คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
วันนี้ขอเสนอเรื่องราวของ "อาหารการกินในอดีต" ครั้งที่ข้าวปลาอาหารในบ้านเรายังอุดมสมบูรณ์ มีให้เลือกหามารับประทานได้โดยง่าย ดังคำกล่าวที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" หลายๆ ท่านคงเคยได้ชิม หมก หรือ อู๋ปลาลูกครอก แกงปลาลูกครอกใส่หน่อไม้ส้ม (อันนี้อาวทิดหมูโปรดปรานที่สุด) ส้มปลาน้อย หรือ ปลาจ่อม มาที่คำว่า "ลูกครอก" ตามพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า
ลูกครอก น. ลูกปลา จําพวกปลาช่อนที่ตามพ่อเป็นฝูงๆ ลูกชักครอก ก็ว่า (โบราณ) บุตรที่เกิดจากมารดาที่ขายตัวเป็นทาสที่ขายขาดค่า รวมทั้งทาสเชลย ทาสมรดก และทาสช่วยมาเมื่อทุกข์ยาก หรือลูกทาสที่เกิดในเรือนเบี้ย.
ส่วนพจนานุกรมแปลไทย-ไทย โดย อ.เปลื้อง ณ นคร บอกว่า
ลูกครอก น. ลูกทาส ลูกปลาที่ออกมาใหม่ๆ รวมกันอยู่เป็นฝูง.
ส่วน สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง ให้ความหมายว่า
ครอก น. ปลาที่เกิดพร้อมกันและอยู่ร่วมกันเป็นฝูงๆ เรียก ปลาลูกครอก วัวควายของเราที่ตกลูก เรียก งัวลูกครอก ควายลูกครอก. school of fish, herd of cattle.
มีคำถามว่า "ลูกครอก" หรือ "ลูกคอก" กันแน่ ขนาดที่ Google ยังถามซ้ำเลยว่า "หรือคุณหมายถึง: ปลาลูกคอก" ตอบได้ว่าควรเป็น ลูกครอก มากกว่า คอก (ที่ก็ไม่ผิด) ตามที่ในสารานุกรมภาษอีสาน-ไทย-อังกฤษ ให้ความหมายของ ครอก ตามย่อหน้าข้างบน เพื่อให้ต่างจากคำว่า คอก ที่ให้ความหมายด้านล่างนี้ไว้ว่า
คอก น. ที่ขังสัตว์เรียก คอก ขังควายเรียก คอกควาย ขังวัวเรียก คอกงัว ขังไก่เรียก คอกไก่ ขังม้าเรียก คอกม้า ขังหมูเรียก คอกหมู วัวควายที่เกิดในคอกเดียวกัน เรียก งัวลูกคอก ควายลูกคอก ปลาที่เกิดจากแม่เดียวกันเรียก ปลาลูกคอก. stall, stable, pen.
คอก น. ที่ขังคนเรียก คอก คนที่ทำความผิดเขาจับไปขังไว้ที่คอก เพื่อสอบสวนดูว่ามีความผิดจริงหรือไม่ เรียก คอกขัง เมื่อมีความผิดจริง ก็ส่งเข้าคอกขังใหญ่คือ คุก. jail.
คอก ก. สั่น คลอน เขย่า เช่น เอาข้าวไปแช่น้ำเขย่าให้กากออก เรียก คอกกะต่าเข้า. to shake, agitate.
ปลาค่อลูกครอก ก็คือ ลูกปลาช่อนตัวเล็กๆ ที่ออกมาได้ไม่กี่วัน แล้วว่ายน้ำตามพ่อ-แม่ไปเป็นฝูง ช่วงนี้แม่ปลาจะเฝ้าดูแลลูกๆ อยู่ไม่ห่างและจะมีนิสัยดุร้ายมากขึ้น เพื่อป้องกันการเข้ามากินของปลากินเนื้อตัวโตกว่าอย่าง ปลาชะโด ในอดีตชาวอีสานนิยมนำมาทำอาหารประเภทหมก อู่ อ่อม แกง หรือทำส้มปลาจ่อม แต่สมัยปัจจุบันที่ในน้ำไม่ค่อยมีปลา ก็สมควรจะปล่อยให้โตและเป็นปลาช่อนวัยรุ่นเติบโตต่อไป ในบางท้องถิ่นถึงกับจับมาอนุบาลให้โตได้ขนาด 2-3 นิ้ว แล้วนำไปเพาะเลี้ยงต่อให้โตเพื่อจำหน่ายก็มี
มีคำถามมาว่า "อยากทราบว่าถ้าเราตกปลาช่อนเเม่ลูกครอกไป เเล้วลูกครอกมีโอกาสอยู่รอดมั้ย? รอดกี่%?" ตอบตรงๆ คือ ไม่รอด เพราะธรรมชาติให้แม่ปลาวางไขได้ครั้งละมากมาย เพื่อเป็นการสำรองให้มีการอยู่รอด ถ้าสังเกตสักหน่อยเมื่อแรกเป็นครอกใหม่ๆ ถ้าเป็นสระ หรือคูน้ำแคบๆ มีลูกครอกจำนวนมาก แต่อยู่ไปหลายๆ วัน ลูกครอกโตขึ้นแล้ว แต่ขนาดของครอกก็ไม่ใหญ่กว่าเดิมเท่าไร ทั้งที่แม่ปลาก็ยังเฝ้าดูแลลูกตลอดเวลา
ยิ่งนานวันขึ้น ลูกครอกโตมากขึ้น แต่การรวมฝูงก็กลับไม่ขยายตามจำนวนลูกปลา แรกๆ เท่าหัวไม้ขีดมีมากมาย พอโตขึ้นระยะหนึง ลูกครอกเท่าหลอดกาแฟ แต่จำนวนกลับลดลงและยิ่งลดลงเรื่อยๆ จนแยกฝูง เพราะมีนักล่าลูกครอก (เป็นปลาพันธุ์กินเนื้อ อย่าง ชะโด) จะเฝ้าติดตามและฉวยโอกาสชิงจังหวะขโมยกินลูกครอก
แต่ถ้าแม่ปลาจับได้นักล่าก็ซวย โดนแม่ปลาสำเร็จโทษไป จะสังเกตที่ที่ใกล้ๆ ครอก แม่ปลาจะไล่ฮุบจอมโขมยจนวงน้ำแตกกระจายปั่นป่วน แล้วทุกอย่างก็สงบลงเหมือนเดิม แม่และลูกครอกไปกันต่อ ในขณะที่นักล่าตัวใหม่ก็ยังเฝ้ารอจังหวะแย่งชิงลูกปลาต่อ แต่ศัตรูตัวฉกาจก็ 'มนุษย์' นี่แหละเพราะจับมากินทั้งพ่อ-แม่-ลูกหมดเลย
ปลาลูกครอก ที่คนอีสานนำมาบริโภคคือ ลูกปลาช่อน (Snake head fish) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Channa striata ชื่อสามัญ Striped snake head fish, Snake head fish, Serpent head fish, Murrel ชื่อไทย : ภาคกลาง และทั่วไป เรียก ปลาช่อน ภาคเหนือและอีสาน เรียก ปลาค้อ, ปลาค่อ เป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยมาก เนื่องจากเป็นปลาที่นิยมนำมาประกอบอาหารมากชนิดหนึ่ง เพราะเป็นปลาที่ให้เนื้อสีขาวน่ารับประทาน มีเนื้อมาก เนื้อนุ่มอร่อย สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด อาทิ ต้มยำปลาช่อน ทอดปลาช่อน ห่อหมกปลาช่อน เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่ายในท้องตลาด ตกกิโลกรัมละกว่า 150-200 บาท และหากเป็นปลาช่อนนา (ธรรมชาติ) จะมีราคาที่สูงกว่าเล็กน้อย
