คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
วันคืนที่วัดร้าง บ้านโคกยาวผ่านไปสิบเก้าวัน การบำเพ็ญเพียรทางจิตได้รับผลดียิ่ง คุ้มค่ากับการต่อสู้ที่เอาชีวิตเป็นเดิมพัน โดยมีความบากบั่นอดทนและปัญญาเป็นธรรมาวุธ รวมทั้งเป็น ดังเพื่อนร่วมทางในชีวิตพระธุดงค์...
หลวงพ่อเดินทางออกจากวัดร้างนั้น พร้อมกับความสงบแห่งจิต ยากยิ่งที่จะบรรยาย ความรู้สึกนี้แก่ใคร ระหว่างทางได้พบปะชาวบ้าน บางแห่งมีผู้มาไต่ถามปัญหาต่างๆ ก็สามารถตอบได้โดยแจ่มแจ้งและฉับพลัน ไม่มีความติดขัดทั้งในปัญหาของตนเองและคนอื่น
เดินธุดงค์พักตามป่าเขา เงื้อมผา คูหาถ้ำ ริมลำธาร ไปเรื่อยๆ จนถึงอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม พักภาวนาอยู่ริมแม่น้ำโขง แล้วข้ามไปนมัสการพระพุทธบาทพลสันต์ที่ฝั่งลาว ต่อจากนั้นได้ย้อนกลับมาที่อำเภอศรีสงครามอีกครั้ง
ขณะที่พักอยู่ที่บ้านหนองกา อำเภอศรีสงคราม แม้จิตจะเคยผ่านภาวะที่สุดของสมาธิ จนจิตใจแปลกแตกต่างจาปกติจิตก็ตาม แต่หาใช่ว่ารากเหง้าของกิเลสจะถูกกำจัดสิ้นไปไม่ เพราะสมาธิมีอำนาจเหนือกิเลสบางอย่างเท่านั้น ไม่อาจระงับกิเลสที่สะสมนอนเนื่องในจิตใจได้ทั้งหมด
ในขณะนั้น บริขารของหลวงพ่อคร่ำคร่าแทบจะใช้ไม่ได้ จึงเกิดความอยากได้ของใหม่ จนใจกระวนกระวาย ท่านเล่าถึงประสบการณ์ในครั้งนั้นว่า...
"ตอนไปอยู่ศรีสงคราม บริขารเราเก่ามาก จะขอใครก็ไม่ได้ เพราะไม่มีญาติ ไม่มีใคร ปวารณา จิตมันดิ้นรนกระวนกระวาย...
ในเวลานั้น บาตรที่ใช้มีขนาดเล็กมากและยังรั่วอีกหลายรู พระที่วัดหนองกาท่านสังเกตเห็น จึงนำบาตรขนาดใหญ่แต่มีรูรั่วด้วยมาถวาย ฝาบาตรก็ไม่มี...
นึกขึ้นได้ สมัยเป็นเด็กไปเลี้ยงควายเห็นเพื่อนเอาเถาวัลย์มาถักเป็นหมวก เลยให้เขาเอาหวายมาให้ แล้วเหลาให้แบนอันหนึ่ง กลมอันหนึ่ง แล้วถักเป็นวง ๆ ได้ฝาบาตรใช้เหมือนกัน แต่ดูแล้วเหมือนกระติบใส่ข้าวเหนียว เวลาไปบิณฑบาตมองดูฝาบาตรตัวเองรู้สึกขวางหูขวางตา ใครเห็นเขาเรียกว่า พระบาตรใหญ่
จึงทำมาใหม่... ทำทั้งกลางวันกลางคืน ตอนนั้นคิดผิด เพราะอยากได้มาก กลางคืนจุดไต้ ทำอยู่ในป่าคนเดียว สานไปสานมา มือไปชนไต้ที่จุดไว้ ขี้ไต้ตกใส่มือ ไฟไหม้หนังหลุดหมด มีแผล เป็นอยู่กระทั่งเดี๋ยวนี้... จึงรู้สึกตัว
เอ... นี่เรากำลังทำอะไร... คิดผิดแล้วนี่ บวชมาเพื่อเอาบริขาร บาตร จีวร แค่นี้หรือ ถึงขนาดทำจนไม่ได้หลับได้นอน "
เลยมานั่งพิจารณาอยู่ แล้วก็เดินจงกรม เดินไปยังคิดถึง "ฝาบาตร" อีกนั่นแหละ เดินจนจวนสว่าง รู้สึกเหนื่อย จึงพักมานั่งสมาธิ นั่งก็คิดอีก พอเคลิ้มไปนิดหนึ่ง เห็นเป็นภาพพระพุทธเจ้า องค์ใหญ่ท่านบอกว่า... มานี่จะเทศน์ให้ฟัง... เข้าไปกราบท่าน ท่านก็เทศน์เรื่องบริขารให้ฟังว่า เครื่องบริขารทั้งปวงเป็นเพียงเครื่องประดับขันธ์ห้าเท่านั้น...
