คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
มีชาวต่างประเทศจำนวนมากที่มีความเลื่อมใสในพระธรรมคำสอน แล้วมาบวชอยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมเป็นศิษยานุศิษย์ ของ หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี บ้างก็ปวารณาตัวบวชตลอดชีวิต จึงมีคำถามว่า "ศาสนาพุทธ มีดีอะไรจึงทำให้ฝรั่งต่างชาติละทิ้งอาชีพและอนาคตอันศิวิไลซ์มาบวชมากมายเช่นนี้"
ฉายา เกวลี อายุ 54 ปี พรรษา 25 วิทยฐานะ นักธรรม ชั้นเอก ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ (สาขาวัดหนองป่าพง ที่ 19) ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (ข้อมูล ณ พ.ศ. 2566)
นามเดิมชื่อ เฮ็นนิ่ง นามสกุล เอ็กเกร์ส เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2511 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 1 ปีวอก ณ อำเภอคาร์ลสรูเฮ จังหวัดบาเดน-เวือร์เทมเบอร์ก ประเทศเยอรมนี นามบิดา นายเฮลมุท นามมารดา นางโรสวิทา
บรรพชา เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2540 อายุ 28 ปี ณ วัดหนองป่าพง ตำบลโนนผึ้ง (เขตปกครองคณะสงฆ์ เป็นตำบลโนนโหนน เขต 2) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระอธิการเลี่ยม ฐิตธมฺโม (พระเทพวชิรญาณ) เป็นพระอุปัชฌาย์
อุปสมบท เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 อายุ 29 ปี ณ วัดหนองป่าพง ตำบลโนนผึ้ง (เขตปกครองคณะสงฆ์ เป็นตำบลโนนโหนน เขต 2) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระอธิการเลี่ยม ฐิตธมฺโม (พระเทพวชิรญาณ) วัดหนองป่าพง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ฌอน ชยสาโร (พระธรรมพัชรญาณมุนี) วัดป่านานาชาติ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์อลัน วิปสฺสี วัดป่านานาชาติ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ชาวตะวันตกส่วนใหญ่ มักจะเริ่มจากแนวคิดทั่วไปเกี่ยวกับพุทธศาสนา เกี่ยวกับการนั่งสมาธิ ซึ่งเป็นวิธีในการทำให้จิตใจสงบ ไม่มีความเครียดในชีวิต ผ่อนคลาย และหนึ่งในสิ่งที่งดงามคือ การพบพุทธศาสนา เราได้รับสารว่า ให้หยุดพักชั่วครู่ อยู่กับตัวเอง
เหมือนกับเวลาที่คนมาที่นี่ เขาได้ตระหนักว่า นอกจากการทำสมาธิโดยเฉพาะในพุทธศาสนานิกายเถรวาท ได้เกิดปัญญามหาศาลซึ่งสามารถนำมาใช้ในชีวิต และสำหรับพวกเราหลายคน มันเป็นสิ่งที่มีเหตุผล ทำให้พวกเราคิดได้ทันทีว่านี่แหละสิ่งที่พวกเรากำลังมองหา
เพราะคำสอนต่างๆ นั้น ถูกจุด ตรงประเด็น ไม่มีอะไรที่ลึกลับรู้กันในวงจำกัด คือไม่มีสิ่งที่ปิดบังซ่อนเร้น ไม่มีสิ่งที่แปลกประหลาดในนั้น
เหมือนกับสิ่งที่หลวงพ่อชาสกัดออกมา พูดถึงหลวงพ่อชา หลวงปู่มั่น พวกท่านต่างเพ่งไปที่แก่นของคำสอน เช่น อริยสัจ 4 หรือไตรลักษณ์ การลดความเครียด การหยุดพักชั่วคราว การมีสติ การระลึกรู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นและการค้นพบตัวเอง นั่นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนชอบในพุทธศาสนา
เราต้องการเกิดปัญญาด้วยตัวเราเอง และพุทธศาสนาก็เป็นคำสอนแห่งปัญญาในทางหนึ่งเรามาที่นี่และรู้สึกถึงความสงบ ความผ่อนคลายของผู้คนในวัดแห่งนี้ เหมือนกับคนทั่วไปในประเทศไทย
ทำให้เรารู้สึกค่อนข้างประทับใจและเกิดแรงบันดาลใจ และก็มีหลายสิ่งที่ทำให้เราประทับใจอย่างมาก นั่นคือความโอบอ้อมอารีของคนไทย คนไทยชอบทำบุญ ให้การต้อนรับชาวต่างชาติเป็นอย่างดี ต้อนรับพวกเราต่างชาติที่แบคแพคมา ที่มาเที่ยวชายทะเล เที่ยวเชียงใหม่ หรือแม้แต่มาที่อุบล มายังพุทธศาสนา ไม่รู้สึกว่ามีอคติ ผู้คนทั้งหลายแค่รู้สึกมีความสุขมากๆ ที่เห็นเรามา และทำให้เห็นได้ว่าพวกเขามีความสุขจริงๆ พวกเขาช่างเป็นมิตรและทำไมถึงใจดีอย่างนี้
แล้วเมื่อออกไปบิณฑบาต ก็มักจะมีชาวต่างชาติที่มาที่วัด ติดตามพระสงฆ์ออกไปบิณฑบาตในตอนเช้าด้วย และพวกเขามักจะรู้สึกซาบซึ้งประทับใจ ได้เห็นเด็กน้อยได้เห็นผู้เฒ่า ผู้แก่ที่ทางประเทศตะวันตกมักจะไม่ค่อยได้เห็นกัน เพราะมักจะไปอยู่บ้านพักคนชราหรือโรงพยาบาลกัน แต่ที่นี่เขาอยู่ร่วมกันในหมู่บ้าน ในเมือง ออกมาเจอกันแล้วก็ได้เห็นการให้ความเคารพ อย่างเด็กน้อยที่พูดว่า นั่งลง นั่งลง ไหว้พระเร็ว นั่นเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกซาบซึ้งประทับใจจริงๆ แต่ความรู้สึกอบอุ่นแบบครอบครัวที่เราเห็นที่เมืองไทย มันทำให้เราบางคนรู้สึกอิจฉาคนไทยจริงๆ ที่มีแบบนั้นในขณะที่ทางตะวันตกมันสูญหายไปแล้ว
แน่นอนว่า ชาวต่างชาติที่มาที่นี่นั้น ต่างเป็นลูกชายจากครอบครัวที่ดี ไม่ใช่แค่คนที่หลีกหนีความวุ่นวายมา แต่ยังมีคนที่รู้สึกซาบซึ้งกับวัฒนธรรมของพุทธศาสนาที่เราได้เรียนรู้มาด้วย
สิ่งหนึ่งในนั้นแน่นอนว่าคือ ปรัชญา คำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งชัดเจนแจ่มแจ้ง อาตมาได้ศึกษาจากตำรามาบ้าง พวกเราชาวต่างชาติได้มีโอกาสอ่านพระสูตรที่ขายอยู่ในร้านหนังสือ อย่างไปฝรั่งเศส ไปร้านหนังสือ ก็สามารถซื้อหนังสือเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ พอได้อ่านแล้วก็รู้สึกได้แรงบันดาลใจ จากนั้นก็รู้ว่า พระทำสมาธิ ชาวพุทธทำสมาธิ พวกเขาใช้ชีวิตอย่างสงบสุข อาศัยอยู่ในสถานที่อย่างหลังคาโลก แล้วก็เกิดอยากทำบ้าง
แล้วประการที่สามคือ จากนั้นก็ได้ค้นพบว่า โอ้... ความเป็นพุทธนี้อยู่ที่นี่ ผู้คนมาที่อุบล หรือมาเมืองไทย แล้วก็เห็นความงดงาม เห็นผู้คนที่นี่ให้ความเคารพกับศาสนา กับพระสงฆ์ เห็นความโอบอ้อมอารี ทั้งหมดทั้งปวงนี้ทำให้เราฉุกคิดว่า เราได้ทำอะไรมาบ้าง ซึ่งอาจจะไม่ค่อยมีคุณค่านัก หรืออยากจะเปลี่ยนชีวิต
ผลงาน พระภาวนาวัชราจารย์ ในการเผยแผ่พระธรรมเทศนาทั้งรูปแบบ หนังสือ การบันทึกเสียงและวิดีโอ มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาษาไทย อังกฤษ และเยอรมัน เป็นต้น ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ช่องยูทูป International Forest Monastery Wat Pah Nanachat และผ่านเว็บไซต์วัด www.watpahnanachat.org ได้ทำหนังสือสวดมนต์ทำวัตรแปล ภาษาบาลี-อังกฤษ (Buddhist Chanting Pali-English) เพื่อใช้ภายในวัดและเผยแพร่ออกไปสู่ระดับสากล (พ.ศ. 2561) ได้ทำการแปลหนังสือธรรมะเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา อาทิเช่น ประวัติและปฏิปทาพระเทพวชิรญาณ (เลี่ยม ฐิตธมฺโม) (The Life and Teachings of Luang Por Liem Thitadhammo) หนังสือ No Worries หนังสือ The Ways of the Peaceful เป็นผู้เรียบเรียงหนังสือ Forest Path (พ.ศ. 2556) หนังสือ นอบน้อมบูชาคุณ (พ.ศ. 2564) หนังสือ Vinaya – die unbekannte Seite der Lehre des Buddha ภาษาเยอรมัน (พ.ศ. 2556)
