foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

asian culture header

วัฒนธรรมร่วมของอาเซียน เมื่อมีการพูดถึงศิลปวัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มอาเซียน ก็มักจะมีการถกเถียงกันในวงเล็กๆ อยู่เสมอว่า ศิลปะนั้น วัฒนธรรมนี้ เป็นของชาตินั้น ชาตินี้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่มีร่วมกันผ่านการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยโบราณที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดนเป็นประเทศดังทุกวันนี้ แต่มีการไปมาหาสู่กันไปทั่วสุวรรณภูมิ นำรูปแบบศิลปะ การละเล่น การแต่งกาย อาหารการกิน ไปให้เห็น ได้แลกเปลี่ยนกันไปมา อันไหนดีและชอบก็สืบสาน และประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของกลุ่มตน จนแยกไม่ออกว่ามาจากที่ใด

โขน เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 มีการถกเถียงกันในโลกออนไลน์ระหว่าง คนไทย กับ คนกัมพูชา เรื่อง "โขน" เป็นของใครกัน จากการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ UNESCO ทั้งๆ ที่มันเป็นวัฒนธรรมร่วมกันของหลายประเทศในแถบนี้

lakon khon 01

ประเด็นเรื่อง "ถิ่นกำเนิดโขน" เคยเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันดุเดือดมาอย่างยาวนาน และดูเหมือนจะประทุขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ดังเช่น ในช่วงเดือนมีนาคม 2561 หลังจากที่กระทรวงวัฒนธรรมของไทย ได้ประกาศจะขอขึ้นบัญชี "โขนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับโลก" ก็ได้เกิดกระแสความไม่พอใจของชาวกัมพูชา โดยทั้งแหล่งข่าวและประชาชนกัมพูชาทั่วไป ต่างก็ออกมาให้ข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ ว่าที่จริงแล้ว “โขนเป็นของกัมพูชา” ดังจะเห็นได้จากข่าวในหนังสือพิมพ์ “พนมเปญโพสต์” สื่อใหญ่ภาษาอังกฤษของกัมพูชา ที่เผยแพร่ข้อความส่วนหนึ่งว่า

“ละโคนโขลของกัมพูชา เป็นละครรำที่นำเรื่องราวมาจาก Reamker บทประพันธ์ของกัมพูชา ซึ่งนำโครงเรื่องมาจาก "มหากาพย์รามายณะ" ในภาษาสันสกฤตอีก ที-และโขนหลวงของไทยก็เชื่อกันว่า มีรากกำเนิดมาจากรูปแบบของกัมพูชา”

แหล่งข่าวนี้ยังได้กล่าวอ้างถึงข้อมูลในหนังสือ “Acting: An International Encyclopedia of Traditional Culture” (การแสดง: สารานุกรมนานาชาติว่าด้วยวัฒนธรรมตามจารีต” โดย เบธ ออสเนส (Beth Osnes)) ซึ่งให้ข้อมูลตอกย้ำที่มาของโขน ว่า

“ถูกขโมยไประหว่างที่ไทยเข้ารุกราน และถูกนำกลับไปยังประเทศไทย เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับราชสำนัก”

นอกจากสื่อของกัมพูชาเองแล้วก็พบว่า ชาวกัมพูชาทั่วไปก็มีความรู้สึกไม่เห็นด้วยกับเหตุการที่เกิดขึ้น ดังที่ได้มีโพสต์ภาษาอังกฤษแชร์กันโดยทั่วในเฟซบุ๊กว่า

ละโคนโขล (Lakhon Khol) หรือระบำหน้ากากเป็นของราชอาณาจักรกัมพูชา 100% มันคือมรดกจากบรรพชนชาวขแมร์จากยุคที่สยาม (ประเทศไทย) ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ มันเก่าแก่ยิ่งกว่าประเทศที่เรียกตัวเองว่าไทย แม้ว่าเราจะสูญเสียบันทึกเอกสารเกี่ยวกับการละเล่นนี้ไปในช่วง สงครามกลางเมือง และสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่มันยังคงได้รับการบันทึกและรับรู้กันว่าเป็น ระบำตามจารีตของกัมพูชา เราไม่เห็นด้วยและจะไม่ยอมให้ไทยมาอุทธรณ์ต่อยูเนสโกว่าระบำตามจารีตขแมร์ เป็นระบำดั้งเดิมของตน โปรดแสดงความรับผิดชอบและทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง เราจะไม่ยอมยุติข้อเรียกร้องนี้ จนกว่าจะได้รับความยุติธรรมด้วยการยอมรับว่า ละครโขนหรือระบำหน้ากากเป็นของขแมร์/กัมพูชา”

lakon khon 02

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเรื่องที่ว่า โขนมีต้นกำเนิดมาจากกัมพูชานี้ แม้แต่นักวิชาการของไทยอย่าง “สุจิตต์ วงษ์เทศ” เองก็ยังเห็นด้วย เพราะใน หนังสือ วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ในอาเซียน ภายใต้หัวข้อ “โขนอยุธยาจากขอม” สุจิตต์ได้ให้คำอธิบายที่มาของวัฒนธรรมโขนในไทยว่า

“พิธีกวนเกษียรสมุทรของราชสำนักขอมกัมพูชา เป็นต้นแบบให้ราชสำนักไทยสยามอยุธยา ที่นับถือศาสนาผี – พราหมณ์ – พุทธ มีการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราพิเษก ซึ่งจะมีพัฒนาการเป็นโขนต่อไป”

ถึงแม้เรื่องที่ว่า โขนไม่ได้ถือกำเนิดในประเทศไทยจะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสุจิตต์ ยังได้ขยายความต่อไปอีกว่ารากเหง้าเดิมของโขนในรูปแบบปัจจุบันนี้ก็คือ การผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมของอินเดียและวัฒนธรรมในอุษาคเนย์ กล่าวคือ เครื่องแต่งกายมาจากอินเดียและเปอร์เซีย ส่วนองค์ประกอบอื่น ๆ เช่นคำว่า “โขน” นั้นได้มาจากคำพื้นเมืองตระกูลชวา-มลายูว่า “Lakon” หรือ “Lakun” หรือคำบาหลีว่า “Legong” สำหรับท่าโขนและปี่พาทย์รับโขนก็ได้มาจากวัฒนธรรมการเต้น และการดนตรีของชาวอุษาคเนย์เมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว นอกจากนี้การพากษ์โขนที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกาพย์นั้น ก็มีแบบแผนมาจากกัมพูชา และการเจรจาโขนแต่งด้วยร่ายยาวนับเป็นร้อยกรอง ก็เป็นของพื้นเมืองดั้งเดิมตระกูล ลาว-ไทย

จากคำอธิบายข้างต้นนี้ สุจิตต์จึงได้ให้ข้อสรุปว่า “โขนเป็นวัฒนธรรมร่วมของสุวรรณภูมิในภูมิภาคอุษาคเนย์ มีรากเหง้าความเป็นมาร่วมกัน จะแยกโดดๆ มิได้ ว่าเป็นสมบัติของใครของมัน หรือของที่นี่ ที่โน่น ที่นั่น”

ทั้งนี้ข้อสรุปดังกล่าว ก็อาจช่วยบรรเทาดราม่าการแย่งกันแสดงความเป็นเจ้าของ "วัฒนธรรมโขน" เพราะแท้จริงแล้วโขนไม่ใช่ของไทย หรือของกัมพูชา แต่เป็นวัฒนธรรมร่วม ที่ไม่ควรมีใครออกมาแสดงความเป็นเจ้าของ อีกทั้งการที่ไทยหรือกัมพูชาเสนอให้องค์การยูเนสโก ประกาศให้โขนขึ้นทะเบียนบัญชีมรดกวัฒนธรรม ก็ไม่ใช่วิธีการแสดงความเป็นเจ้าของแต่อย่างใด หากแต่เป็นความพยายามที่จะคงรักษาวัฒนธรรมนี้เอาไว้ ดังที่ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ได้กล่าวไว้ว่า

“…การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เป็นความภาคภูมิใจของประเทศที่นำเสนอให้ขึ้นทะเบียน ไม่ใช่การจดลิขสิทธ์ หรือการแสดงความเป็นเจ้าของ ที่สำคัญการแสดงโขนของกัมพูชา และการแสดงโขนในประเทศไทย ต่างมีแบบแผนที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง และเป็นเครื่องแสดงความภาคภูมิของประเทศ”

lakon khon 03

นักประวัติศาสตร์ชี้ “โขน” เป็นวัฒนธรรมร่วม จะแยกโดดๆ ว่าเป็นสมบัติใครไม่ได้!

การละเล่นชนิดนี้ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาจากวัฒนธรรมภายนอกและภายใน ของบรรดาราชสำนักจารีตโบราณในภูมิภาคอุษาคเนย์ กล่าวคือ ตัวเนื้อเรื่อง ได้มาจาก วัฒนธรรมภายนอก คือ อินเดีย โดยเฉพาะอินเดียใต้ และเครื่องแต่งกาย ก็ได้มาจากอินเดียและเปอร์เซีย เช่น มงกุฎ ชฎา และผ้าต่างๆ ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ที่มาจากวัฒนธรรมภายในอุษาคเนย์เอง ประกอบด้วย ชื่อ “โขน” มาจากคำพื้นเมืองตระกูลชวา-มลายูว่า “Lakon” หรือ “Lakun” หรือคำบาหลีว่า “Legong”

“หัวโขน” ก็พัฒนามาจากหน้ากากเครื่องสวม เพื่อพรางหน้าจริงในพิธีเข้าทรง เพื่อเชื่อมโยงมนุษย์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ซึ่งล้วนมีในกลุ่มชนดั้งเดิมทุกชนเผ่า ส่วนท่าเต้น ท่าโขน น่าจะมาจากการเต้นฟ้อนของคนพื้นเมืองอุษาคเนย์ ตั้งแต่ราว 3 พันปีมาแล้ว เห็นได้จากภาพเขียนสีที่พบตั้งแต่มณฑลกวางสีในจีนตอนใต้ ลงมาถึงภาคอีสานและภาคกลางของไทย

pla daeg 01

ปลาร้า หรือ ปลาแดก วัฒนธรรมร่วมของอาเซียน

ในเรื่องอาหารการกินก็เช่นกัน อย่าง "น้ำปลา" "ปลาแดก" หรือ "ปลาร้า" ก็เป็นวัฒนธรรมร่วมในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน การทำน้ำปลา ปลาร้า หรือ ปลาแดก มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาคอีสาน หรือในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่พบได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก "จากการที่ต้องเก็บถนอมปลาเอาไว้กินในยามขาดแคลน และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือ ปลา เกลือ และข้าว"

เริ่มต้นกันที่ “น้ำปลา” ที่เป็นส่วนผสมของ ปลา เกลือ และน้ำเกลือเข้มข้น ผ่านการหมักบ่มนานนับปีก็จะได้หัวน้ำปลาอย่างดีที่หนึ่ง จากนั้นก็นำกากปลาที่เหลือมาผสมกับน้ำเกลือเข้มข้นแล้วหมักต่อ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะได้น้ำปลาเกรดสอง, สาม, สี่,... ไปจนกระทั่งกากปลาย่อยสลายไปหมด

nam pla 01

น้ำปลา นั้นเป็นสิ่งที่ช่วยชูรสชาติให้จัดจ้านกลมกล่อมขึ้น จากที่เป็นอาหารจืดๆ ใส่น้ำปลาลงไปก็เพิ่มความอร่อย แซบ นัว อย่างที่ประเทศไทย เรียกว่า น้ำปลา เพื่อนบ้านเราก็กินน้ำปลาเหมือนกัน แต่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภาษา อย่างเช่น เวียดนาม เรียกว่า “Nuoc Mam” ฟิลิปปินส์ เรียกว่า “Patis” สปป.ลาว เรียกว่า “น้ำปา” ส่วน พม่า เรียกว่า “Ngan Bya Yay”

ส่วน "ปลาร้า" หรือ "ปลาแดก" ก็มีทำกินกันจำนวนมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า มีการทำอาหารในลักษณะเดียวกันกับปลาร้าอยู่ในหลายประเทศ แต่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป เช่น

  • ประเทศไทย เรียกว่า ปลาร้า ปลาแดก
  • ประเทศ สปป.ลาว เรียกว่า ปลาแดก (เหมือนกันกับภาคอีสานบ้านเฮา)
  • ประเทศกัมพูชา เรียกว่า ปราฮ็อก
  • ประเทศฟิลิปปินส์ เรียกว่า บากุง
  • ประเทศเวียดนาม เรียกว่า มาม
  • ประเทศมาเลเซีย เรียกว่า เปกาซัม
  • ประเทศอินโดนีเซีย เรียกว่า บากาแซ็ง
  • ประเทศเมียนมาร์ เรียกว่า งาปิ๊

การทำปลาร้า หรือ ปลาแดก จึงนับได้ว่า เป็นวัฒนธรรมร่วมในการถนอมอาหารของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากในแต่ละประเทศล้วนมีวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ใกล้เคียงกันคือ ปลา เกลือ และข้าว ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

เครื่องดนตรีและการขับร้อง

นอกจากเรื่อง "โขน" และ "ปลาแดก" แล้ว ยังมีวัฒนธรรมร่วมอีกอย่างคือ ดนตรีและการขับร้อง ลำ ที่มีความเหมือนกัน และถ่ายทอดกันไปมา โดยเฉพาะการลำ หรือ "หมอลำ" นั้น จะพบว่า มีการแสดงและขับร้อง รวมทั้งชื่อเรียกที่คล้ายคลึงกันด้วย และยังเป็นที่นิยมกันไปในถิ่นที่มีคนไทย/ลาวอพยพ โยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่หรือทำงานในทุกทวีปทั่วโลก (ทั้งยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และเอเชียของเราที่มีชาวลาวอพยพไปอยู่ ช่วงลาวเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ "ลาวแตก" ในช่วงปี 2518-2519 รวมทั้งถิ่นที่มีแรงงานไทยไปค้าแรงงานทั่วโลก)

kan lao 01

“มีลาวอยู่แห่งใด มีมัดหมี่ แลลายจกอยู่ที่นั้น” แสดงถึงเอกลักษณ์ของชนชาติลาว ส่วนในด้านดนตรี ลาวมี "แคน" เป็นเครื่องดนตรีประจำชาติ มีหมอขับ หมอลำ วงดนตรีของลาวก็คือ วงหมอลำ (เหมือนกับอีสานของไทย ถือเป็นวัฒนธรรมร่วมสองฝั่งของ) มีหมอลำ และหมอแคน ท่วงทำนองของการขับลำจะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ทางภาคเหนือของลาวเรียกว่า "ขับ" ทางภาคใต้จากแขวงบอลิคำไซลงไปจะเรียกว่า "ลำ" เช่น ขับทุ้ม ของแขวงหลวงพระบาง ขับลื้อ ของชาวลื้อ ขับงึม ทางเวียงจันทน์ ขับพวน ทางเซียงขวง ลำสาละวัน ของแขวงสาละวัน ลำภูไท ลำตังหวาย ลำคอนสะหวัน ลำบ้านซอก ของ แขวงสะหวันนะเขต ขับโสม ลำสีพันดอน ของแขวงจำปาสัก ลำมะหาไซ ของแขวงคำม่วน เป็นต้น

morlum lao

ต้องย้อนไปที่ภาษากันก่อน ชาวลาวจะมีภาษาของตนเองทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน คือ ภาษาลาว (ลาว: ພາສາລາວ พาสาลาว) เป็นภาษาราชการของประเทศลาว เป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ในภาษากลุ่มไท และสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาษาอีสานของประเทศไทย ระบบการเขียนในภาษาลาวจะใช้อักษรลาว ซึ่งเป็นระบบอักษรสระประกอบ (ระบบการเขียนที่ประกอบด้วยสัญลักษณ์แทนพยัญชนะ และตามด้วยสระที่จะอยู่ด้านหน้า หลัง บน ล่าง ของพยัญชนะ) และสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอักษรไทยລາວ

lao alphabet

สำเนียงภาษาถิ่นในภาษาลาว สามารถแบ่งได้ 6 สำเนียงใหญ่ คือ:

