คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
พระไม้อีสาน ได้รับอิทธิพลศิลปะล้านช้างมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งแผ่ขยายข้ามมายังฝั่งไทย พระไม้ในอีสานเริ่มแรกน่าจะเกิดขึ้นภายหลังการปกครองของพระเจ้าฟ้างุ้ม และน่าจะเริ่มจากการทำพระพุทธรูปประทับยืนเลียนแบบพระบาง ต่อมาศิลปะการสร้างพระไม้ได้ถ่ายทอดสู่สามัญชน แต่เนื่องจากพระไม้ประทับยืนค่อนข้างทำยาก และไม่เหมาะสำหรับช่างพื้นบ้าน ช่างพื้นบ้านจึงสร้างพระไม้แบบประทับนั่งปางต่างๆ แทน ในภาคอีสานจึงพบเห็นพระไม้แบบประทับนั่งมากกว่าแบบประทับยืน
พระไม้ ในพระธาตุหลวง เวียงจันทน์ และ ถ้ำติ่ง หลวงพระบาง (เมื่อผู้เขียนไปทำงานและเที่ยวที่ สปป.ลาว)
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปร่างแบบพื้นบ้านไม่อ่อนช้อยดูไม่เหมือนจริง หมือนตุ๊กตา ท่าทางค่อนข้างแข็ง แกะสลักแบบหยาบๆ โดยฝีมือของชาวบ้าน
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม คนอีสานสร้างพระไม้เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา สร้างแทนองค์พระพุทธเจ้า ชาวบ้านมีความศรัทธาและทำด้วยใจเป็นสำคัญ ด้วยเชื่อว่าภายภาคหน้าจะได้เกิดในดินแดนของพระศรีอริยเมตไตรย
ข้อมูลจาก : "พระไม้อีสาน" รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ
การสร้าง "พระไม้ในอีสาน" ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า มีประวัติความเป็นมาและการสร้างอย่างไร ใครเป็นผู้สร้างขึ้นครั้งแรก เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารอ้างอิงชัดเจน จากการศึกษารูปแบบ พระไม้อีสาน เมื่อเปรียบเทียบกับ พระไม้ ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก จนแทบจะแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงไม่ได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นสกุลช่างเดียวกัน ที่ไดรับและแลกเปลี่ยนอิทธิพลซึ่งกันและกัน นักวิชาการบางท่านได้ให้ความเห็นว่า พระไม้ในอีสาน ได้รับอิทธิพลมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง โดยศิลปะแบบล้านช้าง แล้วแผ่ขยายอิทธิพลข้ามมายังฝั่งไทย จากการอพยพโยกย้ายก็ดี หรือจากการถ่ายโอนโดยทางเครือญาติก็ดี
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ได้กล่าวอ้างสนับสนุนแนวความคิดข้างต้นดังกล่าวคือ ชนชาติลาวได้นับถือพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยอยู่ในจีน ในสมัยแผ่นดินขุนหลวงลีเมา (พ.ศ. 612) อยู่ใน นครงายลาว อาณาจักรหนองแสง แล้ว เป็นพุทธศาสนาแบบมหายาน ภายหลังได้จางหายไป เพราะแพร่หลายอยู่ในชนชั้นสูงเท่านั้น ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังนับถือผีฟ้า ผีแถน จนกระทั่งพระเจ้าฟ้างุ้มขึ้นครองราชย์ จึงได้นำพุทธศาสนาเข้ามาสู่อาณาจักรล้านช้างใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1902 นับจากนั้นพุทธศาสนาจึงได้เจริญรุ่งเรืองสืบมา