พระภาวนาวัชราจารย์ ท่านเป็นผู้จัดโครงการอบรมกัมมัฏฐาน ทำหน้าที่สอนกัมมัฏฐานและจัดพระวิทยากรในการอบรมธรรม โดยใช้ภาษาอังกฤษแก่ชาวต่างชาติที่เข้ามาพักปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ที่วัดป่านานาชาติ ปีละประมาณ 400 คน เวลาอยู่พักปฏิบัติธรรมระยะเวลาสั้นยาวต่างกัน โดยเฉลี่ยประมาณ 7 วัน ให้คำแนะนำชีวิตบรรพชิตแก่ชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบนักท่องเที่ยว นักการศาสนาต่างๆ ผู้มาแวะเยี่ยมเยือน หรือผู้ที่มีความสนใจด้านการปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน มีการอบรมและสนทนาธรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การฟังธรรมเทศนาเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ชาวต่างชาติที่สนใจในพุทธศาสนา ได้มีโอกาสสัมผัสกับวิถีชีวิตพรหมจรรย์ เป็นเหตุให้ชาวต่างชาติจำนวนมากเกิดศรัทธาแล้วออกบวชเป็นพระภิกษุ สามเณร ในพุทธศาสนาในเวลาต่อมา หรือนำหลักการทางพระพุทธศาสนาไปใช้ในชีวิตคฤหัสถ์ที่ประเทศของ แต่ละคนต่อไป
รับหน้าที่เป็นล่ามแปลพระธรรมเทศนาของพระมหาเถระซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อชารุ่นเก่า ที่ท่านเทศน์ให้เป็นภาษาอังกฤษ ในเวลาที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านไปปฏิบัติศาสนกิจต่างประเทศ เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ต่างประเทศ เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาแก่ชาวต่างชาติ ที่ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ สืบเนื่องมาโดยตลอด
ดำเนินการรวบรวมเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดิน วัดป่านานาชาติ ให้ออกเป็นโฉนดที่ดินถูกต้อง ตามกฎหมายครบถ้วนทุกแปลง การขยายเขตที่ดินวัดด้านหน้าทางเข้า และด้านข้างทิศตะวันตกของวัด เพื่อดำเนินโครงการปลูกป่าเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ อนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นถิ่น เพื่อให้เป็นศาสนสมบัติ เป็นเขตปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนสืบต่อไป เป็นผู้ริเริ่มการทำกิจกรรมปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านในการทำการเกษตรแบบปลอดสารเคมี
ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ทรงตัดหวายลูกนิมิตอุโบสถ
ณ วัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี วันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2565
พ.ศ. 2562 ได้ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ (ทดแทนหลังเดิมที่มีขนาดเล็ก ไม่สะดวกในการทำสังฆกรรม เช่น การบรรพชา อุปสมบทพระ เป็นต้น) ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นการออกแบบที่มีการรักษารูปแบบแบบเรียบง่าย ตามแบบอย่างอุโบสถของวัดหนองป่าพง โดยเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 ชั้น ยกสูง เปิดโล่ง ไม่มีผนัง ไม่มีหน้าต่าง ดูกลมกลืนกับธรรมชาติ เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบอีสานล้านช้างเพื่อรักษาความเป็นโบราณไว้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : พระอุโบสถหลังใหม่วัดป่านานาชาติ
ข่าวที่เรียกได้ว่า กำลังเป็นที่ฮือฮาในหมู่ Social Network อย่างยิ่งทีเดียว มีการแชร์กันไปมากมาย สำหรับเรื่องราวของพระชาวมาเลเซียรูปหนึ่ง ที่รู้สึกซาบซึ้งในรสพระธรรม จนถึงขนาดยอมทิ้งทรัพย์สมบัติอันมหาศาล ถึง 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.85 แสนล้านบาท) เพื่อขอบวชศึกษาพระธรรมภายใต้ร่มกาสาวพักตร์
อาจารย์สิริปันโน (Ajahn Siripanno) หรือชื่อเดิมคือ เว็น สิริปัญโญ (Ven Siripanyo) เป็นลูกชายคนเดียวของมหาเศรษฐี ที. อนันดา กริชนัน (Tan Sri Ananda Krishnan) เป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญสุนทานชาวศรีลังกา เชื้อสายทมิฬ ซึ่งนิตยสาร Forbes จัดอันดับความร่ำรวยเป็นอันดับ 2 ของมาเลเซีย และอันดับ 4 ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และอันดับที่ 93 ของโลก (2nd richest man in Malaysia, 4th in Southeast Asia and 93th in the world according to Forbes in 2012) และ ม.ร.ว.สุพินดา จักรพันธุ์ (คุณหญิงใหญ่) มารดาซึ่งเป็นคนไทย
ครอบครัวนี้มีลูกสาว 2 คน และมีลูกชายเพียง 1 คน คือ อาจารย์สิริปันโน ท่านจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ และสามารถพูดได้ถึง 8 ภาษา ท่านสิริปันโน เคยมาศึกษาธรรมกับ อาจารย์ชยสาโร ที่วัดป่านานาชาติอยู่ 3 เดือน จนเมื่อท่านเรียนจบและทำงานได้ราวหนึ่งปี ก็ตัดสินใจบวชอีกครั้งและไม่สึกตลอดชีวิต
ท่านได้เลือกที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อ 24 ปีที่แล้ว (นับถึงปี พ.ศ. 2561) โดยเป็นลูกศิษย์สาย พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) แห่งวัดหนองป่าพง ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี และท่านไม่เคยมองย้อนกลับไป อยากใช้ชีวิตฆราวาสอีก
ท่านปฏิเสธโอกาสที่จะทำงาน เพื่อเข้ามาดูแลและขยายอาณาจักรธุรกิจของบิดา รวมทั้งปฏิเสธที่จะรับมรดกของครอบครัว ซึ่งมีมูลค่าราว 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ($9.5 billion -2011) แต่กลับเลือกที่เดินบนเส้นทางของการเจริญสมาธิภาวนา ตามแนวปฏิบัติสายพระป่าแห่งวัดหนองป่าพงตลอดชีวิต
พวกเราชาวพุทธ ไม่ควรพูดถึงพระด้วยการเน้นชูพื้นเพชีวิตของท่านก่อนบวช (ว่าเรียนจบอะไร, ครอบครัวทำอะไร เป็นต้น) เพราะนั่นไม่สำคัญ ไม่ว่าใครจะเรียนจบอะไร พ่อแม่ทำอาชีพอะไร อยู่ในสังคมแบบไหน ก็ไม่สำคัญ เพราะว่าเมื่อ “...วรรณะ ๔ จำพวก คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิม ถึงการนับว่าพระสมณศากยบุตรทั้งนั้น เปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่ๆ คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมหมด ถึงการนับว่ามหาสมุทรนั่นเองฉะนั้น...” พวกเราจึงควรจะพูดถึงท่านที่ธรรมะและปฏิปทามากกว่า
ท่านสิริปันโน กับโยมพ่อ มหาเศรษฐี ที. อนันดา กริชนัน
พระอาจารย์สิริปันโน (Ajahn Siripanno) ท่านเป็นพระที่เล่าถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์ โดยไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (กล่าวคือ ไม่เอาชื่อเสียงเกียรติคุณของพ่อแม่ครูบาอาจารย์มาเป็นฐานเพื่อเสริมตัวเองขึ้น เพื่อยกตัวเองขึ้น) แต่มุ่งเน้นให้ความสำคัญที่ธรรมะและปฏิปทาของพ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นหลัก นี่คือสิ่งที่เราควรชูขึ้น คือ ธรรมะ ปฏิปทา การปฏิบัติตน เราควรทำอย่างนี้เหมือนกัน ใช้ตรงนี้เป็นแบบอย่าง
ปัจจุบันท่านจำพรรษาอยู่ที่ สำนักสงฆ์เต่าดำ จังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นสาขาของวัดป่านานาชาติ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ภาพท่านสิริปัญโญ กับโยมมารดา (คุณหญิงใหญ่ ม.ร.ว.สุพินดา จักรพันธุ์)
มองพระพุทธศาสนา โดย พระอาจารย์สิริปัญโญ
ดอกบัวบานทางทิศตะวันตก : ตอนที่ 1 | ตอนที่ 2 | ตอนที่ 3 | ตอนที่ 4
หลวงปู่เกลี้ยง เดิมชื่อ เกลี้ยง คุณมานะ เกิดที่บ้านก้านเหลือง ตำบลหมากเขียบ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นบุตรของนายบุญมี คุณมานะ และนางผิว คุณมานะ มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน ในช่วงวัยเด็กได้ศึกษาในโรงเรียนวัดบ้านโนนแกด จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเป็นการศึกษาชั้นสูงสุดในสมัยนั้น จึงได้ออกไปช่วยครอบครัวประกอบอาชีพคือทำนาทำไร่ทำสวน และเรียนต่อชั้น ม. 3 จบในปี 2466
