foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

attalak isan

ลาบอีสาน

ลาบ เป็นอาหารท้องถิ่นทางภาคอีสาน โดยนำเนื้อมาสับให้ละเอียดแล้วคลุกกับเครื่องปรุง ซึ่งเนื้อที่นำมาลาบมีหลายชนิด มีทั้งแบบเนื้อสุกและแบบเนื้อดิบ นิยมกินคู่กับข้าวเหนียว ลาบของภาคอีสานมีลักษณะเฉพาะ คือ เป็นอาหารทีปรุงโดยใช้เนื้อสัตว์ที่สับละเอียด ซอย หรือหั่นเป็นชิ้นๆ ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำปลา น้ำปลาร้า มะนาว แล้วโรยด้วยข้าวคั่ว พริกป่น ใบสะระแหน่ ใบมะกรูดซอย ใบผักหอมเปซอย ต้นหอม และหอมแดง กินกับผักพื้นบ้านเช่น แตงกวา ยอดกระถิน ลิ้นฟ้า ยอดมะกอก ยอดมะเฟือง ยอดมะตูม ยอดสะเดา เป็นต้น

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ลาบอีสานมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากลาบภาคอื่นๆ

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ลาบเป็นอาหารที่รับประทานได้ทั่วทุกภูมิภาค และคนอีสานมีสูตรลับเฉพาะ มีรสชาติที่ได้รับความนิยม

laab isan 01
ลาบเนื้อวัวแบบอีสานแซบนัว

ลาบขม ต้มแซบ

ลาบ เป็นอาหารท้องถิ่นทางภาคอีสานและภาคเหนือ (รวมถึงประเทศลาวและสิบสองปันนา) โดยนำเนื้อสัตว์มาสับให้ละเอียดแล้วคลุกกับเครื่องปรุง ซึ่งเนื้อที่มาทำลาบเป็นเนื้อสัตว์หลายชนิด เช่น เนื้อไก่ เนื้อเป็ด เนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อปลา เนื้อหมู และเนื้อนก นอกจากนี้ยังสามารถลาบสัตว์จำพวก กวาง เช่น ละมั่ง กระจง เก้ง หรือแม้แต่ ตัวบึ้ง แมงจินูน ก็นำมาลาบได้เช่นกัน ลาบนิยมกินคู่กับข้าวเหนียว

sok lek
พูดเนื้อ (การแบ่งปันแบบพื้นบ้านป็นส่วนๆ) กับซกเล็กขมๆ

ลาบ น. อาหารประเภทพร่าและยำ ถือว่าเป็นอาหารประเภทชั้นสูงของชาวอีสานในการเลี้ยงแขกเลี้ยงคน หรือทำบุญให้ทาน ถ้าขาด "ลาบ" อย่างเดียวถือว่า เป็นการเลี้ยงขั้นต่ำ. minced meat or fish dish with added seasoning, a traditional Isan food for all important occasions. (สารานุกรม ภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง) เราจึงได้เห็นว่า ในภาคอีสานถ้าบ้านใดมีการทำบุญใหญ่ งานมงคลจะมีการล้มวัว ควาย หมู หลายตัวเพื่อการจัดเลี้ยงให้สมเกียรติของเจ้าภาพ

ขายก้อยคอยอ้าย - ดอกอ้อ ทุ่งทอง

ลาบอีสาน เป็นอาหารที่ปรุงโดยใช้เนื้อสัตว์ที่สับละเอียด ซอยหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ บางๆ ปรุงรสด้วย น้ำปลา มะนาว และ โรย ข้าวคั่ว พริกป่น ใบสระแหน่ ต้นหอมและหอมแดง มีทั้งที่ใช้เนื้อสัตว์สุกและดิบ กินกับพืชผักพื้นบ้าน เช่น แตงกวา ยอดกระถิน ลิ้นฟ้า ยอดมะกอก ยอดมะเฟือง ยอดมะตูม ยอดสะเดา เป็นต้น ลาบวัว เป็นอาหารพื้นบ้านของอีสานที่ทำได้ง่าย และเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วทุกภาคของไทย คนอีสานจริงๆ ชอบกินลาบวัวมากกว่าเนื้อสัตว์อื่น นิยมเนื้อวัวมากกว่าเนื้อควาย (ต่างจากทางภาคกลาง ภาคเหนือที่นิยมทำลาบจากเนื้อควาย) ลาบในแต่ละท้องถิ่นของภาคอีสานอาจมีลักษณะ และเครื่องปรุงแตกต่างกันไป บ้างชอบรสปรี้ยว บ้างชอบรสขม แต่โดยภาพรวมแล้วจะมีเครื่องปรุงหลักๆ ที่เหมือนกัน

laab isan 02
กินลาบก็ต้องมีย่างพวงนม ย่างเสือร้องไห้ และแจ่วขมๆ คู่กัน

ลาบอีสานนั้นขึ้นชื่อ สังเกตได้จากร้านอาหารริมทางทั่วประเทศ ที่มักจะขึ้นป้ายจำหน่ายอาหารอีสาน "ลาบขม ต้มแซบ" โดยมีชื่อจังหวัดของเจ้าของร้าน หรือ เจ้าของสูตร บ่งบอกเป็นเอกลักษณ์ เช่น ลาบอุบล ลาบยโส ลาบร้อยเอ็ด ลาบกาฬสินธ์ ฯลฯ ไปลิ้มลองกันเองครับ อาหารอีสานอย่างอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกับลาบ ได้แก่

