foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

lab ma noi header

าหารอีสานรสเด็ดของชาวอีสานอีกอย่างคือ "ลาบหมาน้อย" ขอรับ... นั้นๆ ว่าแล้วสิพากันเข้าใจผิดคิดว่า "พวกเฮาชาวอีสานกิน "หมาน้อย" สี่ขา เห่าเสียงดังบ็อกๆ บ่แม่นเด้ออาว์" อันนี้มันเป็นแนวกินเฮ็ดมาจากพืชสมุนไพรขอรับ ที่เขียนเรื่องนี้ก็เพราะว่า หลานสาวของทิดหมู เลาเป็นฅนอีสานขนานแท้อีหลี คักๆ แหน่หลาย มักกินแกงหน่อไม้ แกงหวาย แกงขี้เหล็ก แกงผำ มื้อนี้นางมาจากกรุงเทพฯ (ช่วงนี้วันหยุดติดต่อกันหลายวันเลยลางานมายามบ้าน) พากันไปตลาดเห็นไทบ้านมาขายเครือหมาน้อย นางฮ้องเสียงดังดีใจปานถืกเลขถืกหวยว่า "ลุงๆ ทิดหมู มื้อนี้เฮ็ดลาบหมาน้อยให้นางกินแหน่เด้อ โอยน้ำลายเหี่ยบ่ได้กินมาดนหลายปี มื้อนี้พ้อแล้วสิซื้อเมือบ้าน ใส่ป่นปลาข่อใหญ่เด้อนางสิซื้อไปจักโตใหญ่ๆ" เลยเป็นที่มาของบทความมื้อนี้ซั่นดอก

รู้จักกับ "หมาน้อย"

manoi 01

หมาน้อย เป็น ไม้เถาเลื้อย ในวงศ์ MENISPERMACEAE มีชื่อเรียกอื่นๆ ตามท้องถิ่น เช่น กรุงเขมา, หมอน้อย, ก้นปิด, พระพาย, เปล้าเลือด, สีฟัน เนื้อไม้แข็ง มีขนนุ่มสั้นปกคลุมหนาแน่นตามเถา กิ่ง ช่อดอก และใบ ไม่มีมือเกาะ มีรากสะสมอาหารใต้ดิน ใบเป็นใบเดี่ยว มีหลายรูป เช่น รูปหัวใจ รูปกลม รูปไต หรือรูปไข่กว้าง ก้นใบปิด ออกแบบสลับ กว้าง 4.5-12 เซนติเมตร ยาว 4.5-11 เซนติเมตร ปลายใบส่วนมากมนหรือเรียวแหลม โคนใบกลมตัด หรือเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ เนื้อบางคล้ายกระดาษ มีขนนุ่มสั้นกระจาย ทั้งหลังใบ และท้องใบ ใบเมื่อยังอ่อนจะมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน และตามขอบใบ แต่จะร่วงไปเมื่อใบแก่ (ชื่อ "เครือหมาน้อย" ก็น่าจะมาจากความนุ่มของขนที่ใบนี่แหละ ไทบ้านจับแล้วเห็นว่า นุ่มเหมือนขนหมาน้อย จึงเรียกว่า "เครือหมาน้อย" นั่นเอง)

manoi 02

ดอก ออกเป็นกระจุกสีขาว ที่ซอกใบ แต่ละดอกที่รวมเป็นกระจุกนั้น จะมีขนาดเล็กประมาณ 0.2-0.5 มิลลิเมตร ผล กลมรี อยู่ตรงปลายก้านผลสีส้ม เมื่อสุกมีสีน้ำตาลออกแดง ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดหรือเหง้า พบในป่าดิบ ป่าผลัดใบ และป่าไผ่ ตามริมแม่น้ำลำธาร ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงธันวาคม เถาและใบคั้นเอาน้ำเมื่อผสมกับเครื่องปรุงอาหาร จะมีลักษณะเป็นวุ้น รับประทานเป็นอาหาร

manoi 04

ใบหมาน้อยมีสารพวกเพคติน เมื่อขยำใบกับน้ำ เมื่อทิ้งไว้จะแข็งตัวเป็นวุ้น พืชสมุนไพรที่พบได้ทั่วไปตามท้องไร่ปลายนา ที่รกร้างว่างเปล่า หรือตามสวนป่า นอกจากมีสรรพคุณทางยามากมายแล้ว ชาวบ้านถิ่นอีสานจะนำใบมาประกอบอาหารพื้นถิ่นทั้งคาว หวาน อาทิ วุ้นหมาน้อย ลาบหมาน้อย ฯลฯ 

manoi 03

ลาบหมาน้อย

การทำลาบหมาน้อยไม่ใช่เรื่องยากครับ จริงๆ จะบอกว่า "ลาบ" ก็ไม่เหมือนลาบหมู ลาบเนื้อ ลาบปลา ลาบไก่นะครับ มันเหมือนวุ้นมากกว่า หรือบางคนอาจจะนึกถึง "หมูเย็น" (พะโล้แช่แข็ง) อาหารจีนมากกว่า ขั้นตอนและวิธีการทำก็ไม่ยุ่งยากครับ เริ่มกันเลย

ส่วนประกอบและเครื่องปรุง

  • ใบหมาน้อยประมาณ 30-40 ใบ (จะมากน้อยก็ตามปริมาณที่ต้องการทำ และคนกิน มีมากก็จะได้วุ้นที่เข้มข้นมากขึ้น)
  • ใบย่านาง 3-4 ใบ (บางคนอาจไม่ชอบก็ไม่ต้องใส่ครับ จะช่วยให้มีความข้นและกลื่นหอม สรรพคุณเป็นยาเย็น)
  • น้ำเปล่า 1-2 ถ้วย (ตามปริมาณใบหมาน้อย ใส่มากจะทำให้ไม่เป็นวุ้นได้นะ ภาษาผู้เฒ่าเพิ่นว่ามันสิจาง)
  • ป่นปลา 1 ถ้วย (ปลาตามชอบตามที่มี แต่นางซื้อปลาข่อใหญ่มากะสิเอาส่วนหางมาป่น ส่วนหัวไปต้มซดแซบๆ มีไข่บ่น้อโตนี้)
  • ตะไคร่ 1 ต้น
  • มะเขือขื่น 1 ลูก
  • ข้าวคั่ว พริกป่น ผักหอมเป หอมสดซอย (มากน้อยตามชอบ) น้ำปลาร้า น้ำปลาปรุงรส

manoi 06

ขั้นตอนการทำลาบหมาน้อย

  • ล้างใบหมาน้อย ใบย่านางให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำทิ้งไว้ก่อน
  • ตะไคร้หั่นบางๆ หอม ผักชีหั่นละเอียด มะเขือขื่นผ่าควักเมล็ดทิ้ง ล้างให้สะอาดแล้วหั่นชิ้นเล็กๆ เตรียมไว้ให้พร้อม
  • เตรียมป่นปลาไว้ 1 ถ้วย (การทำป่นปลาฉบับย่อๆ นำหอมแดง พริกไปย่างไฟให้หอม ต้มปลาในน้ำปลาร้าให้สุก แกะเอาเฉพาะเนื้อปลา จากนั้นโขลกพริกและหอมให้ละเอียดใส่เนื้อปลาลงไปโขลกรวมกัน ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า น้ำปลาให้ได้รสแซบนัวตามชอบ)
  • นำใบหมาน้อย ใบย่านางมาใส่ในหม้อหรือกะละมังใส่น้ำเปล่าลงไปไม่ต้องมาก คั้นใบหมาน้อยและใบย่านางให้ละเอียดจนเหลือแต่ก้าน คั้นไปจนรู้สึกว่าน้ำจะเป็นวุ้นก็หยุด
  • นำเอาน้ำที่ได้ไปกรองเอากากออกให้หมด เหลือแต่น้ำข้นๆ นำป่นปลาลงไปผสม เติมข้าวคั่ว พริกป่น ตะไคร้ มะเขือขื่น คนให้เข้ากันดี ชิมรสดูหากจืดไปเติมน้ำปลาร้า น้ำปลาจนได้รสชาติที่ต้องการ
  • ตักใส่ถ้วยใบเล็กพอประมาณหลายๆ ถ้วยก็ได้ ทิ้งไว้สัก 10-15 นาที ก็จะแข็งตัวเป็นวุ้น จะตักรับประทานก็ได้เลย หรือจะเอาออกจากถ้วยวางคว่ำบนจานแล้วตกแต่งด้วยผักเคียงต่างๆ ให้เหมือนอาหารเหลาก็น่ารับประทานไปอีกแบบครับ

manoi 05

หมาน้อย นั้นนอกจากจะเป็นอาหารแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นยาอีกด้วย เช่น เป็นยาแก้ร้อนใน ใช้แก้ไข้ แก้ดีรั่ว ดีล้น ดีซ่าน เป็นยาขับปัสสาวะ ยาถ่าย แก้ไข้มาลาเรีย ใช้เป็นยาเจริญอาหาร ฯลฯ ทั้งนี้การใช้ประโยชน์ในด้านการใช้เป็นยาอาจะมีวิธีการปรุงแต่งไม่เหมือนกัน เพราะบางครั้งอาจใช้เฉพาะราก ใช้เฉพาะใบ หรือเฉพาะเครือ เป็นต้น

