foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

kao poon header

เข้าปุ้น หรือ ข้าวปุ้น หรือ ขนมจีน เป็นอาหารพื้นบ้านที่สามารถสะท้อนถึงมิติทางภูมิปัญญา ความคิด วิถีชีวิต จารีตประเพณี พิธีกรรม วัฒนธรรมและเทคโนโลยีพื้นบ้านต่างๆ ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ข้าวปุ้น เป็นอาหารที่ได้รับความนิยม ล้ำสมัย และมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของผู้คนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บนดินแดนลุ่มน้ำโขง ซึงถือว่าเป็น "สายน้ำแห่งอารยธรรมของมนุษยชาติ" ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากข้าวเจ้าที่มีคุณลักษณะพิเศษ ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของชุมชนไทย ซึ่งในอดีตนั้นข้าวปุ้นหรือขนมจีนนิยมทำและรับประทานในงานบุญงานมงคลต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนความเชื่อ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี สำมารถสร้างคุณค่าสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ คาร์โบไฮเดรตจากข้าวเจ้า โปรตีนไขมันจากน้ำยาปลา และวิตามินเกลือแร่จากพืชผักนานาชนิด

kao poon 01

เข้าปุ้น หรือ ข้าวปุ้น เป็นชื่อภาษาท้องถิ่นในชุมชนชาวไทยอีสาน ใช้เรียกอาหารประเภทเส้น ที่แปรรูปมาจากข้าวเจ้า ที่ผ่านกระบวนการหมัก การต้มและผลิตออกมาเป็นเส้น กลมๆ ยาวๆ ในภาคเหนือเรียกว่า ขนมเส้น หรือ ข้าวเส้น ภาคใต้ เรียก โหน้มจีน ส่วนบริเวณอื่นในประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันในนาม ขนมจีน ชุมชนชาวอีสานใต้ที่พูดภาษาเขมรรู้จักกันในนาม นมบันเจ๊าะ (Nom Bhun Jaw) หมายถึง ขนมที่จับเป็นหัวแล้วป้อนใส่ปาก (คนในสมัยก่อนต้องอ้าปากกว้างเวลากินขนมจีน ด้วยการแหงนหน้าหรือเงยหน้าอ้าปาก หยิบกินขนมจีนด้วยมือไม่กินด้วยช้อน) บางที่เรียก ขนมเวง (เวง ในภาษาเขมรสุรินทร์ แปลว่า ยาว) คนพม่าเรียก มอนตี้ หรือ มอนดิ เวียดนามเรียก วีบุ๋น ในญี่ปุ่น เรียก ชอบะ กระเหรี่ยงทางเหนือเรียก คอนอ กระเหรี่ยงทางใต้เรียก คอนุ่ง เป็นต้น นิยมกินกับน้ำยาปลาร้า ซึ่งในอดีต ข้าวปุ้นเป็นอาหารพื้นบ้านที่แปรรูปจากข้าวที่สำคัญโดยเฉพาะ ข้าวเจ้า

ข้าวปุ้นหรือขนมจีน มีข้อมูลการสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากชาวมอญ ซึ่งเรียกขนมจีนว่า ขฺนํจินฺ (ခၞံစိန်) [ขะ-นอม-จิน] “ขะนอมจิน” หมายถึง การทำให้สุก 2 ครั้ง คำว่า “ขะนอม” มีความหมายอย่างหนึ่งว่า เส้น ส่วนคำว่า “จิน” ในภาษามอญมีความหมายว่า “สุก” การทำขนมจีน ต้องผ่านการทำให้สุกถึงสองครั้ง ครั้งแรกนึ่งให้สุกแล้วนำไปโขลก ครั้งต่อมาก็เอาแป้งไปใส่ เหวียน (ภาชนะสำหรับบีบให้เป็นเส้น) บีบลงในน้ำร้อน (โรยในน้ำเดือด) ให้เป็นเส้น จนได้เป็นเส้นขนมจีนออกมา จับเป็นจับๆ (หัว) วางให้เป็นระเบียบ ในกระจาดไม้ไผ่รองด้วยใบตอง หรือใบมะยม เพราะอากาศถ่ายเทได้เก็บไว้กินได้หลายวัน 

ขนมจีน อาหารเส้นแสนอร่อยมีที่มาจากไหนกันแน่? I ประวัติศาสตร์นอกตำรา

ข้าวปุ้น หรือ เข้าปุ้น ในภาษาถิ่นอีสาน คำนี้จะเหมาะมากกว่าชื่ออื่น เพราะเป็นชื่ออาหารคาว ไม่ใช่ขนมที่เป็นอาหารหวาน คนอีสานมีความเชื่อว่า "ข้าวปุ้น" หรือ "ขนมจีน" นี้เป็นอาหารที่เป็นสิริมงคล เนื่องจากมีเส้นที่ยาว ที่บ่งบอกถึงความมีอายุยืนยาวนาน จึงนิยมทำและรับประทานกันในงานมงคลต่างๆ

kao poon 02

ข้าวปุ้น เป็นอาหารที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนอีสานมายาวนาน โดยเฉพาะในงานเทศกาลต่างๆ นิยมทำข้าวปุ้นเพื่อใช้งานประกอบพิธีกรรมทางศาสนา งานบุญหรืองานที่เกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมประเพณี งานมงคลต่างๆ ล้วนมีข้าวปุ้นเป็นอาหารหลักเสมอโดยเฉพาะในชุมชนชาวอีสานแห่งลุ่มน้ำมูล

นับแต่อดีตชาวอีสานมุ่งปลูก "ข้าว" เพื่อบริโภคเป็นหลัก เหลือเก็บในยุ้งฉางก็จะนำไปแลกเปลี่ยนกับปัจจัยอื่นๆ บ้างที่จำเป็นจริงๆ เช่น เสื้อผ้า ยารักษาโรค หรือแปรรูปเป็นอาหารประเภทอื่นๆ แต่ไม่นิยมขายข้าว ไม่แลกเปลี่ยนข้าวกับเครื่องมือประหัตประหาร เพราะเชื่อว่า ข้าวเป็นสิ่งที่มีบุญคุณ มีจิตวิญญาณ มีพระแม่โพสพประจำอยู่ ข้าวเป็นอาหารเพื่อบริโภคเท่านั้นไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ ดังนั้น การปลูกและบริโภคข้าวจะมีแค่เพียงพอแค่ในรอบปีเท่านั้น ข้าวปุ้นเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากข้าวเจ้า ที่นอกจากจะต้องผ่านการแปรรูปหลายขั้นตอนและมีความยุ่งยากพอสมควรแล้ว ยังเป็นอาหารที่เกิดจากความเชื่อที่ตั้งอยู่ในประเพณีของชุมชนวิถีพุทธ โดยในอดีตช่วงเวลาที่นิยมทำข้าวปุ้นมากที่สุดคือ งานบุญประเพณีเดือน 4 บุญผะเหวด (เวสสันดร) งานบุญเดือน 11 บุญกฐิน รวมถึงงานบุญสำคัญทางศาสนาหรือจะเป็นงานมงคลต่างๆ ก็มักจะนิยมทำข้าวปุ้นเพื่อถวายพระ เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงผู้คนที่เข้าร่วมงานบุญ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการและแปรรูปอาหารจากข้าว ที่สามารถเพิ่มผลผลิตของข้าวที่มีปริมาณน้อยๆ ให้เพียงพอสำหรับการบริโภคได้ เพราะถ้าใช้ข้าวเจ้า 1 กิโลกรัม สามารถทำข้าวปุ้นได้ถึง 2 กิโลกรัมเลยทีเดียว ข้าวที่นำมาทำข้าวปุ้นนั้นนอกจากจะเป็นข้าวพันธุ์พื้นบ้านแล้ว ยังต้องเป็นข้าวเก่าเก่าที่มีอายุหลังการเก็บเกี่ยวมากกว่า 5 เดือนแล้ว ซึ่งข้าวเหล่านี้ ถ้าใช้หุงเพื่อรับประทาน จะมีลักษณะร่วน แข็งไม่อร่อย จึงเหมาะที่จะนำมาแปรรูปมากกว่า ยังเป็นการจัดการข้าวเก่าที่ยังคงเหลือในยุ้งฉางให้น้อยลงหรือหมดไป ก่อนที่จะมีการนำข้าวใหม่เข้าเก็บในยุ้งแทน

กระบวนการหรือเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตข้าวปุ้น ล้วนแต่ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ตลอดจนแรงงานที่สำคัญทั้งสิ้น ข้าวปุ้นจึงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่นิยมทำ และบริโภคเฉพาะในงานบุญและงานมงคล ข้าวปุ้นในงานบุญหรือช่วงเวลาต่างๆ ทำให้ชุมชนมีการพบปะสังสรรค์ ทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดการส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคีของคนในครอบครัวหรือชุมชนได้ โดยเปิดโอกาสให้กับคนหนุ่มสาว หรือเยาวชนในชุมชนนั้นๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาทักษะ ในการทำข้าวปุ้นจากพ่อแม่หรือผู้สูงอายุในชุมชน ได้เรียนรู้นิสัยใจคอในระหว่างการทำข้าวปุ้น ทำให้เกิดการสืบทอดภูมิปัญญาเทคโนโลยีข้าวปุ้นที่ยังคงอยู่สืบไปได้อีกด้วย นอกจากนี้เด็กๆ ก็มีโอกาสในการเข้าวัด การตั้งหน้าตั้งตาที่จะได้รับประทานแป้งข้าวปุ้นจี่ (พิซซ่าอีสาน) ทำให้เด็กๆ ได้ฝึกการรอคอย และนอกจากจะได้ข้าวปุ้นเพื่อรับประทำนใช้ในงานบุญแล้ว ยังทำให้เกิดการส่งเสริมความรัก (หนุ่มสาว) ความสมัครสมานของคนในชุมชน เกิดคุณค่าทางจิตใจ เกิดสายใยของคนในครอบครัวและชุมชนอีกด้วย

kao poon 03

คุณค่าของข้าวปุ้น

ข้าวปุ้น เป็นอาหารที่ประกอบด้วยรสชาติเข้มข้น ตามรสชาติของน้ำยา มีเครื่องปรุงหลายอย่างจากผักหลากหลายชนิด หลายประเภท ข้าวปุ้นจะมีลักษณะเฉพาะตัว มีคุณลักษณะพิเศษในการรับประทานที่หลากหลายรูปแบบ ประเด็นสำคัญในการรับประทานข้าวปุ้น นอกจากจะให้คุณค่าทางโภชนาการที่ให้สารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นแก่ร่างกายอย่างครบถ้วนแล้ว ข้าวปุ้นยังสามารถให้สรรพคุณทางยาและคุณค่าจากสมุนไพรอีกด้วย โดยในอดีตข้าวปุ้นจะรับประทำนกับน้ำยาป่า ซึ่งทำมาจากปลาช่อน ปลาดุก หรือปลาหมอ จากบ่อปลาที่ชาวบ้านหาได้ตามท้องนา ห้วยหนอง หรือจะเป็นน้ำยากะทิ มีผักในสวนทั้ง ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว สะระแหน่ กระถินริมรั้ว หรือผักพื้นบ้านอื่นๆ ที่หาได้ตามท้องถิ่นเป็นเครื่องเคียง ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อหาจากตลาด และมั่นใจด้วยว่าปลอดภัยจากสารเคมี ทำให้การรับประทานข้าวปุ้นสามารถได้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรตจากแป้งหรือเส้นข้าวปุ้น โปรตีน ไขมันที่ได้จากปลาและปลาร้า แร่ธาตุ วิตามินที่ได้จากผักนานาชนิด

kao poon 04

โดยในแต่ละท้องถิ่นก็รูปแบบการรับประทานที่แตกต่างกันออกไปบ้าง วัฒนธรรมการรับประทานข้าวปุ้น จึงเสมือนศูนย์รวมของพืชผักนานาชนิด รวมถึงผักที่เป็นสมุนไพรที่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย นับว่าเป็น "ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ" ที่มีการรับประทานอาหารเป็นเสมือนยาสามัญประจำบ้านกันเลยทีเดียว โดยสามารถนำเอาสมุนไพรต่างๆ มาปรุงอาหารโดยไม่ได้รู้ว่าพืชผักหรือเครื่องปรุงต่างๆ เหล่านี้มีประโยชน์อย่างไรบ้าง รู้แต่ว่าในวิถีชีวิต และพื้นเพวัฒนธรรมการรับประทานของคนในแถบนี้ จะมี ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ใบโหรพา หรือใบมะกรูด ซึ่งปัจจุบันจากงานวิจัยก็ทำให้เราทราบว่า อาหารจำพวกนี้ คือ สมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น การรับประทานข้าวปุ้นจึงสะท้อนถึงอาหารหลักของชุมชนที่ว่า "กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นยา"

ชนิดของขนมจีน

เส้นข้าวปุ้น หรือเส้นขนมจีน โดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

