คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ปี พ.ศ. 2510 ท่านอาจารย์สุเมโธ (ศิษย์ชาวต่างประเทศรูปแรก) ได้ยินกิติศัพท์ความเคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อ จึงกราบลาพระอุปัชฌาย์ของท่านที่จังหวัดหนองคาย เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อ ท่านได้เมตตารับไว้ แต่ตั้งเงื่อนไขว่า...
ท่านจะมาอยู่กับผมก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าผมจะไม่หาอะไรมาบำรุงท่านให้ได้ตามอยาก ท่านต้องทำตามระเบียบข้อวัตรเหมือนที่พระเณรไทยเขาทำ "
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ป่าพง ท่านอาจารย์สุเมโธได้รับการฝึกฝนเคี่ยวเข็ญด้วยอุบายต่างๆ จากหลวงพ่อ ท่านอาจารย์สุเมโธเล่าให้ฟังว่า
"บางครั้งหลวงพ่อจะดุหรือตักเตือนผมในที่สาธารณะ ทำให้ผมอายมาก บางครั้งท่านเล่าให้โยมทั้งศาลาฟังเรื่องที่ผมทำไม่สวย ไม่งาม เช่น การฉันข้าวด้วยมือเปล่าแต่เปิบไม่เป็น ขยุ้ม อาหารขึ้นมาเต็มกำมือแล้วโปะใส่ปาก ใส่จมูกเลอะเทอะไปทั้งหน้า พระเณรและโยมหัวเราะกัน ลั่นศาลา ผมนั้นทั้งโกรธทั้งอาย แต่ก็ทนได้ และพิจารณาว่า นี่เป็นความกรุณาของหลวงพ่อ ที่ช่วยเปิดเผยความเย่อหยิ่งของผม ซึ่งมันเป็นจุดบอดที่เรามักจะมองไม่เห็น และยังเป็นอุบายที่ท่านจะทดสอบอารมณ์เราว่า มีพื้นฐานที่จะรองรับธรรมะได้มากน้อยแค่ไหน..."
ทุกเช้าเวลาหลวงพ่อกลับจากบิณฑบาต จะมีพระเณรหลายองค์ไปรอล้างเท้าท่าน ระยะแรกๆ ที่ผมไปอยู่วัดป่าพง เห็นกิจวัตรนี้ทีไร ก็นึกค่อนขอดพระเณรเหล่านั้นอยู่ในใจ แต่พออยู่นานเข้าผมก็เป็นไปด้วย
เช้าวันหนึ่งก่อนที่ผมจะรู้ตัวว่าเป็นอะไร ผมก็ปราดเข้าไปอยู่หน้าพระเณรองค์อื่นเสียแล้ว ขณะก้มลงล้างเท่าถวายท่าน ผมได้ยินเสียงนุ่มๆ กลั้วเสียงหัวเราะของหลวงพ่อว่า "สุเมโธ ยอมแล้วเหรอ..." ..."
"เช้าวันหนึ่ง ผมกำลังกวาดใบไม้ที่ลานวัด อารมณ์ไม่ดี รู้สึกหงุดหงิดขัดเคือง และรู้สึกว่า ตั้งแต่มาอยู่ที่วัดป่าพงเจอแต่ทุกข์ พอดีหลวงพ่อเดินตรงมายังผม ท่านยิ้มให้พร้อมกับพูดว่า "วัดป่าพงทุกข์มาก!" แล้วท่านก็เดินกลับไป ผมสงสัยว่าทำไมหลวงพ่อพูดอย่างนี้ กลับไปกุฏิพิจารณาได้สติว่า ทุกข์ไม่ได้เกิดจากวัดป่าพง แต่เกิดจากจิตใจเราเอง..."
ต่อมาปี พ.ศ. 2513 ได้มีชาวอเมริกันอีกสองคนเข้ามาบวชที่วัดหนองป่าพง แต่อยู่ได้ราวหนึ่งปีทั้งคู่ก็ลาสิกขาไป คนหนึ่งเป็นนักเขียนได้จดบันทึกคำสอนของหลวงพ่อ แล้วนำไปพิมพ์เผยแพร่ ทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างประเทศยิ่งขึ้น ส่วนอีกคนเป็นนักจิตวิทยา ชอบวิพากษ์ครูบาอาจารย์ต่างๆ เว้นไว้แต่หลวงพ่อองค์เดียวที่เขาเคารพเทิดทูนมาก หลังลาสิกขาบท เมื่อได้พบชาวต่างประเทศที่กำลังแสวงหาครูอาจารย์ เขามักแนะนำให้มาพบกับหลวงพ่อ ทำให้พระฝรั่งในวัดหนองป่าพงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
The Mindful Way ภาพยนตร์สารคดี ที่ BBC เข้ามาถ่ายทำเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในเมืองไทย
ผู้คนที่มาวัดหนองป่าพง ต่างทึ่งที่เห็นพระฝรั่งปฏิบัติกรรมฐานเคร่งครัดอยู่เคียงข้างกับพระไทย จึงเกิดความสงสัยว่า หลวงพ่อสอนชาวต่างประเทศได้อย่างไร ในเมื่อท่านไม่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ และลูกศิษย์ฝรั่งเองก็ไม่คุ้นเคยภาษาไทย หลวงพ่อชี้แจงว่า
"ที่บ้านโยมมีสัตว์เลี้ยงหรือเปล่า อย่างหมา แมว หรือวัวควายอย่างนี้ เวลาฝึกหัดมัน โยม ต้องรู้ภาษาของมันด้วยไหม?..."
"ถึงแม้มีลูกศิษย์เมืองนอกมาอยู่ด้วยมากๆ อย่างนี้ ก็ไม่ได้เทศน์ให้เขาฟังมากนัก พาเขาทำเอาเลย ทำดีได้ดี ถ้าทำไม่ดีก็ได้ของไม่ดี พาเขาทำดู เมื่อเขาทำจริงๆ ก็เลยได้ดี เขาก็เลย เชื่อ..."