  • ภาษาลาวเวียงจันทน์ (นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงบริคำไชย)
  • ภาษาลาวเหนือ (หลวงพระบาง แขวงไชยบุรี อุดมไชย หลวงน้ำทา)
  • ภาษาลาวตะวันออกเฉียงเหนือ (แขวงเชียงขวาง หัวพัน)
  • ภาษาลาวกลาง (แขวงคำม่วน สุวรรณเขต)
  • ภาษาลาวใต้ (แขวงจำปาศักดิ์ สาละวัน เซกอง อัตปือ)
  • ภาษาลาวตะวันตก (ไม่มีใช้ในประเทศลาว เป็นภาษาที่คนลาวรับเอาไปจากการเสพละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และเพลงภาษาอีสาน)

ทางการประเทศลาว ไม่ได้กำหนดให้สำเนียงถิ่นใดเป็นสำเนียงภาษากลาง แต่การใช้ภาษาลาวอย่างเป็นทางการ เช่น ทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศลาว สถานีวิทยุแห่งประเทศลาว จะใช้สำเนียงเวียงจันทน์ซึ่งเป็นสำเนียงของคนเมืองหลวง สามารถเข้าใจกันได้ทั่วประเทศ การเรียนภาษาลาวในประเทศลาวนั้น รัฐบาลลาวไม่ได้บังคับให้ใช้สำเนียงเวียงจันทน์ แต่ให้สามารถใช้สำเนียงท้องถิ่นต่างๆ ได้เลย

แต่การเรียนภาษาลาวสำหรับชาวต่างประเทศ รัฐบาลลาวแนะนำให้ใช้สำเนียงเวียงจันทน์ ฉะนั้นประชาชนในประเทศลาวจึงพูด อ่าน ภาษาลาวเป็นสำเนียงท้องถิ่นของตน แต่ประชาชนก็สามารถฟังเข้าใจได้ทุกสำเนียงทั่วประเทศ แม้จะพูดภาษาต่างสำเนียงกันก็ตาม รวมทั้งฟังภาษาไทยกลาง อีสาน ได้ดีอีกด้วย

นอกจากสำเนียงถิ่นใหญ่แล้ว ยังมีสำเนียงแตกออกไปอีกหลายสำเนียงย่อย เช่น ภาษาลาวใต้ถิ่นสาละวัน ภาษาลาวกลางถิ่นสุวรรณเขต สำเนียงย่อยถิ่นเมืองอาดสะพังทอง ภาษาถิ่นเมืองจำพอน ภาษาเวียงจันทน์ถิ่นเมืองปากงึม ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีผู้พูดภาษาลาวใต้ถิ่นจำปาสักในจังหวัดพระวิหาร สตึงแตรง และรัตนคีรี ของประเทศกัมพูชาด้วย

lao alphabet 2

ป้ายแจ้งเตือนในสถานที่ต่างๆ ที่พบเห็นได้ใน สปป.ลาว ตรงเข้าใจง่าย
ป้ายบนในบริเวณวัดสีสะเกด ป้ายล่างในมหาวิทยาลัยแห่งชาติ (ดงโดก)

มารู้จักคำในภาษาลาว กับภาษาไทยที่ใช้ในชีวิตประจำวันกันหน่อย เผื่อใครจะข้ามไปเที่ยวในลาวจะได้เข้าใจ ใช้ได้ถูก (เคล็ดลับหนึ่งคือ ถ้าท่านจะใช้ภาษาไทยกลางก็จงใช้สนทนากับเขาไปตลอด อย่าได้สลับใช้ภาษาอีสานปนกับไทยกลาง จะทำให้เขาสับสน ถ้าพูดแบบไทยๆ ก็คือ อย่ากระแดะอังกฤษคำไทยคำ หรือไทยกลางคำปนอีสานคำนั่นเอง จะพูดอีสานก็เอาให้ตลอดเขาจะเข้าใจครับ ประสบการณ์จากการไปเป็นวิทยากรฝึกอบรมให้ข้าราชการ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกีฬา ของ สปป.ลาว)

ภาษาลาว ภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาไทย
 สบายดี  สวัสดี (คำทักทาย)  โชกดี  สวัสดี (คำกล่าวอำลา)
 ขอบใจ (หลาย)  ขอบคุณ (มาก)  เจ้า หรือ โดย (ผู้น้อยพูดกับผู้ใหญ่)  ครับ/ค่ะ
 แม่นแล้ว  ใช่  บ่แม่น  ไม่ใช่
 ขอให้มั่นยืน  ขอให้อายุยืน  ขอให้เข้มแข็ง  ขอให้สุขภาพดี
 เจ้าชื่อหยัง  คุณชื่ออะไร  ข้อยชื่อ  ฉันชื่อ
 เจ้ามาแต่ไส  คุณมาจากไหน  สบายดีบ่  คุณเป็นอย่างไรบ้าง
 บ่เป็นหยัง  ไม่เป็นไร  ขอโทด  ขอโทษ, ขออภัย
 เอื้อย  พี่สาว  อ้าย  พี่ชาย
 น้อง  น้องสาว, น้องชาย  ไผ  ใคร
 งาม  สวย  น่าฮัก, ตาฮัก  น่ารัก
 อยู่ไส, อยู่บ่อนใด๋  อยู่ที่ไหน  บ่อน  สถานที่
 บ่ฮู้  ไม่รู้  บ่ดี  ไม่ดี
 เอิ้นว่า  เรียกว่า  ตื่ม  เพิ่ม
 คือกัน  เหมือนกัน  ซ่ำกัน  เท่ากัน
 คำ  ทองคำ  ทอง  ทองแดง
 แม่น้ำของ  แม่น้ำโขง  ป่องเอี้ยม  หน้าต่าง
 ตะเว็น  ดวงอาทิตย์  อีเกิ้ง  ดวงจันทร์
 ถิ่ม  ทิ้ง, ทำให้ตก (สิ่งของ)  ตำ (ลดตำ)  ชน (รถชน)
 ฮ้านจอดยาง  ร้านปะยาง  ไฟอำนาจ  ไฟจราจร (ไฟแดง)
 ไฟเกี้ยม  ไฟเหลือง  ไฟเสรี  ไฟเขียว
 บ่อนนั่ง  ที่นั่ง  ห้ามสูบยา  ห้ามสูบบุหรี่
 ลดถีบ  รถจักรยาน  ลดจัก  รถมอเตอร์ไซค์
 รถตุ๊ก/รถจัมโบ้  รถสามล้อเครื่อง  ลดเก๋ง  รถยนต์นั่งสี่ล้อ
 ลดหนัก  รถบรรทุก  ลดเม  รถโดยสาร
 เฮือ  เรือ  ยน  เครื่องบิน
 เดิ่นยน  สนามบิน  เดิ่นกีลา  สนามกีฬา
 ปี้, ปี้ยน  ตั๋ว, บัตรโดยสารเครื่องบิน  ฮูปเงา  ภาพยนตร์
 กาซ่วน  น้ำมันดีเซล  แอ๊ดซัง  น้ำมันเบนซิน
 เฝอ  ก๋วยเตี๋ยว  ข้าวเปียก  ข้าวต้ม, ก๋วยจั๊บ
 ขัว  สะพาน  จั๊กโมง  เวลาเท่าใด
 1 จอก  1 แก้ว (เครื่องดื่ม)  1 แก้ว  1 ขวด (เครื่องดื่ม)
 ตำจอก  ชนแก้ว  น้ำก้อน  น้ำแข็ง
 โมง  นาฬิกา  เกิบ  รองเท้า

นอกจากนั้น ในประเทศลาวก็มีประเพณีวัฒนธรรมเหมือนอีสานบ้านเฮา อย่างในเรื่อง "ฮีต 12 คอง 14" ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือเรื่อง "คอง 14" ที่เป็นข้อกำหนด หรือ ข้อควรปฏิบัติ 14 ข้อของพุทธศาสนิกชนคนลาวในการครองตนเป็นคนดี ซึ่งในปัจจุบันก็ยังยึดถือสืบต่อกันมา “คอง 14” นั้นประกอบด้วย

  1. อย่าเดินเหยียบเงาพระสงฆ์
  2. อย่านำอาหารเหลือไปถวายแก่พระ
  3. อย่ามีเพศสัมพันธ์ในวันพระ, วันเข้าพรรษา, วันมาฆบูชา, วันวิสาขบูชาและ วันบุญสงกรานต์ โดยเด็ดขาด
  4. เมื่อพระสงฆ์เดินผ่านหน้าต้องนั่งลงพร้อมพนมมือไหว้
  5. เมื่อไปวัดให้เตรียมดอกไม้ ธูป เทียน พร้อมเครื่องอัตถบริขารไปถวายพระสงฆ์
  6. ก่อนเข้านอนต้องอาบน้ำและ ล้างเท้าก่อน
  7. ในวันพระ (ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม) ให้ทำบุญตักบาตร หรือนิมนต์พระมาสวดที่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล
  8. ในวันพระ (ข้างขึ้น) ให้จัดพานดอกไม้ ธูป เทียน ขอขมาแก่สามีตน
  9. เมื่อพระสงฆ์หรือสามเณรมาบิณบาตร ต้องมารอก่อนหน้าที่ท่านจะมาถึง การตักบาตรระวังอย่าให้มือโดนบาตร ห้ามถืออาวุธ ใส่รองเท้า หรือใส่หมวก เอาผ้าคลุมหัว ในเวลาตักบาตร
  10. ในวันพระ (ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม) ให้ขอขมาแก่เตาไฟ ขั้นบันได และประตูเรือนที่อยู่อาศัย
  11. ก่อนเข้าบ้านหรือขึ้นเรือนต้องล้างเท้าเสียก่อน
  12. วัดใดไม่มีรั้วรอบขอบชิด ก็ให้ช่วยกันกั้นรั้วให้แก่วัดนั้นๆ รวมทั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของตัวเอง
  13. เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิตที่ได้ในครั้งแรกของปี ให้นำไปถวายพระก่อน
  14. อย่าลัก วิ่ง ชิง ปล้น หรือพูดจาหยาบคาย ต้องประพฤติตนเป็นคนดีของสังคม

pratat luang viantian

เอามาเล่าสู่กันฟังครับ สำหรับท่านที่สนใจเรื่อง "ขับ ลำ" ของลาว อาวทิดหมู มักม่วน ได้นำเสนอทั้งกลอนลำและเพลงลาวไว้แล้วในหัวข้อ "กลอนลำตามคำขอ" และ "ภาษาอีสานจากเพลง" ครับ เชิญทัศนากันได้เลย

redline

backled1

homeuse header

นอีสานในอดีตนั้น มีเครื่องใช้ไม้สอยมากมาย เนื่องจากธรรมชาติในพื้นถิ่นเต็มไปด้วยอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ป่าไม้หลากหลาย น้ำท่าบริบูรณ์ จึงมีการคิดค้นสร้างเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ มาใช้งานซึ่งมีทั้งคุณค่าความสวยงาม อรรถประโยชน์ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความทันสมัยยุคพลาสติกเข้ามา เครื่องใช้ในอดีตก็เริ่มจางหายไปตามกาลเวลา เรามาย้อนอดีตกันว่ามีอะไรบ้าง

กระบวย

กระบวย น. ภาชนะสำหรับตักน้ำ ทำด้วยกะลามะพร้าว มีด้ามสำหรับจับ เรียก กระบวย บวย ก็ว่า อย่างว่า บวยบ่มีด้ามชิเสียทรงทังวาด เขาชิเอิ้นกะโป๋หมากพร้าว บ่มีเอิ้นว่าบวย (ย่า). dipper, ladle, esp. one made from coconut shell. "

ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ  โดย ดร.ปรีชา พิณทอง

กระบวย เป็นภาชนะตักน้ำทำด้วยกะลา มีด้ามถือ ในสมัยก่อนตามหน้าบ้านของชาวชนบทอีสาน มักจะตั้งซุ้มโอ่งน้ำหรือแอ่งน้ำ หรือบางแห่งเรียก "ฮ้านแอ่งน้ำ" ไว้ตามริมรั้วหน้าบ้าน โอ่งหรือแอ่งน้ำนี้ทำจากดินเผา เมื่อใช้บรรจุน้ำไปนานๆ จะมีตะไคร้น้ำเกาะด้านนอก ยิ่งมีเกาะมากเท่าใด แอ่งน้ำนั้นยิ่งจะมีความเย็นมากเท่านั้น ใครเดินผ่านเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ก็จะแวะดื่มน้ำเย็นๆ ได้ นับเป็นภูมิปัญญาหรือของดีในอดีตที่ยังไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง "ตู้เย็น" ใช้งาน ก็มีน้ำเย็นชื่นใจไว้ดื่มกิน ยิ่งบางบ้านจะนำดอกมะลิมาลอยก็ยิ่งมีความหอมชื่นใจยิ่งขึ้น

krabuay 01

แม้ว่าจะขึ้นไปเยี่ยมบนบ้านเรือน เจ้าบ้านก็จะรีบยกน้ำมาต้อนรับแขกเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นแอ่งน้ำเล็กๆ หรือคนโทใส่น้ำ พร้อมกระบวยน้อย เพราะการลดความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง คงจะไม่มีอะไรดีไปกว่าการดื่มน้ำดับกระหาย การตั้งซุ้มโอ่งน้ำหน้าบ้านจึงเป็นการแสดงน้ำใจของชาวบ้าน โดยภาชนะตักน้ำที่วางคู่โอ่ง หรือแอ่งน้ำ คือ กระบวย ทำจากกะลามะพร้าวเสียเป็นส่วนมาก เพราะหาง่ายในท้องถิ่น อีกทั้งยังไม่น่าเสียดายนักหากสูญหาย ทำขึ้นใหม่ก็ไม่ยาก

การใช้กระบวยตักน้ำคงพัฒนามาจากการดื่มน้ำแบบดั้งเดิม คือ การใช้มือวักน้ำดื่ม การใช้ใบไม้บางชนิดห่อตักน้ำในลำธาร ห้วย หนองในอดีต ซึ่งตัวผู้เขียนเองเมื่อครั้งอดีตก็เคยลงท่ง ลงนา ไปเลี้ยงงัว ควาย หรือขึ้นโคกไปหายิงกะปอม อ้อมลงมาหาหอยริมห้วย เมื่อหิวน้ำก็จะใช้ใบไม้มาพับเป็นกระทงตักน้ำในห้วยดื่มกินแก้กระหาย สมัยก่อนยังบ่มีการใช้ยาฆ่าหญ้า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชแบบปัจจุบัน ในห้วย ในหนองจึงมีน้ำสะอาดไว้ดื่มกินได้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ส่วนสมัยนี้คือสิบ่แน่ใจดอก ย้านตายพ่ะนะ

krabuay 02

บางทีก็จะมีการใช้เปลือกผลไม้ เช่น กะลามะพร้าว เปลือกหมากตูมกา ผ่าแล้วตากให้แห้ง นำมาขูดให้สะอาดใช้เป็นภาชนะตักน้ำ เพื่อความสะดวกจะทำด้ามจับถือได้สะดวก โดยทำจากไม้จริงหรือไม้ไผ่ก็ได้ ถ้าเป็นด้ามบวยที่ใช้ตักน้ำใช้ทั่วไป (ตักล้างมือล้างเท้า) นิยมทำคันจับหรือด้ามเรียบไม่มีการแกะสลักลวดลายแต่อย่างใด แต่ถ้าเป็นด้ามบวยที่ใช้ตักน้ำดื่ม จะมีการแกะสลักอย่างวิจิตรสวยงาม หางหรือปลายด้ามนิยมแกะสลักเป็นรูป "พระยานาค" ตามคติความเชื่อโบราณว่า "นาค" หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์จากนาคให้น้ำ ด้ามที่ติดกับตัวบวยจะบากใส่เข้าไปในรูของตัวบวย และทำให้แน่นไม่ให้หลุดเลื่อนด้วยการใส่ “ไล” (ลูกสลัก) เล็กๆ ไม่ใช้ตะปูที่เป็นโลหะเพราะจะเกิดสนิม บ้างก็จะตกแต่งประดิดประดอยกะลา และด้ามจับให้มีลวดลายอื่นๆ เช่น รูปคน รูปสัตว์ ดอกไม้ ใบไม้ อาจมีการลงรักทาชาดปิดทอง จนกลายเป็นศิลปหัตถกรรมที่ทรงคุณค่าได้

krabuay 03

กระบวยมีหลายลักษณะ เช่น กระบวยตักน้ำดื่ม กระบวยตักน้ำรดต้นยาสูบ กระบวยตักน้ำล้างมือล้างเท้า กระบวยตักน้ำแกง เป็นต้น

