คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ออกจากวัดป่าหนองฮี หลวงพ่อเดินธุดงค์ลงมาทางอีสานใต้ รอนแรมมาในป่าหลายวัน จนถึงบ้านป่าตาว ตำบลคำเตย อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ชาวบ้านถิ่นนั้น พอทราบข่าวว่า มีพระกรรมฐานมาพักอยู่ใกล้หมู่บ้าน ต่างพากันมาคารวะขอฟังธรรม หลวงพ่อได้แนะแนวทางปฏิบัติต่างๆ แก่พวกเขาจนเข้าใจและเกิดศรัทธานำไปปฏิบัติตามสมควร
พักอยู่ที่บ้านป่าตาวสองเดือน ได้อำลาชาวบ้านออกแสวงหาความสงบวิเวกต่อไป โดยมุ่งหน้าลงมาทางอุบลฯ ชาวบ้านคนหนึ่งมีศรัทธามาก ได้ฝากฝังลูกชายนามว่า ทองดี ให้เป็นศิษย์ติดตามไปด้วย
มื่อหลวงพ่อเดินทางมาถึงบ้านก่อ ท่านได้แวะพักที่ป่าช้าวัดก่อนอก เพื่อเยี่ยมเยือนโยมมารดาและญาติพี่น้อง และได้ฝึกสอนเด็กชายทองดีกับเด็กชายเที่ยง ให้รู้จักวิธีการบวชพอสมควรแล้ว หลวงพ่อจึงพาไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดวารินทราราม แล้วนำกลับมาพักที่วัดก่อนอก
ขณะที่พักอยู่ในป่าช้า ญาติมิตรที่คุ้นเคยกับหลวงพ่อในวัยเด็กได้มานมัสการ สนทนาด้วยความยินดี เพราะนับแต่ท่านออกธุดงค์แล้ว ก็ไม่ได้พบกันบ่อยนัก แต่การพบกันในครั้งนี้ เพื่อนสนิทคนหนึ่งสังเกตเห็นว่า หลวงพ่อกลับมาคราวนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากคนที่พูดเก่ง ชอบหัวเราะร่าเริง กลายเป็นคนเงียบขรึม พูดน้อย ไม่รื่นเริงเหมือนเก่า เมื่อเฝ้าสังเกตเห็นเช่นนั้นหลายวัน เกิดอยากรู้ความในใจว่าเป็นเช่นใด
วันหนึ่งญาติๆ ได้เข้าพบหลวงพ่อที่ป่าช้า เมื่อสนทนากันพักหนึ่ง จึงถามว่า
"ท่านจะไม่สึกหรือครับ"
"ยังไม่อยากตอบ เพราะมันเป็นเรื่องของวันข้างหน้า ถ้าอาตมาจะตอบว่าไม่สึก แต่หากต่อไปมันอยากสึกขึ้นมาล่ะ ก็เป็นการโกหกกัน"
หลังจากสนทนากันตามวิสัยผู้คุ้นเคยแล้ว เพื่อนรักก็กราบลากลับไปพร้อมกับคาดการณ์ว่า หลวงพ่อคงจะรุ่งเรืองและมั่นคงในบวรศาสนา เพราะนับตั้งแต่ท่านบวชแล้วออกธุดงค์กลับมา อุปนิสัยและกิริยาท่าทางของท่านเปลี่ยนไปเป็นคนละคน แม้จะยังเป็นภิกษุหนุ่ม แต่ก็ดูน่าเคารพเลื่อมใสมาก แต่การที่ท่านตอบคำถามเลี่ยงๆ ไปนั้น คงเป็นเพราะความรอบคอบ ซึ่งเป็นลักษณะของคนมีปัญญามากกว่า
หลวงพ่อพักอยู่ป่าช้าวัดก่อนอกประมาณสิบห้าวัน ได้ให้ข้อคิดและคำแนะนำแก่มารดา และญาติมิตรพอสมควร จากนั้นหลวงพ่อกับสามเณรทองดีได้เดินทางไปยังอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ในปี พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นพรรษาที่สิบเอ็ดของหลวงพ่อ วันหนึ่งท่านจาริกไปถึง บ้านสวนกล้วย อำเภอกันทรลักษณ์ ได้พำนักอยู่ในป่าห่างจากหมู่บ้านพอสมควร ป่าแห่งนั้นมีบรรยากาศสงบ ร่มรื่น เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนามาก จึงตัดสินใจจำพรรษาอยู่ที่นั่น
พรรษานั้นหลวงพ่อเล่าว่า การบำเพ็ญสมณธรรมของท่าน ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ย่อหย่อนและท้อถอย จิตใจสงบระงับมาก
