คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เชี่ยนหมาก ในภาษาอีสานเรียกได้หลายอย่าง เช่น เชี่ยนหมาก เฆี่ยนหมาก และ ขันหมาก แต่ก็หมายความถึงภาชนะกล่องไม้ที่มีไว้ใส่ชุดหมากพลูเช่นเดียวกัน นิยมทำจากไม้เนื้อแข็งและไม้มงคล จากการศึกษาพบว่า เชี่ยนหมากไม้นี้มีอายุราว 50 - 150 ปี ทำขึ้นเพื่อใส่ชุดหมากพลูต้อนรับแขกผู้มาเยือน ใช้ประดับบ้านเป็นเครื่องแสดงฐานะ นอกจากนั้น ยังใช้ประกอบพิธีกรรมการแต่งงาน ซึ่งจะต้องจัดเชี่ยนหมากไปสู่ขอฝ่ายเจ้าสาวอีกด้วย เชี่ยนหมากอีสานที่มีลักษณะเป็นกล่องไม้นี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่พบในภูมิภาคอื่นในประเทศ
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปแบบของเชี่ยนหมากอีสานมีสองแบบ คือ ทรงกล่อง และทรงคางหมู (แอวขันปากพาน) ส่วนประกอบมี 4 ส่วน ได้แก่ 1) ปากหรือส่วนบนสุด แบ่งออกเป็น 3 ช่อง ใช้ใส่ชุดหมากพลู 2) ลำตัว เป็นจุดเด่นในการแสดงลวดลาย ส่วนมากเป็นลายเรขาคณิตในแบบต่างๆ เช่น ฟันปลา สามเหลี่ยม เส้นกากบาท ข้าวหลามตัด เส้นทแยง รองลงมาคือ ลายประแจจีน ลายดอกไม้ ลายเส้นอิสระ และลายคล้ายฮูปแต้ม เช่น พญานาค เทวดา คน สัตว์ พรรณไม้ 3) ส่วนเอว 4) ส่วนขา
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม บ่งบอกฐานะของเจ้าของเป็นการแสดงฝีมือเชิงช่างของฝ่ายชาย เพราะต้องนำเชี่ยนหมากที่สวยงามมอบให้แก่ฝ่ายเจ้าสาวเมื่อจัดขันหมากไปสู่ขอ
การกินหมากและทำเชี่ยนหมากเกิดขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ก็มีแพร่หลายในแถบประเทศเอเชีย เช่น จีน อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย เป็นต้น การกินหมากในสมัยโบราณนั้นถือว่าเป็นสิ่งดีงาม เพราะคนฟันดำเป็นลักษณะของคนสวย (นึกภาพให้ออกหน่อยนะครับว่าสวยยังไง) นอกจากนี้ยังให้ความเพลิดเพลินในเวลาเคี้ยวหมาก ช่วยฆ่าเวลาและทำให้ฟันแข็งแรงทนทานอีกด้วย
เชี่ยนหมาก ในอีสาน เริ่มมีบันทึกเกี่ยวกับ "เชี่ยนหมากอีสาน" ในพุทธศตวรรษที่ 25 โดยนักวิจัยชาวตะวันตกคือ Dr.Howard Kaufman นักมานุษยวิทยา กล่าวว่า เชี่ยนหมาก หรือ กระบะหมาก นี้เริ่มทำในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยช่างไม้คนหนึ่งในหมู่บ้านเล็กๆ ในแถบจังหวัดมหาสารคาม แล้วค่อยๆ แพร่หลายออกไปในเขตต่างๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยช่างไม้จะทำให้แก่ผู้ที่จ้างทำ เพื่อจะนำไปมอบแก่คู่หมั้นของตน (ปวีณา ป้อมสุข ๒๕๔๗ : ๓๖) อัชราพร ทอนศรี ได้ทำการวิจัยเรื่อง องค์ประกอบของลายขันหมาก ที่พบใน ตำบลกุดน้ำใส อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า เชี่ยนหมากมีอายุ อยู่ระหว่าง 2-3 ชั่วคน ราว 50-150 ปี ซึ่งมักเป็นมรดกตกทอดจากย่า ยายทวด สู่ยายย่า สู่แม่เฒ่า พ่อเฒ่า ในปัจจุบัน โดยมีตำนานเล่าว่า ช่างไม้ในมหาสารคามทำเชี่ยนหมากเพื่อไปสู่ขอสาวที่ตนรัก ด้วยความประณีตสวยงามจึงทำให้ชายผู้นั้นสมหวังในความรักได้
ครั้นต่อมาในสมัย รัชกาลที่ 5 งานช่างแขนงนี้ก็ได้เข้ามาสู่มือของ พระภิกษุ สามเณร ผู้บวชเรียน โดยทำเชี่ยนหมากตอบแทนโยมอุปัฏฐาก พ่อออก แม่ออก ที่ดูแลยามตนบวช พระบวชเรียนสมัยนั้นจะได้รับการฝึกให้ทำงานช่างฝีมือต่างๆ เช่น การทำ พวงแก้ว (ที่เก็บแก้วน้ำ หรือโจกน้ำ ที่ล้างสะอาดแล้ว ไว้รับแขกผู้มาเยือน) ไม้คาน แอบยา เชี่ยนหมาก จนไปถึงการสร้างกุฏิ สิม (โบสถ์) ธาตุ พระธาตุ เจดีย์ต่างๆ