ปลาช่อน เป็นปลามีเกล็ด หัวมีลักษณะค่อนข้างใหญ่และแบนลงด้านหน้า ตามีลักษณะกลมใหญ่อยู่ถัดจากขอบริมฝีปากมาเล็กน้อย ลำตัวมีลักษณะอ้วน กลม และเรียวยาว โคนหางมีลักษณะแบนข้าง เกล็ดลำตัวมีขนาดใหญ่ สีเทาจนถึงน้ำตาลอมเทา เกล็ดด้านท้องมีขนาดเล็กกว่า และมีสีจางกว่าหรือเป็นสีขาว ทั้งนี้ สีเกล็ดขึ้นอยู่กับสีของน้ำตามแหล่งที่อยู่อาศัย ด้านข้างลำตัวมีลายดำพาดเฉียง บริเวณหลังเหนือเส้นข้างลำตัวมีสีน้ำตาลเข้มหรือเกือบดำ เกล็ดปกคลุมทุกส่วนของลำตัว ยกเว้นส่วนหัว
ปลาช่อน อ้าปากได้กว้างเพราะมีมุมปากยาวถึงตา และมีขากรรไกรยืดหดได้ มีริมฝีปากล่างยื่นยาวมากกว่าริมฝีปากบน ภายในปากมีฟันซี่เล็กๆ อยู่บนขากรรไกรบน และล่าง มีฟันเขี้ยวบนเพดาน ครีบปลาช่อนไม่มีก้าน ครีบแข็ง ครีบหลัง และครีบก้นยาวจนเกือบถึงโคนหาง ครีบหลังมีก้านครีบ อ่อน 37-45 อัน ส่วนครีบก้นมีก้านครีบ 23-26 อัน ครีบท้องมีขนาดเล็ก ครีบอกมีขนาดใหญ่ ครีบหางมีลักษณะกลม ปลายมน ครีบท้องจาง โดยทั่วไปพบมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร แต่สามารถพบขนาดใหญ่ได้กว่า 1 เมตร
ปลาช่อน สามารถพบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติในทุกภาคของไทย อาทิ แม่น้ำ บ่อน้ำ อ่างเก็บน้ำ หนอง บึง และนาข้าว ชอบอาศัยตามแหล่งน้ำที่มีพรรณไม้น้ำ ในระดับน้ำลึกไม่เกิน 1 เมตร ในช่วงต้นฤดูฝนจะอพยพย้ายแหล่งอาศัย เพื่อออกวางไข่ และแหล่งหากินใหม่ เมื่อน้ำลด โดยเฉพาะช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวข้าว ปลาช่อนจะเริ่มอพยพกลับเข้ามาอาศัยในแหล่งน้ำเดิม หรือเข้าอาศัยในแหล่งน้ำใหม่ที่เป็นแหล่งเก็บน้ำ เช่น บ่อน้ำ ลำห้วย บึง เป็นต้น
ปลาช่อน เป็นปลากินเนื้อ ในช่วงฤดูฝน ปลาช่อนจะออกหาแหล่งวางไข่ และแหล่งอาหารใหม่ตามทุ่งนาที่มีน้ำ หนอง บึง เป็นปลาที่ชอบออกหากินในเวลากลางคืน หาอาหารทั้งในระดับผิวน้ำและท้องน้ำ มีการเคลื่อนไหวช้า แต่หากพบเหยื่อจะเข้าฮุบเหยื่ออย่างรวดเร็ว ลูกปลาช่อนจะกินอาหารจำพวกแพลงค์ตอนพืช แพลงค์ตอนสัตว์ สาหร่าย และสัตว์น้ำ หรือแมลงขนาดเล็กเป็นอาหาร ส่วนปลาช่อนที่เติบโตแล้วจะมีอาหารหลัก ได้แก่ ปลาขนาดเล็ก กุ้ง ปู กบ ไส้เดือน แมลง และซากเน่าเปื่อยต่างๆ แต่อาหารหลักจะเป็นปลาขนาดเล็ก
ปลาช่อน สามารถเริ่มวางไข่ได้เมื่อลำตัวมีขนาดยาว 20 เซนติเมตร หรือมีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เป็นปลาที่วางไข่ได้เกือบตลอดทั้งปี มีฤดูกาลผสมพันธุ์ และวางไข่ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม และเริ่มสร้างไข่ตั้งแต่เดือนมีนาคม และจะพร้อมวางไข่มากที่สุดในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม การแยกเพศปลาช่อนในช่วงผสมพันธุ์ ปลาช่อนเพศเมีย เมื่อถึงช่วงผสมพันธุ์ และวางไข่จะสังเกตได้ง่าย เนื่องจาก ช่วงนี้ส่วนท้องจะอูมใหญ่ อวัยวะเพศมีสีชมพูรื่อ และครีบท้องของปลาตัวเมียจะสั้นปลาตัวผู้ ส่วนปลาตัวผู้เมื่อเข้าช่วงผสมพันธุ์ก็จะมีสีลำตัวเข้มขึ้น ส่วนใต้คางจะมีสีขาว
ในธรรมชาติ ปลาช่อนจะสร้างรัง และวางไข่บริเวณริมฝั่งที่มีพรรณไม้น้ำขึ้นน้อย ระดับความลึกประมาณ 30-100 เซนติเมตร โดยปลาตัวผู้จะทำหน้าที่สร้างรัง ด้วยการกัดหญ้ารอบข้างออกเพื่อทำให้รังเป็นวงกลม และเศษกอหญ้าจะลอยปกคลุมด้านบน ส่วนหน้าดินก็จะตีแปลงจนหน้าดินเรียบ หลังจากนั้น พ่อแม่ปลาจะเข้ารัดกัน พร้อมปล่อยไข่ และฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมกัน หลังจากวางไข่แล้ว พ่อแม่ปลาจะอยู่โดยรอบบริเวณรัง เพื่อป้องกันปลาอื่นเข้ามากินไข่หรือลูกปลา และจะดูแลต่อจนกระทั่งลูกปลามีขนาด 4.5-6 เซนติเมตร จึงเริ่มแยกตัวออกไปหากินตามลำพัง ลูกปลาในระยะนี้จะเรียกว่า ปลาลูกครอก หรือ ลูกชักครอก ซึ่งเกษตรกรสามารถชอนรวบรวมจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาอนุบาลต่อ สำหรับการเลี้ยงในบ่อดินต่อไป