ข้อห้าม อาหารนี้เป็นของแสลงกับสตรีมีครรภ์ ไม่ควรรับประทานมาก

วุ้นหมาน้อย

นอกจากจะทำลาบหมาน้อยแล้ว ยังเอามาทำเป็นของหวานทานในหน้าร้อนก็ไม่เลวนะครับ ทำไม่ยากเลย

วัตถุดิบในการทำวุ้น

  • ใบหมาน้อย ประมาณ 30 ใบ
  • ใบเตย ประมาณ 3 - 4 ใบ
  • ใบย่านาง ประมาณ 10 ใบ
  • น้ำสะอาด ประมาณ 1 ลิตร

วิธีการทําวุ้นหมาน้อย

  • เลือกใบหมาน้อยที่แก่จัด ลักษณะเป็นใบสีเขียวเข้ม ใบค่อนข้างใหญ่ ประมาณ 30 ใบ
  • นําใบหมาน้อย ใบเตย ใบย่านาง ที่คัดไว้มาล้างทําความสะอาด แล้วตั้งทิ้งไว้ให้พอหมาดๆ
  • นําใบหมาน้อยมาขยี้จนใบหมาน้อยเหลือแต่เส้นใบ (ทําคล้ายๆ ขยี้ใบย่านางใส่แกงหน่อไม้) ขยี้จนหมดให้เหลือแต่เส้นใบ และนำใบเตยหั่นชิ้นเล็กๆ ใบย่านาง มาขยี้จนเหลือแต่ก้านใบ นํามาผสมกับน้ำใบหมาน้อย
  • นําไปกรองใสภาชนะที่เตรียมไว้ เอาก้านออกจากน้ำให้หมดเหลือแต่น้ำ
  • ปล่อยทิ้งไว้สักพัก น้ำหมาน้อยที่ขยี้ไวจะเริ่มจับตัวเป็นเจลลี่ แล้วจับตัวแข็งขึ้นเป็นก้อนวุ้น
  • จากนั้นใช้มีดตัดเป็นชิ้นเล็ก เหมือนลูกเต๋า
  • แช่เย็นไว้ในตู้เย็น เวลารับประทานจึงนํามาผสมกับน้ำเชื่อมและน้ำกะทิ ใส่น้ำแข็งเล็กน้อย เท่านี้ก็จะได้วุ้นหมาน้อยลอยแก้ว รับประทานคลายร้อนแล้วครับ

manoi 07

สรรพคุณทางยา

  • ส่วนเหนือดิน เป็นยาแก้ร้อนใน แก้โรคตับ ราก มีกลิ่นหอม รสสุขุม ใช้แก้ไข้ แก้ดีรั่ว ดีล้น ดีซ่าน เป็นยาขับปัสสาวะ ยาถ่าย แก้ไข้มาลาเรีย ใช้เป็นยาเจริญอาหาร ยาอายุวัฒนะ ยาช่วยย่อย แก้ท้องร่วง บวมน้ำ แก้ไอ ขัดเบา กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และใช้ในรายถูกงูกัด เป็นยาลดไข้ แก้ปวดท้อง โรคหนองใน
  • ราก มีกลิ่นรสหอมเย็นสุขุม แก้ไข้ แก้ดีรั่ว ดีซ่าน เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงอวัยวะเพศให้แข็งแรง แก้ลม โลหิต กำเดา แก้โรคตา ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ ใช้เคี้ยว แก้ปวดท้อง และโรคบิด ระบายนิ่ว แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไอเจ็บหน้าอก เป็นยาขับเหงื่อ ยาขับระดู ยาบำรุง ยาสงบประสาท ยาขับน้ำเหลืองเสีย ยาสมาน
  • รากและใบ พอกเป็นยาเฉพาะที่ แก้โรคผิวหนัง หิด ลำต้น ดับพิษไข้ทุกชนิด บำรุงโลหิตสตรี เป็นยาพอกแก้ตาอักเสบ เนื้อไม้ แก้โรคปอด และโรคโลหิตจาง
  • ใบ แก้ร้อนใน พอกแผล ฝี แก้แผลมะเร็ง แก้หืด ใช้ทาภายนอกแก้หิด

 อ้างอิง : ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

redline

backled1

kao pong

ข้าวโป่ง เป็นขนมพื้นบ้านภาคอีสาน นิยมทำกินกันในฤดูหนาวหลังจากเกี่ยวข้าว นวดข้าวแล้ว เป็นแผ่นข้าวสีขาวนวลย่างให้เหลือง พอง กรอบ เป็นขนมขบเคี้ยวแสนอร่อยที่อยู่คู่ชาวไทยมานาน มีทั้งในภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ โดยคนเหนือเรียกว่า “ข้าวครวบ” “เข้าตวบ” หรือ “เข้าพอง” พี่น้องบ้านเฮาชาวอีสานเรียก “ข้าวโป่ง” หรือ “เข้าเขียบ” หรือ "เข้าเขิบ" ทางภาคกลางเรียก "ข้าวเกรียบว่าว" หรือ "ขนมหูช้าง" ขณะที่คนทางใต้รู้จักกันในนาม “ข้าวเกรียบเหนียว”

เข้าเขียบ  น. ข้าวเกรียบ ข้าวเกรียบที่ทำเป็นแผ่นบางๆ เรียก เข้าเขียบ เข้าโป่ง เข้าเขิบ ก็ว่า.
crisp rice-flour tortillas. "

สารานุกรมอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ปรีชา พิณทอง

kao pong 01

แม้ในอดีต "ข้าวโป่ง" หรือ "ข้าวเกรียบว่าว" นี้เคยได้รับการยกย่องว่า "เป็นของกินเล่นยอดฮิต" (ในตอนนั้นไม่มี 7-11 ครับ เด็กบ้านนอกอย่างผมก็ได้ขนมนี้แหละกินกัน) ไม่ว่าจะเป็นยามเย็น/เช้าในหน้าหนาว นั่งล้อมวงรอบกองไฟได้ไออุ่น พร้อมทั้งปิ้งข้าวโป่งเป็นขนมขบเคี้ยวไปด้วย นอกจากการเผาหัวมันแกว หรือยามบุญไปฟังลำ ก็จะมีแม่ค้าขายข้าวโป่งราคาแผ่นละสลึง (สมัยราคาทองคำบาทละสี่ร้อย) ผมไม่ค่อยมีตังค์กับเขาดอก ก็ต้องคอยตีแป่บักเป (เสี่ยวกันเป็นลูกผู้ใหญ่บ้าน) ซื้อมาบิ (หัก) แบ่งปันกันกิน ทว่าปัจจุบันความนิยมเริ่มซาไปมาก จนเด็กรุ่นใหม่แทบไม่รู้จักว่า ข้าวโป่งคืออะไร ขณะที่ผู้ใหญ่หลายคนก็เริ่มหลงลืมกันไปแล้ว

ทำไมจึงเรียก "ข้าวโป่ง" ก็เพราะมันจะเป็นตุ่มโป่งๆ พองๆ ขึ้นมาในแผ่นแป้งเมื่อตอนไปย่างไฟให้สุก ทำให้กรอบอร่อย เลยเรียกว่า "ข้าวโป่ง" หรือ "ข้าวพอง" ส่วน "ข้าวเกรียบว่าว" นั้นมาจากสาเหตุนิยมทำกันในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าว มีลมหนาว ชาวบ้านจะทำว่าวติดสะนูเสียงดังกังวานลั่นทุ่ง เมื่อมีการย่างแผ่นข้าวเกรียบท่ามกลางสายลมหนาวและฟังเสียงสะนูว่าวด้วย จึงเรียกข้าวเกรียบที่มีในฤดูกาลนี้ว่า "ข้าวเกรียบว่าว" นั่นเอง ส่วนเด็กสมัยใหม่ปัจจุบันมักพูดเล่นๆ กันว่า เวลาที่ชาวต่างชาติมาเมืองไทยได้เห็นวิธีการปิ้งแล้วมันขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จึงอุทานว่า "ข้าวเกรียบ WOW.." กะว่าไปเนาะ เหอๆ

kao pong 04

วิธีการทำข้าวโป่งจะเริ่มจาก นำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วไปตำด้วยครกมอง เมื่อละเอียดแล้ว ทางบ้านเฮาจะเอาใบตดหมูตดหมา มาขยี้กับน้ำแล้วสลัดใส่ในครกตอนตำ เพื่อให้ข้าวเหนียวจับตัวกันดี นำน้ำอ้อยก้อนโขลกแล้วตำผสมลงในครกจนเหนียวได้ที่ นำน้ำมันหมูทามือแล้วปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนผสมกับไข่แดง กดก้อนข้าวเหนียวที่ปั้นให้เป็นแผ่นบางๆ แล้ววางบนใบตองที่ทาน้ำมันหมูแล้ว ตากแดดให้แห้ง เมื่อจะรับประทานจึงเอามาปิ้งให้สุก

kao pong 03

วิธีการทำข้าวโป่งในปัจจุบัน

ในส่วนการทำข้าวโป่ง หรือ ข้าวเกรียบว่าว แบบทางภาคกลาง ภาคเหนือ และอีสานสมัยนี้ทำจะมีขั้นตอนสรุปดังนี้

