foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

การสู่ขวัญ

การสู่ขวัญ  หรือ สูดขวน เป็นประเพณีอยู่ในทุกขั้นตอนชีวิตของชาวอีสาน โดยเฉพาะชาวภูไท เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดที่ทำให้คนในครอบครัวตื่นตกใจ เสียขวัญ ก็จะทำพิธีสู่ขวัญ รวมถึงเมื่อมีเด็กเกิดใหม่ มีงานแต่งงาน มีการบวช มีความก้าวหน้าเจริญในอาชีพการงาน ได้ตำแหน่งใหม่ หรือเมื่อมีอาคันตุกะมาเยือน หรือเมื่อมีสมาชิกในครอบครัวจะเดินทางไปต่างประเทศ ก็จะมีพิธีสู่ขวัญเช่นกัน โดยจะมีหมอสูด (หมอพราหมณ์) ท่องคาถาเรียกขวัญกลับคืนมา หรือสร้างความเป็นสิริมงคลให้เกิดขวัญเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต โดยมีการผูกเชือกด้ายสีขาวที่ข้อมือผู้สู่ขวัญ หรือผูกให้กันและกัน แสดงออกถึงสายใยแห่งความผูกพันและเอื้ออาทรต่อกันอย่างยิ่ง

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ในพิธีสู่ขวัญจะมีพานบายศรีทรงพุ่มเป็นชั้นๆ ทำจากใบตองและดอกไม้ และมีการผูกเชือกด้วยด้ายสีขาวที่ข้อมือผู้สู่ขวัญหรือผูกให้กันและกัน

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม แสดงออกถึงสายใยแห่งความผูกพันและเอื้ออาทรต่อกัน

baisri sukwan

นเผ่าไทย-ลาว อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขงและสาขาต่างๆ ของแม่น้ำโขง ตั้งแต่แคว้นสิบสองปันนาในมณฑลยูนนาน ของประเทศจีน ลงมาจนถึงลุ่มน้ำโขงตอนล่างในภาคอีสานของประเทศไทย และภาคใต้ของประเทศลาว คนเหล่านี้มีวัฒนธรรมและอารยธรรมที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน ภาคอีสานและชาวไทยอีสาน เป็นส่วนหนึ่งของผู้สืบทอดวัฒนธรรม และอารยธรรมดังกล่าว กาลเวลาได้ล่วงพ้นมาจนถึงปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง การปกครองของคนเผ่าไทย-ลาวได้เปลี่ยนแปลงไป โดยมีแนวคิด วิทยาการ และภูมิปัญญาจากดินแดนอื่นเข้ามาผสมปนเป ดังนั้น วัฒนธรรมและอารยธรรมของคนเผ่าไทย-ลาวเอง ก็ไม่ได้รับการยกเว้น

การสู่ขวัญ หรือ การสูตรขวน

ชีวิตที่แห้งแล้ง หดหู่ ห่อเหี่ยว หวั่นหวิวไปด้วยความวิตกกังวลและหมดหวังตลอดเวลา เรียกว่า ชีวิตที่ไม่มีชีวา ความเต็มเปี่ยมด้วยความพอใจรอบด้านน่าจะเรียกได้ว่านี่คือ "ชีวา" ศูนย์แห่งความสมดุลของชีวานี้จะเรียกได้ว่า "ขวัญ" การเสียขวัญย่อมจะส่งผลให้คนทำอะไรไม่ได้ ดีไม่ดีถึงกับเจ็บป่วยและอาจถึงตายก็ได้ ดังนั้นการสู่ขวัญจึงเป็นวิธีกรรมหนึ่งที่เรียกชีวากลับมาสู่ชีวิต ถ้าชีวิตมีชีวาก็จะสามารถทำอะไรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขวัญ เป็นคำนาม หมายถึง ผมหรือขนที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอย ใช้เรียกถือว่าเป็นมิ่งมงคล สิริ ความดี เช่น ขวัญข้าว ขวัญเรือน เป็นสิ่งไม่มีตัวตน เชื่อกันว่ามีอยู่ประจำชีวิตของคนตั้งแต่เกิดมา ถ้าขวัญอยู่กับตัวก็เป็นมงคล เป็นสุขสบายจิตใจมั่นคง ถ้าคนตกใจหรือเสียขวัญ ขวัญก็อาจออกจากร่างไป ซึ่งเรียกว่า ขวัญหาย ขวัญหนี ขวัญบิน เป็นต้น ทำให้คนนั้นได้รับผลร้ายต่างๆ เรียกว่า ขวัญอ่อน และอนุโลมใช้ไปถึงสัตว์หรือสิ่งของบางอย่าง เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ข้าว เรือน เกวียน รถ ฯลฯ ว่ามีขวัญเช่นกัน