นักวิชาการเชื่อว่า พระไม้ในอีสาน แรกเริ่มเดิมที่ น่าจะเกิดขึ้นภายหลังสมัยการปกครองของพระเจ้าฟ้างุ้ม และน่าจะเริ่มจากการทำพระพุทธรูปประทับเป็นยืน เลียนแบบพระบาง ซึ่งพระเจ้าฟ้างุ้ม ได้อัญเชิญมาจากเมืองอินทปัตนคร (กัมพูชา) ต่อมาจึงได้แพร่กระจายความเชื่อสู่สามัญชน เนื่องจากพระไม้ประทับยืนค่อนข้างทำได้ยาก และไม่เหมาะสำหรับช่างพื้นบ้าน จึงเปลี่ยนมาสร้างพระไม้ประทับนั่งปางต่างๆ แทน ดังนั้นจึงพบเห็นพระไม้ประทับนั่งมากกว่าประทับยืน
คนอีสานอันหมายรวมทั้งชาวบ้าน ช่างแกะสลัก และพระสงฆ์ มีความเชื่อในการทำพระไม้หลายประการดังนี้
อีสานในอดีตซึ่งมีวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็น “เอกลักษณ์เฉพาะของพระพุทธรูปแบบที่เรียกว่า พื้นบ้านพื้นเมืองอีสาน” ซึ่งมักไม่ได้รับความสนใจด้านคุณค่า ความหมายในวัฒนธรรมกระแสหลัก ซึ่งส่งผลต่อโลกทรรศน์ และรสนิยมทางศิลปะของคนอีสานเอง หรือคนอื่นๆ นอกวัฒนธรรม อย่างเช่น ในมิติทางด้านประวัติศาสตร์มีบันทึกในพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 4 ที่น่าสนใจกล่าวว่า มีกลุ่มเสนาบดีตำหนิพระพุทธรูปลาว (พระเสริม พระไส) ว่าไม่คู่ควรกับบ้านเมืองกรุงเทพฯ ว่า… เพราะพระพุทธรูปเป็นแต่ของหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ย่อมๆ ไม่เป็นที่เห็นเป็นประหลาดอัศจรรย์อะไรนัก นั้นก็ไม่ควรแก่พระบารมีเลย พระพุทธรูปอย่างนี้ถึงอยู่ในกรุงเทพมหานคร ก็ไม่เป็นที่ออกอวดแขกบ้านแขกเมืองได้ เหมือนพระแก้วมรกต และพระแก้วผลึก… (อภิศักดิ์ โสมอินทร์. โลกทัศน์อีสาน. 2537, น.35.)
หรือในวงการนักเลงพระเครื่องอย่างที่ สมเกียรติ โล่เพชรรัตน์ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านพระพุทธรูป กล่าวว่า ในวงการนักสะสมพระพุทธรูปในเมืองไทย จะนิยมเรียกพระพุทธรูปที่ไม่งดงาม หรือมีความอ่อนด้อยทางทักษะฝีมือว่าเป็น พระพุทธรูปลาว เช่น เรียกว่า พระเชียงแสนลาว หรือพระอยุธยาลาว ฯลฯ โดยทั้งหมดมีนัยยะที่มีพื้นฐานมาจากความมีอคติทางชาติพันธุ์ จากคำว่า "ลาว" ในฐานะผู้ตํ่าต้อย โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่อยู่ในกลุ่มสายสกุลช่างพื้นบ้าน โดย สมเกียรติ โล่เพชรรัตน์ กล่าวต่ออีกว่าแท้จริงแล้ว ศิลปะพระพุทธรูปล้านช้างแบบช่างเมืองหลวงนั้น มีความสวยงาม ความประณีต ไม่แพ้ศิลปะของประเทศใดในโลก เป็นความงามแบบอุดมคติและมีความเป็นเอกลักษณ์ลาวอย่างแท้จริง (สมเกียรติ โล่เพชรรัตน์. ประวัติศาสตร์การสร้างพระพุทธรูปล้านช้าง. 2543, น. 257.)
