คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
พระธรรมวิสุทธิมงคล ฉายา ญาณสมฺปนฺโน หรือที่นิยมเรียกกันว่า หลวงตามหาบัว หรือ หลวงตาบัว (12 สิงหาคม พ.ศ. 2456 - 30 มกราคม พ.ศ. 2554) เป็นที่รู้จักในฐานะพระนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานผู้มีปฏิปทาที่มั่นคง แน่วแน่ เด็ดขาด และจริงจัง เป็นศิษย์และยึดแนวทางปฏิบัติของพระป่าหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
นามเดิมของท่านคือ บัว โลหิตดี เกิดวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2456 ณ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี มีพี่น้องทั้งหมด 16 คน ในวัยเด็กท่านเป็นคนที่เลื่อมใสในศาสนาพุทธ โดยได้ทำบุญตักบาตรกับผู้ใหญ่อยู่เสมอ มารดาของท่านทำบัวตกน้ำ เลยให้คนในหมู่บ้านช่วยกันหาดอกบัวกันอลหม่าน จนหลวงตาเองหลังจากกำเนิดก็ได้คลานเตาะแตะไปหาดอกบัว เลยได้ชื่อว่าเป็น หลวงตามาหาบัว (เรื่องเล่าในอดีต...)
เมื่อท่านอายุครบอุปสมบทแล้ว บิดาและมารดาของท่านปรารถนาให้ท่านบวชด้วยหวังพึ่งใบบุญ แต่ท่านก็ไม่ตอบรับ ทำให้บิดาและมารดาของท่านถึงกับน้ำตาไหล ท่านจึงกลับพิจารณาออกบวชอีกครั้ง ที่สุดจึงตัดสินใจออกบวช โดยท่านกล่าวกับมารดาว่า "เรื่องการบวช จะบวชให้ แต่ว่าใครจะมาบังคับไม่ให้สึกไม่ได้นะ บวชแล้วจะสึกเมื่อไหร่ก็สึก ใครจะมาบังคับว่าต้องเท่านั้นปี เท่านี้เดือนไม่ได้นะ" ซึ่งมารดาก็ตกลงตามที่ท่านขอ
ท่านอุปสมบทเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ที่วัดโยธานิมิตร ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยได้ฉายานามว่า "ญาณสมฺปนฺโน" แปลว่า "ถึงพร้อมแล้วด้วยญาณ" ท่านมีความเคารพเลื่อมในเรื่องการภาวนาและกรรมฐาน ท่านได้สอบถามวิธีการภาวนาจากพระอุปัชฌาย์ของท่าน และได้รับการแนะนำให้ภาวนาว่า "พุทโธ" ท่านจึงปฏิบัติภาวนาและเดินจงกรมเป็นประจำ
ระหว่างนั้นท่านเริ่มเรียนหนังสือทางธรรม และศึกษาเกี่ยวกับพุทธประวัติ รวมทั้งพุทธสาวก โดยหลังจากพุทธสาวกเหล่านั้นได้รับพระโอวาทจากพระพุทธเจ้าแล้ว จะเดินทางไปบำเพ็ญในป่าอย่างจริงจังจนสำเร็จอรหันต์ ทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใสและตั้งใจปฏิบัติเพื่ออรหัตผลให้ได้ จึงตั้งสัจอธิษฐานว่า "เมื่อเรียนจบเปรียญธรรม 3 ประโยคแล้ว จะออกปฏิบัติกรรมฐานโดยถ่ายเดียว"
อย่างไรก็ตาม ท่านยังสงสัยว่า ถ้าท่านดำเนินตามแนวทางปฏิบัติตามพระสาวกเหล่านั้น จะสามารถบรรลุถึงจุดที่ท่านเหล่านั้นบรรลุหรือไม่ และมรรคผลนิพพานจะมีอยู่เหมือนครั้งพุทธกาลหรือไม่ ความสงสัยเหล่านี้ทำให้ท่านมุ่งหวังได้พบกับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งท่านเชื่อมั่นว่าท่านอาจารย์มั่นจะสามารถไขปัญหานี้ให้ท่านได้
ท่านเดินทางศึกษาพระปริยัติในหลายแห่ง อาทิ วัดสุทธจินดาวรวิหาร จังหวัดนครราชสีมา, วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) เป็นอาจารย์สอนปริยัติธรรม จากนั้น ท่านเดินทางไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ เวลานั้นพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน ได้อาราธนานิมนต์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ขอให้ไปจำพรรษาที่จังหวัดอุดรธานี พระอาจารย์มั่นรับนิมนต์นี้ และได้เดินทางมาพักที่วัดเจดีย์หลวงชั่วคราว จึงทำให้ท่านได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ครั้งแรก ท่านศึกษาทางปริยัติที่วัดแห่งนี้ จนสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 3 ประโยคใน พ.ศ. 2484 นับเป็นปีที่ท่านบวชได้ 7 พรรษา
หลังสำเร็จการศึกษาทางปริยัติ ท่านเดินทางไปจังหวัดนครราชสีมาเพื่อปฏิบัติกรรมฐานได้ระยะหนึ่ง จึงเดินทางไปจังหวัดสกลนคร โดยตั้งใจไปถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่น โดยพระอาจารย์มั่นรับท่านเป็นลูกศิษย์และได้พูดขึ้นว่า
...ท่านมหา มรรคผล นิพพานอยู่ที่ไหน? ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ฟ้าอากาศเป็นฟ้าอากาศ แร่ธาตุต่างๆ เป็นของเขาเอง เขาไม่ได้เป็นมรรคผล นิพพาน เขาไม่ได้เป็นกิเลส กิเลสจริงๆ มรรคผลจริงๆ อยู่ที่ใจ ขอให้ท่านกำหนดจิตจ่อด้วยสติที่หัวใจ ท่านจะเห็นความเคลื่อนไหวของทั้งธรรม ของทั้งกิเลสอยู่ภายในใจ แล้วขณะเดียวกัน ท่านจะเห็นมรรคผลนิพพานไปโดยลำดับ... "
— มั่น ภูริทัตโต
คำกล่าวนี้ทำให้ท่านเชื่อมั่นว่า มรรคผลนิพพานมีจริงและเชื่อมั่นพระอาจารย์มั่นที่ไขข้อข้องใจได้ตรงจุด ท่านรักษาระเบียบวินัยข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ อย่างเคร่งครัด หลังจากศึกษาอยู่กับพระอาจารย์มั่นในพรรษาที่ 2 ท่านเริ่มหักโหมความเพียรในการปฏิบัติกรรมฐาน จนผิวหนังบริเวณก้นช้ำระบมและแตกในที่สุด พระอาจารย์มั่นเตือนว่า "กิเลสมันไม่ได้อยู่กับร่างกายนะ มันอยู่กับจิต" ซึ่งท่านก็น้อมรับคำเตือนของพระอาจารย์มั่นทันที
อย่างไรก็ตาม ด้วยจริตนิสัยของท่านเรื่องการภาวนานั้น ถูกกับการอดอาหารเพราะทำให้ธาตุขันธ์เบาสบาย การตั้งสติทำสมาธิภาวนาก็ง่าย และช่วยให้การบำเพ็ญจิตภาวนาเจริญขึ้นได้เร็วกว่าขณะที่ออกฉันตามปกติ แม้มีผู้คัดค้านก็ไม่ทำให้ท่านเปลี่ยนใจได้ ด้วยท่านพิจารณาแล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุอดอาหารเพื่อบำเพ็ญจิตตภาวนาได้ แต่ไม่ใช่เพื่อการโอ้อวดหรืออดเพียงอย่างเดียวโดยไม่ฝึกฝนด้านจิตภาวนาเลย ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น ท่านจึงใช้อุบายนี้เพื่อบำเพ็ญจิตตภาวนาเรื่อยมา
ในพรรษาที่ 10 ท่านฝึกสมาธิจนมั่นคงหนักแน่นและสามารถอยู่ในสมาธิได้เท่าไหร่ก็ได้ ท่านมีความสุขอย่างยิ่งจากที่จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ท่านติดอยู่ในขั้นสมาธิอยู่ถึง 5 ปี โดยไม่ก้าวหน้าสู่ขั้นปัญญา จนกระทั่ง พระอาจารย์มั่นจึงให้อุบายเพื่อให้ท่านออกพิจารณาทางด้านปัญญา และเตือนท่านว่า
...สมาธิของพระพุทธเจ้า สมาธิต้องรู้สมาธิ ปัญญาต้องรู้ปัญญา อันนี้มันเอาสมาธิเป็นนิพพานเลย มันบ้าสมาธินี่ สมาธินอนตายอยู่นี่หรือเป็นสัมมาสมาธิ..."