สะดุ้งตื่นตัวสั่นเทาเลย เสียงนั้นยังติดอยู่ในใจจนทุกวันนี้... เข็ดหลาบเลย... ความอยากได้จนไม่รู้จักตัวเองนี่ ที่นี้เลยเลิกทำแบบนั้นมาทำเป็นเวลา.. ทำแล้วพัก.. เดินจงกรม... นั่งสมาธิ ด้วย"
เมื่อกล่าวถึงอดีต หลวงพ่อมักพูดด้วยอารมณ์ขัน และไม่ปิดบังปัญหาส่วนตัวต่างๆ ที่ท่านผ่านพบ เพื่อให้เป็นคติแก่ศิษย์ว่า... แม้ครูบาอาจารย์เอง เมื่อเริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ก็ผจญกับปัญหาแทบเอาตัวไม่รอดเหมือนกัน และท้ายสุดของเรื่องคิดผิดเพราะบริขารนี้ หลวงพ่อ เล่าต่อไปว่า
... งานอะไรก็ตาม ถ้าเราทำไม่เสร็จทิ้งเอาไว้ แล้วมาทำสมาธิ ใจมันก็ไปติดอยู่ที่งานนั่นแหละ สลัดทิ้งก็ไม่ได้ งัดยังไงก็ไม่หลุด... "
คิดว่าจะลองฝึกให้ได้ว่า เมื่อทำงานก็ให้ทำไป เมื่อเลิกทำก็ให้วาง ให้มันเป็นคนละอย่าง ไม่ต่อกัน ไม่ให้เป็นทุกข์ แต่ว่ามันหัดยากเหลือเกิน ตัวอุปทานมั่นหมายนี้ละยาก... วางยาก
หรือการคิดว่า ทำอะไรก็ทำให้เสร็จไปเลย มันจะได้รู้แล้วรู้รอด ไม่ต้องมาคอยเป็นห่วง คิดอย่างนั้นก็ถุกอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าคิดให้ถึงธรรมะจริงๆ มันไม่ถูก เพราะไม่มีอะไรจะรู้จบได้เลย ถ้าใจเรายังไม่ยอมเลิก... ไม่ยอมหยุด...
ต่อมาจึงทดลองฝึกหัด ทำอะไรก็ไม่รีบเร่งให้เสร็จเร็วๆ ทำไปพอสมควร วางไว้ ไปเดินจงกรม พอจิตกลับไปพะวงกับงานก็ทักท้วงตัวเอง ฝึกตัวเองไม่ให้คิดอย่างนั้น...
ปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยมา คือฝึกให้ได้ว่า ถึงเวลาวางก็ให้มันวาง ให้มันเป็นคนละอย่าง... ทำก็ได้ วางก็ได้ ให้มันขาดกันไปเลย ฝึกไปก็ค่อยเบาไป ง่ายขึ้น จึงได้รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ คือความอยากนั่นเอง
จากนั้นมา ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีแต่ความสดชื่นเบิกบาน จนกระทั่งถักฝาบาตรเสร็จ แต่พอไปบิณฑบาต เขาก็ยังมองอยู่ว่า พระองค์นี้ทำไมใช้บาตรแปลกๆ และใหญ่อย่างนั้น"
เมื่อตอบปัญหา คนดีอยู่ไหนแก่ตนเองแล้ว หลวงพ่อเกิดความปลื้มปิติ เยือกเย็นใจมาก และได้ถือเอาความรู้นั้น เป็นคติสอนใจตลอดมา
หลวงพ่อได้ออกจาริกต่อตามวิถีทางของพระกรรมฐาน ผู้ไม่ยึดติดและไม่ยอมให้สิ่งใดผูกมัดตน แม้จะต้องผ่านพบกับสิ่งต่างๆ ทั้งดีและเลว ทั้งสุขและทุกข์ ก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย การเห็นโทษ และมีปัญหาในการสลัดออก
วันหนึ่งหลวงพ่อ เดินผ่านดงใหญ่ถึงวัดร้างใกล้หมู่บ้านโคกยาว จังหวัดนครพนม พบว่า สถานที่วิเวกดี จึงหยุดพักอยู่ที่นั่น ได้รับความสงบระงับดีมาก ท่านเล่าถึงประสบการณ์เกี่ยวกับ การภาวนาที่วัดร้างนั้นให้ฟังว่า...
