คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
อาหารพื้นเมืองอีสานมักจะต้องมีส่วนปรุงรส หรือชูรส ด้วยผักพื้นบ้านอีสาน ซึ่งมีเอกลักษณ์ทางด้านถิ่นกำเนิด กลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ หายากเพราะมีผลผลิตออกมาตามฤดูกาล นอกจากนั้นยังเป็นพืชผักที่ให้คุณค่าทางด้านสุขภาพอนามัย ปลอดสารพิษ ทำให้เป็นที่นิยมกันทั่วไป ไม่ว่าจะทำอาหารประเภทลาบ ก้อย ต้ม แกง อ่อม ล้วนต้องใช้ผักพื้นเมืองเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น
บัวบก (Indian penny wort) กินได้ทั้งต้นเป็นผักสดหรือลวกกินกับอาหารเช่น ป่น ลาบ แจ่ว นำไปประกอบอาหารอื่นเช่น แกงหวาย ยำกับปลาแห้ง คุณค่าทางยา นำมาต้มกินแก้ฟกช้ำ ลดอาการอักเสบได้ ทำเป็นครีมลบรอยแผลเป็น รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยผ่อนคลายทำให้ความจำและสมองทำงานได้ดี
สมุนไพรบัวบก มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ผักหนอก (ภาคเหนือ, อีสาน), ผักแว่น (ภาคใต้), กะโต่ เป็นต้น จัดเป็นพืชสมุนไพรที่มีต้นกำเนิดในแถบเอเชีย เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีกลิ่นฉุน มีรสขมหวาน
ชื่อสามัญ : Gotu kola
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Centella asiatica (L.) Urb. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)
เมื่อพูดถึง "บัวบก" สมุนไพรชนิดนี้ขึ้นมาทีไร หลายๆ คนคงนึกไปว่า มันก็แค่ช่วยแก้อาการช้ำในเฉยๆ (ส่วนอาการ "อกหัก รักคุด" นี้ไม่เกี่ยวกันนะ) แต่ในความเป็นจริงแล้ว บัวบกหรือใบบัวบกนั้นมีสรรพคุณมากมาย เพราะได้รับการกล่าวขานเกี่ยวการรักษาโรคได้หลายชนิด อย่างโรคลมชัก โรคผิวหนัง ท้องเสีย ท้องอืด แผลในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์กล่อมประสาท ช่วยบำรุงสมอง เพิ่มความจำ ช่วยลดความอ่อนล้าของสมอง
คำเตือนและคำแนะนำ
สรรพคุณของใบบัวบก การรับประทานใบบัวบกคุณควรพิจารณาพื้นฐานของร่างกาย อย่ามองแต่สรรพคุณเพียงอย่างเดียว บัวบกจะไม่เหมาะกับคนที่มีภาวะเย็นพร่อง หรือขี้หนาว ท้องอืดบ่อยๆ การรับประทานบัวบกในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้ธาตุในร่างกายเสียสมดุลได้ เพราะเป็นยาเย็นจัด แต่ถ้ารับประทานในขนาดที่พอดีแล้วจะไม่มีโทษต่อร่างกายและได้ประโยชน์สูงสุด
การเก็บใบบักบกอย่าเก็บมาเฉพาะใบ เพราะจะทำให้ได้ตัวยาสมุนไพรมาไม่ครบ ให้ถอนมาทั้งต้นและราก เพราะในส่วนของรากจะมีตัวยาสมุนไพรอยู่ด้วย และไม่ควรนำใบบักบกไปตากแดดเพื่อทำให้แห้ง เพราะจะทำให้สูญเสียตัวยาสมุนไพรซึ่งอยู่ในน้ำมันหอมระเหยได้ โดยให้ผึ่งลมตากไว้ในที่ร่มอากาศถ่ายเทสะดวก เมื่อแห้งแล้ว ให้นำมาใส่ขวดปิดฝาให้สนิทป้องกันความชื้น
ผักหวานป่า (pagwan pa) เป็นผักพื้นบ้านมีบางฤดู ส่วนที่นำมาปรุงเป็นอาหารได้คือ ยอดอ่อนและใบอ่อน เช่น แกงเลียง แกงจืดใส่หมูบะช่อ แกงใส่ปลาย่าง ผัดใส่หมู หรือผัดไฟแดง คุณค่าทางยาเพราะมีใบสีเขียวจึงมีวิตามิน เกลือแร่และเบต้า-แคโรทีนมาก
ผักหวานป่า ผักหวานชนิดนี้เป็นผักหวานคนละชนิดกับผักหวานที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sauropus androgynus (L.) Merr. หรือที่ทั่วไปเรียกว่า "ผักหวานบ้าน" บางครั้งก็เรียกว่า ผักหวาน มีเรียกแปลกไปบ้างเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งจะเรียกผักหวานป่าว่า "ผักวาน" (เข้าใจว่าคงเพี้ยนมาจากผักหวานนั่นเอง) ส่วนประเทศลาวจะเรียกว่า "Hvaan" กัมพูชาเรียกว่า "Daam prec" เวียดนามเรียกว่า "Rau" มาเลเซียเรียกว่า "Tangal" และประเทศฟิลิปปินส์เรียกว่า "Malatado"
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melientha suavis Pierre จัดอยู่ในวงศ์ OPILIACEAE (เป็นวงศ์พิเศษที่ยังไม่มีผักหรือผลไม้ชนิดใดที่อยู่ในวงศ์นี้)
ผักหวานป่า นับว่าเป็นผักพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เนื่องจากเป็นผักที่มีรสชาติหวานอร่อย แต่หารับประทานได้ค่อนข้างยาก เพราะผักชนิดนี้จะให้ผลผลิตในบางช่วงฤดูกาลเท่านั้น คือในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน และส่วนใหญ่จะเก็บมาจากป่า แต่ในปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูก "ผักหวานป่า" เพื่อการค้ากันมากขึ้นทำให้ในหลายๆ พื้นที่มีผลผลิตออกจำหน่ายมากขึ้น โดยแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญในประเทศไทยอยู่ที่จังหวัดสระบุรี และพื้นที่ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สรรพคุณของผักหวานป่า
ผักหวานป่าเป็นอาหารและยาประจำฤดูร้อน ที่ช่วยแก้อาการของธาตุไฟได้ตามหลักแพทย์แผนไทย ใบและรากมีสรรพคุณแก้อาการปวดศีรษะ รากมีรสเย็น เป็นยาแก้ไข้ สงบพิษไข้ ส่วนยอดใช้ปรุงเป็นยาเขียวลดไข้ ลดความร้อน ส่วนรากเป็นยาเย็น สรรพคุณเป็นยาแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้กระสับกระส่าย รากใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาเย็นแก้พิษร้อนใน ส่วนยอดมีรสหวานกรอบ ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ระบายความร้อน ยางใช้กวาดคอเด็ก แก้ลิ้นเป็นฝ้าขาว
ผักกระเฉด (Water mimosa) มีคุณค่าทางอาหารกินสดกับขนมจีน หรือน้ำพริกกะปิ ยำกระเฉด หรือผัดไฟแดง ใส่แกงส้ม คุณค่าทางยา ถ้ากินสดจะได้ วิตามินบี, วิตามินซี เบต้า-แคโรทีน ไนอาซีนและเกลือแร่ต่างๆ
ผักกระเฉด มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ผักหละหนอง (แม่ฮ่องสอน), ผักกระเสดน้ำ (ภาคอีสาน), ผักกระเฉด ผักรู้นอน (ภาคกลาง), ผักหนอง (ภาคเหนือ), ผักฉีด (ภาคใต้) เป็นต้น
ชื่อสามัญ : Water mimosa
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neptunia oleracea Lour. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Neptunia natans (L.f.) Druce, Neptunia prostrata (Lam.) Baill.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)
กระเฉด จัดเป็นพืชที่เกิดตามผิวน้ำ ลำต้นเป็นเถากลม เนื้อนิ่ม ลักษณะของใบจะคล้ายกับใบกระถิน โดยใบจะหุบในยามกลางคืน จึงเป็นที่มาของชื่อ "ผักรู้นอน" ระหว่างข้อจะมีปอดเป็นฟองสีขาวหุ้มลำต้นที่เรียกว่า "นมผักกระเฉด" ซึ่งทำหน้าที่ช่วยพยุงให้ผักกระเฉดลอยน้ำได้นั่นเอง และยังมีรากงอกออกมาตามข้อซึ่งจะเรียกว่า "หนวด" ลักษณะของดอกจะเป็นช่อเล็กๆ สีเหลือง และผลจะมีลักษณะเป็นฝักโค้งงอเล็กน้อย แบน มีเมล็ดประมาณ 4-10 เมล็ด
ข้อควรระวัง : มีคำแนะนำออกมาว่า การรับประทานผักกระเฉดควรทำให้สุกก่อนนำมารับประทาน เพราะมีความเสี่ยงต่อพยาธิตัวอ่อนที่อาจปะปนเข้ามา รวมไปถึง "ไข่ปลิง" ที่ทนความร้อนได้สูงมาก รวมทั้งสารพิษจากยาฆ่าแมลง "คาร์โบฟูราน" ที่มีในแหล่งน้ำจากการใช้ยาฆ่าหญ้าปนเปื้อนมาด้วย
ประโยชน์ของผักกระเฉด
ผักกระเฉด มีวิตามินเอซึ่งเป็นตัวช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้เป็นอย่างดี ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน ช่วยทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างเป็นปกติ ผักกระเฉดมีธาตุเหล็ก ซึ่งมีความจำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงและช่วยป้องกันโรคโลหิตจางได้ ช่วยเสริมสร้างกระบวนการเผาผลาญสารอาหารให้สร้างเป็นพลังงานให้กับร่างกายได้เป็นอย่างดี ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูก มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคตับอักเสบ
ผักเสี้ยน (ดอง) (pagsian, Capparidaceae) นิยมนำมาดองเค็มหรือดองเปรี้ยวกินกับป่น หรือแจ่ว คุณค่าทางยาแม้จะผ่านการดองแล้ว แต่ปริมาณเบต้า - แคโรทีน ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นของวิตามินเอยังสูงอยู่ และมีวิตามินแร่ธาตุอื่นๆ อีก
ผักเสี้ยน มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ผักเสี้ยนขาว ผักเสี้ยนไทย ผักเสี้ยนบ้าน ผักเสี้ยนตัวผู้ (ภาคกลาง), ส้มเสี้ยน ผักส้มเสี้ยน (ภาคเหนือ)
ชื่อสามัญ : Wild spider flower[1], Spider weed, Spider Flower[3]
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cleome gynandra L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gynandropsis pentaphylla (L.) DC.) จัดอยู่ในวงศ์ CLEOMACEAE
สมุนไพรผักเสี้ยน ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ต้น ดอก ใบ เมล็ด และราก แต่ปกติทั่วไปแล้วจะไม่ค่อยใช้ผักเสี้ยนมาเป็นยาสมุนไพรมากนัก แต่จะนิยมนำมาดองกินมากกว่า อีสานเรียก "ส้มผักเสี้ยน" ส่วนผักเสี้ยนชนิดที่นิยมนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรนั้น จะใช้ผักเสี้ยนผีมากกว่า แต่บางครั้งก็ใช้ทั้งสองอย่าง สำหรับวิธีการทำผักเสี้ยนดองก็คือ ให้นำผักเสี้ยนมาหั่นให้มีขนาดพอเหมาะ แล้วนำไปตากแดดพอหมาด เพื่อกำจัดกลิ่นเหม็นเขียว หลังจากนั้นให้นำข้าวเย็นสุก 1 กำมือต่อผักเสี้ยน 5 ถ้วยแกง นำมาขยำกับเกลือให้มีรสเค็มเล็กน้อย เมื่อเสร็จให้นำผักเสี้ยนที่เตรียมไว้ใส่ลงไป แล้วเติมน้ำตาลโตนด 5 ช้อนแกง คลุกเคล้าจนเข้ากัน และปิดฝาภาชนะตั้งทิ้งไว้ประมาณ 3-4 คืน ผักที่ดองจะมีรสเปรี้ยว สามารถนำมารับประทานเป็นผักจิ้มกินกับน้ำพริก หรือนำไปแกงใส่กระดูกหมู แกงส้มกุ้งหรือปลา เป็นต้น
ผักเสี้ยนดอง เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ขาดสารอาหาร เช่น การขาดวิตามินเอ หรือเป็นโรคโลหิตจาง มีปัญหาเรื่องระบบลำไส้ เพราะนอกจากจะมีเส้นใยอาหารสูงแล้ว ยังสามารถช่วยขจัดสิ่งตกค้างที่อยู่ในลำไส้ได้อีกด้วย สรรพคุณผักเสี้ยน ช่วยบำรุงเลือดลม บำรุงร่างกายและให้พลังงาน ผักเสี้ยนมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต่อต้านมะเร็ง มีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อ รากผักเสี้ยนใช้ต้มรับประทานเป็นยาแก้ไข้ ทั้งต้นช่วยแก้ไข้ตรีโทษ ใบผักเสี้ยนช่วยแก้อาการปวดหู ช่วยบำรุงเสมหะให้เป็นปกติ รากใช้ต้มรับประทานเป็นยารักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน เมล็ดผักเสี้ยนช่วยขับเสมหะ ช่วยแก้ลมอันเป็นพิษ ทั้งต้นทุกส่วน (ใบ ดอก ต้น เมล็ด ราก) มีรสร้อน ช่วยแก้อาการปวดท้อง ลงท้อง
เมื่อคราวไปเที่ยวชมบั้งไฟที่ยโสธรเมื่อหลายปีก่อน มีลุงขี้เมามาถามผมว่า "บักทิด เห็นคนเมาเหล้ารีมาแถวนี้บ่" อาวทิดหมูเลยตอบไปว่า "โอย! ลุง มันกะมีผ่านมาหลายคน เซซ้าย เซขวา มาตั้งแต่เซ้าพุ้น ผมบ่ฮู้ดอกว่า ไผมันเมาเหล้ารี เหล้าหงส์ เหล้าขาว หรือเหล้าสาโท" ลุงเลยตอบสวนขึ้นมาว่า "บักทิดเอย คันเห็นบักได๋ฮากออกมาแล้วมีแต่ส้มผักเสี้ยน นั่นหละมันกินเหล้ารี! จำไว้เด้อ" จั่งแม่นคักเนาะซุมมักเหล้ารีนี่แหม!