  • น้ำตก มีลักษณะเหมือนกับลาบทุกประการ ต่างกันเพียงแค่ไม่ใช้เนื้อสับ แต่จะใช้เนื้อมาย่างให้สุก หั่นเป็นชิ้นๆ บางๆ แทน โดยมากนิยมใช้เนื้อหมู หรือเนื้อวัวย่าง แล้วนำมาผสมด้วยเครื่องปรุงลาบต่างๆ มักให้มีรสเปรี้ยวนำ
  • ซกเล็ก เป็นอาหารที่มีลักษณะคล้ายลาบ แต่ไม่ทำให้เนื้อสัตว์สุก นำเนื้อดิบล้างสะอาดมาหั่นบางๆ หรือสับละเอียด (แล้วแต่สูตรในแต่ละท้องที่) เมื่อปรุงรสด้วยเครื่องลาบได้ที่แล้ว จะนำเลือดสัตว์ชนิดที่นำมาทำนั้น มาขยำให้เหลวด้วยใบตะไคร้นำมาเคล้ากับลาบดิบๆ ให้มีน้ำขลุกขลิก นิยมใส่น้ำดีของสัตว์ลงไปด้วยเพื่อให้มีรสขมนำ บางท่านไม่ชอบทานดิบๆ จะนำไปตั้งไฟคั่วให้สุกจะได้กลิ่นหอมอร่อยไปอีกแบบ กลายเป็น ซกเล็กคั่ว ที่สุดแสนอร่อย
  • เลือดแปลง เป็นลาบที่ทำจากเครื่องในหมูที่ต้มจนสุก แล้วนำมาทำลาบ ปรุงรสได้ที่แล้วใส่เลือดหมูลงไป เป็นอาหารที่ได้รับวัฒนธรรมการกินมาจากชาวญวณ เลือดแปลงจะมีทั้ง เลือดแปลงหมู และเลือดแปลงเป็ด ต่างกันที่วัตถุดิบนั่นเอง ซึ่งเลือดแปลงหมูจะใช้ส่วนประกอบเป็นหมูทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใน หรือตัวเลือด เช่นเดียวกับเลือดแปลงเป็ด ซึ่งในปัจจุบันหาทานยากมาก เพราะไม่ค่อยมีใครทำเลือดแปลงเป็ดกันแล้ว
    ดั้งเดิมชาวเวียดนามจะทำอาหารที่ชื่อว่า "โย่ย" หรือ ไส้กรอกเลือด ในภาษาไทย เมนูนี้คนเวียดนามจะชอบทำเวลามีงานสำคัญๆ เช่น ช่วงเทศกาลตรุษ จะเสิร์ฟคู่กับเครื่องในหมูสุก เช่น ตับหมู ไส้หมู และกระเพาะหมู เวลากินจะมีน้ำจิ้มหรือ แจ่วแบบคนอีสาน แต่ต้นตำรับเวียดนามจะเน้นเป็นน้ำพริกสด หรือพริกสดที่นำมาบด จะมีรสเผ็ดและปรุงรส จะไม่ข้นและไม่เครื่องเยอะเท่าแจ่วแบบอีสาน 
  • ก้อย เป็นการนำเนื้อสัตว์ที่ดิบหรือสุกมาผสมกับน้ำปลาร้า น้ำปลา น้ำมะนาว หรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวอื่นๆ หรือใช้ตัวมดแดง ใส่พริกป่น ข้าวคั่ว ต้นหอม ผักชีฝรั่ง ใบมะกรูด ใบสะระแหน่
  • ตับหวาน เป็นอาหารคล้ายๆ กับลาบสุก แต่ใช้ตับวัว หรือหมู หั่นเป็นชิ้นพอคำแล้วนำมาลวกสุกๆ ดิบๆ (ถ้าสุกมาก จะแข็งจนเคี้ยวไม่อร่อย) ปรุงรสด้วย น้ำปลา น้ำปลาร้า มะนาว น้ำตาล และ โรย ข้าวคั่ว พริกป่น ใบสะระแหน่ ต้นหอมสด และหอมแดง

laab isan 04

การรับประทานอาหารอีสานประเภทลาบต้มนั้น ต้องมีอาหารครบชุดคือ มีลาบ (ทั้งสุกและดิบ) มีต้ม (เนื้อเปื่อย) หรืออ่อมใส่ผักพื้นบ้าน ย่างเสือร้องไห้ ย่างตับ ย่างพวงนม ย่างไส้อ่อน และแจ่วขมๆ หรือแจ่วเปรี้ยวตามชอบ มีเครื่องเคียงคือผักพื้นบ้านนานาชนิดตามฤดูกาล เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ยอดมะตูม ยอดใบมะกอก ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือเปราะ ต้นหอมสด สะระแหน่ ผักหอมเป บักลิ้นฟ้า (เพกา) เผาหั่นบางๆ เป็นต้น (ถ้ามีผักชีลาวนำกะแซบหลาย)

laab isan 03

[ อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : วิญญาณ ๕ ของฅนอีสาน | อาหารประภทลาบ ซกเล็ก ก้อย | การบริโภคอาหารดิบของชาวอีสาน ]

redline

backled1

attalak isan

ส้มตำ

ส้มตำ เป็นอาหารที่รับประทานกันมากในภาคอีสาน โดยนำมะละกอดิบที่ขูดหรือสับเป็นเส้น มาตำในครกกับมะเขือเทศลูกเล็ก มะกอก พริก กระเทียม น้ำปลาร้า(ต่วง) อาจปรุงรสเพิ่มด้วยมะนาว ปูนาดอง มีรสเปรี้ยว เผ็ด และออกเค็มเล็กน้อย เรียก "ส้มตำปลาร้า" หรือ "ส้มตำลาว" นิยมกินกับข้าวเหนียวและไก่ย่าง โดยมีผักสดเช่น กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว เม็ดกระถิน เป็นเครื่องเคียง หากตำโดยมีการใส่ถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้ง น้ำตาลปิ๊บ ใส่น้ำปลาแทนปลาร้า จะเรียก "ส้มตำไทย" ร้านขายส้มตำมักจะมีอาหารอีสานอย่างอื่นๆ ขายร่วมด้วย เช่น ซุปหน่อไม้ ลาบ ก้อย น้ำตก ไก่ย่าง ไข่ต้ม แคปหมู ข้าวเหนียว เป็นต้น

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เป็นอาหารที่มีรสชาติจัดจ้าน สีสันสวยงามน่ารับประทาน กลิ่นเป็นเอกลักษณ์

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ส้มตำเป็นอาหารอีสานที่นิยมรับประทานในทุกภาคของประเทศไทย และยังเป็นอาหารที่ขึ้นหน้าขึ้นตาระดับโลกอีกด้วย

som tum 02 

อาหารอีสานแซบนัว

ถ้าพูดถึงอาหารการกินทางภาคอีสาน อย่างแรกที่หลายๆ คนนึกถึงคงจะหนีบ่พ้น “ตำบักหุ่ง” หรือ “ส้มตำ” อาหารจานหลักในตำนานที่ไม่ได้นานอย่างที่หลายๆ คนคิด ส่วนประกอบที่สำคัญของ ส้มตำ หรือตำบักหุ่ง คือ "มะละกอ" ซึ่งไม่ใช่พืชพื้นถิ่นบ้านเรา

som tum 03

"มะละกอ" มีถิ่นกำเนิดที่เทือกเขาแอนดีส แต่บางเอกสารบอกว่า มะละกอมาจากเม็กซิโก หรือหมู่เกาะอินเดียตะวันตก บ้างก็ว่า มะละกอมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลาง บริเวณประเทศเม็กซิโกตอนใต้และคอสตาริกา เมื่อปี พ.ศ. 2069 เอกสารของสเปนได้ให้รายละเอียดว่า ค็อนควีสทะดอร์ส หรือ เหล่านักรบสเปน ที่มีชัยเหนือเม็กซิโกและเปรู เป็นผู้นำมะละกอจากสเปนไปปลูกที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเรียกว่า "เมลอน ซาโปเต้" ในช่วงปี พ.ศ. 2314 อันเป็นช่วงที่กรุงธนบุรี เป็นราชธานีได้มีรายงานของ นายลินโซเตน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวดัตช์ว่า "คนโปรตุเกสได้นำเอามะละกอมาปลูกที่มะละกา จากนั้นจึงนำไปปลูกที่อินเดีย ส่วนอีกทางหนึ่งได้ขยายไปปลูกที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย"

สำหรับประเทศไทยนั้นคาดกันว่า "มะละกอ" จะเข้ามาหลายทางอาจจะเข้ามาภาคใต้ หรือเข้ามาทางอ่าวไทยซึ่งดูตามหลักฐานต่างๆ แล้ว น่าจะเชื่อได้ว่า มะละกอจะเข้ามาประเทศไทยในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงน่าจะฟันธงได้ว่า "คนสมัยอยุธยาขึ้นไป ไม่เคยได้ลิ้มรสของส้มตำ” เลยนะออเจ้า