  • ขนมจีนแป้งหมัก เป็นเส้นขนมจีนที่นิยมทำทางภาคอีสาน เส้นมีสีคล้ำออกน้ำตาล เหนียวนุ่มกว่าขนมจีนแป้งสด และเก็บไว้ได้นานกว่า ไม่เสียง่าย การทำขนมจีนแป้งหมักเป็นวิธีการทำเส้นขนมจีนแบบโบราณ ต้องเลือกใช้ข้าวแข็ง คือข้าวที่เรียกว่า ข้าวหนัก เช่น ข้าวเล็บมือนาง ข้าวปิ่นแก้ว ข้าวพลวง ถ้าข้าวยิ่งแข็งจะยิ่งดี เวลาทำขนมจีนแล้ว ทำให้ได้เส้นขนมจีนที่เหนียวเป็นพิเศษ นอกจากนี้แหล่งน้ำธรรมชาติก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จากคลองชลประทาน หรือน้ำบาดาล ไม่ควรใช้น้ำประปา (ถ้าจำเป็นต้องใช้ ควรรองน้ำทิ้งไว้ข้ามวันเพื่อระเหยคลอรีนออกไป) เพราะเส้นขนมจีนจะเละทำให้จับเส้นไม่ได้ ไม่น่ากิน
  • ขนมจีนแป้งสด ใช้วิธีการผสมแป้ง ขนมจีนแป้งสด เส้นจะมีขนาดใหญ่กว่าขนมจีนแป้งหมัก เส้นมีสีขาว อุ้มน้ำมากกว่า ตัวเส้นนุ่ม แต่จะเหนียวน้อยกว่าแป้งหมัก วิธีทำจะคล้ายๆ กับขนมจีนแป้งหมัก แต่จะทำง่ายกว่าเพราะไม่ต้องแช่ข้าวหลายวัน และได้เส้นขนมจีนที่มีสีขาว น่ารับประทาน การเลือกซื้อขนมจีนแป้งสด ควรเลือกที่ทำใหม่ๆ เส้นจับวางเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ เส้นขนมจีนไม่ขาด ดมดูไม่มีกลิ่นเหม็นแป้ง ไม่มีเมือก ขนมจีนแป้งสดจะเก็บได้ไม่นาน ควรนำมานึ่ง ก่อนกิน

บางท่านอาจจะเคยได้ยินคำว่า "ข้าวปุ้นซาว" จริงๆ แล้วก็เป็นชนิดที่ 1 ข้าวปุ้นหมัก หรือชนิดที่ 2 ข้าวปุ้นสด ก็ได้ แต่คำว่า "ซาว" ในที่นี้หมายถึง การโกยหรือจับเส้นข้าวปุ้นขึ้นจากน้ำในขั้นตอนการผลิต แล้วนำมารับประทานในทันทีแบบเปล่าๆ ที่ข้างเตา หรือรับประทานกับน้ำปลาร้า น้ำปลา หรือน้ำยาแบบง่ายๆ ในสถานที่ผลิตนั่นเอง (ซึ่งรับประกันความสดใหม่ได้แน่นอน)

วัตถุดิบการทำขนมจีนแบบหมัก

  • ข้าวเจ้า ควรใช้ข้าวที่มีอายุหลังการเก็บเกี่ยวประมาณ 3 เดือน ถึง 1 ปี ไม่ควรเป็นข้าวเก่ากว่านี้ เพราะจะทำให้ขนมจีนมีสีเหลืองมาก
  • น้ำ นิยมใช้น้ำประปาเพราะง่ายที่สุด (ในยุคปัจจุบัน) บางพื้นที่มีการใช้น้ำบาดาล แต่ต้องเป็นบ่อที่ไม่มีความเค็ม กร่อย หรือมีสนิมเหล็ก (ควรจะรอง หรือสูบน้ำขึ้นมาใส่ภาชนะ พักค้างคืนก่อนสัก 2-3 วัน ก่อนนำมาใช้หมักข้าว)
  • เกลือ ใช้ได้ทั้งเกลือสมุทรและเกลือสินเธาว์ ใช้เพื่อป้องกันการเน่า ลดความเปรี้ยวของขนมจีน
  • สีผสมอาหาร สำหรับกรณีที่อยากจะเพิ่มสีสันให้น่าสนใจยิ่งขึ้น เช่น สีเขียวจากใบเตย สีม่วงจากดอกอัญชัน เป็นต้น

kao poon 07

ขั้นตอนการทำ

  • การแช่ข้าวสาร นำข้าวมาแช่น้ำ และล้างทำความสะอาดก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการหมัก
  • การหมักแป้ง เป็นขั้นตอนสำคัญมากมีทั้งการหมักแบบแห้งและแบบแช่น้ำ แต่ที่นิยมมากคือการหมักแห้ง โดยนำเอาข้าวที่ล้างสะอาดแล้วมาใส่ในภาชนะที่มีรูให้น้ำไหลผ่าน และให้น้ำแก่เมล็ดข้าวทุกวันแบบไม่มีการแช่ ทำติดต่อกันประมาณ 2-3 วัน สังเกตว่าข้าวที่พร้อมนำมาใช้จะต้องมีเม็ดพองโต สีออกคล้ำเล็กน้อย มีกลิ่นแรงจากการหมัก แสดงว่าเหมาะจะนำมาบดในขั้นตอนต่อไป
  • การบดข้าว ส่วนใหญ่ทำผ่านเครื่องบดหรือโม่หิน โดยข้าวที่บดจะแตกเป็นผงละลายมากับน้ำ ต้องมีการกรองให้น้ำกับเศษข้าวแยกจากกัน อาจมีการเติมเกลือเพื่อป้องกันการเติบโตของจุลินทรีย์
  • การนอนแป้ง คือการแช่น้ำแป้งจากข้าวบดให้ตกตะกอน น้ำแป้งส่วนบนจะมีสีเหลือง การปล่อยให้ตกตะกอนจะทำให้แป้งขาวสะอาดและมีกลิ่นน้อยลง
  • การทับน้ำ หรือ การไล่น้ำ เป็นวิธีการกำจัดน้ำออกจากน้ำแป้ง ด้วยการนำน้ำแป้งใส่ผ้าขาวที่มัดห่อให้แน่น แล้วนำของหนักมาทับเพื่อให้น้ำไหลซึมผ่านออก ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 วัน

การสาธิตวิธีการทำเส้นขนมจีนแบบดั้งเดิม บ้านประโดก นครราชสีมา

  • การต้มหรือนึ่งแป้ง เป็นขั้นตอนที่ทำให้แป้งสุกประมาณ 25-35 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น เพื่อไม่ให้แป้งเหนียวมากเกินไป สำหรับระดับครัวเรือนจะใช้วิธีการต้ม ส่วนในโรงงานจะใช้วิธีการนึ่งแทน
  • การนวดแป้ง โดยนำก้อนแป้งมาบี้ให้ส่วนแป้งสุก และแป้งดิบผสมกัน ซึ่งอาจใช้มือหรือเครื่องจักรหรือครกไม้ ก้อนแป้งที่เหมาะสำหรับโรยเส้นนั้น จะมาข้าวประมาณ 1 กิโลกรัม ที่ทำให้ได้ก้อนแป้งเหลวหนักประมาณ 3-3.5 กิโลกรัม
  • การโรยเส้น เป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้ขนมจีนเป็นเส้น แป้งข้าวปุ้นที่เหลวหนืดถูกนำไปใส่ห่อผ้าที่ตรงกลางมีแผ่นกะลาหรือโลหะแบนเจาะรูเล็กๆ (เรียก เหวียน) ให้แป้งลอดผ่านออกมาเป็นเส้น ลงในน้ำเดือดเพื่อทำให้เส้นสุก โดยยังคงรูปเส้นเหมือนเดิม และเมื่อบีบเส้นลงหม้อต้มแล้ว ให้พยายามรักษาความร้อนให้คงที่ และรอจนกว่าเส้นขนมจีนจะลอยตัวจึงใช้ตะแกรงหรือกระชุตักขึ้นมา
  • การจัดเรียงเส้น หลังจากตักขึ้นมาจากหม้อต้มแล้วให้จุ่มลงในน้ำเย็นทันที รอจนเส้นเย็นสามารถใช้มือจับได้โดยให้ใช้มือข้างที่ถนัดจับเส้นขึ้นมาพันรอบฝ่ามืออีกข้างที่วางในแนวตั้ง จนกระทั่งหมดความยาวเส้น และเรียงเส้นใส่ภาชนะให้เป็นแนวสม่ำเสมอ

ขนมจีนแป้งหมัก : ภัตตาคารบ้านทุ่ง ThaiPBS

ในระดับโรงงานผลิตขนมจีน วัตถุดิบตั้งต้นอย่าง "เมล็ดข้าว" ส่วนใหญ่มักจะใช้ข้าวหักหรือปลายข้าวเป็นหลัก เพื่อลดต้นทุนในการผลิตแต่คุณภาพสินค้าไม่ต่างกันมากนัก และกระบวนการหมักหากเป็นในครัวเรือนใช้เวลา 2-3 วัน แต่ในโรงงานส่วนใหญ่จะหมักเพียง 1-2 วัน ทั้งนี้การโรยเส้นในครัวเรือนจะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า "เหวียน" หรือ "แว่น" หรือ "เฝื่อน" แต่ในโรงงานมักใช้ปั๊มแรงดันต่อท่อดันก้อนแป้งเหลวผ่านตะแกรงที่มีรูขนาดเล็กลักษณะคล้ายแว่นลงหม้อต้ม ซึ่งจะประหยัดแรงงาน และได้เส้นขนมจีนที่รวดเร็วกว่า โดยเฉลี่ยการทำงานของเครื่องจักรจะทำเส้นขนมจีนได้ประมาณ 150 กก./วัน

kao poon 05

การทำน้ำยาข้าวปุ้น

เมื่อได้เส้นข้าวปุ้นมาแล้วก็ต้องมีน้ำยา ชาวบ้านทางภาคอีสานไม่นิยมใส่กะทิในอาหารเหมือนทางภาคอื่น จึงมักจะเรียกน้ำยาขนมจีนที่ไม่มีกะทิว่า "น้ำยาลาว" หรือ "น้ำยาป่า" คือ มีน้ำต้มปลาร้า และเนื้อปลาสด ใส่เครื่องปรุงต่างๆ ดังนี้

  • ปลาช่อน 1 ตัว หรือปลานิล ปลาทู ปลากระป่องก็ได้ ตามใจชอบหรือตามที่มี
  • ปลาร้า 2 ถ้วยตวง (อาจมีเนื้อตัวปลาร้าด้วย)
  • น้ำปลา ผงชูรส (ตามความนัวที่ชอบ)
  • พริกแห้งเม็ดใหญ่ ครึ่งถ้วยตวง
  • กระชาย ครึ่งถ้วยตวง (ยิ่งใส่เยอะได้ยิ่งหอมอร่อย)
  • ใบมะกรูด 1 กำมือ
  • ต้นหอม 5-6 ต้น
  • หอมแดง 1 ถ้วยตวง
  • กระเทียม ครึ่งถ้วยตวง
  • พริกสด 1 กำมือ

วิธีการปรุง

  • เอาปลาร้ามาต้มให้สุก พร้อมกับปลาสด (ใช้ปลาช่อนอร่อยกว่า) พร้อมเครื่องแกงอื่นๆ มี พริกเม็ดใหญ่ (พริกแห้ง) หัวหอมแดง กระเทียม กระชาย ต้มพร้อมกันให้เดือด จนปลาร้าละลาย ตัวปลาช่อนสุก
  • เอาเครื่องปรุงอื่นๆ และตัวปลาออกจากหม้อ นำน้ำปลาร้ามากรองเอาเฉพาะน้ำ พักไว้
  • นำพริก หอมแดง กระเทียม กระชาย ที่ต้มสุกแล้วนำมาโขลกให้ละเอียด แกะเนื้อปลาใส่ลงไป แล้วโขลกรวมให้เป็นเนื้อเดียวกันกับเครื่องแกง
  • นำน้ำปลาร้าที่กรองแล้วใส่หม้อขึ้นต้มอีกครั้ง ใส่เครื่องแกงและเนื้อปลาลงไป รอให้เดือด แล้วเดิมข่าอ่อน ตะไคร้ ใบมะกรูดฉีก พริกขี้หนูเม็ด (เขาเรียก 'ลูกโดด' หรือ 'ลูกระเบิด' ลงไป)
  • จากนั้นปรุงรสให้กลมกล่อมด้วยน้ำปลา ผงชูรส ตามชอบ ใส่ต้นหอมสดหั่นยาวประมาณ 1 นิ้วลงไป
  • ยกลง พร้อมเสิร์ฟกับเส้นขนมจีน และผักเคียงอื่นๆ เช่น ถั่วงอก ถั่วฟักยาว ใบแมงลัก ผักชีลาว แตงกวา ฯลฯ

kao poon 06

ในปัจจุบัน น้ำยาสำหรับข้าวปุ้น หรือ ขนมจีน นี้ มีการดัดแปลงเพิ่มเติมให้ถูกปากคนไทยทั่วไปมากขึ้น มีการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมอาหารการกินจากถิ่นอื่นๆ จึงมีสูตรน้ำยาต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย รวมทั้งมีการใส่กะทิเพิ่มเข้าไปให้มีความเข้มข้น มีการเติมลูกชิ้นปลา หรือ เติมส่วน บาทาไก่ (ตีนไก่) ลงไปเพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับประทานให้มากขึ้น ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด และขนมจีนหรือข้าวปุ้นในปัจจุบันก็หารับประทานได้ง่ายทั่วไป ไม่ต้องรองานบุญแบบเดิมอีกแล้ว รวมทั้งมีการนำเส้นขนมจีนไปร่วมกับการตำส้มตำในอีกหลายรูปแบบ เช่น ตำป่า ตำมั่ว หรือนำไปทำ "ยำขนมจีน" แซบๆ อีกด้วย

kao poon 08

redline

backled1

kob aua header

หอมดอกผักกะแยง ยามฟ้าแดงค่ำลงมา
แอ๊บๆ เขียดจะนา ร้องยามฟ้าฮ้อนห่วนๆ
เขียดโม้เขียดขาคำ เหมือนหมอลำพากันม่วน
เมฆดำลอยปั่นป่วน ฝนตกมาสู่อีสาน... "