(ที่บ้านสวนกล้วยแห่งนี้ ต่อมาได้มี วัดสาขาแห่งที่ 6 ของวัดป่าพง ชื่อว่า วัดป่ากัทลิวัน (สวนกล้วย) ตำบลสวนกล้วย อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมี พระครูวิมลธรรมรัตน์ (หลวงพ่อบุญเสริม ธมฺมปาโล) นักเทศน์ชื่อดัง (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) เป็นเจ้าอาวาส)
ต้นปี พ.ศ. 2492 หลังจากหลวงตาและคณะละทิ้งสำนักไปได้เจ็ดวัน หลวงพ่อได้ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ภูลังกา อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ในระหว่างนั้น การปฏิบัติสมาธิภาวนาของท่านมีอันต้องสะดุดหยุดอยู่กับที่ คล้ายกับเดินไปถึงจุดๆ หนึ่ง แล้วเดินต่อไปไม่ได้
หลวงพ่อฟื้นความหลังให้ลูกศิษย์ฟังว่า
...ขณะนั้นคิดว่า ใครหนอจะช่วยเราได้ ก็นึกถึงอาจารย์วัง ท่านอยู่ที่ภูลังกา ก็ไม่เคยพบท่านหรอก แต่ได้คิดว่าพระองค์นี้ท่านคงจะมีดีอย่างใดอย่างหนึ่งแน่ จึงขึ้นไปอยู่บนยอดเขาอย่างนั้น "
หลวงพ่อเดินธุดงค์ขึ้นสู่ภูลังกา ได้พบท่านอาจารย์วังดังปรารถนา ท่านพำนักอยู่กับเณรน้อยสองรูป ปลูกกุฏิเล็กๆ ตามพลาญหินและเงื้อมผา มีที่หลีกเร้นเหมาะแก่การภาวนามาก
คืนหนึ่ง หลังเสร็จจากกิจวัตรส่วนตัว หลวงพ่อได้ขอโอกาสสนทนาและถามปัญหาธรรม ที่ตนขัดข้องต่อท่านอาจารย์วัง หลวงพ่อได้ถ่ายทอดให็ศิษย์ฟังว่า
"ที่ผมขึ้นมากราบท่านอาจารย์ครั้งนี้ เพราะผมจนปัญญาแล้ว คล้ายๆ กับว่าเราเดินไปบนสะพานที่ทอดยาวไปในแม่น้ำ เราเดินไปแล้วก็หยุดอยู่ไม่มีที่จะไปอีก พอหันเดินกลับมา บางทีก็เดินเข้าไปอีก นี่เป็นสมาธินะครับ ไปถึงตรงนั้นแล้วมันก็จบอยู่ ไม่มีที่ไป เลยต้องหันกลับมาอีก กำหนดไปต่อก็ไปไม่ได้ บางทีกำหนดไปเหมือนมีอะไรมาขวางอยู่ แล้วก็ชนกึ๊กอยู่ตรงนั้น เป็นอาการอย่างนี้มานานแล้ว มันคืออะไรครับ"
ท่านอาจารย์วังตอบว่า
".... มันเป็นที่สุดแห่งสัญญาแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องไปไหน ให้ยืนอยู่ตรงนั้นแหละ ให้กำหนดอยู่ตรงนั้น มันจะแก้สัญญามันจะเปลี่ยนเอง ไม่ต้องไปบังคับมันเลย ให้เรากำหนดรู้ว่า อันนี้มันเป็นอย่างนี้ เมื่อมีความสุขอย่างนี้แล้ว จิตมีอาการอย่างไร ก็ให้รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ให้รู้เข้ามา ถ้ารู้จักแล้ว เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน เปลี่ยนสัญญา คล้ายๆ กับว่าสัญญาของเด็กเปลี่ยนเป็นสัญญา ผู้ใหญ่ อย่างเด็กมันชอบของเล่นอย่างนี้ พอโตขึ้นมาเห็นของชิ้นเก่านี้ไม่น่าเล่นเสียแล้ว ก็เลยไปเล่นอย่างอื่น นี่มันเปลี่ยนอย่างนี้"
ท่านอาจารย์วังเสริมต่ออีกว่า
"...มันเป็นได้ทุกอย่างก็แล้วกันเรื่องสมาธินี่ แต่จะเป็นอะไรก็ช่างมันเถอะ อย่าไปสงสัย เมื่อ เรามีความรู้สึกอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็ค่อยเปลี่ยนไปเอง ให้กำหนดรู้และเพ่งตรงนี้ แต่อย่าเข้าใจว่า มันหมดนะ เดี๋ยวจะมีอีก แต่ให้วางมัน รู้ไว้ในใจแล้วปล่อยวางเสมอ อย่างนี้ไม่เป็นอันตรายกำหนดอยู่ อย่างนี้ให้มีรากฐาน อย่าไปวิ่งตามมัน พอเราแก้อันนี้ได้ มันก็ไปได้"
หลวงพ่อเรียนถามอีกว่า "ทำไมบางคนไม่มีอะไรขัดข้องในการภาวนาล่ะครับ ?"