  • ใช้ข้าวเหนียว ถ้าเป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงูเก่ามาทำ จะได้ข้าวโป่งที่ได้จะมีสีนวลสวย และปิ้งได้พองกรอบมากขึ้น
  • เลือกน้ำตาลปี๊บเนื้อหนึ่ง (อย่างดี) แต่ละท้องถิ่นใช้วัตถุดิบเพิ่มความหอมหวานให้ข้าวเกรียบว่าวแตกต่างกันไป เช่น ภาคเหนือใช้น้ำอ้อยก้อน ภาคอีสานใช้น้ำอ้อย หรือรากกระพังโหม (เครือตดหมา) ทว่าสูตรของทางภาคกลางใช้น้ำตาลปี๊บเนื้อหนึ่ง ซึ่งหาซื้อได้ในตลาดทั่วไป โดยบอกกับผู้ขายว่า “น้ำตาลปี๊บอย่างดี” หรือ “น้ำตาลปี๊บเนื้อหนึ่ง” แม้จะมีราคาสูงกว่าน้ำตาลปี๊บธรรมดา แต่รสชาติที่ได้หวานหอมกลมกล่อมกว่า
  • ต้องรักษาอุณหภูมิข้าวเหนียวให้ร้อน/อุ่นอยู่ตลอด ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกต้องรีบตำในทันที เพราะหากข้าวเหนียวเย็นจะไม่สามารถตำรวมกับน้ำตาลปี๊บให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ และหลังตำข้าวเหนียวจนได้ที่แล้ว ต้องเก็บไว้ในกระติกเก็บความร้อนตลอดเวลา เพราะหากปล่อยให้เย็น ข้าวเหนียวที่ตำไว้จะแข็งจนไม่สามารถนำมาคลึงเป็นแผ่นข้าวโป่งได้
  • การชักนวลแป้ง คือ ขั้นตอนสำคัญที่ทำให้ข้าวโป่งพองกรอบ และมีเนื้อสัมผัสนวลเนียนยิ่ง วิธีการคือ เมื่อตำข้าวโป่งรวมกับน้ำตาลปี๊บจนเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว ข้าวเหนียวจะกลายเป็นแป้งที่เหนียวจนติดสาก การชักนวล คือ การใช้สากตำลงไปที่ก้นครก แล้วดึงข้าวเหนียวที่ติดสากให้ยืดขึ้นมาสูงๆ แล้วตำกลับลงไปที่เดิม
  • น้ำแช่ข้าวเหนียวอย่าทิ้ง เพราะต้องเก็บไว้ใช้ชุบสากเมื่อข้าวเหนียวติดสากขณะตำ และใช้เติมลงในน้ำตาลปี๊บ เพื่อให้น้ำตาลอ่อนตัวก่อนใส่ลงผสมกับข้าว จะช่วยให้ตำง่ายขึ้น น้ำแช่ข้าวเหนียวยังช่วยให้ข้าวนิ่มขึ้น ในกรณีข้าวเหนียวที่ใช้แข็งเกินไป (หากใช้น้ำเปล่าจะทำให้ข้าวเกรียบว่าวที่ได้ไม่มีความมันวาว) น้ำแช่ข้าวนี้อาจนำเอาใบเตยมาขยี้ใส่เพื่อเพิ่มสีสันให้สวยงาม ปัจจุบันมีการเติมสีสันจากฟักทอง มันม่วง งาดำ ลงไปเพื่อเพิ่มมูลค่า
  • ตัวช่วยป้องกันแป้งติดมือ ข้าวเหนียวที่ตำเสร็จแล้วจะกลายเป็นแป้งลักษณะเหนียว ต้องนำไข่แดงของไข่เป็ดที่ต้มสุกแล้ว มายีรวมกับน้ำมันมะพร้าว นำมาทากระติกเก็บความร้อนก่อนจะใส่แป้งลงไป และทามือก่อนปั้นแป้งเพื่อป้องกันไม่ให้แป้งติด ทั้งยังเพิ่มกลิ่นหอมให้ข้าวเกรียบได้ด้วย
  • แผ่นพลาสติกสำหรับคลึงข้าวโป่ง ใช้ถุงพลาสติกสำหรับใส่อาหารเย็นชนิดขุ่น มาตัดเป็นวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 18 เซนติเมตร ถุงชนิดดังกล่าวหาซื้อได้ที่ตลาดทั่วไป โดยบอกกับผู้ขายว่า “ถุงขุ่นเย็นขนาดใหญ่” (หากใช้ถุงพลาสติกใสจะลื่นจนไม่สามารถคลึงแป้งได้)
  • ตากแดดให้พอเหมาะ ควรเลือกทำข้าวโป่งในวันที่แดดแรง เพราะหากคลึงข้าวโป่งแล้วไม่ได้ตากแดดทันที ข้าวโป่งที่ได้จะไม่ค่อยพองกรอบและรสชาติไม่อร่อยเท่าที่ควร

kao pong 02

เทคนิคการปิ้งข้าวโป่งให้พองสวย นำแผ่นข้าวโป่งวางบนไม้ไผ่ที่จักเป็นซี่ (มีด้ามจับยาวประมาณ 1 เมตร) แล้วใช้ไม้ไผ่ที่จักเป็นซี่อีกอันวางเหนือข้าวโป่งเพื่อช่วยประคองไม่ให้ตก จากนั้นนำไปปิ้งบนเตาถ่านขนาดใหญ่ด้วยไฟแรงปานกลาง ค่อยๆ เอียงด้านข้างข้าวโป่งเข้าหาไฟทีละด้าน เมื่อพองแล้วให้พลิกกลับด้านบ่อยๆ ปิ้งหมุนวนไปรอบๆ จนสุกทั่วทั้งแผ่น

ไม้ปิ้งข้าวโป่ง

 kao pong 06

ไม้ปิ้งข้าวโป่ง หรือข้าวเกรียบว่าว เป็นเครื่องมือสำหรับปิ้งข้าวโป่งซึ่งเป็นขนมหวานของเด็กๆ ซึ่งมักจะมีขายตามงานวัดทั่วไป วัสดุที่ใช้ทำไม้ปิ้งข้าวโป่ง ได้แก่ ลำไม้ไผ่ โดยนำลำไม้ไผ่มาผ่าซีก ถ้าเป็นไผ่ลำใหญ่ๆ ก็ตัดมา 1 ท่อน ยาวประมาณ 1 ฟุต ผ่าออกเป็น 4 ซีก ลบคมไผ่ข้างๆ ด้วยมีดคมๆ ให้เรียบร้อย ไม่เช่นนั้นอาจจะบาดมือหรือมีเสี้ยนตำมือคนปิ้งได้

ไม้ปิ้งข้าวโป่ง 1 ชุดมี 2 อัน ดังนั้น ไม้ไผ่ที่ผ่าออกเป็น 4 ซีก จึงทำไม้ปิ้งข้าวโป่งได้ถึง 2 ชุด หลังจากลบเหลี่ยมคมไม้ไผ่ที่ผ่าซีกแล้ว นำมาผ่าซอยออกเป็นซี่เล็กๆ ผ่าจากปลายเข้ามาหาโคน ผ่าลึกลงมาประมาณ 6 นิ้ว ทำเหมือนกันทั้ง 2 อัน เสร็จแล้วถ้าไม่รีบร้อนปิ้งข้าวโป่งมากจนเกินไป ให้ใช้มีดเหลาเก็บเสี้ยนที่รกรุงรังออกไปให้หมด

การใช้ไม้ปิ้งข้าวโป่ง พ่อค้าแม่ค้า หรือชาวบ้านทั่วไปที่ทำกินเองจะจุดไฟในเตา หรือจุดในก้อนเส้า หรือจะเป็นกองไฟที่จุดจากฟืนก็ได้ แต่ต้องไม่ให้ไฟร้อนจนเกินไป เนื่องจากถ้าใช้ไฟร้อนจนเกินไปจะทำให้ข้าวโป่งไหม้ กินไม่ได้ ยิ่งถ่านไฟยิ่งแรงก็จะยิ่งควบคุมการปิ้งลำบาก

kao pong 05

ดังนั้น ต้องใช้ถ่านไฟที่ไม่ร้อนนัก ถ้าจุดไฟขึ้นมาแล้วถ่านร้อนเกินไป จะใช้วิธีตักขี้เถ้าใต้เตาขึ้นมาโรยลงบนถ่านไฟ เถ้าถ่านจะช่วยลดความร้อนให้ลดลง เมื่อได้ไฟตามต้องการแล้ว จึงนำข้าวโป่งออกมา แล้วนำไม้ปิ้งข้าวโป่ง 2 อันมาประกบอันละด้าน ปิ้งกับไฟที่เตรียมไว้ พลิกไปพลิกมา เพียงไม่นานข้าวโป่งก็จะสุก ข้าวโป่งนั้นสุกง่าย เนื่องจากเป็นแผ่นบางๆ ทำจากแป้ง น้ำตาล และส่วนผสมอื่นๆ บ้างเล็กน้อย