กระบวยตักน้ำดื่ม จะเลือกทำจากกะลามะพร้าวที่แก่จัด ขนาดพอเหมาะไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป รูปร่างกลมแป้น ฝากะลาค่อนไปข้างบน เพราะจะได้บรรจุน้ำได้มาก ขูดขัดผิวกะลาให้เป็นเงา ทำด้ามไม้จับยาวประมาณ 30 เซนติเมตร จะตกแต่งเป็นลวดลายก็ได้ โคนด้ามไม้จับทำเดือยฝังเข้าไปในรูกะลามะพร้าวให้แน่น กระบวยตักน้ำดื่มอาจดัดแปลงเป็นกระบวยตักแกงได้ หรือถ้าไม่ใช้กะลา จะใช้ตอกสานให้เป็นรูปกระบวย แล้วยาผิวด้วยชัน (เหมือนครุไม้ไผ่) ก็ใช้ตักน้ำดื่มได้เช่นเดียวกัน

krabuay 04

กระบวยในปัจจุบันนี้มักจะทำจากสังกะสี อะลูมิเนียม ทองแดง หรือพลาสติก เพราะผลิตจำนวนมากแบบอุตสาหกรรม ทำให้มีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย โดยยังใช้ตักของเหลวได้อย่างสารพัดเช่นเดิม

กระจ่า (จอง)

kraja 01

จอง น. กระจ่า ชื่อช้อนสำหรับตักแกง ทำด้วยกะลามะพร้าว มีด้ามสำหรับจับ เรียก จอง อย่างว่า จองบ่มีด้ามชิเสียทรงทังวาด เขาชิเอิ้นกะโป๋หมากพร้าว บ่มีเอิ้นว่าจอง (ย่า). coconut shell dipper with handle. "

ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ  โดย ดร.ปรีชา พิณทอง

กระจ่า คือ เครื่องใช้ในครัวสำหรับตักอาหาร ตัวกระจ่าทำด้วยกะลา ด้ามทำด้วยไม้ ใช้หวายผูกรัดตัวกระจ่าและด้ามให้ติดกัน กระจ่าที่ใช้อยู่ทั่วไปมีสามชนิด คือ

  • ตัวกระจ่าแบน ใช้ตักข้าว
  • ตัวกระจ่าลึก ใช้ตักแกง
  • ตัวกระจ่าลึกมาก ใช้ตักของหวาน

มีใช้กันในครัวไทยมาแต่โบราณ ก่อนจะพัฒนามาเป็น "ทัพพีโลหะ หรือพลาสติก" เช่นในปัจจุบัน

ยังมีกระจ่าอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า "กระจ่าแบน" ตัวกระจ่าทำด้วยไม้ตาลเป็นแผ่นแบน มีด้ามไม้เนื้อแข็ง สำหรับการใช้ทำขนมเบื้อง

kraja 02

 

ไหปลาแดก

ไหปลาแดก หรือ ไหปลาร้า (ในภาษากลาง) เป็นภาชนะดินเผา มีรูปร่างป้อม ปากแคบ กลางป่อง ก้นสอบ ไหปลาแดกจะเป็นภาชนะเคลือบสำหรับกันความชื้น หรือเป็นภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง หรืออาจเรียกว่า "ภาชนะดินเผาเนื้อหิน" (stoneware) ซึ่งลักษณะของเนื้อภาชนะดินเผาประเภทนี้จะแกร่งคล้ายหิน เพราะเนื้อดินถูกเผาจนหลอมละลายติดกัน น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ (ความพรุน 0.5-2%) โดยภาชนะประเภทนี้จะเผาด้วยอุณหภูมิสูง ประมาณ 1,220 – 1,350 องศาเซลเซียส

ไห น. ภาชนะเคลือบดินเผา ก้นเล็ก ปากเล็ก กลางป่อง มีหลายชนิด สำหรับใส่สิ่งของต่างๆ ตามแต่จะใช้. earthen jar, jug, urn. "

ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ  โดย ดร.ปรีชา พิณทอง

hi pla daeg 01

ไหปลาแดก น. ไหสำหรับใส่ปลาร้า เรียก ไหปลาแดก ที่เรียกชื่อปลาแดกเพราะเอาปลา เกลือและรำข้าวมาผสมเข้ากันแล้ว นำไปตำในครกมองให้แหลก เรียก ปลาแดก ปลาแหลก ก็ว่า บ้างก็ว่า เพราะการนำปลาที่ตำแล้วมายัดลงในไหที่ปากแคบ การยัดปลากดดันลงในไห เรียก ปลาแดก. earthen jar used for fermented fish sauce. "

ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ  โดย ดร.ปรีชา พิณทอง

ไหปลาแดก หรือไหปลาเมื่อย เอ้ย! ปลาร้า จะมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากไหประเภทอื่นๆ คือ บริเวณรอบปากไหจะทำเป็นขอบซ้อนกันสองชั้น มีประโยชน์คือ ใช้สำหรับใส่ถุงผ้าห่อขี้เถ้าปิดปากไห เพื่อป้องกันแมลงวันตอมและลงไปวางไข่ในไห รอบๆ ปากด้านนอกใส่น้ำกันไม่ให้หนอนแมลงวันไต่ชอนไชเข้าปากไหได้เช่นกัน ในภาคอีสานเรียกกันหลายชื่อตามสำเนียงถิ่นที่อยู่ เช่น ไหปลาร้า ไหปลาแดก หรือไหปลาแหลก ก็มี

จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า การทำไหบรรจุปลาแดก หรือปลาร้าในพื้นที่ประเทศไทยนั้นมีมาแต่ในอดีต โดยมีการค้นพบหลักฐานอ้างอิงทางโบราณคดีคือ พบไหปลาร้าฝังรวมอยู่กับหลุมศพ ที่บ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีอายุกว่า 3,000 ปี แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการถนอมอาหารโดยการหมักดองในสมัยอดีต

hi pla daeg 02

การทำปลาร้า หรือ ปลาแดก มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาคอีสานหรือในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่พบได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก จากการที่ต้องเก็บถนอมปลาเอาไว้กินในยามขาดแคลน และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือ ปลา เกลือ และข้าว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า มีการทำอาหารในลักษณะเดียวกันกับปลาร้าอยู่ในหลายประเทศ แต่มีชื่อเรียกต่างกัน เช่น

  • ประเทศไทย เรียกว่า ปลาร้า ปลาแดก
  • ประเทศ สปป.ลาว เรียกว่า ปลาแดก เหมือนกันกับภาคอีสานบ้านเฮา
  • ประเทศกัมพูชา เรียกว่า ปราฮ็อก
  • ประเทศฟิลิปปินส์ เรียกว่า บากุง
  • ประเทศเวียดนาม เรียกว่า มาม
  • ประเทศมาเลเซีย เรียกว่า เปกาซัม
  • ประเทศอินโดนีเซีย เรียกว่า บากาแซ็ง
  • ประเทศเมียนมาร์ เรียกว่า งาปิ๊

รายการ "เลาะลุยลาว" EP46 เส้นทางสายปลาแดก

การทำปลาร้า หรือ ปลาแดก จึงนับได้ว่า เป็นวัฒนธรรมร่วมในการถนอมอาหารของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากในแต่ละประเทศล้วนมีวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ใกล้เคียงกันคือ ปลา เกลือ และข้าว ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

"ปลาร้า ความอร่อยจาก 2 ลุ่มน้ำ" รายการ กินอยู่คือ ThaiPBS

 

[ อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : ปลาแดกกับความมั่นคงในชีวิตของคนอีสาน ]

redline

backled1

isan vocation

นอีสานในยุคสมัยก่อนนั้น จะใช้เครื่องมือในการทำมาหากินจากวัสดุใกล้ตัว เช่น เรื่องจักสานจากไม้ไผ่ หวาย ที่สามารถสาน ถัก ทอ เป็นรูปร่างต่างๆ ได้ง่าย มีน้ำหนักเบา ถ้าต้องการให้กันน้ำหรืออุ้มน้ำได้ก็ทาด้วยขี้ซี (ชันโรง น้ำมันยาง) อุปกรณ์บางชิ้นที่ต้องการความคงทนถาวรก็ทำจากไม้เนื้อแข็ง ด้วยการถาก ขุดเป็นหลุม เป็นท่อน เช่น ครก สาก คราด ไถ ด้ามมีด/พร้า ขวาน เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการสานด้วยด้ายเหนียวทำเป็นเครือดักสัตว์ ทั้งบนบกอย่าง ซิงนกคุ่ม ในน้ำอย่าง แห สวิง มอง (ตาข่าย อวน) เป็นต้น ต่อมาเมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น สิ่งของที่ทำจากแผ่นโลหะสังกะสี เหล็ก พลาสติก ไนล่อน ก็เข้ามาแทนที่ ไนล่อน/พลาสติกที่เหนียวทนทานสานด้วยเครื่องจักรมาแทนด้าย จนเครื่องใช้ที่ทำด้วยภูมิปัญญาจากไม้ หวาย เส้นใยพืช เริ่มหายไป เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เลยขอนำเรื่องราวของเครื่องใช้ในอดีตมาบันทึกไว้ให้ลูกหลานได้ย้อนระลึกถึงวันวานกัน ดังนี้

แห มอง สวิง

ทั้งสามชื่อนี้ล้วนมาจากภูมิปัญญาของคนโบราณ ในการสานด้วย "ด้าย" เหนียว คงทน มีขนาด รูปร่าง และช่องตาข่ายที่แตกต่างกันตามความต้องการ หรือวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เป็นการจับสัตว์น้ำมาเป็นอาหารแบบพอเพียง ไม่ล้างผลาญเพื่อการค้าอย่างในยุคปัจจุบัน เป็นเครื่องมือทำมาหากินของชาวบ้านโดยแท้ มีการถ่ายทอดความรู้ และภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นมาโดยตลอด แต่เมื่อเทคโนโลยีการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเข้ามา ทำให้ความรู้เหล่านี้ไม่ได้รับการสืบทอด ด้วยมองว่า "เสียเวลา ไม่ทันกิน" นั่นเอง

แห

แห คือ เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง ที่ถักเป็นตาข่ายใช้ทอด (เหวี่ยง) ให้แผ่เป็นวงลงในน้ำ แล้วต้องดึงขึ้นมาจากน้ำ ให้ขอบชายแหรวบปลาเข้ามาในเพา (ขอบถุงตาข่ายแห) ให้ได้ปลาจำนวนมาก เพื่อการยังชีพ หรือเพื่อประกอบอาชีพของคนชั้นล่างของสังคม ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะยังไม่เคยเห็นคนชั้นสูงหรือคนชั้นกลางใช้แหเพื่อการหาปลาเป็นอาหาร หรือหาปลาเพื่อการจำหน่ายเป็นประจำ แต่จะเป็นเพียงครั้งคราวของบุคคลชั้นดังกล่าว เพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลินในยามว่างเท่านั้น

san hae 02

ดังนั้น แห จึงถือเป็นเครื่องมือเพื่อการยังชีพ หมายถึงใช้จับปลาเพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวันและใช้ประกอบอาชีพ คือใช้จับปลาเพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้ากันเช่น แลกข้าว แลกเกลือ หรือจำหน่ายนำเงินมาซื้อเครื่องนุ่งห่มของชาวบ้านในชนบท แห จึงถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่แท้จริง เพราะมันคือส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นห่วงโซ่ในเรื่องอาหารและรายได้ในชีวิตประจำวัน แหจึงได้รับการพัฒนาและเอาใจใส่ เริ่มจากการได้รับการถ่ายทอดเบื้องต้นจากบรรพบุรุษ แล้วลองผิดลิงถูก จนเป็นองค์ความรู้และประสบการณ์เฉพาะตัวของบุคคล ความแตกต่างของความเชื่อ เรื่องแห ทั้งโครงสร้าง ขนาด วิธีทอด วิธีย้อม และวิธีการต่างๆ ที่ดีแล้ว คล้ายๆ กัน แต่ลึกๆ แล้วมีหลายอย่างที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น ดังความเชื่อโบราณอีสานที่ว่า

ชายที่หว่านแหไม่ “มน” (กลม) ถือเป็นชายที่ไม่สมบูรณ์พอที่จะแต่งงานได้ ดังนั้นต้องฝึกหัดเหวี่ยงแหให้มนก่อน คือหาอยู่หากินได้พ่อตาจึงจะยกลูกสาวให้ "

ในอดีตนั้น แหทําจากเชือกป่านหรือปอเทืองซึ่งได้จากการปลูก แล้วตัดต้นป่านหรือปอเทืองนี้แช่น้้ำ 10 –15 วัน แล้วนํามาทุบให้เนื้อไม้แตกเป็นเส้นๆ จากนั้นจึงนําแผ่นเหล็กมาขูดให้เป็นเส้นๆ นําไปตากแห้ง และปั่นเป็นเชือกใช้สานแหซึ่งลําบากมาก และปัจจุบันก็ไมมี่ให้เห็นอีก (แม้กระทั่งต้นปอ) เพราะหันไปใช้ด้ายไนล่อนแทนที่แล้วเพราะหาได้ง่าย สะดวกที่สุด นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อวัฒนธรรมในเรื่องดังกล่าวที่ชัดเจน

แห ใช้ทอด (เหวี่ยง) ในภาษากลาง แต่คนอีสานจะเรียกว่า "ตึกแห" เพื่อหาปลาในน้ำ อาจเป็นแม่น้ำกว้างใหญ่ หนอง บึง สระน้ำ หรือแม้แต่ในนาที่มีน้ำขังหรือแห้งขอด แต่ไม่ต้องแปลกใจที่มีการตึกแหบนโคก (บนบก) เช่น หว่านแห่จับกบตอนหน้าฝนในสมัยก่อน (มีกบจำนวนมากออกมาร้องเรียกหาคู่) จับไก่ จับนก หรือแม้แต่จับหมา จับงู ที่ใช้วิธีการไล่จับแล้วไม่ได้ผล เหนื่อยเกินเหตุ หว่านแหคลุมจับง่ายกว่า เป็นต้น

แห มีหลายขนาดทั้งความกว้างของวงแห ความยาวของแห ทางอีสานจะนับความยาวเป็นศอก แหที่มีความกว้างและยาวมากๆ (เช่น ยาว 9 ศอก) มักจะมีเชือกยาวมัดที่จอมแห (กึ่งกลางด้านบนของแห) เพื่อใช้หว่านหรือเหวี่ยงหาปลาในแม่น้ำใหญ่ มีน้ำลึก เมื่อทอดแห (หว่าน หรือเหวี่ยง) ออกไปแล้วจะสาวเชือกดึงแหขึ้นมา เพาแหที่มีลูกตะกั่วถ่วงน้ำหนักด้านล่างจะหุบเข้าเพื่อรวบปลาเข้ามาในแห ส่วนแหขนาดวงกว้างน้อยและยาวไม่มากนัก จะใช้ทอดหาปลาในห้วย หนองที่มีน้ำตื้น เป็นต้น

san hae 01

การสานแหและอุปกรณ์

การสานแห ส่วนมากแล้วชาวบ้านอีสานจะใช้เวลาว่างจากงานไร่ นา สวน ทำการสานแห หรือคนที่มีอายุมากๆ (ทั้งชาย/หญิง) ไม่สามารถจะออกไปทำงานหนักๆ ได้ อยู่เฝ้าบ้านเลี้ยงหลาน จึงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ บางคนสานเพื่อให้ลูกหลานเอาไปเป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงครอบครัว ในสมัยโบราณ ส่วนมากแล้วจะไม่มีการซื้อขายกัน จะเป็นการแลกเปลี่ยนข้าวปลาอาหารกันบ้างเท่านั้น นอกเสียจากมีผู้คนมาขอซื้อจึงสานขายให้ถ้ามีเวลา เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ชายนิยมนำไปจับปลาสะดวกและง่ายต่อการจัดเก็บรักษา การสานแหให้เสร็จแต่ละผืนจะใช้เวลาประมาณ 30-45 วัน จึงสำเร็จ ปกติก็ไม่รีบร้อนในการสานสักเท่าไร มีเวลาว่างช่วงไหนก็สานช่วงนั้น เพราะบางคนไม่ได้มีเวลาเพียงสานแหอย่างเดียว ต้องหุงหาอาหารรับประทาน เลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน ดูแลบ้าน เป็นต้น ไม่จำกัดเวลาที่ทำ จึงมีอิสระในการทำงาน