มหาอำนาจบ้านนา - การเลี้ยงปลาช่อน
ขอเล่าตามภาพที่ผู้เขียนพบพานมาในอดีตนะครับ สมัยนี้ไม่อยากให้เอามาทำเท่าไหร่ เพราะในธรรมชาติ "ปลาลูกครอก" มีน้อยมากจริงๆ นอกจากจะหามาได้จากแหล่งเพาะพันธุ์จำหน่าย ที่นิยมนำเอาปลาลูกครอกมาทำอาหารมี 3 ชนิด (อาจจะมีมากกว่านั้นก็ได้ แต่เคยกินในอดีตก็ตามนี้ครับ)
อาหารอีสาน ที่เข้าขั้นหากินได้ยากแล้วในสมัยนี้ ตามห้วยหนองในนายุคสมัยพัฒนา ไถ-ดำ-ทำนาข้าวด้วยควายเหล็กที่ตดออกมาเป็นควัน การจะหาขวยจุ๊ดจี่แบบสมัยก่อนอย่าได้ฝัน ทั้ง ปู ปลา หอย กบ เขียด ก็หากินได้ยากเพราะการใช้ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า กันมากมาย สัตว์อาหารก็พลอยตายสูญพันธุ์กันไป (คงจะจำกันได้เมื่อหลายปีก่อน มีข่าวปลาดุก ปลาช่อนในนาลอยตาย มีแผลเปื่อยตามลำตัว นี่ก็เพราะฤทธิ์สารเคมีทั้งสิ้น) ซ้ำร้ายเกี่ยวข้าวแล้วก็ไม่ไถกลบตอซังข้าว หันไปใช้การเผาแทน สัตว์เล็กน้อย แมลง กบ เขียด ที่อยู่ในดินจำศีลก็ตายหมดสิ้น
ปลาช่อน ในนาข้าว หรือหนองน้ำธรรมชาติ ก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน หากินได้ยาก จนต้องมีการเพาะเลี้ยงในบ่อดินทดแทน อันว่าลูกปลาช่อนที่เรียกว่า ปลาลูกครอก นี้ถ้านำมาห่อหมกในใบตองใส่เครื่องปรุงจะได้ความหอมละมุน ถ้ามีข้าวเหนียวนุ่มๆ ร้อนๆ เฮ่อะ! เอาสะเต็กมาแลกก็ไม่ยอมทีเดียว การทำก็ไม่ยุ่งยากแต่อย่างใดครับ
สำหรับคนที่อยู่บนคอนโดในเมือง หรือไม่มีใบตองให้ห่อ ให้ใช้วิธี หมกด้วยหม้อ (ภาษาอีสานพื้นบ้านคือ การอู๋) โดยตั้งหม้อใส่น้ำลงไปเล็กน้อย ใส่เครื่องแกงลงไปคั่ว ใส่ปลาลูกครอกลงไปคนให้เข้ากัน เหยาะน้ำปลาร้าหอมๆ ชิมดูได้รสที่ชอบแล้วเติมต้นหอมสด ใบอีตู่ ใบผักขะแยง คนให้เข้ากันปิดฝาหม้อให้น้ำงวดลงขลุกขลิก ก็จะได้ อู๋ปลาลูกครอก แล้ว พร้อมที่จะลุยกับข้าวเหนียวร้อนๆ ได้ทันทีไม่อยากเรียกใครมาแย่งเลย ของดีมีน้อยเนาะ!
อาหารประเภทแกงนี้เหมาะกับครอบครัวใหญ่ เมื่อมีปลาลูกครอกจำนวนน้อยไม่มากนัก การจะให้ทุกคนอิ่มทั่วกันก็คือ การทำแกง จะใส่หน่อไม้ส้ม (หน่อไม้ดอง) หรือผักชนิดอื่นๆ เพื่อเพิ่มปริมาณ ให้ได้อิ่มอร่อยกันทุกคน ส่วนประกอบต่างๆ ในการแกงก็มี
“จ่อม” เป็นภาษาพื้นบ้านทางอีสาน เป็นชื่อเรียกอาหารพื้นบ้านทางแถบภาคอีสานชนิดหนึ่ง วัตถุดิบที่ใช้ทำได้ทั้งกุ้งและปลา กุ้งจ่อม, ปลาจ่อม ในภาษาเขมรท้องถิ่นเรียกว่า "เตร็ยจู่, เตร็ยไปร" (เพราะทางอีสานใต้มีชื่อเสียงเรื่องนี้ โดยเฉพาะกุ้งจ่อม)
จ่อม น. ชื่ออาหารชนิดหนึ่ง ทำด้วยกุ้งหรือปลาตัวเล็กๆ หมักเกลือไว้ เวลาจะกินปรุงด้วยพริกขิงกระเทียมและข้าวคั่ว จะมีรสอร่อย เรียก ส้มปลาจ่อม ส้มปลาน้อย ก็ว่า. type of salt-pickled shrimp or minnows.
การจ่อม คือ การถนอมอาหารสดอีกชนิดเพื่อไม่ให้เน่าเสีย และเก็บไว้ทานได้นานขึ้น หรือในยามที่ขาดแคลนอาหาร เป็นการหมักดอง การถนอมอาหารสด เพื่อให้เก็บไว้กินได้นาน ทางอีสานเหนือมักเรียก "ส้มปลาน้อย" นิยมใช้ปลาซิวหรือลูกปลาตัวเล็กตัวน้อย ปลาลูกครอก มาทำเป็น “ปลาจ่อม” ใช้กุ้งฝอยมาทำ “กุ้งจ่อม” จะออกไปทางมีรสเปรี้ยวนำ เค็มตาม ต่างจากปลาร้าที่เน้นรสเค็ม ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในวัฒนาธรรมอาหารการกิน ที่สืบทอดกันมายาวนาน
จ่อม เป็นอาหารประเภทหมักดอง ที่ได้จากการนำกุ้งหรือปลาสดมาหมัก โดยใช้เวลาการหมัก 5-10 วัน ก็สามารถนำมารับประทานได้แล้ว ทั้งนี้ กุ้งจ่อม และปลาจ่อม ที่พร้อมรับประทานจะเป็นอาหารดิบ ที่ยังไม่ผ่านการทำให้สุก มีรสเปรี้ยว และเค็มเล็กน้อย เมื่อรับประทานจะรู้สึกเหมือนการกินกุ้งหรือปลาดิบ แต่เนื้อกุ้งหรือปลาที่ได้จะมีลักษณะนุ่ม มัน และไม่มีกลิ่นคาว ทำให้มีรสชาติอร่อยไปอีกแบบ
กุ้งจ่อม และปลาจ่อม เป็นวิธีการถนอมอาหารที่พัฒนามาจากการหมักปลากับเกลือหรือการทำปลาร้านั่นเอง ซึ่งวิธีการทำที่คล้ายกับการทำปลาร้า แต่จะแตกต่างกันที่วัตถุดิบในบางรายการ และใช้ระยะเวลาในการหมักน้อยกว่าการทำปลาร้ามาก
กุ้งจ่อม และปลาจ่อม ต้องทำแยกกันนะครับ ไม่ทำผสมกันเพราะใช้ระยะเวลาในการหมักต่างกัน กุ้งจะเป็นจ่อมได้เร็วก่อนปลา แต่วิธีการทำเหมือนกันดังนี้
การนำมารับประทานจะเอาแบบดิบๆ เลย หรือจะนำไปคั่วให้สุกก่อนก็ได้ โดยนำมาใส่เครื่องเคียง เช่น มะเขือ พริกขี้หนูหั่น ตะไคร้หั่นฝอย กระเทียมสด ต้นหอมสด มีข้าวเหนียวร้อนๆ อีกกระติ๊บใหญ่ แซบลืมตายพะนะ!
