คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
พระมงคลมิ่งเมือง แหล่งรุ่งเรืองเจ็ดลุ่มน้ำ งามล้ำถ้ำศักดิ์สิทธิ์ เทพนิมิตพระเหลา
เกาะแก่งเขาแสนสวย เลอค่าด้วยผ้าไหม ราษฎร์เลื่อมใสใฝ่ธรรม"
จังหวัดอำนาจเจริญ ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 3,161.248 ตารางกิโลเมตร เดิมคือบ้าน "ค้อใหญ่" เริ่มตั้งเป็นเมืองในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยขึ้นอยู่กับนครเขมราฐ ต่อมาจึงได้ย้ายมาขึ้นต่อเมืองอุบลราชธานี จนกระทั่งได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2536 อำนาจเจริญแม้จะเป็นเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบแต่ก็มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าชม ทั้งวัดวาอาราม ธรรมชาติที่สวยงาม และหัตถกรรมฝีมือชาวบ้านที่น่าซื้อเป็นของใช้ ของฝาก
จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อปี พ.ศ. 2519 มีการเสนอ "พระราชบัญญัติจังวัดอำนาคเจริญ ครั้งที่ 1" แต่สภาผู้แทนราษฎรสมัยนั้นถูกยุบไปเสียก่อน ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ได้มีการเสนอพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดอำนาจเจริญอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งต่อมา รัฐบาลได้ตรา "พระราชบัญญัติตั้งจังหวัดอำนาจเจริญ พ.ศ. 2536" ขึ้น ซึ่งแยกเอา 7 อำเภอของจังหวัดอุบลราชธานีมารวมกัน คือ อำเภออำนาจเจริญ (ปัจจุบันคือ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ) อำเภอชานุมาน อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอพนา อำเภอหัวตะพาน อำเภอเสนางคนิคม และกิ่งอำเภอลืออำนาจ (ปัจจุบันคืออำเภอลืออำนาจ)
ชื่อ “อํานาจเจริญ” แรกมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2401 ในแผ่นดินรัชกาล ที่ 4 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2394-2411) ได้ชื่อจากราชทินนามของเจ้าเมืองคนแรกว่า พระอมรอํานาจ คำว่า "อำนาจเจริญ" เป็นภาษาเขมร มีความหมายตามตัว คือ อำนาจเจริญ เมืองที่มีสมญานามว่า เมืองข้าวหอมโอชา ถิ่นเสมาพันปี
พระมงคลมิ่งเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2513
ต้นไม้ประจำจังหวัด : ต้นตะเคียนหิน
ตราประจำจังหวัด : พระมงคลมิ่งเมืองเป็นพระประธานของภาพ แสงฉัพพรรณรังสี เปล่งรัศมีโดยรอบพระเศียร ซ้ายขวามีต้นไม้อยู่สองข้าง ถัดไปเป็นกลุ่มเมฆ ด้านล่างเป็นแถบป้ายชื่อจังหวัดอำนาจเจริญ
ดอกไม้ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ คือ ดอกทองกวาว, ดอกจานเหลือง หรือ ทองธรรมชาติ ชื่อสามัญ Bastard teak, Bengal kino, Kino tree, Flame of the forest ชื่อวิทยาศาสตร์ Butea monosperma (Lam.) Taub. เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางในวงศ์ถั่ว มีความสูงประมาณ 12-18 เมตร กิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลหนา ลักษณะของการแตกกิ่งก้านจะเป็นไปในทิศทางที่ไม่เป็นระเบียบ ส่วนเปลือกต้นจะเป็นปุ่มปม ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือการใช้กิ่งปักชำ
มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ จากประเทศปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และทางตะวันตกของอินโดนีเซีย ทองกวาวมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกคือ กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ), จอมทอง (ภาคใต้), จ้า (สุรินทร์, เขมร), ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง), ดอกจาน (อีสาน)