มะขาม (Tamarind) สรรพคุณ เป็นยาระบาย แก้อาการท้องผูก แก้ไอ และแก้หวัดคัดจมูก มีวิตามินซี ช่วยให้ ฟันและเหงือกแข็งแรง และทำให้ผิวพรรณดี
ชื่อสามัญ : Tamarind
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tamarindus indica L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)
มะขาม จัดเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในทวีฟแอฟริกาและมีการนำเข้ามาปลูกในแถบเอเชีย นอกจากนี้มะขามยังเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ และตามตำราพรหมชาติยังถือว่ามะขามเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ที่ช่วยป้องกันสิ่งเลวร้าย ผีร้ายต่าง ๆ ไม่ให้มากล้ำกราย อีกทั้งยังเป็นต้นไม้ที่มีชื่อมงคล ถือกันเป็นเคล็ดทำให้มีคนเกรงขาม
สำหรับประโยชน์ของมะขามและสรรพคุณมะขามนั้นมีมากมาย จัดว่าเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และยังมีสรรพคุณใช้เป็นยารักษาโรคอีกด้วย โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาจะเป็นเนื้อฝักแก่ (มะขามเปียก) เปลือกของลำต้น (ทั้งสดและแห้ง) และเนื้อในเมล็ด สามารถช่วยรักษาได้หลายโรค เช่น เป็นยาขับเสมหะ แก้อาการท้องเดิน บรรเทาอาการท้องผูก ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ เป็นต้น
มะขามยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างวิตามินซี วิตามินบี 2 วิตามินเอ ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก โปรตีน คาร์โบไฮเดรต เป็นต้น มะขามที่แก่จัดนั้นเราจะเรียกว่า "มะขามเปียก" โดยมะขามหวาน 100 กรัม จะมีแคลอรีเท่ากับ 314 แคลอรี [ อ่านเพิ่มเติม : น้ำมะขาม ]
มะตูม หรือ บักตูม หรือ หมากตูม เป็นผลไม้ป่าที่ค่อนข้างหายากในปัจจุบัน เนื่องจาก ลำต้นมีขนาดใหญ่ ออกผลช้านานหลายปี จึงไม่นิยมปลูก แต่ยังพบได้ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะตามหัวไร่ปลายนา และตามป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ทั้งในภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก และภาคอื่นๆ
สมุนไพรมะตูม มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า มะปิน (ภาคเหนือ), ตูม ตุ่มตัง กะทันตาเถร (ภาคใต้) เป็นต้น
ชื่อสามัญ : Beal
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aegle marmelos (L.) Corrêa จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)
มะตูมเป็นผลไม้ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย เป็นพันธุ์ไม้มงคลประจำจังหวัดชัยนาท และยังถือว่าเป็นพันธุ์ไม้มงคลของศาสนาฮินดูที่นิยมปลูกในบ้านเราอีกด้วย โดยถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวะ ส่วนบ้านเรานั้นมีความเชื่อว่าใบมะตูมสามารถนำมาใช้ป้องกันภูตผีปีศาจ เสนียดจัญไรได้ และมะตูมยังจัดว่าเป็นทั้งผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพและเป็นยาสมุนไพรที่เรารู้จักมาเนิ่นนาน เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยกินน้ำมะตูมกันมาบ้างแล้วล่ะ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ถึงสรรพคุณของมะตูมหรือประโยชน์ของมะตูม
สรรพคุณของมะตูม
สรรพคุณทางยาของมะตูมนั้น สามารถขับลมได้ แก้ท้องผูก แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ลม จุกเสียด ผลแก่แต่ไม่สุกใช้รับประทานเป็นยาบำรุงร่างกาย รักษาธาตุ บำรุงธาตุไฟ ผลสุกสามารถนำมาใช้เป็นยาระบายได้ ช่วยรักษาอาการท้องร่วง ท้องเดิน โรคลำไส้ ใช้รักษาอาการท้องผูกเรื้อรังได้ ใบสดนำมาคั้นเอาน้ำ ใช้แก้หวัด เปลือกรากและลำต้นจะช่วยแก้อาการไข้จับสั่น แก้ลม แก้มูกเลือด ช่วยรักษาอาการหลอดลมอักเสบ
ประโยชน์ของมะตูม
ผลสามารถนำมารับประทานได้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องดื่มได้ด้วยการนำผลมะตูมไปผสมกับมะขาม เมื่อกรองได้น้ำและนำมาเติมน้ำตาลจะได้เครื่องดื่มที่มีรสชาติคล้ายกับ "มะนาว" ใบอ่อนของมะตูมนำมารับประทานเป็นผักสลัดได้ หรือจะนำใบอ่อนมาใช้กินกับน้ำพริกหรือลาบก็ได้ ผลแก่แต่เปลือกยังนิ่ม เมื่อนำมาฝานสามารถนำมาทำเป็นมะตูมเชื่อมได้ มะตูมใช้เป็นส่วนผสมของขนมหลายชนิด มะตูมสุกมีเนื้อเละสามารถนำมารับประทานเป็นผลไม้ได้ [ อ่านเพิ่มเติม : การทำน้ำมะตูม ดื่มชื่นใจ ]
กระถิน ยอดและฝักใช้กินเป็นผักสด แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงหัวใจ เมล็ดแก่ กินแก้ขับลม ขับระดูในสตรี บำรุงไตและตับ แก้อาการนอนไม่หลับ เป็นยาอายุวัฒนะ แต่มียูริกสูงต้องห้ามสำหรับคนเป็นโรคเก๊าท์
กระถิน มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า กะเส็ดโคก กะเส็ดบก (ราชบุรี), กะตง กระถิน กระถินน้อย กระถินบ้าน ผักก้านถิน (สมุทรสงคราม), ผักก้านถิน (เชียงใหม่), ผักหนองบก (ภาคเหนือ), กระถินไทย กระถินบ้าน กระถินดอกขาว กระถินหัวหงอก (ภาคกลาง), ตอเบา สะตอเทศ สะตอบ้าน (ภาคใต้), กระถินยักษ์ เป็นต้น
ชื่อสามัญ : White popinac, Lead tree, Horse tamarind, Leucaena, lpil-lpil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระถิน
เมล็ดมีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยลดไขมันในเลือดของหนูขาว แต่เมล็ดมีสารลิวซีนีน (Leucenine) ซึ่งจะทำให้สัตว์เป็นหมันได้ สารสกัดจากใบกระถินเมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดของสุนัข จะทำให้มีระดับความดันโลหิตลดลง มีอัตราการเต้นของหัวใจช้าลง ช่วยกระตุ้นการหายใจ มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต แต่ฤทธิ์ดังกล่าวนี้สามารถต้านได้ด้วย Atropine และยาต้านฮิสตามีน และเมื่อนำน้ำยาสกัดกระถินมาใช้กับหัวใจของกบและเต่าที่แยกออกมา พบว่ามีอัตราการบีบของหัวใจลดลง และในระบบทางเดินอาหารทั้งการทดลองแบบ in vitro ก็พบว่า น้ำสกัดนี้ทำให้เกิดแรงตึงตัวและเกิดแรงบีบตัวเพิ่มขึ้น เมื่อทดลองใน in vivo จะพบว่าการบีบตัวของกระเพาะลำไส้ตามปกติลดลง
กระถิน มีฟอสฟอรัสสูง จึงช่วยเสริมสร้างและบำรุงกระดูก (ยอดอ่อน, ฝักอ่อน, เมล็ด) ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง กระถินอุดมไปด้วยวิตามินเอ จึงช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้ ช่วยบำรุงหัวใจ เมล็ดแก่ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ฝักอ่อน, ยอดอ่อนช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ
"ผักอีเลิด" หรือที่เรียกกันว่า "ชะพลู" เป็นผักที่มีใบสีเขียวเข้ม มีเบต้าแคโรทีนสูงมาก ช่วยในเรื่องของการต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของการยับยั้งเซลล์มะเร็ง แก้โรคตาฟาง บำรุงสายตาให้ดียิ่งขึ้น มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ผักพลูนก พลูลิง ปูลิง ปูลิงนก ผักปูนา (ภาคเหนือ), ผักแค ผักอีเลิด ผักนางเลิด (ภาคอีสาน), ช้าพลู (ภาคกลาง), นมวา (ภาคใต้)
ชื่อสามัญ : Wildbetal leafbush
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper sarmentosum Roxb. จัดอยู่ในวงศ์พริกไทย (PIPERACEAE)
ชะพลู ไม่ใช่ใบพลูที่กินกับหมากเป็นคนละชนิดกัน ซึ่งใบชะพลูจะรสไม่จัดเท่ากับพลูและยังมีขนาดเล็กกว่า สำหรับสรรพคุณของชะพลูที่สำคัญนั้นก็ได้แก่ ช่วยบำรุงธาตุ ขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ และช่วยในการขับเสมหะ เป็นต้น และประโยชน์ของชะพลูในด้านของสุขภาพนั้นก็คือ มีวิตามินเอและธาตุแคลเซียมในปริมาณสูงเป็นพิเศษ และยังมีธาตุเหล็ก ธาตุฟอสฟอรัส คลอโรฟิลล์ เส้นใยอีกด้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายแทบทั้งสิ้น
ใบชะพลู หากรับประทานในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน แคลเซียมที่มีอยู่ในใบชะพลูจะเปลี่ยนเป็นแคลเซียมออกซาเลต (Oxalate) ซึ่งสารชนิดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนิ่วในไตได้ ดังนั้นคุณจึงควรดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อให้สารออกซาเลตเจือจางลง และถูกขับออกทางปัสสาวะ หรือจะเลือกรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงๆ เพื่อป้องกันโรคนิ่วก็ทำได้เหมือนกัน เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดคุณควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม
ภาคอีสานนิยมนำใส่ในแกงอ่อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอ่อมกบ อ่อมปลา อ่อมหอย อ่อมเพลี้ยเนื้องัว แกงขนุนอ่อน แกงหัวปลี รวมทั้งจัดเป็นผักเคียงกินกับลาบ ก้อย และแจ่วฮ้อนด้วย (น้ำลายสอแล้ว) ภาคใต้ใช้แกงกะทิใบชะพลูกับหอยแครง ส่วนภาคกลางนิยมใส่แกงคั่วหอยขม นิยมนำมากินร่วมกับข้าวมันส้มตำ ชนิดที่เรียกว่าถ้าขาดใบชะพลูรสชาติของข้าวมันส้มตำก็กร่อยไปเลย รวมทั้งนำไปกินกับเมี่ยงคำ แหนมคลุก ก็แซบคักเด้อพี่น้อง สำหรับสายรักสุขภาพ (Healhty) ก็เอาไปทำน้ำปั่นใบชะพลูได้ด้วย
แม้ว่าจะไปเก็บมาจากสวนของป้าเลิด ก็ยังคงเรียก ผักอีเลิด ไม่ต้องสุภาพว่า ผักนางเลิด หรือ ผักป้าเลิด นะขอรับ
ผักแพว เป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมที่รับประทานกันมาช้านานในภาคอีสาน และภาคเหนือ ซึ่งในปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะด้วยสรรพคุณและประโยชน์ของเจ้าผักชนิดนี้ จึงได้แพร่หลายไปทั่ว สามารถหาซื้อรับประทานได้ง่ายตามตลาดสด หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน
ผักแพว มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า พริกม้า พริกม่า (นครราชสีมา), หอมจันทร์ (อยุธยา), ผักไผ่ (ภาคเหนือ), ผักแพว (ภาคอีสาน), จันทน์โฉม, จันทน์แดง, ผักไผ่น้ำ, ผักแพ้ว, ผักแพรว, ผักแจว, พริกบ้า, หอมจันทร์
ชื่อสามัญ : Vietnamese coriander
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polygonum odoratum Lour. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Persicaria odorata (Lour.) Soják) จัดอยู่ในวงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)[
ยอดอ่อนและใบอ่อนผักแพวใช้ประกอบอาหาร ใช้รับประทานเป็นผักสด หรือใช้แกล้มกับอาหารที่มีรสจัด ใช้เป็นเครื่องเคียงของอาหารอีสาน อาหารเหนือ อาหารเวียดนาม หรือนำมาหั่นเป็นฝอย ใช้คลุกเป็นเครื่องปรุงสดประกอบอาหารประเภทลาบ ลู่ ตำซั่ว ก้อยกุ้งสด ข้าวยำ แกงส้ม เป็นต้น ส่วนในเรื่องรสชาติ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสร้อนแรง หากรับประทานมากๆ จะรู้สึกว่ามีรสปร่าในปาก ส่วนทิดหมูเองมักกินกับกุ้งเต้น และไข่ข้าวไข่ลูกนึ่งจิ้มแจ่วที่ใส่ขิงหอมๆ แกล้มน้ำเปลี่ยนนิสัยจักกรึ๊บ
สรรพคุณทางยาของผักแพว
ผักแพว อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย และช่วยในการชะลอวัย ช่วยป้องกันและต่อต้านมะเร็ง ป้องกันโรคหัวใจ ใบใช้รับประทานช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยบำรุงประสาท รสเผ็ดของผักแพวช่วยทำให้เลือดลมในร่างกายเดินสะดวกมากขึ้น ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันและแก้อาการท้องผูก และช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะเป็นผักที่มีไฟเบอร์สูงถึง 9.7 กรัม ซึ่งจัดอยู่ในผักที่มีเส้นใยอาหารมากที่สุด 10 อันดับของผักพื้นบ้านไทย เป็นต้น
ผักชีน้ำ หรือ ผักชีล้อม เป็นพืชมีกลิ่มหอมฉุน รสร้อนแรง เผ็ดอมขมเล็กน้อย จัดเป็นพืชปรุงรส หรือเครื่องเทศ โดยชื่อ fennel มาจากรากศัพท์ละตินว่า fenum อันเป็นศัพท์ที่ใช้บรรยายกลิ่นที่หอมหวาน เรากินผักชีล้อมได้ทั้งต้น เริ่มจากตรงส่วนโคนต้นสีขาว เวลาเลือกจึงต้องเลือกแบบโคนอวบอ้วนซึ่งจะมีเนื้อและฉ่ำหวานกว่าหัวแบนๆ นอกจากนี้ ใบอ่อนและเมล็ดก็ใช้ทำอาหารและให้ประโยชน์ทางยาด้วย มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ผักอัน ผักอันอ้น ผักอันอ้อ ผักผันอ้อ จีอ้อ ผักหนอกช้าง จุ้ยคึงไฉ่ (จีน) เป็นต้น
ชื่อสามัญ : Water dropwort, Oenanthe
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oenanthe javanica (Blume) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Oenanthe stolonifera Wall. ex DC) จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)
ผักชีล้อมเป็นพืชล้มลุกเลื้อย อายุหลายฤดู ทุกส่วนของลำต้นกลวง อวบน้ำ ใบเป็นใบประกอบใบย่อยคล้ายผักชีแต่ใหญ่กว่าคลายรูปหอก ขอบใบหยักฟันเลื่อยหยาบๆ ดอกสีขาว ออกดอกเป็นช่อแบบรวม มีก้านชูดอกยาว ผลแห้งแตกรูปไข่ ทุกส่วนนั้นมีกลิ่นหอมฉุน รสร้อนแรง
ผักชีน้ำ หรือ ผักชีล้อม ใช้เป็นพืชปรุงรสที่ให้กลิ่นฉุน มีรสร้อนแรง ยอดอ่อนนิยมใช้รับประทานเป็นผักสดแกล้มกินกับน้ำพริก ส้มตำ ยำ และลาบ ทานเป็นผักสด โดยหั่นบางๆ ใส่ในสลัดผัก หรือแช่ให้เย็นจัดไว้แกล้มกับเนื้อย่าง ปลา หรืออาหารทะเล เพื่อดับกลิ่นคาว และกินคู่กับอาหารที่มันมาก เพื่อให้ไม่เลี่ยนและย่อยง่าย หรือใช้กินแบบทำให้สุก เช่น การย่าง การอบ ทอด หรือทำเป็นซุป ต้ม ตุ๋น หรือนำมาลวกใช้เป็นเครื่องเคียง หรือนำไปตกแต่งโรยหน้าอาหารเช่นเดียวกับผักชี และยังสามารถนำมาทำเป็นผักดองแบบเกาหลีที่เรียกว่ากิมจิได้อีกด้วย
นอกจากความเชื่อโบราณของตะวันตกในเรื่องอายุวัฒนะแล้ว สรรพคุณจริงแท้ของผักชีล้อมคือเป็นผักที่ให้แคลเซียมสูง มีประโยชน์ต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ กระดูกและฟัน ทั้งยังบำรุงปอด แก้ไอ แก้หอบ แก้อาการหายใจติดขัด คลื่นเหียนอาเจียน ช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ธาตุพิการ ช่วยเจริญอาหาร และยังแก้โรคน้ำเหลืองเสีย เป็นส่วนผสมในตำรับยาอาบ-อบสมุนไพร เพื่อรักษาเหน็บชา ขับเหงื่อ
“ผักกูด” ไม่ใช่พืชตระกูลพืชผักทั่วไป แต่เป็นพืชตระกูลเฟิร์น (Fern) มีชื่อเรียกต่างๆ มากมายหลายชื่อ เช่น ผักอีงอ ผักกูดกิน ผักกูดครึ ผักกูดขาว อาจเรียกตามชนิดสายพันธุ์ เช่น กูดก๊อง กูดน้ำ กูดลาน กูดดอย กูดเครือ แต่ผักกูดที่นิยมนำมากินคือ “กูดน้ำ”
มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ผักกูดขาว (ชลบุรี), หัสดำ (นครราชสีมา, สุราษฎร์ธานี), กูดน้ำ (แม่ฮ่องสอน), ไก้กวิลุ ปู่แปลเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), แลโพโด้ แหละโพะโด้ะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), แทรอแปล๊ะ (กะเหรี่ยงแดง), หย่ายจ๊วด (เมี่ยน), เหล้าชั้ว (ม้ง), บ่ะฉ้อน (ลั้วะ), ร่านซู้ล (ขมุ), กูดคึ (ภาคเหนือ), ผักกูด (ภาคกลาง), กูดกิน เป็นต้น
ชื่อสามัญ : Paco fern, Small vegetable fern, Vegetable fern
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Diplazium esculentum (Retz.) Sw. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Athyrium esculentum (Retz.) Copel.) จัดอยู่ในวงศ์ ATHYRIACEAE
คุณประโยชน์ของผักกูด
เป็นผักอาหารคนที่อุดมด้วยโปรตีน ช่วยเสริมสร้างบำรุงร่างกายให้แข็งแรง มีพลัง มีภูมิคุ้มกัน มีแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น ธาตุเหล็กมีสูง เมื่อกินร่วมกับเนื้อสัตว์ จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุอาหารได้ดี บำรุงโลหิต แก้โรคโลหิตจาง เป็นผักเย็นกินดับร้อนแก้ไข้ตัวร้อน ช่วยบำรุงสายตา ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน มีเส้นใยอาหาร (Fiber) สูงมาก ช่วยระบบการย่อยอาหารและการขับถ่าย มีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะอย่างดีเยี่ยม ที่สำคัญ ผักกูดจะสามารถดูดซับเอาสารพิษที่ติดค้างในร่างกายในอาหาร และขับออกทิ้งจากร่างกาย นั่นคือกระบวนการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ หรือมะเร็งภัยร้ายที่ใครๆ ก็ไม่อยากได้ ไม่อยากพานพบ
การนำผักกูดมาทำอาหาร อย่ากินแบบสดๆ เพราะมีสารออกซาเลต จะทำให้เป็นนิ่วและไตอักเสบได้ ผักกูดเป็นพืชที่มีรสชาติจืดอมหวานและกรอบ นิยมนำเอายอดอ่อนที่มีลักษณะม้วนงอ และใบอ่อนมากินเป็นอาหาร โดยปรุงแต่งเป็นแกงจืด แกงเลียง แกงส้ม แกงกะทิใส่ปลาย่าง แกงรวมกับผักอื่นๆ หลามผักกูด หรือจะใช้เป็นผักต้ม ผักฉาบน้ำมัน ผักกูดราดกะทิ เป็นผักจิ้มน้ำพริกต่างๆ หรือปรุงเป็นยำผักกูด ไข่เจียวผักกูด ผัดผักกูดใส่แหนม ผักกูดฤดูแล้งจะกรอบอร่อยกว่าฤดูอื่น แต่ยอดไม่ค่อยสวยอวบสักเท่าไร
มหาอำนาจ : ผักกูดปลูกง่ายตายยาก
กระโดนน้ำ หรือ จิกน้ำ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 8-17 เมตร ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่เร็ว ทรงพุ่มแผ่กว้าง เปลือกสีน้ำตาลเข้มน้ำตาลแดงหนาและหยาบ ปลายกิ่งมักจะลู่ลง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับ เห็นเป็นกลุ่มอยู่ตอนใกล้ปลายกิ่ง ใบรูปรี รูปหอก กลีบรูปไข่กว้างประมาณ 2.5-8.5 ซม. ยาวประมาณ 5-16 ซม. ปลายใบมนทู่ เว้าเล็กน้อยหรือเป็นกิ่งเล็กๆ ขอบใบหยิก โคนใบแหลม ดอกเป็นดอกช่อ ออกยาวห้อยย้อยลงที่ปลายกิ่ง สีแดงสดหรือแดงเรื่อๆ ช่อดอกอาจยาวได้ถึง 40 ซม. มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 4 กลีบ สีชมพู เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก ส่วนก้านเกสรยาว สีแดงสดเห็นเด่นชัดเรียงเป็นชั้นๆ 3 ชั้น โดยมีโคนเชื่อมติดกันและเชื่อมติดกับกลีบดอก เกสรตัวผู้ร่วงง่าย ผลเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีสันเหลี่ยม เมล็ดเป็นรูปไข่ผิวเป็นร่อง 1 ผล มี 1 เมล็ด พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าหญ้าในที่ลุ่มพบมากตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลองหนองบึง หรือที่ลุ่มน้ำท่วม
กระโดนน้ำ หรือ จิกน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า จิ๊ก (กรุงเทพ), กระโดนสร้อย (พิษณุโลก), ลำไพ่ (อุตรดิตถ์), กระโดนทุ่ง กระโดนน้ำ (ภาคอีสาน), ตอง ปุยสาย (ภาคเหนือ), ตอง จิกน้ำ (ภาคกลาง), จิก, จิกนา, จิกอินเดีย, จิกมุจลินท์ เป็นต้น
ชื่อสามัญ : Indian oak, Freshwater mangrove
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า : Barringtonia acutangula (L.) Gaertn. จัดอยู่ในวงศ์จิก (LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE)
จิก เป็นชื่อของกลุ่มไม้ยืนต้นที่มีอยู่มากกว่า 10 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในสกุล Barringtonia ซึ่งจิกที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยกันดีก็มีแค่ 2-3 ชนิด ได้แก่
นอกจากใบและดอกสิใช้กินเป็นผัก คือ กินกับป่น ลาบ ก้อย และขนมจีน ให้รสชาติมันปนฝาด ช่วยเพิ่มความอร่อยได้ดีมาก สำหรับผู้เขียนถ้าได้ "หมกปลาซิวอ้าว" มาห่อใบกระโดนกินนี่สุดยอดอีหลีครับ
ในเรื่องสรรพคุณทางยานั้นก็มีหลายคือกัน เช่น ใบ ใช้กินแก้ท้องร่วง เปลือก มีรสฝาด ใช้ชะล้างบาดแผล สมานแผลเรื้อรัง และใช้เบื่อปลาได้ ราก ใช้เป็นยาระบาย ผล เป็นแก้หวัด เมล็ด เป็นยารสร้อน แก้ลม แน่นหน้าอก ใช้ในการคลอดบุตร ทำให้อาเจียน ระงับความเย็น แก้อาการไอของเด็ก