ต่อมาปี 2467 ทางราชการประกาศรับสมัครผู้ที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นครูช่วยสอน หลวงปู่สอบผ่านจึงได้เป็นครูผู้ช่วยสอนครั้งแรกที่ โรงเรียนวัดบ้านโนนแกด สอนได้สองเดือน ทางราชการให้ย้ายไปช่วยสอนที่โรงเรียนบ้านโพรง ตำบลไพรบึง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน และท่านก็ไปสอบ นักธรรมตรีที่สนามหลวง ซึ่งมีพระ สามเณร ไปสอบจำนวน 47 รูป ปรากฏว่า หลวงปู่เกลี้ยงและพระภิกษุสิงห์ สอบผ่านแค่ 2 รูป เท่านั้น
หลวงปู่เกลี้ยง ต้องการจะเรียนต่อนักธรรมโท แต่ที่ศรีสะเกษยังไม่มีที่เรียน ท่านจึงไปเรียนต่อนักธรรมโทที่ จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ในช่วงขณะนั้นทางราชการให้ท่านต้องเกณฑ์ทหาร ท่านจึงจำต้องลาสิกขาบทไปรับใช้ชาติ เมื่อเป็นทหารปลดประจำการออกมาแล้ว ท่านจึงได้อุปสมบทอีกทีเมื่อปี พ.ศ. 2518 ณ วัดบ้านแทง ตำบลซำ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีพระเกษตรศีลาจารย์ วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านก็ได้ช่วยเหลืองานวัด ทั้งซ่อมแซมถนน และการให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ประสบปัญหา และ มีผู้คนที่ไม่สบาย ไปรักษาที่โรงพยาบาลก็ไม่หาย แต่หลวงปู่ท่าน ก็ยอมให้รักษาโดยใช้ยาตำรับแพทย์แผนโบราณ และจากความเชื่อศรัทธา ทำให้ผู้คนหายเจ็บป่วย ถ้ามาหาทันเวลาและอยู่ในวิสัยที่จะหายไข้ได้
หลวงปู่เกลี้ยง เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สายกรรมฐาน ทั้งแนวทางปฏิบัติของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งภาคอีสาน ได้รับการถ่ายทอดพุทธอาคม ศึกษาเรื่องสมุนไพรรักษาโรค และวิชากรรมฐาน จากครูบาอาจารย์หลายท่าน เป็นที่เลื่องลือกันว่า ท่านมีความพิเศษสามารถนิมิตบันดาล หากมีผู้คนไปไต่ถามเรื่องต่างๆ เพียงแค่ยก ขันธ์ 5 บูชาคุณครู และบอกถึงความจำเป็นให้ท่าน ท่านจะตอบตามนิมิตบันดาล ส่วนใหญ่เป็นไปตามคำถามทุกประการ การรู้เห็นเป็นสิ่งเหนือวิสัยของคนทั่วๆ ไปที่ไม่สามารถรู้เห็นได้
"พระธาตุวัดบ้านโนนแกด" เป็นโบราณสถานที่มีความเก่าแก่แห่งหนึ่งใน จังหวัดศรีสะเกษ เดิมเป็นพระธาตุที่ก่อด้วยอิฐทั้งองค์ มีลักษณะคล้ายพระธาตุพนม ส่วนยอดจะกลม ที่ยอดพระธาตุจะมีฉัตรสำริดหลายชั้น และมีกระดิ่งโลหะเมื่อลมพัดจะมีเสียงดัง ในทุกวันพระจะมีแสงลอยออกจากยอดพระธาตุ จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านให้ความนับถือแห่มากราบไหว้สักการบูชาตลอดอย่างต่อเนื่อง แต่ต่อมาองค์พระธาตุได้ล้มลงมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกับพระธาตุพนมล้ม ชาวบ้านที่เคยไปเคารพกราบไหว้ต่างรู้สึกเสียดายได้ช่วยกันนำชิ้นส่วนที่สำคัญเก็บไว้
ต่อมาในสมัยที่ หลวงปู่เกลี้ยง เตชธมฺโม หรือ พระครูโกวิทพัฒโนดม เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน มาจำพรรษาที่วัดบ้านโนนแกด ได้มีศรัทธาร่วมกับคณะกรรมการวัดและพระผู้ใหญ่ในจังหวัด วางแผนบูรณะ โดยเชิญเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร มาดำเนินการขุดกรุฐานองค์พระธาตุ พบโบราณวัตถุมีค่ามากมาย อาทิ พระพุทธรูปทองคำ 16 องค์ ผอบบรรจุพระบรมธาตุ 1 ใบ พระพุทธรูปเงิน 1 ถาด บาตรพระ 3 ใบ ดาบโบราณ 1 เล่ม แหวนประดับพลอย 4 วง และอื่นๆ อีกหลายรายการ จึงได้จัดสร้างห้องเก็บไว้ อย่างปลอดภัย
เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่ดำเนินการขุด ให้ความเห็นว่าพระธาตุบ้านโนนแกดมีอายุกว่า 1400 ปี ก่อนล้มลง เคยได้รับการบูรณะมาแล้ว 1 ครั้ง การบูรณะครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ. 2527 เป็นการบูรณะครั้งที่ 2 องค์พระธาตุวัดโนนแกดนั้น เป็นที่ศรัทธาของประชาชนชาวเมืองศรีสะเกษและใกล้เคียงมาก เช่นเดียวกับ "หลวงปู่เกลี้ยง" ที่มีญาติธรรมจากทั่วประเทศเดินทางมากราบนมัสการขอพรเป็นประจำ เป็นพระสงฆ์นักพัฒนาและมีวิชาความรู้ทางด้านพระคาถาอาคมที่นำมาช่วยสงเคราะห์ชาวบ้าน
นอกจากนี้ท่านเป็นพระสงฆ์ที่ดำรงตนแบบสมถะ ไม่ยึดติดในลาภยศสรรเสริญ มักจะสั่งสอนญาติโยมด้วยข้อธรรมชี้นำแนวทางแห่งการสร้างความดี เพื่อใช้การดำเนินชีวิต ด้วยคุณงามความดีได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ "พระครูโกวิทพัฒโนดม" พร้อมตาลปัตรพัดยศ เมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม 2534 และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2552 มหาเถรสมาคมมีมติให้เลื่อนชั้นจากตำแหน่ง พระครูเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอก เป็นเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก เนื่องจากหลวงปู่เกลี้ยงมีอายุมากถึง 103 ปีแล้ว จึงได้นำพระบัญชาตราตั้งมาถวายแก่หลวงปู่เกลี้ยงที่วัด
พระครูโกวิทพัฒโนดม หรือ หลวงปู่เกลี้ยง เตชะธัมโม ละสังขารอย่างสงบ เมื่อช่วงเช้าวันนี้ เวลา 08.59 น. ของวันที่ 6 มกราคม 2562 ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ด้วยโรคชรา สิริอายุรวมได้ 111 ปี 88 วัน โดยศิษยานุศิษย์เข้ากราบแสดงความอาลัยด้วยความเคารพเป็นจำนวนมาก หลวงปู่ได้มีการทำพินัยกรรมไว้ โดยพินัยกรรมข้อหนึ่งที่หลวงปู่ได้ระบุไว้คือ เมื่อหลวงปู่ละสังขารไปแล้ว ให้เก็บสังขารของหลวงปู่ไว้เป็นเวลา 1 ปี เมื่อครบกำหนดแล้ว จึงให้ประกอบพิธีฌาปนกิจศพหลวงปู่ต่อไปได้
หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล ชื่อเดิมของท่านคือ “หมุน แก้วปักปิ่น” (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลเป็น “ศรีสงคราม”) เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ปีชวด พ.ศ. 2437 ในช่วงรัชกาลที่ 5 ณ บ้านจาน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ บิดาชื่อ “ดี” มารดาชื่อ “อั๊ว” มีพี่น้อง 9 คน ท่านเป็นคนที่ 7 มีอาชีพทำไร่ทำนา เป็นเด็กยากจน แต่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ต่อมาบิดามารดาเห็นแววทางด้านพระพุทธศาสนา จึงให้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 14 ปี และนำไปฝากกับพระอาจารย์สีดา เจ้าอาวาสวัดบ้านจาน ซึ่งเป็นพระที่เชี่ยวชาญด้านกรรมฐาน และมีวิชาอาคมที่เก่งมาก
ในปี 2460 ขณะอายุได้ 23 ปีได้เข้าอุปสมบทหมู่จำนวน 9 รูป โดยหลวงปู่เป็นรูปที่ 9 โดยมีโยมลุงของท่านเป็นเจ้าภาพ โดยมีหลวงพ่อสีดา เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเพ็ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และหลวงพ่อผุย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับรับฉายาว่า "ฐิตสีโล" แปลว่า "ผู้มีศีลตั้งมั่น"
หลังจากบวชแล้วได้จำพรรษาที่วัดบ้านจาน ศึกษาเล่าเรียนอักษรไทย อักษรขอม ฝึกกัมมัฎฐานในหมวดสมถะ และวิปัสสนากรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์ ครูบาอาจารย์ต่างๆ ในแถบนั้นเป็นเวลา 4 ปีเต็ม จากนั้นท่านมีความคิดว่า จะต้องแสวงหาครูบาอาจารย์อื่นๆ เพื่อศึกษาคันถธุระและวิปัสสนาธุระในชั้นที่สูงๆ ขึ้นไปอีก จึงออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ และร่ำเรียนวิชาอาคมกับพระเถระชื่อดังหลายรูป เกือบทั่วประเทศจนถึงประเทศลาว มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย
ปี พ.ศ.2464 หลวงปู่หมุน เริ่มออกศึกษาแสวงหาประสบการณ์โดยได้ร่ำเรียนทั้งเวทย์วิทยา และสมถกรรมฐานจากครูบาอาจารย์หลายสำนัก การเดินทางในสมัยนั้นเป็นที่ลำบากยากเย็น ต้องเดินเท้าเปล่าผจญภัยจากผีป่า หรือสัตว์ร้ายนานัปการ แต่หลวงปู่มิได้ย่อท้อ ได้เดินทางไปศึกษาวิชาอาคมที่ สำนักตักศิลาแห่งบ้านจิกใหญ่ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี กระทั่งศึกษาคัมภีร์มหาพุทธาคม อันเป็นแม่บทของคัมภีร์ปถมัง คัมภีร์อิทธิเจ คัมภีร์มหาราช คัมภีร์ตรีนิสิงเห ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งอำนาจจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำราพิชัยสงคราม เช่น คัมภีร์นิติประกาศิต คัมภีร์ธนูรเวทว่าด้วยการแต่งเครื่องครอบมนตร์ในสงคราม เป็นต้น
ในช่วงปี 2475-2482 เมื่อหลวงปู่สำเร็จการศึกษาวิชาการต่างๆ ก็เก็บบริขารออกธุดงค์ป่าผ่านถิ่นทุรกันดารในชนบทโดยเท้าเปล่า มายังกรุงเทพฯ ในระยะแรกหลวงปู่เข้าพักที่ วัดเทพธิดาราม เป็นการชั่วคราว โดยมีครูทองอินทร์ เป็นครูสอนของวัดเทพธิดาราม เป็นผู้เอื้อเฟื้อจัดหาที่พำนักให้ ท่านได้ให้หลวงปู่อยู่ที่วัดอรุณราชวราราม พำนักอยู่กับพระพิมลธรรม (นาค) ศิษย์สายสมเด็จพระสังฆราชแพ โอกาสนี้หลวงปู่ได้ร่ำเรียนวิชาคัมภีร์มูลกัจจายน์สูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรโบราณอันเก่าแก่ของคณะสงฆ์ไทย ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นตำราที่ละเอียดลึกซึ้ง แตกฉานพระบาลีว่าด้วยคัมภีร์อรรถกถายากยิ่งที่จะมีผู้เรียนได้สำเร็จ ปัจจุบันวิชานี้ได้ยกเลิกไปแล้ว
หลวงปู่หมุน ได้เข้าสอบวิชามูลกัจจายน์นั้น ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งการสอบในสมัยนั้นมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธาน และสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เป็นประธานกรรมการฝ่ายสงฆ์ และพระเถราจารย์เป็นผู้ทดสอบด้วย โดยมีการถามตอบแบบมุขปาฐะ (ปากเปล่า) ถ้าถามตอบบาลีผิดเกิน 3 คำ ให้ปรับเป็นตกทันที ด้วยความรู้ความสามารถที่แตกฉานในคัมภีร์ หลวงปู่สามารถสอบได้เปรียญธรรมถึง 5 ประโยคในคราวเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นหลวงปู่ได้ใช้วิชาความรู้อย่างคุ้มค่า โดยได้เป็นครูสอนมูลกัจจายน์อยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม (ฝั่งธนบุรี) เป็นเวลานานหลายปี มีลูกศิษย์มากมาย นอกจากนี้ในช่วงหนึ่งหลวงปู่มาพักกับสมเด็จพระสังฆราชแพ ที่วัดสุทัศน์ฯ และได้ศึกษาวิชาบางอย่างกับสมเด็จพระสังฆราชแพอีกด้วย
จากนั้นก็เก็บบริขารเดินธุดงค์ติดตามพระอาจารย์ทองดี ที่มาจาก อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย (ในสมัยนั้น ปัจจุบันเป็น จังหวัดบึงกาฬ) ได้ธุดงค์ไปทางภาคเหนือเข้าเขตพม่าเป็นเวลา 1 ปี จากนั้นก็เดินเท้าเปล่าลงภาคใต้ไปพำนักกับพระอาจารย์ทิม วัดช้างไห้ เพื่อปฎิบัติกรรมฐาน และแลกเปลี่ยนวิชาอาถรรพณ์เวทมนต์กับพระอาจารย์ทิมอยู่ ประมาณปีกว่าๆ ก่อนธุดงค์เข้าเขตประเทศมาเลเซีย เพื่อจะเรียนวิชากับพ่อท่านครน วัดบางแซะ ใช้เวลาธุดงค์อยู่ถึง 7 วัน แต่ไม่พบจึงตัดสินใจกลับวัดช้างให้ ต่อจากนั้นก็ได้เรียนวิชาจากพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้ของที่ระลึกจากพ่อท่านคล้ายคือ ชานหมากเม็ดใหญ่เป็นที่ระลึก จากนั้นก็เดินธุดงค์เรื่อยมาจนกลับสู่เขตอีสานอีกครั้ง และได้พบกับหลวงปู่สี ฉันทสิริ ในป่าแถบจังหวัดหนองคาย และได้วิชาลบผงสีจากหลวงปู่สี ซึ่งได้รับสืบทอดมาจากสมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆังโฆษิตาราม
ช่วงที่ท่านธุดงค์แถบอุบลราชธานีได้พบกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และขอเรียนข้อวัตรปฏิบัติในพระกรรมฐาน แต่ไม่ได้ร่วมคณะธุดงค์ เพราะท่านอยู่นิกายมหายาน หลวงปู่เคยเล่าประวัติในช่วงธุดงค์ให้กับพระภิกษุที่เป็นหลานของท่านว่า เคยได้เป็นศิษย์หลวงปู่มั่นอยู่พักหนึ่ง ในช่วงที่หลวงปู่ต้องการเจริญสมณธรรม เป็นธรรมอันล้ำลึกยากยิ่งที่ผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงจะล่วงรู้ถึงอารมณ์ของวิปัสสนานี้ได้ หลวงปู่หมุนได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์มั่นอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็แสวงหาความวิเวกเพื่อประพฤติปฏิบัติต่อไป จนกระทั่งหลวงปู่แตกฉาน เชี่ยวชาญ ครั้งนั้นหลวงปู่หมุนได้ศึกษาธรรมจนที่สหธรรมมิกที่เป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น รู้จักสนิทสนมกับหลวงปู่ทุกองค์ เช่น หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นต้น
ในตอนที่หลวงปู่หมุนไปกราบนมัสการ หลวงปู่มั่น ท่ามกลางศิษย์สายกองทัพธรรม ในขณะสนทนาธรรมหลวงปู่มั่นได้ปรารภกับหลวงปู่หมุนว่า "ท่านหมุน ท่านเก่งพอตัวอยู่แล้ว หากไม่เจอกันหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปริยัติ ปฏิบัติ และปฎิเวธให้สอบถามท่านแหวนได้ เพราะเขาเก่งมาก"
หลวงปู่มั่นได้มอบของที่ระลึกให้หลวงปู่หมุน 2 อย่าง คือ แผ่นจารอักขระใบลาน ม้วนเป็นลูกอมกลมๆ เขียนเป็นภาษาขอมว่า เย ธมมา เหตุปภวา ฯลฯ เป็นต้น และธนบัตรรัชกาลที่ 8 พร้อมลายเซ็นหลวงปู่มั่น ภายหลังหลวงปู่ได้มอบให้โยมแม่ท่านไป ต่อมาหลวงปู่มีความกังขาสงสัยในกัมมัฏฐานในเรื่องของ จตุธาตุวัฏฐาน ซึ่งเป็นเรื่องของการปฏิบัติในธาตุทั้ง 4 เป็นมูลฐานของอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ จึงได้เดินทางไปกราบของความรู้เพิ่มเติมจาก หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ก็ได้รับความกระจ่าง จากนั้นก็ธุดงค์ต่อไป ท่านยังได้ร่ำเรียนวิชาจาก พระอาจารย์สิงห์ วัดป่าสาลวัน หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา
ต่อมาไม่นานก็ได้ร่ำเรียนวิชามีดหมอมหาปราบ จากหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว และหลวงพ่อเงิน วัดมะปรางค์หลวง ซึ่งวิชานี้หลวงพ่อเดิม พุทธสโร วัดหนองโพ จังหวัดนครสวรรค์ ก็เรียนจากหลวงพ่อขำและหลวงพ่อเงิน เช่นกัน นอกจากนี้ในช่วงที่หลวงปู่ธุดงค์มาสู่ภาคตะวันออกแถบจันทบุรี ท่านได้พำนักอยู่กับ หลวงพ่อสอน วัดเสิงสาง กระทั่งหลวงพ่อสอนไว้ใจให้วิชาอาคมและครอบครูให้กับหลวงปู่
หลวงปู่หมุนนับเป็นหนึ่งในทายาท ผู้สืบสายเวทวิทยาพุทธาคม ในสายสมเด็จลุนแห่งนครจำปาศักดิ์ ราชอาณาจักรลาว ที่ยังดำรงขันธ์อยู่ในปัจจุบัน โดยสมเด็จลุนเป็นที่เลื่องลือในคุณธรรมและอภิญญาอภินิหาร อาทิ สามารถเดินบนน้ำได้ ย่นระยะทางได้ แปลงร่างได้ เดินทะลุภูเขาได้กล่าวกันว่า ภิกษุสงฆ์ยุคก่อนโน้นต่างดั้นด้นสืบเสาะหาสมเด็จลุน เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษามหาวิทยาคม ตลอดจนวิปัสสนากรรมฐาน หลวงปู่หมุนเองก็ดั้นด้นธุดงค์ผ่านอุบลราชธานีเข้าประเทศลาว เพื่อสืบเสาะสมเด็จลุน แต่ไม่พบตัว จึงมาพักอยู่กับหลวงพ่อมหาเพ็ง วัดลำดวน ในช่วงนั้นหลวงปู่ได้ใช้เวลาค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฏก ในเรื่องพระวินัยปิฏก และพระอภิธรรม ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงการเจริญกัมฏฐานล้วนๆ ประมาณ 2 เดือนกว่า แล้วก็ออกธุดงค์กลับสู่ประเทศไทยเข้ากรุงเทพฯ มาพักนักที่วัดหงส์รัตนาราม