หากจะกล่าวถึงอาหารการกินของคนอีสาน หลายคนคงรู้จักคุ้นเคยและได้ลิ้มชิมรสกันมาบ้างแล้ว ชาวอีสานมีวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย เช่นเดียวกับการที่รับประทานอาหารอย่างง่ายๆ มักจะรับประทานได้ทุกอย่าง เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของภาคอีสาน ชาวอีสานจึงรู้จักแสวงหาสิ่งต่างๆ ที่สามารถรับประทานได้ในท้องถิ่น มาดัดแปลงเป็นอาหารรับประทาน อาหารอีสานเป็นอาหารที่มีความแตกต่างจากอาหารของภาคอื่นๆ และเข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย อาหารของชาวอีสานในแต่ละมื้อจะเป็นอาหารง่ายๆ เพียง 2 - 3 อย่าง ซึ่งทุกมื้อจะต้องมีผักเป็นส่วนประกอบหลัก พวกเนื้อส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อปลา หรือเนื้อวัว เนื้อควาย

som tum 04

ความพึงพอใจในรสชาติอาหารของชาวอีสานนั้น ไม่มีตายตัวแล้วแต่ความชอบของบุคคล แต่อาหารพื้นบ้านอีสานส่วนใหญ่แล้ว จะออกรสชาติไปทางเผ็ด เค็ม และเปรี้ยว เครื่องปรุงอาหารอีสานที่สำคัญและแทบขาดไม่ได้เลย คือ "ปลาร้า" หรือ "ปลาแดก" ซึ่งที่เกิดจากภูมิปัญญาด้านการถนอมอาหารของบรรพบุรุษของชาวอีสาน ถ้าจะกล่าวว่า ชาวอีสานทุกครัวเรือนต้องมี "ปลาร้า" ไว้ประจำครัวก็คงไม่ผิดนัก ปลาร้าใช้เป็นส่วนประกอบหลักของอาหารได้ทุกประเภท เหมือนกับที่ชาวไทยภาคกลางนิยมใช้น้ำปลา

“ส้มตำ” เป็นภาษากลางที่ใช้เรียกกันทั่วไป ชาวอีสานเรียก ตำบักหุ่ง หรือ ตำส้ม ส้มตำของชาวอีสานมีความหลากหลายมาก พืชผัก ผลไม้ ชนิดต่างๆ ก็สามารถนำมาตำรับประทานได้ทั้งสิ้น จึงมักเรียกว่า ตำส้ม มากกว่า ส้มตำ เช่น ตำส้มบักหุ่ง (มะละกอ) ตำถั่วฝักยาว ตำกล้วยดิบ ตำหัวปลี ตำมะยม ตำลูกยอ ตำแตง ตำสับปะรด ตำมะขาม ตำมะม่วง เป็นต้น ซึ่งจะมีรสชาติที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเภท แต่โดยรวมๆ แล้วจะเน้นที่ความมีรสจัดจ้านถึงใจ และเน้นที่ความเปรี้ยวนำ จึงเป็นที่มาของชื่อ "ตำส้ม" คือ ตำให้มีรสเปรี้ยวนำหน้า นั่นเอง

som tum 01

ล้มตำต้นตำรับอีสาน ส่วนใหญ่เรียกกันว่า "ส้มตำลาว" ซึ่งจริงๆ แล้วรสชาติจะไม่เหมือนกับส้มตำที่ตำโดยคนลาว ใน สปป.ลาว แต่อย่างใด เพราะผู้ขียนได้ไปลองชิมมาแล้วทั้งที่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาสัก ฯลฯ ซึ่งรสชาติก็ไม่เหมือนส้มตำทางอีสานเสียทีเดียว เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดเลยเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ส้มตำปลาร้า" หรือ "ส้มตำปลาแดก" ส้มตำของชาวอีสานบางครั้งจะใส่ ผลมะกอกพื้นบ้าน (เฉพาะฤดูที่มีผลมะกอกพื้นบ้าน) เข้าไปด้วยเพื่อเพิ่มรสชาติ โดยฝานเป็นชิ้นรวมกับส้มตำมะละกอ ใส่ปูนาดองเข้าไปด้วยช่วยให้รสชาติอร่อยขึ้น "ส้มตำ" เป็นเมนูอาหารหลักของชาวอีสานรองจากข้าวเหนียว สามารถรับประทานกันได้ทุกวันและทุกมื้ออาหาร จะเช้า สาย บ่าย เย็น จะบ้านนอก หรือในเมืองก็เช่นเดียวกัน แม้แต่ใจกลางกรุงทพมหานครก็ตาม

som tum 05

วัฒนธรรมการกินอาหารอย่างหนึ่งของชาวอีสาน คือ หากมื้อใดมีการทำส้มตำรับประทาน ก็มักจะเรียกเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงมาร่วมสังสรรค์ รับประทานส้มตำด้วยกัน บางคนถึงกับบอกว่า "ทานคนเดียวไม่อร่อย ต้องทานหลายๆ คน" หรือแย่งกันทาน เรียกว่า "ส้มตำรวยเพื่อน" ก็ไม่ผิดนัก ซึ่งเป็นที่มาของ "ส้มตำถาด" ในเวลาต่อมา และตามงานบุญประเพณีต่างๆ ของชาวอีสานจะขาดส้มตำไม่ได้เลย ถ้าขาดส้มตำอาจจะทำให้งานนั้นกร่อยเลยทีเดียว

"ส้มตำ" จะอร่อยหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับ "ปลาร้า" เป็นสำคัญ ถ้าหากปลาร้าอร่อยมีรสชาติดี ก็จะทำให้ส้มตำครกนั้นมีรสชาติอร่อยไปด้วย จนมีบางหมู่บ้านมีสูตรเฉพาะในการทำปลาร้าสำหรับใช้ใส่ส้มตำเป็นการเฉพาะ เรียกว่า "ปลาแดกต่วง" ซึ่งมีกลิ่นเฉพาะตัวที่ทั้งแซบและนัวชวนให้น้ำหลายได้ เมื่อได้กลิ่นโชยมาแต่ไกล ปลาร้าที่ใส่ส้มตำสามารถใส่ได้ทั้งน้ำและตัวปลาร้า หรือบางคนก็ใส่แต่น้ำปลาร้า ใส่เพื่อพอให้มีกลิ่นแล้วแต่คนชอบ แต่ต้องทำให้สุกเสียก่อนเป็นดี (ป้องกันพยาธิใบไม้ในตับ)