ผักพื้นบ้านอีสาน : ตอนที่ 1 | ตอนที่ 2 | ตอนที่ 3 | ตอนที่ 4 | ตอนที่ 5 | ตอนที่ 6
อาหารพื้นเมืองอีสานมักจะต้องมีส่วนปรุงรส หรือชูรส ด้วยผักพื้นบ้านอีสาน ซึ่งมีเอกลักษณ์ทางด้านถิ่นกำเนิด กลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ หายากเพราะมีผลผลิตออกมาตามฤดูกาล นอกจากนั้นยังเป็นพืชผักที่ให้คุณค่าทางด้านสุขภาพอนามัย ปลอดสารพิษ ทำให้เป็นที่นิยมกันทั่วไป ไม่ว่าจะทำอาหารประเภทลาบ ก้อย ต้ม แกง อ่อม ล้วนต้องใช้ผักพื้นเมืองเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น
ชะอม (Cha-om) หรือคนอีสานเรียก ผักขา ช่วยเพิ่มรสชาติให้อาหาร กินยอดอ่อนทั้งสดและลวก ยอดอ่อนแกงกับหน่อไม้ หรือทอดใส่ไข่จิ้มน้ำพริก คุณค่าทางยา แก้ท้องเฟ้อ ขับลมในลำไส้ แก้ปวดเสียวในลำไส้ มีเส้นใยอาหาร ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด และมีเบต้า-แคโรทีนสูง รากใช้ฝนกับน้ำหรือเหล้าขาวแก้ขับลมในกระเพาะอาหาร ท้องอืดเฟ้อ
ชื่อสามัญ : Climbing wattle, Acacia, Cha-om
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acacia pennata (L.) Willd. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)
ผักขา หรือ ผักชะอม มีชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ผักหละ (ภาคเหนือ), อม (ภาคใต้), พูซูเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน), โพซุยโดะ (กะเหรี่ยง) เป็นต้น
ประโยชน์ของชะอม
ชะอม ช่วยฟื้นฟูผมแห้งเสีย แตกปลาย ด้วยสูตรน้ำชะอมหมักผม เพียงแค่นำใบชะอมประมาณ 1 กำมือมาต้มกับน้ำเปล่า 3 ถ้วย จนได้น้ำชะอมเข้มข้น กรองเอาแต่น้ำ เมื่อสระผมเสร็จให้นำผ้าขนหนูมาชุบน้ำชะอมที่เตรียมไว้ บิดพอหมาด นำมาเช็ดผมให้ทั่ว แล้วทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้างออก จะช่วยทำให้ผมแห้งๆ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ชะอม นำมาทำเป็นเมนูอาหารได้หลากหลายเมนูมาก เช่น ไข่ชะอม ไข่ทอดชะอม ชะอมชุบไข่ แกงส้มชะอมกุ้ง แกงส้มชะอมไข่ นำมาลวกหรือนึ่งใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก น้ำพริกกะปิ รับประทานร่วมกับส้มตำมะม่วง ตำส้มโอ หรือจะนำไปปรุงเป็นแกงรวมกับปลา เนื้อ ไก่ กบ เขียด หรือต้มเป็นอ่อม ทำแกงลาว แกงแค เป็นต้น
สรรพคุณทางยาของชะอม
ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากมีวิตามินเอสูง ยอดชะอมช่วยลดความร้อนในร่างกายได้ เชื่อกันว่าผักรสมันอย่างชะอมมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูก ส่วนรากชะอมนำมาฝนกินช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง และช่วยขับลมในลำไส้ มีส่วนช่วยบำรุงเส้นเอ็น ช่วยแก้อาการลิ้นอักเสบเป็นผื่นแดง
ข้อควรระวังในการรับประทานชะอม
สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งมีบุตรอ่อน ไม่ควรรับประทานผักชะอม เพราะจะทำให้น้ำนมแม่แห้งได้ บางคนจะแพ้กลิ่นของผักชนิดนี้อย่างมาก ดังนั้นควรอยู่ห่างๆ เข้าไว้ การรับประทานผักชะอมในหน้าฝน อาจจะมีรสเปรี้ยว กลิ่นฉุน บางครั้งอาจทำให้มีอาการปวดท้องได้ (ปกตินิยมรับประทานผักชะอมกันในหน้าร้อน) และชะอมจะมีกรดยูริกสูง เป็นตัวการที่ทำให้เกิดข้ออักเสบในผู้ป่วยโรคเกาต์ ซึ่งเกิดมาจากสารพิวรีน (Purine) โดยผักชะอมนั้นก็มีสารพิวรีนในระดับปานกลางถึงระดับสูง ผู้ป่วยโรคเกาต์สามารถรับประทานได้ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด หากมีอาการกำเริบเป็นมากก็ไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้ปวดกระดูกได้
ข่า (Galanga, Greater galangal, False galangal) เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า ใช้ประกอบอาหารช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ เป็นเครื่องแกง อาหารไทยหลายชนิดใช้ข่าเป็นเครื่องปรุงหลัก เช่น ต้มข่าไก่ แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน คุณค่าทางยาในเหง้าจะมีน้ำมันหอมระเหยต่างๆ ทำให้ช่วยขับลม ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับเสมหะ ใบใช้ตำพอกหรือทาโรคผิวหนัง หิด กลาก เกลื้อน ถ้าหญิงคลอดลูกใหม่ๆ เลือดขัดให้ใช้หัวข่าสดมาบดผสมน้ำมะขามเปียกและเกลือแกง บีบคั้นเอาแต่น้ำ ประมาณชามแกงย่อมๆ ให้ดื่มจนหมด จะช่วยขับเลือดเสียและทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpinia galanga (L.) Willd. จัดอยู่ในวงศ์ ZINGIBERACEAE เช่นเดียวกับกระชาย กระชายดำ กระชายแดง กระวาน กระวานเทศ ขิง ขมิ้น เร่ว เปราะป่า เปราะหอม ว่านนางคำ และว่านรากราคะ
นอกจากนี้ "ข่า" ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีก เช่น สะเอเชย เสะเออเคย (แม่ฮ่องสอน), ข่าหยวก (ภาคเหนือ), ข่าหลวง (ภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กฎุกกโรหินี (ภาคกลาง) เป็นต้น
ขิง (Ginger) ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber officinale Roscoe จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) เป็นพืชล้มลุก มีแง่งใต้ดินแตกแขนงคล้ายนิ้วมือ เนื้อในสีเหลืองแกมเขียว มีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยและสารจากธรรมชาติ นิยมนำมาทำอาหารทั้งคาวหวาน เช่น ไก่ผัดขิง ใบใช้กินกับซุปหน่อไม้ ส้มตำ หัวผสมกับกระชายทำน้ำยาขนมจีน หรือนำมาต้มทำน้ำขิงใส่น้ำตาล คุณค่าทางยา ช่วยระบบทางเดินหายใจ เป็นหวัดคัดจมูก แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขับลม ช่วยบรรเทาอาการไอ ลดโคเลสเตอรอล
เหง้าขิงแห้ง เป็นยาจำพวกอายุวัฒนะ บำรุงร่างกาย หัวใจ ไฟธาตุ ขับลมในลำไส้ให้ตด (ผายลม) ออกมา แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยย่อยอาหาร แก้ลมพรรดึก แก้อาการปวดท้อง คลื่นเหียนอาเจียน แก้บิดมีตัว บิดมูกเลือก แก้อุจจาระเป็นฟองเหลือง ขับละลายก้อนนิ่ว ตำรับยาแผนโบราณใช้แก้ลมพานไส้ แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ โรคปากเปื่อยฯ
กระชายหรือโสมไทย (Chinese Deys) นิยมใช้แต่งรสชาติอาหาร เช่น แกงป่า ผัดเผ็ด แกงส้มเนื้อ น้ำยาขนมจีน ถือว่าเป็นเครื่องเทศอย่างหนึ่ง กระชายมี 3 ประเภท เช่น กระชายดำ กระชายแดง กระชายเหลือง ที่ใช้ประกอบอาหารคือ กระชายเหลือง คุณค่าทางยาเชื่อว่ามีสรรพคุณคล้ายโสมบำรุงกำลัง เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เช่น กระชายดำ ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันมากในปัจจุบัน อาจจะเรียกว่าโสมไทย จะมีน้ำมันหอมระเหยสรรพคุณดับกลิ่นคาว ทำให้กระเพาะลำไส้เคลื่อนไหวดี สรรพคุณทางยาของกระชาย ถ้าใช้หัวปรุงแก้อาการปากเปื่อย ปากเป็นแผล ปากแตกแห้ง ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปวดท้อง จุกเสียด แก้บิดมูกเลือด บำรุงกำลัง บำรุงน้ำดีฯ
สมุนไพรกระชาย มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพมหานคร), กระชายดำ กะแอน ขิงทราย (มหาสารคาม), จี๊ปู ซีฟู เปาซอเร๊าะ เป๊าสี่ เป๊าะสี่ ระแอน เป๊าะซอเร้าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ละแอน (ภาคเหนือ), ขิงจีน เป็นต้น
กระชาย (กระชายขาว, กระชายเหลือง) ชื่อสามัญ : Fingerroot, Chinese ginger, Chinese keys, Galingale
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Boesenbergia rotunda (L.) Mansf. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
กระชายที่นิยมใช้กันก็คือ กระชายเหลืองและกระชายดำ ซึ่งกระชายดำปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยม จนทำให้กระชายเหลืองถูกลดความสำคัญลงไป แต่ว่ากันว่าในด้านสรรพคุณทางยาสมุนไพร กระชายเหลืองนั้นดีกว่ากระชายดำ เพราะบางทีเราก็คิดไปเองว่าสมุนไพร ถ้าเป็นสีเข้มกว่าก็น่าจะมีประโยชน์มากกว่า แถมกระชายดำยังได้รับการโปรโมตทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนทั่วไปหลงคิดว่ากระชายดำนั้นดีกว่ากระชายเหลืองนั่นเอง
สมุนไพรกระชาย มีสรรพคุณทางยานานับประการ จนได้ชื่อในวงการแพทย์แผนไทยว่าเป็น "โสมไทย" เนื่องจากกระชายกับโสมมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง เช่น สรรพคุณในการบำรุงกำลังและเสริมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสมุนไพรทั้งสองชนิด ทั้งกระชายและโสมต่างก็เป็นพืชที่มีส่วนสะสมอาหารที่ใช้เป็นยาอยู่ใต้ดินเหมือนกัน แถมยังสามารถเรืองแสงในที่มืดได้เหมือนกันด้วย และในเรื่องของลักษณะที่คล้ายกับรูปร่างมนุษย์เหมือนๆ กัน ซึ่งบางครั้งเราจะเรียกโสมว่า "โสมคน" และเรียกกระชายว่า "นมกระชาย" (เนื่องจากกระชายมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับนมผู้หญิงนั่นเอง และบางครั้งก็ดูคล้ายเพศชาย จึงเกิดความเชื่อที่ว่ามันน่าจะมีความเกี่ยวข้องในเรื่องสรรพคุณทางเพศ)
กระชายดำ นี่ทำเอา "อาวทิดหมู" ถึงกับไม่ได้นอนทั้งคืนทีเดียว (คงจะดีจริง เพิ่มพลังทางเพศ คึกคัก) แต่คำตอบที่ได้ทำเอาฮากันทั้งคณะทีมงานเว็บไซต์อีสานเกตกันเลยทีเดียว เพราะอาวทิดหมูตอบมาว่า "เฮอะ! ก็เขาว่ามันเด็ด เอามาดองเหล้าซัดเข้าไปเกือบแบนหนึ่ง นอนรอดูอาการตั้งแต่สามทุ่ม ว่า มันจะโด่เมื่อไหร่? จนสว่างเสียก่อนมันก็ยังไม่งึกไม่งักเลย" ปัดโธ่! นึกว่าไม่ได้นอนเพราะทำอย่างอื่น อุตส่าห์มาคุย 555...
