foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

attalak isan

วรรณกรรม ผาแดงนางไอ่

ผาแดงนางไอ่ เป็นตำนานการเกิด "หนองหาน" ต้นลำน้ำปาว และมีเรื่องราวเกี่ยวพันกับวรรณคดีพื้นบ้านอีสาน เรื่อง ผาแดง นางไอ่ ตำนานรักอันลึกซึ้งของหนึ่งหญิงสองชาย เมื่อฝ่ายหนึ่งพลาดรักและถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย ก็กลายเป็นสงคราม ทำให้บ้านเมืองถล่มทลายกลายป็นหนองน้ำใหญ่ และวรรณคดีอีสานเรื่องนี้ก็เป็นปฐมเหตุแห่งบุญบั้งไฟ วัฒนธรรมประเพณีที่ยิ่งใหญ่ขึ้นชื่อลือชาของชาวอีสานมาแต่บรรพกาล

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เป็นวรรณคดีพื้นบ้าน และมีการถ่ายทอดลายเส้นแบบภาพประกอบวรรณคดีไทย

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม คดีเรื่องความกล้าหาญ ความรัก ความซื่อสัตย์ ก่อให้เกิดตำนานและประเพณีบุญบั้งไฟ

padaeng nang ai 07

ตำนานรักเมืองล่ม

จากหนังสือ : ประวัติพระธาตุนารายณ์เจงเวง โดย พระมหาประมวล ฐานทตฺโต, ดร. หน้า 44-53

อดีตรักเมืองล่ม ตำนานเมืองหนองหานที่เล่าขานกันมาช้านาน ประชาชนคนอีสานตั้งแต่เหนือจรดใต้ ต่างรู้จักกันดีทั่วหน้า นั่นก็คือ นิทานรักเรื่อง “ผาแดงนางไอ่” ตำนานรักอันสุดซึ้งของ “หนึ่งหญิง สองชาย” เมื่อฝ่ายหนึ่งพลาดรักและถูกทำร้าย จนถึงแก่ความตาย กลายเป็นศึกสงครามทำให้บ้านเมืองถล่มทลายกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ คือ “หนองหานหลวง” ซึ่งเป็นทะเลน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของภาคอีสาน และวรรณกรรมอีสานเรื่องนี้ ก็เป็นปฐมเหตุแห่งประเพณีอันยิ่งใหญ่ “บุญบั้งไฟ” ที่ขึ้นชื่อลือชาของชาวอีสานมาแต่บรรพกาล โดยตำนานรักเรื่องนี้เล่าไว้ว่า

พญาขอมผู้ครองมหานคร “เอกธิดา” หรือ “เอกชะธีตา” เมืองธิดาเดียว (บริเวณหนองหานหลวงในปัจจุบัน) มีธิดาชื่อว่า “ไอ่คำ” หรือ “ไอ่ใจเมือง” ซึ่งเป็นหญิงที่มีรูปร่างหน้าตาสดสวย สะคราญ จะหาสาวนางใดในไตรภพมาเทียมเทียบได้ไม่ นางจึงเป็นที่ต้องตาต้องใจของชายหนุ่มทั้งในเมือง และต่างเมือง เป็นที่กล่าวขานไปทั่วทุกหัวระแหง เจ้าชายแดนไกลหลายๆ หัวเมืองต่างหมายปอง อยากได้นางมาเป็นคู่ครองทั้งนั้น

หนึ่งในเจ้าชายเหล่านั้นคือ “ท้าวผาแดง” เจ้าชายแห่งเมืองผาโพง ทราบข่าวเล่าลือถึงสิริโฉมอันงดงามของไอ่คำ ก็เกิดความยินดี หลงใหล คลั่งไคล้ ใฝ่ฝัน หมายปองในตัวนางอย่างรุนแรง จนไม่สามารถจะอดรนทนไหวอยู่ในนครของตนเองได้ ท้าวผาแดงได้เดินทางรอนแรมมาที่นครเอกชะธีตา พร้อมทหารคนสนิท

padaeng nang ai 08

ตอนแรก ท้าวผาแดง ส่งสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ไปฝากให้นางไอ่ เพื่อผูกสัมพันธ์ไมตรี โดยให้ทหารมหาดเล็กคนสนิทช่วยเป็นสื่อติดต่อ ผ่านนางสนมคนรับใช้ใกล้ชิดของน่างไอ่ และทุกครั้งที่นางไอ่รับสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ สนมคนสนิทก็จะพร่ำพรรณนาถึงความรูปหล่อ สง่างาม องอาจ ผึ่งผาย กำยำ ล่ำบึก ของท้าวผาแดง ให้นางไอ่ฟัง จนนางเกิดความสนใจ และหลงรักท้าวผาแดง ในที่สุด ทั้งๆ ที่ทั้งสองคนไม่เคยได้เห็นหน้ากันเลย ด้วยอำนาจของบุพเพสันนิวาสบวกกับกามเทพได้แผลงศรรักปักอกทั้งคู่ จนไม่สามารถจะถอดถอนศรรักเล่มนี้ออกได้ ต่างฝ่าย ต่างละเมอ เพ้อฝัน ถึงกันและกัน

ในที่สุดด้วยแผนการของพ่อสื่อและแม่ชัก คือ ทหารมหาดเล็ก กับสนมคนสนิท ทำให้ทั้งคู่ได้พบกัน และได้ชื่นชมสมสวาทดังคาดหมาย สุดจะยับยั้งชั่งใจไว้ได้ แต่ทั้งคู่ก็ต้องพรากจากกันเพียงแค่ค่อนคืนเท่านั้น เพราะทั้งคู่ต่างลักลอบพบกัน ท้าวผาแดงจึงให้คำมั่นสัญญาว่า จะกลับมารับนางไอ่ไปเป็นชายาอย่างแน่นอน

ย่างเข้าเดือน 6 เจ้าผู้ครองนครเอกชะธีตา ออกประกาศไปยังเมืองอื่นๆ ให้มีการจุดบั้งไฟแข่งขัน ณ เมืองเอกชะธีตา โดยมีนางไอ่คำเป็นรางวัล หากบั้งไฟของเจ้าเมือง หรือเจ้าชายใดขึ้นสูงไม่มีใครสู้ได้ ก็จะได้นางไอ่ไปครอบครอง โดยกำหนดเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันงานบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นงานบุญครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อถึงวันงาน ผู้คนต่างก็หลั่งไหลมาจากทุกทั่วสารทิศ มีบั้งไฟจาก 2 เจ้าเมือง คือ พญาฟ้าแดด กับ พญาเชียงเหียน และอีก 1 เจ้าชาย คือ ท้าวผาแดง ได้นำบั้งไฟมาเข้าแข่งขันประลองในวันนั้น

padaeng nang ai 09

กล่าวถึงท้าวภังคี ลูกชายพญานาคผู้ครองนครบาดาล ก็เป็นนาคหนุ่มอีกตัวหนึ่งที่ได้ยิน กิตติศัพท์คำร่ำลือความงดงามของนางไอ่ ภังคีมีความใฝ่ฝันอยากยลสิริโฉมของนางไอ่ มานานเมื่อทราบข่าวมีการแข่งขันจุดบั้งไฟ ก็ออกจากนาคพิภพกับบริวารจำนวนหนึ่ง เข้าสู่เมืองเอกชะธีตา ท้าวภังคี ได้แปลงร่างเป็นกระรอกเผือก อีสาน เรียกว่า “กะฮอกด่อน” มีขนสีขาว ปากเท้าแดง กระโดดโลดเต้นไปมา ติดตามขบวนแห่บั้งไฟ ในคราวครั้งนั้นเพื่อต้องการจะยลโฉมนางไอ่ ทุกคนต่างใจจดใจจ่อ ที่จะเห็นการจุดบั้งไฟและคอยลุ้นว่าบั้งไฟของใครจะชนะ และได้นางไอ่ไปครอง ซึ่งการจุดบั้งไฟในครั้งนั้น พญาขอมเจ้าเมืองได้มีเดิมพันกับท้าวผาแดงว่า "ถ้าหากบั้งไฟของท้าวผาแดงชนะบั้งไฟของพญาขอมเจ้าเมืองได้ จึงจักได้นางไอ่เป็นคู่ครอง"

ปรากฏว่าบั้งไฟของพญาขอม พระบิดาของนางไอ่มีอาการ “ซุ” ไม่ขึ้นจากห้าง (นั่งร้าน) ส่วนบั้งไฟของท้าวผาแดงแตกระเบิดคาห้าง มีแต่บั้งไฟของท้าวฟ้าแดด เจ้าเมืองฟ้าแดดสูงยาง กับบั้งไฟของพญาเซียงเหียนที่ตะบึงขึ้นสู่ท้องฟ้านานถึง 3 วัน 3 คืน จึงตกลงสู่พื้นดิน

ผลการตัดสินแพ้ชนะในครั้งนั้นไม่มี เพราะท้าวพญาทั้งสองมีศักดิ์เป็นอาและลุงของนางไอ่ จึงไม่มีการยกธิดาไอ่คำให้กับผู้ใด ทั้งท้าวผาแดง และนางไอ่ต่างก็ผิดหวังในการแข่งขันในวันนี้ แต่ก็ไม่สามารถบอกความจริงได้ ต้องจำใจฝืนกลับสู่เมืองของตน เพื่อหาโอกาส หนทางอื่นอีกต่อไป

ส่วนท้าวภังคี เมื่อได้ยลโฉมพระธิดาไอ่คำแล้ว และเมื่อไม่มีผู้ใดชิงนางไอ่ไปเป็นคู่ครองได้ ก็คิดหมายปองอยากได้นางมาเป็นคู่ของตน เมื่อกลับสู่นาคพิภพแล้ว ก็ไม่เป็นอันกิน อันนอน เฝ้าเพ้อฝันถึงแต่ธิดาไอ่คำ เมื่อความรักกลุ่มรุม จนไม่สามารถจะอดทนได้ จึงได้ลักลอบออกจากเมืองบาดาล ปรากฏกายบนเมืองเอกชะธีตา โดยแปลงร่างเป็นกระรอกน้อยดังเดิม แต่ครั้งนี้ แขวนกระดิ่งน้อย ปีนป่าย เต้นไปมา อยู่บนต้นงิ้ว ข้างหน้าต่างของพระธิดาไอ่คำ วรรณกรรมอีสานพรรณนาเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