หากผู้ใดหรือสิ่งใดมีอาการขวัญเสีย ก็มักจะทำพิธีเรียกขวัญ ผู้ทำพิธีนี้ได้คือ หมอขวัญ หรือ หมอสูต หรือ หมอสูตร หรือหมอพราหมณ์ ในฝั่งทางประเทศ สปป.ลาว เรียกว่า หมอพร (ໝໍພອນ) ที่มีความสามารถในการสวดเรียกขวัญ เป็นผู้กระทำพิธีเชิญขวัญให้ หลังการสวดขวัญแล้วจะมีการผูกข้อมือให้ พร้อมกล่าวเรียกขวัญว่า "ขวัญเอย ขวัญจงมา มาอยู่กับเนื้อกับตัว..."

("สูตร" เป็นคำเก่าแก่ของคนอีสาน ที่นิยมเรียก การสวด ว่า สูตร เช่น สวดมนต์ เรียก สูตรมนต์ สวดขวัญ เรียก สูตรขวัญ)

การสู่ขวัญนี้ นอกจากเป็นการเชิญขวัญให้เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ประสบอุบัติเหตุแล้ว ก็ยังมีการสู่ขวัญให้กับผู้ที่จะต้องพรากไปแดนไกล หรือผู้ที่มาจากที่อื่นมาเยี่ยมเยือนถึงถิ่นเรา หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับชีวิต เช่น ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงานมีครอบครัว หรือการบวชในพระพุทธศาสนา ได้การงานที่มั่นคง รวมถึงการเรียกขวัญ ข้าว วัว ควาย หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตในไร่นาเสร็จสิ้น เพื่อความขอบคุณ เป็นต้น พิธีกรรมเกี่ยวกับ ขวัญ นี้มีการดำเนินการ เพื่อบำรุงขวัญดังนี้

การสู่ขวัญ

การสู่ขวัญ เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งซึ่งปราชญ์โบราณอีสานได้คิดขึ้น เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่คน และเสริมศิริแก่บ้านเรือน ล้อเลื่อน เกวียน วัว รถ เป็นต้น เป็นการรวมศิริแห่งโภคทรัพย์ ดังคำที่ท่านพระศิริมังคลมหาเถระกล่าวไว้ว่า "สิริโภคานมาสโย" แปลว่า ศิริเป็นที่มารวมแห่งโภคสมบัติ

การสู่ขวัญ หรือ การทำพิธีเชิญขวัญ เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ที่คนโบราณอีสานทำกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ และทำกันมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เวลาที่มีแขกผู้มีเกียรติมาเยือนถึงถิ่น คนอีสานจะให้การต้อนรับด้วยการเลี้ยงข้าวปลาอาหาร อาจจะด้วยอาหารการกินตามมีตามเกิด ไม่ได้เอร็ดอร่อยเลิศเลอนัก แต่ก็เกิดจากความตั้งใจจริงในการต้อนรับ นอกจากการเลี้ยงดูแล้วก็ให้ที่หลับที่นอน และสู่ขวัญให้ การสู่ขวัญให้เป็นการแสดงออกซึ่งความรัก เคารพและนับถือ