หูเสือ เป็นผักกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดร้อน มีรสเปรี้ยวแทรกอยู่เล็กน้อย รูปทรงของใบมีหยักสมดุล สวยงาม อวบอ้วน ตามบ้านเรือนต่างๆ ส่วนใหญ่จะพบหูเสือถูกปลูกอยู่ในกะละมังหรือเข่งเก่าๆ ถึงแม้หูเสือจะไม่ใช่ผักหรือสมุนไพรที่โดดเด่น แต่แทบทุกบ้านมักปลูกไว้เป็นไม้คู่บ้าน บ้านคนจีนจะปลูกไว้เป็นยาแก้ไอ
หูเสือ หรือ COLEUS AMBOINICUS LOUR อยู่ในวงศ์ LABIATEAE เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี นิยมปลูกตามบ้านมาแต่โบราณเพื่อเก็บเอาใบสดกินเป็นผักจิ้มน้ำพริกชนิดต่างๆ และลาบ ก้อย ชาวบ้านทางภาคอีสานและภาคเหนือนิยมรับประทานกันมาก ขยายพันธุ์ง่ายๆ ปักชำต้นก็ขึ้นแล้ว มีชื่อเรียกอีกคือ ผักหูเสือ หูเสือไทย อีไหล หลึง หูเสือจีน โฮหิเช้า (จีน) หอมด่วนหลวง หอมด่วนหูเสือ (ภาคเหนือ) และ หูเสือ (ภาคอีสาน) ประโยชน์ทางสมุนไพร ใบ คั้นเอาน้ำหยอดแก้ปวดหู แก้พิษฝีในหู แก้หูเป็นนำหนวกดีมาก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng. ( Syn. Coleus amboinicus Lour.)
ชื่อสามัญ : Indian borage
วงศ์ : LAMIACEAE (LABIATAE)
ชื่ออื่น : หอมด่วนหลวง (เหนือ), ผักหูเสือ, เนียมอีไหลหลึง, โฮว้หีเช่า (จีน)
ชาวบ้านในแถบภาคอีสานและภาคเหนือจะปลูกไว้เป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้าน คือ เป็นทั้งยาบำรุงเลือดลม บำรุงร่างกาย ขับน้ำนมหลังคลอด และยังสามารถกินเป็นผัก โดยเฉพาะผักแกล้มลาบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นลาบเนื้อ ลาบปลา ลาบไก่ ลาบเป็ด เนื่องจากในหูเสือ มีน้ำมันหอมระเหยสูง จึงช่วยย่อย แก้ท้องอืด และดับกลิ่นคาวได้ดีมาก นอกจากนี้ ยังนิยมกินกับแจ่วป่น ซุบหน่อไม้ รวมทั้งนำมาใช้แทนใบกะเพราในแกงกบ แกงปลาไหล ผัดหมูสับ เป็นต้น
กลิ่นของใบหูเสือคล้ายกับเครื่องเทศ “ออริกาโน” ที่ใช้โรยหน้าพิซซ่า หากใครชื่นชอบกลิ่นหอมของออริกาโน ก็สามารถใช้ใบหูเสือที่ตากแห้งสนิทในที่ร่ม แล้วบดละเอียด ใช้แทนออริกาโนได้เลย หรือจะทำ "น้ำสมูทตี้..หูเสือ" ดื่มเย็นๆ ก็ไม่ยาก ส่วนผสมและวิธีทำง่ายๆ นำน้ำผึ้ง มะนาว เกลือเล็กน้อย น้ำแข็ง ปั่นให้ละเอียด นำใบหูเสือหั่นฝอย ใส่ลงไป ปั่นให้พอแหลกเข้ากันดี ตักใส่แก้ว ดื่มแก้กระหายดีนักแล
นอกจากนี้ หูเสือ ยังมีสรรพคุณใช้ในการแก้หวัด แก้ไอ แก้คออักเสบ แก้หอบหืด ใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านในการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก รักษาอาการบวม ตำพอกแก้ปวดข้อ ใช้ขยี้ทาเพื่อห้ามเลือด ใช้คั้นน้ำทาแผลเรื้อรัง ใช้คั้นน้ำหยอดหูเพื่อรักษาหูน้ำหนวก ใช้ดับกลิ่นปาก ใช้แก้ไข้ในเด็ก ใช้ขยี้ทาท้องเด็กเพื่อแก้ท้องอืด ป้องกันฟันผุ ใช้ขยี้ทารักษาหิด แมลงสัตว์กัดต่อย ใช้ใส่ในยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลง ปัจจุบัน มีการศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า หูเสือมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ และรา อีกด้วย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
สาบเสือ (อังกฤษ: Bitter bush, Siam weed) เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่หาง่ายมากมีอยู่ทั่วไป จัดว่าเป็นวัชพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่ใช้ประโยชน์ได้ดีที่เดียว เราใช้ "ต้นสาบเสือ" เป็นดรรชีชี้วัดอุณหภูมิความแห้งแล้งของอากาศ เพราะหากอากาศไม่แล้งต้นสาบเสือก็จะไม่ออกดอก สาเหตุที่ได้ชื่อว่า "สาบเสือ" ก็เพราะว่าดอกของมันไม่มีกลิ่นหอมเลยแต่กลับมีกลิ่นสาบ คนโบราณเวลาหนีสัตว์ร้ายอื่นเข้าดงสาบเสือจะปลอดภัย เพราะสัตว์อื่นนั้นจะไม่ได้กลิ่นคน
สาบเสือ มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกหลายชื่อตามท้องถิ่น เช่น หญ้าเสือหมอบ หญ้าดงร้าง หญ้าดอกขาว บ้านร้าง หมาหลง (สุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี), ฝรั่งเหาะ ฝรั่งรุกที่ (สุพรรณบุรี), ผัดคราด บ้านร้าง (ราชบุรี), หญ้าดงรั้ง หญ้าพระสิริไอสวรรค์ (สระบุรี), หญ้าดอกขาว (สุโขทัย ระนอง), หญ้าเลาฮ้าง (ขอนแก่น), สะพัง (เลย), มุ้งกระต่าย (อุดรธานี), หญ้าลืมเมือง (หนองคาย), มนทน (เพชรบูรณ์), เบญจมาศ (ตราด), หมาหลง (ชลบุรี-ศรีราชา), พายัพ พาทั้ง หญ้าเมืองวาย นองเส้งเปรง เซโพกวย ซิพูกุ่ย (เชียงใหม่), ไช้ปู่กย ชีโพแกว่ะ เชโพแกว่ะ (แม่ฮ่องสอน), รำเคย (ระนอง), ยี่สุ่นเถื่อน (สุราษฎร์ธานี), หญ้าเหมือน หญ้าเมืองฮ้าง ต้นลำฮ้าง (อิสาน), ต้นขี้ไก่ (ใต้), พาพั้งขาว (ไทใหญ่), จอดละเห่า (ม้ง), หญ้าเมืองวาย (คนเมือง), เฮียงเจกลั้ง ปวยกีเช่า (จีน) เป็นต้น
ชื่อสามัญ : Siam weed, Bitter bush, Christmas bush, Devil weed, Camfhur grass, Common floss flower, Triffid
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eupatorium odoratum L.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
สรรพคุณของสาบเสือ
ประโยชน์ของสาบเสือ
มะรุม เป็นพืชพื้นบ้านที่มีทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทำให้มีการเรียกชื่อมะรุมแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น คำว่า "มะรุม" นี้ เป็นคำเรียกขานของคนภาคกลาง ในขณะที่ฝั่งอีสานบ้านเฮาเอิ้นว่า “ผักอีฮุม หรือ บักฮุ้ม” ส่วนหมู่เฮาจาวเหนืออู้ว่า “บะค้อนก้อม” ส่วนชาวกะเหรี่ยงแถบกาญจนบุรีเรียก “กาแน้งเดิง” ด้านชายขอบจังหวัดแม่ฮ่องสอนกลับให้ชื่อแก่มันอย่างชวนให้ลิ้มรสว่า “ผักเนื้อไก่” นำฝักอ่อนมาแกงใส่ปลาอร่อยนักแล สรรพคุณทางยา เปลือก ถากมาต้มน้ำกินเป็นยาช่วยขับลมในกระเพาะและลำไส้ บำรุงธาตุ ราก รสเผ็ด หวานขม ใช้แก้อาการบวมน้ำ บำรุงธาตุไฟ เจริญอาหาร ยอดและฝักอ่อน ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ไข้หัวลม (เปลี่ยนฤดู) ช่วยย่อยอาหาร
ชื่อสามัญ : Moringa
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Moringa oleifera Lam. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Guilandina moringa L., Hyperanthera moringa (L.) Vahl, Moringa zeylanica Burmann) จัดอยู่ในวงศ์ MORINGACEAE
ปัจจุบันขณะนี้ ได้มีการโฆษณาสรรพคุณของมะรุมอย่างแพร่หลาย บ้างก็ว่าช่วยต้านมะเร็ง ช่วยรักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงสุขภาพ และสรรพคุณอื่นๆ อีกร้อยแปดพันประการ ทำให้แวดวงผู้รักสุขภาพทั้งหลายตื่นตัวและตื่นเต้นอีกครั้งกับสมุนไพรที่ดูเหมือนว่าจะ “มหัศจรรย์” ชนิดนี้ ไม่ต่างกับปรากฏการณ์กระชายดำและยอ ที่บูมเปรี้ยงปร้างช่วงก่อนหน้านี้ และก็เลือนหายไปกับสายลมแล้ว
และล่าสุด “กระแสมะรุมฟีเวอร์” ได้แพร่ระบาดจนกระทั่งบริษัทเอกชนหลายแห่งได้ผลิต “แคปซูลมะรุม” ออกมาขายกันเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ที่ไม่ชอบรับประทานผัก แต่อยากได้คุณประโยชน์ด้านสมุนไพร รวมถึงผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลาบำรุงสุขภาพ แต่อยากได้อาหารเสริมเพื่อเป็นการบำรุงทางลัด เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยแนะนำว่า ประชาชนต้องเข้าใจก่อนว่ามะรุมไม่ได้รักษาโรคได้สารพัดโรค ไม่ใช่ยามหัศจรรย์ หากคือผักพื้นบ้านที่คนไทยใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารมาหลายรุ่นแล้ว ไม่ใช่ยาวิเศษอย่างที่กระแสสังคมเข้าใจ
มะรุมมีฤทธิ์ร้อน ก็พอจะช่วยในเรื่องระบบไหลเวียนโลหิต แล้วก็มีความเชื่อว่ามันช่วยเรื่องเบาหวานกับความดันโลหิตสูง ในส่วนตรงนี้ต้องพิสูจน์วิจัยกันต่อไป แต่ที่ห่วงก็คือ หากคนเข้าใจว่ามันเป็นยา ไม่ใช่พืชผัก และรับประทานมันในฐานะยารักษาโรค คนจะไม่รับประทานยาแผนปัจจุบันที่ผลิตออกมาเพื่อรักษาโรคนั้นๆ โดยตรง ”
มะกรูด เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้าน ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็ง ใบ เป็นใบประกอบที่มีใบย่อยใบเดียว สีเขียวหนา มีลักษณะคอดกิ่วที่กลางใบเป็นตอนๆ มีก้านแผ่ออกใหญ่เท่ากับแผ่นใบ ทำให้เห็นใบเป็น 2 ตอน ใบสีเขียวแก่ค่อนข้างหนา มีกลิ่นหอมมากเพราะมีต่อมน้ำมันอยู่ ดอก ออกเป็นกระจุก 3–5 ดอก กลีบดอกสีขาว ร่วงง่าย ผล มีหลายแบบแล้วแต่พันธุ์ผลเล็กเท่ามะนาว ผิวขรุขระน้อยกว่าและไม่มีจุกที่หัว
มะกรูดมีชื่อท้องถิ่นแตกต่างกันไป อีสานเรียก บักกูด แถวชายแดนติดเขมรเรียก โกร้ยเขียด ทางเหนือเรียก มะขูด, มะขุน ส่วนชาวกะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน เรียก มะขู และทางแดนใต้ เรียก ส้มกรูด, ส้มมั่วผี
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus hystrix DC.