จากการสัมภาษณ์ คุณยายทองใส แสงสุวอ และคุณยายทองสุข วิเศษปัดสา อายุ 78 ปีทั้งสองท่าน เพิ่งเลิกกินหมากได้ไม่นาน เนื่องจากสุขภาพทางช่องปาก (ปูนกัด) ได้เล่าให้ฟังถึงสภาพสังคมในอดีตว่า "เมื่อก่อนหญิงทุกบ้านจะกินหมาก พวกยายเริ่มกินหมากมาตั้งแต่อายุ 24-25 ปี ส่วนมากผู้หญิงจะกินหมากกัน ส่วนผู้ชายจะสังสรรค์กันด้วยเหล้าและยาสูบ จึงไม่นิยมเคี้ยวหมากนัก"
เชี่ยนหมาก สมัยก่อนมีอยู่ทุกบ้าน บ้านละอัน คุณค่าเปรียบเหมือนผ้าทอ บ้านไหนเชี่ยนหมากสวย ประณีตกว่า ก็แสดงว่ามีฐานะดี บางทีก็มีการประชันเชี่ยนหมากแข่งบารมีกันบ้าง แต่เลิกใช้ไป 30-40 ปีแล้ว
แต่การกินหมากมาถูกสั่งให้เลิกอย่างจริงจัง ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ท่านต้องการปฏิวัติวัฒนธรรม เพราะเห็นว่าการกินหมาก เป็นสิ่งสกปรก เลอะเทอะ ไม่ทันสมัย เชี่ยนหมากจึงไม่ค่อยพบเห็นกันมา ตั้งแต่ในครั้งกระนั้นแล้ว ยิ่งต่อมามี หมากฝรั่ง เข้ามาขาย สามารถเคี้ยวเล่นได้ คนสมัยใหม่ก็ไม่ลองกินหมาก ส่วนคนสูงอายุก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ การกินหมากจึงคงจะค่อยๆ สูญหายไปในที่สุด ตัวเชี่ยนหมากจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปเช่นกัน ก็กลายเป็นของสะสมเล่นไปอีกอย่างหนึ่ง พวกที่ทำด้วยโลหะมีค่า ประดิษฐ์อย่างสวยงาม ก็จะมีราคาแพง และหายากมาก แต่ต่างกันคนละแบบ
"เชี่ยนหมาก" เป็นภาชนะสำหรับใส่หมากพลูของ คุณย่า คุณยาย ที่ปัจจุบันหาดูได้ยากมากแล้ว เด็กในปัจจุบันคงไม่มีใครรู้จัก "เชี่ยนหมาก" นอกจากในชนบทห่างไกล ที่ยังมีคุณย่า คุณยาย กินหมากกันอยู่
เชี่ยนหมาก เป็นเสมือนสิ่งที่ใช้ในการต้อนรับแขกประจำบ้านในสมัยก่อน ไม่ว่าแขกไปใครมาเยี่ยมเยียน เจ้าของบ้านก็จะยกเชี่ยนหมากมาต้อนรับ กินหมากกินพลูกันไปคุยกันไป ช่วยสร้างให้บรรยากาศเป็นกันเอง ถือเป็นธรรมเนียมพื้นบ้านของไทยอย่างหนึ่ง ชาวบ้านเรียกเชี่ยนหมากต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กระทายหมาก ภาคเหนือตอนบน และภาคอีสานเรียก ขันหมาก ถ้าเป็นของใช้ในรั้วในวัง ราชาศัพท์ระดับพระมหากษัตริย์เรียก พานพระศรี ระดับราชวงศ์เรียก พานหมากเสวย
ลักษณะของเชี่ยนหมาก คือ ทำมาจากไม้เนื้ออ่อน ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม ก้นของเชี่ยนหมากเป็นพื้นเรียบใช้ไม้แผ่น เชี่ยนหมากทรงสูง 1 เชี่ยนหมากมีอยู่ 4 ช่อง แต่ละช่องมีสิ่งของอยู่ข้างใน เช่น ตลับหมาก, ตลับยาเส้น, เต้าปูน, ซองพลู, เต้าปูนที่ใส่ปูนแดงไว้, หมากสดและหมากแห้ง, กรรไกรหนีบหมาก (มีดสะนาก) และตะบันหมาก นอกจากนั้นยังมีสิ่งของกระจุกกระจิกที่อยู่ในเชี่ยนหมากอีกหลายอย่าง เช่น ขี้ผึ้ง, เข็มเย็บผ้า, ด้ายเย็บผ้า, ปุยฝ้าย, ยาดม, พิมเสน, การะบูน, ยาหม่อง และเศษเงินเหรียญที่อยู่ในเชี่ยนหมาก
เชี่ยนหมากไม้อีสานโบราณ กะต่าหมากยุคต่อมา และกล่องสังกะสีที่พอพบเห็นได้ในปัจจุบัน
เชี่ยนหมาก สามารถบ่งบอกถึงฐานะของเจ้าของได้ เพราะทำจากวัสดุที่แตกต่างกันไปตามฐานะ ชาวบ้านทั่วไป มักจะทำเชี่ยนหมากด้วยไม้ธรรมดาๆ หรืออาจหากล่องใบใหญ่ๆ (กล่องขนมคุกกี้) มาทำเชี่ยนหมาก หากมีฐานะดีหรือมีหน้าที่การงานดี เชี่ยนหมากอาจจะทำด้วยเครื่องเขิน ทองเหลือง เงิน หรือไม้แกะสลัก
แต่ตามชนบทอีสานส่วนใหญ่จะพบเชี่ยนหมากที่ทำด้วยไม้ทั่วไป เช่น ไม้สัก ไม้เนื้อแข็ง หรือไม้เนื้ออ่อน จำพวกไม้ขนุน ไม้มะม่วงป่า นิยมทาสีผิวนอกเป็นสีดำทำจากเขม่าคลุกกับน้ำมันยาง แล้วจึงแกะสลักลวดลาย โดยใช้มีดคมกรีดเป็นลายเส้นอย่างง่ายๆ เช่น ลายรูปขนมเปียกปูน ลายเส้นลวด ลายดอกผักแว่น บ้างก็แต่งลายด้วยสีแดง สีเหลือง สีปูนขาว สีเขียว ตามแต่จะหาวัสดุได้ในท้องถิ่น