ท่านจึงออกจากสมาธิและพิจารณาทางด้านปัญญาต่อไป ท่านได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 แรม 14 ค่ำ เดือน 6 เวลา 5 ทุ่มตรง บนหลังเขา ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร
ด้วยเหตุที่โยมมารดาของท่านล้มป่วยเป็นอัมพาต ท่านจึงพาโยมมารดากลับมารักษาตัวที่บ้านตาดอันเป็นบ้านเกิด หลังรักษาตัวหายขาดแล้ว ท่านพิจารณาเห็นว่า โยมมารดาของท่านก็อายุมากแล้ว จะพาไปอยู่ในถิ่นทุรกันดารเพื่อการปลีกวิเวกตามนิสัยของท่าน จะทำให้โยมมารดาลำบาก ประจวบกับเวลานั้นชาวบ้านตาดมีความประสงค์ให้ท่านตั้งวัดขึ้นที่นั่นเช่นกัน โดยชาวบ้านร่วมกันถวายที่ดินให้เป็นที่ตั้งวัด ดังนั้น วัดป่าบ้านตาด จึงเริ่มก่อตั้งขึ้น ณ หมู่บ้านบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2513 โดยให้ชื่อว่า "วัดเกษรศีลคุณ"
ท่านเป็นพระภิกษุคณะธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุดรธานี เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดป่าบ้านตาด (วัดเกษรศีลคุณ) เป็นวิปัสสนาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย ศิษย์ของพระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต ซึ่งมีโอกาสอุปฐากรับใช้หลวงปู่มั่นในช่วงปัจฉิมวัย และเป็นผู้หนึ่งที่ได้บันทึกประวัติของหลวงปู่มั่นโดยละเอียดในเวลาต่อมา
หลวงตามหาบัวเป็นที่รู้จักในฐานะพระนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ผู้มีปฏิปทาที่มั่นคง แน่วแน่ เด็ดขาด และจริงจัง บรรดาศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่มั่นต่างนับถือกันว่า ท่านเป็นลูกศิษย์องค์หนึ่งที่มีปฏิปทาที่คล้ายคลึงกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต การกล่าวขวัญถึงท่านในหมู่ผู้ศรัทธามีหลายเรื่องค่อนไปในเชิงอภินิหาร เช่น การล่วงรู้วาระจิตของบุคคลอื่น การที่เศษผม เศษเล็บ และชานหมากของท่านกลายเป็นพระธาตุไปตั้งแต่ครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่เป็นต้น
หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2540 หลวงตามหาบัวได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นทั้งในและนอกประเทศ จากการที่ท่านได้ดำเนินการทอดผ้าป่าทองคำและเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ชื่อ "โครงการผ้าป่าช่วยชาติ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน" เพื่อใช้เป็นทุนสำรองของประเทศไทย ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ได้ดำเนินการมาโดยตลอดในช่วงปัจฉิมวัยของท่าน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปัจฉิมวัยนี้เองได้มีเหตุการณ์ที่ทำให้ท่านตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่านเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองจากนักวิชาการ และนักสื่อสารมวลชนจำนวนหนึ่ง เช่น ประเด็นการคัดค้านการรวมบัญชีเงินทุนสำรองของประเทศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ประเด็นการคัดค้านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสงฆ์ฉบับใหม่ และการเทศนาวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณ ชินวัตร ครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีช่วง พ.ศ. 2548 เป็นต้น
พระธรรมวิสุทธิมงคล อาพาธลำไส้อุดตัน และมีปอดติดเชื้อมานานกว่า 6 เดือน คณะแพทย์ถวายการรักษาอย่างต่อเนื่อง และมีการสร้างกุฏิปลอดเชื้อให้แก่พระเดชพระคุณ แต่อาการอาพาธไม่ดีขึ้น จนเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554 เวลา 02.49 น. ตรวจพบสมองของพระเดชพระคุณหยุดทำงานใน ต่อมา ตรวจพบม่านตาขยาย ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ออกซิเจนในเลือดเป็น 0 จากนั้นเวลา 03.53 น. ความดันโลหิตมีค่าเป็น 0 หัวใจหยุดเต้นและหยุดการหายใจ จึงเป็นอันมรณภาพ สิริอายุได้ 97 ปี 5 เดือน 18 วัน 77 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเป็นประธานพิธีถวายน้ำหลวงสรงศพพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) และทรงวางพวงมาลาหลวง พวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พวงมาลาส่วนพระองค์ และพวงมาลาของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานโกศโถและทรงรับพระพิธีธรรมไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ 7 วัน
และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานบำเพ็ญพระราชกุศล 1 วัน โดยโปรดให้พระเทพสารเวที (บุญยนต์ ปุญฺญาคโม) ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้แทนพระองค์เดินทางมาร่วมประกอบพิธีธรรม จากนั้นจึงเปิดให้พ่อค้า ประชาชน ส่วนราชการต่างๆ เป็นเจ้าภาพตลอดไป
ส่วนพินัยกรรมที่ท่านเขียนตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 นั้น สรุปความได้ว่า ให้นำทองคำที่ได้รับบริจาคไปหลอม ส่วนเงินสดที่ได้รับบริจาคให้นำไปซื้อทองคำ แล้วนำมาหลอมรวมและมอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นทุนสำรองเงินตราของฝ่ายบำบัดธนาคารแห่งประเทศไทย และไม่มีเจตนาให้ใช้ในงานอื่น โดยตั้งพระสุดใจ ทนฺตมโน รองเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด เป็นผู้จัดการมรดก รวมทั้งตั้งคณะกรรมการจัดงานศพและจัดการดูแลทรัพย์สินทั้งปวงอีก 9 คน
การสงเคราะห์ด้านสาธารณสุขนั้น เป็นสิ่งที่ท่านเอาใจใส่มาโดยตลอด โดยท่านสอนเสมอว่า "มนุษย์เราไม่ว่าจะยากดีมีจนล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน ดังนั้นท่านจึงไม่ให้ประมาทกัน ควรช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพราะหากมนุษย์ไม่ช่วยสงเคราะห์มนุษย์ด้วยกันแล้วใครจะช่วย เรื่องความเจ็บป่วยนั้น เจ็บไปแค่หนึ่งแต่ครอบครัวก็ป่วยด้วยความห่วงใยอีกเท่าไหร่ ดังนั้น จึงควรเห็นใจกัน" ท่านมักออกเยี่ยมโรงพยาบาลต่างๆ เป็นประจำ พร้อมนำข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องใช้ต่างๆ ไปมอบให้เสมอ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารท่านจะให้ความช่วยเหลือทุกด้านทั้งอาหารการกินและเครื่องมือแพทย์ ส่วนโรงพยาบาลที่อยู่บริเวณอู่ข้าวอู่น้ำ ท่านจะช่วยเหลือทางด้านเครื่องมือแพทย์ไป ก่อนสงเคราะห์ด้านปัจจัย ท่านจะพิจารณาถึงความจำเป็นของเครื่องมือ รวมถึงกิริยามารยาทของหมอพยาบาลในการปฏิบัติต่อผู้ป่วยว่าเป็นอย่างไร จะสามารถนำเครื่องมือที่ท่านมอบให้ไปใช้เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วยได้จริงหรือไม่ และเมื่อมีโอกาสอันควร ท่านจะแสดงธรรมเตือนหมอพยาบาลและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอยู่เสมอ
ท่านให้การสงเคราะห์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในหลายๆ ด้าน ทั้งให้ปัจจัยซื้ออุปกรณ์การแพทย์ รถพยาบาล ที่ดิน สร้างและปรับปรุงตึกของโรงพยาบาล เป็นต้น รวมทั้งตั้งกองทุนและมูลนิธิหลายแห่ง เพื่อช่วยเหลือคนพิการหรือผู้ป่วยไร้ยาก เช่น กองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากจนและไร้ที่พึ่ง มูลนิธิรวมเมตตามหาคุณ นอกจากนี้ ท่านยังให้ความอนุเคราะห์สถานพยาบาลต่างๆ กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่าและลาวด้วย
เนื่องจากท่านได้พิจารณาว่าหน่วยงานราชการต่างๆ มีหน้าที่โดยตรงในการช่วยเหลือ บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน ดังนั้น เมื่อหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น สถานีตำรวจภูธร สถานีรถไฟจังหวัด ทัณฑสถานหญิง กรมราชทัณฑ์ มาขอความช่วยเหลือ ถ้าท่านพิจารณาเห็นสมควร ท่านก็จะช่วยเหลือเต็มที่ทั้งอาหารการกิน เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ รวมถึง การก่อสร้าง เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ มากราบท่าน ท่านก็มักแสดงธรรมเพื่อให้ข้อคิดแก่เจ้าหน้าที่เหล่านั้น เช่น อย่ายึดติดลาภยศสรรเสริญ อย่ากินบ้านกินเมือง อย่าเห็นแก่ตัวให้เห็นประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง
หรือที่เรียกทั่วไปว่า โครงการผ้าป่าช่วยชาติ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2540 เนื่องจากท่านเดินทางไปแจกสิ่งของตามโรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดาร ทำให้ทราบว่าโรงพยาบาลต่างๆ มีหนี้สินเป็นอันมาก ซึ่งเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เปลี่ยนไป อันเป็นผลมาจากวิกฤติทางการเงินของประเทศ ท่านรู้สึกสลดใจเป็นอันมาก จึงดำริที่จะช่วยชาติโดยน้อมนำให้ชาวไทยทั่วประเทศร่วมกันบริจาคทองคำ เงินดอลลาร์ เงินสกุลต่างประเทศ และเงินบาท เพื่อช่วยชาติบ้านเมืองที่กำลังประสบสภาวะเศรษฐกิจ และสังคมตกต่ำให้ฟื้นฟูและผ่านพ้นไปด้วยดี โดยเงินทองที่ได้มาจากการบริจาคนี้ จะยกให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อนำเข้าบัญชีฝ่ายออกบัตร (คลังหลวง) ทั้งหมด
โครงการช่วยชาติได้รับเงินบริจาคเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2541 เป็นเงิน 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ และเริ่มดำเนินโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2541 โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นประธานเปิดโครงการ ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553 ได้มอบเงินเข้าคลังหลวงรวมทั้งสิ้น 15 ครั้ง รวมเป็นทองคำแท่ง 967 แท่ง น้ำหนักรวม 12,079.8 กิโลกรัม หรือ 388,000 ออนซ์ ส่วนเงินตราต่างประเทศประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท
หลัง หลวงตามหาบัว มรณภาพโครงการช่วยชาติยังดำเนินต่อ และมอบเงินเข้าคลังหลวงครั้งที่ 16 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย เป็นทองคำแท่ง 73.64 แท่ง น้ำหนัก 920.5 กิโลกรัม ดังนั้น จึงมีทองคำแท่งบริจาคเข้าคลังหลวงรวม 1,040 แท่ง น้ำหนัก 13,000.05 กิโลกรัม เป็นเงิน 19,188,413,280 บาท และเมื่อรวมกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่นำเข้าคลังหลวงแล้ว 10,214,600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 306,965,073.36 บาท จะมีมูลค่า 19,495,378,353 บาท
ท่านมีผลงานการประพันธ์ที่รวบรวมเป็นหนังสือหลายเล่ม โดยเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับอัตชีวประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เช่น ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, ปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ หนังสือเกี่ยวกับธรรมะขั้นพื้นฐานสำหรับผู้เริ่มต้นปฏิบัติ อาทิ ศาสนธรรมปลุกคนให้ตื่น, แว่นส่องธรรม, ธัมมะในลิขิต หนังสือเกี่ยวกับธรรมะขั้นสูงสำหรับผู้ฝึกจิตตภาวนาเพื่อมรรคผลนิพพานโดยเฉพาะ อาทิ ก้าวเดินตามหลักศาสนธรรม, รากแก้วของศาสนา, แสวงโลก แสวงธรรม นอกจากนี้ ยังมีหนังสือทั่วไปอีก เช่น รักชาติไทย ส่งเสริมสินค้าไทย, พระพุทธศาสนารักษาชาติไทย และพระมหากษัตริย์คือหัวใจของชาติไทย เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานต่างๆ ที่แต่งหนังสือชีวประวัติของท่าน อาทิ หยดน้ำบนใบบัว จัดทำขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเรียบเรียงจากเทศนาธรรมของพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) ในวาระต่างๆ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนแก่สถานศึกษาทุกระดับชั้น, ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์ จัดทำขึ้นโดยวัดป่าบ้านตาด ซึ่งเป็นหนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงถวายแด่พระสรีระสังขารพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)
มีบันทึกจดหมายเป็นลายมือหลวงตามหาบัว ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2519 ถึงลูกศิษย์ที่ป่วยหนักใกล้วาระสุดท้ายแห่งชีวิต ชื่อ คุณเพาพงา วรรธนะกุล ข้อความบางส่วนดังนี้
พญามัจจุราชเตือน และบุกธาตุขันธ์ของสัตว์โลกตามหลักความจริงของเขา เราต้องต้อนรับการเตือน และการบุกของเขาด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรไม่ถอยหลัง และขนสมบัติ คือ มรรค ผล นิพพาน ออกมาอวดเขาซึ่งๆ หน้า ด้วยความกล้าตาย โดยทางความเพียร เขากับเราที่ถือว่าเป็นอริศัตรูกันมานาน จะเป็นมิตรกันโดยความจริงด้วยกัน ไม่มีใครได้ใครเสียเปรียบกันอีกต่อไปตลอดอนันตกาล "
ซึ่งในระหว่างที่เธอ (คุณ เพาพงา วรรธนะกุล) ไปอยู่วัดเพื่อปฏิบัติธรรมในวาระสุดท้ายของชีวิต หลวงตามหาบัวท่านได้เมตตาเทศน์สอนในแง่ของข้อปฏิบัติ ซึ่งต่อมา หลวงปู่ปัญญา ปัญญาวัฑโฒ (พระอาจารย์ปีเตอร์ จอห์น มอร์แกน Peter J. Morgan) ผู้ทำหน้าที่อัดเทปเทศน์หลวงตา ได้รวบรวมไฟล์เสียง เป็นธรรมเทศนาชื่อว่า ธรรมะชุดเตรียมพร้อม ซึ่งต่อมามีการถอดความเป็นหนังสือด้วย
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หรือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นพระภิกษุฝ่ายวิปัสสนาธุระสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์) มีนามเดิมว่า เทสก์ เรี่ยวแรง กำเนิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2445 (ปีขาล) ในครอบครัวชาวนา เป็นบุตรของนายอุส่าห์ นางครั่ง เรี่ยวแรง ณ บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
เมื่อเป็นเด็กอายุได้ 9 ขวบ ได้เรียนหนังสือภาษาไทยกับพี่ชายซึ่งบวชเป็นพระกับเด็กๆ ด้วยกันกว่า 10 คน และได้เรียนหนังสือประถม ก. กา มูลบทบรรพกิจ เรียนอยู่ปีกว่าพออ่านได้บ้าง แต่ยังไม่คล่อง แต่หนังสือสำหรับพระเณรเรียนในสมัยนั้น ซึ่งเขาเรียกว่า หนังสือธรรม (จารเฉพาะธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า) อ่านได้คล่อง ต่อมาพี่ชายสึกจากพระไม่มีใครสอนเลยเลิกเรียนกันทั้งหมด แล้วได้ออกจากวัด ไปช่วยงานบิดามารดา จนอายุราว 13-14 ปี เกิดนิมิตความฝันว่า พระธุดงค์ไล่ตีด้วยแส้วิ่งหนีเอาตัวรอด กระทั่งวิ่งเข้าห้องนอนร้องให้ บิดามารดาช่วยท่านทั้งสองก็เฉยอยู่เหมือนกับไม่มีเรื่องอะไร พระธุดงค์หวดด้วยแส้สะดุ้งตื่นเหงื่อโชกทั้งตัว ปรากฏรอยแส้ยังเจ็บแสบอยู่ หลวงปู่นึกว่าเป็นจริง ตื่นขึ้นมาจึงรู้ว่าเป็นความฝัน ต่อนั้นมาหลวงปู่ได้มีความคิดถึงเรื่องอาชีพของมนุษย์ที่กระทำกันอยู่ตั้งต้นแต่ฝนตก ดินชุ่มฉ่ำ ลงมือทำนา และเรื่องอะไรจิปาถะ ตลอดถึงปีใหม่ ลงมือทำนาอีก อย่างนี้อยู่ตลอดชีวิต มาคิดเห็นว่าเกิดมานี้แสนทุกข์ลำบาก จริงๆ ทำงานไม่มีเวลาหยุดยั้ง ซึ่งแต่ก่อนมาหลวงปู่ไม่เคยนึกคิดอย่างนี้เลยสักที มีแต่มัวเมาด้วยการเพลิดเพลินตามประสาคนชนบท
เมื่ออายุ 18 ปี มีโอกาสติดตาม พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ออกธุดงค์ และบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านเค็งใหญ่ โดยมีพระอาจารย์ลุย เป็นอุปัชฌาย์ ต่อมาไป ศึกษาธรรมที่วัดสุทัศนาราม เมืองอุบลฯ และเรียนหนังสือที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม ในปัจจุบัน) จนกระทั่งวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ได้อุปสมบท ณ พัทสีมาวัดสุทัศนาราม โดยมีพระมหารัฐเป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ต่อมาได้ออกธุดงคไปกับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้มีโอกาสวาสนากราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ทำให้มีกำลังจิต กำลังใจในการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญความเพียรอย่างยิ่ง
ได้ออกเดินรุกขมูลไปในที่ต่างๆ เดินตัดลัดป่าดงมูลและดงลิงซึ่งเลื่องลือในสมัยนั้นว่าเป็นป่าช้า ดงเสือ ผ่านจังหวัดร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ตลอด ถึงจังหวัดอุดรธานี หลวงปู่ได้ผจญภัยอันตรายและความยากลำบากต่างๆ แต่ก็ได้รับรสชาติของการออกเที่ยวรุกขมูล จนกระทั่ง เดินทางถึงบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้พบท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อยู่ ณ ที่นั่น ได้ เข้าฟังธรรมเทศนาจากท่านได้รับความชื่อใจสงบสบายดี ครั้งสมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตไปพำนักทางภาคเหนือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้จาริกธุดงค์กับพระอาจารย์อ่อนสีไปกราบท่านอาจารย์ใหญ่ที่ป่าเมี่ยง ดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่ และได้ปฏิบัติธรรมในภาคเหนือ ถิ่นมูเซอร์ และมาโปรดสาธุชนบริเวณจังหวัดลำพูน
จนกลับมาภาคอีสาน พำนักที่วัดอรัญญวาสี ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ปี พ.ศ. 2492 ไปเยี่ยมหลวงปู่มั่นที่อาพาธ ที่วัดบ้านหนองผือ นาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนกระทั่งท่านพระอาจารย์ใหญ่ละสังขาร ต่อมาปี พ.ศ. 2493 ท่านไปจำพรรษาที่จังหวัดภูเก็ตและเผยแผ่ศาสนธรรมในภาคใต้ร่วมกับหมู่คณะ