ภังคีท้าวแปลงเป็นกะฮอกด่อน แขวนขอคำเฮ็ดอ้อนต้อน ปากกัดกินดอกงิ้ว ตาสิ่งเบิ่งไอ่คำ”

เมื่อกระดิ่งทองส่งเสียงกังวานขึ้น นางไอ่คำได้ยินเกิดความสงสัย จึงออกมายืนที่หน้าต่างเห็นกระรอกเผือกตัวน้อย แขวนกระดิ่งทอง เต้นไปมา อยู่บนกิ่งงิ้ว ด้วยท่าทางน่ารัก น่าเอ็นดู ก็คิดอยากได้กระรอกเผือกนั้นเหลือประมาณ จึงสั่งให้หาคนล้อมจับแต่ก็ไม่มีใครจะจับกระรอกน้อยตัวนั้นได้ และกระรอกก็ยังเต้นไปมาอยู่บนต้นงิ้วต้นนั้นเหมือนกับการยั่วยุ ความคิดเอ็นดู กลับกลายเป็นความโกรธ นางจึงตัดสินใจให้นายพรานแม่นธนูยิงกระรอกตัวนี้ เมื่อจับเป็นไม่ได้ ก็จับตายซะเลย แต่คราวนี้กระรอกเผือกเหมือนจะรู้ว่านายพรานเอาจริง จึงกระโดดหนีจากต้นงิ้วต้นนั้น เต้นไปตามต้นไม้ต่างๆ ทั่วนคร จนกระทั่งเต้นไปจับอยู่บนต้นมะเดื่อต้นหนึ่งซึ่งกำลังมีผลสุกเต็มต้น

ผลกรรมแต่ปางก่อน และแรงอธิษฐานของนางไอ่ ในชาตินั้นตามมาทัน กระรอกเผือกเผลอตัวมัวแต่กัดกินลูกมะเดื่อสุกด้วยความหิว ก็โดนลูกศรของนายพรานทะลุกลางลำตัว ดิ้นทุรนทุรายก่อนสิ้นใจตาย ท้าวภังคีในร่างกระรอกเผือก ก็ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ร่ายมนต์อธิษฐานว่า “ขอให้ร่างกายของเราใหญ่โตเท่าช้างสาร เนื้อหนังของเราจงเพียงพอแก่การเลี้ยงดูผู้คนทั่วทั้งเมือง” สิ้นคำอธิษฐานกระรอกน้อยก็ขาดใจตาย หล่นลงจากต้นมะเดื่อในบัดดล

padaeng nang ai 05

จากกระรอกเผือกตัวน้อย กลับกลายเป็นกระรอกตัวใหญ่มหึมา นายพรานป่าวประกาศให้ชาวบ้านมาช่วยกันลาก เมื่อลากไปได้สักพักก็หมดเรี่ยวแรงที่จะลากต่อไปได้อีก จึงพากันมาแล่เนื้อกระรอกเผือก ณ จุดนั้น (บริเวณบ้านท่าแร่) แล้วแบ่งแจกจ่ายกันจนทั่วทั้งเมือง แม้แต่พระธิดาไอ่คำก็ได้รับส่วนแบ่งในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ยกเว้นแต่พวกแม่ฮ้าง แม่หม้าย ไม่ได้รับส่วนแบ่งเนื้อกระรอกเผือกในคราวครั้งนี้

... ขอเล่าอดีตชาติของท้าวภังคี  (ขั้นรายการตรงนี้เสียเลย) คือ ในชาติก่อนท้าวภังคีกับนางไอ่เป็นสามีภรรยากัน แต่ท้าวภังคีในชาตินั้นเป็นคนใบ้ นางไอ่ก็ดูแลปรนนิบัติสามีอย่างดียิ่ง ครั้งหนึ่ง ทั้งสองเดินทางไกลผ่านป่าเขาลำเนาไพร ได้มาเจอต้นมะเดื่อผลสุกเต็มต้นในระหว่างทาง ผู้เป็นสามีได้ปีนป่ายไปเก็บกินผลมะเดื่อสุก ไม่ได้คำนึงถึงภรรยาผู้นั่งคอยดูอยู่เบื้องล่าง และเอ่ยปากขอให้สามีโยนผลมะเดื่อสุกลงมาให้ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากสามี เมื่อเขารู้สึกอิ่มแล้วก็ได้ปีนลงมาแล้วเดินทางต่อไป

ผู้เป็นภรรยาไม่อาจเดินตามสามีได้เพราะตนเองหิวโหย จึงตะกายขึ้นต้นมะเดื่อต้นนั้น เก็บกินผลสุกจนพอแก่ความต้องการ เมื่อลงจากต้นมะเดื่อแล้วก็ออกเดินตามหาผู้เป็นสามี หาอย่างไรก็ไม่พบ หมดแรงนั่งกอดเข่าเหงาหงอย ทุกข์ตรมทรมาน เมื่อพอจะเดินต่อไปได้ก็ลุกขึ้นเดินทางต่อไป ถึงต้นไทรใหญ่ริมแม่น้ำ จึงลงอาบน้ำดื่มกิน จนเกิดความสุขสบายใจ กลับขึ้นมานั่งภายใต้ต้นไทร อธิษฐานจิตขึ้นว่า “ชาติหน้าขอให้สามีตายอยู่บนกิ่งไม้และแม้ได้พบเห็นกันก็อย่าได้เป็นสามีภรรยากันอีกเลย สาธุ” สามีในชาตินั้นได้กลับมาเกิดเป็นท้าวภังคี และถูกลูกศรนายพรานและตายบนกิ่งไม้ทุกประการ...

ในค่ำคืนที่ชาวเมืองเอกชะธีตา อิ่มหนำสำราญด้วยอาหารที่ปรุงจากเนื้อกระรอกเผือกตัวนั้น ณ เมืองนาคบาดาล พญานาคราชพอทราบข่าวว่า ภังคีนาคลูกรัก ถูกลูกศรตายอยู่บนเมืองเอกชะธีตา แม้ที่สุดเนื้อของภังคีนาค ก็ถูกพวกชาวเมืองเชือดเฉือนแบ่งปันกันกิน ก็บันดาลโทสะอย่างรุนแรง ดวงตาแดงกล่ำ ดั่งดอกชบา จึงยกพลโยธานาคขึ้นสู่เอกชะธีตานคร

เวลาดึกสงัดทุกคนหลับสนิท ก็เกิดเสียงกัมปนาทหวั่นไหว แผ่นดินได้ถล่มถลายกลายเป็นแผ่นน้ำไปทั่วทุกหนแห่ง ผู้ใดที่ได้กินเนื้อท้าวภังคีนาค คนผู้นั้นก็จมหายไปกับแผ่นน้ำ เมืองทั้งเมืองล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ในบัดดล คงเหลือไว้แต่บ้านของพวกแม่ฮ้าง แม่หม้าย ผู้ไม่มีโอกาสได้ลองลิ้มชิมรสเนื้อกระรอกเผือก จึงกลายเป็นเกาะแก่ง หรือ ดอน ท่ามกลางน้ำหนองหาน จนทุกวันนี้

กล่าวถึงท้าวผาแดง แห่งเมืองผาโพง เกิดอาการร้อนใจกระวน กระวาย มาหลายเพลา คิดถึงแต่นางไอ่ใจเมือง เพียงอย่างเดียว ได้รีบเร่งเดินทางมุ่งหน้าสู่เอกชะธีตานคร และเมื่อได้ทราบข่าวว่าเมืองกำลังถล่มถลายอยู่นั้น ก็กระโดดขึ้นหลังม้าบักสามม้าคู่ชีพ ห้อเข้าสู่ตำหนักธิดาไอ่คำ คว้าแขนอุ้มขึ้นม้าพาควบหนีไปอย่างไม่คิดชีวิต แต่อนิจจา ไอ่คำ ได้ลิ้มชิมรสเนื้อของท้าวภังคีจนอิ่มหนำไม่มีทางเสียแล้ว แม้ว่าม้าบักสามจะโดดโลดแล่นไป ณ ที่ใด แผ่นดินก็ถล่มถลายตามไปที่นั่น อีกทั้งเหล่าบริวารของพญานาคก็เนรมิตกายเป็นท่อนไม้ท่อนซุง ขวางกั้นเส้นทาง

padaeng nang ai 03

ขณะที่ท้าวผาแดงดึงเชือกบังคับม้าให้หาทางหนีอยู่นั้น มันเป็นช่วงเวลาเส้นยาแดงผ่าแปด หางของพญานาคก็ตวัดแหว่งกอดเกี่ยวรัดเอาร่างของไอ่คำออกจากอ้อมกอดอันอบอุ่นของท้าวผาแดง ไปได้ในบัดดล ร่างของไอ่คำค่อยๆ จมหายไปในแผ่นน้ำ ต่อหน้าต่อต้าท้าวผาแดง สุดวิสัยที่จะช่วยไอ่คำสุดที่รักไว้ได้ เมื่อสิ้นไอ่คำ ทุกสิ่งทุกอย่าง สงบเงียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท้าวผาแดงหันหลังกลับไปมองอดีตมหานครที่ยิ่งใหญ่ มีเพียงระรอกคลื่นที่ถูกลมพัดให้น้ำกระเพื่อมเท่านั้น มหานครเอกชะธีตา ที่เคยรุ่งเรืองต้องกลับกลายมาเป็นหนองน้ำใหญ่ เหลือไว้แต่ดอนแม่หม้าย และอดีตรักอันหวานชื่นเท่านั้น