ตัวขวัญ ก็คือตัวคนเรา ในตัวของคนแต่ละคนนั้น พระพุทธเจ้าสอนว่า มีของสองสิ่งรวมกันอยู่ ของสองสิ่งนั้นคือ ร่างกายและจิตใจ ร่างกายมีแข้งขา หูตา เป็นต้น เรามองเห็นได้ ส่วนใจไม่มีรูปร่างมองไม่เห็น แต่มีสิงอยู่ในร่างกาย ถ้าร่างกายปราศจากใจเมื่อไรก็จะถูกเรียกว่า ผี ร่างกายและจิตใจนี้พระพุทธเจ้าสอนว่า "ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว" ใจเป็นผู้สั่ง ร่างกายเป็นผู้ทำ เมื่อใจสั่งในทางที่ดี ร่างกายก็ทำในสิ่งที่ดี การสู่ขวัญก็คือ ยกย่องจิตใจให้ทำความดีความชอบ ทั้งในด้านศีลธรรม จารีตประเพณี และศิลปวัฒนธรรม

pk2
พิธีทูนพระขวัญสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเสด็จเมืองอุบลราชธานี

พาขวัญ

pakwan yai ke 1
พานบายศรีสู่ขวัญ โดย ยายเกษา ธานี

พาขวัญ คือ ภาชนะที่จัดขึ้นเพื่อเรียกเอาขวัญ จะเล็กหรือใหญ่ก็ได้ สมัยโบราณใช้พาโตก ที่ทำด้วยไม้หรือทำด้วยทองก็ได้ เดี๋ยวนี้โตกหายากหรือไม่มีจึงหันมาใช้พานแทน จะใช้พาขวัญ 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้นหรือ 9 ชั้นก็แล้วแต่ความต้องการของเจ้าภาพ หรือความสำคัญของแขกผู้มีเกียรตินั้น มีประเพณีนิยมตั้งเครื่องบูชา คือ บายศรี หรือขันหมากเบ็งซ้ายขวา (ทั้งนี้แล้วแต่ท้องถิ่น)

ในพาขวัญจะใส่ข้าวสาร กล้วย ข้าวต้ม ขนม ธูป เทียน ผ้าผืน แพรวา น้ำอบน้ำหอม ดอกไม้ ใส่ตามยอดบายศรี ฝ้ายผูกแขน (เส้นด้ายนี้กะให้เพียงพอแก่คนที่มาร่วมในงาน ที่เหลือจะเอาไปผูกแขนให้ลูกหลานที่บ้านก็ได้) เทียนฮอบหัว 1 เล่ม เทียนค่าคีง 1 เล่ม (ความยาวช่วงตัว จากเอวถึงไหล่) ไข่ไก่ต้ม เท่าจำนวนผู้จะรับการสู่ขวัญ (ถ้า 3 คน ก็ 3 ฟอง) เทียนมงคลตั้งบนจอม หรือยอดพาขวัญ คายบูชาขวัญให้ใส่ในซวยไว้ที่ยอดบายศรี [ อ่านเพิ่มเติม : การทำพานบายศรี ]

ก่อนประกอบพิธีให้เอาคายบูชานี้มา ผูกแขวนหมอสูตร (ปัจจุบันเรียก พ่อพราหมณ์ ซึ่งไม่ถูกต้องนัก) ก่อน (เมื่อสูตรขวัญแล้ว บางคนก็ให้ค่าตอบแทนอีกต่างหาก บางคนก็ให้ค่าคาย บูชาแล้วก็แล้วไป สำคัญอยู่ที่ค่าคายบูชาจะต้องให้ ไม่ให้ไม่ได้ ส่วนค่าตอบแทนนั้น เป็นเรื่องน้ำใจ ของผู้เชิญพราหมณ์มาสูตรขวัญจะให้ก็ได้ ไม่ให้ก็ได้) การเข้าสู่พาขวัญผู้จะรับการสู่ ขวัญนั้นให้นั่ง ผินหน้าไปทางทิศที่ราศีประจำวันตั้งอยู่ จึงจะเป็นมงคล ราศีประจำวันตั้งอยู่นั้น ดังนี้