การสานแห มีมาช้านานแล้ว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ในการทำมาหากิน และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดำรงชีวิตในอดีต มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ตามหมู่บ้านในพื้นที่ต่างๆ เช่น หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ ทั้งแม่น้ำโขง ชี มูล แม่น้ำสงคราม ลำเซบก เซบาย เป็นต้น แต่การสืบทอดก็นับวันจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

อุปกรณ์สำหรับการสานแห มีดังนี้

  • ด้าย ที่มีความเหนียว ขนาดเส้นใหญ่เล็กตามขนาดของตาแห (ช่องแห) และความยาวที่ต้องการ ปัจจุบันนิยมใช้ด้ายไนล่อนที่มีความเหนียว
  • กิม หรือ ชีม บางแห่งเรียก ชนุน มีลักษณะเป็นไม่ไผ่แบน หนาประมาณ 3-4 มิลลิเมตร กว้าง 1 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว หัวแหลมมน ประมาณ1 ใน 3 ส่วนของความยาว เจาะทะลุยาวตามส่วน1 ใน 3 มีเดือยตรงกลาง ส่วนท้ายใช้มีดควงให้เป็นตัวยู (ปัจจุบัน ใช้ไม้พลาสติกสำเร็จรูป มีให้เลือกหลายๆ ขนาด)
  • ไม่ไผ่ หรือ ปาน มีลักษณะการเหลาไม้ไผ่คล้ายไม้บรรทัดยาว 5-6 นิ้ว หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ความกว้างขึ้นอยู่กับขนาดของตาของแหที่ต้องการ
  • กรรไกร สำหรับตัดด้าย
  • ลูกแห หรือ ลูกโซ่ตะกั่ว สำหรับถ่วงให้แหจมน้ำได้รวดเร็ว
  • สีย้อมแห ให้มีสีดำหรือน้ำตาลเข้ม เมื่อจมลงน้ำจะกลมกลืนไปกับน้ำจนปลามองไม่เห็น (จริงป๊ะ) ส่วนใหญ่จะเป็นสีจากธรรมชาติที่ช่วยให้แหมีความคงทน ใช้ได้นาน หรืออาจจะไม่ใช้ก็ได้

วิธีการสานแห

  • เริ่มจากส่วนจอมแห ลักษณะทำจอมมีบ่วง ไว้สำหรับห้อยแขวนระหว่างสาน โดยใช้ไม้แบบตอกตะปูหรือตะปูเกลียว 4 ตัวทำการพันด้ายเป็นจอมแห 12 รอบ แล้วพันส่วนกลางให้แน่น ก่อนจะถอดออกจากสกรูมาทบเข้ากันเป็นห่วงหรือจอมแห วิธีการตามคลิปข้างล่างนี้เลย

  • จะเริ่มต้นสานแหจากจอมแหก่อน เพิ่มและขยายรอบการถักออกและขยายตาข่ายให้กว้าง เพื่อที่จะทำให้เป็นวงกลมทั้งผืนบานออกตามขนาดที่ต้องการใช้งาน ขนาดในการสานแหนั้น ถ้าเป็นความยาวจะมีขนาดและหน่วยวัดเป็นศอก เช่น ห้าศอก เจ็ดศอก เก้าศอก และ สิบเอ็ดศอก ส่วนขนาดความกว้างนั้นยึดเอาขนาดของช่องตาข่ายเรียกเป็นเซ็น (เซนติเมตร) เช่น แหขนาดตาข่าย สองเซ็น สี่เซ็น ห้าเซ็น  เป็นต้น 
  • การสานแหโดยการถักห่วงจากจอมแห เรียกว่า "แขแห" ถ้าเริ่มด้วย 16 ห่วงเรียกว่า แขแห 16 จากแขแหชุดแรก สองรอบแรกต้องแข 16 จะเป็นหลักของชุดต่อไปจนถึงปากแห แขแห 16 นี้ และรอบที่สาม จะแขแหทุกระยะเว้น 2 ตาแห หรือเมื่อสานได้ 2 รอบ แขแหมีประโยชน์เพื่อจะช่วยให้แหบานแผ่กว้างขึ้นเรื่อยๆ รอบๆ จอมแห (แข คือ ส่วนที่จะไปช่วยเพิ่มจำนวน ปริมาณตาของแห เพิ่มความกว้างของแห ขยายออกเรื่อยๆ) เพื่อให้เข้าใจเห็นภาพดูตามคลิปนะครับ

ขอบคุณคลิปสอน การสานแห จากคุณนิธิศ ภู่เกลี้ยง

  • ความยาวของแหจะวัดด้วยศอกของผู้ถักหรือสาน แต่ต้องนับจากจอมแห อันเป็นความเชื่อที่โบราณสอนไว้ ความยาวของแหวัดด้วยศอกของผู้ถักหรือสานแต่ต้องนับแขจากจอมแหแล้ว “ถูกโสก” หรือต้อง “ถูกโฉลก” อันเป็นความเชื่อที่โบราณสอนไว้ ถ้าไม่ถูกโสกจะใช้จับปลาได้น้อยหรือไม่เป็นมงคลซึ่งคําโสกแหมี 2 แบบคล้ายๆ กัน (ดูในเรื่องของโสกแหด้านล่าง)
  • เมื่อหมดขั้นตอนของการสานแล้ว จะถึงขั้นตอนติดลูกแห เรียกว่า ซูแห การติดลูกแหซึ่งมีลักษณะเป็นห่วงโซ่เหล็ก หรือตะกั่ว จะต้องใช้เชือกหรือด้ายที่มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของเชือกหรือด้ายสานแหปกติ การซูแหหรือการใส่ลูกแหนี้ ถ้าเป็นแหขนาด 7 ศอกจะใช้ลูกแหทั้งหมด 1,300 ลูก ถ้าเป็นแห 9 ศอก ต้องใช้ลูกแห 1,500 ลูก ลูกแหที่นิยมกันคือลูกเหล็กหรือตะกั่วเพราะมีน้ําหนักดี เวลาที่จะติดลูกแหจะต้องดูก่อนว่า ตาแหถี่หรือห่าง ถ้าตาแหห่างจะนอน 2 สลับนอน 3 ถ้าเป็นแหถี่จะนอน 3 ล้วนๆ หากเป็นแหห่างซึ่งตาแหจะใหญ่จะใช้นอน 2 สลับกันที่นอน 3 เพราะว่าถ้านอน 3 ล้วนๆ ตาแหจะแบนออก เวลาผูกเพาตัวลูกแหจะหย่อนทําให้แหมีช่องโหว่ปลาจะหนีออกได้

การเอาแข หรือ ขยายตาแห ให้มีวงบานออก

การย้อมแห

การย้อมแห ก่อนจะนำแหไปหาปลา จะต้องย้อมแหเสียก่อนให้มีสีเข้มโดยวิธีธรรมชาติ ที่ชาวบ้านนิยมย้อมกันมาก ก็คือ ย้อมด้วยเลือดวัว เลือดควาย ผสมกับใบไม้ เช่น ใช้ใบบก ใบกะบาก เปลือกต้นมะม่วงน้อย เปลือกประดู่ ลูกตะโกดิบ โดยการโขลกหรือตำใบดังกล่าว อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยครกหินหรือครกไม้ขนาดใหญ่ แล้วคลุกกับเลือดวัวหรือเลือดควายในกาละมังขนาดใหญ่ โดยนำแหลงคลุกกับส่วนผสมที่เตรียมไว้ ใช้มือบีบคน/คลุกจนได้ที่แล้ว จึงนำแหนี้ไปนึ่ง ด้วยหวดประมาณครึ่งชั่วโมง (เลือดนึ่งสุกแล้ว) ก็นำแหไปตากหรือผึ่งแดด

จุดประสงค์ของการย้อมแห ก็คือ นอกจากเลือดและยางใบไม้ที่เหนี่ยวจะช่วยเคลือบเนื้อไนล่อน หรือปมขมวดที่สานกันของแหให้กลมกลืน น้ำซึมเข้าไม่ได้ แล้วยังทำให้เนื้อแหมีความลื่น จมน้ำได้เร็ว และสีของเปลือกไม้กับเลือด เมื่อนึ่งสุกแล้วจะทำให้แหมีสีดำ และมีความโปร่ง ง่ายต่อการสาวแห และง่ายต่อการเก็บปลา

การถ่วงแห

การถ่วงแห หลังจากตากแหแห้งดีแล้ว ปราชญ์ชาวบ้านบางท่านกล่าวว่า "แหก็ยังนำไปทอดหรือตึกไม่ได้ จะต้องนำแหมาถ่วงก่อน" โดยการใช้ไหบรรจุน้ำจนเต็ม แล้วนำไหนี้ไปใส่ในตัวแหแล้วมัดตีนแหให้แน่น ส่วนจอมแหมัดกับขอหรือกิ่งไม้ ทิ้งไว้ข้ามคืนโดยประมาณ จุดประสงค์เพื่อให้แหมีความกระชับ ยืดตึง และอยู่ตัว หลังจากนั้น แหปากนี้ก็พร้อมใช้ทอดหรือตึกได้เลย การเหวี่ยงแห (ทอดแห ตึกแห) ถือเป็นศาสตร์เฉพาะตัวจริงๆ จะต้องใช้ความรู้ ความสามารถเฉพาะตัวมากในการเหวี่ยงออกไปให้บานได้กลมๆ เป็นวงกว้าง (ส่วนผู้เขียน : ตัวทิดหมูนั้น มิอาจทำได้เลย เคยฝึกกับลุงบนเรือที่แม่น้ำมูลเมื่อหลายปีก่อนสมัยเป็นหนุ่ม ปรากฏว่า ไม่ได้ปลา แต่ผู้เหวี่ยงแหได้ลงไปติดอุ้มลุ้มอยู่ในแหที่เจ้าของหว่านลงไป เพื่อนบ้านแตกตื่นมาดูเพราะได้ยินเสียงน้ำกระจาย นึกว่าตึกแหได้ปลาค้าว ปลาปึ่งโตใหญ่ อยากหัวเจ้าของเด้ คักหลาย...)

การหว่านแห ตึกแห ให้มน โดย อีสานโปรดักชั่น

การเก็บรักษาแห

การตากแห หลังจากที่ใช้แหจับปลาเสร็จแล้ว ควรจะนำมากตากแดด ตากลมให้แห้ง สลัดเอาเศษไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ หรือเศษปลาเล็ก ปลาน้อยออกให้หมด เพื่อไม่ให้มีกลิ่นคาวของปลา ซึ่งแมลงสาบ หนู จิ้งจก และมดชอบ จะทำให้สัตว์เหล่านั้นมากัดแทะแหขาดได้ ดังนั้นจึงต้องนำแหมาผูกกับเชือก แขวนไว้หรือห้อยไว้กับต้นไม้ หรือขื่อบ้านที่สูงๆ โดยใช้เชือกมัดที่จอมแหแขวนไว้ และใช้ไม้ไผ่คาดตัวแหให้บานแผ่ออก เพื่อให้แหแห้งเร็ว และทำความสะอาดได้ง่าย หลังจากนั้นนำมามัดแบบก้นจก แล้วเก็บไว้ในกระสอบแขวนไว้ในที่สูง หรือในตู้เก็บของ

ข้อมูลจำเพาะของแหที่ควรรู้

  • แหถี่ (ตาเล็ก) มีตาเล็กกว่า1 นิ้ว
  • แหห่าง (ตาใหญ่) มีตาใหญ่กว่า 1 นิ้วขึ้นไป
  • ถ้าแบ่งตามลักษณะของแหล่งน้ำที่นำแหไปใช้ คือ แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำใหญ่อื่นๆ จะใช้แหขนาดยาว 10-15 ศอก หว่านแหจากตัวเรือแล้วห้าว (ดึง) แหขึ้นมาเพื่อจับปลา
  • ส่วนในพื้นที่ที่มีน้ำขังทั่วไปเช่น ห้วย หนอง คลอง บึงขนาดใหญ่มีน้ำมาก  จะใช้แหขนาดยาว 9 ศอก โดยการเหวี่ยงหรือหว่านแห จากเรือหาปลา สวนแหปากเล็กจะยาว 5 - 6 ศอก โดยการเหวี่ยงแหจากฝังหรือลุยน้ำเหวี่ยงแหในห้วย ในหนอง หรือนาน้ำท่วม
  • ถ้าแบ่งตามขนาดของแห นิยมใช้นิ้วมือเป็นเครื่องวัด คือ แหชี้ (ขนาดตาแหประมาณนิ้วชี้) แหโป้ (ขนาดตาแหเท่าหัวแม่มือ) แหสอง (ขนาดตาแหเท่าสองนิ้ว) แหสาม แหสี่ แหห้า แหหก แหเจ็ด แหแปด (ใช้นิ้วมือเป็นมาตรฐานขนาดของตาแห) แหตาใหญ่ๆ จะใช้ตึกปลาใหญ่ เช่น ปลาค้าว ปลาเคิง ปลาบึก ปลาปึ่ง (เทโพ)
  • โสกแห คือ การนับความยาวแหเป็นศอกของผู้สาน จากจอมแหไปจนถึงปลายแหที่ใส่ลูกแห ให้ตกตำแหน่งที่ดีที่สุด ตามความเชื่อแต่โบราณที่ว่า "ถ้าไม่ถูกโสกหรือโฉลกจะจับปลาได้ไม่ "หมาน" หรือ "ได้น้อย" หรือไม่เป็นมงคลนั่นเอง" โสกนั้นมี 2 แบบ ดังนี้

โสกแบบที่ 1

แขแห แขปลา มาเปล่า
เน่าซาน คานหัก ผักเหมือด
เลือดแดง แกงส้ม ต้มหัว ขั้วลิ้น ปิ้นตา "

โสกแบบที่ 2

แขแห แขปลา มาเปล่า
เน่าซาน คานหัก ผักเหมือด
เลือดติด จิดปิดจี่ปี่ บี้หัว แม่ครัวนั่งตากแดด "

ความหมายของโสก

  • มาเปล่า เลือดติด จิดปิดจี่ปี่ บี้หัว ขั้วลิ้น ปี้นตา ถือว่า ไม่ถูกโสก ไม่เป็นมงคล
  • แขแห, แขปลา, ผักเหมือด, แกงส้ม, ต้มหัว ถือว่า พอได้พอกินแต่ไม่มาก
  • เน่าซาน คานหัก แม่ครัวนั่งตากแดด ถือว่า ถูกโฉลก เป็นมงคลหาปลาได้เยอะ เยอะจนคานหัก นั่งขอดเกล็ดไม่เสร็จง่าย คือ ทำทั้งคืนทั้งวันจนตะวันขึ้น แดดจัดก็ยังทำอยู่

เมื่อสานแหจวนจะได้ความยาวตามที่ต้องการแล้ว จึงนับโสก เมื่อจะถึงจุดที่หยุดทำแขแหอีกต่อไป ถ้าตกโสกดีก็จะหยุดสานคือโสก เน่าซาน คานหัก แม่ครัวนั่งตากแดด (เป็นความเชื่อตามภูมิปัญญาอีสานดั้งเดิม ปัจจุบันนี้มีแหสานสำเร็จจากเครื่องจักรมาขายก็คงไม่ได้นั่งนับโสก แต่จะถือเอาความยาวตามแหล่งน้ำที่จะใช้ และขนาดช่องตาที่จะใช้จับปลาขนาดใดเป็นหลัก)

อ้างอิงจาก : แห ผศ.ปกรณ์ คุณารักษ์, ธรรมทัศน์ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๒ กรกฎาคม – ตุลาคม ๒๕๔๗

มอง ข่าย

มอง หรือ ข่าย เป็นเครื่องมือหาปลาที่ใช้ได้ตลอดปี ยกเว้นในช่วงที่น้ำไหลลงและแรงไม่สามารถใช้มองได้ ลักษณะของมองคือ เป็นตาข่ายซึ่งทำจากเส้นเอ็นขนาดเล็กหลายชนืด เช่น มองใยไหม มองใยบัว ซึ่งมองใยบัวมีขนาดเส้นเล็กกว่ามองใยไหม และยังมีมองเส้นใยหรือด้ายธรรมดาจะเส้นใหญ่และหนากว่าชนิดอื่น เครื่องมือหาปลาชนิดดักปลาที่ชาวบ้านนิยมใช้กันมากที่สุด คือ "มอง" หรือ "ข่าย" โดยใช้มองตาถี่ไปจนถึงมองตาใหญ่ที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กมาก 2.5 เซนติเมตรไปจนถึงขนาด 21 เซนติเมตร ซึ่งเป็นมองที่มีตาขนาดใหญ่ที่สุด

san mong 01

มอง มีลักษณะเป็นตาข่าย มีทุ่นขนาดเล็กผูกติดด้านบน ส่วนปลายมองด้านล่างจะมีแท่งตะกั่วถ่วงให้มีน้ำหนัก ให้มองขวางลำน้ำไม่ปลิวไปตามน้ำ เพื่อดักปลา ความกว้างของตาข่ายขึ้นอยู่กับขนาดของปลาที่ต้องการ และฤดูกาลที่ปลาอพยพ ส่วนความยาวของมองก็ขึ้นอยู่กับความกว้างของแม่น้ำในพื้นที่นั้น และขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ด้วย