เมื่อไม่มีไอ่คำ ผาแดงก็หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ได้แต่ตรอมตรม ระทมทุกข์ทรมานอยู่เพียงผู้เดียว และแล้วลมหายใจเฮือกสุดท้ายก็พรากชีวิตอันรันทดนั้น ท้าวผาแดงสิ้นใจตาย เพราะความอาลัยไอ่คำ สุดที่รักอย่างน่าเวทนายิ่งนัก และด้วยแรกพิษรักที่ไม่สมหวังนี้ทำให้วิญญาณของท้าวผาแดงกลายเป็นวิญญาณอาฆาตแค้นต่อพญานาค เมื่อวิญญาณของท้าวผาแดงและท้าวภังคีนาคพบกันเมื่อไหร่ การรบก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น ในการรบกันแต่ละครั้ง ใช้เวลารบกันถึง 7 วัน 7 คืน มีพื้นใต้น้ำหนองหานเป็นสนามรบ โดยไม่มีใครแพ้ ใครชนะ แต่ก็จะรบกันไปเรื่อยๆ ส่วนวิญญาณของไอ่คำ ถูกจองจำอยู่ใต้พื้นน้ำหนองหาน เพราะนางเป็นตัวการอาฆาตแค้นของวิญญาณทั้งสอง จนกว่าจะถึงพระศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย พระองค์จะเสด็จมาโปรดและตัดสินคดี จึงจะทำให้วิญญาณทั้งสามได้หลุดพ้น จากโซ่ตรวนแห่งความทุกข์ทรมานเพราะรักนี้คือ “โศกนาฏกรรมแห่งรัก” …!!!

padaeng nang ai 04

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้สติพุทธศาสนิกชนเกี่ยวกับความรักว่า

เพราะอาศัยตัณหา จึงเกิดการแสวงหา
เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมีการได้มา
เพราะอาศัยการได้มา จึงเกิดการตกลงใจ
เพราะอาศัยความตกลงใจ จึงเกิดความใคร่
เพราะอาศัยความใคร่ จึงเกิดการฝังใจ
เพราะอาศัยความฝังใจ จึงเกิดการหึงหวง
เพราะอาศัยความหึงหวง จึงเกิดความตระหนี่
เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงเกิดการปกป้อง  ”

เพราะอาศัยการปกป้อง จึงการการลงไม้ลงมือ ทะเลาะวิวาท แก่งแย่ง ขึ้นกูขึ้นมึง โกหก หลอกลวง หยาบคาย และฆ่ากันตาย อกุศลธรรม (ความชั่วร้าย) ทั้งปวงก็เกิดขึ้น (พระไตรปิฎกเล่มที่ 10 มหานิทานสูตร) เท่านี้หรือ “ความรักใคร” ตำนาน “ผาแดงนางไอ่” ก็หนีไม่พ้นจากหลักคำสอนวงจรแห่งทุกข์นี้ไปได้

ข้อคิดที่ได้:

ต้นเหตุที่เด่นชัดแห่งความทุกข์ หรือความชั่วร้ายในสังคมมาจาก ”ความอยาก“… เมื่ออยากก็แสวงหา… เมื่อแสวงหาก็ได้มา… ได้มาแล้วก็ตกลงใจ… เมื่อตกลงใจก็เกิดความรักใคร่ รักมากก็ฝังมาก… ฝังใจมากก็หวงมาก… หวงมากๆ ก็ตระหนี่ เห็นแก่ตัว… ตระหนี่มากก็พยายามปกป้องรักษากลัวสูญหาย… เมื่อพยายามปกป้องก็เป็นเหตุให้ถือศาสตราวุธ ทะเลาะเบาะแว้ง ด่าท่อ ส่อเสียดหรือโกหกตอแหลต่างๆ… ความทุกข์ความเลวร้ายจึงเกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ด้วยประการฉะนี้ฯ

padaeng nang ai 10

ท้าวผาแดง - นางไอ่

ปริวรรตจาก : อักษรธรรม 8 ผูก วัดสุทธาวาส บ้านโสกใหญ่ ตำบลลือ อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบัน จังหวัดอำนาจเจริญ)

เมืองสุวรรณโคมคำ หรือ เอกธีตา อยู่ทางทิศใต้ของเมืองหนองแส เมืองเอกธีตานี้มีพระยาขอมเป็นผู้ปกครอง มีนางจันทร์เป็นมเหสี มีธิดาสาวสวยคนหนึ่งชื่อ "ไอ่คำ" พระยาขอมมีน้องชาย 2 คน ให้ไปครองเมืองเชียงเทียน และเมืองสีแก้ว มีหลาน 3 คนให้ไปปกครองเมืองฟ้าแดด เมืองหงส์ และเมืองทอง นางไอ่คำเมื่ออายุได้ 15 ปี มีความงามเล่าลือไปทั่วทุกทิศ จนกระทั่งไปเข้าหูของท้าวผาแดงแห่งเมืองผาโพง ท้าวผาแดงจึงขึ้นขี่ม้ามาแอบหานางไอ่ และได้สมัครรักใคร่กันแล้วสัญญากันว่า จะทำพิธีสู่ขอและแต่งงานกันตามประเพณีในไม่ช้านี้

padaeng nang ai 02ยังมีเมืองอีกแห่งหนึ่งชื่อศรีสัตนาคนหุต มีสุทโธนาคครองเมือง มีโอรสชื่อภังคี สุทโธนาค นี้อพยพมาจากหนองแสลง เพราะผิดใจกับ สุวรรณนาค ผู้เป็นสหายเนื่องมาจากการแบ่งเนื้อเม่น คือ สุทโธนาคไม่พอใจเพราะได้น้อย คิดว่าสุวรรณนาคเล่นไม่ซื่อ จึงเกิดการทะเลาะกันเป็นสงครามอันยิ่งใหญ่ เดือดร้อนถึงพระอินทร์ต้องส่งเทพบุตรลงมาห้ามศึกสงคราม และเทพบุตรได้แบ่งเขตให้ทั้งสองอยู่คือ สุวรรณนาคปกครองฝั่งใต้ สุทโธนาคครองฝั่งเหนือและตะวันออก โดยแบ่งลงไปจรดฝั่งทะเล นาคทั้งสองจึงขุดคลองจากหนองแสลงสู่ทะเล โดยสุวรรณนาคขุดแม่น้ำน่านหรือโพระมิง ตั้งเมืองนันทบุรี ส่วนสุทโธนาคขุดแม่น้ำโขง และตั้งเมืองศรีสัตนาคนหุต

ครั้นถึงกลางเดือนหกพระยาขอมจะทำบุญบั้งไฟ จึงมีใบบอกบุญไปยังหัวเมืองต่างๆ ที่เป็นบริวารให้ทำบั้งไฟไปร่วมจุดในงาน ท้าวผาแดงไม่ได้รับใบบอกบุญ แต่ได้ทราบข่าวจึงจัดบั้งไฟหมื่นไปร่วมบุญด้วย แล้วได้พบนางไอ่คำเป็นครั้งที่สอง และได้รับการต้อนรับอย่างดี ในการจุดบั้งไฟ พระยาขอมให้มีการพนันกันว่า "ถ้าบั้งไฟของใครชนะจะให้ทรัพย์สมบัติและนางสนมกำนัล สำหรับท้าวผาแดงนั้นจะยกนางไอ่คำให้" ในเวลาจุดปรากฏว่า บั้งไฟของเมืองอื่นๆ ขึ้นหมด ส่วนของพระยาขอมไม่ขึ้น (ซุ) และของท้าวผาแดงแตกกลางบั้ง แต่พระยาขอมก็เฉยเสีย ไม่ทำตามสัญญา เจ้าเมืองต่างๆ จึงพากันกลับหมด ส่วนท้าวผาแดงก็กลับเมืองของตนพร้อมกับความทุกข์เพราะความรักและบั้งไฟไม่ขึ้น

งานบุญบั้งไฟนั้น ท้าวภังคี ลูกชายสุทโธนาคไม่ได้นำบั้งไฟมาร่วมด้วย แต่ได้แปลงกายมาร่วมงานด้วย และได้หลงรักนางไอ่คำด้วยเช่นกัน แต่ไม่มีโอกาสเข้าใกล้นางได้ จึงกลับบ้านไปด้วยความรักเต็มอก ครั้นถึงเมืองศรีสัตนาคนหุตแล้วก็ไม่เป็นอันกินอันนอน จึงลาพ่อเพื่อมาหานางไอ่คำอีก พ่อได้ห้ามไว้แต่ไม่สามารถห้ามปรามได้ เมื่อมาถึงเมืองเอกธีตาแล้ว ท้าวภังคีแปลงกายเป็นกระรอกด่อน (กระรอกเผือก) ส่วนบริวารก็แปลงเป็นสัตว์ กระรอกด่อนภังคี แขวนกระดิ่งไว้ที่คอด้วย ได้ปีนป่ายกระโดดไปตามต้นไม้ใกล้ปราสาทของนางไอ่คำ สายตาสอดส่ายหานางไอ่คำ นางไอ่คำเห็นกระรอกก็อยากได้จึงให้ตามนายพรานมาจับ นายพรานได้ยิงกระรอกด่อนด้วยธนู ก่อนตายกระรอกด่อนได้อธิษฐานว่า "ขอให้เนื้อข้าจงเอร็ดอร่อย และมีกินแก่คนทั้งเมือง" เมื่อกระรอกด่อนตายแล้วชาวเมืองก็แบ่งเนื้อกันกิน ยกเว้นแม่หม้าย เพราะเขาถือว่าไม่ได้ช่วยอะไร

ฝ่ายบริวารของภังคีเห็นเจ้านายของตนเสียทีเขาแล้ว ก็รีบกลับไปบอกท้าวสุทโธนาค ท้าวสุทโธนาคโกรธมาก จึงเกณฑ์ไพร่พลนับหมื่นเพื่อถล่มพระยาขอม ใครกินเนื้อภังคีต้องเอาให้ตายทั้งหมด กองทัพนาคจึงมุ่งสู่เมืองพระยาขอมทันที ในขณะเดียวกันท้าวผาแดงคิดถึงนางไอ่คำจนทนอยู่ไม่ได้ จึงรีบขึ้นม้าบักสามจากเมืองผาโพงสู่เอกธีตา เมื่อมาถึงนางไอ่คำก็ต้อนรับด้วยความดีใจ พร้อมทั้งจัดอาหารมาเลี้ยง เมื่อท้าวผาแดงรู้ว่าเป็นเนื้อกระรอกก็ไม่กิน

padaeng nang ai 01

แล้วบอกนางไอ่คำว่า "กระรอกนี้ไม่ใช่กระรอกธรรมดา เป็นท้าวภังคีแปลงตนมา ใครกินเนื้อกระรอกแล้วบ้านเมืองจะถล่มถึงตาย" พอตกกลางคืนกองทัพนาคก็มาถึงเมือง แผ่นปฐพีจึงถล่มโครมครามไปทั่ว ท้าวผาแดงจึงให้ไอ่คำเตรียมข้าวของบางสิ่งที่พอจะเอาไปได้ เช่น แหวน ฆ้อง และกลองประจำเมือง แล้วรีบขึ้นม้าซ้อนท้ายตน แล้วควบม้าบักสามออกจากเมืองทันที พญานาครู้ว่าไอ่คำกินเนื้อกระรอก กำลังหนีไปจึงติดตามไปติดๆ แผ่นดินก็ถล่มไปไม่หยุด นางไอ่คำต้องโยนฆ้องและกลองทิ้ง สุดท้ายก็โยนแหวนทิ้งเพราะเข้าใจว่า พญานาคตามมาเอาสิ่งเหล่านี้ แต่พญานาคก็ยังตามมาอีก ม้าบักสามก็ค่อยๆ หมดแรงลง พญานาคตามมาทัน แล้วเอาหางตวัดเกี่ยวเอาตัวนางไอ่คำลงมาจากหลังม้าจมน้ำหายไป ส่วนท้าวผาแดงก็ควบม้าหนีต่อไป บ้านใครที่ได้กินเนื้อกระรอกก็ได้ถล่มทลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่คือ "หนองหาน" นั่นเอง เหลือแต่บ้านแม่หม้ายที่ไม่ได้กิน จึงกลายเป็นดอนแม่หม้ายจนทุกวันนี้