วันอาทิตย์ ราศีอยู่ทิศ ปัจจิม
วันจันทร์ ราศีอยู่ทิศ พายัพ
วันอังคาร ราศีอยู่ทิศ บูรพา
วันพุธ ราศีอยู่ทิศ อุดร
วันพฤหัสบดี ราศีอยู่ทิศ อิสาณ
วันศุกร์ ราศีอยู่ทิศ ทักษิณ
วันเสาร์ ราศีอยู่ทิศ อาคเนย์

เมื่อนั่งแล้วให้ประณมมือไปทางทิศหัวใจเป็นอยู่ ถ้าไม่รู้ให้พราหมณ์ในพิธีบอก หัวใจนั้น อยู่ประจำทิศต่าง ๆ ดังนี้

วันอาทิตย์ หัวใจเป็นอยู่ทิศ อุดร
วันจันทร์ หัวใจเป็นอยู่ทิศ หรดี
วันอังคาร หัวใจเป็นอยู่ทิศ อิสาณ
วันพุธ หัวใจเป็นอยู่ทิศ บูรพา
วันพฤหัสบดี หัวใจเป็นอยู่ทิศ อาคเนย์
วันศุกร์ หัวใจเป็นอยู่ทิศ พายัพ
วันเสาร์ หัวใจเป็นอยู่ทิศ ทักษิณ

จำง่ายๆ ว่า ทิตย์อุ จันทร์หอ คารอิ พุธบู พหัสอา ศุกร์พา เสาร์ทัก ประณมมือไปทิศทาง หัวใจเป็นอยู่ ทำให้เกิดมงคลแล

วันเวลาสู่ขวัญ

การสู่ขวัญไม่เลือกกาลเวลา จะทำเวลาไหนที่เห็นว่าเหมาะสมก็ได้ จะสู่ขวัญให้เด็กหรือผู้ใหญ่ ไพร่ผู้ดี มีหรือจนก็ได้ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็สู่ขวัญให้เพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ เวลาได้ยศได้ตำแหน่งก็สู่ขวัญ เพื่อให้เจริญรุ่งเรืองในยศฐาบรรดาศักดิ์ เวลาไปทำมาค้าขายได้เงินทองข้าวของมาก็สู่ขวัญให้ เพื่อให้มั่งมีศรีสุขต่อไป คนอีสานจึงเกี่ยวข้องอยู่กับการสู่ขวัญในทุกกรณี งานของคนอีสานที่ทำมากที่สุด สิ้นเปลืองน้อยที่สุด และได้กำไรมากที่สุด ก็มีการสู่ขวัญนี้อย่างหนึ่ง

การสู่ขวัญนี้ไม่นิยมทำเฉพาะในวันจมและวันเดือนดับ (ข้างแรม) นอกนั้นไม่ห้าม การสู่ขวัญมักทำในเวลากลางวัน แต่ตอนเย็นหรือกลางคืนก็เห็นมีการทำอยู่ จึงไม่สำคัญเรื่องกลางวันกลางคืน แต่ให้เริ่มเวลาเป็นมงคลเท่านั้นก็พอ เวลาเป็นมงคลนั้นให้ดูในหมวดว่าด้วย ฤกษ์งามยามดี แล้วให้ถือปฏิบัติตามนั้นอย่างเคร่งครัด

การสูตรขัวญ สมัยโบราณผู้ที่จะสูตรขวัญต้องมีหนังสือสูตรขวัญที่เป็นหนังสือใบลาน จารด้วยตัวธรรมหรือตัวอักษรไทยน้อยไปด้วย เวลาจะสูตรก็กางหนังสือออกเหมือนกับพระเทศน์ สมัยนี้หมอสูตรขวัญอาจจะไม่มีหนังสือใบลานแล้ว อาจเป็นการจดบันทึกลงในสมุดกระดาษธรรมดา หรือบางคนก็ว่าด้วยปากเปล่าอย่างชำนาญ

รายการคุณพระช่วย Workpoint 23 : พิธีบายศรีสู่ขวัญแบบอีสาน

บุพกิจที่ควรทำก่อนสู่ขวัญ

ก่อนที่จะทำการสู่ขวัญนั้น ให้ดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้

  1. เชิญผู้รับการสู่ขวัญ จุดธูปเทียนบูชา
  2. กราบพระ ขอโอกาสก่อนค่อยสูตร (ถ้าพระอยู่ที่นั้น)
  3. ขึงด้ายมงคลระหว่างพาขวัญกับผู้รับการสู่ขวัญและญาติ ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องใช้ ให้จับพาขวัญ และจับเสื้อหรืออะไรต่อ ๆ กันไป โดยให้เริ่มจับตอนสูตรขวัญ ตอนอื่นนอกนั้นให้นั่งประณม มือ การจับพาขวัญให้เอามือขวาจับ
  4. อัญเชิญเทวดาหรือชุมนุมเทวดา ด้วย คาถา เทวดาในศาสนาพุทธมี ๓ จำพวก คือ สมมติเทวดา ได้แก่ พระราชามหากษัตริย์และพระราชินี อุปัตติเทวดา ได้แก่เทวดาจำพวกรุกขเทวดา ภุมเทวดา บรรพตเทวดา อากาสัฏฐเทวดา วิสุทธิเทวดา ได้แก่พระอรหันต์ เทวดา 3 เหล่าดังกล่าวมา ท่านเป็นผู้มีบุญบารมีมาก ก่อนจะทำพิธีสู่ขวัญเราเชิญท่านเหล่านั้นมา เพื่อคุ้มครองป้องปกและขอให้ประสิทธิ์ประสาทความร่มเย็นเป็นสุข และความเป็นศิริมงคลแก่งาน
  5. เริ่มสูตรขวัญ บอกให้ลูกหลานทุกคนนั่งประณมมือไว้ก่อน จนถึงคำว่า ศรี ศรี... จึงให้จับ พาขวัญ
  6. วิดฟาย (พรมน้ำมนต์โดยพ่อพราหมณ์)

สารคดีโดย สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยขอนแก่น : พิธีบายศรีสู่ขวัญ

baisri sukwan 03

รายการสารคดี ເລາະລຸຍລາວ : ໝໍສົ່ງພອນ
เลาะลุยลาว ตอน หมอส่งพร (บายศรีสู่ขวัญแบบเวียงจันทน์)

รายละเอียดของการสู่ขวัญหรือสูตรขวนประเภทต่างๆ

3diamondสู่ขวัญหลุ่ม สู่ขวัญเทิง 3diamondสู่ขวัญน้อย
3diamondสู่ขวัญแม่มาน 3diamondสู่ขวัญแม่อยู่กรรม
3diamondสู่ขวัญแม่ลูกอ่อน 3diamondสู่ขวัญเด็กน้อย
3diamondสู่ขวัญบ่าวสาว 3diamondสู่ขวัญนาค
3diamondบาศรีพระพุทธรูป 3diamondบาศรีพระเณร
3diamondสู่ขวัญแต่งงาน 3diamondสู่ขวัญคนป่วย
3diamondสู่ขวัญงัวควาย 3diamondสู่ขวัญลาน
3diamondสู่ขวัญข้าว 3diamondสู่ขวัญเฮือน
3diamondสู่ขวัญเกวียน-รถ 3diamondสู่ขวัญเด็กน้อยชายและหญิง
3diamondสู่ขวัญนา 3diamondสู่ขวัญม้อน (ตัวไหม)
3diamondสู่ขวัญเล้า 3diamondการส่อนขวัญ
3diamondรวมคำผูกแขนต่างๆ (เพิ่มเติม) 3diamondการฟ้อนบายศร
3diamondวิดฟาย (การพรมน้ำมนต์โดยพ่อพราหมณ์)  

อ่านเพิ่มเติม : วิธีการทำพานบายศรี

รู้จักกับวิถีชีวิตอีสานเพิ่มเติม : อัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน

line

 backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)