พอได้ฟังเพลง "อีสานบ้านเฮา" ฝีมือการประพันธ์ของครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ศิลปินแห่งชาติปี พ.ศ. 2557 จากการขับร้องของเฮียอ๋อ หรือ เทพพร เพชรอุบล แล้วมันก็ได้บรรยากาศท้องไร่ท้องนาในอดีต สมัยที่อาวทิดหมูยังเป็นบ่าวแวงพุ้นแหล่ว คิดฮอดยามฝนตกลงท่งลงนาไปหาตึกแหเอากบเอ็บโตใหญ่ๆ มาต้มซั่วใส่ใบบักขามอ่อน สมัยนั้น (ต้นๆ พ.ศ. 2500) กบ-เขียดมีเยอะ หาได้ไม่ยากจึงเหลือพอที่จะถนอมเป็นอาหารเก็บไว้กิน แม่ของอาวทิดหมูเลากะสิเอาไปเฮ็ด อั่วกบ หรือ กบยัดไส้ หรืออย่างอื่นๆ ได้อีกหลายแนว แต่ที่เป็นอาหารที่โปรดปรานที่สุดจาก "กบ" กะแหม่น "กบอั่ว" นี่แหละ

kob aua 01

กบอั่ว ของทางอุบลราชธานี หรือ กบยัดอั่ว ตามที่พี่น้องทางสกลนคร เพิ่นเรียกขาน หรือ อังแก๊บบอบ หรือ กบยัดไส้ย่าง ของพี่น้องทางสุรินทร์เรียกขานก็ไม่แตกต่างกันในกรรมวิธีทำ ส่วนรสชาติก็อาจมีต่างกันบ้างเล็กน้อย ตามเครื่องปรุงและสมุนไพรที่ผสมลงไปให้เกิดความแซบ ความนัว ความหอม จนเรียกน้ำลายให้ไหลออกมาเต็มกระพุ้งแก้มกันเลยทีเดียว

“อังแก๊บบอบ” เป็นภาษาเขมร ความหมายตั้งแต่บรรพบุรุษคือ “ใครทำเธอท้อง” เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เพื่อนผมบอกมา

kob aua 02

กบ ที่นำมาทำ กบอั่ว หรือ อังแก๊บบอบ หรือ กบยัดไส้ นี่ต้องเป็น กบนา หรือ กบตามธรรมชาติ ไม่ใช่ กบเลี้ยง พ่อค้าแม่ค้าจะนำกบมาตัดตรงส่วนหัวควักเอาไส้กบออกจากตัว จากนั้นล้างทำความสะอาดให้ดี นำเอาส่วนหัว แขน ขา ของกบมาสับ เหลือแต่ส่วนท้องไว้ นำเอาส่วนที่สับละเอียดแล้วไปคลุกเคล้าเครื่องปรุงและสมุนไพรต่างๆ ตามแต่ละสูตร เสร็จแล้วนำมาบรรจุลงในส่วนท้องกบจนแน่น กลัดด้วยไม้กลัดนำไปตากแดดสักหนึ่งแดดก่อนนำมาย่างให้หอม กินกับข้าวเหนียวร้อนๆ แซบลืมตายพะนะ

ส่วนในปัจจุบันนี้ กบนา คงจะหายากสักหน่อย ด้วยสภาพของการทำไร่นาบ้านเราเปลี่ยนไป มีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงกันมาก รวมทั้งการเผาฟาง เผาป่า ทำให้สัตว์บก สัตว์น้ำ ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติไม่มีที่อยู่ที่ปลอดภัย จึงแทบจะไม่เหลือให้เราได้หาจากท้องทุ่งมารับประทานได้ดังเดิม ต้องอาศัยการนำมาเลี้ยงจำหน่าย ไม่เว้นแม้แต่ หอย กุ้ง ปู ปลา กบ ที่เราเห็นกันในตลาดทุกวันนี้

kob aua 03

กบอั่ว หรือ กบยัดอั่ว หรือ อังแก๊บบอบ หรือ กบยัดไส้ เป็นอาหารเมนูพื้นบ้านอีสานที่หากินยาก เนื่องจากคนทำอาหารประเภทนี้จะต้องเข้าใจวิธีทำ และต้องใช้เวลากันพอสมควรจึงจะได้มาวางบนจาน ใครอยากกินก็มาลองทำกันเองได้ครับ อาวทิดหมูมีสูตรและวิธีการทำมาบอกดังนี้ครับ

อังแก๊บบอบ (กบยัดไส้) สูตรชาวสุรินทร์

ส่วนผสม (ปริมาตรการทำต่อ 1 กิโลกรัม ถ้ามากกว่านี้ก็เพิ่มตามสัดส่วน)

  • กบ ขนาดพอเหมาะ  1 กิโลกรัม (8-9 ตัวต่อกิโลกรัม ถ้าโตกว่านี้กระดูกจะแข็งไม่อร่อย)
  • มะพร้าวขูด 800 กรัม (5 ถ้วยตวง)
  • หอมแดงหัว 30 กรัม (6-7 หัว)
  • กระเทียมไทย 10 กรัม (10-12 กลีบ)
  • ข่า 7 กรัม (1 แว่น)
  • ตะไคร้ซอย 10 กรัม (3-5 หัว)
  • พริกขี้หนูแห้ง 5 กรัม (10-15 เม็ด)
  • ใบมะกรูดหั่นฝอย 2 กรัม (2 ช้อนโต๊ะ)
  • ผิวมะกรูดหั่นฝอย 10 กรัม (1 ช้อนโต๊ะ)
  • น้ำตาลทราย 30 กรัม (2 ช้อนโต๊ะ)
  • กะปิ 14 กรัม (2 ช้อนโต๊ะ)
  • เกลือ 20 กรัม (2 ช้อนโต๊ะ)
  • น้ำปลา 15 กรัม (1 ช้อนโต๊ะ)

kob aua 04

วิธีการทำ

  1. กบ นำมาถอดเสื้อ (ลอกหนัง) ตัดตรงส่วนหัวเพื่อควักเอาเครื่องในออก นำมาล้างทำความสะอาด ตัดเอาส่วนหัว แขนและขา เหลือไว้เฉพาะส่วนตัวและต้นขาไว้
  2. นำส่วนหัว แขนและขาไปสับให้ละเอียด เพื่อนำไปผสมกับเครื่องปรุงที่จะนำมายัดไส้เข้าในตัวกบ
  3. โขลกพริกแห้ง ตะไคร้ ข่า หัวหอมแดง กระเทียม ผิวมะกรูดหั่นฝอย เกลือให้เข้ากัน ใส่กะปิแล้วโขลกต่อให้ละเอียด
  4. นำเครื่องแกงที่โขลกละเอียดแล้วมาผสมกับกบสับ มะพร้าวขูด และใบมะกรูดหั่นฝอย เคล้าให้เข้ากัน เติมน้ำปลาคลุกให้เข้ากันจนทั่ว แล้วลองหยิบไปสักเล็กน้อยนำไปห่อใบตองปิ้งให้สุกชิมให้ได้รสเค็มๆ มันๆ เผ็ดเล็กน้อย หวานกะทิ ตามที่ชอบ
  5. เมื่อส่วนผสมตามข้อ 4 ได้รสชาติดีแล้ว ให้นำมายัดเข้าไปในท้องกบจนแน่นเต็ม นำไปใส่ไม้ไผ่หนีบ นำไปย่างไฟปานกลางให้สุกหอม รับประทานได้

เทคนิคความอร่อย

  • กบ ที่ใช้ต้องเป็นกบสดๆ เวลาย่างจะไม่คาวและเนื้อมีรสหวาน ถ้าเป็นกบนาธรรมชาติจะอร่อยสุดๆ มากกว่ากบเลี้ยง
  • เครื่องแกงที่ใช้ควรโขลกเอง จะได้ความหอมละมุนกว่า กะปิที่ใช้ควรเป็นกะปิแท้จากเคย ถ้าต้องการความหอมมากๆ ให้เน้นที่ใบมะกรูดหั่นฝอยให้มากหน่อย
  • การย่าง ควรใช้ไฟอ่อนใจเย็นๆ อาจใช้ขี้เถ้ากลบถ่านให้ความร้อนกระจายไปทั่วๆ จะทำให้กบยัดไส้สุกทั้งข้างนอกและข้างใน
  • หากไส้ที่ยัดในตัวกบมีเนื้อกบน้อยไป อาจใช้เนื้อไก่หรือหมูผสมลงไปด้วยก็ได้ รับประทานกับส้มตำ หรือตำถั่วฝักยาวจะเด็ดสุดๆ

kob aua 06

กบอั่ว หรือกบยัดไส้ สูตรแม่อาวทิดหมู

ส่วนผสม (ปริมาตรสำหรับ 1 กิโลกรัม)

  • กบ ตัวขนาดพอเหมาะ  1 กิโลกรัม (8-9 ตัวต่อกิโลกรัม ถ้าโตกว่านี้กระดูกจะแข็งไม่อร่อย)
  • หอมแดงหัว 30 กรัม (6-7 หัว)
  • ข่า 7 กรัม (1 แว่น)
  • ตะไคร้ซอย 10 กรัม (3-5 หัว)
  • พริกขี้หนูแห้ง 5 กรัม (10-15 เม็ด)
  • ใบมะกรูดหั่นฝอย 2 กรัม (2 ช้อนโต๊ะ)
  • เกลือ 20 กรัม (2 ช้อนโต๊ะ)
  • น้ำปลาร้า 15 กรัม (1 ช้อนโต๊ะ)

วิธีการทำ

  1. กบ นำมาถลกลอกหนัง ตัดตรงส่วนหัวเพื่อควักเครื่องในออก นำมาล้างทำความสะอาด ด้วยการใช้ใบตะไคร้มาขยำกับน้ำเพื่อล้างกลิ่นคาวออกไป พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
  2. นำกบมาตัดเอา แขน ขา และส่วนหัวออก เหลือไว้เฉพาะส่วนตัวและต้นขาไว้
  3. นำส่วนหัว แขนและขาไปสับให้ละเอียด เพื่อนำไปผสมกับเครื่องปรุงที่จะนำมายัดไส้เข้าในตัวกบ (หากเห็นว่ามีเนื้อกบน้อยไป ให้เพิ่มกบทั้งตัวสับลงไปผสมอีก)
  4. โขลกพริกแห้ง ตะไคร้ ข่า หัวหอมแดง เกลือ ให้ละเอียดเข้ากันดี
  5. นำเครื่องแกงที่โขลกละเอียดแล้วมาผสมกับกบสับ และใบมะกรูดหั่นฝอย เคล้าให้เข้ากัน เติมน้ำปลาร้าลงไปคลุกเคล้าด้วย แล้วให้หยิบไปเล็กน้อยใส่ใบตองห่อ ปิ้งให้สุกชิมให้ได้รสตามต้องการ ถ้ายังขาดรสใดก็เพิ่มลงไปอีกได้
  6. เมื่อส่วนผสมตามข้อ 5 ได้รสชาติดีแล้ว ให้นำมายัดเข้าไปในท้องกบจนแน่นเต็ม กลัดปิดส่วนบนให้แน่นด้วยไม้กลัดหรือรัดด้วยเชือกให้แน่น นำไปตากแดดให้แห้งสัก 1-2 แดด ก่อนนำไปย่างด้วยไฟอ่อนๆ ให้สุกหอม

kob aua 05

เทคนิคแห่งความอร่อย

  • หากต้องการจะเก็บไว้รับประทานนานๆ ต้องตากแดดให้แห้งนานสัก 2-3 วัน และไม่ควรใส่กระเทียม เพราะจะทำให้กบอั่วมีกลิ่นคาว
  • การย่างจะทำให้มีกลิ่นหอม และควรย่างด้วยไฟอ่อนๆ ให้สุกทั้งนอกและใน บางท่านอาจนำไปทอดจะได้สีสันเหลืองสวยน่ารับประทาน

