คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ฮีตหนึ่งนั้น พอเถิงเดือนเก้าแล้วเป็นกลางแห่งวัสสกาล ฝูงประชาชนชาวเมืองก็เล่า เตรียมตัวพร้อม พากันทานยังเข้าประดับดินกินก่อน ทายกทานให้เจ้าพระสงฆ์พร้อมอยู่ภาย ทำ จั่งซี้บ่ย้ายเถิงขวบปีมา พระราชาในเมืองก็จงทำแนวนี้ ฮีตหากมามีแล้ววางลงให้ถือต่อ จำไว้เด้อ พ่อเฒ่าหลานเว้ากล่าวจา "
การทำบุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีหนึ่งในฮีตสิบสอง นิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า หรือที่เรียกว่า บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ เปรต (ชาวอีสานบางถิ่นเรียก เผต) หรือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าวและอาหารคาวหวาน พร้อมหมากพลู บุหรี่ที่ห่อด้วยใบตอง กล้วย นำไปวางไว้ตามใต้ต้นไม้ แขวนไว้ตามกิ่งไม้ ตามบริเวณกำแพงวัดบ้าง (คนอีสานโบราณเรียกกำแพงวัดว่า ต้ายวัด) หรือวางยายไว้ตามพื้นดิน เรียกว่า "ยายห่อข้าวน้อย" (ยาย ภาษาอีสานหมายความว่า การวางเป็นระยะๆ) พร้อมกับเชิญวิญญาณของญาติมิตร นำภัตตาหารไปถวายแด่พระภิกษุ สามเณร แล้วอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย โดยหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) ไปให้ด้วย
มูลเหตุของความเป็นมา ของเรื่องการทำบุญข้าวประดับดินนี้ เกิดจากความเชื่อตามนิทานธรรมบท ว่า
"ญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้ยักยอกเงินวัด ของสงฆ์ต่างๆ ไปเป็นของตนเอง ในสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า พวกอดีตญาติของพระเจ้าพิมพิสารเหล่านั้น ครั้นตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรตในนรกตลอดพุทธันดร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่ พระสมณโคดมพุทธเจ้า ในภัททกัปป์นี้ ก็ไม่ได้ตรวจน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่พวกญาติเหล่านั้น พอตกกลางคืนพวกเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสารเหล่านั้น ได้มาส่งเสียงร้องอันโหยหวนและแสดงรูปร่างน่ากลัวให้แก่พระเจ้าพิมพิสารได้ยินและเห็น พอเช้าวันรุ่งขึ้นได้เสด็จไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องราว ที่เป็นมูลเหตุให้พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบ พระเจ้าพิมพิสารได้ทำบุญถวายทานอีก แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลไปให้ พวกญาติที่ตายไปแล้วได้รับส่วนกุศลแล้ว ได้มาแสดงตนให้พระเจ้าพิมพิสารเห็นและทราบว่า ทุกข์ที่พวกญาติได้รับนั้นทุเลาเบาบางลงแล้ว เพราะการอุทิศส่วนกุศลของพระองค์" ชาวอีสานจึงถือเอามูลเหตุนี้ ทำบุญข้าวประดับดินติดต่อกันมา
วิธีดำเนินการ พอถึงวันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ช่วงบ่ายๆ เย็นๆ ชาวบ้านจะเตรียมอาหาร มีทั้งคาวหวาน ได้แก่ เนื้อ ปลา เผือก มัน ข้าวต้ม ขนม น้ำอ้อย น้ำตาล ผลไม้ เป็นต้น และหมากพลู ยาสูบ (บุหรี่) เมี่ยงคำ ไว้ไห้พร้อม เพื่อจัดทำเลี้ยงกันเองในครอบครัวส่วนหนึ่ง สำหรับแจกจ่ายให้ญาติพี่น้องส่วนหนึ่ง สำหรับอุทิศให้ญาติที่ล่วงลับส่วนหนึ่ง และทำบุญถวายพระภิกษุสามเณรอีกส่วนหนึ่ง รวมเป็น 4 ส่วน
สำหรับส่วนที่ 3 ที่จะอุทิศให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้วนั้น จะห่อน้อยกว่าส่วนอื่นๆ มีวิธีการห่อคือ ใช้ใบตองห่อขนาดเท่าฝ่ามือ ยาวให้สุดซีกของใบตองที่ตัดมา อาหารคาวหวานนั้นจัดใส่ห่ออย่างละเล็กละน้อย อาทิ
ห่อข้าว อาหาร คาวหวานด้วยใบตอง แล้วใช้ไม้กลัดหัวท้าย และตรงกลาง เราก็จะได้ห่อข้าวน้อยที่มีลักษณะยาวๆ ตามซีกของใบตอง 1 ห่อ ส่วนอีกหนึ่งห่อ จะเป็นหมากพลู บุหรี่ และเมี่ยงคำ นำมาห่อในลักษณะเดียวกันจะได้ห่อหมากพลู หลังจากนั้นนำทั้งสองมามัดเป็นคู่ และไปรวมกันเป็นพวงอีกที โดยใน 1 พวง จะใส่ห่อหมากห่อพลูจำนวน 9 ห่อ แต่บางคนก็ใส่ใบตองที่เย็บเป็นกระทงก็มี หรือหากไม่แยกกัน อาจเอาอาหารทั้งคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ ใส่ในห่อหรือกระทงเดียวกันก็ได้
พอเช้าวันรุ่งขึ้น คือวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ตอนเช้ามืด คือ เวลาประมาณ 4 ถึง 6 นาฬิกา ชาวบ้านก็นำอาหาร หมากพลู บุหรี่ที่ห่อและมัดเป็นพวงหรือใส่กระทงแล้ว ไปวางไว้ตามพื้นดิน วางแจกไว้ตามบริเวณโบสถ์ ต้นโพธิ์ ศาลา ตามกิ่งไม้หรือต้นไม้ใหญ่ๆ ในบริเวณวัด ชาวบ้านจะทำกันแบบเงียบๆ ไม่มีการตีกลอง ตีฆ้องแต่อย่างใด พร้อมกับจุดเทียนไว้ และบอกกล่าวแก่เปรตให้มารับเอาสิ่งของและผลบุญด้วย