หากพิเคราะห์พิจารณาตาม หลักเกณฑ์มหาปุริสลักษณะ หมายถึง คุณลักษณะของมหาบุรุษ 32 ประการ เป็นความงามอันประณีตที่เป็นปทัสถานของสังคม ตามขนบนิยมแล้ว พระพุทธรูปอีสานก็ดูจะด้อยค่าลงในทันที โดยมีปฐมเหตุเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยแวดล้อมทางสังคมในมิติแห่งบริบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีเครื่องมือ และอุปกรณ์ ตลอดจนวัสดุ นอกจากนี้ยังมีตัวแปรที่สำคัญคือ คติความเชื่อของวัฒนธรรมพื้นถิ่น ก่อเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “เอกลักษณ์เฉพาะถิ่นอีสาน” โดยจำแนกตามคุณลักษณะดังนี้ คือ
พระวรกายที่ผิดหลักกายวิภาค กล่าวคือ จะมีคุณลักษณะของพระวรกายที่ผิดหลักกายวิภาค ในธรรมเนียมการสร้างพระพุทธรูปโดยทั่วไป เช่น สัดส่วนที่ดูขาดๆ เกินๆ ซึ่งพระพุทธรูป (บางแบบ) พระหัตถ์พระบาท จะมีลักษณะที่ใหญ่กว่าพระพุทธรูปโดยทั่วไป ซึ่งสะท้อนถึงสังคมอีสาน ซึ่งเป็นวิถีสังคมเกษตรกรรมที่ทำไร่ ทำนา ต้องใช้มือเท้าเป็นสำคัญ ดังนั้นมือเท้าต้องแข็งแรง
พระเสี่ยงทายประจำวัดแกะสลักจากแก่นไม้ ศิลปะลาวล้านช้าง
วัดขะยูงวนาราม ตำบลขะยูง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
สุนทรียภาพการแสดงออกทางอารมณ์ของพระพักตร์ (ใบหน้า) พระพักตร์ของพระพุทธรูปอีสานเป็นลักษณะเฉพาะ ที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้ผู้พบเห็นเกิดสะเทือนอารมณ์ ทั้งในบุคลิกที่เคร่งขรึม ดุดัน หรือผ่อนคลาย ด้วยสีหน้าอารมณ์ที่ชัดเจน โดยส่วนใหญ่พระพักตร์จะมีลักษณะที่ยิ้มแย้มสดใส แลดูอบอุ่น สร้างความรู้สึกที่เป็นกันเอง ดูผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด บางแห่งช่างได้จำหลักส่วนพระพักตร์มีลักษณะแบบเด็กๆ ซึ่งแลดูเด๋อๆ ด๋าๆ น่ารัก แบบซื่อๆ
เส้นสายรายละเอียดของรูปทรงและผิวสัมผัสอันมีลักษณะดิบๆ แข็งๆ หยาบๆ มีทักษะฝีมือที่ไม่อ่อนหวานละเอียดอ่อน อันเกิดจากสัญชาตญาณในสุนทรียะที่ใช้ความรู้สึก ซึ่งให้อารมณ์ที่มีคุณค่าสูงยิ่งในศิลปะ จนลบล้างข้อด้อยอื่นๆ ซึ่งคุณลักษณะนี้เองที่ช่วยก่อเกิด “อัตลักษณ์เฉพาะ”
ด้วยลักษณะสังคม ยืดหยุ่น จริงใจ ซื่อตรง อย่างในวิถีชาวบ้าน ที่มีโครงสร้างทางสังคมที่มีความเสมอภาค นี่เองที่เป็นปฐมเหตุอันสำคัญ ก่อให้เกิดคุณลักษณะความงามอย่างในวิถีชาวบ้านที่ปรากฏอยู่ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในงานศิลปะพื้นบ้านอีสานทุกแขนง โดยเฉพาะคุณลักษณะเสรี ที่เป็นหัวใจของการสร้างสรรค์ที่สร้างคุณค่าทางศิลปะ อันปรากฏอยู่ในพระพุทธรูปอีสาน ซึ่งมีความแปลกและแตกต่างจากสกุลช่างอื่นๆ (แม้ในวัฒนธรรมล้านช้างซึ่งเป็นวัฒนธรรมแม่) ด้วยลักษณะงานช่างอย่างลักษณะศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งสัมพันธ์กับวิถีสังคมวัฒนธรรมชาวบ้าน ดังนั้น คุณค่า ความงามไม่งาม จึงเป็นเรื่องที่สัมพันธ์โดยตรงกับสังคมวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องศิลปะโดดๆ
ดังบทกวีที่ อาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร ได้รจนาไว้ว่า “…นั่งเลี้ยงควายหาไม้มาแซะเป็นพระ ไม่สวยสะแต่สวยซื่อคือ พระพุทธ แทนคุณค่าความดีความบริสุทธิ์ใจผ่องผุดเกิดพุทธ…ปฏิมากร” (บันทึกอีสานผ่านเลนส์, 2543, น. 1.) อย่างวัฒนธรรมอีสานซึ่งมีเบ้าหลอมจากวิถีแห่งความลำบากอย่างปากกัดตีนถีบ ด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้ง และสภาวะที่ถูกทำให้เป็นอื่น คือเบ้าหลอมให้วิถีแห่งอีสาน “ง่ายและงดงาม” คุณค่าความงามเป็นเรื่องของมายาจริตของคอกความคิด แต่พลังศรัทธาเป็นเรื่องของจิตวิญญาณความรู้สึก ซึ่งข้าพเจ้าค้นพบแล้วในงานช่างวิถีแห่งอีสานโบราณ
แต่ทำไม เพราะอะไรพวก…จึงดูถูก ดูแคลน เย้ยหยัน รื้อๆ และอยากอายๆ มูนมังของเจ้าของ!?