รูปทรงของเชี่ยนหมากอีสาน มีส่วนฐาน 2 แบบ คือ แบบขันหมากตัวผู้ มีเดือยอยู่ระหว่างขาเชี่ยนทั้งสอง แบบขันหมากตัวเมีย ทำขาแหวกขึ้นไปจรดเอวทั้ง 4 ด้าน ภายในเชี่ยนแบ่งเป็นช่องสำหรับใส่เครื่องเชี่ยน เช่น หมากพลู ตลับขนาดต่างๆ ใส่เครื่องสำหรับกินกับหมาก ยกเว้นเต้าปูนนิยมวางไว้นอกเชี่ยน แต่บางคนก็รวมไว้ด้วยกัน
อุปกรณ์การกินหมากมี เต้าปูน มีดสะนาก ตะบันหมาก และเชี่ยนหมาก
ท่านที่สนใจเชี่ยนหมาก ติดต่อที่ กลุ่มทำเซี่ยนหมากและสลักไม่ติดลายลงรักษ์ บ้านเลขที่ 31 บ้านดอนขวาง หมู่ 4 ตำบลหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี 34140 โดยคุณเสถียร บุตรน้อย โทรศัพท์ 084-538-5026, 045-385-026
ผลิตภัณฑ์เชี่ยนหมาก จังหวัดอุบลราชธานี
หมายเหตุ : เว็บไซต์แห่งนี้รวบรวมเรื่องราวของหัตถกรรมพื้นถิ่นอีสานที่น่ารู้ บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่าย จ่ายแจกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ หัตถกรรมบางชิ้นได้อ้างอิงแหล่งผลิต จัดทำไว้ หากท่านสนใจโปรดติดต่อกันได้โดยตรงตามชื่อ/ที่อยู่ที่ปรากฏในท้ายบทความครับ
[ อ่านความรู้เพิ่มเติม : งานวิจัยเชี่ยนหมากอีสาน | เชี่ยนหมาก 2 ]
ประชากรในภาคอีสาน นอกจากจะมีความหลากหลายของลักษณะทางชาติพันธุ์แล้ว ยังมีวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวเป็นหลัก เช่นเดียวกันกับประชาชนส่วนใหญ่ในภาคเหนือ แม้ว่าคนอีสานจะบริโภคข้าวเหนียวเหมือนกับคนภาคเหนือก็ตาม แต่เครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องด้วยการบริโภคข้าวเหนียวของภาคอีสาน มีลักษณะเฉพาะตนที่ต่างไปจากของภาคเหนือ ถึงแม้จะใช้ประโยชน์ในการใส่ข้าวเหนียวเช่นเดียวกัน เครื่องจักสานภาคอีสาน ที่เกี่ยวเนื่องด้วยวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวที่สำคัญ คือ หวดและมวยนึ่งข้าวเหนียว พร้อมภาชนะบรรจุเช่น ก่องข้าว และกระติบข้าว
เครื่องจักสานพื้นบ้านที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ "ตะกร้า" หรือที่ภาษาถิ่นเรียก "กะต้า" หรือ "กะต่า" ซึ่งเป็นภาชนะจักสาน ที่ใช้กันแพร่หลายในภาคอีสาน สำหรับการบรรจุสิ่งของ เช่น ข้าวเปลือก ผัก ผลไม้ ฯลฯ และยังมีเครื่องจักสานที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง ซึ่งส่วนมากจะเป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่มากกว่าอย่างอื่น และเครื่องจักสานที่ใช้กันมากในชีวิตประจำวัน ก็เป็นพวกภาชนะต่างๆ เช่น ครุ กระบุง ตะกร้า กระจาด เปลเด็ก เครื่องจักสานที่จำเป็นต่อชีวิตอีกอย่างหนึ่งคือ เครื่องมือจับและดักสัตว์น้ำ เช่น ไซ ข้อง ตุ้มดักกบ ซ่อน ปุ่มขังปลา ฯลฯ นอกจากนี้มีเครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับการเลี้ยงไหม และการทอผ้า เช่น กะเพียดปั่นฝ้าย กระด้ง เลี้ยงไหม จ่อเลี้ยงไหม เครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับขนบประเพณีของชาวอีสาน ได้แก่ ขันเบ็งหมาก ขันกระหย่อง สำหรับใส่ดอกไม้ และเครื่องบูชาต่างๆ และก่องข้าวขวัญ สำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง เป็นต้น
ปัจจุบันนี้ เครื่องมือเครื่องใช้ประเภทเครื่องจักสานบางอย่างของทางภาคอีสานนั้น ใกล้สูญหายไปแล้ว แม้แต่ในชนบทก็ยังเหลือน้อย หรือแทบไม่หลงเหลืออยู่เลยนอกจากในพิพิธภัณท์ เป็นที่น่าใจหายไม่น้อย เมื่อวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมค่อยๆ ถูกกลืนทีละน้อยๆ จากค่านิยมใหม่ๆ อันเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าก้าวล้ำทางเทคโนโลยีต่างๆ มีวัสดุทดแทน เช่น พลาสติก เข้ามาแทนที่ไม้ไผ่ หวาย ซึ่งมีกรรมวิธีการผลิตที่ง่ายกว่า ทำได้คราวละมากๆ และมีราคาถูก จึงอดคิดเป็นห่วงไม่ได้ถ้าหากภูมิปัญญา และความภาคภูมิของบรรพบุรุษต้องมาเลือนหายไปอย่างไม่ย้อนคืนใน พ.ศ. นี้ หากไร้การสืบทอดต่อไป