กบอั่ว อาหารพื้นถิ่นที่จะมีรับประทานตามฤดูกาลเท่านั้นครับ เดี๋ยวนี้หารับประทานกันยาก ไม่ค่อยมีใครทำกันด้วยยุ่งยากเสียเวลาหลายขั้นตอน แต่รับประกันได้ว่ามีความอร่อยเด็ดจริงๆ ใครมีเวลาเข้าหน้าฝนได้กบนามาก็ลองทำรับประทานกันนะครับ กบนาตามธรรมชาติในปัจจุบันมีการนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป. ลาว และเขมร ถึงจะได้กินอย่างอร่อยๆ หน้าฝนที่จะถึงนี้ อาวทิดหมูคงต้องขอร้องให้เพื่อนทางปากเซ สปป.ลาว จัดหามาให้สัก 10 กิโลกรัมเพื่อทำ กบอั่ว หรือ กบยัดไส้ ให้อร่อย

redline

backled1

nam pa na

วันก่อนเขียนเรื่อง ผักพื้นบ้านอีสาน : สุดยอดสมุนไพรพื้นบ้าน เพิ่มเติม ได้มีการกล่าวถึง พุทธโอสถ และน้ำปานะ ไปในบทความด้วย ทันควันเลยทีเดียว วันนี้ได้รับคำถามมาทางอินบอกซ์ให้ช่วยขยายความเรื่องนี้หน่อย โดยมีการกล่าวว่า "หลายคนนิยมเข้าวัดทำบุญช่วงเทศกาลที่มีพระสงฆ์มาร่วมพิธีกรรมจำนวนมาก ด้วยการ 'ถวายน้ำปานะ' แก่พระสงฆ์ ซึ่งมักอยู่ในรูปแบบน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล มีรสหวาน ซึ่งพระสงฆ์ไม่สามารถปฏิเสธน้ำปานะที่ญาติโยมนำมาทำบุญได้ (ในบางกรณี ความรู้ที่มีไม่ชัดแจ้ง) จึงทำให้พระสงฆ์ต้องอาพาธด้วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ" ทางเว็บมาดเซ่อน่าจะค้นหาความรู้มาเผยแพร่ต่อ เพื่อให้ทุกคนได้ทำความรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับ 'น้ำปานะ' ให้มากขึ้น เพื่อจะได้เครื่องดื่มที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งที่ถวายพระสงฆ์ และทำดื่มแจกจ่ายกันทั่วไป

ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างมากที่ได้ช่วยชี้แนะมา 'เว็บมาดเซ่อ' เองก็ยังไม่รู้ในเรื่องเหล่านี้เพียงพอ ด้วยเกิดมาไม่นานนัก ไม่สันทัดกับครูบา-อาจารย์นักบวช จึงส่งไม้ต่อมาให้ 'อาวทิดหมู' ผู้เคยบวชเรียนมาก่อนและคุ้นเคยกับครูบา-อาจารย์สายวัดป่า ได้ช่วยสืบเสาะหาความรู้จึงมาเป็นบทความในวันนี้นั่นเอง

ความรู้เรื่อง น้ำปานะ

จากหนังสือ "ตามรอยโพธิญาณ ชีวิตพระกรรมฐานในป่าพง" กล่าวในตอนที่ชื่อว่า "ฉันน้ำปานะ" ไว้ว่า

" ...เวลาประมาณ 16 นาฬิกา เสียงระฆังสัญญาณบอกเวลาฉันน้ำปานะก็ดังขึ้น ภิกษุสามเณรจะหยุดปล่อยวางภารกิจที่กำลังทำกันอยู่โดยพร้อมเพรียงกัน แล้วมานั่งบนอาสนะที่ระเบียงโรงฉัน เรียงตามลำดับอายุพรรษาเพื่อฉันน้ำปาะ ทุกรูปจะมีความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น หลังจากต้องเหน็ดเหนื่อยออกกำลังปฏิบัติภาระหน้าที่ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน น้ำปานะจะช่วยบรรเทาความหิว และความอ่อนเพลียให้ลดลงได้มาก รวมทั้งมีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจด้วย

chan nam pana

น้ำปานะ เป็นน้ำที่คั้นซึ่งได้มาจากผลไม้ โดยภิกษุสามเณรดื่มได้ในเวลาวิกาล เมื่อรับประเคนแล้วเก็บไว้ได้ชั่ววันกับคืนหนึ่งเท่านั้น ในพระวินัยอนุญาต ให้ใช้ผลไม้ที่ประเทศนั้นๆ ไม่ได้ใช้เป็นอาหารตามปกติ นำมาทำน้ำปานะได้ และเมื่อพุทธกาลผลไม้สำหรับทำน้ำปานะมีดังนี้ มะม่วง ชมพู่หรือลูกหว้า กล้วยมีเม็ด กล้วยไม่มีเม็ด มะซาง ลูกจันทน์ หรือองุ่น เหง้าบัว มะปราง ลิ้นจี่

บางโอกาส ภิกษุสามเณรจะได้ฉันสิ่งที่พระวินัยกำหนด ไว้ว่าเป็น เภสัช เพื่อเสริมแร่ธาตุบางอย่างแก่ร่างกาย เพราะพระมีชีวิตอยู่ได้เนื่องด้วยผู้อื่น อาหารการขบฉันก็แล้วแต่ชาวบ้านจะจัดนำมาให้ ไม่สามารถกำหนดเอา หรือแสวงหาได้ตามปรารถนา จึงอาจจะขาดธาตุอาหาร ที่จำเป็นต่อร่างกายบ้าง ดังนั้น จึงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุฉัน สิ่งที่เรียกว่า "เภสัช 5" คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยได้

ในบางฤดูแม่ชีจะเก็บ ลูกสมอ มะขามป้อม ซึ่งอยู่ในกลุ่มของเภสัชตลอดชีพ อันมียารักษาโรคประเภทต่างๆ เกลือ ใบไม้ รากไม้ เป็นต้น มาถวายแก่ภิกษุ สามเณรในวันโกน 7 ค่ำ และ 14 ค่ำ วันนั้นเป็นวันที่สดชื่นสำหรับภิกษุสามเณรพอสมควร แต่ก็อาจกลายเป็นวันที่อ่อนเพลียได้เช่นกัน หากไม่รู้ประมาณในการฉัน เพราะสมอและมะขามป้อมจะเปลี่ยนคุณสมบัติจากสิ่งเอร็ดอร่อย กลายเป็น "ยาถ่าย" ขนาดรุนแรงขึ้นมาทันที ถ้าฉันมากเกินไป... "

ดาวน์โหลด : หนังสือตามรอยโพธิญาณ ชีวิตกรรมฐานใน 'ป่าพง'

ปานะ แปลว่า เครื่องดื่ม หรือ น้ำสำหรับดื่มที่คั้นจากลูกไม้ (น้ำคั้นผลไม้) จัดเป็น "ยามกาลิก" คือ ของที่พระภิกษุสงฆ์รับประเคนไว้แล้ว ฉันในช่วงหลังเที่ยงวันได้ทั้งวัน ทั้งคืนจนถึงก่อนรุ่งเช้า ผู้ถวายการดื่มน้ำปานะขึ้นเป็นท่านแรกคือ เกณยชฎิล เมืองอาปณนิคม ปรากฏหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎกพระวินัย เล่มที่ 5 ข้อที่ 86 ว่า “พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตน้ำปานะ 8 ชนิด" คือ

  • อมฺพปานํ น้ำมะม่วง
  • ชมฺพุปานํ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า
  • โจจปานํ น้ำกล้วยมีเม็ด
  • โมจปานํ น้ำกล้วยไม่มีเม็ด
  • มธุกปานํ น้ำมะทราง (มะซาง ต้องเจือน้ำจึงจะควร)
  • มุทฺทิกปานํ น้ำลูกจันทร์หรือองุ่น
  • สาลุกปานํ น้ำเหง้าอุบล (เหง้าบัว)
  • ผารุสกปานํ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่

นิยมเรียกว่า อัฏฐบาน หรือ น้ำอัฏฐบาน (น้ำปานะ 8 อย่าง)

nam pa na

วิธีทำน้ำปานะ

วิธีทำน้ำปานะ ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แนะไว้ คือ ปอกหรือคว้านผลไม้เหล่านี้ที่สุก เอาผ้าขาวบางห่อแล้วบิดให้ตึง อัดเนื้อผลไม้ให้คายน้ำออกจากผ้า อย่าให้มีกาก จากนั้นเติมน้ำลงไปให้พอดี แล้วผสมกับน้ำตาลและเกลือเป็นต้น เพื่อให้ได้รสชาติที่ดีขึ้น

แต่ปานะดังกล่าวก็มีข้อจำกัดที่จะพึงทราบคือ ปานะนี้ให้สุกด้วยแสงแดดเท่านั้น ห้ามให้สุกด้วยไฟ และน้ำปานะจัดเป็นยามกาลิก จึงควรเก็บไว้ฉันได้ตลอด 1 วัน กับ 1 คืนเท่านั้น เมื่อขึ้นอรุณของวันใหม่แล้วเป็นอันฉันไม่ได้

เมื่อทราบถึงวิธีการทำน้ำปานะแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจถึงวัตถุดิบที่จะนำมาทำน้ำปานะด้วยว่า เป็นของที่สมควร หรือไม่สมควร เพื่อเป็นการป้องกันการล่วงละเมิดพระบัญญัติ ดังต่อไปนี้

  • น้ำปานะที่ไม่สมควรตามหลักพระวินัย ได้แก่
    - น้ำแห่งธัญชาติ (ข้าว) 7 ชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย และหญ้ากับแก้
    - น้ำแห่งมหาผล (ผลไม้ใหญ่) 9 ชนิด คือ ผลตาล มะพร้าว ขนุน สาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไทย แตงโม และฟักทอง
    - น้ำแห่งอปรัณณชาติ ได้แก่ ถั่วชนิดต่างๆ มีถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ และงา เป็นต้น แม้จะต้มจะกรอง ทำเป็นเครื่องดื่มชนิดต่างๆ เช่น น้ำนมถั่วเหลืองชนิดกล่อง หรือชนิดขวดที่วางขายตามท้องตลาด และน้ำนมข้าว เป็นต้น จัดเป็นน้ำปานะที่ไม่สมควรทั้งนั้น
  • น้ำปานะที่สมควรตามหลักพระวินัย ได้แก่ น้ำปานะ 8 ชนิดข้างต้น และน้ำปานะแห่งผลไม้เล็ก เช่น ลูกหวาย มะขาม มะงั่ว มะขวิด สะคร้อ และเล็บเหยี่ยว เป็นต้น เมื่อพิจารณาตามนี้จะพบว่า น้ำผลไม้ชนิดไม่มีเนื้อปน ที่วางขายอยู่โดยส่วนใหญ่ จัดเป็นน้ำปานะที่สมควร

อย่างไรก็ดี ที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ เห็นจะเป็นเรื่องราวของ “น้ำนม” เนื่องจากมีสิกขาบทหนึ่ง ระบุว่า น้ำนมเป็นโภชนะอันประณีต ไม่ควรดื่มในเวลาวิกาล แต่ในเรื่องนี้ก็ยังมีข้อความจากพระไตรปิฎกที่ขัดแย้งกันอยู่ 2 แห่งด้วยกัน กล่าวคือ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 ขุททกนิกาย มหานิเทส ได้ระบุว่า “ปโยปานํ” หรือน้ำนม จัดเป็นน้ำปานะ และในพระไตรปิฎกเล่มที่ 2 ว่าด้วยเรื่อง เสขิยกัณฑ์ ได้กล่าวถึง พราหมณ์คนหนึ่งปรุงน้ำนมถวายสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายได้รับน้ำนมมาแล้วก็ดื่มน้ำนมทำเสียงดังซู้ดๆ จึงเป็นที่มาของสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงห้ามพระภิกษุ ไม่ให้ฉันทำเสียงดังซู้ดๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจทำให้เกิดการสับสนขึ้นได้ว่า “น้ำนม” หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำนมควรหรือไม่ควรกันแน่

nam pa na 2

ในปัจจุบัน วัดหรือสำนักปฏิบัติธรรมบางแห่งก็อนุญาตให้ดื่มน้ำนมได้ ส่วนบางแห่งก็ไม่อนุญาตให้ดื่ม ในเรื่องนี้ แม้แต่ในพระไตรปิฎกก็ยังมีข้อความที่ก่อให้เกิดความสับสนทางความคิด เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงขอทำการแบ่งประเภทของ 'น้ำปานะ' ออกเป็น 3 ระดับขั้น โดยพิจารณาจากเครื่องดื่มที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นเกณฑ์การตัดสิน ดังนี้

1. ขั้นหยาบ ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีเนื้อปน เช่น น้ำเฉาก๊วย เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูปต่างๆ น้ำผลไม้ที่มีเนื้อปน แม้แต่น้ำนมถั่วเหลืองก็ดื่มไม่ได้