"คืนนั้นประมาณห้าทุ่มกว่าๆ ขณะเดินจงกรมอยู่ รู้สึกแปลกๆ มันแปลกมาตั้งแต่ กลางวันแล้ว รู้สึกว่าไม่คิดอะไรมาก มีอาการสบายๆ
เมื่อเดินจงกรมเมื่อยแล้ว จึงขึ้นไปนั่งกระท่อมเล็กๆ ขณะจะนั่งคู้ขาเข้าแทบไม่ทัน จิตมันอยากสงบ มันเป็นของมันเอง... พอนั่งลงแล้ว จิตมันก็สงบจริงๆ รู้สึกตัวหนักแน่น...
คืนนั้นในหมู่บ้านมีงาน เขาร้องรำทำเพลงกันได้ยินอยู่ แต่จะทำให้ไม่ได้ยินก็ได้ เมื่อไม่เอาใจใส่ก็เงียบไม่ได้ยิน จะให้ได้ยินก็ได้ยิน ไม่รู้สึกรำคาญ...
ดูจิตกับอารมณ์ก็เห็นตั้งอยู่คนละส่วน เหมือนวัตถุสองอย่างตั้งอยู่โดยไม่ติดกัน ก็เลย เข้าใจว่า เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ถ้าน้อมไปก็ได้ยินเสียง ถ้าว่างก็เงียบ ถ้ามีเสียงขึ้น ก็เห็นจิต กับเสียงเป็นคนละส่วน...
จิตใจขณะนั้นไม่เอาใจใส่ในสิ่งอื่นเลย ไม่มีความเกียจคร้าน ไม่มีความเหนื่อย ไม่มี ความรำคาญ ของเหล่านี้ไม่มีในจิต มีแต่ความพอดีหมดทุกอย่างในนั้น..."
ต่อมาจึงหยุดพัก หยุดแต่การนั่งเท่านั้น ใจเหมือนเก่า ยังไม่หยุด ดึงเอาหมอนมาวางไว้ ตั้งใจจะพักผ่อน เพื่อเอนกายลงจิตยังสงบอยู่อย่างเดิม พอศรีษะถึงหมอนมีอาการน้อมเข้าไปในใจ คล้ายกับมีสายไฟอันหนึ่งไปถูกสวิตช์ไฟฟ้าเข้า มีความรู้สึกว่ากายระเบิดเสียงดังมาก ความรู้ที่มีอยู่นั้นละเอียดที่สุด พอมันผ่านตรงจุดนั้น ก็หลุดเข้าไปในโน้น แม้อะไรๆ ทั้งปวงก็ส่ง เข้าไปไม่ได้ ไม่มีอะไรเข้าไปถึง หยุดอยู่ข้างในสักพักหนึ่ง ก็ถอยออกมา จนถึงปกติธรรมดา ที่ว่า ถอยออกมานี้ ไม่ใช่ว่าเรา จะให้ถอย มันเป็นเอง เราเป็นเพียงผู้ดู ผู้รู้เท่านั้น...
เมื่อจิตเป็นปกติดังเดิมแล้ว คำถามก็มีขึ้นว่า นี่มันอะไร ? คำตอบเกิดขึ้นว่า สิ่งเหล่านี้ ของมันเป็นเอง ไม่ต้องสงสัยมัน คิดเท่านี้จิตก็ยอม
เมื่อหยุดอยู่สักพักหนึ่ง ก็น้อมเข้าไปอีก เราไม่ได้น้อมมันน้อมเอง พอน้อมเข้าไปๆ ก็ไป ถูกสวิตช์ไฟดังเก่า ครั้งที่สองนี้ร่างกายแตกละเอียดหมด แล้วหลุดเข้าไปข้างในอีก... เงียบ!... ยิ่งกว่าเก่า ไม่มีอะไรส่งเข้าไปถึง... พอสมควรแล้ว ก็ถอยออกมาตามสภาวะของมัน... ในเวลานั้น มันเป็นอัตโนมัติ มิได้แต่งว่าจงเป็นอย่างนั้น จงเป็นอย่างนี้ จงออกอย่างนั้น จงออกอย่างนี้... ไม่มี เราเป็นเพียงผู้ทำ ความรู้ดูเฉยๆ
เมื่อนั่งพิจารณาก็น้อมเข้าไปอีก ครั้งที่สามนี้ โลกแตกละเอียดหมด ทั้งพื้นปฐพีแผ่นดิน แผ่นหญ้าภูเขาเลากาเป็นอากาศธาตุหมด ไม่มีคนหมดไปเลย ตอนสุดท้ายนี้ไม่มีอะไร
ดูยาก พูดยาก ของสิ่งนี้ ไม่มีอะไรมาเปรียบปานได้เลย สามขณะนี้ใครจะเรียกว่าอะไร ใครรู้ เราจะเรียกว่าอะไรเล่า
หลวงพ่อกล่าวต่อไปอีกว่า... "ที่เล่ามานี้เป็นเรื่องจิตตามธรรมชาติทั้งนั้น เราไม่ต้องการอะไร มีศรัทธาก็ทำเข้าไปจริงๆ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน
เมื่อถึงวาระที่เป็นอย่างนี้ออกมาแล้ว โลกนี้ แผ่นดินนี้ มันพลิกหมด ความรู้ความเห็น มันแปลกไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง
ในระยะนั้น ถ้าคนอื่นเห็น อาจจะว่าเราเป็นบ้าจริงๆ ถ้าผู้ควบคุมสติไม่ดีอาจเป็นบ้าได้ เพราะมันไม่เหมือนเก่าสักอย่างเลย เห็นคนในโลกไม่เหมือนเก่า แต่มันเป็นเฉพาะเราผู้เดียว เท่านั้น แปลกไปหมดทุกอย่าง ความนึกคิดทั้งหลายทั้งปวงก็เช่นกัน เขาคิดไปทางโน้น แต่เราคิดไปทางนี้ เขาพูดมาทางนี้ เราพูดไปทางโน้น มันต่างกับมนุษย์ไปหมด นี่เป็นเรื่องกำลังของสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิถึงขั้นนี้ ถึงที่สุดของมันแล้ว
เราเอาความสงบขั้นนี้มาพิจารณา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มากระทบ ใจ... อารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้นมา เราเอาความสงบมาพิจารณารู้เท่าทันหมด รู้ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี อาการที่พิจารณาออกมาจากความสงบเหล่านี้แหละ เรียกว่า ปัญญา เป็นวิปัสสนา"
การจาริกธุดงค์ของหลวงพ่อในช่วงนั้น มี พระเลื่อม เป็นเพื่อนร่วมทาง วันหนึ่งท่านทั้งสองหยุดพักอยู่ในป่าข้างหมู่บ้าน ได้มีเด็กชายพิการสองคนมาช่วยอุปัฏฐากรับใช้ ต่อมาเด็กทั้งสอง เกิดสนใจการผจญภัยในชีวิตพระธุดงค์ จึงขอร่วมเดินทางติดตามไปด้วย ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ขัดข้อง
เมื่อเด็กได้รับความยินยอมจากพ่อแม่แล้ว ก็เก็บข้าวของส่วนตัวออกเดินทางไปกับหลวงพ่อ เด็กชายทั้งสองเป็นผู้มีศรัทธาอุตสาหะมาก แม้ต้องตรากตรำกรำแดดลมฝน อดบ้าง อิ่มบ้าง ก็ไม่เคยปริปากบ่น คงร่วมเดินทางต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ทั้งที่มีความไม่สมประกอบทั้งสองคน
คนหนึ่งหูหนวก ส่วนอีกคนหูดี ตาดี แต่ขาเป๋ เวลาบุกป่าฝ่าหนามขาเกี่ยวกันล้มลุก คลุกคลาน แต่ความพิการหาได้เป็นอุปสรรคของการสร้างความดีไม่ เมื่อหลวงพ่อสอนให้นั่งสมาธิ และเดินจงกรม เด็กก็ปฏิบัติตามด้วยความตั้งใจ
การมีเด็กพิการมาร่วมทาง ทำให้หลวงพ่อได้พิจารณาเห็นหลักแห่งกรรมชัดเจนขึ้น อีกทั้ง ยังได้คติสอนใจตัวเองด้วยว่า คนพิการทางกายอย่างเด็กทั้งสองนี้ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร แต่คนที่ใจพิการเพราะขาดคุณธรรม ย่อมนำความเดือดร้อนมาสู่ตนและคนอื่นอย่างมากมาย
วันหนึ่งหลวงพ่อกับคณะพากันเดินทางมาถึงป่าใหญ่ ใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตจังหวัดนครพนม ขณะนั้นพลบค่ำพอดีจึงตกลงกันหยุดพักในป่าแห่งนั้น
เมื่อเดินทางสำรวจหาที่กางกลด สังเกตเห็นทางเก่าที่คนเลิกใช้แล้ว เป็นทางทอดยาวจากดงใหญ่ที่พัก ไปสู่ภูเขาที่สูงทะมึนอยู่เบื้องหน้า นึกถึงคำพูดของคนโบราณว่า "เข้าป่าอย่านอนขวางทางเก่า" หลวงพ่อคิดสงสัยอยากพิสูจน์ให้เห็นจริง จึงให้พระเลื่อมเข้าไปพักในป่า ส่วนตัวท่านกางกลดขวางทางเก่าเอาไว้ ให้เด็กทั้งสองคนนอนพักอยู่ตรงกลาง