ที่จังหวัดภูเก็ต หลวงปู่ได้ผจญภัยอย่างร้ายแรง โดยพระท้องถิ่นเขาไม่อยากให้อยู่ ถูกเผากุฏิบางแห่ง จนกระทั่งถูกปาด้วยก้อนอิฐ และขับไล่โดยประการต่างๆ ทางเจ้าคณะจังหวัดพังงาได้ขับไล่ให้หนีจากท้องถิ่นที่เขาปกครอง หลวงปู่ได้พยายามพูดความจริงให้ฟังว่า หลวงปู่มาเพื่ออบรมศีลธรรมและเผยแพร่ศาสนาอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง มิได้มาเบียดเบียนใคร ต่อมาผู้ช่วยสังฆมนตรีได้มีหนังสือไปต่อว่าเจ้าคณะจังหวัดพังงาด้วยประการต่างๆ เรื่องจึงสงบลง
หลวงปู่ได้ไปอยู่จังหวัดพังงานหนึ่งพรรษา ต่อ มาได้ขยับมาอยู่ที่เกาะภูเก็ต กระทั่งได้ 15 พรรษา จึงได้ลาญาติโยมกลับมาภาคอีสาน การไปอยู่เกาะภูเก็ตเป็นเหตุให้พระท้องถิ่น และญาติโยมเปลี่ยนสภาพไปหลายอย่าง โดยเฉพาะการเทศนาและการบริหาร นับว่าเป็นประโยชน์แก่พระท้องถิ่นมาก ตามประเพณีเดิม ชาวบ้านเขาเข้าหาพระและกราบพระต้องนั่งขัดสมาธิ (ขัด-สะ-หมาด) หลวงปู่ได้ไปสอนให้ทำความคารวะโดยให้นั่งพับเพียบทำให้เรียบร้อยดีมาก หลวงปู่ได้สละทุกอย่างเพื่อประโยชน์แก่ชนชาวภูเก็ตและจังหวัดพังงาดังกล่าวแล้ว โดยพำนักที่ภูเก็ต พังงา และกระบี่ นานถึง 15 ปี ก่อนกลับมาพักจำพรรษาที่ถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร
เมื่อกลับมาภาคอีสาน หลวงปู่พิจารณาเห็นว่าได้แก่ชรา เดินรุกขมูลมามากแล้ว ควรหาที่พักทำความเพียรภาวนาวิเวกเฉพาะตัว และเห็นว่าที่ "วัดหินหมากเป้ง" อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บรรยากาศดีเหมาะแก่การเจริญธรรมสัมมาปฏิบัติ จึงได้เข้ามาอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ หลวงปู่ได้พัฒนาวัดให้เจริญไป เรื่อยๆ จนกระทั่งญาติโยมทางกรุงเทพฯ และหมู่บ้านใกล้เคียงรู้จัก เข้าไปสนับสนุนช่วยกันทำถาวรวัตถุ จนสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงยกย่องให้เป็น "วัดพัฒนาตัวอย่าง" การก่อสร้างวัดหรือถาวรวัตถุนี้ คำว่า "ขอ" หรือ "เรี่ยไร" ไม่เคยออกจากปากของหลวงปู่แม้แต่คำเดียว สร้างอะไรขึ้นมาก็มีแต่ญาติโยมผู้มีศรัทธาบริจาคให้ทั้งนั้น นอกจากวัดหินหมากเป้งแล้ว ยังมีวัดสาขาของวัดหินหมากเป้งอีก คือ "วัดเทสรังสี" และ "วัดลุมพินี"
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นสมณะผู้สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตรอันงดงามยิ่ง เป็นผู้นำศรัทธาในการอบรมสั่งสอนธรรมและนำสร้างศาสนสถานเพื่อการจรรโลงพระพุทธศาสนาหลายแห่งในถิ่นแถบอีสาน เป็นปูชนียาจารย์ของชนทุกระดับชั้น
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ให้ธรรมโอวาทแก่พุทธศาสนิกชนมากมาย เช่น
โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ เอกาหํ ชีวิตํ เสยุโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ
แปลว่า บุคคลใดมีชีวิตอยู่ร้อยปี แต่เขามิได้พิจารณาเห็นความเกิดดับ (ของอัตภาพนี้) ผู้นั้นสู้ผู้เขามีชีวิตอยู่วันเดียว แต่พิจารณา เห็นความเกิดความดับไม่ได้ (ธรรมเทศนาเรื่องวันคืนล่วงไปๆ)
ในปัจฉิมวัยท่านไปพำนักที่วัดถ้ำขาม และละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2537 เวลาประมาณ 21.45 น สิริรวมอายุได้ 93 ปี 71 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานหีบทองทึบ และทรงรับงานบำเพ็ญกุศลอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ พิธีพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี จัดขึ้นที่วัดหินหมากเป้ง นับเป็นงานพระราชทานเพลิงศพพระเถราจารย์ครั้งประวัติศาสตร์
และในปัจจุบันวันที่ 17 ธันวาคม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะให้ผู้แทนพระองค์นำแจกันดอกไม้วางหน้าพระอัฐิหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ณ วัดหินหมากเป้ง เป็นประจำทุกปี
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นพระเถระในสายพระป่าในประเทศไทยอีกท่านหนึ่ง ที่ได้รับการเคารพและยกย่องในปฏิปทาของท่าน การเป็นผู้นำและนักพัฒนาที่มองการณ์ไกลทำให้ท้องถิ่นทุรกันดารมากมายได้รับการพัฒนาในทุกด้าน ทั้งเรื่องสุขอนามัยในชุมชน อาชีพการทำมาหากินของชาวบ้าน
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ปีกุน ตรงกับวันที่ 20 สิงหาคม 2442 ที่บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ในตระกูล “สุวรรณรงค์” เจ้าเมืองพรรณานิคม บิดาของท่านคือ เจ้าไชยกุมมาร (เม้า) ผู้เป็นหลานปู่ของ พระเสนาณรงค์ (นวล) และหลานอาของ พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองพรรณานิคมคนที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับ มารดาของท่านชื่อ นุ้ย เป็นบุตรีของหลวงประชานุรักษ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา มีอยู่ทั้งหมด 8 คน ท่านเป็นบุตรลำดับที่ 5 พระอาจารย์ฝั้น ครั้งวัยเยาว์มีความประพฤติเรียบร้อย นิสัยโอบอ้อมอารี ขยันหมั่นเพียร อดทนต่ออุปสรรค ช่วยเหลือกิจการงานของบิดา มารดา โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก
ท่านเข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาที่ โรงเรียนวัดโพธิ์ชัย บ้านม่วงไข่ แบบเรียนที่เขียนอ่านได้แก่ มูลบทบรรพกิจเล่ม 1 – 2 ซึ่งเป็นแบบเรียนที่วิเศษสุดในยุคนั้น ผู้ใดเรียนจบจะแตกฉานในด้านการอ่านเขียนไปทุกคน ปรากฏว่า ท่านมีความหมั่นเพียรในการศึกษาเป็นอันมาก สามารถเขียนอ่านได้รวดเร็วกว่าเด็กอื่นๆ ถึงขนาดได้รับความไว้วางใจจากอาจารย์ให้เป็นครูสอนเด็กๆ คนอื่นแทนในขณะที่อาจารย์มีกิจจำเป็น
ในกาลต่อมาได้เข้าไปศึกษาต่อกับพี่เขยที่เป็นปลัดขวา ที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ช่วงนั้นทีแรกท่านอยากรับราชการ เพราะเป็นงานที่มีหน้ามีตา ได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนในสมัยนั้น แต่ภายหลังได้เปลี่ยนความตั้งใจเดิมเสียโดยสิ้นเชิง เพราะได้เห็นความเป็นอนิจจังของผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ จึงได้เปลี่ยนความตั้งใจ และได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดโพนทอง บ้านบะทอง ซึ่งเป็นวัดมหานิกาย ขณะที่ยังเป็นสามเณรอยู่นั้น ท่านเอาใจใส่ศึกษาและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอันมาก ถึงขนาดคุณย่าของท่านได้พยากรณ์เอาไว้ว่า
ในภายภาคหน้า ท่านจะเข้าไปอาศัยอยู่ในป่าขมิ้น จนตลอดชีวิต ระหว่างนั้นจะสร้างแต่คุณความดีอันประเสริฐเลิศล้ำค่า จะเป็นผู้บริสุทธิ์ผ่องใส ประชาชนทุกชั้นตั้งแต่สูงสุด จนต่ำสุด ทุกเชื้อชาติ ศาสนา ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาของท่าน จะบังเกิดความเลื่อมใสในตัวท่าน และรสพระธรรมที่ท่านเทศนาเป็นอันมาก "
ครั้นถึงอายุ 20 ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดสิทธิบังคม ที่บ้านไฮ่ ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดย พระครูป้อง (นนทะเสน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สัง กับ พระอาจารย์นวล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่วัดสิทธิบังคม ท่านได้ท่องบ่นเจ็ดตำนานจนจบบริบูรณ์ ขณะเดียวกันพระอุปัชฌาย์ของท่านก็ได้สอนให้รู้จักวิธีเจริญกัมมัฏฐานตลอดพรรษาด้วย
ออกพรรษาปีนั้น ท่านได้กลับมาอยู่ที่วัดโพนทอง ซึ่งมี ท่านอาญาครูธรรม เป็นเจ้าอาวาส ท่านอาญาครูธรรมชอบฝึกกัมมัฏฐานให้พระลูกวัดเสมอ หลังออกพรรษาระหว่างเดือนอ้ายถึงเดือน 4 ท่านได้ชักชวนพระลูกวัดออกเที่ยวธุดงค์ ไปฝึกหัดภาวนาเจริญกัมมัฏฐานตามเขาลำเนาไพร ตามถ้ำตามป่าช้าต่างๆ ที่เป็นที่วิเวก ซึ่งพระอาจารย์ฝั้นก็ได้ติดตามไปด้วย
ต่อจากนั้นใน ปี พ.ศ. 2463 เป็นระยะเวลาที่พระอาจารย์ฝั้นได้พบ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จึงได้ถวายตัวเป็นศิษย์ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และได้ขอญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 ที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระรถ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ท่านได้ร่วมเดินทางออกธุดงค์กับ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในหลายที่ทั้งในแถบนครพนม สกลคร อุดรธานี นครราชสีมา และอื่นๆ ในภาคอีสานเรื่อยไปจนถึงเชียงใหม่ทางภาคเหนือ บางครั้งก็แยกจากคณะเพื่อแสวงหาความวิเวกบำเพ็ญสมาธิในแถบภูเขาสูง ถ้ำผาต่างๆ
