บตัว จึงมีลูกศิษย์น้อย ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงคือ หมอลำวังสถาน สิงห์ธรรม

หมอลำฝ่ายหญิงที่ลำคู่กันกับ "หมอลำคูณ" มีหลายคน ได้แก่ หมอลำจอมศรี บรรลุศิลป์, หมอลำหม่อน, หมอลำอั้ว, หมอลำเที่ยง, หมอลำสุบรรณ เป็นต้น แต่ที่ลำด้วยกันบ่อยที่สุด คือ หมอลำจอมศรี จนกิตติศัพท์ดังไกลถึงหูของ นาย ต.เง็กชวน นายห้างเจ้าของห้างแผ่นเสียงตรากระต่าย จึงได้ถูกชักชวนให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยรถไฟ เมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2483 โดยมีหมอแคน คือ นายชื่น ทานให้ และนายบัว มีทรัพย์ เพื่อบันทึกแผ่นเสียง ออกจำหน่ายในครั้งนั้นคือ "ลำทางสั้น กลอนศีลห้า" และลำคู่กันคือ "ลำเว้าสาว" เป็นแผ่นเสียงชุดแรกและชุดสุดท้ายของท่านทั้งสอง มีการจำหน่ายเผยแพร่และได้รับการตอบรับอย่างดี ทำให้ชื่อเสียงของท่านทั้งสองโด่งดั่งมากขึ้นไปอีก จนมีงานลำมากมายทุกวันจนไม่มีเวลาพักผ่อน

ลำทางสั้น กลอนศีลห้า-หมอลำคูณ ถาวรพงษ์

หมอลำคู่มักจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเซ็กส์ (Dirty Joke) อย่างตรงไปตรงมา เช่น หมอลำเคน ดาเหลา ได้รับความนิยมมากด้วยกลอนลำ “แตงสังหารสาว” วิทยุทุกสถานีเปิดกลอนลำนี้ให้ได้ยินกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งในงานบ้านและในงานวัด พอมีงานบุญก็จะได้ยิน “แตงสังหารสาว” ของ เคน ดาเหลา (ซึ่งต่อมาได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ. 2534)

“แตงสังหารสาว” เล่าเรื่องราวของหญิงสาว ที่ทุกๆ เช้าจะไปรดน้ำผักสวนครัวที่ปลูกไว้ในสวนท้ายหมู่บ้าน วันเกิดเหตุ ขณะตักน้ำรดแปลงปลูกแตง หญิงสาวแลเห็น "ผลแตงกวา" (ในกลอนลำจะเรียกว่า หมากแตงซ้าง) รูปร่างคล้ายอวัยวะเพศชาย เธอเกิดอยากรู้ว่าการมีอะไรกับไอ้นั่น (แตงกวา) จะเป็นอย่างไร เลยเก็บเอาแตงขนาดพอเหมาะมาใช้ด้วยความมันจนลืมตัว ผลแตงเกิดหักและติดอยู่ข้างใน เอาออกไม่ได้ จนกระทั่งได้เวลาพระฉันเพล

ken dalao 07
หมอลำคู่ที่มีชื่อเสียง 3 ศิลปินแห่งชาติ (ป.ฉลาดน้อย, ฉวีวรรณ ดำเนิน, เคน ดาเหลา)

พ่อจึงออกตามหาเพราะด้วยความเป็นห่วงว่า ลูกสาวของตนจะเกิดเหตุร้าย กลอนลำจบด้วยประโยคคำพูดของพ่อที่สาบส่งลูกสาวให้ไปตายซะ เพราะนางโง่แทั “แข้วมึงมีบ่แพ้ เอาหีหย่ำ หน่วยบักแตง” (ฟันก็มี แต่ดันเอาหอยเคี้ยวผลแตงซะงั้น) แน่นอน ทั้งหมดเป็นเรื่องอารมณ์ขัน ที่ทุกคนฟังแล้วก็หัวเราะสนุกสนานกันไป

ส่วนเรื่องของลูกเขยกับพ่อตาและแม่ยายนั้นมีหลายเรื่อง แต่จะขอเอาเรื่องที่สามารถชนะทั้งพ่อตาและแม่ยายได้พร้อมกันทีเดียว เรื่องมีอยู่ว่า