เครื่องจักสานที่เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ในสังคมอีสานผู้ชายและผู้หญิงจะแบ่งงานกันทำ “ยามว่างจากงานในนา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายจักสาน” ดังปรากฏในวรรณกรรมคำสอนเรื่องพระยาคำกอง (สอนไพร่) งานจักสานที่ทำจากไม้ไผ่ สามารถแยกเป็นกลุ่มตามประโยชน์ใช้สอยได้ 2 ประเภท คือ
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เครื่องจักสานได้ถูกออกแบบมาเป็นอย่างแยบยล ตอบสนองการใช้สอยได้เป็นอย่างดี การสานที่ขัดกันทำให้เกิดช่อง ลวดลาย มีมิติ สีสันแบบธรรมชาติ และไม้ไผ่ยังมีกลิ่นเฉพาะตัว
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องสิริมงคล เช่น ดักเงิน ดักโชค เก็บเงิน เป็นต้น
เครื่องจักสานที่เป็นเครื่องมือดัก/จับสัตว์ เป็นเครื่องมือที่ทำจากไม้ไผ่ ได้แก่ ข้อง ไซ ซูด ต้อน ตุ้มบอง ตุ้มปลายอน โด่ง ลอบ จั่น สุ่ม หลี่ ฯลฯ เครื่องมือดักจับสัตว์เหล่านี้ เกิดจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ที่มีหลากหลายก่อนประดิษฐ์เครื่องมือ และยังสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาของชาวบ้านได้หลายอย่าง เช่น ความชาญฉลาดในการเลือกสรรวัตถุดิบ ที่ตนมีความรู้ในด้านคุณสมบัติเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ไผ่นำมาดัดแปลง แปรรูปทำเป็นเครื่องจักสาน นอกจากนี้ ยังมีคุณค่าทางศิลปะและความงาม ซึ่งมีรูปทรง โครงสร้าง และลวดลายที่งดงามอย่างยิ่ง ยากที่จะหาเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทอื่นเทียบได้
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปทรงและลวดลายเกิดจากการจักสาน เครื่องมือดักและจับสัตว์น้ำแต่ละชนิดมีรูปทรงแปลกตา มีเอกลักษณ์ และมีลวดลายที่งดงาม
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม นำไปใช้ประกอบพิธีกรรม เช่น นำไซไปผูกเสาเอกในพิธียกเสาเอก สะท้อนความเชื่อเรื่องสิริมงคล ดักเงิน ดักโชค เก็บเงิน เป็นต้น
[ อ่านเพิ่มเติมจาก : อาชีพและเครื่องมือทำมาหากิน ]
แจ้งให้ทราบ : มีหลายท่านที่สนใจอยากได้ อยากซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านต่างๆ ผลผลิตจากชุมชนที่เรานำเสนอ ขอเรียนให้ทราบว่า ทางเว็บไซต์ประตูสู่อีสานของเราไม่ได้ทำการจำหน่าย หรือทำการตลาดนะครับ ถ้าท่านสนใจก็ไม่ยาก เปิดเว็บไซต์ OtopToday.com แล้วช็อปกันได้เลยครับ
เครื่องปั้นดินเผา เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของมนุษย์มา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มนุษย์ก็เริ่มรู้จักนำดินมาปั้นเป็นรูปร่างต่างๆ แล้วนำไปเผาไฟ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่งคงรูป เหมาะกับการนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ มากมาย เช่น หม้อน้ำ แจกัน ถ้วยชาม อิฐ เป็นต้น และเมื่อชุมชนใดมีการผลิตอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ก็จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นตน ทั้งในด้านคุณภาพและรูปแบบ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เครื่องปั้นดินเผา จึงเป็นศิลปวัตถุอย่างหนึ่ง ที่สามารถบ่งบอกถึงพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรม รวมถึงเทคโนโลยีของชนแต่ละเชื้อชาติได้เป็นอย่างดี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน ของไทยนั้น เป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ มีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ และมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผามาเป็นเวลายาวนาน หลักฐานเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาภาคอีสานที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดก็คือ ที่ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาเขียนสี ที่มีอายุเก่าแก่ถึงประมาณ 5,600 ปี ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก นอกจากนั้น ยังมีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผาโบราณในที่อื่นๆ เช่น บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ทุ่งสำริด จังหวัดนครราชสีมา รวมถึงกลุ่มโนนชัย ในเขตจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม เป็นต้น
เครื่องปั้นดินเผาที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ตั้งแต่นครราชสีมาขึ้นไป ว่าถึงรูปร่างมีตั้งแต่ไห โอ่ง ชาม กระปุก ขวด แจกัน โถ ตลับ และที่ทำเป็นรูปสัตว์ก็มี เช่น กระปุกเป็นรูปนก ไหเป็นรูปช้าง เป็นต้น
ว่าถึงวัตถุที่ทำมีทั้งที่ปั้นด้วยหินผสมดิน ดินสีแดง ดินขาว ส่วนผิวนั้น มีทั้งที่ไม่เคลือบและที่เคลือบ น้ำยาที่เคลือบนั้น มีทั้งชนิดที่กระเทาะง่ายและที่เคลือบแน่นอย่างเคลือบศิลาดอน หรือเคลือบแบบสังคโลก แต่นํ้ายานั้นไม่ดีเท่าของสังคโลกเท่านั้นเอง พูดถึงรูปแบบแล้วของที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่แพ้ที่พบแถวสุโขทัย หรือศรีสัชนาลัย พูดถึงความคงทนของที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคงทนมากทีเดียว เพราะผสมดินและหินอย่างดีและเผาด้วยไฟแรงสูงมาก ทำให้ภาชนะบางชิ้นแข็งแกร่ง ไม่เปราะ
สีเคลือบที่พบมีทั้งสีดำ สีน้ำตาลอมเหลือง สีเขียวอ่อน สีขาว ลวดลายเท่าที่พบถ้าเป็นภาชนะขนาดใหญ่ เช่น โอ่งหรือไห มักจะเป็นลายหวีลากเส้นโยงถึงกัน ถ้าเป็นของขนาดเล็ก เช่น กระปุกหรือขวด จะมีลายขีดๆ ลงมา เคยเห็นมีลายนูนเพียงชิ้นเดียว แต่เป็นของไม่ได้เคลือบ นอกนั้นเป็นลายที่ขูดลงไปในตัว เคยพบไหชนิดสี่หู ปากผาย ทรงป้อม ที่เรียกว่า ไหเชลียง หรือ ไหขอม มีอยู่ทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เคลือบสีดำ จะเป็นของที่ทำขึ้นในภาคนี้ หรือเอามาจากเชลียง (สุโขทัย) ก็ไม่ทราบแน่ เพราะยังไม่เคยพบที่ทำ
เครื่องปั้นดินเผาไฟสูง (Stoneware) ที่โดดเด่นของภาคอีสานมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ 5 แห่งใน 5 จังหวัด คือ บ้านด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา บ้านดอนกลาง บ้านโพนบก บ้านโพนเงิน อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย บ้านกลาง อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม บ้านท่าไห อำเภอเขื่องใน และบ้านท่าเตาไห อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่ง จัดว่าเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่สำคัญในการดำรงชีวิต เพราะใช้เก็บถนอมรักษาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น ใช้เป็นภาชนะใส่ข้าว น้ำดื่ม น้ำใช้ เกลือ ผักดอง ปลาแดก (ปลาร้า) ตลอดจนใช้เก็บน้ำตาล สุรา รวมทั้งเก็บนุ่นฝ้าย และเสื้อผ้า นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เป็นเครื่องครัวจำพวกครกแลพถ้วยชามต่างๆ ด้วย
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม มีรูปทรงหลากหลาย ลวดลายเกิดจากการขูด กด และประทับลายบนผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดมิติ และมีความสวยงามตามลักษณะของแต่ละท้องถิ่นมีความคงทนยาวนาน