จาก : ติ๊ก แสนบุญ
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2555
"พระธาตุ" และ "ธาตุ" เป็นภาษาถิ่นของภาคอีสาน ที่ใช้เรียกอนุสาวรีย์หรือสิ่งก่อสร้างเพื่อบรรจุอัฐิธาตุของผู้วายชนม์ มีความหมายอย่างเดียวกับ "เจดีย์" หรือ "สถูป" ในภาษาภาคกลาง หากเรียกว่า
สถาปนิกมักจะสร้างไว้ในพื้นที่สูง เพื่อให้เด่นและมองเห็นง่าย ออกแบบให้ดูสูงใหญ่ดูอลังการ ใช้ก่ออิฐถือปูนปั้นลวดลายประดับประดาสุดฝีมือ เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาเพื่ออุทิศแด่พระพุทธศาสนา ความโดดเด่นของรูปร่างมักแสดงออกตรงส่วน "ยอดธาตุ" มากกว่าส่วนอื่น ซึ่งจะมีทรงแตกต่างกันออกไป อาทิ ทรงบัวเหลี่ยม ซึ่งนิยมมากกว่ารูปแบบอื่น ทรงแปดเหลี่ยม และทรงระฆังคว่ำ เป็นต้น
พระธาตุหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม แนวคิดสัญลักษณ์ทางศาสนาคือดอกบัว ชาวอีสานนำมาประยุกต์เป็นอัตลักษณ์ของตนคือ ยอดธาตุเป็นทรงดอกบัวเหลี่ยม หรือ บัวสี่เหลี่ยม
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม พระธาตุเหมือนได้สักการะและระลึกถึงคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนธาตุเป็นการระลึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษ เป็นการแสดงความกตัญญู
พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
รูปแบบของพระธาตุ สามารถจำแนกได้เป็น 6 กลุ่มดังนี้
พระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
พระธาตุเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม
“ธาตุ” ในครั้งแรกนิยมใช้ไม้ จึงเรียกว่า “ธาตุไม้” โดยใช้ไม้ถากให้เป็นท่อน 4 เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวไม่เกินด้านละ 30 ซม. แล้วตกแต่งบัวหัวเสาให้วิจิตรพิสดาร ต่อมาได้พัฒนามาใช้การก่ออิฐถือปูน ซึ่งสามารถทำได้ใหญ่โตและแข็งแรงยิ่งขึ้น เรียกว่า “ชะทาย” ซึ่งทำขึ้นจากปูนขาวผสมทราย ยางบงและน้ำหนังสัตว์เป็นตัวประสาน
ธาตุปูน จำแนกออกได้ตามความสำคัญของผู้ตาย ดังนี้
นอกจากรูปแบบของ “ธาตุ” และ “พระธาตุ” แล้วยังมีรูปแบบของ “บือบ้าน” หรือ “หลักบ้าน” (ส่วนมากทำด้วยไม้) ของอีสานที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ “ธาตุไม้” ของสามัญชน ต่างกันแต่ว่าไม่มีช่องบรรจุอัฐิเท่านั้น นับเป็นศิลปกรรมพื้นบ้านอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ธาตุไม้ คือ การนำแท่งไม้ 4 เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ 15 - 25 ซม. ความสูงไม่จำกัด มาประดิษฐ์เป็นที่บรรจุอัฐิของสามัญชน นับเป็นงานพื้นฐานในเชิงช่าง เป็นมูลเหตุแห่การสร้างงานสถาปัตยกรรมประเภทอนุสาวรีย์ในโอกาสต่อมา