พ่อตาและลูกเขยได้ชวนกันไปหาปลาและตัดไม้ไผ่ที่หัวนา หลังจากที่ตัดไม้ไผ่ไปหลายลำ มีดอีโต้ที่ใช้ตัดไม้นั้นทื่อหมดคม จึงเอ่ยปากบอกลูกเขยว่า "บักทิด มึงขึ้นไปเอาหินฝนพร้าอยู่เถียงนามาแหน่ ถ้าหาบ่เห็นให้ถามแม่เบิ่งเด้อ" ส่วนลูกเขยนั้นไม่ได้คิดถึงหินลับคมมีดแต่อย่างใด ขณะเดินกลับขึ้นมากระท่อมนั้นก็คิดหาทางจะแอ้มแม่ยายแบบเนียนๆ อยู่ว่า จะใช้เล่ห์กลอันใดดี

 

ครั้นมาถึงกระท่อมกลางนาก็แว๊บปิ๊งขึ้น จึงเอื้อนเอ่ยวาจากับแม่เฒ่าว่า "แม่ อีพ่อเลาให้ข่อยมาเอาเจ้า"

แม่ยายได้ฟังถึงกับตกใจฮ้องว่า "บักผีบ้า..."

ลูกเขยเลยก้มหน้าพูดเบาๆ ว่า "คันบ่เซื่อกะถามอีพ่อเลาเบิ่ง"

ด้วยความโมโหนางเลยร้องเสียงดังไปทางชายทุ่งว่า "เฒ่า เจ้าสิให้ข่อยเอาให้มันอยู่บ้อ!"

 

พ่อตาเลยตะโกนสวนมาด้วยความโมโหว่า "โอ้ย! มึงสิแพงไว้เฮ็ดหยัง ไวไว.."

จากนั้นลูกเขยก็เลยลูบปากด้วยความสะใจ ตะแล่มๆๆๆ ตะแล่ม ตะละแล่ม แต่มๆ... "

การพูดเรื่องเพศและการมีเพศสัมพันธ์ในวัฒนธรรมอีสานนั้น ช่างตรงไปตรงมา วัฒนธรรมที่มี "นิทานก้อม" แบบหมิ่นเหม่ศีลธรรมเต็มไปหมด ซึ่งผมได้ฟังตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่คนในสมัยนั้น ก็ไม่มีใครในหมู่บ้านที่กระทำการหมิ่นเหม่ต่อเรื่องศีลธรรมทางเพศ จนเกิดความเสียหายแบบในนิทาน ผมได้ยินแต่ผู้ใหญ่เขาพูดกับลูกหลานว่า "เมื่อมีอะไรกันแล้ว ก็ต้องเลี้ยงดูเป็นผัวเป็นเมียกันไปตลอดชีวิต อย่าปล่อยปละละทิ้ง"

nitan kom
นิทานก้อม (เรื่องสั้นขำๆ อีโรติกของฅนอีสานนานมา)

ในวันนี้ คนไทยจำนวนหนึ่ง (ซึ่งมีมากขึ้นทุกที) กำลังใช้จริยธรรม (ที่ไม่ได้เป็นรากฐานทางจริยธรรมอะไรนัก) ไปกดทับความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอ้างศีลธรรมอันดีงามเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ การรักนวลสงวนตัว วัฒนธรรมอันดีงามของไทย ผมคิดว่า สิ่งที่คนเหล่านี้ขาดไป ก่อนลงมือตัดสินจริยธรรมและความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น คือ "การเรียนรู้วัฒนธรรมอื่นๆ การตระหนักรู้ถึงความไม่รู้ของตนเอง การตรวจสอบมาตรฐานทางจริยธรรมที่ตนเองยึดถือ และการรู้จักเคารพในวัฒนธรรมที่ต่างออกไป พวกเขาควรจะตรวจสอบตนเองว่า มีอคติทางจริยธรรมเจือปนอยู่ในคำตัดสินทางจริยธรรมหรือไม่ มากน้อยเพียงใด"