บางหมู่บ้าน จะนำเอาอาหารที่อุทิศให้แก่ผู้ตาย หลังทำพิธีแล้วไปฝังไว้ในดินก็มี เพื่อไม่ให้ผู้ใดผู้หนึ่งกินอาหารที่เป็นเดนเปรต เพราะกลัวจะกลายเป็นเปรตไปด้วย การวางอาหารไว้ตามพื้นดิน หรือตามที่ต่างๆ เพื่อจะให้พวกเปรตมารับเอาของอุทิศให้ได้ง่าย โดยไม่ต้องมีพิธีรีตอง เสร็จพิธีอุทิศผลบุญส่งไปให้เปรตแล้ว ชาวบ้านก็จะนำอาหารที่เตรียมไว้อีกส่วนหนึ่ง ไปตักบาตรและถวายทานแด่พระภิกษุ สามเณร
บุญเดือนเก้า : บุญข้าวประดิบดิน
มีการสมาทานศีลฟังเทศน์ และกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับต่อไป การทำบุญข้าวประดับดิน บางท้องถิ่นมีการห่ออาหารคาว อาหารหวาน หมาก พลู บุหรี่ ไปวางไว้ตามที่ต่างๆ บริเวณวัด ภายหลังการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรแล้วก็มี เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวประดับดิน
ข้อสังเกต การที่ชาวบ้านนำข้าวปลาอาหาร ไปวางไว้ตามข้างวัดบ้าง ข้างกำแพงบ้าง ผูกไว้ตามกิ่งไม้บ้าง ด้วยเข้าใจว่า ญาติที่ได้รับการปลดปล่อยจากนรก จะได้มากินในวันเดือนดับนี้ จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะชี้ตรงๆ ว่า ญาติเขาเหล่านั้นจะได้รับจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ
พระพุทธองค์ตรัสว่า "เปล่าประโยชน์ที่จะเอาข้าวเอาของไปทำเช่นนั้น เพราะคนตายแล้ว เขาก็ไปตามคติ (สุคติ ทุคติ) ของเขา ไม่มีวันย้อนกลับมา รับสิ่งของเหล่านั้นแต่อย่างใด ควรจะทอดทานให้แก่สมณชีพราหมณ์ คนยากจน และสัตว์ดิรัจฉาน ของเหล่านี้จะมีอานิสงส์ งอกเงยไปถึงแก่เปรตชนผู้ล่วงลับไปแล้ว" เพราะพระสงฆ์ เป็นเนื้อนาบุญ จะเป็นไปได้ไหมว่า พระพุทธองค์ไม่อยากจะให้ของเหล่านั้น ต้องเน่าหรีอเสียทิ้งโดยเปล่าประโยชน์
สำหรับของที่ให้แล้ว วางประดับไว้ตามดินที่เรียกว่า ข้าวประดับดิน ในบุญนี้ก็มีเพียงอาหาร ผู้ได้กินอาหารนิ้โดยตรง ที่เห็นๆ ก็คือ สัตว์เดียรัจฉาน ตามนี้ก็ถือว่า ถูกต้องตามพุทธประสงค์แล้ว สำหรับการแจกห่อข้าวน้อยในบุญประดับดินนี้ นิยมแจกตอนเช้า ตั้งแต่ตี 4 จนถึงย่ำรุ่ง ไม่นิยมแจกนอกวัดด้วย
ฮีตที่ ๙ บุญข้าวประดับดินหรือบุญเดือนเก้า นักปราชญ์อีสานโบราณได้กล่าวไว้เป็นบทผญา โดยได้พรรณนาถึงความอุดมสมบูรณ์และประเพณีการทำบุญในเดือนนี้ว่า...
เดือนแปดคล้อยเห็นลมทั่งใบเสียว เหลียวเห็นหมู่ปลาขาวแล่นมาโฮมต้อน
กบเพิ่นนอนคอยท่าฝนมาสิได้ม่วน ชวนกันลงเล่นน้ำโห่ฮ้องซั่วแซว
เดือนเก้ามาฮอดแล้วบ้านป่าขาดอน เห็นแต่นกเขางอยคอนส่งเสียงหาซู้
เถิงระดูเดือนเก้าอีสานเฮาทุกท้องถิ่น คงสิเคยได้ยินบุญประดับดินกินก้อนทานทอดน้อมถวาย "
การทำบุญข้าวประดับดิน ก็เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับญาติที่ตายไปแล้ว ชาวอีสานถือเป็นประเพณีที่จะต้องทำกันทุกๆ ปีมิได้ขาด โดยได้กำหนดเอาวันแรม 14 คำ เดือนเก้า เป็นเกณฑ์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนเก้าดับ" บางท้องถิ่นอาจจะเรียกว่า "บุญเดือนเก้าลับ" ก็มี
รายการทีวีชุมชน ช่อง ThaiPBS ตอน ข้าวประดับดิน
อ่านเพิ่มเติม : ความแตกต่างระหว่างบุญข้าวประดับดินกับบุญข้าวสาก
ฮีตหนึ่งนั้น พอเถิงเดือนแปดได้ล้ำล่วงมาเถิง ฝูงหมู่สังโฆคุณเข้าวัสสาจำจ้อย ทำตาม ฮอยของเจ้าพระโคดมทำก่อน บ่ทะลอนเลิกม้างทำแท้สู่ภาย แล้วจงพากันผ่ายหาของไปเททอด ทำทานไปอย่าได้คร้านเอาไว้หมู่บุญ สิเป็นของหนุนเจ้าไปเทิงอากาศ สู่สวรรค์บ่ฮ้อนด้วยบุญนี้ส่งไป
เพิ่นจึงตรัสบอกไว้ฮีตเก่าคองหลัง อย่าขาดได้ไปแท้สู่คน โอกาสนี้เพิ่นให้เที่ยวซอกค้นขุดก่นขุมบุญ เอาทุนไปภายหน้า เมื่อตายไปแล้วเป็นแนวนำเฮาขึ้นบันไดทองเทียวท่อง ขึ้นสู่ห้องชั้นฟ้าสวรรค์พุ้น อยู่เย็น ฝูงหมู่วิบากเว้นบ่มีว่าสิมาพาน เนาว์วิมานแสนทุกข์หายบ่มาใกล้ "
บุญเข้าพรรษา เป็นฮีตที่แปด หรือ จารีตประเพณี 8 ตามฮีตสิบสองของอีสาน บุญเข้าพรรษาของภาคอีสาน เป็นประเพณีทางพุทธศาสนาคล้ายคลึงกับทางภาคกลาง คือจะมีการทําบุญตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝน สบง จีวร และ เทียนพรรษา หากแต่ในภาคอีสานจะจัดขบวนแห่เทียนอย่างยิ่งใหญ่ และมักมีการประกวดความสวยงามของเทียนจากแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งตกแต่ง สลักเสลาเทียนเป็นลวดลาย เรื่องราวทางพุทธศาสนาอย่างสวยงาม เมื่อแห่เทียนมาถึงวัดชาวบ้านจะรับศีล รับพรฟังธรรม ตอนค่ำจะเวียนเทียน รอบพระอุโบสถ