ท้าวผาแดงกลับไปถึงเมืองผาโพงแล้ว เสียใจที่สูญเสียคนรักไปต่อหน้าต่อตา จึงอธิษฐานต่อเทพยดาว่า จะขอตายเพื่อไปสู้เอานางไอ่คำกลับคืนมา และตรอมใจตาย เป็นหัวหน้าผีได้นำกองทัพผีไปต่อสู้กับพญานาค กองทัพผีกับกองทัพพญานาคได้ต่อสู้กันอยู่นาน น้ำในบึงในหนองขุ่นข้น ดินบนบกกลายเป็นฝุ่นตลบไปหมด ร้อนถึงพระอินทร์ต้องลงมาระงับศึก ให้ทุกฝ่ายตั้งสติ เหตุทั้งหลายเป็นเพราะบุพกรรม และเลิกแล้วต่อกัน

ลำเรื่องต่อกลอน "ผาแดง-นางไอ่" คณะเพชรอุบล โดย ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม - โฉมไสว แสนทวีสุข

redline

backled1

attalak isan

วรรณกรรม นางคำกลอง

นางคำกลอง ผู้ประพันธ์คือ นันทวงศาจารย์ นักปราชญ์คนสำคัญในช่วง จ.ศ. 897 (พ.ศ. 2078) ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าโพธิสารราช ถึงช่วง จ.ศ. 933 (พ.ศ. 2114) สมัยพระไชยเชษฐาธิราช หนังสือเรื่อง นางคำกลอง จึงคาดว่าประพันธ์ในช่วง พ.ศ. 2078 - 2114 เรื่องเล่าว่า พระยารุ้ง (นกยักษ์) ลงมากินชาวเมืองเขนธานี เจ้าเมืองจึงนำพระธิดาไปซ่อนไว้ในกลองใหญ่ ต่อมาเจ้าชายจุลนีแห่งเมืองเป็งจาลไปพบ จึงนำพระธิดาออกมาจากกลอง แล้วยกนางเป็นมเหสี

jumpa 4ton 02

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ลักษณะคำประพันธ์ คือ กลอนเทพาวะ

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม คติเรื่องความอดทนและความกล้าหาญ สะท้อนขนบธรรมเนียม ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมอีสาน

นางคำกลอง หรือ จำปาสี่ต้น

jumpa 4ton bookผู้เขียนพยายามสืบค้นหาเรื่อง "นางคำกลอง" แล้วไม่พบ แต่เจอตัวละครที่มีชื่อเหมือนกัน (คล้ายกัน) ในนิทานเรื่อง "จำปา 4 ต้น" ซึ่งมีการผูกเรื่องราวไว้เหมือนกันทุกประการ (ผิดพลาดประการใด ท่านที่มีข้อมูลโปรดแจ้งให้ผู้เขียนทราบด้วย เพื่อปรับปรุงข้อมูลต่อไป) นิทานเรื่องนี้นำมาจาก หนังสือลำ เรื่อง “จำปาสี่ต้น” ของ คณะกรรมการวิทยาศาสตร์สังคม สถาบันค้นคว้าศิลปวัฒนธรรมและภาษาศาสตร์ ของ สปป.ลาว เรื่องราวมีอยู่ว่า...

เมืองจักขิน มีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีพ่อค้าวาณิชไปมาค้าขายอย่างเนืองแน่น อยู่ต่อมามีพญาฮุ้ง (เหยี่ยวรุ้ง) มาจับคนในเมืองกินทุกวัน เจ้าเมืองไม่อาจจะต่อกรกับพญาฮุ้งได้ มีผู้วิเศษที่เก่งกล้าสามารถหลายคนมาอาสาต่อสู้กับพญาฮุ้ง ก็ถูกจับกินจนหมดสิ้น เจ้าเมืองจึงนำพระธิดาชื่อ นางปทุมา ซ่อนไว้ในกลองยักษ์กลางเมือง พญาฮุ้งได้มาจับผู้คนกินจนกลายเป็นเมืองร้าง ประชาชนที่เหลืออยู่ต่างก็หนีไปอยู่เมืองอื่น

ท้าวจุลละนี ผู้ครองเมืองปัญจานคร ออกประพาสป่าล่าสัตว์ ได้หลงเข้ามายังเมืองร้าง จึงพาเสนาอำมาตย์สำรวจบ้านเมือง ได้พบกลองใบใหญ่อยู่กลางเมือง จึงได้ตีกลองเพื่อจะเป็นสัญญาณให้รู้ว่ามีคนมา ครั้นตีกลองก็ได้ยินเสียงหญิงสาวร้องอยู่ในกลองนั้น จึงใช้พระขรรค์ผ่าหนังหน้ากลองพบ นางปทุมา เมื่อนำออกมาถามไถ่ได้ความว่า พญาฮุ้งจะมากินคนเมื่อได้ยินเสียงกลอง พระบิดาจึงนำนางมาไว้ในกลองเพราะโหรได้ทำนายว่า "จะมีผู้วิเศษมาปราบพญาฮุ้งได้" เมื่อพญาฮุ้งบินมาจากการได้ยินเสียงกลอง ท้าวจุลละนีก็ฆ่าพญาฮุ้งตายต่อหน้านางปทุมา

ท้าวจุลละนีจึงรับนางปทุมาเป็นชายาพากลับเมืองปัญจานคร ท้าวจุลละนีมีมเหสีฝ่ายขวาก่อนแล้วชื่อว่า นางอัคคี ทั้งสองก็รักใคร่ปรองดองกันดี ครั้งเมื่อนางปทุมาตั้งครรภ์ ฝันว่า "พระอินทร์เอาแก้วมาให้ 4 ดวง" โหรทำนายว่าจะได้โอรสมีบุญบารมีมาก นางอัคคีอิจฉาเพราะนางไม่มีโอรส แต่กระนั้นก็ตามนางก็ยังทำดีต่อนางปทุมาเสมอต้นเสมอปลาย

jumpa 4ton 04

ครั้งเมื่อนางปทุมาจะประสูติโอรส นางอัคคีก็ออกอุบายเอาผ้าปิดตาปิดหูนางปทุมา โดยอ้างว่า "เป็นพระราชประเพณีของเมืองปัญจานคร" นางก็เอาลูกสุนัขมาเปลี่ยนลูกนางปทุมา แล้วให้นางทาสีนำกุมารทั้งสี่ไปลอยแพทิ้งน้ำไป เมื่อท้าวจุลละนีทราบว่า นางปทุมาคลอดบุตรเป็นสุนัขก็กริ้ว กล่าวหาว่านางสมสู่กับสุนัขจึงขับไล่ไปจากเมือง นางปทุมาอุ้มลูกสุนัขโดยเข้าใจว่าเป็นลูกของตน ไปอาศัยอยู่กับหญิงม่ายซึ่งเป็นคนใจร้าย ใช้นางทำงานหนักจนซูบผอม

กล่าวถึงกุมารทั้งสี่ที่ถูกลอยแพ แพได้ลอยไปติดอยู่ที่ท่าน้ำบ้านตายาย ตายายเห็นเป็นกุมารหน้าตาดีจึงเลี้ยงไว้ด้วยความเอ็นดู ความทราบถึงนางอัคคีว่ากุมารทั้งสี่ยังไม่ตาย จึงให้นางทาสีนำอาหารใส่ยาพิษมาให้กุมารกิน ตายายกลับจากนาเห็น กุมารทั้งสี่นอนตายกอดกันกลมก็โศกเศร้าสงสาร จึงนำไปฝังเรียงกันทั้ง 4 ศพ กาลเวลาผ่านไปไม่นานก็เกิดเป็น ต้นจำปาสี่ต้น ตายายดีใจที่ยังเห็นหลานทั้งสี่มีชีวิตอยู่ จึงหมั่นรดน้ำพรวนดินต้นจำปาจนงอกงาม

นางอัคคีทราบความอีก จึงสั่งให้เสนามาโค่นต้นจำปานำไปทิ้งน้ำเสีย ต้นจำปาลอยน้ำไปติดอยู่หน้าอาศรมฤาษี ฤาษีใช้มีดตัดต้นจำปาเห็นมีเลือดออกจึงรู้ว่าไม่ใช่ต้นจำปาทั่วไป พระฤาษีจึงเสกให้เป็นคนเหมือนเดิม ส่วนเจ้าคนเล็กนิ้วขาดเพราะพระฤาษีตัดตอนเป็นต้นจำปา พระฤาษีจึงต่อนิ้วเพชรให้มีอิทธิฤทธิ์ “ชี้ตายชี้เป็น” พระฤาษีสอนวิชาอาคมต่างๆ แก่กุมารทั้งสี่ ตั้งชื่อว่า จำปาทอง จำปาเงิน จำปานิล และคนเล็กชื่อ เจ้านล

jumpa 4ton 03

พระอินทร์ทราบว่า นางปทุมา ได้รับความลำบากมาก จึงปลอมเป็นชีปะขาวเล่าเรื่องให้กุมารทั้งสี่ฟัง กุมารทั้งสี่จึงขอลาพระฤาษีติดตามมารดา ระหว่างทางเดินเข้าเมืองยักษ์ เจ้านลได้ชี้นิ้วเพชรปราบยักษ์ และชุบชีวิตยักษ์จนยักษ์ยกเมืองและธิดาให้ เจ้านลก็ให้พี่ๆ ได้ครองเมือง ได้พระธิดาเป็นชายาทั้งสามเมืองที่ผ่านมา แต่ก็ได้พำนักอยู่แต่ละเมืองไม่นานก็ลาไปติดตามมารดา