ครั้งหนึ่งเมื่อถูกถามปัญหาเช่นนี้ ท่านตอบแบบขำๆ ว่า "ไม่ยากหรอกดึงไปดึงมาเหมือนควาย เดี๋ยวมันก็เป็นเท่านั้นแหละ"
ศิษย์ชาวออสเตรเลี่ยนรูปหนึ่งเล่าถึงบทเรียนอันดุเดือดว่า
"วันหนึ่งผมมีเรื่องขัดใจกับพระรูปหนึ่ง รู้สึกโกรธ หงุดหงิดอยู่ทั้งวัน รุ่งเช้าไปบิณฑบาต ก็เดินคิดไปตลอดทาง ขากลับเดินเข้าวัดพอดีสวนทางกับหลวงพ่อ ท่านยิ้มและทักผมว่า "กู๊ด มอร์นิ่ง" ซึ่งทำให้อารมณ์ของผมเปลี่ยนทันที จากความหงุดหงิดกลายเป็นปลื้มทันที
...ถึงเวลาสวดมนต์ทำวัตรเย็น หลวงพ่อให้ผมเข้าไปอุปัฏฐาก ถวายการนวดที่กุฏิของท่าน ผมรู้สึกตื่นเต้นดีใจมากกับโอกาสที่หาได้ยากเช่นนั้น เพราะเราเป็นพระใหม่ แต่ขณะที่กำลังถวายการนวดอยู่อย่างตั้งใจ หลวงพ่อก็ถีบเปรี้ยงเข้าที่ยอดอกที่กำลังพองโตของผม จนล้มก้นกระแทกพื้น ท่านดุใหญ่เลยว่า "จิตไม่มั่นคง พอไม่ได้ดังใจก็หงุดหงิดขัดเคือง เมื่อได้ตามปรารถนาก็ฟูฟ่อง" ผมฟังท่านดุไปหลายๆ อย่างแล้ว ก็ไม่โกรธและไม่เสียใจ รู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของท่านที่ช่วยชี้กิเลสของเรา ไม่เช่นนั้น เราคงเป็นคนหลงอารมณ์ไปอีกนาน..."
นอกจากจริยาวัตรอันงดงามของหลวงพ่อแล้ว บรรยากาศของวัดหนองป่าพงและกิริยามารยาทของพระเณร ยังเป็นแรงดลใจให้ผู้มาพบเห็นเกิดความศรัทธาอย่างยิ่ง ดังท่านอาจารย์ ชาวต่างชาติรูปหนึ่งเล่าว่า
"พอผ่านเข้าประตูวัดหนองป่าพงเป็นครั้งแรก ก็เกิดความประหลาดใจ และความประทับใจก็เกิดขึ้น เมื่อเห็นบริเวณสถานที่ แม้จะเป็นป่ามีต้นไม้หนาแน่น แต่ทางเดินก็ดูสะอาดไม่มีอะไร เกะกะสายตา
...จากนั้นก็ไปเห็นกุฏิศาลาสะอาดเรียบร้อยที่สุด รู้สึกว่าวัดหนองป่าพงนี่ ระเบียบวินัยดีมากจริงๆ พอตกตอนเย็นเห็นพระเณรออกมาทำกิจท่านเรียบร้อยดี มีกิริยาสำรวมไม่ตื่นเต้นอะไรเลย ผมเคยไปวัดอื่น พอพระเณรเห็นพวกฝรั่งก็ปรี่เข้าหา เข้ามาพูดภาษาอังกฤษ ถามรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ทำเหมือนกับว่า พวกฝรั่งมีอะไรดีอย่างนั้น
...แต่ที่วัดหนองป่าพง บรรดาพระสงฆ์ ญาติโยม ผ้าขาว แม่ชี ไม่เห็นมีใครสนใจกับฝรั่งอย่างผม ท่านนั่งก็สำรวม เดินก็สำรวม มีกิจอะไรต้องทำก็ทำไป ถามก็เงยหน้ามาพูดด้วย ไม่มีอาการตื่นเต้นอะไรเลย มีความรู้สึกว่า ท่านเหล่านี้ต้องมีของดีแน่ เกิดศรัทธาขึ้นมาก..."
ปีพ.ศ. 2518 จำนวนศิษย์ชาวต่างประเทศในวัดหนองป่าพงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลวงพ่อจึงตั้ง วัดป่านานาชาติ ขึ้นที่ป่าช้าบ้านบุ่งหวาย ซึ่งอยู่ห่างจากวัดหนองป่าพงราว 7-8 กิโลเมตร เพื่อปูพื้นฐานให้พระชาวต่างชาติได้รู้จักปกครองกันเอง โดยมอบให้ท่านอาจารย์สุเมโธดูแล
ประธานสงฆ์วัดป่านานาชาติในสมัยแรก ประสบปัญหาในการปกครองหมู่คณะมาก เพราะคนฝรั่งมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และกล้าแสดงออก จึงสร้างปัญหาให้ประธานสงฆ์ต้องเป็นทุกข์เสมอ
เมื่อเรื่องถึงหลวงพ่อ ท่านจะแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายละวางทิฐิมานะ ให้ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น สำหรับประธานสงฆ์ หลวงพ่อจะแนะนำวิธีปกครองให้ว่า "ถ้าลูกศิษย์ของเรามีเรื่องขัดแย้งกัน ก็ให้พิจารณาให้ดี อย่าตัดสินว่าผู้มาใหม่ไม่ดี อย่าไปว่าคนนั้นดี คนนี้ไม่ดี ต้องใช้เวลาดูไปนานๆ ก่อน ดุอุปนิสัยของเขาไปนานๆ อย่าไปคิดว่า ดีหรือไม่ดีเลยทันที เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่แน่นอน ต้องใช้เวลาดูไปก่อน..."