ต่อมาธุดงค์ไปทางอีสานเข้าสู่ประเทศลาวอีกหลายครั้ง จนกระทั่งท่านมีอายุ 30 ปีกว่าแล้ว คราวนั้นหลวงปู่ได้พบกับฆราวาสชื่อ อาจารย์ฉันท์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นเหลนของสมเด็จลุน ที่จังหวัดนครพนม โดยเรียนวิชาจากอาจารย์ฉันท์จนหมดภูมิแล้ว อาจารย์ท่านจึงได้แนะนำฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ดำ เหลนของสมเด็จลุนปรมาจารย์ใหญ่ที่สืบสายเวทวิทยาพุทธาคมในสายสมเด็จลุน
ในการฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่ดำนั้น มีกฎเกณฑ์รายละเอียดมากทั้งยังต้องทดสอบภูมิปัญญา และอำนาจของกระแสจิตที่ต้องเข้มแข็งพอที่จะเรียนวิชาของท่านได้ ในรุ่นที่หลวงปู่ฝากตัวเป็นศิษย์นั้นมีมากกว่า 50 รูป แต่หลวงปู่ดำท่านทดสอบวิชา แล้วคัดออกจนเหลือแค่ 3 รูป มีหลวงปู่หมุน หลวงพ่อสงฆ์ (วัดม่วง ลพบุรี) และอีกรูปหลวงปู่ลืมชื่อไปแล้ว สำหรับพิธีครอบครูของหลวงปู่ดำนั้น มีของยกครูที่หลวงปู่จำได้อย่างแม่นยำคือ 1. ผ้าไตรจีวร 2. บาตร 3. ทองคำหนัก 10 บาท (สำหรับทองคำ จะคืนให้เมื่อเรียนจบ) และมีข้อห้ามประการสำคัญอีกคือ ห้ามสึกตลอดชีวิต ถ้าสึกไปชีวิตก็จะหาไม่
ในการครอบวิชานี้ถือว่าเป็นสุดยอดเคล็ดวิชา วิทยาคม ในสายของสมเด็จลุน แห่งนครจำปาศักดิ์ ซึ่งกว่าจะเรียนจบต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะบำเพ็ญเพียรอย่างมาก ได้จำวัดพักผ่อนวันละ 4 ชั่วโมงเท่านั้น อาหารต้องฉันมื้อเดียว และขั้นตอนสุดท้ายที่จะสำเร็จวิชานี้จะมีการทดสอบอย่างพิสดาร
อย่างไรก็ตาม เป็นที่เชื่อกันว่า หลวงปู่หมุน ท่านสำเร็จวิชาสำเร็จธาตุ 4 มาจากสายสมเด็จลุน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าวิชาสายนี้ลึกลับเกินปุถุชนคนธรรมดาจะเรียนได้สำเร็จ ผู้ที่จะเข้าถึงได้ต้องเป็นผู้ที่มีบารมีมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน เพราะการควบคุมธาตุ 4 ได้นั้นผู้ที่จะสามารถทำการนี้ได้ต้องสำเร็จจตุตฌานเป็นบาทฐานในการทำ และยังต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของกสิณจตุธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟอีกด้วย
หลังจากนั้น หลวงปู่หมุนก็กลับมาจำพรรษา ที่วัดบ้านจาน จนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และพระอุปัชฌาย์ รับสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวน ที่ "พระครูหมุน ฐิตสีโล" หลวงปู่ได้ปฎิบัติศาสนกิจตามที่ได้รับมอบหมายเป็นเวลาถึง 20 ปี จึงลาออกจากทุกตำแหน่ง ต้องการใช้ชีวิตที่เหลือบำเพ็ญสมณธรรมปฏิบัติพระวิปัสสนาธุระ อย่างเดียว
ประมาณปี 2487 ในช่วงที่หลวงปู่อายุ 50 ปี ท่านเก็บบริวารออกธุดงค์บำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าดงดิบ โดยลำพังแต่ผู้เดียว และในช่วงนี้เองที่หลวงปู่ได้พบกับ อาจารย์จ่อยและอาจารย์ขวัญ วัดป่าหนองหล่ม ในระหว่างที่หลวงปู่ธุดงค์โดยบังเอิญ อาจารย์ทั้ง 2 จึงได้นิมนต์หลวงปู่โปรดญาติโยมที่ วัดป่าหนองหล่ม หลังจากที่หลวงปู่หมุนเดินธุดงค์แสวงหาธรรม อยู่หลายสิบปี ประมาณปี 2520 ท่านจึงกลับมายังวัดบ้านจาน ซึ่งวัดบ้านจานในยามนั้น มีอายุกว่า 200 ปี อยู่ในสภาพทรุดโทรม ท่านจึงได้พัฒนาวัด สร้างอุโบสถขึ้นมา ด้วยหยาดเหงื่อและแรงจิต ทำให้อุโบสถเสร็จสมบูรณ์ในเวลาอันสั้น
นอกจากนี้ท่านยังได้ช่วยเหลือลูกศิษย์และสหธรรมิก อีกหลายวัดเช่น วัดป่าหนองหล่ม, วัดโนนผึ้ง, วัดซับลำใย, และคณะศิษย์วัดสุทัศน์ฯ ในการสร้างถาวรวัตถุของวัด จนเป็นที่มาของ วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมในหลายรุ่นต่อมา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังแทบทุกรุ่น ที่ท่านจัดสร้างขึ้น จึงเป็นที่นิยมในหมู่ศิษยานุศิษย์ ด้วยเชื่อในพลังแห่งบุญฤทธิ์จิตตานุภาพของท่าน
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2546 เวลา 07.30 น. หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล พระอมตะเถระ 5 แผ่นดิน แห่งวัดบ้านจาน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ มรณภาพลงอย่างสงบด้วยโรคชราบนกุฎิ สิริอายุ 109 ปี 87 พรรษา โดยสรีระของท่านไม่เน่าไม่เปื่อย
ตลอดชีวิตแห่งการครองเพศบรรพชิต อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ก็ได้อุทิศตน ปฏิบัติตนตามแนวทางแห่งคำสอนของพระศาสดาอันพึงจะกระทำ สมกับฉายานามอันได้รับเมื่อครั้งอุปสมทบคือ "ฐิตสีโล" แปลความว่า ผู้ตั้งมั่นในศีล 85 พรรษาแห่งการครองผ้ากาสาวพัตร ศึกษาเล่าเรียน พระธรรมวินัยออกจาริกธุดงค์ ในช่วงบั้นปลายท่านได้สร้างวัตถุมงคลหลายชิ้น
ท่านเป็นผู้ตั้งสัจจะตั้งแต่เริ่มบวชเรียนว่า "จะไม่สร้างและร่วมปลุกเสกวัตถุมงคลใดๆ จนกว่าจะอายุเกิน 100 ปี" โดยท่านได้ให้เหตุผลว่า "เพื่อให้หมดซึ่งกิเลสตัณหา และให้มีญาณสมาบัติที่แก่กล้า" วัตถุมงคลของท่านจึงออกตอนอายุเกิน 100 ปีแล้ว ทั้งสิ้น ท่านได้กล่าวว่า "วัตถุมงคลของฉัน หากแม้นตายไปอีกสิบปี จะมีค่ามากกว่าเพชรนิลจินดา และจะหายากยิ่ง”
วัตถุมงคลที่ท่านสร้าง จึงไม่เป็นสองรองจากสำนักใด เช่น ตะกรุดเชือกเขียว ที่ท่านถักเอง จารเอง กว่าจะได้แต่ละดอกต้องสวดอัดตามฤกษ์ผานาทีที่เหมาะสม ท่านที่สนใจก็ลองสืบเสาะหาดูกันครับ
ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) มีนามเดิมว่า จันทร์ สุวรรณมาโจ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2524 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 1 (เดือนอ้าย) ปีมะเส็ง เป็นบุตรคนที่ 3 (ในจำนวน 6 คน) ของ นายวงศ์เสนาและนางไข สุวรรณมาโจ มีอาชีพทำนาทำไร่ ชาติภูมิอยู่บ้านท่าอุเทน หมู่ 3 ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
ในวัยเยาว์ เด็กชายจันทร์ สุวรรณมาโจ ได้เรียนหนังสืออักษรไทยน้อย หัดเขียนหัดอ่านจากหนังสือผูกโบราณ วรรณคดีพื้นบ้านซึ่งประชาชนในสมัยนั้นนิยมอ่านกันมาก มีสุขภาพไม่ค่อยจะแข็งแรงนักเพราะป่วยเป็นโรคหืด ครั้นเจริญวัยใหญ่โตขึ้นมาโรคนี้ก็หายขาดไป จนกระทั่งท่านมีอายุได้ 60 ปี โรคนี้ก็กลับกำเริบขึ้นมาอีกครั้ง
เมื่อ พ.ศ. 2434 ขณะที่เด็กชายจันทร์ อายุได้ 10 ขวบ นายวงศ์เสนา สุวรรณมาโจ ผู้เป็นบิดาได้ล้มป่วยและถึงแก่กรรม ในการทำฌาปนกิจศพของบิดา เด็กชายจันทร์ ได้บรรพชาเป็นสามเณร (บวชหน้าไฟ) เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บิดา โดยมีพระขันธ์ ขนฺติโก วัดโพนแก้ว ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากเสร็จงานศพของบิดาแล้ว สามเณรจันทร์ ก็มิได้ลาสิกขา มุ่งหน้าบวชต่อไป เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนตามประเพณี การศึกษาเล่าเรียนในสมัยนั้น หนังสือที่ใช้เป็นอุปกรณ์ ล้วนเป็นคัมภีร์โบราณ เขียนจารเป็นอักษรขอม อักษรธรรม ยากแก่การศึกษาเล่าเรียน ต้องอาศัยความเพียร พยายาม อย่างมาก จึงจะประสบความสำเร็จ