วันนี้ผมได้เห็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนอีสาน ที่รู้และเข้าใจรากเหง้าของบรรพบุรุษตนเอง ได้ถ่ายทอดความเป็นอีสานออกมาในรูปการแสดง และขับร้องหมอลำ ในชื่อคณะว่า "เพชร น้ำหมาก" ซึ่งมีการบันทึกเป็นคลิปออกมาทาง Youtube หลายชุด เช่น ลำสาวมหาวิทยาลัย ลำชมเซเว่น ลำชีวิตคนโสด และคลิปข้างล่างนี้ "ลำสาวนักศึกษา" ที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นอีสานออกมาให้เห็นถึง คนรุ่นใหม่ที่ลืมกำพืดผลาญเงินพ่อแม่ เพื่อความสุขของตนจนลืมอนาคตเสียสิ้น

ฟังกลอนลำสาวนักศึกษาบ่ทัน อยากฮู้ คลิกโลด

redline

backled1

nok hasadee link

สืบเนื่องมาจากงานพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) ที่ทำพิธีปลงศพบนเมรุรูปนกหัสดีลิงค์ ที่ยิ่งใหญ่ตระการตา เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนให้ความสนใจค้นหาเรื่องราวของ "นกหัสดีลิงค์" กันมากมาย และข้อมูลเรื่องนี้ในเว็บไซต์ประตูสู่อีสานมีการเข้ามาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมากเกินกว่า 50,000 วิวในเวลาแค่สัปดาห์เดียว เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เลยขอนำภาพเก่าๆ ในอดีตในการจัดทำพิธีปลงศพบนเมรุนกหัสดีลิงค์มาให้ชมกัน ขอขอบคุณภาพจาก เพจคณะละคอนสุดสะแนน หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี ที่ได้รวบรวมไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้กัน

nok hasadee link 33

วัฒนธรรมประเพณีพื้นเมืองเก่าแก่ จะยังอยู่สืบเชื้อสายได้ ก็จะต้องมีผู้รักษา หากขาดผู้รักษาแล้ว วัฒนธรรมท้องถิ่นก็หมดไปด้วย นกหัสดีลิงค์ ที่ว่านี้เป็นเรื่องประชาชนในท้องถิ่นถวายให้เกียรติแก่ผู้ตาย ไฟพระราชทาน นั้นเป็นพระเมตตาของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานมาให้ผู้ตาย นกหัสดีลิงค์ ก็เท่ากับว่าเป็นพานทองรับไฟเพลิงพระราชทานของพระมหากษัตริย์ นั่นเอง ดอกไม้มีพานใส่ฉันใด นกหัสดีลิงค์ก็ฉันนั้น

รวมภาพเก่าในอดีตและปัจจุบันเกี่ยวกับ "นกหัสดีลิงก์"

nok hasadee link 17

(ซ้าย) ญาแม่สุกัณ ปราบภัย นางเทียมเจ้านางสีดา ในพิธีส่งสะการ ญาพ่อท้าวสิทธิสาร พระอุบลการประชานิจ (บุญชู พรหมวงศานนท์) สตรีที่ยืนอยู่ข้างๆนั้น คือ หมอลำทองสามส่าว ผู้ลำขับกล่อมนางสีดา (ขวา) เมรุหอแก้วนกหัสดีลิงค์ พ.ศ. 2464 พิธีปลงศพ อาชญาท่านธรรมบาล (ผุย ธมฺมปาโล) หลักคำเมืองอุบลราชธานี เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย)

 nok hasadee link 18

(ซ้าย) เมรุหอแก้วนกหัสดีลิงค์ พ.ศ. 2486 พิธีปลงศพ พระครูวิโรจน์รัตโนบล (ญาท่านดีโลด) อดีตเจ้าคณะเมืองอุบลราชธานี และเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง ช่างทำเมรุในงานดังกล่าว มีทั้งช่างที่เป็นพระภิกษุและฆราวาสซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์ร่วมกันสร้างถวาย เช่น พระครูวิสสุกรรมโกศล ช่างโพธิ์ ส่งศรี นายพิเชียร ศรีสมบูรณ์ ช่างล้วน มุขสมบัติ นายสาย เสาโท ในความอุปการะของนายวิชิต โกศัลวิตร (ขวา) เมรุหอแก้วนกหัสดีลิงค์ งานส่งสะการพระอุปัชฌาย์เคน อดีตเจ้าคณะตำบลหนองบ่อ วัดบูรพาพิสัย จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2504 พระอุปัชฌาย์เคน คมฺภีรปญฺโญ เป็นช่างทำเมรุ ร่วมกับพระมหาถวัลย์ ภายหลังคือ พระปริยัติโกศล (ถวัลย์ อาจารสุโภ) รองเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี วัดทุ่งศรีเมือง