ศิษย์ชาวต่างประเทศ ต่างเคารพปัญญาบารมีของหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง ท่านเต็มไปด้วยเมตตาธรรม และอารมณขันเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิจ มีความสามารถพิเศษในการสื่อสาร และแก้ปัญหาแก่ศิษย์ได้อย่างดีเยี่ยม ชาวต่างประเทศจึงเกิดศรัทธาเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมที่ วัดหนองป่าพงและวัดป่านานาชาติ เป็นจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับ
นับวันร่มเงาวัดหนองป่าพงยิ่งแผ่กว้างออกไป สาธุชนทั้งใกล้และไกลต่างหลั่งไหลมา ตามกิติศัพท์แห่งศีลสัตย์ของพระป่า เมื่อมาพบเห็นการประพฤติปฏิบัติยิ่งเกิดศรัทธา ชาวบ้านบางกลุ่ม จึงขอนิมนต์หลวงพ่อไปพิจารณาตั้งวัดป่าในถิ่นตนบ้าง
ต่อมา วัดสาขา จึงกำเนิดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอื่นๆ หลายแห่ง หลวงพ่อได้จัดส่ง หลวงพ่อเที่ยง โชติธมฺโม หลวงพ่อจันทร์ อินฺทวีโร และศิษย์อาวุโสออกไปเป็นประธานสงฆ์ ในสาขาต่างๆ ตามลำดับ
สำหรับที่วัดหนองป่าพง พระเณรมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี พ.ศ. 2500 หลวงพ่อจึงกำหนดกติกาสงฆ์ขึ้น เพื่อใช้เป็นรากฐานของข้อวัตรปฏิบัติในวัดหนองป่าพงและสาขา ซึ่งถือว่ากติกานี้ คือตัวแทนส่วนหนึ่งของหลวงพ่อในปัจจุบัน...
กติกาสงฆ์ จะช่วยควบคุมความประพฤติของพระเณรให้อยู่ในขอบเขตของพระธรรมวินัย เพื่อง่ายต่อการเข้าสู่ความบริสุทธิในสมณเพศ เช่น การห้ามรับเงินทองและห้ามผู้อื่นเก็บไว้เพื่อตน ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน ไม่ขอของจากคนมิใช่ญาติ มิใช่ปวารณา หากได้รับวัตถุทานให้เก็บไว้เป็นของกลาง และห้ามบอกและเรียนดิรัจฉานวิชา บอกเลข(หวย) ทำน้ำมนต์ หมอยา หมอดู ทำวัตถุมงคล... ฯลฯ เป็นต้น
ในยุคนั้น หลวงพ่อยังคงนำศิษย์ประพฤติปฏิบัติอย่างแข็งขันสม่ำเสมอ... พอห้าโมงเย็น ประตูวัดจะถูกปิดทันที ไม่ให้ใครเข้าออก ป่าทั้งป่าเงียบสงัด แม้จะมีพระเณรร่วมร้อยรูป แต่ไม่มี เสียงพูดคุย
หกโมงเย็น ทุกคนต้องนั่งสมาธิพร้อมกันที่ศาลา จะลุกขึ้นไปไหนไม่ได้ จนกว่าจะถึงเวลาเลิก บางครั้งหลวงพ่อจะพาสวนทางกิเลส เช่น ฤดูร้อน ให้ปิดประตูหน้าต่างศาลาแล้วนั่งสมาธิ อากาศจะร้อนอบอ้าว จนเหงื่อไหลโทรมกายก็ไม่อนุญาตให้ลุกจากที่ แต่หากเป็นฤดูหนาวให้เปิดประตูหน้าต่างให้โล่ง นั่งสมาธิอยู่ในความหนาวเย็นอย่างนั้น
ท่านพาทำเช่นนี้ เพราะต้องการให้ศิษย์มีความอดทน ไม่อ้างหนาว ร้อน หรืออ้างเวลา แล้วหลีกเลี่ยงการภาวนา รวมทั้งเป็นการขัดขืนกิเลส ไม่ให้ทำตามความอยากของตนเอง
ถึงฤดูแล้ง ใบไม้และพื้นดินแห้งเหมาะแก่การอยู่โคนไม้ บางปี หลวงพ่อจะพาพระเณรออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ แต่บางครั้งก็ธุดงค์กันในวัด ให้กางกลด นั่งสมาธิ เดินจงกรมอยู่ตามร่มไม้ ไม่ต้องขึ้นกุฏิ...