เนื่องจากในสมัยพุทธกาล พระภิกษุเที่ยวจาริกสอนธรรมไปตามหมู่บ้านต่างๆ ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นฤดูฝน ฤดูหนาว หรือฤดูร้อน แต่ในฤดูฝนนั้น ภิกษุได้เหยียบย่ำข้าวกล้าในนาของชาวบ้านเสียหาย สัตว์ตัวน้อยต่างๆ พลอยถูกเหยียบตายไปด้วย พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้ภิกษุต้องจําพรรษา 3 เดือน ในฤดูฝน โดยมิให้ไปค้างแรมที่อื่นใดนอกจากในวัดของตน ถ้าภิกษุฝ่าฝันถือว่า “ศีลขาดและต้องอาบัติทุกกฎ”
วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มอยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 จนถึงกลางเดือน 11 วันเข้าพรรษาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้มีอยู่ 2 วัน คือ
เมื่อเข้าพรรษาแล้ว หากภิกษุมีกิจธุระจำเป็นอันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ โดยมีข้อจำกัดว่า จะต้องกลับมายังสถานที่จำพรรษาเดิมภายใน 7 วัน ที่เรียกว่า สัตตาหกรณียะ ดังต่อไปนี้
ในวันเข้าพรรษา ถือว่าเป็นกรณียกิจพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จะมีการประชุมกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาซึ่งกันและกัน เสร็จแล้วก็ประกอบพิธีเข้าพรรษา ภิกษุจะอธิษฐานใจตนเองว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า
อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ หรือ อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ
แปลว่า ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในอาวาสนี้ หรือในวิหารนี้ " (ว่า 3 ครั้ง)
หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้ว ก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปนมัสการปูชนียวัตถุที่สำคัญในอารามนั้น ในวันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และพระเถระที่ตนเคารพนับถือ
เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนแปดตอนเช้า ญาติโยมก็จะนําดอกไม้ธูปเทียน ข้าวปลา อาหาร มาทําบุญตักบาตรที่วัด ตอนบ่ายจะนําสบงจีวร ผ้าอาบน้ำฝน เทียนพรรษา และดอกไม้ธูปเทียนมาถวายพระภิกษุที่วัด แล้วร่วมกันรับศีลฟังธรรมพระเทศนา พอถึงเวลาประมาณ 19.00 - 20.00 น. ชาวบ้านจะนําดอกไม้ธูปเทียนมารวมกันที่ศาลาโรงธรรม เพื่อรับศีลและเวียนเทียนจนครบสามรอบ แล้วจึงเข้าไปในศาลาโรงธรรมเพื่อฟังพระธรรมเทศนาจนจบ จากนั้นจะแยกกันกลับบ้านเรือนของตน ส่วนผู้ที่มีศรัทธาแก่กล้าก็จะพากันรักษาศีลแปดจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันแรมหนึ่งค่ำเดือนแปด อันเป็นวันเข้าพรรษา ซึ่งพระภิกษุจะต้องจําพรรษาในวัดของตนเป็นเวลาสามเดือน
การถวายผ้าอาบน้ำฝนนี้ เกิดขึ้นแต่สมัยพุทธกาล คือ มหาอุบาสิกา ชื่อว่า วิสาขา ได้ทูลของพระบรมพุทธานุญาตให้พระสงฆ์ ได้มีผ้าอาบน้ำสำหรับผลัดเปลี่ยนเวลาสรงน้ำฝนระหว่างฤดูฝน นางวิสาขาจึงเป็นสตรีคนแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์
ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยราชธานี จึงนิยมนำผ้าอาบน้ำฝนไปถวายแด่พระสงฆ์ผู้จะอยู่พรรษา พร้อมกับอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นต่างๆ
แม้ในปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนไทยก็คงยังปฏิบัติกิจกรรมอย่างนี้อยู่ บางวัดมีการแจกฎีกานัดเวลา ประกอบพิธีถวายผ้าอาบน้ำฝน หรือ ผ้าจำนำพรรษา และเครื่องใช้อื่นๆ ณ ศาลาบำเพ็ญกุศลของวัดใกล้บ้าน
คำถวายผ้าอาบน้ำฝน
อิมานิ มะยังภันเต วัสสิกะสาฏิกะจีวะรานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโนภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ
วัสสิกะสาฏิกะจีวะรานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหาหัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ "คำแปล
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าอาบน้ำฝนกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าอาบน้ำฝน พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
สิ้นกาลนานเทอญ
เทียนพรรษา ในอดีตยังไม่มีไฟฟ้าใช้ไปทั่วทุกหนทุกแห่งอย่างเช่นปัจจุบัน พระสงฆ์และประชาชนทั่วไปก็ยังใช้วิธีการจุดขี้ไต้ ตะเกียง และเทียนให้แสงสว่าง เมื่อถึงคราวเข้าพรรษาประชาชนจึงร่วมใจกันหล่อต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่ เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ใช้ในการทำสังฆกรรมตลอดช่วงระยะเวลาเข้าพรรษา แต่ในปัจจุบันเทียนพรรษาใช้ประโยชน์เพียงจุดบูชาพระพุทธปฏิมา ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาพระธรรมเหมือนในอดีตอีกแล้ว จึงทำให้ในปัจจุบันเริ่มมีชาวพุทธนำ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ให้แสงสว่าง ไปถวายแก่พระสงฆ์แทนเทียนพรรษา ซึ่งจะให้ประโยชน์มากกว่าใช้จุดบูชาเท่านั้น มีประเพณีหนึ่งที่เนื่องด้วยวันเข้าพรรษา และจัดเป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา ก็คือ ประเพณีหล่อและแห่เทียนพรรษา แล้วนำไปถวายแด่พระสงฆ์ที่วัด