"อันนี้เป็นบุพกรรมของเรา ต้องต่อสู้กันในเวลานี้ ตอนจิตมันรวมนี่แหละ สิ่งที่เกิดขึ้นมา ไม่ใช่ของร้ายอย่างเดียวนะ ของดี ของน่ารักก็มี แต่เป็นอันตรายทั้งนั้น อย่าไปหมายมันเลย" ท่าน อาจารย์วังตอบ
เหมือนบอกทางแก่คนหลงทาง หลังจากสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์วัง หลวงพ่อเกิดความเข้าใจในความละเอียดลึกซึ้งของธรรมปฏิบัติมากขึ้น ครั้นพูดคุยเรื่องต่างๆ กันพอสมควร หลวงพ่อก็กราบลาท่านอาจารย์วังกลับที่พัก
ในขณะพักอยู่บนภูลังกา หลวงพ่อได้เร่งความเพียรอย่างหนัก พักผ่อนเพียงเล็กน้อย ไม่คำนึงถึงเวลาว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน คงยืนหยัดปฏิบัติไปอย่างต่อเนื่อง จิตพิจารณาเรื่อง ธาตุและสมมุติบัญญัติอยู่ตลอดเวลา
หลวงพ่อพักอยู่ที่ภูลังกาได้สามวัน ก็กราบลาท่านอาจารย์วัง เดินลงมาถึงวัดแห่งหนึ่งตั้งอยู่เชิงเขา พอดีฝนตก จึงหลบเข้าไปนั่งสมาธิที่ใต้ถุนศาลา ทันใดนั้น จิตเกิดความตั้งมั่นขึ้น แล้วมีความรู้เห็นตามมา เหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ดูอะไรเปลี่ยนไปหมด กาน้ำวางอยู่ข้างๆ ก็ดูเหมือน ไม่ใช่กาน้ำ บาตรก็ดูเหมือนไม่ใช่บาตร ทุกๆ อย่างเปลี่ยนสภาพไปหมด ต่างกันราวกับหน้ามือเป็น หลังมือ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธาตุ เป็นของสมมุติขึ้นทั้งนั้น แล้วน้อมเข้ามาดูตัวเอง ดูทุกสิ่งใน ร่างกายก็เห็นว่าไม่ใช่ของเรา ล้วนแต่เป็นของสมมุติทั้งหมด
การได้พบกับอาจารย์วังครั้งนั้น หลวงพ่อได้ความกระจ่างในทางธรรมปฏิบัติยิ่งขึ้น ท่านจึง ให้อุทธาหรณ์แก่บรรดาศิษย์ว่า "...คนเราจะไปภาวนาคนเดียว มันก็ได้อยู่หรอก แต่บางคนอาจจะวกวนไปมาจนช้า ถ้ามีใครชี้บอกทางให้มันไปเร็ว และมีลู่ทางที่จะพิจารณามากกว่า..."