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงแต่โบราณที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษโดยตรง มีวิธีคิด วิธีแก้ปัญหา ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์มายาวนาน เพื่อนำมาผลิตเป็นของใช้สอยในชีวิตประจำวัน และใช้ประโยชน์ในพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับความตาย
เครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำ (Earthenware) มีแหล่งผลิตอยู่ทั่วทุกจังหวัดในภาคอีสาน มีประวัติความเป็นมายาวนาน แหล่งที่มีชื่อเสียงมากคือ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาชนิดสีดำขูดลายในผิวเนื้อ ชนิดสีเทาลายเชือกทาบ ชนิดสีนวลก้นโค้ง และชนิดมีลายเขียนสีเป็นรูปและลวดลายต่างๆ เป็นต้น สันนิษฐานว่าใช้ประโยชน์ในพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับความตาย รวมถึงบริเวณแอ่งโคราชก็พบหลักฐานภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา เผาไฟต่ำ ทั้งที่ทำเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน และใช้ในพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับความตายกระจายอยู่ทั่วไป
ในยุคหลังให้ความสำคัญในการทำภาชนะดินเผ่า เพื่อประโยชน์ใช้สอยในการดำรงชีวิตมากขึ้นกว่าการประกอบพิธีกรรมฝังศพ เครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันนั้น ส่วนมากจะมีการตกแต่งผิวไม่มากนัก เพราะมุ่งประโยชน์ใช้สอยเป็นหลักสำคัญ ฉะนั้นจึงมักทำเป็นลวดลายขูดขีด ลายเชือกทาบ ฯลฯ ที่มักจะเกิดจากการใช้เครื่องมือตีผิวเนื้อ เพื่อขึ้นรูปทรงให้ได้ตามต้องการ อันจะมีผลทำให้สะดวกต่อการผลิต และเนื้อดินประสานกันแน่นมากขึ้น
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ลวดลายเกิดจากการนำเชือกมาทาบ ใช้เครื่องมือมีคมขูดขีดลวดลายต่างๆ มีรูปทรงกลมมน มีผิวสัมผัสทั้งเรียบปละหยาบ มีสีน้ำตาลอ่อน
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ใช้บรรจุกระดูกผู้ตายในประเพณีฝังศพของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ บางครั้งเรียก "หม้ออุทิศ"
แจ้งเพื่อทราบ : มีหลายท่านที่สนใจอยากได้ อยากซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านต่างๆ ผลผลิตจากชุมชนที่เรานำเสนอ ขอเรียนให้ทราบว่า ทางเว็บไซต์ประตูสู่อีสานของเราไม่ได้ทำการจำหน่าย หรือทำการตลาดนะครับ ถ้าท่านสนใจก็ไม่ยาก เปิดเว็บไซต์ OtopToday.com แล้วช็อปกันได้เลยครับ
โดยทั่วไป ชาวอีสานมีสังคมแบบเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือการทำนา ซึ่งต้องใช้เวลาตั้งแต่เริ่มการเพาะปลูกจนกระทั่งถึงการเก็บเกี่ยวประมาณ 7 - 9 เดือน ในแต่ละปีตลอดฤดูฝนและฤดูหนาว ส่วนเวลาว่างในช่วงฤดูร้อนประมาณ 3 – 5 เดือน ชาวอีสานจะทำงานทุกอย่างเพื่อเตรียมอุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการทำบุญประเพณี และการพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสต่างๆ เป็นวงจรของการดำรงชีพที่หมุนเวียนเช่นนี้ในแต่ละปี
“ยามว่างจากงานในนา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายจักสาน” เป็นคำกล่าวที่สะท้อนให้เห็นสภาพการดำรงชีวิตและสังคมของชาวอีสาน ดังนั้นการทอผ้าจึงเป็นงานสำคัญของผู้หญิง ผ้าที่ทอจะใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ เสื้อ ซิ่น (ผ้านุ่ง) ซ่ง (กางเกง) โสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ เครื่องนอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม และเครื่องใช้ที่จะถวายพระในงานบุญประเพณีต่างๆ เช่น ที่นอน หมอน ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้ากราบ ผ้าผะเหวด