คำถวายเทียน
อิมานิ มะยัง ภันเต ปะทีปัง สะปะริวารัง ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกษุสังโฆ อิมานิ ปะทีปัง
สะปะริวารัง ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ "คำแปล
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายเทียนกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์
ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับเทียนและบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
สิ้นกาลนานเทอญ
แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดี ที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิ วิหารและอื่นๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้น อบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลาน ของตนโดยถือกันว่า การเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง
ลำกลอนเดือนแปด บุญเข้าพรรษา ชุด ฮีดสิบสอง โดย ทองแปน พันบุปผา
ฮีตหนึ่งนั้น พอเมื่อเดือนเจ็ดแล้วจงพากันบูชาราช ฝูงหมู่เทพเหล่านั้นบูชาแท้สู่ภาย ตลอดไปฮอดอ้ายอาฮักษ์ใหญ่มเหสัก ทั้งหลักเมืองสู่หนบูชาเจ้า พากันเอาใจตั้งทำตามฮีตเก่า นิมนต์สังฆเจ้าขำระแท้สวดมนต์ ให้ฝูงคนเมืองนั้นทำกันอย่าได้ห่าง สูตรชำระเมืองอย่าค้างสิเสีย เศร้าต่ำศูนย์ ทุกข์สิแล่นวุ่นๆ มาโฮมใส่เต็มเมือง มันสิเคืองคำขัดต่ำลงศูนย์เศร้า ให้เจ้าทำตามนี้ แนวเฮาสิกล่าว จึงสิสุขอยู่สร้างสวรรค์ฟ้าเกิ่งกัน ทุกข์หมื่นฮ้อยซั้นบ่มีว่าพาน ปานกับเมืองสวรรค์ สุขเกิ่งกันเทียมได้ "
ประเพณีบุญเดือนเจ็ด หรือ บุญซำฮะ เป็นงานบุญที่ชาวอีสานจะจัดงานประเพณีขึ้น มีจุดประสงค์เพื่อ ปัดรังควานและขับไล่เสนียดจัญไร ตลอดถึงเหล่าภูติผีปีศาจหรือสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากหมู่บ้าน คำว่า "ซำฮะ" ก็คือ "ชำระ" ที่หมายถึง การล้างให้สะอาด บุญซำฮะ อาจจะเรียกว่าเป็น บุญเบิกบ้าน หรือ บุญบ้าน ซึ่งในงานบุญนี้นอกจากจะทำพิธิขับไล่สิ่งชั่วร้ายแล้ว ยังต้องมีการทำพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่หมู่บ้านและประชาชน
ด้วยความเชื่อตามตำนานอันนี้ ชาวอีสานจึงได้จัดให้มี ประเพณีบุญซำฮะ ขึ้นในเดือนเจ็ดเป็นประจำทุกปี ในการจัดงานบุญซำฮะหรือบุญเบิกบ้าน ชาวบ้านจะทำบริเวณพิธีด้วยการนำ ต้นกล้วยมาสี่ต้น ทำเป็นเสา ผูกยึดด้วยสายสิญจ์ และจะมีการโยงสายสิญจ์ไปยังบ้านทุกหลังในหมู่บ้าน แล้วนิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์ นอกจากนี้จะมีการนำหินเข้าพิธีเมื่อปลุกเสกแล้ว พระหรือพราหมณ์ก็จะนำหินที่ปลุกเสกไปหว่านทั่วหมู่บ้าน เพื่อปัดรังควาน ในปัจจุบัน บางหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่ชาวบ้านจะนำหินใส่ถุงเขียนชื่อตนเอง เมื่อเสร็จพิธีก็จะมารับกลับไปหว่านที่บ้านของตนเอง บ้างก็นำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านของตนไปเข้าพิธีเพื่อสูตร หรือ ปลุกเสก โดยพระสงฆ์ร่วมด้วย
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ เมืองไพสาลี เป็นยุคเข็ญ เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ฟ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล สรรพสิ่งต่างก็พากันเจ็บป่วยล้มตาย ด้วยโรคห่า หรือ อหิวาตกโรค ชาวบ้านที่ยังมีชีวิตอยู่จึงไปนิมนต์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อมาปัดเป่าทุกข์ภัย พระพุทธองค์จึงเสด็จมาพร้อมกับพระสงฆ์จำนวน 500 รูป กว่าพระองค์จะเดินทางมาถึงเมืองไพสาลีก็ใช้เวลานานถึง 7 วัน เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงพร้อมคณะสงฆ์ก็เกิดฝนห่าแก้วตกลงมาอย่างหนัก จนน้ำท่วมเมืองไพสาลีสูงถึงหัวเข่า แล้วน้ำก็ไหลพัดพาเอาซากศพต่างๆ ลงสู่แม่น้ำจนหมดสิ้น พระองค์จึงทำน้ำพระพุทธมนต์ให้พระอานนท์ไปประพรมทั่วเมือง นับตั้งแต่บัดนั้นโรคร้ายก็สูญหายไปจากบ้านเมือง
บุญซำฮะ นิยมทำกันในเดือน 7 จัดทำได้ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม การชำฮะ (ชำระ) สะสางสิ่งสกปรกโสโครกให้สะอาด ปราศจากมลทิลโทษ หรือความมัวหมอง เรียกว่า การซำฮะสิ่งที่ต้องการทำให้สะอาด นั้นมี 2 อย่างคือ