2. ขั้นกลาง ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีเนื้อปน เช่น น้ำผลไม้แท้ 100% ชนิดที่ไม่มีเนื้อปน น้ำหวาน น้ำอัดลม กาแฟผสมครีมเทียม และน้ำนม เนื่องจากน้ำนมก็ได้รับการอนุญาตไว้ตามพระไตรปิฎกข้างต้น ท่านใดเห็นว่าควรดื่ม ก็ไม่ควรไปตำหนิเขา ส่วนท่านใดเห็นว่าไม่ควรดื่ม ก็งดเว้นเสีย

3. ขั้นละเอียด ได้แก่ น้ำปานะที่ทรงอนุญาตไว้ 8 อย่าง น้ำผลไม้แท้ 100% กาแฟชนิดที่ไม่มีครีมเทียมอันเป็นส่วนผสมของน้ำนม

เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ข้างต้น ก็คงพอจะกำหนดได้ถึงความเหมาะสมของเครื่องดื่มแต่ละประเภท แต่หากพิจารณาถึงคุณค่าที่แท้จริงของการดื่มน้ำปานะแล้ว จะพบว่า การดื่มน้ำปานะก็เพื่อบรรเทาความหิวกระหาย และการดับธาตุไฟที่เผาผลาญอาหารอยู่ภายในร่างกาย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีกำลังในการเจริญสมณธรรม ไม่ถูกความหิวบีบคั้นจนกระสับกระส่ายเกินไปในการปฏิบัติธรรม

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้ถวาย ที่เป็นทายก ทายิกา มีความต้องการที่ช่วยเหลือส่งเสริมเหล่านักปฏิบัติ เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปในช่วงขณะหนึ่งเท่านั้น หาใช่ต้องการให้ดื่มจนอิ่มหนำอันเป็นที่มาแห่งความกำหนัดไม่

สำหรับฆราวาสผู้มุ่งหวังบุญกุศลในการใส่บาตร ถวายเครื่องดื่มในปัจจุบัน ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของเครื่องดื่มดังกล่าว โดยใช้เกณฑ์การตัดสินข้างต้นเป็นหลักสำคัญ กล่าวคือ เครื่องดื่มที่จัดอยู่ในขั้นหยาบ ไม่ควรถวายเลยจะดีที่สุด แต่ควรถวายเฉพาะเครื่องดื่มที่จัดอยู่ในขั้นกลางและขั้นละเอียดเท่านั้น เมื่อถวายแล้วก็ควรทำใจให้เป็นกุศลในบุญที่ได้ทำไว้ ส่วนนักปฏิบัติก็ควรดื่มพร้อมทั้งพิจารณาถึงคุณค่าและเจตนาที่แท้จริงของผู้ถวายด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องดื่มในยุคปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไปมากจากครั้งอดีตกาล หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า เครื่องดื่มเกือบทุกประเภทจะต้องผ่านการพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurization) ซึ่งเป็นกระบวนการถนอมอาหารโดยใช้ความร้อนในอุณหภูมิที่สูง เพื่อยืดอายุการเก็บอาหาร และทำให้อาหารปลอดภัยควรแก่การบริโภค เมื่อเป็นเช่นนี้ เครื่องดื่มเหล่านั้นก็ชื่อว่า ได้รับการหุงด้วยไฟ ไม่ใช่เป็นของที่ให้สุกด้วยแสงแดด ตามพระบัญญัติ ครั้นจะบอกว่า เครื่องดื่มเหล่านั้นไม่ควรดื่ม เนื่องจากได้รับการหุงด้วยไฟ แต่ก็เป็นกรรมวิธีที่มีความปลอดภัยสูงและเหมาะสมแก่การบริโภคด้วย จึงเป็นการตัดสินที่ยากเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น เมื่อจะเลือกเครื่องดื่มใด ก็ควรพิจารณาตามความเหมาะสมของยุคสมัยด้วย แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดการติเตียนขึ้นในภายหลัง จึงจะถือได้ว่า เครื่องดื่มนั้นมีความเหมาะสมและควรค่าแก่ความเป็นน้ำปานะ

จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 147 มีนาคม 2556
โดย พระมหาอดิเดช สติวโร (สุขวัฒนวดี) วัดเกตุมดีศรีวราราม จังหวัดสมุทรสาคร

nam pa na 3

อย่าลืม "น้ำปานะ" ถ้ามาจากผลไม้ ต้องลูกไม่โตกว่ากำปั้น ไม่มีกาก ไม่ต้มด้วยไฟ

จากทั้งหมดทั้งมวลที่รวบรวมมานั้น สรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด ยกเว้น น้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก น้ำใบไม้ทุกชนิดทานได้ เว้นน้ำผักดอง น้ำดอกไม้ทุกชนิดทานไม่ได้ เว้นน้ำดอกมะซาง ทรงอนุญาต "น้ำอ้อยสด”

*** สรุปได้ว่า ในเวลาวิกาลพระท่านดื่มน้ำผลไม้ได้ทุกชนิด เว้นผลไม้ที่มีผลใหญ่กว่าผลมะตูม หรือผลมะขวิด วิธีทำก็ต้องคั้นเอาแต่น้ำ และกรองให้ไม่มีกาก จะทำให้สุกด้วยแสงอาทิตย์ก็ได้ แต่ห้ามผ่านการสุกด้วยไฟ ***

น้ำที่ห้ามพระสงฆ์ดื่มในยามวิกาล คือ

  • น้ำจากมหาผล ผลไม้ใหญ่ 9 ชนิด คือ ผลตาล ผลมะพร้าว ผลขนุน ผลสาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไทย แตงโม และฟักทอง
  • น้ำที่ได้จากธัญชาติ 7 ชนิด ข้าวสาลี ข้าวเปลือก หน้ากับแก้ ข้าวละมาน ลูกเดือย ข้าวแดง ข้าวฟ่าง
  • น้ำที่ได้จากพืชจำพวกถั่ว ถั่วเขียว ถั่วเหลือง
  • ห้ามดื่มโภชนะอันประณีต คือ น้ำนมสด (แต่ทรงอนุญาต เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย แม้จะเป็นอาหาร – แต่ก็เป็นเภสัชด้วย พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ฉันได้ทั้งในกาลและวิกาล)

ดังนั้น น้ำนม น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง โอวัลติน ไม่จัดว่าเป็น 'น้ำปานะ' ดอกนะโยม

เอาเป็นว่าให้ระมัดระวังพวกบรรดา น้ำผลไม้ต่างๆ ที่เป็น 'มหาผล' คือ ประมาณว่า โตกว่ากำปั้น หรือ โตกว่าลูกมะตูม ท่านห้ามไว้ อย่างเช่น พวกแตงโม ส้มโอ มะพร้าว สับปะรด ฯลฯ เผลอๆ ก็ไปเจอ 'น้ำสับปะรด' เข้าไปอีก โยมเขาไม่รู้เขาก็เอามาถวาย พระก็อย่าไปทำเป็นไม่รู้ด้วยแล้วกัน ระวังไว้นิดหนึ่ง ข้อนี้ท่านปรับโทษเท่ากับฉันข้าวเลยทีเดียว

ตอนแรก อาวทิดหมู ก็ได้แต่สงสัยว่า ทำไมหนอ? พระพุทธเจ้าท่านปรับโทษแรงขนาดนั้น

หลังจากสองพันกว่าปีมาแล้ว ตอนหลังนี่เอง ที่ทางฝรั่งเขาไปศึกษาและวิจัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผลบอกมาว่า พวก ผลไม้ที่เป็นมหาผล ประกอบไปด้วยฮอร์โมนที่สูงมาก พระหนุ่มๆ ฟาดฮอร์โมนเข้าไปเยอะอยู่บ่ได้ดอก.. กระจาย..! (คิดต่อเอาเองเด้อ)

nam pa na 4

8 สูตรน้ำปานะที่ดีต่อสุขภาพ

1. น้ำมะม่วง

มีรสหวาน ให้พลังงานสูง ประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มากมาย น้ำมะม่วงมีสรรพคุณแก้กระหาย บำรุงร่างกาย มีวิตามินซีช่วยต้านอนุมูลอิสระ มีวิตามินเอและเบตาแคโรทีนช่วยบำรุงสายตา นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น แต่ผู้เป็นเบาหวานไม่ควรดื่มบ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นได้

วิธีทำ นำมะม่วงสุก 1 ผล ล้างให้สะอาด ปอกเปลือก แล้วฝานเอาแต่เนื้อมาปั่นหรือบดให้ละเอียด ใส่น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะเพื่อเพิ่มรสชาติ (สามารถปรับได้ตามความชอบ) จากนั้นใช้ผ้าขาวบางกรองเอาแต่น้ำ โดยไม่ให้มีกากปนในน้ำ จะได้น้ำมะม่วงประมาณ 1 แก้ว

mamuang kluay

2. น้ำกล้วยน้ำว้า

จะใช้กล้วยสุกซึ่งมีรสหวานจากน้ำตาลธรรมชาติ คือ ซูโครส กลูโคส และฟรุกโทส จึงให้พลังงานแก่ร่างกาย มีกรดอะมีโน วิตามิน แร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม วิตามินเอ วิตามันบี 6 วิตามินบี 12 และวิตามินซี มีสารต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยบำรุงร่างกาย และยังช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น

วิธีทำ นำกล้วยน้ำว้าสุก 3 ผล มาปอกเปลือก แล้วปั่นหรือบดให้ละเอียด กรองด้วยผ้าขาวบาง โดยไม่ต้องบีบคั้นน้ำ สูตรนี้จะได้น้ำประมาณ 1 แก้ว

3. น้ำมะขาม

มีรสเปรี้ยว ช่วยให้รู้สึกสดชื่น ดับกระหาย ช่วยให้ขับถ่ายสะดวก มะขามนั้นอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มากมายช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ

วิธีทำ นำมะขามเปียก 300 กรัม มาแช่น้ำสะอาดประมาณ 500 มิลลิลิตร ระยะเวลาประมาณ 15 นาที หรือจนเนื้อมะขามละลายจนเป็นน้ำมะขามเปียกเข้มข้น กรองแยกกากด้วยผ้าขาวบาง เติมน้ำสะอาด 500 มิลลิลิตร เติมน้ำผึ้ง เกลือ และน้ำมะนาวได้ตามชอบ

4. น้ำมะนาว

มีรสเปรี้ยว เมื่อดื่มแล้วทำให้รู้สึกสดชื่น แก้ร้อนใน ดับกระหาย ช่วยขับเสมหะ ช่วยให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการไอ เจ็บคอ บรรเทาอาการปวดศีรษะ และเป็นยาระบายอ่อนๆ นอกจากนี้ยังมีมีวิตามินซีสูง ช่วยรักษาเลือดออกตามไรฟัน

วิธีทำ นำมะนาวที่ล้างสะอาดแล้วจำนวน 5 ลูก มาฝานแล้วคั้นน้ำ กรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อเอากากออก นำน้ำที่ได้ผสมกับน้ำสะอาด 250 มิลลิลิตร เติมน้ำผึ้งและเกลือเพื่อปรับรสชาติ

5. น้ำลูกหว้า

มีรสชาติหวานฝาดอมเปรี้ยว ลูกหว้าเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารแอนโทไซยานินที่เป็นสารสี ให้สีม่วง น้ำเงิน หรือแดง ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และยังมีแทนนินที่ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร รักษาอาการท้องเสีย

วิธีทำ นำลูกหว้าสุกประมาณ 500 กรัม ไปล้างน้ำให้สะอาด ฝานเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วปั่นหรือขยำเพื่อคั้นน้ำ จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง เติมน้ำสะอาด 500 มิลลิลิตร และเติมน้ำผึ้ง เกลือ มะนาว เพื่อปรับรสชาติได้ตามชอบ

6. น้ำส้มเขียวหวาน

มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน มีวิตามินซีสูง มีแร่ธาตุและกรดจากธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยแก้กระหาย แก้ไอ ขับเสมหะ ป้องกันโรคหวัด ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน ช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น

วิธีทำ นำส้มเขียวหวาน 5 ผล มาล้างให้สะอาด ผ่าครึ่งลูกและคั้นเอาน้ำ กรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อแยกเอากากและเนื้อออก นำน้ำส้มที่ได้มาเติมน้ำผึ้งและเกลือเพื่อปรับรสชาติตามชอบ

a ngoon makam pom

7. น้ำองุ่น

มีรสชาติหวาน เปรี้ยวเล็กน้อย ทำให้รู้สึกสดชื่น ช่วยดับกระหาย บำรุงร่างกาย เป็นน้ำผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย ทั้งวิตามินซี วิตามินบี วิตามินเอ มีสารฟลาโวนอยด์ ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการอักเสบ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

วิธีทำ นำองุ่นประมาณ 500 กรัม มาล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปปั่นหรือขยำเพื่อคั้นน้ำ จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง เติมเกลือและน้ำมะนาวเพื่อเพิ่มรสชาติ