แสงตะวันลับหายจากขอบฟ้า เสียงนกกลางคืนและสัตว์กู่ก้องสะท้านป่า แสงเรืองๆ ระยิบ ระยับจากหิ่งห้อย สว่างวูบวาบเป็นจุดเล็กๆ บนผืนความมืดอันกว้างใหญ่ แต่งเติมสีสันบรรยากาศ ของป่ายามราตรีให้วิเวกวังเวงยิ่งนัก ค่ำคืนในป่าเปลี่ยว คงมีเพียงมุนีผู้แสวงหาอิสรธรรมเท่านั้น ที่ยินดีนำชีวิตตนมาแขวนไว้กับภยันตรายเช่นนี้
ดึกสงัด... หลังนั่งสมาธิภาวนาแล้ว หลวงพ่อตลบผ้ามุ้งขึ้นไว้บนหลังกลด เพื่อให้เด็กทั้งสอง มองเห็นตัวท่าน จะได้อุ่นใจคลายกลัวบ้าง จากนั้นก็เอนตัวลงนอนตะแคงขวา กำหนดสติดูลมหายใจ แล้วหลับตาลง
ชั่วขณะหนึ่ง ได้ยินเสียงฝีเท้าแผ่วเบาก้าวเป็นจังหวะบนใบไม้แห้ง เสียงเดินเข้ามาใกล้จน ได้ยินลมหายใจ และกลิ่นสาบสางลอยมากับสายลม หลวงพ่อคงนอนนิ่งอยู่ ทั้งที่รู้ดีว่านั่นคือเสียง และกลิ่นของเสือจิตหนึ่งห่วงชีวิต แต่กลัวอยู่ไม่นาน อีกจิตหนึ่ง ออกมาแย้งและให้เหตุผลว่า
อย่าห่วงมัน เลยชีวิตนี้ แม้ไม่ถูกเสือกัดตาย... เราก็ต้องตายอยู่แล้ว การตายขณะเดินตาม
รอยบาทพระศาสดานี้ ชีวิตย่อมมีความหมาย เราขอยอมเป็นอาหารของเสือ
หากว่าเราเคยกินเลือดกินเนื้อกันมา จะได้ชดใช้หนี้ให้หมดกันไป
แต่หากไม่เคยเป็นคู่เวรคู่กรรม มันคงไม่ทำอะไรเรา "
แล้วก็น้อมดวงจิต ระลึกถึงพระรัตนตรัย และความบริสุทธิ์ของตัวเองเป็นที่พึ่งในยามนั้น เมื่อคิดได้เช่นนี้ จิตใจเบาสบายขึ้นมาทันทีไม่มีกังวลใดๆ สักครู่หนึ่งเสือก็จากไป
การใช้ชีวิตในป่าของพระธุดงค์กรรมฐาน มีภยันตรายเป็นด่านคอยตรวจสอบความเข้มแข็งอดทนอยู่ทุกขณะ ทั้งภัยจากธรรมชาติ คือ ดิน ฟ้า อากาศ และภัยจากสัตว์ร้าย ซึ่งรายล้อมพร้อมที่จะเป็นอันตรายแก่ผู้อยู่ป่าได้ทุกเมื่อ แต่หาก "พระป่ามีธรรมาวุธ" คือ ขันติและ ปัญญา รวมทั้งความบริสุทธิ์ใจ ย่อมฟันฝ่าอุปสรรคในป่าออกมาได้โดยปลอดภัย พร้อมกับกำลังใจที่กล้าแกร่งยิ่งขึ้น
หลวงพ่อกล่าวว่า "เมื่อเราทอดอาลัยในชีวิต ไม่เสียดายไม่กลัวตาย ความเบาสบายใจจะ เกิดขึ้น สติปัญญาก็จะเฉียบคมกล้า จิตเกิดความองอาจไม่สะทกสะท้านต่อสิ่งใด แม้แต่ ความตาย"
ภัยภายนอกจากธรรมชาติผ่านพ้นไป ภัยภายในจากกิเลสเริ่มก่อตัวขึ้นมาอย่างเงียบเชียบ แต่กลับเร่าร้อนกว่าไฟใดๆ
ในปี พ.ศ. 2491 นั้น หลวงพ่อกับคณะคือ พระเลื่อมและเด็กผู้ติดตาม คงร่วมทุกข์สุข แสวงหาสันติธรรมไปบนเส้นทาง ทุรกันดารต่อไป
การอยู่ร่วมกันนานๆ ธาตุแท้ของแต่ละคนย่อมปรากฏขึ้นมา หลวงพ่อคิดพิจารณาใน ตอนนั้นว่า "การเดินธุดงค์ร่วมกับผู้มีปฏิปทาไม่เสมอกัน นำมาซึ่งความเนิ่นช้าในการปฏิบัติ" และยังรู้สึกอึดอัดรำคาญหมู่คณะ จิตใจจึงวุ่นวายคิดอยากปลีกตัวไปตามลำพัง
หลวงพ่อได้ตกลงแยกทางกับพระเลื่อม โดยพระเลื่อมอาสานำเด็กนั้นกลับไปส่งที่บ้านเดิม ส่วนท่านเองได้เดินทางไปตามลำพัง เมื่อถึงวัดร้างในป่าใกล้บ้านข่าน้อย นครพนม ได้พิจารณาเห็นว่า เป็นสถานที่เหมาะแก่การปฏิบัติภาวนา จึงพักอยู่ที่นั่นหลายวัน
การแยกจากหมู่คณะในระยะแรกๆ รู้สึกเป็นอิสระมาก ไม่ห่วงกังวลต่อสิ่งใด ได้เร่งความเพียรเต็มที่ สำรวมระวังอินทรีย์ (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ตลอดเวลา แม้ไปบิณฑบาตก็ไม่มองหน้าใคร เพียงแต่รู้ว่าเป็นหญิงหรือชายเท่านั้น