nok hasadee link 19

เมรุนกหัสดีลิงค์ หลวงปู่นาค วัดป่าใหญ่ (ไม่ทราบปี พ.ศ.)

nok hasadee link 23

เมรุนกหัสดีลิงค์ ในงานศพ พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์) ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2471 (ภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี)

nok hasadee link 24

ภาพ : นกหัสดีลิงค์ในงานศพ พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์) ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2471 (ภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี)

ความยิ่งใหญ่ของพิธีกรรมและมหรสพในงานศพของ เจ้าเมืองอุบลราชธานี จากหลักฐานวรรณกรรมท้องถิ่นเมืองอุบลราชธานี "พื้นเมืองอุบล" งานปลงศพพระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองท่านที่ 3 (ครองเมือง พ.ศ. 2398 - 2406)

...บรบวนตั้ง พระเมรหลวงกลางท่ง
ฮอดมื้อเต้า ศพย้ายจากโฮง
การละเล่น ระงมคนขับเสบ
พิณพาทย์ฆ้อง เสียงก้องทั่วเมือง
ขลุ่ยแคนไค้ หอยสังข์กลมกล่อม
ซุงต่อยต้อง กลมกลั่วปี่แถ
ฆ้องกลองพร้อม ไชยพาทย์สันเสียง
เสียงสนั่นก้อง ระงมห้าวกล่อมขวัญ
โฮมงันได้ เจ็ดวันเลยจูด
เททอดน้ำ นำเจ้าส่งสการ
สังฆเจ้า ทังมวลพร้อมพร่ำ
มาจูดเมี้ยน เทิงซ้ำสูตรพระธรรม
พากันสร้าง บังสกุลทานทอด
หมายหยาดน้ำ บุญยู้พระยอดเมือง
จูดเมี้ยนแล้ว ศพเมรยาพ่อใหญ่
สามขวบมื้อ ตามจาฮีตบูฮาณ
พากันเก็บกระดูกเจ้า ลาเลิกหดสรง
โถลายคราม หน่วยงามประสงค์เมี้ยน..."

จาก ปรีชา พิณทอง. "ประวัติเมืองอุบลราชธานี สำนวนอิสานคัดจากใบลาน". อุบลราชธานี : โรงพิมพ์ศิริธรรม, 2506. หน้า 191 (ในวรรณกรรมออกนามพระพรหมราชวงศาว่า พระประทุมราชวงศา)

พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เป็นบุตรพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) เจ้าเมืองอุบลคนแรก มารดาคือเจ้านางตุ่ย พระธิดาเจ้าอุปราช (ธรรมเทโว) เจ้าอุปราชจำปาสัก พระองค์ที่ 2  พระพรหมกุทอง เป็นลูกพี่ลูกน้องกับเจ้าฮุย เจ้านครจำปาสักองค์ที่ 7 จึงนับสืบเนื่องเป็นเชื้อพระวงศ์จำปาสัก แต่เสียดายที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงเท่าไหร่

nok hasadee link 25

(ซ้าย) นกหัสดีลิงค์ในงานศพ พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์) ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2471 (ภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี) (ขวา) เมรุนกหัสดีลิงค์ ส่งสะการ ญาแม่คำยาน ณ อุบล