หลวงพ่อเข้มงวดกวดขันต่อตนเองและศิษย์ตลอดมา จนกระทั่งในช่วงหลังๆ ท่านมีอายุมากขึ้น และต้องต้อนรับญาติโยมเกือบตลอดทั้งวัน พระเณรจึงร่วมประชุมตกลงกัน ยกข้อวัตรให้ หลวงพ่อ คือขอร้องให้ท่านไม่ต้องทำกิจวัตรบางอย่าง เช่น ตักน้ำ กวาดลานวัดกับลูกศิษย์ลูกหา แต่หลวงพ่อก็ไม่วางธุระเสียทั้งหมด ท่านยังคงดูแลศิษย์อย่างใกล้ชิดเสมอมา
ต่อมา หลวงพ่อได้ฝึกหัดให้ศิษย์รู้จักการปกครองกันเองในระบบสงฆ์ โดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบของท่านแก่ศิษย์อาวุโส เป็นผู้นำหมู่คณะ ประพฤติข้อวัตรต่างๆ โดยท่านคอยควบคุม ดูแลอีกชั้นหนึ่ง
การประพฤติปฏิบัติของพระกรรมฐานในป่าพงในยุคนั้น ดำเนินไปอย่างสงบและมั่นคง แม้หลวงพ่อจะไม่ได้ร่วมปฏิบัติในกิจวัตรทุกอย่างเช่นเดิม แต่สานุศิษย์อาวุโสซึ่งถอดแบบมาจากหลวงพ่อ ก็สามารถนำหมู่คณะปฏิบัติได้อย่างเรียบร้อย
การที่หลวงพ่อมาพำนักในป่าพงนั้น สร้างความยินดีให้แก่หมู่ญาติพี่น้องและชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธามาก แต่ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสต่อต้านจากชาวบ้านบางส่วนเหมือนกัน จึงมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นเสมอ
วันหนึ่ง ชาวบ้านบางคนไปพูดใส่ร้ายหลวงพ่อว่า "เป็นพระหวงน้ำ" ไม่ยอมให้ชาวบ้าน เอาถังลงตักน้ำในบ่อ พอดีเรื่องนี้รู้ไปถึงพ่อหนู ผู้นิยมประคารมกับพระ และเคยมาฟังธรรมจาก หลวงพ่อหลายครั้ง แต่ก็ยังคิดและพูดโต้แย้งอยู่เสมอ
วันนั้น เมื่อมีคนมาพูดเรื่องหลวงพ่อหวงน้ำให้ฟัง พ่อหนูโกรธมากจึงกล่าวกับเพื่อน
พระอะไร? แค่น้ำในบ่อก็หวง ถึงขนาดไม่ยอมให้ตัก ทีข้าวชาวบ้านล่ะ ทำไมมาบิณฑบาตเอาของเขา ไปทุกวัน... ยังงี้ไม่ได้ๆ ทำไม่ดีอย่างนี้ จะต้องไปถามดู ถ้าเป็นความจริง จะนิมนต์ให้หนีไปอยู่ที่อื่น "
ว่าแล้วก็ผลุนผลัน เดินตรงไปวัดหนองป่าพง พอมาถึงวัดก็เข้าไปหาหลวงพ่อ แล้วคาดคั้นเอาความจริง หลวงพ่อจึงอธิบายให้ฟัง
ที่ไม่ให้ตักน้ำในบ่อ ก็เพราะว่า ชาวบ้านชอบเอาถังที่ขังกบ ขังปลามาตักน้ำ ทำให้น้ำสกปรก ถ้าใช้ถังสะอาดๆ ก็จะไม่ว่าอะไร จึงต้องเขียนป้ายติดไว้ว่า บ่อน้ำนี้สำหรับพระ ห้ามโยมใช้ แต่อาตมาก็ได้ตักน้ำใส่โอ่งไว้ให้ชาวบ้านได้ดื่มได้ใช้แยกไว้ต่างหากด้วย ไม่ใช่จะห้ามกัน อย่างเดียว "
พ่อหนูรู้ความจริงเช่นนั้น ก็คลายความไม่พอใจลงบ้าง แต่ก็ยังไม่เคารพศรัทธาใน ตัวหลวงพ่อนัก
หลังจากสนทนากันไปหลายเรื่อง หลวงพ่อได้บอกพ่อหนูว่า "มีอะไรก็ให้พูดอย่างเปิดอก ไม่ต้องเกรงใจ จะได้รู้เรื่องกันสักที"
"ถ้าผมพูดอย่างเปิดอก เกรงว่าหลวงพ่อจะโกรธผม เพราะคำพูดของผมมันไม่เหมือน คนอื่นเขา" พ่อหนูออกตัว
เมื่อหลวงพ่อเปิดทางให้ พ่อหนูซึ่งรอโอกาสนี้มานานแล้ว จึงนึกในใจว่า... เมื่อท่านรับรองเช่นนี้ หากเราพูดแรงๆ ไป ถ้าท่านโกรธเราจะต่อว่าให้สาสมเลยว่า พระกรรมฐานอะไร ช่างไม่มีความอดทนเสียเลย แล้วพ่อหนูก็เริ่มระบายความเห็นออกมา...
"หลวงพ่อเคยพูดว่า ผมเป็นคนหลงผิด แต่ผมว่า หลวงพ่อนั่นแหละหลงผิดมากกว่า เพราะศาสนาทุกศาสนาไม่มีจริง เป็นเรื่องที่คนแต่งขึ้น สมมุติขึ้น เพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อตาม และของทุกสิ่ง ทุกอย่างในโลกนี้ก็มีแต่ของสมมุติทั้งนั้น เช่น ควาย นี่เราก็สมมุติชื่อให้มัน ถ้าเราจะเรียกมัน ว่าหมูก็ได้ ควายก็ไม่ว่าอะไร... คน สัตว์ สิ่งของทุกอย่างก็สมมุติเอาทั้งนั้น แม้แต่ศาสนาก็เป็นเรื่อง สมมุติเหมือนกัน ทำไมหลวงพ่อจะต้องกลัวบาปกรรม จนต้องหนีเข้าป่าเข้าดง ไปทรมานร่างกาย ให้ลำบากเปล่าๆ
ผมไม่เชื่อเลยว่า บาปบุญมีจริงๆ เป็นเรื่องหลอกเด็กมากกว่า กลับไปอยู่วัดตามบ้านตาม เมืองเหมือนพระอื่นๆ เสียเถอะ หรือทางที่ดีก็ควรสึกออกมาซะ จะได้รับความสุขและรู้รสกาม ดีกว่าอยู่อย่างทรมานตัวเองอย่างนี้ ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร"
พ่อหนูสรุปแนวความคิดของตน แล้วถามหลวงพ่อ "ผมคิดของผมอย่างนี้... หลวงพ่อล่ะ มีความเห็นอย่างไร?"