พระอินทร์ชีปะขาวมาส่งถึงเมืองปัญจานคร และบอกให้สี่กุมารปลอมตัวเป็นยาจกไปอาศัยอยู่กับยายเฒ่าเฝ้าสวน และสืบหามารดาจนพบว่า เป็นทาสีซูบผอม เมื่อทราบที่อยู่ของมารดาแล้ว ก็แต่งเครื่องทรงกษัตริย์สั่งให้ยายเฒ่าเฝ้าสวนพาไปพบมารดา เมื่อแม่ลูกพบกันและเล่าเรื่องแต่หนหลังก็โศกเศร้าอาดรู สี่กุมารให้ทรัพย์สินตอบแทนยายเฒ่าเฝ้าสวนจำนวนมาก และลงโทษหญิงม่ายใจร้ายที่ทารุณกรรมมารดาอย่างสาสม

เจ้านลคิดแค้นนางอัคคีมาก จึงชวนพี่ทั้งสามเหาะไปยังปราสาท แล้วเขียนสารถึงบิดาไว้ที่แท่นบรรทม ให้ส่งตัวนางอัคคีและนางทาสีคนสนิทไปลงโทษ และบอกความจริงทุกประการ ท้าวจุลละนีทราบดังนั้นก็ดีพระทัยที่โอรสทั้งสี่ยังมีชีวิตอยู่ วันรุ่งขึ้นจึงจับนางอัคคีและนางทาสีไปให้กุมารลงโทษ สี่กุมารจึงตัดสินให้ลอยแพนางอัคคีและนางทาสีไปในทะเลตามยถากรรม หลังจากนั้นพระองค์ก็นำราชรถไปรับนางปทุมากลับนคร

สี่กุมารก็พาพระมารดาเข้าเมืองพร้อมกับท้าวจุลละนี และให้ไปรับตายายที่เลี้ยงดูตนมาอยู่ในวัง ส่วนพี่ทั้งสามก็ขอลาไปปกครองบ้านเมืองกับพระชายา ส่วนเจ้านลก็ครองเมืองปัญจานครแทนบิดาสืบไป

ຕຳນານລາວ - ນິທານລາວ ນາງຄຳກອງ | นิทานลาว นางคำกลอง

ส่งท้าย : เพื่อความสมบูรณ์ในเนื้อหา ผู้เขียนขอนำเสนอนิทานตำนานลาว เรื่อง "นางคำกลอง" และลำเรื่องต่อกลอนของคณะรังสิมันต์ เรื่อง "จำปาสี่ต้น" มาให้ใด้รับทราบเรื่องราวให้ครบถ้วนสมบูรณ์กันครับ

ลำเรื่องต่อกลอน จำปาสี่ต้น โดย คณะรังสิมันต์  (หมอลำทองคำ เพ็งดี - ฉวีวรรณ ดำเนิน)

redline

backled1

attalak isan

ผ้าผะเหวด

ผ้าผะเหวด ตามสำเนียงเสียงอีสาน คำว่า "ผะเหวด" มาจากคำว่า "พระเวส" หมายถึง พระเวสสันดร งานบุญผะเหวดเป็น 1 ในประเพณี 12 เดือน หรือฮีตสิบสอง ผ้าผะเหวด คือ ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดรเพื่อใช้แห่ในงานบุญพระเหวด ซึ่งสมมติว่าเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง สมัยก่อนช่างแต้มรูปมักเป็นช่างพื้นบ้าน จึงใช้สีสันเลียนแบบธรรมชาติ ไม่เคร่งครัดเรื่องสัดส่วนของรูปร่างคน สัตว์ วัตถุสิ่งของมากนัก ตามคติความเชื่อของชาวอีสาน ผู้ใดฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจบทั้ง 13 กัณฑ์ ภายในการเทศน์ครั้งเดียวและภายในวันเดียว จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตรย

pa pawes 01

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปแบบไม่เคร่งครัด ไม่มีระเบียบแบบแผน ไม่วิจิตรบรรจง สื่อความหมายแบซื่อตรง ภาพที่ออกมาจึงมีลักษณะอิสระ

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม สะท้อนบุคลกคนอีสานที่ซื่อๆ ง่ายๆ มีความสนุกสนาน สื่อถึงพุทธศาสนา

ที่มาแห่งบุญผะเหวด

บุญผะเหวด หมายถึง บุญพระเวสสันดร เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญมหาชาติ มูลเหตุที่มีการทำบุญมีคติความเชื่อมาจากเรื่อง 'พระมาลัยสูตร' ว่า หากมนุษย์อยากจะได้พบพระศรีอริยเมตไตรย ให้รู้จักทำบุญ ละเว้นบาป และให้ฟังเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกให้จบในวันเดียว จะได้บุญกุศลใหญ่หลวง 'งานบุญผะเหวด' ของชาวอีสานมักจัดกัน 2 วัน

  • วันแรก คือ มื้อโฮม (วันรวม) พิธีกรรมสำคัญคือ การอัญเชิญ 'พระอุปคุต' จากสระหรือหนองน้ำใกล้หมู่บ้านมาประดิษฐาน ณ หอที่ตั้งไว้ มีขบวนแห่อัญเชิญพระเวสสันดร พระนางมัทรี พร้อมด้วยกัญหาและชาลีเข้าเมือง ขบวนแห่มีดนตรีกลองยาวเล่นอย่างสนุกสนาน กลางคืนมักมีมหรสพสมโภช
  • วันที่สอง คือ มื้องัน (วันเทศน์) ตอนเช้าตรู่ มีการแห่ข้าวพันก้อนที่ทำจากข้าวเหนียวปั้นให้เป็นลูกกลมขนาดเท่าหัวแม่มือ จากนั้นพระภิกษุสามเณรเริ่มเทศน์ตั้งแต่ กัณฑ์สังกาส ต่อมาเป็นการเทศน์พระเวสสันดรชาดก เริ่มกัณฑ์แรกคือ กัณฑ์ทศพร เรียงตามลำดับกัณฑ์ไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งวันจนถึงนครกัณฑ์ เป็นกัณฑ์สุดท้าย

pa pawes 10

[ อ่านเพิ่มเติม : ฮีตเดือนสี่ (บุญผะเหวด) ]

รูปลักษณ์ผ้าผะเหวดอีสาน

เมื่อสำรวจผ้าผะเหวดอีสานแบบผ้าวาดม้วนยาว สามารถพบได้ในชุมชนขนาดใหญ่ระดับตำบล เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งคือมีวัดหลายแห่ง มีพระเณรบวชเรียนอย่างต่อเนื่อง มีพระเถระที่ใส่ใจเรียนรู้การอ่านใบลาน มีมรรคทายก มีผู้ใหญ่บ้าน มีชาวบ้านที่ให้ความสำคัญแก่จารีตประเพณีที่เรียกว่า "ฮีตสิบสอง" โดยให้ความสำคัญมากที่สุดแก่ "ประเพณีบุญผะเหวด" ซึ่งเรียกว่า ประเพณีบุญใหญ่

pa pawes 02

ผ้าผะเหวดอีสานแบบม้วนยาว เป็นผลงานพุทธศิลป์ที่เขียนเล่าเรื่องเวสสันดรชาดก เป็นภาพวาดที่ใช้ประกอบการเทศน์ผะเหวด ใช้ในพิธีเชิญพระเหวดสันดรเข้าเมือง และใช้ประดับรอบศาลาการเปรียญ หรือศาลาโรงธรรมในประเพณีบุญผะเหวด ซึ่งเรียกว่า "บุญเดือนสี่" หรือ "บุญมหาชาติ" ผ้าผะเหวดแบบโบราณพบได้ทั้งในชุมชนผู้ไทและชุมชนอีสาน ความงามด้านศิลปพื้นบ้านในผ้าผะเหวดมีระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งนักวิชาการด้านจิตรกรรมปัจจุบันนิยม และยกย่องศิลปร่วมสมัยและศิลปของอารยชนที่เรียกว่า "งานวิจิตรศิลป์" มากกว่า ศิลปกรรมของชาวบ้าน (Folk Art)

ภาพผะเหวดสองมิติแบนๆ เป็นภาพวาดสีน้ำ มีลักษณะเรียบง่ายแบบพื้นบ้าน ไม่มีการปรุงแต่งด้านเทคนิค ช่างวาดอย่างอิสระ มีความรู้สึก มีจินตนาการ มีชีวิตจริงแบบพื้นบ้าน แสดงผ่านฉาก ผ่านการแต่งกาย ผ่านประเพณี พิธีกรรม และผ่านงานรื่นเริง จุดมุ่งหมายของการวาดภาพผ้าผะเหวดคือ เพื่อสนองประโยชน์ใช้สอยและประกอบการเล่าเรื่อง การเทศน์ การสอนหลักธรรมเป็นหลักใหญ่ และเพื่อตกแต่งสถานที่เป็นหน้าที่รอง ช่างวาดมีศรัทธาเป็นพื้นฐานในการสร้างงาน และได้รับค่าตอบแทนจากผู้ว่าจ้างให้วาด ซึ่งมีศรัทธาในหลักธรรมคำสอน และเชื่อว่าการสร้างภาพผะเหวดได้อานิสงค์เช่นเดียวกับการฟังธรรม