8. น้ำมะขามป้อม

เป็นน้ำผลไม้ที่มีสรรพคุณมาก อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ที่สำคัญคือมีวิตามินซีสูงมาก วิตามินซีที่ได้จากมะขามป้อม 1 ผล จะมีปริมาณเทียบเท่ากับส้ม 1-2 ผล ซึ่งสารประกอบในมะขามป้อมนี้จะช่วยต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันหวัด บำรุงโลหิต บำรุงร่างกาย และน้ำจากมะขามป้อมจะมีรสเปรี้ยวฝาด ที่จะช่วยให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการเจ็บคอ ไอ ช่วยละลายเสมหะ ดับกระหาย และยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยแก้อาการท้องผูก

วิธีทำ นำมะขามป้อม 1 กิโลกรัม มาล้างให้สะอาด ฝานเอาแต่เนื้อมาปั่น เติมน้ำลงไป 500 มิลลิลิตร จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง เพิ่มรสชาติด้วยการเติมน้ำผึ้งและเกลือ

ในสมัยก่อน ผู้เฒ่าผู้แก่ดันไปห้ามคนท้องกินน้ำมะพร้าว ใช่ไหม? แต่สมัยนี้หมอบอกว่า กินไปเยอะๆ มีฮอร์โมนที่เป็นประโยชน์แก่เด็กเยอะมากเลย บางเรื่องในอดีตความรู้ทางวิทยาศาสตร์เราไม่ก้าวหน้า ก็ห้ามโน่นนี่ คะลำยุบยับจน 'แม่มาน' กินได้แต่ปลาขาวนากลัวจะผิดกระบูน ต้องอยู่กรรม อยู่ไฟบนแคร่ไม้ไผ่ ข้างล่างสุมถ่านสุมฟืนให้ร้อนแดง ให้กินน้ำร้อนกันมากเพื่อให้มดลูกข้าวอู่ แต่สมัยนี้ไม่ต้องแล้ว ต้องบำรุงแม่ให้มีน้ำนมเลี้ยงลูกกันแล้ว อาหารดีๆ จัดหามาบำรุง เอิ่ม...! จากเรื่องพระมาจบเรื่องแม่ออกจนได้ สวัสดีครับ...

ทิดหมู มักหม่วน
14 กันยายน 2564

redline

backled1

isan food header

อาหารพื้นเมืองอีสาน มักจะต้องมีส่วนปรุงรส หรือชูรส ด้วยผักพื้นบ้านอีสาน ซึ่งมีเอกลักษณ์ทางด้านถิ่นกำเนิด กลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ หายากเพราะมีผลผลิตออกมาตามฤดูกาล นอกจากนั้นยังเป็นพืชผักที่ให้คุณค่าทางด้านสุขภาพอนามัย ปลอดสารพิษ ทำให้เป็นที่นิยมกันทั่วไป ไม่ว่าจะทำอาหารประเภทลาบ ก้อย ต้ม แกง อ่อม ล้วนต้องใช้ผักพื้นเมืองเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น

samunprai

ดอกกระเจียว

ดอกกระเจียว นอกจากจะมีความสวยงามจนกลายเป็นหล่องท่องเที่ยว ที่ผู้คนพากันไปถ่ายรูปเซลฟี่ เช็คอินกันจนเป็นที่โด่งดังไปทั่วประเทศ คือ ทุ่งดอกกระเจียว ที่อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และอุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ คนอีสานนั้นรู้จักดอกกระเจียวทั้งในฐานะอาหาร เป็น "ผัก" ที่รับประทานได้กับน้ำพริกต่างๆ ป่นปลา ป่นกบ และยังเป็น "ยาสมุนไพร" ใกล้ตัวอีกด้วย ดอกกระเจียวเหล่านี้คือ

กระเจียวแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma sessilis Gage. เป็นไม้ล้มลุกจัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) เช่นเดียวกับกระเจียวขาวสมุนไพรกระเจียวแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ว่านมหาเมฆ (สกลนคร), อาวแดง (ภาคเหนือ), กาเตียว (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, เลย), กระเจียว กระเจียวแดง (ภาคกลาง), จวด (ภาคใต้, ชุมพร, สงขลา), กระเจียวสี, กระเจียวป่า, เพาะพอ (กะเหรี่ยง) เป็นต้น

dok krajiew

กระเจียวมีลำต้นเป็นเหง้าใต้ดิน ช่อดอกชูออกจากปลายลำต้นเทียม โดยมีริ้วประดับ ริ้วประดับตอนปลายมีสีแดงอมม่วง กลีบดอกสีครีม ปลายกลีบปากมีแต้มสีเหลือง มีเขตการกระจายพันธุ์ในพม่าตอนเหนือ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยมักขึ้นตามป่าดิบทั่วไป ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และที่โล่งทั่วไป

สรรพคุณของกระเจียวแดง

  • กระเจียวมีเส้นใยอาหาร (Fiber) ที่เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวขับถ่ายของเสียออกมา จึงช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้ดี อีกทั้งเส้นใยอาหารยังสามารถจับคอเลสเตอรอลไว้เมื่อขับถ่ายออกมาถึงทำให้ลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ และเมื่อเส้นใยสัมผัสสารพิษและสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งที่มีอยู่ในอาหาร ร่างกายจึงได้รับสารพิษและสารก่อมะเร็งน้อยลงไปด้วย
  • ดอกอ่อนมีรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม ใช้เป็นยาขับลมในกระเพาะอาหาร ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และลดกรดในกระเพาะอาหาร จึงช่วยทำให้รู้สึกสบายท้องและช่วยให้สุขภาพดี (ดอกอ่อน)
  • ดอกมีสรรพคุณช่วยแก้มดลูกอักเสบสำหรับสตรีหลังคลอด (ดอก)
  • หน่ออ่อนใช้เป็นยาสมานแผล (หน่ออ่อน)
  • เหง้าใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย (เหง้า)

ประโยชน์ของกระเจียวแดง

หน่ออ่อนใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ก้อย ส้มตำ ส่วนช่อดอกอ่อนนำมาลวกให้สุก ใช้รับประทานกับน้ำพริกหรือปรุงเป็นแกง โดยหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แกงรวมกับผักหวานปลาย่างและเครื่องแกง หรือจะกินดอกสดก็ได้ บางบ้านนิยมนำมาทำแกงส้มหรือไม่ก็นำมาแกล้มกับขนมจีน ลาบ ก้อย

dok krajiew ponkob

ส้มเสี้ยว

ส้มเสี้ยว จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 5-10 เมตร ทรงพุ่มเตี้ย ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กว้าง แยกเป็นสองพู กว้างและยาว 10-15 ซม. ใบมีรสเปรี้ยว ดอกช่อ ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกสีชมพูอ่อน ผลเป็นฝักรูปดาบ เป็นพืชที่สามารถขึ้นได้ในทุกสภาพดิน มีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปในพื้นที่โล่ง ป่าทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และตามป่าผลัดใบผสมเกือบทุกภาคของประเทศ ยกเว้นทางภาคใต้ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 800 เมตร

som siew

เสี้ยวป่า ชื่อสามัญ Orchid Tree, Purple Bauhinia
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia saccocalyx Pierre จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)

สมุนไพรเสี้ยวป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ส้มเสี้ยวโพะ เสี้ยวดอกขาว (เลย), ส้มเสี้ยว (นครสวรรค์, อุดรธานี), คิงโค (นครราชสีมา), คังโค (สุพรรณบุรี), ชงโค, เสี้ยวส้ม (นครราชสีมา, สุพรรณบุรี, อุทัยธานี, จันทบุรี), เสี้ยวใหญ่ (ปราจีนบุรี), แดงโค (สระบุรี) ป้าม (ส่วย-สุรินทร์), ชงโคป่า เป็นต้น

สรรพคุณของเสี้ยวป่า

  • ใบเสี้ยวป่า มีรสเปรี้ยวฝาด ใช้ผสมกับลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นยาฟอกโลหิต (ใบ) และขับปัสสาวะ
  • รากและลำต้น ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ
  • ดอก แก้เสมหะพิการ

ประโยชน์ของเสี้ยวป่า

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับริมทางทั่วไป ออกดอกดกดีมาก ดอกมีสีขาวและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ตัดแต่งหรือให้เลื้อยขึ้นค้างได้ แต่ยังไม่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านมากนัก
  • ลำต้นหรือกิ่งที่มีความตรงอยู่บ้าง สามารถนำมาใช้ทำเป็นเสาค้ำยันให้แก่บางส่วนของบ้านได้ แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก หรือจะนำมาทำเป็นเสาสำหรับพืชผักที่เป็นไม้รอเลื้อย ใช้ทำเป็นเชื้อเพลิง เผาถ่านก็ได้เช่นกัน
  • ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอก รสเปรี้ยว ชาวอีสานนิยมกินเป็นผักสดกับน้ำพริก ลาบ แจ่ว หรืออาหารรสจัด ใบใช้ประกอบอาหารมีรสเปรี้ยว ประเภทแกงส้ม (จากการสัมภาษณ์และจัดประชุมผู้รู้ในชุมชน)

สมอไทย

สมอไทย (Chebulic Myrobalans) เป็นสมุนไพรในตำราพุทธโอสถครั้งบรรพกาล ปัจจุบันสมอไทย ยังเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ในบรรดาผลไม้อบแห้งที่วางขายเป็นห่อเล็กๆ ตามท่ารถ ตามตลาดนัดและตามมุมขายของภายในวัด สมอแช่อิ่มเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่น้อยหน้ามะม่วง มะขาม หรือเม็ดบ๊วย ด้วยรสชาติเป็นเอกลักษณ์ที่ยิ่งทานก็ยิ่งอร่อย ใครได้ลองทานสักครั้งก็มักติดใจและต้องหามาทานอีกเมื่อมีโอกาส หลายคนรู้จักสมอในรูปแบบที่ว่านี้เพียงอย่างเดียว เพราะสมอที่เป็นผลสดซื้อหาไม่ได้ง่ายๆ แล้วในปัจจุบัน ทันทีที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ก็จะมีกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปตั้งท่ารออยู่แล้ว

ซึ่งก็ไม่คุ้มที่ชาวนาชาวสวนจะนำออกมาวางขายเอง เพราะน้อยคนนักที่จะรู้ว่าผลสมอสดๆ เอาไปทำอะไรได้บ้าง แม้ว่าราคาค่างวดในท้องตลาดของสมอจะดูไม่ได้มีมูลค่าสูงมากนัก แต่นี่คือสมุนไพรที่มีตำนานมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเลยทีเดียว เพราะเป็นสมุนไพรในไม่กี่ชนิดที่ถูกกำหนดให้เป็น "พุทธโอสถ" และอยู่ในรายการ "อาหารปานะของพระสงฆ์" มาโดยตลอด นี่จึงไม่ได้เป็นเพียงสมุนไพรพื้นบ้านธรรมดาๆ ที่ไม่น่าสนใจอะไร

som mor

สมอไทย ชื่อสามัญ Chebulic Myrobalans (คิบูลิค ไมโรบาลัน), Myrolan Wood (ไมโรบาลัน วูด)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia chebula Retz. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Terminalia chebula var. chebula) จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)
มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า กกส้มมอ, หมากแน่ะ, ม่าแน่, สมออัพยา, ลูกสมอ เป็นต้น

สมอไทย เป็นพืชท้องถิ่นไทย มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า และลาว เป็นต้น รวมถึงเอเชียใต้ พบได้มากในป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ในภาคกลาง อีสาน และภาคเหนือ ชาวธิเบตถือว่าสมอไทยคือ "ราชาแห่งยา" สมอไทยนั้นมีรสต่างๆ ถึง 6 รสด้วยกัน ซึ่งเป็นสมุนไพรที่นานาชาตินิยมมากที่สุดในจำนวนสมุนไพรทั้งหมดทั้งมวลก็ว่าได้ ซึ่งจะมีรสชาติดังนี้ รสเปรี้ยว รสฝาด รสหวาน รสขม รสเผ็ด รสเค็ม ทั้งหมดนี้คือสรรพคุณของสมอไทย

สมอไทยได้รับการยอมรับว่าเป็น "ราชาสมุนไพร" เนื่องจากช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย และช่วยบำบัดรักษาโรคต่างๆ ใช้รักษาอาการท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งดีกว่ายาทั่วไปที่ช่วยถ่ายท้องได้ แต่แก้อาการท้องผูกไม่ได้ และยังช่วยชำระล้างลำไส้ได้อีกด้วย และยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส

ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ของสมอไทย

  • ส่วนของเปลือกสำต้น เมื่อแก่ได้ที่สามารถใช้เพื่อย้อมผ้าได้ สีที่ออกมาเป็นโทนดำอมแดง
  • ใบอ่อนใช้เป็นแผ่นห่อยาสูบได้
  • ใบแก่นำมาใช้ย้อมผ้า ได้สีเขียวขี้ม้าหรือสีเหลืองอมน้ำตาล ขึ้นอยู่กับสีใบที่เราเลือกใช้
  • ผลดิบกินเป็นผลไม้สดหรือนำไปดองเกลือ รสเปรี้ยวขมอมฝาด มีแทนนินเป็นจำนวนมาก
  • ผลอ่อนใช้เป็นยาระบาย ผลแก่เป็นยาฝาดสมาน แก้ลมจุกเสียด
  • เยื่อหุ้มเมล็ดแก้ขัดและโรคเกี่ยวกับน้ำดี มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์หลายชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินเอ แคลเซียม ฟอสฟอรัส
  • ผลสุก 5 – 6 ผลต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ใช้เป็นระบายอ่อนๆ ใช้น้ำประมาณ 1 ถ้วยแก้ว