จากภูลังกา หลวงพ่อมุ่งหน้าสู่วัดป่าหนองฮี เพื่อกราบเยี่ยมหลวงปู่กินรี การพบกันในครั้งนี้ หลวงปู่ให้คำแนะนำสั้นๆ ตามอัธยาศัยของท่านว่า
ท่านชา การเที่ยวธุดงค์ของท่านก็พอสมควรแล้ว ควรไปหาที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่งในที่ราบๆ บ้างนะ "
หลวงพ่อกราบเรียนหลวงปู่ว่า "กระผมตั้งใจจะธุดงค์กลับไปทางบ้านที่อุบลฯ ครับ"
"...จะกลับบ้าน เพราะคิดถึงใครหรือเปล่า...? ถ้าคิดถึงผู้ใด ผู้นั้นจะให้โทษแก่เรา..." หลวงปู่กล่าว ทิ้งท้ายด้วยคำอมตะ
(เมื่อหลวงพ่อมาอยู่วัดหนองป่าพงแล้ว ได้นิมนต์ให้หลวงปู่กินรีมาพำนักด้วย เพื่อจะได้ปฏิบัติอาจริยวัตร อุปัฏฐากรับใช้ท่าน แต่หลวงปู่ก็เพียงมาเยี่ยมเยือนเป็นครั้งคราวเท่านั้น ต่อมา หลวงพ่อได้ส่งพระเณรไปอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กินรี จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต)
กลางป่าช้าข้างวัดหลวงตา มีศาลาเล็กๆ หลังหนึ่ง ตั้งอยู่ท่ามกลางหลุมฝังศพที่เรียงรายเกลื่อนกลาด หลวงพ่อมักหลีกเร้นมานั่งสมาธิ พิจารณาสภาวธรรมอยู่ที่ศาลาหลังนั้นอยู่เสมอ ความวังเวงและหลุมฝังศพรวมทั้งกองกระดูกช่วยให้จิตใจสงบระงับ เกิดธรรมสังเวชในความเป็นไปของสัตว์โลก ที่ต่างถูกกระแสกรรมนำมาเกิด ถูกความแก่ชราต้อนไป ถูกความเจ็บไข้รุมเร้า เบียดเบียน แล้วบีบคั้นให้ตายในที่สุด
วันหนึ่งขณะหลวงพ่อนั่งอยู่บนศาลาในป่าช้า มีกาตัวหนึ่งบินมาจับที่กิ่งไม้ใกล้ๆ แล้วส่งเสียงร้อง กา กา หลวงพ่อไม่ได้ใส่ใจ เพราะคิดว่ามันคงร้องไปตามประสาสัตว์
การู้ว่าหลวงพ่อไม่สนใจ จึงร่อนลงมายืนบนพื้นศาลาตรงหน้าท่าน มันคาบหญ้าแห้งมาวางแล้วร้อง กา กา แสดงอาการเหมือนจะส่งหญ้าให้ หลวงพ่อเห็นกิริยามันแปลกๆ จึงหันมามอง และคิดในใจว่า "เจ้าจะบอกอะไรเราหรือ ?" เมื่อกาเห็นท่านสนใจ ก็ทิ้งหญ้าแห้งไว้ แล้วบินหายไป
หลังจากนั้นสามวัน ชาวบ้านได้หามศพเด็กชายคนหนึ่งป่วยเป็นไข้ตาย มาเผาข้างๆ ศาลานั้น
สามสี่วันต่อมา อีกาบินมาหาหลวงพ่อที่ศาลานั้นอีก ครั้งแรกเกาะอยู่บนกิ่งไม้ เมื่อเห็น หลวงพ่อไม่สนใจ กาก็บินลงมาที่พื้น แล้วแสดงกิริยาเหมือนครั้งแรก พอหลวงพ่อหันมาดู มันก็บินหนีไปอย่างเคย
จากนั้นไม่กี่วัน ชาวบ้านหามศพมาอีก คราวนี้เป็นพี่ชายของเด็กที่ตายไปเมื่อไม่นานนั่นเอง ซึ่งเกิดป่วยกระทันหัน ตายตกตามกันอย่างน่าประหลาดใจ
กาตัวนั้นเป็นทูตมรณะจริงๆ เพราะอีกสามวันเท่านั้น มันได้บินมาส่งข่าวหลวงพ่ออีกครั้ง แล้วไม่กี่วันพี่สาวของเด็กชายทั้งสองที่ตายไปก่อนนั้นมีอันต้องป่วยตายไปอีกคน