เมื่อพระอาจารย์ฝั้นเดินทางไปถึงบ้านผือ ท่านได้ไปพักอยู่ที่ศาลภูตา ศาลภูตาคือสถานที่ซึ่งชาวบ้านสร้างเป็นหอขึ้น สำหรับเป็นที่สิงสถิตของภูตผีปีศาจ ชาวบ้านไปสักการะบวงสรวงกันบ่อยๆ เพราะถือเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างที่ไปพักอยู่ศาลภูตา มีชาวบ้านสองคนมาตักน้ำ เมื่อพบท่านเข้าจึงเอาน้ำมาถวาย ท่านก็ขอให้ชาวบ้านทั้งสองไปบอกผู้ใหญ่บ้านให้รับทราบในการมาพักของท่านด้วย
หลังจากนั้นไม่นานนัก ผู้ใหญ่บ้านกับลูกบ้านอีก 4 คน ก็มาถึง ลูกบ้านได้แสดงความไม่พอใจในการที่ท่านมาพักที่ศาลภูตานี้ คนหนึ่งได้โวยวายขึ้นว่า พระอะไรไม่เคยเห็น มานอนกลางดินกินกลางทรายเช่นนี้ จะถือว่าเป็นพระอย่างไรได้ คนที่สองให้ความเห็นขึ้นมาดังๆ ว่า เอาปืนยิงหัวเสียก็สิ้นเรื่อง คนที่สามก็โพล่งขึ้นว่า เอาสากมองที่หัวไปก็พอ แต่คนสุดท้ายออกความเห็นไม่รุนแรงเหมือนสามคนแรก เพียงให้เอาก้อนหินขว้างขับไล่ให้ไป
ผู้ใหญ่บ้านดูจะเป็นคนที่มีใจเป็นธรรมกว่าเพื่อน ได้ทัดทานลูกบ้านทั้ง 4 คนนั้นไว้ว่า ควรสอบถามดูก่อนว่าเป็นพระจริงหรือพระปลอม พระดีหรือพระร้าย ยังผลให้ลูกบ้านทั้ง 4 ไม่พอใจแต่พากันถอยออกไปยืนดูอยู่ห่างๆ พระอาจารย์ฝั้นได้บอกกับผู้ใหญ่บ้านว่า "ท่านเที่ยวธุดงค์ปฏิบัติกัมมัฏฐานไปตามสถานที่อันวิเวกต่างๆ เมื่อมาถึงที่นี่ จึงขอพักอาศัยในศาลภูตานี้ เพราะศาลภูตาเป็นที่พึ่งของคนในหมู่บ้าน ท่านจึงขอพึ่งพาอาศัยบ้าง"
ท่านได้บอกผู้ใหญ่บ้านไปด้วยว่า "ท่านพึ่งศาลภูตาได้ดีกว่าชาวบ้านเสียอีก ชาวบ้านพึ่งศาลภูตากันอย่างไร ปล่อยให้สกปรกรกรุงรังอยู่ได้ ท่านเองพอเข้ามาพึ่งก็ปัดกวาดถากถางหนามและข่อยออกไปจนหมดสิ้นอย่างที่เห็น" ผู้ใหญ่บ้านประจักษ์ข้อเท็จจริงเพียงประการแรกถึงกับนิ่งงัน ครั้นแล้วก็สอบถามท่านถึงปัญหาธรรมต่างๆ เหมือนเป็นการลองภูมิ ท่านก็อธิบายให้ฟังอย่างลึกซึ้งหมดจดไปทุกข้อ ทำเอาผู้ใหญ่บ้านถึงกับออกปากว่า "น่าเลื่อมใสจริงๆ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จโปรดเทศนาสั่งสอนคนสมัยก่อน บัดนี้มาเจอเอาคนจริงเข้าแล้ว” เช่นเดียวกัน ลูกบ้านทั้ง 4 ซึ่งยืนสดับตรับฟังอยู่ใกล้ๆ เกิดความเลื่อมใสไปด้วย
ทั้งหมดได้กลับไปหมู่บ้าน จัดหาเสื่อที่นอนและหมอนมุ้งไปทำที่พักให้พระอาจารย์ฝั้น ทิฏฐิเดิมที่มีอยู่ปลาศนาการไปจนหมดสิ้น ถึงกับนิมนต์ให้ท่านจำพรรษาเสียที่นั่นเลยด้วยซ้ำ แต่ท่านปฏิเสธว่า ที่นั่นน้ำท่วม เพราะใกล้กับลำชี ไม่อาจจำพรรษาได้อย่างที่ชาวบ้านปรารถนา ชาวบ้านซึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาอยู่ก็แจ้งแก่ท่านว่า ไม่ห่างไปจากที่นี่นัก มีดอนป่าช้าอยู่แห่งหนึ่งน้ำไม่ท่วม เหมาะสำหรับเป็นสถานที่จำพรรษาอย่างยิ่ง ท่านไม่อาจปฏิเสธต่อไปอีกได้ จึงไปจำพรรษาอยู่ที่ดอนป่าช้าตามที่ชาวบ้านนิมนต์
ถึงกลางพรรษา ชาวบ้านส่วนหนึ่งซึ่งยังนับถือภูตผีปีศาจอยู่ ได้รับความเดือดร้อนตามความเชื่อเรื่องผีเข้าเป็นอันมาก กล่าวคือ เชื่อกันว่า มีผีเข้าไปอาละวาดอยู่ในหมู่บ้าน เข้าคนโน้นออกคนนี้ ที่ตายไปก็มี ที่ยังไม่ตายก็มี นอกจากนี้ยังมีโยมอุปัฏฐาก 3 – 4 คน ไปปรึกษากับพระอาจารย์ฝั้นด้วย เล่าว่า สามีล่องเรือบรรทุกข้าวไปขายที่จังหวัดอุบลราชธานี ภรรยากับลูกๆ ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากกลัวว่าถูกผีเข้าเหมือนคนอื่น ไม่ทราบจะพึ่งใครได้ จึงมากราบไหว้ขอให้ท่านเป็นที่พึ่ง พระอาจารย์ก็บอกว่าไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว ภาวนา พุทโธ พุทโธ ไว้เสมอ ผีเข้าไม่ได้หรอก ต่อให้เรียกผี หรือท้าผีมากิน มันก็ไม่กล้ามากิน หรือมารบกวน โยมอุปัฏฐากกลุ่มนั้นก็เชื่อฟังและปฏิบัติตาม
ย่างไรก็ดี ปรากฏว่ายังมีผีเข้าชาวบ้านอยู่เรื่อยๆ มีชาวบ้านได้ไปแจ้งแก่พระอาจารย์ฝั้นให้ทราบว่า ได้ถามผีดูแล้วว่า ทำไมไม่ไปเข้าพวกที่ปฏิบัติอุปัฏฐากบ้างล่ะ ผีในร่างคนก็ตอบว่า ไม่กล้าเข้าไป จะเข้าไปได้อย่างไร พอเข้าบ้านก็เห็นแต่พระพุทธรูปนั่งอยู่เป็นแถว
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านกลุ่มอื่นยังคงมีความหวาดหวั่นเรื่องผีเข้ากันอยู่ ได้มีการประชุมหารือกันเพื่อหาหมอผีมาไล่ผีออกไป เมื่อเสาะหาหมอผีมาได้แล้ว ชาวบ้านกลับเดือดร้อนหนักยิ่งขึ้นไปอีก เพราะหมอผีตั้งเงื่อนไขว่า จะไล่ผีออกไปจากหมู่บ้านนั้นไม่ยาก แต่ทุกครัวเรือนต้องนำเงินไปมอบให้เสียก่อน จึงจะทำพิธีขับไล่ให้ โยมอุปัฏฐากจึงได้นำความไปปรึกษาหารือกับพระอาจารย์ฝั้น ว่าจะทำอย่างไรดี
ท่านจึงแนะนำว่า หากหมอผีจะเก็บเงินเพื่อไปสร้างโน่นสร้างนี่ที่เป็นสาธารณสมบัติ หรือสร้างวัดวาอารามก็ควรให้ แต่ถ้าหมอผีเก็บเงินไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนก็ไม่ควรให้ ทั้งยังได้แนะนำไม่ให้เชื่อเรื่องผีสางอีกต่อไป เพราะเป็นเรื่องเหลวไหล คนเราป่วยเจ็บกันได้ทุกคน จะปักใจเชื่อเอาเสียเลยว่าผีเข้า ย่อมเป็นเรื่องงมงายไร้เหตุผล โยมเหล่านั้นก็พากันเชื่อฟังท่าน และไม่ยอมจ่ายเงินให้ตามที่หมอผีเรียกร้องไว้ ในที่สุด หมดผีก็หมดความสำคัญไป ความเชื่อเรื่องผีสางของชาวบ้านก็ค่อยๆ ลดน้อยลง
ออกพรรษาปีนั้น พระอาจารย์ฝั้น ได้ลาญาติโยมออกจากป่าช้าจะไปอำเภอน้ำพอง เมื่อถึงวัดศรีจันทร์ ปรากฏว่าเดินทางต่อไปไม่ได้ เพราะชาวบ้านเหล่านั้นได้ติดตามมาขอร้องให้ท่านกลับไปช่วยเหลืออีกสักครั้ง โดยอ้างว่ามีผีร้ายขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้านทุกหลัง ท่านจึงต้องกลับไปที่หมู่บ้านนั้นอีกครั้งหนึ่ง การกลับไปครั้งนี้ ผู้ใหญ่บ้านได้ประชุมลูกบ้านแล้วมานมัสการท่าน ขอรับไตรสรณคมน์ ต่อจากนั้นความเชื่อเรื่องผีสางจึงหมดสิ้นลง
ท่านได้ธุดงค์ไปในที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแถบชายแดนอีสานใต้ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และได้มาจำพรรษาที่วัดบูรพา อำเภอเมืองอุบลราชธานีตามบัญชาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สังฆนายก ด้วยเหตุเพราะในปีนั้น สมเด็จฯ อาพาธหนัก ถึงขนาดฉันอาหารไม่ได้ ต้องถวายอาหารทางเส้นโลหิต ท่านจึงเรียกพระเถระฝ่ายกัมมัฏฐานเข้าไปปรึกษาหารือเพื่อหาทางบำบัดโรค ในทางธรรมปฏิบัติ (เดิมที สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ท่านไม่ชอบพระป่า สายกรรมฐานนัก)
เมื่อพระอาจารย์ฝั้นอธิบายธรรมถวายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์จบแล้ว สมเด็จฯ ได้พูดขึ้นว่า "เออ เข้าทีดี" แล้วถามพระอาจารย์ฝั้นว่า "ในพรรษานี้ ฉันจะอยู่ได้รอดตลอดพรรษาหรือไม่" พระอาจารย์ฝั้นก็เรียนตอบไปว่า "ถ้าพระเดชพระคุณทำจิตให้สงบได้ดังที่อธิบายถวายมาแล้ว ก็รับรองว่าอยู่ได้ตลอดพรรษาแน่นอน" สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จึงมีบัญชาให้พระอาจารย์ฝั้นไปจำพรรษาอยู่กับท่านที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อจะได้ศึกษาธรรมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้ออกปากยอมรับในความจริง และชมว่า "พระคณะกัมมัฏฐานนี้เป็นผู้ปฏิบัติดีจริง ทั้งยังทำได้ดังพูดจริงๆ อีกด้วย สมควรที่พระมหาเปรียญทั้งหลายจะถือเอาเป็นตัวอย่างปฏิบัติต่อไป" ท่านได้กล่าวต่อหน้าพระอาจารย์ฝั้นด้วยว่า "ฉันเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชพระบวชเณรมาจนนับไม่ถ้วน แต่ไม่เคยนึกสนใจใน ตจปัญจกกัมมัฏฐานเหล่านี้เลย เพิ่งจะมารู้ซึ้งในพรรษานี้เอง" พูดแล้วท่านก็นับ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ แล้วถามพระอาจารย์ฝั้นว่า "นี่เป็นธาตุดิน นี่เป็นธาตุน้ำ นี่เป็นธาตุลม นี่เป็นธาตุไฟใช่ไหม?" พระอาจารย์ฝั้นก็รับว่าใช่ จากนั้นท่านก็ปรารภขึ้นว่า "ตัวท่านเองเปรียบเหมือนผู้บวชใหม่ เพิ่งจะมาเรียนรู้ เกสา โลมา ฯลฯ ความรู้ในด้านมหาเปรียญ ที่เล่าเรียนมามากนั้น ไม่ยังประโยชน์และความหมายต่อชีวิตท่านเลย ยศฐาสมณศักดิ์ ก็แก้ทุกข์ท่านไม่ได้ ช่วยท่านไม่ได้ พระอาจารย์ฝั้นให้ธรรมปฏิบัติในพรรษานี้ได้ผลคุ้มค่า ทำให้ท่านรู้จักกัมมัฏฐานดีขึ้น"