สามเณรจันทร์ได้ศึกษาอักษรสมัย กับ พระอาจารย์เคน อุตฺตโม เมื่อแตกฉานเชี่ยวชาญดีแล้ว จึงเรียนบาลีเดิมที่เรียกว่า มูลกัจจายน์ และคัมภีร์ สัททาสังคหปฏิโมกข์ ปรากฏว่าสามเณรจันทร์อ่านเขียน และท่องจำได้คล่องแคล่ว จนมีผู้มาขอร้องให้ท่าน ช่วยจารหนังสืออักษรขอม อักษรธรรมอยู่เสมอ นอกจากสนใจในด้านปริยัติแล้ว สามเณรจันทร์ สุวรรณมาโจ ก็ยังสนใจในการปฏิบัติกรรมฐานอีกด้วย จึงได้ไปศึกษากรรมฐาน ในสำนักของ พระอาจารย์ศรีทัศน์ ที่วัดโพนแก้ว เป็นเวลาหลายปี
พระอาจารย์ศรีทัศน์ นับว่าเป็นพระสงฆ์ที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง เคยเดินธุดงค์ไปบำเพ็ญกรรมฐาน แสวงหาวิเวกในสถานที่ต่างๆ จนถึงเขตประเทศพม่า และได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากพม่า ครั้นเดินทางกลับถึงอำเภอท่าอุเทนแล้ว ได้ชักชวนประชาชนก่อสร้าง พระธาตุท่าอุเทน ขึ้น เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากประเทศพม่าใช้เวลาก่อสร้าง 7 ปี จึงแล้วเสร็จ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระธาตุท่าอุเทน จึงเป็นปูชนียสถานแห่งหนึ่งของจังหวัดนครพนม ตั้งตระหง่านอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโขงจนถึงทุกวันนี้
ส่วนสามเณรจันทร์ สุวรรณมาโจ ได้ศึกษาเล่าเรียนอักษรสมัยและปฏิบัติกรรมฐาน อยู่มาจนถึงอายุ 19 ปี ท่านก็รู้สึกเป็นห่วงโยมมารดาและครอบครัว อยากจะช่วยเหลือ ครอบครัว ให้รอดพ้นจากความอดอยาก ยากจน คราวใดได้ลาภสักการะมา ก็มักจะส่งไปให้โยมมารดา ในกาลต่อมา เพื่อสามเณรรุ่นเดียวกัน มาชักชวนให้ลาสิกขาไปทำการค้า สามเณรจันทร์ เห็นว่าเป็นหนทางที่จะร่ำรวย ช่วยเหลือทางบ้านได้ จึงตัดสินใจไปขอลาสิกขา กับพระอุปัชฌาย์ ซึ่งท่านก็อนุญาตให้สึกได้ตามประสงค์
หลังจากสึกแล้ว นายจันทร์ก็เข้าหุ้นกับเพื่อนร่วมกันทำมาค้าขาย ตอนแรกรู้สึกว่าร่ำรวยทำมาค้าขึ้น ในระหว่างนั้นก็มีเจ้านายที่เคารพนับถือ มาขอร้องให้ไปช่วย จารหนังสือขอม หนังสือธรรม ให้อยู่เสมอ ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาดูแลการค้าขายอย่างเต็มที่ ส่วนเวลากลางคืน ยังมีเจ้านายมากะเกณฑ์ให้ไปอยู่เวรยามมิได้ขาด ชั่วเวลาเพียงไม่กี่เดือน การค้าขายที่คาดกันไว้ว่าจะรวยกลับมีแต่ทรุด เป็นเหตุให้นายจันทร์ เกิดความเบื่อหน่าย ต้องล้มเลิกกิจการไป
ท่านรู้สึกไม่สบายใจในชีวิตฆราวาส ซึ่งมีแต่ความสับสนวุ่นวาย แก่งแย่ง เอารัดเอาเปรียบกัน หาความเที่ยงธรรมและความสงบสุขได้ยาก นอกจากนี้ตลอดระยะเวลา 5 เดือน ที่อยู่เป็นฆราวาส หนุ่มจันทร์ยังมีสตรีเพศเข้ามาติดต่อพัวพัน ยั่วยวนด้วยวิธีการต่างๆ นานา ยิ่งทำให้หนุ่มจันทร์รู้สึกอึดอัดใจ ในที่สุดหนุ่มจันทร์ก็ตัดสินใจแน่วแน่ว่า จะกลับมาบวชอีก ประกอบกับตอนนั้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงมุ่งหน้าเข้าสู่ร่มเงาผ้ากาสาวพัสตร์ ขอบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในปี พ.ศ. 2445 โดยมีพระภิกษุเหล่า ปญฺญาวโร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เคน อุตฺตโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์หนู วิริโย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "เขมิโย" อุปสมบท ณ วัดโพนแก้ว และประจำอยู่ที่วัดนี้
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว พระภิกษุจันทร์ เขมิโย ก็ถูกพวกสตรีเพศ ที่เคยมาติดพันท่านสมัยเป็นฆราวาส มารบกวนไปมาหาสู่อยู่เนืองๆ ท่านเห็นว่า ถ้าขืนอยู่ที่วัดโพนแก้วต่อไป สตรีเพศคงจะมารบกวนยั่วยวนเช่นนี้เรื่อยไป จะทำให้เกิดความเศร้าหมองแก่เพศพรหมจรรย์ เข้าสักวันจึงตัดสินใจกราบลาพระอุปัชฌาย์ ย้ายไปอยู่วัดพระอินทร์แปลง และในขณะเดียวกัน พระอาจารย์เคน อฺตฺตโม ผู้ที่เคยอบรมสั่งสอนท่าน ต้องย้ายไปอยู่วัดพระอินทร์แปลง เพื่อเป็นเจ้าอาวาส ดังนั้น พระภิกษุจันทร์ เขมิโย จึงย้ายติดตามพระอาจารย์เคนไปด้วย
ในปี พ.ศ. 2445 นั่นเอง พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล วัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายกรรมฐาน พร้อมด้วย พระปัญญาพิศาลเถระ (หนู ฐิตปญฺโญ) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นพระครู อยู่วัดใต้ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินทางผ่านมา ถึงจังหวัดนครพนม มาปักกลด ปฏิบัติธรรมอยู่ภายใต้ต้นโพธิ์ตอนใต้เมืองนครพนม ประชาชนจำนวนมากพากันไปกราบไหว้ฟังธรรม และขอรับแนวทางการปฏิบัติธรรม บำเพ็ญสมาธิมิได้ขาด
พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ข้าหลวงเมืองนครพนมทราบข่าว จึงไปกราบนมัสการ และสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ทั้งสอง กราบพบปะสนทนากัน ในครั้งนั้น ท่านพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ได้ชี้แจงความเป็นมาของตนว่า เคยเป็นศิษย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ พร้อมทั้งได้เล่าถึง พฤติกรรมของพระภิกษุสามเณร ในจังหวัดนครพนมให้ท่านทราบ และขอให้ช่วยหาทางแก้ไขด้วย
พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล จึงแนะนำ ให้เสาะหาคัดเลือกพระภิกษุสามเณร ผู้เฉลียวฉลาดมีความประพฤติดี และสมัครใจที่จะทำทัฬหิกรรมญัตติ เป็นภิกษุสามเณรในคณะธรรมยุตติกนิกาย เพื่อไปอยู่ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติในสำนักของพระอาจารย์ทั้งสอง ให้มีความหนักแน่นมั่นคงในพระธรรมวินัย แล้วจึงส่งกลับมาอยู่นครพนมตามเดิม จะได้ช่วยกันแก้ไขความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร ในจังหวัดนครพนมให้ดีขึ้น
ท่านพระยาสุนทรฯ ข้าหลวงเมืองนครพนมได้เสาะแสวงหาพระภิกษุสามเณร ที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ทาบทามพระภิกษุได้ 5 รูป และสามเณรอีก 1 รูป 4 รูปนั้นมีพระภิกษุจันทร์ เขมิโย รวมอยู่ด้วย
พระยาสุนทรฯ ได้นำพระภิกษุสามเณร ทั้ง 5 รูปมาถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์เสาร์ และพระปัญญาพิศาลเถระ สำหรับพระภิกษุจันทร์ เขมิโย นั้นมีความรู้พื้นฐานทางสมถกรรมฐานอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเข้ามาเป็นศิษย์ของพระอาจารย์เสาร์ จึงรู้สึกถูกอัธยาศัยเป็นอย่างยิ่ง ข้อวัตรปฏิบัติใดที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็ตั้งใจศึกษาและเรียนถามจากครูบาอาจารย์ พร้อมทั้งใส่ใจฝึกปฏิบัติสมาธิอย่างจริงจัง มีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติกรรมฐานอย่างรวดเร็ว
ในปลายปี พ.ศ. 2445 พระอาจารย์เสาร์และพระปัญญาพิศาลเถระ ก็ได้อำลาประชาชนเดินทางกลับสู่จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยพระภิกษุ 4 รูป คือ พระภิกษุจันทร์ เขมิโย (คือ ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์) พระภิกษุสา พระภิกษุหอม พระภิกษุสังข์และสามเณรอีก 3 รูป ในจำนวน 3 รูปนี้ มีสามเณรจูม จันทรวงศ์ (ต่อมาได้เป็น พระธรรมเจดีย์) รวมอยู่ด้วย