ผ้าผะเหวดแบบม้วนยาว มีขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร และมีขนาดยาวประมาณ 13 - 30 เมตร การวาดภาพจะวาดเป็นช่องตามแนวนอน ผ้าผะเหวดขนาดสั้นที่สุดมีพื้นที่ประมาณ 13 ช่อง ขนาดยาวที่สุดประมาณ 18 ช่อง แต่ละช่องความยาวไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่บรรจุอยู่ในแต่ละช่อง หนึ่งเหตุการณ์เรียกว่า หนึ่งอนุภาค ภาพวาดที่เป็นภาพสามมิติจะวาดเต็มกรอบภาพ เป็นภาพขนาด 6 นิ้วขึ้นไป ประกอบด้วยภาพวาดทั้งหมด 13 ช่องหรือ 13 กัณฑ์ ภาพวาดที่เป็นภาพสองมิติแบนๆ วาดหลายอนุภาคในหนึ่งกรอบภาพ วาดเต็มพื้นที่ เต็มโครงสร้าง ขนาดภาพทั้งคน ทั้งสิ่งมีชีวิต ทั้งอมนุษย์และสิ่งของ มีขนาดเล็กประมาณ 2 นิ้ว ภาพแนวนี้เป็นฝีมือของช่างพื้นบ้าน มีลักษณะคล้ายภาพวาดลายเส้นแบบโบราณที่ปรากฏในฝาผนังถ้ำและที่หน้าผา โดยทั่วไปเชื่อว่าเป็นภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์

pa pawes 03

โครงสร้างของนิทานผะเหวดสันดรเขียนเป็นโครงสร้างนิทาน หรือไวยากรณ์นิทานได้ดังนี้

  • แบบที่ 1 เป็นโครงสร้างนิทานที่ยาวที่สุดประกอบด้วย พระมาลัยรับดอกบัวบูชา + พระมาลัยและพระอินทร์นำดอกบัวบูชาพระธาตุเกศเกล้าจุฬามณี + พระพุทธองค์โปรดพระญาติพระวงศ์ + เทศน์สังกาส + นิทานผะเหวดสันดร + พระมาลัยหรือพระพุทธองค์เสด็จโปรดสัตว์นรก
  • แบบที่ 2 พระมาลัยและพระอินทร์นำดอกบัวบูชาพระธาตุเกศเกล้าจุฬามณี + นิทานผะเหวดสันดร
  • แบบที่ 3 นิทานผะเหวดสันดร

โครงสร้างของนิทาน คืออะไร ศิราพร ณ ถลาง (2544) อธิบายว่า หมายถึงสิ่งที่กำหนดความเป็นนิทานแต่ละประเภท ซึ่งประกอบด้วยพฤติกรรมหลักของตัวละครที่นำมาเรียงร้อยต่อกันอย่างมีระบบสัมพันธ์กัน การศึกษาโครงสร้างของนิทานวางอยู่บนความเชื่อที่ว่า นิทานในแต่ละวัฒนธรรมมีกฎในการดำเนินเรื่องของตนเอง (Self regulation) เช่นเดียวกับทีภาษาแต่ละภาษามีไวยากรณ์เป็นของตนเอง โครงสร้างของนิทานจะสะท้อนความคิด ระบบคิด และวัฒนธรรมของเจ้าของนิทาน

pa pawes 04

เมื่อพิจารณาโครงสร้างนิทานในผ้าผะเหวดแบบที่ยาวที่สุด ความคิดที่กำกับเนื้อหาของนิทาน คือความคิดเรื่อง นรกภูมิ มนุสสภูมิ สวรรค์ภูมิ อันได้รับอิทธิพลจากไตรภูมิพระร่วง ภาพวาดตอนต้นเรื่อง ส่วนที่เป็นปรารภเหตุการเล่านิทานผะเหวดสันดร พระมาลัยและพระพุทธเจ้า เป็นตัวแทนของพุทธศาสนา มีสถานภาพสูงส่งกว่าพระอินทร์และเทวดาบนสวรรค์ แม้ตอนจบในนรกภูมิ พระมาลัย และพระอินทร์ ก็มีสถานภาพเทียบเท่าเทพเจ้าผู้ปลดปล่อยบาป และความทุกข์ให้กับผู้ทำผิดศีลในโลกมนุษย์ โครงสร้างนิทานที่กำกับภาพวาดผ้าผะเหวด คือ ความเชื่อเรื่องสวรรค์ภูมิ มนุสสภูมิและนรกภูมิ นิทานเรื่องผะเหวดสันดรประกอบด้วยอนุภาคย่อย ที่เสนอตัวอย่างพฤติกรรมที่นำสู่สวรรค์ภูมิและนรกภูมิ เป็นแก่นแกนของเรื่อง ซึ่งไม่ตรงกับแก่นเรื่องในตัวบทลายลักษณ์ด้านวรรณกรรม และด้านกลอนเทศน์ผะเหวด ที่มุ่งเน้นนิพพานหรือการหลุดพ้น ความแตกต่างของแก่นเรื่องแสดงว่า การเขียนภาพผะเหวดของแต่ละชุมชน เป็นสิ่งที่แสดงถึงการคิดต่างอย่างมีเสรีภาพ แหวกจากแนวคิดของศูนย์กลางทางการเมือง ทางศาสนา ทางเศรษฐกิจในเขตนครและเขตเมือง

ส่วนภาพผะเหวดแบบที่สอง ประกอบด้วยภาพพระมาลัยขึ้นไปไหว้พระเกศเกล้าจุฬามณีบนสวรรค์ พร้อมกับพระอินทร์และเทวดา คู่กับภาพผะเหวด 13 กัณฑ์ โครงสร้างนิทานแนวนี้แสดงความเชื่อว่า การทำบุญ การบำเพ็ญปรมัตถทานหรือมหาทาน เป็นปัจจัยนำไปสู่สวรรค์ ภาพวาดวิถีนี้ไม่กล่าวถึงนรกภูมิ ขนาดของภาพเน้นตัวละครโดยวาดเป็นภาพขนาดใหญ่ แสดงพฤติกรรมและเล่าเรื่องราว แต่ภาพไม่สร้างความรู้สึก ไม่สร้างจินตนาการ ภาพวาดมีลักษณะแข็งทื่อเช่นเดียวกับโครงสร้างของภาพวาดแนวที่สาม ที่ไม่กล่าวถึงสวรรค์และนรก บอกเล่าเรื่องราวเฉพาะนิทานผะเหวดสันดรเท่านั้น

เป็นการวาดโดยประหยัดวัสดุ เพื่อวางจำหน่ายโดยเฉพาะ ผู้วาดดูเหมือนขาดศรัทธาในการสร้างงาน ในหนึ่งภาพจะบรรจุเหตุการณ์หนึ่งอนุภาคเท่านั้น การวาดแนวนี้คล้ายกับการวาดจิตรกรรมฝาผนังประดับรอบศาลาโรงธรรม ซึ่งมีขนาดกว้างยาวใหญ่ และมุ่งสอนพุทธศาสนาหลายเรื่อง มีทั้งศาสนบุคคล ศาสนวัตถุ ศาสนธรรม ประดับรอบศาลาโรงธรรม โครงสร้างเฉพาะนิทานผะเหวดสื่อความคิด เรื่อง อนิจลักษณ์ ความเปลี่ยนแปรของชีวิตและการให้ทาน ไม่ยึดติดในทรัพย์สินทั้งปวง

pa pawes 05

ภาพผะเหวดในฐานะพุทธศิลป์ที่มีทั้งการวาดแบบผ้าพระบฏและแบบผ้าม้วนยาว แบบภาพพิมพ์และจิตรกรรมฝาผนัง หรือฮูปแต้ม งานจิตรกรรมทุกรูปแบบมีหน้าที่สำคัญหลายประการ คือ เป็นภาพประกอบการเล่านิทานเรื่องผะเหวดสันดรให้เข้าใจง่าย ให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังใช้ประดับศาลาโรงธรรม และใช้กั้นมุงสนามกลางแจ้งให้เป็นคีรีวงกตหรือเขาวงกต ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเวสสันดรขณะที่บำเพ็ญพรตเป็นดาบส ภาพผะเหวดม้วนยาวกรณีนี้ทำหน้าที่คล้ายฉาก ส่วนบทบาทแฝงเร้นที่สำคัญรองลงมา เกิดจากฝีมือของช่างวาดที่มีความสามารถสูง คุณภาพของภาพวาดเทียบได้กับวิจิตรศิลป์ เส้นและปลายพู่กันที่ระบายในพื้นผ้าสามารถสร้างอารมณ์สะเทือนใจ เกิดเป็นรสมหัศจรรย์ตามเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะภาพแนวอีโรติคในกัณฑ์ชูชก กัณฑ์มหาพน กัณฑ์มหาราช และกัณฑ์เพิ่ม ตอน พระมาลัยหรือพระพุทธเจ้าท่องแดนนรก ภาพแนวอีโรติคเหล่านี้ปรากฏเฉพาะฝีมือช่างพื้นบ้านอีสาน

ภาพผะเหวดที่มีอนุภาคเหตุการณ์อนุภาคเดียว ปรากฏในกัณฑ์ทศพร กัณฑ์จุลพล กัณฑ์มหาพน กัณฑ์วนปเวศน์และสักติกัณฑ์ ภาพผะเหวดที่มีอนุภาคเหตุการณ์หลายภาพ หลายอนุภาค ได้แก่ ปรารภเหตุการเล่าเรื่องผะเหวดสันดร กัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์มัทรี นครกัณฑ์ กัณฑ์เพิ่มคือ พระพุทธองค์หรือพระมาลัยโปรดสัตว์นรก กัณฑ์ที่มีหลายอนุภาคเหตุการณ์คือ 3 - 7 อนุภาคคือ กัณฑ์มหาราช ความหลายอนุภาคของกัณฑ์นี้ส่งผลต่อการตีความแก่นหลักของเรื่องผะเหวดสันดร ภาพประกอบด้วยชูชกนำสองกุมารหลงทางสู่กรุงสีพี พระเจ้ากรุงสญชัยไถ่ตัวหลานทั้งสองจากชูชก ชูชกบริโภคอาหารจำนวนเจ็ดอย่าง อย่างละเจ็ดหม้อ ชูชกธาตุไฟแตกตาย พระสงฆ์ เณร อำมาตย์ ชาวบ้าน ทำพิธีส่งสกานหรือเผาศพชูชก ชาวบ้านฉลองเล่นรื่นเริงในงานศพชูชก ภาพลักษณ์ของชูชกในกัณฑ์นี้เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งมี ไม่อดอยาก ไม่ได้ตายเพราะทุกข์ แต่ตายเพราะเสพสุขอย่างมหัศจรรย์ จึงมีผู้ศรัทธาบูชาเหรียญรูปชูชก เพื่อหวังผลความมั่งมีร่ำรวยเป็นสุข

pa pawes 07

เมื่อพิจารณาภาพผะเหวดม้วนยาวแบบสองมิติแบนๆ แนวจารีต ช่างวาดได้เพิ่มเติมเรื่องราว ซึ่งเป็นคติความเชื่อและเป็นวิถีจริยธรรม ที่เป็นบรรทัดฐานสำคัญของชีวิตประจำวัน คือเรื่องการลงโทษคนชั่ว การให้รางวัลคนดี และได้แสดงความเชื่อมั่นในบารมีของพระพุทธเจ้า บารมีของพระอรหันต์คือพระมาลัย ซึ่งเป็นศาสนบุคคลในประเพณีท้องถิ่น นับได้ว่าชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของผ้าผะเหวดสามารถประกอบสร้างทั้งพุทธศิลป์ คือ ภาพวาดในผ้าขนาดยาวๆ และสามารถต่อเติมวรรณศิลป์ที่เป็นเรื่องเล่าตามคตินิยมของชุมชน โดยไม่ติดกรอบประเพณีบุญผะเหวดแบบวัฒนธรรมหลวง