หมายเหตุ : สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับการรับประทานอาหารดิบ (ธาตุไม่แข็ง) ควรทำให้สุกก่อนเพื่อความปลอดภัย ไม่แสลงจนเกิดอาการท้องเสียรุนแรงได้ ปลอดภัยในการบริโภคนะครับ
ถ้าจะถามว่า "อะไรคือ 'อาหารอีสาน' ที่นับวันจะหากินได้ยากชนิดหนึ่ง และมีเฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น" ก็คงต้องตอบว่า "ก้อยกะปอม" ซึ่งจะมีกินกันเฉพาะในหน้าแล้ง เพราะเหตุใด... ไปอ่านหาความรู้กันหน่อย
กะปอม (ในภาษาอีสาน น. กิ้งก่า กิ้งก่าเรียก กะปอม กะปอมมีหลายชนิด ชนิดคอสีครามเรียก กะปอมก่า ชนิดคอสีแดงเรียก กะปอมคอแดง ชนิดมีลายสีเหลืองยาวตามข้างเรียก กะปอมไหม หรือกะปอมแม่ ก็ว่า ชนิดมีปีกบินได้เรียก กะปอมปีก ชนิดมีคอสีดำและสีแดง เรียก กะปอมขาง. chameleon.) หรือเรียกชื่อให้รู้จักแบบสากลว่า กิ้งก่า เป็นสัตว์เลื้อยคลานในอันดับย่อย Lacertilia หรือ Sauria ในอันดับใหญ่ Squamata หรือ อันดับกิ้งก่าและงู โดยสัตว์ในอันดับนี้รวมถึงงูที่อยู่ในอันดับย่อย Serpentes ด้วย เหตุที่จัดอยู่ในอันดับเดียวกันเพราะมีลักษณะร่วมบางประการมากถึง 70 อย่าง (โปรดใช้ Google ค้นหาเองนะครับ)
โดยทั่วไปแล้ว กะปอม หรือ กิ้งก่า มี 4 ขา มีเกล็ดปกคลุมลำตัว แต่บางสกุลหรือบางชนิดก็ไม่มีขา หรือมีแต่ก็เล็กมากจนสังเกตได้ยาก เช่น จิ้งเหลนด้วง ในวงศ์จิ้งเหลน (Scincidae) หรือในวงศ์ Amphisbaenidae
กะปอม หรือ กิ้งก่า โดยมากแล้วเป็นสัตว์กินเนื้อ โดยจะกินแมลงและสัตว์ขาปล้องเป็นหลัก แต่สำหรับในวงศ์ที่มีขนาดใหญ่ เช่น วงศ์เหี้ย (Varanidae) จะกินสัตว์มีกระดูกสันหลัง ซากสัตว์ด้วย แต่ขณะที่บางชนิด เช่น อีกัวน่าเขียว (Iguana iguana) ที่พบในอเมริกากลางและทวีปอเมริกาใต้ กินพืชและผักเป็นอาหารหลัก (มังสวิรัต)
กะปอม หรือ กิ้งก่า พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกมุมโลก ยกเว้นในบริเวณอาร์กติกแถบขั้วโลกเหนือ และทวีปแอนตาร์กติกาแถบขั้วโลกใต้ มีขนาดแตกต่างกันมากตั้งแต่เพียงไม่กี่เซนติเมตร จนถึงเกือบ 3 เมตร ใน มังกรโคโมโด (Varanus komodoensis) ที่หนักได้ถึงเกือบ 100 กิโลกรัม ซึ่งนับเป็นชนิดที่ใหญ่ที่สุดในอันดับย่อยนี้
ปัจจุบัน มีการอนุกรมวิธานไว้แล้วกว่า 19 วงศ์ ประมาณ 555 สกุล รวมทั้งหมดราว 4,184 ชนิด ซึ่งจำนวนนี้ไม่แน่นอน เพราะมีการสำรวจค้นพบชนิดใหม่ๆ ขึ้นทุกปีเลยทีเดียว
เดี๋ยวจะวิชาการเกินไป กิ้งก่า หรือ กะปอม เป็นสัตว์ประเภทเลื้อยคลานที่จะอาศัยอยู่ตามป่า หรือตามต้นไม้กินพวกแมลงเล็กๆ เป็นอาหาร จะออกมาให้เห็นตัวก็แค่ช่วงที่มีแสงแดดเท่านั้น ยิ่งถ้าเป็นหน้าร้อนหรือหน้าแล้งก็จะออกมาให้เห็นกันเยอะมาก กะปอม หรือ กิ้งก่า สามารถเปลี่ยนสีเพื่ออำพรางตัว ซึ่งเป็นความเข้าใจแบบผิดๆ แต่ความจริงแล้วปัจจัยที่ทำให้กิ้งก่าเปลี่ยนสีนั่นคือ การควบคุมอุณหภูมิร่างกาย เนื่องจาก กิ้งก่าไม่สามารถสร้างความร้อนในร่างกายได้ (เป็นสัตว์ในกลุ่มเลือดเย็น) และอีกปัจจัยหนึ่งคือ ด้านอารมณ์ อย่างเช่นในภาวะปกติผิวหนังของ กิ้งก่าคามิเลี่ยน จะแสดงสีเขียว ในขณะที่โกรธจะแสดงสีเหลือง สดใสขึ้นมา เป็นต้น
กิ่งก่า หรือ กะปอม จะพบตามต้นไม้ ไม่ว่าจะใจกลางเมืองใหญ่หรือว่าตามชนบท โดยมากแล้วจะไม่นิยมนำมาทำเป็นอาหาร เพราะหลายคนนั้นไม่ชอบหรือไม่เคยได้ลิ้มลองมาก่อน แต่สำหรับคนทางภาคอีสานแล้ว "กะปอม" คืออาหารที่ต้องบอกว่าหนึ่งปีมีครั้งเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อไหร่ที่เข้าสู่หน้าแล้งหากขับรถไปตามถนนในภาคอีสานจะเห็นเด็กเล็ก เด็กโต แม้แต่ผู้ใหญ่ถือไม้ยาวๆ สะพายย่าม เดินไปตามต้นไม่มองหาเจ้ากิ้งก่าหรือกะปอม ซึ่งเป็นภาพที่หลายคนที่เห็นครั้งแรกอาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่แปลก แต่สำหรับคนทางภาคอีสานแล้ว นี่คือวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นที่เห็นกันเป็นประจำเมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง การถือไม้ไผ่ยาวที่ปลายมีเชือกทำเป็นบ่วงกระตุก ไว้คล้องคอกะปอมกระชากลงมาใส่ย่ามหรือข้อง ถ้าในกรณีที่ กิ้งก่า หรือ กะปอม จับบนกิ่งไม้สูงๆ คล้องไม่ถึงก็จะใช้อาวุธหนัก (บวกฝีมือ) คือ หนังสะติ๊ก เล็งแล้วยิงให้ตกลงมา (จริงๆ แล้วก็ไม่นิยม มันจะช้ำเลือดช้ำหนอง สู้คล้องเอาไม่ได้ ใช้การผิวปากเบาๆ ให้กะปอมผงกหัว แล้วคล้องหมับ จะฝีมือกว่าเยอะ)