มีข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แจ้งอยู่ประการหนึ่งว่า การพัฒนาบ้านเมืองซึ่งทางราชการกำลังเร่งรัด เพื่อความเจริญของท้องถิ่น ตลอดจนสนับสนุนให้ประชาชนร่วมกันพัฒนาอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น แม้ที่จริงพระอาจารย์ฝั้น ได้มีโครงการและลงมือปฏิบัติเอง และได้เป็นผู้นำในการพัฒนามาก่อนแล้ว กล่าวคือ ไม่ว่าท่านจะไปพำนักอยู่ที่ใด แม้จะชั่ว 3 วัน 7 วันก็ตาม ท่านจะแนะนำชาวบ้านให้ทำความสะอาดบ้านเรือน ตลอดจนถนนหนทางให้ดูสะอาดตาอยู่เสมอ แม้ขณะที่ท่านไปพำนักอยู่ในป่าช้าหรือหมู่บ้านบริเวณเชิงเขาภูพาน หนทางที่ท่านจะเดินไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน จะมีชาวบ้านร่วมกันถากถาง ปัดกวาด และทำความสะอาดอยู่เสมอ ที่โรงเรียนพลตำรวจเขต 4 ในสมัยนั้นก็เช่นเดียวกัน
ก่อนที่พระอาจารย์ฝั้นจะไปพักอยู่ที่วัดป่าธาตุนาเวง บริเวณนั้นรกรุงรังด้วยป่าหญ้า ไข้มาเลเรียก็ชุกชุม ตำรวจป่วยเป็นไข้มาเลเรียขึ้นสมอง ถึงขนาดโดดหน้าต่างกองร้อยตายไปก็มี ตำรวจและครอบครัวเชื่อกันว่า เป็นเพราะผีเจ้าพ่อหนองหญ้าไซพิโรธ หาใช่โรคมาเลเรียอะไรไม่ พระอาจารย์ฝั้น ได้พยายามอธิบายให้ตำรวจเหล่านั้นเข้าใจในเหตุผล เลิกเชื่อถือผีสาง แต่ตำรวจและครอบครัวเหล่านั้นก็ยังไม่ยอมเชื่อ
ต่อมาเมื่อคณะตำรวจนิมนต์ท่านไปเทศน์ที่กองร้อย ท่านจึงปรารภกับผู้กำกับการตำรวจว่า "ถ้าอยากให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุข ก็ควรจัดสถานที่ให้สะอาดขึ้น ตัดถนนหนทางเรียบร้อย ถางป่าและหญ้าในบริเวณเสียให้เตียน อากาศจะได้ปลอดโปร่งและถ่ายเทได้ดีขึ้น สำหรับหนองหญ้าไซนั้นเล่าก็ควรขุดลอกให้เป็นสระน้ำเสีย จะได้ดูสวยงามและได้ประโยชน์ในการใช้สระน้ำด้วย"
เมื่อผู้กำกับประชุมตำรวจแล้ว ที่ประชุมตกลงทำทุกอย่าง เว้นแต่การขุดลอกหนองหญ้าไซเท่านั้น เพราะกลัวผีเจ้าพ่อหนองหญ้าไซจะพิโรธ คร่าชีวิตตำรวจตลอดจนสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น แล้วก็จัดการตัดถนน ทำสนามฟุตบอล สนามเด็กเล่น ถางป่า ถางหญ้าจนสะอาดตา ทำให้อากาศถ่ายเทโดยสะดวกขึ้นกว่าก่อน
ต่อมาถึงวาระประชุมอบรมฟังเทศน์ที่กองร้อยอีก คณะตำรวจและครอบครัวไปประชุมฟังเทศน์กันอย่างคับคั่ง พระอาจารย์ฝั้นจึงหยิบยกปัญหาการขุดลอกหนองหญ้าไซขึ้นมาปรารภอีกครั้งหนึ่ง ทุกคนก็บอกว่าไม่กล้า กลัวเจ้าพ่อหักคอเอา แต่หากท่านไปนั่งเป็นประธานดูพวกตนขุดแล้วจึงจะยอมทำ พระอาจารย์ฝั้นก็ตอบตกลง
การขุดลอกหนองหญ้าไซจึงได้เริ่มขึ้นในโอกาสต่อมา ต่อหน้าพระอาจารย์ฝั้น จนกลายเป็นสระน้ำขึ้นมา อากาศก็ดีขึ้น ไข้มาเลเรียที่เคยชุกชุมก็ค่อยๆ ทุเลาลงจนเหือดหายไปในที่สุด
พระอาจารย์ฝั้นได้ขึ้นไปพักอยู่บนถ้ำขาม พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรผู้เป็นศิษย์เมื่อประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. 2497 ท่านได้เป็นหัวหน้าคณะในการพัฒนาถ้ำขามให้เป็นที่พำนักปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์ และญาติโยม มีสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น แหล่งน้ำใช้ได้ตลอดปี มีอาคารศาลาโรงธรรม กุฏิที่พักอย่างเพียงพอ
ในปี 2507 พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ผู้ซึ่งจากไปเทศนาอบรมสั่งสอนประชาชนทางภาคใต้ติดต่อกันมาถึง 15 ปี ได้เดินทางกลับมาทางภาคอีสาน และได้แวะเข้าไปเยี่ยมเยียนพระอาจารย์ฝั้น ที่พรรณานิคมด้วย วันหนึ่งท่านได้เดินขึ้นไปบนถ้ำขาม พอเห็นสภาพบนถ้ำขามเข้าแล้วท่านก็ชอบใจ จึงได้พักวิเวกและจำพรรษาอยู่บนนั้น ปรากฏว่าในระหว่างพรรษาท่านสามารถบำเพ็ญความเพียรอย่างเต็มที่ เพราะพระภิกษุสามเณรที่ร่วมพรรษาด้วย ล้วนเป็นสานุศิษย์ของพระอาจารย์ฝั้น แต่ละรูปได้รับการอบรมจากพระอาจารย์ฝั้นอย่างดีมาแล้วทั้งนั้น จึงไม่เป็นภาระที่ท่านจะต้องหนักใจหรือสืบต่อการอบรมแต่ประการใด
ความเหมาะสมในการวิเวกบำเพ็ญความเพียรบนถ้ำขามนั้น พระอาจารย์ขาว อนาลโย ก็พอใจเช่นเดียวกัน กล่าวคือในการพาคณะศิษย์ของท่านขึ้นไปพัก เพื่อเยี่ยมเยียนพระอาจารย์เทสก์ ในวันหนึ่ง ท่านถึงกับเอ่ยปากขอแลกสถานที่กับพระอาจารย์เทสก์ โดยขอให้พระอาจารย์เทสก์ไปอยู่ดูแลวัดถ้ำกลองเพลแทนท่าน ส่วนท่านเองจะขออยู่บนวัดถ้ำขามเอง แต่ไม่สำเร็จ
ในปีต่อๆ มา พระอาจารย์ฝั้นยังคงไปๆ มาๆ ระหว่างวัดป่าอุดมสมพร วัดป่าภูธรพิทักษ์ และวัดป่าถ้ำขาม แต่ไม่ว่าท่านจะไปพำนักอยู่ที่ใด บรรดาผู้คนจะพากันไปกราบไหว้นมัสการท่านอย่างเนืองแน่น ทุกคนได้รับการต้อนรับจากท่านอย่างเสมอหน้า ไม่มีเด็กไม่มีผู้ใหญ่ ไม่มีคนมีคนจน ไม่มีเจ้านายหรือบ่าวไพร่ ทุกคนได้รับความเมตตาปรานีเสมอกันหมด ตลอดเวลาที่ผ่านไป ท่านไม่เคยกระตือรือร้นในอันที่จะต้อนรับใครผู้ใดเป็นพิเศษ ทั้งไม่เคยย่อท้อในการเอาธุระแนะนำสั่งสอนอบรมเทศนาแก่ผู้คนทุกหมู่ทุกเหล่า
ท่านเป็นนักสร้างคน คือสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ ท่านได้แก้ไขผู้ประพฤติเป็นพาลเกเรเบียดเบียนข่มเหงรังแก สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นโดยการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ตลอดจนผู้ติดอบายมุขต่างๆ ให้บังเกิดความสำนึกตนและละเว้นจากการประพฤติมิชอบเป็นผลสำเร็จมามากต่อมาก
เมตตาบารมีธรรมของท่าน กว้างใหญ่ใหญ่ไพศาลขึ้นทุกที แต่ละปีที่ล่วงไป ผู้คนที่หลั่งไหลไปนมัสการท่านเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันจบสิ้น จนกระทั่งในระยะหลังๆ บรรดาสานุศิษย์และนายแพทย์ได้กราบวิงวอนท่านครั้งแล้วครั้งเล่า ให้บรรเทาการรับแขกลงเสียบ้าง ท่านจะได้มีเวลาพักผ่อนมากยิ่งขึ้น เพราะนับวันที่ผ่านไปสังขารของท่านได้ทรุดโทรมลงไปมาก ทั้งยังล้มป่วยลงบ่อยๆ อีกด้วย แต่ท่านไม่ยอมกระทำตาม ซึ่งทุกคนก็ตระหนักดีในเหตุผลว่าเป็นการขัดต่อเมตตาธรรมที่ท่านยึดถือปฏิบัติมาตลอด
ความตรากตรำในการแผ่บารมีธรรมของท่านนี้เอง เป็นมูลเหตุสำคัญให้ท่านเกิดอาพาธอย่างฉับพลัน เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2519 จึงได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสกลนคร แต่อาการของท่านไม่ดีขึ้น จึงได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในกรุงเทพมหานครอีกระยะหนึ่ง โดยอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
รักษาตัวอยู่ได้ระยะหนึ่ง พระอาจารย์ฝั้นก็ขอกลับวัด กลับมาคราวนี้ คณะศิษย์ได้ร่วมกันสร้างกุฏิหลังใหม่ให้ท่านพักอาศัย โดยยกพื้นขึ้นมาบนสระหนองแวง ข้างโบสถ์น้ำและทำรั้วกั้นเพื่อมิให้ผู้คนเข้าไปรบกวนท่านด้วย
แต่อาการของท่านก็ยังไม่ดีขึ้น มีแต่ทรงกับทรุดอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งถึงวันที่ 4 มกราคม 2520 ได้เกิดอาการโรคแทรกซ้อนขึ้นอย่างรุนแรง และกะทันหัน ท่านจึงต้องทิ้งขันธ์ธาตุของท่านไปด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา 19.50 น. ของวันเดียวกัน ณ วัดป่าอุดมสมพร ซึ่งถือเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญของท่าน สิริรวมอายุได้ 78 ปี 58 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงสรงน้ำศพ พระราชทานหีบทองประกอบศพ จนถึงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2521 ได้เสด็จพระราชทานเพลิงศพเป็นการส่วนพระองค์ ในบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์ฝั้นได้มีการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร สูง 27.9 เมตร ลักษณะเป็นเจดีย์ปลายแหลม ฐานกลม ขึ้นรูปด้วยกลีบบัวหุ้มฐานสามชั้น แต่ละกลีบบัวตกแต่งด้วยกระเบื้องเป็นรูปพระอาจารย์ต่างๆ ภายในเจดีย์มีรูปปั้นพระอาจารย์ฝั้นถือไม้เท้าขนาดเท่าองค์จริง มีตู้กระจกบรรจุเครื่องอัฐบริขารของท่าน
"ทุกคนจะต้องเข้ามหายุทธสงครามสักวันหนึ่ง คือการ ต่อสู้กับมัจจุราช เมื่อถึงเวลานั้นแต่ละคนจะต้องสู้เพื่อ ตนเอง และต้องสู้โดยลำพัง ผู้ที่สู้ได้ดีก็จะไปดี คือไปสู่ สุคติ ผู้ที่เพลี่ยงพล้ำก็จะไปร้าย คือไปสู่ทุคติ อาวุธที่ใช้ ต่อสู้มีเพียงสิ่งเดียว คือ "สติ" ซึ่งจะสร้างสมได้ด้วยการ เจริญภาวนาเท่านั้น"