หลังจากปล่อยให้พ่อหนูพูดจนสมใจแล้ว หลวงพ่อซึ่งนั่งนิ่งรับฟังอยู่นาน จึงกล่าวขึ้น
คนที่คิดอย่างโยมนี้ พระพุทธเจ้าท่านทิ้ง โปรดไม่ได้หรอก เหมือนบัวใต้ตม... ถ้าโยมหนูไม่เชื่อว่า บาปมีจริง ทำไมไม่ทดลองไปลักไปปล้น หรือไปฆ่าเขาดูเล่า จะได้รู้ว่าเป็นอย่างไร "
"อ้าว..! จะให้ผมไปฆ่าเขาได้อย่างไร เดี๋ยวญาติพี่น้องเขาก็ตามล่าผม หรือไม่ก็ติดคุกนะซิ"
"นั่นแหละผลของบาปรู้ไหม"
พ่อหนูชักลังเล เมื่อเจอเหตุผลอย่างนี้ แต่ยังกล่าวแบบไว้เชิงว่า... "บางทีบาปอาจจะมีจริงก็ได้ แต่บุญล่ะ... หลวงพ่อมาอยู่ป่าทรมานตัวเองอย่างนี้ ไม่เห็นว่าจะเป็นบุญตรงไหนเลย?"
"โยมหนูจะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่อาตมาจะเปรียบเทียบให้ฟัง ที่อาตมาประพฤติตามพระธรรมวินัยอยู่เช่นนี้ ถ้าบาปไม่มี บุญไม่มี.. ก็เสมอทุน แต่ถ้าบาปมี บุญมี อาตมาจะได้กำไร.. คนหนึ่งเสมอตัวหรืออาจได้กำไร กับคนที่มีแต่ทางขาดทุน ใครจะดีกว่ากัน"
พ่อหนูเริ่มคล้อยตามบ้าง จึงเผยความนึกคิดแท้จริงของตนเองออกมา... "ไอ้เรื่องบาปเรื่อง บุญนี้ ผมคิดจนปวดศีรษะมานานแล้ว จะเชื่อก็ยังไม่แน่ใจ ไปถามพระรูปไหน ก็พูดให้ผมเข้าใจไม่ได้ แต่ที่หลวงพ่ออ้างเหตุผลมานี่ ผมก็พอจะรับได้บ้าง แต่ถ้าบาปบุญไม่มีจริง หลวงพ่อจะให้ผม ทำอย่างไร?"
"ทำยังไงก็ได้" หลวงพ่อตอบ
"ถ้าบาปไม่มีจริง ผมตายไป ผมจะมาไล่เตะท่านนะ ?"
"ได้! แต่ข้อสำคัญ โยมหนูต้องละบาป แล้วมาบำเพ็ญบุญจริงๆ จึงจะรู้ได้ว่าบาปบุญมีจริง หรือไม่?"
"ถ้าอย่างนั้น หลวงพ่อเทศน์โปรดผมด้วย... ผมจะได้รู้จักวิธีทำบุญ"
"คนเห็นผิดอย่างโยมนี้ โปรดไม่ได้หรอก เสียเวลาเปล่าๆ" เมื่อถูกหลวงพ่อเหน็บเอาเช่นนี้ พ่อหนูผู้มากด้วยปฏิภาณและโวหาร จึงย้อนกลับไปว่า
"คนในโลกนี้ ใครมีปัญญาและวิชาความรู้เลิศกว่าเขาทั้งหมด... พระพุทธเจ้าใช่ไหม... ถ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศจริง... หลวงพ่อก็เป็นศิษย์พระพุทธเจ้า... ส่วนผมเป็นศิษย์พระยามาร เมื่อ เทศน์โปรดผมไม่ได้ ก็โง่กว่าพระยามารซี่"
"ถ้าโยมอยากต้องการเช่นนี้จริงๆ ก็ขอให้ตั้งใจฟัง จะให้ธรรมะไปคิดพิจารณา แล้วทดลอง ปฏิบัติตามดู จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ให้ทำดูก่อน เรื่องศาสนาที่พระสงฆ์เคยสอนมา โยมไม่เชื่อ ใช่ไหม?"
"ใช่... ผมไม่อยากเชื่อใครเลย นอกจากตัวเอง"
"ถ้าไม่เชื่อคนอื่นแล้ว ก็ไม่ต้องเชื่อตนเองด้วย" หลวงพ่อยกข้อเปรียบเทียบ "โยมเป็นช่างไม้ ใช่ไหม..? เคยตัดไม้ผิดหรือเปล่า?"
"เคยครับ"
"เรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน โยมเคยคิดถูก ทำถูก หรือว่าคิดผิด มาใช่ไหม?"
"ใช่... ทำถูกก็มี ทำผิดก็เคย" พ่อหนูยอมรับ
"ถ้าอย่างนั้น ตัวเราเองก็ยังเชื่อไม่ได้ เพราะมันพาทำผิด พูดผิด คิดผิดได้เหมือนกัน..."
พ่อหนูรู้สึกพอใจต่อเหตุผลของหลวงพ่อบ้าง จึงขอคำแนะนำว่า "ผมควรจะประพฤติตน อย่างไรดี?"