ชื่อวงศ์ : Rutaceac
ชื่อสามัญ : Leech Lime, Mauritius Papeda, Kaffir Lime, Porcupine Orange
การปลูกก็ง่ายมากๆ ปลูกได้ดีในดินแทบทุกชนิด ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด มีสรรพคุณทางยา :
คติความเชื่อ : มะกรูดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่ควรปลูกไว้ในบริเวณบ้าน โดยกำหนดปลูกทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (พายัพ) เพื่อผู้อยู่อาศัย จะได้มีความสุข และในบางตำราว่าเป็นความเชื่อของคนบ้านป่าที่เดินทางด้วยเกวียนเทียมโคหรือกระบือ เมื่อได้กลิ่นสาบเสือจะหยุดเดิน เจ้าของจะต้องขูดผิวมะนาวหรือมะกรูด ป้ายจมูกให้ดับกลิ่นสาบเสือก่อน โค กระบือจึงจะเดินต่อไป ดังนั้นการเดิน ทางสมัยก่อนผ่านป่า ผู้เดินทางจึงมักจะพกพามะนาว และมะกรูดติดตัวไปด้วยเสมอ ในพิธีกรรมการทำน้ำมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์ สำหรับพรมหรืออาบผู้ป่วยใบมะกรูดเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะขาดไม่ได้ โดยใช้ร่วมกับใบส้มป่อย ใบเงินใบทอง ใบมะตูม หญ้าแพรก หมากผู้หมากเมีย ใบราชพฤกษ์ เชื่อกันว่าใบจากต้นไม้มงคลเหล่านี้จะช่วยปัดเป่าและบรรเทาเคราะห์โศกลงไปได้
มะนาว เป็นไม้ผลชนิดหนึ่ง ผลมีรสเปรี้ยวจัด จัดอยู่ในสกุลส้ม (Citrus) ผลสีเขียว เมื่อสุกจัดจะเป็นสีเหลือง เปลือกบาง ภายในมีเนื้อแบ่งกลีบๆ ชุ่มน้ำมาก เป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในเอเชียตะออกเฉียงใต้ และเป็นพืชผักพื้นบ้านที่คนไทยคุ้นเคยรู้จักกันมานาน ซึ่งมักถูกนำมาปรุงรสเปรี้ยวให้กับอาหาร มีประโยชน์ทางโภชนาการและมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย มะนาวมีหลายสายพันธุ์ที่นิยมปลูก เช่น มะนาวไข่ มะนาวหนัง มะนาวแป้น มะนาวโมฬี มะนาวหวาน มะนาวด่านเกวียน เป็นต้น
มะนาว ก็เหมือนกับส้มทั้งหลาย ที่มีปัญหามากในการจัดหมวดหมู่และแยกแยะทางอนุกรมวิธาน สำหรับชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่คุ้นเคยของมะนาว ก็คือ Citrus aurantifolia Swingle หรือ "Citrus aurantifolia" (Christm & Panz) Swing. แต่ยังมีชื่ออื่นๆ อีก เช่น C. acida Roxb., C. lima Lunan, C. medica var. ácida Brandis และ Limonia aurantifolia Christm
สำหรับชื่อสามัญนั้นในหลายภาษาก็เรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น ในภาษาอังกฤษ เรียก Mexica lime, West Indian lime และ Key lime หรือเรียก lime สั้นๆ ก็ได้ สาเหตุที่มีหลายชื่ออาจเป็นเพราะเป็นพืชต่างถิ่น จึงไม่มีชื่อดั้งเดิมในภาษานั้นๆ ทำให้เกิดการเสนอชื่ออื่นๆ มาหลายชื่อก็เป็นได้ ส่วนในประเทศไทยยังเรียกอีกหลายชื่อ เช่น โกรยชะม้า, ปะนอเกล, ปะโหน่งกลยาน, มะนอเกละ, มะเน้าด์เล, มะลิ่ว, ส้มมะนาว, ลีมานีปีห์, หมากฟ้า และ "ส้มนาว" เป็นภาษาใต้ที่ใช้เรียกมะนาว (คำว่า "ส้ม" ในภาษาใต้จะใช้เรียกผลไม้บางชนิดที่มีรสเปรี้ยว อย่าง ส้มนาว ส้มขาม เป็นต้น) เช่นเดียวกับทางภาคอีสานเรียกผลไม้บางอย่างว่า "บัก" หรือ "หมาก" ในการขึ้นต้น เช่น บักม่วง หรือ หมากม่วง ที่หมายถึง มะม่วง ดังนั้น บักนาว ก็คือ มะนาว
อนึ่ง มีคำว่า เลมอน (lemon) ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ผลส้มอีกชนิดหนึ่งที่หัวท้ายมน ไม่ใช่ผลกลมๆ อย่างมะนาวที่เรารู้จักกันดี สำหรับ มะนาวเทศ (Triphasia trifolia) นั้น เป็นพืชในวงศ์เดียวกัน (Rutaceae) กับมะนาวแต่ต่างสกุลกัน ส่วน มะนาวควาย หรือ ส้มซ่า (Citrus medica Linn. Var. Linetta.) เป็นพืชสกุลส้มเช่นเดียวกัน แต่ต่างชนิด (สปีชีส์) กัน
สรรพคุณทางยา
มะนาวเป็นผลไม้ที่มีกรดอินทรีย์หลายชนิด เช่น กรดซิตริก กรดมาลิก วิตามินซี จากน้ำมะนาว ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากผิวมะนาว มีวิตามินเอและซี ทั้งยังมีธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูงกว่าในน้ำมะนาวอีกด้วย มะนาวมีประโยชน์ใช้เป็นยาสมุนไพร ขับเสมหะ แก้ไอ เลือดออกตามไรฟัน เหงือกบวม ได้ด้วย ในผลมะนาว 1 ลูกจะมีน้ำมันหอมระเหยอยู่มากถึง 7% ที่ให้กลิ่นหอมสดชื่น (Aromatherapy) ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ในการผสมเป็นน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ เช่น น้ำยาล้างจาน เป็นต้น
มะกอก จะมีอยู่ด้วยกัน 3-4 ชนิด ได้แก่ มะกอกป่า มะกอกฝรั่ง มะกอกน้ำ และมะกอกโอลีฟ ในที่นี้เราจะพูดถึงมะกอกไทยหรือมะกอกป่า ที่เรานิยมนำมาใส่ในส้มตำ น้ำพริก ยำ และใช้ประกอบอาหารอื่นๆ ที่ต้องการรสเปรี้ยว โดยจะมีรสเปรี้ยวและฝาดเล็กน้อย ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้ โดยใช้รับประทานทั้งสุกและดิบร่วมกับน้ำพริก ลาบ ส้มตำ น้ำตก และอาหารประเภทยำที่มีรสจัด (ชาวเหนือนิยมนำมาสับผสมลงไปในลาบ เพื่อช่วยให้รสชาติไม่เลี่ยนและอร่อยขึ้น)
มีชื่อสามัญท้องถิ่นอื่นๆ ว่า กูก กอกกุก (เชียงราย), กอกเขา (นครศรีธรรมราช), ไพแซ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), กอกหมอง (เงี้ยว-เชียงใหม่), กราไพ้ย ไพ้ย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ตะผร่าเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), กอกป่า มะกอกป่า (เมี่ยน), มะกอกไทย (ไทลื้อ), สือก้วยโหยว (ม้ง), โค่ยพล่าละ แผละค้อก เพี๊ยะค๊อก ลำปูนล (ลั้วะ), ตุ๊ดกุ๊ก (ขมุ), ไฮ่บิ้ง (ปะหล่อง) เป็นต้น
ชื่อสามัญ : Hog plum[1], Wild Mango[8]
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spondias pinnata (L. f.) Kurz จัดอยู่ในวงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)
ใบมะกอก เป็นใบประกอบ ลักษณะแบบขนนก มีชั้นเดียว เรียงสลับตามกิ่ง เนื้อใบหนา เป็นมัน ท้องใบเรียบ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบไม่เท่ากัน ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ใบมะกอก มีรสฝาดเปรียว ผลมะกอกมีรสเปรี้ยวอมหวาน
สรรพคุณบำรุงร่างกาย แก้หูอักเสบ แก้ปวดหู แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ช่วยทำให้ชุ่มคอ รักษาอาการปวดท้อง รักษาอาการท้องเสีย
หมากแข้ง หรือ มะเขือพวง เป็นพืชในกลุ่มพริกและมะเขือต่างๆ นั่นเอง มะเขือพวงมีลักษณะพิเศษบางประการต่างจากมะเขือชนิดอื่นๆ คือ เป็นไม้พุ่มยืนต้นข้ามปี ไม่ใช่พืชล้มลุกเหมือนมะเขือชนิดอื่นๆ มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า มะเขือละคร (นครราชสีมา), มะแว้งช้าง (สงขลา), มะแคว้งกุลา (ภาคเหนือ), หมากแข้ง บักแข้ง (ภาคอีสาน), เขือน้อย เขือพวง เขือเทศ ลูกแว้ง (ภาคใต้) เป็นต้น
ชื่อสามัญ : Turkey berry, Devil's fig, Wild eggplant, Pea eggplant, Pea aubergine, Shoo-shoo bush
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum torvum Sw. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Solanum ficifolium Ortega, Solanum mayanum Lundell) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)
หมากแข้ง เป็นพืชที่ขึ้นได้ทั่วไปในเขตร้อน โดยมีต้นกำเนิดในแอนทิลลีส ตั้งแต่รัฐฟลอริดา หมู่เกาะเวสต์อินดีส์ เม็กซิโก ไปจนถึงอเมริกากลาง และทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศบราซิล เป็นพืชที่ทนต่อโรคพืชต่างๆ ได้เป็นอย่างดี การเพาะปลูกจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงแต่อย่างใด จึงค่อนข้างมั่นใจได้ว่า การรับประทานมะเขือพวงจะได้ประโยชน์และปลอดสารพิษอย่างแน่นอน สำหรับในประเทศไทยบ้านเรานั้น รู้จักมะเขือพวงมานานแล้ว โดยนิยมนำผลมาใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็น แกงป่า แกงคั่วปลาไหล แกงอ่อมปลาดุก แกงเขียวหวาน แกงเนื้อ น้ำพริกกะปิ น้ำพริกแมงดา น้ำพริกกุ้งสด น้ำพริกไข่เค็ม ปลาร้าทรงเครื่อง ผัดเผ็ด เป็นต้น
ส่วนของมะเขือพวงที่นำมาใช้เป็นผักก็คือ ผลอ่อนที่มีสีเขียว หากใช้เป็นผักจิ้มนิยมทำให้สุกโดยการเผา ปิ้ง หรือย่าง พอให้ผิวกรอบหรือไหม้บางส่วน จะทำให้รสชาติดีขึ้น และผลนิ่มกว่าเมื่อยังดิบ นอกจากนี้ยังอาจนำไปลวกหรือต้มให้สุกก็ได้ แต่ไม่ค่อยนิยมกัน มะเขือพวงมีสารโซลานีน (Solanine) ซึ่งเป็นอัลคาลอยด์ ผู้ที่เป็นโรคไขข้อควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน เพราะสารนี้อาจจะทำให้เกิดความไม่สมดุลของแคลเซียมในร่างกายได้
ผักขะย่า ไม้พุ่มหรือกึ่งเลื้อย มีหนามและขนสากกระจายตามลำต้น ช่อดอก และก้านดอก ใบประกอบมีใบประกอบย่อย 10-30 ใบ ใบจะหุบเข้าหากันได้ถ้าถูกสัมผัส ช่อดอกแบบช่อกระจะ กลีบกลางรูปไข่กลับ ขนาดเล็ก มีเส้นกลีบสีแดง ฝักพอง ปลายโค้ง โคนแคบ ปลายมีจะงอย ในไทยพบทุกภาค ภาคใต้ถึงชุมพร ขึ้นตามชายป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง สองข้างถนน ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร ชาวบ้านบอกว่า ผักปู่ย่ามีกลิ่นหอมนวลน่ากิน ผักปู่ย่าพบขึ้นในแหล่งธรรมชาติบริเวณ ป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ และบริเวณชายป่าที่รกร้าง ชอบขึ้นรวมกับต้นไม้อื่นๆ ขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด ผล มีลักษณะเป็นฝัก บวมพอง มีหนามเล็กๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือ ภายในฝักจะมีเมล็ด 2 เมล็ด
ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ผักปู่ย่า หนามปู่ย่า ทะเน้าซอง (ภาคเหนือ), ช้าเลือด (ภาคกลาง), ผักขะย่า (นครพนม), ผักคายา (เลย), ผักกาดย่า (ปราจีนบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Caesalpinia mimosoides Lamk. จัดอยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE
ผักขะย่า กินยอดอ่อน ใบอ่อนและดอกยอดและใบอ่อนจะออกช่วงฤดูฝนครับ ส่วนดอกออกในหน้าหนาว ใบอ่อนเป็นผักสดกินกับน้ำพริก ซุปหน่อไม้ หรือซอยใส่ลาบ ส่วนดอกและยอดอ่อนปรุงเป็น "ส้าผัก" มีรสเปรี้ยวและฝาดเผ็ด นึกแล้วชักเปรี้ยวปากอยากกินกับซุปหน่อไม้
คุณประโยชน์ทางด้านอาหาร
ส่วนที่เป็นผัก ได้แก่ ยอดอ่อน ใบอ่อนและดอกของผักปู่ย่า ใช้รับประทานเป็นผักได้ เช่น อีสานบ้านเฮายอดผักขะย่ากินสดๆ กับซุปหน่อไม้ หรือแกงหน่อไม้ยอดอ่อนและใบอ่อนจะผลิออกในช่วงฤดูหนาว (เดือนตุลาคม-เดือนกุมภาพันธุ์) ส่วนชาวเหนือรับประทานยอดอ่อน ใบอ่อนของผักปู่ย่าเป็นผักเคียงผักสด ส่วนดอกและยอดอ่อนนำไปปรุงเป็น "ส้าผัก" ได้โดยปรุงร่วมกับมะเขือแจ้ ยอดมะม่วงและเครื่องปรุงรสหลายชนิด
สรรพคุณทางยาของผักขะย่า
ยอดอ่อนและดอก มีรสเปรี้ยว ฝาดเผ็ดร่วมกัน จึงมีสรรพคุณ บำรุงเลือด แก้วิงเวียน และจากรายงานผลการวิจัยที่ค้นพบ พบว่า ในผักพื้นบ้านประเภทนี้ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงมีสรรพคุณในการลด หรือยับยั้งการสร้างเซลล์มะเร็งได้ดี
ผักพื้นบ้านอีสาน : ตอนที่ 1 | ตอนที่ 2 | ตอนที่ 3 | ตอนที่ 4 | ตอนที่ 5 | ตอนที่ 6
ฝนตกมาทุ่งนาบ้านทิดหมูเป็นต้องได้ยินเสียงร่ำร้องด้วยความดีใจของ ฝูงกบ เขียด และอึ่งอ่าง ร่ำระงมด้วยความยินดี (คงต้องคลอด้วยเพลงของรุ่งเพชร แหลมสิงห์ ประกอบบทความนี้ด้วย ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำๆ..) นั่นแสดงว่า ถึงเวลาที่เราจะได้ออกหากินอาหารแซบตามฤดูกาลกันอีกแล้ว นั่นคือ "ฮวก" คือ ลูกกบที่ยังมีหางตัวเล็กๆ ที่คนอีสานมัก(ชอบ)เอามาทำอาหารกัน ถือว่าเป็นของหายาก เพราะจะมีแค่ในช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น พิมพ์ไป คึดไป กะน้ำลายย้อยไปพี่น้องเอย... มาทำความลู้จักกับ "ฮวก" ในทางวิชาการกันก่อนเนาะ
ฮวก หรือ ลูกอ๊อด (ภาษาอังกฤษ: Tadpole, Pollywog, Porwigle) หรือ อีฮวก ในภาษาเหนือ เป็นชื่อเรียกของตัวอ่อนของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในอันดับ กบ (Anura) เมื่อโตเต็มวัย ลูกอ๊อดจะมีรูปร่างเช่นเดียวกบปกติทั่วไป แต่กระนั้นก็ยังมีกบบางชนิดที่ไม่มีช่วงวัยลูกอ๊อด
วงจรชีวิตของกบ (ภาพจาก Encyclopedia Britannica, Inc.)