คณะของพระอาจารย์เสาร์ ได้จาริกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ หยุดพักรอนแรมกลางป่าดงพงไพร ได้พบสัตว์ป่านานาชนิด มีเสือ มีช้าง กวาง ละมั่ง ควายป่า เป็นต้น เมื่อเจอสัตว์ป่า พระอาจารย์เสาร์ ก็สั่งให้คณะนั่งลงกับพื้นดิน แล้วแผ่เมตตาให้สัตว์เหล่านั้น พระภิกษุสามเณรทุกรูป ก็แคล้วคลาดปลอดภัย ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ เล่าไว้ว่า "ในการบำเพ็ญกรรมฐานในป่านั้น ประการสำคัญ ต้องทำตนให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ซึ่งผู้ปฏิบัติทั่วไป มักจะมีความวิตกกังวล ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ต่อจากนั้นก็มีอันเป็นไป หากมีศีลบริสุทธิ์ จิตก็สงบเป็นสมาธิได้ง่าย และ อีกประการหนึ่งจะต้องยึดมั่น ในพระรัตนตรัย ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณอยู่เสมอ"
ในการเดินทางครั้งนั้น คณะของพระอาจารย์เสาร์ได้เดินทางมาทางพระธาตุพนม ไปมุกดาหาร อำนาจเจริญแล้วเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี ไปพำนักอยู่วัดเลียบ ในขณะเดียวกันพระภิกษุจันทร์ เขมิโย ก็เป็นพระพี่เลี้ยงอบรมอักขระ ฐานกรณ์ และคำขอญัตติ เพื่อทำทัฬหิกรรม เป็นพระธรรมยุติต่อไป เมื่อท่องบทสวดต่างๆ ได้คล่องแคล่วแล้ว พระอาจารย์เสาร์ก็นำคณะพระภิกษุจันทร์ ไปประกอบ "พิธีทัฬหิกรรมญัตติ" เป็นพระภิกษุสามเณรในคณะธรรมยุตโดยสมบรูณ์ ณ พระอุโบสถ วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระสังฆรักขิโต (พูน) วัดศรีทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูหนู ฐิตปญฺโญ (คือ พระปัญญาพิศาลเถระ) วัดใต้ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษอุบลคุณ (พระอาจารย์สุ้ย) เป็น พระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาเดิมคือ "เขมิโย"
หลังจากนั้น พระภิกษุจันทร์ ก็พักอาศัยอยู่วัดเลียบ ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติกับพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ทางด้านการศึกษาปริยัติธรรม พระภิกษุจันทร์ก็มิได้ทอดทิ้ง ท่านสนใจในการเรียนรู้ อย่างมิรู้เบื่อหน่าย พยายามศึกษาพระปริยัติธรรมแผนใหม่ได้แก่ วิชาธรรมะ วิชาวินัย วิชาพุทธประวัติ และวิชาอธิบายกระทู้ธรรม ซึ่ง พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ได้นำมาเผยแพร่ที่อุบลฯ
ส่วนแนวทางการปฏิบัติกรรมฐานนั้น พระภิกษุจันทร์ได้ฝึกอบรม ในสำนักของ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และ พระปัญญาพิศาลเถระ จนมีความรู้ความก้าวหน้าทั้งด้านปริยัติ และด้านปฏิบัติ อย่างแท้จริง มีจิตใจคงมั่น ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งเย้ายวน
ทางด้านพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ข้าหลวงประจำเมืองนครพนมได้มีหนังสือไป นมัสการพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล อีกฉบับหนึ่งส่งไปกราบทูล พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ ประจำมณฑลอุบลราชธานี เพื่อขอนิมนต์ตัวพระภิกษุจันทร์ เขมิโย กลับไปตั้งสำนักคณะกรรมยุตติกนิกายขึ้นที่เมืองนครพนม พระอาจารย์เสาร์ จึงนำพระภิกษุจันทร์เข้าพบกรมหลวงสรรพสิทธิฯ พระองค์ท่านทอดพระเนตรเห็น พระภิกษุจันทร์ยังหนุ่มน้อยเช่นนั้น จึงรีบสั่งด้วยความห่วงใยว่า
"พระอย่างคุณน่ะหรือจะนำคณะธรรมยุติไปตั้งที่จังหวัดนครพนม รูปร่างเล็ก ยังหนุ่มแน่น ประสบการณ์ยังอ่อน หาพอที่จะรักษาตัวและหมู่คณะได้ไม่ น่าจะไปตายเพราะผู้หญิง ฉันเกรงว่าจะนำวงศ์ธรรมยุติไปทำเสื่อมเสียซะมากกว่า... " พระอาจารย์เสาร์ได้ฟังดังนั้น จึงถวายพระพร เล่าถึงปฏิปทาจรรยามารยาท และความเป็นผู้หนักแน่นในพระธรรมวินัยของพระภิกษุจันทร์ผู้เป็นศิษย์ ให้ทราบทุกประการ
หลังจากได้ฟังคำบอกเล่าจากพระอาจารย์เสาร์แล้ว กรมหลวงสรรพสิทธิฯ ก็ทรงอนุญาตให้พระภิกษุจันทร์กับคณะ เดินทางไปนครพนม พร้อมกับทรงออกหนังสือรับรอง เป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้หนึ่งฉบับ มีใจความว่า "ให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในเส้นทางที่เดินผ่าน ให้จัดคนตามส่งตลอดทาง พร้อมทั้งให้จัดที่พัก อาศัยและภัตตาหารถวายด้วย"
พระภิกษุจันทร์ เขมิโย พร้อมด้วยคณะได้ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่นครพนม ผ่านป่าดงเข้าหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ในเส้นทาง ประชาชนทราบข่าวก็พากันไปกราบไหว้ แสดงความชื่นชมโสมนัส ท่านได้แสดงธรรมโปรดประชาชน มาเป็นระยะๆ การเดินทางไปสมัยนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะไม่มีถนน รถยนต์ก็ไม่มี คงมีแต่ทางเดินเท้ากับทางเกวียน ซึ่งพวกพ่อค้าใช้เป็นเส้นทางติดต่อค้าขาย
คณะของพระภิกษุจันทร์ เดินทางรอนแรมมาเป็นเวลา 21 วันจึงบรรลุถึงเขตเมืองนครพนมไปหยุดยับยั้งอยู่ บ้านหนองขุนจันทร์ ทางทิศใต้เมืองนครพนม พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ เจ้าเมืองนครพนม ทราบข่าวก็จัดขบวนออกไปต้อนรับ นิมนต์พระสงฆ์สามเณร ขึ้นนั่งบนเสลี่ยงหามแห่เข้าเมืองนำไปพักอาศัยอยู่ ณ วัดศรีขุนเมือง (วัดศรีเทพประดิษฐาราม) นับจำเดิมตั้งแต่นั้น (พ.ศ. 2449) เป็นต้นมา คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตตินิกาย ได้ปักหลักตั้งมั่นในจังหวัดนครพนม
พระภิกษุจันทร์ เขมิโย ได้ใช้ความรู้ความสามารถ พัฒนาวัดศรีขุนเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา แต่ก่อนวัดศรีขุนเมือง เป็นวัดรกร้างว่างเปล่า ไม่มีพระสงฆ์อยู่อาศัย สภาพโดยทั่วไปจึงรกร้าง เสนาสนะและพระอุโบสถ ทรุดโทรม พระภิกษุจันทร์ได้ขอความอุปถัมภ์บำรุงจากทางราชการ ซึ่งมีพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์เป็นประธาน และขอความอุปถัมภ์จากชาวบ้าน ซึ่งมีขุนทิพย์สมบัติ เป็นหัวหน้า ปรากฏว่าได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายด้วยดี หลังจากที่กลับมาอยู่นครพนม พระภิกษุจันทร์มีงาน ที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง ทั้งงานปกครอง งานการศึกษา และงานเผยแผ่อบรมสั่งสอนประชาชน
ในโอกาสต่อมาทางราชการประสงค์จะแต่งตั้งท่านให้เป็นเจ้าคณะเมือง (คือ เจ้าคณะจังหวัด) ฝ่ายธรรมยุต ท่านได้พิจารณาเห็นว่า ตัวเองยังมีอายุพรรษาน้อยเพียง 7 พรรษาเท่านั้น ขาดประสบการณ์และความรู้ก็น้อย ท่านจึงปฏิเสธไม่ขอรับตำแหน่งดังกล่าว แต่ขอเวลาไปศึกษา หาความรู้เพิ่มเติมที่กรุงเทพฯ เมื่อทราบความประสงค์ดังนั้น พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ก็ได้ทำหนังสือส่วนตัวฉบับหนึ่ง กราบเรียนท่านเจ้าคุณพระสาสนโสภณ เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส เพื่อขอฝากฝังพระภิกษุจันทร์ เขมิโย กับคณะให้ได้พักอาศัย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม
ในปี พ.ศ. 2451 พระภิกษุสามเณรจำนวน 5 รูป ซึ่งมีพระจันทร์ เขมิโยเป็นหัวหน้าก็ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยเดินเท้าจากนครพนมไปขึ้นรถไฟที่โคราช สิ้นเวลา 24 วัน จากนั้นนั่งรถไฟจากโคราชเข้ากรุงเทพฯ ไปพักอยู่วัดเทพศิรินทราวาส ตั้งใจ ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี ได้รับพัดตราธรรมจักรไว้เป็น ประกาศนียบัตร ส่วนบาลีสอบไล่ได้ประโยค ป.ธ.2 กำลังหัดแปลพระธรรมบท เพื่อสอบประโยค ป.ธ.3 ก็ได้รับหนังสือนิมนต์จากพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ เจ้าเมืองนครพนม ในหนังสือฉบับนั้นกล่าวว่า พระสงฆ์ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวง ที่เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐารามได้มรณภาพลง ไม่มีผู้ใดจะทำหน้าที่ดูแลวัด และ ปกครองพระสงฆ์สามเณร ดังนั้นจึงขอให้พระภิกษุจันทร์ เขมิโย เดินทางกลับนครพนม