ข้าวโป่งรากเครือตดหมา - ทุกทิศทั่วไทย

ในอดีตนั้น ตามงานวัดต่างๆ ข้าวโป่งที่พ่อค้าแม่ค้านำมาปิ้งขายจะมีราคาเพียงอันละ 1 สลึง แต่เด็กๆ มักไม่ค่อยมีเงิน อาจจะต้องรอให้ญาติๆ ของตนซื้อกินแล้วจึงแบ่งให้ หรือบางครั้งอาจจะมีญาติผู้ใหญ่ใจดีซื้อแจกจ่ายให้เด็กๆ กินคนละอันสองอัน ข้าวโป่งเป็นขนมพื้นบ้าน ชาวไทยปิ้งกินกันมาตั้งแต่อดีต ถึงแม้ปัจจุบันจะมีขนมกรุบกรอบเข้ามาจำหน่ายแทนที่ในท้องตลาด แต่ข้าวโป่งก็ยังพอหากินได้ โดยมักจะมีขายตามงานวัดต่างๆ และสถานที่ท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามตลาดโบราณที่ผุดขึ้นมามากมาย ข้าวโป่ง หรือ ข้าวเกรียบว่าว จึงเป็นส่วนหนึ่งในการจำลองบรรยากาศในอดีต ให้ผู้คนและนักท่องเที่ยวได้รำลึกถึงบรรยากาศเช่นนั้นอีกครั้งหนึ่ง

เอกสารงานวิจัย "การพัฒนาการผลิตข้าวโป่งเชิงอุตสาหกรรม"

redline

backled1

khem bugnad header

เค็มบักนัด หรือ เค็มหมากนัด เป็นอาหารแปรรูปจากปลาด้วยวิธีการดองเค็ม เป็นภูมิปัญญาอีสานในการถนอมอาหารด้วยวิธีการดองเค็ม โดยใช้ส่วนผสมหลัก คือ เนื้อปลา และสับปะรด แต่เนื่องจากคนอีสานจะเรียก "สับปะรด" ว่า "บักนัด" หรือ "หมากนัด" จึงตั้งชื่ออาหารประเภทนี้ว่า เค็มบักนัด นั่นเอง

การถนอมอาหารของอีสานชนิดนี้ "เค็มบักนัด" ต้นกำเนิดมาจากจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจะนิยมทำกันมากในช่วงฤดูฝนที่น้ำหลาก ปลาแม่น้ำเยอะ กอปรกับสับปะรดพื้นถิ่นในอีสานจะสุกพร้อมกันพอดี เรียกได้ว่าประจวบเหมาะลงตัวที่ชาวบ้านจะหยิบจับสองส่วนผสมสำคัญนี้มาผสานรวมกัน กลายเป็นของหมักของดีอีสานที่เคยมีรายงานบันทึกไว้ว่า "เคยปรุงตั้งถวายเจ้านาย ในครั้งเสด็จประพาสเมืองอุบลฯ มาแล้ว"

เค็มบักนัด เป็นการดองเค็มปลา แต่ไม่ใช่ ปลาร้า หรือ ปลาแดก ของชาวอีสาน เพราะกรรมวิธีทำและวัตถุดิบต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งชนิดของปลาและส่วนผสม ปลาร้าจะไม่มีสับปะรด แต่มีข้าวคั่วหรือรำเป็นส่วนประกอบหลัก มีการทำไว้กินเป็นอาหารทั่วไป ส่วนเค็มบักนัดนั้นจะมีการทำน้อยกว่าในบางท้องที่เท่านั้น

khem bugnad 01

วิธีการทำเค็มบักนัด

วิธีทำเค็มบักนัดนั้น ชาวบ้านจะเลือกใช้ปลาหนังไร้เกล็ด จำพวกปลาเทโพ ปลาเทพา ปลาสวาย เพราะตัวโตเนื้อมากและไม่มีก้าง เมื่อได้มาแล้วก็นำมาแล่ ซึ่งปลาทั้งสามชนิดนี้ถ้าทำไม่เป็นจะมีกลิ่นคาวและเหม็นสาบมาก พอได้ปลามาแล้วล้างน้ำเปล่าให้สะอาด แล้วเอาน้ำมะขามเปียกข้นๆ ถูตัวปลาจนหนังมันตึงแล้วล้างให้สะอาดดี

วิธีการดึงเส้นคาวปลาสวาย เทโพ(ปลาปึ่ง) หรือเทพา

จากนั้นใช้มีดกรีดตามขวางตัวปลาด้านหัวและด้านหาง มองดูตรงเนื้อจะเห็นจุดสีขาวใต้ผิวหนังช่วงกลางตัว 1 จุด ตรงนั้นเป็นเส้นคาวของปลาให้ดึงออก จากนั้นเฉือนเนื้อสีดำบริเวณครีบออกให้หมด ส่วนท้องปลาให้แล่แล้วลอกเยื่อสีขาวบางๆ ในท้องปลาออกทิ้ง จึงนำไปล้างและปรุงอาหาร แต่หากจะปรุงเค็มบักนัด ส่วนท้องปลานี้จะไม่ใช้เพราะจะทำให้เวลาหมักแล้วบูดเสียได้

khem bugnad 02

เมื่อล้างและแล่ปลาแล้ว ให้นำส่วนเนื้อปลาติดหนังมาหั่นเป็นชิ้นบางๆ จนหมดพักไว้ จากนั้นนำสับปะรดสุกมาสับฝาน โดยสายพันธุ์เดิมจะใช้ "สับปะรดหม้อ" ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นถิ่นอีสานลูกเล็ก หากไม่มีให้ใช้กลุ่มสับปะรดเนื้อชุ่มหวาน เช่น สับปะรดสวนผึ้ง ฟ้ามุ่น ปัตตาเวียปราณบุรี หรือนางแลก็ได้ นำมาสับละเอียด เอาทั้งเนื้อและน้ำสับปะรด ปริมาณมากกว่าน้ำหนักปลา 1 เท่า คราวนี้นำส่วนผสมทั้งสองมาเคล้ากับเกลือสินเธาว์ (ต้องเกลือสินเธาว์บริสุทธิ์เท่านั้นนะครับ ไม่ผสมไอโอดีน หรือไม่ใช้เกลือทะเลนะขอรับ)

khem bugnad 03

โดยเกลือต้องนำมาคั่วก่อน และปริมาณเกลือทั้งหมดที่ใช้คิดเป็น 1 ใน 3 ส่วนของน้ำหนักปลา ตวงได้น้ำหนักแล้วนำมาแบ่งครึ่ง ก่อนแยกเคล้ากับปลาและสับปะรด พอเกลือละลายแล้วจึงนำปลาและสับปะรดมาเคล้าผสมกันอีกที บรรจุใส่ขวดแก้วที่ล้างสะอาด แล้วอัดให้แน่นไม่ให้มีฟองอากาศ (ไม่ควรบรรจุเต็มขวด ควรเหลือช่องว่างไว้สำหรับก๊าซที่จะเกิดขึ้นระหว่างการหมัก) ปิดฝาให้สนิทตั้งทิ้งไว้ในที่มืด การหมักจะได้ที่โดยสังเกตจากน้ำสับปะรดซึ่งจะใส เนื้อปลาจะมีสีชมพู ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน และยังสามารถเก็บไว้กินได้นานเป็นปีๆ เค็มบักนัด จะมีรสเปรี้ยวและหวานเล็กน้อย มีกลิ่นเฉพาะตัว จะกินดิบๆ กับผักสดๆ หรือเอาไปหลนกับกะทิ แล้วกินกับผักสดๆ ก็อร่อยเช่นกัน

พระกระยาหารรสเลิศ

"เค็มบักนัด" ของดีเมืองอุบล จัดเป็นพระกระยาหารถวาย สมเด็จพระราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 โดยจังหวัดอุบลราชธานีได้จัดเป็นพระกระยาหารกลางวันทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในรัชกาลที่ 9 ณ หอประชุมศาลากลางจังหวัด โดยมอบหมายให้ โรงเรียนการช่างสตรีอุบลราชธานี (วิทยาลัยอาชีวศึกษา ปัจจุบัน) เป็นผู้ประกอบอาหารพื้นเมืองชนิดนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเค็มบักนัดพร้อมด้วยวิธีทำ และวิธีปรุงโดยละเอียดด้วย เมื่อเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า