nok hasadee link 20

ผังขบวนแห่อันแสดงถึงฐานานุฐานะของเจ้านางสีดา ประกอบด้วย

  • ฆ้องไชย ตีให้สัญญาณนำขบวน
  • อาญาสี่ ชาย-หญิง แต่งกายแบบโบราณ ชายนุ่งโจง หญิงนุ่งสิ้น แบบเจ้านายสมัยโบราณ แต่เดิมเป็นบุคคลในตระกูลที่สืบเชื้อสายเจ้านายเมืองอุบล เช่น สกุล ณ อุบล, บุตโรบล, สิงหัษฐิต, พรหมวงศานนท์, สุวรรณกูฏ, ทองพิทักษ์ ภายหลังจึงแต่งตั้งผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง หรือ ข้าราชการบำนาญผู้มีความประพฤติดีเป็นที่นับถือของคนทั่วไปทำหน้าที่แทน
  • วอเงิน วางเครื่องบวงสรวง ที่แบ่งมาจาก "คายหน้า"
  • วอทอง หรือ เสลี่ยงเจ้านางสีดา มีสัปทนกางกั้น เสลี่ยงนี้ต้องทำไม้หลักด้านขวา สำหรับให้นางสีดาจับเวลายืนฟ้อนรำศร ฆ่านก มีนางเทียมอาชญ์องค์ต่างๆ ติดตามเต็มกระบวน
  • เครื่องยศ โดยมีผู้ถือพานใส่คันศร ลูกศร เครื่องราชูปโภค คนโทเงิน-ทอง กาน้ำเงิน-ทอง พานน้ำเงิน-ทอง เครื่องศาสตราวุธ ดาบเงิน-ทอง หอก ง้าว ขอ
  • ขบวนทหาร บริวารนางสีดา คือ ขุนตูม ขุนตาม ขุนซ้ำ ขุนพลอย ถือ ดาบ หอก 4-8 คน
  • ขบวนผู้ติดตาม ถือเครื่องบวงสรวง คือ มะพร้าว, กล้วย, อ้อย, หน่อกล้วย
  • ดนตรีมโหรี ประกอบด้วย แคน กลอง ฉิ่ง บรรเลงตลอดพิธี
  • ธงช่อธงชัย

ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์เรื่อง "การรำในพิธีทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ในอุบลราชธานี" โดย อ.วิราณี แว่นทอง

nok hasadee link 21

นางเทียมเจ้านางสีดา (ญาแม่มณีจันทร์) ฟ้อนท่าค้ำฟ้า เตรียมฆ่านก ในงานส่งสะการ ดร.คำหมา แสงงาม จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้ที่ถือขันวางศรคันธนู คือคุณยายประทิน วันทาพงษ์ ซึ่งต่อมาเป็นผู้สืบทอดเป็นนางเทียมเจ้านางสีดาคนที่ 5

ท่าฟ้อนของเจ้านางสีดาเป็นท่าเฉพาะเรียกว่า "ท่าค้ำฟ้า" คือ ม้วนจีบทีละข้าง เริ่มจากมือขวา ซ้าย แล้วคลายจีบออกเป็นตั้งวง แขนตึงระดับไหล่ ใช้มือทั้งสองข้างหันฝ่ามือไปในทิศบน หรือหันฝ่ามือขึ้นท้องฟ้า แขนตึงชี้ไปข้างหน้าประมาณ 45 องศา มีการใช้กำลังแขนและสายตาที่มุ่งมั่น ท่านี้ ไม่เคยมีการปรับเปลี่ยน มาเป็นเวลาสองร้อยปี และสืบทอดเฉพาะในสายตระกูลนางเทียมเจ้านางสีดา เท่านั้น (ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์เรื่อง "การรำในพิธีทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ ในอุบลราชธานี" โดย วิราณี แว่นทอง: 2551)

 nok hasadee link 22

(ซ้าย) ญาแม่มณีจันทร์ ผ่องศิลป์ ฟ้อนศรฆ่านก ด้วยท่าฟ้อนที่สืบทอดในวงศ์ตระกูลมากว่า 200 ปี สังเกตที่คันศรเป็นรูปนาค สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ปราบนกหัสดีลิงค์ (ขวา) ญาแม่สุกัญ ปราบภัย แผลงศรฆ่านกหัสดีลิงค์ในงานส่งสะการ ญาพ่อโฮงแพ พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์) ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2471