ชาวอีสานส่วนใหญ่ยังมีความคิดว่า กินปลาร้าดิบแซ่บกว่าปลาร้าสุก ดังนั้นชาวบ้านตามชนบทมักจะใช้ปลาร้าดิบเป็นส่วนประกอบในส้มตำ ด้วยความคิดเช่นนี้จึงทำให้กลายคนกินปลาร้าแล้วได้พยาธิ (ส่วนใหญ่จะเป็นพยาธิใบไม้ในตับ) แถมเข้ามาอยู่ในตัวด้วย ถึงแม้ว่าการใช้เกลือประมาณร้อยละ 30 ของน้ำหมักปลาในการหมัก ก็เป็นเพียงการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ที่ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้เท่านั้น แต่ยังไม่มีคำยืนยันจากนักวิชาการว่า เกลือสามารถฆ่าพยาธิได้ ดังนั้น ควรใช้ปลาร้าที่ต้มสุกแล้วจะปลอดภัยกว่า (หมออนามัยเพิ่นยืนยันมาเด้อพี่น้อง)

som tum 06

นอกจาก "ส้มตำปลาร้า" แล้ว ก็มีวิวัฒนาการของการปรุงเป็นส้มตำอีกหลายแบบ เช่น ตำไทย จะใส่ถั่วลิสงคั่ว น้ำตาลปี๊บ ใส่น้ำปลาแทนน้ำปลาร้า ใส่ปูทะเลแทนปูนา และมีวิวัฒนาการพิ่มเติมเครื่องปรุงผสมอื่นๆ ลงไป แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ป็น ตำป่า ตำซั่ว ตำโคราช ตำหมูยอ ตำทะเล และอีกสารพัดตำ รวมทั้งรวบรวมเครื่องเคียงที่ใช้รับประทานร่วมกันกับส้มตำลงไปในถาดใบใหญ่ กลายเป็น "ส้มตำถาด" ดังภาพบน แต่ขอแนะนำให้ใช้ถาดสแตนเลสแบบภาพทางขวา แทนถาดสังกะสีเคลือบแบบถาดทางซ้ายนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงสารเคมีพิษที่อยู่ในสีเคลือบหลุดปะปนออกมา จากการกัดกร่อนของกรดและเกลือในส้มตำ

ส้มตำ อาหารรสแซบจานนี้ มีที่มาจากไหนกันแน่ I ประวัติศาสตร์นอกตำรา

[ อ่านเพิ่มเติมได้จาก : วิญญาณ ๕ ของฅนอีสาน | ปลาแดกสุดยอดเครื่องปรุงอีสาน ]

redline

backled1

attalak isan

ความเชื่อในการทำนา

ความเชื่อในการทำนา การทำนาของชาวอีสานส่วนใหญ่เป็นการทำนาดำ พิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนาดำก็มีมากมาย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ และการนับถือผีบ้านหรือเทพเจ้าในลัทธิถือผี ในรอบปีชาวอีสานจะมีพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับข้าวและการทำนาเกิดขึ้นทุกขั้นตอน เพื่อบวงสรวง บูชา อ้อนวอนเทพเจ้าเกี่ยวกับพืชพันธุ์และเทพเจ้าเกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟ ตลอดถึงเทพเจ้าอื่นๆ เพราะเชื่อว่าจะก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ สัญลักษณ์เกี่ยวกับพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวได้แก่ ตาแหลว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกเขตหวงห้ามในพิธีความเชื่อ เช่น การสู่ขวัญข้าว การสืบชะตา การทำบุญบ้าน การทำบุญเมือง ปักบนหม้อยา ปักไว้ในที่ไม่ให้ผีผ่าน เป็นต้น

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ตาแหลวทำจากไม้ไผ่สานมีลักษณะการขัดสานจนเกิดเป็นรูปทรงเฉพาะ

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ตาแหลวเป็นเครื่องรางที่ปกปักรักษา และเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงเขตหวงห้าม

tam na 01

การทำนา

ประเทศไทย มีลักษณะของผู้คนที่อยู่อย่างกระจายไม่หนาแน่น ดังนั้น ลักษณะของความเชื่อที่พบในสังคมไทย จะไม่ได้มีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในแง่ที่ว่าแต่ละภูมิภาคก็มีระบบความเชื่อของตัวเอง ภาคใต้มีวิธีการกำจัดหรือแก้ปัญหาเรื่องการทำนาของตัวเองแบบหนึ่ง ทางอีสานก็อีกแบบหนึ่ง ผู้ที่ปกครองบ้านเมืองจะทำอย่างไร จึงจะรวมหรือสร้างบูรณาการให้ผู้คนที่เต็มไปด้วยชนเผ่าต่างๆ ที่หลากหลายนี้ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ก็จำเป็นต้องมีระบบความเชื่อที่มีอิทธิฤทธิ์ มีประสิทธิภาพที่สามารถจะเอาชนะหรือสร้างความเคารพยอมรับจากชนเผ่าต่างๆ ได้

เมื่อสังคมพัฒนาเป็นบ้านเป็นเมือง จนกระทั่งทุกวันนี้ลักษณะของพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าว ก็เป็นเรื่องที่ผสมผสานระหว่างพิธี ทั้งพุทธศาสนาซึ่งมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวด ทำบุญทำทาน และก็มีพิธีพราหมณ์ ซึ่งเอาข้าวเข้ามาเพื่อสร้างความอลังการ ความศักดิ์สิทธิ์ ความน่าเชื่อถือให้กับราชสำนัก และพิธีกรรมอันนี้เองที่ส่งผลอิทธิพล และสะท้อนกลับไปยังความเชื่อของชาวบ้านอีกต่อหนึ่ง จะเห็นว่าพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวในปัจจุบันนี้ จะเป็นเรื่องราวความเชื่อที่ค่อนข้างผสมผสานกันระหว่าง ความเชื่อในเรื่องของผี ความเชื่อท้องถิ่น ความเชื่อในเรื่องพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูด้วย

tam na 02

“แถน”เป็นเทพดั้งเดิมของชนเผ่าไท ผีที่มีอิทธิพลต่อการทำมาหากิน ต่อความเป็นอยู่ของผู้คน เพราะว่าเป็นผู้ที่สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ทุกอย่าง พระยาแถน เป็นผู้สร้าง อิทธิพลของ พระยาแถน มีมากมายเหลือเกิน จึงทำให้ผู้คนกลัวมากและเมื่อมีปัญหาอะไรก็รู้ว่าสาเหตุที่จะปัดเป่าได้คือ ต้องไปขอให้พระยาแถนช่วย เพราะฉะนั้นพิธีที่สำคัญมากต่อการทำมาหากิน และการปลูกข้าวของคนไทยหรือคนถิ่นไทยลาว คือ พิธีจุดบั้งไฟ เพื่อส่งสารไปถึง พระยาแถน ขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พิธีกรรมในประเพณีจุดบั้งไฟ เป็นพิธีที่ไม่สามารถทำขึ้นโดยคนเพียงไม่กี่คน แต่เป็นเรื่องของคนทั้งชุมชน ทั้งสังคมต้องให้ความร่วมมือ ร่วมใจกัน ที่จะแก้ปัญหาวิกฤตในสังคมตัวเอง และบทบาทของพิธีกรรมนี้ไม่ใช่เพียงแต่จะบันดาลให้ฝนตกมาได้ตามความเชื่อของท้องถิ่น แต่มีความหมายอีกมากมายต่อความเป็นอยู่ของชุมชน ของสังคมข้าวในสังคมไทย พิธีกรรมมีความสำคัญต่อการสร้างจิตสำนึกความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การสร้างจริยธรรม คุณธรรมของท้องถิ่นโดยผ่านพิธีกรรมต่างๆ