มาถึงตรงนี้หลายๆ ท่านในภูมิภาคอื่นๆ คงสงสัยละซิว่า "ก้อยกะปอม" ทำไมชอบกินกันในฤดูแล้ง และทำเป็นสุดยอดอาหารกันอย่างไร
กิ้งก่า หรือ กะปอม จัดเป็นสัตว์เลือดเย็น ไม่ได้หมายความว่า มันมีความอำมหิตดุร้ายแต่อย่างใด แต่หมายถึงสัตว์ที่ไม่สามารถรักษาอุณหภูมิภายในร่างกายให้คงที่ได้ แต่จะเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ สัตว์เลือดเย็นมักออกมาอาบแดดเพื่อเพิ่มอัตราการเผาผลาญ เช่น กิ้งก่า จะออกมานอนอาบแดดหันหน้าไปทางแสงแดด มันจะพองตัวและทำสีให้คล้ำลง เพื่อเพิ่มพื้นผิวในการรับแดดและกักเก็บความร้อน เมื่อพวกมันร้อนเกินก็จะเขาไปหลบแดดและอ้าปากกว้างระบายความร้อน ปรับสีให้อ่อนลงและฝังตัวในพื้นดินที่เย็น เราจึงเห็น กะปอม หรือ กิ้งก่า ในช่วงเช้าหน้าแล้งมากกว่าปกตินั่นเอง
และในฤดูร้อนนี้ก็จะมี หมากม่วง หรือ บักม่วง (มะม่วง) ออกผลดกมากมายในช่วงนี้ ที่เหมาะแก่การเอามาสับ เพื่อคลุกทำก้อยให้มีรสเปรี้ยวกลมกล่อม ให้รสชาติที่พอดียิ่งกว่ามะนาว
การหาจับ "กะปอม" มาทำอาหารในภาคอีสานนั้น นักล่าทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ จะมีอยู่ 3 วิธีหลักๆ ดังนี้
1. การใต้กะปอม คือการออกจับในเวลากลางคืนด้วยการส่องไฟ เพราะกะปอมชอบเกาะนอนอยู่ที่ปลายกิ่งไม้ต้นที่ไม่สูงนัก ทำให้มองเห็นท้องขาวๆ ง่าย และตัวกะปอมเองสายตาไม่ดีในเวลากลางคืน มันจึงไม่วิ่งหนี และถูกจับได้โดยง่าย แต่ส่วนใหญ่จะได้เป็นกะปอมคอแดงตัวไม่ใหญ่นัก
2. การยิงด้วยหนังสะติ๊ก เป็นวิธีการแบบรุนแรงหน่อยหนึ่ง เป้าที่เล็งคือ หัว ไม่ใช่ลำตัวเพราะจะทำให้เละขี้แตกได้ จำเป็นต้องมีทักษะความแม่นยำสูงมากๆ กะปอมที่ตกเป็นเป้าก็พวกกะปอมก่า ที่ตัวใหญ่ๆ เพราะพวกนี้วิ่งหนี หลบหลีกได้เร็วมาก และชอบขึ้นไปบนต้นไม้สูงๆ (ระวัง! อย่าไปใช้ปืนยิงนะครับ มันจะเป็นการใช้งานไม่คุ้มค่า "ขี่ช้างจับตั๊กแตน" และผิดกฎหมายอาวุธปืนด้วย อย่าหาทำ)
3. การคล้องกะปอม เป็นวิธีการที่คลาสสิกใช้ฝีมือและฝีปาก (ในการผิวปาก ส่งเสียงล่อหลอกให้กะปอมผงกหัว อยู่นิ่งๆ) ด้วยการใช้ไม้ไผ่ลำที่มีลักษณะเรียวยาว แข็งแรง เบา ที่ปลายมีเชือกหรือด้ายเส้นเล็กๆ ทำเป็นบ่วงรูด ทำการคล้องกะปอมที่ลงมาอาบแดดที่กิ่งไม้ระดับต่ำๆ ทำการผิวปากเบาๆ เรียก เจ้ากะปอมจะไม่วิ่งหนี มองหาที่มาของเสียงและผงกหัวด้วยความพอใจ จนโดนคล้องจนได้ หากนำไปขายในตลาดกะปอมตัวเป็นๆ จะได้ราคาดีกว่าพวกที่โดนยิงจนเละ
หลายๆ คนไม่กล้ารับประทานเพราะทราบว่า กะปอม หรือ กิ้งก่า อยู่ในจำพวกเดียวกับ น้องนุช (ตัวเหี้ย) มังกรโคโดโม่ หรือ พวกตระกูลงู มองว่า มันกินอาหารสกปรกซากเน่าของสัตว์ แต่พวกกะปอมจะกินพวกแมลงเป็นอาหารหลัก และในช่วงฤดูแล้งกะปอมจะไม่มีกลิ่นสาป เมื่อนำไปเผาขูดเกล็ดออกจนหมด หรือลอกหนังจะสะอาดเพียงพอที่จะรับประทานได้ นอกจากนำไปทำเป็น ก้อยกะปอม แล้วยังเห็นนำไปย่างเกลือ ลอกหนังเอาเครื่องในออกคลุกเครื่องเทศและเกลือ ย่างไฟจนสุกหอมๆ กินกับข้าวเนียวฮ้อนๆ แค่จินตนาการก็น้ำลายไหลแล้วครับ
ກ້ອຍກະປອມ : ก้อยกะปอม (สปป.ลาว)
หมายเหตุ : กะปอม หรือ กิ้งก่า มีสถานภาพถูกจัดเป็น "สัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535" อยู่เด้อครับ เอาแต่พอดีอย่าล่าจนหมดป่า
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ปลาแดก | พืชผักสมุนไพรพื้นบ้านอีสาน | ข้าวเหนียว
อาหารการกินหรือจะเรียกว่า "ขนมหวาน" ในวัยเด็กของอาวทิดหมูอย่างหนึ่ง ในจำนวนไม่กี่ชนิดที่หากินได้เมื่อสมัย 40-50 ปีก่อน อย่าง ไข่ขี้เกี้ยม (ต้องไปหาเก็บเศษเหล็ก กระดูกวัว-ควาย ไปแลก) ขนมผิง ข้าวโป่ง ข้าวปาด ข้าวต้มมัด ฯลฯ สมัยนั้นบ่มี 7-11 อย่างสมัยนี้ การจะได้กินขนมหวานๆ จึงเป็นเรื่องยากทีเดียว อย่างหลายก็ได้กิน "น้ำอ้อย" เป็นก้อนๆ ที่ห่อใบอ้อยเป็นท่อนๆ แบบขี้กระบอง ที่ชาวบ้านหาบมาแลกข้าว และยิ่งผลไม้พิเศษๆ นี่ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ไม่ต้องถึงกับเป็นลูกแอปเปิ้ลหรอก แค่ "ส้มเขียวหวาน" ที่ลูกผู้ใหญ่บ้านนำมาโชว์เพื่อนๆ ที่โรงเรียน พ่อมันซื้อมาจากอำเภอตอนไปประชุมประจำเดือน ก็ไม่ได้กินกับมันหรอก แค่ได้ดมเปลือกก็ชื่นใจทั้งวันแล้ว นี่คือความจริงอันเจ็บปวดของเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง
วันนี้ มีอาหารอีสานโบราณกาลนานมา ที่สมัยนี้อาจจะมีให้เห็นน้อยแล้ว นั่นคือ "บักม่วงน้อยยัดโบก" ชื่อนี้มีที่มาครับ ดูรูปก่อนเพื่อเสริมจินตนาการ
อาหารหรือขนมชนิดนี้มีส่วนประกอบเพียง 2 อย่าง คือ บักม่วงน้อย (มะม่วงลูกเล็กกลมเปลือกหนาเหนียว) และข้าวเหนียว ความหมายของ "บักม่วงน้อยยัดโบก" มีดังนี้
มะม่วงยัดโบก จึงเป็นการนำเอามะม่วงน้อย (หรือชื่ออื่นๆ ตามที่กล่าวถึงด้านบน) มาตัดบริเวณขั้วออก โตพอที่จะเอาเมล็ดออก แล้วใส่ข้าวเหนียวลงไปแทนที่ หรือที่เรียกว่า "ยัดโบก" นั่นเอง เวลารับประทานก็จะใช้มือบีบให้ข้าวโผล่ออกมา กัดกินเป็นคำๆ เคี้ยวด้วยความสุขสมเปรมปรีดิ์ ส่วนสมัยนี้เพื่อให้ดูงามตาก็จะใช้ช้อนตักเข้าไปในผลมะม่วง จะได้ทั้งข้าวเหนียวและมีเนื้อมะม่วงติดขึ้นมารับประทาน รวมทั้งการจัดวางตกแต่งให้ดูหรูแบบอาหารภัตตาคารชั้นหนึ่ง ก็จะดูไฮโซน่ากินยิ่งขึ้นลืมอาหารแบบบ้านๆ โบราณได้เลย
มะม่วงน้อย ผลดิบจะมีรสเปรี้ยวจัดมาก นิยมนำมาจิ้มน้ำปลาร้าหรือพริกเกลือ ผลสุกจะมีกลิ่นหอมเย็น เปลือกผลเหนียวพอประมาณ เนื้อผลสุกมีน้อย มีรสหวานอมเปรี้ยวถึงหวานจัดตามระดับความสุกงอม มีเมล็ดใหญ่เกือบเท่าผล สามารถขูดเนื้อเอาไปต้มกวนทำมะม่วงกวน (บ้านอาวทิดหมูเอิ้นว่า มะม่วงแผ่น เพราะเมื่อต้มกวนสุกจนข้นแล้วนำไปแผ่บนใบตองตากแดด แห้งแล้วลอกเป็นแผ่นม้วนเข้า เก็บไว้ได้นาน เป็นของฝากของต้อนญาติมิตรได้) บางแห่งเรียก ส้มแผ่น ได้รสหวานอมเปรี้ยวอร่อยโดยไม่ต้องเติมน้ำตาล อาวทิดหมูว่า อร่อยกว่ามะม่วงกวนที่ทำมาจากมะม่วงพันธุ์อื่นๆ นะครับ
ส่วนใหญ่จะเห็นต้นมะม่วงน้อยยืนต้นอยู่บริเวณรอบๆ กระท่อมที่พักอาศัย ตามท้องไร่ท้องนา ชาวไทยภาคอีสานเรียก "มะม่วงน้อย, มะม่วงสอ" เป็นคนละชนิดกับ "มะม่วงป่า" หรือที่เรียก "มะม่วงคัน" ที่มีผลกลมเล็กกว่า และเนื้อผลมะม่วงคันสุกจะมีเส้นใยใหญ่และเหนียวเยอะมาก
ปัจจุบันนี้ ยังมีผู้เฒ่าผู้แก่บางท่านเท่านั้น (เอ่อ! นี่กำลังบอกว่า อาวทิดหมู เป็น สว แล้วใช่ไหม) ที่ทำรับประทานเป็นอาหารว่าง ผู้คนรุ่นใหม่ต่างเริ่มลืมเลือนแล้ว หันไปนิยม "ข้าวเหนียวมูนกับมะม่วงอกร่อง หรือน้ำดอกไม้" กันหมดแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งคือ มะม่วงน้อย มะม่วงกะสอ เหล่านี้ หลายๆ หมู่บ้านไม่นิยมปลูกกัน เมื่อต้นแก่ก็ตัดทิ้งกันหมดไม่ปลูกทดแทน ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ (ไม่มีการซื้อ-ขาย เป็นผลไม้ส่งออกกันนั่นเอง) อย่างวันนี้ไปนวดแผนไทยที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ อุบลราชธานี จอดรถด้านข้างโรงพยาบาลได้ยินเสียงหล่นตุ๊บตั๊บ ลงไปดูก็เจอ มะม่วงน้อย หล่นเกลื่อนไม่มีใครเหลียวแล เลยเก็บลูกสวยๆ มาได้ 1 กาละมังน้อย ช่วงบ่ายจะจัดการยัดโบกเสียหน่อย มากินนำกันเด้อครับ
ในอดีตรั้วสวนไม่ได้กั้นอาณาเขตอย่างปัจจุบัน ผลไม้ตามฤดูกาลก็มีมากมายไม่อดอยาก การเก็บผลไม้ร่วงหล่นในสมัยเด็กจึงเป็นความสุข ไปเก็บที่ไหนก็ได้ไม่มีว่ากัน เพราะทิ้งไว้ไม่มีใครมาเก็บก็เน่าเสียเป๊นแหล่งเพาะแมลงวันเสียเปล่า ปัจจุบันเปลี่ยนไปผลไม้ต่างๆ ก็เริ่มหายาก มะม่วงน้อยคงจะเหมือนกับพืชพื้นถิ่นอื่นๆ ที่กำลังเลือนหาย เช่น มะตูม (หมากตูมกา) ลูกหว้า มะเกลือ หมากผีพ่วน เป็นต้น เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เห็นประโยชน์ มีวิทยาการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยทดแทน เช่น มีกาวยาง เหนียวใช้ง่ายกว่ายางมะตูม มีสีย้อมผ้าที่ดำสนิทยิ่งกว่าย้อมด้วยสีดำของมะเกลือ เป็นต้น
[ อ่านเพิ่มเติม : มะม่วงยัดโบก ขนมลูกอีสาน ]