แต่สิ่งที่จะต้องชำระในที่นี้คือ บุญชำระล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไร อันจะทำให้เกิดข้าศึกมาราวีทำลาย เกิดผู้ร้ายโจรมาปล้น เกิดรบราฆ่าฟันแย่งกันเป็นใหญ่ ผู้คนช้างม้าวัวควายล้มตาย ถือกันว่าบ้านเดือดเมืองร้อน ชะตาบ้านชะตาเมืองขาด จำต้องซำฮะให้หายเสนียดจัญไร การทำบุญมีการรักษาศีลให้ทานเป็นต้น
รายการกระจกหกด้าน ชุด "ร้อยเรื่องเมืองไทย" ตอน "บุญซำฮะ"
บางแห่งทำเมื่อฝนแล้งหรือไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อทำบุญทำทานนี้แล้ว เชื่อว่าจะทำให้ฝนตกและบ้านเมืองก็จะอยู่เย็นเป็นสุข เพราะจะได้ทำนาและปลูกพืชพันธ์ธัญญาหารต่างๆ เมืองใดที่มีมเหศักดิ์หลักเมือง ก็ทำพิธีเซ่นสรวงหลักเมือง หมู่บ้านใดที่มีผีประจำหมู่บ้านซึ่งเรียกว่า "ผีปู่ตา" หรือ "ตาปู่" หรือ "เจ้าบ้าน" ก็ทำพิธีเลี้ยงในเดือนเจ็ดนี้ และนำข้าวปลาอาหารพร้อมสิ่งอื่นๆ ไปเลี้ยงผีประจำไร่นา ซึ่งเรียกว่า "ผีตาแฮก" ด้วย
การทำบุญซะฮะนี้มักทำกัน 3 คืน โดยมีการฟังพระสวดมนต์เย็น และถวายอาหารบิณฑบาตทุกเช้าวันรุ่งขึ้น และในวันสุดท้ายของบุญซำฮะ นอกจากมีถวายอาหารบิณฑบาตแล้ว ชาวบ้านจะนำสิ่งปฏิกูลต่างๆ เช่น ขยะมูลฝอย กระติบข้าว ตะกร้า หวด ฯลฯ ที่ชำรุดแล้ว กระบอกปลาร้าที่ไม่ได้ใช้ เศษหม้อ เศษถ้วยชามที่แตก เป็นต้น ขนไปทิ้งนอกหมู่บ้านอีกด้วย หรือทำการเผา หรือฝัง เพื่อทำให้บริเวณบ้านสะอาดเรียบร้อย ถือว่าเป็นการนำสิ่งอัปมงคลออกจากบ้าน จะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากสิ่งเสนียดจัญไรและโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง บุญซำฮะปรกติทำปีละครั้ง แต่บางปีชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุขอาจเว้นไม่ทำบ้างก็ได้
บุญซำฮะ ของชาวบ้านนาอ้อ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย
เอกสาร "บุญซำฮะ" ของ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนหกแล้วให้นำเอาน้ำวารีสรงโสก ฮดพระพุทธรูปเหนือใต้สู่ภาย อย่าได้ละเบี่ยงบ้ายปัดป่ายหายหยุด มันสิสูญเสียศรีต่ำไปเมือหน้า จงพากันทำแท้แนวคองฮีตเก่า เอาบุญไปเรื่อยๆ อย่าถอยหน้าหากสิเสีย "
บุญบั้งไฟ เป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือนของชาวอีสาน นิยมทำกันในเดือน 6 หรือเดือน 7 อันเป็นช่วงฤดูฝนเข้าสู่การทำนา ตกกล้า หว่าน ไถ เพื่อเป็นการบูชาแถนขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เหมือนกับการแห่นางแมวของคนภาคกลาง
ในสองพิธีกรรมที่อยู่คนละภาคนี้ มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องของสัญลักษณ์ที่ใช้อันส่อไปทางเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้ไม้มาแกะสลักเป็นอวัยวะเพศชายเรียกว่า "บักแบ้น" หรือ "ปลัดขิก" ในอีสานหรือ "ขุนเพ็ด" ในภาคกลางเข้าร่วมขบวนแห่ ทั้งยังมีการร้องเซิ้งด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศและเพศสัมพันธ์
สัญลักษณ์นี้เป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์ระหว่าง ฟ้ากับดิน หญิงกับชาย ที่เป็นพลังก่อกำเนิดชีวิต และเป็นพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ จึงมีความสัมพันธ์กับการขอฝน ซึ่งเป็นที่มาของพลังแห่งการเติบโตของพืช และด้วยเหตุที่อวัยวะเพศ และเพศสัมพันธ์เป็นสัญลักษณ์สำคัญของงานบุญ จึงถือว่างานบุญบั้งไฟเป็น งานบุญของพระยามาร ซึ่งจัดแข่งกับงานบุญของพระพุทธเจ้า
บุญบั้งไฟมีตำนานเล่าขานมานาน จากนิทานพื้นบ้านเรื่องผาแดงนางไอ่ เรื่องพระยาคันคาก ล้วนแต่กล่าวถึงการจุดบั้งไฟเพื่อให้แถน (เทวดา) ได้บันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาล ถือเป็นประเพณีอันสำคัญที่จะละเลยมิได้ เพราะมีความเชื่อว่า หากหมู่บ้านใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟก็อาจจะก่อให้เกิดภัยพิบัติแก่ผู้คนในชุมชน งานบุญบั้งไฟเป็นงานใหญ่ ลงทุนสูง การจัดงานจะต้องเป็นไปตามการตัดสินใจของชุมชน หากปีใดเศรษฐกิจในชุมชนฝืดเคืองอาจจะต้องงดจัดงาน ซึ่งต้องไปทำพิธีขอเลื่อนการจัดที่ศาลปู่ตา (ศาลผีบรรพบุรุษหรือเทพารักษ์) ของหมู่บ้าน ความจริงแม้จะจัดหรือไม่ก็ต้องมีการไปกระทำพิธีเซ่นไหว้ที่ศาลปู่ตาอยู่ดี
ดอนปู่ตา หรือ ดอนตาปู่ หรือดอนเจ้าปู่
ศูนย์รวมจิตใจอันเป็นกุศโลบาย ภูมิปัญญาของท้องถิ่นในการควบคุมจัดการวิถีชีวิตให้เป็นสุข
การทำบั้งไฟในสมัยก่อนจะใช้ไม้ไผ่ลำขนาดใหญ่ที่สุด ทะลวงปล้องให้ถึงกัน ภายนอกจะใช้ตอกไม้ไผ่ถักเป็นเชือกมัดรอบลำไผ่ให้แน่น เพื่อไม่ให้ลำไผ่แตก ส่วนหัวปล้องสุดท้ายจะถูกอุดด้วยแผ่นไม้หนาพอควร แล้วทำการอัดบรรจุหมื่อ (ดินปืน) ให้แน่นด้วยการตำ หรือใช้คานดีดคานงัด (สมัยใหม่ใช้แม่แรงยกล้อรถบรรทุกแทนสะดวกกว่ากันดังภาพ)