ทุกข์ใดๆ ในโลก ดูเหมือนจะโถมทับลงมาที่พ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นทั้งหมด เพราะช่วงเวลาเพียงสองอาทิตย์ ต้องสูญเสียลูกๆ ที่รักดังแก้วตาดวงใจไปถึงสามคน จึงต่างร่ำไห้ด้วยความโศกเศร้าอาลัย หลวงพ่อเห็นสภาพของคนเหล่านั้น ยิ่งเกิดความสลดสังเวชในความเป็นจริงของชีวิต ได้น้อมนำเหตุการณ์นั้นมาเตือนตนมิให้ประมาท พิจารณาเห็นว่า ความทุกข์โศกย่อมเกิดจากของที่เรารักและหวงแหน
"สัจธรรมในป่าช้า" เร่งเร้าให้หลวงพ่อไม่ยอมเนิ่นช้าในการปฏิบัติ ท่านเพิ่มเวลาในการภาวนามากขึ้น ลดเวลาพักผ่อนลง มุ่งหน้าทำความเพียร แม้ฝนตกพรำๆ ก็เหยียบย่ำน้ำเดิน จงกรมอยู่อย่างนั้น
วันหนึ่งเกิดนิมิตว่า ได้เดินไปยังที่แห่งหนึ่ง พบคนแก่นอนป่วยร้องครวญครางปานจะขาดใจ หลวงพ่อหยุดพิจารณาดู แล้วเดินต่อไประหว่างทางพบคนป่วยหนักจวนตาย ร่างกายซูบผอม เหลือเพียงหนังหุ้มกระดูก นอนหายใจรวยรินอยู่ริมทาง ได้หยุดดู แล้วเดินผ่านไปไม่ไกลก็พบ คนตายนอนหงายขึ้นอืด ตาถลน ลิ้นจุกปาก และมีหนอนชอนไชอยู่เต็มร่าง เกิดความสลดสังเวช เป็นอย่างยิ่ง
พอตื่นขึ้นมา ภาพนั้นยังติดตามติดใจไม่เลือนลาง รู้สึกเบื่อหน่ายต่อชีวิต อยากหลุดพ้น ออกจากกองทุกข์นี้โดยเร็ว จึงคิดจะปลีกตัวขึ้นไปทำความเพียรบนยอดเขาสักเจ็ดวัน หรือสิบห้าวัน จึงจะลงมาบิณฑบาต แต่มีปัญหาว่า บนยอดเขาไม่มีน้ำดื่ม พอดีนึกถึงกบจำศีลในรู มันกินน้ำเยี่ยวของตัวเอง ยังมีชีวิตอยู่ได้ จึงทดลองดูบ้าง แต่ไม่ได้ผล เพราะน้ำปัสสาวะนั้นเมื่อดื่มซ้ำเข้าไปหลายๆ ครั้ง พอตกถึงกระเพาะก็ไหลออกมาทันที
เมื่อคิดว่าไม่อาจไปอยู่บนยอดเขาได้ จึงทดลองอดอาหาร ฉันวันเว้นวันสลับกันไป ทำอยู่ ประมาณสิบห้าวัน ขณะอดอาหารรู้สึกว่า ร่างกายร้อนดังถูกไฟแผดเผา มีอาการทุรนทุรายแทบทนไม่ได้ จิตใจกระสับกระส่าย ไม่สงบ จึงล้มเลิกวิธีนี้ เพราะไม่ถูกกับจริต
ต่อมา ได้นึกถึงอปัณณกปฏิปทา (ข้อปฏิบัติไม่ผิด) คือ โภชเนมัตตัญญุตา การรู้จัก ประมาณในการฉันอาหารให้พอสมควร ไม่มากหรือน้อยเกินไป อินทรียสังวร สำรวมระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำ ชาคริยานุโยค ทำความเพียรสม่ำเสมอ ไม่เกียจคร้าน หรือเห็นแก่หลับนอนจนเกินไป
เมื่อน้อมใจไปถึงทางดำเนินนี้ จึงหยุดวิธีทรมานตน กลับมาฉันอาหารวันละครั้งดังเดิม แล้วทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง การบำเพ็ญภาวนาก้าวหน้าขึ้นมาก จิตใจสงบระงับปราศจากนิวรณ์ การพิจารณาธรรมก็แตกฉานแจ่มแจ้ง ไม่ติดขัด
ครั้นออกพรรษาแล้ว หลวงตาซึ่งเฝ้าจับตามองหลวงพ่อมานาน เห็นหน่วยก้านและภูมิปัญญาน่าเลื่อมใส จึงชักชวนให้ข้ามโขงไปตั้งสำนักทางฝั่งลาวด้วยกัน แต่ได้รับคำปฏิเสธจากหลวงพ่อ
พอจวนจะสิ้นปี หลวงตาก็พาคณะออกธุดงค์ข้ามโขงไปฝั่งลาว ละทิ้งหลวงพ่อและสำนักของตนไว้เบื้องหลัง...