ที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการนำเอา "บักม่วงน้อยยัดโบกข้าวเหนียว" มาฟื้นฟูอีกครั้งกับ "ถนนคนเดินเมืองเขมราษฎร์ธานี" หรือ ตลาดต้องชม ถนนคนเดินเขมราฐ ซึ่งมีทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 4 โมงเย็น ในช่วงฤดูมะม่วงน้อยสุกจะมีให้ได้ชิมที่ โรงแรมสุขสงวน น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวมากครับ
ลาบเหนียว หรือ ลาบปลาตอง หรือลาบแหลวปลาตอง (ก็มี) เป็นลาบปลาสไตล์ท้องถิ่นอีสานบ้านเฮาและทาง สปป.ลาว ใช้ปลาน้ำจืดหาง่าย มาขูดเอาแต่เนื้อแล้วตำกับเครื่องลาบ ผักหอมหลายชนิด โดยมีปัจจัยสำคัญที่ใช้ในกระบวนการปรุงคือ "น้ำนัว" (น้ำต้มหัวปลา ก้าง/กระดูก หนังปลา ในน้ำปลาร้า) ที่ตักมาใส่ภาชนะไว้ให้พออุ่นๆ ทยอยรินใส่ลงไปในครกขณะตำเนื้อปลาจนเนียนเหนียว ในระดับที่เมื่อใช้ข้าวเหนียวปั้นจิ้มแล้ว ลาบต้องไม่หยดไหลลงไป เป็นลาบดิบรสเค็มนวลๆ (หรือจะคั่วให้สุก หรือนำไปห่อใบตองหมกไฟก็อร่อย) คนอีสานนิยมทำกินกันทั่วไป โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่านอย่างทาง จังหวัดนครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ฯลฯ
ปลาที่ใช้มาทำลาบเหนียวนั้นใช้ได้หลายชนิด ทั้งปลานิล ปลาตะเพียน ปลาตอง หรือปลาตองกราย แต่ที่นิยมทำกันมากที่สุดก็ "ปลาตอง" นี่แหละ แต่ถ้าไม่ใช่เซียนปลาจริงๆ ก็อาจทำให้เข้าใจผิดสับสนในชื่อเรียกอยู่บ้าง เอาเป็นว่ามาทำความรู้จักกับ "ปลาตอง" และครอบครัวกันหน่อย
ปลาตอง (อังกฤษ: Clown knifefishes, Featherbackfishes) เป็นสกุลปลากระดูกแข็ง ที่อยู่ใน วงศ์ปลากราย (Notoperidae) อันดับ ปลาลิ้นกระดูก (Osteoglossiformes) ใช้ชื่อสกุลว่า Chitala (/ไค-ตา-ลา/)
มีรูปร่างโดยรวมคือ มีลำตัวแบนข้างมาก ครีบอกเล็กมาก ครีบหลังเล็ก ส่วนหัวมีขนาดเล็ก ตาโต ปากกว้าง โดยมีมุมปากอยู่เลยดวงตาไปอีก สันหลังยกสูง มีจุดเด่นคือ ครีบท้องที่ติดกับครีบก้นเป็นแนวเดียวกัน ซึ่งจะเคลื่อนไหวอย่างพริ้วไหวมากเมื่อว่ายน้ำ จนได้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า "ปลาขนนก" (Featherbackfish) หรือ "ปลาใบมีด" (Knifefish) และเหตุที่ได้ชื่อว่า "ปลาตอง" ในภาษาไทย เนื่องจากมีรูปร่างแบนเหมือนใบตอง มีลายเส้นจางๆ เป็นบั้งอยู่ตามแนวของลำตัว ที่ฐานครีบหูมีจุดสีดำ และมีจุดเด่นอีกประการ คือ มีจุดสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำอยู่ในช่วงท้ายของลำตัว ซึ่งแตกต่างออกไปตามชนิดและอายุวัยของปลา ซึ่งปลาในวัยอ่อน จุดเหล่านี้มักจะรวมตัวกันดูไม่ชัดเจน แต่จะแตกกระจายเห็นเด่นชัดเจนเมื่อปลาโตขึ้น และยังถือได้ว่าเป็นลวดลายเฉพาะในแต่ละตัวอีกด้วย สีของตัวปลาในธรรมชาติแล้วมักจะออกสีขาวนวล แต่เมื่อจับขึ้นมาแล้วจะค่อยๆ กลายเป็นสีคล้ำขึ้นๆ
จัดเป็นปลาขนาดใหญ่ โดยมีความยาวเต็มที่ประมาณ 1 เมตร และอาจยาวได้ถึง 1.5 เมตร ในบางชนิด ขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ติดกับวัสดุใต้น้ำ เช่น ก้อนหินหรือตอม่อของสะพาน โดยไข่มีลักษณะสีขาวขุ่น โดยที่ทั้งปลาตัวผู้และตัวเมียช่วยกันดูแลไข่ จำนวนไข่ปริมาณ 500-1,000 ฟอง ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 7 วัน
ปลากราย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Chitala ornata) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากราย (Notopteridae) มีปากกว้างมาก มุมปากอยู่เลยขอบหลังลูกตา ในตัวเต็มวัยส่วนหน้าผากจะหักโค้ง ส่วนหลังโก่งสูง ในปลาวัยอ่อนมีสีเป็นลายเสือคล้ายปลาสลาด แต่จะเปลี่ยนเป็นสีเทาเงินและมีจุดกลมใหญ่สีดำขอบขาวที่ฐานครีบก้นตั้งแต่ 3-20 ดวง ซึ่งมีจำนวนและขนาดแตกต่างกันออกไปในแต่ละตัว มีขนาดโดยเฉลี่ย 60 เซนติเมตร ขนาดใหญ่สุดที่พบคือ 1 เมตร น้ำหนักได้ถึง 15 กิโลกรัม
มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีกิ่งไม้ใต้น้ำ หรือพืชน้ำค่อนข้างหนาแน่น อยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก อาหารได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก พบในแหล่งน้ำทั้งแหล่งน้ำนิ่งและแม่น้ำทั่วไปในประเทศไทย รวมถึงในประเทศใกล้เคียง แต่ปัจจุบันพบน้อยลงมาก