จังหวัดอำนาจเจริญ แบ่งเขตการปกครองเป็น 7 อำเภอ (2564) ได้แก่ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ อำนาจชานุมาน อำนาจปทุมราชวงศา อำเภอพนา อำเภอเสนางคนิคม อำเภอหัวตะพาน และอำเภอลืออำนาจ
อำเภอชานุมาน ประชาชนส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวภูไท หรือผู้ไทย ที่อพยพมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชาวภูไทมีความสามารถในการทอผ้าขิตเป็นพิเศษ การให้สีสันและลวดลายของผ้า จะเป็นเอกลักษณ์ของภูไทโดยเฉพาะ และยังมีดนตรีนาฏศิลป์พื้นบ้าน ได้แก่ หมอลำ ที่มีเนื้อหาในการส่งเสริมการปกครองระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ประเพณีลงข่วง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบหนึ่งของชาวจังหวัดอำนาจเจริญในสมัยเก่า ให้เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีประจำจังหวัด การลงข่วงเป็นการชุมนุมกันของหนุ่มสาว ที่ฝ่ายสาวจะมีกิจกรรมทอผ้า สาวไหม เป็นต้น ขณะเดียวกันพวกหนุ่มๆ ก็จะมาร่วมวงสนุกโดยบรรเลงเพลงพื้นบ้านด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้าน อาทิ แคน พิณ ประกอบกับกิจกรรมทอผ้า และสาวไหม
ตั้งอยู่ที่เขาดานพระบาท ห่างจากตัวเมืองไปทางด้านเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร บริเวณวัดเป็นหินดานธรรมชาติ ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ซึ่งได้รับการปรับแต่งให้เป็น “พุทธอุทยาน” ส่วนพระมงคลมิ่งเมือง หรือพระใหญ่ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 11 เมตร ความสูงจากระดับพื้นดินถึงยอดเปลวรัศมี 20 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลสกุลศิลปะอินเดียเหนือ (ปาละ) ที่แผ่อิทธิพลมายังภาคอีสานของไทย เมื่อพันปีเศษ ออกแบบโดย จิตร บัวบุศย์ ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กครอบองค์เดิม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น แล้วแต่งองค์พระด้านนอกด้วยกระเบื้องโมเสคสีทอง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2508 เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทางด้านหลังของพระมงคลมิ่งเมือง มีพระพุทธรูปลักษณะแปลกอีก 2 องค์ ห่มจีวรเหลือง มีนามว่า "พระละฮาย" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "พระขี้ล่าย" หมายถึง ไม่สวย ไม่งาม โดยเรียกตามรูปลักษณ์ขององค์พระพุทธรูปโบราณ พบในหนองน้ำ เมื่อปี พ.ศ. 2505 ครั้งที่มีการปรับปรุงบริเวณโดยรอบ เพื่อทำฝายกั้นน้ำ เชื่อกันว่าเป็นพระที่ให้โชคลาภ ประชาชนมักเดินทางมาขอพรอยู่เสมอ
ตั้งอยู่บนถนนสายอำนาจเจริญ-เขมราฐ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 18 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตามทางขึ้นเขาเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร พื้นที่วัดมีบริเวณกว้างขวาง ประกอบด้วย วิหาร เจดีย์และพระนอนที่ก่อสร้างอย่างสวยงาม ทางด้านทิศเหนือของวิหาร มีถ้ำขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม เป็นวัดสาขาที่ 5 ของ วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