ลูกอ๊อด มีรูปร่างโดยทั่วไปคล้ายปลา มีหาง ไม่มีขา หายใจด้วยเหงือก ส่วนหัวมีขนาดโตมาก ซึ่งลูกอ๊อดของกบแต่ละวงศ์ก็มีรูปร่างและลักษณะแตกต่างออกไป โดยแบ่งตามโครงสร้างของปาก โครงสร้างของห้องเหงือก จำนวนและตำแหน่งของช่องเปิดเหงือกที่เป็นทางผ่านออกของน้ำ ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 4 แบบ คือ
นอกจากนี้ ลูกอ๊อดแต่ละชนิดจะมีรูปร่างแตกต่างกัน แล้วยังมีระบบนิเวศน์ที่อาศัยแตกต่างกันอีกด้วย ลูกอ๊อดบางชนิดจะว่ายน้ำระดับผิวน้ำ หรือกลางน้ำและกินอาหาร แต่บางชนิดจะไม่กินอาหาร แต่จะใช้อาหารจากถุงไข่แดงที่ติดมาจากไข่แทน บางชนิดเกาะติดอยู่กับก้อนหินหรือโขดหินในลำธารที่มีน้ำไหลแรง บางชนิดซุกซ่อนตัวอยู่ในโคลนใต้พื้นน้ำ ขณะที่บางชนิดจะอยู่ในน้ำบนใบไม้ก็มี
ลูกอ๊อด หรือ ฮวก สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้ในอาหารพื้นบ้านแบบอีสาน หรืออาหารแบบชาวเหนือ เช่น แอ็บ, หมก แกง อ่อม หรือทำน้ำพริก
ฮวก หรือ ลูกอ๊อด คือ ลูกกบ ลูกเขียด ตอนที่มันยังเป็นตัวเล็กๆ ในช่วงที่ฝนตกใหม่ๆ หรือย่างเข้าหน้าฝน ตามท้องนาอีสานบ้านเฮาพอฝนตกมา กบ เขียด มันก็จะออกมาจับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่ หลังจากนั้นไม่นาน ในแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นใหม่โดยเฉพาะในนาก็จะมี ลูกอ๊อด หรือ ฮวก เต็มไปหมด จังหวะนี้แหละที่พวกเฮาชาวอีสานจะเตรียมสวิง บ้างก็ใช้ตาข่ายขนาดใหญ่ เตรียมคุไม้ไผ่ เตรียมข้อง ไปหาส่อน (ช้อน) เอาตัวฮวก มาประกอบอาหารรสเด็ดกินกัน (เรื่องนี้บ่ต้องเอาไปฝากป้า มันมีน้อย พอกินแต่พวกเฮานี่หละ อิอิ)
พอถึงทุ่งนาได้ทำเลเหมาะๆ เห็นว่ามีฮวกแน่นอนแล้ว เราก็เริ่มลงน้ำส่อนสวิง หรือกวาดดางมองตาข่ายกันเลย ส่อนลงจักหน่อยยกขึ้นมาดูว่าในการส่อนครั้งนี้มีฮวกติดมากี่ตัว ในบางแหล่งที่มีฮวกเยอะๆ แป๊บเดียวก็ได้ปริมาณพอกินแล้ว บางแหล่งฮวกยังไม่โตเต็มวัย (หัวแหลมๆ หางยาวๆ) เราก็ข้ามไปก่อน รอให้มันโตขึ้นมาค่อยกลับมาส่อนในวันหลัง (ข้อควรระวังคือ ดูให้ออกว่ามันเป็นฮวกกบ หรือฮวกเขียดตะปาด เบิ่งสีมัน ถ้าสีดำๆ ล้วนๆ ละบ่แม่นเด้อ มันต้องออกเหลืองๆ จักหน่อย อันนี้ทิดหมูเคยพ้อสมัยเป็นบ่าว ยังดื่มหนักๆ อยู่ ด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์ชวนกันไปส่อนฮวก พัดได้ฮวกตะปาดมาหมกพากันเมาฮากแอ่ ฮากแอ่น นอนเป็นตายไปหลายมื้อพุ้นตั่ว) ในการส่อนสวิงแต่ละรอบ อาจจะมีตะกอน เศษต้นไม้ใบหญ้าติดมาด้วย เราก็เก็บโยนทิ้งขึ้นริมฝั่ง เพื่อรอบต่อไป จะได้ไม่ต้องมาเก็บออกซ้ำ ระวังบางที่ส่อนไปส่อนมาไปเจอกองขี้ควายติดมาเต็มสวิงเลยก็มี
สิ่งที่เราจะได้ในการส่อนแต่ละครั้ง บ่อได้แม่นแต่ฮวกเด้อ อาจจะได้อย่างอื่นติดมามาด้วย เช่น แมงง้องแง้ง แมงระงำ บางทีโชคดีอาจจะได้แมงตับเต่ามาด้วย โชคดีไปอีกอาจได้แมงดา ปลาดุกนามาพร้อม เอาใส่ข้องรวมๆ กันไปก่อน แล้วค่อยไปคัดแยกกันอีกที หมานๆ ครับ
เมื่อส่อนหลายๆ เทื่อ จนรวบรวมฮวกมาได้มากพอที่จะเอามาประกอบเป็นอาหารกันแล้ว ก็กลับบ้านเตรียมเข้าครัวกันได้เลย แต่ว่าตัวฮวกที่ได้มาก็ใช่ว่าจะเอาไปทำอาหารได้เลยนะครับ ต้องมีอีกขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง นั่นก็คือ การเอาขี้ของฮวกออก ภาษาอีสานเรียกการ “ไส่ขี้” (เบิ่งจากรูป ฮวกตัวอ้วนๆ ป่องๆ นั้นมีขี้เต็มเลย ฮวกพวกนี้มันอาศัยกินขี้ไคลน้ำ เศษพืชที่อยู่ในนา) วิธีการบีบท้องฮวกให้ขี้มันแยกออกจากตัว ให้เอาสวิงหรือกระด้งตาถี่ๆ มารองไว้ไม่ให้ฮวกไหลออก จะทำให้ง่ายบีบขี้ฮวกออกได้ง่ายขึ้น จากภาพประกอบข้างล่างแล้วก็ไม่ต้องบรรยายมากครับพี่น้อง ว่าขี้ฮวกมันจะเยอะขนาดไหน
หลังจากไส่ขี้เรียบร้อยแล้ว ให้ทำการล้างด้วยน้ำสะอาดอีกสักรอบสองรอบ เพียงเท่านี้ฮวกก็จะไม่มีขี้ขมๆ และพร้อมที่จะนำไปประกอบอาหารให้ขั้นตอนต่อไปแล้วครับ
ต่อไปเป็นขั้นตอนสำคัญแล้วครับ เราจะทำอาหารแบบแซบหากินยาก หากินได้เฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น คือ การทำหมกฮวก นั่นเอง (อย่าเสียงดังให้ป้าได้ยิน ของมันมีน้อยบ่พอกินดอก หายาก เฮ็ดกินกะยากอีก ยังสิเอาไปฝากเพิ่นอีก อีแม่กะดาย) ทำกิ่นง่ายๆ ครับ เตรียมอุปกรณ์และเครื่องปรุงให้พร้อมเลย
วิธีการทำ นำเอาตะไคร้มาซอยละเอียด หอมแดงซอย แล้วนำมาตำกับพริกสดให้ละเอียด ต้นหอมสดหั่นท่อน พร้อมเด็ดใบอีตู่และผักขะแยง เอาลงไปคลุกกับฮวกที่เตรียมไว้แล้วให้เข้ากันดี ปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อยใส่น้ำปลาแดกลงไปกะให้นัวๆ พอดี (อย่าให้เค็มเด้อ สิเสียของ) ส่วนน้ำปลาและผงนัวจะใส่หรือไม่ก็ตามใจ (คนที่ไม่เชื่อมั่นในฝีมือมักจะขาดสิ่งนี้ไม่ได้) แล้วนำไปห่อด้วยใบตองกล้วยขนาดพอเหมาะ (มีปริมาณเยอะก็ต้องหลายห่อ เผื่อแม่ป้า พ่อลุงนำแหน่กะตามใจ) แล้วนำไปตั้งย่างไฟอ่อนๆ กลิ่นของใบตองไหม้ไฟจะเพิ่มความหอมและรสชาสของหมกฮวกให้อร่อยมากยิ่งขึ้น เว้ามาแล้วน้ำลายแตกแตนเลยพี่น้อง
นอกจากการหมกฮวกแล้ว บางคนก็เอาไปทำอ่อมฮวก หรืออู๋ฮวกก็ได้เช่นกัน ความแตกต่างของการอ่อมฮวกกับอู๋ฮวกนั้น อยู่ที่ปริมาณของน้ำและผักที่ใส่ลงไปในอาหาร แต่กระบวนการทำเหมือนกันคือ ใช้ภาชนะที่เป็นหม้อ (หม้อดิน หรือหม้ออะลูมิเนียมก็ได้) ใส่น้ำและเครื่องแกงลงไปพอขลุกขลิก เติมฮวกและผักต่างๆ ลงไปเช่น ใบอีเลิด (ชะพลู) ผักชีลาว ใส่เครื่องปรุงรสน้ำปลาร้า ถ้าปริมาณผักมากกว่าตัวฮวกต้มให้สุก มีน้ำเล็กน้อยเติมข้าวคั่วลงไปจะเป็นอ่อมฮวก
ส่วนการอู๋ฮวกนั่น ก็ใช้หม้อตั้งไฟ ใส่น้ำไม่ต้องเยอะมาก ใส่เครื่องปรุง ผักหอมต่างๆ (เหมือนหมก) ใส่ฮวก ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ตั้งไฟให้สุกจนน้ำงวดลงเกือบแห้ง ได้กลิ่นหอมยกลง ไม่ต้องใส่ข้าวคั่ว ก็จะได้อู๋ฮวกแซบๆ แล้ว แต่ถ้าใส่น้ำลงไปเยอะๆ จะกลายเป็นต้มฮวกนะพี่น้อง ซึ่งไม่มีใครทำกันนักสำหรับอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์เล็กสัตว์น้อยแบบนี้ แนวแซบอีกอย่างสำหรับการปรุงอาหารด้วย ฮวก คือ แกงฮวกใส่หน่อไม้ส้ม แต่ทิดหมูกินบ่ได้ครับผิดโรคนับบ่เถิงสิบ (เก๊าท์) อย่างแฮงเลย (กรรมของข้าน้อยอีหลี อยากปานได๋กะบ่ได้กิน) ความเป็นอาหารอีสานขนานแท้ที่ขาดไม่ได้เลยคือ น้ำปลาร้า ครับ เพราะจะได้ความแซบนัวแบบไม่ต้องมีผงชูรสเลยนั่นเอง
อ่านจบแล้ว "พากันคึดฮอดบ้านกันบ่น้อพี่น้องเอย" ว่าแล้วกะสิลงไปจอบหนองในนาใกล้เฮือนเบิ่งก่อน เทื่อมันสิยังพอมีให้ได้กินจักหน่อยน้อพี่น้องนอ... ไปพากันเมือยามบ้านหาอีแม่พอได้กินแนวแซบๆ กัน สวัสดีครับ
อาว์ทิดหมู มักหม่วน
กระท่อมน้อยฮิมมูลพุ้นแหล่ว
29 กรกฎาคม 2562
หนุ่มอุดรธานี กลับจากไปทำงานต่างจังหวัดมาอยู่บ้านเกิด คิดเลี้ยงกบเพื่อขาย "ลูกอ๊อด" หรือ "ฮวก" โดยผสมพันธุ์พ่อแม่กบนากับกบพันธุ์บลูฟร็อก จับขายนอกฤดูฝนได้กิโลกรัมละ 300-400 บาท รายได้เดือนละหมื่น (คิดต่างก็ร่ำรวยได้)