อาหารที่ชื่อว่า 'เค็มหมากนัด' ฟังจากชื่อคิดว่าเค็ม แต่ไม่เค็มเลย อร่อยดี "

เมื่อพระกระแสรับสั่งนี้เผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง ก็เป็นที่ปลาบปลื้มปิติแก่พสกนิกรชาวอุบลราชธานีไปโดยทั่วกัน

khem bugnad 04

อาหารพื้นบ้าน "เค็มบักนัด" เป็นกรรมวิธีในการถนอมอาหารของชาวบ้านอีสานสมัยโบราณ ที่ได้สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ใช้ส่วนผสมจากวัตถุดิบธรรมชาติที่มีในท้องถิ่นอย่าง รสเค็มของเกลือสินเธาว์จากภูมิปัญญาในการต้ม เนื้อปลาพื้นบ้านที่หาได้ไม่ยาก และได้ความเปรี้ยว หวาน จากสับปะรดในพื้นถิ่นอีสาน ชาวบ้านจึงหยิบจับส่วนผสมเข้ามารวมกัน จนกลายเป็นของหมักของดีถิ่นอีสาน ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นของดีเมืองอุบลที่ใครๆ ต่างก็รู้จักกัน อุบลฯ ไม่ได้มีดีแต่ก๋วยจั๊บและหมูยอ แล้วคุณละรู้หรือยัง?

"เค็มบักนัด" ทำเมนูอาหารอะไรได้บ้าง

เค็มบักนัด ก็คือการถนอมอาหารประเภทหนึ่ง ประกอบด้วย เนื้อสับปะรดกับเนื้อปลาสวาย หรือปลาเทโพ คนกินเป็นก็บอกแซ่บหลายเด้อ ยกนิ้วให้ อาหารจากเค็มหมากนัดมีหลายๆ เมนูที่ถูกปากสำหรับคนที่ชอบกินเค็มบักนัด บางคนก็กินกันสดๆ ได้เลย หรือจะเอาไปทำอาหารอย่างอื่นโดยใช้เค็มบักนัดเป็นส่วนประกอบก็ได้ เช่น

หลนเค็มบักนัด

ส่วนผสม เค็มบักนัด ตะไคร้อ่อนๆ ซอยบางๆ ใบมะกรูด พริกชี้ฟ้าแดงหั่นเฉียงๆ หัวหอมแดงซอย กุ้งสดหั่นเล็กๆ และหมูสับ กะทิประมาณดูว่าต้องการทำมากหรือน้อย

khem bugnad 05

วิธีทำ ตั้งหางกะทิ พอเริ่มเดือดใส่เค็มบักนัดลงไป (ปริมาณมากน้อยตามความเหมาะสม) จากนั้นใส่ตะไคร้ซอย หัวหอมแดงซอย ใบมะกรูดฉีก พริกชี้ฟ้าแดงหั่นเฉียงๆ ตามลงไป ใส่มะขามเปียกสักหน่อยพอให้มีรสเปรี้ยวอ่อนๆ หรือชอบแบบมะนาวก็ค่อยบีบตอนสุกแล้วก็ได้ จากนั้นให้เติมหัวกะทิลงไป ทีนี้ให้ชิมรสดู ถ้าเค็มไปเติมกะทิอีก อ่อนไปเติมเค็มบักนัด พอเริ่มเดือดก็ค่อยใส่หมู ใส่กุ้งลงไป คนให้กระจายตัว และเมื่อทุกอย่างเริ่มสุก ใส่ไข่ไก่ลงไปสักหนึ่งฟอง ตีไข่ก่อนสักนิด แต่ไม่ต้องถึงกับตีเป็นไข่เจียว แล้วใช้ทัพพีคนเบาๆ พอให้ไข่ไม่จับเป็นก้อน รอสักพักปิดไฟได้เป็นอันเสร็จ

ไข่เจียว ไข่ตุ๋น เค็มบักนัด

ไข่เจียวเค็มบักนัด ทำง่ายๆ ครับ ใช้ไข่ไก่ 3 ฟอง เค็มบักนัด (เอาเฉพาะเนื้อบักนัดไม่เอาปลา) 2 ช้อน ตีผสมให้เข้ากันไม่ต้องเติมน้ำปลาหรือเครื่องปรุงอื่น ใส่หอมแดงซอย และต้นหอมซอยเล็กน้อย เจียวให้ฟู เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อนๆ แซบลืมตาย

khem bugnad 06

หรืออีกวิธีง่ายๆ ก็แค่ตักเค็มบักนัดออกมาสัก 2 ช้อน ต่อไข่ไก่ 1 ฟอง จากนั้นตีให้เข้ากัน โรยหน้าด้วยหัวหอมแดงซอยและพริกสดหั่น แล้วนำไปตุ๋นก็จะได้ไข่ตุ๋นเค็มบักนัดไว้อร่อยๆ อีกเมนูครับ อย่าลืมผักสดๆ เป็นเครื่องเคียงอีกสักจานใหญ่ๆ นะครับ

สำหรับเมนูอื่นๆ นั้นดูได้จากรายการ Foodwork ของเชฟบุ๊คกะน้องไข่ดาว ได้เลย หรือจะใช้คำค้น "เค็มบักนัด" ค้นหาใน Google หรือ Youtube ได้เพิ่มเติมครับ

เค็มบักนัด ข่าอ่อน ของดีอุบลราชธานี รายการ Foodwork ทางช่อง ThaiPBS

redline

backled1

mam isan

หม่ำ ที่ไม่ใช่ หม่ำ จ๊กม๊ก แต่ หม่ำ ที่ว่านี้เป็นอาหารชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือน “ไส้กรอก” แต่มีเครื่องปรุงที่สำคัญ คือ ตับสับ ม้ามสับ เนื้อสับ ปรุงเครื่องแล้วยัดใส่ในไส้วัว หรือ ถุงน้ำดีวัว หรือไส้หมู กระเพาะหมู ก็ได้ แล้วเก็บไว้กินกันเป็นแรมเดือน นั่นถือเป็นอาหารประเภทไส้กรอกของแท้พื้นเมืองของคนอีสานแน่นอน มีมานานแล้วแต่คำว่า "กรอก" ในภาษาอีสานเดิมๆ นั้นไม่มี การเรียกชื่ออาหารประเภทนี้ได้สืบค้นแล้วพบว่า ไส้กรอกมีมานานแต่โบราณกาลแล้ว ซึ่งสมัยยายยังเด็ก ทวดยังสาวนั้น คนอีสานเรียก ไส้กรอก ว่า ไส้อั่ว (เหมือนกับทางเหนือ) ซึ่งจะมีทั้งที่ทำจากเนื้อวัว เรียก อั่ววัว ทำจากเนื้อหมู เรียก อั่วหมู

อั่ว น. ชื่ออาหารคาวชนิดหนึ่ง เอาเครื่องปรุงยัดเข้าไป เรียก อั่ว ยัดเข้าใส้หมูเรียก อั่วหมู ยัดเข้าใส้วัวเรียก อั่ววัว ยัดเข้าท้องกบเรียก อั่วกบ อั่วทุกชนิดเป็นอาหารที่มีรสอร่อย. type of sausage, stuffed frogs."

ภายหลังมีการเรียก ไส้กรอก ควบคู่กันมากับคำว่า ไส้อั่ว ด้วย โดยคนในเมืองจะเรียก ไส้กรอก (แสดงที่มาว่า เป็นอาหารที่กรอก หรือบรรจุลงในไส้) ส่วนคนที่อยู่นอกเมือง (บ้านนอก) ก็ยังคงเรียก ไส้อั่ว และเมื่อสืบเสาะหาหลักฐานอื่นๆ เช่น คำผญาของชาวอีสาน และถ้าศึกษาวรรณคดีภาษาอีสาน เรื่องพระเวสสันดรชาดก ก็ได้เอ่ยถึง ไส้อั่ว เอาไว้ในกัณฑ์ชูชก หรือคำร้องในหมู่หมอลำหมู่ หมอลำกลอน ก็พบว่ามีคำว่า ไส้อั่ว จึงพอจะคาดคะเนได้ว่า ไส้อั่ว คือ คำเรียก ไส้กรอกอีสาน มาแต่โบราณ รสชาติของไส้กรอกอีสานนั้นเป็นที่นิยม และถูกปากของผู้กินทั่วไป ทำให้ต้องขยับขยายออกนอกท้องถิ่นเช่นเดียวกันกับส้มตำ ชื่อจึงได้เปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับความนิยม และให้เป็นภาษาภาคกลาง จึงต้องเรียกอาหารชนิดนี้เฉพาะเจาะจงว่า  "ไส้กรอกอีสาน"

mam sai krok isan 04

เมื่อพูดถึงอาหารประเภทไส้กรอก คนทั่วไปมักจะหมายถึง "ไส้กรอกอีสาน" ทำไมต้องเป็น "อีสาน" เป็นไส้กรอกเหนือไม่ได้หรือ คงไม่ได้เพราะทางเหนือเขามี "ไส้อั่ว" และกรรมวิธีทำ เครื่องปรุง ก็แตกต่างกันด้วย จริงๆ แล้วไส้กรอกนี่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งหมายถึง การถนอมอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์โดยการสับให้ละเอียดผสมเกลือบรรจุลงในไส้ ตอนหลังมีการผสมเครื่องเทศลงไปด้วย ทำให้เกิดความหลากหลายของไส้กรอกในถิ่นต่างๆ ทั่วโลก