ใกล้ฤดูเข้าพรรษา หลวงพ่อเดินธุดงค์มาถึงวัดป่าแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในป่าช้า เขตอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม มีพระหลวงตาพำนักอยู่กับพระลูกวัดหลายรูป
วันนั้น เมื่อกล่าวธรรมปฏิสันถารกันพอสมควร หลวงตาสมภารวัดปรารภถึงภูมิจิตกับตัวเองว่า "ผมหมดความโกรธแล้ว"
หลวงพ่อรู้สึกแปลกใจมาก เพราะคำพูดเช่นนี้ไม่ค่อยได้ยินใครกล่าวบ่อยนักในหมู่ผู้ปฏิบัติ จึงอยากพิสูจน์ให้รู้ชัด และช่วงนั้นจวนเข้าพรรษาแล้ว หลวงพ่อตัดสินใจขอจำพรรษาด้วย
แต่ไม่ง่ายเสียทีเดียว หลวงตาไม่ไว้ใจใครง่ายๆ เหมือนกัน เพราะหลวงพ่อเป็นพระแปลกหน้า และยังจรมาผู้เดียว ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าจะมาดีหรือร้ายอย่างไร หลวงตากับพระ ลูกวัดจึงปฏิเสธไม่ยอมให้พำนักด้วย แต่ผ่อนผันให้ไปจำพรรษาที่ป่าช้านอกเขตวัด
ครั้นถึงวันเข้าพรรษา หลวงตาให้พระไปนิมนต์หลวงพ่อมาจำพรรษาด้วย เพราะได้รับคำทักท้วงจากพระรูปหนึ่งว่า "พระมีพรรษามากขนาดนี้ ให้จำพรรษานอกเขตวัดเห็นจะไม่เหมาะ บางทีท่านอาจเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ได้ ไม่ควรประมาท"
แม้จะได้ร่วมจำพรรษาในสำนัก แต่หลวงตากับลูกศิษย์ก็ตั้งกติกากีดกันหลวงพ่อไว้ หลายอย่างคือ
กติกาทั้งสามข้อนี้ หลวงพ่อยินดีปฏิบัติตามทุกอย่าง แม้ท่านจะมีพรรษาสิบแล้วก็ตาม ท่านกลับพิจารณาน้อมเอาประโยชน์จากข้อกีดกันนั้น โดยให้คติแก่ตนเองว่า "หลวงตากับคณะ กำลังทดสอบเรา และการนั่งหัวแถวหรือท้ายแถว ก็ไม่แปลกอะไร เหมือนกับเพชรนิลจินดา จะวางไว้ที่ไหนก็มีคุณค่าเท่าเดิม และการปฏิบัติตามกติกานี้ จะช่วยลดทิฐิมานะของเราให้เบาบางลงด้วย"
การจำพรรษาร่วมกับหลวงตา ผ่านไปด้วยความสงบ เพราะหลวงพ่อวางความรู้สึกนึกคิดได้ถูกและเป็นปกติ จึงพากเพียรภาวนาอย่างสม่ำเสมอ พยายามพูดน้อย เมื่อได้ยินใครพูดสิ่งใด ก็น้อมมาพิจารณาเป็นปัญญาแก้ไขตัวเอง และเฝ้าสังเกตเลือกเอาแต่สิ่งที่ดีงามจากข้อวัตรปฏิบัติที่มีอยู่ในสำนัก เพื่อถือเอาเป็นบทเรียน
ขณะเดียวกัน หลวงตาและคณะก็จับตามองหลวงพ่ออย่างไม่ให้คลาดสายตาเช่นกัน แต่ ท่านวางเฉย ไม่แสดงกิริยาอาการใดๆ โต้ตอบ กลับคิดขอบคุณเขาว่า
เขาช่วยไม่ให้เราเผลอไปประพฤติบกพร่อง เปรียบเหมือนมีคนมาช่วยป้องกันความสกปรก ไม่ให้แปดเปื้อนแก่เรา "
ในพรรษานั้น หลวงพ่อทำความเพียรภาวนาสม่ำเสมอ เคารพกฏกติกาอย่างไม่บกพร่อง พระเณรร่วมสำนักเริ่มยำเกรงท่านมากขึ้น
เช้าวันหนึ่ง ชาวบ้านนำข้าวหมากมาถวาย หลวงตากับพระลูกวัดทุกรูปฉันกันอย่างเอร็ดอร่อย ส่วนหลวงพ่อเพียงแต่รับประเคนแล้ววางไว้ข้างๆ หลวงตาสังเกตดูอยู่จึงถามว่า
"ท่านชา ไม่ฉันข้าวหมากหรือ... ทำไมล่ะ ?"