เสร็จจากการขบฉัน เก็บบริขารแล้ว หลวงพ่อเดินจงกรมทันที ปฏิบัติสม่ำเสมอเช่นนี้อยู่หลายวัน จนเท้าบวมเป่งขึ้นเพราะเดินจงกรมมาก จึงหยุดเดินแล้วนั่งสมาธิอย่างเดียว ใช้ความอดทนระงับความเจ็บปวดอยู่ถึงสามวัน เท้าจึงเป็นปกติ ในระหว่างนั้นไม่ยอมพบปะกับใครทั้งสิ้น เพราะเห็นการคลุกคลี คือ ความเนิ่นช้าของการประพฤติธรรม
อยู่มาวันหนึ่ง กิเลสที่หลบไปเพราะเกรงอำนาจสมาธิธรรม ได้กลับออกมารบกวนจิตใจ ให้วิตกว่า... "เราอยู่คนเดียวเช่นนี้ ถ้าได้เณรตัวเล็กๆ หรือผ้าขาวสักคนมาอยู่ด้วยคงดีนะ เพื่อจะได้ใช้อะไรเล็กๆ น้อยๆ" ...แต่ภาวะความคิดก็แย้งกันเองว่า...
"เอ! ตัวแกนี่สำคัญนะ เบื่อเพื่อนมาแล้ว.. ยังอยากได้เพื่อนมาทำไมอีกเล่า ?"
"เบื่อก็จริงแต่เบื่อเฉพาะคนไม่ดี ส่วนเวลานี้ต้องการเพื่อนที่ดีๆ"
"คนดีอยู่ที่ไหนล่ะ ? เห็นไหม หาคนดีได้ไหม เพื่อนร่วมทางกันมาก็คิดว่าเขาไม่ดีทั้งนั้น คงคิดว่าตัวเองดีคนเดียวละมั้ง จึงหนีเขามานี่"
จากนั้นก็ถามและตอบตัวเองอีกว่า... "คนดีอยู่ที่ไหน... คนดีอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราดี ไปไหนมันก็ดี เขาจะนินทา สรรเสริญ จะว่าอะไร ทำอะไร เราก็ยังดีอยู่ แต่ถ้าเรายังไม่ดี เขานินทา เราก็ จะโกรธ ถ้าเขาสรรเสริญ เราก็ยินดี... ก็หวั่นไหวอยู่อย่างนั้น
เมื่อรู้ว่าคนดีอยู่ที่ไหนแล้ว เราจะมีหลักในการปล่อยวางความคิด เราจะไปอยู่ที่ไหน.. คนเขาจะรังเกียจ หรือเขาจะว่าอะไร ก็ถือว่าไม่ใช่เขาดีหรือเขาชั่ว เพราะดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวเรา... เราย่อมรู้จักตัวเราเองยิ่งกว่าใคร..."
หลบหลีกออกจากบ้านต้องในคืนนั้น หลวงพ่อเดินทางไปยังวัดป่าหนองฮี ตำบลหนองฮี อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ซึ่งมี หลวงปู่กินรี จนฺทิโย เป็นประหนึ่งร่มโพธิธรรมอยู่ที่นั่น ได้ศึกษา ประพฤติปฏิบัติอยู่กับท่านหลายวันได้กำลังใจคืนมา ขณะนั้นเป็นฤดูแล้ง เป็นช่วงเวลาที่เหมาะต่อ การหลีกเร้นภาวนาในป่าตามธรรมชาติ หลวงพ่อจึงกราบลาหลวงปู่กินรีออกจาริกธุดงค์ ต่อไป
ครั้นย่างเข้าฤดูฝนในปี พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นพรรษาที่เก้าของหลวงพ่อ ท่านได้ย้อนกลับมา จำพรรษากับหลวงปู่กินรีที่วัดป่าหนองฮี
หลวงปู่กินรี เป็นครูบาอาจารย์ที่มีปฏิปทาเรียบง่าย น่าเคารพบูชา ชอบใช้ชีวิตโดดเดี่ยว มั่นคงในข้อปฏิบัติ มักน้อยสันโดษ บริขารเครื่องใช้ของท่าน ล้วนแต่เป็นของปอนๆ เรียบง่าย และส่วนใหญ่ท่านทำใช้เอง แม้ไม่สวยงาม แต่มันจะถูกใช้จนสึกกร่อนไปตามกาลเวลา
อุปนิสัยพิเศษอย่างหนึ่งของหลวงปู่คือ ความขยันในการงานทุกอย่างที่พระจะพึงทำได้ ท่านไม่เคยอยู่นิ่งเฉย นอกจากขณะทำสมาธิภาวนาเท่านั้น แม้ในวัยชรา หลวงปู่ก็ยังรักษาปฏิปทา นี้ไว้อย่างมั่นคง
หลวงพ่อเล่าถึงปฏิปทาของหลวงปู่กินรีว่า...