"อย่าเป็นคนคิดสงสัยมาก และอย่าพูดมากด้วย" หลวงพ่อตอบสั้น ๆ
หลังจากนั้น พ่อหนูจะไปอยู่ที่ไหน คำพูดของหลวงพ่อติดหูติดใจ ตามไปทุกหนทุกแห่ง ทั้งที่พยายามไม่ให้ใจคิด แต่ก็ยังคิด เมื่อคิดๆ ไป ก็ยิ่งเห็นจริงตามคำสอนของหลวงพ่อ และของพระพุทธเจ้ามากขึ้นทุกที พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้อย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีทางคัดค้านได้เลย
ต่อมา พ่อหนูจึงคลายพยศ ลดมานะ ละทิฐิ ทิ้งนิสัยหัวรั้นหัวแข็ง เข้ามาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ และของพระพุทธเจ้ามากขึ้น แล้วรักษาศีลห้าอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติภาวนา จนกลายเป็นพ่อหนูคนใหม่ ที่มีอัธยาศัยดี ช่วยกิจการงานวัดอย่างแข็งขัน ด้วยความจริงใจตลอดมา
นอกจากปัญหาของพ่อหนูแล้ว ก็มีเหตุการณ์ไม่ดีหลายอย่าง ที่หลวงพ่อต้องใช้ความอดทนและปัญญา รวมทั้งใช้สันติวิธีเข้าแก้ปัญหา
ชาวบ้านบางกลุ่มโลภจัด พยายามจะบุกรุกเข้าครอบครองป่าพงเป็นที่ทำกิน แต่เมื่อมีพระ พำนักอยู่ ก็ทำอะไรได้ไม่สะดวก จึงวางแผนขับไล่ โดยจะใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือ ชาวบ้านบางคนรู้ข่าว จึงมากราบเรียนหลวงพ่อ
หลวงพ่อ อย่าให้พระไปบิณฑบาตบ้านนั้นองค์เดียวนะ มีคนเขาจะให้สาวๆ มาดักกอด แล้วให้ร้องว่า ถูกพระข่มขืน "
หลวงพ่อบอกกับโยมคนนั้นอย่างอารมณ์ดีว่า "เออ... ให้ผู้หญิงกอดสักทีก็ดีเหมือนกัน" ท่านได้ไปบิณฑบาตที่บ้านนั้นแทนพระรูปที่ไปประจำ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เรื่องราวค่อยๆ เงียบหายไป
บางวันมีคนขี้เกียจมักง่าย เมื่อเห็นผักผลไม้ในวัดเกิดอยากได้ แต่ไม่อยากปลูกเอง ตอนแรกๆ ทำทีเข้ามาขอ แต่หลายครั้งชักอายจึงใช้วิธีแอบมาขโมย หลวงพ่อใช้อุบายจับตัวขโมยมาได้ แล้วอบรมสั่งสอน
"คราวหลังอย่าทำเช่นนี้อีกนะ มะละกอนี้ เอาไปกินก็ได้แค่วันสองวันแค่นั้นแหละ ถ้าเราขยันปลูกเอาเองจะได้กินตลอดไป ต้องพยายามทำมาหากินด้วยความสุจริต จะได้ไม่เดือดร้อน และจะได้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกหลานด้วย"
ต่อมา ชาวบ้านแอบเอาสุนัขและแมวมาปล่อยในวัด พอรู้ตัวเจ้าของ หลวงพ่อเชิญเขามาที่วัด แล้วชี้แจงเหตุผลให้ฟัง...
"ที่วัดของเรามีกระรอก กระแต มีไก่ป่า และสัตว์หลายอย่าง อาตมาอยากสงวนเอาไว้ เพื่อลูกหลานเขาจะได้ดูได้เห็นบ้าง ถ้าไม่ทำอย่างนั้น มันก็จะสูญพันธุ์ไป แล้วจะเหลืออะไรไว้ให้พวกเขา พวกหมาพวกแมวที่โยมเอามาทิ้งที่นี่ หากปล่อยไว้มันก็จะกัดกินสัตว์ป่าตายหมด ขอให้พวกเราเอามันกลับคืนไปซะ แล้วมาช่วยกันรักษาสัตว์ป่าเอาไว้"
ส่วนทางด้านฝ่ายพระสงฆ์สำนักอื่น ในสมัยนั้นยังมีความเข้าใจผิดต่อพระที่ดงป่าพงด้วย เหมือนกัน ถึงขนาดบอกให้ชาวบ้าน เอาขี้วัวแห้งกับเถาวัลย์ใส่บาตรให้หลวงพ่อ แต่ท่านไม่โต้ตอบ โดยยึดหลักว่า "เขาเกลียด ให้ทำดีตอบแทนเขา" พอถึงฤดูเข้าพรรษา หลวงพ่อก็พาพระเณรไปกราบคารวะ หรือหากมีสิ่งของเครื่องใช้ ก็นำไปถวายแก่พระเหล่านั้นด้วย ต่อมาเหตุร้ายต่างๆ นั้น ได้คลี่ลายไปในทางที่ดี....
กิตติศัพท์ของพระธุดงค์กรรมฐานในดงป่าพง เริ่มถูกกล่าวขวัญในหมู่ชนทั่วไป ทำให้มีผู้มาฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อมากขึ้นตามลำดับ
หลวงพ่อได้ถือหลักการ "สอนคน ด้วยการทำให้ดู... ทำเหมือนพูด... พูดเหมือนทำ" ท่านจะเป็นผู้นำในการประพฤติข้อวัตรต่างๆ เพื่อให้ศิษย์ได้เห็นเป็นแบบอย่าง
ข้อวัตรปฏิบัติของวัดหนองป่าพงยุคนั้น เริ่มต้นวันใหม่เวลาสามนาฬิกา ระฆังจะถูกตีดังก้องกังวาน ปลุกพระและสามเณรให้รีบลุก แล้วนำบริขารมาไว้ที่ศาลา พร้อมกับไปรับเอาบาตร และกาน้ำของครูบาอาจารย์มาจัดเตรียมไว้ให้เรียบร้อย
เมื่อทุกคนเข้าสู่ศาลา มักพบหลวงพ่อนั่งสมาธิอยู่ก่อนเสมอ ช่วงเช้ามืดพระเณรส่วนใหญ่จะถูกความง่วงครอบงำ แต่หลวงพ่อจะนั่งตัวตรงสงบนิ่ง ไม่เคยโยกเยกให้ศิษย์ได้เห็น เมื่อรู้ว่า ใครนั่งสัปหงกท่านจะเตือนด้วยเสียงอันดังๆ แล้วบอกอุบายแก้ไขให้
กิจวัตรต่างๆ เช่น ตีสามทำวัตรเช้า บ่ายสามโมงทำความสะอาดสถานที่ หกโมงเย็นทำ วัตรเย็น ฟังหลวงพ่ออ่านหนังสือบุพสิกขาฯ อบรมเรื่องพระวินัย และการประพฤติปฏิบัติ วันพระ งดนอน นั่งสมาธิเดินจงกรมตลอดทั้งคืน กิจวัตรเหล่านี้ หากใครขาดถึงสามครั้ง จะถูกลงโทษด้วย วิธีต่างๆ เช่น ให้กราบสงฆ์ในที่ประชุมทุกรูป เพื่อสารภาพผิด...