ยุคสมัยเปลี่ยนไปจากลำไผ่กลายมาเป็นท่อเหล็กหรือท่อประปา (ซึ่งอันตรายมากเมื่อมีการระเบิดใส่ผู้คนอย่างที่เป็นข่าว) ตอนหลังหันมาใช้ท่อพีวีซีแทนซึ่งก็ยังเป็นอันตรายอยู่ดี จากการบูชาแถนมาเป็นการพนันขันต่อเพื่อการเดิมพัน จำนวนบั้งไฟที่จุดในแต่ละที่จึงมีจำนวนมาก และสร้างความเสียหายต่อชุมชนในทิศที่บั้งไฟถูกจุดออกไป (เพราะสามารถไปไกลได้หลายสิบกิโลเมตร)
ประเภทของบั้งไฟมีหลายชนิด ซึ่งเรียกกันตามขนาดและลักษณะของบั้งไฟ
นอกจากบั้งไฟแล้ว ยังมีการทำพลุ พะเนียง ดอกไม้ไฟ ตะไล (เพื่อจุดในการแห่ร่วมด้วย) นอกจากนั้นตัวบั้งไฟยังต้องมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงามเรียกว่า การเอ้ ซึ่งก็เป็นฝีมือของพระอีกเช่นกัน
เมื่อการเตรียมการในการต้อนรับ การทำบั้งไฟ การเอ้บั้งไฟให้สวยงาม เตรียมขบวนฟ้อนในวันแห่โฮมบุญ ทำนั่งร้านสำหรับการนำบั้งไฟขึ้นจุด แล้วก็จะถึงวันงานซึ่งมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องอีกดังนี้
การละเมิดกฎเกณฑ์และธรรมเนียมปฏิบัติกันทั่วไป มีคำอธิบายได้ว่า เป็นการปลดปล่อยคนให้หลุดจากกฎเกณฑ์ชั่วคราว ในอีสานสมัยก่อน ผู้ชายเมื่อแต่งงานต้องเข้าไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง ผู้ชายจึงอยู่ในฐานะที่โดดเดี่ยว ต้องอยู่ในความควบคุมของญาติฝ่ายหญิง และต้องฝากอนาคตของตนไว้กับความเมตตาของครอบครัวฝ่ายหญิงด้วย เพราะจะสามารถสร้างหลักให้แก่ครอบครัวได้ ก็ด้วยการอุปถัมภ์ของพ่อตา เขยจะถูกจัดให้เป็นผู้ด้อยกว่าในทางพิธีกรรม (แสดงสะท้อนในเชิงประชดประชันจากนิทาน "พ่อเฒ่ากับลูกเขย") ดังนั้น การที่แสดงออกในทางพิธีกรรมในบุญบั้งไฟ จึงเป็นการปลดปล่อยจากกฎเกณฑ์ของสังคม เพราะเรื่องเพศ การกล่าวถึงหรือแสดงอวัยวะเพศ เป็นความหยาบโลนที่สังคมปรกติไม่ยอมรับ
หมายเหตุปิดท้าย ในอดีตเราจะได้ยินว่าหมู่บ้านนั้นหมู่บ้านนี้ทำบั้งไฟหมื่น ขึ้นสุดลูกหูลูกตา คำว่า หมื่น มาจากจำนวนน้ำหนักของดินประสิวที่ใช้ทำ ดินหมื่อ คือ 12 กิโลกรัม (ไม่นับรวมน้ำหนักของถ่านซึ่งเป็นส่วนผสม) จะบรรจุในลำไม่ไผ่ขนาดยาวประมาณ 3 เมตร ต่อมาหมู่บ้านใดทำบั้งไฟแสนคือ 120 กิโลกรัมดินประสิว (ใช้ลำตาลแทนไม้ไผ่ ใช้เทคนิคมัดพันลำตาลอย่างแน่นหนา) ก็ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว ในปัจจุบันมีข่าวว่าบางแห่งมีบั้งไฟล้าน (ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะจริงถ้าไม่นับน้ำหนักของท่อเหล็กและหางรวมกันกับดินประสิว) กันบ้างแล้ว ไม่ทราบว่าจุดขึ้นพ้นพื้นดินเพียงใด ผู้เขียนหลับตานึกถึงภาพหากมีการระเบิดเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรหนอ ไม่อยากจะบรรยายครับ
สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวในอดีต ปัจจุบันงานประเพณียังคงอยู่ แต่ความเชื่อและวัฒนธรรมของงานบุญหายไป กลายไปเป็นการประกวดประชันกัน การวางเดิมพันเงินแสนเงินหมื่น มีกลุ่มบุคคลรับจ้างทำบั้งไฟเพื่อแลกกับการนำไปจุดแข่งขันมีการเดิมพันจำนวนมากๆ (เพราะเริ่มมีการเข้มงวดจำนวนบั้งไฟที่ใช้ในการจุดแต่ละที่จากฝ่ายปกครอง ถึงขั้นมีข่าวลือว่า ผีพนันลงขันสั่งย้ายนายอำเภอออกจากพื้นที่เพราะอนุญาตน้อยเกินไป) ไม่มีการพูดถึงดอนปู่ตาหรือผีบรรพบุรุษอีกแล้ว เพราะทุกอย่างจัดเพื่อการท่องเที่ยว อย่างบุญบั้งไฟเมืองยโสธรคือตัวอย่าง (ไม่ทราบว่าอ้างเพื่อธุรกิจหรือไม่) น่าเสียดายที่ความงามในอดีตเริ่มจะเลือนหายไปจากอีสาน กลายเป็นตำนานให้กล่าวถึงเพียงเท่านั้น
ปกติงานบุญบั้งไฟอีสาน ทั้งในหมู่บ้านชานเมืองและชนบทห่างไกล คนมักจะให้ความสนใจกับขบวนแห่-ฟ้อน-เซิ้งบั้งไฟ ในวันแรกของงานที่เรียกว่า "วันโฮม" (วันรวมขบวนบั้งไฟแห่) และการจุดบั้งไฟหลายขนาดอันน่าตื่นเต้นในวันรุ่งขึ้นที่เรียกว่า "วันจูด" (วันจุดบั้งไฟ) แต่การจัดงานบุญบั้งไฟที่ บ้านแมด กิ่งอำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด จะมีการจัดพิธีกรรมที่แตกต่าง แปลกตา น่าตื่นใจมากกว่าที่อื่นๆ หลายแห่ง คือ
เมื่อถึงวันโฮมหรือวันแห่ ทางหมู่บ้านจะมีการจัดให้มีพิธีกรรมบวชควาย ที่เรียกคนที่บวชเป็นควายว่า ควายจ่า หรือ ควายฮาด ซึ่งจะทำพิธีบวชในตอนเช้า โดยคนที่จะบวชเป็น “ควาย” จะทาใบหน้าและร่างกายเปลือยท่อนบนด้วยดินหม้อจนดำไปทั้งตัว รอบขอบตาทาด้วยสีแดงเห็นชัดเจน สวมหัวมีเขาที่ทำขึ้นเองโดยสมมติเป็นเขาควาย สะพายเฉียงไหล่ด้วย “พรวนทาม” ที่เป็นเครื่องสัญญาณเสียงคล้องคอควาย