ปลาที่จับได้ คือปลาเกือบทุกชนิด ขึ้นอยู่กับการใส่มองแบบใด เช่น ในลำห้วยที่น้ำไม่ลึกมากนัก ใส่มองให้ลูกตะกั่วถึงดินก็จะได้ ปลาดุก ปลากด ปลาแขยง ปลาเนื้ออ่อน แต่ถ้าใส่ไม่ถึงดินก็จะได้ปลาผิวน้ำ คือ ปลาขาว ปลาสร้อย ปลากุ่ม ปลาตะเพียน ปลาอี่ไท ซึ่งใช้มองตาถี่เล็กๆ ขนาด 1-4 เซนติเมตร ปลาพวกนี้จะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ ถ้าใส่มองช่วงเช้าจะมายามตอนเย็นๆ ถ้าใส่ตอนเย็นก็จะมายามตอนเช้า

หากต้องการจับปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาค้าว ปลาปาก ปลาโจก จะใช้มองขนาดตา 6-8 เซนติเมตร จะได้ขนาดปลาประมาณตัวละ 1 กิโลกรัม ถ้าใช้ตาข่ายขนาด 9-16 เซนติเมตร จะได้ปลาขนาด 2-4 กิโลกรัม เช่น ปลาอีตู๋ ปลาชะโด ปลาค้าวใหญ่ ปลาซวย ปลาเคิง แต่ถ้าใช้ตาข่ายขนาด 20 เซนติเมตรขึ้นไป ก็จะเป็นการจับปลาที่มีน้ำหนักเกิน 10 กิโลกรัมขึ้นไป อย่างปลาบึก ปลาเคิง ปลาค้าว ปลาซวย ปลาหูหมาด ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีปลาขนาดนี้แล้ว คนจับเป็นการค้าเกินไป พลเมืองมากขึ้นจำนวนปลาในแหล่งน้ำลดลง

ບູນຍູ້ລູກແມ່ຂອງ ໄຫຼມອງ ຫາປາ บุนยู้ลูกแม่ของ ไหลมอง หาปลา

และยังขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ใช้ในการใส่มองด้วย เช่น

  • เดือนมีนาคม ปลาที่พบมาก และมักจะอพยพขึ้นเหนือน้ำในช่วงนี้ เป็นปลากระบอก ปลาเคียง ปลาแปบ ฯลฯ โดยใช้มองที่มีขนาดความกว้างของตา 2-3 เซนติเมตร
  • เดือนมกราคม – เมษายน จะทําการไหลมอง ปลาแกง ส่วนขนาดของมองที่ใช้ตามองขนาด 7-8 เซนติเมตร
  • เดือนเมษายน – มิถุนายน เป็นช่วงที่ปลาบึก ปลาเลิม ซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงจะอพยพขึ้นวางไข่ มองที่ใช้จับปลาบึกและปลาเลิมก็จะทําขึ้นเพื่อจับปลาบึกและปลาเลิมโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีขนาดตา 21-60 เซนติเมตร

san mong 02

วิธีการใช้งานมอง

มอง หรือ ข่าย มีวิธีการใช้อยู่ 2 วิธี คือ "การวางมอง" ดักปลาไว้ตามบริเวณต่างๆ ตามน้ำโขงไว้ในช่วงเย็น รุ่งเช้าของอีกวันหนึ่งคนหาปลาจะลงไปดูว่ามีปลาติดหรือไม่ หากปลาติดก็จะเก็บเอาปลาออก จากนั้นก็จะวางมองไว้ตามเดิม ช่วงเย็นหลังกลับจากการทําไร่ สวน ก็จะลงมาดูอีกครั้งหรือเก็บกู้นํากลับเอามาที่บ้านเพื่อเอาปลาออก หากมีปลาติดอยู่มาก เมื่อเอาปลาออกจากมองหมดก็จะทําความสะอาดแล้วนํากลับไปวางไว้ในช่วงเย็น

อีกวิธีการหนึ่งเรียกว่า “ไหลมอง” คือ การปล่อยหรือทิ้งมองลงในแม่น้ำ บางครั้งก็ทิ้งมองจากบนเรือขวางแม่น้ำไว้ ดักปลาตรงที่มีปลาอาศัยอยู่ เช่น ใกล้แก่ง บ้างก็ไม่ต้องใช้เรือ แต่ปล่อยมองทิ้งไว้ตามชายฝั่งที่น้ำตื่น ทิ้งระยะเวลาสักพักแล้วค่อยมาดูผลว่าได้ปลาหรือไม่ ฤดูกาลที่ใช้ก็ตลอดทั้งปี ใช้ในระบบนิเวศบริเวณแก่ง และพื้นที่ทั่วไปในลําน้ำโขง น้ำมูล น้ำชี

ชนิดของมอง มีอยู่หลายชนิด ตามท้องถิ่นที่มีลำน้ำ แม่น้ำ กว้างใหญ่ มีความลึกแตกต่างกัน เท่าที่ปรากฏจากอดีตถึงปัจจุบันมีดังนี้

  • มองหยั่ง คือ มองที่ใช้ขึงตาข่ายขวางลำน้ำ ปลาจะว่ายมาติดมองหรือตาข่ายเอง โดยไม่ต้องทำอะไร แต่คนหาปลาบางคนอาจจะใช้ไม้ตีที่ผิวน้ำเพื่อให้เกิดเสียงดัง จนปลาตกใจว่ายหนีไปติดมอง ขนาดช่องตาข่ายของมองจะใช้ขนาด 3.5 - 10 เซนติเมตร
  • มองกวาด หรือ อวนลาก หรือ อวนทับตลิ่ง เป็นเครื่องมือที่ใช้ในช่วงหลังฤดูน้ำลด แต่ระดับน้ำยังลึกพอสมคร คือในช่วงเดือนพฤศจิกายน - มกราคม มีขนาดยาวประมาณถึง 100 เมตร ใช้จับปลาได้ครั้งละมากๆ แต่ใช้แรงงานมากตั้งแต่ 7-10 คน ใช้เรือสองลำ โดยการยึดเผียกมอง (เชือก/ทุ่นด้านบน) ไว้กับริมฝั่ง ให้เรือลำที่หนึ่งพร้อมคน 3-4 คน พายเรือและวางข่ายตีวงออกไปในลำน้ำ แล้วพายเรือให้วงโค้งวกเข้าหาฝั่งอีกด้านหนึ่ง ส่วนเรืออีกลำจะทำหน้าที่ยามมอง ตามเก็บปลาจากมอง รวมทั้งคอยตรวจสอบมองไม่ให้ติดไม้หรือหินใต้น้ำ ด้วยการดำน้ำลงไปปลดมอง
  • มองถุง มองชนิดนี้จะใส่ตัดทางน้ำไหล ใช้ใส่ตอนน้ำไหลอ่อนๆ ตัวมองมีขนาดความยาว (ลึก) มากกว่ามองหยั่ง เพราะใช้มองธรรมดาสอนตอนมาเย็บติดกัน คร่าวบนร้อยด้วยเชือกผูกยึดกับไม้ริมฝั่งน้ำ คร่าวล่างถ่วงด้วยหิน เวลาใส่ลงในน้ำกระแสน้ำจะพัดมองโค้งเป็นรูปถุง ส่วนใหญ่นิยมใช้มองขนาด 4-6 เซนติเมตร สูง 12 เมตร ยาวกว่า 10 เมตร มองถุงเพิ่งจะมีมาไม่นานจากการคิดทำกันเอง จับปลาประเภทปลาหนังหรือปลาขาวขนาดใหญ่
  • ทุ่มมอง ใช้ได้ทั้งในลำน้ำใหญ่และตามหนองบึง วิธีการลงมองคล้ายกับมองหยั่ง แต่จะทิ้งในลักษณะเป็นวงกลม ผู้หาปลาจะใช้ไม้ที่มีห่วงเหล็กคล้องตรงปลาย เพื่อทำให้เกิดเสียงดัง หรือทางมะพร้าว/กิ่งไม้ ทุ่มลงไปในวงด้านในของมอง ให้เกิดเสียงดังใต้น้ำ ทำให้ปลาตกใจว่ายเข้าไปติดมอง
  • มองซิ่ง หรือโต่ง หรือโพงพาง เป็นเครื่องมือหาปลาชนิดดักปลา ที่ชาวบ้านมีการดัดแปลงมาจากมองที่ใช้หาปลากันทั่วไป เมื่อวันเวลาผ่านไป แม่น้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลง จํานวนปลาลดลงมาก คนหาปลาจึงปรับเปลี่ยนวิธีการใช้เครื่องมือและวิธีการหาปลา เพื่อให้จับปลาได้โดยการใช้มองที่มีขนาดต่างกัน ซึ่งจะใช้มองตาถี่กับมองตาใหญ่มาประกบกัน เพื่อให้ปลาขนาดเล็กและขนาดใหญ่ติดมอง เช่น ใช้มองขนาด 3 เซนติเมตร ซึ่งเป็นมองตาถี่ ปะกบกับมองขนาด 10 เซนติเมตรที่มีขนาดใหญ่กว่า นํามอง 2 ขนาดนี้มาปะกบติดกัน คนหาปลาจึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า เรียกว่า “มองซิ่ง” ปลาที่จับได้ ปลาทุกชนิด

    วิธีการใช้มองซิ่ง จะวางมองซิ่ง ตามบริเวณต่างๆ ที่เป็นที่อยู่อาศัยของปลาในแม่น้ำใหญ่ ใช้จับปลาได้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ โดยปลาใหญ่จะติดอยู่กับมองตาใหญ่ ส่วนปลาเล็กเมื่อเล็ดลอดมองตาใหญ่ไปก็จะติดอยู่กับมองตาถี่ ทําให้จับปลาได้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ขนาดความถี่หรือห่างของตามองนั้น ขึ้นอยู่กับคนหาปลาจะประเมินว่า จะใช้จับปลาชนิดใด แล้วจะเลือกขนาดความถี่ของตามมองเบอร์ต่างๆ แตกต่างกันออกไป เพื่อให้เหมาะกับชนิดของปลาที่ต้องการจับ ฤดูกาลที่ใช้ ก็ใช้ได้ตลอดทั้งปี ใช้ในระบบนิเวศบริเวณแก่งและพื้นที่ทั่วไปในลําน้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี พบเห็นได้ทั่วไปในแม่น้ำโขงปัจจุบัน

ภูมิปัญญาท้องถิ่น : การซูมอง ถักมอง

การไหลมอง

ไหลมอง เป็นการเรียกชื่อตามวิธีการจับปลา ที่ปล่อยมองไหลขวางไปตามแรงน้ำ วิธีการนี้จะต้องใช้เรือล่องตามการไหลของมองด้วย เพื่อช่วยยามมองหรือเก็บมองเมื่อถึงท้ายลวง วิธีการไหลมองแบ่งย่อยออกได้อีก 3 รูปแบบ คือ

  • การไหลมองพื้นน้ำหรือไหลราบ วีธีนี้คนหาปลาจะถ่วงตะกั่วให้มองจมลงใกล้ติดพื้นดินใต้ท้องน้ำ
  • การไหลมองครึ่งน้ำ เป็นการถ่วงตะกั่วให้มองจมลงไปแค่กลางน้ำ หรือกึ่งกลางระหว่างท้องน้ำและผิวน้ำ
  • การไหลปลิว เป็นการไหลมองผิวน้ำ คนหาปลาจะเพิ่มทุ่นและลดตะกั่ว เพื่อให้มองลอยตั้งตัวอยู่ใต้ผิวน้ำเล็กน้อย การใช้มองด้วยวิธีการนี้จะต้องมี “ลวง” เฉพาะ ไม่สามารถไหลได้ทั่วไป เนื่องจากมองอาจเสียหายจากการเกี่ยวพันกับรากไม้ ตอไม้ หรือหิน ดังนั้นจึงมักมีการทําาความสะอาดลวง หรือ “ส่าวลวง” เพื่อเก็บหิน หรือเศษไม้ออกจากบริเวณดังกล่าว โดยมากแล้วลวงของวิธีการใช้มองประเภทนี้ จะอยู่บริเวณวัง ขุม หรือเวิน ที่พื้นใต้ล่างเป็นดิน หรือทราย

ยกเว้นการไหลมองครึ่งน้ำ และการไหลปลิว ที่พื้นน้ำอาจเป็นหินก็ได้ เนื่องจากมองไม่ขึงตัวถึงใต้ท้องน้ำ การไหลมองมักทําในสองฤดู คือ ฤดูปลาขึ้น เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม และฤดูปลาล่อง เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตามบางพื้นที่สามารถไหลมองได้ตลอดทั้งปี ยกเว้นช่วงน้ำหลากมากในเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน

ในช่วงที่น้ำหลาก คนหาปลาจะไหลมองบริเวณห้วย หรือบุ่ง การไหลมองจะไหลทั้งวันทั้งคืน ใครมาก่อนจะได้ไหลก่อน หากมีคนจํานวนมากมาไหลร่วมกันจะมีการจัดคิวให้กับทุกคน โดยเฉพาะในช่วงปลาขึ้น ทําให้วันหนึ่งแต่ละคนจะไหลมองได้เพียง 1-3 รอบต่อวัน ขึ้นอยู่กับจําานวนคนที่มาไหลมองในวันนั้นๆ วันหนึ่งๆ จะได้ปลาประมาณ 10-20 กิโลกรัม

ข้อสังเกตในการใช้แหและมอง

การจับปลาโดยวิธีใช้แหเป็นเครื่องมือ ทำให้ปลาไม่บอบซ้ำ เพราะเครื่องมือเบาและเป็นการจับปลาที่ใช้เวลาไม่มาก ถ้าเป็นจับปลาโดย มอง ทำให้ปลาอาจตายก่อน และบอบซ้ำจากการดิ้นรนของปลาที่ถูกตาข่ายของมองรัดตัวนั่นเอง การจับปลาด้วยมองจะต้องใช้เวลานานกว่าจับด้วยอุปกรณ์จับปลาประเภท แห เพราะต้องรอให้ปลามาติดกับดักตาข่ายของมองก่อน ยกเว้น การจับปลาในบริเวณที่เลี้ยงไว้ในสระ หรือ โซนวังปลา (ที่ชาวบ้านนำกิ่งไม้มาวางไว้ในลำน้ำให้ปลาได้หลบเป็นที่พัก) จะได้ปลาในเวลาไม่นานนัก ซึ่งก็ไม่แตกต่างกันมากเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับผู้จับปลาว่ามีเวลามากน้อยเพียงใด นั่นเอง 

san swing 03

สวิง

"สวิง" หรือ "หวิง” ในภาษาอีสาน ส่วนภาคกลางจะเรียกว่า “สวิง” ส่วนทางภาคเหนือ เรียกว่า “หิง” องค์ประกอบของสวิง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

  • “ตาขายทรงกรวย” จะทำการถักให้มีความยาว 1 ช่วงแขนของผู้ถัก ทํามาจากด้ายที่มีความเหนียว ด้านบนของสวิงจะกว้าง ด้านล่างจะแคบเรียวลงมาจนสุดปลาย
  • “กง” หมายถึง ขอบไม้ทําด้วยไม้ไผ่ หรือเครือไม้ ทําเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมด้านเท่า หรือทรงกลม หลังจากสานจนได้รูปแล้ว นํามาประกอบเข้ากับขอบไม้ไผ่ มีหลายขนาด ตั้งแต 20 เซนติเมตร จนถึงประมาณ 50 เซนติเมตรทั้ง 3 ด้าน