ส้มป่อย

ส้มป่อย เป็นพืชยืนต้นขนาดเล็กหรือเป็นไม้พุ่ม ลักษณะลำต้นเลื้อยหาที่ยึดเกาะขึ้นไปตามกิ่งไม้ แต่ไม่มีมือจับ เถาของส้มป่อยจะแข็งแรงมาก สามารถเลื้อยไปตามต้นไม้อื่นได้สูงถึง 6-7 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาล เถาอ่อนสีน้ำตาลแดงมีขนกำมะหยี่หรือขนสั้นหนานุ่มอยู่ทั่วต้นกิ่งก้านมีหนามแหลมสั้นๆ อยู่ทั่วไป ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก คล้ายใบกระถิน ใบชะอม ดอกออกเป็นช่อกระจุกทรงกลมออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบข้างลำต้น มีขนนุ่มหนาแน่น มีขนาดเล็กอัดแน่นเป็นแกน กลีบดอกสีขาวนวลเป็นหลอด ออกดอกช่วงหน้าแล้ง มกราคมถึงพฤษภาคม ผลส้มป่อยเป็นฝักแบนยาว เป็นลอนคลื่น เป็นข้อๆ ตามเมล็ด ปลายฝักมีหนามแหลม สันฝักหนา ผิวขรุขระย่นเมื่อแห้ง ฝักอ่อนเปลือกสีเขียวอมแดง ฝักแก่สีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลดำ

ส้มป่อย นำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น การรดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ งานมงคล อวมงคลต่างๆ ขันน้ำมนต์ คนเป็นหมอครูจะใช้ “ฝักส้มป่อยแห้ง” ย่างไฟให้หอม ใส่ขันน้ำมนต์ ใบหญ้าคาผูกมัดพอกำเป็นอุปกรณ์ ชุบสะบัดโปรยหยาดหยดเม็ดน้ำมนต์สู่ชาวชนและสถานที่ แม้แต่ผีในโลงยังได้รับอานิสงส์ส่งสู่สุคติ

som poi

ส้มป่อย ชื่อสามัญ Soap Pod
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia concinna (Willd.) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Acacia rugata (Lam.) Merr., Mimosa concinna Willd.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)

สมุนไพรส้มป่อย มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า หมากขอน, หม่าหัน, ส้มพอดี (ภาคอีสาน), ส้มคอน (ไทใหญ่), ส้มขอน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), พิจือสะ, พิฉี่สะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ผ่อชิละ, ผ่อชิบูทู (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), แผละป่อย, เมี่ยงโกร๊ะ, ไม้ส้มป่อย (ลั้วะ), เบล่หม่าฮั้น (ปะหล่อง) เป็นต้น

ฝักส้มป่อย คนเก่าแก่ใช้สระผม เพราะเมื่อเอาฝักมาตีกับน้ำจะเกิดฟอง มีสรรพคุณทำให้ผมเงางามสลวย มีสารกลุ่ม Zaponin เช่น อะคาชินิน สูงถึง 20% เป็นสารแชมพูธรรมชาติมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ช่วยรักษารังแค ผมหงอกก่อนวัย ซึ่งเมื่อตีส้มป่อยกับน้ำ สารซาโพนินจะแตกฟองที่คงทนมาก ช่วยการชำระล้างได้ดี ไม่ทำลายธรรมชาติของผมและหนังศีรษะ ใช้อาบน้ำทำให้ร่างกายสะอาดปราศจากคราบไคล ช่วยให้สดชื่น แก้ผดผื่นคัน และโรคผิวหนังหลายชนิด

ส้มป่อย เป็นสมุนไพรที่สารพัดสรรพคุณ ใบและฝักใช้เป็นส่วนประกอบของยาที่มีรสเปรี้ยว ช่วยซับเหงื่อ ขจัดสิ่งสกปรกจากร่างกาย เป็นยาประคบลูกประคบแก้ปวดเมื่อย น้ำต้มใบส้มป่อยเป็นยาสตรีถ่ายระดูขาว ฟอกเลือดประจำเดือน ล้างเมือกทางเดินอาหาร เป็นยาระบาย ขจัดพิษออกจากระบบทางเดินอาหาร ช่วยลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ช่วยละลายเสมหะ แก้ไอได้ดี แก้ไข้ รักษาโรคลำไส้ แก้ท้องอืด บิด รักษาโรคตาแดง ต่อมน้ำตาพิการ พอกฝีให้แตกยุบเร็ว บดเมล็ดคั่วพ่นจมูกทำให้จาม รักษาริดสีดวงจมูก แก้น้ำลายเหนียว รักษาโรคตับ สระผมแก้อาการคันศีรษะขจัดรังแค

ทางบ้านอาวทิดหมูคนรุ่นเก่าใช้ประกอบอาหาร เช่น แกงส้มปลาดุก ใส่ก้านตูน หรือคูน กับยอดส้มป่อยสุดยอด ต้มส้มปลากดแม่น้ำ แกงเขียด ต้มยำกบ นับว่ามีส่วนผสมของสมุนไพรที่เป็นสุดยอดสมุนไพรและนับวันจะหายากเข้าไปทุกที

มะอึก

มะอึก (Hairy-fruited eggplant) ถือเป็นผักป่าที่มีผลคล้ายกับมะแว้งหรือมะเขือพวง แต่มีลักษณะเด่นที่ผลจะมีขนแข็งปกคลุม ซึ่งบางพื้นที่นิยมนำผลมารับประทานคู่กับอาหารหรือใช้ประกอบอาหาร เพราะเนื้อผลมีความกรอบ ให้รสเปรี้ยว และเฝื่อนเล็กน้อย ทำให้ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารได้เป็นอย่างดี

ma euk

มะอึก ชื่อสามัญ Solanum, Bolo Maka
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum stramoniifolium Jacq. จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)
มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า มะเขือปู่ มะปู่ มะเขือขน หมากขน (ภาคเหนือ), หมากอึก หมักอึก บักเอิก (ภาคอีสาน), อึก ลูกอึก (ภาคใต้), มะอึก (ภาคกลาง), ยั่งคุยดี (กะเหรี่ยง) เป็นต้น

เป็นพืชสวนครัวที่นิยมรับประทาน และมีการเพาะปลูกอย่างแพร่หลายทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักไม่นิยมปลูกเพื่อเป็นการค้าสักเท่าไหร่ จึงไม่พบเห็นได้บ่อยเท่ามะแว้งและมะเขือพวง จึงอาจกล่าวได้ว่า มะอึกเป็นมะเขือป่า ที่เป็นลูกครึ่งอยู่ระหว่างมะเขือพวงกับมะแว้งนั่นเอง โดยเราจะนิยมใช้ผลแก่หรือผลสุกเต็มที่รับประทานเป็นผักแกล้ม หรือจิ้มกับน้ำพริกต่างๆ ให้รสชาติเฝื่อนเล็กน้อยอร่อยมาก หรือจะใช้เปลือกผลเอาเมล็ดทิ้งแล้วหั่นเป็นฝอยๆ ใช้โขลกรวมกับน้ำพริกกะปิเพื่อเพิ่มรสชาติก็ดีไม่น้อย หรือจะหั่นเป็นชิ้นทั้งเมล็ดใส่รวมกับส้มตำก็ได้เหมือนกัน

มะอึกจัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศในแถบทวีปอเมริกากลาง และประเทศเม็กซิโก ที่นิยมนำผลสุกมาคั้นเป็นเครื่องดื่ม แต่ในบ้านเรายังไม่เป็นที่นิยมนัก อาจเป็นเพราะผลมีมีขนแข็งปกคลุมทำให้ค่อนข้างยุ่งยากหากนำมาใช้ประโยชน์

ประโยชน์ของมะอึก

“มะอึก” จัดเป็นพืชพื้นบ้านของไทย ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้าน “อาหาร” และ “ยา” มาอย่างยาวนาน ซึ่งในตำรายาสมุนไพรก็ได้บรรยายสรรพคุณของมะอึกไว้อย่างหลากหลาย โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ได้แก่ ส่วนของ “ใบ” “ราก” “เมล็ด” และ “ผล”

สรรพคุณของมะอึก

  • ใบ ช่วยแก้ปอดบวม, ใช้ตำแก้พิษฝี, ใช้เป็นยาพอกแก้อาการคัน ผดผื่นคัน หรือจะใช้ดอกนำมาตำแล้วพอกก็ได้เช่นกัน (ใบ, ราก, ดอก)
  • ผล ช่วยกัดเสมหะ ขับฟอกเสมหะในลำคอ, ช่วยแก้อาการไอ, ช่วยแก้ดีพิการ แก้โทษเพื่อน้ำดี
  • ราก มีรสเย็นและเปรี้ยวเล็กน้อย ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย, ช่วยลดไข้ แก้ไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้ไข้สันนิบาต, ช่วยแก้น้ำลายเหนียว, ช่วยแก้ปวด, แก้น้ำดีพิการ, ช่วยแก้ดีฝ่อ ดีกระตุก หรืออาการนอนสะดุ้ง ผวา เพ้อ ชนิดหลับๆ ตื่นๆ ซึ่งสาเหตุมาจากโทษน้ำดีกระทำ และช่วยกระทุ้งพิษไข้หัวทุกชนิด หรืออาการของไข้ที่มีตุ่มออกเป็นผื่นตามผิวหนัง เช่น เหือด หิด หัด อีสุกอีใส เป็นต้น
  • เมล็ด ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้เมล็ดนำมาเผาแล้วสูดดมควันเข้าไป
  • ขนของผลมะอึก สามารถนำมาทอดกับไข่เพื่อช่วยขับพยาธิได้
  • นอกจากนี้ “ใบ” “ราก” และ “ดอก” ของมะอึกนำมาตำแล้วใช้เป็นยาพอกแก้อาการคันและผดผื่นคันได้เช่นกัน

มะยม

มะยม เป็นไม้ที่คนไทยปลูกกันแพร่หลายมานานแล้ว เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงไม่เกิน 10 เมตร ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขาบริเวณปลายยอด กิ่งก้าน เปราะแตกหักง่าย ผิวเปลือกต้นขรุขระ สีเทาปนน้ำตาล ใบเป็นใบรวม มีใบย่อยออกเรียงแบบสลับเป็น 2 แถว ผลรูปร่างกลมแบนมี 3 พู ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีเหลืองหรือสีขาวแกมเหลือง เมล็ดรูปร่างกลม เห็นเป็นร่องสีน้ำตาลอ่อน

ตามตำราพรหมชาติ ในทิศตะวันตกของบ้านเรือน ให้ปลูกมะยมเป็นไม้มงคล โดยเชื่อว่าการปลูกมะยมไว้ ผู้คนจะได้นิยมชมชอบชื่นชม หรือมีนะเมตตามหานิยม มีความหมายและเป็นสิริมงคลต่อบ้านเรือนที่อยู่อาศัย

ma yom

มะยม ชื่อสามัญ Star gooseberry
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus acidus (L.) Skeels จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)
มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า หมากยม หมักยม (ภาคอีสาน), ยม (ภาคใต้) เป็นต้น

มะยมนั้นมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย โดยลักษณะเด่นของต้นตัวผู้จะออกดอกเต็มต้นแต่ไม่ติดลูก ส่วนต้นมะยมตัวเมียนั้นจะมีดอกน้อยกว่า ซึ่งในทางการแพทย์นั้นนิยมใช้มะยมตัวผู้เป็นหลักทั้งใบและราก เพราะมีสรรพคุณทางยาค่อนข้างสูงกว่ามะยมตัวเมีย

คุณประโยชน์ทางยา คนสมัยเก่าแพทย์แผนโบราณ นิยมใช้รากมะยมตัวผู้ คือ มะยมต้นที่มีดอกแต่ไม่ติดลูก เอารากมะยมตัวผู้ เขาว่าดีกว่ารากมะยมตัวเมีย แต่คงใช้ได้ทั้งหมดนั่นแหละทั้งตัวผู้ตัวเมีย สมัยนี้ไม่ค่อยพบเจอมะยมตัวผู้มากนัก หรือไม่เจอเลย ก็สมัยนี้ปลูกมะยมต้องการเอาลูกเอาผลกันทั้งนั้น และเอาเคล็ดจากชื่อด้วย

รากมะยม มีสรรพคุณ แก้โรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน ช่วยขับน้ำเหลืองให้แห้ง ประดง ดับพิษเสมหะ โลหิตเป็นพิษ เปลือกลำต้น แก้ไข้ทับระดู ใบปรุงเป็นส่วนประกอบของยาเขียว สรรพคุณดับพิษไข้ แก้ไข้ ใช้ใบมะยมรวมกับใบมะเฟือง ใบหมากผู้หมากเมีย ต้มน้ำอาบ แก้พิษคัน พิษไข้หัวเหือด หัด ไข้ดำแดง ไข้สุกใส แก้คัน