ทั้งปลาตองและปลากราย นับเป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมนำมาบริโภค โดยเฉพาะใช้เป็นวัตถุดิบผลิตทอดมันหรือทำลูกชิ้น ราคาขายในตลาดจึงสูง ส่วนบริเวณเนื้อเชิงครีบก้น เรียกว่า เชิงปลากราย เป็นส่วนที่นิยมมาปรุงอาหารโดยนำมาทอดกระเทียม หรือชุบแป้งทอด แม้ว่าเนื้อจะมีก้างมาก แต่ก็เป็นที่นิยมเพราะมีรสชาติอร่อย นอกจากใช้เป็นอาหารแล้ว ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ เช่น เลี้ยงในท้องร่องสวน และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย ที่เลี้ยงง่าย อดทน และจะมีราคาแพงยิ่งขึ้นในตัวที่จุดเยอะ หรือตัวที่สีกลายเป็นสีเผือก หรือสีทองคำขาว หรือในตัวที่เป็นปลาพิการ ลำตัวสั้นกว่าปกติ มีชื่อเรียกอื่น เช่น "ปลาหางแพน" ในภาษากลาง "ปลาตอง" ในภาษาอีสาน "ปลาตองดาว" ในภาษาเหนือ เป็นต้น
ปลาสลาด หรือ ปลาฉลาด เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Notopterus notopterus อยู่ในวงศ์ปลากราย (Notopteridae) เช่นเดียวกัน มีปากกว้างไม่เกินลูกตาเหมือนปลาในวงศ์นี้ชนิดอื่นๆ พื้นลำตัวมีสีเรียบ ยกเว้นปลาวัยอ่อนจะมีลายบั้งเหมือนปลากราย (Chitala ornata) วัยอ่อนจมูกมีสองคู่ คู่หน้ายื่นออกมาคล้ายหลอดหรือหนวด ไม่มีลายจุดให้เห็นไม่ว่าจะเล็กหรือโต มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 20-30 เซนติเมตร จัดเป็นปลาที่เล็กที่สุดชนิดหนึ่งของวงศ์นี้ และเป็นเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Notopterus
พบในแม่น้ำและแหล่งน้ำนิ่งทั่วประเทศไทย ในต่างประเทศพบได้ที่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ ไปจนถึงเกาะสุมาตราและชวา หรือบอร์เนียว เป็นปลาที่หาง่าย มักอยู่รวมเป็นฝูงใหญ่ อาหารได้แก่ ลูกกุ้ง ลูกปลา สัตว์น้ำขนาดเล็ก เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง และนิยมนำเนื้อไปทำทอดมันแทนเนื้อปลากรายซึ่งมีราคาแพงกว่าได้ นอกจากนี้ยังแปรรูปเป็นอาหารอื่นๆ ได้อีก เช่น ลูกชิ้นสับนก หรือรมควัน เป็นต้น และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีก โดยเฉพาะปลาที่กลายสีเป็นสีเผือก แม้จะชื่อว่า "ปลาสลาด" หรือ "ปลาฉลาด" หากไปซื้อที่ตลาดแล้วโดนแม่ค้าหลอกว่าเป็น "ปลากราย" หรือ "ปลาตอง" เราคนซื้อจะกลายเป็น "คนไม่ฉลาด" (โง่) ในทันที เพราะราคาจะถูกกว่ามาก และเนื้อยังไม่อร่อยเท่าปลากรายหรือปลาตอง จึงไม่นิยมเอามาทำลาบแต่เอาไปทำเป็นลูกชิ้น หรือทำทอดมันเสียมากกว่า
ลาบเหนียว ลาบแหลว หรือลาบปลาตองนี้ เป็นอาหารดิบๆ ที่เป็นที่นิยมทำกินกันในภาคอีสาน และใน สปป. ลาว นะครับ ไม่พบในประเทศอื่นๆ แถบนี้ ใช้เนื้อจาก ปลาตอง หรือ ปลาตองกราย หรือ ปลาตองดาว ที่แม้จะพบในประเทศอื่นๆ แถบอุษาคเนย์ มีการนำมาทำอาหารได้หลายอย่าง แต่ถ้าจะกิน "ลาบเหนียว" ต้องมาที่ไทยและ สปป. ลาว เท่านั้น ซึ่งมีกรรมวิธีเฉพาะดังนี้
ส่วนน้ำต้มหัว หาง กระดูก หนัง เอาไปปรุงรสเพิ่มเป็นต้มแซ่บ ซดบ่ให้เข้าคาคอ จัดข้าวเหนียวฮ้อนๆ มาคุ้ยลาบเหนียว แกลัมกับผักต่างๆ เช่น ผักเม็ก ผักหนอก ผักกระโดน ผักติ้ว หรืออื่นๆ ตามชอบได้เลย
สำหรับท่านที่ไม่ชอบทานดิบๆ สามารถเอาไปคั่วให้สุกในหม้อก่อน หรือจะนำไปห่อใบตองหมกหรือปิ้งไฟให้สุก ก็จะได้ลาบเหนียวสุกหอมๆ กลิ่นใบตองมากินกับข้าวเหนียวแซบเช่นเดียวกัน ส่วนบางท่านบอกมาว่า ถ้าได้บักสองซาว (เหล้าขาว 40 ดีกรี) จะทำให้เรียกน้ำย่อยฆ่าพยาธิได้ดีกว่าเดิม อันนี้ก็ว่ากันไป แต่สำหรับอาวทิดหมูหยุดรับแอลกอฮอล์ทุกชนิดมาเป็น 10 ปีแล้ว กะกินแซบอยู่ใด๋ล่ะ
เมื่อครั้งที่ผมไปเที่ยว กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ได้ชิมลาบเหนียวตามสูตรของที่นั่นจะมีการสับข่าละเอียดใส่ลงไปด้วย และมีผักแกล้มนานาชนิดที่ผมก็รู้จักชื่อไม่หมดกาละมังใหญ่ๆ มีแถมให้ไม่อั้นเลยทีเดียว กับข้าวเหนียวฮ้อนๆ จิบตามด้วย ເບຍລາວ (เบียร์ลาว) ก็อร่อยอีกแบบครับ
[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง : อาหารประเภทลาบ ก้อย | ทำไมคนอีสานกินอาหารดิบ ]
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)