หากเป็นลักษณะการสานแบบสามเหลี่ยม ซึ่งพบเห็นได้ทางภาคอีสาน ส่วนทางภาคเหนือจะทําขอบเป็นวงกลม สวิงที่มีขนาดปากเล็กมีด้ามจะใช้ตักปลาที่ติดเบ็ด สวิงขนาดปากใหญ่จะใช้หาปลาตามลําห้วย หนองน้ำ ริมฝั่ง โดยการช้อน

การสานสวิง

จะใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นเส้นกลม ปลายมน ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร พันเชือกไว้กลางเส้นไม้ คลายเชือกออกมาผูกตรงกลางก่อนเหมือนจอมแหสั้นๆ แล้วผูกริมออกมา ใช้ปลายไม้งัดสอดดึงผูกเป็นตาถี่ ขยายเป็นรัศมีวงกว้างออกเป็นรอบๆ จากตาแหเล็กๆ ค่อยๆ ขยายตาให้ห่างแต่ก็ยังถือว่าเป็นตาถี่อยู่ ขณะเดียวกันก็บังคับถักให้เป็นถุง ลักษณะเป็นถุงตาข่าย เมื่อเห็นว่าได้ความกว้างและความลึกพอที่กำหนดไว้ ตามกงหรือขอบวงกลมที่เตรียมไว้ ทำจากกิ่งต้นข่อยลอกเปลือกเหลือเนื้อไม้ดัดเป็นขอบวงกลม โดยรวมสวิงจะมีขนาดประมาณเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 40 – 50 เซนติเมตร เมื่อเห็นว่าได้ขนาดตามกำหนด แล้วจึงใช้เส้นไม้ไผ่ที่เหลาค่อนข้างแบนร้อยผูกตามช่องริมตาข่ายโดยรอบเป็นวงกลม ผูกปลายไม้ติดกัน นำไปทาบพอดีด้านในเส้นกงหรือขอบนอก ใช้ตะปูดอกเล็กๆ ตอกเส้นไม้ไผ่ติดกับกงขอบนอกห่างกันเป็นระยะ 3 เซนติเมตรโดยรอบ ก็จะได้สวิงที่สมบูรณ์

การสานสวิง

การสานหรือถักสวิง นี้ส่วนมากจะเป็นงานผู้หญิง และกลุ่มคนที่ใช้สวิงมากที่สุดคือกลุ่มผู้หญิงอีกนั่นแหละ เพราะสวิงมีน้ำหนักเบา บางคนก็จะสานเพื่อเอาไว้ใช้เอง บางคนก็ซื้อมาจากตลาด ราคาอันหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 80-90 บาท ไม่รวมค่าเข้าขอบซึ่งเป็นไม้ เพราะเวลาซื้อสวิงมาจากตลาดต้องนำมาเข้าขอบเอง

ปลาที่จับได้ ปลาหลด ปลาอีด ปลาฮากกล้วย ปลาขาว ปลาซิว ปลาสลาก ปลาก่อ ปลาดุก กุ้ง หอย ปู

วิธีการใช้ จับด้านบนของขอบสวิงช้อนปลาไปตามริมฝั่งน้ำ แล้วยกขึ้นมาดูว่า มีปลามาติดหรือไม่ ถ้าปลามาติดก็เอาปลาออกแล้วเอาใส่ข้องที่เตรียมไปด้วย ฤดูกาลที่ใช้ หาปลาได้ตลอดทั้งปี ใช้ในระบบนิเวศ ลําห้วย ริมฝั่งแม่น้ำโขง ชี มูล บุ่งในป่าทาม หรือแหล่งน้ำต่างๆ ที่มีความลึกไม่เกินระดับเอว พบเห็นได้ทั่วไปตามแม่น้ำโขง และลําห้วยสาขา และแถบลุ่มน้ำต่างๆ เนื่องจากเป็นเครื่องมือหาปลาที่นิยมใช้กันมาก

san swing 01

สวิงตาถี่ นอกจากใช้ช้อนจับปลาทั่วไปได้แล้ว ยังสามารถใช้กรองจับไข่มดแดงที่อยู่ในรังบนต้นไม้ได้ โดยการใช้เชือกผูกที่ริมโครงปากสวิงผูกต่อกับไม้ไผ่รวกลำยาวประมาณ 5 – 6 เซนติเมตร ผูกห่างจากปลายไม้ประมาณหนึ่งคืบ ใช้แหย่ไข่มดแดงประมาณเดือนสี่เดือนห้า หรือประมาณเดือนมีนาคม เมษายน ใช้ปลายไม้แหย่แทงเข้าใต้รังมดแดง แล้วเคาะเขย่าให้ไข่มดแดงร่วงหล่นในถุงตาข่ายสวิง ตัวมดแดงจะตกลงมาด้วยก็จะออกไต่หนี เมื่อสังเกตเห็นว่าหมดไข่แล้ว ก็จะเทจากถุงสวิงลงมาในถังที่มีน้ำขังอยู่ ไข่มดแดงจะตกลงใต้น้ำ ส่วนตัวมดจะลอยอยู่ผิวน้ำ ใช้ใบไม้หรือเศษผ้าคนกวนที่ผิวน้ำเพื่อให้มดแดงเกาะติดออกมาแล้วทิ้งไป จะกระทำเช่นนี้จากรังหนึ่งไปอีกรังหนึ่งให้ได้ไข่มดแดงที่พอใจ เทน้ำในถังทิ้งเหลือเพียงไข่มดและตัวอ่อนมดแดง

san swing 02

ใช้ใบไม้มาทำกระทง ตักไข่มดแดงไส่กระทงแบ่งขายได้ราคาดี สดๆ ใหม่ๆ หนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง ใครๆ ก็ซื้อต่อรองเพิ่มลดไข่มดกันได้ เมื่อนำมาประกอบอาหารใช้ไข่มดแดงแทนเนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อหมู แกงขี้เหล็ก หรือแกงร่วมกับผักหวานป่าที่แตกยอดอ่อนออกมาช่วงเดือนห้าสัมพันธ์กันพอดี คนในเมืองซื้อมาผสมตีเข้ากับไข่ไก่ ไข่เป็ด ทอดเป็นไข่เจียวกินอิ่มอร่อยลืมไม่ลงกันเลยทีเดียว

นอกจากนั้นในประเพณีโบราณอีสาน ยังมีการนำสวิงไปประกอบในพิธีการส่อนขวัญ เรียกขวัญของคนเจ็บ คนตายให้กลับมาอยู่บ้านอยู่เฮือน อีกด้วยลองไปอ่านเพิ่มเติมดูครับ

redline

backled1

nai hoi ken

ในภาคอีสานดั้งเดิมนั้น มีลักษณะทำ การเกษตรแบบยังชีพ (subsistence) เป็นส่วนมาก คือ ทำการเกษตรเพื่อที่จะนำผลิตผลมาบริโภคในครัวเรือนของตน เช่น ปลูกข้าวไว้กิน ปลูกฝ้ายไว้ทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่ม เลี้ยงไหมไว้เอาเส้นใยมาทอผ้างามๆ ไว้ใส่เอาบุญ เป็นต้น การเกษตรส่วนใหญ่จะเน้นที่การทำนาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการทำนายังคงใช้แรงงานจากคนและสัตว์อยู่มาก บริเวณปลูกข้าวที่สำคัญคือ ที่ราบลุ่มริมแม่น้ำสายสำคัญ รวมทั้งที่ลุ่มกว้างใหญ่ที่เรียกว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรกรยังมีการใช้แรงงานไม่เต็มที่ตลอดทั้งปี กล่าวคือ ใช้แรงงานทำนาในช่วงฤดูฝน เก็บเกี่ยวช่วงฤดูหนาว ในช่วงฤดูแล้งเป็นช่วงที่ทำงานไม่เต็มที่มากที่สุด เพราะปัจจัยหลักในการเกษตรต้องใช้น้ำ ที่จะมีเพียงพอในฤดูฝน ยังไม่มีระบบชลประทานครอบคลุมพื้นที่ เลยต้องโยกย้ายไปขายแรงงานในเมืองใหญ่ บ้างก็เข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปหางานทำที่นั่นแทน ทิ้งให้คนแก่และเด็กๆ อยู่เฝ้าบ้านเดิมรอฤดูกาลทำนาอีกครั้ง

kasetakam 01

ในปัจจุบันนี้ มีการตื่นตัวที่จะปลุกพืชเพื่อการค้าขายทำเงินมากขึ้น หลังจากที่มีการประกาศใช้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2504 (ตำนานเพลงผู้ใหญ่ลี) จึงมีการแผ้วถางป่าโคก ป่าดอน เพื่อใช้ในการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ปอ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ทั้งนี้ เพราะตลาดมีความต้องการมากขึ้น ดังนั้น ภาคอีสานจึงประสบกับปัญหาป่าไม้ถูกบุกรุก แผ้วถาง เพื่อการทำไร่มากขึ้น (โดยเฉพาะแถบบุรัรัมย์ โคราช ทางอำเภอนางรอง หนองกี่ เสิงสาง หนองบุญนาก โชคชัย) ต่อมาภาคอีสานมีการพัฒนาชลประทานมากขึ้น โดยมีการพัฒนาระบบชลประทานแบบอ่างเก็บน้ำมากที่สุด อ่างเก็บน้ำเล็กๆ ที่สร้างขึ้นมากกว่า 100 แห่ง แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะยังมีพื้นที่อีกจำนวนมากที่อยู่นอกเขตชลประทาน

อาชีพการเลี้ยงสัตว์ของคนอีสาน

ภาคอีสาน มีพื้นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์จากแร่ธาตุอาหาร ไม่มีน้ำหลากแบบที่ราบลุ่มภาคกลาง จึงทำให้ผืนดินขาดแร่ธาตุอาหารที่สำคัญ ราษฎรได้รับผลตอบแทนจากการทำการเกษตรที่ต่ำมาก ในภาคอีสานจึงมีการเลี่ยงสัตว์แบบพื้นเมืองเป็นส่วนมาก คือ จะเลี้ยงโค (วัว) กระบือ (ควาย) พันธุ์พื้นเมืองเป็นฝูงเล็กๆ ปล่อยให้หากินหญ้าตามไร่นา ในป่าทามริมน้ำ ริมหนองบางแห่ง

โคพื้นเมืองโคอีสาน

ลักษณะประจำพันธุ์

โคพื้นเมืองของไทย จัดอยู่ในกลุ่มโคอินเดีย Bos indicus มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Bos Taurus L. มีลักษณะใกล้เคียงกับโคพื้นเมืองของประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย ลักษณะรูปร่างกระทัดรัด ลำตัวเล็ก ขาเรียวเล็ก ยาว เพศผู้มีหนอกขนาดเล็ก มีเหนียงคอ แต่ไม่หย่อนยานมาก หูเล็ก หนังใต้ท้องเรียบ มีสีไม่แน่นอน เช่น สีแดงอ่อน เหลืองอ่อน ดำ ขาวนวล น้ำตาลอ่อน และอาจมีสีประรวมอยู่ด้วย โดยทั่วไปมีลำตัวสีน้ำตาลแกมแดง แต่อาจมีสีแตกต่างกันหลายสี หน้ายาวบอบบาง หน้าผากแคบ ตะโหนก (hump) เล็ก เหนียงคอ (dewlap) และหนังใต้ท้องไม่มากนัก ใบหูเล็ก นิสัยเปรียว ตื่นตกใจง่ายรักฝูง จดจำฝูงได้ดี มีความแข็งแรงทนทาน และอดทนมาก จึงเป็นโคสำหรับใช้งานโดยแท้จริง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมอากาศร้อนชื้น โรคพยาธิ และแมลงได้ดี เลี้ยงง่ายโดยปล่อยให้หากินตามทุ่งหญ้าสาธารณะ ตามป่าละเมาะ ไล่ต้อนตามป่าเขา สามารถใช้เศษเหลือจากผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก นอกจากนี้ยังใช้ต้นทุนในการเลี้ยงดูต่ำกว่าโคพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

kasetakam 10

โคพันธุ์พื้นเมือง หรือ วัวกระโดน มีขนสั้นเกรียน โดยทั่วไปมีลำตัวสีน้ำตาลแกมแดง แต่อาจมีสีแตกต่างกันหลายสี หน้ายาน บอบบาง หน้าผากแคบ ตะโหนกเล็ก เหนียงคอ และหนังใต้ท้องไม่มากนักมีรูปร่างขนาดเล็ก น้ำหนักแรกเกิด 16 กก. น้ำหนักหย่านมเมื่ออายุ 200 วันเฉลี่ย 94 กก. น้ำหนักโตเต็มที่ เพศผู้ 300 - 350 กก. เพศเมีย 22 - 250 กก. อายุเมื่อให้ลูกตัวแรก 2.71 ปี ระยะการอุ้มท้อง 270 - 275 วัน ช่วงห่างการให้ลูก 395 วัน

เนื่องจาก นโยบายการเลี้ยงโคที่รัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา ได้เน้นการผลิตเพื่อการบริโภค และทดแทนการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงโคพันธุ์ต่างประเทศทั้งพันธุ์แท้และลูกผสม (พวกตัวใหญ่ หูยาว ที่เคยฮิตกันมาพักหนึ่ง คนขายน้ำเชื้อรวย คนเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นหนี้) จนทำให้โคพื้นเมืองไม่ได้รับความเอาใจใส่ในด้านการเลี้ยงดู การปรับปรุงสายพันธุ์ และขาดการอนุรักษ์พันธุ์อย่างจริงจัง ทำให้โคพื้นเมืองซึ่งสามารถเจริญเติบโต และขยายพันธุ์ได้ดีในสภาพแวดล้อมของเกษตรกร ถูกละเลยไปทั้งๆ ที่โคพื้นเมืองมีคุณลักษณะที่โดดเด่น เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงดูของเกษตรกร และสภาพท้องถิ่น มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสมมานับพันๆ ปี

การกระจายของประชากรโคพื้นเมืองอีสาน หรือวัวกระโดน เลี้ยงกันมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งตอนล่างและตอนบน เพื่อใช้ลากจูงพาหนะ เทียมเกวียน และเป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญ โดยเฉพาะในงานพิธีและเทศกาลที่สำคัญ (บ่ได้ล้มงัวเลี้ยงหมู่รู้สึกว่างานไม่ยิ่งใหญ่สมฐานะ)

พันธุ์กระบือ (ควาย) พื้นเมือง

ควาย หรือ กระบือ สามารถแยกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กระบือป่า และ กระบือบ้าน สำหรับกระบือบ้านก็แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ กระบือปลัก (Swamp buffalo) และกระบือแม่น้ำ (River buffalo) กระบือทั้งสองชนิดจัดอยู่ในวงศ์ตระกูลและสายพันธุ์เดียวกัน กระบือไทยเป็นประเภทกระบือปลัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คือ Bubalus Bubalis

จากการศึกษาทางด้านชีวโมเลกุล พบว่า กระบือปลักมีจำนวนโครโมโซม 24 คู่ ส่วนกระบือแม่น้ำจะมีจำนวนโครโมโซม 25 คู่ และสามารถผสมข้ามพันธุ์ระหว่างกันได้ กระบือปลักมีการเลี้ยงกันมากในประเทศจีนตอนใต้ ประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ และออสเตรเลีย และในประเทศไทย เลี้ยงเพื่อใช้แรงงานและใช้เนื้อเป็นอาหาร (ทางอีสานจะนิยมเนื้อวัวมากกว่าเนื้อควาย ควายที่เลี้ยงจึงถูกส่งลงไปโรงฆ่าสัตว์ในภาคกลางมากกว่า)

kasetakam 11

กระบือปลัก (Swamp buffalo) กระบือปลักเป็นสัตว์ที่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศต่างๆ ทางตะวันออกไกล ซึ่งได้แก่ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า จีนตอนใต้ กัมพูชา และลาว เป็นต้น ในสมัยก่อนเกษตรกรจะเลี้ยงไว้เพื่อใช้แรงงานในไร่นา ใช้บรรทุกสิ่งของและลากจูง เมื่อกระบืออายุมากขึ้นก็จะส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์ เพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร สำหรับประเทศไทย กระบือพื้นเมืองจะเป็นกระบือปลัก อาจจะเป็นเพราะว่าลักษณะทั่วไปของกระบือชนิดนี้ จะชอบนอนแช่ปลัก ชอบลงน้ำเมื่อมีอากาศร้อน มีรูปร่างล่ำสัน ลำตัวหนาลึก ท้องใหญ่ หัวยาวแคบ เขามีลักษณะแบนโค้งไปข้างหน้า หน้าสั้น หน้าผากแบนราบ ตานูนเด่นชัด ช่วงระหว่างรูจมูกทั้งสองข้างกว้าง คอยาว และบริเวณใต้คอจะมีบั้งคอซึ่งมีขนขาวเป็นรูปตัววี (Chevron) หัวไหล่และอกนูนเต็มได้ชัดเจน ผิวหนังมีสีเทาเข้มเกือบดำ ที่เป็นสีขาวเผือกก็มีอยู่บ้างเห็นได้ทั่วไป