มะยม เป็นผักเป็นผลไม้ ยอดอ่อนสีเขียวอมชมพูเรื่อๆ ออกมากฤดูฝน เป็นผักเคียง ผักแกล้มกินคู่กับส้มตำ ลาบ ก้อย จิ้มน้ำพริก ชุบแป้งทอด กินร่วมกับขนมจีนน้ำยา แกงเลียง กินกับแหนมสด ผลอ่อนออกฤดูฝน ผลแก่มีปลายฝนต้นหนาว ผลนอกจากกินเป็นผลไม้ จิ้มพริกเกลือ น้ำปลาหวาน แล้วยังนำมาตำส้มตำแทนมะละกอ และยังสามารถนำผลแก่มาทำ แยมมะยม มะยมดอง มะยมแช่อิ่ม มะยมกวน ปรุงเป็นน้ำมะยม

ข้อควรระวัง : น้ำยางจากเปลือกของรากมะยมจะมีพิษเล็กน้อย การรับประทานเข้าไปอาจจะมีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ และมีอาการง่วงซึมได้ ควรระวังน้ำยางจากเปลือกรากให้ดี

มะเฟือง

มะเฟือง ถิ่นกำเนิดตั้งเดิมของมะเฟืองนั้น เชื่อกันว่าอยู่บริเวณประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบริเวณใกล้เคียง (ซึ่งก็คือ เอเชียอาคเนย์) จึงอาจกล่าวได้ว่ามะเฟืองเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมกับชาวไทยด้วย ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุถึงถิ่นกำเนิดของมะเฟืองว่า มะเฟืองมีถิ่นกำเนิดในแถบศรีลังกาและบริเวณมะละกา ซึ่งจัดเป็นไม้พื้นเมืองแถบอินโดนีเซีย อินเดีย และศรีลังกา รวมทั้งยังนิยมปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางส่วนของเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ในปัจจุบันยังพบมะเฟืองปลูกที่สาธารณรัฐโดมินิกัน บราซิล เปรู กานา กายานา ซามัว ตองกา ไต้หวัน French Polynesia คอสตาริกา และ ออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาคของประเทศ

ma fuang

มะเฟือง ชื่อสามัญ Star fruit
ชื่อวิทยาศาสตร์ Averrhoa carambola L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Averrhoa acutangula Stokes, Sarcotheca philippica (Villar) Hallier f.) จัดอยู่ในวงศ์กระทืบยอด (OXALIDACEAE)
มีชื่อเรียกอื่นว่า เฟือง (ภาคใต้)

มะเฟือง เป็นผลไม้ที่นิยมมากในแถบเอเชียตะวันออกรวมถึงบ้านเราด้วย ผลไม้ชนิดนี้มีลักษณะเป็นทรงกระสวย เมื่อหั่นเป็นแนวขวางจะเป็นรูปเหมือนดาวห้าแฉก สีผลเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง ส่วนเรื่องรสชาติจะออกเปรี้ยวแบบเฝื่อน ๆ โดยมีทั้งรสเปรี้ยวและหวาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ โดนผลมะเฟืองสุกนั้นประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุอยู่หลายชนิด

โดยประโยชน์ของมะเฟือง ในผลมะเฟืองสุกน้ำหนัก 100 กรัมจะอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตถึง 6.7 กรัม โปรตีน 1 กรัม ธาตุโพแทสเซียม 133 mg. วิตามินซี 35 mg. ธาตุฟอสฟอรัส 12 mg. ตามลำดับ นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วย วิตามินบี 5 วิตามินบี 9 (หรือกรดโฟลิก) ธาตุสังกะสีและไขมันอีกด้วย สำหรับผู้ที่รับประทานยาลดไขมัน ยาคลายเครียดอยู่ไม่ควรรับประทานมะเฟือง เนื่องจากมะเฟืองมีฤทธิ์ไปต่อต้านการทำงานของตัวยา และผู้ป่วยที่เป็นโรคไตหรือกำลังจะฟอกไต ก็ไม่ควรรับประทานมะเฟือง เพราะมะเฟืองมีกรดออกซาลิกสูงซึ่งอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงหรือทำให้อาการทรุดหนักเพิ่มมากขึ้นได้

พิษมะเฟือง เนื่องจากมะเฟืองมีกรดออกซาลิกในปริมาณที่สูง การได้รับสารนี้เข้าไปในร่างกายในปริมาณมากสามารถเพิ่มโอกาส เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ เนื่องจากสารนี้จะไปจับตัวกับแคลเซียมและตกเป็นผลึกนิ่วในไต เมื่อผลึกนิ่วจำนวนมากเกิดการตกตะกอนจะทำให้เกิดการอุดตันในเนื้อไตและท่อไต ทำให้ไตวายเฉียบพลันได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาวะการขาดน้ำในร่างกายของเราด้วย และการเกิดภาวะไตวายไม่ได้เป็นกันทุกราย แต่ก็มีรายงานว่า มีผู้ป่วยที่ดื่มน้ำมะเฟืองหลังจากทำงานหนัก และสูญเสียเหงื่อในปริมาณมากจะยิ่งมีโอกาสเกิดโรคได้มากขึ้น โดยมีงานวิจัยเกี่ยวกับมะเฟืองอธิบายว่า มะเฟืองเปรี้ยวนั้นมีโอกาสก่อให้เกิดโรคดังกล่าวได้มากกว่ามะเฟืองที่มีชนิดหวาน เนื่องจากมีกรดออกซาลิกที่มากกว่านั้นเอง

ผักแว่น

ผักแว่น เป็นพืชผักธรรมชาติ เป็นวัชพืชในนาข้าว คนนิยมกินเป็นผักมานานแล้ว มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะเป็นพืชเย็น ช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกาย ผักแว่น 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 15 กิโลแคลอรี

pak van

ผักแว่น ชื่อสามัญ Water clover, Water fern, Pepperwort
ชื่อวิทยาศาสตร์ Marsilea crenata C. Presl จัดอยู่ในวงศ์ MARSILEACEAE
ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ผักลิ้นปี่ (ภาคใต้), หนูเต๊าะ (กระเหรี่ยง-ภาคเหนือ), ผักแว่น (ภาคกลาง, ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), ผักก๋ำแหวน, Chuntul phnom (กัมพูชา), tapahitik (มาเลเซีย) เป็นต้น

ผักแว่น ผักตามธรรมชาติ แม้จะเป็นวัชพืชที่คอยแย่งน้ำแย่งอาหารต้นข้าวในนา แต่เป็นผักที่มีประโยชน์ ถ้าช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมให้ดี บริสุทธิ์สะอาด ผักแว่นจะเป็นพืชผักอินทรีย์ที่ทรงคุณค่า เป็นอาหารของคนเราได้เป็นอย่างดี มีประโยชน์ต่อมนุษย์มากมาย รักความบริสุทธิ์ รักธรรมชาติ ทำความรู้จักผักแว่นมากกว่านี้ จะรู้สึกรักและหวงแหนไว้เป็นสมบัติธรรมชาติของเราอีกนาน

ประโยชน์ของผักแว่น

ใบอ่อน ยอดอ่อน และก้านใบ ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ลาบ ก้อย ส้มตำ ซุปหน่อไม้ ใช้เป็นเครื่องเคียงกับอาหารชนิดต่างๆ หรือนำไปใช้ประกอบอาหาร เช่น ทำแกงจืด แกงอ่อม เจียวไข่ เป็นต้น และเมื่อนำมาต้มจะมีลักษณะอ่อนนิ่มทำให้รับประทานได้ง่าย จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ

ในประเทศอินโดนีเซีย ในเมืองสุราบายา นิยมใช้ผักแว่นนำมาเสิร์ฟร่วมกับมันเทศและเพเซล (Pacel) หรือซอสเผ็ดที่ผลิตจากถั่วลิสง

สรรพคุณทางยาของผักแว่น

ตามตำรายาไทยระบุถึงสรรพคุณไว้ว่า ทุกส่วนมีรสจืดอมฝาดเล็กน้อย ช่วยเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร แก้ฝีในลำคอ ถอนพิษทั่วไป ลดไข้ แก้หวัดร้อน แก้เจ็บคอ คอแห้ง คออักเสบ แก้ปวดท้อง ท้องเสีย แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้ดีพิการ แก้ปัสสาวะ อุจจาระเป็นเลือด สมานแผลในปาก ลำคอ และกระเพาะอาหาร แก้เคล็ดขัดยอก ปวกเมื่อยตามร่างกาย แก้อาการร้อนใน ดับกระหาย

ส่วนอีกตำราหนึ่งระบุไว้ว่า ยอด รสจืด ฝาดหวานเล็กน้อย ใช้แก้ไข้ ระงับร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษ สมานแผลในปากและคอ แก้ดีพิการ แก้พิษทั้งปวง รักษาแผลเปื่อย แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวด ช่วยขับปัสสาวะ บำรุงสายตา

หมายเหตุ : ผักแว่นเป็นพืชคนละชนิดกับ "ส้มกบ" เพียงแต่มีชื่อเรียกเหมือนกันว่า "ผักแว่น" อีกทั้งยังมีลักษณะคล้ายกัน จึงอาจทำให้จำสับสนได้

ผักกาดหิ่น

ผักกาดหิ่น เป็นผักพื้นบ้าน ปลูกกันเยอะที่อิสานบ้านเฮา มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ผักกาดไร่ ผักกาดสร้อย, ผักกาดเขียวน้อย, ผักชุนฉ่าย, ผักขมจีน, ผักกาดนา, ผักกาดขิ่น เป็นผักที่มีกลิ่นฉุนนิดๆ เวลารับประทานก็จะมีกลิ่นฉุนๆ ขึ้นจมูกเหมือนวาซาบิ จึงได้รับฉายาว่า "วาซาบิเมืองไทย"

การที่คนอีสานเรียก ผักกาดหิ่น หรือผักกาดสร้อย เนื่องจากคำว่า "หิ่น" แปลว่า ฉุนขึ้นจมูก ส่วนคำว่า "สร้อย" แปลว่า ฉีกขาดเป็นริ้วๆ ตามลักษณะใบของผักนั่นเอง

pak kad hin

ผักกาดหิ่น ชื่อสามัญ ผักกาดเขียว (Brassica juncea) Indian/ Chinese mustard (English), karashina (Japanese)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Brassica juncea (L.) Czern. วงศ์ Brassicaceae

ผักกาดหิ่น เป็นพืชล้มลุก ลำต้นตั้งตรง อาจสูงได้ถึง 1 เมตร เกลี้ยง แตกกิ่งด้านสาขามาก ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ไม่มีหูใบ ใบที่โคนต้นรูปขอบขนานแกมรูปหอก ขอบหยักเป็นแฉก ยาวได้ถึง 20 ซม. มีก้านใบ มีสารอาหารสูง ช่วยบำรุงสายตาให้มีประกายที่สดใส โดยเฉพาะเบต้าแคโรทีนที่จะเปลี่ยนเป็นวิตามิน A ให้แก่ร่างกายทำให้ป้องกันโรคตาฟาง (Blurred vision) ตาบอดกลางคืน (Night blindness) หรือโรคต้อตาชนิดต่างๆ ในผู้สูงอายุได้ และยังช่วยต้านการเกิดโรคมะเร็ง มีแคลเซียม วิตามินซี เส้นใยอาหารสามารถป้องกันโลหิตจาง ทั้งยังมีเส้นใยที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของอวัยวะดังกล่าว ทำให้ระบบขับถ่ายเป็นไปอย่างปกติ สุขภาพจึงดีตามไปด้วย

เป็นผักที่ปลูกง่าย โตเร็ว ประกอบอาหารได้หลากหลาย จะต้ม แกง ลวกจิ้ม ใช้แทนพวกผักกวางตุ้งได้ แต่รสไม่เหมือนกัน จะมีกลิ่นขึ้นจมูกแบบวาซาบิ และมีหลายพันธุ์หมายถึงลักษณะต้นนั้นอาจจะต่างกันบ้างเช่น ใบหยิกน้อย หยิกมาก สูง เตี้ย แต่ประโยชน์ รสขาติ กลิ่น ไม่ต่างกัน มันก็คือชนิดเดียวกัน ใช้ทำอาหารก็แล้วแต่ถนัด กินแกล้มลาบ จะทำต้มจืด ต้มจับฉ่าย ต้มใส่กระดูกหมู หรือลวกจิ้มน้ำพริก ส่วนอาวทิดหมูนั้นชอบกินแบบสดๆ กับป่นกบ ป่นปลา ลาบต่างๆ เข้ากันหลายครับ

 

ผักพื้นบ้านอีสาน : ตอนที่ 1 | ตอนที่ 2 | ตอนที่ 3 | ตอนที่ 4 | ตอนที่ 5 | ตอนที่ 6

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)