นอกจากนี้ภาพวาดบางผืน มีการผนวกกัณฑ์และตัดทอนบางกัณฑ์ เช่น ผนวกกัณฑ์จุลพนกับมหาพน หรือตัดทอนกัณฑ์วนปเวศน์และสักติกัณฑ์ การเรียงร้อยเรื่องแบบนี้คล้ายกับการเทศน์ผะเหวดในปัจจุบัน ที่รวบรัดตัดตอนเนื้อเรื่อง เพื่อประหยัดเวลาให้การทำบุญผะเหวดให้เสร็จโดยเร็ว เพราะต้องการเวลาไปทำงานอื่นในชีวิตประจำวัน และผู้ฟังเทศน์มีศรัทธาน้อยลง การทำบุญเป็นไปเพื่อสืบทอดประเพณีฮีตสิบสอง โดยขาดสำนึกทางศาสนาอย่างเข้าถึงแก่นแกนของความหมายหรือปรัชญาธรรม

pa pawes 08

ความปลี่ยนแปลงของผ้าผะเหวด

ผ้าผะเหวดเป็น ศิลปกรรมของชาวบ้าน (Folk Art) ที่มีการประกอบสร้างอย่างต่อเนื่องนับร้อยปี บทบาทหน้าที่สำคัญคือเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีบุญผะเหวด หรือบุญมหาชาติ หน้าที่โดยตรงคือ บอกเล่านิทานผะเหวดสันดรผ่านภาพเขียนในหลายลักษณะ เช่น เป็นผ้าศักดิ์สิทธิ์ในพิธีอัญเชิญพระเหวดสันดรเข้าเมือง ในชุมชนขนาดใหญ่ ชาวบ้านทุกวัยจะพร้อมใจกันกระทำพิธีอัญเชิญสี่กษัตริย์ หรือหกกษัตริย์ คือ พระเหวดสันดร นางมัทรี กัณหา ชาลี นางผุสดี พระเจ้าสัญชัย จากเขาคีรีวงกตซึ่งเป็นป่าเข้าสู่เมืองคือ กรุงสีพี (หรือวัดในหมู่บ้าน) ชุมชนชาวนา ที่พระภิกษุและผู้สูงอายุเข้มแข็ง บรรยากาศตอนแห่พระเหวดสันดรเข้าเมืองจะสนุก และชาวบ้านรวมกลุ่มแสดงความสามัคคีอย่างเข้มแข็ง โดยเชื่อว่าการเกษตรกรรมจะได้ผลดีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์

แต่ในชุมชนเมืองที่ผู้คนค้าขายและรับราชการการแห่ผ้าผะเหวดไม่มีความหมาย ไม่มีความสำคัญ บางแห่งตัดพิธีแห่ผ้าผะเหวดออกไป โดยให้เหตุผลว่าเสียเวลา ต้องทำงานอื่น บทบาททางสังคมของผ้าผะเหวดจึงลดลง นอกจากนี้ หากวัดสร้างศาลาการเปรียญขนาดใหญ่จะวาดจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง ผะเหวดสันดร ไว้รอบศาลา ผ้าผะเหวดจึงหมดบทบาทด้านการประดับตกแต่ง ซึ่งเป็นประโยชน์ใช้สอยสำคัญอีกประการหนึ่ง เยาวชนรุ่นลูกหลานจึงขาดโอกาสได้เห็น ได้สัมผัสกับผ้าผะเหวดในพิธีอัญเชิญสี่กษัตริย์เข้าเมือง ซึ่งเป็นการแสดงบทบาทสมมติที่ชาวบ้านเป็นผู้แสดงร่วมกัน ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่นในผลบุญ

เมื่อขาดพิธีกรรม ความคิดมุมมองที่มีต่อผ้าผะเหวดจึงเปลี่ยนไป เช่น ศรัทธาน้อยลง ความเชื่อมั่นในอานิสงส์ของการฟังเทศน์ให้ครบสิบสามกัณฑ์แล้วได้ขึ้นสวรรค์ ก็สั่นคลอน คงเหลือเฉพาะผู้มีอายุมากที่ฟังธรรม ในชุมชนขนาดเล็กบางวัดมีพระภิกษุเพียงรูปเดียว ความต่อเนื่องของประเพณีและการทำบุญให้ครบทุกขั้นตอนแทบเป็นไปไม่ได้ ขั้นตอนที่ถูกตัดออกคือ การแห่ผ้าและการเทศน์ธรรมแบบครบถ้วนมีคุณธรรม การทำบุญเปลี่ยนแปลงจากการทำบุญเพื่อฟังธรรม เป็นการทำบุญให้ทานที่เน้นการบริจาคให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับแล้ว เสียงการเทศน์แถมสมภาร คือ ประกาศยกย่องให้พรผู้บริจาคเงินดังกลบเสียงเทศน์ผะเหวด จนแทบไม่ได้ยินเสียงเทศน์ผะเหวด ส่งผลให้ตัวบทหรือคัมภีร์ผะเหวดขาดการสื่อสารไปยังชาวบ้าน การกล่อมเกลาทางศีลธรรมด้วยนิทานผะเหวดจึงลดทอนไม่ถูกผลิตซ้ำในด้านการรับสาร

pa pawes 06

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ วิธีการเขียนภาพผะเหวด วิธีการเขียนในจารีตเดิม ใช้การวาดภาพลายเส้นแล้วระบายสีน้ำ ผู้วาดต้องอ่านนิทานผะเหวดสันดรให้จบ ให้เข้าใจเป็นอะไร ฉากส่วนใหญ่จะเป็นสีเขียวของต้นไม้แซมแทรกในทุกบริบท ไม่ว่าจะเป็นเมือง เป็นบ้าน เป็นป่า โดยพื้นที่ป่ามีต้นไม้ นก ช้าง กวาง สัตว์ป่าและสัตว์น้ำมีมากกว่าพื้นที่อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ภาพวาดแบบเก่าที่เป็นสองมิติ ฉากที่เป็นพื้นที่ธรรมชาติมีมากกว่ารูปตัวละครในทุกกัณฑ์

ส่วนภาพวาดยุคหลัง ที่เป็นภาพสามมิติจะมีเฉพาะรูปตัวละคร ไม่มีฉาก จึงขาดพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ทางวัฒนธรรม ขาดมิติที่ผสานกลมกลืนระหว่างฉากและรูป รูปตัวละครแข็งทื่อไม่สร้างความรู้สึกเชิงสุนทรียภาพ และภาพไม่สอดคล้องกับตัวบททางวรรณกรรม เป็นพุทธพานิชที่มีความง่ายแต่ไม่งาม ภาพวาดถูกลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ลง แนวโน้มในอนาคตภาพวาดผ้าผะเหวดอาจเป็นเพียงภาพอดีที่เก่าแก่ ทรุดโทรมตามเวลา สำนึกของกลุ่มชาติพันธุ์ทางพุทธศาสนาในหมู่คนรุ่นใหม่อาจเลือนลาง ขาดความสืบเนื่องกับประเพณีบุญผะเหวด โดยเชื่อว่า พ.ศ. 2550 เป็นกึ่งพุทธกาลที่พยากรณ์ว่า พุทธศาสนาจะสิ้นสุดเมื่อมีอายุครบ 5,000 ปี

pa pawes 09

redline

backled1

attalak isan

ศิลปะถ้ำ

ศิลปะถ้ำ คือ ภาพที่ปรากฏบนผนังภายในถ้ำหรือหน้าถ้ำ ตามผนังของก้อนหินใหญ่ เพิงหิน และเพิงผาใหญ่ ภาพเหล่านี้อาจแสดงโดดๆ มีเนื้อความเล่าเรื่องตัวเอง หรือมีภาพประกอบกันเป็นเรื่องราว เล่าเรื่องการล่าสัตว์ เกษตรกรรม การละเล่นในงานรื่นเริง การประกอบพิธีกรรม จึงมีความสัมพันธ์กับความเชื่อและพิธีกรรม ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำหรือเพิงผาในประเทศไทยพบมากที่สุดในภาคอีสานถึง 151 แห่ง ศรีศักร วัลลิโภดม ให้ความเห็นว่า สถานที่เขียนภาพมักเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ สุรพล ดำริห์กุล ให้ความเห็นว่า "สีแดงที่ใช้เขียนภาพมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมความตาย"

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม มีลายเส้นและรูปร่างง่ายๆ แสดงถึงวิถีชีวิตแบบชนเผ่าที่แปลกประหลาด น่าค้นหา ลายเส้นสื่อถึงความเป็นกลุ่มชนโบราณ

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ความเก่าแก่ของอารยธรรมในลุ่มน้ำโขงและอีสานแสดงถึงสิ่งลึกลับโบราณที่รอการพิสูจน์

silapa tam 01

งานศิลปะซึ่งมนุษย์ได้สร้างขึ้นบนผนังถ้ำ หรือเพิงผา (rock shelter) ได้แก่ ภาพเขียนสี (rock painting) ภาพขูดขีด (rock engraving) ภาพแกะสลัก (rock carving) รวมไปถึงประติมากรรมดินและปูนปั้นบนผนังหิน งานศิลปะถ้ำที่พบมีอายุตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์