"ไม่ฉันครับ... ผมว่ากลิ่นและรสมันไม่เหมาะแก่พระเท่าไหร่"
หลวงตาได้ฟังก็หน้าเสีย... ฉันอาหารแทบไม่รู้รส
อยู่ต่อมาวันหนึ่งในกลางพรรษา หลวงตาพาพระเณรลงเรือไปเก็บฟืนมาไว้ใช้ เมื่อถึงไร่ร้าง ริมน้ำ พระลูกวัดพากันขึ้นไปขนฟืนมากองไว้ที่ฝั่งห้วย หลวงพ่อทำหน้าที่ขนลงเรือ
ขณะจัดเรียงฟืน หลวงพ่อสังเกตเห็นไม้พะยุงท่อนหนึ่ง มีรอยถากเป็นทรงกลมยาว ประมาณ 2 เมตร ท่านคิดว่าไม้ท่อนนี้ต้องมีเจ้าของแน่ หากขนลงเรือจะมีความผิดเป็นการลักทรัพย์ ทำให้ขาดจากการเป็นพระได้ จึงไม่ยอมแตะต้อง
พอได้เวลาจวนกลับ หลวงตาเดินมาถึง เห็นไม้ท่อนนั้นถูกทิ้งอยู่ริมตลิ่ง จึงร้องถามว่า
"ท่านชา... ทำไมไม่ขนไม้ท่อนนี้ลงเรือ ?"
"ผมเห็นว่าไม่เหมาะครับ มันคงมีเจ้าของ เพราะมีรอยถากไว้"
เมื่อหลวงพ่อตอบเช่นนี้ หลวงตาชะงักงันอยู่ชั่วครู่ แล้วจึงแกล้งร้องบอกแก้เก้อให้พระเณรรีบลงเรือ โดยทิ้งไม้ท่อนนั้นไว้ริมฝั่งนั่นเอง
ความผิดพลาดของหลวงตา ผู้มีทีท่าว่าเป็นนักปฏิบัติที่เคร่งครัด ส่งเสริมให้คุณค่าของหลวงพ่อสูงขึ้นตามลำดับ เพราะหลวงพ่อไม่ซ้ำเติม หรือดูหมิ่นเหยียดหยามใคร กลับเก็บตัว ภาวนาอยู่เงียบๆ เช่นเดิม
หลังจากนั้นหลายวัน ชาวบ้านมาเผาข้าวหลามข้างโรงครัว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกุฏิหลวงพ่อ หลวงพ่อกลับจากบิณฑบาตก็ขึ้นกุฏินั่งพักผ่อน สักครู่หนึ่งเห็นหลวงตาเดินผ่านไปทางโรงครัว ขณะนั้นไฟลุกไหม้กระบอกข้าวหลามจนเกรียม เพราะไม่มีใครคอยพลิกกลับ
หลวงตามองซ้ายมองขวานึกว่าไม่มีใครเห็น จึงพลิกกระบอกข้าวหลามเสียเอง หลวงพ่อนั่งอยู่ที่หน้าต่างจึงเห็นการกระทำนั้น
ครั้นถึงเวลาฉัน ชาวบ้านนำข้าวหลามมาถวาย พระเณรฉันกันหมด แต่หลวงพ่อรับแล้ว วางไว้เฉยๆ หลวงตาฉันไปได้สักพัก ก็เหลือบตาสำรวจกิริยาการขบฉันของลูกศิษย์ตามความเคยชิน แต่สายตาต้องสะดุดหยุดลงทันที เพราะเห็นหลวงพ่อไม่ยอมฉันข้าวหลาม
จึงถามเบาๆ ว่า "ท่านชา ฉันข้าวหลามหรือเปล่า ?"