หลวงพ่อเข้มงวดต่อตนเองและศิษย์มาก ท่านนำพระเณรปฏิบัติอย่างจริงจัง ให้หลีกเลี่ยง การคลุกคลี มีธุระจำเป็นจริงๆ จึงพูดกัน ขณะพูดต้องมีสติใช้เสียงเบาที่สุด เมื่อเข้าใจกันแล้ว หยุดเงียบ การทำกิจวัตรร่วมกัน จึงมีแต่เสียงที่เกิดจากการทำงานเท่านั้น
การทำกิจวัตรทุกอย่างพอระฆังดังขึ้น หลวงพ่อไปถึงที่ทำกิจก่อนเสมอ ท่านทำงานทุกอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับลูกศิษย์ เริ่มจากตักน้ำในบ่อขึ้นมาใช้ กวาดลานวัด ทำความสะอาดศาลาโรงฉัน เสร็จจากกิจส่วนรวม ก็กลับไปเดินจงกรมที่กุฏิ ท่านเดินทั้งกลางวันกลางคืน จนทางจงกรมลึกลงไปคล้ายร่องน้ำ
เมื่อถึงวันพระ หลวงพ่อจะนั่งสมาธิตลอดคืน หากมีใครแอบหลบไปนอน รุ่งขึ้นต้องถูกอบรมไม่ยอมให้กลับกุฏิ ถึงเวลาทำกิจอย่างอื่นให้ทำต่อไปโดยไม่ต้องพักผ่อน หากวันไหนมีเสียง ตักน้ำหรือสับแก่นขนุนต้มน้ำซักผ้าผิดเวลา ตกเย็นมาหลวงพ่อจะเทศน์อบรมจนดึกดื่น บางทีถึงตีสาม ฟังเทศน์จบทำวัตรเช้าต่อเลย
พระเณรจึงต้องคอยสกิดเตือนกันตลอดเวลา เพราะต่างขยาดเทศน์กัณฑ์ใหญ่ ใครจะทำอะไร มีกิจจำเป็นขนาดไหน ก่อนลงมือทำต้องกราบเรียนหลวงพ่อก่อน จะทำไปโดยพละการไม่ได้ หากรู้ว่าใครทำอะไรผิด ท่านไม่ยอมปล่อยให้ข้ามวันข้ามคืน ต้องเรียกตัวมาตักเตือน หรือไม่ก็อบรมเป็นส่วนรวม ดังนั้น ทุกคนจึงต้องสำรวมระวังเพราะกลัวว่า จะต้องทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วย
แม้แต่การเดินเข้ามาในที่ประชุม การวางย่ามวางบริขารต้องทำให้เบาที่สุด ใครเผลอสติทำสียงดังเป็นถูกดุ เพราะเสียงจะไปรบกวนคนอื่น เสียมารยาทนักปฏิบัติ
หลวงพ่อจย้ำเตือนพระเณรอยู่เสมอว่า
อย่าให้ผู้อื่นต้องคอยมาบังคับในการทำความดี "
การประพฤติปฏิบัติในสมัยนั้น ดำเนินไปอย่างราบรื่น และอยู่ร่วมกันด้วยความเห็นอก เห็นใจ เมื่อมีสิ่งใดจะมากหรือน้อยก็แบ่งปันกันอย่างทั่วถึง หลวงพ่อให้คติเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
"ภิกษุสามเณรเรา ถ้าใครมีความเห็นแก่ตัว คิดจะเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นละก้อ ผมว่า... เรา นี่มันโง่ มันเลวกว่าชาวบ้านเขานัก พวกโยมเขาหาเงินทองมาด้วยความยากลำบาก ด้วยหยาดเหงื่อ แรงงานของเขาเอง แต่เขายังเสียสละทรัพย์ซื้ออาหาร และเครื่องใช้ไม้สอยมาถวายพระได้ พระเรานี่ได้มาโดยไม่ต้องออกแรงอะไร เมื่อได้มาแล้วไม่อยากจะแบ่งปันพื่อน เก็บไว้ใช้ไว้กินคนเดียว ผมว่ามันน่าอายโยมเขานะ"
ดังนั้น สิ่งของเครื่องใช้ทุกอย่าง เมื่อได้มาจะถูกรวมไว้ในเรือนคลังสงฆ์ โดยหลวงพ่อเป็นผู้แจกเอง และของทุกชิ้นที่รับไป จะต้องถูกใช้จนหมดสภาพจริงๆ จึงจะมาขอใหม่ได้
ส่วนเรื่องอาหาร เมื่อบิณฑบาตกลับมาให้นำอาหารทุกอย่างมารวมกัน แล้วปั้นข้าวเนียวเป็นก้อนขนาดพออิ่มเก็บไว้ในบาตร ที่เหลือนอกนั้นส่งไปโรงครัว เพื่อให้แม่ชีพิจารณาก่อนว่า ควรแก่พระหรือไม่ แล้วจึงจัดใส่สำรับส่งคืนถวายพระ
การแจกอาหาร เริ่มแจกจากพระเถระลงไปตามลำดับ จนถึงสามเณรและปะขาว เหลือนอกนั้นจึงเป็นของแม่ชี ดังนั้นอาหารบางอย่างจึงแบ่งได้ไม่ทั่วถึง มีพระพรรษาน้อยรูปหนึ่ง เวลาฉันจะนั่งอยู่ท้ายแถว ไม่ค่อยได้อาหารมากนัก วันหนึ่งกลับจากบิณฑบาต จึงใช้ข้าวเหนียวหุ้มไข่ต้มจนมิดแล้วซ่อนไว้ในบาตร
วันนั้น ก่อนแจกอาหารพระเณรทุกรูปแปลกใจ ที่เห็นหลวงพ่อลงจากอาสนะ แล้วเดินตรวจบาตรทุกใบไปเรื่อยๆ พอมาถึงบาตรของพระรูปนั้น ท่านหยุดเพราะเห็นก้อนข้าวปริออก มีไข่ขาวๆ ซ่อนอยู่ข้างใน หลวงพ่อจึงถามขึ้น...