ในขณะเดียวกัน พระยาสุนทรฯ ก็มีหนังสืออีกสองฉบับไปถวาย ท่านเจ้าคุณพระสาสนโสภณ และทูลถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กราบทูลถึงความเป็นมาของคณะธรรมยุต ในเมืองนครพนม และขอให้ส่งตัวพระภิกษุจันทร์ เขมิโย กลับไปเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการบริหารงานของคณะสงฆ์ต่อไป
เมื่อเห็นความจำเป็นจนไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ พระภิกษุจันทร์ เขมิโย จึงเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เพื่อกราบทูลลา พระองค์ทรงมีพระเมตตา ประทานโอวาท และ นโยบายในการบริหารงานคณะสงฆ์ธรรมยุต พร้อมทั้งได้ประทานกับปิยภัณฑ์เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับ จำนวน 80 บาท (ในสมัยนั้น ถือว่าเป็นจำนวนมาก พอสมควร) นอกจากนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ยังได้ประทานหนังสือเรียนทั้งนักธรรม และบาลี เป็นจำนวนมากมาย บรรทุกรถลากได้ 3 คันรถ พระภิกษุจันทร์เดินทางจาก กรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมาโดยรถไฟ ต่อจากนั้น จึงจ้างเกวียนบรรทุกสิ่งของ และหนังสือ เดินทางผ่านจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ครั้งถึงหนองคายก็หมดระยะทางเกวียน ต้องจ้างเรือกลไฟของฝรั่งเศส บรรทุกสิ่งของไปตามแม่น้ำโขง จนกระทั่งถึงนครพนม
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระภิกษุจันทร์ เขมิโย ก็ทำหน้าที่บริหารงานคณะสงฆ์ อุทิศชีวิตเพื่อพิทักษ์ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ท่านได้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยแผนใหม่ ขึ้นที่วัดศรีเทพฯ พร้อมทั้งได้เปิดสอนปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรม แผนกธรรมศึกษา และแผนกบาลี
ในปี พ.ศ. 2464 หลวงปู่พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ผู้เคยเป็นอาจารย์ของท่านได้ออกเดินธุดงค์กรรมฐาน แสวงหาวิเวกจากจังหวัดอุบลฯ มาถึงนครพนม และได้มาพำนักอยู่วัดศรีเทพประดิษฐาราม ซึ่งตอนนั้นยังเป็นป่าใหญ่เหมาะสมแก่การบำเพ็ญเพียร ท่านเจ้าคุณฯ ได้ออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์เสาร์ ไปด้วย โดยมุ่งข้ามไปฝั่งประเทศลาว เนื่องจากมีภูเขาสลับซับซ้อน มีถ้ำหรือเงื้อมเขามากมาย ควรแก่การเข้าไปพักอาศัยบำเพ็ญภาวนาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อท่านเดินธุดงค์ ผ่านไปถึงหมู่บ้านใด ก็จะชี้แจงแสดงธรรม ให้ชาวบ้านเข้าใจหลักพระพุทธศาสนา และให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลห้า
พระเทพสิทธาจารย์ มีการปกครองที่เปี่ยมด้วยความเมตตา ท่านให้ความเมตตาเสมอกันหมดในบุคคลทุกชาติ ชั้น วรรณะ ถ้าหากมีพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในความปกครองมีการผิดเกิดขึ้น หลวงปู่จะเรียกมาประชุมพร้อมกัน แล้วทำการสอบสวนจนเป็นที่พอใจของทุกภาค หลวงปู่ได้ปกครองพระมาทั้งสองนิกาย ดูจะไม่มีการกระทบกระทั่งกันเลย และยังมีการสวดมนต์แบบมคธของพระธรรมยุติกนิกายได้เหมือนกันหมด จนสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ตรัสถาม เมื่อครั้งเสด็จไปทำบุญอายุหลวงปู่ เมื่อปี พ.ศ. 2513 ซึ่งขณะนั้นหลวงปู่มีอายุครบ 90 ปีบริบูรณ์
พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ เป็นพระสงฆ์ที่แสดงธรรมได้จับใจไพเราะ มีโวหารปฏิภาณดี ธรรมโอวาทของท่าน ที่พร่ำสอนพระภิกษุสามเณร และญาติโยมอยู่เสมอคือเรื่อง "การเตรียมตัวเตรียมใจ" ซึ่งมีใจความดังนี้
"เราเกิดมาในชาติหนึ่งๆ อย่าปล่อยให้ร่างกายของเรา เหมือนเรือไหลล่อง ผู้เป็นเจ้าของต้องเตรียมตัวระมัดระวังหางเสือของเรือไว้ให้ดี ผู้ใดเผลอผู้ใดประมาท ผู้นั้นมอบกายของตนให้เป็นเรือไหลล่องไปตามกระแสน้ำ ผู้นั้นเรียกว่า โง่ น่าเกลียดฉลาดน่าชัง เป็นยาพิษ เรือที่เรานั่งไปนั้นหากมันล่มลงในกลางน้ำ จระเข้ก็จะไล่กิน กระโดดขึ้นมาบนดิน ฝูงแตนก็ไล่ต่อย คนเราเกิดมามีกิเลส เรียกว่า กิเลสวัฏฏะ เป็นเชือกผูกมัดคอ ผู้มีกิเลสต้องทำกรรม เรียกว่า กรรมวัฏฏะ ซึ่งก็เป็นเชือกมัดคออีกเส้นหนึ่ง ผู้ที่ทำกรรมไว้ย่อมจะได้เสวยผลของการ กระทำ เรียกว่า วิปากวัฏฏะ เป็นเชือกเส้นที่สาม มัดคอไว้ในเรือนจำ เราทุกคนต้องสร้างสมอบรมปัญญา ซึ่งสามารถทำลายเรือนจำให้แตก ผู้ใดทำลายเรือนจำไม่ได้ ผู้นั้นก็จะเกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะ นี้เรื่อยไป
เพราะฉะนั้น เราทุกคนจะต้องเตรียมตัวเป็นนักกีฬา ต่อสู้ทำลายเรือนจำให้มันแตก อย่าให้มันขังเราไว้ต่อไป คนเราจะไปสวรรค์ก็ได้ ไปนิพพานก็ได้ ไปสู่อบายภูมิก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ต้องดำเนินชีวิตในทางที่ดีที่งาม อยากดีต้องทำดีเป็น อยากได้ต้องทำได้เป็น อยากดีต้องละเว้นทางเสื่อม ตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ นิททาสีลี อย่าพากันนอนตื่นสาย สภาสีลี ผู้ใดอยากดี อย่าพากันพูดเล่น อนุฏฐาตา ผู้ใดอยากดี ให้พากันขยันหมั่นเพียร อลโส ผู้ใดอยากดี อย่าเป็นคนเกียจคร้าน ผู้ใดอวดเก่ง ผู้นั้นเป็นคนขี้ขลาดผู้ใดอวดฉลาดผู้นั้นเป็นคนโง่ ผู้ใดคุยโว ผู้นั้นเป็นคนไม่เอาถ่าน อยากเป็นคนดีต้องทำดีถูก เรียนหนังสือเพื่อรู้ ดูหนังสือเพื่อจำ ทำอะไรต้องหวังผล เกิดมาเป็นคนต้องมีความคิด อุบายเครื่องพ้นทุกข์ไม่ใช่อยู่ที่อื่นไกล หากแต่อยู่ที่มีสติสัมปชัญญะรอบคอบในทุกอิริยาบถ"
พระเทพสิทธาจารย์ วัดศรีเทพประดิษฐาราม จังหวัดนครพนม มีอาการไข้เล็กน้อยเท่านั้น ไม่น่าจะถึงแก่มรณภาพไปอย่างรวดเร็วอย่างนี้ แต่เพราะโรคชราภาพของท่านมีอยู่ในทุกรูปทุกนาม ครั้นถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2516 เวลา 08.00 น. สิริรวมอายุได้ 92 ปี พรรษา 72 ศพของหลวงปู่เจ้าคุณ ได้เก็บรักษาไว้ให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชา และบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายเรื่อยมา
จนถึงวันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2522 จึงได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพของท่าน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย สุวรรณาโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม ณ เมรุวัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2522 ซึ่งในพิธีก็มีฝ่ายคณะสงฆ์ อาทิ สมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วยพระเถรานุเถระและคณาจารย์ทั่วประเทศ ได้ไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ พร้อมด้วยประชาชนที่เคารพนับถืออีกเหลือคณานับ
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)