เจ้านางสีดาปราบนกหัสดีลิงค์ (ญาแม่มณีจันทร์)

nok hasadee link 29

ตัวแทนอาญาสี่ นำขันห้ามาเชิญเจ้านางสีดาไปฆ่านกหัสดีลิงค์ อาญาสี่จะกล่าวคำเชิญเจ้านางสีดาว่า "นกโตนี้กาลีบ้านกาลีเมือง กินคนมาร้อยเอ็ดเจ็ดหัวเมืองแล้ว อาญาสี่เพิ่นกะมาขอเชิญญาแม่สีดาไปปราบนก" ฝั่งเจ้านางสีดาจะถามกลับว่า "นกโตนี้อยู่ไส"  อาญาสี่ตอบว่า "อยู่ท่งหลวงท่งปาง ขอเชิญญาแม่สีดาไปปราบนกเทอญ"

แต่เดิมตัวแทนอาญาสี่ต้องเป็นคนมาจากตระกูลผู้สืบเชื้อสาย อาญาสี่เมืองอุบล คือ สกุล ณ อุบล, สิงหัษฐิต, บุตโรบล, พรหมวงศานนท์ เป็นต้น ในภายหลังได้ปรับเปลี่ยนโดยคัดเลือก ข้าราชการบำนาญ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นที่นับหน้าถือตาของบ้านเมือง ทำหน้าที่แทน

nok hasadee link 26

(ซ้าย) เครื่องคาย ในพิธีเลี้ยงคายหน้า ณ หอโฮงนางสีดา บ้านด้ามพร้า (ขวา) บรรดานางเทียมแต่ละอาชญ์องค์ที่เข้าร่วมพิธีเลี้ยงคายหน้า ณ หอโฮงเจ้านางสีดา แต่ละองค์จะยกขันคารวะองค์ที่อาวุโสตามลำดับ

nok hasadee link 27

การบายศรี เจ้านางสีดาและบรรดามเหสักข์ในพิธีเลี้ยงคายหน้าก่อนไปฆ่านกหัสดีลิงค์

nok hasadee link 28

การฟ้อนรำ เล่นศร ในพิธีเลี้ยงคายหน้า

nok hasadee link 30

วอทอง หรือเสลี่ยงเจ้านางสีดา สำหรับแห่ไปฆ่านกหัสดีลิงค์ แต่ดั้งเดิมโบราณในสมัยที่ยังเผาศพกลางทุ่งศรีเมือง เจ้านางสีดาจะเริ่มฟ้อนท่าค้ำฟ้า บนเสลี่ยง คือ มือขวาจับเสา มือซ้ายม้วนจีบแล้วตั้งวงแขนตึง ประกอบการตบเท้าขวาเพื่อสะดุ้งจังหวะ ขบวนเสลี่ยงจะเวียนซ้าย สามรอบ เมื่อมาหยุดตรงหน้านกหัสดีลิงก์ เจ้านางสีดาจะแผลงศร ถูกคอนกหัสดีลิงค์

nok hasadee link 31

(ซ้าย) นำแนบ (บริวารผู้ติดตามเจ้านางสีดา) ถือกุบศึก และศรชัย ซึ่งใช้ฆ่านกหัสดีลิงค์มากว่า 200 ปี (ขวา) ขบวนแห่นางสีดาไปฆ่านกหัสดีลิงค์

nok hasadee link 32

(ซ้าย) ฆ้องไชย นำขบวนอาญาสี่ แห่เจ้านางสีดาเข้าไปฆ่านก (กลาง) หอก ดาบ ที่นำเข้าขวนแห่ เป็นของโบราณที่เก็บรักษาโดยทายาทตระกูลเจ้านางสีดา (ขวา) ขบวนขุนตูม ขุนตาม ขุนซ้ำ ขุนพลอย บริวารเจ้านางสีดา ทำหน้าที่แทงหอก ดาบ ซ้ำที่นกหัสดีลิงค์ หลังจากเจ้านางสีดายิงศรแล้ว

ประมวลภาพจากพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ งานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ

lilred

ตำนานนกหัสดีลิงค์ (1) | ตำนานนกหัสดีลิงค์ (2) | ตำนานนกหัสดีลิงค์ (3)

เมรุุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบก ใน งานพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่พระเทพวิทยาคม "หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ"

redline

backled1

 

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)