เรื่องน่ารู้ของไส้กรอก

ไส้กรอก มีหลายประเภท หลายรูปแบบ และหลายรสชาติ เป็นท่อนเล็กๆ แบบไม่มีเปลือกพลาสติกต้องลอกก่อน แบบรมควันเปลือกจะกรอบๆ สีเข้มหน่อย แบบแผ่นๆ ถ้าเป็นท่อนยาวๆ ส่วนใหญ่เรามักพบในร้านขายฮอทดอก และกุนเชียงก็ถือเป็นไส้กรอกอีกแบบหนึ่ง

saikrog 03

ไส้กรอก (sausage) มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาลาตินว่า “salsus” ซึ่งหมายถึงเนื้อสัตว์ที่มีการเก็บรักษาโดยใช้เกลือ สำหรับภาษาเยอรมันไส้กรอกมาจากคำว่า “wurst” ที่หมายถึงเนื้อสัตว์ที่เตรียมได้จากการบดให้ละเอียด ผสมเกลือ เครื่องเทศ และเครื่องปรุงรสอื่นๆ บรรจุในไส้หรือพิมพ์ ดังนั้นไส้กรอกจึงเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ได้มาจากการแปรรูปอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ มีการใส่เครื่องปรุงรสตามความชอบของผู้รับประทาน แล้วนำมาบรรจุไส้ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้นิยมรับประทานกันมาก จึงมีความคิดว่า ควรจะได้แนะนำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับไส้กรอกให้มากขึ้น ความแตกต่างของไส้กรอกขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องเทศที่ใช้ สัดส่วนและชนิดของเนื้อ ไขมัน และวิธีการทำที่ต่างกัน ประเภทของไส้กรอกแบ่งตามลักษณะได้ 7 ชนิด

  1. ไส้กรอกสด (fresh sausage) ทำจากเนื้อหมูหรือเนื้อวัวสด บดผสมเครื่องปรุงรสตามชอบ บรรจุในไส้มัดเป็นปล้องๆ ต้องเก็บในตู้เย็น เวลาจะรับประทานนำมาทำให้สุก ไส้กรอกสดมีหลายชนิด เช่น
  • ไส้กรอกหมูสด ทำจากเนื้อหมูผสมเครื่องปรุงรสธรรมดา บรรจุไส้ผูกเป็นปล้องๆ หรืออัดใส่พิมพ์
  • ไส้กรอกหมูสดแบบชนบท ทำจากเนื้อหมูบดหยาบผสมเครื่องปรุง บรรจุในไส้ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 3/8 นิ้ว ยาว 8-10 นิ้ว
  • บราทเวอร์สท ทำจากเนื้อลูกวัวหรือเนื้อหมูใช้ผิวหรือน้ำมะนาวปรุงรสบรรจุในไส้ที่มีเส้น ผ่านศูนย์กลาง 1 3/8 นิ้ว ยาว 4 นิ้ว นิยมลวกน้ำก่อนจำหน่าย
  • บ๊อกเวอร์สท (Bockwurst) ทำจากเนื้อลูกวัวจำนวนมากกว่าเนื้อหมู บางส่วนผสมนมสด เครื่องปรุงรส บรรจุไส้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3/4 นิ้ว ยาว 4-5 นิ้ว ก่อนจำหน่ายต้องลวกน้ำก่อน
  • ไส้อั่ว (แบบเมืองเหนือ) ทำจากเนื้อหมูบด ผสมเครื่องแกง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ขมิ้น พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง คลุกเคล้าให้เข้ากันบรรจุในไส้ ม้วนเป็นวงกลม จะนำมาย่างเตาถ่านไฟอ่อนๆ ก่อนรับประทาน
  1. ไส้กรอกรมควัน (smoked sausage) เป็นไส้กรอกที่ทำมาจากเนื้อที่ผ่านการหมักแล้ว ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดต้องเก็บในตู้เย็น ไส้กรอกรมควันมีหลายชนิด เช่น
  • ไส้กรอกรมควันไม่สุก ต้องทำให้สุกก่อนรับประทานได้แก่ เมทเวอร์สท (Metwurst) ซึ่งทำมาจากเนื้อวัวร้อยละ 60 - 70 เนื้อหมูร้อยละ 30 - 40 หมักและผสมเครื่องเทศมีพริกไทย ลูกผักชี บรรจุไส้วัวขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ½ - 1 ¾ นิ้ว และคีลบาชา (Kielbasa) ทำจากเนื้อหมูบดหยาบ ปรุงรสด้วยกระเทียม บรรจุในไส้เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ½ นิ้ว ผูกเป็นปล้องยาว 4-5 นิ้ว หรือ 8-10 นิ้ว
  • ไส้กรอกรมควันสุก สามารถรับประทานได้ทันที แบ่งออกเป็นหลายชนิดได้แก่
    • ฟรังเฟอร์เตอร์ (Frankfurters) ทำจากเนื้อหมูและเนื้อวัวในอัตราส่วน 40 ต่อ 60 นำมาหมักด้วยเครื่องเทศต่างๆ เป็นไส้กรอกที่นิยมมากที่สุด มีชื่อเรียกต่างกันไปตามขนาดถ้าเรียกฟรังเฟอร์เตอร์จะบรรจุในไส้ขนาดเส้น ผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว ยาว 4 นิ้ว เรียกว่าไส้กรอกเวียนนา เมื่อบรรจุในไส้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ¾ นิ้ว ยาว 4 - 5 ½ นิ้ว และบรรจุในไส้ขนาดเล็กขนาดสั้นๆ เรียกว่าฟรังเฟอร์เตอร์แบบคอกเทล
    • ไส้กรอกกระเทียม (Knoblauch) หรือ แนกเวอร์สท (Knack wurst) คล้ายกับฟรังเฟอร์เตอร์แต่มีกระเทียมมากและบรรจุในไส้ขนาดเล็กยาวท่อนละ 3 - 4 นิ้ว
    • โบโลญา (Bologna) คล้ายกับฟรัง-เฟอร์เตอร์ บรรจุในไส้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ½ นิ้ว ขดเป็นวงแหวนหรือบรรจุในส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 ½ - 5 นิ้ว ยาว 12 - 15 นิ้ว
    • เบอร์ลินเนอร์ (Berliner) ทำมาจากเนื้อหมูบดหยาบและเนื้อวัวบดละเอียด หมักในน้ำหมักเจือจาง บรรจุในไส้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้ว