"เปล่าครับ" หลวงพ่อตอบ
คราวนี้หลวงตาถึงกับสะอึก แล้วพูดอย่างอายๆ ว่า "ผมต้องอาบัติแล้ว"
(พระจับอาหารที่ยังไม่ได้รับประเคน ถ้าของที่จับยังไม่เคลื่อนที่ต่อมา มีคนมาประเคน ในภายหลัง หากพระผู้จับฉันอาหารนั้นเป็นอาบัติ ส่วนพระรูปอื่นฉันได้ แต่ถ้าทำให้ของเคลื่อนที่ไป แม้มีผู้มาประเคนใหม่ หากพระรับมาฉันก็เป็นอาบัติด้วยกันทุกรูป)
หลวงตานึกรู้ทันทีว่า หลวงพ่อต้องเห็นตนพลิกกระบอกข้าวหลามแน่ จึงสารภาพผิดออกมา
ครั้นฉันอาหารเสร็จ หลวงตาเข้ามาขอแสดงอาบัติด้วย แต่หลวงพ่อพูดว่า "ไม่ต้องก็ได้ ครับ ให้พยายามสำรวมระวังต่อไป"
หลวงตากับพระเณรรู้สึกทึ่ง และนึกนิยมในอัธยาศัยของหลวงพ่อมากขึ้น ทั้งที่พวกตนพยายามกีดกันรังเกียจด้วยความไม่ไว้ใจ แต่พระอาคันตุกะรูปนี้ กลับหนักแน่นและใจสูงยิ่งนัก จึงตกลงกันว่าให้ล้มเลิกกติกากีดกันนั้น
แต่หลวงพ่อตอบด้วยนิสัยที่เคารพต่อกฎระเบียบว่า "ทำอย่างนั้นคงไม่เหมาะครับ ขอให้ถือ ตามกติกาเดิมที่ตั้งไว้ดีกว่า เพื่อความสงบเรียบร้อยต่อไป"
ต่อจากนั้นมา พระทุกรูปได้ให้ความสำคัญ และเคารพยำเกรงต่อหลวงพ่อมาก ความรู้สึกอคติ ที่มีต่อกันถูกทำลายลงด้วยคุณธรรม
แล้ววันหนึ่ง กาลเวลาได้พิสูจน์คำพูดของหลวงตาที่ว่า "ผมหมดความโกรธแล้ว" ให้ได้ประจักษ์ข้อเท็จจริงขึ้นมา ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "ศีล (ความประพฤติ) จะพึงรู้ได้ เมื่ออยู่ร่วมกันนานๆ"
ท้ายพรรษา พายุฝนพัดกระหน่ำติดต่อกันหลายวัน ท้องทุ่งนาแปรสภาพเป็นทะเลสาบขนาดย่อม ชาวบ้านต่างเดือดร้อนกันทั่วหน้า และวุ่นวายไปถึงวัวควาย เพราะไม่มีที่อยู่และหญ้าจะกิน
วัดหลวงตาตั้งอยู่ที่บนดอน จึงรอดพ้นจากภัยน้ำท่วม วัวควายของชาวบ้านจึงมุ่งหน้า มากินหญ้าริมรั้ววัดประทังชีวิต บางตัวกินเพลินหลงเดินลึกเข้าเขตสำนัก หลวงตาไม่ชอบใจ จึงให้พระเณรไล่ออกไปบ่อยๆ
เจ้าวัวน่าสงสารตัวหนึ่งถูกไล่ต้อนออกไปแล้ว แต่ด้วยความหิวจึงยื่นคอลอดรั้วกลับเข้ามากินหญ้าอีก หลวงตาซึ่งถือไม้รอท่าอยู่แล้วก็ตรงรี่เข้าไปตีวัวหลายที วัวตัวนั้นร้องด้วยความเจ็บปวด รีบมุดหัวกลับไป แต่กว่าจะหลุดไปได้ ก็ลิ้มรสไม้ตะพดหลวงตาเสียหลายตุ๊บ
หลวงพ่อยืนดูอยู่เงียบๆ นึกสงสารวัวอย่างจับใจ เพราะสิ่งที่พวกมันควรได้จากวัด คือ ความสุขจากเมตตาจิตของสมณะ แต่นี่กลับเป็นความไร้น้ำใจจากนักบวชผู้ซึ่งเคยกล่าวไว้ว่า
เราหมดความโกรธแล้ว! "
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)