ธาตุปูน เป็นธาตุที่ทำด้วยปูน ไม่ใช้โครงเหล็ก เป็นงานฝีมือช่างที่พัฒนารูปแบบมาจากธาตุไม้ โดยมีองค์ประกอบของฐานธาตุ เรือนธาตุ และยอดธาตุ การบรรจุอัฐินั้นนิยมบรรจุในเรือนธาตุเป็นส่วนใหญ่ ธาตุปูนนิยมสร้างสำหรับบุคคลสามัญ บุคคลสำคัญ ตลอดจนเจ้านายและพระสงฆ์
ข้อมูลจาก : ห้องอีสานนิทรรศน์ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
[ อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : บรรจุภัณฑ์แห่งความตาย ]
ฮูปแต้ม คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในภาคอีสาน ซึ่งปรากฏบนผนังทั้งภายนอกและภายในของสิม (โบสถ์) วิหาร หอไตร และหอแจก (ศาลาการเปรียญ) แสดงเรื่องราวพุทธประวัติหรือวรรณกรรมพื้นบ้าน เป็นความงามแบบพื้นบ้านที่ซื่อตรง เรียบง่าย ลักษณะเด่น คือ เนื้อเรื่องแบ่งเป็นตอนๆ เชื่อมต่อกัน ช่างแต้มจะใช้เส้นแถบ หรือใช้ช่องว่างรอบองค์ประกอบภาพแทนการคั่นเนื้อเรื่องแต่ละตอน เพื่อมิให้เกิดความสับสนในเนื้อหาแต่ละตอนยังมีคำบรรยายภาพกำกับไว้ด้วย ช่างแต้มเป็นทั้งฆราวาสและพระภิกษุในสังคมชนบท ซึ่งเชื่อว่าการได้เขียนฮูปแต้มถือเป็นบุญกุศล
ฮูปแต้ม วัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง)จังหวัดมหาสารคาม
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปแบบไม่เคร่งครัดไม่มีระเบียบแบบแผน ไม่วิจิตรบรรจง สื่อความหมายแบบซื่อตรง ภาพที่ออกมาจึงมีลักษณะอิสระคล้ายภาพการ์ตูนหรือศิลปะเด็ก มีความแปลกตา สร้างความรู้สึกเรียบง่าย สนุกสนาน และมีชีวิตชีวา
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม สะท้อนบุคลิกคนอีสานที่ซื่อๆ ง่ายๆ มีความสนุกสนาน ฮูปแต้มสื่อถึงพุทธศาสนาและวิถีชีวิตชนบทภาคอีสาน
“นกกู้หูก” หรือ “นกเค้าแมว” ในจิตรกรรมฝาผนังด้านนอกของสิม (โบสถ์)
วัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง) อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม
กระจกหกด้าน ตอน ฮูปแต้ม
ผู้เขียน : วีระพงศ์ มีสถาน
ค่ำคืนหนึ่ง จำเดือนไม่ได้ จำได้แต่เพียงว่าเป็นหน้าหนาว เดือนที่เพิ่งตั้งต้นนับข้างแรมสัก 2-3 ค่ำสาดแสงลอดทิวมะม่วงที่สูงใหญ่เบื้องตะวันออก เมื่อกินข้าวมื้อเย็นแล้ว คนบ้านใกล้เรือนเคียงมักเดินไปทักทายกัน เรียกว่า “ไปเล่น” หมายถึงไม่ได้มีธุระปะปังสำคัญอันใด คืนนี้ป้าข้างบ้านก็ขึ้นมาทักทายคุยกับพวกเราบนเรือน
วัยแม่กับป้านั้นประมาณเดียวกัน แต่การมาคุยของป้าไม่ได้หมายจะมาคุยกับแม่เท่านั้น เป็นการเดินมาเพื่อโอภาปราศัยฉันเพื่อนบ้าน เช่น ถามพี่สาวว่า “คืนนี้ได้อะไรกิน” หรือหมายถึง คืนนี้กินข้าวกับอะไรนั่นเอง และถามเรื่องสัพเพเหระ
ที่นอกชานนั้น มีพ่อ น้องสาวตัวเล็ก ผู้เขียน นั่งผิงไฟ โดยการก่อไฝผิงบนอีเลิ้ง ป้านั้นก็มานั่งบนเสื่ออยู่ห่างๆ กองไฟ ส่วนแม่นั่งเหยียดขาเคี้ยวหมากอยู่บนระเบียง ระหว่างที่เคี้ยวหมากและคุยกับป้าอยู่นั้น พลันก็มีเสียงนกชนิดหนึ่งมาร้องให้ได้ยิน เสียงนกนี้ร้อง ชาวบ้านตีความเสียงของมันว่า “กู้หูก”