กระบือแม่น้ำ (River buffalo) กระบือแม่น้ำ พบมากในประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ อียิปต์ ประเทศในยุโรปตอนใต้และยุโรปตะวันออก เป็นกระบือที่ให้นมมากและมีลักษณะเป็นกระบือนม เลี้ยงไว้เพื่อรีดนม กระบือแม่น้ำจะมีหลายสายพันธุ์ พันธุ์มูร่าห์ พันธุ์นิลีราวี พันธุ์เมซานี พันธุ์เซอติ และพันธุ์เมดิเตอเรเนียน เป็นต้น กระบือประเภทนี้จะมีขนาดใหญ่รูปร่างแข็งแรง ลักษณะทั่วไปมีผิวหนังสีดำ หัวสั้น หน้าผากนูน เขาสั้นและบิดม้วนงอ ส่วนลำตัวจะลึกมาก

วัว-ควาย จึงเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความสำคัญต่อชุมชน ทั้งในสถานะปัจจัยการผลิต คือ ใช้แรงงานในการลากคราด ไถนา (เพราะมีกำลังอดทนกว่าวัว และชอบน้ำมากกว่าวัว) ผลิตปุ๋ยคอก เป็นพาหนะอำนวยความสะดวกในการเดินทางคมนาคมขนส่ง (เทียมเกวียน) เป็นสิ่งแสดงถึงสถานะทางสังคม เป็น 'มูลมัง' (สมบัติ) สำหรับลูกหลานเวลาแต่งงานมีเหย้ามีเรือน แยกครอบครัวเป็นของตนเอง และเป็นสินค้าที่สามารถขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวบ้าง

kasetakam 02

สภาพสังคมแต่เดิม "การขายวัว-ขายควาย ให้กับคนในท้องถิ่นนั้นเป็นไปได้ยาก" ทั้งนี้เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างก็เลี้ยงวัว-ควาย ไว้ใช้งานในครัวเรือนเหมือนๆ กัน 'ตลาดวัว-ควาย' ในขณะนั้นจึงอยู่ในท้องถิ่นภาคกลาง ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางยาวนาน รอนแรมหลายเดือน เดินทางจากสุดขอบภาคอีสานผ่านโคราช ข้ามภูเขาดงพญาไฟไปสู่ที่ราบลุ่มภาคกลางทางอยุธยา ก่อนเข้าสู่เมืองหลวง

ดังนั้นการจะนำ วัว-ควาย ไปขาย จึงต้องอาศัยการรวมตัวเดินทางกันเป็นหมู่คณะ เพื่อความปลอดภัย และจากการเดินทางในลักษณะนี้เอง ได้บ่มเพาะประสบการณ์ให้กับกลุ่มชาวบ้านที่นำวัว-ควายไปค้าขาย มีผู้นำกลุ่มในการเดินทางไปค้า กลายเป็นตำนาน "นายฮ้อย" ในเวลาต่อมา

"นายฮ้อย" ตำนานผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า

"นายฮ้อย" คือ เรื่องราวของกลุ่มพ่อค้า ที่มีบทบาทอย่างยิ่งในท้องถิ่นภาคอีสาน โดยเฉพาะนายฮ้อยวัว-ควาย นับเป็นตำนานอีกบทหนึ่งที่ไม่ได้มีเฉพาะบทบู๊ หากแต่เต็มไปด้วยการสะสมองค์ความรู้ และภูมิปัญญา เกี่ยวกับวัว-ควาย และการค้าขายในยุคสมัยใหม่ ที่ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนสิ่งของดังในอดีต

เมื่อเอ่ยคำว่า "นายฮ้อย" หลายคนคงมีภาพ "นายฮ้อยเคน" ในละครเรื่องดัง "นายฮ้อยทมิฬ" ของ ลุงคำพูน บุญทวี ในเนื้อเรื่อง กล่าวถึงชายชาตินักเลงที่เป็นหัวหน้าขบวนต้อนวัว-ควายฝูงใหญ่ไปขายยังต่างถิ่น ต้องพบเจออุปสรรคต่างๆ ระหว่างเดินทางมากมาย ซึ่งภาพในชีวิตจริงของพ่อค้าวัว-ควายภาคอีสานสมัยก่อน มีวิถีชีวิตไม่ต่างกันนัก เพียงแต่ในละครอาจมีการสอดแทรกเรื่องราว สีสัน ความรัก ความทุกข์ โศก เพื่อเพิ่มความสนุกสนานตื่นเต้น และชวนให้ติดตามมากกว่าเรื่องจริงบ้างเท่านั้น

kasetakam 03

อันที่จริงคำว่า "นายฮ้อย" เป็นภาษาท้องถิ่นภาคอีสาน ที่เรียกกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทในการค้าขาย และมักเรียกตามชื่อประเภทสินค้า ดังนั้น กลุ่มคนที่ค้าขายวัว-ควาย จะถูกเรียกขานว่า "นายฮ้อยวัว-ควาย" แต่อาจเพราะนายฮ้อยวัว-ควาย มีบทบาทสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนอีสานใกล้ชิด มากกว่ากลุ่มพ่อค้าสินค้าประเภทอื่นๆ เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ของชาวอีสานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ชาวบ้านมีการเลี้ยงวัว-ควาย เป็นอาชีพที่ควบคู่กันมากับการทำนา ทำไร่ นั่นเอง

"นายฮ้อย" หมายถึง ผู้ที่เป็นหัวหน้าในการค้าขาย เป็นผู้ที่มีบารมี มีอำนาจรู้จักเส้นทางการค้าขายเป็นอย่างดี เป็นที่เกรงขาม และชาวบ้านให้ความนับถือ สาเหตุที่เรียก "นายฮ้อย" เนื่องจากในสมัยก่อนนั้น รูปแบบของการค้ามีทั้งแบบแลกเปลี่ยนสิ่งของต่อสิ่งของ และการใช้เงินตรา ในสมัยก่อนนิยมใช้ "เงินเหรียญ" (ยังไม่มีเงินที่เป็นธนบัตรดังปัจจุบัน) เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน การเก็บรักษาเงินของพ่อค้าในสมัยนั้น ใช้ผ้าเย็บเป็นถุง ขนาดของถุงกว้างพอเหมาะกับความกว้างของเงินเหรียญ แล้วเอาเงินเหรียญบรรจุลงในถุง ชาวบ้านเรียก "ถุงเงิน" แบบนี้ว่า “ถุงไถ่” เวลาพ่อค้าเดินทางไปค้าขายก็มักจะเอาถุงไถ่ร้อยเป็นพวง สอดเข้าแขน บางทีก็พันไว้รอบเอว หรือไม่ก็เอาคล้องไว้ที่คอม้า พ่อค้าที่พกเงินถุงไถ่ไปค้าขายจึงถูกเรียกว่า "นายฮ้อย" เพราะร้อยเอาถุงเงินไว้รอบแขน รอบเอว นั่นเอง

"นายฮ้อย" เป็นอาชีพพ่อค้าที่ทำการเดินทางไปค้าขายยังต่างถิ่น ต่างแดน เส้นทางการค้าขายมีทั้งทางบกและทางน้ำ การค้าขายของนายฮ้อยนั้นจะเรียกชื่อ "นายฮ้อย" ตามด้วยสิ่งที่นายฮ้อยทำการค้าขาย เช่น ถ้าค้าขายกระบือก็จะเรียกว่า "นายฮ้อยกระบือ" ถ้าค้าเกลือก็จะเรียก "นายฮ้อยเกลือ" ค้าหมูก็จะเรียกว่า "นายฮ้อยหมู" เป็นต้น

ลักษณะของผู้เป็นนายฮ้อย

ผู้ที่จะเป็น "นายฮ้อย" นั้น ไม่มีการหาเสียงอย่างผู้แทนราษฎร หรือนักการเมืองทั้งหลาย เป็นความเห็นดี เห็นชอบ ของเพื่อนฝูง หรือเฒ่าแก่ในหมู่บ้าน โดยเพื่อนฝูงหากขอร้องให้เป็น และพร้อมกันยกยอกันขึ้น ครั้นแล้วก็ต้องเคารพนับถือเชื่อฟังกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ร่วมเป็นร่วมตายกัน สำหรับนายฮ้อยนั้น ต้องเป็นผู้รับผิดชอบของหมู่คณะทุกประการ ประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญดังนี้ คือ

  • เป็นผู้ชำนาญเส้นทางในการค้าขาย
  • เป็นผู้มีกริยา วาจาดี พูดจาคล่องแคล่ว สื่อสารกับผู้อื่นได้ดี
  • เป็นผู้รู้กฎหมาย ระเบียบ และประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ  เป็นผู้มีปัญญา ความฉลาดในการติดต่อสังคม ในการซื้อขาย ในการรักษาทรัพย์ ในการรักษาชีวิต เป็นต้น
  • เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต โอบอ้อมอารี มีเมตตาจิต ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตน ไม่คดโกง ฉ้อฉล เบียดบังเอาเปรียบในลูกน้องของตน
  • เป็นผู้มีความแกล้วกล้าสามารถ อาจหาญ มีการยอมเสียสละ ต่อสู้เหตุการณ์โดยไม่หวั่นไหว
  • เป็นผู้เก่งทางวิชาอาคม อยู่ยงคงกระพัน ยิงไม่ออก ฟันแทงไม่เข้า ตีไม่แตก จับไม่อยู่ เป็นต้น
  • เป็นผู้ฉลาดในการวางแผน เช่น จะออกเดินทางในเวลาใด ควรจะให้ใครออกก่อน อยู่ท่ามกลาง และอยู่ตามหลัง พักกลางวันและพักค้างคืนที่ใด จะให้น้ำให้หญ้าแก่สัตว์อย่างไร ไปช้าไปเร็วขนาดใด เป็นต้น
  • เป็นผู้รู้จักสอดส่องมองรู้ทันท่วงทีต่อเหตุการณ์ที่จักเกิดขึ้นในภายภาคหน้า

อาชีพค้าขายโดยพ่อค้าชาวอีสานที่ทำการไปค้าต่าง หรืออาชีพ "นายฮ้อย" นั้น เริ่มมีมาตั้งแต่หลังจาก ปี พ.ศ. 2398 กล่าวคือ ตั้งแต่ช่วงที่รัฐบาลได้ทำสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศอังกฤษ หรือที่เรียกกันว่า "สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง" หลังจากที่ได้ทำสนธิสัญญาแล้ว ทำให้เศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนจากระบบแบบเลี้ยงตัวเอง กลายมาเป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า กล่าวคือ ระบบแบบเลี้ยงตัวเองนั้นระบบการค้าภายในประเทศ จะอยู่ในขอบเขตที่ส่วนใหญ่จะเป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งของต่อสิ่งของ และการใช้แรงงานรับจ้างก็ยังไม่มีแพร่หลาย

แต่หลังจากที่ได้มีสนธิสัญญาแล้ว ก็ทำให้รูปแบบการผลิตเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การผลิตเพื่อการค้าในประเทศเพิ่มมากขึ้น ระบบการผลิตเพิ่มขึ้นก็ทำให้ต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น สภาพเศรษฐกิจในส่วนกลางขยายตัวอย่างกว้างขวาง และมีการลงทุนมากขึ้น จึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคด้วย โดยเฉพาะในภาคอีสานนั้น สภาพเศรษฐกิจยังเป็นแบบเลี้ยงตัวเอง การผลิตมีปริมาณไม่มาก และลู่ทางในการหาเงินก็มีน้อย จึงทำให้ชาวอีสานลงมาทำนารับจ้าง ขายแรงงานในแถบภาคกลางปีละหลายพันคน

kasetakam 04

ในการเดินทางเพื่อที่จะไปรับจ้างทำนา ก็จะมีผู้ที่นำทางลงไปยังภาคกลาง ก็คือ "นายฮ้อย" ในช่วงที่การคมนาคมยังไม่ดีเท่าที่ควรนั้น ในช่วงที่ยังไม่มีเส้นทางรถไฟ "นายฮ้อย" จะพาแรงงานรับจ้างนี้ลงไปพร้อมกับฝูงวัวควายที่ตนต้อนลงไปขาย โดยนายฮ้อยคนหนึ่งจะคุมคนตั้งแต่ 17 ถึง 120 คนโดยนายฮ้อยจะได้รับค่าตอบแทนต่อรายหัว ตั้งแต่ประมาณ 2 ถึง 10 บาท อาชีพนายฮ้อยจึงเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดี

การค้าขายโดยทั่วไปในภาคอีสานนั้น การค้าขายถือเป็นอาชีพที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวอีสาน ที่ควบคูไปกับการการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ เมื่อเสร็จจากฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว ชาวนาจะมีเวลาว่างถึง 6 เดือน ในช่วงนี้เป็นโอกาสให้ชาวนาแสวงหารายได้เพื่อมาจุนเจือครอบครัว และเสียภาษี ด้วยเวลาที่ว่างเว้นจากการทำนานี้เอง จึงทำให้นายฮ้อยทำการรวบรวมทุนออกหาซื้อสินค้าตามหมู่บ้านต่างๆ สินค้าที่ซื้อก็มี ผลเร่ว ครั่ง เขาสัตว์ หมู วัว ควาย เป็นต้น นายฮ้อยคนเดียวจะค้าขายสินค้าเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

สมัยนั้น นายฮ้อยพวกพ่อค้าวัว-ควาย ต้องไล่ต้อนสัตว์ลงไปยังที่ราบลุ่มภาคกลาง จะต้องผ่านเขตเขาใหญ่ ซึ่งว่ากันว่ามี "มหาโจรเขาใหญ่" คอยสกัดทำร้าย ปล้นสดมภ์เป็นประจำ ด่านผู้ร้ายที่สำคัญเป็นเขตอันตรายสีแดง ก็คือบริเวณ "ปากช่อง" และ "ช่องตะโก" พวกพ่อค้าทั้งหลายจะขี้ขลาด ตาขาว ลาวพุงดำผ่านไม่ได้ ต้องกล้าเก่ง ฮึกหาญ เตรียมต่อสู้ทุกคน ไม่เขาก็เรา ขึ้นชื่อว่าลูกผู้ชายต้องบุกให้ผ่านพ้นอันตรายให้จนได้ นายฮ้อยต้องมีปืน มีดาบ ติดตัวอยู่เสมอ เมื่อมีเวลาเหตุการณ์ ต้องออกหน้าออกตาในการต่อสู้ ถ้านายฮ้อยดีก็ปลอดภัยทั้งขาไปขากลับ

เมื่อเวลาขากลับนั้น จวนจะถึงบ้านแล้ว ต้องหยุดพักแรมในสถานที่ใดที่หนึ่งก่อน แล้วส่งข่าวไปหาทางบ้านว่า "พรุ่งนี้จะได้เดินทางกลับมาถึงบ้านเวลาประมาณเท่านี้เท่านั้น" ก่อนจะถึงบ้านประมาณ 2 - 3 กิโลเมตร จะต้องจุดประทัดหรือยิงปืนเป็นเครื่องสัญญาณ ฝ่ายพี่น้องลูกเมียได้ยินสัญญาณแล้วก็เตรียมตัวออกไปต้อนรับห่างจากบ้านประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีบรรณาการฝากต้อนกัน โดยความร่าเริงบันเทิงใจ ฝ่ายภรรยาบางคนถึงกับน้ำตาคลอเลย เพราะความปลื้มปีติที่ได้พบหน้าสามีของตน พวกพ่อค้าทั้งหลายมักจะเตรียมเสื้อผ้าใหม่สวยงามมาจากเมืองหลวง ขนมหลากหลาย ที่ขาดไม่ได้คือ "ประทัด" มาแจกลูกหลานของตนในเวลานั้น พวกเด็กๆ เวลาได้รับของแจกก็ดีใจใหญ่ เดินจุดประทัดกลับบ้านสนั่นหวั่นไหว เป็นที่เอิกเกริกกันทั้งหมู่บ้าน