ผ้าทออีสานนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะที่งดงาม ด้วยลวดลายที่นำมาจากวิถีชีวิตและธรรมชาติ เช่น ลายสัตว์ ลายพืชพรรณต่างๆ ผ้าทออีสานมีหลายประเภท ดังนี้
ผ้าขิด ตามความเชื่อของชาวอีสานถือว่า "ผ้าขิด" เป็นของสูง ใช้ห่อคัมภีร์ใบลาน ทำเป็นผ้าปูอาสนะ ผ้ากราบพระ นำมาเป็นผ้าคลุมหัวนาคในงานบวช ไม่นิยมใช้ผ้าขิดเป็นผ้านุ่งที่ต่ำกว่าเอว ผ้าขิดมีกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อนกว่าการทอผ้าธรรมดา กล่าวคือ ใช้ไม้หรือสะกิดซ้อนเส้นยืนขึ้นแล้วสอดเส้นพุ่งไปตามแนวเส้นยืนที่ถูกวัดซ้อนขึ้นนั้น จังหวะการสอดเส้นด้ายพุ่งทำให้เกิดลวดลายรูปแบบต่างๆ ต้องใช้ความพยายามในความอดทนอย่างสูงจึงจะสามารถทอให้เป็นผืนผ้าได้ ปัจจุบันนิยมทำเป็นผ้าห่ม ผ้าคลุมไหล่ หมอน เป็นของกำนัลของผู้หลักผู้ใหญ่ในการทอดกฐิน งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ลวดลายบนผ้าขิดคล้ายภาพกราฟิก เรขาคณิต ลวดลายมีหลายรูปแบบ เช่น สัตว์ พันธุ์ไม้ สิ่งของเครื่องใช้ และลายตามจินตนาการ มีสีหลายสีที่กลมกลืนมากกว่าตัดกัน
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ลวดลายบนผ้าขิดมีความสัมพันธ์กับประเพณีท้องถิ่น ตามความเชื่อในการดำรงชีวิตของชาวอีสาน ถือผ้าขิดเป็นของสูง
มัดหมี่ เป็นวิธีทอผ้าให้เกิดลวดลายที่เรียกว่า การมัดย้อม โดยมัดเส้นพุ่งหรือเส้นยืนด้วยเชือก ก่อนนำไปย้อมสีเพื่อให้เกิดสีและลายตามที่กำหนด แล้วจึงนำมาทอเป็นผ้าผืน เอกลักษณ์อันโดดเด่นของผ้ามัดหมี่อยู่ตรงที่รอยซึมของสี ที่วิ่งไปตามบริเวณของลวดลายที่ถูกมัด และการเหลื่อมล้ำในตำแหน่งต่างๆ ของเส้นด้ายเมื่อนำขึ้นกี่ทอ มีแม่ลายพื้นฐาน 7 ลาย คือ หมี่ขอ หมี่โคม หมี่บักจัน หมี่กงน้อย หมี่ดอกแก้ว หมี่ข้อ และหมี่ใบไผ่ ที่ดัดแปลงมาจากธรรมชาติ เช่น จากลายใบไม้ ดอกไม้ สัตว์ เป็นต้น ผ้ามัดหมี่ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม มีลวดลาย สีสันอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น มีความมันเลื่อมจากเส้นไหม
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม การใช้เวลาว่างจากการทำนาและการเก็บเกี่ยวมาทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน หรือทอผ้าเอาไว้ใช้ในงานประเพณีต่างๆ ลักษณะผ้าสามารถบอกสถานสมรสได้ ถ้ามีสามีแล้วจะเป็นผ้าสามชิ้นมาต่อกัน สำหรับหญิงสาวจะเป็นผ้าผืนเดียว
ผ้าแพรวา เป็นผ้าไหมเอกลักษณ์ของชาวกาฬสินธุ์ คำว่า "แพร" หมายถึง ผ้าผืนที่ยังไม่ได้ตัดเย็บ คำว่า "วา" หมายถึง ความยาว 1 วา ซึ่งชาวกาฬสินธุ์นิยมใช้เป็นผ้าสไบ ผ้าโพกหัว หรือผ้าพันคอ ใช้เฉพาะในโอกาสสำคัญเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานบุญ งานมงคลหรืองานประเพณีต่างๆ สามารถแสดงฐานะทางสังคมของผู้สวมใส่ เนื่องจากผ้าแพรวาของชาวภูไทในจังหวัดกาฬสินธุ์นั้น มีลวดลายวิจิตรงดงาม ต้องใช้ความสามารถและเวลาในการทอมาก ด้วยเป็นลายผสมระหว่างลายขิดกับลายจก บางผืนจึงอาจต้องใช้เวลาทอมากกว่า 3 เดือน เช่น ลายนาค ซึ่งเป็นลายเอกลักษณ์ของกาฬสินธุ์ มีความวิจิตรงดงามมากและละเอียดกว่าลายอื่นๆ จึงมีคุณค่าเปรียบเสมือนสมบัติติดกายของผู้สวมใส่
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปแบบลวดลายผ้าแพรวามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผ้าแพรวาของชาวภูไทแต่เดิมนั้นมีสีแดงคล้ำหรือสีปูนเป็นหลัก ปัจจุบันมีหลายสี