ทุกคนนิ่งงันชั่วครู่ ผู้เขียนถามพ่อว่า เสียงนกอะไร พ่อบอกว่า “นกขี้ถี่” หรือนกเค้าแมว และดูเหมือนทุกคนจะให้ความสำคัญกับนกนี้มาก พี่ชายคนโตกึ่งบ่นกึ่งถามว่า เสียงมันมาจากทางไหน พี่ชายคนที่ 3 ทำธุระอยู่ลานหน้าบ้านสันนิษฐานแกมบอกว่า นกเกาะอยู่บนยอดมะพร้าว สักพักหนึ่งนกดังว่าก็ร้อง “กู้หูก กู้หูก” อีก ทุกคนจึงมั่นใจว่ามันเกาะอยู่บนทางมะพร้าวโทนที่สูงลิบลิ่ว
“นกเค้าแมว” หรือ “นกขี้ถี่” หรือ “นกกู้หูก” ปรากฏในภาพเขียนการทำศพชูชกในเรื่องพระเวสสันดร
จิตรกรรมฝาผนังด้านนอกของสิม (โบสถ์) วัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง) อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม
ถึงแม้ฟ้าออกสว่างเพราะฤทธิ์เดือนแรม แต่ก็ไม่ถึงขั้นทำให้มองเห็นตัวนกได้ พี่ชายคนโตจึงเดินจ้ำไปที่เก็บหน้าเต่ง (หน้าไม้) ฉวยมาพร้อมลูกดอกมา 2-3 ลูก แล้วโก่งสายห้าง (เตรียมลั่น) เอาไว้ เสียบลูกดอกเข้าที่ร่อง แล้วยกส่องไปที่ยอดมะพร้าว
ผู้เขียนทั้งตื่นเต้นและระคนสงสัยว่า ก็นกมันมาร้องไม่กี่แก๊ก ถ้ามันขี้คร้านอยู่ ประเดี๋ยวก็จะบินหนีไปตามเรื่องของมัน ทำไมผู้ใหญ่ดูช่างให้ความสนใจนัก แต่ก็ไม่ได้ซักถามอะไร
ระหว่างที่ทุกคนต่างสนใจนกขี้ถี่นี้ ผู้เขียนได้ยินแม่เรียกพี่สาวให้ปูฟูก (ที่นอนยัดนุ่น ชนิดที่พับได้ 3-4 ท่อน) แล้วเอาผ้านวมมาให้ด้วย เพราะแม่รู้สึกหนาวสะท้านขึ้นมาฉับพลัน หลังจากที่ได้ยินเสียงนกนี้ร้อง พี่สาวรีบกุลีกุจอจัดหาให้ทันที และปลอบใจว่าไม่เป็นไรๆ พี่ชายกำลังไล่มันไปแล้ว
ผู้เขียนผละจากกองไฟ แล้วไปจับมือถามอาการแม่ มือแม่เย็นเฉียบราวกับแช่น้ำเย็นมาหมาดๆ ข้างฝ่ายพี่ชายคนโตที่ยืนส่องหน้าเต่งอยู่บนชานเรือน เสียงลั่นดังเป๊ก ส่งลูกดอกทะยานไปในทิศยอดมะพร้าว เสียงพี่ชายคนรองย้ำว่า อีกสักดอกซิๆ พี่คนโตก็ง้างหน้าเต่งแล้วยิงไปอีกดอก ครั้งนี้มีเสียงพรึบๆ จะเป็นเพราะยิงถูกนก ทำให้กระพือปีกพยายามบิน หรือยิงไม่ถูก แต่นกตกใจจึงกระพือปีกบินหนี จนบัดนี้ก็ยังไม่รู้คำตอบ ถามพี่ชายว่า นกตัวที่ยิงเมื่อคืนนี้ มันถูกยิงหรือมันบินหนี ทุกคนรวมทั้งพ่อก็ไม่รู้เหมือนกัน
แม่นั้นดูทีว่าจะกลัวเสียงนกนี้มาก ตัวสั่นเทาๆ พอรุ่งเช้าเห็นแม่ลุกเดินไปมาได้ ช่วยพี่สาวนึ่งข้าวเหนียวและหุงหาอาหาร แต่ดูสีหน้าเหมือนกับเหนื่อยเพลีย ไม่ได้หลับตลอดทั้งคืน
มารู้ความและเดาเอาว่า เหตุที่แม่กลัวเสียงนกเค้าแมวนี้ เพราะมีนิทานปรัมปราของชาววัฒนธรรมลาว คือเรื่อง ย่ากินปลิง เรื่องมีว่า