นอกจากพิธีจุดบั้งไฟแล้วคนไทยสมัยก่อนยังมีความเชื่อว่า "ข้าว" มีจิตวิญญาณ และมีเทพยดาคุ้มครองมีชื่อเรียกว่า “แม่โพสพ” ซึ่งเป็นเป็นผู้ปกปักรักษาข้าวและเป็นผู้ช่วยให้ผลผลิตดี ดูแลรักษาพืชพันธุ์ ธัญญาหารต่างๆ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวนาสมัยก่อนจึงมีความสำนึกในบุญคุณของแม่โพสพอย่างลึกซึ้ง และก่อให้เกิดพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากมายเพื่อเป็นการบูชาแม่โพสพ อาทิ การทำขวัญข้าว การสู่ขวัญข้าว การสู่ขวัญยุ้งข้าว เป็นต้น

นอกจากคนไทยจะมีความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณของข้าว การบูชาเพื่อให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล เพื่อการผลิตข้าวที่ดีที่เป็นบ่อเกิดของประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบวงสรวงเทพยดาเพื่อขอฝน เช่น พิธีแห่นางแมว พิธีแห่บั้งไฟ พิธีเลี้ยงผีฝาย เป็นต้น

tam na 03

ก่อนการปลูกข้าว ก็มีการสร้างตูบผีเอาไว้ เชิญผีซึ่งเคยอยู่ที่ท้องนาขึ้นมาอยู่บนตูบ เวลาจะไถจะได้ไม่รังควานผี มีการเซ่นไหว้ เวลาจะหยอดข้าวก็ต้องเรี่ยไรเงิน มาซื้อหมูฆ่าหมูมาเซ่นผี มาเอาใจผีอีก เพราะว่าถ้าผีไม่พอใจปลูกข้าวแล้วจะมีผลเสีย หรือถ้าหากว่าจะทำสู่ขวัญข้าวก็ต้องทำพิธีเลี้ยงผีอีก ก็ต้องไปซื้อสัตว์เรี่ยไรกันเอาเงินมาฆ่าเอาสัตว์มาสังเวยและจะปิดตาแหลวเอาไว้ ตาแหลว หรือ ตาเหลว เป็นสัญลักษณ์ของการป้องกันและบอกขอบเขตไม่ให้สัตว์ป่าต่างๆ มาทำลายข้าวในไร่

จะเห็นว่า มีกฎหมายลงโทษคนที่ไปทำมิดีมิร้าย ไปขี้ ไปเยี่ยว ช้าง ม้า วัว ควาย ไปละเมิดทำให้ไร่นาข้าวปลาเสียหาย มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ให้ทำบัตรพลีดีไหว้ หรือว่าต้องเซ่นไหว้ เพราะไม่ใช่เพียงแต่ว่าเป็นการลงโทษคนที่ละเมิดทำข้าวเสียหายเท่านั้น แต่ว่าเป็นลักษณะของความอุบาทว์หรือสิ่งที่ทางเหนืออาจเรียกว่า “ขึด” คือ ถ้าเผื่อว่าทำแล้วมันเสียหายแก่ท้องนาแก่ข้าวแล้ว ไม่ใช่เพียงแต่ว่าคนคนนั้นหรือเจ้าของนาจะเดือดร้อน แต่ว่าจะก่อให้เกิดความอุบาทว์หรือวิปริตไปทั้งหมดได้ เพราะฉะนั้นเพื่อกันความเสียหายของชุมชนจะต้องทำการบัตรพลีดีไหว้ อันนี้เป็นกฎหมายตราไว้เลย

ในด้านการใช้แรงงานเพื่อเก็บเกี่ยวข้าวในสมัยก่อน จะมีประเพณีที่เรียกว่า “ลงแขก” ซึ่งเป็นประเพณีเอาแรง เป็นการขอความช่วยเหลือกัน ทำงานร่วมกันด้วยน้ำใจไมตรีอย่างแท้จริง และเป็นความน่าภาคภูมิใจในความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ของกลุ่มชาวนาเป็นอย่างยิ่ง น่าเสียดายที่ความเจริญและการผลิตที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ได้ทำให้ประเพณีดังกล่าวมานี้แทบจะสูญสลายไปจากสังคมชาวนาไทยแล้ว คงเหลือเพียงในพื้นที่ห่างไกลที่ความเจริญยังคงไปไม่ถึงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ที่ยังคงเอกลักษณ์และประเพณีอันดีงามเช่นนี้อยู่

tam na 04

พิธีกรรมและประเพณีที่จัดขึ้นมีทั้งที่เป็น พิธีที่จัดทำเฉพาะในครอบครัว และที่สมาชิกของชุมชน ร่วมกันจัดทำขึ้นซึ่งถือว่าเป็น “พิธีราษฎร์” และมีงานบุญประเพณีที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมที่เป็นพิธีหลวงที่เรียกว่า “พระราชพิธี” หรือ "พิธีหลวง"

โดยทั่วไปพิธีกรรมอันเนื่องด้วยข้าว มักจัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมาย 4 ประการ คือ

  • เป็นการขอร้องอ้อนวอนผี หรืออำนาจลึกลับ ให้ช่วยดูแลให้ต้นข้าวเจริญงอกงาม มีผลผลิตจำนวนมากตามความต้องการ
  • เป็นการขออนุญาตผี หรือเทพที่ประจำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อขออนุญาตใช้สอยสิ่งนั้นๆ
  • เป็นการขอขมาต่อธรรมชาติ หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ เมื่อได้ล่วงเกิน
  • เป็นการเสี่ยงทาย

พิธีกรรมอันเนื่องด้วยข้าว ที่จัดขึ้นแต่ละครั้งมักจะมีเป้าหมาย หรือ วัตถุประสงค์ไม่แตกต่างกันมากนัก นอกจากนี้พิธีกรรมบางอย่าง อาจมีเป้าหมายหลายประการ ในขณะเดียวกัน พิธีกรรมอันเนื่องด้วยข้าวของคนไทย แบ่งตามขั้นตอนกระบวนการผลิตได้เป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. พิธีกรรมก่อนการปลูก
  2. พิธีกรรมในช่วงเพาะปลูก
  3. พิธีกรรมเพื่อการเก็บเกี่ยว-ฉลองผลผลิต

1. พิธีกรรมก่อนการปลูก

พิธีกรรมก่อนการเพาะปลูก เป็นพิธีเพื่อบวงสรวง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบอกกล่าว อ้อนวอน ขอร้อง ขออนุญาต หรือเสี่ยงทาย อันสะท้อนให้เห็นความคิด ความเชื่อเรื่องผี และอำนาจลึกลับ ที่สืบทอดมาแต่โบราณ ตลอดจนความคิด ความเชื่อทางพุทธศาสนา และ ศาสนาพราหมณ์ในสังคมไทย

tam na 05

การบวงสรวง เพื่อบอกกล่าวขอร้อง คนไทยหลายถิ่น เช่น ในภาคเหนือและภาคอีสาน กระทำใน พิธีไหว้ผีบรรพบุรุษ และ ผีประจำหมู่บ้าน ซึ่งจัดทำขึ้นก่อนการทำนา ผีบรรพบุรุษนั้น บางถิ่นเรียกว่า ผีเรือน บางถิ่นเรียกว่า ผีปู่ย่า บางถิ่นเรียกผีตายาย เชื่อกันว่าเป็นผีที่อยู่ประจำบนเรือน คอยคุ้มครองดูแลลูกหลาน ส่วนผีประจำหมู่บ้าน บางถิ่นเรียกว่า ผีบ้านหรือเสื้อบ้าน และ บางถิ่นเรียกว่า ผีปู่ตา เป็นต้น เป็นผีที่คอยคุ้มครองดูแลคนในหมู่บ้าน

การเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ และผีประจำหมู่บ้าน ก่อนการทำนา นอกจากขอให้ดูแลคุ้มครองลูกหลาน และคนในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยแล้ว ยังเป็นการบอกกล่าวและอ้อนวอน ขอร้องให้ทำนาได้ผลดี ด้วยการไหว้ผีบรรพบุรุษ เป็นพิธีกรรมของครอบครัว หรือระหว่างเครือญาติ ส่วนการไหว้ผีประจำหมู่บ้าน มีทั้งที่เป็นพิธีกรรมส่วนบุคคล และพิธีกรรมที่จัดทำร่วมกัน ของสมาชิกในหมู่บ้าน ในภาคอีสานมี การเลี้ยงผีปู่ตา ที่ดอนปู่ตาซึ่งเป็นป่าไม้ใกล้ๆ หมู่บ้าน จำทำพร้อมกันทั้งหมู่บ้านระหว่างเดือน 6 ถึง เดือน 7

ก่อนการทำนา หากชาวบ้านเกรงว่าปีนั้นฝนจะน้อย ก็จะมีการทำพิธีขอฝน โดยหวังพึ่งในอำนาจลึกลับบางอย่าง น่าสังเกตว่าพิธีขอฝนบางครั้ง มักจะใช้วิธีการที่แปลกพิสดาร เป็นสิ่งที่ไม่พบเห็นในชีวิตประจำวัน บางทีก็มีเรื่องเพศเข้ามาปะปนด้วย เพราะเรื่องเพศเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ อาจปรากฏในเพลงร้อง หรือวัตถุที่ใช้ในพิธีกรรม การขอฝนมีวิธีการต่างๆ เช่น พิธีแห่นางแมว ซึ่งมีอยู่ทั่วทุกภาค ในภาคอีสาน มีการขอฝนหลายแบบ นอกจากแห่นางแมวซึ่งเรียกว่า พิธีเต้านางแมว แล้วก็มี พิธีเต้าแม่นางข้อง พิธีเต้าแม่นางด้ง พิธีดึงครกดึงสาก ประเพณีการจุดปั้งไฟ เดิมเป็นการจุดเตือนแถนหรือผีฟ้าขอให้ส่งฝนลงมา ปัจจุบันนี้ตีความว่า การจุดบั้งไฟ เป็นการจุดเป็นพุทธบูชา ตัวอย่างพิธีขอฝน ที่เป็นพิธีทางพุทธศาสนาได้แก่ การเทศน์พญาคันคาก และ การสวดคาถาปลาช่อน

tam na 06

ส่วนพิธีกรรมที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงทาย เช่น ทางภาคเหนือ มีการใช้ วัดไม้วา โดยตัดไม้ให้มีความยาวขนาด 1 วาพอดี หลังจากอธิฐานเสร็จแล้ว ก็กางแขนออกวัดอีกครั้งหนึ่ง ถ้าไม้สั้นกว่ามือแสดงว่าปีนั้นน้ำจะน้อย ถ้าไม้ยาวกว่ามือก็แสดงว่าจะมีน้ำมาก ทำนาทำไร่ได้ผลดี จะอุดมสมบูรณ์ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และ พระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งกระทำในเดือน 6 เป็นพระราชพิธีที่แสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ทรงส่งเสริมสนับสนุนราษฎรในการทำเกษตรกรรม เป็นการบำรุงขวัญเสริมสร้างกำลังใจแก่ราษฎร พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงทายปีนั้นๆ น้ำจะมากหรือน้อย ข้าวปลาอาหารจะบริบูรณ์หรือไม่ เปิดโอกาสให้ราษฎร ได้เก็บข้าวที่พระยาแรกนาหว่านแทนพระมหากษัตริย์ แล้วนำไปเป็นข้าวขวัญเป็นสิริมงคลแก่ไร่นา ส่วน พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีขึ้นเพื่อให้พระสงฆ์สวดเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร

2. พิธีกรรมในช่วงเพาะปลูก

พิธีกรรมในช่วงนี้ เป็นพิธีที่จัดทำขึ้นเพื่อขอร้อง อ้อนวอนให้ผีหรือเทพช่วยดูแลข้าวที่ปลูก ให้เจริญงอกงามได้ผลดี ปลอดภัยจากสัตว์ ประเภทนก หนู และแมลงต่างๆ และขอขมาควายที่ได้เฆี่ยนตีในตอนไถนา หลังจากน้ำเข้านาแล้วก็มี พิธีแรกนา ภาคอีสาน และภาคเหนือเรียกว่า แฮกนา มีการเซ่นไหว้เจ้าที่ หรือ พระภูมินา เสร็จแล้วก็เริ่มไถ หลังจากนั้นก็มี พิธีแรกหว่าน และเมื่อต้นข้าวโตเป็นต้นกล้าก็มี พิธีแรกดำนา ในพิธีแรกดำนานั้นก่อนถอนกล้าไปดำ มีการกล่าวขอขมาแม่โพสพ และเชิญแม่โพสพไปอยู่ประจำ ณ ที่ปักดำ ภายหลังการปักดำ  ปัจจุบันพิธีนี้เหลือน้อยลง เพราะหลายแห่งใช้เครื่องจักรในการไถนาแทนควาย ช่วงเพาะปลูกนี้เป็นช่วงที่ต้องดูแลรักษาให้ต้นข้าวงอกงามเจริญเติบโต มีพิธีกรรมไล่ศัตรูข้าว ศัตรูสำคัญ คือ หนู  เมื่อข้าวตั้งท้องมี พิธีทำขวัญแม่โพสพ ในสมัยโบราณหากมีน้ำมากเกินความต้องการก็มี พระราชพิธีไล่เรือ เป็นพิธีไล่น้ำให้ลดลงเร็ว จัดทำขึ้นในเดือนอ้าย

tam na 07

3. พิธีกรรมเพื่อการเก็บเกี่ยว-ฉลองผลผลิต

พิธีกรรมในช่วงนี้ เริ่มตั้งแต่เมื่อข้าวสุกได้เวลาเก็บเกี่ยว จนกระทั่งนวด เสร็จแล้วนำข้าวขึ้นยุ้ง และนำไปปรุงเป็นอาหาร หรือตักขาย เมื่อข้าวสุกได้เวลาเก็บเกี่ยวก็จะมี พิธีแรกเกี่ยว เป็นการบวงสรวง และขอขมาแม่โพสพก่อนการเกี่ยวข้าว เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว มีพิธีก่อนการนวดข้าว คือ พิธีแรกนวด เป็นพิธีทำขวัญข้าว เชิญแม่โพสพจากท้องนาให้เข้าสู่ลาน เมื่อนวดเสร็จแล้ว ก่อนนำข้าวเข้าเก็บในยุ้งฉางมี พิธีทำขวัญข้าว อีกครั้งหนึ่ง เป็นการขอขมาที่มีการนวดข้าว ด้วยการฟาดข้าว หรือใช้วัวควายเหยียบ กล่าวอัญเชิญแม่โพสพให้มารับเครื่องสังเวย และมาอยู่ที่ยุ้งฉาง หลังจากนั้นมี พิธีปิดยุ้ง ขอแม่โพสพบันดาลให้ข้าวมีมากมาย กินไม่รู้จักหมด หลังจากนั้นมีการ ทานข้าวใหม่ นำข้าวใหม่มานึ่งหรือหุงถวายพระ เมื่อจะนำข้าวออกขายมี พิธีเปิดยุ้ง เป็นการขอขมาแม่โพสพ และขออนุญาตตักข้าวขาย