ที่เอวของคนที่บวชควายมีท่อน “อวัยวะเพศชาย” ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนขนาดยาว-ใหญ่ ทาสีแดงที่ปลาย ผูกติดเอวอยู่ด้วยเชือก และมีสายเชือกผูกโยงไปข้างหลัง มีชายอีกคนหนึ่งที่สมมติเป็นเจ้าของควายจับปลายเชือกบังคับควาย เดินออกหน้าขบวนแห่ที่มีกลุ่มคนแต่งกายแปลกๆ ร่วมกันฟ้อนเซิ้งอย่างสนุกสนาน ประกอบดนตรีพื้นบ้านบรรเลงไปทั่วหมู่บ้าน เจ้าของควายที่ว่าบังคับควายนี้ จริงๆ แล้วจะจับเชือกดึงบังคับท่อนอวัยวะเพศไม้ที่ผูกเอวควายจ่าหรือควายฮาด ให้ขยับกระดกขึ้นลงไปตามจังหวะดนตรีและตามต้องการสนุก
การบวชควายในวันแห่บั้งไฟนี้ต้องไปบวชกับ “ผีปู่ตา” ที่ดอนปู่ตา ซึ่งชาวอีสานเชื่อกันว่าเป็นผีประจำหมู่บ้าน ที่ชาวบ้านอีสานเชื่อกันว่าจะคอยปกป้องคุ้มครองคน-สัตว์เลี้ยงในหมู่บ้าน และช่วยเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของฟ้าฝนในปีนั้นๆ คนที่บวชเป็นควายจ่าหรือควายฮาดในงานบุญบั้งไฟนี้ จะมีการสืบทอดกันต่อๆ มาตามสายเลือด หรือไม่ก็จะเลือกคนที่อยู่ในกลุ่มเครือญาติเดียวกันเป็นหลัก
ปกติแล้ว จะมีการเล่นกันเป็นกลุ่มหลายขบวนอย่างสนุกสนานทุกวัน และต่อเนื่องกันหลายวันก่อนถึงวันงาน รวมทั้งกลุ่มของคนที่จะบวชเป็นควายด้วย แต่เมื่อเข้าพิธีบวชเป็นควายจ่าหรือควายฮาดกับเจ้าปู่แล้ว ก็จะ “เล่นจริง” ในพิธีกรรมทั้ง 2 วัน ด้วยลีลาท่าฟ้อนเลียนแบบกิริยาท่าทางของควายจริง ทั้งลีลาการเดิน วิ่ง เป็นสัด และลีลาการม้วนตัวลงปลักตมตามนิสัยควาย จนสุดความสามารถที่จะแสดงได้ ซึ่งยาก-หนัก และเหนื่อยมาก ฉะนั้นคนที่เข้าพิธีบวชเป็นควาย นอกจากจะเป็นคนที่มีลีลาการแสดงที่สวยงามถูกใจชาวบ้านแล้ว จะต้องเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรงด้วย
บั้งไฟแสนกำลังพุ่งทะยานออกจากฐาน เคยมีเรื่องเล่ากันสนุกๆ ในวงสุราว่า ต้นกำเนิดของจรวดหรือยานอวกาศ
ที่อเมริกาและรัสเซีย ต่างก็พยายามที่จะส่งไปแข่งบารมีกันในอวกาศนั้น ได้ไอเดียมาจาก การทำบั้งไฟของชาวอีสาน "
แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่พูดกันเล่นๆ แต่ว่าลักษณะของบั้งไฟ ที่ชาวอีสานจุดขึ้นในงานบุญบั้งไฟ ดูๆ ไปก็คล้าย จรวดลำน้อย ที่ทะยานตัวขึ้นสู่บนฟากฟ้าเช่นกัน เพียงแต่ว่า บั้งไฟอีสาน นั้นทะยานสู่ฟากฟ้าได้ไม่ไกล ถึงขนาดออกนอกโลก (ประมาณ 2-3 กิโลเมตร) และจุดประสงค์ของการทำบั้งไฟ ก็ไม่ใช่เพื่อการแสดงความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี แต่การทำบั้งไฟในภาคอีสาน ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ทำขึ้นเพื่อนำไปจุดในงานบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญขอฝน บางแห่งเรียก บุญสัจจะ
บุญบั้งไฟ นิยมทำกันในเดือนหก ถือเป็นประเพณีสำคัญที่จะขาดไม่ได้ เพราะตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ชาวอีสานมีความเชื่อว่า ถ้าปีใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟ ฟ้าฝนก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้ง ไม่มีน้ำทำนา แต่ถ้าปีใดจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ฟ้าฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล เกิดความอุดมสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัย งานบุญบั้งไฟ จึงถือเป็นงานประเพณีประจำปี ที่สำคัญของชาวอีสาน พอใกล้ถึงวันงานชาวอีสาน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะกลับบ้าน ไปร่วมงานบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นงานที่สร้างความรักความสามัคคีของคนท้องถิ่นเป็นอย่างดี
ขบวนประกวดบั้งไฟซึ่งถูกตกแต่งอย่างสวยงาม ซึ่งถ้าพูดถึงงานประเพณีบุญบั้งไฟที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องนึกถึงจังหวัดยโสธร เพราะเป็นจังหวัดที่มีการจัดงานบุญบั้งไฟสืบทอดกันมาช้านาน และมีการจุดบั้งไฟแข่งขันกันเป็นงานใหญ่ ตั้งแต่ยังเป็นอำเภอที่ขึ้นอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานี จนในปี พ.ศ. 2515 ยโสธรแยกออกมาตั้งเป็นจังหวัดที่ 72 ของประเทศไทย คนเมืองยศก็จึงยิ่งจัดให้ยิ่งใหญ่มโหฬารขึ้น จนถือเป็นงานประเพณีระดับชาติ และมีการกำหนดจัดเป็นประจำใน วันศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนฤดูการทำนา เพราะกว่าร้อยละ 85 ของประชากรในจังหวัดเป็นเกษตรกร ที่ต้องอาศัยน้ำในการทำการเกษตร
ความพิเศษของงานบั้งไฟที่ยิ่งใหญ่ของชาวยโสธรนี้ ไม่เพียงแต่โด่งดังในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังโด่งดังไกลไปถึงชาวเมืองโยชิดะ จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ประชากรส่วนหนึ่งยังคงมีอาชีพทำนา และมีประเพณีการจุดบั้งไฟ คล้ายกับจังหวัดยโสธร แต่ในความคล้ายก็มีความต่าง เพราะการจุดบั้งไฟของชาวโยชิดะ เป็นไปเพื่อการอวยพร และขอบคุณพระเจ้าที่บันดาลให้ฝนตก และบั้งไฟของเขาจะเน้นการตกแต่งที่ความสวยงามมากกว่า การขึ้นของบั้งไฟจึงไม่สูงนัก ส่วนขบวนแห่ก็จะเรียบง่าย สนุกสนานน้อยกว่า การฟ้อนเซิ้งของชาวยโสธร และประเพณีนี้ทำในเดือนตุลาคมทุกปี
การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมบั้งไฟ ระหว่างเทศบาลเมืองยโสธรและตำบลชิชิบุ
เมืองโยชิดะ จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ตุลาคม 2554
จากความบังเอิญ ที่มีความเหมือนในประเพณี จึงมีการพัฒนาไปสู่การศึกษา แลกเปลี่ยน วัฒนธรรม เป็นเมืองคู่มิตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 จนกระทั่งได้มีการทำความตกลงระหว่าง โยชิดะและยโสธร ให้เป็นเมืองคู่แฝด เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2542 โดยทุกปีชาวเมืองโยชิดะ จะส่งบั้งไฟแฟนซีประเภทสวยงามมาร่วมจุดด้วย นอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรม และส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ในอนาคตยังอาจจะนำไปสู่การส่งเสริมด้านการศึกษา และความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจต่อไปด้วย
แม้แต่ชาวต่างประเทศยังสนใจวิธีการทำบั้งไฟของช่างบั้งไฟ บั้งไฟมีหลายชนิด แต่ที่ยโสธรมีการแข่งขันบั้งไฟแฟนซี และบั้งไฟแสน โดยบั้งไฟแฟนซีเป็นบั้งไฟขนาดเล็ก มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว และบรรจุดินประสิวไม่เกิน 4 กก. แข่งขันกันที่ความสวยงาม และลีลาลูกเล่นเมื่อจุดขึ้นฟ้า เช่นอาจจะมีร่มหลากสีสันกางออก หรือมีเสียงประกอบ ส่วนบั้งไฟแสนซึ่งเป็นบั้งไฟที่แข่งขันกัน โดยนับจากเวลาที่บั้งไฟขึ้น บั้งไฟของใครขึ้นนานที่สุดก็เท่ากับว่าบั้งไฟขึ้นสูงที่สุด (ระดับที่เป็นแชมป์บั้งไฟจะขึ้นนานกว่า 2 นาที)
บั้งไฟแสนจึงต้องมีขนาดใหญ่ ความยาว 4 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว และบรรจุดินประสิวหนัก 120 กก. นับเป็นบั้งไฟที่ทำยาก และต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ เพราะถ้าบั้งไฟนี้แตกแล้วจะเป็นอันตรายมาก เพราะฉะนั้นก่อนทำ "ช่างบั้งไฟ" ซึ่งเป็นผู้ทำบั้งไฟจะต้องมีพิธีกรรมบวงสรวงให้ถูกต้อง ตามหลักการทำบั้งไฟแสนเสียก่อนจึงจะลงมือทำ
ในช่วงที่มีการจุดบั้งไฟนั้น นับเป็นช่วงตื่นเต้นและสนุกสนาน โดยเฉพาะช่างบั้งไฟจะต้องลุ้นมากกว่าใคร เพราะหากบั้งไฟไม่ขึ้นก็จะถูกโยนลงบ่อโคลนนัยว่าเพื่อเป็นการลงโทษ แต่ปัจจุบันนั้น ไม่ว่าบั้งไฟจะขึ้นหรือไม่ขึ้นก็จะมีการโยนโคลน เพื่อความสนุกสนานมากกว่า
ว่ากันว่าการทำบั้งไฟนั้น จะต้องมีการศึกษาเรียนรู้ มีครูและมีศิษย์สืบทอดกันมา โดยทั่วไปจะถ่ายทอดต่อกันเป็นคนๆ เท่านั้น ไม่ใช่คนทั่วไปอยากเรียนก็จะเรียนได้หมด ครูจะเลือกถ่ายทอดให้ตัวต่อตัว สำหรับศิษย์ที่ครูเห็นว่ามีไหวพริบ และมีพรสวรรค์ด้านการทำบั้งไฟเท่านั้น จากเดิมที่มีการทำง่ายๆ ใช้ทักษะภูมิปัญญาของชาวบ้าน เดี๋ยวนี้มีการพัฒนาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วย โดยยังคงมีดินประสิวและถ่านเป็นส่วนผสมหลักรวมเรียกว่า "หมื่อหรือดินปืน" แต่เปลี่ยนตัวบั้งไฟจากการใช้ไม้ไผ่มาเป็นท่อเหล็กหรือท่อพีวีซีแทน เปลี่ยนจากการตำถ่านโดยใช้แรงงานคน มาใช้เครื่องป่นแทน ส่วนการบรรจุดินก็ใช้ระบบไฮดรอลิกมาช่วย ซึ่งการที่บั้งไฟจะขึ้นสูงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการบรรจุดินปืน และสูตรประสมดินปืนที่เป็นความลับเฉพาะของช่างบั้งไฟแต่ละคน
จากวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานมาจากภูมิปัญญา และกุศโลบายอันชาญฉลาดของบรรพบุรุษ ได้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาด้วยแรงเชื่อและศรัทธาในอำนาจของเทพเทวดาที่บันดาลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และในปัจจุบันได้นำมาสู่การประกวด การแข่งขัน การเดิมพัน และความสนุกสนาน จนกลายเป็นงานประเพณีระดับชาติที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่ก็อย่าลืมหันกลับไปมองอีกมุมหนึ่งด้วย
"ประเพณี" หรือ "สนามเดิมพัน" รายการเปิดปม "บ่อนบุญบั้งไฟ"
มุมของคนที่อยู่อาศัยในหมู่บ้าน ที่อยู่ในทิศทางที่ห้างจุดบั้งไฟหันไปหานะ น่ากลัวมาก ไม่รู้ว่ามันจะพุ่งทะลุผ่านหลังคาบ้าน ลงมาเมื่อไหร่ไม่รู้ ประเพณีเดิมเขาจุดแค่บั้งสองบั้ง แต่ตอนนี้จุดตั้งแต่เช้ายันเย็น (ไม่ได้นับว่าเท่าไหร่?) พวกเขาคงไม่สนุกด้วยเท่าไหร่หรอกนะท่าน... ผู้ว่า!
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)