"บุญกุศลนั้นก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็ได้แก่ทานบารมี ศีลบารมี ภาวนาบารมีนี้แหละทาน ก็รู้อยู่แล้ว คือการสละ หรือ การละการวางผู้ใดละมาก วางได้มาก ก็เป็นผลานิสงส์มากผู้ใดวางได้น้อย ละได้น้อย ก็มีผลานิสงส์น้อย ละได้น้อย ก็มีผลานิสงส์น้อยมัจฉริยะความตระหนี่เหนียวแน่น นี้หละ คือความโลภ ต้องสละเสีย ให้เป็นผู้บริจาค ก็บริจาคทรัพย์สมบัติ วัตถุทั้งหลายเหล่านั้นหละ ไม่ใช่อื่นไกลแปลว่า ทะนุบำรุงตน เหมือน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านจะสำเร็จมรรคผล ท่านก็ได้สร้างบารมีมา คือทานบารมีอันนี้ นี่ให้เข้าใจไว้ ทานเป็นเครื่องสะเบียงของเรา เมื่อเราได้ทำไว้พอแล้วเราจะเดินทางไกล เราก็ไม่ต้องกลัวอดกลัวอยาก กลัวทุกข์กลัวยากของเก่าเราได้ทำมาไว้ ถ้าอะไรเราไม่ได้ทำไว้ อยากได้ มันก็ไม่ได้ ถ้าได้ทำไว้แล้ว สร้างไว้แล้ว ไม่อยากได้ มันก็ได้ นี่แหละทานบารมี เหตุนี้ ให้พากันเข้าใจ"
"ศีลบารมีล่ะ คนเราเพียงแต่รับศีลไม่ได้รักษาศีล เข้าใจว่า ศีลนั้นเป็นของพระถ้าพระไม่ให้แล้ว ก็ว่าเราไม่ได้ ศีลอย่างนี้ เป็นสีลัพพตปรามาส เพียงแต่ลูบคลำศีลแท้ที่จริงนั้น ศีลของเรา เกิดมาพร้อมกับเรา ศีลห้าบริบูรณ์ตั้งแต่เกิดขาสอง แขนสอง ศีรษะหนึ่ง อันนี้คือตัวศีลห้า เราได้จากมารดาของเรา เกิดมาก็มีพร้อมแล้ว เมื่อเรามีศีลห้าบริสุทธิ์อย่างนี้ ก็ให้เรารักษาอันนี้หละ รักษากายของเรา รักษาวาจา รักษาใจให้เรียบร้อยอย่าไปกระทำโทษน้อยใหญ่ ทางกาย ทางวาจา ทางใจของเรา โทษห้าคืออะไร คือ ปาณาติปาตา ท่านให้งดเว้น อย่าไปทำ นั่นเป็นโทษ ไม่ใช่ศีลอทินนาทานา นั่นก็เป็นโทษ ไม่ใช่ศีลกาเมสุมิจฉาจารา นั่นก็ไม่ใช่ศีล เป็นแต่โทษมุสาวาทา ท่านให้งดเว้น มันเป็นโทษ ไม่ใช่ศีลสุราเมรยมชฺชฯ อันนี้ก็เป็นแต่โทษถ้าเราไม่ได้ทำความผิดห้าอย่างนี้ อยู่ที่ไหนเราก็มีศีล อยู่ในป่าในดง ก็มีศีล อยู่ในรถในรา เราก็มีศีลให้เข้าใจศีลตามนี้ ที่คอยจะรับจากพระ นั่นไม่ใช่ ท่านก็บอกว่า อย่าไปทำ ห้าอย่างนั้นให้ละเว้น เมื่อเราละเว้นแล้ว อยู่ที่ไหนก็มีศีล เราก็เป็นคนบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ศีลห้า อย่างนั้น เราไม่อยากได้ ไม่ปรารถนาเหตุฉันใด จึงว่าไม่อยากได้ พิจารณาดูซี่ สมมติว่ามีคนมาฆ่า หรือ มาฆ่าพี่ฆ่าน้อง ญาติพงษ์ ของเรา เราดีใจไหมล่ะ เราไปฆ่าเขาล่ะ เขาดีใจไหม พิจารณาดูซี่ เราไม่ต้องการอย่างนั้นไม่ใช่เหรอถ้าเราไม่ทำอย่างนั้นแล้ว โทษของเรา ก็ไม่มี เกิดมาอายุก็ยืนนาน ไม่ตายแต่น้อย แต่หนุมก็เพราะเราไม่ได้ทำปาณาติบาตไว้ ในหลายภพหลายชาติแม้ในชาตินี้ก็เหมือนกัน เราฟังธรรม ก็ฟังในชาตินี้ แล้วก็ปฏิบัติในปัจจุบันนี้ เราไม่ต้องคำนึงถึงอดีตอนาคต เรากำหนดให้รู้เดี๋ยวนี้ เรานั่งอยู่นี่ ก็เป็นศีลอยู่ นี่ข้อสำคัญ"
หลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นพระภิกษุ คณะธรรมยุติกนิกาย ท่านได้รับความเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชนในฐานะพระนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน สายของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต รวมทั้ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงนมัสการ หลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู หลายต่อหลายครั้ง
หลวงปู่ขาว อนาลโย นามเดิมชื่อ ขาว โคระถา เกิดวันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2431 ปีชวด ที่บ้านบ่อชะเนง ตำบลหนองแก้ว อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันขึ้นกับตำบลหนองแก้ว อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ) บิดาชื่อ พั่ว โคระถา มารดาชื่อ รอด โคระถา มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 7 คน ท่านเป็นคนที่ 4 ทำอาชีพหลักของครอบครัว คือ ทำนาและค้าขาย
เป็นคนขยันหมั่นเพียรมาก มีนิสัยซื่อสัตย์ สุจริต โอบอ้อมอารีกับญาติมิตรเพื่อนฝูงและผู้เกี่ยวข้องดีมาก ใครๆ ก็รักและชอบคบค้าสมาคม มีเพื่อนฝูงมาก แต่เป็นเพื่อนที่ดี มิใช่แบบมีเพื่อนฝูงมาก เหล้ายาปลาปิ้งมาก ลากกันลงนรกทั้งเป็นและล่มจมไปเป็นแถวๆ ดังที่รู้ๆ เห็นๆ กันอยู่ในสมัยจรวดรวดเร็วทันใจ คนสมัยนั้นมักมีแต่คนดี การคบกันจึงเป็นสง่าราศีแก่วงศ์สกุลมากกว่าจะพาให้เสียหายล่มจม
ต่อมาท่านได้สมรสกับนางมี โคระถา เมื่อ พ.ศ. 2452 ขณะอายุได้ 20 ปี มีบุตรธิดาด้วยกัน 7 คน คนหัวปีเป็นชายชื่อ คำมี ได้ออกบวชตามพ่อคือหลวงปู่ เวลาท่านออกบวชแล้ว จนสิ้นอายุในเพศนักบวชเมื่อ พ.ศ. 2525 นี่เองที่วัดถ้ำกลองเพล เมื่อบวชแล้วก็ติดสอยห้อยตามหลวงปู่ และมาอยู่ที่วัดถ้ำกลองเพลด้วยจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
คนที่สองชื่อ นายลี โคระถา เป็นผู้มีศรัทธา อุตส่าห์ติดตามมาปฏิบัติและถวายอาหารบิณฑบาตหลวงปู่เป็นประจำ ลูกที่มีนิสัยทางศาสนาอย่างเด่นชัดมีอยู่ 2 คน นอกนั้นก็ธรรมดาเหมือนโลกทั่วๆ ไป แต่จะไม่ออกนามลูกๆ ท่าน ใช้ชีวิตคู่ได้ 11 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2462 ที่วัดโพธิ์ศรี (ปัจจุบันคือ วัดบ่อชะเนง) บ้านบ่อชะเนง ตำบลหนองแก้ว อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ สังกัดคณะมหานิกาย มีท่านพระครูพุฒิศักดิ์ฯ เจ้าคณะอำเภออำนาจเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอาจารย์บุญจันทร์ฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และจำพรรษาที่วัดโพธิ์ศรี 6 พรรษา ในเวลาที่อยู่ในวัดนั้น สังเกตดูครูอาจารย์และเพื่อนภิกษุสามเณรด้วยกันประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัยก็เป็นลุ่มๆ ดอนๆ ผิดๆ พลาดๆ ไม่เป็นที่จับใจเชื่อถือได้ ไม่สมเจตนาที่ออกบวชเพื่อมรรค เพื่อผล ด้วยความบริสุทธิ์ใจดังที่ตั้งไว้ เมื่อคิดอ่านทบทวนเกี่ยวกับการอยู่ และการออกปฏิบัติธรรมจนเป็นที่แน่ใจแล้ว จึงเข้ากราบลาอุปัชฌาย์อาจารย์ ตลอดญาติมิตรเพื่อนฝูงเพื่อทราบเจตนาและความประสงค์ในการออกปฏิบัติธรรม
ต่อมาหลวงปู่ขาวเกิดความศรัทธาในปฏิปทาของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต จึงได้ญัตติกรรมเป็นพระธรรมยุติกนิกาย เมื่อ พ.ศ. 2468 ขณะมีอายุได้ 37 ปี ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี มีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นประธานพิธี พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระชิโนวาทธำรง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์บุญ ปญฺญาวุฑโฒ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลังกระทำญัตติกรรมเข้าคณะธรรมยุติกานิกายแล้ว ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา 8 ปี จากนั้นได้เดินธุดงค์ตาม ท่านพระอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ไปปฏิบัติธรรมในสถานที่ต่างๆ ท่านออกเดินทางทุกปี และได้สมบุกสมบันไปแทบทุกภาคของประเทศ นอกจากนี้ ท่านยังได้เคยเดินธุดงค์ร่วมกับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เป็นเวลารวมกันหลายปีอีกด้วย
ท่านได้สร้างบารมีอยู่ในป่าเขาเป็นเวลายาวนาน มีประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าทั้งหลาย เช่น สิง ค่าง ช้าง เสือ เวลาท่านนึกถึงอะไร สิ่งนั้นมักจะมาตามความรำพึงนึกคิดเสมอ เช่น นึกถึงช้าง ว่าหายหน้าไปไหนนานไม่ผ่านมาทางนี้เลย พอตกกลางคืนดึกๆ ช้างก็จะมาหาจริงๆ และ เดินตรงมายังกุฏิที่ท่านพักอยู่ พอให้ท่านทราบว่าเขามาหาแล้ว ช้างก็จะกลับเข้าป่าไป เวลาที่ท่านนึกถึงเสือ ก็เช่นกัน นึกถึงตอนกลางวันตกกลางคืนเสือก็มาเพ่นพ่านภายในวัดบริเวณที่ท่านพักอยู่
คุณหมออวย เกตุสิงห์ เขียนไว้ในประวัติอาพาธ ซึ่งเป็นภาคผนวกของหนังสือ อนาลโยวาท ว่า "เวลาท่านไม่สบายอยู่ในป่าเขา มักจะไม่ใช้หยูกยาอะไรเลย จะใช้แต่ธรรมโอสถ ซึ่งได้ผลทั้งทางร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน ท่านเคยระงับไข้ด้วยวิธีภาวนามาหลายครั้ง จนเป็นที่มั่นใจต่อการพิจารณาเวลาไม่สบาย"
ท่านพระอาจารย์หลวงตามหาบัว เล่าถึง หลวงปู่ขาว ในหนังสือ "ปฏิปทาของพระธุดงค์กรรมฐานสายพระอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต" ว่า หลวงปู่ขาว ได้บรรลุธรรมชั้นสุดยอดในราวพรรษาที่ 16-17 ในสถานที่ซึ่งมีนามว่า โหล่งขอด แห่งอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เขียนเล่าไว้ว่า