tam na 08

ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า คนไทยประกอบพิธีอันเนื่องด้วยข้าวเป็นระยะๆ ในช่วงเวลาตั้งแต่ก่อนการปลูกข้าว จนกระทั่งได้ผลผลิตมาเป็นอาหาร และนำออกขาย พิธีกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็น แนวความคิดความเชื่อที่สืบทอดมาแต่โบราณ ได้แก่ ความเชื่อเรื่องผี และขวัญ

[ อ่านเพิ่มเติม : ผีตาแฮกและดอนปู่ตา | ความเชื่อและพิธีกรรมการเพาะปลูกข้าว ]

redline

backled1

attalak isan

ผีขนน้ำ

ผีขนน้ำ เป็นการละเล่นของชาวบ้านนาซาว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ชึ่งเป็นชาวไทยพวนอพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์ และสืบทอดประเพณีดังเช่นบรรพบุรุษเคยปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปี จุดประสงค์ของการเล่นผีขนน้ำ ก็เพื่อบูชาไหว้ผีบรรพบุรุษ หรือ "เลี้ยงบ้าน" และรำลึกบุญคุณของวัวและควายที่ตายไปแล้ว แต่วิญญาณยังคงวนเวียนอยู่ตามห้วย หนอง คลอง บึง รอบหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านไปตักน้ำมาใช้ วิญญาณของสัตว์ทั้งสองจะตามกลับหมู่บ้านมาด้วย ซึ่งชาวบ้านจะพบขนสัตว์และได้ยินเสียงกระดึง จึงพากันเรียกว่า "ผีขนวัว ผีขนควาย" สมัยก่อนจะเรียกว่า "การละเล่นผีขน" แต่ทุกครั้งที่การละเล่นผีขนจบลง ฝนมักจะตก ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า "ผีขนน้ำ" มาถึงปัจจุบัน

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เครื่องแต่งกายของผีขนน้ำมีเอกลักษณ์ สีสันที่สดใส สะดุดตา เป็นการละเล่นที่สนุกสนาน

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ยึดประเพณีการเล่นแบบดั้งเดิมทั้งจุดประสงค์ ความเชื่อ รูปแบบพิธีการ การแต่งตัวมีขน อุปกรณ์ที่ใช้ตกแต่งและอื่นๆ

pee kon naam 01

ประเพณีผีขนน้ำบ้านนาซ่าว ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นการละเล่นที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ทั้งประวัติความเป็นมา ความเชื่อ รูปแบบวิธีการละเล่น การพัฒนาการอนุรักษ์ การละเล่นผีขนน้ำบ้านนาซ่าว ไม่มีประวัติว่าเล่นครั้งแรกเมื่อใด แต่ชาวบ้านก็เล่นสืบมาเป็นประเพณี เช่นที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติมาทุกปี

กล่าวคือ ชาวบ้านนาซ่าว แต่เดิม เป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าไทยพวน โดยอพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง จนมาพบบริเวณพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์คือ “นาซำหว้า” ซึ่งเหมาะแก่การตั้งหลังแหล่งเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ พอชุมชนขยายมากขึ้นก็ย้ายมาที่บริเวณบ้านสองโนน ตั้งเป็นหมู่บ้านใหญ่ขึ้น ซึ่งแต่ก่อนหมู่บ้านยังไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ คงนับถือผีบรรพบุรุษ ผีปู่ย่าเท่านั้น

ประเพณีสืบทอดกันมาตั้งแต่แรกคือ พิธีกรรมไหว้ผีบรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านร่วมกันจัดขึ้นเรียกว่า “เลี้ยงบ้าน” โดยกำหนดเอาวันเสร็จสิ้นจากการทำไร่ทำนาโดยมี “จ้ำ (ผู้ประกอบพิธีกรรม) เป็นผู้ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างชาวบ้านกับ เจ้าปู่จิรมาณพ และ เจ้าปู่ผ่านพิภพ ผ่าน บัวนาง หรือ เจ้าแม่นางเทียม (ผู้เป็นร่างทรงของเจ้าปู่ทั้งสอง) ซึ่งจะทำพิธีเข้าทรงกำหนดวันที่จะเลี้ยงบ้านขึ้น

pee kon naam 05

จากนั้นจ้ำจะไปประกาศบอกชาวบ้าน โดยการตะโกนตามสี่แยกหรือที่ชุมชนหนาแน่น ไม่ก็ใช้วิธีขึ้นไปบอกตามบ้านทุกหลังคาเรือนภายในหมู่บ้านว่า ในปีนี้จะกำหนดจัดพิธีการเลี้ยงบ้านแล้ว ให้ชาวบ้านจัดหาข้าวปลาอาหาร และของบวงสรวงต่างๆ ไปประกอบพิธีกันที่ดอนหอ “ศาลเจ้าปู่” ของหมู่บ้าน เดิมการบวงสรวงนั้น หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการเลี้ยงผีบ้าน ก็จะมีการฉลองด้วยการร้องรำทำเพลง ซึ่งจะประกอบด้วย นางเทียมร่างทรงเจ้าปู่ นางเทียมร่างทรงคนอื่นๆ นางแต่ง จ้ำ และผู้มาร่วมพิธีอย่างสนุกสนาน พิธีเลี้ยงบ้านนี้จะทำกันทุกปี แค่ปีละครั้งเท่านั้น จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ ที่ผีปู่ผีย่า ตลอดจนผีบรรพบุรุษในหมู่บ้าน ได้ปกปักรักษา คุ้มครองตน และชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขทำมาหากินได้อย่างอุดมสมบูรณ์

เล่ากันว่า “การบวงสรวงสัตว์เลี้ยงภายในบริเวณศาล สัตว์ที่นำไปผูกหลักเลี้ยงจะตายเองโดยไม่มีการฆ่า ขณะที่ประกอบพิธีอัญเชิญผีเจ้าปู่ และผีบรรพบุรุษต่างๆ ให้ลงมากินเครื่องเซ่น ปัจจุบันไม่นิยมทำกันแล้ว เพียงแต่นำเครื่องเซ่น พวกข้าวปลาอาหาร และสิ่งของอื่นๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นมาประกอบพิธี”

pee kon naam 02

การบวงสรวงนั้น จะมีการนำ วัว ควาย มาฆ่าเพื่อเป็นเครื่องเซ่นสังเวยตามพิธีกรรม ในเวลาต่อมา ผีเจ้าปู่ได้บอกความผ่านร่างทรงว่า ให้ชาวบ้านทำ “แมงหน้างาม” หรือ “ผีขน” เพื่อเป็นการบูชาวัว ควาย ที่มีบุญคุณต่อชาวบ้าน แทนการนำมาฆ่าเพื่อเป็นเครื่องสังเวย