ก้อนข้าว ใครฟักไข่ ! ?ื "
พระเณรในโรงฉันหันไปมองยังจุดเดียวกัน พระรูปนั้นนั่งตัวสั่น หน้าซีดด้วยความกลัว และละอาย นับแต่นั้นมาก็เข็ดขยาดหลาบจำไม่ทำอีก
หลวงพ่อมีอุบายแยบคายสอนศิษย์ บางคนพูดเรียบๆ ให้ฟังธรรมะเข้าไม่ถึงใจ ต้องทำให้กลัวหรือละอายเสียก่อนจึงได้ผล บางทีท่านก็เร่งเร้าให้กล้า คือกล้าแกร่งในการทำดี เพียรประพฤติ ปฏิบัติ เพื่อถอดถอนกิเลสออกจากใจ บางครั้งสอนให้กลัว... คือกลัวการกระทำความชั่วที่ผิดศีล ผิดธรรม และที่เน้นมาก ซึ่งท่านกล่าวอยู่เสมอคือ "การปล่อยวาง"
พระรูปหนึ่ง ซาบซึ้งคำสอนเรื่องปล่อยวางมาก จึงพยายามวางเฉยต่อทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ลมพัดหลังคากุฏิตกไปข้างหนึ่ง ท่านก็เฉย ฝนรั่วแดดส่องท่านก็ขยับหนี ไปทางนั้นที ทางนี้ที ท่านคิดในใจว่า หลังคารั่วเป็นเรื่องภายนอก จะรั่วก็รั่วไป... ปล่อยวาง ไม่ใส่ใจ เรื่องของเราคือการทำจิตใจ ให้สงบและว่างเท่านั้น
ตามปกติ หลวงพ่อจะเดินตรวจกุฏิทุกหลังเป็นประจำ เพื่อสอดส่องการกระทำของศิษย์ พระเณรมักทิ้งร่องรอยความประพฤติไว้ที่กุฏิเสมอ เช่น ดูได้จากทางจงกรม ความสะอาดของกุฏิ ทางเข้าออก การตากผ้า การรักษาบริขาร การปิดเปิดประตูหน้าต่าง และจำนวนสิ่งของเครื่องใช้ ฯลฯ
บ่ายวันหนึ่ง หลวงพ่อเดินไปพบหลังคากุฏิตกลงมา จึงถามว่า "เอ... นี่กุฏิใคร?"
"กุฏิผมเองครับ" พระรูปที่กำลังฝึกปล่อยวาง กราบเรียน
"หลังคาตกลงมากองอยู่นี่ ทำไมไม่ซ่อมแซมมันล่ะ?"
"ก็หลวงพ่อสอนให้ปล่อยวางไม่ใช่หรือครับ ผมก็เลยไม่สนใจมัน" พระรูปนั้นตอบ แล้วนึกสงสัย จึงเรียนถามท่านอีกว่า "ผมไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางถึงขนาดนี้ ยังไม่ถูกหรือครับ?"
การปล่อยวางไม่ใช่เป็นอย่างนี้ ที่ท่านทำอย่างนี้ เรียกว่าปล่อยทิ้ง เป็นลักษณะของคนไม่รู้เรื่อง ฝนตกหลังคารั่ว ต้องขยับไปทางโน้น แดดออกขยับมาทางนี้ ทำไมต้องขยับหนีล่ะ ทำไมไม่ปล่อย ไม่วางอยู่ตรงนั้น "
ในการสอนศิษย์นั้น หลวงพ่อทุ่มเทอย่างจริงใจ ด้วยหวังให้ศิษย์เข้าถึงความเป็นสมณะ ที่แท้จริง ท่าจึงพยายามฝึกฝนพระเณรในหลายรูปแบบทั้งดุด่า ปลอบประโลม และบางครั้งก็ เคี่ยวเข็นแบบเอาเป็นเอาตาย ดังคำพูดของท่านที่ว่า "ไม่ดีก็ให้มันตาย ไม่ตายก็ให้มันดี" แต่ ท่านไม่เพียงแต่สอนด้วยวาจาเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่แนะนำพร่ำสอนออกไป หลวงพ่อจะปฏิบัติ ให้ปรากฏเป็นแบบอย่างทุกคราวไป
สำหรับการรับกุลบุตรเข้าร่วมสำนัก หลวงพ่อได้วางระเบียบไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อทดสอบศรัทธาก่อน เบื้องแรกต้องบวชปะขาวถือศีลแปด เรียนรู้และฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติก่อนหนึ่งปี จากนั้นก็บวชเป็นสามเณรอีกหนึ่งปี แล้วจึงได้บวชพระ ทั้งนี้เพื่อกลั่นกรองเอาเฉพาะผู้ตั้งใจมาปฏิบัติจริงๆ สานุศิษย์ที่ผ่านการฝึกสอนจากหลวงพ่อ จึงล้วนแต่มีความมั่นคงในข้อวัตรปฏิบัติ และได้กลายเป็นขุมกำลังที่สืบสานเจตนารมณ์ของหลวงพ่อในปัจจุบัน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)