"เย็นวันหนึ่ง เมื่อปัดกวาดเสร็จ หลวงปู่ขาว ออกจากที่พักไปสรงน้ำ ได้เห็นข้าวในไร่ชาวเขา กำลังสุกเหลืองอร่าม ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาในขณะนั้นว่า ข้าวมันงอกขึ้นมาเพราะมีอะไรเป็นเชื้อพาให้เกิด ใจที่พาให้เกิดตายอยู่ไม่หยุด ก็น่าจะมีอะไรเป็นเชื้ออยู่ภายในเช่นเดียวกันกับเมล็ดข้าว เชื้อนั้น ถ้าไม่ถูกทำลายเสียที่ใจให้สิ้นไป จะต้องพาให้เกิดตายอยู่ไม่หยุด ก็แล้วอะไรเป็นเชื้อของใจเล่า ถ้าไม่ใช่กิเลสอวิชชา ตัณหาอุปาทาน ท่านคิดทบทวนไปมา โดยถืออวิชชาเป็นเป้าหมายแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ พิจารณาย้อนหน้าถอยหลัง อนุโลมปฏิโลมด้วยความสนใจอยากรู้ตัวจริงแห่งอวิชชา นับแต่หัวค่ำจนดึกไม่ลดละการพิจารณาระหว่าง อวิชชา กับ ใจ จวนสว่างจึงตัดสินใจกันลงได้ด้วยปัญญา อวิชชาขาดกระเด็นออกจากใจไม่มีอะไรเหลือ การพิจารณาข้าว ก็มายุติกันที่ข้าวสุก หมดการงอกอีกต่อไป การพิจารณาจิต ก็มาหยุดกันที่ อวิชชาดับ กลายเป็นจิตสุกขึ้นมา เช่นเดียวกับ ข้าวสุก จิตหมดการก่อกำเนิดเกิดในภพต่างๆ อย่างประจักษ์ใจ สิ่งที่เหลือให้ชมอย่างสมใจ คือ ความบริสุทธิ์แห่งจิตล้วนๆ ในกระท่อมกลางเขา มีชาวป่าเป็นอุปัฏฐากดูแล ขณะที่จิตผ่านดงหนาป่ากิเลสวัฏฏ์ไปได้ แล้วเกิดความอัศจรรย์อยู่คนเดียวตอนสว่าง พระอาทิตย์ก็เริ่มสว่างบนฟ้า ใจก็เริ่มสว่างจากอวิชชา ขึ้นสู่ธรรมอัศจรรย์ถึงวิมุตติหลุดพ้นในเวลาเดียวกันกับพระอาทิตย์อุทัย ช่างเป็นฤกษ์งามยามวิเศษเสียจริง"
ท่านได้ธุดงค์จาริกไปตามถิ่นต่างๆ จนในที่สุดก็มาพำนักจำพรรษาอยู่ที่ วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อ พ.ศ. 2501 จวบจนมรณภาพ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมพ.ศ. 2526
คุณหมออวย เกตุสิงห์ ได้เล่าเกี่ยวกับปัจฉิมกาลของท่านไว้ในหนังสือ อนาลโยวาท ว่า "ท่านทุพพลภาพอยู่ถึง 9 ปี แต่สุขภาพจิตยังดี มีนิสัยรื่นเริงติดตลก ในระยะสามปีสุดท้าย นัยน์ตาของท่านมืดสนิท เพราะต้อแก้วตา หรือ ต้อกระจก หูก็ตึงมาก เพราะหินปูนจับกระดูก แต่ท่านก็มิได้เดือดร้อนใจ และสามารถบอกกำหนดอายุขัยของตนเองได้ว่า จะมรณภาพอายุ 96 ปี ซึ่งก็เป็นจริงดังที่ท่านได้กล่าวไว้"
หลวงปู่ขาวมรณภาพในวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม 2526 อายุ 95 ปี 64 พรรษา โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับไว้เป็นศพในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด ตั้งบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน พระราชทานโกศโถฉัตรเบญจาตั้งประดับ และพระราชทานเพลิงศพวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2527 ในวันพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ขาว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นั้น ปรากฏว่า วัดถ้ำกลองเพล ซึ่งมีอาณาบริเวณหลายพันไร่กลับคับแคบไปถนัดใจ ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลกันมาถวายสักการะสรีระร่างของท่าน นับเป็นจำนวนแสนคน นับเป็นประวัติการณ์สูงสุดของประเทศทีเดียว
ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนาของท่าน ที่ได้เทศน์โปรดพระเณรและญาติโยม ณ บ้านบ่อชะเนง (บ้านเกิดของท่าน)
"คนเกิดมาไม่เหมือนกัน เพราะมีความประพฤติที่ต่างกัน ผู้ที่เขาประพฤติดี รักษาศีลมีการให้ทาน มีการสดับรับฟังพระธรรม เขาจึงมีปัญญาดี มีการศึกษาเล่าเรียนดี การจำแนกสัตว์ให้ดีให้ชั่วต่างๆ กัน มันเป็นเพราะกรรม ถ้ามันยังทำกรรมอยู่ ก็ต้องได้รับผลกรรมทั้งกรรมดีกรรมชั่ว มันต้องได้รับผลตอบแทน เหตุนี้ เราจึงควรทำกุศล รักษาศีลให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ แล้วทำสมาธิจะมีความสงบสงัด จิตรวมลงได้ง่าย เพราะมันเย็น มันราบรื่นดี ไม่มีลุ่มไม่มีดอน จงพากันทำไป ในอิริยาบถทั้งสี่ นั่ง นอน ยืน เดิน อะไรก็ได้ แล้วแต่ความถนัด แล้วแต่จริต อันใดมันสะดวกสบายใจ หายใจดี ไม่ขัดข้องฝืดเคือง อันนั้นควรเอาเป็นอารมณ์ของใจ
พุทโธ พุทโธ หมายความว่า ให้ใจยึดเอาพุทโธเป็นอารมณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้จิตออกไปสู่อารมณ์ภายนอก เพราะอารมณ์ภายนอกมันชอบไปจดจ่ออยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความถูกต้องทางกาย หากทุกสิ่งทุกอย่างมันไปจดจ่ออยู่ที่นั่น จิตมันจะไม่รวมลง นี่แหละ เรียกว่า มาร คือ ไม่มีสติ อย่าให้จิตไปจดจ่ออย่างนั้น ให้มาอยู่กับผู้รู้ ให้น้อมเอา พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์ จะอยู่ในอิริยาบถใด ก็ให้มีความเพียร ผู้ที่ภาวนาจิตสงบลงชั่วช้างพับหู งูแลบลิ้น ชั่วไก่กินน้ำ นี่ อานิสงส์อักโข ให้ตั้งใจทำไป
การที่จิตรวมลงไปบางครั้ง มี 3 ขั้นสมาธิ คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ หากรวมลง ขณิกสมาธิ เราบริกรรมไป พุทโธ หรืออะไรก็ตาม จิตสงบไปสบายไปสักหน่อย มันก็ถอนขี้นมา ก็คิดไปอารมณ์เก่าของมันนี่ ส่วนหากรวมลงไปเป็น อุปจารสมาธิ ก็นานหน่อยกว่าจะถอนขึ้นไปสู่อารมณ์อีกให้ภาวนาไป อย่าหยุดอย่าหย่อน ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องไปนึกคาดหวังอะไร อย่าให้มีความอยาก เพราะมันเป็นตัณหา ตัวขวางกั้นไม่ให้จิตรวม ไม่ต้องไปกำกับว่า อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ การอยากให้จิตรวมลง เหล่านี้แหละ เป็นนิวรณ์ตัวร้าย ให้ปฏิบัติความเพียรไม่หยุดหย่อน เอาเนื้อและเลือด ตลอดจนชีวิตถวายบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ เราจะเอาชีวิตจิตใจ ถวายบูชาพระรัตนตรัย ตลอดจนวันตาย นี่ก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา แล้วจิตจะรวมลงอย่างไร เมื่อไร ก็จะเป็นไปเองเมื่อใจเป็นกลาง ปล่อยวาง สงบถูกส่วน"
ท่านพระอาจารย์หลวงตามหาบัว ได้พรรณนาถึง เมตตาธรรม และ ตปธรรม ของ หลวงปู่ขาว ไว้ในหนังสือ ปฏิปทาของพระธุดงค์กรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต มีข้อความตอนหนึ่งว่า
"ท่านอาจารย์องค์นี้มีความเด็ดเดี่ยวมาก การนั่งภาวนาตลอดสว่างท่านทำได้สบายมาก ถ้าไม่เป็นผู้มีใจกล้าหาญกัดเหล็กกัดเพชรจริงๆ จะทำไม่ได้ จึงขอชมเชยอนุโมทนากับท่านอย่างถึงใจ เพราะเป็นที่แน่ใจในองค์ท่านร้อยเปอร์เซนต์ว่า เป็นผู้สิ้นภพสิ้นชาติอย่างประจักษ์ใจ ทั้งที่ยังครองขันธ์อยู่"
ในบทความภาคผนวกตอนหนึ่งของหนังสือ อนาลโยวาท ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งหนึ่งว่า
"วันหนึ่ง มีชายแปลกหน้าวัยฉกรรจ์ผู้หนึ่ง ปรากฏกายขึ้นที่วัด ขอเข้านมัสการท่านอาจารย์ พอได้พบก็ตรงเข้าไปกราบถึงที่เท้า แล้วเอ่ยปากขอบพระคุณที่ท่านช่วยเขาให้พ้นจากโทษมหันต์ พร้อมเล่าว่า เขาเป็นทหารไปรบที่ประเทศลาวเป็นเวลานาน พอกลับมาบ้าน ก็ได้รู้ว่าภรรยานอกใจ จึงโกรธแค้น เตรียมปืนจะไปยิงทิ้งทั้งคู่ แต่ยังไม่ทันได้กระทำเช่นนั้น เพราะกินเหล้าเมา แล้วหลับฝันไปว่า มีพระแก่องค์หนึ่งมาขอบิณฑบาตความอาฆาตโกรธแค้น และเทศน์ให้ฟังถึงบาปกรรมของการฆ่า จนเขายอมยกโทษ ให้อภัย ละความพยาบาท ได้ถามในฝัน ได้ความว่า พระภิกษุองค์นั้น ชื่อ ขาว มาแต่เมืองอุดรฯ พอตื่นขี้นจึงออกเดินทางมาเสาะหาท่าน จนได้พบที่วัด เช่นนี้"
หลวงปู่ขาว ท่านกล่าวอนุโมทนา แล้วอบรมต่อไปให้เข้าใจหลักธรรม ตลอดจนผลของการงดเว้นจากการฆ่า ทำให้ชายผู้นั้นซาบซึ้งในรสพระธรรม จนตัดสินใจที่จะอุปสมบทต่อไป เรื่องนี้ เป็นหลักฐานว่า ความเมตตาของท่านเปี่ยมล้น และครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างขวางเพียงใด
อนุสรณ์สถานที่ถือว่าสำคัญที่สุดของ หลวงปู่ขาว ก็คือ วัดถ้ำกลองเพล อันเป็นสถานที่ท่านพำนักจำพรรษามาตั้งแต่ พ.ศ. 2501 จนกระทั่งมรณภาพ เมื่อ พ.ศ. 2526 ท่านดูแลบริเวณวัดซึ่งมีเนื้อที่กว่าพันไร่ ให้เป็นป่าร่มรื่นบนลากสันเขา มีโขดหินขนาดใหญ่มากมาย เป็นเพิงผาธรรมชาติที่งดงาม ด้านหลังเป็นอ่างเก็บน้ำ ชื่อ อ่างอาราม ซึ่งเป็นโครงการชลประทานพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จุดเด่นของ วัดถ้ำกลองเพล คือ พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร หลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งสร้างเสร็จตั้งแต่ พ.ศ. 2531 เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะสวยงามควรแก่การศึกษาและเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง
ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ "
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก ประวัติหลวงปู่ขาว อนาลโย โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมปนฺโน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)