สำหรับการเอาวัวควายไปขายในสมัยนั้น ได้ยินผู้ที่เคยไปเล่าให้ฟังว่า "การเดินไปกว่าจะถึงแหล่งขายลำบากมาก บางครั้งเกิดวัวควายเจ็บป่วยล้มตายจนขาดทุนป่นปี้ก็มี หรือวัวควายเกิดเจ็บป่วยแล้วรักษานานหาย ต้องขายขาดทุนก็มี บางครั้งเกิดโจรผู้ร้ายวางแผนแย่งชิงเอาไปก็มี บางครั้งเกิดการต่อสู้กับพวกผู้ร้าย ถูกบาดเจ็บไปก็มี เกิดต่อสู้กันถึงตายก็มี บางครั้งเกิดไปผ่านอหิวาตกโรค หรือ ฝีดาษ ซึ่งกำลังเกิดระบาดระหว่างทาง" โดยมากมักเป็นบ่อยที่โคราช เกิดป่วยหรือตายด้วยโรคระบาดนั้นก็มี จนเป็นคำร่ำรือที่ว่า "ใครผ่านดงพญาไฟไปได้ ถือว่ายอดคน"

ฝ่ายพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนฝูง และลูกเมียที่อยู่ทางบ้าน เป็นห่วงใยผู้ที่จากไปมากที่สุด คอยฟังข่าวคราวสุขทุกข์ของผู้จากไปอยู่ทุกวิถีทาง และคอยการกลับว่าวันไหนหนอจะโผล่หน้ามาถึงบ้าน (สมัยที่ยังไม่มีการติดต่อสื่อสารสมัยใหม่อย่างปัจจุบัน) คอยแล้วคอยเล่าจนเป็นจินตนาคติพังเพยว่า

เหมือนนกยางคอยปลา เหมือนนกกะทาคอยปลวก เหมือนลูกรวกอยู่น้ำคอยท่าหมู่ฝน... "

kasetakam 05

ความคิดและความเชื่อของ "นายฮ้อยอีสาน" ในเรื่องของความคิดของนายฮ้อยเกี่ยวกับการค้านั้น ไม่มีการพัฒนารูปแบบให้ดีขึ้นเท่าที่ควร เนื่องจากนายฮ้อยที่เดินทางไปค้าขายต่างแดนนั้น จะไม่นิยมซื้อสินค้ากลับมาขายยังถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ แต่จะซื้อเพียงของฝากติดไม้ติดมือมาเท่านั้น เนื่องจากนายฮ้อยอีสานไม่นิยมการค้าขายเพื่อมุ่งสร้างกำไร และมุ่งเร่งสร้างทุน แต่ส่วนใหญ่แล้ว นายฮ้อยจะเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทเป็นผู้ได้นำเอาวัฒนธรรมจากต่างถิ่นเข้ามา เห็นได้จากการที่นายฮ้อยได้นำเอาวัฒนธรรมต่างๆ จากภาคกลางเข้ามา เช่น ภาษาพูด ค่านิยม การละเล่น การแสดงเพื่อความบันเทิง หรือแนวคิดใหม่ๆ ทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้ได้แพร่ขยายเข้าสู่ภาคอีสาน และการที่นายฮ้อยได้ต้อนวัวควายไปค้าขายที่ภาคกลาง และการที่ชาวอีสานได้มีโอกาสทำการติดต่อค้าขาย หรือไปรับจ้างทำนาในภาคกลาง โดยการที่นายฮ้อยได้นำพาไปนั้น จึงเป็นการแลกเปลี่ยนทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมที่เด่นชัดในเวลาต่อมา

ส่วนในเรื่องของความเชื่อของ "นายฮ้อย" นายฮ้อยจะมีความเชื่อทางไสยศาสตร์ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น และความเชื่อของแต่ละบุคคล ความเชื่อส่วนใหญ่จะออกมาในรูปของเครื่องราง ของขลัง ฤกษ์ยาม ผีสางเทวดา เห็นได้จากการที่จะเคลื่อนขบวนคาราวานไปค้าขายในแต่ละครั้งนั้น นายฮ้อยจะประกอบพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อเป็นศิริมงคลทุกครั้ง เช่น มีการทำพิธิบายศรีสูตรขวัญให้แก่นายฮ้อย และผู้ที่ติดตาม ตลอดจนฝูงควาย การกำหนดทิศในการออกเดินทาง

การสิ้นสุดของบทบาทของนายฮ้อย บทบาทของนายฮ้อยเริ่มเสื่อมลง เนื่องมาจากการคมนาคมมีความสะดวกสบายขึ้น กล่าวคือ มีเส้นทางรถไฟผ่านจากภาคกลางสู่อีสาน การคมนาคมทางบกเริ่มมีความทันสมัยขึ้น มีการก่อสร้างถนนมิตรภาพ ถนนสายเอเชียพาดผ่านประเทศไทย จากภาคตะวันตกสู่ภาคอีสาน คนเริ่มนิยมทำการค้าขายโดยใช้รถไฟเป็นหลัก เพราะมีความสะดวกสบาย ประหยัดเวลาในการขนส่ง

แทนที่จะเดินเป็นคาราวานต้อนวัวควายไปขาย ก็เปลี่ยนมาเป็นต้อนขึ้นรถไฟไปขาย ก็จะสะดวกมากกว่า และในช่วงหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้ทำการสนับสนุนให้มีการคมนาคมทางบกอย่างเต็มที่ นี่เป็นสาเหตุที่ต้องทำให้นายฮ้อยเริ่มสูญหายไป

kasetakam 06

สรุป ภาคอีสานในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือในช่วงก่อนการคมนาคมจะมีความสะดวกมากขึ้น มีทางรถไฟ ทางรถยนต์ อาชีพการค้าขายการเป็นนายฮ้อยถือว่า มีความสำคัญต่อช่าวอีสานเป็นอย่างมาก เพราะเป็นอาชีพที่หาเงินได้งาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าครอบครัวใดที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นนายฮ้อย ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างดี อาจกล่าวได้ว่าเป็นอาชีพที่เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอีสานเลยก็ว่าได้ และนายฮ้อยแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าของชาวอีสานได้เป็นอย่างดี

แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียด้าย เนื่องจากระบบการค้าแบบนี้ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว นอกจากบทบาทของนายฮ้อยที่สะท้อนถึงเรื่องเศรษฐกิจของอีสานแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของคนอีสานได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ผีสางเทวดา ฤกษ์ยาม อะไรอีกมากมาย ซึ่งความเชื่อในเรื่องแบบนี้ก็ยังมีสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ตำนาน "นายฮ้อย" นักเลงโตแห่งทุ่งกุลาฯ

พ่อเฒ่าสัว อาสา วัย 73 ปี อดีตนายฮ้อยแห่งบ้านหาญฮี ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เล่าว่า ในช่วงที่เป็นนายฮ้อยจะต้อนวัว-ควายไปค้าขายที่จังหวัดชลบุรี โดยจะออกเดินทางภายหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว คือ ช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับ แต่ละครั้งประมาณ 3 เดือน ในกลุ่มนายฮ้อยจะมีการจัดลำดับของนายฮ้อย ตัวพ่อเฒ่าสัวเองเป็นนายฮ้อยที่อยู่กลุ่มของ "นายฮ้อยใหญ่" ชื่อ "นายฮ้อยดี นธีนาม" แต่ละครั้งจะรวมกลุ่มกันประมาณ 50 คน วัว-ควาย รวมๆ แล้วเป็นพันตัว จะมีการกำหนดจำนวนวัว-ควายที่แต่ละคนจะนำไป นายฮ้อยใหญ่จะนำไปได้ 20 ตัว นายฮ้อยลูกน้องจะนำไปได้คนละ 14 ตัว เป็นต้น

"ในช่วงนั้น นายฮ้อยเริ่มทำหน้าที่เป็นพ่อค้าแล้ว ต้องลงทุนซื้อวัว-ควายเอง ครั้งหนึ่งประมาณ 4,000 - 5,000 บาท ได้กำไรเที่ยวหนึ่งประมาณ 3,000 บาท ซึ่งก็ถือว่าเยอะมาก หากจะขาดทุนก็เพราะถูกขโมยวัว-ควาย ระหว่างทางเท่านั้น" อดีตนายฮ้อยสัว บอก

ความยากลำบากของการเดินทาง และเพื่อให้การเดินทางแต่ละครั้งสามารถขายวัว-ควาย ได้เงินกลับมาบ้าน "นายฮ้อย" จึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในการดูลักษณะสัตว์ที่เป็นมงคล-อัปมงคล หรือลักษณะสัตว์ที่เลี้ยงโตเร็ว มีความรู้เทคนิคในการเลี้ยงสัตว์ และการดูแลป้องกันรักษาโรคสัตว์ รวมทั้งการประเมินราคา และการต่อรองการค้าขายวัว-ควาย ด้วยบทบาทดังกล่าวคนในชุมชนจึงให้ความเชื่อถือเป็นภูมิปัญญาทางด้านนี้ของชุมชนตลอดมา

kasetakam 07

ประสงค์ ยมนัตถ์ หัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษาภูมิปัญญานายฮ้อยวัว-ควาย ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค (สกว.ภาค) กล่าวว่า จากการศึกษาบทบาทของนายฮ้อยวัว-ควาย ในแถบ อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า บทบาทของนายฮ้อยมีความเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมค่อนข้างมาก

นายฮ้อยนักเลงโต เป็นรุ่นแรก ช่วงปี พ.ศ. 2475 - 2505 นายฮ้อยรุ่นนี้ ภาษาชาวบ้านก็ต้องบอกว่า ติดจะเป็น "นักเลงโต" อยู่ในตัวพอสมควร สูงด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ มีประสบการณ์ในทางการค้า มีความเป็นผู้นำที่ผู้อื่นยอมรับ และให้เครดิตการซื้อขายวัว-ควาย จากเจ้าของเป็นอย่างดี จะต้องคุมกองทัพวัว-ควาย ลูกน้องอีกจำนวนมากไปขายยังเมืองล่าง (ภาคกลาง) และยังเป็นผู้ที่มีเครือข่ายนายฮ้อยด้วยกัน ที่พึ่งกันและกันตลอด มีประเพณีการไปยามเสี่ยว (เยี่ยมเพื่อน) ที่ต้องปฏิบัติตลอดเวลา กับเพื่อนเครือข่ายนายฮ้อยผู้ทำอาชีพค้าขายวัว-ควายด้วยกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แหล่งสินค้า ที่สำคัญที่สุด รู้จักเทคนิคการค้าขาย การต่อรองราคา

รุ่นต่อมาถือเป็นนายฮ้อยรุ่นกลาง อยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2505 - 2520 เป็นยุคการเปลี่ยนแปลงการค้าขายวัว-ควาย เริ่มมีถนนหนทางการคมนาคมสะดวก จึงไม่จำเป็นต้องไล่ต้อนไปขายที่ภาคกลาง แต่มีการใช้รถบรรทุก หรือไม่ก็จะมีพ่อค้าจากภาคกลางขึ้นมาซื้อแล้วขนไปขายเอง ทำให้บทบาทนายฮ้อยวัว-ควาย จำกัดบทบาทอยู่ในท้องถิ่นเป็นหลัก เปลี่ยนบทบาทเป็นการนำวัว-ควาย จากนอกพื้นที่เข้ามาขายในตลาดนัดวัว-ควาย และขายไปนอกพื้นที่ แต่เครือข่ายของนายฮ้อยด้วยกันเองก็ยังมีความจำเป็น และมีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องอยู่

kasetakam 08

ในขบวนการค้าขายของนายฮ้อยรุ่นนี้ เมื่อมีการซื้อขายวัว-ควาย จะมีการกำหนดจุดนัดพบกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นหรือที่มาของ "ตลาดนัดวัว-ควาย" ในท้องถิ่น นายฮ้อยรุ่นนี้ก็ยังเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ทั้งการดูลักษณะสัตว์ การเลี้ยงดูและรักษาโรคสัตว์ การค้าขายเน้นวัว-ควายที่นำไปใช้งานเป็นหลัก

สารคดีเงา : นายฮ้อยสู่นายทุน

"ความเจริญ" ผลกระทบภูมิปัญญาดั้งเดิม

แม้ว่า "นายฮ้อย" จะสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนอีสานมาเนิ่นนาน แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ภาพนายฮ้อยแบบดั้งเดิม อย่างนายฮ้อย "เคน" หรือนายฮ้อยยุคแรกๆ ก็เริ่มเลือนหายไป มีภาพของนายฮ้อยรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่

นายฮ้อย…อย่าตั๋วะเพิ่นเด้อ… "

ถ้อยคำหยอกเหย้านี้จะได้ยินเสมอเมื่อ นายฮ้อยรุ่นใหม่ หรือ นายฮ้อยเหยียบเชือกขาย (ซื้อวัวควายมา ขายไปเอากำไรง่ายๆ ในตลาดนัด) ไปที่ไหนๆ หรือพูดจาในเรื่องใดๆ ภาพลักษณ์ของนายฮ้อยรุ่นนี้ คือ ความกะล่อน เจ้าเล่ห์ สิ่งเดียวที่พวกเขาคิดคำนึงถึง คือ "กำไร" จากการซื้อ-ขายวัว-ควายเป็นหลัก เพราะนายฮ้อยรุ่นนี้จะซื้อขายวัว-ควายในตลาดนัดเป็นหลักนั่นเอง

นายฮ้อย จำลอง สีแดง นายฮ้อยรุ่นเหยียบเชือกขาย วัย 51 ปี ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า นายฮ้อยรุ่นเขา หรือ อย่างเขา "ขี้ตั๋วะ" (โกหก เจ้าเล่ห์) จริงๆ พร้อมกับเล่าประสบการณ์ประกอบเป็นตัวอย่างว่า "ตอนผมอายุ 16 ปี เริ่มเป็นนายฮ้อย ซื้อควายเผือก ราคา 350 บาท และก็จูงไปขายต่อ ก่อนขายก็ไปพูดจาโกหกเขาว่า 'โอ้โห ควายตัวนี้ไถนาเก่งมาก ผมเมื่อยเดินตามไม่ทัน ผมอยากเปลี่ยนกับควายของพ่อเฒ่า แกก็คิดว่าเราเป็นเด็กคงโกหกไม่เป็น แกก็เลยเอาเลย เราก็ขอแถมเงินจากแกอีก 50 บาทแกก็ให้มา เป็นอันว่าเราได้ควายตัวใหม่เพิ่มเงินมาอีกด้วย'

"…บางทีไปซื้อควายกับเจ้าของที่เป็นหญิง ควายเขาสมบูรณ์ดี ผมดูก็รู้ว่าขายได้เป็นหมื่น แต่จะกดราคาเขาแค่ 7,000 ก็บอกว่าควายแม่ใหญ่ขาถก (ขาเป๋ ขากระเผลก เพราะความไม่แข็งแรง) แล้วเราก็ให้ลูกชายจูงไป เราเดินตามก็แอบเตะขา ควายก็เสียหลักเราก็บอกว่านี่ไง ขาถกเห็นๆ แม่ใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้ ตามไม่ทัน ก็ยอมขายให้ ก็โกหกอยู่เป็นประจำ"

kasetakam 09

หากดูผิวเผิน อาจดูเหมือนว่า "นายฮ้อย" กับ "พ่อค้าคนกลาง" ในปัจจุบันต่างก็ทำหน้าที่เหมือนๆ กัน แล้วเหตุใดนายฮ้อยจึงยังคงมีบทบาทอยู่ในตลาดค้าขายวัวควายอีสานอยู่ได้

นายฮ้อยจำลอง กล่าวว่า "พ่อค้าแค่จับวัว-ควายก็เอาไปขาย แต่นายฮ้อยรู้จักวัว-ควายทุกอย่าง ชาวบ้านที่เลี้ยงใครต้องเข้าตลาดนัดเอาวัว-ควายไปขาย ทุกคนในหมู่บ้านต้องไปหานายฮ้อย ให้นายฮ้อยดูวัว-ควายให้ว่า มันจะได้ราคาเท่าไหร่ ตรงนี้ละที่ความเป็นนายฮ้อยจะได้เปรียบในปัจจุบัน เพราะถือว่าอย่างน้อยก็มีความชำนาญรู้จักการตีราคา ชาวบ้านจะขายให้นายฮ้อย และนายฮ้อยจะไปขายให้พ่อค้าต่ออีกที"

ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร : ลูกผู้ชายควายงาม

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)