saikrog 01

  1. ไส้กรอกสุก (cooked sausage) เป็นไส้กรอกที่ใช้ได้ทั้งเนื้อสดและเนื้อหมักบด ผสมเครื่องปรุงบรรจุในไส้ และทำให้สุกพร้อมที่จะรับประทานได้ทันทีโดยไม่ต้องรมควัน แต่บางชนิดจะรมควันภายหลังไส้กรอกสุกแล้วรับประทานได้ทันที ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
  • ไส้กรอกตับ (Liver sausage) ทำจากมันหมูแข็งที่บดแล้วใส่ตับหมูผสมเจลลาติน ปรุงด้วยหัวหอมและเครื่องเทศ บรรจุในไส้และทำให้สุก มีรสชาติดีและคุณค่าทางโภชนาการสูง
  • ไส้กรอกเลือด (Blood sausage) หรือ (Blutwurst) ทำจากมันหมูแข็งต้มสุกแล้วหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม และเนื้อบดละเอียดผสมเจลลาตินรวมกับเลือดวัวและเครื่องเทศ บรรจุในไส้ เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว ถ้าผสมลิ้นหมูและลิ้นแกะเรียกว่า ไส้กรอกเลือดและลิ้น
  1. ไส้กรอกแห้ง (dry sausage) เป็นไส้กรอกที่ใช้เนื้อที่ผ่านการคัดอย่างดีและใช้เทคนิคในการทำมาก ส่วนเชอเวลาท์ส (Cervelats) หมายถึงไส้กรอกแห้งทั่วไป ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ดังนี้
  • ซัมเมอร์ซอสเซส (Summer sausage) ที่ทำจากเนื้อหมูและเนื้อวัวปริมาณเท่ากัน บดหยาบ ผสมเครื่องปรุงรสไม่จัดหมัก บรรจุในไส้เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ½ นิ้ว
  • โฮลสไตเนอร์ (Holsteiner) คล้ายซัมเมอร์ซอสเซสแต่บรรจุไส้ขดเป็นรูปวงแหวน
  • ทูริงเจอร์ (Thuringer) จัดอยู่ในประเภทเดียวกับซัมเมอร์ซอสเซส แต่ไม่แห้งมาก มีรสเปรี้ยวคล้ายรสมะขาม
  • ก๊อททิงเจอร์ (Gottinger) เป็นไส้กรอกแห้งชนิดดีเนื้อแน่น แข็ง มีกลิ่นรสของเครื่องเทศ
  • โกเทบอร์ก (Goteborg) เป็นไส้กรอกแห้งของชาวสวีเดน เนื้อหยาบ มีรสเค็มจัดและรมควันมาก
  1. ไส้กรอกหมักแห้ง (fermented dry sausage) เป็นไส้กรอกที่ต้องผ่านขั้นตอนการหมักให้มีรสเปรี้ยวก่อน ทำให้แห้งเก็บได้นานในสภาพที่เย็น อากาศแห้ง และมีความชื้นต่ำ แบ่งออกเป็นหลายชนิด ได้แก่
  • ชาลามิ (Salami) ทำจากหมูเนื้อแดงบดหยาบหมัก บางครั้งใช้เนื้อวัวบดละเอียด หมัก เติมไวท์แดง หรือเหล้าองุ่นกระเทียม และเครื่องเทศหลายชนิดบรรจุในไส้เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 3/8 นิ้ว ทำให้แห้งด้วยแสงแดด
  • ลีอองค์ (Leyons) ทำครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส ทำจากเนื้อหมูบดละเอียด 4 ส่วน มันแข็ง 1 - 2 ส่วน หั่นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ผสมเครื่องเทศและกระเทียมบรรจุในไส้ขนาดใหญ่ หมัก ทำให้แห้งด้วยวิธีธรรมชาติ
  • มอทาเดลลา (Mortadella) ทำจากเนื้อหมูและเนื้อวัวบดละเอียดหมัก ผสมด้วยมันหมูแข็งหั่นเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ปรุงด้วยเครื่องเทศ บรรจุในกระเพาะปัสสาวะขนาดกลาง รมควันที่อุณหภูมิสูงและทำให้แห้งในอากาศ
  • แคปปริโคลา (Cappicola) ทำจากเนื้อหมูส่วนไหล่ปรุงรสด้วยพริก เกลือ น้ำตาล บรรจุในไส้และทำให้แห้งด้วยอากาศ
  • เปปเปอโรนี (Popperoni) ทำจากเศษเนื้อหมูหมักผสมเนื้อวัวพร้อมกับมันแข็งหั่นสี่เหลี่ยม ผสมพริกป่นสด พร้อมเครื่องปรุงรสอื่นๆ บรรจุในไส้เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว ผึ่งให้แห้งในอากาศ
  • หม่ำ (Mum) ทำในภาคอีสานของประเทศไทย โดยใช้เนื้อวัวส่วนสะโพก บดละเอียดผสมกับม้าม ตับบด ข้าวคั่วและกระเทียม บรรจุในไส้วัวหรือไส้หมู หรือกระเพาะ ทำให้แห้งในอากาศโดยการผึ่งลม

saikrog 02

  1. กุนเชียง (Chinese sausage) เป็นไส้กรอกแห้งที่มาจากประเทศจีน ใช้เนื้อหมูหรือเศษเนื้อหมูผสมมันแข็งหั่นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ปรุงรสด้วยเกลือน้ำตาล ซีอิ๊วขาว บรรจุในไส้หมูสดนำไปตากแห้ง และทำให้แห้งโดยใช้แสงแดด ก่อนรับประทานต้องทำให้สุกก่อน
  2. ไส้กรอกชนิดใหม่ (new condition sasuge) เป็นไส้กรอกประเภทกึ่งเปียกกึ่งแห้ง ต่างกับไส้กรอกแห้งตรงวิธีการทำ และทำให้สุกในตู้รมควัน ทำมาจากเนื้อหมูบดผสมเครื่องปรุง และหมักไว้ให้เปรี้ยวประมาณ 24 ชั่วโมง ก่อนทำให้สุก แบ่งออกเป็นหลายชนิด เช่น
  • ซาลามิ-คอตโต (Salamicotto)
  • โคเปอร์ซาลามิ (Kosher salami)
  • เฮคชีส (Head Cheese) ทำจากหัวหมูและเนื้อหมูหมักผสมเครื่องปรุง บรรจุในไส้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว หรือในกระเพาะหมู ในประเทศไทยไม่บรรจุในไส้แต่บรรจุใส่พิมพ์เรียกว่า “หมูตั้ง”
  • ชูมิ (Sause) คล้ายเฮคชีส แต่มีการเติมน้ำส้มให้เปรี้ยว
  • มีทโลฟ (Meat Loaves) ทำจากเนื้อบดผสมเครื่องปรุงต่างๆ เช่น หัวหอมใหญ่ ไข่ เครื่องเทศ มะกอกฝรั่ง แป้งและนมผงบรรจุในแบบ นำไปอบให้สุกหรือบรรจุกระป๋อง

ไส้อั่ว ไส้กรอก และหม่ำ

ไส้อั่ว (เมืองเหนือ)

ไส้อั่ว คือ เป็นอาหารพื้นบ้านภาคเหนือที่รู้จักกันดี นิยมรับประทานกับข้าวเหนียวหรือรับประทานคู่กับน้ำพริกหนุ่ม ทำมาจากเนื้อหมูบด ผสมพริกแห้ง กระเทียม ขมิ้น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง และเครื่องปรุงรส แล้วกรอกลงไปในไส้หมูที่เกลาจนบางแล้ว บิดให้เป็นท่อนพอประมาณ  ลักษณะปรากฏโดยทั่วไปจะเป็นเส้นคล้ายไส้กรอก (แต่เป็นไส้กรอกสด ไม่ต้องนำไปตากแดด) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 - 1.5 นิ้ว ขึ้นอยู่กับขนาดของไส้ที่ใช้ ขดเป็นวง มีสีออกน้ำตาลเกรียม จากนั้นนำไปย่างให้สุก เมื่อจะรับประทานจะหั่นเป็นแว่น หนาบางตามความต้องการ เมื่อหั่นแล้วจะมองเห็นส่วนผสมที่บดหยาบผสมกันอยู่ มีกลิ่นหอมชวนรับประทาน รสชาติกลมกล่อม มีรสเผ็ดเล็กน้อย เนื้อสัมผัสนุ่ม

saikrog 04

ไส้กรอกอีสาน

ไส้กรอกอีสาน เป็นอาหารพื้นบ้านที่ทำกันง่ายๆ แต่อร่อยเหลือหลาย ไส้กรอกอีสานพื้นบ้านของไทย ใช้อุปกรณ์และเครื่องปรุงไม่มาก มีเคล็ดลับและเทคนิคการทำดังนี้

  1. เนื้อหมู เริ่มแรกต้องเลือกเนื้อที่สดใหม่มีมันติดเล็กน้อย อาจจะซื้อเนื้อหมูบดที่ผสมเนื้อหมูแดงและเนื้อขาว(ติดมัน) ที่มีขายตามเขียงหมูในตลาด
  2. ไส้ ต้องใช้ไส้อ่อนหรือไส้กลาง เพราะมีความเหนียว (ปัจจุบันนิยมใช้ไส้หมูเทียมแทนเพราะสะดวกกว่า)
  3. ข้าว ใช้ข้าวสวยจะดีกว่าข้าวเหนียวนึ่ง (ข้าวเหนียวนึ่งต้องล้างน้ำให้หมดเมือก ผึ่งให้แห้งสะเด็ดน้ำก่อน ทำให้เสียเวลา) แต่ถ้าต้องการให้เปรี้ยวเร็วก็ใส่ข้าวเหนียวเพราะเป็นสูตรดั้งเดิม
  4. กระเทียม ควรเลือกใช้กระเทียมไทยกลีบเล็ก จะทำให้ไส้กรอกมีกลิ่นหอมกว่ากระเทียมกลีบใหญ่จากจีน
  5. เกลือ ใส่ในปริมาณที่พอดี ถ้าใส่น้อยเกินไปไส้กรอกจะเสีย แต่ถ้ามากเกินไปไส้กรอกไม่เปรี้ยว
  6. ด้าย สำหรับมัด