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยมีการทอลายต้นแบบไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอด เรียกว่า "ผ้าแซ่ว" ซึ่งจะทอไว้หลากหลายลาย
ผ้ายกทอง เกิดจากการรวบกลุ่มนักออกแบบ โดยการนำของ อาจารย์วีระธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นผ้าที่นำลวดลายไทยและลายชั้นสูงแบบราชสำนักโบราณประยุกต์ รวมเข้ากับการทอผ้าแบบพื้นเมืองตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ความโดดเด่นของผ้าเกิดจากการเลือกเส้นไหมที่เล็กและบางเบา นำมาผ่านกรรมวิธีการฟอก ต้ม แล้วย้อมสีธรรมชาติด้วยแม่สีหลัก 3 สี ประกอบด้วยสีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากแก่นแกแล สีครามจากเมล็ดคราม สอดแทรกด้วยการยกดอกด้วยไหมทองจากประเทศฝรั่งเศส ลวดลายที่ทอจะเป็นลายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และความเชื่อทางศาสนา ลายเรขาคณิต ลายแบบราชสำนักไทยโบราณ ปัจจุบันผลิตในนามของกลุ่มผ้าทอยกทอง "จันทร์โสมา" หมู่บ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ งานที่ทำให้มีชื่อเสียงคือ การทอผ้ายกทองทูลเกล้าถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (ในรัชกาลที่ 10) รวมถึงการทอผ้าสำหรับตัดเสื้อผู้นำ 21 ประเทศ และผ้าคลุมไหล่ภริยาที่เข้าประชุม APEC ปี 2003
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม มีความโดดเด่นที่เป็นผ้ายกทองชั้นสูง ทอมือ ลวดลายงดงาม วิจิตรพิสดาร สีสันที่ได้ส่วนใหญ่มาจากธรรมชาติ แต่มีความคงทนไม่ซีดจางเร็ว
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ ด้วยการออกแบบลวดลายที่สลับซับซ้อน งดงาม และศักดิ์สิทธิ์ จนกลายเป็นผ้าทอที่มีความงดงามอย่างมหัศจรรย์
ผ้าย้อมคราม เป็นผ้าฝ้ายย้อมสีที่ได้จากต้นครามธรรมชาติ ทนทานต่อการซัก สีครามที่ได้จากธรรมชาติเป็นสีที่ไม่ละลายน้ำ นำมาเปลี่ยนคุณสมบัติให้เป็นสีที่ละลายน้ำได้ตามกรรมวิธีโบราณ โดยไม่ใช้สารเคมี แล้วทำการย้อมเย็น โดยการจุ่มลงในหม้อครามแล้วผ่านออกซิเจน เปลี่ยนคุณสมบัติกลับคืนเป็นสีที่ไม่ละลายน้ำ จุ่มลงย้อมหลายๆ ครั้งจนกว่าจะได้โทนสีเข้มตามความต้องการ จึงทำให้สีไม่ตก และเส้นใยมีความเหนียวทนทานกว่าการย้อมโดยการต้ม มีรายงานการวิจัยรับรองว่า ครามมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพร ใส่แล้วดีต่อสุขภาพและป้องกันผิวของผู้สวมใส่จากรังสีอัลตร้าไวโอเลต ลวดลายที่พบบนผ้าย้อมครามแสดงถึงวิถีชีวิตและประเพณีวัฒนธรรมของผู้ทอ เช่น พรรณไม้และลายสัตว์
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ผ้าย้อมครามมีสีที่เป็นเอกลักษณ์สามารถย้อมให้เกิดโทนสีต่างๆ ได้ตามชนิดสีที่ผสมและเทคนิควิธีการ ผ้ามีกลิ่นเฉพาะตัวของเนื้อคราม
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ผลิตภัณฑ์ปลอดสารเคมี ขั้นตอนการผลิตประหยัดพลังงานและไม่สร้างมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม
สุขสีคราม : บ้านพันนา จังหวัดสกลนคร
มีหลายท่านที่สนใจอยากได้ อยากซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านต่างๆ ผลผลิตจากชุมชนที่เรานำเสนอ ขอเรียนให้ทราบว่า ทางเว็บไซต์เราไม่ได้ทำการจำหน่าย หรือทำการตลาดนะครับ ถ้าท่านสนใจก็ไม่ยาก เปิดเว็บไซต์ http://www.otoptoday.com/ แล้วช็อปกันได้เลยครับ
[ อ่านความรู้เพิ่มเติม : ผ้าทออีสาน 2 | ผ้ากาบบัวเมืองอุบล | การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม | ผ้าไหมสุรินทร์ | เครื่องมือทอผ้า ]
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)