นอกจากนี้บริเวณศาลาพันห้อง สามารถชมธรรมชาติที่สวยงาม โดยรอบแวดล้อมด้วยโขดหินน้อยใหญ่มากมาย เหตุที่ได้ชื่อว่า ถ้ำแสงเพชร ก็เนื่องมาจากประกายของเกล็ดหิน ยามเมื่อต้องกับแสงตะวัน จะวาววับคล้ายกับแสงเพชร วัดถ้ำแสงเพชร เป็นสถานที่ปฎิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์สายพระอาจารย์ชา สุภัทโท เป็นวัดสาขาที่ 5 ของวัดหนองป่าพง มีพระภิกษุนานาชาติมาปฏิบัติธรรมอยู่เป็นประจำ
ตั้งอยู่ที่อำเภอพนา บนทางหลวงหมายเลข 2134 ห่างจากตัวอำเภอพนาประมาณ 2 กิโลเมตร พระอุโบสถของวัดมีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบล้านนา มีพระประธานคือ “พระเหลาเทพนิมิต” เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานในพระอุโบสถ องค์พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ลงรักปิดทองงดงาม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2263 ซึ่งสร้างโดยพระภิกษุ 3 รูป ทีมีฝีมือช่างขั้นเทพ คือ ภิกษุแก้ว ภิกษุอิน และ รูปสำคัญทีถือ เป็นยอดฝีมือ ชือ "ซาพรหม"
กล่าวกันว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในภาคอีสาน ซึ่งจัดอยู่ในพระพุทธรูปศิลปะลาว สกุลช่างเวียงจันทน์ ที่ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21 - 22 สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นหลังจากระยะเวลาดังกล่าวไปเล็กน้อย เนื่องจากมีอิทธิพลของฝีมือช่างท้องถิ่นปรากฏอยู่มาก เป็นต้นว่า เค้าพระพักตร์ เปลวรัศมีที่ยืดสูงขึ้น สัดส่วนของพระเพลา และพระบาท ซึ่งคล้ายคลึงกับที่ปรากฏอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปไม้ และสำริด ที่สร้างขึ้นระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงพุทธศตวรรษที่ 24
จากลักษณะขององค์พระพุทธรูปที่งดงาม เวลาเข้าไปกราบนมัสการจะเหมือนท่านยิ้มต้อนรับ คนทั่วไปจึงตั้งชื่อให้ท่านว่า “พระเหลา” ที่มีความหมายว่า “งดงามคล้ายเหลาด้วยมือ” ต่อมา วัดศรีโพธิชยารามคามวดี ที่ใช้เป็นที่ประดิษฐานองค์พระเหลา ได้เปลี่ยนชื่อเรียกตามความนิยมในตัวองค์พระเป็น "วัดพระเหลา" หมู่บ้านที่ตั้งได้เปลี่ยนชื่อตามเป็น "บ้านพระเหลา" ด้วย
จนถึง พ.ศ. 2441 เจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) พระสายวิปัสสนากรรมฐานชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี และภาคอีสาน ได้เสริมนามต่อท้ายให้กับองค์พระเป็น “พระเหลาเทพนิมิต” ซึ่งมีความหมายว่า “พระพุทธรูปที่งามคล้ายเหล่าดุจเทวดานิมิตไว้”
สำหรับ พระเหลาเทพนิมิต นอกจากจะมีความงดงามตามพุทธศิลปะแล้ว มีคำเล่าลือกันว่า ทุกคืนวันพระ 7 ค่ำ, 8 ค่ำ 14 ค่ำ, 15 ค่ำ องค์พระพุทธรูปพระเหลาเทพนิมิต จะแสดงพุทธานุภาพให้เกิดลำแสงสีเขียวแกมขาวขจี ลอยออกจากพระอุโบสถในเวลาเงียบสงัด
ทั้งนี้ การเข้ากราบนมัสการพระเหลาเทพนิมิต ผู้ต้องการบนบานขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะคนที่ไม่มีบุตร มีการกล่าวกันว่า เมื่อมาบนบานขอจากพระเหลาเทพนิมิตแล้ว จะประสบความสำเร็จสมดังที่ตั้งใจ ส่วนสิ่งของที่ใช้บนบานสานกล่าวก็คือ ดอกไม้ธูปเทียน และปราสาทผึ้ง
พระเหลาเทพนิมิต อยูที่ วัดพระเหลาเทพนิมิต. ตั้งอยู่ที่ตำบลพนา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นวัดโบราณเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2254
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง | เว็บไซต์จังหวัดอำนาจเจริญ | แผนที่จังหวัดอำนาจเจริญ | เอกสารการท่องเที่ยว ]
เชิญชมภาพเก่าเล่าอดีต "เมืองอำนาจเจริญ"
นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้
รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)