ย่า (แม่ผัว) กับ ลูกสะใภ้ มีความกินแหนงแคลงใจกัน ย่านั้นตาบอดและมักบ่นกระปอดกระแปดตามประสาผู้เฒ่า ส่วนลูกสะใภ้ถึงจะแหนงใจกับย่า แต่ก็ต้องปรนนิบัติตามหน้าที่ของสะใภ้ลาว วันหนึ่งย่าเปรยว่า "อยากกินต้มปลา" นางสะใภ้จึงไปช้อนหาปลาจากหนองน้ำ แต่ก็ช้อนเอาปลิงมาต้มทำกับข้าวให้ย่ากิน ย่าก็กิน ซ้ำบอกว่าอร่อย แต่ก็เอะใจว่าเหตุใดปลาจึงเหนียวนัก กัดไม่ขาด สะใภ้ก็ตอบว่า เพราะย่าแก่แล้ว กำลังวังชาถดถอยจึงทำให้กัดไม่ขาด ส่วนลูกชายมาพบกับข้าวในสำรับว่าเป็นปลิง จึงทักแม่ของตน ทำให้แม่เกิดความสะอิดสะเอียน โกรธ เสียใจหนัก ก่อนตายนางสาบแช่งลูกสะใภ้ว่า "ขออย่าให้มีใครยกโลงศพของนางไปเผาที่กองฟอนได้ ยกเว้นลูกสะใภ้ และขอให้คานหามศพติดบ่าปลดไม่ออก"
ระหว่างที่ทำพิธีศพจะยกไปป่าช้า ชาวบ้านต่างก็มาช่วยกันยก ช่วยกันหาม แต่โลงก็ไม่ขยับเขยื้อน ชาวบ้านจึงขอร้องเรียกให้สะใภ้ซึ่งตอนนั้นนางกางหูกทอผ้าโดยไม่สนใจมาช่วยงานศพเลย มาช่วยยกโลง ปรากฏว่าพอนางมายกคานหาม ก็สามารถยกได้ แต่พอถึงป่าช้าไม่สามารถปลดคานออกจากบ่า ซึ่งเป็นไปตามคำแช่งของย่า ด้วยเหตุนี้ ลูกชายของแม่ (ย่า) จึงผลักนางซึ่งเป็นเมียของตนให้เข้าสู่กองฟอนตายตกไปตามกัน
สะใภ้คนชั่วเมื่อตายแล้วไปเกิดเป็นนกเค้าแมว ยามค่ำคืนก็มักมาจับตามต้นไม้ใหญ่ ร้องเรียกว่า “กู้หูก กู้หูก” เพราะตอนที่นางผละจากกี่ทอผ้าเพื่อไปยกโลงศพนั้น นางยังกางหูกไว้ หูกยังมิได้เก็บกู้
ชาววัฒนธรรมลาว ทั้งฝั่งซ้ายฝั่งขวา ต่างก็เคยมีความเชื่อถือว่า “นกขี้ถี่” เป็นนกผี มันจะมา “กูก” หรือกู่ร้องเอาวิญญาณของคน
อาจเป็นเพราะซาบซึ้งหรือฝังใจกับเรื่องปรัมปรานี้ แม่จึงกลัวเสียงนกนี้เป็นอย่างมาก และแม่มักถือปฏิบัติตลอดมาว่า เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน ผู้เขียนเห็นแม่เก็บกู้หูกไว้อย่างเรียบร้อย แม่เคยบอกแต่เพียงว่า ถ้าไม่เก็บกู้จะขะลำ (หมายถึง จะละเมิดคำสอนของคนโบราณ ซึ่งก่อให้เกิดเป็นเสนียด ความชั่วร้ายขึ้นในครอบครัว) [ อ่านเพิ่มเติมเรื่อง : คะลำ ขะลำ จารีตชาวอีสาน ]
“หูก” เครื่องทอผ้า ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5
บรรดานิทานท้องถิ่น หรือตำนานอะไรบางอย่างที่กึ่งสนุก กึ่งน่าเชื่อถือ ซ้ำยังมีหลักฐานยืนยันเป็นทำนองว่า เสียงร้องของคน ของสัตว์ สีขน สีผิว ภาษาพูด อักษรเขียน พฤติกรรม ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้ ปรากฏให้เห็นจนปัจจุบัน ผู้เขียนเรียกว่านิทานรับสมอ้าง คือเป็นการสร้างเรื่องให้พอเหมาะกับสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งนิทานเรื่อง ย่ากินปลิง ก็เข้าหลักการนี้ เป็นความชาญฉลาดของคนที่ผูกเรื่องขึ้นมา และเหมาะกับสังคมคนใช้ภาษาลาวเท่านั้น หากนกนี้จะบินไปร้องที่พม่า คนพม่าก็เห็นจะไม่รู้ความแน่ว่า นกบอกให้กู้หูก