"ในพรรษาที่อยู่กับหลวงปู่นั้น ท่านเองทำความเพียรอย่างหนัก เดินจงกรมทั้งวัน ฝนตก แดดออกอย่างไรก็เดินจนทางจงกรมเป็นร่องลึก แต่หลวงปู่กลับไม่ค่อยเดิน บางครั้งเดินเพียงสองสามเที่ยวก็หยุด แล้วไปเอาผ้ามาปะ มาเย็บ หรือไม่ก็นั่งทำนั่นทำนี่...
เราประมาท คิดว่าครูบาอาจารย์จะไปถึงไหนกัน เดินจงกรมก็ไม่เดิน นั่งสมาธินานๆ ก็ไม่เคยนั่ง คอยแต่จะทำนั่นทำนี่ตลอดวัน แต่เรานี่ปฏิบัติไม่หยุดเลย ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่รู้ไม่เห็น อะไร ส่วนหลวงปู่ปฏิบัติอยู่แค่นั้น จะไปรู้เห็นอะไร
เรามันคิดผิดไป หลวงปู่ท่านรู้อะไรๆ มากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้นๆ และไม่ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก เป็นสิ่งที่ลุ่มลึกแฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์ กว้างไกลเกินปัญญาของเราเป็นไหนๆ ...ตัวแท้ของการปฏิบัติ คือ ความพากเพียรกำจัดอาสวะ กิเลสภายในใจ ไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูอาจารย์มาเป็นเกณฑ์..."
ในปีนั้นจีวรของหลวงพ่อเก่าคร่ำคร่า จนผุขาดเกือบทั้งผืน แต่ท่านไม่ยอมออกปากขอใคร หลวงปู่กินรีก็มองดูอยู่เงียบๆ ไม่ว่ากระไร
วันหนึ่งหลวงพ่อนั่งปะชุนจีวรอยู่ ขณะเย็บผ้าคิดอยากให้เสร็จเร็วๆ จะได้หมดเรื่องหมดราว แล้วไปนั่งภาวนา เดินจงกรมให้เต็มที่สักที หลวงปู่กินรีเดินมาหยุดยืนดูอยู่ใกล้ๆ หลวงพ่อก็ยังไม่รู้ เพราะจิตกังวลอยากเย็บผ้าให้เสร็จเร็วๆ เท่านั้น
หลวงปู่ถามว่า "ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า"
"ผมอยากให้เสร็จเร็วๆ"
"เสร็จแล้วท่านจะไปทำอะไร" หลวงปู่ถามอีก
"จะไปทำอันนั้นอีก"
"ถ้าอันนั้นเสร็จ ท่านจะทำอะไรอีก" หลวงปู่ถามต่อ
"ผมจะทำอย่างอื่นอีก"
"เมื่ออย่างอื่นของท่านเสร็จ ท่านจะไปทำอะไรอีกเล่า ?"