ศิลปะถ้ำหรือภาพเขียนสี (Rock Painting) นี้ถือว่าเป็นงานศิลปกรรมที่มนุษย์ในสมัยนั้นเขียนขึ้น เพื่อสะท้อนให้เห็นการดำรงชีวิต หรือความเชื่อต่างๆ ใน พ.ศ. 2467 นายเอ เอฟ จี แคร์ (A.F.G.KERR) ได้ค้นพบภาพเขียนสีครั้งแรกที่ ถ้ำมือแดง บ้านส้มป่อย ตำบลสีบุญเรือง อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม เป็นภาพที่ทำขึ้นโดยใช้มือจุ่มสีประทับบนผนังถ้ำ หรือเขียนเป็นภาพมือ มีทั้งมือสีแดงและสีเทารวม 10 มือด้วยกัน และยังมีภาพคนยืน 6 คน ต่อมาได้มีการค้นพบภาพเขียนบนผนังถ้ำมากขึ้นในเขตภาคอิสาน ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ อุบลราชธานี และกาฬสินธิ์ และภาพเขียนสีนี้ยังมีปรากฏใน ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ด้วย

silapa tam 02

เมื่อศึกษาวิธีการเขียนภาพบนผนังถ้ำแล้ว พบว่า ผนังหินที่ใช้เขียนส่วนใหญ่เป็นหินทราย ส่วนที่พบเป็นผนังหินปูนก็มีเช่น ที่ภูผาฆ้อง อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย การที่เลือกใช้ผนังหินทรายนั้นเนื่องจากมีผิวหน้าค่อนข้างเรียบ หากมีการแตกตัวออกจากกันก็จะมีรอยแตกที่ตรง ส่วนวิธีการเขียนบนผนังถ้ำที่ภาคอิสานนั้นพบว่ามีลักษณะ ดังนี้

  • เริ่มต้นจากการเขียนเป็นโครงร่างของภาพก่อนแล้วจึงระบายสีทึบ เป็นภาพที่ไม่ต้องการแสดงรายละเอียด พบบางภาพยังเป็นเส้นร่างอยู่ ระบายสีทึบไม่หมด เส้นร่างมักเป็นสีดำ ส่วนสีแดงหรือสีน้ำตาลแดงมักใช้ระบายเป็นสีทึบ มักเขียนเป็นภาพคน ซึ่งเขียนเป็นกลุ่มเหมือนจะบอกเหตุการณ์ของยุคสมัย และภาพสัตว์ที่พบเห็นในยุคนั้นได้แก่ วัว หมา สัตว์เลี้ยง เพื่อจะบอกลักษณะของสัตว์หรือวิธีการล่าหรือจับสัตว์ หรือบอกบริเวณนั้นมีสัตว์ชนิดนี้อยู่ เช่น กลุ่มภาพที่ผาแต้มอำเภอโขงเจียม
    บางแห่งเขียนเพื่อแสดงพิธีกรรมบางอย่างเช่น ภาพเขียนที่เขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี มีภาพคนสวมหัวนก ในภาคอื่นนั้นพบว่ามีการเขียนภาพลายเส้นและมีเส้นขวางหรือประจุดอยู่กลางลำตัวเรียก ภาพเอกเรย์ พบที่เขาปลาร้า อำเภอลานสักจังหวัดอุทัยธานีเป็นภาพคน วัวหรือควาย และหมา เป็นต้น
  • การเขียนภาพสัตว์นั้นน่าจะเขียนเพื่อที่จะล่าสัตว์ชนิดนั้น โดยสมมุติภาพขึ้นก่อน และเขียนเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมในการล่าสัตว์ สัตว์ป่าในยุคนั้นส่วนใหญ่เป็นวัว หรือเขียนเพื่อบอกลักษณะของสัตว์สำหรับการล่า ส่วนภาพหมานั้น เขียนขึ้นเพื่อแสดงความสัมพันธ์กับคนมากกว่าพิธีกรรม เช่น ภาพหมาที่เขาจันทร์งาม อำเภอสี่คิ้ว จังหวัดนครราชสีมา หรือภาพหมา ควาย ที่เขาปลาร้าอยู่กับคน เป็นต้น
  • เขียนเป็นเส้นภาพโดยไม่มีการร่าง ส่วนใหญ่เป็นภาพลายเรขาคณิตพบมากที่สุดในภาคอีสาน ไม่ทราบความหมาย หรือเป็นสัญญลักษณ์ ที่จะบอกว่าเป็นอะไร
  • เขียนเป็นภาพมือไว้บนผนังหิน ซึ่งมีวิธีทำ 3 วิธีกล่าวคือ ใช้ฝ่ามือวางทาบบนผนังหินแล้วเขียนเป็นเส้นรอบฝ่ามือนั้น หรือใช้ฝ่ามือชุบสีเสียก่อนแล้วนำไปทาบบนผนังหิน จึงทำให้บริเวณข้อต่อและอุ้งมือไม่มีสีติดบนผนังหิน ซึ่งพบวิธีนี้ที่ภูผาฆ้อง บ้านห้วยส้ม อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และใช้ผ่ามือทาบลงผนังหินแล้วเอาปากอมสีพ่นไปรอบมือ ภาพมือนี้มีที่ผาฆ้อง บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ผาแต้มและผาหม่อน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี น่าจะทำขึ้นเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของที่พักตามถ้ำชั่วคราว ไม่ได้ใช้แสดงการเยี่ยมเยือนอย่างภาพมือที่พบในยุโรป หรือใช้เป็นสัญญลักษณ์แสดงเป็นแหล่งอาศัยอยู่ถาวรจนเป็นชุมชน

silapa tam 03

สำหรับสีที่ใช้เขียนนั้น ส่วนมากเป็นสีแดง นอกนั้นก็มีสีส้ม สีเลือดหมู สีน้ำตาล สีดำและสีขาว สำหรับสีแดงนั้นมีการศึกษาที่มาของสี พบว่าแร่เหล็ก (เฮมาไทด์) มีจำนวนมากในภาคอีสาน หาได้ง่าย จึงสันนิษฐานเป็นเบื้องต้นว่า ได้นำแร่ชนิดนี้มาบดให้ละเอียดแล้วละลายน้ำ หรือยางไม้ทำเป็นสีใช้เขียนผนังถ้ำ ส่วนเครื่องมือที่ใช้เขียนในเบื้องต้นน่าจะใช้เปลือกไม้ ทุบปลายให้เป็นเส้นทำเป็นภู่กันเขียน หรือใช้วัตถุที่ยืดหยุ่นซึมซับสีได้เช่น หางหรือขนสัตว์ และแท่งไม้ และการใช้ของแข็งหรือสิ่งที่มีคมเขียน อย่างไรก็ตามการเขียนผนังหินนั้นจะมีน้ำหนักเท่ากัน ส่วนข้อเท็จจริงนั้นเรื่องแหล่งที่มาของสี และเครื่องมือที่ใช้เขียนภาพผนังถ้ำนั้นยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีก

สำหรับการใช้สีแดงเขียนภาพผนังถ้ำนั้น ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ได้กล่าวไว้ในหนังสือ "คนก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย" ว่า "สีแดงมีความสำคัญในความเชื่อของึคนก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย โครงกระดูกที่ได้จากการขุดค้นที่ถ้ำพระ ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นโครงกระดูกของคนสมัยหินกลางพบว่าดินดอนเหนือศรีษะและร่างมีดินสีแดงคลุมอยู่แสดงว่าครั้งนั้นมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการฝังศพแล้ว โดยใช้สีแดง (ดินเทศ) ซึ่งหมายถึง สีเลือดและชีวิต โปรยลงบนร่างของผู้ตาย ประเพณีนี้ในสมัยหินกลางทำกันมาตลอด แหลมมาลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซีย ในทวีปยุโรปการฝังศพคนก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินเก่าตอนปลาย และสมัยหินกลาง นอกจากจะมีดินสีแดงโปรยไว้เหนือโครงกระดูกคนแล้ว บางแห่งยังใช้ดินสีแดงทาไว้ที่กระดูกคนตายด้วย"

ถ้ำตาลาว ตั้งอยู่่ที่วัดถ้ำตาลาว ต.กองโพน อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี

ศาตราจารย์สุด แสงวิเชียร ได้กล่าวถึงการใช่สีแดงในพิธีฝังศพไว้ในหนังสือ "อดีต" เช่นเดียวกันว่า "ชาวบ้านเชียง สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หลังจากทำหม้อไหสำหรับเป็นเครื่องเซ่นได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็คงคิดดัดแปลงวิธีทำ คือแทนที่จะใช้สีแดงโรยลงไปในศพ กลับใช้สีทา ลงไปบนผิวหม้อทั้งใบ ทำให้หม้อมีสีแดงสวยงามมาก และปรากฏว่านอกจากหม้อไหที่มีลายเขียนสีแดงแล้ว ชาวบ้านเชียงสมัยนั้นได้อาศัยเอาก้อนสีแดงใส่ไว้ในหม้อวางกับศพด้วย"

silapa tam 04

สีแดง จึงเป็นสีสำคัญที่ใช้ในสังคมของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งพิธีศพและการใช้เขียนภาพผนังถ้ำ โดยเฉพาะเป็นสีที่มีความสดและเห็นได้ชัดเจนในระยะไกล และยุคสมัยศิลปถ้ำที่พบในภาคอีสานนั้น นักโบราณคดีไทย สันนิษฐานว่า มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ได้เขียนขึ้นในสังคมกสิกรรม หรือยุคโลหะอายุไม่เกิน 3,600 - 3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงระยะที่มีความเจริญเติบโต และมีผลผลิตทางการเกษตรด้วยวิธีการเพาะปลูกในระบบกักเก็บน้ำ รู้จักใช้เหล็กสร้างเครื่องมือเกษตร และใช้ควายไถนาพรวนดิน จึงทำให้ประชากรในสังคมกสิกรรมมีความเป็นอยู่ดี และมีการขยายพื้นที่ทำการเพาะปลูกไปทั่วภาคอีสาน ชุมชนกสิกรรมนี้ รู้จักนำสีแดงมาเขียนบนภาชนะดินเผาแทนลายเชือกทาบที่มีมาแต่เดิม ดังจะเห็นได้จาก ภาชนะดินเผาที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

[ อ่านเพิ่มเติม : ศิลปะถ้ำ 2 ]

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)