นอกจากขายฮวกแล้ว ยังมีรายได้จากการขายกบขนาดเล็กอายุ 1 เดือน ที่ขายตัวละ 1 บาท ส่วนกบอายุ 3 เดือน จะขายปลีก-ส่งกิโลกรัมละ 120 บาท ส่วนพ่อแม่พันธุ์จะมีอายุ 3 ปี จากนั้นก็จะเปลี่ยนพ่อแม่พันธุ์ใหม่
"สาเหตุที่เลี้ยงกบพันธุ์บลูฟร็อกผสมกับกบนา เพราะกบพันธุ์บลูฟร็อกมีขนาดใหญ่ ส่วนกบนาพันธุ์พื้นเมืองมีขนาดเล็กแต่เนื้อแน่น แข็งแรง ทนต่อโรค ทำให้สามารถเลี้ยงเป็นกบพันธุ์เนื้อขายส่งได้ราคาดี หากต้องการให้กบมีขนาดใหญ่ ให้กินอาหารเม็ดกบ แต่ถ้าอยากให้เนื้อแน่นไม่โตมาก จะให้กินอาหารปลาดุก ส่วนการทำให้กบผสมพันธุ์กัน ก็ทำง่ายๆ (หลอกกบกะเป็นน้อ) คือฉีดน้ำใส่สังกะสีทำให้เหมือนเสียงฝนตก และใช้แสงแฟลชกล้องถ่ายรูปให้เหมือนฟ้าแลบ จะทำให้กบผสมพันธุ์กัน ใน 1 ปีจะขายลูกอ๊อด หรือฮวก ได้ 7 เดือน จากเดือนมีนาคม–ตุลาคม ส่วนฤดูหนาวกบจะจำศีล"
ใครสนใจก็ติดต่อ นายธนากร หอมดวง บ้านเลขที่ 15 หมู่ 12 บ้านธาตุสามัคคี ตำบลกุดจับ อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี ครับ
ที่มา : ข่าวไทยรัฐออนไลน์
ครั้งก่อนนำเสนออาหารโบราณอีสาน "ลาบหมาน้อย" คราวนี้มีมีดราม่าเรื่องขนมที่เอามาต้อนรับคณะรัฐมนตรี เมื่อครั้งไปเยือนเมืองบุรีรัมย์ว่า อีหยังน้อจั่งเอา "ขนมตดหมา" มาให้เพิ่นกิน มันเป็นจั่งใด๋ คือเอา "ตดหมา" มาเฮ็ดขนมได้ เว็บมาดเซ่อเลยสะกิดให้อาว์ทิดหมูฟ้าวเอามาแถลงให้แจ่มแจ้ง ก่อนจะเข้าใจผิดกันไปไกลกว่านี้
พี่น้องชาวบ้านในแถบถิ่นอีสานใต้อย่าง จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดศรีสะเกษ มีขนมท้องถิ่นที่ชื่อไม่น่ากินอย่าง “ขนมตดหมา” หรือเรียกตามภาษาถิ่นว่า “เวือระพอม” เป็นขนมพื้นบ้านที่มีมานมนานแต่โบราณ มีรสชาติอร่อยที่อยากให้ทุกคนได้ลองชิมกัน ถ้าได้ผ่านไปเที่ยวทางแถบจังหวัดเหล่านั้น
“ขนมตดหมา” ได้ชื่อนี้เพราะมีส่วนผสมของ “เครือตดหมา” พืชไม้เลื้อยชนิดหนึ่งที่บางพื้นที่เรียก "ต้นกระพังโหม" ขึ้นได้ทั่วไปในป่าผสมผลัดใบและป่าเต็งรัง หากนำต้นหรือใบมาขยี้แล้วลองดมก็จะรู้เลยว่า กลิ่นเหม็นคล้ายตดจริงๆ (ไม่เชื่อก็ไปลองดู) ส่วนรากของเครือตดหมาจะถูกนำเอามาหั่นให้เป็นแว่นๆ ตากแห้ง ต้มเอาน้ำไปผสมกับแป้งและน้ำตาลทำขนม ตามวิธีการด้านล่าง
“ตดหมูตดหมา” เป็นชื่อของพืชชนิดหนึ่ง ที่กำลังมีกระแสโด่งดังอยู่ในโลกโซเชียล เกี่ยวกับสรรพคุณช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งหลายคนที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสมุนไพร คงเคยได้ยินหรือได้เห็นผ่านหูผ่านตามาบ้าง ต้นตดหมูตดหมาเป็นไม้ล้มลุก มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Paederia linearis Hook.f. มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “กระพังโหม” และมีชื่อพ้องที่เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ตำยานตัวผู้ พังโหม ย่านพาโหม หญ้าตดหมา เป็นต้น เป็นพืชที่ขึ้นได้ทั่วไป ในป่าธรรมชาติและบริเวณในสวน ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และเพาะเลี้ยงต้นอ่อน นิยมปลูกขึ้นเลื้อยตามรั้วบ้าน เพื่อเก็บยอดอ่อน ใบอ่อน รับประทานเป็นผักแกล้มลาบ ยำ พล่า ก้อย หรือน้ำพริก มีบางท้องถิ่นเห็นเก็บมาวางขายตลาดสดกันก็มี
ตดหมูตดหมา หรือ กระพังโหม เป็นที่นิยมในมวลหมู่ชาวเมืองเหนือ และอีสาน ใช้รับประทานเป็นผักสด ร่วมกับน้ำพริก ลาบขม ก้อย ชาวใต้นิยมนำไปหั่นฝอย ผสมปรุงข้าวยำ คนโบราณใช้น้ำคั้นจากเถาและใบ ผสมปรุงขนมขี้หนู ทำให้ขนมมีสีเขียว ส่วนดอกมีการนำมารับประทานกันเป็นผักสดบ้าง แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม ยอดอ่อนและใบมีรสขมมัน กลิ่นเหม็นเขียว บางคนก็ว่าหอมเหมือนตดตนเอง ช่วยระบายความร้อนในร่างกาย ประโยชน์ทางยา นับได้ว่าเป็นสมุนไพรตัวหนึ่ง ที่มีสรรพคุณรักษาอาการอักเสบบริเวณคอ ปาก รักษาบาดแผล เป็นยาระบายอ่อนๆ สำหรับเด็ก รากมีสรรพคุณแก้โรคดีซ่าน
มักพบพืชชนิดนี้ในสวน ป่าละเมาะ ชาวบ้านต้องตัดฟันทิ้ง เพราะเป็นเถาเลื้อยพันต้นไม้อื่นไปทั่ว ยอดอ่อนสีเขียวอมแดง มีขนอ่อนคลุม บางพื้นที่ที่มีดินดี น้ำสมบูรณ์ จะแตกยอดอวบอ้วน ที่กันดาร ยอดจะลีบเล็ก แต่ที่แน่นอนที่สุดคือ กลิ่นเดียวกันเลย บางทีคนเดินกันเป็นหมู่เป็นกลุ่ม ผ่านเข้าป่าหญ้า สวนผลไม้ สวนผัก เดินไปเหยียบเถาตดหมูตดหมา หรืออาจจะเดินไปเกี่ยวเถาใบเข้า หรือเด็ดมาขยี้บี้เล่น หมู่เพื่อนร่วมกลุ่ม คงหันซ้ายหันขวามองหาที่มาของกลิ่น และคงจ้องมองไปที่บั้นท้ายของคนใดคนหนึ่งเป็นแน่
ขนมตดหมา เป็นขนมพื้นถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์ ปกติแล้ว "ขนมตดหมา" จะทำปีละครั้งในช่วงงานประเพณีแซนโฎนตา (ประเพณีไหว้บรรพบุรุษของคนเชื้อสายเขมร) แต่ในปัจจุบันหากใครอยากจะลิ้มลองให้ไปที่ "บ้านสนวนนอก" อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็น "หมู่บ้านท่องเที่ยวไหมและวิถีชีวิตพอเพียง" ให้นักท่องเที่ยวที่รักการท่องเที่ยวชุมชน และสนใจเกี่ยวกับการทอผ้า ได้มาเที่ยวชมที่ขึ้นชื่อของที่นี่คือ "ผ้าไหมหางกระรอก" นอกจากจะได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตที่นี่แล้ว ที่บ้านสนวนนอกยังมี “ตลาดโบราณ” ทุกๆ วันเสาร์ หรือเมื่อมีคณะดูงานมาเยี่ยมชมหมู่บ้าน โดยนอกจากจะมีสินค้าผ้าทอและผลิตภัณฑ์งานฝีมือต่างๆ มาขายแล้ว ก็ยังมี “ขนมตดหมา” หรือ “เวือระพอม” ซึ่งเป็นขนมอร่อยที่หายากให้ได้ชิมด้วย
ขนมตดหมาหน้าตาและรสชาติคล้ายขนมจาก โดยมีส่วนผสมของแป้งข้าวเหนียว น้ำตาลโตนด น้ำตาลทรายแดง มะพร้าวทึนทึกขูด ทั้งหมดนี้นำมาผสมกับน้ำเครือตดหมา ที่ได้มาจากการนำรากเครือตดหมามาหั่นเป็นแว่นๆ ตากแดดไว้ แล้วจึงนำมาต้มจนได้น้ำเครือตดหมา คลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน พักไว้หนึ่งชั่วโมงเพื่อให้แป้งขึ้น แล้วจึงนำเนื้อขนมมาใส่ใบตองห่อเป็นชิ้นยาวๆ
จากนั้นนำใบตองทั้งห่อไปย่างจนสุกหอม หอมทั้งใบตอง หอมทั้งส่วนผสมของขนมตดหมา ลองแกะชิมดูได้รสชาติคล้ายขนมจาก แต่จะมีความนุ่มหนึบมากกว่า และมีความหอมหวานจนต้องขอลองชิมต่ออีกชิ้นและอีกชิ้นด้วยติดใจ
ครัวเชพน้อย : ขนมตดหมา (เวือระพอม)
นอกจากขนมตดหมาแล้ว ยังมีการทำขนมทานเล่นอีกแบบคือ "ข้าวโป่งรากเครือตดหมา" ซึ่งทำมาจากการนำน้ำรากตดหมามาตำคลุกผสมเข้ากับแป้งข้าวเหนียว น้ำตาลโตนด หรือน้ำตาลปี๊บให้มีรสหวานปะแล่มๆ นำมาแผ่เป็นแผ่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาย่างไฟให้เหลืองกรอบ ก็จะได้ของทานกันเล่นๆ แล้ว คึดฮอดยามไปฟังลำหรือเบิ่งหนังกลางแปลงสมัยแต่กี้เด้...
ข้าวโป่งรากเครือตดหมา - ทุกทิศทั่วไทย
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)