พ.ศ. 2548 ซึ่งผู้เขียนได้ไปออกเก็บข้อมูลภาคสนามที่ หมู่บ้านปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งหมู่บ้านนี้คนส่วนใหญ่พูดภาษาเญอ แต่ก็รับอิทธิพลวัฒนธรรมลาวไว้มาก ช่วงนั้นมีคนในหมู่บ้านเสียชีวิต ชาวบ้านที่มีอาชีพเสริมด้วยการทอผ้า ได้เก็บหูกไว้ ไม่ยอมทอ โดยบอกกับผู้เขียนว่า “ขะลำ” เช่นกัน
การกู้หูกในยามที่หมู่บ้านมีคนตาย คงมิใช่เป็นเพราะนิทาน แต่เป็นเพราะคำสอนที่ถ่ายทอดกันมาแต่โบราณ เพื่อรั้งให้สังคมหมู่บ้านรู้สึกเป็นพวก หรือเป็นหมู่เดียวกัน ดูแล ห่วงใย ใส่ใจ ช่วยงานกัน แต่ปรากฏการณ์นี้ นักท่องเที่ยวหรือคนที่ไม่สนใจงานวิถีชุมชน จะไม่ค่อยได้รู้เห็น ถ้าไม่เอ่ยปากทักถาม
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2560
ผู้เขียน : วีระพงศ์ มีสถาน
ยายกินปลิง ลำโดย ทองแปน พันพุปผา
[ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ฮูปแต้มอีสาน 2 ]
อัตลักษณ์ ไม่มีความหมายบันทึกไว้ในพจนานุกรมแต่อย่างใด แต่ก็มีตำราหลายเล่มได้ให้นิยาม หรือความหมายคำว่า อัตลักษณ์ คือ คุณลักษณะเฉพาะตัว ที่บ่งบอกหรือมีความชี้ชัดของตัวบุคล สังคม ชุมชนหรือประเทศนั้นๆ เช่น เชื้อชาติ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ไม่มีทั่วไปและเป็นสากลกับสังคมอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่อัตลักษณ์จะใช้ในวงแคบๆ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้
“อัตลักษณ์” มาจากภาษาบาลีว่า อตฺต + ลักษณ โดยที่ “อัตตะ” มีความหมายว่า ตัวตน, ของตน ส่วน “ลักษณะ” หมายถึง สมบัติเฉพาะตัว หากมองเพียงแค่รูปศัพท์ “อัตลักษณ์” จึงเหมาะจะนำมาใช้หมายถึงลักษณะเฉพาะตัวของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากกว่า
อัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน จึงหมายถึง ความเป็นรูปแบบเฉพาะของอีสานที่ไม่ว่าจะนำไปไว้ ณ แห่งหนใด ทุกคนก็จะร้องอ๋อทันทีว่า นี่เป็นของอีสาน มาจากภาคอีสาน หรือพบเห็นได้ที่อีสาน เป็นอีสานแน่ๆ ไม่เซินเจิ้น (ของก็อปจากจีน) อย่างแน่นอน นั่นเอง!
จากการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ รวบรวมมา และเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า สิ่งที่เป็น อัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน มีอยู่ 54 อย่าง ดังต่อไปนี้
จากจำนวน "อัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน" ทั้ง 54 อย่างนี้ เมื่อทำการศึกษาวิจัยลงลึกไปอีก ได้คัดเลือกอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่น และมีศักยภาพในการนำเป็น "ทุนประยุกต์ในเชิงสร้างสรรค์" ได้ 4 อัตลักษณ์ คือ
โดยการพิจารณาจาก 4 ประเด็นสำคัญ คือ
ที่มา : อัตลักษณ์ไทย ทุนความคิด ทุนสร้างสรรค์ (ผลการสำรวจศึกษาและสังเคราะห์อัตลักษณ์ไทย ๔ ภูมิภาค)
จัดพิมพ์เผยแพร่โดย สถาบันพัฒาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)