หลวงปู่กินรีให้ข้อคิดว่า... "ท่านรู้ไหม นั่งเย็บผ้านี่ก็ภาวนาได้ ท่านดูจิตตัวเองสิว่า เป็นอย่างไร แล้วก็แก้ไขมัน ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า ทำอย่างนี้เสียหายหมด ความอยากมันเกิดขึ้นท่วมหัว ท่านยังไม่รู้เรื่องของตัวเองอีก"
คำพูดสั้นๆ แต่มีความหมายและเจือความปรารถนาดีของหลวงปู่ ทำให้หลวงพ่อหูตาสว่างขึ้น ท่านปรารภให้ฟังว่า "เรานึกว่าทำถูกแล้ว อุตสาห์รีบทำ อยากให้มันเสร็จเร็วๆ จะได้ภาวนา แต่ที่ไหนได้ เราคิดผิดไปไกลทีเดียว"
อยู่ต่อมา หลวงปู่กินรีปรารภกับญาติของท่านว่า มีพระรูปหนึ่งมาอยู่ด้วย จีวรขาดหมดแล้ว ช่วยตัดจีวรใหม่ถวายท่านด้วย พอดีมีคนเอาผ้าฝ้ายด้ายดิบเนื้อหนามาถวาย หลวงปู่จึงให้แม่ชีช่วยกันตัดเย็บถวายหลวงพ่อ
หลวงพ่อเล่าถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า... "ดีใจที่สุด ใช้อยู่ตั้งหลายปีก็ยังไม่ขาด ใส่ในครั้งแรกดูกระปุกกระปุย เพราะผ้าหนาและแข็งกระด้าง ยิ่งใส่สังฆาฏิซ้อนเป็นสองชั้น ยิ่งดูตัวเองอ้วนใหญ่ เวลาเดินดังสวบสาบๆ เพราะผ้ามันแข็ง ใส่ไปตั้งปีสองปีผ้าจึงอ่อน แต่เราก็ไม่เคยบ่น ได้อาศัยผ้าผืนนั้นมาเรื่อย ยังนึกถึงบุญคุณของท่านอยู่เสมอ..."
เมื่อปัญหาเรื่องเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทำให้ใจเร่าร้อนกระสับกระส่ายถูกดับลงด้วยการภาวนา และหยาดน้ำใจจากครูอาจารย์ผ่านไปไม่นาน ศัตรูคู่ปรับเก่าที่หลวงพ่อเคยออกปากในทำนองว่า ยากยิ่งสิ่งเดียวได้หวนกลับมาย่ำยีจิตใจอีกครั้ง...
คืนหนึ่ง ขณะหลวงพ่อพากเพียรภาวนาอยู่ตามลำพัง อารมณ์แห่งกามราคะได้เกิดขึ้น
คืนนั้นไม่ว่าจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือพลิกยุทธวิธีใดๆ ก็ไม่สามารถกำราบกิเลสมารลงได้ รูปลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิงปรากฏเป็นมโนภาพเด่นชัดตลอดเวลา เกิดความรู้สึกทางธรรมชาติของบุรุษอย่างรุนแรง จนแทบภาวนาต่อไปไม่ได้ ต้องอดทนต่อสู่กับความรู้สึกและมโนภาพนั้นอย่างยากเย็น
หลวงพ่อเปรียบเทียบว่า จิตใจถูกกิเลสย่ำยีอย่างหนักพอๆ กับครั้งที่เกิดความกลัวในคราวอยู่ป่าช้าครั้งแรกนั่นเอง
การต่อสู้กับราคะดำเนินไปอย่างดุเดือด ขับเคี่ยวรุกไล่กันอยู่ถึง 10 วัน ความรู้สึกและมโนภาพนั้นจึงได้เลือนหายไป
หลังการต่อสู้กับกามราคะในวันนั้น หลวงพ่อยิ่งบากบั่นเร่งภาวนาหนักขึ้น เพื่อสร้างเกราะและภูมิคุ้มกันภัยให้มั่นคง ศรัทธาและกำลังใจกล้าแกร่ง ขึ้นตามลำดับ
คืนหนึ่งในพรรษานั้น หลังทำความเพียรเป็นเวลาพอสมควร หลวงพ่อได้ขึ้นไปพักผ่อนบนกุฏิ กำหนดสติเอนกายลงนอน พอเคลิ้มไปเกิดนิมิตเห็นหลวงปู่มั่น เดินเข้ามาหยุดยืนอยู่ใกล้ๆ แล้วส่งลูกแก้วให้ลูกหนึ่ง พร้อมกับกล่าวว่า...
ชา... เราขอมอบลูกแก้วนี้แก่ท่าน มันมีรัศมี สว่างไสวมากนะ "
ในนิมิตนั้น ปรากฏว่าตนได้ลุกขึ้นนั่ง พร้อมกับยื่นมือไปรับลูกแก้วจากหลวงปู่มั่นมากำไว้ พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นแปลกใจมาก ที่พบตัวเองนั่งกำมืออยู่ดังในความฝัน จิตใจ เกิดความสงบระงับผ่องใส พิจารณาสิ่งใดไม่ติดขัด มีความปลื้มปิติตลอดพรรษา
หลวงพ่อได้อยู่ร่วมศึกษาปฏิบัติ และอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กินรีเรื่อยมา กระทั่งถึงฤดูแล้ง ของปี พ.ศ. 2491 หลวงพ่อจึงได้กราบลาครูบาอาจารย์จาริกต่อไป
ก่อนจาก หลวงปู่กล่าวตักเตือนศิษย์สั้นๆ ตามอัธยาศัยของท่านว่า
ท่านชา อะไรๆ ในการปฏิบัติ ท่านก็พอสมควรแล้ว...
แต่อยากให้ระวังเรื่องการเทศน์นะ "
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)