สูตรไส้กรอกแบบบ้านๆ ใช้อัตราส่วนคร่าวๆ ดังนี้ 1) เนื้อหมูติดมันบด 500 กรัม 2) ข้าวเหนียวหรืดข้าวเจ้าสุก 100 กรัม 3) กระเทียมไทยสับละเอียด 3-4 ช้อนโต๊ะ 4) เกลือ 2 ช้อนโต๊ะ 5) พริกไทย 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีการทำ นำส่วนผสมทั้งหมดลงในภาชนะพอเหมาะ คลุกเคล้า นวดเนื้อหมูและเครื่องปรุงทั้งหมดให้เข้ากันดีเป็นเนื้อเดียว (เคล็ดไม่ลับ หากใช้ข้าวเหนียวนึ่งเป็นส่วนผสม ให้นำไปแช่น้ำซาวให้แตกแล้วนำมาผึ่งให้สะเด็ดน้ำก่อนนำไปผสมในเนื้แหมู)

mam sai krok isan 03

การบรรจุไส้ ก่อนนำมาบรรจุต้องนำไส้หมูไปล้างน้ำให้สะอาด กลับด้านในออกมาขูดเอาเมือก ผังผืดออกให้หมด ขยำกับเกลือล้างน้ำออกขจัดกลิ่นเหม็นคาว แล้วจึงกลับด้าน มัดปลายด้านหนึ่ง จากนั้นนำเอากรวยมาสวมที่ไส้อีกด้านเพื่อการบรรจุเนื้อหมูลงไป (หากไม่มีให้ใช้ขวดน้ำขนาดเล็ก มาตัดทำเป็นกรวยแทนได้) บรรจุเนื้อหมูลงไปจนหมดบีบให้แน่นพอประมาณ ทำการแบ่งเป็นข้อๆ ใช้ด้ายรัดเป็นปล้องๆ ตามต้องการนำไปผึ่งแดดไว้ประมาณหนึ่งวัน เก็บในตู้เย็นเพื่อรับประทานได้หลายวัน (หากชอบรสเปรี้ยวอาจผึ่งแดดไว้ 2-3 วัน)

เมื่อต้องการนำมารับประทาน ก็นำมาย่างบนเตาถ่านไฟอ่อนๆ จะอร่อยเพราะได้กลิ่นควันไฟหอมๆ ด้วย หรือจะนำไปทอด ไปอบก็ได้ตามสะดวก เคล็ดลับควรใช้ส้อม หรือไม้จิ้มฟัน เจาะรูทุกข้อเป็นระยะ เพื่อระบายลมและไขมันออกในขณะปิ้งย่าง/ทอด/อบ แต่อย่าให้รูถี่นักอาจจะทำให้ไส้กรอกแตก เละ ไม่น่ารับประทาน เมื่อสุกนำมาหั่นเป็นชิ้นบางๆ พอคำวางในจานให้สวย พร้อมเครื่องเคียงเป็นถั่วทอด กระเทียม พริกสด ขิงสด ต้นหอมสด (และ... เครื่องดื่มสำหรับนักดื่ม)

ท่านที่ชอบเนื้อก็สามารถนำเนื้อวัวมาแทนเนื้อหมูได้ และเพิ่มเครื่องปรุงเป็นตะไคร้ ใบมะกรูดหั่นฝอยสัก 2 ช้อนโต๊ะเข้าไป และบางรายที่ทำขายเพื่อให้ได้ราคาที่ต่ำ มีปริมาณมาก จึงใส่ข้าวเข้าไปเยอะจึงมีรสเปรี้ยว เรียก ไส้กรอกข้าว บางรายก็เพิ่มปริมาณด้วยวุ้นเส้นเข้าไปอีก เห็นมีขายตามรสเข็นทั่วไป แล้วติดป้ายว่า "ไส้กรอกอีสาน" แบบนี้ไม่ใช่นะครับ ไส้กรอกอีสานที่แท้จริงจะไม่มีใส่วุ้นเส้นและข้าวเยอะขนาดนั้น

mam sai krok isan 06

หม่ำ ไส้กรอก(ตับ)

หม่ำ ของชาวอีสานโบราณ ส่วนมากจะทำจากเนื้อวัว และเนื้อควาย สำหรับกรรมวิธีในการหม่ำเนื้อ ก็จะใช้ตับวัวบด ม้ามบด เนื้อแดงบด เกลือ กระเทียม ข้าวคั่ว ยัดใส่ไปในถุงน้ำดี หรือไส้วัว และต่อมามีการพัฒนากรรมวิธีการปรุงโดยการใช้หมู ซึ่งก็อาจเป็นเพราะคนเริ่มบริโภคเนื้อวัวน้อยลง  คนอีสานโบราณจะนิยมทำหม่ำกันเมื่อมีการจัดงานบุญ ซึ่งส่วนมากจะเป็นหม่ำเนื้อ เมื่อมีการล้มวัวควาย เช่น ในงานแต่งดอง (งานแต่งงาน) งานบวช และงานบุญอื่นๆ จะเก็บส่วนที่เป็นเนื้อสันใน และสันนอก เอาออกไว้ต่างหาก เพื่อนำมาทำเป็นหม่ำ ซึ่งเป็นอาหารตามประเพณีของชาวบ้านภาคอีสาน ที่ถือว่าเป็นอาหารชั้นดี เก็บไว้กินได้นาน

mam sai krok isan 02

ส่วนผสมและเครื่องปรุงรส ประกอบด้วย

  1. เนื้อสัตว์ไร้มัน สับหรือบดละเอียด (เนื้อวัว ควาย หรือหมู) ประมาณ 600 กรัม
  2. ตับ และม้าม สับหรือบดละเอียด (อาจจะนำไปย่างไฟให้สุกพอประมาณก่อนนำมาสับหรือบดให้ละเอียด) ประมาณ 400 กรัม
  3. กระเทียมไทยปอกเปลือก บดหรือสับให้ละเอียด ประมาณ 6-8 ช้อนโต๊ะ
  4. เกลือ 2 ช้อนโต๊ะ
  5. ข้าวเหนียวนึ่งสุก 100 กรัม
  6. ข้าวคั่วบดละเอียด 2 ถ้วย
  7. ไส้วัว หมู กระเพาะหมู หรือถุงน้ำดีวัว

วิธีการทำ นำเนื้อสัตว์บดผสมกับตับ/ม้ามบดในอัตราส่วน 6 : 4 ขยำให้เข้ากัน เติมเครื่องปรุงที่เหลือลงไปคลุกเคล้า ขยำให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน นำไปบรรจุลงในไส้ จะได้หม่ำเป็นท่อนๆ เหมือนไส้กรอก หรือบรรจุในกระเพาะหมูจะได้เป็นก้อนกลมแบบลูกบอล การบรรจุนั้นจะใส่จนแน่นให้กระเพาะหมูขยายออก ถ้าแบบโบราณจริงๆ หม่ำเนื้อจะนิยมใส่ถุงน้ำดีวัวจะได้รสกลมกล่อมที่สุด นำไปผึ่งลมให้แห้งสัก 3-5 วัน เพื่อให้ออกรสเปรี้ยวนิดๆ

เมื่อต้องการจะรับประทานก็นำมาย่างบนเตาถ่านไฟอ่อนๆ กลับด้านให้สุกจนทั่ว (ระวังไหม้ไฟ จะแข็งไม่อร่อย) เมื่อสุกนำมาหั่นเป็นชิ้นบางๆ พอคำวางในจานพร้อมเครื่องเคียง พริกสด กระเทียมสด ตะไคร้หั่นฝอย หอมแดงซอย หรือต้นหอมสด ขิงดอง และน้ำเปลี่ยนนิสัย (ถ้าชอบ)

mam sai krok isan 01

หมายเหตุ อย่าใช้การอบด้วยไมโครเวฟเด็ดขาด เพราะจะระเหิดน้ำหมดจนทำให้หม่ำแข็งไม่อร่อย หรือไหม้ทานไม่ได้เลย ถ้าไม่มีเตาถ่านต้องการใช้หม้ออบไฟฟ้าก็ได้ แต่ต้องใช้ไฟอ่อนๆ ใช้เวลาอบนานนิดหนึ่งหมั่นดูอย่าให้ไหม้จนแข็ง

เกร็ดน่ารู้ที่มาของหม่ำ

การที่คนอีสานแปรรูปอาหารจากเนื้อสัตว์ทำเป็นหม่ำ ก็เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีตู้เย็นในการเก็บรักษาอาหารสด จึงหาวิธีการถนอมอาหารโดยการนำเนื้อสัตว์มาหมัก เพื่อเก็บไว้รับประทานได้นานๆ ตามคำบอกกล่าวในอดีตคือ เมื่อหมดฤดูทำนาผู้ชายในหมู่บ้านก็จะออกป่าล่าสัตว์ในป่าเขาหลายวัน เมื่อได้เนื้อสัตว์มาก็แบ่งปันทำอาหารกิน ที่เหลือก็นำมาสับละเอียดคลุกกับเกลือที่นำไปด้วย บรรจุลงในไส้ หลายวันกว่าจะกลับมาถึงบ้าน เอาเนื้อบรรจุในไส้มาย่างให้ลูกเมียกินแล้ว มีรสชาติอร่อยถูกปาก จึงพลิกแพลงเพิ่มเติมเครื่องปรุงอื่นๆ ลงไป ซึ่งเป็นภูมิปัญญาอีสานจากอดีตสู่ปัจจุบันนั่นเอง

mam sai krok isan 05

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)