นอกเหนือจากการบูชาเพื่อรำลึกคุณของวัว ควาย ที่มีต่อชาวบ้านแล้ว ยังมีความเชื่อสืบเนื่องต่ออีกว่า “ผีขน” คือ วัว ควาย ที่ตายไปแล้ว แต่วิญญาณยังคงวนเวียนอยู่ตามห้วย หนอง คลอง บึง รอบๆ หมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านไปตักน้ำมาใช้ วิญญาณของสัตว์ทั้งสองจะตามเข้าหมู่บ้านมาด้วย ซึ่งพบแต่ขน และได้ยินแต่เสียงกระดึง แต่ไม่เห็นตัว ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “ผีขนวัว ผีขนควาย” ยุคแรกๆ จะพากันเรียกว่า “การละเล่นผีขน” แต่ทุกครั้งหลังจบการละเล่นผีขน ฝนมักจะตก ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “ผีขนน้ำ” มาถึงปัจจุบัน

การเล่นผีขนน้ำแต่ละปี ถือเอาช่วงก่อนที่จะมีการลงมือทำการเกษตร ชาวบ้านจะมีการประชุมปรึกษาหารือเพื่อจัดทำบุญเดือนหก ประมาณวันแรม 1 ค่ำ ของทุกปี ก่อนวันทำบุญ ก็จะมีการบอกบุญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมงานบุญที่หมู่บ้านจะจัดให้มีขึ้น ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านก็จะเตรียมสถานไว้เพื่อต้อนรับชาวบ้านถิ่นอื่นๆ ด้วย

ผู้ที่เล่นผีขนน้ำส่วนมาก เป็นชายหนุ่มในหมู่บ้าน และเด็กๆ เขาเหล่านั้นจะจัดเตรียมแต่งตัว หัวผีขนของตัวเอง เพื่อเล่นประกอบพิธีบวงสรวงผีบรรพบุรุษ หัวผีขนน้ำที่จะใช้เล่นหากผู้เล่นยังเก็บรักษาของเดิมไว้ ก็สามารถนำกลับมาเล่นใหม่ได้อีก โดยตกแต่งทาสีใหม่ ให้ดูสดและเข้มขึ้น แต่ส่วนมากผู้เล่นผีขนน้ำมักจะทำหัวผีขนน้ำขึ้นมาใหม่เพราะใช้เวลาทำ และตกแต่งไม่มากนัก

pee kon naam 03

การทำและตกแต่งหัวผีขนน้ำ นั้นจะนำเอาไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้นุ่น ไม้ตีนเป็ด ฯลฯ ที่มีขนาดพอเหมาะมาสลักเป็นรูปหน้ากาก วาดลวดลายลงสีต่างๆ เช่น ลายบัวเครือ ลายผักแว่น ตามความเชื่อและจินตนาการเพื่อให้ดูน่ากลัว โดยใช้ผ้าจากที่นอนเก่าไม่ใช้แล้ว มาทำเป็นตัวเสื้อผีขนน้ำ ซึ่งให้นุ่นที่ติดอยู่กับที่นอนนั้น ฟุ้งกระจายไปทั่วขณะที่เต้นรำ และมีอุปกรณ์ในการให้จังหวะ คือ ตีเคาะ หรือ ขอลอ และโป่ง มัดติดด้านหลังลำตัว ผีขนน้ำ สำหรับผู้ที่เดินร่วมขบวนก็จะตีกลองตีเคาะ ปรบมือ เป่าแคน ดีดพิณ เพื่อให้เกิดจังหวะอย่างสนุกสนานสลับกันไป

หน้ากากผีขนน้ำจะขุดให้เป็นรูปหน้าคล้ายๆ วัว ควาย วาดให้เป็นรูปผีน่ากลัว ตาจะโต จมูกโต ฟันใหญ่ แต่มักเขียนปากให้เป็นรอยยิ้ม เหมือนเมตตาปราณี ใบหูทำด้วยสังกะสีโตพอควรกับใบหน้า ส่วนเขาต่อมานิยมใช้หวายมาตรึงติดกับหน้ากาก ให้ปลายทั้งสองข้างแยกออกจากกัน ใช้เชือกมัดลำหวายให้โค้งเข้าหากันพองาม เหมือนกับเขาควายที่โค้ง ใช้กระดาษสีต่างๆ ตัดเป็นริ้วติดประดับระหว่างเขาทั้งสองข้าง ผมทำด้วยต้นกล้วยโดยตัดต้นกล้วยลอกกาบแล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้งนำมาถักเป็นเปีย แล้วเอามาใส่กับหน้าผีเพื่อทำให้ดูคล้ายผมยาวถึงน่องหรือบางคนอาจยาวถึงตาตุ่ม

pee kon naam 04

เสื้อทำด้วยผ้าตัดเป็นเสื้อคอกลม ลำตัวของเสื้อจะยาวลงไปถึงตาตุ่ม ย้อมให้เป็นสีเหลือง อมดำหรือสีม่วงเหลือง น้ำผ้ามาเย็บเป็นชิ้นขวางตามลำตัวเสื้อ หรือชาวบ้านบางคนจะเอาที่นอนขาดที่ไม่ใช้แล้วกลับด้านในออกเป็นด้านนอกสวมใส่ นำไม้มามัดเป็นลูกระนาดขั้นบันใด และใช้มัดติดกับส่วนเขาด้านหลังให้ถ่วงน้ำหนักไม่ให้หลุดเวลาเล่น

เครื่องดนตรีสำหรับเล่นผีขน เป็นเครื่องดนตรีที่หาได้ง่ายๆ อาศัยจากพื้นบ้านและวิวัฒนาการเอา กระดิ่ง โป่ง ที่แขวนคอ โค กระบือ เป็นเครื่องดนตรี กลองหน้ากลองทำด้วยหนังวัวหนังควาย กระเหลบ หรือ เขรบ ซึ่งใช้ผูกคอวัวควาย นำมาผูกที่เอว เวลาเต้นจะทำให้เกิดเสียงตามจังหวะ บางครั้งจะใช้ กระดิ่งหรือ ขิก พิณ หรือ ซึง ใช้ดีดเข้ากับจังหวะและบทเซิ้ง มีสายสามสาย เคาะ กระดิ่ง และอื่นๆ ที่ใช้แทนเสียงดนตรีได้ แคน กะลอ ทำด้วยไม้ไผ่หนึ่งข้อปล้อง เจาะเป็นรางเวลาเคาะจะเกิดเสียงดัง

เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงเซิ้งผีขนน้ำประยุกต์ ได้กำหนดเพลง “ลายนกไซบินข้ามทุ่ง” เพื่อให้เหมาะสมกับการเต้น ซึ่งเน้นความพร้อมเพรียง สวยงาม สิ่งสำคัญการเต้นเซิ้งผีขนอยู่ที่จังหวะลีลาของเพลง และจังหวะลีลาของเสียงกลองเป็นหลัก

รายการทั่วถิ่นแดนไทย "สืบสานประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว จังหวัดเลย"

เรียนรู้เรื่องราวชาวอีสาน : อัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)